ความสุขจากการปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อปิดวัดมาปีกว่าแล้ว เดือนหน้าก็จะเริ่มเปิด พวกเราเข้ามาได้ทุกวันระหว่าง 07.00 – 16.00 น. เข้ามาก็มาภาวนา ไม่ใช่มานั่งเล่น มานั่งคุย มานั่งเล่นอินเทอร์เน็ต (หลวงพ่อส่ายศีรษะ) อยู่บ้านนะ ไม่เจริญ วันที่หลวงพ่อเทศน์ก็ให้จองเข้ามาฟังในศาลาได้ แล้วมูลนิธิฯ เขาจะจัดการเปิดจอง ที่ต้องใช้ระบบนี้ ไม่อยากเห็นการวิ่งแย่งกันเข้าศาลา พวกชำนาญในการแย่งมาได้ทุกทีเลย คนแย่งไม่เก่งเข้าไม่ทัน ก็เลยให้จองเท่าเทียมกัน ส่งการบ้านยังใช้การ Zoom อยู่ ฉะนั้นอยากส่งการบ้าน สมัครส่งการบ้านเหมือนที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เข้ามาในศาลาไม่ได้ส่งการบ้านกับหลวงพ่อ มาฟังเฉยๆ ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้โอกาสคนที่เขาอยู่ไกลๆ มีโอกาสส่งการบ้านเท่าเทียมกับพวกที่อยู่ใกล้ๆ

เราเข้ามาแล้วหลวงพ่อขอความร่วมมือ คนที่จะจองขอพวกที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 3 เข็ม วัคซีนป้องกันโควิด ไม่ใช่วัคซีนอหิวาต์ วัคซีนอะไรนับรวมกันอย่างนั้นไม่ได้ แล้วถ้าเอาข้าวมากินได้เองก็ดี ถ้าจะมากินข้าวที่วัด ขอความร่วมมือหากล่องมา กล่องใส่อาหารของตัวเอง เอาช้อนของตัวเองมา กินเสร็จตักเอาเองแล้วกินเสร็จ ก็เอากล่องเอาช้อนกลับบ้านไปล้าง ไม่ต้องมาแย่งกันล้างที่นี่ มาเบียดกัน เวลาตักอาหารก็เว้นระยะห่างหน่อย พวกผีพวกเปรตที่เคยมาก็ควรจะปรับตัวเสีย พวกแซงคิวมีนะ หน้าหนาจริงๆ ภาวนาแล้วก็ยังเห็นแก่ตัว แซง เลิกๆ เสีย อะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปทำมัน

พระอาคันตุกะก็นิมนต์ฉันประมาณ 8 โมง อาจจะก่อนนิดหน่อยแล้วก็นั่งฟังข้างนอก เว้นแต่พระเถระ ถ้าสำนวนทางพระจริงๆ เรียกพระมหาเถระ 20 พรรษาขึ้นไปก็ฉันข้างนอกเพราะในนี้ไม่มีที่ แต่ว่าเข้ามานั่งฟังตอนหลวงพ่อเทศน์ข้างในนี้ได้ มีไม่กี่องค์หรอก แล้วพระอื่นๆ ก็นั่งฟังข้างนอก ฟังหลวงพ่อเทศน์เสร็จแล้ว อยากคุยกับหลวงพ่อก็ค่อยเข้ามา ทุกองค์ทุกคนอยู่ในวัดให้ใส่หน้ากาก ยังต้องระมัดระวังอยู่ เชื้อโรคไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เราต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้เท่านั้นล่ะ นี่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะเอากล่องอาหารมา แล้วแพ็คไปล้างที่บ้าน ถ้าให้ดีมีถุงมาอีกสักใบหนึ่ง ใส่ขยะทั้งหลายที่เราผลิตเอากลับไปบ้านเรา อย่ามาทิ้งให้เป็นภาระของวัด ช่วยๆ กันจะได้อยู่สะดวกขึ้น

ช่วงนี้เขาก็จัดคอร์สจีน มีคนจีนเข้าคอร์ส 400 กว่าคนจากหลายๆ ประเทศร่วม 10 ประเทศได้ เห็นลิสต์ยาวเลย ก็เป็นคอร์สออนไลน์ เมื่อวานหลวงพ่อก็ไปเทศน์ แล้วตอนบ่ายคุณแม่ก็ไปเทศน์ วันนี้พระอาจารย์อ๊าก็จะไปเทศน์ คนไทยไม่ได้ฟังให้คนจีนฟัง ทุกฝ่ายทุกคนก็ช่วยกันทำงาน แล้วอีกสักช่วงหนึ่ง หลวงพ่อก็อาจจะมีเข้าไปเทศน์ในกรุงเทพฯ จะเดือนละครั้ง สถานที่ก็แล้วแต่ทางมูลนิธิฯ จะจัด

ธรรมะนั้นหลวงพ่อพยายามให้บริการ แจกจ่ายธรรมะให้เท่าเทียมกัน แต่ธรรมะนั้นฟังมากเท่าไรมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาหรอก ฟังแล้วต้องลงมือปฏิบัติ ไม่ต้องกลัวทำผิด ฟังให้ดีเสียก่อนแล้วก็ลงมือทำไป ถ้าเราลงมือปฏิบัติสักช่วงหนึ่ง มันก็จะเห็นจุดที่ผิดพลาด แล้วมันจะแก้ไขได้ มันพัฒนา ผิดน้อยลงถูกเยอะขึ้น ถ้าไม่ลงมือทำไม่มีวันเข้าใจธรรมะ ต่อให้เรียนแค่ไหนก็ไม่เข้าใจ ขนาดเราฟังเทศน์ฟังพระสูตรแต่เราไม่ได้ปฏิบัติ เราไม่เข้าใจ มันเข้าสมองหมด บางทีก็เข้าหูซ้ายออกหูขวาไป จะต้องปฏิบัติถึงจะเข้าใจธรรมะได้ หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ไม่ได้เรียนเยอะ แต่ละครั้งที่เข้าไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ไม่กี่ประโยคหรอกที่ท่านสอน แต่ละประโยคที่ท่านสอนหลวงพ่อเอามาทำ มาปฏิบัติก็คือมาเจริญสติดูกายดูใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนั่นล่ะ แล้วมันก็ค่อยๆ ผิดน้อยลงๆ สุดท้ายมันก็เข้าใจ

 

ความสุขจากการถือศีล

ภาษาไทยดีมาก คำว่าเข้าใจ เข้าใจคือใจมันรู้ ไม่ใช่เข้าสมองแล้วก็จำเอาไว้ เข้าสมองแล้วก็จำเอาไว้ไม่นานมันก็ลืม อย่างเรียนปริยัติเรียนๆ ไปพออายุเยอะขึ้นก็ลืม ส่วนใหญ่ลืมตั้งแต่เรียนแล้วไปสอบ สอบเสร็จแล้วก็ลืมไม่ได้เอามาใช้ ฉะนั้นธรรมะอย่างนั้นมันไม่มีประโยชน์อะไร อยากเข้าใจก็ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ถ้าเราปฏิบัติธรรม จิตใจเราจะเข้าถึงความสงบสุข ทุกคนอยากได้ความสุข ก็เที่ยวแสวงหาความสุขไปตามสติปัญญา บางคนหาความสุขก็คิดว่ารวยๆ แล้วจะสุข มีเมียสวยแล้วจะสุข มีลูกฉลาดแล้วจะสุข มีบ้านใหญ่ๆ มีรถคันโตๆ จะสุข มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตจะมีความสุข มันก็สุขอย่างโลกๆ มันสุขๆ ดิบๆ มันสุขเจือทุกข์

เราปฏิบัติธรรมเราก็จะมีความสุข เราถือศีลเราก็มีความสุข เราทำสมาธิเราก็มีความสุข เราเจริญปัญญาเราก็มีความสุข แต่ความสุขมันของศีล ของสมาธิ ของปัญญา มันก็ยังไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเรารักษาศีลไว้ได้ดี พอเรานึกถึงเรารักษาศีลมาอย่างดี พยายามจะไม่ทำผิดศีล เราจะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจขึ้นมา มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง หรือเรารักษาศีลเราก็ไม่วุ่นวายกับโลกมากนัก คนไปทำผิดศีลมันไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็เบียดเบียนตัวเอง จิตใจไม่สงบสุขหรอก คนมีศีลจิตใจสงบ อย่างเราคิดจะไปฆ่าเขา คิดจะไปทำร้ายเขา คิดจะไปขโมยเขาไปปล้นเขา คิดจะไปหลอกผู้หญิง หรือผู้หญิงคิดจะไปหลอกผู้ชาย จิตไม่สงบหรอก ถ้าเรามีศีลมันก็สงบ พอสงบแล้วมันก็มีความสุข ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายมาก

อย่างคนโกหกสมองสูญเสียหน่วยความจำไปกับเรื่องที่ตัวเองโกหก พอโกหกแล้วต้องจำเดี๋ยวไปเจอคนนี้คนเดิมก็พูดไม่เหมือนเดิม หรือบางทีโกหกกับคนที่หนึ่งอย่างนี้ ไปเจอคนที่สองโกหกเรื่องเดิม แต่เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอสองคนมาเจอกันก็ต้องคิดแล้ว จะหาทางออกอย่างไรจะไม่ให้เสียหน้า คนโกหก เห็นไหมมันเป็นภาระของใจทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นถ้าเราถือศีลใจเราไม่มีภาระ ไปกินเหล้าเมายาสติไม่มีหรอก เสีย กินแล้วก็คะนองไปทำผิดทำบาปอะไรอย่างอื่นได้อีก เพราะว่าขาดความยับยั้ง บางทีไม่ต้องทำอะไรมาก มันขับรถไปชนชาวบ้านเขาตัวเองเมา คนอื่นเขาเดือดร้อน สุดท้ายตัวเองก็เดือดร้อนด้วย ไปขับรถชนเขาตาย ฉะนั้นถ้าเราถือศีลเราจะมีความสุข มันสงบสุขไม่ต้องทุรนทุราย

 

ความสุขจากการทำสมาธิ

ถ้าเราฝึกสมาธิมันก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง ถือศีลมันอิ่มอกอิ่มใจ ถ้ามันมีสมาธิจิตมันสงบ วิธีฝึกสมาธิสอนอยู่เป็นประจำ ให้พวกเรามีวิหารธรรม มีวิหารธรรมอันใดอันหนึ่งไว้ เช่น อยู่กับลมหายใจไป อยู่กับพุทโธไป หรือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป หรือเดินจงกรมเห็นร่างกายเดินใจเป็นคนดู ดูท้องพองยุบ เห็นร่างกายพอง เห็นร่างกายยุบ หลวงพ่อไม่ชอบให้ดูลมหายใจ ไม่ชอบให้ดูท้องพองยุบ แต่หลวงพ่อแนะนำให้ดูร่างกายหายใจ ให้ดูร่างกายพองยุบ มันไม่เหมือนกันระหว่างการดูลมหายใจ กับการเห็นร่างกายหายใจ ไม่เหมือนกัน เกือบร้อยละร้อยของพวกดูลมหายใจ มันจะไปดูที่ตัวลมจริงๆ จิตมันจะถลำลงไปอยู่ที่ลม แล้วพอจิตมันเริ่มสงบลมมันจะสั้นๆ ขึ้นมา มันตื้นๆๆ ขึ้นมา มาอยู่ที่ปลายจมูกแล้วก็หยุด เกิดเป็นแสงสว่าง ไปดูที่แสงสว่างต่อ แสงสว่างเรียกอุคคหนิมิต ต่อไปมันชำนิชำนาญประคองแสงนี้เอาไว้ได้ กำหนดแสงให้กว้างเท่าไรก็ได้เหมือนพระอาทิตย์ พระจันทร์ ส่องไปทุกมุมโลกเลย หรือย่อแสงลงมาเล็กเท่าปลายเข็ม เวลาเราย่อแสงลงมาแสงจะเข้มปื้ดเลย ถัดจากนั้นก็เข้าฌาน อันนี้พวกเราทำยากทำลำบาก

ยุคของเราคนที่เข้าฌานได้จริงๆ มีไม่มากน้อยเต็มที ส่วนใหญ่มันได้สมาธิตื้นๆ ได้แค่ขณิกสมาธิ ฉะนั้นมันมีวิธีที่ง่ายๆ เลย อย่างเราหายใจแทนที่ไปดูที่ตัวลม ถ้าเราดูตัวลมนั่นคือกสิณลม วาโยกสิณ ถ้าเราดูลมมันหายใจผ่านรูจมูก เป็นกสิณช่องว่างเป็นอากาศกสิณ ต่อไปก็เกิดเป็นแสงเป็นอะไร มีสีต่างๆ ก็ได้ก็เป็นกสิณสี กสิณแสง พวกนั้นเสียเวลา เนิ่นช้า เรามาดูร่างกายหายใจ อย่างขณะนี้ร่างกายหายใจออกให้รู้สึก ร่างกายหายใจเข้าให้รู้สึก รู้สึกๆๆ ต่อไปมันจะได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญาควบกัน ขณะที่เราดูร่างกายหายใจ ถ้าจิตหนีไปคิดเรารู้ทัน นี่ลืมร่างกายแล้ว ลืมการหายใจแล้ว ลืมพุทโธแล้ว จิตหนีไปให้เรารู้ทันว่าจิตหนีไปแล้ว พอรู้ทันไม่ต้องไปดึงจิตคืน

บางคนมาถามว่าเวลาหลงไปต้องดึงจิตคืนไหม ไม่ดึง จิตไม่ได้มีดวงเดียว ไหลไปแล้วต้องไปเอาคืน จิตที่หลงไปไหลไป มันเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ มีโมหะชนิดฟุ้งซ่าน ตรงที่เรามีสติรู้ว่าจิตมันหลงไป จิตมันมีโมหะ ขณะนั้นจิตที่มีโมหะดับไปเรียบร้อยแล้ว มันเกิดจิตที่รู้ขึ้นมาแทนแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่ไปดึงจิตคืนมา อย่าไปหวงจิต จิตมันมีนับจำนวนไม่ถ้วน บอกวิญญาณเป็นอนันต์ มันมีนับจำนวนไม่ถ้วนเยอะแยะไปหมด ไม่ต้องไปหวงหรอก ดวงไหนมันเลวไปแล้ว มันพลาดไปแล้ว โยนมันทิ้งไปเลย ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาใหม่ มาอยู่กับกรรมฐานของเราใหม่ ไม่ใช่การดึงจิตกลับมาอยู่กับกรรมฐาน ไม่เหมือนกัน จิตที่หลงช่างมัน มึงหลงไปแล้วช่างมึง ก็เริ่มต้นภาวนาของเราใหม่ มาอยู่กับลมหายใจ เห็นร่างกายหายใจไป บางทีเวลาเราเห็นร่างกายหายใจ มันไม่เฉพาะว่าหนีไปคิดเรื่องอื่น บางทีเราเห็นร่างกายหายใจอยู่ จิตเกิดถลำ ถลำไปเพ่งจ้องลมหายใจ ให้เรามีสติรู้ทันว่า ตอนนี้จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจแล้ว ตรงจิตถลำไปเพ่งลมหายใจ จิตไม่ตั้งมั่น จิตมันหลงลงไปแล้ว จิตมันถลำลงไปแล้ว ไม่ใช่จิตตั้งมั่นแล้ว มันจะมีสมาธิชนิดสงบอยู่เฉยๆ ไม่ใช่สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น

สมาธิที่พระพุทธเจ้าเน้นคือสมาธิชนิดที่เป็นความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่สมาธิชนิดสงบโง่ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่างเราทำกรรมฐาน หายใจเข้าหายใจออก จะพุทโธด้วยก็ได้ เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้คนดู เมื่อใจหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมร่างกาย ลืมพุทโธ เราก็รู้ทัน หลงไปแล้วช่างมึง ก็มาหายใจมาพุทโธต่อ หายใจไปๆ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจรู้ทันอีก เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน สรุปหลักก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วรู้ทันจิตตนเอง ไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานชนิดไหนก็ตาม จิตมันจะผิดได้ 2 อย่างเหมือนกันหมด อันหนึ่งคือหนีไปคิด อันหนึ่งคือหนีไปเพ่งไหลไปเพ่ง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรถ้าเราเข้าใจหลักแล้ว มันก็เหมือนกันหมด ไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไรหรอก ไม่ใช่ว่าพุทโธดีกว่าหายใจ หายใจดีกว่าพองยุบ อะไรอย่างนั้นไม่ใช่ หรือจะขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน ตัวกรรมฐานมันแค่เหยื่อล่อ เหยื่อตกปลา ตัวปลาก็คือตัวจิตของเรานั่นเอง เราจะเรียนรู้จิตตัวเอง ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหนีไปก็รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานเราก็รู้ พอรู้อย่างนี้จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเอง ไม่ได้เจตนาตั้งมันตั้งเอง ถ้าเจตนาให้ตั้งมั่นจะไม่ตั้งมั่น แต่ไปตั้งทื่อ ๆ อยู่อย่างนั้น เครียดๆ หนักๆ แน่นๆ ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ทรมานตัวเอง เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบาก

ถ้าเราทำสมาธิถูกต้อง ทำอยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป แล้วจิตมันไหลไป รู้ จิตมันถลำจมลงไปในอารมณ์กรรมฐานเรารู้ ตรงที่เรารู้นั้นจิตมันจะตื่นขึ้นมา ตรงนั้นจิตมันจะมีความสุขด้วย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันจะขึ้นมาอัตโนมัติเลย บางทีรู้สึกตัวอยู่เฉยๆ ความสุขผุดขึ้นมาเอง ฝึกสมาธิมันก็ได้ความสุข อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องฌาน ถ้าเรื่องฌานก็ต้องฝึกกันหนักหน่อย ยุคเราหาคนทำได้ไม่มากหรอก จะเล่นฌานมันก็มีหลายแบบ ฌานที่เพ่งรูปก็มี ฌานที่เพ่งนามก็มี อย่างฌานที่เพ่งรูป อย่างเรารู้ลมหายใจ ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์กรรมฐาน ดูไปจนลมระงับกลายเป็นแสง จากแสงย่อได้ขยายได้ จิตมีวิตกคือจิตมันตรึกอยู่กับแสง จิตมีวิจารคือมันเคล้าเคลียอยู่กับแสงโดยไม่ได้เจตนา มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งไม่วอกแวกเกิดขึ้น นี่เป็นเส้นทางเดินไปเข้าฌาน อันนี้ใช้กรรมฐานที่มันมีปฏิภาคนิมิต อย่างเราใช้ลมหายใจ เราใช้ไฟ เพ่งกสิณไฟอะไรพวกนี้ มันจะเกิดปฏิภาคนิมิตได้

กรรมฐานบางอย่างถึงเข้าฌานได้ ก็ไม่มีปฏิภาคนิมิต อย่างเราเจริญเมตตาเจริญไปเรื่อยๆ ทำใจให้เป็นมิตรกับทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งร่างกายนี้เราก็เป็นมิตรกับมันเหมือนกัน มันเหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง พอเราวางใจเป็นมิตรกับทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงจุดหนึ่งจิตมันรวมลงไปเอง มันเข้าฌาน เข้าถึงอรูปฌานโดยไม่ผ่านปฏิภาคนิมิต อย่างแผ่เมตตาเจริญเมตตา ไม่มีปฏิภาค ฉะนั้นเข้าฌานมีตั้งหลายแบบ พวกเราเล่าให้ฟัง พวกเราส่วนใหญ่ทำไม่ได้หรอก ฉะนั้นทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตไหลไปคิดก็รู้ทัน จิตไหลไปเพ่งก็รู้ทัน แล้วจิตมันจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา มีความสุขมันผุดขึ้นมา อยู่เฉยๆ มีความสุขผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้ทำอะไรเลย นี่ความสุขของสมาธิ

ถ้าเข้าฌานมันยิ่งสุขมหาศาล มันสุขแบบมันฉ่ำ มันเย็น มันฉ่ำเลยถ้าจิตมันเข้าฌาน มันถอยออกมาจากฌาน ความเย็น ความฉ่ำ มันมีคำว่า ฉ่ำ นี่มันชัดมากเลย แต่ภาษาต่างประเทศไม่รู้จะแปลอย่างไร มันเย็นฉ่ำ มันไม่ได้เย็นแบบสะทกสะท้าน มันชื่นมันฉ่ำ มันมีความรู้สึกเหมือนเราเพิ่งอาบน้ำมาใหม่ๆ มันรู้สึกอย่างนั้นเลย อากาศร้อนจัดๆ แล้วเราไปอาบน้ำมาใหม่ๆ แล้วก็สบายทุกขุมขน มันเย็น มันสบาย สุขของฌานจริงๆ มันประณีตอย่างนั้น นี้เราไม่รู้จักสุขของสมาธิขนาดนี้ก็ไม่เป็นไร มีสติอยู่กับกรรมฐาน มันมีความสุขผุดขึ้นมาเอง

 

ความสุขจากการเจริญปัญญา

ความสุขของปัญญามันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง วันนี้พูดถึงความสุขจากการปฏิบัติธรรม เป็นความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ มันมีความสุขจากการเจริญปัญญา อย่างเรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้แล้วรู้อีก รู้ไปเรื่อยๆ เวลาที่มันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา อันนี้ไม่ถึงระดับบรรลุมรรคผล บางทีเราภาวนาแล้วมันเกิดเข้าใจอะไรบางอย่าง เข้าใจธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป ตรงที่มันเข้าใจมันจะมีความสุขเกิดขึ้นด้วย เป็นความสุขที่เกิดจากความเข้าใจในธรรมะเป็นเรื่องๆ ไป มันก็มีความสุขผุดขึ้นมา

อันนี้ถ้าเคยภาวนามันเกิดเข้าใจ หัวข้อธรรมอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา มันจะมีความสุข แล้วความสุขนี้ก็อยู่ได้ไม่เกิน 7 วันเหมือนกัน ความสุขในฌานก็อยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่มันมีความสุขไหม มี ความสุขของการทำสมาธิ กับความสุขของการเจริญปัญญา แตกต่างกัน ความสุขของการทำสมาธิ มันเป็นความสุขแบบเพลินๆ ไป มันเหมือนเด็กได้ขนมอร่อย ได้กินไอศกรีม มีความสุข ความสุขของสมาธิมันเป็นคล้ายๆ ความสุขแบบเด็กๆ ส่วนความสุขของการเจริญปัญญานั้น มันคล้ายๆ ความสุขของผู้ใหญ่ที่ทำงานที่ยากๆ สำเร็จ อย่างเวลาเราทำงานอะไรที่ยากๆ แล้วทำสำเร็จ มันมีความสุข คล้ายๆ กัน แต่อันนี้งานที่ยากของเรา ก็คืองานเจริญปัญญานั่นล่ะยากมากเลย พอเข้าใจอะไรขึ้นมาสักหัวข้อหนึ่ง โอ้ มีความสุข เบิกบาน เวลาที่เรามีความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญา ฝึกไปเรื่อยๆ เวลาเราเจอครูบาอาจารย์ เราไม่สะทกสะท้าน อย่างหลวงพ่อเจอครูบาอาจารย์ หลวงพ่อไม่เคยกลัวองค์ไหนเลย ตอนที่ไม่เจอบางองค์เราก็กลัวเหมือนกัน อย่างหลวงตามหาบัว สมัยหลวงพ่อเรียนกับท่าน ไม่เรียกท่านว่าหลวงตาหรอก เรียกท่านว่าท่านอาจารย์พระมหาบัว คนรุ่นเก่าเขาจะเรียกอย่างนี้หลังๆ ก็เรียกตามท่าน ท่านชอบ มีเด็กไปเรียกท่านว่าหลวงตา ท่านชอบ ก็เลยเรียกตามเด็ก ยุคหลวงพ่อเรียกท่านว่าท่านอาจารย์พระมหาบัว ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความดุ สมัยหนุ่มๆ ดุ ตอนแก่ลงมาแล้วท่านก็ผ่อนให้เยอะแยะเลย ไม่ค่อยดุเท่าไรแล้ว จะเรียกดุก็ไม่เหมาะฟังแล้วไม่ดี เรียกว่าท่านเป็นคนจริงจังเอาจริง

เวลาจะไปกราบท่าน นั่งรถไปจะไปกราบท่าน ใจเต้นตุ๊มต่อมๆ เหมือนกัน หลวงพ่อขนาดภาวนามาหนักหนาสาหัสแล้ว แต่พอรถถึงหน้าวัดบ้านตาด ลงไป ความกลัวไม่รู้มันหายไปไหนหมด มันเหลือแต่ความปีติ เบิกบาน เดี๋ยวจะได้ฟังธรรมะ จะได้ถามท่านอะไรที่เราผิดอยู่จะได้ให้ท่านแก้ให้ อะไรที่เราติดค้างอยู่จะให้ท่านบอก เราจะได้เจริญขึ้น แก้สิ่งที่ผิด ทำสิ่งที่ถูกให้ดีขึ้น ใจมันคิดแต่อย่างนี้ คิดจะเอาแต่ธรรมะ ความกลัวหายไปเลยไม่กลัวแล้ว เข้าไปหาไปกราบไปถามอะไร ยังกะเลยว่าถ้าท่านจะด่า ถ้าท่านจะดุท่านจะด่าก็เป็นมงคลชีวิตเรา ครูบาอาจารย์ด่านี่เป็นมงคล ถ้าเมียด่าก็เป็นมงคลเหมือนกันแต่น้อยหน่อย แสดงว่ายังไม่คิดจะทิ้งเรา ถ้าทิ้งเราไม่ด่าแล้ว

เพราะฉะนั้นทำไมหลวงพ่อไม่กลัวครูบาอาจารย์ เพราะศีลเราก็รักษา สมาธิเราก็ทำ ปัญญาเราก็เจริญ แล้วจะกลัวอะไร จิตใจมันองอาจกล้าหาญไม่กลัวหรอก ถึงถูกดุถูกด่า ก็มีแต่เรื่องที่เราจะเจริญขึ้นไม่มีเสื่อมลง เพราะฉะนั้นอย่างพวกเราภาวนาทุกวันๆ จะไม่กลัวหลวงพ่อหรอก พวกที่กลัวหลวงพ่อคือพวกทำบ้างไม่ทำบ้าง ถ้าภาวนาจริงจังไม่กลัว ฉะนั้นเราภาวนา เราถือศีลเราก็มีความสุข อิ่มอกอิ่มใจว่าเราได้สร้างความดี เรามีสมาธิมันก็มีความสุขผุดแทรกขึ้นมา เราเจริญปัญญาเวลาเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกในบางสิ่งบางอย่าง จิตมันก็เบิกบานขึ้นมา

 

ความสุขจากการพ้นทุกข์

มันมีความสุขที่สูงกว่านั้นอีก 2 อัน ความสุขตอนที่เกิดอริยผล ตอนที่เกิดอริยผลจิตมันเบิกบานมหาศาล แล้วก็ความสุขตอนที่เราสัมผัสพระนิพพาน อย่างถ้าเราเคยสัมผัสพระนิพพานมาแล้ว เป็นตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป เวลาเราจะสัมผัสพระนิพพานอีก ถ้าเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี 3 ระดับนี้ต้องใช้วิธีเจริญวิปัสสนา ทำกรรมฐานที่เคยทำนั่นล่ะ แล้วดูลงเป็นไตรลักษณ์ อย่างเราดูกายอยู่อย่างนี้ เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ ดูไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันวางกาย จิตมันวางปุ๊บลงไป มันวางจิตไปด้วย จิตก็สัมผัสพระนิพพาน แต่ถ้าเราเคยสัมผัสพระนิพพาน ได้ระดับถึงที่สุดของทุกข์แล้ว พระนิพพานไม่ได้มีการกำหนดอะไรทั้งสิ้น มนสิการ แค่ระลึกถึง พระนิพพานก็อยู่กับเราอยู่แล้ว ไม่เคยหายไปไหนเลย นี่เป็นอีกแบบหนึ่ง

ฉะนั้นถ้ายังเป็นเสขบุคคลจะสัมผัสพระนิพพาน ก็จะสัมผัสโดยต้องไปผ่านการทำวิปัสสนา แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่ต้องไปทำวิปัสสนาก่อน มนสิการลงไปก็เจอแล้ว อย่างมนสิการลงไปในกาย ก็เห็นกายนี้ว่างเป็นสุญญตา ขยายความรับรู้ออกไปข้างนอก ก็เห็นโลกนี้ว่างเป็นสุญญตา แล้วตัวธรรมะที่รู้คือธรรมธาตุ หรือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ พอมันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่าง ตัวมันก็ว่างด้วย เป็นความว่างอันเดียวกันรวดเลย ระหว่างจิตกับวัตถุ จิตกับร่างกาย กับโลกภายนอก เสมอกันไปหมด ว่าง มันมีความสุขที่ไม่รู้จะบอกอย่างไร อันนี้ฟังครูบาอาจารย์มาเล่า เดี๋ยวจะมาว่าหลวงพ่ออวดอุตริฯ หลวงพ่อไม่เก่งหรอก แต่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อเก่ง หลวงพ่อดีอย่างเดียวคืออดทน อึด ถึงบอกพวกเราทนๆ ไว้ หน้าตาแต่ละคนอินทรีย์อ่อนกว่าหลวงพ่อทั้งนั้นที่เห็น หลวงพ่อยังต้องทน แล้วพวกเราจะไม่ทนได้อย่างไร ต้องสู้เอา อยากได้ดีก็ต้องสู้เอา แล้วเราจะได้ความสุข

ความสุขของพระนิพพาน คือความสุขจากการพ้นทุกข์ ไม่ใช่ความสุขจากการสร้างภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ความสุขจากการถือศีล ความสุขจากการทำสมาธิ ความสุขที่เราเกิดปัญญาแต่ละเรื่องๆ เป็นความสุขที่ยังเกิดในภพ อยู่ในภพ มันเป็นความสุขมหาศาลถ้าเทียบกับชาวโลก ความสุขของศีล ของสมาธิ ของปัญญาเหนือกว่า แต่ยังเป็นโลกียะอยู่ ความสุขของมรรคผลนิพพานเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพานนั้นไม่มีอะไรเหมือน ท่านไม่ค่อยเรียกว่าความสุขด้วยซ้ำไป ท่านเรียกว่ามันพ้นทุกข์ไป อะไรเรียกว่าทุกข์ ขันธ์นั่นล่ะคือตัวทุกข์ จิตมันวางขันธ์ได้เรียกว่ามันพ้นทุกข์ พอพ้นทุกข์แล้วไม่ต้องพูดถึงนิพพาน เพราะนิพพานมันอยู่ต่อหน้าต่อตาอยู่แล้ว

นิพพานไม่มีขันธ์ ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ไม่มีกลางวันกลางคืน นิพพานไม่มีความปรุงแต่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ศีลยังเป็นความปรุงแต่ง สมาธิยังเป็นความปรุงแต่ง ปัญญายังเป็นความปรุงแต่ง ยังเป็นโลกียะ มีได้ก็เสื่อมได้ ประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำสม่ำเสมอ ตรงที่เกิดอริยมรรค เกิดชั่วขณะแล้วก็ดับ เกิดอริยผล 2 – 3 ขณะแล้วก็ดับ ตรงพระนิพพานไม่เกิดไม่ดับ นึกถึงมันก็มีความสุข มันสุขเพราะพ้นความปรุงแต่ง สุขเพราะพ้นความยึดถือ สุขเพราะเข้าถึงธรรมแท้ จิตแท้ ธรรมแท้ มันสัมผัสกัน นี่คือสิ่งที่จะเป็นรางวัลให้พวกเรา

 

เรียนธรรมะพอให้รู้วิธีปฏิบัติ แล้วลงมือปฏิบัติธรรมไปให้มันจริงจัง

สมัยพุทธกาลก็มีพระอรหันต์ท่านคุยกัน ท่านบอกว่าท่านไม่ได้มาปฏิบัติธรรม เพื่อจะมีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อมีทิฏฐิความเห็นที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้รู้ว่าอันไหนถูก อันไหนผิด ในการปฏิบัติอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อให้มีปัญญา ท่านบอกกัน แล้วท่านปฏิบัติเพื่ออะไร เพื่อเข้าถึงพระนิพพาน ถ้าเราภาวนาแล้วไปอ่านพระสูตร สะใจมากเลย พระสูตรเวลาพระอรหันต์ท่านคุยกัน หรือเวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่ไม่ใช่ระดับจริยธรรม ธรรมะระดับภาคปฏิบัติ โอ๊ย มันสะใจถ้าเราปฏิบัติ มันถึงอกถึงใจ พระสูตรนี้ล่ะสำคัญมาก พระวินัยเป็นสิ่งที่พระต้องศึกษา พระสูตร ทั้งโยมทั้งพระที่อยากได้มรรคผลต้องศึกษา พระอภิธรรมเอาไว้ให้เทวดาศึกษา เพราะท่านสอนเทวดา อภิธรรม ไม่ได้สอนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนมนุษย์ ท่านสอนเทวดา มันละเอียด เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์อะไรพวกนี้ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรามีเขา

ในพระสูตรมีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขา มันดีไหม มันดี เพราะอะไร เพราะคนฟังมันยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขาอยู่ ท่านสอนจนเห็นแจ้งเห็นจริง ก็พ้นความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาไป ด้วยพระสูตรนี่ล่ะที่สร้างพระอรหันต์ขึ้นมามากมาย ฉะนั้นภาวนาไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะต้องเรียนอะไรมากมายเลย เวลาที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วเขาบรรลุมรรคผลกัน ท่านสอนคนละนิดไม่ได้สอนเยอะ ไม่ได้สอนทีหนึ่งหลายๆ บท ไม่ใช่ สอนนิดหน่อย อย่างสอนพระปัญจวัคคีย์ สอนทีแรกสอนเรื่องทางสายกลาง ไม่ตึงไปไม่หย่อนไป ทางสายกลางคือมรรคมีองค์ 8 ท่านได้โสดาบัน ท่านสอนให้เห็นขันธ์ 5 เป็นอนัตตา สอนแล้วก็เป็นพระอรหันต์ เห็นไหมเรียนนิดเดียว ไม่ได้เรียนอะไรมากมายหรอก

พวกเรียนเยอะไปไม่รอดหรอก วันๆ ก็ฟุ้งไปเรื่อยๆ อย่างมีลูกศิษย์บางคนมาเสนอว่าอยากเขียนแอปพลิเคชัน เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์ แล้วก็มีปุ่มหนึ่งกดปุ๊บแล้วมันจะขึ้นเลยว่า อันนี้อ้างอิงไปถึงพระไตรปิฎกเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ไปอ่านได้ อันนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของหลวงพ่อ สิ่งที่หลวงพ่อต้องการคือพวกเราฟังเทศน์จบแล้วไปปฏิบัติ ไม่ใช่ให้ไปอ่านหนังสือต่อ อันนั้นผิด แทนที่ฟังธรรมะจบแล้วจะไปภาวนาบรรลุมรรคผล จะไปนั่งอ่านหนังสือแล้วก็จำอะไรต่ออะไรเต็มสมอง มันได้อะไรขึ้นมา ฉะนั้นหลวงพ่อไม่ได้เห็นด้วยหรอกจะไปทำแอปพลิเคชันอะไร ให้อ่านหนังสืออะไรเยอะแยะ เสียเวลา

ภาวนาถึงจะเข้าใจธรรมะ บอกแล้วว่าธรรมะเข้าใจไม่ได้ด้วยการอ่าน ธรรมะก็เข้าใจไม่ได้ด้วยการฟังเยอะๆ ฟังนิดๆ หน่อยๆ พอให้รู้วิธีปฏิบัติ แล้วก็ลงมือปฏิบัติไปให้มันจริงจัง ไม่เคยรักษาศีลก็รักษาเสีย ไม่เคยฝึกจิตใจของตัวเองให้ตั้งมั่นก็ฝึกเสีย ไม่เคยเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงก็เห็นเสีย อยากเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง ก็ใช้วิธีมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นและจิตไม่เป็นกลาง จะเห็นความจริงของกายของใจไม่ได้ จะไม่เห็น

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 มิถุนายน 2565