พัฒนาจิตให้เป็นผู้เห็น

เมื่อวานหลวงพ่อบอกเรื่องจะเปิดให้จองเข้ามาฟังธรรม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม บางคนเสียอกเสียใจเพราะมีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีน 3 เข็ม บางคนบอกฉีด 2 เข็มได้ไหม เข็มหนึ่งได้ไหม หลวงพ่อไม่อยากให้พวกเราเข้ามาในวัด แล้วก็ติดเชื้อกลับบ้านไป ในวัดคนเยอะ แลกเปลี่ยนเชื้อกันได้ว่องไวมากเลย วันนี้ก็มีแม่ครัวในวัดติดโควิด ติดมาจากไหนก็ไม่รู้ 1 คน ที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม เผื่อมาที่วัดรับเชื้อไปจะได้ไม่ถึงตาย เราเข้าใจวัตถุประสงค์หน่อย มาวัดอยากให้ได้แต่ธรรมะไป เชื้อไม่ต้องเอาไป

เมื่ออาทิตย์ก่อนหลวงพ่อพูดถึงอานาปานสติ บอกอย่างละเอียดแบ่งแยกออกไปได้ 16 ขั้น จัดอยู่ในกลุ่มกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 4 ขั้น กลุ่มเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน 4 ขั้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 4 ขั้น แล้วก็ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน 4 ขั้น อานาปานสติครอบคลุมการเจริญสติปัฏฐาน 4 ทั้งหมดได้ ที่จริงไม่เฉพาะอานาปานสติหรอก ถ้าเราหัดดูจิตดูใจ ดูเป็น มันครอบคลุมสติปัฏฐาน 4 ทั้งหมด คือไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร เราทิ้งจิตไม่ได้ เราจะเจริญกายานุปัสสนา ต้องมีจิตเป็นผู้เจริญ เจริญเวทนานุปัสสนา ก็ต้องมีจิตเป็นผู้เจริญ

เจริญจิตตานุปัสสนา เห็นจิตที่เป็นกุศลอกุศล ก็ต้องมีจิตที่เป็นผู้เจริญ ยิ่งธัมมานุปัสสนา เรื่องท้ายๆ เลย เรื่องจิตทั้งนั้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอน ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ ได้จิตถึงจะได้ธรรมะ ทำอย่างไรเราจะได้จิตมา จิตเรามันอยู่กับเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงสืบต่อไม่จบสิ้น แต่ทำไมเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส เพราะเราไม่รู้วิธี

สมัยหนึ่งหลวงปู่มั่นท่านไปอยู่ทางเหนือ อยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านชาวเขา บิณฑบาตกับชาวเขา วันๆ ท่านบิณฑบาตเสร็จแล้ว ท่านก็เดินจงกรม พวกชาวเขาเห็นท่านเดิน เดินก้มหน้าๆ ก็ถามท่าน ว่าตุ๊เจ้าเดินหาอะไร ท่านบอกเดินหาพุทโธ พุทโธของเราหาย ชาวเขาบอกเห็นหามาหลายวันแล้ว อยากช่วยหาบ้าง สงสารตุ๊เจ้า เดิน ไปเรื่อยๆ เที่ยวหาพุทโธ ท่านก็สอนวิธี เดินไปก็บริกรรมไป พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ทีนี้พอเขาบริกรรมไปหลายๆ วัน จิตรวม จิตรวมเข้าฐาน สงบ ก็ได้จิตผู้รู้ขึ้นมา

ได้จิตผู้รู้นี่ เป็นตัวตั้งต้นของการเจริญปัญญา ในตำราอภิธรรมนั้นยังบอกเลยว่า ปัญญาขั้นที่หนึ่ง ชื่อ นามรูปปริจเฉทญาณ การแยกรูปนาม ทีนี้จะแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานได้ หลายที่เขาก็รู้ว่าจะต้องแยกรูปนามแต่ก็แยกไม่เป็น ที่แยกไม่เป็น เพราะไม่ได้สนใจเรื่องจิต อย่างเขาเห็นว่าการเดิน ก้าวไปอย่างนี้ หรือเห็นท้อง ท้องพองท้องยุบ บอกแยกรูปนาม ยังไม่ได้แยกหรอก เห็นท้องพองท้องยุบ เห็นเท้าก้าวไป มันต้องมีจิตเป็นคนเห็น หายใจอยู่ก็มีจิตเป็นคนเห็นว่าร่างกายกำลังหายใจออก มีจิตเป็นคนเห็นว่าร่างกายกำลังหายใจเข้า จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน ก็มีจิตเป็นคนเห็นร่างกายกำลังยืนเดินนั่งนอน

ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาจิตให้เป็นผู้เห็น เราทำวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก วิปัสสนาแปลว่าการเห็นแจ้ง ปัสสนะ แปลว่าการเห็น วิ แปลว่าแจ้ง เห็นชัดเจน แจ่มแจ้งถูกต้อง ตรงความเป็นจริง ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปทำวิปัสสนาได้ ไม่ว่าจะด้วยกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เราต้องพัฒนาจิตให้เป็นผู้เห็นให้ได้ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านเรียกจิตผู้รู้ ผู้รู้ผู้เห็น ก็อันเดียวกันล่ะ ฉะนั้นที่หลวงพ่อพากเพียรสอนพวกเราเรื่อยๆ ว่าเราต้องมีจิตผู้รู้นะ ถ้าเราไม่มี เราเดินปัญญาต่อไปไม่ได้

 

จิตที่เป็นผู้รู้และสามารถเจริญปัญญาได้

จิตผู้รู้มีลักษณะอย่างไร จิตผู้รู้นี่เป็นจิตที่เดินอยู่ในทางสายกลาง สามารถรู้สภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริงได้ ถ้าพูดแบบปริยัติ ก็คือ มหากุศลจิตญาณสัมปยุต อสังขาริกัง มหากุศลจิตเป็นจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นกุศล ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง มีความเบาความอ่อนโยนนุ่มนวล ความว่องไวไม่เซื่องซึม สามารถที่จะรู้สภาวะทั้งหลายอย่างซื่อๆ รู้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เข้าไปแทรกแซงไม่มี Bias ตัวมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง มหากุศลจิตอย่างที่บอก ไม่มีโลภโกรธหลง มีลหุตาความเบา มีมุทุตาความนุ่มนวล อ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว ปาคุญญตา สามารถทำงานได้ ควรแก่การงานเป็นกัมมัญญตา ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ เรียกอุชุกตา ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลอย่างแท้จริง

ตัวผู้รู้ไม่ได้เป็นแค่จิตที่เป็นกุศล ยังเป็นจิตที่เป็นกุศลที่สามารถเจริญปัญญาได้ จิตที่เป็นกุศลมี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นกุศลอยู่เฉยๆ อย่างนั้น อีกชนิดหนึ่งสามารถเจริญปัญญา มีปัญญาได้ จิตที่จะเจริญปัญญาได้ ต้องเป็นจิตที่เราไม่ได้ไปเพ่งไว้ให้นิ่งๆ แล้วก็ไม่ได้เผลอ ล่องลอยไปที่อื่น เป็นสภาวะที่จิตใจอยู่กับตัวเอง อยู่กับเนื้อกับตัว ถึงจะเจริญปัญญาได้ ถ้ามีกาย จิตก็ลืมกาย มีจิตใจมีความรู้สึกนึกคิด จิตก็ลืม ก็ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะการเจริญปัญญาในขั้นสูงในขั้นวิปัสสนา ไม่ได้ไปรู้อย่างอื่นหรอก รู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจเรานี่เอง

บางทีจิตไปสงบนิ่งอยู่เฉยๆ เป็นกุศล แต่ไม่มีทางเจริญปัญญา อย่างเราภาวนา บางที จิตสว่างออกไป ไปแช่อยู่ข้างนอก ว่างๆ สว่างอยู่อย่างนั้น อยู่ได้เป็นวันอยู่ได้เป็นเดือนอยู่ได้เป็นปี ถ้าตายไปตอนนั้นก็ไปเป็นพรหม ไปสว่างว่างๆ อยู่อย่างนั้นเป็นกัปๆ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนิพพานไปหลายองค์แล้วก็ยังว่างๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่รู้จักจบจักสิ้นง่ายๆ หรอก หรืออย่างเรามีจิตเป็นกุศล เราอยากทำบุญใส่บาตร จิตที่อยากทำบุญ จิตที่อยากใส่บาตร จิตที่อยากฟังธรรม เป็นจิตที่เป็นกุศลทั้งนั้น แต่มันไม่ย้อนมาดูกายไม่ย้อนมาดูใจ มันยังไม่ได้เดินปัญญา จิตผู้รู้ไม่ใช่รู้อย่างอื่น จิตผู้รู้ คือรู้กาย รู้ใจของตนเอง กายเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าจิตมันเดินปัญญาได้

หลวงพ่อนั่งสมาธิมาแต่เด็ก ฉะนั้นได้จิตผู้รู้มาตั้งแต่เด็ก จนโตแล้วมาเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ มาต่อยอด เรื่องการเจริญปัญญา จากนั้นก็เข้าไปกราบครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านชำนิชำนาญในเรื่องจิตมาก อย่างหลวงปู่สิมท่านเห็นหลวงพ่อ ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ผู้รู้ๆ ท่านเรียกเราว่าผู้รู้ ท่านไม่รู้จักชื่อ ท่านเรียกผู้รู้ คนก็มาถามหลวงพ่อว่ารู้อะไรบ้าง เป็นผู้รู้ หลวงปู่เรียกว่าผู้รู้ รู้อะไร สนใจมากเลย อยากจะรู้บ้าง หลวงพ่อบอกรู้กายรู้ใจของตัวเองนั่นล่ะ ผู้รู้ สามารถเจริญปัญญาได้ รู้กายอย่างที่กายเป็นรู้ใจอย่างที่ใจเป็น ถ้าเป็นผู้รู้แล้วรู้กายอยู่เฉยๆ จะได้แต่สมาธิชนิดสงบ เป็นผู้รู้แล้วก็เฝ้าจ้องอยู่ที่จิตใจ จิตว่างก็รู้จิตไม่ปรุงแต่งไม่คิดอะไรก็รู้ อันนั้นก็ได้แต่สมถะ เป็นการเพ่งอารมณ์ไป สงบ แต่ไม่มีปัญญา

จิตที่เดินปัญญาได้มีสัญญาที่จะหมายรู้ คือพอเห็นร่างกาย มันมีสัญญาเข้าไปหมายรู้ร่างกาย ร่างกายนี้มันไม่สวยไม่งาม ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้น ร่างกายนี้เป็นของที่เราบังคับมันไม่ได้จริง สั่งไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้ สั่งไม่ให้ตายก็ไม่ได้ ทำไม่ได้สักอย่าง มันหมายรู้ มีสัญญาที่ถูกต้อง หมายรู้ลงไปร่างกายนี้ ไม่สวยไม่งามไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เวลามันหมายรู้ลงที่จิต มันไม่มีอสุภะหรอกจิต มันไม่มีร่างกาย เวลามันหมายรู้จิต มันก็จะมองจิตในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะมองอย่างนี้

เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้ที่มันเจริญปัญญาได้ เพราะมันรู้จักหมายรู้ไตรลักษณ์ เวลาสติระลึกรู้กายแล้วเรามีจิต ที่เป็นผู้รู้อยู่ ไม่ใช่ผู้คิดผู้นึกผู้หลง ไม่ใช่ผู้เพ่ง สัญญาที่ถูกต้องเข้าไปหมายรู้กาย เห็นกายนี้ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล อสุภะ เห็นร่างกายนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวลาหมายรู้จิต มันจะหมายรู้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความเป็นจริงแล้ว การหมายรู้ว่าร่างกายเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูลอสุภะ เป็นการหมายรู้ที่ถูก เพราะร่างกายมันเป็นปฏิกูลจริงๆ

อันนี้สำหรับกายมนุษย์ แต่กายเทพกายพรหม ไม่มีอสุภะให้ดู เพราะฉะนั้นเรื่องปฏิกูลอสุภะจึงไม่ใช่สามัญลักษณะ ไม่ใช่ลักษณะร่วมของทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างกายมนุษย์นี้มีความสกปรกโสโครกอยู่ กายเทพกายพรหมไม่มี เหงื่อสักหยดยังไม่มีเลย ไม่ต้องอาบน้ำ ฝุ่นก็ไม่เกาะ เพราะฉะนั้น ท่านถึงเน้นมาเรื่องสามัญลักษณะ อสุภะไม่ใช่สามัญลักษณะ เป็นลักษณะของคนบางกลุ่ม สัตว์บางชนิดเท่านั้นที่อสุภะ เทพพรหมไม่มีอสุภะให้ดูหรอก แต่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ครอบคลุมโลกธาตุทั้งหมดเลย สัตว์ทุกชนิดตกอยู่ใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงเรียกว่าสามัญลักษณะ สามัญคือลักษณะธรรมดาร่วมๆกัน ลักษณะร่วมของสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นสามัญลักษณะ

จิตที่เป็นผู้รู้และสามารถเจริญปัญญาได้ สามารถเห็นสามัญลักษณะของกายของใจได้ ฉะนั้นจิตผู้รู้ก็จะเป็นกุศล เป็นจิตที่เป็นกุศล ไม่โลภไม่โกรธไม่หลงมีความเบามีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไวไม่ซึมเซื่อง มีความควรแก่การงานคือขยันขันแข็ง ที่จะพิจารณาที่จะดูความจริง ไม่ใช่เฉื่อยๆ ไม่ทำอะไรนอกจากนอนเฉยๆ แล้วก็ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ คล่องแคล่วว่องไว อันนี้จิตที่เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา คือสามารถเห็นสามัญลักษณะได้ อีกตัวหนึ่งคืออสังขาริกกัง เมื่อกี้บอกแล้วจิตที่เป็นผู้รู้ เป็นมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งจะต้องหมายรู้ไตรลักษณ์ได้ แล้วก็อสังขาริกกัง คือเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เจตนาให้เกิด

 

ทำอย่างไรจึงจะมีจิตผู้รู้โดยไม่ได้เจตนา

จิตที่เป็นกุศลมี 2 อย่าง บางอย่างก็ต้องบิลด์ (build) ให้เกิด บางอย่างที่เป็นกุศลกำลังกล้า ไม่ต้องบิลด์ ทีนี้ทำอย่างไร จิตเราจะสามารถเป็นผู้รู้ โดยที่เราไม่ต้องเจตนาสร้างขึ้นมา เราสั่งให้จิตเป็นผู้รู้ไม่ได้ สั่งให้เกิดขึ้นมาไม่ได้ แต่เราทำเหตุของมันได้ อาศัยสติของเรา รู้ทันเวลาจิตมันเป็นผู้หลง มันหลงไปดูรูป รู้ทัน จิตที่หลงไปดูรูปจะดับ กลายเป็นจิตที่ไม่หลง จิตที่ไม่หลงก็คือจิตรู้ ความไม่หลงก็คือไม่มีโมหะ ตัวไม่มีโมหะคือตัวปัญญา เราสะสมบ่อยๆ จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ ต่อไปจิตคุ้นเคย พอหลงปุ๊บรู้ปั๊บ หลงปุ๊บรู้ปั๊บ จิตรู้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาให้เกิด อันนี้สำหรับคนที่ไม่ได้ฌาน

ถ้าคนได้ฌานจะไปอีกลีลาหนึ่ง อย่างเราไม่ได้ฌาน จะทำอย่างไรที่จะมีจิตผู้รู้โดยไม่ได้เจตนา หลายคนได้ยินเรื่องจิตผู้รู้แล้วก็เจตนา ปั้นจิตผู้รู้ขึ้นมา จะทื่อๆ อย่างนี้จิตผู้รู้ปลอม แต่งขึ้นมา เป่ามันทิ้งไป อยากได้จิตผู้รู้ ให้รู้ทันจิตผู้หลง จิตผู้หลงมี 6 แบบ หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง อย่างเราได้ยินเขาคุยกัน เราสนใจที่จะฟังเรื่องที่เขาคุยกัน ขณะที่เราสนใจไปฟังเรื่องที่เขาคุยกัน เราลืมกายลืมใจของตัวเองแล้ว ไม่ดี หลงไปทางจมูก ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางร่างกาย ไปคิดนึกทางใจ ให้รู้บ่อยๆ รู้ๆๆๆๆ แล้วต่อไปไม่เจตนาจะรู้ จะรู้ได้เอง เพราะจิตเคยชินที่จะรู้ เราต้องเปลี่ยนความเคยชินของจิต จิตเป็นอนัตตา แต่จิตมีธรรมชาติไหลไปตามความเคยชิน มันเคยชินอย่างไรก็จะไปอย่างนั้น

เคยชินจะโกรธ ก็โกรธ โกรธบ่อยโกรธง่าย เคยชินจะโลภก็โลภง่าย โลภบ่อย เคยชินจะหลง ใจลอย ล่องลอยไป ลืมกายลืมใจ ก็หลงง่าย ฉะนั้นเรามาฝึกจิตใหม่ ให้จิตคุ้นเคยที่จะรู้สึกตัว ทำกรรมฐานของเราไป จิตหลงไปดูรูปรู้ทัน จิตหลงไปฟังเสียงรู้ทัน จิตหลงไปดมกลิ่นไปลิ้มรสไปรู้สัมผัสทางกาย จิตหลงไปคิดนึกทางใจ จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทันไปเรื่อยๆ พอรู้ทัน ตัวรู้มันเกิดเองเลย เพราะมันไม่หลง มันไม่หลงมันก็รู้ เราไม่ได้ทำตัวรู้ให้เกิด แต่เรารู้ทันตัวหลง ตัวหลงดับ ตัวรู้ก็เกิดเอง เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้เจตนาให้ตัวรู้เกิด มันเกิดของมันเอง เพราะมันรู้เท่าทันตัวหลงเสียแล้ว

ยิ่งเรารู้ตัวหลงบ่อยๆ อย่างเราหัดภาวนา พุทโธๆๆ หนีไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน พุทโธๆ ไปเพ่งความนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ รู้ทัน หรือเราหายใจอยู่ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ รู้ทันบ่อยๆๆๆๆ ต่อไปจิตเคยชินที่จะรู้ มันจะรู้ขึ้นโดยไม่เจตนาจะรู้ ถ้าจงใจจะปั้นผู้รู้ขึ้นมา จิตจะทื่อๆ ไม่ได้เข้าท่าเท่าไรหรอก เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน ต้องบิลด์กันมากกว่าจะเกิดกุศล

กุศลก็มี 2 อัน เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน กุศลที่มีกำลังกล้า กุศลที่มีกำลังอ่อนก็คือ ต้องมีการบิลด์ ถึงจะเกิดกุศล อย่างเช่น พรรคพวกเรา ชวนเราทำบุญใส่บาตร ขี้เกียจ เพื่อนบิลด์ตั้งนานถึงยอมไปทำบุญใส่บาตร ถามว่าได้บุญไหม ได้บุญ แต่ได้บุญแค่นี้ นิดเดียว เพื่อนที่เต็มใจไปทำบุญใส่บาตร ไม่ต้องบิลด์เป็นกุศลที่แรง ก็เลยเป็นบุญแรงกว่ากัน ที่ต้องบิลด์ขึ้นมานี้เป็นบุญอ่อนๆ ไม่แข็งแรง

ฉะนั้นอย่างตัวรู้ของเรานี้ ถ้าเราต้องบิลด์ให้เกิด ยังเป็นตัวรู้ที่อ่อนแอ ถ้าเป็นตัวรู้ที่เกิดอัตโนมัติขึ้นมา ฝึกไปเรื่อย เผลอ หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ตัวรู้อัตโนมัติมันเกิด มันมีกำลังแข็งแรง ในที่สุดเราก็จะได้จิตผู้รู้ที่ดี เป็นมหากุศลจิตญาณสัมปยุต คือประกอบด้วยการเจริญปัญญาได้ อสังขาริกกัง ไม่ได้เจตนาให้เกิด ไม่ได้ชักชวนให้เกิด ไม่บิลด์ ให้เกิด เกิดเอง เพราะเคยชินที่จะเกิด พอเราได้ตัวนี้ขึ้นมาแล้ว เราสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทุกบรรพเลย ขอให้ได้จิตขึ้นมาก่อน ได้ผู้รู้ขึ้นมาก่อน

เวลาเรามีจิตผู้รู้แล้วเราเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะเห็นร่างกายหายใจออก จิตเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้ ร่างกายยืนจิตเป็นคนรู้ ร่างกายเดินร่างกายนั่งร่างกายนอน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด จิตเป็นคนรู้ ร่างกายเหลียวซ้ายแลขวา จิตเป็นคนรู้ จะเห็นร่างกายทำงานไปเรื่อยๆ มีจิตเป็นคนรู้อยู่ แล้วปัญญามันจะเกิดขึ้น มีสติระลึกรู้กายอยู่ มีจิตตั้งมั่นคือทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่ ปัญญาจะเกิด อาศัยสัมมาสติและสัมมาสมาธินี่ล่ะ จะเกิดสัมมาญาณะ เกิดปัญญาที่ถูกต้องขึ้นมา

อย่างพอจิตเราเป็นคนดูเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ทีแรกยังไม่รู้สึกอะไร เคลื่อนทีแรก จงใจเคลื่อน ไม่มีผู้รู้ พอเคลื่อนปุ๊บ จิตก็ไปเพ่งมือเลย หรือไปคิดเรื่องมือ ท่านี้แล้วต่อไปจะท่านี้ อันนี้ไม่มีจิตผู้รู้ ทำให้ตายก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา หรือดูท้องพองท้องยุบ แต่ไม่มีจิตผู้รู้ จิตก็ถลำไปอยู่ที่ท้อง นั่งหายใจออกหายใจเข้าไป ไม่มีจิตผู้รู้ จิตก็จมไปในลมหายใจ ไม่สามารถแยกรูปแยกนามได้ จะแยกรูปแยกนามได้ ต้องมีจิตที่แยกออกมาเป็นคนรู้คนดูได้ อย่าจงใจแยก จงใจแยกออกมาไม่ใช่ตัวรู้ที่ดี เป็นตัวรู้ที่ไม่มีกำลัง ไม่ได้เรื่อง

ฉะนั้นทำไปตามลำดับ อันนี้ไปทวน ไปรีรันฟังบ่อยๆ หลายๆ ทีเลย ถ้าเข้าใจตัวนี้เราจะพัฒนาจิตผู้รู้ขึ้นมา พอเรามีจิตผู้รู้ขึ้นมา มาเจริญกายานุปัสสนาเราจะเห็นเลย รูปส่วนรูป นามส่วนนาม กายก็อันหนึ่งจิตก็อันหนึ่ง คนละอันกัน แล้วต่อไปจะค่อยๆ เห็น รูปนี้ไม่ใช่เรานี่ นามที่เป็นคนรู้รูปเป็นแค่ความรู้สึก ความรับรู้ เป็นแค่ตัวความรับรู้เท่านั้น ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาเหมือนกัน บางคนดูแค่นี้ ก็เข้าใจธรรมะได้แล้ว ฉะนั้นถ้าเราได้จิตของเรามาสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร ถ้าเป็นกรรมฐานที่รู้กายรู้ใจตัวเองละก็ ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งได้ทั้งสิ้น หรือเราเจริญเวทนานุปัสสนา เวทนามี 2 ส่วน เวทนาทางกายกับเวทนาทางใจ อย่างเรามีจิตเป็นคนรู้อยู่ เรานั่งสมาธิอยู่หรือเดินจงกรมอยู่ จิตเราเป็นคนดู เห็นร่างกายเดิน เห็นร่างกายนั่ง เดินไปนั่งไปสักพัก ปวดเมื่อยขึ้นมาหรือคัน

 

 

หลวงพ่อพูดถึงคำว่า คัน พูดแป๊บเดียว พวกเราจะรู้สึกอยากเกาบ้างแล้ว คันบ้างแล้ว เพราะที่นั่งมาตลอดนี้ มันคันอยู่ตลอดแต่ไม่เห็น ไม่ได้สนใจ ลองดูสิ ในร่างกายเราคันตรงไหนบ้าง มีทุกคน เวทนาเกิดอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ในกายมีเวทนาตลอดเวลา มีความสุขบ้างความทุกข์บ้าง มีอยู่ในกายนี้ตลอดเวลา แต่เราหลง เราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ ถ้าเรามีจิตเป็นผู้รู้อยู่ เราเห็นว่ากายอยู่อย่างนี้ แล้วมีเวทนาแทรกเข้ามาในกาย คันตรงนี้ ก็เกา เห็นไหม เริ่มเกากันใหญ่แล้วเห็นไหม หลวงพ่อพูดเรื่อง คัน คันกันใหญ่แล้ว สัญชาติลิงกลับมาแล้ว สัญชาตญาณ

เฝ้าดูลงไป เราจะเห็น กายก็อันหนึ่ง เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์ในกายก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็อีกอันหนึ่ง คนละอันกัน เราจะเห็นว่ากายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้เดี๋ยวก็เป็นผู้คิดไป เดี๋ยวก็หลงไป นี่คือการเจริญเวทนานุปัสสนา เราต้องมีจิตที่เป็นผู้รู้เสียก่อน ถ้าจะเจริญจิตตานุปัสสนา เราก็สังเกตไป เดี๋ยวจิตก็เป็นกุศล เดี๋ยวจิตก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็อยากโน้นอยากนี้ตลอดเวลา

ความอยากมี 6 อย่าง อยากดู อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางกาย อยากได้อารมณ์ทางใจที่พอใจ ถ้าเจออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ไม่อยากได้ ฉะนั้นความอยากนี้มี 6 ช่องทาง เรียก มี อยากเห็นรูป อยากฟังเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสทางกาย อยากได้อารมณ์ทางใจ ตรงที่อยากได้มา มีชื่อเรียกว่ากามตัณหา ตรงที่ได้มาแล้วพอใจ อยากให้มันอยู่นานๆ เรียกว่าภวตัณหา ตรงที่ได้อารมณ์นั้นมาแล้วไม่พอใจอยากให้หมดไปสิ้นไปเรียกว่าวิภวตัณหา

สมมุติว่าเราจะดูจิตของเรานี้ แต่เราดูไม่เป็น ดูอย่างอื่นไม่เป็น ดูอยากอย่างเดียวยังได้เลย เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากคิด ถ้าลงละเอียดลงไป พออยากดู พอดูแล้วชอบใจ อยากให้รูปนี้อยู่นานๆ หรือไม่ชอบใจก็อยากให้รูปนี้หายไป แตกละเอียดออกไปได้ เป็น 18 ตัว ความอยาก 6 ช่องทาง แต่ละช่องทางมี 3 ตัว อยากได้ อยากให้มันคงอยู่ อยากให้มันหายไป 3 คูณ 6 ได้ 18 เป็นตัณหา 18 ตัว นี่ดูละเอียดขึ้น นี่คือจิตตานุปัสสนาทั้งนั้น ดูกิเลสตัณหาของเรา ดูกุศลที่เกิดขึ้น

บางทีใจอยากฟังธรรม ดิ้นรนแทบตายเลยเพื่อจะมาฟังธรรม เมื่อก่อนนี้ที่วัดหลวงพ่อไม่ได้ให้จองเข้ามา ตี 4 มาจอดรถหน้าวัดกันเป็นแถว จอดๆๆๆ เรียงกันไปแล้ว พอเปิดประตูปุ๊บ ขับรถปาดกันไปปาดกันมา แย่งกันเข้าวัด แย่งกันเข้ามาในวัด บางคนจอดรถที่ลานจอดรถ ประตูรถยังไม่ปิดเลย รถก็ยังเดินเครื่องอยู่ เปิดประตูได้วิ่งอ้าวเข้าศาลา มาจองที่แล้ว เพราะไม่เห็น จิตมันอยาก อยากมาฟังเทศน์ในศาลา พอถึงเวลาหลวงพ่อเทศน์ ตื่นมาตั้งแต่ตี 3 เบื่อจังเลย เมื่อไรหลวงพ่อจะเทศน์เสร็จสักที จะได้นอน หรือไม่เห็นหลวงพ่อเผลอๆ ไม่ได้สนใจก็หลับไปแล้ว

จิตที่เป็นกุศลอยากฟังเทศน์ แป๊บเดียวจิตที่เป็นกุศลดับแล้ว กลายเป็นจิตขี้เกียจไปแล้ว เมื่อไรจะเลิกสักที ตาลีตาลานมาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 ออกจากบ้านมาตี 3 ก็มี มาถึงวัดตี 4 ตี 5 พอถึงเวลาฟังเทศน์จริงๆ เบื่อแล้ว ไม่อยากฟังแล้ว เราเฝ้ารู้จิตของตัวเอง เราจะเห็น จิตเดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ไม่ว่าดีหรือเลว แล้วก็บังคับไม่ได้

เรามีจิตที่เป็นคนรู้ เราจะเห็นเลย จิตโลภก็ชั่วคราว จิตโกรธก็ชั่วคราว จิตหลงก็ชั่วคราว จิตดีก็ชั่วคราว จิตเป็นผู้รู้ก็ชั่วคราว จิตเป็นผู้หลงไปก็ชั่วคราว นี่เราเจริญจิตตานุปัสสนาอยู่ ฉะนั้นเราฝึกให้ได้จิตเสียก่อนเถิด สติปัฏฐาน 4 จะทำได้หมด ไม่ยากหรอก ธัมมานุปัสสนาก็มีหลายบท เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องดูเรื่องนิวรณ์ แต่ตัวสุดยอด ตัวท็อปเลย ในบรรดาสติปัฏฐาน 4 ธัมมานุปัสสนาเป็นตัวท็อป ในธัมมานุปัสสนา บทย่อยเกี่ยวกับอริยสัจเป็นตัวท็อป ฉะนั้นเรื่องของอริยสัจนี่เป็นตัวท็อป ที่เราจะภาวนา หรือเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ตัวนี้เป็นสิ่งที่แสดงด้วยจิตของเรานี่เอง

 

เห็นปฏิจจสมุปบาท

ฉะนั้นถ้าเรามีจิตที่เป็นคนรู้ เราก็จะเห็น พอตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความรู้สึกนึกคิด ก็เกิดเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ถ้ามีความสุขมันก็อยาก อยากให้ความสุขมาบ่อยๆ อยากให้ความสุขอยู่นานๆ ถ้ามีความทุกข์ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป เราเห็นการที่เราเห็นจิตเห็นใจเราทำงานนั่นล่ะ คือการเห็นปฏิจจสมุปบาท ทีแรกก็เห็นส่วนเดียวก่อน ยังไม่ได้แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาทหรอก จะเห็นท่อนกลางๆ ไป เห็นตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์อะไรขึ้นมาไหมหรือเกิดเฉยๆ พอมีความรู้สึกเกิดขึ้น ถ้ามันสุขก็เกิดอยากได้ อยากให้มันคงอยู่ ถ้ามันทุกข์ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป ถ้ามันเฉยๆ ก็เผลอๆ เพลินๆ ลืมไปเลย ไม่สนใจ

พอมีความอยากขึ้นมา ใจก็เกิดการดิ้นรน ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ ใจจะเริ่มดิ้นรน อย่างที่เราเห็นมันไหวอยู่กลางอกเรานี่ ไหวยิบยับๆ อยู่ บางทีก็หมุนจี๋ๆๆ ขึ้นมา บางทีก็แน่นขึ้นมา จิตมันทำงานขึ้นมา แสดงอาการนี้ให้ดู แสดงสังขารนี้ให้ดู เป็นสัญลักษณ์ให้เราเห็นว่าตอนนี้จิตกำลังปรุงแต่งอย่างรุนแรงอยู่ หมุน วัฏสงสารไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย อยู่กลางอกนี่ ภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง วัฏสงสารถล่มลงไป หลุดโครมลงไป สลายตัวไปหมด จิตก็เป็นอิสระ ไม่ถูกอาสวะห่อหุ้มเอาไว้ อย่างเราดู เห็นไหมมันไหวยิบยับๆ อยู่ทั้งวัน เราจะค่อยๆ เห็น ตัวที่มันไหวยิบยับนั้นเป็นตัวสังขาร คือตัวภพนั่นเอง

สังขารกับตัวภพนั้นตัวเดียวกัน ภพก็คือความดิ้นรน ความดิ้นรนของจิตใจ เรียกว่ากรรมภพ จิตมันทำงาน มีภพขึ้นมา จิตมันก็เข้าไปหยิบฉวยไปยึดไปถือ ยึดถือตาบ้างเวลาไปดูรูปก็ยึดถือตา เวลาไปฟังเสียงก็ยึดถือหู เวลารู้อารมณ์ทางใจก็ยึดถือจิต ยึดถือใจ ค่อยภาวนาไปนะ แล้วก็จะเห็นว่ายึดไว้ทีไรก็ทุกข์ทุกทีเลย นี่เห็นปฏิจจสมุปบาท แต่จะเห็นท่อนท้ายก่อน เราฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปจะลงข้างล่างได้ จะเห็นไปถึงตัวอวิชชาได้ อวิชชาไม่ได้เกิดลอยๆ อวิชชามีอาสวะเป็นปัจจัยให้เกิด อาสวะก็มีอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิด มันหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน พอมีอวิชชาก็จะมีความปรุงของจิต ปรุงดีบ้างปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง นี่คือตัวสังขาร อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง

พอมันมีความปรุงเกิดขึ้น มันจะเกิดจิตขึ้นมา ผุดขึ้นมา จิตมันจะผุดขึ้นมา อย่างเวลาเราภาวนา จิตรวมลงไป ดับโลกธาตุไปเลย แล้วพอจิตมันทำงานขึ้นมา มันเกิดความปรุงขึ้นมา มันจะมีเหมือนแสงสว่างผุดขึ้น แล้วแสงนี้ผุดขึ้นมา กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็เกิดนามธรรมขึ้นมา แล้วแสงนี้จะขยายตัวช็อตที่ 2 ปุ๊บ กระทบเข้าร่างกาย ก็เกิดรูปธรรมขึ้นมา พอมันกระทบเข้าที่กายปุ๊บ มันจะตะครุบเอาไว้เลย มันจะตะครุบกายไว้เลย แสงนี้ แล้วมันก็ติดอยู่ตรงนั้นเลย

 

 

เคยได้ยินเรื่องนี้ไหม ว่าเวลาสิ้นกัป เวลาจักรวาลแตกสลาย สัตว์ทั้งหลายไปเกิดเป็นอาภัสสราพรหม อาภัสสราพรหมคือพรหมแสงสว่าง เป็นแสง มันเหลือแต่แสงเท่านั้น ทั้งจักรวาล เหลือแต่แสง แล้วแสงนี้เมื่อกระทบ บอกว่าพรหมนี้ไปกินง้วนดิน แล้วก็ติดใจในรสของดิน ก็เลยติดอยู่ในโลก ไปไหนไม่รอดแล้ว อย่างพวกเรานี้ เป็นลูกหลานพรหมมาก่อนใช่ไหม เราติดง้วนดิน อยู่กับโลกนี่ล่ะ ติดดินอยู่นี่ล่ะ เรียกมนุษย์ติดดิน แสงสว่างผุดขึ้นมา แล้วแสงสว่างกระทบเข้ากับนามธรรม ก็เกิดความรับรู้ในนามธรรม กระทบเข้ากับรูปธรรม ก็เกิดรูปธรรมนี้ขึ้นมา ก็เกิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบอายตนะทั้ง 6 พอมีนามรูป ก็มีอายตนะขึ้นมา ต้องเห็นด้วยตัวเองะ ภาวนาไปเดี๋ยวก็เห็นเอง ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่นิทานหลอกเด็ก

ในเวลาที่จักรวาลแตกสลายเหลือแต่แสง แสงกระทบเข้ากับวัตถุ จิตมันก็เกาะขึ้นมา ตรงนี้วิญญาณหยั่งลง วิญญาณหยั่งลงก็เกิดนามรูปขึ้นมา มีนามรูปก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจครบแล้ว มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกผัสสะ มีผัสสะ เกิดเวทนาเกิดความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ มีเวทนาก็เกิดตัณหา มีตัณหาความอยาก ตัณหารุนแรงก็เกิดความยึดถือ ความยึดถือรุนแรงก็ผลักดันให้จิตดิ้น ตรงที่จิตดิ้นเรียกว่าภพ เป็นกรรมภพ จิตมันดิ้นรน ตรงอุปัตติภพคือตรงที่วิญญาณหยั่งลงไป เกิดรูปเกิดนามขึ้นมา เป็นอุปัตติภพ ตรงที่จิตมันทำงาน อย่างเรานี่อุปัตติภพเป็นมนุษย์ แต่กรรมภพ เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็เลว เดี๋ยวก็เป็นเปรตเป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เดี๋ยวก็เป็นมนุษย์ เดี๋ยวก็เป็นเทพเป็นพรหม เปลี่ยนตลอดเวลา เราเปลี่ยนภพในใจเราตลอดเวลาเลย

เวลาจิตเราโลภขึ้นมาเราก็เป็นเปรต เวลาจิตเราโกรธขึ้นมาเราก็เป็นพวกอสุรกาย อสุรกายนี่เป็นพวกตระกูลโทสะ กลัว หวาดกลัว ขี้ขลาด พวกหวาดกลัวพวกขี้ขลาด ก็หาทาง ถ้าจะสู้กับคนอื่น จะต้องหาทางเอาเปรียบ ไม่สู้ซึ่งหน้า ต้องมีลูกไม้บ้างอุบายบ้าง ใช้คุณไสย ใช้ยาพิษ โจมตีกัน สไตล์อสุรกาย อย่างพวกทำไสยดำอะไรพวกนี้ คือกลุ่มอสุรกาย หรือพวกเศร้าหมองเสียอกเสียใจเป็นทุกข์ พวกนี้พวกสัตว์นรก ถ้าพวกเผลอๆ เพลินๆ นี่พวกเดรัจฉาน ฉะนั้นถ้าเราใจลอยเก่ง เตรียมตัวเป็นเดรัจฉานไว้ คุ้นเคยที่จะเป็นเดรัจฉาน ถ้าเรามีศีลมีธรรม เราก็เป็นมนุษย์ ถ้าเราพัฒนาจิตใจขึ้นจนถึงขั้นมีหิริโอตัปปะ ไม่ได้ถือศีล 5 หรอก แต่ไม่กล้าทำชั่วเพราะละอายใจ เพราะรู้ว่าทำชั่วแล้วมีผลร้ายเกิดขึ้น นี่คือภูมิธรรมของเทวดา เป็นภูมิของเทพ มีหิริโอตัปปะ ถ้าจิตเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จิตของพรหม

อยู่ที่เรานี่เอง อยู่ที่จิตเรานี่เอง เดี๋ยวก็อยู่ภพนี้ เดี๋ยวก็อยู่ภพนี้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทั้งวัน แล้วดูต่อไป เราจะเห็นว่ามีภพก็มีชาติ มีความเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดตัวเกิดตนขึ้นมา มีเรามีเขาขึ้นมา มีเราขึ้นมาทีไร หยิบฉวยเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย หยิบฉวยเอาใจขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือตัวรูปนาม ตัวรูปนามคือตัวทุกข์ พอเราไปหยิบฉวยเอา ไปยึดถือเอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้นตัวชาติ คือการได้มาซึ่งอายตนะ นั่นล่ะเรียกว่าตัวชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

 

 

เราเห็นด้วยจิตล้วนๆ เลย เป็นกระบวนการทำงานของจิต ตั้งแต่จิตมันโง่ จนกระทั่งจิตมันสร้างทุกข์ให้ตัวเอง หรือภาวนาไปเรื่อย ต่อไปมันก็ดับ ล้างกิเลสมันก็ล้างลงที่จิต ไม่ได้ไปล้างที่อื่นหรอก ไม่ได้ล้างที่มือที่เท้าหรอก ล้างด้วยสติด้วยปัญญา ซักฟอกลงไปที่จิตของตนเอง เพราะฉะนั้นการที่เราหัดดูจิตดูใจ เราจะสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้งหมด ถ้าเราฝึกจนกระทั่งเราได้ตัวผู้รู้ขึ้นมาแล้ว แล้วเราก็จะเห็น กายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง กายไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ดูเวทนา เวทนาไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มีแต่ของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล ก็เห็น กุศลก็ไม่ใช่เรา อกุศลก็ไม่ใช่เรา จิตที่ไปรู้กุศลจิตที่ไปรู้อกุศลเองก็ไม่ใช่เรา เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รู้เท่านั้นเอง

เจริญธัมมานุปัสสนาขั้นสูงสุด ก็คือเห็นปฏิจจสมุปบาท อย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้ ถ้าเราไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้เห็น ไม่มีทางหรอกเรื่องปฏิจจสมุปบาท หลวงพ่อเคยได้ยิน บางคนพูดปฏิจจสมุปบาทแจ๋วๆ พูดเก่งมากเลยเพราะไปท่องมา แต่จิตไม่ได้เป็นผู้รู้ พูดไปอย่างนั้นล่ะ คล้ายๆ สำนวนโบราณ บอกเหมือนใบลานเปล่า ใบลานเปล่า ว่างเปล่า มีแต่คัมภีร์ แต่ว่าในใจว่างเปล่า

สรุปก็คือไม่ว่าจะทำสติปัฏฐานบรรพไหน หมวดไหน ก็ต้องมีจิตที่เป็นคนรู้คนเห็น บอกวิธีพัฒนาจิตผู้รู้ให้ส่วนหนึ่งไปแล้ว ยังมีวิธีอีกอันหนึ่งที่ไม่ได้สอนคือการเข้าฌาน ฌานที่เขาเข้ากันนี้ไม่ใช่ฌานจริงหรอก ส่วนใหญ่ ฌานไม่มีสติ ใช้ไม่ได้หรอก ไม่ใช่ของจริง นั่งเคลิ้ม แล้วบอกเข้าฌาน อันนั้นขาดสติ จิตมีโมหะ ไม่ใช่ฌาน ฉะนั้นได้ยินใครเขาบอกเขาเข้าฌานๆ ฟังไว้ ฟังหูไว้หู จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ คนเขาเข้าจริงเขาไม่มาโฆษณาหรอก เคลิ้มๆ ไปนั่งเคลิ้ม แล้วก็เห็นโน้นเห็นนี่ ไม่ใช่ฌาน เห็นโน้นเห็นนี่ ยังไม่ถึงฌานหรอก ถึงจะเห็นจริงก็ยังไม่ถึงฌาน เห็นอยู่ในอุปจาระสมาธิ ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ฌานนี่ถึงอัปปนาสมาธิ ฝึกยาก หลวงพ่อเลยไม่ได้สอน แต่บางคน น้อยคนหลวงพ่อจะสอนถึงฌานให้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 มิถุนายน 2565