ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเรียก กรรมวาที เน้นย้ำเรื่องกรรม การกระทำก็มีผลเป็นกิริยวาที เป็น วิริยวาที วิริยวาทีก็คือต้องมีความเพียร บางทีเราได้ยินธรรมะเราสับสน อย่างหลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนเรื่อยๆ บอก “แก่นธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็คือสัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” พอเราคิดว่าไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องทำอะไร ที่จริงพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ต้องทำก่อน ต้องมีความเพียรก่อน เพราะว่าจิตของเรามันยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ ก็ต้องมีความเพียรต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความไม่รู้ของเรา ต่อสู้ความไม่รู้ ต่อสู้ความอยาก ก็เจริญกุศลให้ถึงพร้อมทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ต้องเจริญขึ้นมา
เราต้องมีความเพียร ไม่ใช่เอะอะ อะไรก็ไม่ยึดถือๆ มันไม่ยึดถือแต่ปากแต่ใจมันยึดถือ ฉะนั้นก่อนจะถึงคำว่าไม่ยึดถือ มันยึดถืออยู่แล้ว ทำอย่างไรมันจะไม่ยึดถือ เราก็ต้องมีความเพียร เพียรลดละอกุศลทั้งหลายที่เรามีอยู่ เพียรเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ต้องมีความเพียร ต้องอดทน แล้วต้องมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ชาวพุทธถ้าไม่เชื่อเรื่องกรรมกับเรื่องผลของกรรม ก็เป็นชาวพุทธไม่ได้ อย่างเราคิดว่าชีวิตเรานี้มีโชคมีชะตา มีฤกษ์มียาม หรือถูกกำหนดมา เทวดา พระเจ้า พระพรหม กำหนดชีวิตของเรามา อันนั้นไม่ใช่ชาวพุทธ
ความงมงายเป็นตัวกีดขวางการเจริญปัญญา
ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม “เราทำกรรมอันใดไว้จะเป็นบุญหรือเป็นบาป เราก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป” จะเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอะไรที่งมงายไม่ใช่ชาวพุทธหรอก อย่างทุกวันนี้คนก็งมงายมากมาย งมงายไหว้โน้นไหว้นี้ คิดว่ามีสิ่งนี้แล้วจะมีโชคมีลาภ มีนางกวัก มีนางกวักเขาก็เรียกคนเข้าบ้าน เข้ามาซื้อของ บางคนมันเอาปลัดขิกไปวางหน้าตู้ส้มตำข้างบน คิดว่าจะทำให้ขายดี นี่ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธ กุมงกุมารพวกนี้ การนับถือเทพ นับถือผี มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า พวกเราก็คุ้นเคยไหว้นางตะเคียน ไหว้อะไรต่ออะไร นับถือหมดเลย
ทีแรกเราก็มีเครื่องราง ยุคแรกๆ คนสมัยก่อนเขาไม่นิยมพกพระติดตัว เขาก็มีเครื่องคาดต่างๆ พวกตะกรุดพวกอะไรพวกนี้ เป็นเครื่องราง ไม่ใช่เรื่องพุทธหรอก พอมีศาสนาพุทธเข้ามาหลังๆ นี้รู้สึก แหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือพระพุทธเจ้า ก็เลยเอารูปพระพุทธเจ้ามาติดตัว พระเครื่อง ไม่ใช่เรื่องของชาวพุทธหรอก คนโบราณสร้างพระบรรจุเจดีย์ไว้ บางองค์เขาก็จารึกคาถา “เยธัมมาฯ” เอาไว้ข้างหลัง “เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญ จ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโน ติ” คาถาบทนี้ เป็นบทที่พระอัสสชิสอนอุปติสสะจนกระทั่งได้โสดาบัน “ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติสอนอย่างนี้” มีเรื่องเหตุกับผล คือเรื่องกฎของกรรมนั่นล่ะ
เขาจารึกเอาไว้หวังว่า วันหนึ่งศาสนาพุทธหมดไปแล้ว คนมาขุดพบพระ เจอจารึกเจออะไรนี้ จะได้รู้ว่าวันหนึ่งในอดีตเคยมีศาสนาพุทธอยู่ในแผ่นดินนี้ แล้วถ้าเจอคาถา “เยธัมมาฯ” อาจจะได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาอีก เป็นการสืบทอดพระศาสนา คนโบราณเขาสร้างพระใส่เจดีย์ใส่อะไรไว้ คนรุ่นหลังไปขุดเอามา เอามาขาย ที่จริงครูบาอาจารย์ท่านก็มีพระแจกเหมือนกัน บางทีท่านก็เป็นอุบายของท่าน บางองค์ท่านบอกเลยว่า คนส่วนใหญ่อินทรีย์มันอ่อน ให้สนใจเรื่องพระเครื่องไว้ก่อน แล้วก็ใจผูกพันเข้ามาทางพระ แล้วก็ค่อยเรียนรู้เนื้อธรรมะแท้ๆ
ฉะนั้นวัตถุประสงค์ที่ครูบาอาจารย์สร้างพระ แจกพระ เพื่อให้ใจระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงธรรมะ ไม่เตลิดเปิดเปิง บางทีท่านก็สอน จะมีพระของท่านจะต้องไม่ผิดศีล 5 เป็นอุบาย เราอยากทำผิดศีลแต่เรากลัวพระเราเสื่อม เราก็ไม่ทำ แค่อุบาย บอกแขวนพระแล้วอย่าไปเที่ยวซ่องอะไรอย่างนี้ ก็เป็นอุบาย พระ รูปของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็ศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น ศักดิ์สิทธิ์ก็คือเตือนสติเรา ฉะนั้นอย่างมงาย กระทั่งพระเครื่องรุ่นนั้นรุ่นนี้ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ไม่ใช่ชาวพุทธหรอก
จุดสำคัญก็คือทำกรรมดีไว้ ชีวิตเราก็จะมีความสุข มีความเจริญ ถ้ากรรมดีของเราเป็นระดับการพัฒนากุศล ลดละอกุศล วันหนึ่งเราจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่แค่มีความสุข ความสุขเป็นของไม่ยั่งยืน ความพ้นทุกข์ถ้าพ้นจริงๆ แล้ว ยั่งยืน พอใจมันพ้นจากโลก พ้นสงสารแล้ว พ้นจากสังสารวัฏ ใจมันไม่ทุกข์ ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องรักษาจิตใจอีกแล้ว จิตใจมันไม่ทุกข์ของมันเอง พวกเราเป็นชาวพุทธทั้งทีก็ต้องรู้จักว่า เราต้องเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม การเชื่อเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เป็นการให้เกียรติกับความเป็นมนุษย์ของเรา
มนุษย์เป็นผู้มีใจสูง สามารถพัฒน าจิตใจตัวเอง จากความมืดบอดไปสู่ความสว่างได้ จากความทุกข์ไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ไม่มีใครกำหนด เราทำของเราเอง แล้วเราจะทุกข์ เราจะได้รับวิบากที่ไม่ดี ก็เพราะเราทำของเราเอง เราจะพ้นทุกข์หรือเราจะได้รับวิบากที่ดี ได้เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม มีความสุขก็เพราะกรรมของเราเอง ฤกษ์ยามอะไรพวกนี้ โชคชะตา เคราะห์ร้าย ไม่มีในศาสนาพุทธ ฤกษ์มันก็ชื่อของดาว เคราะห์มันก็ชื่อของดาว พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเราทำความดี ดาวจะมาทำอะไรเราได้
ฉะนั้นไม่งมงาย ความงมงายเป็นตัวกีดขวางการเจริญปัญญา งมงายก็โง่แล้ว มันจะเจริญปัญญาได้อย่างไร ฉะนั้นอะไรที่มันไม่ใช่พุทธ วางๆ มันไป เดินเข้ามาสู่เส้นทางของความเป็นพุทธ
ความดีที่เราจะต้องพัฒนา
อกุศลทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นที่จิตตัวเอง คอยรู้ทันไว้ พอจิตใจเรารู้ทันว่ามีโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น โลภ โกรธ หลง มันจะดับของมันเอง จิตใจเราก็ไม่ถูกความโลภ โกรธ หลง ครอบงำ จิตใจเราก็ไม่ทำมโนกรรมที่ไม่ดี กรรมทางใจ คิดไม่ดีอะไรพวกนี้ พอเรารู้ทันกิเลสเสียแล้ว มโนกรรมมันก็ไม่มี ไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว จิตมันไม่ชั่วเสียอย่างเดียว มันก็ออกมาที่กายไม่ชั่ว วาจาไม่ชั่วด้วย
ฉะนั้นเราลดละอกุศลทั้งหลาย วิธีลดละมันคือรู้ทันมัน ไม่ใช่วิธีลดละคือห้ามมัน หรือหนีผัสสะ อย่างเราไม่ชอบหน้าใครสักคน เราเห็นหน้าคนนี้แล้วเราโกรธ เราก็ไม่มองหน้าเขาเดินหนีไปอะไรอย่างนี้ อันนั้นก็ดีเหมือนกันไม่มีเรื่อง แต่ยังไม่ดีจริง ถ้าดีจริงก็คือถ้าเราเห็นคนที่เราเกลียดปุ๊บ ใจเราเกลียดเขา ใจเราโกรธเขา ใจเราไม่ชอบ รู้เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง ความเกลียดความไม่ชอบมันก็จะดับอัตโนมัติ เพราะมันเป็นอกุศล ถ้าเมื่อใดสติเราเกิด เรารู้ทันว่าอกุศลเกิดขึ้น อกุศลจะดับอัตโนมัติ เพราะเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นจะไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปละกิเลส แค่กิเลสเกิดขึ้นในใจเรา เรารู้ทันไปมันก็ดับเอง
เพราะฉะนั้นอย่างเราไม่ชอบหน้าใครสักคน พอเห็นแล้วเราโกรธ เรามีสติรู้ว่าโกรธ ความโกรธก็ดับไป เราก็เห็นก็แค่คนๆ หนึ่ง แค่รูปๆ หนึ่งที่เรามองเห็นเท่านั้นเอง ใจเราก็สงบมีสันติสุขเกิดขึ้นน้อยๆ ยังนิดหน่อยอยู่ ฉะนั้นเราละอกุศลทั้งหลาย ด้วยการที่มีสติรู้ทันอกุศลที่มันเกิดขึ้น รู้ทันมันไป มันละเอง แล้วเราก็ต้องมีความเพียร มีวิริยะ ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล เราจะเจริญกุศลแล้ว ก็ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจให้ดี เวลากิเลสมันเกิดมันจะทำให้เราผิดศีล ให้เรารู้ทันกิเลส ศีลมันก็ดีเอง เพราะคนทำผิดศีล ก็เพราะว่ากิเลสมันครอบงำจิตได้ ถ้ากิเลสไม่ครอบงำจิตก็ไม่ผิดศีลหรอก ไม่ไปด่าใคร ไม่ไปตีใครเขาหรอก ไม่ไปชกใครเขาหรอก ฉะนั้นตั้งใจมีสติรักษาจิตไว้ ศีลเราจะดีขึ้น
ความดีอันต่อไปที่เราจะต้องพัฒนา คือเรื่องของสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิต้องมีคำว่า “ที่ถูกต้อง” ต่อท้ายเสมอ เพราะสมาธิที่ไม่ถูกต้องเยอะมาก คนที่ฝึกสมาธิๆ เกือบร้อยละร้อย มันฝึกมิจฉาสมาธิ มันไม่ใช่ตัวสัมมาสมาธิแท้ๆ สมาธิอะไรที่ไม่ประกอบด้วยสติ มันเป็นมิจฉาหมดเลย สมาธิใดประกอบด้วยสติก็จะเป็นสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นอย่างเราทำสมาธิ เราฝึกจิตฝึกใจของเรา เบื้องต้นก็หาอารมณ์กรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง ก็น้อมจิตให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น เช่นเราใช้ลมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เราก็ไม่ไปวอกแวกไปที่อื่น คอยใส่ใจ คอยสนใจ เห็นร่างกายหายใจเข้าบริกรรมพุท เห็นร่างกายหายใจออกบริกรรมโธ หายใจไป เห็นร่างกายหายใจ ไม่ได้ไปจ้องที่ตัวลม พอเห็นร่างกายหายใจไปเรื่อยๆ ใจเราหนี หนีไปคิดเรื่องอื่น อาศัยสติรู้ทันว่าใจมันหนีไปแล้ว หายใจไปๆ ใจเราฟุ้งซ่าน รู้ว่าใจฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านเป็นกิเลส พอเรารู้ทัน มีสติรู้ทันว่าจิตมันฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านมันเป็นกิเลส มันดับเองเพราะมันแพ้สติ
เมื่อกี้บอกแล้ว “เมื่อใดมีสติ เมื่อนั้นจะไม่มีกิเลส” ฉะนั้นใจเราเป็นอย่างไร เราคอยรู้ไป นั่งภาวนาแล้วมันไม่สงบ แล้วเราหงุดหงิด อย่าไปอยากให้สงบ อยากให้สงบคือตัวโลภ พอมันไม่สงบแล้วหงุดหงิดนั่นตัวโกรธ ตัวโทสะ ฉะนั้นเรามีสติ เราหายใจไปด้วยความมีสติ หายใจไปแล้วจิตหลง เช่น หลงไปคิดเรื่องอื่นลืมการหายใจ เรามีสติรู้ว่าจิตหลงไป ความหลงก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา หรือภาวนาหายใจไป จิตหงุดหงิดขึ้นมาไม่สงบเสียที รำคาญ หงุดหงิด เครียด รู้ทัน รู้ทันว่าจิตหงุดหงิดนี้มีโทสะแล้ว สติเกิดปุ๊บโทสะดับจิตก็ตั้งมั่น หรือจิตมีราคะ มีโลภะ นั่งไปแล้วก็เคลิ้ม มีความสุขเพลินๆ ไป มีสติรู้ว่าจิตมีราคะ ราคะจะดับ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา
ฉะนั้นตอนที่เราถือศีล มีรักษาศีล เราก็มีสติรักษาจิต ตอนที่เราจะทำสมาธิเราก็มีสติ รู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป กิเลสอะไรเกิดรู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่กำลังปรากฏ สภาวะที่ไม่ดีมันจะดับทันที แล้วจิตมันก็จะตั้งมั่นขึ้นทันทีเลย เราไม่ต้องไปบังคับจิตให้ตั้งมั่น ไม่ต้องไปสั่งจิตให้สงบ ไม่มีใครสั่งจิตให้ตั้งมั่นได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้สงบได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น มันจะตั้งมั่นเอง อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่สงบมันจะสงบเอง มันหลักง่ายๆ นี้ เห็นไหมว่าต้องมีสติ ถ้ามีสติเราก็มีศีล มีสติเราก็มีสมาธิ คือมีสภาวะที่จิตใจตั่งมั่น จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงลืมไปทางโน้นทางนี้ นี้คือเรื่องของการฝึกสมาธิ
ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ก็ต้องเจริญปัญญา อยากเจริญปัญญาต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง จะมีสมาธิที่ถูกต้องได้ศีลต้องรักษา ถ้าใจเราทำแต่ความชั่ว ทำผิดศีลอยู่ตลอด ใจก็ไม่สงบหรอก ต้องอาศัยสติ อย่างใจเราคิดชั่วขึ้นมารู้ทันเข้าไปเลย ความชั่วในใจเราก็ดับ เราก็รักษาศีลได้สบาย เราไม่ได้รักษาเอง สติจะช่วยรักษาศีลให้เรา เวลาเราฝึกสมาธิ เรามีสติอยู่ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ตัวที่รู้ๆๆ นั่นล่ะ เรารู้ด้วยสติ ทันทีที่เรารู้สภาวะที่กำลังมี กำลังเป็น ภาวะแห่งความตื่น ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ก็จะเกิดขึ้นเอง
พุทโธตัวจริง
จิตเราจะมีสมาธิที่ถูกต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือเป็นพุทโธตัวจริงขึ้นมาแล้ว พุทโธๆ เราก็คิดถึงแต่พระพุทธรูปบ้าง พระพุทธเจ้าบ้าง พุทโธตัวจริงก็คือสภาวะที่จิตใจของเราตื่นขึ้นมา พุทโธคือผู้รู้ ผู้ตื่น พุทโธของพวกเรามีอยู่ทุกคนแต่มันหลับอยู่ ฉะนั้นเราปลุกให้มันตื่นขึ้นมา ฉะนั้นจิตจริงๆ จิตของเรามันมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่มันถูกกิเลสครอบงำ ถูกอาสวะห่อหุ้ม อาศัยสติ แล้วก็ฝึกกรรมฐานไป มีเครื่องอยู่ไป แล้วก็จิตใจเราเป็นอะไรเราคอยรู้ อย่างจิตหลงไปคิดเรารู้ จิตฟุ้งซ่านเรารู้ จิตสงบเรารู้ จิตสุขเรารู้ จิตเฉยๆ เรารู้ จิตเป็นทุกข์เรารู้ รู้เรื่อยๆ ไป จิตจะค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ที่จริงแค่จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตก็ตั้งมั่นแล้ว จิตโกรธขึ้นมาแล้วรู้จิตก็ตั้งมั่นแล้ว ก็แค่นั้นเอง
มันไม่ได้ยากอะไรหรอก แต่มันต้องฝึก เพราะอะไร จิตเราไม่เคยตั้งมั่น จิตเราคลอนโคลงเคลงๆ ทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่เกิดจนตาย แกว่งไปแกว่งมา กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง เราจะให้จิตตั้งมั่นก็ต้องมาฝึก ที่ผ่านมาเราสะสมความฟุ้งซ่านมาตลอด ต่อไปนี้เราก็สะสมสมาธิ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องมีเครื่องอยู่ ทำกรรมฐานแล้วมีเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่ง จะใช้กาย เวทนา จิต หรือธรรม อะไรก็ได้ที่เราถนัด ทำกรรมฐานไปแล้วก็มีสติรู้ทันจิตตัวเองไป จับหลักได้ไหม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด ที่เราคุ้นเคย แล้วมีสติรู้ทันจิต เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก อยู่ตรงที่มีสติ ไม่ใช่ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วก็เคลิ้มๆ ไปอยู่กับกรรมฐานอันนั้น อันนั้นไม่ใช่กรรมฐานของพุทธหรอก กรรมฐานของพระพุทธเจ้า สมาธิอย่างพระพุทธเจ้า เป็นสมาธิที่ต้องประกอบด้วยสติเสมอ
ฉะนั้นถ้าสมาธิอันไหนเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว เห็นโน้นเห็นนี้ ฟุ้งไปแล้วไม่รู้ว่าฟุ้ง ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ฉะนั้นสติสำคัญมาก ครูบาอาจารย์สอน “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” จะรักษาศีลก็ทิ้งสติไม่ได้ จะทำสมาธิก็ทิ้งสติไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกเราทุกวันแบ่งเวลาเอาไว้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตนเองไว้ เช่น เราดูท้องพองยุบอยู่ แล้วจิตหนีไปคิด เรามีสติรู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่านแล้ว จิตหนีไปคิดแล้ว หรือเราดูท้องพองยุบอยู่ จิตถลำลงไปเพ่งท้อง ไปจมนิ่งๆ ลงไปที่ท้อง จิตมันจมลงไป เรารู้ทัน จิตก็จะดีดตัวตั้งมั่นขึ้นมาก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็จะได้จิตผู้รู้เหมือนกัน
หรือขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน ถ้าขยับไปแล้วก็น้อมจิตให้เคลิ้มๆ ขยับสวยเลย มันทำด้วยไขสันหลังแล้ว เคลิ้มๆ อยู่ขาดสติคิดโน่นคิดนี่ก็ยังขยับสวย อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้หลักของการปฏิบัติแล้ว ฉะนั้นถ้าขยับมือแล้วจิตเราหนีไปคิดเรารู้ทัน หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า “เราเขย่าธาตุรู้ให้ตื่นขึ้นมา” เขย่าธาตุรู้ให้ตื่นก็สำนวนท่าน ที่จริงก็คืออย่างเราขยับมืออยู่ จิตเราหนีไปคิด มันเป็นจิตผู้หลงมันไม่ใช่จิตผู้รู้ เรามีสติรู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงไปคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด ท่านบอกเขย่าปลุกธาตุรู้ให้ตื่นขึ้นมา แต่ถ้าขยับไปแล้วก็เคลิ้มไปคิดเรื่องอื่น ขาดสติ ขยับไปแล้วเครียด มีสติแต่เคร่งเครียด เพ่งเอาไว้อย่างนี้ ก็ได้แต่สมาธิชนิดเพ่งจ้อง ไม่ได้ผู้รู้ที่ดี ฉะนั้นถ้าขยับแล้วจิตหลงไป รู้ทันปุ๊บจิตก็รู้ขึ้นมาเลย หรือหายใจ หายใจไป ใช้ลมหายใจเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ หายใจอยู่ดีๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น มีสติรู้ว่าจิตหนีไป จิตที่หนีไปก็ดับจิตรู้ก็เกิด
ฉะนั้นกรรมฐานอะไรก็ได้ ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลวกว่ากันหรอก ถ้าทำถูกแล้วถูกหมด คือทำกรรมฐานแล้วมีสติรู้ทันจิตตัวเองแล้ว ถูกหมดเลย ถ้าทำกรรมฐานแล้วไม่มีสติคุ้มครองรักษาจิตเอาไว้ จิตหลงไปคิดบ้าง จิตหลงไปเพ่งบ้าง ก็คือหลงนั่นล่ะ ก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกันหมด ไม่มีกรรมฐานอะไรดีหรือเลวกว่ากัน อยู่ที่ว่าเราทำถูกหรือไม่ถูก ถ้าทำไม่ถูก ใช้กรรมฐานวิเศษแค่ไหนมันก็ไม่ถูก อย่างเราได้ยินว่าอานาปานสติเป็นสุดยอดของกรรมฐาน เราทำอานาปานสติแต่เราเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว สงบแล้วก็เพลินมัวเมาอยู่ในความสุขความสงบ นั้นใช้ไม่ได้ หรือทำลมหายใจระงับไป เกิดแสง คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไร แสงส่องไปถึงไหนใจก็รู้ไปถึงนั่น อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีสติแล้ว ใช้ไม่ได้
ข้อดี ข้อด้อยของการฝึกสมาธิมากๆ
ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราเดินไปทางของสมาธิเยอะๆ มันก็มีความเสี่ยงสูง มีข้อดีและก็มีข้อด้อย อย่างการฝึกสมาธิมากๆ มีทั้งข้อดีข้อด้อย ไม่ใช่ดีอย่างเดียว อย่างฝึกไปในทางเล่นฤทธิ์ เล่นฌาน เสียเวลา อย่างน้อยๆ ก็เสียเวลา ข้อดีของมันก็คือสมาธิเราจะแข็งแรง ถ้าเราทำสมาธิไปเรื่อย ลมระงับไปแล้วเกิดแสงสว่าง จิตจับอยู่กับแสงสว่าง ต่อมาจิตก็วางแสงสว่าง จิตทวนกระแสเข้ามาที่จิต อันนี้อยู่ในฌานที่ 2 ตัวผู้รู้จะแข็งแรงมากเลย ออกจากสมาธิแล้ว ตัวผู้รู้ก็ยังเด่นดวงอยู่ได้เป็นวันๆ เลย ข้อดี ข้อดีของการทำสมาธิเต็มรูปแบบ
ข้อเสียคือมันช้า แล้วก็มันหลงง่าย พาให้เราไปรู้โน่นรู้นี่ไปเรื่อยๆ มันอันตรายอยู่เหมือนกัน มีครั้งหนึ่งตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้บวช เตี่ยหลวงพ่อตายเขาเอาศพไปไว้ที่วัดทางฝั่งธนฯ สมัยนั้นที่เก็บศพมันยังไม่ดี สมัยนี้เขาทำสวยงามไปหมดแล้ว สมัยนั้นก็เป็นโลงไม้หลังคาสังกะสี สวดศพ 7 วันแล้วก็เอาศพเก็บไว้ พอ 50 วันจะเอาศพออกมาทำบุญ 50 วัน มันเป็นหน้าฝนหลังคาโรงเก็บศพมันรั่ว น้ำฝนมันหยดทั้งวันทั้งคืน ฝาโลงทะลุ น้ำเข้าไปขังอยู่ในโลงเต็มเลย สัปเหร่อก็ไปยกโลงออกมา สัปเหร่อก็บอก โห ได้ยินเสียงน้ำในนั้นน้ำจ้อกแจ้กๆ อยู่ข้างใน สัปเหร่อก็บอกอย่ามาดู น่ากลัวมาก ศพนี้มันคือศพแช่น้ำ น่ากลัว ทั้งๆ ที่ฉีดยา สัปเหร่อเขาก็เจาะใต้โลงให้ทะลุ แล้วน้ำก็ไหลพรูออกไป
จิตหลวงพ่อมันอยากดู หลวงพ่อไม่อยากดู หลวงพ่อบอกแล้วหลวงพ่อเป็นคนกลัวผี ผีเตี่ยเราก็กลัวเหมือนกัน กลัวหมด แต่จิตมันอยากดู แต่ขาเราไม่ยอมเดินเพราะเราไม่ยอมดู พอกลับมาบ้านคืนนั้นก็นั่งสมาธิ แล้วเอนตัวลงนอน พอหัวถึงหมอนปุ๊บจิตมันอยากดู มันพุ่งพรวดเลย แสงสว่างมันพุ่งไปจิตมันก็พุ่งไปด้วย พุ่งไป เรารู้เลยว่ามันจะไปดูศพแล้ว เราก็กลัวรีบหายใจใหญ่ หายใจแรงๆ แรงๆ แรงๆ ดึงจิตกลับมาที่กายได้ เฮ้อ โล่งใจกลับมาแล้ว พอกลับมาปุ๊บพุ่งครั้งที่สอง คราวนี้แรงกว่าเก่าอีก พลังที่ดีดออกไปแรงกว่าเก่า คุมไม่อยู่เลย พุ่งเข้าไป ไปถึงหน้าโกดังเก็บศพ ไปเบรกได้ตรงประตู เห็นเลยที่เขาใส่กุญแจเอาไว้ เบรกทันกลับมา เฮ้อ เหนื่อยเต็มทีแล้ว พุ่งครั้งที่สามเข้าไปสำรวจในโลงศพเลย ศพโน้น ศพนี้ ศพนั้น คนนี้ครูคนนี้อะไรอย่างนี้ ไปเจอศพของเตี่ยลงไปนอนทับเลย จิตมันอุตริจริงๆ ลงไปนอนทับอยู่กับศพเลย เหม็นจนขมในคอเลย เหม็น นี่มันก็รู้เรียนรู้ศพจนพอใจ มันพอใจแล้วมันกลับมา โอ้ มันร้ายจริงๆ เพราะจิตมันไม่ใช่เรา มันอยากดูห้ามมันไม่ได้หรอก ถ้าเราสมาธิไม่ดี เรากลับมาไม่เป็น เราก็ไปสิง ไม่ใช่ผีสิงคนนี่คนสิงผี น่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน
ฉะนั้นเรื่องของสมาธิ ถ้าเล่นไปทางสมาธิควรจะอยู่กับครูบาอาจารย์ เกิดอะไรขึ้นครูบาอาจารย์ยังช่วยเราได้ ถ้าเราอยู่ห่างครูบาอาจารย์ อย่างเราเป็นฆราวาส เราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ เราอยู่บ้าน ทำสมาธิแต่พอสมควรพอให้จิตได้สงบ จิตได้พักผ่อน จิตมีกำลังแช่มชื่น แล้วเจริญปัญญาไปเลย จะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย หรือดูจิตอะไรก็แล้วแต่ถนัด ถนัดอะไรก็รู้อันนั้น พอจิตเราเป็นผู้รู้ขึ้นมาแล้ว อย่างเราทำกรรมฐาน เช่นหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเรารู้ จิตไปเพ่งลมหายใจเรารู้ แค่นี้พอแล้ว แล้วจิตมันจะค่อยๆ สงบ มันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเอง จะไปไม่ผ่านนิมิตอันตรายทั้งหลายนั้น มันจะสงบเข้ามาโดยไม่ต้องมีนิมิตอะไรหรอก ได้อุปจารสมาธิ แล้วก็ถอนออกจากอุปจารสมาธิ เวลาจิตมันขยับเขยื้อนอะไร มันสุข มันทุกข์ มันดี มันชั่วอะไร เราคอยรู้มันไปเรื่อยๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี้ล่ะ
รู้ไปเรื่อยๆ อยู่ในชีวิตธรรมดานี้
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ เราปฏิบัติในรูปแบบเพื่อให้จิตมีกำลัง พอจิตเรามีกำลังแล้ว เราอยู่ในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร ไม่ยาก เมื่อตาเห็นรูป จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน เมื่อหูได้ยินเสียง จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน เช่น เราได้ยินเสียงคนเขาด่าเรา จิตเปลี่ยนแปลง จิตโกรธขึ้นมาเรารู้ทัน เราได้ยินเสียงคนเขาชมเรา ใจเราพอง กูเก่ง กูแน่ รู้ทัน ฝึกอยู่ในชีวิตจริงๆ อย่างนี้ ตาเห็นรูปจิตเราเปลี่ยนแปลง เรามีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทัน นี่ล่ะเรียกว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็อาศัยสติอีก เห็นไหม ก็ใช้สติอีกล่ะ
ฉะนั้นไม่ว่าจะศีล จะสมาธิ หรือการเจริญปัญญา ต้องอาศัยสติทั้งนั้นเลย นี้การเจริญปัญญามันทำได้หลายอย่าง อยู่ข้างนอกในชีวิตประจำวันก็เจริญได้ ดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ ทำได้สารพัด เจริญปัญญาไป หรือถ้าทำในรูปแบบจริงๆ จิตทรงฌานจริงๆ ไปเจริญปัญญาอยู่ในฌาน ซึ่งยุคของเราคนทำได้น้อย เพราะคนไม่ค่อยมีสมาธิระดับฌาน ทำยาก เพราะมือถือมันเข้าไปทุกหนทุกแห่งแล้ว ของเราวันๆ หนึ่งเพ่งแต่มือถือ ลองดูก็ได้ ถ้าเวลาจ้องมือถือจิตมันถลำลงไปหรือเปล่า ถลำจากมือถือ ถลำไปที่มือถือก่อน ช็อตต่อไปถลำลงไปในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในเรื่องราวที่คิด ถ้าเรารู้ทันตรงนี้ ผู้รู้ก็เกิดเหมือนกัน แต่ว่าคนที่จะดูมือถือแล้วเกิดผู้รู้ หลวงพ่อยังไม่เคยเห็นเลย ทางทฤษฎีมันทำได้ ถ้าเราชำนาญแล้วมันทำได้ แต่ส่วนมากดูๆ จนเดินตกท่อยังไม่รู้เลย อย่างนั้นไม่ได้เรื่อง แล้วจิตมันหลงไปตลอด หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด
ฉะนั้นพยายามนะ อะไรที่จะยั่วให้สติเราแตก ห่างๆ มันไว้หน่อย ยุ่งกับมันเท่าที่จำเป็น ฉะนั้นเราพยายามพัฒนาสติของเราให้ดี มีสติคุ้มครองจิตของตัวเองไว้ อย่างกิเลสเกิดเรามีสติรู้ทัน ศีลอัตโนมัติก็เกิด เวลาเราทำกรรมฐานอยู่ จิตเราหลงไปหรือจิตเราถลำลงไปเพ่ง เรามีสติรู้ทัน จิตผู้รู้คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น เวลาเราเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องนั่งคิดแต่เราเห็น เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นจิตเคลื่อนไหว จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น ตัวที่ไปเห็นกายเห็นใจเคลื่อนไหวนั่นล่ะ ตัวสติเป็นตัวรู้ทัน จิตเราตั้งมั่นทรงตัวอยู่แล้ว มันจะแยกออกมา อย่างเห็นร่างกายขยับ จิตมันเป็นคนรู้คนดู มันจะรู้สึกทันทีเลย กายกับจิตคนละอันกัน แยกทันที ขันธ์จะแยกทันทีเลยถ้าจิตเราตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น ขันธ์แยกไม่ได้หรอก อย่างบางคนไปนั่งทำกรรมฐานอะไรต่ออะไร บอกว่าแยกรูปแยกนามได้ แต่จิตไม่ตั้งมั่น ไม่ได้แยกได้จริงหรอก แยกด้วยความคิดเอา ฉะนั้นสมาธิไม่มี ปัญญาไม่เกิด สมาธิอันนี้หมายถึงสัมมาสมาธิ สมาธิที่จิตตั้งมั่น มีสติ มีความตั้งมั่น จิตอย่างนี้ถึงจะเจริญปัญญาได้ พอจิตเราตั้งมั่นมันจะรู้สึกเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายที่หายใจเข้า ร่างกายที่หายใจออก เป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นร่างกายก็เป็นวัตถุ มีธาตุไหลเข้าไป มีธาตุไหลออกมา หรือกินอาหารเข้าไปก็เป็นธาตุ ขับถ่ายออกมาก็เป็นธาตุ เห็นร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่เดินปัญญา มีจิตตั้งมั่น
ถ้าไม่มีจิตตั้งมั่น เดินปัญญาไม่ได้จริงหรอก เพราะไม่มีสมาธิ ปัญญาไม่เกิด ได้อย่างมากก็ปัญญาจากการคิดเอา ล้างกิเลสไม่ได้จริงหรอก เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกสติของเราให้ดี คอยรู้ทันอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจเรา คอยรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องยาก อย่างตอนนี้จิตเราสุข หรือจิตเราทุกข์ ถ้าจะรู้ จะรู้ได้ไหมว่าตอนนี้จิตเราสุข หรือจิตเราทุกข์ หรือจิตเราเฉยๆ ไม่เห็นมันจะยากตรงไหนเลย จิตสุขเราก็รู้ จิตทุกข์เราก็รู้ จิตเฉยๆ เราก็รู้ ตรงที่เรารู้ทันจิตใจของตัวเอง จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา ตอนนี้จิตเราโกรธยากไหมที่จะรู้ว่าจิตเราโกรธ ไม่ยากหรอก เพียงแต่คนทั่วไปละเลย เวลาโกรธก็จะไปมองคนที่เราโกรธ ไม่ได้มองว่าจิตกำลังโกรธ มันพลาดกันตรงนี้เอง ถ้าย้อนมาเห็นจิตที่กำลังโกรธ มันจะเห็นความโกรธกับจิตคนละอันกัน แยกกันทันทีเลย ขันธ์มันแยกทันทีเลย ความโกรธเป็นขันธ์อันหนึ่งเรียกว่าสังขารขันธ์ จิตที่เป็นคนรู้อยู่ในวิญญาณขันธ์ ขันธ์มันแยก แล้วมันก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่ได้ตั้งใจจะโกรธ มันโกรธได้เอง นี่แสดงอนัตตา มันเห็นความโกรธอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ดับ พอเรารู้ทันทีจิตก็ดับไป ความโกรธก็ไม่เที่ยง
เส้นทางที่ปลอดภัย
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะพัฒนาสติ พัฒนาปัญญาของเรา ใครๆ ก็ทำได้แต่ละเลยที่จะทำ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านสอนแค่นี้เอง หลักๆ ที่หลวงพ่อเรียนกับท่านครั้งแรกแค่นี้เอง หลวงพ่อเอามาคลำทางต่อ “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” อย่างเวลาเราเห็นคนที่เราโกรธ หรือเราขับรถอยู่คนเขาปาดหน้าเรา เรามองอะไร เรามองคนที่ปาดหน้าเรา เลยไม่มองว่าจิตกำลังโกรธ ถ้าเราจะรู้ทันว่าจิตตนเองกำลังโกรธ แค่เห็นเขาปาดหน้าแล้ว ตัวนี้โกรธเรารู้ตัวนี้ ไม่ใช่ไปรู้ตัวโน้น ย้อนเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเราเป็นนักปฏิบัติจริง
อยู่ในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ให้มันกระทบไป แต่ว่ากระทบแล้วจิตเราเกิดอะไรขึ้น เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นให้รู้ ง่ายๆ ฝึกไปอย่างนี้ แล้วต่อไปมันจะเห็น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ สุดท้ายจิตมันปิ๊งขึ้นมาเลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ตัวเราไม่มี อาศัยการภาวนา มีสติไว้ แล้วพัฒนาศีล พัฒนาสมาธิ พัฒนาปัญญา ขึ้นมา
ปัญญาที่หลวงพ่อแนะนำ ไม่ต้องไปทำในฌานหรอก เพราะพวกเราไม่ค่อยได้ฌาน เดี๋ยวไปเคลิ้มๆ เห็นโน่นเห็นนี่แล้วนึกว่าเป็นปัญญา ที่จริงเป็นความฟุ้งซ่านของจิต นั่งสมาธิแล้วเห็นพระพุทธเจ้ามาเทศน์ให้ฟัง เรื่องของนิมิตทั้งสิ้น เรื่องของนิมิต เรานั่งสมาธิอยู่แล้วเราเห็นพระพุทธเจ้า เราก็ดีใจ เราเจอพระพุทธเจ้า เราลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าท่านปรินิพพานแล้ว มนุษย์และเทวดาจะไม่เห็นท่านอีกต่อไป เราเก่งแค่ไหน เราไปเห็นท่านได้ ฉะนั้นต้องเห็นของปลอม พระพุทธเจ้าบอกแล้วว่าไม่มีทางเห็นท่านหรอก ทำสมาธิแล้วบางทีหลงไป หลงนิมิต
ฉะนั้นทางที่จะปลอดภัย ถ้าเราอยู่ห่างครูบาอาจารย์ เจริญสติในชีวิตประจำวันไว้ ในรูปแบบทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไปเรื่อยๆ จิตจะมีสมาธิขึ้นมา ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมา พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว อยู่ในชีวิตประจำวันเจริญปัญญาไป เจริญสติ เจริญปัญญา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตเราเปลี่ยนแปลง มีสติรู้ทันไป ถ้าจิตมันเปลี่ยนแปลงเรารู้ทัน สมมติมันเป็นอกุศลเกิดขึ้น เห็นคนนี้แล้วใจเราโกรธ เราเห็นความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็ดับ รับรองว่าเราไม่คิดชั่ว คิดชั่วนี้เป็นมโนกรรม เราไม่พูดชั่วนี้วจีกรรม เราไม่ทำชั่วนี้กายกรรม ความชั่วก็ไม่มี เราก็ละความชั่วลงไป แล้วสติของเราก็มากขึ้นๆ ศีล สมาธิ ปัญญาของเราก็ดีขึ้นๆ กุศลของเราก็เจริญขึ้น ความชั่วเราลดลง กุศลเจริญขึ้น เรามีความเพียรชอบแล้ว ค่อยสมเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าหน่อย ศาสนาพุทธเป็นวิริยวาที
เน้นเรื่องความเพียร ไม่ใช่ไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อเรามีความเพียรเต็มที่แล้ว เราเห็นแจ้งทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุ มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นี่คือเรื่องกฎของกรรมทั้งสิ้นเลย เราทำกรรมอย่างนี้ก็มีผล ทำกรรมอย่างนี้ก็มีผล ทำกรรมดีก็มีผล ทำกรรมชั่วก็มีผล รู้ทัน ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเราเลย มีแต่เรื่องเหตุกับผลทั้งสิ้น กระทั่งเวลามรรคผลเกิดเราก็รู้ อริยมรรคเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะว่าเราได้พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาของเราเต็มที่แล้ว จิตก็เข้าถึงนิโรธ ถึงเห็นพระนิพพานได้ ระหว่างโลกุตตรเหตุก็คือมรรคมีองค์ 8 ส่งไปให้เกิดโลกุตตรผล คืออริยมรรค อริยผล โลกียเหตุก็คือตัวตัณหา ส่งผลไปให้เกิดโลกียผลคือทุกข์ มันเป็นเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องกฎของกรรมทั้งสิ้นเลย ไม่มีใครใหญ่กว่ากรรมหรอก
เพราะฉะนั้นหลายคนงมงาย เลิกเสีย คิดว่ามีพระรุ่นนี้แล้วรวย โง่แล้ว โง่ตั้งแต่เสียเงินไปซื้อพระเยอะๆ เสียเงินไปแล้วมันจะรวยไหม ไม่รวยหรอก ไม่มีสตางค์แล้ว ฉะนั้นชาวพุทธอย่างมงาย หลวงพ่อก็มีพระแจก สมัยก่อน ทำไมต้องแจก คนเขามาให้หลวงพ่อจะเก็บไว้ทำอะไร หลวงพ่อก็แจกๆ ไป มันได้มาก็แจกไป เอาไปขาย ลูกศิษย์มาถามว่า “ผมจนเต็มทีแล้วไม่มีจะกิน เอาไปขายได้ไหม” หลวงพ่อก็บอก “หลวงพ่อให้ไปแล้วไม่ใช่ของหลวงพ่อแล้ว จะไปทำอะไรก็ทำเถอะ ไม่เกี่ยวกับหลวงพ่อ” ไม่ได้ส่งเสริมให้พวกเรางมงาย ไม่ใช่รุ่นนั้นดีรุ่นนี้ดี รูปพระพุทธเจ้า ถ้าใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้า ดีหมดเลย ถ้ามีรูปพระพุทธเจ้าอยู่กับตัวแล้วทำชั่ว มันก็ชั่วนั่นล่ะ ชั่วแบบไม่อายฟ้าอายดิน ไม่อายพระเลย ก็ต้องรู้ ชาวพุทธเราอย่างมงาย
ลงทุนเพื่อพัฒนาจิตใจตัวเอง
ผลตอบแทนที่เราจะได้รับในวันหนึ่งข้างหน้า คือเราพ้นทุกข์
พวกเราภาวนานะ ตั้งอกตั้งใจเข้า มีโอกาสเรียนรู้แล้วก็รีบทำไป ทำอย่างมีหลัก ไม่ใช่ทำด้วยโลภ มีเครื่องอยู่ ไม่มีเครื่องอยู่ไม่ได้ จิตจะเตลิดเปิดเปิงไปมองไม่เห็นหรอก สติไม่เกิดหรอก ฉะนั้นต้องมีเครื่องอยู่คือมีวิหารธรรมไว้ แล้วก็มีความเพียรแผดเผากิเลส อย่างบางคนไม่ได้คิดจะแผดเผากิเลสเลย เรียกไม่มีอาตาปี วิหารธรรมก็ไม่มี กิเลสมาก็ปล่อยให้มันครอบ นี่ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ไม่มีวิหารธรรม ไม่มีอาตาปี ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัวว่าตัวเองควรจะปฏิบัติอะไร ถ้าไม่มีสติอะไรเกิดขึ้นในกายไม่รู้ อะไรเกิดขึ้นในใจไม่รู้ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เอาดีไม่ได้ ก็แค่ว่ามาฟังเทศน์เอาบุญ สะสมไว้ อีกหลายภพหลายชาติถ้าบุญบารมีเพิ่มขึ้น ไปเจอพระเมตไตรย ฟังธรรมแล้วก็บรรลุ ก็สะสมอย่างนั้นก็แล้วแต่
ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นโลกมันหอมหวานอยู่ คนที่เห็นโลกเป็นทุกข์ถึงจะพ้นจากโลกได้ ถ้าเราเห็นโลกหอมหวานเรายังไม่พ้น แสดงว่าอินทรีย์เรายังไม่พอ แก่กล้าไม่พอ แก่กล้าไม่พอแล้วทำอย่างไร สะสมไป ศีลรักษาไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ เจริญสติในชีวิตประจำวันไว้ สะสมของเราไปให้มากๆ ถ้าบุญบารมีเราพอแล้ว เราก็อาจจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ ถ้ายังไม่พอมันก็ไปได้ในชาติต่อๆ ไป จะได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีต้นทุนเลย ไปภาวนาเอาโดยไม่มีต้นทุนเก่าเลย มันก็ลำบาก มันเหมือนคนไม่มีทุน จะทำมาหากินอะไรก็อัตคัดไปหมด บางคนมีทุนเยอะแล้วก็ใช้ทุนนั้นลงทุนไป ก็ร่ำรวยขึ้นมา
ในทางธรรมะเหมือนกัน เรามีต้นทุนที่ดี อย่างพวกเราหลวงพ่อถือว่าเป็นผู้มีต้นทุน อย่างน้อยเราศรัทธา เราสนใจในพระศาสนา ในโลกมีคนตั้ง 7,000 – 8,000 ล้านคน มีสักกี่คนที่จะสนใจพระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนส่วนน้อย เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะมันเป็นศาสนาของปัญญา ศาสนาของการช่วยตัวเอง คนที่จะเดินในเส้นทางนี้มีได้ไม่มากหรอก เราก็พยายาม พวกเราก็ถือว่ามีต้นทุนอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็รู้จักลงทุน รู้จักลงทุนเพื่อขยายทุนของเราต่อไป ลงทุนก็คือปฏิบัตินั่นล่ะ ศีลรักษา สมาธิต้องฝึก ปัญญาต้องหัดเจริญ นี่เรียกเราขยายทุนของเราที่เรามีอยู่ ต้นทุนแท้ๆ ของเราที่พวกเรามี คือเรามีกายนี้ เรามีใจนี้ เรามีขันธ์ 5 ที่ดี เราไม่ได้บ้า ใบ้ บอด หนวกมาแต่กำเนิด เรามีขันธ์ 5 ที่สมบูรณ์มาแล้ว
ขันธ์ 5 นี้เป็นต้นทุนเดิมของเรา เรียกว่าเป็นกรรมเก่าของเรา เราก็มาทำกรรมใหม่ที่ดี ทำทาน ถือศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา สะสมของเราไป ถ้าบางคนทุนน้อยแต่หากินเก่งก็รวย ต้นทุนเก่าของเราอาจจะน้อย แต่ว่าเราตั้งอกตั้งใจภาวนา วันหนึ่งเราก็รวย รวยด้วยอริยทรัพย์ อาจจะได้มรรคได้ผลอะไรไปเลย บางคนต้นทุนมากเขาภาวนาง่ายหน่อย แต่บางคนได้มรดก ได้ต้นทุนมาก แล้วทำความหายนะ มีไหม รวยๆ แล้วก็ทำแต่เรื่องไม่ดี เรื่องอบายมุขทั้งหลาย มีต้นทุนอยู่ก็ละลายหายนะไปหมด
เพราะฉะนั้นพวกเราถือว่ามีต้นทุนดี เรายังมีศรัทธา เรารู้ว่าสิ่งที่ควรจะเรียนรู้ คำสอนของพระพุทธเจ้าควรจะเรียนรู้ เราก็พยายามมาเรียนรู้ มีวิริยะเข้าไป ขยันภาวนา ขยันไป มีสติรักษาศีล มีสติเจริญสมาธิ มีสติเจริญปัญญาไป เราเพิ่มทุนของเราอย่างรวดเร็วเลย คนมีเงินแล้วไปลงทุน เงินเท่าๆ กัน ลงทุนไม่เหมือนกัน ผลตอบแทนก็ต่างกัน เราทุกคนมีต้นทุนเท่าๆ กันหรือใกล้เคียงกัน อย่างเรามีขันธ์ 5 มาเหมือนๆ กัน มีขันธ์ที่ดีด้วย แล้วเราภาวนาถูกต้อง กำไรเยอะ อาจจะได้มรรคได้ผล มีต้นทุนดีแต่ภาวนาไม่ดี งมงายอะไรต่ออะไรไป ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ลงทุนแล้วบางทีขาดทุนด้วย มันก็คล้ายๆ การลงทุนนั่นล่ะ แทนที่จะลงทุนเพื่อผลประโยชน์อย่างโลกๆ นี้คือการลงทุนเพื่อพัฒนาจิตใจตัวเอง ผลตอบแทนที่เราจะได้รับในวันหนึ่งข้างหน้า คือเราพ้นทุกข์
พ้นทุกข์ก็คือ จิตมันวางขันธ์ ขันธ์นั่นคือตัวทุกข์ พอจิตมันวางขันธ์ได้ จิตมันพ้นทุกข์ได้ มันก็เข้าถึงสันติสุข มันเข้าถึงสันติ นิพพานคืออะไร นิพพานคือสันติ นิพพานคือความสงบ นี้พวกเราจะลิ้มรสชาติ เราภาวนาไปเรื่อยเราก็จะได้รสชาติของความสงบ นิพพานเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน จิตเราได้สมาธิก็เป็นนิโรธชนิดหนึ่ง สมาธิเป็นนิโรธอย่างหนึ่ง จิตเราไปเจริญปัญญาเราก็ละความเห็นผิดไป ก็เป็นนิโรธอย่างหนึ่ง ตอนเกิดอริยมรรคก็เป็นนิโรธอย่างหนึ่ง ตอนเกิดอริยผลก็เป็นนิโรธอันหนึ่ง ตอนนิพพานก็เป็นนิโรธอันหนึ่ง 5 อัน
ถ้าเราทำเราก็จะสัมผัสสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ อย่างใจเราฟุ้ง เราภาวนาจิตสงบก็ได้นิโรธ ได้วิมุตติในขั้นต้นๆ แต่ยังไม่ใช่ตัวอริยมรรค อริยผล 5 ตัว สงบเพราะสมถะ สงบเพราะวิปัสสนา สงบของวิปัสสนาคือสงบจากความโง่ สงบจากสมถะ สงบจากนิวรณ์ สงบด้วยวิปัสสนาสงบจากความโง่ สงบของอริยมรรค สงบของอริยผล สงบคือพระนิพพาน สงบอย่างยิ่ง เราจะพบว่ายิ่งเราสงบเข้าไป เรายิ่งมีความสุข ยิ่งเราวุ่นวายเรายิ่งมีความทุกข์ ค่อยๆ ภาวนา เราจะเดินไปสู่ความสงบสุขในวันหนึ่งข้างหน้า
วัดสวนสันติธรรม
20 สิงหาคม 2565