รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด

พวกเรารุ่นหลังๆ นี้จะต่างกับนักปฏิบัติรุ่นก่อนๆ นักปฏิบัติรุ่นก่อนๆ เข้าวัด สิ่งแรกที่ทำก็คือขอศีลก่อน ของเราเข้ามาก็อยากรู้วิธีเจริญสติเจริญปัญญา จุดตั้งต้นแตกต่างกัน ยุคเรานี้ให้เทศน์เรื่องศีลให้ฟัง กลุ้มใจตายเลย รู้หมดแล้วๆ แต่ไม่ได้ทำ รู้อย่างเดียว คนรุ่นก่อน 30 – 40 ปีก่อน หลวงพ่อเข้าวัด เขาไปถือศีลกัน เป็นจุดตั้งต้นที่ดี

อย่างพวกเราคิดจะเจริญปัญญา บางคนก้าวกระโดด เอะอะก็จะเจริญปัญญา จะดูจิต จะอะไรอย่างนี้ หวังว่าจะได้มรรคผลเร็วๆ มองข้ามบทเรียนสำคัญไป เรื่องศีล บทที่หนึ่งเลย สีลสิกขา บทเรียนที่สองก็พัฒนาขึ้นมาสู่จิตตสิกขา เรียนรู้จิตจนกระทั่งได้สมาธิที่ถูกต้อง บทเรียนที่สามถึงจะปัญญาสิกขา

มีครั้งหนึ่งอยู่กับหลวงปู่เทสก์ ท่านปรารภให้ฟัง บอกว่ามันมีชาวพุทธเรานี้ล่ะ บางนิกาย มุ่งไปที่ปัญญา คือท่านพูดถึงเซน เซนที่เข้ามาเมืองไทยยุคแรกๆ มีการแปลหนังสือ แปลตำราของเซนกัน อ่านแล้วก็คิดว่าเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ละเลยเรื่องศีล ละเลยเรื่องสมาธิ พูดกัน เดี๋ยวก็ว่างๆ อันนั้นก็ไม่ยึด อันนี้ก็ไม่ยึดอะไรอย่างนี้ ท่านบอกท่านเห็นจุดอ่อนของเซน อันนี้ต้องวงเล็บว่าเซนในเมืองไทยที่เข้ามายุคแรกๆ คือมาแต่ตำรา ท่านบอกจุดอ่อน คือละเลยเรื่องศีลและเรื่องสมาธิ

ท่านวิจารณ์ท่านวิพากษ์ ว่าเดินปัญญาโดยที่จิตไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ใช้ไม่ได้ ซึ่งมันก็ใช้ไม่ได้จริงๆ อยู่ๆ เราเจริญปัญญาไปเลย เราจะเซลฟ์จัดมากเลย อันนั้นก็รู้อันนี้ก็รู้ เหมือนพวกที่เรียนเยอะๆ เรียนธรรมะมากๆ เซลฟ์จัด ดูถูกคนโน้นคนนี้เขาไปทั่ว ดูถูกนักปฏิบัติ ดูถูกพระ ดูถูกอะไร เพราะฉะนั้นเวลาเราศึกษาธรรมะ ต้องศึกษาไปตามลำดับ

คำว่า ตามลำดับ ไม่ใช่ว่าต้องมาถือศีลเท่านั้นเท่านี้ปีก่อนแล้วถึงจะมานั่งสมาธิ นั่งสมาธิได้แค่นี้ปีถึงจะเจริญปัญญา ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก คำว่าเป็นลำดับ เราต้องสำรวจตัวเองให้ดี ศีลนั้นถือไปเพื่ออะไร เพื่อให้จิตใจของเราเป็นปกติ ศีลมันแปลว่าความเป็นปกติ จิตของคนทั่วไปไม่ปกติ เดี๋ยวก็ถูกความโลภครอบงำ ถูกความโกรธครอบงำ ถูกความหลงครอบงำ ถูกความฟุ้งซ่าน ถูกความหดหู่ครอบงำ จิตใจเสียความสมดุล เสียความเป็นปกติ จิตนั้นโดยตัวของมันเองประภัสสร โดยตัวของจิตเองผ่องใส สว่าง มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา กิเลสที่ผ่านเข้ามา มันก็เลยไม่ปกติ เวลาจิตใจเราไม่ปกติ เราก็เริ่มคิดผิด เริ่มพูดผิด เริ่มทำผิด เราต้องมารักษาศีลให้ใจของเราเป็นปกติให้ได้

วิธีที่จะรักษาศีลให้ดี คือมีสติรักษาจิตเอาไว้ ราคะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน โทสะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน โมหะเกิดขึ้นกับจิตให้รู้ทัน คอยรู้อย่างนี้บ่อยๆ ราคะ โทสะ โมหะ มันก็จะครอบจิตเราไม่ได้ เมื่อราคะ โทสะ โมหะครอบงำจิตเราไม่ได้ เราก็ไม่คิดชั่ว คนเราคิดชั่วก็เพราะกิเลสมันครอบงำจิต อย่างเราคิดโกรธแค้น อาฆาตพยาบาทใครต่อใครอะไรอย่างนี้ มันคิดจะผิดลูกผิดเมียเขาอะไรอย่างนี้ คิดจะปล้นจี้เขาอะไรอย่างนี้ มันเกิดจากกิเลสมันครอบงำจิต ทำให้เราคิดผิด ตัวคิดผิดเรียกเป็นมิจฉาสังกัปปะ

 

“ตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง
หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ
การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ
มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล
หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี
ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส
แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น”

 

ฉะนั้นถ้าเรามีสติรักษาจิตเรา เราเริ่มตั้งแต่ความคิดถูก จะเกิดขึ้น พอกิเลสอะไรเกิด เรารู้ทัน กิเลสอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน เวลาความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่อยู่ในอำนาจของกิเลสเกิดขึ้น เรารู้ทัน กิเลสมันก็ดับ ความคิดของเราก็สะอาดหมดจด เมื่อความคิดของเราถูกต้องแล้ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลสแล้ว คำพูดและการกระทำของเราก็จะดี

กระบวนการขั้นตอนอันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง เราไปดูองค์มรรคให้ดี มันเรียงลำดับอย่างที่หลวงพ่อบอก ขั้นแรก สัมมาทิฏฐิ เราก็มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เราจะต้องรู้ว่าเราจะปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อเฮง เพื่อรวย เพื่อสวย เพื่อเก่งอะไรทั้งสิ้น เราปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุของทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้วิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ การรู้อย่างนี้ รู้ในเบื้องต้น รู้โดยทฤษฎี มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง

คำว่า สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิๆ เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตคือคำว่าทฤษฎี คนไทยเอาคำว่าทิฏฐิมาใช้ในความหมายอันหนึ่ง ทฤษฎีเป็นอีกความหมายหนึ่ง ที่จริงก็คือมีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง รู้ว่าเราภาวนา เราปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นหรอก ไม่ใช่เพื่อโชคลาภ เพื่อร่ำรวย เพื่อจะไม่เจ็บไม่ป่วยอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ เป็นเรื่องทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ใครเป็นคนทุกข์ล่ะ ใจเรานั่นล่ะตัวสำคัญ บางทีร่างกายยังไม่ได้เจ็บป่วยเลย ใจก็ทุกข์ไปก่อนแล้ว ใจมันทุกข์เพราะอะไร เพราะความคิด มีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น ใจก็ดิ้น วุ่นวาย

ฉะนั้นท่านถึงสอน บอกว่าถ้าเราจะปฏิบัติธรรม เรารู้ทฤษฎีชี้นำแล้ว เราก็ต้องมาคิดให้ถูก อย่าคิดผิด ตรงความคิดเป็นจุดตั้งต้นของความผิดพลาดเรื่องอื่นๆ บางคนรู้ว่าความคิดนี่ล่ะเป็นต้นตอทำให้เกิดคำพูดและการกระทำที่ไม่ดี คำพูดและการกระทำที่ไม่ดี หรือความคิดที่ไม่ดีนำความทุกข์ให้เกิดขึ้นกับจิตใจ ก็พยายามจะไม่คิดๆ อันนั้นไม่ใช่วิธีการของชาวพุทธเรา จิตมันมีธรรมชาติ คิด นึก ปรุง แต่ง เราจะไปสั่งมันว่าอย่าคิด อย่านึก อย่าปรุง อย่าแต่ง สั่งไม่ได้ มันเป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้ แต่ให้เรามีสติไว้ เวลามันคิด เรารู้ทันไปเลย เราคิดเรื่องนี้เพราะอะไร สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเราเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มันคิดเพราะโลภหรือเปล่า มันคิดเพราะโกรธหรือเปล่า มันคิดเพราะหลงหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ คอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรานั่นล่ะ

เมื่อเรารู้ทัน กิเลสมันจะครอบงำจิตใจไม่ได้ ครอบงำความคิดไม่ได้ มโนกรรมที่ชั่วมันก็ไม่มี เมื่อเราไม่มีมโนกรรมทางชั่ว คำพูดและการกระทำมันก็ไม่ชั่ว เพราะฉะนั้นสัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์ คือการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา สัมมาสังกัปปะที่บริบูรณ์จะทำให้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สิ่งเหล่านี้จะสมบูรณ์ขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเรารู้เท่าทันจิตใจตัวเอง ที่เราคิดอยู่นี้เพราะอะไร ถ้าเรารู้ทันแล้วเราไม่คิดไปตามอำนาจของกิเลส คำพูดของเราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส การกระทำของเรา การเลี้ยงชีวิตของเราก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส นี่มันคือลำดับขององค์มรรคๆ

แล้วการที่เราคอยมีสติรู้เท่าทันความคิดของเรา มโนกรรมชั่วๆ ไม่มี วจีกรรมที่ชั่วไม่มี กายกรรมที่ชั่วๆ ไม่มี การเลี้ยงชีวิตแบบฉ้อฉลปลิ้นปล้อนหลอกลวงอะไรอย่างนี้ ไม่มี อันนี้มันจะไปเกื้อกูลทำให้อกุศลที่เราเคยมีอยู่เสื่อมถอยลงไป มันเกื้อกูลที่จะให้กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้นมา กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้นๆ เพราะฉะนั้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มันจะมาเกื้อกูลสัมมาวายามะให้สมบูรณ์ขึ้นมา

สัมมาวายามะก็คือความเพียรชอบ ความเพียรชอบมีองค์ 4 อัน หนึ่งเพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญงอกงามขึ้น นี่ความพยายาม 4 อย่าง ถ้านอกเหนือจากความพยายาม 4 อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความพยายาม ไม่ใช่ความเพียรในองค์มรรค ก็เป็นเรื่องอื่นๆ ไป ขยันทำมาหากินอะไรอย่างนี้ก็คนละเรื่องกัน

ฉะนั้นคำว่า ความเพียรๆ เราก็ต้องรู้ ท่านมีคำว่า ความเพียรชอบ ความเพียรชอบก็คือเพียรลดละกิเลส ปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้ยั่งยืน ให้เจริญ นี่ล่ะถึงจะเรียกว่า ความเพียรชอบ ขยันทำมาหากินอะไรอย่างนี้ยังไม่เรียกว่าความเพียรชอบ ความเพียรชอบมันก็เกิดมาจากมีทฤษฎีชี้นำที่ถูก เรารู้เลยว่าถ้าเราปฏิบัติขัดเกลาตัวเองไป ให้ศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี วันหนึ่งจิตเราก็พ้นจากความทุกข์

รู้ทางทฤษฎีแล้วก็ลงมือทำ ลงมือทำก็เริ่มตั้งแต่คอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าเรารู้ตรงนี้ได้ ความคิดของเราก็จะสะอาด คำพูดของเราก็จะสะอาด การกระทำของเราก็จะสะอาด การเลี้ยงชีวิตทำมาหากินก็จะสะอาด ไม่ฉ้อฉลหลอกลวง เบียดเบียนใคร แล้วก็อกุศลที่เคยมีมันก็จะค่อยๆ ลดลง อกุศลใหม่ก็จะไม่เกิด กุศลที่ไม่เคยมีก็จะเกิดขึ้น กุศลที่มีแล้วก็จะเจริญขึ้น

เพราะฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของตัวเอง หลวงพ่อมอง มันแทบจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่นั่งสมาธิเดินจงกรมเฉยๆ มันตั้งแต่ว่าขัดเกลาตัวเองด้วยศีล หรือดูแลคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้ดี ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็ถัดจากนั้นตัวสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น คือจิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสผลักดันให้วิ่งพล่านๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อน พอจิตใจเราเป็นปกติ จิตใจมันก็สงบ ไม่เห็นจะยากอะไรเลย

 

ศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก

เพราะฉะนั้นศีลเป็นตัวเกื้อกูลสมาธิ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเสื่อม เสื่อมแน่นอนเลย เพราะอะไร เวลาศีลไม่ดีใจมันจะฟุ้งซ่าน ดูอย่างเทวทัตเป็นตัวอย่างเลย สมาธิดีมากๆ เลย ตอนออกมาบวชทีแรก ไม่ใช่คนกระจอก มีบุญบารมีไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ถ้าไม่มีบุญบารมีเลย ไม่มาเป็นคู่ชกของเจ้าชายสิทธัตถะได้ บุญบารมีเขาก็มี แต่เขาขี้อิจฉา เขาอยากใหญ่อะไรอย่างนี้ ก็เลยคิดชั่ว คิดทำร้ายพระพุทธเจ้า คิดจะครอบครองศาสนจักร อยากตั้งตัวเป็นศาสดาแข่งกับพระพุทธเจ้าอะไรอย่างนี้ มีการคิดชั่ว มีการกระทำชั่ว ไปหลอกลวงอชาตศัตรูให้ฆ่าพ่อเพื่อจะยึดอำนาจ พอตัวเองได้อำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจแล้วตัวเองมีอำนาจเหนือพระเจ้าแผ่นดิน คิดจะใช้อำนาจนั้นไปจัดการพระพุทธเจ้า

ความชั่วมากมายจากคนซึ่งเคยเก่ง สมาธิดีก็เสื่อมลงๆๆ แต่เขาเสื่อมช้าหน่อย เพราะบุญบารมีเขาเยอะ กว่าเขาจะเสื่อมเต็มที่ หมดฤทธิ์ หมดเดช หมดอำนาจ หมดคนเชื่อถืออะไรอย่างนี้ ตอนอายุเยอะแล้ว แล้วก็สำนึกผิดขึ้นมา ตัวเองอยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง สุดท้ายสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง สำนึกผิดแล้วจะไปขอขมาพระพุทธเจ้า เขามีบุญ ก็เลยหล่อเลี้ยง กรรมชั่วยังไม่ทันให้ผล แต่สุดท้ายกรรมชั่วก็ให้ผล เขาทำอนันตริยกรรม 2 ข้อ ทำให้สงฆ์แตกแยกกับทำพระพุทธเจ้าห้อเลือด ทำร้ายพระพุทธเจ้าเป็นอนันตริยกรรม จากคนซึ่งมีสมาธิ มีปัญญาอะไรไม่ใช่น้อย เสื่อมแล้วก็มีอบายเป็นที่ไป

เพราะฉะนั้นศีลไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าศีลของเราเสีย อย่ามาคุยเรื่องสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง อย่ามาพูดเรื่องเจริญปัญญา ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญบอกแล้วว่าศีลเราจะดี ถ้าเราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา เราคิดเรื่องนี้ คิดเพราะกุศล หรือคิดเพราะอกุศล ไปสังเกตให้ดี อย่างเรายกตัวอย่าง บางเรื่องดูยากหน่อย อย่างคนเขามาชวนเราไปหล่อพระประธาน หล่อพระโน้นพระนี้ ทำฉัตรทำโน้นทำนี้สร้างเจดีย์อะไรนี่ ถามว่าดีไหม ดี เป็นบุญไหม เป็น เป็นกุศลไหม ไม่แน่ แต่เป็นบุญ เป็น แต่อาจจะไม่ถึงกุศล

ถ้าเราไม่สังเกตใจของเราให้ดี อย่างเราไปสร้างสิ่งโน้นสิ่งนี้ แล้วเราก็ตั้งความปรารถนาขอให้รวยๆ อะไรอย่างนี้ มันมีโลภะแทรกอยู่ บุญของเราไม่สะอาดเต็มร้อยหรอก บุญนี้ไม่ประกอบด้วยสติ คือไม่สามารถรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้ ไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้องว่าที่เรามาศึกษาปฏิบัติธรรม เรามาถือศีล ทำสมาธิเจริญปัญญานั้นเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อร่ำรวย ไม่ใช่เพื่อสวยงาม ฉะนั้นเวลาไปทำบุญทำทานแล้วอธิษฐานขอโน้นขอนี่ ได้บุญเหมือนกัน ได้นิดเดียว เพราะลึกๆ มันประกอบด้วยกิเลส ประกอบด้วยโลภะ

เมื่อก่อนในพงศาวดารมอญก็มีลูกของพระเจ้าราชาธิราช ชื่อพ่อลาวแก่นท้าว ชื่อประหลาด ชื่อเหมือนคนไทยเลย พ่อลาวแก่นท้าว โกรธพ่อเพราะพ่อมีเมียน้อย ละเลยแม่ของตัวเอง ทำให้แม่ตัวเองเจ็บช้ำอะไรอย่างนี้ ก็โกรธ วันหนึ่งเข้าเฝ้าพ่อ เมียน้อยของพ่อก็นั่งอยู่ด้วย โดยศักดิ์เจ้าฟ้าก็ต้องไหว้พระมเหสี โดยศักดิ์พระมเหสีเขาสูงกว่า ไม่ยอมไหว้ พอไม่ยอมไหว้ พระเจ้าราชาธิราชก็บอกให้ไหว้ แกก็โกรธมาก แกก็กัดนิ้วตัวเองขาดไปนิ้วหนึ่งแล้วไหว้ ไม่ไหว้ 10 นิ้ว มีไหว้ 9 นิ้วเอง ทิฏฐิมานะแรง ก็เลยโกรธ พระเจ้าราชาธิราชโกรธ ลูกคนนี้จิตใจห้าวหาญอำมหิตเหลือเกิน เอาไว้ไม่ได้ ให้ไปประหาร

ตอนจะเอาตัวไปประหาร ราชมัลเอาตัวไป เพชฌฆาตเอาตัวไปจะไปประหาร ลาวแก่นท้าวก็ขอ ขอเวลานิดหนึ่ง ขอไปไหว้พระมุเตา พระมุเตาเดี๋ยวนี้ยังอยู่องค์นี้ เจดีย์พระมุเตาอยู่ที่หงสาวดี ไปไหว้แล้วก็ถอดมงกุฎของตัวเองวางลงไปเป็นเครื่องบูชา เพราะจะไม่ต้องใส่แล้ว อธิษฐานขอไปเกิดเป็นลูกกษัตริย์พม่าแล้วก็มาเหยียบหงสาวดีให้พินาศเลย ทำบุญ บุญนี้ก็ส่งผลให้ไปเกิดเป็นลูกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง กษัตริย์อังวะ แล้วสุดท้ายก็มารบกับพ่อ เห็นไหม ใจทำบุญ แต่ใจเจือด้วยโทสะอันนี้ บุญนี้ไม่สมประกอบหรอก

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำบุญทำทานอะไร ทำด้วยความเสียสละจริงๆ เราต้องรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา อยากไปหล่อพระ อยากไปสร้างฉัตรทองคำ อยากโน้นอยากนี้ สารพัดจะอยาก อะไรที่อยู่เบื้องหลัง ทำไปเพื่อเป็นพุทธบูชา อันนี้ดี ไม่ใช่ทำเพื่อเข้าตัวเอง แต่ทำไปเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้บุญเยอะ ถ้าทำไปเพื่ออยากโน้นอยากนี้ ได้บุญเหมือนกัน ได้บุญไม่มาก เพราะไม่ประกอบด้วยสติที่จะรู้เท่าทันจิตใจตนเอง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไปเห็นของซึ่งไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร อย่างทรัพย์สินเงินทองทางโลกไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ถึงมีมากๆ ก็ใช้ได้นิดหน่อย มีเงินกินข้าวได้วันละล้านอย่างนี้ มันกินได้ที่ไหน ถึงเวลาก็กินได้ข้าวจานหนึ่ง 2 จานเท่านั้นเอง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาระแก่นสารอะไร

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเราให้ดี เสร็จแล้วคำพูดของเรามันจะดีอัตโนมัติ การกระทำของเราจะดีอัตโนมัติ การเลี้ยงชีวิตของเราจะค่อยๆ ดีขึ้นๆ อย่างบางคนทำฟาร์มกุ้งฟาร์มปลาอะไรอย่างนี้ เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาขาย ต้องฆ่าสัตว์ ต้องอะไรอย่างนี้ พอได้ยินได้ฟังธรรมะ ก็ค่อยฝึกตัวเอง เห็นปลาก็สงสารมัน เห็นกุ้งก็สงสารมัน ให้อาหารมัน ให้มันด้วยใจที่เมตตา แต่ว่าเดี๋ยวโตขึ้นเราก็ต้องเอาไปฆ่า หรือเราเลี้ยงหมูไว้อย่างนี้ เลี้ยงวัวนม บางคนบอกทำวัวนม ทำฟาร์ม พอวัวมันแก่ก็ต้องไปขาย ใครจะไปเลี้ยงวัวแก่ที่ไม่มีน้ำนม เพราะฉะนั้นวัวจะมีคุณค่าก็ตอนที่มันมีน้ำนมอะไรอย่างนี้ พอหมดคุณค่าก็ต้องขายเอาไปฆ่า

ใจที่มันเคยภาวนา เคยรู้เท่าทันกิเลสตัวเอง มันจะอ่อนโยน มันเห็นปลา มันก็สงสารปลา เห็นวัวมันก็สงสารวัว พอใจมันสงสารขึ้นมา มันเมตตาขึ้นมา มันจะเริ่มคิดแล้วว่าทำอย่างไรเราจะเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิต การทำมาหากินของเราให้มันดีกว่านี้ ไม่เบียดเบียนสัตว์ที่น่าสงสารทั้งหลายเหล่านี้ พอใจมันเริ่มรู้ทันกิเลสตัวเอง กิเลสลดลงๆ ครอบงำใจไม่ได้ ความเมตตากรุณามันเกิดขึ้น พอความเมตตากรุณาเกิดขึ้น เราจะค่อยๆ คิดเปลี่ยนแปลงอาชีพของเรา เป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียน ทำแล้วเราก็มีความสุข อาจจะไม่รวยเท่าเก่า แต่มันมีความสุข ไม่ต้องมาสลดสังเวชทีหลัง

 

ถ้าความคิดของเราถูกกิเลสครอบงำ
คำพูดและการกระทำของเราก็ถูกกิเลสครอบงำไปด้วย

ถ้าเราฆ่าสัตว์จนชินไม่ใช่เรื่องดีเลย หลวงพ่อเคยเจอคนๆ หนึ่ง คนนี้เมียเขาตายตั้งแต่ยังสาวๆ อยู่ มีลูก 3 คน ลูกสาว พ่อเขารักลูกมากเลย พ่อไม่ยอมมีเมียใหม่ ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงลูก แล้วก็เลี้ยงไก่เลี้ยงอะไรไว้ด้วย ทุกวันเพื่อนก็จะมาที่บ้าน ก็จะฆ่าไก่ 1 ตัว เอามาทำกับแกล้มแล้วกินเหล้ากัน สีซอกัน คนโบราณไม่มีกีต้าร์เล่น นั่งสีซอ เป่าขลุ่ย เป่าปี่อะไรกันไป ดำรงชีวิตอย่างนี้ ลูกก็เลี้ยงอย่างดีเลย ส่งให้เรียนหนังสือส่งอะไร แต่ตัวเองทุกวันฆ่าไก่วันละตัว วันละตัวเดียว เลี้ยงเพื่อนทุกวันๆ แกก็เลี้ยงไก่ไว้เยอะล่ะจนกระทั่งพอเฉือดกินทุกวัน

แล้วมีนิสัยอีกอย่าง เจอมดเข้าแถวไม่ได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมดมันมามันชอบเข้าแถวมา เดินเป็นแถวเหมือนพระบิณฑบาตเลย เดิน มันเดินเหมือนพระบิณฑบาตเข้าแถวไปด้วยกัน นี่เห็นมดเข้าแถวไม่ได้ จะบี้ โดยเฉพาะมดดำ ชอบที่สุดเลย มดดำ ไม่กล้าบี้มดอื่นๆ กลัวมันกัดเอา มดบางอย่างมันกัดเจ็บ มดดำกัดไม่เป็นหรอก เห็นมดเข้าแถว รูดอย่างนี้เลย ใช้นิ้วรูดๆ ทั้งแถว สะใจมากเลย สนุก ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้คิดว่ามันมีชีวิตอะไร ทำอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต ความชั่วอื่นไม่มีหรอก มีแต่เรื่องเบียดเบียนสัตว์เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้

อยู่มาจนแก่ๆ ลูกสาวเขาก็สร้างกุฏิไว้ในบ้านเขาหลังหนึ่ง บ้านเขากว้าง ก็นิมนต์ครูบาอาจารย์ไปพักเป็นระยะๆ พ่อเขาตอนไม่สบายมาก ไปอยู่โรงพยาบาล อยู่โรงพยาบาล ก็นอนอยู่ในห้องที่มันสะอาดหมดจดนั่นล่ะ นอนๆ ไปก็โวยวาย กดกระดิ่งเรียกพยาบาล เรียกลูกเรียกหลานอะไรนี่ บอกมดดำขึ้นเตียงเต็มไปหมดเลย นี่ๆๆ มันเดินมาเป็นแถวเลย ให้ฆ่ามันให้หมดเลย จะตายแล้วใจยังเป็นอย่างนี้เลย มันคุ้นเคย

แล้วตอนที่จะตายจริงๆ จิตมันก็เกิดภาพนิมิตขึ้นมา กระบวนการที่จะตายทีแรกมันจะตัดความรู้สึกทางร่างกายออกไปก่อน แล้วเหลือกระบวนการทำงานของจิต มีภาพนิมิต เห็นเป็นอุโมงค์อันหนึ่ง แล้วแกก็เคลื่อนไปตามอุโมงค์ เห็นปลายอุโมงค์เป็นไก่ตัวหนึ่ง ครูบาอาจารย์ท่านอยู่ตรงนั้นพอดี ลูกหลานก็ภาวนา พ่อเจ็บหนัก โคม่าแล้ว ลูกหลานไม่รู้หรอกว่าพ่อจิตเป็นอย่างไร แต่ครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านรู้ ไม่ใช่หลวงพ่อ หลวงพ่อไม่เก่งอย่างนั้นหรอก ท่านเห็น เฮ้ย มันวิ่งไปจะไปเป็นไก่อยู่แล้ว ก็ช่วยกันแผ่ส่วนบุญแผ่อะไร ใจมันก็กลับมา สุดท้ายก็พ้นจากภพเดรัจฉานไปเป็นภพอสุรกาย อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อรู้ ครูบาอาจารย์องค์นั้นท่านเล่าให้ฟัง

ลูกหลานอยู่บ้าน ลูกสาวคนเล็กเขาทำบุญ ภาวนา ภาวนาเก่ง ภาวนาๆ ภาวนาเสร็จชวนลูกชายของเขา คือลูกสาวมีลูกชาย ชวนกันภาวนาทุกวัน ภาวนาแล้วก็แผ่ส่วนบุญให้พ่อ แผ่ส่วนบุญให้ตา หลานก็เป็นหลานตา แล้วก็บอกว่าได้ทำบุญ ทำบุญอย่างนั้น ทำบุญอย่างนี้ ได้นั่งสมาธิด้วย ขอให้พ่อมารับส่วนบุญ พออธิษฐานจบ เหม็นเน่าไปทั้งบ้านเลย ก็ตกใจแล้ว อุ๊ย เราไม่น่าเลย ไปเรียกพ่อให้มารับส่วนบุญ เลยกำหนดจิตใหม่ พ่อไม่ต้องมา ลำบากเปล่าๆ เดี๋ยวจะส่งไปให้ รักพ่อมากเลย กลัวพ่อเหนื่อย เพราะฉะนั้นเราต้องระมัดระวังจิตใจของเราไว้ให้ดี จิตที่เศร้าหมอง ทุคติเป็นที่ไป จิตที่ผ่องใส สุคติเป็นที่ไป

เพราะฉะนั้นการที่เราคอยระมัดระวังสังเกตจิตใจของเราให้ดี มันเริ่มมาจากความคิดนั่นล่ะ ถ้าความคิดของเราถูกกิเลสครอบงำ คำพูดและการกระทำของเราก็ถูกกิเลสครอบงำไปด้วย อย่างคนเมื่อกี้ เขาถือว่าก็ไก่ของเขาเลี้ยงไว้เอง เขาจะฆ่ากินก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ไม่ได้ไปฆ่าไก่คนอื่น ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ลืมไปว่าเบียดเบียนสัตว์ ใจคิดประหัตประหารไก่ มันก็เป็นบาป บี้มด ไม่เห็นมีใครบอกว่าบี้มดแล้วผิดกฎหมายเลย ไม่ใช่สัตว์สงวน ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง บี้ๆๆ อกุศลก็ให้ผล อันนี้ทำไปด้วยโมหะ เบียดเบียนด้วยโมหะ เบียดเบียนด้วยความไม่รู้กฎแห่งกรรม อย่างนี้เรียกว่าจิตมันมีวิหิงสาวิตก มันคิดเบียดเบียนด้วยโมหะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

เพราะฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา จิตใจของเรามันคิดโน้นคิดนี่ มันคิดไปด้วยอำนาจของราคะหรือเปล่า คิดไปด้วยอำนาจของโทสะหรือเปล่า คิดไปด้วยอำนาจของโมหะหรือเปล่า โมหะอย่างที่เล่าให้ฟัง ตัวอย่างของคุณตาเมื่อกี้ อันนั้นมีโมหะ ไปฆ่าไก่ รู้สึกไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย อันนั้นเบียดเบียนด้วยความไม่รู้ ด้วยโมหะ

ฉะนั้นจุดสำคัญสังเกตใจของเรา มันคิดทั้งวันล่ะ ห้ามมันไม่ได้ แต่มันคิดเพราะอะไร สังเกตดู โดยเฉพาะถ้ามันเกิดความคิดที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นทำอย่างไร ปฏิสัมพันธ์ทางวาจา ปฏิสัมพันธ์ทางกาย ไปชกไปต่อยเขา หรือไปลูบไล้เคล้าคลึงเขาอย่างนี้ อะไรที่อยู่เบื้องหลัง อย่างพระเห็นไหม โยมมาก็ลูบหัวให้อะไรอย่างนี้ อะไรอยู่เบื้องหลัง ถ้าเป็นพระไม่ดี เห็นสาวๆ มา ไปลูบ อันนี้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือราคะ อันนี้ผิดแน่นอน ถ้าผู้ชายมาก็ไปลูบให้ ผู้หญิงมาก็ให้พร อย่างนี้ทำด้วยใจที่เป็นบุญเป็นกุศล ด้วยความเมตตา

เราสังเกตดู อย่างเรากอดหมากอดแมวอย่างนี้ เวลาเราอุ้มแมวของเรา สังเกตจิตดูอะไรที่ทำให้เราคิดจะอุ้มแมวนี้ ความเมตตาหรือราคะ เกือบร้อยละ 100 คือราคะ แค่อุ้มแมว ใครเลี้ยงแมวบ้าง ลองยกมือสิ ในนี้มีไหม มันก็เลี้ยงกันเยอะแยะ ในวัดนี้ก็มีหลายตัว ในวัดนี้คนชอบเอาแมวมาปล่อย พระก็ต้องให้ข้าวมันกิน พาไปฉีดยา พระเลี้ยงแมว แล้วแมวมันก็ไปเลี้ยงงู ไปเลี้ยงเหี้ย โอกาสรอดยาก เพราะฉะนั้นอย่าเอามาปล่อย เอาหมาเอาแมวมาปล่อยในวัดนี้ไม่ค่อยรอดหรอก สัตว์ที่มันกินเนื้อมีเยอะในนี้

อย่างเราอุ้มแมว ใจเรา หูย น่ารักๆๆ นี่ราคะ เราเห็นเด็กๆ ไม่ต้องลูกตัวเอง ลูกคนอื่นก็ได้ แต่มันน่ารักหน่อย อุ้ม ราคะก็เกิด ยินดีพอใจ รักใคร่ผูกพันอะไรอย่างนี้ นี่ค่อยๆ สังเกต ไม่ว่าทำอะไร นิดๆ หน่อยๆ บางทีแค่จะวางจานอาหาร สมมติเราเป็นพนักงานเสิร์ฟ เราเห็นโต๊ะนี้ท่าทางใจดี น่าจะทิปเยอะ เวลาวาง วางนุ่มนวลอะไรอย่างนี้ อีกคนหนึ่งท่าทางมันร้าย เกลียดขี้หน้ามัน แกล้งวางโครมเลย ทำไมเราวางจานนี้แรง ทำไมวางจานนี้เรียบร้อย อะไรอยู่เบื้องหลัง ใจของเรานี้มันผิดตั้งแต่มโนกรรมแล้ว มันคิดไม่ดี เพราะฉะนั้นเราสังเกตให้ดี

 

การที่เราคอยรู้เท่าทันกิเลสในใจของเราเรื่อยๆ
กิเลสจะเสื่อมลง กุศลจะเจริญขึ้น

ถ้าเราสังเกตใจของเราได้ การปฏิบัติธรรมจะไม่ใช่เรื่องยากเลย ศีลของเราจะดีอัตโนมัติเลย แล้วก็กิเลสที่มีอยู่จะค่อยๆ ถูกลดถูกละไป กุศลก็จะเจริญขึ้นๆ อย่านึกว่าเป็นเรื่องเล็ก การที่เรารู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรานั้น มันจะทำให้องค์มรรคที่เหลือเจริญขึ้นได้ พอคำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเราสะอาดหมดจด อกุศลที่เคยมีก็ไม่มี ดับไป อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด กุศลที่ยังไม่มีก็มี กุศลที่มีแล้วก็เจริญ นี่คือสัมมาวายามะ แล้วการที่เราคอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำทั้งหลายของเรา มันจะทำให้สติของเรานี้ดีขึ้นๆ เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะที่มากที่บริบูรณ์ ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ขึ้นด้วย

อย่างเรารู้เท่าทัน กิเลสเกิดขึ้นมาเรารู้ ถ้ารู้ตรงนี้ไม่ทัน มันก็ครอบงำความคิด คำพูด การกระทำ รู้ตรงนี้ก็ยังดี ถ้ารู้ไม่ทัน ใจของเราก็เป็นอกุศลแล้ว เต็มร้อย เราก็ทำไปตามอำนาจของกิเลส แต่ถ้าเรามีสติคอยรู้ทัน สติของเราก็จะไวขึ้น ทีแรกต้องหลงตั้งนานถึงจะรู้ ต่อมาหลงสั้นๆ ก็รู้ แต่ทีแรกก็ต้องโกรธนานๆ ถึงจะรู้ ต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปโกรธปุ๊บรู้ปั๊บ ขุ่นใจเล็กๆ ก็มองเห็นแล้ว นี่สติมันพัฒนาขึ้น การที่เราคอยรู้เท่าทันกิเลสในใจของเราเรื่อยๆ กิเลสจะเสื่อมลง กุศลจะเจริญขึ้น ตัวกุศลเริ่มตั้งแต่ตัวสตินั่นล่ะ ศีล สมาธิอะไรพวกนี้ มันจะเกิดขึ้นมาหมดล่ะ เพราะสติเราจะดีขึ้นๆ กิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บๆ หรือกุศลเกิดก็รู้ กิเลสเกิดก็รู้ นั่นล่ะคือการเจริญสติปัฏฐานๆ ในหมวดของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตเรามีกิเลส เรารู้ จิตไม่มีกิเลส เรารู้

สติปัฏฐานเมื่อเจริญให้มาก จิตจะค่อยๆ มีกำลังๆ มากขึ้นๆๆ สุดท้ายจิตจะรวมลง สัมมาสมาธิในขั้นละเอียดก็จะเกิดขึ้น ตรงที่เรามีสติเห็นสภาวะ เห็นกิเลสเกิดดับๆ ไปเรื่อย เรามีสมาธิเป็นขณะๆ พอเราสะสมไปเรื่อยๆ จิตมันมีกำลัง จิตมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเข้าฌาน ถึงชาตินี้ยังไม่เคยเข้าฌาน ไม่ต้องตกใจ มีสติให้ถูกต้อง มีศีลให้ถูกต้อง จิตมันจะรวมเข้าสมาธิที่ถูกต้องเอง สัมมาสมาธิคือตรงจิตที่เข้าถึงอัปปนาสมาธิ พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสมาธิด้วยฌาน ไม่ใช่ด้วยขณิกสมาธิ ด้วยอุปจารสมาธิ ท่านอธิบายสัมมาสมาธิด้วยฌาน

ทีนี้เราเข้าฌานไม่เป็น เราเจริญสติรู้ทันกิเลสตัวเองเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไป จิตมันจะค่อยๆ สะสมกำลัง มีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา รวมปุ๊บลงไปโดยไม่เจตนา ตรงนั้นล่ะ จิตรวมลงไปแล้ว ตรงนี้ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าอย่างหลวงปู่มั่น ท่านเรียกจิตรวมตัวนี้ว่าจิตรวมใหญ่ จิตรวมใหญ่คือมันเป็นที่รวมของศีล สมาธิ ปัญญาทั้งหมดเลยรวมเข้าด้วยกัน ตรงที่เรามีสติเห็นสภาวะ เห็นกิเลสเกิดดับๆ อะไรนี่ เราได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา ค่อยๆ สะสมๆ พอมันพอ จิตมันรวมใหญ่เอง

พอจิตมันรวมใหญ่แล้วกระบวนการล้างกิเลสก็จะเกิดขึ้น แต่เดิมเราล้างกิเลสด้วยการมีสติรู้ทันมัน หรือบางทีเราก็ใช้สมาธิ อย่างจิตเรามีราคะรุนแรง เราก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ อันนี้ล้างไปด้วย แก้ไปด้วยสมาธิ แต่ตอนที่เราเจริญ ศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว เพราะสติของเราสมบูรณ์แล้ว จิตรวมลงไป มันจะล้างกิเลสที่ละเอียด ล้างสังโยชน์ กิเลสที่ผูกมัดใจของเราให้เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆ จะล้างกิเลสตัวนี้ลงไป

เพราะฉะนั้นกระบวนการตรงนี้ จิตมันเป็นเอง มันทำเอง ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดขึ้นได้ มรรคผลเกิดขึ้นเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราบริบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาของเราจะบริบูรณ์ได้ ทฤษฎีชี้นำต้องถูก ปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นหรอก เพื่อพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องรู้ ถ้ากิเลสครอบงำจิตได้ มันก็ปรุงแต่งความคิด คำพูด การกระทำที่เลวออกมา มันก็เวียนว่ายไปสู่ความทุกข์ ถ้าเรามีสติรู้ทันๆ ไปเรื่อย สติเราก็จะแข็งแรงขึ้น จิตเราก็จะมีกำลังมากขึ้นๆ มันตั้งมั่นขึ้นมาเองแล้วปัญญามันก็เกิด มันก็เห็นสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับไป ทุกสิ่งเกิดแล้วทุกสิ่งดับ

แต่เดิมภาวนา เราก็อยากให้จิตของเราดีอย่างนี้ ภาวนาไปถึงจุดหนึ่งจะรู้เลยจิตก็ไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี นี่เป็นปัญญาที่มันเกิดขึ้น แล้วอริยมรรคก็เกิดขึ้นในขณะนั้นล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญาประชุมรวมกันที่จิตในขณะจิตเดียวด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ เป็นที่รวม จิตเป็นที่รวมเป็นภาชนะ แต่จิตนั้นจะต้องเป็นจิตที่ทรงสัมมาสมาธิจริงๆ ถึงจะเป็นภาชนะที่รองรับคุณงามความดี ทุกสิ่งทุกอย่างให้มาประชุมกัน โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ฟังแล้วเยอะ ภาวนาไปอย่างที่หลวงพ่อบอก มันเกิดขึ้นครบเอง แล้วมันจะรวมตัวเข้าที่จิตในขณะจิตเดียวด้วยกำลังของสัมมาสมาธิ แล้วมันจะล้างกิเลส กระบวนการนี้จะเกิด 4 ครั้ง ครั้งที่สี่ก็คือกิเลส คือความไม่รู้อริยสัจถูกทำลายไป นี่คือเส้นทาง

เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ตั้งใจปฏิบัติ คอยรู้เท่าทันจิตใจตนเอง อะไรที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา อะไรที่อยู่เบื้องหลังคำพูด อะไรที่อยู่เบื้องหลังการกระทำทั้งหลายของเรา รู้บ่อยๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาวายามะในตัวเอง เป็นสัมมาสติในตัวเอง เราก็สร้างสมาธิโดยอัตโนมัติขึ้นด้วยตัวเอง แล้วสุดท้ายมรรคผลมันจะเกิดขึ้น ถ้าคิดผิด มันก็พูดผิด ทำผิด เลี้ยงชีวิตผิด สัมมาวายามะก็ไม่มี มีแต่กิเลส ไม่มีการล้างกิเลส สติก็ไม่มี มีแต่หลง สมาธิก็ไม่มี มีแต่ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นเราไปทำ แล้วชีวิตเราจะได้ร่มเย็นเป็นสุข

ก่อนหลวงพ่อเทศน์ หลวงพ่อก็จะนั่งทำใจสบายๆ แล้วก็ตั้งคำถาม วันนี้เราจะเทศน์เรื่องอะไรดีหนอ บางทีก็มาตั้งคำถามตอนอยู่หน้าพวกเรา วันนี้ว่างๆ มีเวลาตั้งคำถาม วันนี้จะให้เทศน์เรื่องอะไรดี ที่พวกเราจะได้ประโยชน์อะไรอย่างนี้ ใจมันก็บอกวันนี้ให้เทศน์เรื่องศีล ฉะนั้นศีลของเราจะเกิดได้ถ้าเรารู้ทันความคิดของเรา ศีลเราดี คำพูดการกระทำดีหมด ความเพียรถูกต้อง เกิดความเพียรชอบเองอัตโนมัติ เกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิอัตโนมัติขึ้นมา ภาวนาทุกวันๆ อย่าละเลย

 

 

พวกที่นั่งอยู่ในศาลา ที่หลวงพ่อสอนวันนี้รู้เรื่องไหม อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด บางทีรู้สึกคิดดีๆ คิดอยากทำความดีอย่างโน้นอย่างนี้ ลึกๆ มีกิเลสแฝงไหม ให้รู้ทัน จะทำบุญ ทำเพื่อจะเอา หรือทำเพื่อจะลดเพื่อจะละอะไรอย่างนี้ สังเกตตัวเองไป คนที่จะทำเพื่อจะเอา ถ้ามีบุญ มันก็ได้ๆ แต่ไม่ว่าเราได้อะไรมา มันก็เจือความทุกข์มาด้วยล่ะ มีเงินเยอะๆ ก็ทุกข์ มีโน่นนี่ก็ทุกข์ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นทำความดี ทำเพื่อลดละกิเลส เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ทำไปเพื่อสงเคราะห์โลก สงเคราะห์ผู้อื่น สงเคราะห์สัตว์อื่นอะไรอย่างนี้ มีโอกาสทำก็ทำ ไม่มีก็ไม่ต้องกลุ้มใจ ค่อยๆ ทำไป

อย่างพวกเราบางทีเอาเงินมาให้หลวงพ่อ หลวงพ่อรวมๆ ไว้ บางทีก็เอาไปให้โรงพยาบาลให้อะไร ทำบุญตามโรงพยาบาล ตามอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปทำที่วัด ที่หลวงพ่อทำ ไม่ได้บอกพวกเราว่าอย่าไปทำบุญกับวัด เดี๋ยววัดอื่นเขามาเหยียบหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อมองว่าตอนนี้ชาวโลกเดือดร้อนมาก แทนที่เราจะไปสร้างวัตถุอะไรมากมายท่ามกลางความเดือดร้อนของผู้คนอะไรนี่ มันไม่ใช่ priority แรก ตอนนี้คนลำบากก็ช่วยคนก่อน

ส่วนการรักษาธรรมะ หลวงพ่อพยายามให้ธรรมะ รักษาศาสนา ให้ธรรมะ ไม่ค่อยได้ชวนพวกเราสร้างวัตถุอะไรมากมายนักหรอก ถาวรวัตถุในศาสนา เราสร้างกันไว้มากมาย เสร็จแล้วก็ต้องบำรุงรักษาๆ ชาวบ้านไม่ศรัทธาก็ต้องหาอุบาย จัดงานโน้นงานนี้ ทำวัตถุมงคลขาย ทำอะไร จำเป็น ถามว่าวัดจำเป็นไหม ก็จำเป็น มีเสนาสนะ มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ก็ต้องบำรุงรักษาอะไรอย่างนี้ ถ้าเรามัวรักษา เรามัวแต่สร้างแต่วัตถุ แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสร้างชาวพุทธ ต่อไปวัตถุอันนี้ก็ไม่มีอะไร ก็เป็นที่ท่องเที่ยวเฉยๆ คนที่มาเที่ยวไม่ใช่ชาวพุทธ เพราะชาวพุทธสูญพันธุ์ไปแล้ว เหมือนในหลายๆ ประเทศใช่ไหม เขามีพุทธศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ แต่มันไม่มีชาวพุทธ

เพราะฉะนั้นจุดสำคัญในการรักษาศาสนา ตอนนี้ไม่ใช่การสร้างโน่นสร้างนี่หรอก แต่คือการสร้างชาวพุทธ สร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในใจพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงแล้ว ใจมันจะอยากรักษาพระศาสนาเอง อยากรักษาวัดขึ้นมาเอง ไม่ต้องหลอกลวง อย่างวัดหลวงพ่อไม่เห็นต้องเคยเรี่ยไรสักบาทหนึ่งเลย พวกเราก็มาช่วยกันทำ สร้างโน้นสร้างนี้ ต้องคอยห้ามด้วยซ้ำไป

ฉะนั้นอย่างทำบุญทำอะไร เราดู อะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุด เงินทองของเรามีจำกัด อันไหนทำไปแล้วได้ประโยชน์กับคนอื่น ไม่ใช่ได้ประโยชน์ของเรา พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าอย่าไปทำบุญกับวัด เดี๋ยวขอแถลงข่าวก่อน เดี๋ยวถูกตื้บไม่ใช่อะไรหรอก วัดต่างๆ เขาก็ลำบาก อย่างพระเราปล่อยกุฏิทรุดโทรมก็ไม่ถูก พระมีหน้าที่รักษาเสนาสนะ ไปสร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างอะไรกันไว้ใหญ่โต แต่พระไม่มี วัดหนึ่งๆ มีพระนิดเดียว แค่กวาดวัดก็ไม่มีแรงจะกวาดแล้ว มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ประโยชน์มันน้อย

ฉะนั้นการสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในใจของเราเป็น priority แรก พอเราเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เราก็รู้แล้วอะไรควรอะไรไม่ควร อันไหนก่อนอันไหนหลัง อย่างคนจะจมน้ำตายกับเราจะหล่อพระประธาน ควรจะทำอะไรก่อน จะไปงานหล่อพระแล้ว คนกำลังจะจมน้ำ ก็ต้องรู้จัก คนจะอดตายอยู่ เรี่ยไรอุตลุด มันถูกไหม ก็ต้องรู้จักนะเป็นชาวพุทธ

 

หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 สิงหาคม 2565