มรดกกรรม

พูดถึงความตาย พระพุทธเจ้าสอนเราไม่ให้เราประมาท คือเราจะตายเมื่อไรก็ได้ จะตายเดี๋ยวนี้ ตายวันนี้ ตายพรุ่งนี้ ตายปีนี้ เอาแน่ไม่ได้ ความตายมาถึงตัวเราเมื่อไรเราไม่รู้หรอก ถ้าเราไม่ประมาทเราก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะตาย อะไรที่เป็นภาระรุงรังในจิตใจค่อยๆ ปลดออก ค่อยๆ ละออก ภาระที่จำเป็นก็ต้องอยู่กับมัน อันไหนไม่จำเป็นวางได้ก็วาง ในด้านจิตใจต้องรีบฝึก เวลาเราจะตายจริงๆ ไม่มีใครช่วยเราได้ ทางด้านจิตใจต้องช่วยตัวเอง จิตที่มันไม่เคยฝึกเวลาจะตายมันมีหลายแบบ พวกหนึ่งไม่กลัวตายก็คิดว่าตายแล้วก็จบทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าจำเป็นต้องตายก็ตายไปก็ไม่มีอะไรต่อ ไม่เป็นไร ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เราภาวนา ฝึกไปเรื่อยๆ เราจะรู้ ชีวิตนี้มันเกิดดับสืบเนื่องกันไปทุกๆ ขณะจิต เรามีชีวิตแต่ละขณะๆ มันไม่ใช่คนเดิมแล้ว อย่างในร่างกายเรา ร่างกายเราวันนี้กับร่างกายเราเมื่อวาน มันก็มีบางส่วนที่ยังเป็นเซลล์เดิม บางส่วนของเก่าตายไปของใหม่เกิดขึ้น มันไม่ใช่คนเดิม 100 เปอร์เซนต์แล้ว เซลล์ที่อายุยืนที่สุดในร่างกายเราเซลล์กระดูก อย่างมากที่สุดก็อยู่ ได้ 9 ปี ฉะนั้น 9 ปีนี้กับ 9 ปีก่อน ในตัวเรานี้ไม่มีอะไรเป็นอันเดิมเลย เรามองไม่เห็น ยิ่งจิตใจนี้ยิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ไม่ใช่ตายแล้วสูญ เราภาวนาเราจะเห็นกระบวนการที่จิตมันเกิดดับสืบเนื่องกันไป มันเป็นวัฏฏะหมุนวนอยู่ มีกิเลสจิตก็กระทำกรรม พอจิตกระทำกรรมจิตก็มีวิบาก กิเลส กรรม วิบาก 3 อันนี้มันหมุนติ้วๆๆ อยู่ในใจเรา เกิดดับสืบเนื่องกันตลอดไม่เคยหยุดเลย

 

เราไม่ได้ตายแล้วสูญ

ฉะนั้นเราภาวนาเราจะรู้เลยจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ดับแล้วมันมีพลังงาน มีวิบากยังผลักดันให้เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมาได้ ฉะนั้นมันไม่ใช่ตายแล้วสูญ เราภาวนาเกิดได้ทิพยจักษุ มันจะเห็นสัตว์ตัวนี้ตายไป ขันธ์ในภพในชาตินี้ดับลง วิบากกรรมส่งผลให้เกิดขันธ์ใหม่ในภพใหม่ขึ้นมา ขันธ์ใหม่ในภพใหม่เหมือนกับเป็นลูก กระทั่งจิตดวงต่อไปเหมือนเป็นลูกของจิตดวงเก่า จิตมันมีมรดก จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นก็รับมรดกมาจากจิตที่เป็นพ่อเป็นแม่ของมัน จิตดวงเก่าทำกุศลไว้เยอะก็คล้ายๆ เป็นเศรษฐี วิบากให้ผลไปเกิดจิตดวงใหม่ขึ้นมา เหมือนมีลูก ลูกก็พลอยเป็นเศรษฐีไปด้วย จิตดวงเก่าทำบาปมาเยอะ บุญไม่ได้ทำ ทำแต่กรรมชั่ว ก็เหมือนจิตดวงใหม่เกิดมาเป็นลูกของจิตดวงเดิมนี้ ลำบากยากจน ชีวิตลำบาก ฉะนั้นจิตนี้เกิดดับสืบเนื่อง กระทั่งการข้ามภพข้ามชาติ

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งบอกชื่อไม่ได้ เคยเห็นคนจะตาย เห็นจิตดวงสุดท้าย จุติจิต ทำไมมีคำว่าจุติจิต จุติมันแปลว่าเคลื่อน คำนี้มันทำให้เราไขว้เขว มันคิดว่าจิตดวงนี้เคลื่อนไปแล้วไปเกิดในภพใหม่ มันไม่ได้เคลื่อนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง มันไม่ได้เคลื่อนอย่างนั้น แต่มันหมุนอยู่ในตัวเอง ตรงจะตายจิตมันหมุนติ้วเลย มันทุกข์แสนสาหัส พอมันดับลงพลังงานของกรรม มันไปทำให้เกิดจิตอีกดวงหนึ่งในชีวิตใหม่ขึ้นมา จิตดวงนั้นมันหมุนรับขึ้นมา 2 ดวงนี้เหมือนกันเปี๊ยบเลย มันหมุนติ้วๆๆๆ ขึ้นมา เกิดขึ้นปุ๊บแล้วก็ตกภวังค์ไปช่วงหนึ่ง แล้วค่อยขึ้นมารับอารมณ์ใหม่ ถ้าเราภาวนาหรือเราได้ยินครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง เรารู้เราไม่ได้ตายแล้วสูญ

เมื่อเราไม่ได้ตายแล้วสูญ ก็คล้ายๆ ต่อไปเราต้องมีลูกมีหลาน เราจะสร้างหนี้ไว้ให้ลูกหลาน หรือจะสร้างมรดกไว้ให้ลูกหลาน ถ้าเราเห็นแก่ตัวเราก็เสพสุขให้เต็มที่ แล้วลูกหลานก็ลำบากในอนาคต ลูกหลานมันก็ไม่ใช่อะไรหรอก คือจิตซึ่งมันเกิดจากจิตของเรานี้เอง สืบเนื่องกันไป แต่โดยความรู้สึกมันไม่รู้สึกหรอก ว่าจิตที่เกิดใหม่มันเป็นลูกของจิตเก่า มันมองสันตติไม่ขาดความสืบเนื่องไม่ขาด มันคิดว่าจิตดวงเก่านี้ล่ะตายแล้วไปเกิดใหม่ นี่พวกตายแล้วไปเกิด อีกพวกหนึ่งตายแล้วสูญไปเลย ตายแล้วไปเกิดก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตายแล้วสูญมันก็มิจฉาทิฏฐิ

ที่จริงตายแล้วมันไม่ได้เกิดแบบที่เขานึกกัน แต่มันเกิดอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ จิตดวงสุดท้ายในชีวิตนี้ดับลง ก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่งมันเหมือนตัวเดิมเลย หมุนขึ้นมาเหมือนตัวเดิมเลย เกิดขึ้นในชีวิตใหม่ในภพใหม่ ก็รับวิบากทั้งที่ดีที่ชั่ว แต่ความรู้สึกมันจะรู้สึกว่าเราเป็นคนเดิม สัญญามันหลอกลวง จะมาฟังสิ่งที่ครูบาอาจารย์บอกว่า จิตในชีวิตใหม่มันคนละดวงกับในปัจจุบัน แล้วเราไม่ต้องแยแสมัน เวลาจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราจะรู้สึกว่ามันเป็นจิตดวงเดิม เพราะมันรับวิบากทั้งหลาย กระทั่งมันรับข้อมูลเอาไว้ ข้อมูลต่างๆ เก็บสะสมเอาไว้ส่งทอดไป ฉะนั้นบางคนพอข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ไปภาวนาจิตรวมลงไปได้สมาธิระลึกชาติได้ เมื่อชาติก่อนเราเคยเป็นนั่น ชาติก่อนเราเคยเป็นนี่ เป็นคนใหญ่คนโต เป็นคนไม่ใหญ่ไม่โต เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา เป็นพรหม มันรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นเราคนเดิม เพราะเราไม่สามารถมองเห็นว่าสันตติมันขาดออกจากกันไปแล้ว มันคนละคน คนละดวง ความรู้สึกมันเป็นคนเดิมรู้สึกอย่างนั้น นิสัยใจคออะไรนี้สะสมกันมา

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ท่านดูแล้วหมื่นปีนิสัยสันดานยังไม่ค่อยจะเปลี่ยนเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละคนแต่มันก๊อปปี้กันมา มันถ่ายทอดกันมาเป็นพันธุกรรม เป็นกรรมสืบเผ่าพันธุ์กันมา ฉะนั้นถึงมันจะเป็นจิตคนละดวง ระหว่างในภพนี้กับในภพต่อไป แต่ความรู้สึกมันรู้สึกว่าเป็นคนเดิม เป็นดวงเดิม เราจะพร้อมที่เสพสุขตอนนี้แล้วไปลำบากในอนาคตไหม เราจะรู้สึกแย่จังเลย รู้สึกว่าเราแย่จังเลย ทำไมชีวิตเราลำบากเหลือเกิน เพราะเรารับมรดกที่ไม่ดีที่ตัวเราเคยทำไว้ มันจะรู้สึกว่าเป็นตัวเราเคยทำไว้ ฉะนั้นเราพยายามสร้างมรดกเอาไว้ให้จิตที่เป็นลูกหลาน ซึ่งเราจะรู้สึกว่ามันคือตัวเรานั่นล่ะ แทนที่จะสร้างหนี้สิน หนี้เวร หนี้กรรม แล้วก็ต้องไปรับเอาทีหลัง ถึงจะเป็นจิตคนละดวงแต่มันรู้สึกว่าเป็นเรา เพราะเราต้องรับหนี้ “ผู้ใดทำกรรมไว้ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป”

 

ฝึกสะสมความดีเอาไว้จนจิตเคยชิน

ฉะนั้นเวลามีชีวิตอยู่ตอนนี้ พยายามมีชีวิตแบบไม่ประมาท ความชั่วทั้งหลายละเสีย ความดีทั้งหลายทำเสีย แล้วเราจะได้มรดกที่ดีสะสมไป รู้จักทำทาน รู้จักรักษาศีล รู้จักเจริญสติ รู้จักเจริญปัญญา ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักมีความเมตตากรุณา ความดีทั้งหลายพยายามสะสมเอาไว้จนจิตมันเคยชิน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “คนชั่วทำดียาก คนดีทำชั่วยาก คนดีทำดีง่าย คนชั่วทำชั่วง่าย” ฉะนั้นความดีกับความชั่ว ไม่ใช่ว่าความดีทำยากกว่าความชั่ว คนดีทำชั่วยากทำดีง่าย พวกเรามันยังไม่ได้ดีเราก็ทำชั่วง่ายทำดียาก การจะทำดีจะทำทาน จะรักษาศีล จะภาวนา แหม มันยากไปหมดเลย โอดครวญ คร่ำครวญ รู้สึกยากเหลือเกิน ก็มันไม่เคยชินมันก็ยาก อะไรที่มันเคยชินแล้วมันไม่ยาก อย่างเราเคยชินที่จะเสียสละ มันไม่ยากที่จะเสียสละ เคยชินที่จะโลภ จะแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นของกู พวกนี้เสียสละยาก บางทีให้คนอื่น อย่างพวกเล่นการเมืองบางคน ถึงเวลาก็แจกเงินทำดูว่าดี ที่แท้ไม่ใช่การทำทานแต่เป็นการลงทุน เดี๋ยวยิ่งใหญ่ขึ้นมาจะได้มาโกงเอาคืน กำไรด้วย อย่างนั้นไม่ใช่ อันนั้นชั่ว

ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึกตัวเอง ทีแรกการทำความดีมันยากทั้งนั้นล่ะ เพราะว่าพื้นของเรามันยังไม่ค่อยจะดีเท่าไร อย่างจะรักษาศีลก็รู้สึกรักษายากเหลือเกิน เคยกินเหล้าทุกวันจะให้เลิกกินเหล้า แหม มันยากเหลือเกิน เคยสูบบุหรี่ สูบบุหรี่ผิดกฎหมายไหม ไม่ผิด ไม่ผิดกฎหมาย ดีไหม ไม่ดี เป็นโควิดก็ตายง่ายกว่าคนที่เขาไม่สูบ ให้เลิกหรือยากไหม ยาก ยากมากๆ เลย แค่บุหรี่นี่ เลิกยากยิ่งกว่าเลิกกินเหล้าเสียอีก ฉะนั้นเวลาจะทำความดีเช่นจะเลิกของเสพติดมึนเมาทั้งหลาย ต้องใจแข็งจริงๆ ต้องอดทนถึงจะเลิกได้ ใจอ่อนเลิกไม่ได้ เห็นไหมว่าจะทำดีมันยาก ตั้งใจตลอดพรรษานี้เราไม่กินเหล้า พอออกพรรษาเพื่อนชวนทีเดียววิ่งไปกินเลย เพราะมันเคยชินที่จะชั่ว

เรื่องการปฏิบัติเหมือนกัน จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม ใหม่ๆ แทบจะเป็นจะตาย ให้นั่ง 5 นาทีแทบจะขาดใจตายแล้ว ให้นั่งเล่นไพ่ทั้งคืนไม่เป็นไร หรือดูซีรีส์ทั้งคืนไม่เป็นไร ให้นั่งสมาธิจะขาดใจตาย ไปเดินช็อปปิ้งทั้งวันไม่เป็นไร ให้เดินจงกรม 10 นาทีก็จะแย่แล้ว มันไม่เคยชินที่จะทำความดี มันเคยแต่ทำความชั่ว มันก็ทำดียาก ไม่ว่าอะไรถ้าเรายังไม่คุ้นเคยมันก็ทำยากทั้งนั้น ก็ต้องอดทน อดทนไป ใจมันโลภดัดสันดานมัน มันโลภมากนักหรือ เสียสละ อันนี้อยากได้มากเลยให้คนอื่นไปเลย อย่างจะตักอาหาร เมื่อก่อนที่วัดนี้ ที่วัดหลวงพ่อยุคที่ยังเปิดให้โยมมา พวกผีพวกเปรตมาเยอะเลยในวัดนี้ มาแย่งกันตักข้าว ผีเปรตวิ่งแย่งกันเข้าศาลา แต่ถ้าใจมันรู้จักให้ อืม เราอยากกินอันนี้แล้วคนอื่นเขาได้ไปแล้ว โอเค วันหลังกินใหม่ วันหลังค่อยไปตักคงจะตักได้สักวัน อันนี้ก็ดีเล็กน้อย ถ้าเห็นเขาได้ของอร่อยไปกินแล้วก็ดีใจ อันนี้ได้บุญเยอะ ยินดีที่เขาได้ดี

ฝึกตัวเองค่อยๆ ฝึกตัวเอง อย่างพระก็เป็นฆราวาสมา เคยกินอาหารอยู่บนโต๊ะมีตั้งหลายจาน กินโน่นกินนี่ พอมาบวชทุกอย่างเทลงไปในบาตร ปนกันไปหมดแล้ว กระทั่งของหวานบางทีข้าวเหนียวถั่วดำ ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน ลงไปปนกับปลาทูเค็ม โอ้ อร่อยเลย เห็นแล้วคลื่นไส้เลย ฝึกตัวเอง มันโลภนัก มันอยากนัก ฝึกตัวเองให้มันรู้จักอดทนอดกลั้น ฝึกทีแรกก็ยาก ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ชิน มันเป็นเรื่องธรรมดาไม่ยากอะไร บางคนชอบมากินข้าวที่วัด กับข้าวมันเยอะ ในจานไม่มีข้าวมีแต่กับ มีความสุข ครูบาอาจารย์ท่านเคยเทศน์ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อไปที่วัดท่านตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่บวช ท่านกำลังด่าพวกผีเปรตที่ไปอยู่ในครัว มันไปยึดโรงครัวไว้ ของดีๆ ก็เอาไว้กินเอง เอาไว้ให้พรรคพวก ใจแคบ ถ้าไม่รู้จักฝึก มันก็โลภ สะสมความโลภไป แล้วรู้จักประมาณ รู้จักให้ เสียสละ ค่อยๆ ฝึกความเสียสละทีละเล็กทีละน้อย ฝึกไปเรื่อยๆ

 

ฝึกจิตฝึกใจให้สูงขึ้น ต้องพากเพียรอดทน

อย่างหลวงพ่อเคยเล่าให้พวกเราฟังหลายครั้งแล้ว ตอนหลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ คุณแม่ชียังไม่ได้บวช พระอาจารย์อ๊ายังไม่ได้บวช มีโยมอยู่ 2 คนในวัด พอช่วงทานข้าวเสร็จ หลายคนอาสาจะช่วยล้างจาน คุณแม่ก็ไล่ให้ไปฟังธรรมไป เดี๋ยวคุณแม่ล้างเอง คุณแม่ไม่ได้วางฟอร์มว่าฉันเป็นเจ้าแม่ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เสียสละ คนเขาอุตส่าห์มา ให้เขาได้ฟังธรรม เดี๋ยวบริการล้างจานให้ จิตใจอย่างนี้จิตใจสูง ถ้าจิตใจเห็นแก่ตัวจิตใจต่ำ มันต่ำอย่างไรมันก็ไปที่ต่ำนั่นล่ะ จิตใจที่สูงมันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเคยฝึกไป

ฉะนั้นเรามาสังเกตตัวเอง อันไหนมันเห็นแก่ตัวก็ลดละเสีย ฝึกตัวเองให้มันเข้มแข็งในการที่จะสร้างความดี ลดละความชั่วไปเรื่อยๆ เท่ากับเราสะสมมรดกที่ดีเอาไว้ให้ลูกหลาน ลูกหลานก็ไม่ใช่ใครหรอก มันก็คือก๊อปปี้ตัวเรานี่เอง ก๊อปปี้ออกไปจิตใจก็เหมือนเดิมนี่ล่ะ เป็นหมื่นปีจิตใจยังไม่ค่อยเปลี่ยนเลย ถ้าเปลี่ยนก็ส่วนใหญ่เปลี่ยนในทางลงต่ำไปเรื่อยๆ จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำถ้าไม่ฝึก ถ้าฝึกค่อยๆ ฝึกไป ขัดเกลาตัวเอง แล้วก็ค่อยๆ พัฒนา อย่างเราจะขึ้นภูเขา ขึ้นภูเขากินแรงเยอะ ตอนลงก็ลงง่าย เผลอแป๊บเดียวไถลพรวดลงมาหลายเมตรแล้ว แต่กว่าจะไต่ขึ้นไปได้แต่ละคืบแต่ละศอก แหม ต้องออกแรงตั้งเยอะ การที่จะขึ้นภูเขาคือฝึกจิตฝึกใจให้สูงขึ้น มันก็ลำบากต้องอดทนมาก ต้องพากเพียรมากถึงจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่เวลาปล่อยเนื้อ ปล่อยตัว ปล่อยกาย ปล่อยใจ ไหลพรวดๆๆ ลงมาก้นเหวเลย ลงง่ายขึ้นลำบาก ต้องอดทนจริงๆ พวกเรา อดทนไว้

ชีวิตนี้เป็นของไม่แน่นอน เราต้องพร้อมที่จะตาย คือมีมรดกที่มากพอที่จะให้จิตดวงต่อไปมาเสวยวิบาก ไม่ใช่เสวยอกุศลวิบากอย่างเดียว สะสมความดีเอาไว้ แล้วชีวิตมันจะดีขึ้นๆ อย่างบางคนเขาภาวนาง่าย ก่อนที่เขาจะภาวนาง่าย เขาภาวนายากมาแล้วๆ บางคนเคยถือศีลจนตัวตายไม่ยอมผิดศีล ใจแข็ง เหมือนอย่างในพระไตรปิฎกก็มี พระภูริทัตเป็นงู เป็นพญานาค มีฤทธิ์มาก มีอำนาจมาก มีพิษร้าย ถูกเขาจับไปเล่นกล เล่นปาหี่ ประเภทอับดุลเอ๊ยอะไรอย่างนี้ ร้องเรียกให้มันโชว์โน้นโชว์นี้ ท่านก็อดทน ลำบาก อดทน จะฆ่าเขาก็ฆ่าได้แต่ไม่ยอม ถึงตัวจะถูกเขาเอาไปเล่นจนทำท่าจะตายเอา ก็ไม่ยอมผิดศีล ตั้งใจรักษาศีลเข้มงวดเลย

ลองไปดูทศชาติ พระพุทธเจ้ามุ่งสร้างความดี เป็นชาดก ก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้า พยายามสร้างความดี ถามว่าสร้างง่ายไหม ไม่ง่ายหรอก ท่านก็สร้างยากเหมือนกัน พระเวสสันดร ชูชกมาขอลูกยกให้ พอชูชกมันตีลูกต่อหน้าเท่านั้น คว้ามีดจะแทงเขาแล้ว กว่าจะข่มใจลงได้ไม่ใช่ง่าย เพราะฉะนั้นอย่างระดับพระโพธิสัตว์ใหญ่อย่างนั้น จะสร้างความดียังลำบากเลย อดทนมากเลย พระเตมีย์อยากจะไปบวช ก็แกล้งทำเป็นใบ้พูดไม่ได้ เหมือนคนพิการเสีย ถ้าไม่พิการเป็นคนแข็งแรง พ่อไม่ยอมปล่อย นี้พิการเขาเลยเอาไปทิ้ง คล้ายๆ เด็กพิการเอาไปทิ้ง ก็ได้บวชกว่าจะได้บวชก็ลำบาก ฉะนั้นเราไปดูเถอะ ขนาดพระโพธิสัตว์ใหญ่ใกล้จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะสร้างบารมียังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอดทนมากเลย แล้วพวกเรากิเลสแรงกว่าท่านตั้งเยอะ มันจะง่ายหรือ มันไม่ง่ายหรอกต้องทนจริงๆ สะสมไป ฝึกของตัวเองไป

มีครูบาอาจารย์ท่านเล่าเคยได้ยินได้ฟังมา ตอนเป็นโยมมีลูก มีลูกเล็กๆ ปีนั้นไร่นาแล้งมากเลย ชาวบ้านก็ออกไปในป่า ไปล่าสัตว์ ไปจับปลา ไปฆ่าสัตว์เพื่อเอามากิน ท่านผู้นี้ท่านไม่ทำ จะอดจะตายก็ไม่ทำ ลูกไม่มีจะกิน ใจแข็งพอไหมลูกไม่มีจะกิน ท่านใจแข็งพอ คนกว่าจะผ่านด่านแต่ละด่านๆ ได้ ต้องอดทนจริงๆ เลย ต้องเข้มแข็งจริงๆ ที่เล่าให้ฟังไม่ใช่เพื่อให้พวกเราท้อแท้ ว่าทำไมมันยากเหลือเกิน แต่เล่าเพื่อให้เห็นทิศทางว่าเราต้องฝึกตัวเอง ความชั่วมันทำง่ายเพราะว่าพวกเราพื้นมันชั่ว เราต้องอดทนที่จะละมัน ความดีมันทำยากเพราะพื้นฐานเรามันชั่ว ส่วนใหญ่ยังไม่ดีเท่าไร เราก็ต้องอดทนที่จะทำความดี อะไรๆ ไม่สำคัญ ในยุคของเรานี้อดทนไว้ อดทนไม่ทำชั่ว อดทนทำดีเข้าไป สะสมไป ถึงจะไม่รวยแต่ก็ไม่เป็นหนี้ ไม่รวยหมายถึงยังไม่มีบุญวาสนาบารมีอะไรมากมาย แต่ก็ไม่ทำชั่ว ทำชั่วเมื่อไรเป็นหนี้เมื่อนั้น แล้วก็จะมาโอดครวญทีหลัง ทำไมภาวนายากเหลือเกิน ทำไมคนอื่นเขาภาวนาง่าย ทำไมเรานั่งสมาธิทีไรหลับทุกที ทำไมคนอื่นเขาภาวนาไม่เห็นเขาหลับเลย จิตใจเขาสว่างไสว ก็เราทำของเรามาแค่นั้นก็ได้แค่นั้น อย่ายอมจำนนมันก็อยู่แค่นั้นล่ะ ถ้าไม่ยอมจำนนฝึกตัวเองไป ค่อยๆ ลด ค่อยๆ ละไป

 

กิเลสมีหลายระดับ

บางคนไม่ทำชั่ว ไม่เบียดเบียนใครแต่เซลฟ์จัด เชื่อมั่นในความคิดความเห็นตัวเอง บางทีมีลูกมีหลาน มันกลายเป็นเบียดเบียนลูกหลานโดยไม่รู้ตัว ไปกดขี่ไปบังคับลูกหลานจะต้องอย่างนี้ๆ เมียจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ ถามว่าจิตใจชั่วร้ายไหม ไม่ได้ชั่วร้ายแต่เซลฟ์จัด เซลฟ์จัดจริงๆ มันก็กิเลส แต่มันไม่ใช่กิเลสหยาบๆ ฉะนั้นถ้าเราเป็นคนที่ใครค้านเราไม่ได้ เรายึดถือแต่ความคิดความเห็นของเรา ไม่ได้รู้ว่าคนอื่นเขาก็มีจิตใจของเขา จะเอาแต่ใจของเรา ใครอยู่ใกล้เราเขาก็อึดอัด เขาก็ลำบาก อันนี้เราก็สะสมวิบาก เรารู้สึกไม่ได้ชั่วอะไรเลย เราเจตนาดีแท้ๆ เลยกับลูกกับเมีย แต่เราบังคับเขาเสียทุกเรื่องเลย ทำให้เขาลำบากใจ แต่เราไม่รู้สึก เราคิดว่านี้ดีกับเขา สิ่งที่ดีกับเขา เขาไม่ได้รู้สึกว่าดีด้วย เขาทรมาน เราก็ทำกรรมไปเรื่อยๆ

ฉะนั้นอย่างสมมติเราเป็นผู้นำครอบครัว เราเซลฟ์จัดมากเลย เราก็ทำกรรมแบบละเอียดๆ มองไม่ออก ถามว่าอยู่ใกล้คนเซลฟ์จัดมีความสุขไหม ไม่มีใครมีความสุขหรอก ไม่มีใครมีความสุข ฉะนั้นเราทำความทุกข์ให้เขาโดยเรารู้ไม่ทันเลย เราคิดว่าทำดีให้เขาแล้ว เราอุตส่าห์ทำดีให้แทบตาย ทำไมเขาไม่ชอบ ทำไมเขาไม่พอใจ ไม่เข้าใจเสียอีก ที่จริงก็คือไม่ได้คิดถึงใจเขา เขาเป็นอย่างไร เขาต้องการอะไร แค่นี้เรื่องเล็กๆ อย่างนี้ในบ้านเรา ก็ยังทำกรรมไปโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย หรือบางคนชอบบังคับพ่อแม่ พ่อแม่จะอยู่อย่างนี้จะทำอย่างนี้ ว่าเสียตลอดเวลาเลย บางทีไม่รู้ใครเป็นพ่อใครเป็นลูก หลวงพ่อเคยได้ยินญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งท่านบ่น ลูกชอบสอน ชอบสอนแกมากเลย แกหัวเราะ แกไม่โมโหแกหัวเราะ บอกว่า “เอ็งกับข้า ใครเป็นแม่เป็นลูกกันแน่”

ค่อยๆ สังเกตตัวเองไป กิเลสมันมีหลายระดับ โลภ โกรธ หลง รุนแรงอะไรพวกนี้ มันยังดูง่าย กิเลสของคนหวังดีมันก็มี ใครอยู่ใกล้เขาก็อึดอัด คอยสังเกตไปเรื่อยๆ ตัวเอง อย่างเรายึดความคิดความเห็นของเราเอง ให้รู้ทันเข้าไปเลย หรือบางคนก็มีมาตรฐานอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี มีชีวิตที่มีมาตรฐานสูง ใครลำบาก ตัวเองลำบากแต่ไม่เห็นหรอก ชีวิตที่เต็มไปด้วยมาตรฐาน ก็กลายเป็นการทำตัวเองให้ลำบาก ถามว่าจำเป็นไหม บางทีก็ไม่ได้จำเป็นอะไร ลำบากเกินกว่าความจำเป็นแต่ดูไม่ออก บางคนรู้สึกว่า โอ๊ย ทำไมเราเหนื่อยเหลือเกิน ทำไมคนในบ้านเรามันสบายเหลือเกินอย่างนี้ เพราะตัวเองมีมาตรฐานสูง อะไรๆ ก็ต้องทำเองทุกอย่าง ปล่อยไม่เป็น ปล่อยไม่ได้ ตัวเองก็ทุกข์ไปเอง

ค่อยๆ สังเกตตัวเอง ค่อยๆ ให้มันละเอียดๆ เข้าไป จนรู้นิสัยตัวเอง รู้สันดานตัวเองที่แท้จริงเลย แล้วใจมันจะค่อยๆ คลาย กิเลสตัวไหนที่เรารู้ทันแล้ว มันจะมาหลอกเราไม่ได้ กิเลสตัวที่เราไม่รู้ทันมันยังหลอกเราได้อยู่ กิเลสหยาบๆ โลภ โกรธ หลง มันก็พาเราไปอบาย กิเลสที่ละเอียดขึ้นมาแล้วเราก็ทำความดีด้วย มีกิเลสด้วยดีด้วย ความชั่วที่ทำไม่รุนแรงมากก็ไปสุคติได้ กระทั่งไปพรหมโลกก็ยังไปได้ พระพรหมมีกิเลสอะไร พระพรหมก็ยังมีราคะ พอใจในฌานสมาบัติในความสงบนี้ เห็นไหมพอใจในความสงบมันเลวหรือ ไม่มีใครรู้สึกว่ามันเลวหรอก แต่ว่ามันเป็นภาระของจิต ถ้าภาวนาแล้วมันถึงจะเห็น อย่างติดใจในรูปฌาน อรูปฌาน มีมานะมาก เรานี้ถูก อย่างนี้ดี อย่างนี้ถูก คนอื่นไม่ดี คนอื่นไม่ถูกเท่าเรา ไม่รู้สึก ถ้าไปเป็นพรหมก็ยังได้ เห็นไหมมีกิเลสอย่างนี้ มันไม่ได้รุนแรงแบบโลภ โกรธ หลงแรงๆ แล้วไปละเมิดศีล 5 มันเป็นกิเลสละเอียดก็ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นไปได้ แต่ก็ต้องคอยซักฟอกใจตัวเอง

ค่อยๆ สังเกต กิเลสมันละเอียด สติ สมาธิ ปัญญา มันก็ต้องละเอียดตามไปด้วย มันถึงจะเป็นคู่ต่อสู้กันได้ ถ้ากิเลสมันละเอียดแต่สติ สมาธิ ปัญญาเราหยาบ เรามองไม่เห็น คิดว่าเราไม่มีกิเลส เรานี้ดี๊ดี ดี๊ดีอะไรยังทุกข์อยู่ ถ้าดีจริงก็ต้องไม่ทุกข์ ค่อยๆ ดูตัวเองเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปเราก็จะค่อยๆ ละความชั่วไป ความชั่วทั้งหลายมันทำด้วยกิเลสทั้งนั้น กิเลสหยาบก็ทำความชั่วอย่างหยาบ ไปอบาย กิเลสละเอียดก็เป็นความชั่วชั้นละเอียด ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่เบียดเบียนจิตใจตัวเองให้มีภาระ แล้วสร้างความดีก็ทำไปด้วย ก็ไปสุคติ

อยากนิพพานดูให้ละเอียด ค่อยสังเกตค่อยๆ ฝึกไป ทีละเล็กทีละน้อยทุกวันๆ อย่ารีบ ถ้าโลภมากอยากบรรลุมรรคผลเร็วๆ ละก็ ชาตินี้ไม่บรรลุหรอก มรรคผลไม่ได้ได้มาด้วยความโลภ แต่ได้มาด้วยการเจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้แก่รอบไป เป็นระดับๆ ไป ฝึกตัวเองนะ ฝึกตัวเองไป ดูสิอันไหนที่เรายึดถือในความเห็นของเรามาก สมมติอย่างนี้ มันกิเลสละเอียดแล้วเรื่องยึดถือความคิดความเห็นตัวเอง ไม่ฟังเหตุผลใครทั้งสิ้น ก็ฟังสังเกตตัวเองนี่มันยึดใน มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เห็นความจริงก็ไม่งมงาย ไม่เชื่อตามที่ตัวเองอยากเชื่อ ค่อยๆ ลดไป รู้ทันใจตัวเอง สะสมไป ชีวิตมันจะได้สบายขึ้น ถ้าชีวิตยังเคร่งเครียดอยู่ยังใช้ไม่ได้หรอก เป็นคนดีแล้วเคร่งเครียดใช้ไม่ได้ ยังไม่ดีจริง ถ้าดีจริงจิตใจมันโปร่ง โล่งเบา สบาย

เมื่อวันพฤหัสหลวงพ่อไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์ ไปเยี่ยมครูบาอาจารย์ที่โรงพยาบาล เห็นครูบาอาจารย์บางองค์ท่านแก่มาก ท่านนอนไม่มีเรี่ยวมีแรง โอ๊ย จิตใจท่านมีความสุข ร่างกายก็ไม่ใช่ภาระของท่าน เป็นภาระของลูกศิษย์ ของหมอ ของพยาบาล จิตท่านก็ไม่เป็นภาระของท่าน จิตใจท่านก็มีความสุขของท่าน ของเราร่างกายก็เป็นภาระ จิตใจเราก็เป็นภาระ ครอบครัว ลูก เมีย สามี ก็เป็นภาระ ทรัพย์สมบัติก็เป็นภาระ อะไรๆ มันเต็มไปด้วยภาระ เครื่องรุงรังเต็มไปหมดเลย ไม่ได้มีความสุข ถ้าฉลาดก็ค่อยๆ วาง อะไรไม่จำเป็นก็วางๆ ไป วางได้แล้วก็ใจมันสบาย มีความสุข ยิ่งฝึกก็ยิ่งมีความสุข เป็นความสุขที่สงบ มีความสันโดษ มีความสงบอยู่ในตัวเอง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 มีนาคม 2565