ทำผลไม่ได้ ต้องทำเหตุ

มีบางคนภาวนา คิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ทำจิตให้ว่างๆ นั่นล่ะคือการปฏิบัติ คิดอย่างนั้น คิดง่ายไป ก็เลยมุ่งฝึกให้จิตไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ทำจิตว่างๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย รู้สึกการปฏิบัติธรรมไม่มีหรอก ไม่มีการกระทำ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ศาสนาพุทธไม่ได้เป็นอย่างนั้น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องการกระทำ ทำกรรมก็ต้องมีผลของกรรม ไม่ใช่ว่างๆ บางคนภาวนาเอะอะก็ว่างๆๆ พูดไปอย่างนั้น ไปสร้างความว่างขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง

ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของกรรม กรรมก็เป็นเรื่องของเหตุกับผล ทำเหตุชั่ว คือมีตัณหาเป็นเหตุ ก็มีทุกข์เป็นผล มีศีล สมาธิ ปัญญา คือมีมรรคเป็นเหตุ ก็มีนิโรธเป็นผล เวลาละฝ่ายชั่วก็ละที่เหตุ ละที่ตัณหา ผลคือทุกข์มันก็ไม่มี ในฝ่ายดี เจริญ เพราะมรรคต้องเจริญ ฉะนั้นเหตุของทุกข์กับเหตุของนิโรธเราทำต่างกัน เหตุของทุกข์คือตัวตัณหาต้องละเสีย เหตุของนิโรธคือตัวมรรคต้องเจริญ ฉะนั้นกิจต่ออริยสัจจะชัดเจนอยู่ ตัวทุกข์เป็นตัวผลของตัณหา ละไม่ได้ การละไปละที่ผลไม่ได้ ต้องละที่เหตุ ฉะนั้นท่านบอกทุกข์ก็ให้รู้ว่ามันทุกข์ สมุทัยคือตัณหาให้ละเสีย นิโรธก็เหมือนกัน นิโรธเป็นผล อยู่ๆ เราไปทำผลขึ้นมาไม่ได้ เราต้องทำเหตุคือศีล สมาธิ ปัญญา หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เราเจริญแล้ว ในที่สุดก็ได้ผลคือนิโรธ อยู่ๆ เราไปทำผลไม่ได้ เราต้องทำเหตุ เหตุคือมรรคต้องเจริญ ถ้าฝ่ายชั่ว เหตุคือตัณหา ต้องละคนละแบบกัน

เวลาภาวนาบางคนก็ทำผิด มีความทุกข์เกิดขึ้น พยายามแก้ทุกข์ ละทุกข์ หรือหนีทุกข์ ทำไม่รู้ไม่ชี้ ถึงทำไม่รู้ไม่ชี้ ทุกข์มันก็มีอยู่ มันไม่หนีไปไหนหรอก ต้องแก้ที่เหตุ เหตุของทุกข์คือตัวตัณหา ส่วนนี้หลวงพ่อสอนอยู่เรื่อยๆ ส่วนเหตุของมรรค เหตุของผล ของนิโรธ คือตัวมรรค ต้องเจริญให้มาก ทำให้มาก อยู่ๆ เราไปทำนิโรธขึ้นมา น้อมจิตไปอยู่กับพระนิพพานเฉยๆ หวังว่าอยู่กับนิพพานนานๆ เราก็จะบรรลุนิพพาน มันก็คล้ายๆ อยากละทุกข์ อันนี้ก็อยากสร้างนิโรธขึ้นมา มันทำไม่ได้ทั้งคู่ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว

 

เส้นทางที่ตัน เส้นทางที่ผิด

หลวงพ่อเคยทำผิด ที่หลวงพ่อกล้าพูดอย่างนี้ เพราะหลวงพ่อเคยทำผิดมาเยอะแล้ว หลวงพ่อบอกแล้ว หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง แต่หลวงพ่อมีครูบาอาจารย์ที่เก่ง หลวงพ่อมีแต่ความอดทน สังเกตเอา ทนเอา เคยภาวนาผิด น้อมจิตลงไปดูที่ตัวอารมณ์ แล้วจิตมันก็เคลื่อนไปที่อารมณ์ ก็ไม่ให้สติจับเข้าไปที่อารมณ์ ทวนกระแสเข้ามาหาจิต พอสติมันจะจับเข้าที่จิตก็ไม่เอา เคลื่อนเข้าออกอยู่ตรงนี้ ในที่สุดจิตรวมลงตรงกลาง ว่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีพระอาทิตย์พระจันทร์ อะไรก็ไม่มีทิ้งสิ้นเลย ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมอะไรในนั้นเลย ไม่มีกระทั่งเวลา เวลามันจะเกิดได้มันต้องมี 2 จุดที่สัมพันธ์กัน ถ้ารวมลงไปที่เดียว เป็นหนึ่งเดียว เวลาก็หายไปด้วย ไปอยู่ในภาวะนั้น ไม่รู้ว่ากี่นาทีกี่วันอะไรอย่างนี้ ไม่รู้เรื่องเลย สงบ เงียบอยู่อย่างนั้น ก็ทำไป

พอถอยออกมาจากตรงนี้ แล้วก็คิดว่า เอ๊ะ ตรงนี้ล่ะมังนิพพาน มันว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาอาการของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีกิเลส ไม่มีความปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้นเลย นี่ล่ะนิพพาน คิดอย่างนี้ คิดว่าถ้าเราอยู่ตรงนี้นานๆ ให้จิตมันคุ้นเคย ถึงเวลาเราก็ไปอยู่กับนิพพาน นี่คือการทำผล ไม่ใช่ทำเหตุ มันทำผิด เพราะฉะนั้นอย่างหลวงพ่อได้ยินสอนๆ กัน ทำจิตให้ว่าง มันไม่ถูกหรอก ว่างมากที่สุดมันก็มาได้แค่ที่หลวงพ่อทำนั่นล่ะ มันเป็นเส้นทางที่ตัน เส้นทางที่ผิดแล้ว ไปทำผล ภาวนามาเรื่อยๆ จิตก็อยู่ตรงนี้ นึกจะเข้าไปก็เข้า เข้าแล้ว อยู่ช่วงหนึ่งมันก็ออก ดูแล้วไม่ใช่ นี่น่าจะเป็นสมาธิอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่นิพพานหรอก แต่มันคล้ายๆ ก็อปปี้ สภาวะของนิพพานมา เอามาเป็นที่อยู่

ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ไปเล่าให้ท่านฟังว่าทำอย่างนี้ๆ ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ แล้วจิตรวมลงไป ว่าง บอก “ผมสงสัยว่ามันจะเป็นสมถะ เป็นสมถะสักอย่างหนึ่ง” ท่านบอกว่าใช่ เป็นสมาธิ เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง แต่หัดไว้เถอะ ทำความรู้จักมันไว้ เพราะว่าในยุคนี้ ไม่มีคนเล่นอย่างนี้แล้ว ก็กราบเรียนท่านบอก “ผมกลัวติด” ท่านบอก “ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง” เราก็ทำอยู่อย่างนั้น แล้วก็ใจก็หวั่นๆ ว่าจะทำให้เราเนิ่นช้า เราไม่ได้ทำเหตุ แต่เราไปทำผล เราไม่ได้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา แต่หนีเข้าไปอยู่ในว่าง แต่ครูบาอาจารย์บอกให้ฝึกไว้ ให้ทำความรู้จักกับมันไว้

พอฝึกอยู่ช่วงหนึ่งก็ไปเจอหลวงปู่บุญจันทร์เข้า หลวงปู่บุญจันทร์ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหา เราไม่รู้จักท่าน แต่ท่านรู้จักเรา ไปกราบท่าน ท่านก็ถามว่าภาวนาอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟัง ภาวนาไม่จับทั้งผู้รู้ ไม่จับทั้งสิ่งที่ถูกรู้ จิตอยู่กับความว่าง ก็โดนท่านตวาดเอา “นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” โดนท่านตวาดอยู่ 2 รอบ ท่านตวาดรอบแรก เราก็งงๆ คิดว่าท่านฟังสำเนียงเราไม่ออก หลวงพ่อก็ฟังสำเนียงท่านไม่ออกเหมือนกัน ท่านเป็นคนอีสาน มาอยู่ทางเหนือ เสียงท่านก็ฟังยาก โดนท่านตวาดครั้งที่สองว่า “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” จิตมันทิ้งเลย เพราะมันรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นสมาธิ ก็ไม่เล่นอีกแล้ว มันจะทำให้เนิ่นช้า แต่ว่ารู้จักมันแล้ว เข้าใจมันแล้วในสิ่งที่หลวงปู่เทสก์ท่านต้องการ ฉะนั้นเห็นใครภาวนาทำจิตว่าง รู้เลย เราเคยทำผิดมาแล้ว ว่างมากที่สุด มันก็ไม่เกินที่หลวงพ่อเคยทำนั่นล่ะ ฉะนั้นเราไม่ค่อยตื่นเต้น เวลาได้ยินคำสอนให้ทำจิตว่าง

จิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน กระทั่งจิตที่รู้นิพพาน นิพพานเป็นอารมณ์ ก็ต้องมีจิตที่รู้นิพพาน ไม่ใช่ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง นั่นก็ไม่มี นี่ก็ไม่มี หรือบางคนยิ่งหนักกว่านั้นอีก นั่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด ไม่ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ยึดอะไรเลย ก็ยึดวาทะว่าจะไม่ยึดอะไรเลย อดยึดไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะไม่ยึด ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงนิโรธที่แท้จริง เราต้องเจริญมรรค ในขณะที่เราเจริญมรรค เป็นการสร้างความดี ทำแต้มบวก เราก็ไม่ต้องทำแต้มลบขึ้นมา อย่าทำชั่ว ถ้าชั่วก็ทำ ดีก็ทำ มันก็เจ๊าๆ กัน ไม่มีอะไรดีขึ้นมาหรอก ก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้นศีลต้องรักษา ความชั่วอย่าทำ แล้วฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันตั้งมั่น

 

เราภาวนาเพื่อลดละกิเลส เจริญกุศลให้ถึงพร้อม

การที่เรารักษาศีลก็คือการเจริญมรรคส่วนหนึ่ง เรามีสัมมาวาจา ก็คือศีลข้อ 4 ต้องรักษา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ทำไมพูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เพราะกิเลสมันผลักดัน ทำไปด้วยโลภบ้าง ด้วยโกรธบ้าง ด้วยหลงบ้าง หลงคือไม่ใช่แค่ลืมเนื้อลืมตัว หลงมันถึงขั้นไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โมหะตัวแสบๆ เลย ระดับรุนแรง คือตัวไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ส่วนหลงใจลอยเป็นโมหะพื้นๆ เป็นอุทธัจจะ ฉะนั้นเราต้องเจริญมรรคให้สมบูรณ์ ถือศีลให้ดี สัมมาวาจาคือศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะคือการถือศีลข้อ 1, 2, 3 ไม่ประทุษร้ายผู้อื่น สัตว์อื่น ไม่ลักไม่ขโมย ฉ้อโกง หลอกลวงพลิกพลิ้วอะไรต่างๆ นี่ผิดศีล ไม่ประพฤติผิดในกาม ฉะนั้นถ้าให้ดีก็คือสันโดษในคู่ของตัวเอง บางคนร่างกายไม่ได้ประพฤติผิดในกาม แต่จิตมันประพฤติ คิดลามกอนาจารอะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ยังไม่งาม ไม่ถึงกับผิดศีล แต่มันผิดธรรม ไม่สำรวม

นอกจากศีลแล้ว เราก็ต้องฝึกพัฒนาจิตใจของเรา มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นเครื่องพัฒนาจิตใจ พื้นฐานก็มีปัญญาขั้นต้น มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีความเห็นถูก เขาเรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความคิดถูก เขาเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ คือความคิดความเห็นของเราต้องถูก ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่งมงาย เชื่อในเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม ทำเหตุต้องมีผล ทำเหตุชั่วก็มีผลเป็นทุกข์ ทำเหตุดีก็มีผลเป็นความพ้นทุกข์ เป็นเรื่องมีความเชื่อที่ดี รู้หลักของการปฏิบัติ มีความเห็นถูก รู้หลักของการปฏิบัติ รู้ว่าทุกข์ต้องรู้ สมุทัยต้องละ ไม่ใช่ไปสร้างมันขึ้นมา ต้องฝึก

พอมีความเห็นถูก คือรู้ พูดง่ายๆ รู้เรื่องของอริยสัจในทางทฤษฎีในเบื้องต้น แล้วก็มีความคิดถูก ถ้าเรามีความเห็นถูก ความคิดมันก็ถูก มีความเห็นผิด ความคิดมันก็คิดผิดๆ พอคิดผิดๆ มันก็ทำผิดๆ ตรงคิดผิดๆ มันก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ ทำผิดๆ ก็เป็นมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ ถ้าทำถูกมันก็เป็นสัมมา คิดอย่างไรถึงจะเรียกว่าคิดถูก คิดโดยไม่มีอกุศลอยู่เบื้องหลังความคิด คิดไปด้วยโทสะก็เป็นพยาบาทวิตก คิดไปด้วยราคะด้วยโลภะ ก็เป็นกามวิตก คิดไปด้วยความหลง โมหะ ก็เป็นวิหิงสาวิตก คนมีโมหะ มันเบียดเบียนตัวเองขั้นแรกเลย แล้วก็ไปเบียดเบียน คนอื่นต่อ

เรามาสำรวจตัวเอง สำรวจไปเรื่อยๆ พอศีลเราดี ความคิดเห็นของเราถูกต้อง เราก็ลงมือเจริญพัฒนาสติ สมาธิอะไรพวกนี้ พัฒนา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา คือสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ ที่เราจะภาวนาต่อไปนี้ทำไปเพื่ออะไร เพื่อลดละอกุศลที่มีอยู่ เพื่อปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้ถึงพร้อมให้บริบูรณ์มากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาเราคิดจะลงมือปฏิบัติธรรม ต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขานั่งสมาธิก็นั่งบ้าง เขาเดินก็เดินบ้าง เขาพุทโธก็พุทโธบ้าง เขาดูท้องพองยุบก็ดูบ้าง ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร นั่นภาวนาแบบคนตาบอด มืดๆ บอดๆ คลำๆ ไปเรื่อยๆ

ที่จริงเราภาวนา เพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ถ้าเราทำกุศลของเราถึงพร้อมแล้ว เรียกว่าเราทำเหตุที่ดี กุศลของเราสมบูรณ์แล้ว เหตุก็ดี ผลที่ดีคือนิโรธก็จะปรากฏขึ้น นิโรธไม่ได้เกิดขึ้น นิโรธไม่เหมือนทุกข์ ทุกข์พอเรามีตัณหา ความทุกข์มันก็เกิด แต่นิโรธ มันไม่เกิด มันเป็นสภาวะซึ่งมันมีอยู่แล้ว ตัวพระนิพพาน ที่เราทำความดีแทบเป็นแทบตาย เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จนปัญญาแก่รอบ หมดความยึดถือในรูปในนามได้ ก็เห็นแจ้งนิโรธ นิโรธเลยไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปเกิดขึ้นจริงๆ แต่การที่เราทำเหตุอย่างนี้ มันทำให้เราเข้าไปเห็นนิโรธ เข้าไปประจักษ์นิโรธ เพราะฉะนั้นนิพพานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหา หาอย่างไรก็ไม่เจอ หยุดหาอาจจะเจอ ที่เราหา เราดิ้นรนภาวนา มันทำด้วยอยาก ตราบใดที่ใจยังอยากอยู่ ใจก็ต้องดิ้นรนไปเรื่อยๆ การที่จิตใจมันดิ้นรน เรียกว่าจิตมันสร้างภพ ตราบใดที่มีภพก็มีชาติ คือการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา แล้วก็มีทุกข์

ฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ เรียนรู้มันไป การเจริญมรรค ศีลต้องรักษา แล้วก็ภาวนาไป สังเกตไป พัฒนาสติ ให้มันอัตโนมัติขึ้นมา วิธีพัฒนาสติให้อัตโนมัติ ให้เกิดเป็นสัมมาสติ คือการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง พูดง่ายๆ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น คอยรู้เรื่อยๆ ไป รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ รู้ถี่ๆ เท่าที่ทำได้ ต่อไปไม่เจตนาจะรู้ มันจะรู้ได้เอง ตรงที่เราไม่ได้เจตนาจะรู้ แต่ว่าพอสภาวธรรมเกิดแล้วมันรู้ได้เอง เรียกว่าเรามีสติอัตโนมัติขึ้นมาแล้ว ก่อนสติอัตโนมัติจะเกิด ก็ต้องตั้งใจก่อน ตั้งใจเจริญสติปัฏฐานไป จะรู้กายก็ได้ เวทนา หรือจิต หรือธรรมก็ได้ เอาที่เราถนัด ดูสภาวะเนืองๆ ต่อไป ไม่ได้เจตนาจะเห็น มันเห็นเอง นั่นล่ะสติตัวจริงมันเกิดโดยไม่ได้เจตนา แล้ว สมาธิเราก็ต้องฝึก ฝึกสมาธิ

 

สมาธิที่ถูกต้อง

สมาธิมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติหรอก ขาดสติ สัมมาสมาธิมันจะมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นสมาธิเอาไว้พักผ่อน จิตมันสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว สมาธิอย่างหนึ่ง จิตตั้งมั่น คือความตั้งมั่นของจิต สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต สมาธิตัวนี้คือสมาธิชั้นเลิศ วิธีฝึกจิตให้สงบก็คือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีคำว่าน้อม ต้องจงใจทำก่อน อย่างเราต้องการพักผ่อน เราน้อมจิตเข้าหาความสงบ เราก็พักผ่อน เวลาเข้าไปแล้วเวลาจะออก หายใจให้แรงขึ้น เดี๋ยวจิตมันก็ออกมา

ถ้าจะทำสมาธิชนิดตั้งมั่น อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น มันเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ไม่หัวก็ก้อย หรือเหมือนความมืดกับความสว่าง เมื่อไรสว่างเมื่อนั้นก็ไม่มืด เมื่อไรมืดเมื่อนั้นก็ไม่สว่าง เมื่อไรฟุ้งซ่าน คือจิตไหลไป จิตก็ไม่ตั้งมั่น เมื่อไรตั้งมั่นเมื่อนั้นก็ไม่ฟุ้งซ่าน ก็แค่นี้เอง แต่จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ให้ฟุ้งซ่าน ทำไม่ได้ จิตมีธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลงไป ที่จะเคลื่อนไปตามความเคยชิน ฉะนั้นเราต้องเคยชินที่จะรู้สึกตัว

อย่างเราจะทำสมาธิชนิดสงบ เราก็ต้องชำนาญ ต้องเคยชิน เคยทำแล้วมันทำง่าย อะไรที่ไม่เคยทำมันยากทั้งนั้นล่ะ กระทั่งจะเป็นขโมย จะไปปล้นร้านทอง ไม่เคยทำก็ยาก เคยทำแล้วไม่ยาก จะทำจิตให้สงบ เคยทำแล้ว มันก็ไม่ยากหรอก มันรู้จักวางน้ำหนักของจิตให้ถูก ถ้าจิตเร่าร้อนดิ้นรนอยากสงบเร็วๆ ไม่มีทางสงบหรอก ปล่อยจิตไป อย่าไปแตะต้องมัน แต่มีสติอยู่ สงบในฉับพลันเลย หรือจิตที่จะตั้งมั่นได้ มีสมาธิชนิดตั้งมั่น ก็พัฒนา อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น คือการที่จิตมันไหลไป

จิตไหลได้ 2 ลักษณะ เวลาเราภาวนา อันหนึ่งมันไหลไปที่อื่น มันทิ้งอารมณ์กรรมฐานของเรา ฉะนั้นต้องทำ ต้องมีอารมณ์กรรมฐาน มีวิหารธรรมไว้อันหนึ่ง แล้วพอจิตมันหลง มันไหล มันจะไหลไปที่อื่น ไหลไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ มันไหล ทันทีที่เรารู้ว่าจิตไหล จิตที่ไหลจะดับ เพราะจิตที่ไหลไป มันไหลไปด้วยอำนาจของ อุทธัจจะ เป็นกิเลส สติรู้ทันเมื่อไร สติเกิดเมื่อไร กิเลสดับเมื่อนั้น เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดก็ดับไปทันที ไม่ต้องพยายามดับความมืด แค่ทำความสว่างให้เกิดขึ้น ความมืดก็ดับไปทันที ไม่ต้องไปห้ามความหลง ฝึกให้สติมันเกิด พอสติมันเกิดความหลงมันก็ดับทันที

จะไปหาทางทำอย่างไรจะไม่ให้ฟุ้ง ทำอย่างไรจะไม่หลง ทำอย่างไรจะไม่ลืมเนื้อลืมตัว ทำไม่ได้ เหมือนกับความคิดที่ว่า ทำอย่างไรความมืดจะหมดไป เอาไม้ไปตีความมืดได้ไหม เอาปืนไปยิงมันก็ไม่ได้ ไม่หาย ความมืดมันหายไป เพราะความสว่างมันเกิด โมหะเป็นความมืด จิตมันหลง มันไหล โมหะมันเป็นความมืดมัว ฉะนั้นพอสติเกิดขึ้น จิตก็ไม่ไหล เพราะจิตที่ไหลเป็นจิตที่มีกิเลส จิตก็ตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเราจะได้สมาธิอัตโนมัติ

ถ้าเราอาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น รู้ทันจิตที่ไหล มันไหลไป 2 อัน 2 ด้าน อันหนึ่งไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหลฟุ้งซ่าน ลืมกรรมฐาน อีกอันหนึ่งคือไหลไปจมไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน อย่างนั่งสมาธิแล้วก็ติด หายใจอยู่แล้วก็ติดลม ดูท้องพองยุบแล้วก็ติดอยู่ที่ท้อง เดินจงกรมแล้วก็ติดอยู่ที่เท้า อันนี้จิตมันไหลไปเรียบร้อยแล้ว ภาวนาให้ตาย มันก็ไม่ได้หรอกมรรคผล จิตไม่เป็นกลาง ไม่ได้เข้าทางสายกลางเลย มันกำลังจมอยู่ในภพอันหนึ่ง ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทัน จิตไหลแล้วรู้ๆ เราจะได้สมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น สมาธินี้ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดเอง เพราะว่าเรารู้ทันสภาวะที่ไม่มีสมาธิ สมาธิคือตั้งมั่น สภาวะที่ไม่มีสมาธิคือไม่ตั้งมั่นไหลไปไหลมา

 

ถ้าเรามีสัมมาสติที่สมบูรณ์ สัมมาสมาธิของเราจะสมบูรณ์

ฝึกอย่างนี้มากๆ อยากเจริญสติก็ทำสติปัฏฐานไป รู้กาย เวทนา จิต ธรรมเนืองๆ แล้วต่อไปพออะไรเกิดขึ้นในกาย เวทนา จิต ธรรม สติระลึกเอง นี่ทำให้เกิดสติ จะทำให้จิตตั้งมั่น ก็อาศัยสติรู้ทันความไม่ตั้งมั่น แล้วมันก็จะตั้งขึ้นมาเอง สมาธิอัตโนมัติก็จะเกิด แต่ระหว่างการเจริญสัมมาสติกับสัมมาสมาธิ เราสามารถทำควบกันได้ ทำทีเดียวได้ทั้ง 2 อย่าง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันที่จิตตัวเอง จิตมันหนีไปคิด รู้ทัน จิตมันหนีไปดู ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรสอะไรอย่างนี้ รู้ทัน มันเพลินไป หรือจิตมันถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน รู้ทันอยู่ที่จิต ต่อไปพอจิตมันขยับ สติมันเคยเห็นจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เนืองๆ เห็นบ่อยๆ พอจิตมันขยับตัวเท่านั้น สติอัตโนมัติมันเกิดเลย แล้วทันทีที่มันรู้ว่าจิตมันเคลื่อนไป สัมมาสมาธิอัตโนมัติ มันก็เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นด้วยกันเลย เมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นจะมีสัมมาสมาธิ จะเกิดด้วยกัน แต่มันเป็นเหตุเป็นผลกัน ถ้าเรามีสัมมาสติที่สมบูรณ์ สัมมาสมาธิของเราจะสมบูรณ์ ฉะนั้นเราพยายามฝึก

ถ้าอยากรวบการปฏิบัติให้ย่อๆ ไม่ต้องฝึกเจริญสติอย่างหนึ่ง ฝึกสมาธิอีกอย่างหนึ่ง รวบมันลงมาที่เดียวกันที่จิตเรานี้ ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติ ทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด เพราะรวบเลย อย่างจิตเรามันเคลื่อนไป เราเห็นปุ๊บ ตรงที่มันเห็นโดยไม่เจตนาจะเห็น เรียกว่ามันมีสติ แล้วทันทีที่สติเกิด มันรู้ว่าจิตเคลื่อน จิตที่เคลื่อนจะดับ จิตที่ตั้งมั่นจะเกิด มันจะเป็นกระบวนการอย่างนี้ ต่อไปพอจิตเคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ สมาธิเกิดๆ ฉะนั้นสัมมาสติก็จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันชำนาญในการรู้ทันจิตที่เคลื่อน แล้วสมาธิมันก็จะอัตโนมัติขึ้นมาทุกคราวที่สติที่ถูกต้องเกิดขึ้น

ในพระสูตรท่านก็สอน สัมมาวายามะที่สมบูรณ์ ที่บริบูรณ์ ทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ สัมมาสติบริบูรณ์ ทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ท่านสอนอย่างนี้ ถัดจากสัมมาสมาธิ สิ่งที่จะมีต่อไปคือสัมมาญาณะกับสัมมาวิมุตติ สัมมาญาณะก็คือมีปัญญา มีความหยั่งรู้ที่ถูกต้อง หยั่งรู้อะไร หยั่งรู้ความเป็นจริงของรูป นาม กาย ใจ มันเป็นไตรลักษณ์ ในที่สุดก็รู้แจ้งเห็นจริง สิ่งทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ รู้แจ้งเห็นจริง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายเป็นของไม่มีสาระแก่นสาร เป็นตัวทุกข์ เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จิตก็ละสมุทัยอัตโนมัติ คือตัณหามันจะไม่เกิดอีกแล้ว ละครั้งเดียว ละทีเดียวขาดเลย ขาดแล้วขาดเลย

ถ้าละด้วยมรรค ไม่เหมือนอย่างถ้าเราละด้วยสติ อย่างจิตเราโลภขึ้นมา จิตเรามีความอยากแล้วรู้ๆ เดี๋ยวก็อยากอีก แต่ถ้ามันรู้แจ้งเห็นจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอกนอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่หรอกนอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไปหรอกนอกจากทุกข์ นี่มีปัญญา มีญาณที่แก่กล้า เห็นความจริงแล้ว มีสัมมาญาณะ ในที่สุดจิตก็เกิดวิมุตติ เกิดอริยมรรค เกิดอริยผลขึ้น มันวาง พอมันวางแล้ว คราวนี้เราจะเห็นนิโรธ

นิโรธไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง นิโรธไม่ได้มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไปนั่งเข้าแถวกัน นิโรธเป็นภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากตัณหา พ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากกิเลส แล้วก็พ้นจากรูปนาม จิตถึงนิโรธแล้ว ชีวิตยังอยู่ ขันธ์ยังอยู่ ขันธ์กับจิตไม่สัมพันธ์กัน จิตมันพราก ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มันพราก จิตมันพรากจากขันธ์ นี่พูดตรงเป๊ะเลยคำนี้ จิตมันพรากออกจากขันธ์ ไม่ใช่ไม่มีขันธ์ ขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์อยู่อย่างนั้นล่ะ เพราะวิบากที่ทำให้เกิดขันธ์ยังไม่หมด อย่างวิบากที่ทำให้เรามีชีวิต อัตภาพร่างกายนี้ยังอยู่ ขันธ์นี้ก็ยังอยู่ แต่จิตมันพรากออกจากขันธ์ มันถอนตัวออกจากกัน มันพรากออกไปแล้ว

ถ้ามันพรากด้วยมรรคจริงๆ มันจะไม่กลับมารวมกันอีกหรอก ไม่ต้องรักษา แต่ถ้ายังไม่ถึงสุดขีด มันพรากออกไป เดี๋ยวมันก็รวมอีก ครั้งที่หนึ่งมันแยกออกไปแล้ว มันก็กลับมารวมอีก แยกครั้งที่สอง แยกออกไปแล้วก็มารวมอีก ครั้งที่สามแยกออกไปแล้วก็มารวมอีก จนถึง 4 ครั้ง ถึงจะขาดจากกันจริงๆ ทำไมต้อง 4 ครั้ง เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ เป็นความจริงมันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเราต้องทำเหตุ ไม่ใช่ทำผล อยากได้มรรคผลนิพพานก็ทำเหตุด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ศีลอะไรยังด่างพร้อยอยู่ ก็พยายามฝึกตัวเอง ให้ศีลของเราดีๆ จนกระทั่งไม่น่าติเตียน ตัวเองยังติเตียนตัวเองไม่ได้ ปกติตัวเองชอบเข้าข้างตัวเอง ถ้าศีลเราดี มันติเตียนตัวเองไม่ได้ คนอื่นอาจจะไม่รู้ แต่เรารู้ แต่ถ้าเรายังรู้สึก เรายังน่ารังเกียจอยู่เลย ถึงคนอื่นไม่รู้ จริงๆ ก็คือน่ารังเกียจ ฉะนั้นพัฒนา อะไรเลวๆ ละมันเสีย ความชั่วทั้งหลายที่หลวงพ่อดู ตัวหัวโจกของมันเลย ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องร้ายที่สุดเลย ทำให้เราทำชั่วได้ทุกอย่าง

 

ลดละความเห็นแก่ตัว

ฉะนั้นเราวัดใจตัวเอง ถ้าอะไรที่มันเห็นแก่ตัว รู้ทันมันเข้าไปเลย ทำไมมันเห็นแก่ตัว เพราะมันรักตัวเอง ทำไมมันรักตัวเอง เพราะมันไม่รู้ว่าตัวเราไม่มีหรอก ตัวที่มีคือตัวทุกข์ มันไม่เห็น อวิชชามันมี ก็เลยเห็นแก่ตัวเอง ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน แต่ทำดีแล้วเจือตัวตนลงไป ความดีของเรายังไม่สมบูรณ์หรอก อย่างเราบริจาคเงินหลายๆ ล้านอะไรอย่างนี้ แต่ทำไปใจยังเห็นแก่ตัวอยู่ อยากรวย ทำบุญมากๆ หวังว่าจะรวยกว่าคนอื่น อาจจะรวยก็ได้ แต่โง่ๆ ไม่ได้ปัญญา หรือว่าไหว้พระ เจอพระพุทธรูป ไปกราบไปไหว้ ขอโชคขอลาภขออะไรอย่างนี้ นี้เห็นแก่ตัว ไม่ได้ลดละความเห็นแก่ตัวเลย

ฉะนั้นเราอยากให้ศีลของเราดีๆ สำรวจใจเลย เห็นแก่ตัวขึ้นมาเมื่อไร รู้ทันมันเข้าไป ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ถือศีลง่าย ทำไมมันไปขโมยเขา มันเห็นแก่ตัว ทำไมมันไปเป็นชู้กับเขา ก็เพราะมันเห็นแก่ตัว ทำไมมันโกหกเขา เพราะมันเห็นแก่ตัว ทำไมประทุษร้ายคนอื่นเขา ก็เพราะเห็นแก่ตัวอีกแล้ว ฉะนั้นคอยสังเกตตัวเอง ถ้ามันเห็นแก่ตัวก็ฝืนมัน ศีลเป็นเรื่องที่ต้องฝืนใจ ในเบื้องต้นต้องฝืนมัน ไม่ยอม ไม่ยอมตามใจกิเลสที่เห็นแก่ตัว แล้วทำผิดศีล ฉะนั้นต้องเข้มแข็ง ค่อยๆ ฝึก

ยิ่งถ้าเป็นพระ ยิ่งสำคัญมากเลย ถือศีลรักษาข้อวัตรอะไร คนอื่นเขาทำ เราเห็นแก่ตัว เราก็หลบๆ เลี่ยงๆ งานของส่วนกลาง ของหมู่คณะอะไร เลี่ยงได้ก็เลี่ยงอะไรอย่างนี้ นี้เห็นแก่ตัว ถามว่าเห็นแก่ตัว สมมติว่าไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวมของสงฆ์ เป็นพระ เอาเวลานั้นไปนั่งภาวนา ถามว่าภาวนาแล้วจะได้อะไรไหม ไม่ได้อะไรหรอก ก็พื้นฐานมันเห็นแก่ตัวเสียแล้ว

สมัยพุทธกาล มีพระองค์หนึ่งชื่อพระเมฆิยะ พระเมฆิยะเคยเป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าก่อนพระอานนท์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มีอุปัฏฐากองค์เดียว มีหลายองค์ บางช่วงพระสารีบุตรยังไปอุปัฏฐากเลย ตอนหลังสงฆ์ถึงลงมติให้พระอานนท์เป็นอุปัฏฐากประจำ ก่อนหน้านี้ก็เวียนๆ กัน มีองค์หนึ่งชื่อเมฆิยะ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าท่านอยู่กับพระเมฆิยะ 2 องค์เอง ไม่มีพระอื่น พระเมฆิยะก็อยากจะไปภาวนา ฟังแล้วดีไหม อยากไปภาวนา ก็บอกพระพุทธเจ้าบอกว่า “ข้าพระองค์จะไปภาวนาแล้ว ให้พระองค์เอาบาตรของพระองค์ไป” ไม่ถือให้แล้ว ไม่ตามไปแล้ว ไม่คอยดูแลแล้ว พระพุทธเจ้าบอก “อยู่กับเราก่อน ตอนนี้ยังไม่มีใครเลย อยู่ช่วยกันก่อน” ไม่เอาอยากภาวนา พระพุทธเจ้าห้ามตั้งหลายที ไม่ฟัง สุดท้าย เมฆิยะเอาบาตรของพระพุทธเจ้าวางลงที่พื้นดิน หยาบคายที่สุดเลย เอาบาตรครูบาอาจารย์วางไว้ จะเอาหรือไม่เอา ไม่เอาก็ฉันจะทิ้งแล้ว แล้วก็ไปภาวนา ไปภาวนาอยู่ตั้งพักหนึ่ง สุดท้ายก็กลับมาหาพระพุทธเจ้า ภาวนาอย่างไรก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกที่ท่านไม่ให้ไป เพราะท่านเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าไปตอนนี้มันยังไม่ได้อะไรหรอก แต่ว่าสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้นเอง ความต้องการที่ดี อยากภาวนา แต่ว่าลึกๆ ก็คือมันเห็นแก่ตัวนั่นล่ะ ภาวนาไม่ขึ้น คนเห็นแก่ตัว

ฉะนั้นอย่างพระที่นี่ หลวงพ่อพยายามสอน ทำอะไรก็ให้พร้อมเพรียงกัน ช่วยเหลือกัน พร้อมเพรียงกัน ดูแลกัน ไม่ได้เอาความเห็นแก่ตัวมาเป็นที่ตั้ง อยากจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ อย่างพระเป็นสังฆะ อยู่กันเป็นหมู่คณะ อยู่เป็นสังคมต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ถ้าเห็นแก่ตัว มีคนเห็นแก่ตัวสักคนหนึ่ง น่าเกลียดขึ้นในหมู่สงฆ์ทันทีเลย ก็ไม่มีใครคบ สุดท้ายก็ไม่มีคนคบ ลำบาก อยู่ทางโลกก็ไม่มีคนคบ มาบวชก็ไม่มีคนคบ เพราะอะไร เพราะเห็นแก่ตัว ถ้าดูเป็น มันไม่เห็นแก่ตัว ตอนนี้มันเห็นแก่ตัวแล้ว ดูเข้าไป เห็นแก่ตัวแล้ว คนอื่นเขาทำงานอยากจะนอนอย่างนี้ นี่เห็นแก่ตัว ฝืนใจ ลุกขึ้นมาทำงาน ต้องไม่ยอมแพ้ อดทน

 

จะภาวนา ชั่วต้องละ กุศลต้องเจริญ ชั่วต้องละ อกุศลต้องละ กุศลต้องเจริญ คิดแต่จะเจริญกุศล แต่อกุศลไม่ละ ไม่ได้กินหรอก เพราะฉะนั้นภาวนา จับหลักให้แม่นๆ แล้วก็ต่อสู้ด้วยความอดทน ภาวนาไปแล้วก็วัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ที่เราภาวนาอยู่ อกุศลลดลงไหม กุศลเจริญขึ้นไหม วัดตัวเอง ไม่ต้องถามใครหรอก หลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อดูได้ว่าเราละอกุศลไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้วอย่างนี้ ดูได้ เหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์อะไรอย่างนี้ รู้ตัวอยู่ ไปส่งการบ้านหลวงปู่ดูลย์ ไปรายงานท่าน ท่านก็โอเค ท่านว่าฉลาดอยู่หรอก รู้จักกิเลสตัวเอง

ยากไปไหม สรุปก็คือ ละที่เหตุ แล้วผลที่ชั่วมันจะดับไป ละเหตุที่ชั่ว ผลที่ชั่วคือทุกข์มันจะดับ ทำเหตุที่ดีคือเจริญมรรค ผลที่ดีคือนิพพานจะปรากฏขึ้น เป็นเรื่องมีเหตุมีผล ฉะนั้นทางฝ่ายชั่วก็ต้องพยายามละ ทางฝ่ายดีก็ต้องพยายามเจริญ นั่นเรียกว่าสัมมาวายามะ ฉะนั้นฝึกตัวเองอย่างนี้เรื่อยๆ มิฉะนั้นภาวนาไปแล้วเต็มไปด้วยกิเลส แล้วก็บ่นว่าศาสนาพุทธไม่ดีจริง ทำแล้วไม่ลดละกิเลส ก็ตัวเองไม่ลดละ ใครจะไปลดละให้ตัวเองได้ ต้องสู้ อย่าย้อมแพ้ อดทนไว้ สำคัญมากความอดทน ไม่อดทนไม่มีทาง พวกเราไม่ได้อินทรีย์แก่กล้า ถ้าพวกเราอินทรีย์แก่กล้า เราคงพ้นทุกข์ไปตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว อินทรีย์เราไม่แก่กล้า ก็ต้องอดทนให้มาก พากเพียรลดละกิเลส ลดละอกุศล ไม่ทำชั่ว พากเพียรเจริญกุศลให้มาก ไม่เห็นแก่ตัว ฝึกให้ดี.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มีนาคม 2565