ทางสายกลางคือรู้อย่างที่มันเป็น

ธรรมะเป็นของประณีตของละเอียด ถ้าเราไม่มีสมาธิพอ ฟังไม่รู้เรื่อง หรือฟังก็ได้แต่คิดๆ จำๆ มันล้างกิเลสไม่ได้ ธรรมะที่ล้างกิเลสได้ต้องเป็นธรรมะที่มันเข้าถึงใจ ใจเราต้องตั้งมั่นมีสมาธิดีๆ ก่อนถึงจะรองรับธรรมะได้ เหมือนอย่างแก้วน้ำนี้ เราจะเทน้ำลงได้มันต้องถือให้ดีหน่อย ถ้าแกว่งไปแกว่งมาอย่างนี้ น้ำก็หกหมด ใจเราแกว่งไปแกว่งมามันรับธรรมะไม่ได้ ธรรมะก็หกหมด

ในช่วงที่โควิดระบาดนี่พวกเราบางคนได้ดี บางท่านได้ดีเลย เพราะไม่มีเวลาไปยุ่งกับคนข้างนอก มีเวลาอยู่กับตัวเองมาก ก็ภาวนาไป พอใจมันจะไปคิดมีสติรู้ทัน ไม่หลงคิดต่อ แค่เห็นมันจะคิด ก็รู้ทันมัน ความคิดก็ดับ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ดูแล้วดูอีกไปจนจิตใจมันเข้าใจความจริงขึ้นมา

 

เรียนจนเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ

ธรรมะไม่ใช่ของลึกลับ ธรรมะคือความจริง ความจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรานี่มันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้น มันบังคับควบคุมไม่ได้จริง ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังตรงนี้ เรียนให้รู้หลัก อย่าไปเรียนว่าทำกรรมฐานอย่างไรจิตจึงจะสงบ จิตจะมีความสุข จะสว่างอยู่เฉยๆ อันนั้นยังไม่ใช่ เรียนต้องเรียนให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริงของร่างกายจิตใจเรา ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเรียนยังไม่ถึงตรงนี้ เรียกว่ายังไม่ได้สาระแก่นสารจริงหรอก

ในการปฏิบัติต้องเรียนจนเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ถ้าเราเห็นแล้วเราจะไม่ทุกข์ อย่างพวกเราบางคนก็บอกอกหักเป็นทุกข์ ตกงานเป็นทุกข์ อกหักเป็นทุกข์จริงไหม อกหักยังไม่ได้ทำให้เราทุกข์หรอก ถูกด่าเป็นทุกข์จริงไหม ก็ยังไม่จริง เราต้องหลงไปอยู่ในโลกของความคิดเสียก่อน คิดไปคิดมาเป็นเราอกหักขึ้นมา เราสูญเสีย เราอย่างโน้นเราอย่างนี้ ความทุกข์ทางใจมันถึงจะมีได้

ถ้าหากเรียนกรรมฐานมากๆ เราเห็นความจริงว่ากายนี้มันเป็นตัวทุกข์ใจนี้มันเป็นตัวทุกข์ ยอมรับความจริงตรงนี้ได้ มันจะไม่เกิดการดิ้นรนทางใจ ไม่ดิ้นรนหาความสุข ไม่ดิ้นรนหนีความทุกข์ ไม่ดิ้นรนอยากให้ของที่มันไม่เที่ยงต้องเที่ยง อย่างเรารักใครสักคนเราอยากให้อยู่กับเรานานๆ อยู่กับเราตลอดไป มันอยู่ตลอดไม่ได้เพราะมันไม่เที่ยง หรือเรามีความสุขเราอยากให้ความสุขอยู่ตลอดกาล มันทำไม่ได้เพราะความสุขเองก็ไม่เที่ยง

ถ้าใจมันเห็นธรรมะ มันรู้ว่าทุกอย่างมีเกิดแล้วก็มีดับ มันไม่เที่ยง ทุกอย่างมันบีบคั้น ร่างกาย ก็ถูกความทุกข์บีบคั้น จิตใจก็ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ อย่างร่างกายเรานี่สังเกตไปเรื่อยๆ จะเห็นว่ามันทุกข์อยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ยังทุกข์เลย กลางคืนนอนพลิกซ้ายพลิกขวาตั้งหลายสิบครั้ง ทำไมต้องนอนพลิกไปพลิกมา เพราะว่ามันทุกข์ เราขยับร่างกายเพื่อหนีความทุกข์ในร่างกาย ในจิตใจเราก็เหมือนกัน มันก็มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา อยากขึ้นมาทีไรก็ทุกข์ทุกที

ค่อยๆ สังเกตไป อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที และความอยากทั้งหมดมันเกิดจากการไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ อย่างเรามีแฟน เราอยากให้แฟนรักเราเยอะๆ ต้องรักกันตลอดกาล ไม่มีหรอกรักกันตลอดกาล ก่อนจะเป็นแฟนกันมันก็รักแบบหนึ่ง เป็นแฟนกันมันก็รักไปอีกแบบหนึ่ง แต่งงานกันแล้วมันก็รักไปอีกแบบหนึ่ง แต่งไปหลายๆ ปีมันก็รักไปอีกแบบหนึ่ง รักไปรักมากลายเป็นแค้นด้วยก็มี เพราะฉะนั้นมันไม่เที่ยงหรอก

เราอยากได้สิ่งซึ่งเที่ยง ทั้งๆ ที่มันไม่มี อยากได้ของซึ่งไม่มีวันมี มันจะทุกข์หรือมันจะสุข อยากได้ของซึ่งมันไม่มีทางเป็นไปได้ มันทุกข์ ถ้าใจมันเห็นความจริงว่าอะไรอะไรมันก็ไม่เที่ยง อะไรๆ ก็บังคับไม่ได้ อะไรๆ ก็ไม่ใช่ของดีของวิเศษ กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไปอยู่ตลอดเวลา นี่ใจเห็นธรรมะ ใจเห็นความจริง

ธรรมะไม่ใช่อะไร ธรรมะก็คือความจริง เป็นความจริงสูงสุด ความจริงที่สูงสุดเรียกว่าอริยสัจ รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจเราก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อริยสัจ 4 เริ่มต้นตั้งแต่ทุกขสัจ ทุกขสัจไม่ใช่อกหักรักคุดเป็นทุกข์ อกหักยังไม่ทุกข์หรอก ต้องไปยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นในความจำ เราถึงจะทุกข์ขึ้นมา อย่างพวกเราใครเคยมีคนที่เรารักแล้วตายบ้างไหม อย่างพ่อแม่เราตาย ทุกข์ตลอดเวลาไหม ตอนที่พ่อแม่ตายใหม่ๆ ทุกข์มาก แต่ทุกข์ตลอดเวลาไหม ไม่หรอก อย่างตอนวุ่นวายจัดงานศพ ไม่ได้คิดถึงแม่ที่นอนในโลงแล้ว วุ่นวายรับแขกอย่างนี้ ลืมคิดถึงคนที่ตาย เราจะไม่ทุกข์เพราะคนตายแล้ว ไม่ทุกข์แล้ว เพราะใจไม่ได้ไปสำคัญมั่นหมายอะไร

ความทุกข์ทางใจมันเกิดเพราะใจเราเข้าไปสำคัญมั่นหมาย ไปอยากให้ของไม่เที่ยงมันเที่ยง อยากให้ของเป็นทุกข์มันเป็นสุข อยากให้ของบังคับไม่ได้มันบังคับได้ ความอยากนี้มันเป็นความโง่ของเรา เรียกว่าอวิชชา มันโง่นะ มันไม่ใช่เรื่องอื่นหรอกมันโง่ มันไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ ไม่รู้ความจริงของขันธ์ 5 ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา มันยังโง่อยู่มันก็จะเกิดสมุทัย

 

เรียนรู้ให้เกิดวิชชา

พอเราไม่รู้ทุกข์ มันก็จะเกิดสมุทัยขึ้นมา สมุทัยก็คือตัวตัณหา ตัวอยาก เราไม่รู้ความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราก็มีความอยาก อยากให้สิ่งที่เราชอบอยู่นานๆ หรืออยากให้สิ่งที่เราชอบตอนนี้ยังไม่มี อยากให้มันมีขึ้นมา ใจมันมีความอยากขึ้นมา สิ่งที่เราชอบมันมีแล้วเราก็อยากให้อยู่ตลอดกาล สิ่งที่เราไม่ชอบเราไม่อยากให้มันเกิด แต่เราห้ามมันไม่ได้เดี๋ยวมันก็เกิด เกิดแล้วเราอยากให้มันหายไปเร็วๆ มันก็ไม่หาย เพราะเราสั่งมันไม่ได้ นี่เฝ้ารู้เฝ้าดูความจริงเราจะรู้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง รูปนามกายใจของเรานี่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอรู้ความจริงแล้วมันจะหมดความอยาก เมื่อไหร่รู้ทุกข์เมื่อนั้นละสมุทัย สมุทัยคือตัวตัณหา ตัณหาคือความอยากเกิดได้เพราะความโง่ เพราะอวิชชา อวิชชาคือการไม่รู้อริยสัจ 4

ถ้าเราไม่อยากโง่ ไม่อยากถูกตัณหาลากจมูกไปตลอดชีวิต ก็ต้องมาเรียนรู้ให้เกิดวิชชา เข้าใจความจริงของอริยสัจ ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้เราจะพ้นทุกข์ได้ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ยังทุกข์อยู่ มาทำจิตให้นิ่งให้ว่างให้สงบให้สว่างเฉยๆ อันนั้นก็เป็นภพภพหนึ่ง ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เดี๋ยวก็แตกสลาย เพราะอย่างนั้นไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัย หรือในทางโลก อย่างเราต้องอยู่กับคนนี้ คนนี้เรารัก ถ้าได้อยู่กับคนนี้เรามีความสุข ถ้าไม่ได้อยู่แล้วเราทุกข์ เราอยากอยู่กับเขาตลอด ลืมไปว่าเขาอาจจะไม่อยากอยู่กับเราก็ได้ อยากอยู่กับเราชั่วคราวแล้วเบื่อแล้วอยากไปอยู่ที่อื่น

เราห้ามได้ไหมใจคนอื่น ใจคนอื่นเราห้ามไม่ได้เพราะใจเรา เรายังห้ามไม่ได้เลย ถ้าเราคุมใจเราได้เราจะไม่ทุกข์หรอก แต่ว่าเราคุมจิตใจของเราเองไม่ได้มันถึงทุกข์ มีความทุกข์ขึ้นมาเพราะมันอยาก อยากให้ของไม่เที่ยงมันเที่ยง อยากให้ของเป็นทุกข์มันเป็นสุข อยากให้ของบังคับไม่ได้ให้บังคับได้ก็แค่นี้

เราจะมาเรียนให้หายโง่ มาเรียนรู้ความจริงของกาย มาเรียนรู้ความจริงของใจ อย่างเรารู้ความจริงของร่างกายเราเอง ว่าร่างกายเรานี้ไม่นานก็ตาย จะคนดีหรือคนเลว คนสวยหรือคนน่าเกลียด คนอายุมากหรือคนอายุน้อย ไม่แน่ใครจะตายก่อนใคร ร่างกายมีแต่ความไม่แน่

ถ้าเรารู้อย่างนี้ เราเห็นคนที่เรารักตาย มันเคยเห็นแล้วกระทั่งตัวเราเอง เรายังรู้ความจริงแล้วเลย ตัวเราเอง เดี๋ยวก็ต้องตาย พอเรารู้ความจริงอย่างนี้ พอคนที่เรารักตายมันเป็นเรื่องปกติ ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดานั่นล่ะตัวธรรมะ เราเข้าใจความจริงแล้ว

ความจริงก็คือ มันไม่เที่ยง มันเกิดแล้วมันก็ต้องตาย ก่อนที่มันจะตายมันก็ถูกความทุกข์บีบคั้น พวกเราอย่างนี้ถูกความทุกข์บีบคั้น หิวข้าวทุกข์ไหม กินข้าวอิ่มทุกข์ไหม ก็ทุกข์อีก กินข้าวอิ่มเกินไปก็ทุกข์อีก กินแล้วไม่ย่อยก็ทุกข์อีก หรือกินแล้วไม่ขับถ่ายก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้นร่างกายเราเต็มไปด้วยความทุกข์ เฝ้ารู้เฝ้าดู เรียนรู้ลงไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ ลงไปทุกวัน ร่างกายนี้มีแต่ของไม่เที่ยง ร่างกายนี้มีแต่ของเป็นทุกข์ ร่างกายนี้มีแต่ของบังคับไม่ได้ เข้าใจร่างกายของเราเองมันก็จะเข้าใจร่างกายคนอื่นด้วย

 

เริ่มต้นไม่แนะนำให้ดูกายคนอื่น ดูกายตัวเองไว้ ดูกายคนอื่นมันยั่วกิเลส อย่างไปเห็นสาวสวยอะไรอย่างนี้ เห็นแล้วมันหลงมันชอบ แทนที่จะเห็นว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา กลับรู้สึกสวย ถูกอกถูกใจ ลองมาดูตัวเองสิ มันสุขหรือมันทุกข์ ดูตัวเอง รับรองถ้าดูอยู่ที่ตัวเองอย่างไรก็เห็นทุกข์ เพราะความจริงมันทนสติปัญญาของเราไม่ไหวหรอก มีสติมีปัญญาซักฟอกลงไปในกายในใจนี้เดี๋ยวก็เห็น กายนี้มีแต่ความทุกข์ ใจก็มีแต่ความทุกข์ กายเราเกิดมาแล้วอย่างไรก็ทุกข์ ทุกข์เพราะความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน ความเจ็บป่วย นี่ทุกข์ทางร่างกาย ถูกทุบถูกตี ถูกหมอฉีดยาบ่อยๆ อะไรอย่างนี้ ทุกข์ทั้งนั้น

จิตใจทุกข์ทุกครั้งที่มีความอยาก ร่างกายนี้ทุกข์เพราะเกิดมาแล้วเป็นวิบาก แต่จิตใจเรานี้สร้างกรรมใหม่ได้ ร่างกายมันเป็นตัวกรรมเก่า จิตใจเราที่ปรุงชั่วปรุงดีอะไรนี้ มันเป็นกรรมใหม่ เราปรุงขึ้นมาใหม่ๆ ตัวนี้ที่ทำให้เราทุกข์ พอเราปรุงแล้วเราก็เข้าไปยึดไปถือแล้วก็เลยทุกข์

เฝ้ารู้เฝ้าดู เดี๋ยววันหนึ่งปัญญามันเกิด มันจะรู้เลยว่าในโลกนี้ไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก ร่างกายเราที่ว่าดีที่ว่าวิเศษ ก็มีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา ไม่นานก็แตกสลายไป เหมือนที่ร่างกายคนอื่นเขาแตกสลายให้เราดูมาแล้ว อย่างพวกเราอายุป่านนี้คงเคยไปเผาศพไปฝังศพมาหลายศพแล้วใช่ไหม ครอบครัวไหนไม่เคยมี คนตายมีไหม ไม่มีหรอก รุ่นตัวเรายังไม่ตาย พี่น้องเรายังไม่ตาย ถึงรุ่นพ่อแม่เรา ปู่ย่าตายายก็ต้องมี ไม่มีครอบครัวไหนที่ยังไม่มีคนตาย ความจริงมันอยู่ต่อหน้าต่อตาอย่างนี้ แต่เราไม่สนใจที่จะเรียนรู้ เราก็หลงระเริง วันนี้ยังไม่ตาย ฉันยังไม่ตายหรอก ยังอยู่ได้อีก พวกเรารู้สึกไหมวันนี้เราจะตาย คิดไหม ใครเคยคิดบ้าง เออ หายากนะ ทั้งห้องยกมืออยู่คนเดียว อายุเยอะแล้วเลยคิดมากหน่อย ยังหนุ่มยังสาวมันก็ไม่ค่อยคิดหรอก

ดูจิตดูใจ ร่างกายมันก็มีแต่ทุกข์ จิตใจเราก็หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากได้กลิ่น เดี๋ยวก็อยากลิ้มรส เดี๋ยวอยากรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวอยากได้อารมณ์ที่สนุกสนานเพลิดเพลินมีความสุขทางใจ มีความอยากใน 6 ช่องทาง

เราเคยเรียนตัณหา 3 ตัวใช่ไหม มีกามตัณหา ความอยากได้ ภวตัณหา ความอยากเป็น วิภวตันหา ความอยากให้หมดไปสิ้นไป มีคำว่าตัณหานี้มีอีกมุมหนึ่ง คือความอยากในรูป ความอยากในเสียง ความอยากในกลิ่น ความอยากในรส ความอยากในสัมผัสทางกาย ความอยากได้อารมณ์ทางใจ ได้อารมณ์ที่ดี ได้อารมณ์ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าจำแนกตามอายตนะ ตัณหามี 6 ตัว ถ้าจำแนกตามลักษณะของมัน มันก็มี 3 ตัว

ลักษณะของตัณหาอันหนึ่งก็คือ ของไม่มีอยากให้มี ของที่มีแล้วอยากให้คงอยู่ หรือของที่มีแล้วอยากให้หมดไป รูปที่เราเห็น เราอยากเห็นรูป พอเราเห็นรูปแล้วมันเป็นรูปที่พอใจ ก็อยากให้มันอยู่ ทีแรกอยากเห็นรูป อยากเห็นรูปเป็นกามตัณหา อยากได้ยินเสียงก็กามตัณหา พอได้ยิน ได้เห็นรูปได้ยินเสียง ชอบใจ อยากให้มันคงอยู่ ก็เป็นภวตัณหา ไม่ชอบใจอยากให้มันหมดไปสิ้นไป เป็นวิภวตัณหา เพราะฉะนั้นใน 6 ช่อง แต่ละช่องมีตัณหาได้ 3 แบบ รวมแล้วได้ 18 อย่าง 18 ชนิด เราไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนั้นหรอก

เราคอยรู้เท่าทัน ความอยากอะไรเกิดขึ้นในใจคอยรู้ไปเรื่อยๆ อย่างนั่งอยู่เราคัน อยากเกาๆ คันๆ อยาก สังเกตไหมพอหลวงพ่อพูดเรื่องคันเท่านั้นล่ะ พวกเราเริ่มคันแล้ว รู้สึกไหมเมื่อกี้คันแต่ว่าจิตมันไม่เข้าไปจับ จิตมันกำลังสนใจธรรมะอยู่ ยุงกัดยังไม่รู้เลย งูเลื้อยมายังไม่เห็นเลย

เฝ้ารู้เรียนรู้ความจริงของกายของใจไปเรื่อยๆ รู้ความจริงเมื่อไรว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วความอยากมันจะไม่เกิด เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็ไม่เกิด สมุทัยถูกละไปเลย

การละสมุทัยทำได้หลายแบบ อย่างหยาบๆ คือมันอยากขึ้นมาพยายามไปข่มใจ ไม่เอา ถ้าอย่างนี้ไม่ได้จริง อย่างเราอยากกินข้าว สมมุติว่าอยากกินข้าวหมูแดง สมมุติเห็นข้าวหมูแดงแล้วไม่กิน อันนี้เราละความอยากได้ไหม ละไม่ได้ แต่เราบังคับใจตัวเอง ความอยากก็ยังอยู่ ข่มใจ ตอนข่มใจไม่กินมันก็ยังอยากกินอยู่ มันข่มอยู่ เพราะฉะนั้นวิธีสู้ตัณหาด้วยการข่มเอาใช้ไม่ได้ อย่างศาสนาอื่นเขาสู้กิเลสตันหาเหมือนกันด้วยการข่ม มันอยากกิน ไม่กิน มันอยากนอน ไม่นอน มันอยากนั่งสบายๆ ก็นั่งมันบนหนามเลย ทรมานมันไปเรื่อยๆ ไม่ตามใจกิเลส

การไม่ตามใจกิเลสจริงๆ ก็คือตามใจกิเลสนั่นเอง กิเลสตัวไหน กิเลสคือความคิดความเห็นแบบโง่ๆ ของเราเอง ว่าอันนี้คือทางพ้นทุกข์ ความไม่รู้ของเรานี่เอง ไม่รู้ว่ามรรคที่ถูกต้องคืออะไร ก็ใช้วิธีบังคับตัวเองเอา บังคับมันไม่ได้ช่วยให้พ้นตัณหา แต่มันมีตัณหาที่จะละตัณหา

บางคนใช้วิธีสนอง สนองแล้วหายไหม หาย แต่หายชั่วคราวเดี๋ยวตัณหาใหม่จะเกิด อย่างเรามีแฟนคนหนึ่ง เราอยากได้อีกคนหนึ่ง หรือเราชอบผู้หญิงสักคนหนึ่ง เราก็ไปจีบเขา ตอนที่ลุ้นว่าจะได้หรือไม่ได้ มันก็ทรมานใจ พอได้มาตอบสนองแล้ว สบายใจใช่ไหม ความทุกข์เพราะอยากได้หายไปแล้ว เพราะฉะนั้นการตอบสนอง มันก็ช่วยแก้ปัญหาได้นิดหน่อย เพราะประเดี๋ยวมันก็เกิดตัณหาอื่นขึ้นมาแทน อย่างจีบผู้หญิงคนนี้ได้แล้ว อยู่มาพักหนึ่งเบื่อแล้ว อยากให้หายไป เกิดวิภวตัณหา อยากให้มันหายไปมันร้ายเหลือเกิน ไม่น่าเลือกมาเลย ไปเห็นคนอื่นอยากได้อีกแล้ว

 

รู้อย่างที่มันเป็น

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ความอยากเหมือนมหาสมุทร มหาสมุทรไม่อิ่มน้ำ เอาน้ำใส่เข้าไปก็รับน้ำได้ตลอด ห้วงน้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี กว้างขวางใหญ่โต อยากอย่างนี้สนองมันไป มันก็อยากอย่างโน้นต่อ เพราะฉะนั้นการสนองความอยากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องตัณหาได้อย่างแท้จริง

วิธีของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สุดโต่ง 2 ข้าง ข้างที่กดข่มจิตใจตนเองไว้ไม่สนองมัน เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานใจตัวเอง ทรมานกายตัวเอง ขั้นที่ตอบสนองมันไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสไป มีความสุขได้แต่มันไม่อิ่ม กิเลสสนองเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่ม ค่อยๆ ดูลงไป วิธีของพระพุทธเจ้าไม่สุดโต่ง 2 ข้างนี้ ไม่ข่มตัวเองจนเครียด ไม่ปล่อยตามใจกิเลส ทางสายกลางที่ท่านสอนไว้คือ เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ค่อยๆ ฝึกตัวเอง รักษาศีลไว้ ฝึกจิตฝึกใจให้มันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ตอนนี้จิตใจฟุ้งซ่าน ทำความสงบ วิธีทำให้ใจสงบก็คือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่ยั่วให้เกิดกิเลส เป็นอารมณ์ที่มันดี อย่างคิดถึงพระพุทธเจ้าอย่างนี้ไม่ทำให้เกิดกิเลสหรอก คิดถึงความตาย แต่ตรงนี้ถ้าไม่ระวังกิเลสแทรกได้ คิดถึงร่างกายมันไม่สวยไม่งามมันไม่ดีอะไรอย่างนี้ เจริญกายคตาสติไป บางคนก็จิตสงบ บางคนเกลียดร่างกาย ฆ่าตัวตายเลย

สมัยพุทธกาล มีครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านพิจารณาแล้ว พระกลุ่มนี้มีวิบาก อย่างไรก็หนีกรรมไม่พ้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้แก้กรรมเลย ท่านรู้เลยพระกลุ่มนี้มันจะต้องฆ่าตัวตาย ท่านก็สอนเรื่องกายให้ สอนกายคตาสติให้ แล้วเสร็จแล้วท่านก็หลีกเร้นออกมาจากที่นั่น พวกพระเจริญกายคตาสติไปแล้ว ก็เกิดความเกลียดชังร่างกาย พระที่เกลียดชังร่างกายไม่รู้วิธีที่จะจัดการ ฆ่าตัวตาย พวกที่เคยฆ่าตัวตายแล้วมันจะฆ่าตัวตายอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะฉะนั้นเราทุกข์อยู่ในโลกนี้ อย่าไปฆ่าตัวตาย ทุกข์อยู่ในโลกนี้มันทุกข์ไม่นานหรอก ทุกข์สักปีสองปีทุกข์นี้มันก็หาย ไม่มีหรอกทุกข์ตลอดกาล ไปฆ่าตัวตาย คราวนี้ทุกข์นับไม่ถ้วนเลย

เคยมีโยมคนหนึ่ง บ้านเป็นทาวน์เฮาส์ กลางคืนนอนอยู่ในบ้านตัวเอง เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านหน้าบ้านไป เดินสูงจากพื้นคืบหนึ่ง เขาเห็นด้วยใจไม่ได้เห็นด้วยตา ผู้หญิงคนนี้บ้านอยู่ใกล้ๆ กัน ห่างไป 5-6 ห้อง 4-5 ห้อง ฆ่าตัวตาย เดินร้องไห้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะต้องทรมานอยู่อย่างนั้นไม่รู้กี่ปี นานแสนนานที่จะต้องจมอยู่ในกองทุกข์อันนี้ นานแสนนานเลย ต่อไปไปเกิดอีกเวลามีความทุกข์ขึ้นมาอีก มันเคยชินที่จะฆ่าตัวตาย มันก็จะฆ่าอีก เพราะฉะนั้นฆ่าแล้วก็ฆ่าอีกอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราทุกข์ ก็อย่าไปฆ่าตัวตายนะ อย่าไปทำ มันจะทุกข์ซ้ำซากไม่หาย

วิธีที่จะไม่ทุกข์ก็เรียนรู้ความจริงลงไป อย่างผู้หญิงคนนั้นทะเลาะกับสามี ถ้าเรียนรู้ความจริงก็คือในโลกนี้เราไม่ได้ทุกอย่างหรอก ไม่มีอะไรที่เราครอบครองได้ทั้งหมดหรอก ถ้าใจมันยอมรับความจริงตรงนี้ได้มันจะไม่ทุกข์มาก ไม่ถึงฆ่าตัวตาย แต่ถ้าภาวนาดีๆ จริงๆ มันจะไม่ทุกข์ ถ้าภาวนาพอเป็น มันก็ทุกข์น้อยหน่อย ภาวนาไม่เป็นก็ทุกข์เยอะ

ค่อยๆ หัดดูความจริงไป ดูความจริงในร่างกาย ดูความจริงในจิตใจตัวเองไป ผู้หญิงคนที่เขาฆ่าตัวตายนั้นเก็บเงินไว้ก้อนหนึ่ง แล้วอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง บ้านเป็นหลังๆ ก็ไม่มีกำลังซื้อ ชวนสามี มีเงินเท่าไรมาทุ่มวางดาวน์ ได้ห้องมาห้องหนึ่ง ทาวน์เฮาส์ เสร็จแล้วส่งไม่ไหวความอยากมันล้ำหน้า ไม่ได้ประเมินกำลังของตัวเอง ส่งไม่ไหวแล้ว บ้านกำลังจะถูกยึด สามีก็โกรธ ว่าห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ ดื้อ โลภมาก สามีก็โมโห หนีไปเลย เมียอยู่คนเดียวไม่รู้จะทำอย่างไร บ้านก็จะถูกยึดแล้ว รายได้ก็ไม่มีแล้วเลยฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายไม่พ้นทุกข์ มีแต่ทุกข์มากขึ้น ทุกข์นานขึ้น นี่เพราะความอยาก เริ่มตั้งแต่อยากได้บ้านที่มันเกินฐานะ ความอยากมันปิดบังสติปัญญา ไม่รู้ว่ากำลังของตัวเองมีได้แค่ไหน ความอยากมันล้ำไป

ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ ความอยากเกิดขึ้นในใจเรารู้ นี่ดูไปสิความอยาก ไม่ต้องสนองมัน ไม่ต้องห้ามมัน เราแค่มีสติรู้ทันใจที่อยาก ทันทีที่เรารู้อย่างเป็นกลาง มันจะดับเองโดยอัตโนมัติ เพราะตัวความอยากนั้นมันคือตัวโลภเจตนา เป็นตัวกิเลสตัวหนึ่ง เป็นโลภเจตนาที่มีกำลังแรง กลายเป็นตัวตัณหา ตัณหาที่มีกำลังแรงกลายเป็นตัวยึดถือ คือตัวอุปาทาน เพราะฉะนั้นตัวรากเหง้าของมันจริงๆ คือตัวโลภะ ถ้าเราเห็นว่าใจเราโลภเรารู้ ใจเราโกรธเรารู้ ใจเราฟุ้งซ่านเรารู้ ใจเราหดหู่เรารู้ ต่อไปเวลาใจมันอยากขึ้นมา มันก็จะรู้เอง แล้วทันทีที่รู้ด้วยความเป็นกลาง ความอยากจะดับ พอความอยากดับ มันจะเหลือสติปัญญา

อย่างเราอยากเล่นหุ้น อยากได้เงิน อยากเล่นหุ้นอยากได้เงิน จะไปลงทุนซื้อหุ้น ความอยากมันบัง ไม่ได้รู้เลยว่าสถานการณ์กำลังจะเป็นอย่างไร คิดว่าเจ๋ง หรืออย่างคนเล่นแชร์ เมื่อก่อนมีแชร์ดัง คนเล่นกันเป็นล้านๆ เลย คนเล่นรุ่นแรกๆ กำไร เอาเงินไปให้เขาล้านหนึ่ง อีกเดือนหนึ่งเขาคืนให้แสนหนึ่งละ เอามาจากไหน เขาไม่ได้ทำอะไรเลย เขาเอาจากคนที่มาส่งแชร์ทีหลังเอาไปจ่ายดอกเบี้ยให้แชร์คนแรก เล่นอย่างนี้ทั้งบ้านทั้งเมืองเลย ถึงจุดหนึ่งคนท้ายนี่ไม่ได้ทุนคืน ล้มระเนระนาด ตอนนั้นมีข่าวเลย มีข่าวว่าแชร์นี้ไม่นานนี่จะล้ม เพราะว่าไม่ได้เอาไปลงทุนอะไรทั้งสิ้นเลย จ่ายดอกเบี้ยสูงผิดธรรมชาติมาก ต้องเอาเงินมาของคนใหม่ไปจ่ายคนเก่า หมุนไปเรื่อยๆ อย่างนี้ คนนี้ก็ฉลาด บอกว่าใครไม่ไว้วางใจให้มาถอนคืนได้เลย เอาเงินมากองเป็นตั้งๆ เลย มาๆ คนนี้มาก็จ่ายๆ ขนเงินมาตั้งๆ พวกที่มาเห็นลังเลใจแล้ว เฮ้ย อีกสักเดือนหนึ่งได้อีกเยอะเลย เขายังไม่ล้มหรอกเขายังมีเงินเยอะ แล้วพวกนั้นก็คือพวกล้มเลย โดนเขาหลอกนิดเดียวไม่ถอนคืนแล้ว ลงทุนเพิ่มไปอีก มีโอกาสกำไร เขาไม่ล้มแน่ ทำไมตกเป็นเหยื่อ เพราะว่าตัณหา พออยาก ความอยากมันปิดบังสติปัญญา ไม่มีเหตุมีผลอะไรทั้งสิ้น

พวกเราเป็นนักปฏิบัติ เราก็อย่าไปเป็นแมงเม่า มีสติมีปัญญา จะลงทุนจะทำอะไรต้องฉลาด ไม่ใช่ให้ความอยากนำหน้า เพราะฉะนั้นในชีวิตเรานี่ อย่าปล่อยให้ความอยากนำหน้า ให้สติปัญญามันนำหน้าเรา วิธีก็คืออยากอะไรขึ้นมา รู้ทัน อยากอะไรขึ้นมา รู้ทัน กิเลสอะไร โลภโกรธหลงอะไรเกิดขึ้นมาก็รู้ทัน คอยรู้บ่อยๆ ไป ต่อไปพอใจมันอยากปุ๊บรู้ปั๊บเลย

กระทั่งอยากภาวนา อยากบรรลุมรรคผล อยากภาวนา ควรจะภาวนาไหม ควร เพราะโดยเหตุผลนะสมควรภาวนา เราภาวนาไม่ใช่เพราะอยาก แต่ภาวนาเพราะมันมีเหตุผล นั่งอยู่อย่างนี้มันเมื่อย เราอยากเปลี่ยนอิริยาบถ ให้เรารู้ลงไปในร่างกาย โอ้ย ร่างกายมันทุกข์ ก็เปลี่ยนอิริยาบถได้ เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อคลายความทุกข์ลง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้นั่งจมความทุกข์อยู่ ไม่อย่างนั้นพระจะต้องกินข้าวทำไม ฉันข้าวทำไม ฉันข้าวเพื่อลดเวทนา บำบัดเวทนา เพราะฉะนั้นมีความทุกข์ก็แก้ไป แต่ไม่ใช่คิดว่า จะหาความสุขจากกายนี้จากใจนี้ได้ แต่มีความทุกข์ก็บำบัดไปตามสถานการณ์

ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ ดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจไป วันใดที่เข้าใจความจริงของกาย เราจะหมดความอยากทั้งหลายในกาย แล้วเราจะไม่ทุกข์เพราะกาย วันใดเข้าใจความจริงของจิตใจ เราจะหมดความอยากในจิตใจแล้วเราจะไม่ทุกข์เพราะเรื่องราวที่คิด นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า

ทางสายกลางมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ตามใจกิเลส หรือละตัณหาด้วยตามใจกิเลส ข่มตัณหาด้วยการบังคับกายบังคับใจ อันนั้นไม่ใช่ทาง ทางคือทางสายกลางคือรู้อย่างที่มันเป็น รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น เมื่อรู้แล้วความอยากจะไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิดความทุกข์จะไม่มี นี่คือหลักที่เราจะต้องเรียนแล้วลงมือทำ ไปปฏิบัตินะ

 

 

คำถาม 1: ปฏิบัติมาได้ 4 – 5ปี ตามดูรู้กายใจ เห็นสภาวะผุดขึ้นกลางอก และเห็นไหวๆ บางครั้ง ทุกข์มาก ถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือเปล่าครับ และขอคำแนะนำครับ

หลวงพ่อ: ถูก ที่ไหวๆ กลางอกบางคนก็เห็น บางคนไม่เห็นไม่เป็นไร แต่ถ้าเราเห็นตัวนี้ เราจะพบว่ามันไม่มีตรงไหนเลยที่มีความสุขจริง ไอ้ไหวๆ นี่เกิดทั้งวันเกิดทั้งคืน เกิดตลอดเวลา หนีไม่ได้ ทีนี้เวลาดู พอจิตใจอ่อนล้าเหนื่อย ที่พักมีที่เดียวนะคือการทำสมถะ ที่คุณภาวนาก็ใช้ได้ แต่ตอนนี้ไม่ถูก ตอนนี้เพ่ง บังคับให้นิ่ง ดูออกไหม ถ้ารู้ทันแล้วก็ปล่อยมันไป

ตามรู้ตามดูไป ตอนไหนจิตเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า กลับมาทำสมถะ เคล็ดลับของการทำสมถะอย่างแรก รู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข อารมณ์อันนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อกิเลส น้อมใจไปรู้ อย่างสบายๆ ไม่ใช่บังคับใจให้ไปนิ่งอยู่กับอารมณ์อันนั้น ถ้าบังคับ ไม่สงบ ใจไม่มีความสุข ตัวที่ทำให้ใจสงบคือความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ถ้าเรารู้หลักแล้วทำสลับไป ตอนนี้ควรทำสมถะก็ทำ ตอนนี้ควรทำวิปัสสนาก็ทำ ดูไปเรื่อยๆ อย่าเกร็ง อย่าบังคับ ปล่อยให้มันเป็นแล้วรู้อย่างที่มันเป็น เอ้า คนต่อไป

 

คำถาม 2: ปฏิบัติในรูปแบบสม่ำเสมอ ดูกายบวกลมหายใจ ขณะทำในรูปแบบ ดูกายเคลื่อนไหว จิตไหลแล้วรู้ ในชีวิตประจำวัน ศีลดีขึ้นมาก สติดีขึ้น คำถาม ปฏิบัติในรูปแบบ เข้าใจว่าพอได้หลักที่ถูกต้องในการภาวนา แต่บ่อยครั้งมีอาการบีบหน้าผาก เบ้าตา เหมือนมีคลื่นๆ ในหัว ทำให้ไม่แน่ใจว่ายังเพ่งอยู่หรือไม่ ปฏิบัติผิดไหม ขอหลวงพ่อเมตตา แนะนำเพื่อปฏิบัติต่อไปครับ

หลวงพ่อ: เพ่งไหม เพ่ง มัน อยู่ที่เคยชิน หัดใหม่ๆ มันเคยชินที่จะเพ่ง มันก็เพ่ง ห้ามมันไม่ได้หรอก แต่เพ่งแล้วรู้ว่าเพ่งเอา แล้วถ้ามันตึงเครียดมากก็ทำใจให้สบาย รู้สึกลงไปตรงที่มันตึง ทำความรู้สึกที่ผ่อนคลายใส่มัน อันนี้เป็นอุบาย ไม่ใช่หลัก

ถ้าหลักก็คือ เคร่งเครียดรู้ว่าเคร่งเครียด หลวงพ่อแต่ก่อนก็เป็น เจอหลวงปู่ดูลย์ใหม่ๆ ขนาดนั่งสมาธิมาแต่เด็ก พอหลวงปู่ดูลย์บอกให้ดูจิต ดูจิตซะปวดตาเลย ปวดไปหมดเลยแถวนี้ เพราะเราเคยชินกับคำว่าดูต้องใช้ตาไปดู จ้องๆ ปวด แก้ไม่หาย ก็รู้ มันเกิดจากเราอยากที่จะรู้ให้ชัด อยากรู้ตลอดเวลา อยากรู้ต่อเนื่อง อยากรู้ไม่ให้คลาดสายตา มาจากอยากทั้งสิ้นเลย พอเรารู้ต้นตอ รู้ไปที่ความอยาก ความอยากดับ การเพ่งก็ดับ การเพ่งดับ ความตึงที่นี่ก็ดับ ค่อยๆ ดับ ไม่ดับทันทีหรอก เพราะมันเป็นเรื่องร่างกายไปแล้ว เรารู้ทันใจที่อยาก เดี๋ยวการเพ่งมันจะลดลง ค่อยๆ ลดลง ติดอยู่ตรงนี้ ยังติดอยู่ ที่ภาวนาก็ดีขึ้นเยอะแล้ว ยังติดเพ่งนิดหน่อยก็ไปแก้เอา แก้ด้วยการรู้ตัณหา รู้ทันตัณหา

 

คำถาม 3: เมื่อ 2 ปีก่อน ส่งการบ้านหลวงพ่อ ท่านบอกว่าหนูติดสุข จะทำให้เนิ่นช้า ก็เห็นตัวเองว่ามีความสุขได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติแบบมีความอยากนิพพานด้วย ซึ่งก็เห็นตรงนี้ และตอนนี้เข้าใจว่า เข้าใจวิธีปฏิบัติ ปฏิบัติได้ถูกต้องมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก อยากรบกวนหลวงพ่อตรวจสอบวิธีปฏิบัติ และข้อแนะนำเพิ่มเติมค่ะ

หลวงพ่อ: ก็รู้ไปนะ รู้อย่างที่เป็น มันก็ก้าวหน้าขึ้นมาเยอะแล้ว มันเพ่งรู้ว่าเพ่ง มันเผลอรู้ว่าเผลอ

ศัตรูมี 2 ตัวเอง เผลอกับเพ่งทุกคนล่ะ อย่างตอนนี้จิตเผลอ มันหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เราก็รู้ทัน รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ แต่ทุกวันต้องทำสมถะ ไหว้พระสวดมนต์อะไรอย่างนั้นก็ได้ พุทโธไปก็ได้ ให้ใจมันได้พักผ่อนบ้าง เจริญปัญญารวดเดียวไปนี่ ทำไม่ได้จริงหรอก เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน

ค่อยๆ ฝึกไป จิตไม่เข้าฐาน รู้ว่าจิตไม่เข้าฐาน ตอนนี้จิตเข้าฐานไหม ดูออกหรือเปล่า ไม่เข้า อืม จิตไม่เข้าฐาน รู้ว่าไม่เข้าฐาน รู้อย่างที่มันเป็น จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีจิตชั่วก็รู้ การที่จิตเรามีความสุขบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องผิด คนมันมีบุญมันก็มีความสุขสิ พวกมีบุญภาวนายากนะ มันจะขี้เกียจ ไม่อยากดูมากเดี๋ยวความสุขหาย

เพราะฉะนั้นคนไหนมีความทุกข์อย่าเสียใจ ความทุกข์เป็นทรัพยากรสำคัญของการปฏิบัติ เวลาเรามีความทุกข์ เราจะขยันดู เวลามีความสุขเราจะเพลิน เพราะฉะนั้นมีความสุข ไม่ได้เป็นอะไรหรอก แต่อย่าเพลิน รู้ทันมันเข้าไป แต่ใจที่ติดสุขมันจะไม่ค่อยอยากรู้หรอก เพราะรู้แล้วความสุขมันดับ ฉะนั้นมันยังติดความสุขมันก็ไม่อยากดู คนที่มีความสุขเยอะๆ บางทีก็เลยไม่อยากภาวนา กลัวความสุขหาย อย่ากลัว ความสุขมันของหลอกเด็ก มันเหมือนน้ำตาลเคลือบยาพิษเอาไว้ ความสุขที่เรารู้สึกว่าดี๊ดีนะ มันคือน้ำตาลที่เคลือบยาพิษไว้ อย่าไปหลงกินมัน

 

คำถาม 4: ลูกปฏิบัติตามแนวทางหลวงพ่อมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนขณะหลับไปแล้ว ปกติตอนนอนจะใส่หูฟัง ฟัง YouTube หลวงพ่อ รู้สึกตัวและเห็นเหมือนฟ้าแลบเป็นแสงสีฟ้า และตัวสั่นจนรู้สึกได้ว่าเด้งจากเตียง และได้ยินเสียงหลวงพ่อบอกให้ท่องพุทโธ ท่องไป 2-3 ครั้ง ก็เปลี่ยนเป็นอิติปิโสจนสงบลง อยากถามหลวงพ่อว่า อาการดังกล่าวใช่จิตรวมขณะหลับหรือเปล่าคะ และขอทราบแนวทางปฏิบัติต่อไปค่ะ

หลวงพ่อ: ก็ใช่นะ มันเป็นอย่างไรก็รู้มันไปเรื่อยๆ ที่ภาวนานี่ถูกต้องแล้ว ดีแล้ว เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เวลามันเกิดขึ้นแล้วนี่สังเกตดู มันยังมีความรู้สึกว่ามีเราไหม ยังมีไหม (โยมตอบว่ามี) เออ ดีที่เห็น บางคนมีทั้งแสงทั้งสี ทั้งเสียงเลย นั่งสมาธิอยู่เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา บางคนก็กิเลสขาดไปด้วย บางคนเป็นนิมิตเฉยๆ อยู่ที่ว่าศีล สมาธิ ปัญญาเราสมบูรณ์พอไหม ยังไม่พอเราก็ภาวนาของเราไปอีก ตอนหลับอยู่บางทีจิตก็เดินปัญญาได้ หรือจิตเข้าสมาธิได้ ร่างกายนอนนี่จิตมันไม่ได้หลับ จิตมันยังภาวนาได้ก็มี บางทีระเบิดเปรี้ยงปร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ ส่วนเป็นแสงเป็นสีเป็นอะไรนี่เป็นอาการของนิมิต นิมิตทั้งนั้น ก็เป็นอาการของการที่จิตมันมีสมาธิขึ้นมา ไม่ว่ามัน เฝ้ารู้กายรู้ใจของเราไปเรื่อย ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ เราก็ไม่เลิกดู ปีหนึ่งฝึกได้แค่นี้เก่งมากๆ ใช้ได้เลย เอ้า ต่อไป

 

คำถาม 5: เข้าใจว่าตนเองฟุ้งซ่านมากและบ่อยๆ หลงไปอยู่กับความคิด ได้ฟังธรรมะของหลวงพ่อ หากฟุ้งซ่านมากให้ท่องพุทโธถี่ๆ ช่วงนี้จึงท่องพุทโธถี่ๆ และเมื่อรู้ตัวว่ากำลังฟุ้งซ่าน ก็จะกลับมาพุทโธ พยายามรู้ตัวให้มากระหว่างวัน ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำการภาวนาซึ่งตอนนี้ ควรปฏิบัติและทำอย่างไรให้ถูกต้อง ให้จิตถึงฐาน

หลวงพ่อ: ทำอย่างที่ทำนี่ล่ะนะ ทำไปเรื่อยๆ มันถึงฐานเอง เดินมาได้ดีแล้ว ใจเราฟุ้งซ่านเรารู้ เราก็พุทโธเร็วๆ ใจสงบพุทโธมันก็ช้าลง เราก็รู้ทันไป พุทโธเราก็รู้เท่าทันจิตใจของเราไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เจริญเอง

 

คำถาม 6: กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกได้ฟังซีดีหลวงพ่อมาประมาณ 1 ปี และปฏิบัติตามคำสอนมาตลอด มีจิตที่ฟุ้งมาก หลงตลอดเวลา พอมาฟังซีดีหลวงพ่อ แล้วนำปฏิบัติ พอรู้สึกตัว จิตหลง จิตฟุ้ง พอรู้บ้าง รู้ว่าจิตไม่ถึงฐาน จะใช้พุทโธและดูลมหายใจ อยากถามหลวงพ่อว่า ที่ปฏิบัติอยู่นี้ทำถูกต้องไหมคะ

หลวงพ่อ: ถูกต้องแล้ว ฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกให้สม่ำเสมอ ทำทุกวัน ฝึกไป เวลาเราอยู่ธรรมดาอย่างนี้พุทโธ พุทโธไป หายใจเข้าพุท ออกโธ อะไรก็ได้แล้วแต่เราสะดวก แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ขอแค่ว่าให้ใจมันมีเครื่องอยู่เท่านั้น มีพุทโธ พุทโธไป ใจมันฟุ้งซ่าน มันก็หนีไปคิด เราก็รู้ทันว่าใจหนีไปคิดพุทโธ พุทโธ พอมัน ฟุ้งซ่านแล้วใจรำคาญ หงุดหงิด ฟุ้งซ่านแล้วรำคาญใจก็รู้ว่ารำคาญ พุทโธ พุทโธไป จิตสงบ มีความสุข รู้ว่ามันสงบรู้ว่ามันมีความสุข รู้อย่างที่มันเป็น พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วก็รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของใจเรา รู้ไปสบายๆ ทำให้สม่ำเสมอ ตรงนี้ต้องใช้เวลา ดี วันนี้ที่ส่งการบ้านมาใช้ได้ทั้งนั้นเลย ดี มีฟุ้งเยอะๆ อยู่คนเดียว อยู่ตรงนี้เบอร์อะไรจำไม่ได้แล้ว

 

คำถาม 7: ฟังเทปการเทศน์ของท่านจาก YouTube ฟังมา 10 เดือนส่งการบ้านครั้งแรก ทำในรูปแบบทุกวัน ไหว้พระสวดมนต์วันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างวัน พยายามรู้สึกตัว แต่ไม่ได้บ่อย ตอนนี้ตัวเองเป็นอย่างไร และขอคำแนะนำจากหลวงพ่อ เพื่อการพัฒนาตนต่อไป เมื่อ 2 เดือนก่อน ล้างหน้าเงยหน้าขึ้นมา มองเข้าไปในลูกตาตัวเองในกระจก แล้วรู้สึกที่มองลงไป ใคร หรืออะไร ไม่ใช่เรา เป็นอย่างนี้ 2 รอบ อยากทราบว่ามันคืออะไร

หลวงพ่อ: มันมีปัญญาขึ้นมา มันเห็นความจริง มันจะเห็นความจริงของกายก่อน อย่างบางคนแปรงฟันอยู่ อยู่ๆ มันรู้สึกเลย มือนี่มันเป็นท่อนๆ อะไรไม่รู้ ไม่ใช่เรา อย่างบางคนเดินจงกรมยังเคลื่อนไหวอยู่ แล้วจิตมันมีสมาธิขึ้นมา มันเห็นเลย ตัวที่เดินอยู่ มันตัวอะไรไม่รู้ มันไม่ใช่เราหรอก เราจะดูหน้าที่คนดู มองตามันแล้วไม่รู้มันตัวอะไร มันไม่ใช่เราหรอก การเห็นกายไม่ใช่เราไม่ยาก แต่การที่จะเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา อันนี้ยาก ถ้าเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอย่างแท้จริงมันก็จะได้ธรรมะแล้ว แต่ตอนนี้เริ่มต้นเห็นกายไม่ใช่เราก็ถือว่าดีมากแล้ว ภาวนาต่อไปทำต่อไป มีสติรู้กายรู้ใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสติปัญญามันแก่กล้ามันจะรู้ตัวเราไม่มีหรอก กายนี้ไม่ใช่เรา จิตใจนี้ไม่ใช่เรา ตัวเราไม่มี มันเห็นเอง คิดเอาไม่ได้

 

คำถาม 8: กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ ฟังแนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อจาก YouTube มาประมาณหนึ่งปีกว่า เป็นการส่งการบ้านครั้งแรกค่ะ การปฏิบัติตอนนี้สวดมนต์และทำสมาธิในรูปแบบ ครั้งละประมาณ 30 นาที เช้าและเย็น ระหว่างวันรู้สึกร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหายใจเป็นระยะบ้างค่ะ กราบขอความเมตตาหลวงพ่อ แนะนำชี้แนวทางและขอการบ้านเพื่อการปฏิบัติเพียรต่อไปค่ะ

หลวงพ่อ: ที่ทำอยู่ถูกแล้ว พอทำถูกแล้วก็ทำให้มากๆ หมายถึงทำให้ต่อเนื่อง ทำบ่อยๆ มีเวลาเมื่อไหร่ก็รู้สึกเอา ไปทำงานอยู่ว่างๆ ไม่ต้องคิดอะไร ก็รู้สึกกายรู้สึกใจเอา ถ้าตอนไหนทำงานที่ต้องใช้ความคิด มันรู้สึกไม่ได้ นี่เก็บเล็กเก็บน้อยไปมีเวลาว่างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ปล่อยให้เสียเปล่าๆ เก็บไปเรื่อยๆ แล้วการภาวนาเราจะก้าวหน้าเร็ว

หลวงพ่อนะถือเป็นพวกที่ภาวนาเร็ว ที่ภาวนาเร็วไม่ได้เก่งหรอก แต่เพราะอึด ตื่นนอนมาก็ดูกายดูใจแล้ว จะอาบน้ำ จะกินข้าว จะขับถ่ายก็ดู กายดูใจ จะไปทำงานขึ้นรถเมล์อะไรก็ดูกายดูใจไป ตอนทำงานที่ต้องคิดดูไม่ได้ ตอนที่เบรกนะ เช่นจะเดินไปห้องน้ำก็ดูกายดูใจ ดูอย่างนี้ เก็บหมดเลย ช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ทิ้ง เพราะฉะนั้นชั่วโมงของการปฏิบัติในแต่ละวันของหลวงพ่อนี่เยอะ อย่างถ้าชั่วโมงหนึ่งเราภาวนาได้ 5 นาทีนะ 12 ชั่วโมงคือ 1 ชั่วโมงแล้ว มีใครทำบ้าง ถ้าทำชั่วโมงที่ภาวนามันจะเพิ่ม แล้วถ้าเราภาวนาทั้งวันอย่างนี้ ตอนเราภาวนาในรูปแบบ ตอนกลางคืนอะไรอย่างนี้ มันจะไม่นั่งหลับ เพราะจิตมันมีกำลัง แต่ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านมาตั้งแต่เช้า กลางคืนไปนั่งสมาธิก็หลับเลย เพราะมันหมดแรง เพราะฉะนั้นเราเก็บเล็กเก็บน้อยเก็บไปเรื่อยๆ แล้วการทำในรูปแบบนั้นก็จำเป็น ทำได้ก็ดีแล้ว ปีกว่าๆ ภาวนามาได้อย่างนี้ถือว่าดีนะ ใช้ได้

 

 

วันนี้วันนี้ที่ส่งการบ้านหลายคนเลยที่บอกว่าภาวนาปีกว่าๆ ดีมากๆ เลย รู้สึกตัวขึ้นมาได้ ไม่ธรรมดานะ เมื่อ 30-40 ปีก่อนหลวงพ่อตระเวนดูสำนักปฏิบัติทั้งหลาย หาคนที่รู้สึกตัวได้นี่หายากจริงๆ มันมีแต่คนหลง นั่งสมาธิก็หลงเพ่ง บางทีนั่งสมาธิอยู่ก็หลงไปคิด มีแต่เรื่องหลง ตอนนี้พวกเราฟัง YouTube ดู YouTube หลวงพ่อ มันตื่นมันรู้ มันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เห็นๆ มันเห็นด้วยตัวเองว่ามันเปลี่ยนได้ ไม่ใช่เกิดมาเป็นวัวเป็นควาย แล้วก็ตายไปอย่างวัวอย่างควาย

เราภาวนา เกิดมาไม่รู้ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่มีโอกาสได้ฟังธรรมะแล้วก็ลงมือปฏิบัติให้มันจริงจัง อย่าขี้เกียจ ทำให้ได้ทุกวัน ทำให้สม่ำเสมอ จิตเราจะมีพัฒนาการ วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ว่าพัฒนาหรือไม่พัฒนา ไม่เห็นต้องถามใครเลย หลวงพ่อภาวนามันเกิดมันแหวกออกจากกลางอก สว่างขึ้นมา หลวงพ่อไม่มานั่งสงสัยว่ามันคืออะไร ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ก็ไปเล่าถวายท่าน ไม่ได้คิดว่าท่านจะต้องมารับรองอะไร เล่าให้ท่านฟังเพื่อให้ท่านรู้ว่า การที่ท่านดำรงขันธ์อยู่สอนธรรมะอยู่นั้น มีคนที่ตั้งใจปฏิบัติตามท่านอยู่ ถึงยังโง่ยังเขลาอยู่ แต่ก็ไม่เลิก ต้องการให้ท่านเห็นตรงนี้ ครูบาอาจารย์เห็นแล้วครูบาอาจารย์ก็ชื่นอกชื่นใจ เห็นลูกศิษย์ขยันภาวนา ส่วนจะเป็นอะไร จะเกิดอะไร จะเป็นอะไร ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร มันดูที่ตัวเองได้ว่าเราล้างกิเลสได้จริงแค่ไหน ถ้าล้างกิเลสแล้วยังผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ มันก็ยังไม่ใช่ของจริง ถ้าล้างกิเลสแล้วกิเลสตายสนิท ไม่เกิดอีกโดยไม่ต้องรักษาก็ค่อยน่าเชื่อหน่อย วิญญูชนรู้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปถามใครหรอก

 

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 สิงหาคม 2563