สติ คือสิ่งจำเป็นตลอดสายของการปฏิบัติ

เมื่อวานครูอาจารย์สิ้นไปอีกองค์หนึ่ง หลวงปู่เอียน คนกรุงเทพฯไม่ค่อยรู้จัก บางคนทางจังหวัดสุรินทร์รู้จัก สายหลวงปู่ดูลย์ สืบทอดกันมาได้หลายรุ่นแล้วจากหลวงปู่ดูลย์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นหลักอยู่ก็มี หลวงพ่อกิม หลวงพ่อคืน ถัดมาก็รุ่นหลวงตาผนึก ลงมาถึงทางนี้ หลวงปู่เอียนสิ้นไปเมื่อวานนี้ หลวงพ่อตั้งท่าจะไปเยี่ยมท่านตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา ติดเป็นโรคปากเบี้ยวพอดี ต้องหาหมออยู่ตลอดเลยไม่ได้ขึ้นไป เมื่อวันอังคารได้ข่าวว่าท่านเป็นมากแล้ว ไม่ฉันอะไรแล้ว

วันพุธเลยขึ้นไปก็ได้ไปเจอท่าน ท่านนอน ลูกศิษย์ไปกระซิบบอกหลวงพ่อปราโมทย์มา ท่านก็พยักหน้าท่านพูดไม่ได้ สติดีมากๆ เลย ท่านนอนหลับตาอยู่ ตอนที่หลวงพ่อกราบท่าน ลูกศิษย์ก็บอกหลวงพ่อกราบ ท่านก็ยกมือรับไหว้ ท่านอายุตั้ง 96 แล้ว อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะมรณภาพ เห็นผลของการภาวนา สติท่านยังดีมากๆ เลย ร่างกายไม่ไหวแล้ว ฉันข้าวต้มตอนเช้าได้ 5-6 ช้อน มากกว่านั้นก็อาเจียน ร่างกายขาดพลังงานขาดน้ำตาล หลับๆ ไป แต่สติสมบูรณ์ จิตใจดีสว่างไสว ท่านมรณภาพอย่างงดงามอีกองค์หนึ่ง ลูกศิษย์กำลังพยายามสร้างเจดีย์ สร้างไม่ทัน

เวลาครูบาอาจารย์หมดไปสิ้นไป เป็นเครื่องเตือนใจพวกเราว่าเราประมาทไม่ได้ มีโอกาสเรียนต้องรีบเรียน เรียนแล้วต้องรีบภาวนา ติดขัดขึ้นมายังถามครูบาอาจารย์ได้ เพราะสิ้นครูบาอาจารย์ที่เราลงใจให้ เราไม่รู้จะถามใคร ต้องใช้ความสังเกตเอาเอง ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อที่หลวงพ่อเรียนด้วยองค์สุดท้าย คือหลวงปู่สุวัจน์ หลวงพ่อบวชได้พรรษาเดียว ออกพรรษารีบไปหาท่านเลย แล้วท่านก็สิ้นไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่พรรษาที่ 1 ผ่านไปแล้ว หลวงพ่อก็ภาวนาเอาเอง ใช้ความสังเกตเอาใช้หลักที่ครูบาอาจารย์สอน

สังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ ทำอะไรแล้วกุศลเจริญ ทำอะไรแล้วกุศลเสื่อม ทำอะไรแล้วอกุศลจะเกิดขึ้น เกิดมากขึ้น ทำอะไรแล้วอกุศลไม่ค่อยเกิด สังเกตตัวเองเรื่อยๆ ใช้โยนิโสมนสิการ ถ้าเราไม่มีกัลยาณมิตรที่เราลงใจได้ เชื่อมั่นได้ เราก็ใช้โยนิโสมนสิการ สังเกตตัวเองเอา สิ่งที่เราทำอยู่นี่กุศลหรืออกุศลมันเติบโต มันลดละอกุศลไหม มันพัฒนากุศลขึ้นมาไหม สังเกตตัวเอง

พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนบอกว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของอริยมรรค” อีกคราวหนึ่งท่านสอนบอกว่า “โยนิโสมนสิการเป็นทั้งหมดเลยของอริยมรรค” บทเต็มๆ ท่านบอกว่า “แสงเงินแสงทอง เป็นเครื่องหมายแรกว่าพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นเครื่องหมายแรกแห่งอริยมรรค” อีกคราวหนึ่งท่านก็บอก “แสงเงิน แสงทองเป็นเครื่องหมายแรกของดวงอาทิตย์ว่าจะขึ้นแล้ว โยนิโสมนสิการ เป็นเครื่องหมายแรก”

ฉะนั้นมีสองสิ่งที่ท่านพูดไว้ในฐานะเสมอกันเลย คือ โยนิโสมนสิการกับกัลยาณมิตร สองอันนี้

พวกเราดิ้นรนหากัลยาณมิตร บางทีบางคนมาส่งการบ้านหลวงพ่อ กัลยาณมิตรสอนอย่างนี้ๆ หลวงพ่อดูหน้าแล้วไม่ใช่กัลยาณมิตรหรอก เราไปตั้งให้เขาเป็นกัลยาณมิตรเอง ความจริงเพี้ยน ในยุคที่ครูบาอาจารย์หายาก สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือโยนิโสมนสิการ แยบคายในการสังเกตตนเอง เราทำอะไรแล้วอกุศลที่มีอยู่ดับไป อกุศลใหม่ไม่เกิด เราทำอะไรแล้วกุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น เราต้องดูอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ นี่เป็นตัวโยนิโสมนสิการที่สำคัญมาก

อย่างบางท่านฉันข้าวมากแล้วมึน ภาวนาไม่ถูกเลย ท่านก็ฉันข้าวน้อยลง ท่านดูตัวเอง ทำอย่างไรแล้วสติเกิด สติก็เป็นตัวกุศล บางองค์อดข้าวได้แต่อดนอนไม่ได้ อดนอนวันหนึ่งเบลอไป 3 วันเลย ต้องนอนชดเชย ท่านก็ดูตัวเอง ท่านอดข้าวแต่ท่านไม่อดนอน บางองค์ท่านอดนอนท่านไม่อดข้าว บางองค์ไม่อดข้าวไม่อดนอน บางองค์ทั้งอดข้าวทั้งอดนอน ท่านดูตัวของท่านเอง

เราไม่ได้ไปดูคนอื่น สังเกตตัวเองทำอะไรแล้วกุศลเจริญ กุศลดูง่ายๆ สติเกิดบ่อยไหม สติเป็นตัวชี้ขาดเลย ว่าเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นจิตเป็นกุศลแน่นอน สมาธิไม่ใช่ตัวชี้ขาด จิตสงบไม่จำเป็นต้องเป็นกุศล ต้องระวัง แต่ถ้ามีสติ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึกได้ นี้เป็นกุศลแน่นอน แต่จิตสงบ สว่าง นิ่งสบายอยู่เฉยๆ อาจจะเป็นโมหะก็ได้ เป็นโมหะสมาธิก็ได้

กุศล: สติเป็นกุศลแน่นอน ปัญญาเป็นกุศลแน่นอน วิริยะความเพียรชอบเป็นกุศลแน่นอน ศรัทธาไม่ใช่งมงาย ศรัทธาเป็นกุศล แต่ตัวสมาธินี่ไม่แน่ว่ากุศลหรืออกุศล

อย่างนักกรรมฐานที่ฝึกกันแทบเป็นแทบตาย ฝึกสมาธิกัน ดูๆ แล้วบางทีก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่ฝึกเพราะไปฝึกผิด ไปฝึกเอามิจฉาสมาธิเข้า อย่างนั่งสมาธิแล้วก็เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัวอันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ นั่งสมาธิแล้วจิตออกนอกไปเห็นผี เห็นเปรต เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์อะไรแบบนี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สมาธิที่เป็นสัมมา

 

สัมมา- คือเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผล

ตัวสัมมาๆ นี่ต้องเป็นตัวที่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลทั้งหมด ถ้าไม่อย่างนั้นไม่เรียกตัวสัมมา สัมมาทิฏฐิ นี่มีความเห็นถูกต้อง เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน สัมมาสังกัปปะ มีความคิดถูกต้องเกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน สัมมาสมาธิ ก็สมาธิที่ถูกต้อง เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน มีสองอัน อันหนึ่งคืออารัมมณูปนิชฌาน อันหนึ่งเป็นลักขณูปนิชฌาน ประกอบด้วยสติ

สติสำคัญมาก เมื่อใดขาดสติเมื่อนั้นไม่ใช่กุศลแล้ว นั่งแล้วเคลิบเคลิ้มใจลอยลืมเนื้อลืมตัว มีกายลืมกายมีใจลืมใจ ใช้ไม่ได้ ไม่มีสติ

ฉะนั้นเวลาที่เราจะฝึกตัวเอง ฝึกสติให้ดี การจะฝึกสติให้ดีต้องหัดรู้สภาวะ เพราะสติมีการที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิด จิตจะจำสภาวะได้แม่นยำ จิตต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ ที่หลวงพ่อบอกเมื่อกี้ ถ้าจะเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผล มีสติ แล้วสติตัวนี้ต้องเป็นสติปัฏฐาน เป็นสติที่ระลึกรู้กายสติที่ระลึกรู้ใจ เพราะถ้าสติที่ไม่ได้ระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ ท่านไม่เรียกสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานไม่ใช่สัมมาสติ

พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นสติรู้กายรู้ใจตัวเอง ต้องฝึก อย่างจะมีสติรู้ลมพัดใบไม้ไหว คอยดูไปอย่างนี้ มีสติรู้ นกบินมาก็รู้ งูเลื้อยมาก็รู้ อย่างนี้เป็นของออกนอก ยังไม่ใช่ตัวสัมมาสติ สมาธิที่เกิดขึ้นมันก็เป็นสมาธิออกนอก เพราะสติออกนอก สมาธิมันก็ออกนอก ถ้าเรามีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้ใจแล้ว สมาธิที่เกิดขึ้นจะเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ระลึกรู้กายรู้ใจตัวเองได้ ถ้าระลึกรู้อยู่ในอารมณ์เดียวไม่หลง ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่ได้เพ่ง เป็นสมาธิชนิดอารัมมณูปนิชฌาน ถ้าจิตมันเคลื่อนไปแล้วเรารู้ สติรู้ทันจิตที่เคลื่อนไปสมาธิชนิดลักขณูปนิชฌานก็มีขึ้นมา ต้องอาศัยสติรู้กายรู้ใจ ถ้าไม่มีสติรู้กายรู้ใจ สมาธิที่เป็นสัมมาจะไม่มี

สัมมาสมาธิที่บริบูรณ์ มันมาจากสัมมาสติที่บริบูรณ์ มันเกื้อกูลกัน เวลาเราลงมือฝึก มีสติให้มากๆ เข้า แล้วถ้าจะให้ครอบคลุมองค์มรรคให้หมดเลย คอยรู้เท่าทัน มีสติรู้เท่าทันจิตตนเอง เวลามันจะคิด อะไรอยู่เบื้องหลังการคิด เวลามันจะพูด อะไรอยู่เบื้องหลังการพูด เวลามันจะทำสิ่งต่างๆ ทางร่างกาย อะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำ คอยรู้ทันตัวนี้ให้ดีเลย

ถ้าเรารู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด ความคิดของเราจะเป็นสัมมาสังกัปปะ เราจะคิดถูก เป็นความคิดที่ถูกต้องไม่ได้คิดด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ อย่างเวลาเราคิด สังเกตให้ดีเถอะคนทั้งหลายคิดนี่คุณภาพการคิดต่ำ เพราะมันคิดแล้วเจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ

อย่างเวลาไปดูพวกเราลองไปดูที่เขาเรียกอะไรนะ Facebook อะไรแบบนี้ ที่เขียนๆ กัน วิพากษ์วิจารณ์อะไร ไปดูเถอะวิพากษ์วิจารณ์ด้วยอคติเกือบร้อยละร้อยเลย ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ ก่อนที่เราจะไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร เราก็วัดใจตัวเองก่อนที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ เพราะราคะหรือเพราะเราชอบหรือเปล่า

อย่างสมมติเราชอบนักการเมืองคนนี้ คนนี้พูดอะไรโง่ๆ ทำอะไรโง่ๆ เราก็ว่าดี นี่เรามีอคติ
คนนี้เราเกลียดเป็นนักการเมืองที่เราเกลียด ทำดีอย่างไรเราก็ว่ามันไม่ดี นี่อำนาจของโทสะมันบงการให้เราคิดไปอย่างนั้น
หรือบางทีคิดโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี นี้เป็นอำนาจของโมหะ ร้ายแรงที่สุด

คิดด้วยอำนาจของโมหะร้ายกว่าคิดด้วยอำนาจของราคะและโทสะอีก ถ้าคิดด้วยราคะ-โทสะ พอมีสติรู้ทันราคะ-โทสะมันหายง่ายๆ แต่ถ้าคิดโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี เช่น คิดว่าเป็นนักการเมือง หรือเป็นข้าราชการโกงก็ได้ขอให้มีผลงาน อย่างนี้เรียกไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด

ทำบาปเล็กน้อยก็ไม่ควรทำเพราะเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราได้ยินวาทะ “คอร์รัปชันก็ได้ให้ผลงานดีก็แล้วกัน” อันนี้ไม่ใช่ ถ้าคนที่คิดอย่างนั้นจริงๆ นั้นคิดด้วยโมหะ คิดโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ถ้าเขารู้ว่าคอร์รัปชันมันก็ไม่ถูกหรอกแต่มันมีผลประโยชน์ เป็นการหาเหตุผลสนับสนุนให้ตัวเองคอร์รัปชัน อันนี้คิดด้วยโลภะ คิดด้วยราคะ

เราวัดใจตัวเองให้ดี ก่อนจะไปวิจารณ์คนอื่น ตัวนี้สำคัญ วัดใจตัวเองให้ดีก่อน ถ้าเรียนกับหลวงพ่อ การจะวัดใจตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอะไร เราคอยรู้เท่าทันใจของเรา ตอนนี้มันถูกราคะครอบงำ หรือมันถูกโทสะครอบงำ หรือมันมีโมหะ มันกำลังหลงอยู่อะไรอย่างนี้ ฝึกให้มากๆ รู้เท่าทันไปบ่อยๆ

อะไรอยู่เบื้องหลังการคิดของเรา รู้ทัน ถ้าเรารู้ทันเบื้องหลังของความคิดแล้ว ความคิดของเราจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง ความคิดของเราจะประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยความไม่พยาบาท ประกอบด้วยความไม่หลง สัมมาสังกัปปะก็เกิดเพราะความคิดถูก คำพูดก็ถูก คำพูดผิดเพราะว่าคิดผิด คิดผิดเพราะว่าราคะโทสะโมหะมันเข้าไปแทรกแซงแล้วเราไม่รู้ทัน

เพราะฉะนั้นความคิดถูกก็เป็นจุดตั้งต้นทำให้คำพูดถูก เมื่อความคิดก็ถูกคำพูดก็ถูก สัมมากัมมันตะ คือการกระทำของเราก็ถูก เมื่อความคิดของเราถูก คำพูดของเราถูก การกระทำของเราถูก การเลี้ยงชีวิตของเราก็ถูก ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูก สัมมาวายามะก็ถูกก็เกิดขึ้น ก็คือเราจะเกิดความเพียรที่จะลดละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วที่ยังไม่เกิดให้เกิด ที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้นนี่คือตัวสัมมาวายามะ

มันก็เชื่อมโยงมาจากการที่เรารู้เบื้องหลังความคิดของเรานั่นเอง ส่งทอดกันขึ้นมาในที่สุดกุศลของเราก็เจริญขึ้นๆ เป็นลำดับ เวลาเรามีกุศลตัวนี้ สติมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วต่อไปร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว สติจะรู้เอง จิตใจขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว สติจะรู้เอง มีความเพียรถูกต้อง คือมีความเพียรรู้กาย มีความเพียรรู้ใจตัวเองเรื่อยๆ ในที่สุดสติที่ระลึกรู้กายรู้ใจก็จะบริบูรณ์ขึ้น ฉะนั้นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือเพียรระลึกรู้กาย เพียรระลึกรู้ใจ มันจะทำให้สัมมาสติเกิด

ตรงที่สัมมาสติเกิด ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในกายสติระลึกได้เอง ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติระลึกรู้ได้เองจะอัตโนมัติ เรียนกับหลวงพ่อถ้าสติไม่อัตโนมัติ หลวงพ่อจะถือว่าฝีมือยังไม่ดีพอ แต่ถ้ามีกุศลหรืออกุศล สุขหรือทุกข์เกิดขึ้นในกายในใจอะไรแล้วรู้ทัน โดยที่ไม่เจตนาจะรู้ อันนี้เรียกสติเราใช้ได้แล้ว

ทันที่ที่เรารู้สภาวะถูกต้องตรงตามความเป็นจริง สมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นจะเกิดขึ้นเอง ไม่ใช่แค่ว่าจิตหลงแล้วรู้ถึงจะเกิด ราคะเกิดรู้ว่ามีราคะ ราคะดับจิตตั้งมั่นเอง มันเป็นเองสภาวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการที่เรามีสัมมาสติ คือเรามีสติระลึกรู้สภาวะทั้งหลาย นั่นจะทำให้เกิดสัมมาสมาธิขึ้น แล้วมันไม่ได้เกิดสัมมาสมาธิชนิดที่จะเดินปัญญาตลอด บางครั้งจิตไม่มีกำลังพอจิตเหน็ดเหนื่อย พอมันเห็นจิตเคลื่อนไป รู้ตัวปั๊บ จิตมันรวมเข้ามาสงบเลย จิตเข้าฌานเลยก็มี จิตรวมเข้าสมาธิเลยก็มี คือมันเข้าอารัมมณูปนิชฌานไปเลย หรือบางทีก็พลิก มีกำลังพอพลิกไปเดินลักขณูปนิชฌาน เอาไว้เดินปัญญา จิตจะพลิกไปพลิกมาบางทีก็เป็นสมาธิชนิดตั้งมั่นเดินปัญญาได้ บางทีก็สงบอยู่เฉยๆ ไม่เดินปัญญา

อย่างเมื่อเช้าก่อนที่พวกเราจะเข้ามาในห้อง พระกำลังนั่งตักข้าว หลวงพ่อเดินดูพระหลวงพ่อ หลายองค์บอกมีอาการแปลกๆ หลวงพ่อบอกวันนี้ดี จิตมันมีสมาธิมีพลังขึ้นมา แล้วเป็นสมาธิที่จิตไม่หยุดนิ่ง ถ้ามีสมาธิแล้วก็นิ่งเฉยอันนั้นเป็นสมาธิไว้พักผ่อน เจริญสติเรื่อยๆ จะเกิดสมาธิชนิดพักผ่อน แต่พอกำลังมันพอมันพลิกเป็นสมาธิชนิดเดินปัญญา

จิตที่มีสมาธิชนิดเดินปัญญามันจะไม่บังคับตัวเองให้นิ่ง ไม่เผลอ แล้วก็ไม่เพ่ง จิตมันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน ฉะนั้นภาวนามาถึงตรงนี้บางทีงง วันนี้จิตฟุ้งซ่านแล้วหลวงพ่อชมว่าดี เมื่อก่อนหลวงพ่อพุธท่านก็สอนหลวงพ่อมา บอกว่าจิตที่มีสมาธิกับจิตที่ฟุ้งซ่านคล้ายกัน คือมันทำงานมันคิดนึกปรุงแต่ง แต่จิตฟุ้งซ่านจิตมันนึกคิดปรุงแต่งแล้วไม่รู้ทัน เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าจิตคิดนึกรู้ปรุงแต่งแล้วรู้ทันเราเรียกว่าจิตเจริญปัญญา ไม่เหมือนกัน

อย่างวันนี้หลวงพ่อชมพระของหลวงพ่อหลายองค์ว่า วันนี้ดีถ้าจิตมีพลังตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญาได้ พระก็บอกว่าผมนึกว่ามันไม่ดี มันสงบแปลกๆ เพราะมันฟุ้งซ่าน มันสงบแปลกๆ มันดูฟุ้งซ่าน หลวงพ่อบอกนั่นล่ะที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ ที่หลวงพ่อพุธท่านสอน จิตที่เดินปัญญามันไม่สงบอยู่เฉยหรอก ถ้าจิตติดสมาธิสงบอยู่เฉย เจอครูบาอาจารย์โดนเฉ่งโดนเขกกระบาลเอา ถ้าไม่มีสมาธิเลยเจอครูบาอาจารย์ท่านเฉยๆ ท่านสอนไม่ไหวแล้ว ก็ปล่อยมันทิ้งไป คนไหนสอนได้ก็สอน ถ้าสอนแล้วฝึกๆ ไปแล้วจิตมันนิ่งว่างอยู่อย่างนี้ ท่านบอกอย่างนี้ใช้ไม่ได้ต้องให้จิตมันเดินปัญญาให้ได้

ถ้าเป็นสายครูบาอาจารย์วัดป่าส่วนใหญ่ ท่านจะพุทโธยันจิตมันนิ่ง ถ้าจิตมันนิ่งแล้วว่างๆ นิ่งๆ อยู่ ท่านจะให้พิจารณาร่างกาย ให้คิดพิจารณาร่างกายกระตุ้นให้จิตทำงาน เป็นอุบายของการปฏิบัติเพื่อให้จิตเดินปัญญา แต่อย่างเราดูจิตมาจิตมันขยัน วุ่นวายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่พอเรามีกำลังขึ้นว่าเราเห็นจิตบางทีจิตก็นิ่งว่างๆ จิตบางทีก็ทำงาน แต่จิตนั้นเป็นคนดู ค่อยๆ ฝึกแล้วมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ถึงวันหนึ่งสติก็จะอัตโนมัติ สมาธิก็อัตโนมัติ การเจริญปัญญาก็อัตโนมัติ ต้องฝึกจนอัตโนมัติถึงจะใช้ได้ ถ้าไม่อัตโนมัติยังจงใจทำอยู่ เรียกว่าเจือด้วยโลภเจตนา การภาวนายังไม่สะอาดจริงมีกิเลสแทรก

 

สติจำเป็นตลอดสายของการปฏิบัติ

จุดตั้งต้นก่อนจะมาถึงตรงนี้ได้ คอยรู้ทัน อะไรที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่มีอคติ ไม่อคติต่อคนอื่นด้วย ไม่อคติต่อตัวเองด้วย บางทีบางคนภาวนาแล้วก็นั่งด่าตัวเองว่าทำไมกิเลสมันเยอะนัก ทำไมคนอื่นเขาสบาย เราไม่สบายอย่างเขาอะไรอย่างนี้ ก็คนมันไม่เหมือนกัน อย่างทฤษฏีบอกมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่จริง มนุษย์ไม่เคยมีความเท่าเทียมกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว บางคนเกิดมารวย บางคนเกิดมาพ่อแม่จน บางคนเกิดมาหน้าตาดี บางคนเกิดมาหน้าตาไม่ดี บางคนหน้าตาดีแต่โง่ บางคนหน้าตาดีแล้วฉลาดด้วย บางคนหน้าตาไม่ดีแต่ฉลาด ต้นทุนของเราแต่ละคนไม่ได้เท่ากันหรอก ทฤษฏีบอกทุกอย่างเท่าเทียมกันมันไม่มีจริง ไม่มีจริงในโลก เป็นอุดมการณ์เป็นอุดมคติไม่มีจริง เพราะอย่างนั้นไม่ต้องคลั่งประชาธิปไตยนัก อย่าไปหลง มันไม่มีจริง

อ่านใจตัวเองให้ออก อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด อะไรอยู่เบื้องหลังคำพูด อะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำ อ่านใจตนเองได้ชำนิชำนาญแล้ว คำพูดของเราก็จะถูกต้อง การกระทำของเราก็จะถูกต้อง การเลี้ยงชีวิตของเราก็จะถูกต้อง การปฏิบัติธรรม คือทำความเพียร มีวิริยะก็จะถูกต้อง

หลวงปู่มั่นท่านสอนดีนะท่านบอก “มีสติก็มีความเพียร ขาดสติก็ขาดความเพียร”

สตินั้นจำเป็นตลอดสายของการปฏิบัติ มีสติรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดคำพูดการกระทำ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ละก็ อกุศลที่มีจะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดจะเกิด กุศลที่เกิดแล้วจะพัฒนาขึ้น สติจากที่เคยต้องเคี่ยวเข็ญให้เกิดก็จะกลายเป็นสติอัตโนมัติ สมาธิที่เคยโง่ซื่อบื้อ ให้เป็นสมาธิที่เดินปัญญาเป็น มันเจริญขึ้นๆ ปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร คิดเอาคิดเอา มันกลายเป็นเห็นเอา มันไม่ใช่คิดเอา อัตโนมัติขึ้นมา

ฉะนั้นให้การบ้านพวกเรา คอยรู้เท่าทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำของพวกเรา นั่นคือการปฏิบัติ เราจะเกิดความเพียรชอบขึ้นมา เพียรลดละอกุศล เพียรเจริญกุศลขึ้นมา เราตั้งเป้าถูกต้อง เราไม่ได้ปฏิบัติเอาดีเอาสุขเอาสงบอะไร แต่เราปฏิบัติเพื่อลดละกิเลส เพื่อเจริญกุศล ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อสิ่งอื่น ทีนี้จะทำได้ต้องมีสติรู้กายมีสติรู้ใจ สติปัฏฐานก็เกิด

สติตัวนี้จะเป็นสติที่เข้าขั้นเป็นสติระดับสูง บางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า มหาสติ ความจริงคำว่ามหาสติ มันไม่มีในตำราหรอก เป็นชื่อพระสูตร พระสูตรเรื่องสติปัฏฐานมีหลายสูตรเนื้อหาคล้ายๆ กัน บางอันย่อๆ บางอันยาวๆ สูตรหลักสูตรเต็มเลยเรียกว่า มหาปัฏฐานสูตร พอสติดีมากๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็เลยยืมศัพท์คำว่ามหาสติมาใช้ มหาสติ มหาปัญญา อะไรอย่างนี้คือสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติ มันเป็นมหา ถ้ายังไม่อัตโนมัติยังไม่ได้มหา ได้แค่นักธรรม อย่างนักธรรมตรี นักธรรมอะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นมหาต้องอัตโนมัติต้องฝึก

จุดตั้งต้นก็อยู่ที่รู้ทันความคิดของเรา ฝึกมากๆ ต่อไปสติก็อัตโนมัติ ความเพียรก็อัตโนมัติ การภาวนานั้นไม่ได้มุ่งอย่างอื่นเลย ไม่ได้มุ่งมีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตคนอื่น รู้อดีต รู้อนาคต รู้ชาติหน้า รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน รู้ว่าสวรรค์มีกี่ชั้น นรกมีกี่ชั้น ไม่ได้สนใจที่จะรู้ ไม่รู้จะรู้ไปทำอะไร มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้นหรอก ถ้ารู้ก็รู้เอง เป็นของเล่นของแถม ไม่ได้จงใจไปฝึก แต่ฝึกที่จะลดละกิเลสเจริญกุศล เรียกว่าสัมมาวายาวะ ถ้าฝึกมากเข้าๆ ต่อไปสติมันจะเชี่ยวชาญขึ้น ร่างกายขยับปั๊บรู้ปั๊บ จิตใจเคลื่อนปั๊บรู้ปั๊บเลย รู้อัตโนมัติขึ้นมา สติมันจะสมบูรณ์ขึ้นมา

สติที่สมบูรณ์จะทำให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์ สัมมาสติที่สมบูรณ์จะทำให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์ ไม่ใช่สติสมบูรณ์แล้วสัมมาสมาธิจะเกิด สติต้องเป็นสติปัฏฐาน สติรู้กายรู้ใจ ตัวสัมมานี่ประกอบด้วยสติ แล้วก็เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งอื่น เป็นสติที่ระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมของตัวเอง ถ้าละทิ้งตรงนี้แล้ว ไม่เห็นโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

อย่างหลวงปู่เอียน หลวงพ่อเจอท่านได้คุยธรรมะกับท่าน หลวงพ่อก็เล่าถวายท่าน หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อว่าพบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิตจึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่การทำลายจิตทำลายผู้รู้ไม่ใช่ไปทำลายมันโดยตรง เราต้องเห็นความจริงของจิตว่ามันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตจะปล่อยวางจิต หลวงปู่ท่านเรียกว่าทำลายจิต ที่จริงก็คือจิตปล่อยวางจิต ที่สุดของทุกข์มันก็อยู่ตรงที่จิตปล่อยวางจิตได้ อันนี้พระสนทนาธรรมกัน สนทนาธรรมกันเรื่องจิตเรื่องใจ

เวลาไปหาครูบาอาจารย์หลวงพ่อไม่ไปนั่งคุยกันเรื่องอื่นหรอก ท่านสบายดีไหมครับอะไรแบบนี้ มันเสียเวลา อย่างไปกราบหลวงปู่เอียน กราบท่าน ท่านรับรู้แล้วว่าหลวงพ่อมาเยี่ยมแล้ว จิตท่านก็รวมของท่านไปท่านต้องพักผ่อนของท่าน หลวงพ่อก็นั่งสมาธิของหลวงพ่อไป เป็นการไปเยี่ยมที่ไม่พูดกันสักคำ ลูกศิษย์ก็บอกหลวงพ่อว่าจะคุยอะไรกับท่านหรือเปล่า บอกไม่มีธุระต้องคุย ให้ท่านพัก กวนท่านโดยใช่เหตุ

นักปฏิบัติจริงๆ ไม่พูดมาก นักปฏิบัติจริงๆ เจริญสติมาก หลวงพ่อไปนั่งอยู่กับท่าน หลวงพ่อก็ดูของหลวงพ่อไป ดูจิตใจของเราไปดูกายของเราไป สมควรแก่เวลาแล้วเราก็กราบลา ลูกศิษย์ท่านกระซิบบอกอาจารย์ปราโมทย์จะกลับแล้ว ลงกราบอยู่ท่านก็รับไหว้ สติท่านสมบูรณ์ พวกเราฝึกไปจนสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติมันเกิด ค่อยๆ ฝึกไป

 

 

คำถาม 1: ที่ผ่านมาพยายามทำรูปแบบแต่ยังทำไม่ได้ทุกวัน เนื่องจากกลับจากทำงานแล้วเหนื่อย เวลาปฏิบัติส่วนมากจะฟุ้งซ่าน แต่พยายามรู้แล้วกลับมาที่ฐาน อยากทราบว่าเป็นการดึงหรือไม่ พอเห็นขันธ์แยกบ้างแต่ไม่บ่อยค่ะ กราบขอคำแนะนำจากหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ: ทำถูกแล้วล่ะ แต่เวลาเราทำงานเราเหนื่อย เราใช้ความคิดเยอะในแต่ละวัน จะไปนั่งสมาธิให้จิตสงบมันไม่สงบหรอก เราพยายาม ถ้ามีเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างวัน ช่วงนี้เป็นเวลาเราจะเดินไปห้องน้ำเราเจริญสติไปเลย เก็บเล็กเก็บน้อยไปเรื่อยๆ จิตมันจะมีพลังขึ้นมา ตอนไปนั่งตอนกลางคืนมันจะไม่นั่งหลับหัวซุกหัวซุนหรอก เพราะจิตมันได้พักเป็นระยะๆ หรือเจริญปัญญาเป็นระยะๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้นเพิ่มเรื่องการอยู่ในชีวิตประจำวัน เก็บเล็กเก็บน้อยไป มี 5 นาทีก็เอา 5 นาที มี 10 นาทีก็เอา 10 นาที มีสติอ่านจิตอ่านใจอ่านใจของตัวเองไป อ่านใจไม่ออกก็อ่านกายไป

บางทีทำงานมากๆ หัวหมุนติ้วๆ แล้ว ดูจิตไม่ได้ก็ดูกาย หลวงพ่อเมื่อก่อนไปห้องน้ำเห็นร่างกายมันเดินไปห้องน้ำ ไปฉี่ไปอะไร เดินกลับมานี่ดูจิตได้แล้วเก็บอย่างนี้เรื่อยๆ ตอนกลางคืนไปภาวนามันจะไม่หลับหัวซุกหัวซุนหรอก ถ้าจิตมันต้องการพักมันก็พักอย่างมีสติ ถ้าจิตมีกำลังพอมันก็เจริญปัญญาแบบมีสติอีก ที่ฝึกอยู่ถูกแล้วนะ ใช้ได้ ดีขึ้นตั้งเยอะแล้ว ใจมีสมาธิที่ดีแล้ว ตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ทีนี้ตั้งมั่นแล้วบางทีขันธ์แยกมันก็จะเดินปัญญา บางทีก็ตั้งแล้วก็รู้อยู่เฉยๆ มันเหนื่อยมากๆ ก็จะตั้งแล้วรู้เฉยๆ มันอยากพักผ่อนก็ไม่ว่ามัน อย่าไปฝืนมัน ฝืนมันปวดหัวเลย

 

คำถาม 2: ขณะที่นั่งภาวนา มีความรู้สึกว่ามีการติดขัดของลมหายใจเข้าออก หายใจไม่สะดวกเป็นบางวัน และบางวันก็หายใจดีจิตสงบดีแบบนี้ และบางวันจิตไปยึดที่พุทโธก็จะสงบดี แต่รู้สึกเหมือนจดจ่อ และเพ่งเกินไป ควรทำอย่างไรดีคะถึงจะเดินถูกทางค่ะ

หลวงพ่อ: รู้ทันอย่างที่มันเป็น นั่นล่ะถูก พุทโธแล้วไปเพ่งเอาพุทโธเข้าก็รู้ว่าเพ่งอยู่ ใจฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่านก็ใช้ได้ รู้สึกเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ตื่นเต้นแล้วก็เพ่ง เราก็รู้ว่าตื่นเต้นแล้วก็เพ่ง รู้อย่างที่มันเป็นไป ใจยังฟุ้งซ่านเก่งอยู่ ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ จะอยู่กับพุทโธอยู่กับลมหายใจอะไรก็ได้ แล้วพุทโธกับลมหายใจ ไม่ใช่ว่าทุกวันทำแล้วมันจะได้ผลเหมือนกัน บางวันทำแล้วก็สงบ บางวันทำแล้วไม่สงบก็ไม่เป็นไร มีหน้าที่ปฏิบัติเป็นพุทธบูชาก็ปฏิบัติไป สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่างขอให้ได้ปฏิบัติเท่านั้นพอแล้ว ถ้าหวังให้ว่าจะต้องสงบทุกวัน ใจจะโลภะเกิด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำกรรมฐานของเราคือโลภะ รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนี่แล้วมันเจริญได้เอง ที่ฝึกอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ใช้ได้ มันก็พัฒนาแล้ว ฝึกต่อไป

 

คำถาม 3: ภาวนาใช้คำบริกรรมพุทโธค่ะ รู้สึกว่าจิตยังไม่ค่อยเดินปัญญา ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำเพื่อแก้ไขปรับปรุงค่ะ

หลวงพ่อ: พุทโธต่อไป สมาธิยังไม่พอที่จะเจริญปัญญา ยังฟุ้งเก่งอยู่ พุทโธนี่บางทีท่านทำกันเป็นปีๆ มีพระลูกศิษย์หลวงปู่ทุยมาเล่าให้ฟัง ไปบวชอยู่กับหลวงปู่ทุย ทีแรกท่านก็บอกพุทโธ พุทโธอยู่ปีหนึ่ง แล้วเดินบิณฑบาตสวนทางกับหลวงปู่ หลวงปู่ตะโกนบอกว่ารู้สึกตัวไว้ อีกปีหนึ่งจากพุทโธมาสู่ความรู้สึกตัว

ของหนูใจยังฟุ้งเก่งอยู่ สมาธิยังไม่พอ พุทโธบ่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธแล้วจิตฟุ้งซ่านก็รู้ พุทโธแล้วจิตสงบก็รู้ พุทโธแล้วจิตสุข จิตทุกข์ จิตดีจิตชั่วก็รู้ไปเรื่อยๆ พุทโธแล้วรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ แล้วมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น เดี๋ยวมันเดินปัญญาเอง

 

คำถาม 4: กรรมฐานที่หลวงพ่อเคยให้คือการสวดมนต์ หนูทำตามมา 2 ปีกว่า ครั้งหนึ่งขณะสวดมนต์ในรูปแบบเห็นกายที่สวดมนต์ การบีบคั้นกลางอก ความคิดที่ลอยไปมา และรู้แยกจากกันไม่เห็นตัวเราตรงไหนเลย แต่พอนึกสงสัยว่าแล้วเราไปไหน ก็เห็นอาการคว้าไปจับตัวรู้แล้วเกิดเป็นตัวเราขึ้นมา ตอนนั้นรู้ทันทีว่าการคว้านี้คือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด จากนั้นก็ฟุ้งซ่านอยากจะกำจัดการคว้านี้ คำถามคือ ขอคำแนะนำให้ไปปฏิบัติต่อค่ะ

หลวงพ่อ: ทำถูกแล้ว ตรงที่จิตมันไล่ตะครุบนี่เป็นตัวอุปาทาน ไปตะครุบมาใจมันก็ดิ้น เป็นการสร้างภพ แล้วก็เกิดตัวเราขึ้นมาเป็นตัวชาติแล้วก็เกิดตัวทุกข์ขึ้นมา มันเป็นกระบวนการที่เห็น เห็นถูกแล้ว แต่อย่าอยากเห็นอีก เห็นก็ให้เห็นเอง

หน้าที่เราทำเหตุไปเรื่อยๆ สวดมนต์ก็สวดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสวดแล้วก็ลุ้นว่าเมื่อไหร่จะเกิดอีก เมื่อไหร่จะเกิดอีกไม่เกิดแล้ว เพราะโลภะมันเกิดแล้ว สติสมาธิปัญญาอะไรมันไม่เกิดหรอก รู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการสวดมนต์ด้วย มันก็คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา พอรู้ทันใจมันก็สะอาดขึ้นมา เดี๋ยวสมาธิมันก็เกิดเอง เดี๋ยวการเจริญปัญญามันก็เจริญได้เองล่ะ ไปฝึกไป อย่าสวดแล้วก็หวังว่ามันจะดีอย่างนั้นทุกครั้ง มันจะไม่ได้เลย เห็นก็เห็นไม่เห็นก็ช่าง มีก็มีไม่มีก็ช่างมีหน้าที่ทำเหตุไปเรื่อยๆ ใจมันยังฟุ้งซ่านอยู่รู้สึกไหม ไปรู้ทันอันนี้

 

คำถาม 5: กระผมทำรูปแบบ โดยขยับจังหวะมือแบบหลวงพ่อเทียน 14 จังหวะ ตอนนี้เพิ่มโดยการท่องคาถาในใจไม่ออกเสียงประมาณ 1 นาที ทำมาประมาณ 7- 8 เดือนแล้ว คาถาจะดังในใจตลอด มีหลงคิดเองตลอด รบกวนหลวงพ่อแนะนำครับ

หลวงพ่อ: ทำถูกแล้ว ใช้ได้แล้ว ฉะนั้นเราบริกรรมไปอยู่ในภายในใจเราไป ที่ว่าท่องคาถาแล้วจิตใจเราไหลไปคิดเรารู้อะไรแบบนี้ นั่นล่ะภาวนาถูกแล้ว ไปทำต่อไป อย่าอยากได้ผลนะ ที่คุณภาวนา ดีมากๆ เลย จิตมันมีสมาธิมันทรงตัวขึ้นมารู้สึกไหม สมาธิมันดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลย มันไม่ใช่สมาธิสงบซื่อบื้อแล้ว มันมีพลังมันทรงตัวขึ้นมาโดยที่เราไม่ได้เจตนา แล้วมันก็เห็นจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมันเป็นของมันเอง ตอนนี้จิตมันหนีไปคิดหรือเปล่า ดูออกใช่ไหม ฉะนั้นไปทำต่อไปที่ทำอยู่ใช้ได้ ดีนะ

 

คำถาม 6: ตอนนี้พยายามรักษาศีล และกาย วาจา ใจให้อยู่ในสุจริต และพยายามภาวนาในชีวิตประจำวัน แต่ทำรูปแบบไม่ค่อยได้นานค่ะ อยากขอคำแนะนำจากหลวงพ่อ

หลวงพ่อ: ทำไม่ได้นานก็ทำไป พอชำนาญขึ้นก็ทำได้นานมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันได้แล้วก็ไม่ต้องทำในรูปแบบ มันจะไปไม่รอดจริงหรอก อย่าว่าแต่พวกเราเลย หลวงพ่อนั่งสมาธิตั้งแต่ 7 ขวบ นั่งสมาธิอยู่ 22 ปีพอมาเจริญปัญญาอยู่ในชีวิตประจำวัน ดูถูกสมาธิไม่ยอมทำในรูปแบบ ดูๆๆ ลูกเดียวเลย กำลังสมาธิ 22 ปี ใช้เจริญสติเจริญปัญญาในชีวิตธรรมดาได้ 2 ปีเอง

กำลังสมาธิของหนูยังไม่พอหรอก เราก็ฝึกของเราไปในรูปแบบ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่างขอให้ได้ฝึกก็แล้วกัน แล้วถ้าเราฝึกโดยไม่โลภว่าต้องจะดี เดี๋ยวใจมันจะค่อยสงบไปเองจะมีพลังขึ้นมาเอง แต่ถ้าทำด้วยความโลภ จะไม่เกิดอะไรขึ้นมามันก็ได้ฟุ้งไป พอฟุ้งนานๆ เข้าเราก็รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์เราไม่ทำ เราจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน

หลวงพ่อเคยพลาดมาแล้ว ดูไปเรื่อยๆ พอเห็นจิตเราดูมันเคลื่อนออกไป เราไม่เห็นว่าจิตมันเคลื่อนออกไปนอกฐานแล้ว แล้วตัวกิเลสมันดับจิตว่างอยู่ข้างนอก แล้วว่างอยู่อย่างนั้นเป็นปีเลย ใจสบายใจโปร่งใจโล่ง แรกๆ ก็นึกว่าดี นานๆ ไปแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่เที่ยงทำไมมันดูเที่ยง พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นทุกข์ทำไมมันดูว่ามันสุข พระพุทธเจ้าบอกว่าบังคับไม่ได้ทำไมเราบังคับได้ มันเริ่มเฉลียวใจเพราะมีโยมิโสมนสิการ สิ่งที่ทำอยู่นี้ขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ มันต้องผิดแต่มันผิดตรงไหนไม่รู้ พอดีขึ้นไปกราบหลวงตามหาบัว ตอนนั้นยังเข้าถึงตัวท่านง่ายไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่หรอก ก็เข้าไปถามท่านว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิตผมก็ดูจิตอยู่ แต่ว่ามันไม่พัฒนาเลยเป็นปีแล้วไม่พัฒนา

ท่านบอกว่าที่ดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว “ต้องเชื่อเรานะเราผ่านมาด้วยตัวเราเอง ตรงนี้สำคัญมากนะอะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยห่างออกมาให้ท่านนั่งฉันข้าว เราก็ห่างออกมาสัก 2-3 เมตรเอง นั่งพุทโธๆๆ ไป ใจนี่อึดอัด ใจหลวงพ่อไม่ชอบบริกรรมอย่างเดียว พุทโธๆ แล้วอึดอัด เราดู อืม ไม่ใช่แล้ว ครูบาอาจารย์ให้เราบริกรรมต้องมีเหตุผล การบริกรรมส่วนใหญ่คือเพิ่มพลังของสมาธินั่นเอง แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ หลวงพ่อก็ใช้สมาธิที่หลวงพ่อถนัด อย่างท่านบอกว่าต้องเชื่อเรานะเราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้ อันนี้สำหรับท่านไง หลวงพ่อบริกรรมอย่างเดียวนี่อึดอัด ไม่เหมาะกับเรา

อย่างหลวงพ่อเคยหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ ท่านพ่อลีท่านสอนตั้งแต่เด็ก พอกลับไปทำ หายใจไม่กี่ทีจิตก็สงบ จิตเข้าฐาน เลยรู้ว่าตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้นจิตอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างเดียว ถึงจุดหนึ่งไปไม่รอดหรอก ต้องทำในรูปแบบด้วย เวลาทำในรูปแบบ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ขอให้ได้ปฏิบัติ ถือว่าเราปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ทำใจไว้อย่างนี้ เป็นเวลาที่จะบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว วันนี้ดอกไม้ที่มาบูชาไม่ค่อยสวย หรือวันนี้ดอกไม้สวย วันนี้จิตสงบวันนี้จิตไม่สงบก็ไม่เป็นไร ขอบูชาท่านด้วยสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วสมาธิมันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ต่อไปให้นั่งไปเรื่อยๆ ภาวนาได้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ 15 นาที 20 นาทีอย่างแต่ก่อนแล้ว

อย่างหลวงพ่อกลางคืนบางทีเผลอไปหน่อย ไปหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าพุทออกโธ เผลอๆ ไปมันลืมนอน มันภาวนามันมีความสุขของเรา ลืมนอน วันหนึ่งสองวันไม่เป็นไร หลายๆ วันร่างกายก็อ่อนแอลงเหมือนกันก็ต้องนอนเหมือนกัน แต่บางองค์ท่านไม่นอนเลย เมื่อก่อนหลวงพ่อรู้จักครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อหลวงปู่เฟื่อง อยู่พัทลุง ตอนที่เจอท่านท่านเล่าท่านไม่นอนมา 13 ปีแล้วไม่เคยหลับเลย 13 ปีแล้ว ท่านเนสัชชิกตลอด ถามท่านว่าท่านเนสัชชิกเพื่อจะเร่งภาวนาหรือ ท่านบอกไม่ใช่ ท่านอดนอนแล้วท่านสบาย ถ้าท่านนอนหลับ ตื่นมาไม่ค่อยสบาย เป็นแบบนี้ก็มี ประหลาด

อย่างพวกเราลองอดนอนสิไม่สบายรู้สึกไหม อย่างน้อยก็ไม่สบายใจ อันนี้ไม่นอนไม่สบายใจ กายยังไม่ได้เป็นอะไรเลย นี่ท่านไม่นอนนะ 13 ปี หลวงพ่อถามท่านว่า หลวงปู่ไม่มีหลับบ้างเลยหรือ ท่านบอกถ้าเป็นฤดูหนาว อากาศหนาวจัดๆ มีจิตรวมวูบลงไปวูบเดียว ขึ้นมาอยู่ได้ทั้งคืนอีกแล้ว หลับเหมือนกันแต่หลับชั่วขณะเดียวอย่างนี้ก็มี แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขืนเราไปเลียนแบบท่านพักเดียวก็ตายแล้ว ทนอยู่ไม่ไหว ของท่านถ้านอนเยอะอยู่ไม่ไหว ฉะนั้นหนูไปภาวนา ทำในรูปแบบอดทนไป อย่าหวังว่าจะดี ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าทำโดยไม่โลภแล้วมันจะดีเร็ว ถ้าทำด้วยความโลภแล้วมันจะไม่ดีหรอก

 

คำถาม 7: ตอนนี้ดิ้นรนในการภาวนาน้อยลง ทำในรูปแบบสวดมนต์ทำวัตรเช้า ดูจิตที่หลงดูกายสลับดูจิต เวลากิเลสเกิดขึ้นรู้ สภาวะที่เกิดขึ้นช่วงหลังนี้เวลาตื่นนอนจะเห็นกายกับจิตแยกกัน จะเห็นว่ามีความบีบคั้นของกายมีความบีบคั้นของใจ มันต่างบีบคั้นของมันเอง ปัจจุบันเลิกนั่งในรูปแบบ เพราะพอเริ่มก็บีบจิตตามด้วยฟุ้งซ่านแล้วกายก็หลับสนิท ขอหลวงพ่อชี้แนะในการภาวนา ควรภาวนาอย่างไรต่อคะ

หลวงพ่อ: ในรูปแบบต้องทำนะ ไม่ฉะนั้นสมาธิเราไม่พอจริงหรอก ตอนนี้สมาธิยังไม่เต็มรู้สึกไหม สมาธิมันอ่อนไปนิดหนึ่ง ทำในรูปแบบสงบก็ช่างไม่สงบก็ช่างมัน เหมือนที่หลวงพ่อบอกคนเมื่อกี้

ของคุณต้นทุนเยอะแล้วล่ะสะสมมาใช้ได้แล้วนะ แต่สมาธิถ้าไม่พอมรรคผลจะไม่เกิด เพราะตัวสัมมาสมาธิจะเป็นที่รวมของสัมมาอีก 7 ตัว ถ้าขาดสัมมาสมาธิสักตัวเดียว อริยมรรคจะไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบ อย่าละทิ้ง ฝึกไปแต่ไม่ใช่ทำด้วยโลภ ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าไป ใจเราจะมีกำลังขึ้น ตอนนี้จิตมันดีกว่าแต่ก่อนเยอะแล้ว จิตมันตั้งมันมีกำลังขึ้นมาแต่มันไม่พอ มันยังว่างๆ ออกข้างนอกไปนิดหน่อยดูออกไหมตรงนี้ นั่นล่ะที่ผิดอยู่ สมาธิมันยังไม่พอ แต่อย่าไปเค้นมัน ไปเค้นจะให้สงบมันจะยิ่งอึดอัด

การที่เราเห็นกายเป็นภาระเห็นจิตเป็นภาระ นั่นล่ะคือการเห็นทุกข์ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระ บุคคลแบกภาระไว้ก็ไม่พ้นจากทุกข์ พระอริยะเจ้าคือพระอรหันต์วางภาระลงแล้ว และก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาใหม่ก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ฉะนั้นเราเห็นถูกแล้วเราได้เห็นตามพระอรหันต์แล้ว เห็นว่ากายนี้เป็นภาระเห็นจิตนี้เป็นภาระ แต่มันยังตัดไม่ได้ สมาธิมันยังไม่พอ

 

คำถาม 8: ส่งการบ้าน 2 ปีค่ะ ใจมันไม่เข้มแข็งมันหนีทุกข์ ยังแพ้กิเลสอยู่มาก ช่วงนี้พอรู้ตัวแล้วเหมือนจะไปติดเรื่องความว่าง ความไม่มีอะไรหรือเปล่าคะ ขอคำแนะนำเพื่อภาวนาต่อค่ะ

หลวงพ่อ: ทุกข์เป็นของวิเศษนะ พระพุทธเจ้าถึงบอกให้รู้ทุกข์ ไม่ได้ให้หนีทุกข์ การที่เราจะเจริญปัญญา ก็คือการเห็นกายเห็นใจ ก็คือเห็นตัวทุกข์นั่นเอง ในชีวิตจริงๆ ของเรา ความทุกข์มันก็เยอะ เราก็เบื่อหน่ายตัวทุกข์เต็มที เวลาเราภาวนาจิตมันก็หนีทุกข์ไปอยู่ในความว่าง มันก็ดี ดีอย่างโลกๆ คือมันไม่ทุกข์ทรมานจนสติแตก ในทางธรรมก็ยังไม่ดีสมบูรณ์หรอก

ดีในทางธรรมต้องเจริญปัญญาได้อย่าหนีความจริง คนที่หนีความจริง มันหลบหนีความจริงมันแก้ปัญหาไม่ได้จริง เคยรู้จักได้ยินชื่อนกกระจอกเทศไหม นกกระจอกเทศนะเวลาศัตรูมาสิงโตมา แทนที่จะรีบวิ่งหนี เอาหัวมุดเข้าไปใต้ปีกตัวเอง ไม่เห็นแล้ว สิงโตไม่ทำอะไรเราแล้ว สิงโตยิ้มหวานเลยเจอไอ้ตัวนี้ เอาไว้กินทีหลัง เลือกไอ้ตัวที่อยากกินก่อน ไอ้ตัวนี้อย่างไรก็ได้กิน

เวลาเราภาวนาก็เหมือนกัน เรากลัวทุกข์ เราก็เอาหัวไปซุกปีกหลบเข้าไปอยู่ในว่างๆ อะไรอย่างนี้ สุดท้ายเราทนความทุกข์ไม่ได้หรอกความทุกข์มันเป็นความจริงของชีวิต เราอย่าติดในความสุขว่างๆ ออกมาเจอชีวิตจริงยิ่งอยู่ไม่ได้มากขึ้นไปอีก ยิ่งแย่มากขึ้นอีก ฉะนั้นอดทนหน่อย สลับกัน พอจิตใจพอมีกำลังแล้วถอยออกมา มาดูความจริงของร่างกายของจิตใจ พอดูแล้วจนมันเหนื่อยหน่ายท้อแท้มันทุกข์ทนไม่ไหว กลับไปอยู่ในว่าง วิ่งเข้า วิ่งออก วิ่งเข้า วิ่งออกอย่างนี้ดีกว่าให้ว่างอยู่เฉยๆ ถ้าว่างอยู่เฉยๆ เดี๋ยววันหนึ่งสิงโตก็เอาเราไปกินหรอก คือกิเลสคือมารนั่นล่ะลากคอเราไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 สิงหาคม 2563