ทำบุญให้เกิดกุศล

วันทอดกฐินก็จะมีศรัทธาสาธุชนทั้งหลาย สำนวนวัด มากันเยอะ ที่นี่จะต่างกับที่อื่น วันอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนใจการปฏิบัติ แต่วันทอดกฐินจะมีคนคละกัน ส่วนหนึ่งปฏิบัติ ส่วนหนึ่งมาทำบุญ ทอดกฐินก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติเอาไว้ สมัยพุทธกาลผ้าหายาก พระเยอะแต่ผ้าไม่ค่อยมี ต้องไปเก็บเศษผ้าที่เขาทิ้งกันเอามาเย็บเอามาต่อให้มันเป็นผืนขึ้นมา จะเย็บคนเดียวก็ไม่ทัน ให้พระช่วยกันทำ ช่วยกันตัดผ้ามาเย็บมาย้อม แล้วก็มีมติสงฆ์มอบให้องค์ใดองค์หนึ่ง ข้าวของมันขาดแคลน

ยุคนี้ผ้าเยอะ ไม่เหมือนยุคโบราณ หรือยุคสงครามโลก ผ้าไม่มี ยุคนี้ผ้าเยอะ ความสนใจก็ไม่ได้อยู่ที่ผ้า สนใจอยู่ที่มีอะไรถวายบ้าง วัดก็คิดโปรเจกต์ มีค่าใช้จ่าย ก็ฝากความหวังเอาไว้กับงานกฐิน งานผ้าป่าอะไรอย่างนี้ วัดส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ลำบาก ยิ่งนานวันคนก็เข้าวัดน้อยลงๆ ยุคที่หลวงพ่อเข้าวัด 2520 กว่าๆ ยุคนั้นคนเข้าวัดเยอะ ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เหลืออยู่เยอะ พอผ่านวันผ่านเวลาสังคมมันเปลี่ยน คนหนุ่มคนสาวออกไปทำงานต่างถิ่น บางคนไปต่างประเทศ ไปซาอุฯ ตามหมู่บ้านเหลือแต่เด็กกับคนแก่

ฉะนั้นวัดค่อนข้างขาดความเคลื่อนไหว คือคนหนุ่มคนอะไรพวกนี้ไม่ได้มาวัด ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติ มัวแต่ต้องทำมาหากิน สังคมมันเปลี่ยนไป สังคมครอบครัวในชนบทก็ล่มสลายลง พ่อแม่ลูกแยกกัน ส่วนสังคมเมืองนั้นมันล่มไปก่อนแล้ว จากสังคมขยายกลายเป็นสังคมเดี่ยว เหลือคนไม่มากในบ้านหลังหนึ่งๆ มีลูกน้อย ไม่อยากให้ลูกบวชหรอก แล้วคนมีโอกาสทำมาหากินได้หลากหลาย คนที่จะบวชก็น้อย ฉะนั้นพระลดลงเรื่อยๆ

 

ชาวพุทธเรามุ่งมาสิ่งเดียวเท่านั้นเอง มุ่งมาที่ความพ้นทุกข์

เราเคยคิดว่าเราชาวพุทธเรามีมาก อย่างมีอยู่หลายประเทศ โดยเฉพาะชาวพุทธอย่างเถรวาทเรานี่ มีในลังกา พม่า ในไทย ลาว ในกัมพูชาอะไรพวกนี้ แล้วตอนนี้จริงๆ หลายๆ ประเทศร่อยหรอลงไปเยอะเลย ในลาวมีพระอยู่ 5 พันองค์ แล้วก็เริ่มลดลง เหลือ 5 พันแล้ว เมืองไทยมีระดับแสนต้น 2 แสนอะไรอย่างนี้ในหน้าพรรษา ออกพรรษาก็ไม่ค่อยมี ลดลงไปเยอะ พม่ายังมีเยอะอยู่ เพราะยังไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าพัฒนาเศรษฐกิจคนก็เข้าโรงงานไป ไม่มาบวชหรอก

ศาสนาพุทธจริงๆ แล้วร่อแร่มาก อย่านึกว่ามั่นคง ฉะนั้นพวกเราเข้ามาที่วัดก็พยายามศึกษาธรรมะไว้ ศึกษาอย่างมีเหตุมีผล อย่างชาวบ้านทั่วไป คนไทยทั่วๆ ไปไม่ใช่ชาวพุทธที่แท้จริง ส่วนใหญ่ก็นับถือศาสนาผีๆ อย่างเราไหว้พระภูมิเจ้าที่ ไหว้อะไรอย่างนี้ ไหว้ผีบรรพบุรุษ หรือศาสนาฮินดูไหว้เทพองค์นั้นเทพองค์นี้ มันปนกันไปหมด ในขณะที่ชาวพุทธแท้ๆ เราไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่ได้ไหว้อย่างอื่น

อย่างผีบรรพบุรุษ เราไหว้เพื่อระลึกถึงบุญคุณ อย่างพวกเทวดา พวกอะไรอย่างนี้ เราไหว้เพื่อระลึกถึงว่าเขาก็มีความดี มีหิริ มีโอตตัปปะ มีพรหมวิหาร ถ้าไหว้อย่างนี้เราถึงจะเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าไหว้แล้วหวังว่าชีวิตจะเฮง จะร่ำรวย จะสมหวังทุกสิ่งทุกอย่าง จะไม่เจ็บไม่ป่วยอะไร อันนั้นไม่ใช่พุทธหรอก ชาวพุทธเรามุ่งมาสิ่งเดียวเท่านั้นเอง มุ่งมาที่ความพ้นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านสอนธรรมะเอาไว้ ก็เรื่องทุกข์ แล้วก็วิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เมื่อท่านสอนเรื่องทุกข์ ท่านก็สอนวิธีปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์

การดับทุกข์ ทุกข์มันเป็นปลายทางแล้ว เราต้องดับที่เหตุ ไม่ใช่ดับที่ตัวทุกข์ ตัวทุกข์มันเป็นตัวผล อย่างเราซุ่มซ่าม เดินไปหัวชนเสา หัวแตก หัวแตกก็ทุกข์แล้ว จะไปสวดมนต์ให้หายทุกข์ ให้หายเจ็บ หายปวดอะไร ไม่ใช่เรื่อง หัวแตกก็ไปหาหมอ ก็สรุปบทเรียนไว้ นี่ขาดสติ ซุ่มซ่าม เดินไปชนเสา เวลาแก้ปัญหาแบบชาวพุทธ เราจะวิเคราะห์เข้ามาที่ต้นเหตุของความทุกข์ เวลาเราจะแก้ปัญหา เราก็วิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหา ดูเข้าไปให้ถึงต้นเหตุจริงๆ

กระทั่งการดำรงชีวิตในโลก อย่างชีวิตเรามีปัญหา ค้าขายไม่ดี พอขายของไม่ดี พวกหนึ่งก็ไปไหว้เทวดา ไหว้ผีให้ช่วยให้ขายดี ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริงๆ เราก็จะต้องวิเคราะห์สาเหตุ ทำไมเราขายไม่ดี ถ้าเราไปขายของเหมือนคนอื่นอีกแสนคน ใครๆ ก็ขายเหมือนๆ กันหมดเลย มันจะขายดีไปได้อย่างไร หรือตอนนี้เขาขายออนไลน์กัน เราคิดจะไปเปิดร้าน เปิดแผงลอยขายอะไรอย่างนี้ เช่าตึกแถวเปิดหน้าร้านขาย มันตกยุคแล้ว คนเขาไม่เดิน มันก็ต้องดูเหตุดูผล ดูสถานการณ์ วิเคราะห์สาเหตุให้ออกแล้วแก้ที่สาเหตุให้ได้

อย่างสินค้าที่เหมือนๆ กันหลายเจ้า ของเรามีจุดเด่นอะไร ดึงจุดเด่นที่คนอื่นเขาไม่มีเอามาโชว์เขา มันก็จะขายได้ ไม่ใช่ไปไหว้นางตะเคียนให้ช่วย หรือไปไหว้นางกวัก ไปไหว้ไอ้ไข่ให้มาช่วยขายของ พวกนั้นจะมาช่วยเราได้อย่างไร ก็แค่หลอกตัวเองให้มีกำลังใจ ถามว่าดีไหม ก็ดี มีกำลังใจก็ดีกว่าเสียกำลังใจ

ถ้าเป็นชาวพุทธทำกิจการอะไร เราก็ต้องดู มองให้ไกล มองให้กว้าง กิจการบางอย่างวันนี้ดูดี อีกไม่นานอาจจะไม่ดี ยิ่งเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็ว กิจการที่เราทำเคยดี มันอาจจะไม่ดีเมื่อไรก็ได้ อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่องค์การโทรศัพท์ องค์การโทรศัพท์ก็ผูกขาดเรื่องโทรศัพท์ ที่จริงจะว่าผูกขาดมันก็ไม่เชิงล่ะ มันลงทุนสูง เป็นแสนล้าน เอกชนไม่ทำ ถ้าเอกชนทำก็จะทำแต่ในเมือง ไกลๆ ออกไป ไม่คุ้ม ไม่ทำ องค์การโทรศัพท์เข้าไปทำ

ใครๆ ก็อยากได้โทรศัพท์ กว่าจะลากสายได้ไม่ใช่ง่าย เดี๋ยวนี้แค่ตั้งเบสของมัน ก็กระจายคลื่นออกไปได้ ง่ายกว่ากันเยอะเลย พอเซลลูลาร์มา โทรศัพท์ซึ่งหาเงินได้ดีโดยมีสายทำไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนสายมาเป็นสายส่งข้อมูลแทน เป็น wifi เป็นอะไรอย่างนี้ พวกเรายังใช้อยู่ มาถึงวันนี้เซลลูลาร์ก็เริ่มลำบากๆ เทคโนโลยีเปลี่ยนรวดเร็วเหลือเกิน

ตอนหลวงพ่อเด็กๆ ในกรุงเทพฯ เรามีรถไฟฟ้า มีรถราง พอเมืองขยายขึ้นมาก็รื้อรถราง ให้รถยนต์วิ่ง วิ่งไปวิ่งมา ตอนนี้ต้องมีรถรางอีกแล้ว นี่มันพลิกไปพลิกมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด เพราะโลกนี้ไม่เคยเที่ยง คนไหนปรับตัวได้ก็อยู่รอด คนไหนปรับตัวไม่ได้ก็อยู่ไม่รอด

ชาวพุทธเราเวลาชีวิตมีปัญหา เราต้องมาวิเคราะห์ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร บางปัญหาเกิดจากตัวเราเองล้าหลัง ไม่ทันโลก บางปัญหามันเกิดจากปัจจัยภายนอก บางอย่างเราคุมไม่ได้ อย่างประเทศใหญ่ๆ มันทำให้น้ำมันขึ้นราคา มันทำได้ เราทำไม่ได้ มันทำให้ข้าวของแพง ให้สินค้าขาดตลาด เขาทำได้ ปัจจัยบางอย่างเราคุมไม่ได้ ปัจจัยบางอย่างอยู่ที่ตัวเราเอง เราคุมได้ ยังมีปัจจัยแทรกซ้อนอีกเยอะแยะ เรื่องการบ้านการเมืองอะไรอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราแก้ปัญหาในชีวิต เราต้องดูว่าอะไรเป็นปัญหาหลัก ปัญหารอง อะไรเป็นปัญหาเฉพาะหน้า อะไรเป็นปัญหาระยะยาว ปรับตัวให้อยู่ได้ ต้องไปดู ต้องไปศึกษาเอา อย่างมงาย ความงมงายให้ความสบายใจ แต่ไม่ได้ให้ความจริงกับเรา ในแง่ของจิตใจบอกแล้วว่าศาสนาพุทธตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ เราก็ต้องมาวิเคราะห์สิ ทุกข์ อะไรคือความทุกข์ของเราบ้าง ความทุกข์มันมีอะไรบ้าง ความทุกข์ก็มี 2 ส่วน ทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางจิตใจ

ทุกข์ทางร่างกายมันเกิดจากอะไร เรามีร่างกายขึ้นมาแล้ว ร่างกายนี้โดยธรรมชาติของมัน ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แปรปรวนตลอดเวลา บางทีก็ตายด้วยความหนาว หรือความร้อน หรือความหิว หรือความกระหาย ด้วยโรคภัยไข้เจ็บอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นร่างกายเป็นของที่ไม่ยั่งยืน ต้องดูแลตลอดเวลา เหมือนรถยนต์คันหนึ่งเท่านั้น แล้วมีรถยนต์ 1 คันเราก็ต้องดูแล ให้อาหารมัน คือเติมน้ำมันให้มัน เติมแก๊สให้มัน ให้อาหารมัน แล้วมีที่จอดให้มัน คือที่อยู่อาศัยให้มัน เวลาพัง ซ่อม มีอะไหล่ มีอะไร มันเจ็บป่วยแล้ว ต้องซ่อมมัน

ร่างกายก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เรามีร่างกายขึ้นมา เราต้องใช้งานมัน ชาวพุทธเราใช้ร่างกายเพื่อทำประโยชน์ ไม่ใช้ร่างกายเพื่อทำสิ่งเลวสิ่งร้าย เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่น เราใช้ร่างกายเราทำประโยชน์อะไร เราทำมาหากิน เลี้ยงดูพ่อ เลี้ยงดูแม่ เลี้ยงดูลูก ภรรยา สามี การดูแลพ่อ ดูแลแม่ ดูแลครอบครัวเป็นมงคลชีวิต ดูพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้คิดแต่เรื่องเหนือโลก แล้วก็สอนให้เราทำหน้าที่ของเรา ดูแลพ่อแม่ ลูกเมีย ดูแลบริวาร หรือคนรับใช้ของเรา ก็ต้องดูแล ดูแลผู้บังคับบัญชาของเรา ก็ต้องดูแล ท่านสอนเราให้อยู่กับโลก

โลกเป็นอย่างไร โลกก็คือหมู่สัตว์ ก็คือคนที่แวดล้อมเราอยู่ ไปดูเรื่องทิศ 6 เถอะ นั่นล่ะคือการอยู่กับโลก กฎเกณฑ์ในการอยู่กับโลก กับพระ กับนักบวช เราควรจะทำอะไร กับพ่อแม่ เราควรจะทำอะไร กับเพื่อน เราควรจะทำอะไร กับลูกจ้างเรา เราจะทำอะไร คนที่สนับสนุนเรา อยู่เบื้องหลังเราในการทำงานอะไรต่ออะไร ต้องดูแลทั้งสิ้น ลองไปดูในเรื่องทิศ 6 แล้วไปทำดู แล้วชีวิตในโลกเราเราจะไม่ว้าเหว่

คนทุกวันนี้เงียบเหงาว้าเหว่มากขึ้นเรื่อยๆ สมัยตอนที่หลวงพ่อเกิด มีคนยังไม่ถึง 20 ล้านเลย ราวๆ 18 ล้าน เราไม่รู้สึกเงียบเหงาว้าเหว่เลย มีญาติ มีพี่น้อง มีอะไรเยอะแยะ เพื่อนบ้านรู้จักกันหมดเลย วิ่งเข้าบ้านไหนก็ได้ เข้าบ้านไหนเขาก็มีขนมให้กิน มาวันนี้ผู้คนเยอะแยะเลย แต่เราว้าเหว่ คนที่เรารู้จักนับตัวได้เลย บ้านติดกับเราเรายังไม่รู้จักเลย

ถ้าเราคิดเรื่องว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไรกับคนที่แวดล้อมเราอยู่ ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร เพื่อน เจ้านายลูกน้องอะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หมดเพื่อเราจะอยู่กับโลกได้อย่างมีความสุข ท่านสอนว่ากินคนเดียวไม่มีความสุข แบ่งกันกินมีความสุข อันนี้เอามาใช้ได้กระทั่งพวกคอร์รัปชัน คอร์รัปชันคนเดียวไม่นานก็โดนจับ กินเป็นทีมก็อยู่รอดได้นานหน่อย แต่กรรมก็ต้องให้ผลสุดท้าย

 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่มีแต่ธรรมะพ้นโลก ธรรมะอยู่กับโลกก็มี

ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่มีแต่ธรรมะพ้นโลก ธรรมะอยู่กับโลกก็มี แล้วไม่ได้สอนให้เราอยู่ลำพัง แต่สอนให้เรารู้จักดูแลคนที่แวดล้อมเราอยู่ แล้วก็สอนอีก คนที่แวดล้อมเราอยู่บางคนก็ดี บางคนก็ไม่ดี เราควรจะเลือกคบ ถ้าเลือกได้เราเลือกคบคนดี คนบางคนไม่ดี แต่เราเลิกคบก็ไม่ได้ อย่างสมมติพ่อแม่เราไม่ดี เราก็เลิกคบยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูว่าเราจะอยู่อย่างไร ร่มเย็นเป็นสุข

อย่างบางคนพ่อแม่ชอบสร้างหนี้ ให้เงินเท่าไรก็ไปสร้างหนี้หมดเลย บางทีพ่อก็แก่มากแล้ว ขอเงินลูกไปเอาไปให้ผู้หญิง ถูกเขาหลอกอะไรอย่างนี้ เราก็อย่าไปสนับสนุน สนับสนุนเขาแล้วกิเลสเขามากขึ้น เราก็อย่าไปยอม ดู ทำอย่างไรเขาจะอยู่ได้ ชีวิตร่างกายเขาอยู่ได้ ทำอย่างไรจิตใจเขาจะพัฒนาได้ ดูตรงนี้ดีกว่าตามใจสนองกิเลสไปเรื่อยๆ

รุ่นนี้ รุ่นพวกเรานี้ล่ะสนองกิเลสลูกหลาน เราปล่อยให้เด็กหิวโหย หิวโหยนี้คือด้วยความโลภ อยากโน่นอยากนี่ เราก็ทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาดูแล ก็เอาใจลูกด้วยการซื้อแท็บเล็ตให้เล่น ซื้อโน่นให้เล่น ซื้อนี่ให้เล่น เด็กก็ไปเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น เพราะพวกเดียวกันระดับเดียวกันถ่ายทอดทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดอะไรที่แย่ๆ ออกมา อย่างตามเกมส์ที่หลวงพ่อเคยเห็น เกมส์ทั้งหลาย รุนแรง ไล่ยิงกัน ฆ่าได้มากแล้วก็ชนะ มันก็เกิดความรู้สึกค่อยๆ ฝังลงไป เห็นคนอื่นเหมือนตัวละครในเกมตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ยิงทิ้งได้ไม่เป็นไร ยิงได้เยอะก็ดี เก่ง เป็นฮีโร่ นี่มันซึมซับ ซึมซับสิ่งเลวทรามเหล่านี้เข้ามาในจิตใจ เอาอย่างกัน

ประเทศอื่นเขาก่อความรุนแรง ประเทศมหาอำนาจตัวดีนั่นล่ะรุนแรงมากเลย นึกจะปล้นก็ปล้น นึกจะฆ่าก็ฆ่ากัน บางทีฆ่าไม่มีเหตุผล คลุ้มคลั่งขึ้นมาก็เลียนแบบ บ้านเมืองเราก็เริ่มเลียนแบบ อย่างอยู่ๆ ก็ไปฆ่าคนจำนวนมาก การที่คนจำนวนมากมาตายพร้อมๆ กัน มองในทางโลก สายตาของชาวโลกก็คือมันไปอยู่ด้วยกันแล้วมันก็เลยเกิดเรื่องพร้อมๆ กัน ขึ้นเรือบินลำเดียวกันแล้วเรือบินตกตายพร้อมๆ กัน

แต่ในทางธรรมะ ทุกอย่างต้องมีเหตุ ทำไมคนกลุ่มหนึ่งต้องมาลำบากหรือตกยากพร้อมกัน ทำไมถูกฆ่าตายพร้อมกัน มันเป็นเรื่องของกรรม แต่กรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ใช่เรื่องที่มโน คิดเอาเอง หลวงพ่อใช้ศัพท์วัยรุ่นจนกระทั่งเสียหายไปแล้ว มโนๆ มโนแปลว่าใจ มันของดีของวิเศษ เดี๋ยวนี้กลายเป็นคิดโมเมเอาเอง

ถ้าเราเข้าใจทำไมคนต้องมาตายด้วยกันพร้อมๆ กันอะไรอย่างนี้ มันต้องมีเหตุ เพียงแต่เราไม่รู้ถึงเหตุนั้น แต่ถ้าเราเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สิ่งทั้งหลายต้องมีเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุก็เกิดได้ เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นสมควรแก่เหตุ เพียงแต่เราไม่รู้จักว่าเหตุนั้นคืออะไรเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตเรา เรามองให้เห็นธรรมะ มันก็จะรู้ ทุกอย่างมันพอดีๆ แล้ว พอดีกับกรรม ทีนี้เราไม่รู้กรรมชั่วมันจะให้ผลเราเมื่อไร แต่ละคนของเราไม่ใช่มีแต่กรรมดีหรอก ทุกคนก็มีทั้งดีทั้งชั่ว ไม่มีใครดีอย่างเดียว ชั่วอย่างเดียว

ทุกวันนี้สังคมมันไม่ฉลาด เวลาได้ใครเป็นไอดอล อันนี้ดีอย่างเดียว ใครผิดใครพลาด อันนี้เลวอย่างเดียว ในความเป็นจริงไม่มีใครดีอย่างเดียว ไม่มีใครเลวอย่างเดียวหรอก มันก็มีทั้งดีมีทั้งเลวล่ะ พวกเราก็เหมือนกัน พอเราเห็นอะไรที่มันไม่ดี เราก็อย่าไปโกรธไปเกลียดเลย อย่างคนใจร้าย จะไปฆ่าคนอื่น เราก็อาจจะเคยไปฆ่าเขามาเหมือนกัน ความชั่วทั้งหลายเราก็เคยทำมาแล้ว เคยโกหกไหม เคย ปลิ้นปล้อนหลอกลวงไหม เคยตลกคะนอง พูดเล่นไม่เป็นเรื่องไหม เป็นเรื่องชั่วๆ ก็มีเยอะแยะที่ทำ

เพราะฉะนั้นเวลาเราเห็นคนทำชั่ว ก็พิจารณาลงไป เขาเป็นอย่างที่เขาต้องเป็น เขาทำตัวของเขาเอง ถึงจุดหนึ่งก็ต้องได้รับผลๆ ความทุกข์มันมีจริงๆ ยิ่งถ้าเราภาวนา มีหูมีตา เราจะรู้เลยว่าสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากมากมายมหาศาล เยอะกว่าคนอีก เพราะพวกนี้มันอายุยืน ตอนมันเป็นคนมันก็ประมาท ก่อกรรมทำเข็ญ มันตายแล้ว มันก็ไปสู่ทุคติ เศร้าหมอง ก่อนตายมันก็เศร้าหมอง ตายแล้วมันก็เศร้าหมอง

 

บุญเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก

อย่างพวกเรามาทำบุญทอดกฐินอะไรอย่างนี้ ใจเราก็เป็นบุญเป็นกุศล ถ้าเกิดจะตายขึ้นมานึกถึงว่าเราเคยทอดกฐิน ใจเป็นบุญขึ้นมา ไม่ใช่กุศล ใจเป็นบุญขึ้นมา เราก็มีสุคติเป็นที่ไปได้ เพราะฉะนั้นที่จริงหลวงพ่อไม่ค่อยได้สนใจเรื่องทอดกฐินอะไรเท่าไรหรอก อย่างหลวงปู่มั่นท่านไม่มีทอดกฐิน ท่านให้อย่างมากก็ทอดผ้าป่า คือยุคของท่านผ้าไม่ได้ขาดแคลนแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องใช้แบบเก่าแต่ว่าก็รักษารูปแบบเอาไว้

ฉะนั้นหลวงพ่อก็ทำทอดกฐินแต่ละปี ทุกปีก็ทำมาเรื่อยๆ เพื่อให้พวกเราได้ทำบุญ ไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ บางคนเท่านั้นที่จะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ได้ ส่วนใหญ่ก็ยังต้องเวียนว่ายต่อไป ก็ให้ทำบุญทำทานไป จิตใจมันจะได้เคล้าเคลียอยู่กับบุญ เวลาชีวิตตกยาก นึกถึงบุญของเรา บางทีมันเกิดความอบอุ่นใจ บุญมันมีผลจริงๆ หลวงพ่อก็เคยเห็นมาด้วยตัวเองแล้ว

บางทีเราเจ็บป่วย เราพึ่งตัวเองไม่ไหวแล้ว ยาสักเม็ดหนึ่งก็ไม่มี คนช่วยดูแลสักหน่อยหนึ่งก็ไม่มี อยู่คนเดียว อยู่ในป่า ไม่สบาย นึกถึงบุญของเรา แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลออกไป กำหนดจิตลงไป เรารู้ว่าพื้นที่แถบนี้ครูบาอาจารย์ท่านเดินธุดงค์มา น่าจะมีพวกเทวดาอยู่กัน ก็กำหนดจิตบอกว่าเรามาที่นี่ เรามาสร้างคุณงามความดี แต่เวลานี้เราเจ็บป่วย เราช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว ถ้าพอช่วยได้ก็ให้ช่วยด้วย ถ้ามันเกินกรรมของเรา มันเป็นกรรมของเราแล้วก็เกินกรรมดีที่เรามี ก็ไม่ต้องช่วย ถ้าพอช่วยได้ก็ให้ช่วย ที่เจ็บที่ป่วยอยู่หายทันทีเลยๆ

เคยเจอสภาวะอย่างนี้ 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งกล้ามเนื้อหลังอักเสบ อีกครั้งหนึ่งนอนปลูกถ่ายไขกระดูก อยู่ในห้องเย็นยะเยือกเลย ก็ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นมาก ก็กำหนดจิตอธิษฐานเอา ถ้าชีวิตนี้ยังจะได้ทำประโยชน์ต่อไป ก็ให้ธาตุขันธ์นี้มันฟื้นตัวขึ้นมารวดเร็ว ถ้าไม่สามารถทำประโยชน์ต่อไปก็ตายไปเลย คิดอย่างนี้ ก็สามารถออกจากห้องปลูกถ่ายไขกระดูกใน 28 วัน กำหนดจิตไว้เลย จะออกวันนี้ ตั้งใจไว้ ตั้งใจมั่น มีฉันทะที่จะออกตรงนี้ มีความขวนขวายทางจิตของเรา ทางกาย ลมหายใจอะไรอย่างนี้ มีความเพียรอยู่ มีจิตที่ตั้งมั่นทรงสมาธิไว้ ค้นคว้าใคร่ครวญลงไปในจุดที่เจ็บที่ปวด ก็ออกมาได้ ในตามกำหนด 28 วัน ค่าเฉลี่ยเวลาเข้าห้องนี้อย่างต่ำก็เดือนครึ่ง ของเราออกมาได้ไม่ถึงเดือน

ฉะนั้นบุญอะไรหลวงพ่อก็ไม่ได้ขวาง พวกเราจะทอดกฐิน ทำบุญทำทานอะไร ทำไปเถอะ มันเป็นเครื่องอาศัยเวลาเราอยู่กับโลก บางคนร้องขอโดยตัวเองไม่มีต้นทุน ไม่มีใครช่วยได้หรอก นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมจัดทอดกฐิน ไม่ทอดได้ไหม ไม่ทอดก็ได้ๆ ไม่ได้อยากได้เงินได้ทองอะไร แต่ทอดแล้วพวกเราได้ประโยชน์ คนจำนวนมากได้ประโยชน์ แล้วเวลาที่เข้ามาที่วัดที่นี่ ไม่ใช่ทอดกฐินอย่างเดียว หลวงพ่อฉวยโอกาสที่พวกเรามาทอดกฐิน พูดธรรมะให้ฟัง ก็เป็นประโยชน์อันที่สองที่พวกเราจะได้ คือนอกจากได้บุญแล้วยังจะได้ปัญญาไปด้วย รู้จักดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล พอเหมาะพอควร รู้จักการพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้นๆ

การพัฒนาจิตใจตัวเองก็คือพยายามลดละความเห็นแก่ตัวทั้งหลายลงไป ความเห็นแก่ตัวนั่นล่ะตัวถ่วง ทำให้จิตใจเราต่ำลงเรื่อยๆ เราพยายามมาลดมาละความเห็นแก่ตัวของเรา การทำทานก็ทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ไม่ใช่ทำด้วยความเห็นแก่ตัว อย่างทอดกฐิน หลวงพ่อก็มักจะบอกว่า ไม่ต้องมีเจ้าภาพคนเดียวหรอก มีเจ้าภาพหลักคนหนึ่งไม่เป็นไร มันคล้ายๆ หัวขบวนก็ต้องมี แต่คนอื่นทุกๆ คนที่มาร่วมงานก็ถือว่ามาทอดกฐินร่วมกัน เป็นบุญร่วมกัน อย่างนี้ใจเราก็กว้างขวาง ใจเราไม่ได้เห็นแก่ตัวว่าต้องฉันทอดคนเดียว คนอื่นอย่ามายุ่ง อย่างนั้นใจแคบ คนใจแคบภาวนายาก เพราะเราปฏิบัติ ที่เราพ้นทุกข์ได้ เพราะเราวางความยึดถือในตัวตนได้

ก่อนจะถึงขั้นวางความยึดถือในตัวในตน ก็ลดละความเห็นแก่ตัวลงก่อน ค่อยๆ ลดไป เอื้อเฟื้อกับคนอื่น เวลาทำบุญทำทานก็ใจกว้าง ใครอยากร่วมกับเรา เราก็ยินดีพอใจ หรือเรามาร่วมงาน เราไม่ได้เสียเงินสักบาทเลย หลวงพ่อไม่เคยเก็บสตางค์เลย เรามาร่วมงาน เรามาอนุโมทนา เห็นผู้คนจำนวนมาก จิตใจเป็นบุญเป็นกุศล เราอนุโมทนา ยินดี นั่นก็เป็นบุญของเราแล้ว แล้วก็มารักษาศีล เดี๋ยวพระอาจารย์อ๊าก็จะให้ศีล รับแล้วต้องเอาไป รับแล้วอย่าทิ้งคืนไว้ที่วัด รับแล้วเอาติดตัวกลับไปประพฤติไปปฏิบัติให้นานที่สุดที่จะทำได้

ตอนที่หลวงพ่อเทศน์ก็คือเรื่องของธรรมะสอนเราไว้ อย่าเห็นแก่ตัว จะทำอะไรก็ทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ทำทานก็ไม่เห็นแก่ตัว รักษาศีลก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ใช่รักษาศีลแล้วก็ไปกดไปข่มคนอื่นเขาอะไรอย่างนี้ กูแน่กูหนึ่ง อันนี้ไม่ถูก ทำสมาธิก็ไม่ได้ทำด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่กูดีกว่าคนอื่น คนอื่นเข้าฌานไม่ได้ เจริญปัญญาคราวนี้เราจะเห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี สิ่งที่มีคือตัวทุกข์ นั่นคือเส้นทางที่พวกเราจะต้องเดินต่อไป เริ่มต้นไม่รู้จะทำอะไร ทำสิ่งที่เป็นบุญไว้ แล้วทำให้มันเกิดเป็นกุศลเข้ามา อยากเป็นกุศลก็ต้องฉลาด ลดละตัวตนลงไปเรื่อยๆ มีสติมีปัญญา นั่นล่ะถึงจะเป็นกุศล ลำพังการทำความดีเขาเรียกว่าบุญ ทำแล้วสบายใจ แต่ทำกุศล ทำแล้วพ้นทุกข์ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เอาไปทำ เดี๋ยวก็จะเริ่มพิธีทอดกฐิน

(พระสวด)

ทอดกฐินจริงๆ ก็แค่นี้ล่ะ เสร็จแล้ว ไม่มีฉลองกฐินอะไรหรอก ต่อไป พระจะให้พร

(พระให้พร)

 

รู้จักรักษาบุญที่ทำแล้ว

งานทอดกฐินในส่วนของโยมก็เสร็จแล้ว หลวงพ่ออนุโมทนาบุญของพวกเราทุกคน ขอให้บุญรักษาทุกๆ คนให้มีความสุข มีความเจริญ มีสติ มีปัญญารักษาตัวเองให้พ้นจากความทุกข์ ให้พ้นจากภัยทั้งปวง คิดถึงบุญที่ทำแล้ว คิดถึงบ่อยๆ แล้วจิตใจมันจะได้สมาธิขึ้นมา มันสงบ มันร่มเย็น พอจิตใจเราสงบ จิตใจเราร่มเย็น จิตใจเราก็มีพลังที่จะคิดแก้ไขปัญหาในชีวิตของเรา ไม่ว่าปัญหาอะไร หนักแค่ไหน ถ้าจิตใจของเรามีกำลังพอ ไม่จมลงไปในปัญหา มันถอนตัวขึ้นมาเป็นคนรู้คนเห็น ไม่มีอคติในการแก้ปัญหา เราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างทุกข์น้อยๆ ภาวนาดีๆ เราก็ทุกข์น้อยลงๆ

การเดินทางในสังสารวัฏเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ไม่ใช่เส้นทางที่ไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับคนซึ่งขวนขวาย สร้างคุณงามความดีไป วัฏฏะของเราก็จะสั้นลงๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะได้สัมผัสสันติสุขที่แท้จริง เอาเงินซื้อไม่ได้ ต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังใจของเรา ศึกษาค้นคว้าพิจารณาลงในกาย ลงในใจของเรา วันหนึ่งมันจะเข้าถึงสันติสุขได้ แล้วเวลาพิจารณาลงไปเรื่อยๆ บางทีใจมันฟุ้งซ่านขึ้นมา ใจฟุ้งซ่านขึ้นมา เราก็คิดถึง นี่เรามาทอดกฐิน มีคนมาร่วมด้วยกัน สร้างบุญด้วยกันตั้งเยอะตั้งแยะ ทุกคนเป็นพี่เป็นน้องกันอะไรอย่างนี้ ใจเราอบอุ่น ใจเรามีความสุข สมาธิมันจะเกิดขึ้นอีก เพราะเราอยู่กับความเมตตา

หรือเราคิดถึงทานที่เราทำ มันเป็นจาคานุสติ เราคิดถึงเพื่อนที่มาทอดกฐินด้วยกัน รู้สึกดีเป็นมิตรต่อกัน นี่คือความเมตตา ก็ทำให้เกิดสมาธิเหมือนกัน ใจเราได้มีสมาธิ มีความสุข มีความเบิกบานแล้ว เราก็ไปแก้ปัญหาชีวิตของเรา หรือเอามาภาวนาต่อ มาเรียนรู้ความจริงของกายของใจต่อ ทำสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ตอนไหนจิตมีกำลัง มีความแช่มชื่นเบิกบาน ดูกายดูใจมันลงไปเลย มันไม่มีตัวเราของเรา ตอนไหนจิตใจมันฟุ้งซ่าน คิดถึงทานที่เราทำในวันนี้ หรือในที่เราไปทำในที่อื่นๆ คิดถึงศีลที่เรารักษา

วันนี้พระอาจารย์อ๊าให้ศีล เราตั้งใจรักษาไว้ เวลาเรารักษาศีลดีๆ เรานึกถึงทีไรสมาธิมันก็เกิด เรียกว่าสีลานุสสติ เห็นไหมมาวันนี้มีตั้งหลายอย่าง มีจาคานุสติ มาบริจาคทาน เป็นกฐินทาน มีสีลานุสสติ เราแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไป ทำดีแล้วก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศล บางทีก็เรียกว่าเทวตานุสติ ให้ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษ เทวดาที่เป็นญาติเป็นมิตรอะไรอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทำบุญ งานเดียวนี้เราทำบุญแล้วแตกแขนงออกไปได้ตั้งเยอะตั้งแยะ

ฉะนั้นให้เรารักษาไว้ บุญที่เกิดขึ้น อย่าให้มันตกหล่นหายไปอย่างรวดเร็ว เสียดาย รักษาการมีสติ รักษาใจของเราไว้ อย่าไปหมกมุ่นกับอบายมุขความชั่วทั้งหลาย พยายามนึกถึงสิ่งที่ดีๆ ใจเราก็จะมีสมาธิ เดินปัญญาต่อไป เวลามีสมาธิใช้แก้ปัญหาทางโลกก็ได้ทางธรรมก็ดี พยายามฝึกตัวเอง

วันนี้หลวงพ่อก็ขอเลิกเท่านี้ เดี๋ยวพระจะต้องไปทำพิธีกรานกฐินต่อ มีความสุขกันทุกคน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 ตุลาคม 2565