ไม่ต้องพนมมือก็ได้ พนมมือเป็นชั่วโมง เมื่อย ฟังธรรมเราสำรวมที่ใจเรา เมื่อก่อนไปภาวนาตามวัดครูบาอาจารย์ หลวงพ่อไปกับน้องคนหนึ่ง ไปหาครูบาอาจารย์ก็ไปด้วยกันทุกที เวลาเขานั่งสมาธิ พอจิตเขาจะรวม เขาชอบนั่งพิงผนัง พอจิตเขารวมขาเขาเหยียดออกไป ตัวก็เอียงไปเอียงมา คนก็จะไปว่า ครูบาอาจารย์ท่านบอก “เฮ้ย อย่าไปว่าเขา ร่างกายเขาไม่ตรงแต่จิตเขาตรงเป๊ะเลย” มันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขาอย่างนั้น
ฉะนั้นงานกรรมฐานตัวสำคัญก็คือ จิตใจของเรานี่เอง ต้องค่อยๆ ฝึกมัน จิตเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ การฝึกจิตฝึกใจก็มี 2 อย่าง อันหนึ่งฝึกให้จิตสงบแล้วก็ตั้งมั่น อีกอันหนึ่งก็คือฝึกให้จิตฉลาด ให้มีปัญญา ตรงทำความสงบนั่นก็คือฝึกสมาธิ แต่คนฝึกสมาธิได้จริงๆ มีไม่มาก ส่วนใหญ่จะฝึกสัมมาสมาธิไม่ได้ จะได้มิจฉาสมาธิ นั่งเคลิ้มๆ บ้าง นั่งเครียดๆ บ้าง อย่างนั้นมันไม่ได้เรื่องอะไร ถ้านั่งต้องมีสติกำกับตลอดสาย
การทำกรรมฐานทั้งหลายคือการฝึกจิตของเรา
ฉะนั้นการปฏิบัติ เราต้องมีสติกำกับตลอดสายของการปฏิบัติ ถ้าเราขาดสติเมื่อไรก็คือขาดการปฏิบัติ อันนี้หลวงปู่มั่นท่านสอนไว้ “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติก็คือขาดการปฏิบัติ” ไปนั่งสมาธิแล้วมุ่งไปที่สงบ มันก็เคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม มันเรียกว่าหลงอยู่ เราก็ต้องค่อยๆ ฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เคล็ดลับมันอยู่ที่จิตเรานี้เอง สงบก็เป็นจิตมันสงบ ฟุ้งซ่านจิตมันก็เป็นคนฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเวลาเราภาวนาอย่าทิ้งจิต
ถ้าจะทำความสงบ ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วคอยรู้ทันจิตของตนเองไป อย่างหลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ครูบาอาจารย์สอนมาตั้งแต่ 7 ขวบ ก็มาทำทุกวัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ใจมันชอบ ทำแล้วใจมันก็สบาย สงบ ทีแรกก็ยังไม่ได้หลัก ไปหายใจพุท หายใจออกโธ ลมหายใจระงับไป เป็นแสงสว่าง จิตมันก็ถลำลงไปจ้องแสงสว่าง มันก็ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก สิ่งที่เราไปรู้ไปเห็น จริงหรือไม่จริงไม่รู้หรอก แต่มันเห็นจริงๆ
ต่อมาเราค่อยๆ ภาวนา เรารู้ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร จิตตามแสงสว่างออกไปข้างนอก ก็อย่างนั้น เหมือนเราดูหนัง ดูหนังจบแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรติดไม้ติดมือออกมา แล้วอีกอย่างเวลาจิตออกข้างนอก บางทีไปรู้ไปเห็นเทวดา เห็นสวรรค์ เห็นอะไรอย่างนี้ จิตมันไม่กลัว แต่วันหนึ่งก็มานึกขึ้น เห็นเทวดาได้มันก็ต้องเห็นผีได้ หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี ตั้งแต่เด็กๆ กลัวผีมากเลย ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นก็กลัว แล้วเรารู้ว่าตอนที่เห็น จิตมันตามแสงสว่างส่งออกข้างนอกไป เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะไม่ส่งออกข้างนอก
เวลาเราอยู่กับแสงสว่าง หรือถ้าพวกเรามาไม่ถึงแสงสว่าง อย่างเราหายใจอย่างนี้ อยู่กับลมหายใจ อย่าถลำลงไปที่อารมณ์กรรมฐาน อย่างเราเห็นแสงแล้ว เราถลำลงไปในแสง จมลงไปในแสง เดี๋ยวนิมิตต่างๆ มันก็เกิดแล้ว เรารู้สึกท้องพองท้องยุบ ก็อย่าให้จิตมันจมลงไปที่ท้อง เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า ก็อย่าให้จิตมันจมไปที่เท้า ขยับมือทำจังหวะ อย่าให้จิตมันจมเข้าไปในมือ คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตเราจะเคลื่อนเรารู้ทัน อย่างที่หลวงพ่อหัดก็คือ มันเกิดแสงสว่างขึ้นมา ลมหายใจมันระงับ แสงมันเกิด จิตมันจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง รู้ทัน พอรู้ทันมันก็ไม่เคลื่อน จิตมันก็ตั้งมั่น
หลักอันนี้เอามาใช้กับกรรมฐานได้ทุกอย่างเลย อย่างเราดูท้องพองท้องยุบ จิตจะเคลื่อนไปที่ท้อง เรารู้ทัน ขยับมือจิตจะเคลื่อนไปที่มือ เรารู้ทัน หายใจออก หายใจเข้า จิตจะเคลื่อนไปที่ลมหายใจ เรารู้ทัน หรือเราภาวนาอยู่พุทโธๆ จิตจะหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน จิตมันเคลื่อนไป พอหลวงพ่อภาวนามาเห็นถึงตรงนี้ หลวงพ่อเลยรู้ว่ากรรมฐานอะไรก็ได้ ไม่มีดี ไม่มีเลวกว่ากันหรอก ใครถนัดใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้อันนั้น แต่จุดสำคัญ หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ ก็คือต้องรู้ทันจิตตนเอง อย่างหายใจออก หายใจเข้า จิตจะเคลื่อนไปที่ลมหายใจ รู้ทัน จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน จะดูท้องพองยุบ จิตจะเคลื่อนไปที่ท้อง รู้ทัน จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน ขยับมือทำจังหวะ จิตจะเคลื่อนไปที่มือ รู้ทัน จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน เดินจงกรม จิตจะถลำเคลื่อนไปเพ่งที่เท้า รู้ทัน จิตจะหนีไปคิด รู้ทัน
หัวใจสำคัญของการปฏิบัติก็คือ การรู้ทันจิตตนเอง กรรมฐานอะไรเหมือนกันหมด ไม่มีดีกว่ากัน ไม่มีเลวกว่ากัน แล้วแต่ความถนัด ใครถนัดอะไรก็ใช้อันนั้น แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ทันจิตตนเอง ถ้ารู้ไม่ทันจิตมันจะหลง อย่างพอเราเห็นแสงขึ้นมา จิตเราไหลไปอยู่ในแสงแล้ว เดี๋ยวนิมิตต่างๆ ก็เกิดแล้ว หรือถูกกิเลสหลอกเอา เพราะฉะนั้นเราภาวนา เราอย่าทิ้งจิต จิตสำคัญที่สุด จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง จะดีหรือจะเลว ก็อยู่ที่จิตของเรา จะทุกข์หรือจะไม่ทุกข์ ก็อยู่ที่จิตของเรานี้ล่ะ
เพราะฉะนั้นการทำกรรมฐานทั้งหลาย ก็คือการฝึกจิตของเรานั่นเอง ในขั้นต้นที่เราทำสมถกรรมฐาน ก็ทำเพื่อให้เรารู้เท่าทันจิตของตนเอง ไม่ใช่เพื่อสงบ เพื่อสงบกิ๊กก๊อก ง่าย ถ้ารู้ทันจิตตัวเองแล้วมันสงบเอง ไม่ต้องทำอะไรหรอก จิตมันหนีไปคิด รู้ทัน แล้วจิตก็ตั้งมั่นปุ๊บเข้ามา มันก็สงบแล้ว ฉะนั้นเราทำสมถะ ทำวิปัสสนา อย่าทิ้งจิต จะทำสมถะก็รู้ทันจิตไป หายใจแล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ สมมติเราถนัดหายใจ ทำไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา พอหนีแล้วรู้ หนีแล้วรู้ นี้ล่ะสำคัญ ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตรงนี้เราได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมาแล้ว
สมาธิไม่ใช่เคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น แล้วความตั้งมั่นของจิตจะเกิดขึ้นเอง รู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นเป็นอย่างไร จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตหนีไปจม ไปเพ่ง ไปแช่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็รู้ รู้ทันจิตอย่างนี้ จิตมันไหลออกไป ไหลไปคิดก็รู้ ไหลไปเพ่งก็รู้ ตรงที่เรารู้นั้นเรียกว่าเราฝึกมีสติ อาศัยมีสติกำกับการปฏิบัติอยู่ ไม่ใช่ไหลแล้วเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว ไม่มีสติ อันนั้นใช้ไม่ได้ มันเป็นมิจฉาสมาธิ
เพราะฉะนั้นจิตไหลแล้วรู้ จิตไหลแล้วรู้ สติของเราก็จะแข็งแรงขึ้น แล้วตรงที่จิตไหลแล้วเรารู้ สมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ทีแรกก็เกิดนิดเดียว เกิดขณะเดี๋ยวแวบ เดี๋ยวก็ไหลอีก รู้อีก ไหลอีก รู้อีก หลงรู้ๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุดกำลังของจิตจะเพิ่มขึ้น จิตจะตั้งมั่น สำนวนเขาบอก “ตั้งมั่นเด่นดวง” จริงๆ มันไม่มีดวงอะไรหรอก จิตไม่มีรูปร่างอะไรหรอก แต่มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ มันตั้งมั่น เด่นขึ้นมา โดยไม่ได้เจตนา อย่าลืมคำนี้ “โดยไม่ได้เจตนา” ถ้าเจตนาจิตจะไม่ตั้งมั่นหรอก จิตจะเครียด จิตจะไม่มีความสุข ถ้าจิตไม่มีความสุข สมาธิไม่เกิดหรอก
ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป ทำไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ว่าพอไม่สงบ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน ในที่สุดจิตจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ พอมันตั้งมั่นถี่ๆๆๆ ขึ้นมา มันเหมือนเรารู้ตัวอยู่ได้ทั้งวันเลย นั่นล่ะจิตมันมีกำลังแล้ว อย่าว่าแต่โยมเลย พระบวชเข้ามาอยู่กับหลวงพ่อ บางทีตั้งหลายเดือน กว่าจิตจะมีกำลังขึ้นมาจริงๆ ถ้าจิตไม่มีกำลัง อย่าไปคุยเรื่องทำวิปัสสนาเลย ไม่ต้องรีบหรอก วิปัสสนา ฝึกจิตให้มันมีกำลัง ให้มันตั้งมั่นเสียก่อน เมื่อจิตยังปวกเปียก ป้อแป้ หลงโน่นหลงนี่อยู่ จะไปเจริญปัญญาได้อย่างไร
รู้เรื่องจิต เรียนเรื่องจิต แล้วจะได้สมาธิ
สมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตทรงสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ บอกแล้วว่าคือการทำสมถะที่มีสติประกอบอยู่ ถ้าขาดสติจะไม่ใช่สัมมาสมาธิทันทีเลย มันจะเป็นมิจฉาทันทีเลย เพราะฉะนั้นเวลาเราทำสมาธิ ทุกวันต้องฝึก ของฟรีไม่มี ของฟลุคไม่มี ต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเองสม่ำเสมอไป รู้อย่างไร จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ แค่นี้ล่ะ เคล็ดลับมันอยู่ที่ตรงนี้ ทำสมาธิแล้วก็มีสติรู้ทันจิต ไม่ใช่ทำสมาธิแล้วก็รู้แต่อารมณ์กรรมฐาน อันนั้นมันปลายทาง ห่างไกลความสำเร็จมากเหลือเกิน
อย่างทำสมาธิแล้วก็รู้ลม เพลินอยู่กับลม อีกกี่ปีมันก็อยู่แค่นั้น หรือดูท้องพองยุบ แล้วจิตก็จมลงไปอยู่ที่ท้อง กี่ปีมันก็อยู่แค่นั้น มันไม่ได้รู้ทันจิตตัวเอง ว่าจิตมันไหลไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราทำสมาธิ ทุกวันต้องทำ บอกแล้วของฟรีไม่มี อยากให้จิตตั้งมั่น มีกำลัง มีเรี่ยวมีแรงที่จะไปเดินปัญญาได้ ก็ต้องฝึกทุกวัน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด แล้วก็รู้ทันจิตของตนเองไป เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นรู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ทำอย่างนี้ ใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้หลักอันเดียวนี้
เพราะฉะนั้นในบทเรียนในการทำสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า “จิตตสิกขา” เรียกเต็มยศเรียก “อธิจิตตสิกขา” เติม อีกคำหนึ่ง อธิจิตตสิกขา เรียนรู้จิตใจอย่างยิ่งใหญ่เลย อย่างไม่ลดละเลย นั่นล่ะแล้วเราจะได้สมาธิ เห็นไหมชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว รู้เรื่องจิต เรียนเรื่องจิต แล้วจะได้สมาธิ นี้บางคนได้ยินหลวงพ่อพูดเรื่องจิตๆ บอก เฮ้ย ไม่ได้ เริ่มต้นต้องกาย ก็ถูก เช่น หายใจออก หายใจเข้าอะไรนี่ก็กาย ท้องพอง ท้องยุบ นี่ก็กาย แต่ถ้ามันไม่ได้แก่น มันก็อยู่แค่นั้น เคลิ้มๆ ไป รู้โน่นรู้นี่ไป
แก่นของการปฏิบัติคือจิตนี้เอง เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่คอยรู้ทันจิตตนเองไป จิตที่ไม่สงบ ก็คือจิตที่มันไหลไปทางอารมณ์ต่างๆ ไหลไปคิด ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น นั้นไม่สงบจริง แต่ตรงที่เรารู้ว่าจิตเคลื่อน ตรงนั้นล่ะความสงบจะเกิดขึ้นนิดหนึ่ง ชั่วขณะเท่านั้น ทำบ่อยๆ จนกระทั่งความรู้ตัวถี่ยิบขึ้นมาเลย หลวงพ่อสอนวิธีนี้ เพราะพวกเราทำฌานไม่ได้ ส่วนใหญ่มันไม่ได้ฌาน ก็ต้องใช้วิธีที่หลวงพ่อบอกนี้ล่ะ สะสมสมาธิเป็นขณะๆๆ ไป พอมันมีกำลังมากแล้ว มันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันเหมือนจิตที่ทรงอุปจารสมาธิได้ มันทรงตัวเด่นดวงขึ้นมา
จากจุดเล็กๆ เหมือนน้ำหยดใส่ตุ่มทีละหยดๆ น้ำก็เต็มตุ่มขึ้นมา จิตก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ตรงนี้เราเอาไปเดินปัญญาได้แล้ว ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่น อย่าพูดเรื่องเดินปัญญา ทำไม่ได้หรอก จิตยังไหลไปไหลมา หรืออ่อนแอปวกเปียก ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นเราอย่าละเลยที่หลวงพ่อบอก ทุกวันต้องไปทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน ในที่สุดเราจะได้จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องขึ้นมา
ที่จริงมันมีอีกวิธีหนึ่ง แต่พวกเราทำกันไม่ค่อยได้ในยุคนี้ คือการทำฌาน อย่างจากแสงสว่าง จิตมันไปเกาะอยู่ที่แสง มันไปตรึก ตัวนี้เรียกว่าวิตก จิตมันไปเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง เรียกว่าวิจาร แล้วก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่ง ไม่วอกแวก ไม่คิดโน้นคิดนี้ จิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่งอยู่ ถัดจากนั้นสมาธิมันเพิ่มขึ้น สติมันเพิ่มขึ้น มันเห็น การที่จิตยังตรึกอยู่กับแสง ยังตรองเคล้าเคลียอยู่กับแสงเป็นภาระ จิตก็วางแสง ทวนกระแสเข้ามาที่ตัวจิตผู้รู้ ตัวจิตผู้รู้มันจะเกิดในฌานที่ 2 แล้วฌานที่ 3 4 5 6 7 8 มีจิตผู้รู้อยู่ อันนี้สำหรับสมาธิแบบพุทธ
ถ้าแบบนอกศาสนาพุทธ เขาทำถึงฌานที่ 8 แต่ไม่ได้มีจิตผู้รู้ อย่างบางคนทำถึงอรูป อย่างเจริญเมตตาไปเรื่อยๆ ไม่มีแสงไม่มีอะไรหรอก เจริญพรหมวิหารไม่มีปฏิภาคนิมิต ไม่มีดวงสว่างอะไร เจริญเมตตาไป ในที่สุดจิตก็เข้าสู่ความว่าง ว่าง สว่าง แต่ไม่ได้มีตัวรู้ พอไปว่างอยู่กับความว่าง เขาเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ หรือถ้าเราชำนาญในการดูจิต เรารู้สึกเข้าไปที่ความว่างของจิตเลย ตรงนั้นจะเข้าอากาสานัญจายตนะ เป็นทางลัด พอมันว่างแล้ว เราจะเห็นอีกการที่จิตไปรู้ความว่าง ยังเป็นภาระของจิต จิตมันก็วางว่าง มันทวนกระแสเข้ามาดูตัวจิต มันก็เห็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ เกิดจิตรู้ขึ้นมาอีก แล้วก็ดับ เกิดจิตรู้ดวงใหม่ขึ้นมาดับ มีจิตซ้อนจิตไปเรื่อยๆ เรียกวิญญาณเป็นอนันต์ ตัวนี้เป็นอรูปที่ 2 เป็นฌานที่ 6 แต่เป็นอรูปฌานที่ 2
การที่เห็นวิญญาณ หรือจิตเกิดซ้อนๆๆ ไปเรื่อยๆ มันยังเป็นภาระอีก ก็วาง ทีแรกวางแสงสว่าง วางปฏิภาคนิมิต วางความว่าง ก็วางตัวจิต ไม่เอาอะไรเลย นี้เป็นอรูปที่ 3 ชื่ออากิจจัญญายตนะ ไม่มีอะไร สุดท้ายมันจะเคลิ้มๆ ลงไป เหลือความรู้สึกอยู่นิดหนึ่งแต่ไม่หมดความรู้สึก ถ้าหมดความรู้สึกจะเป็นพรหมลูกฟัก ถ้าไม่หมดความรู้สึกจะเป็นอรูปที่ 4 เนวสัญญานาสัญญายตนะ ตรงนี้พระสารีบุตรท่านบอกว่า “ถ้าชำนาญในการดูจิต สามารถเจริญปัญญาได้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ถ้าไม่ชำนาญในฌาน ไม่ชำนาญในการดูจิต ไปเจริญปัญญาในอรูปไม่ได้” เพราะในอรูปมันมีแต่จิต มันไม่ได้มีกาย
อันนี้เส้นทางนี้ลำบาก ยาก แต่ว่าถ้าเรา พอจิตมันถอยออกมา แล้วถ้าเป็นแบบสมาธิพุทธ มันได้ตัวรู้ตั้งแต่ฌานที่ 2 จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะก็ได้ ตัวรู้ก็ยังมี ตรงนี้ถึงจะไปเดินวิปัสสนาได้ แต่ถ้าเป็นอย่างสมาธิฤๅษี ก็จะไปสงบเฉยๆ ถอยออกมาแล้ว กิเลสก็กลับมาเหมือนเดิม เพราะตัวที่ฆ่ากิเลสไม่ใช่สมาธิ
ฝึกให้จิตมีปัญญาด้วยวิปัสสนากรรมฐาน
สมาธิไม่สามารถฆ่ากิเลสได้ สมาธิทำได้แค่ข่มกิเลส ตัวที่ฆ่ากิเลสได้คือตัวปัญญา คือตัวปัญญาเท่านั้นที่จะฆ่ากิเลสได้ สติก็ไม่ได้ฆ่ากิเลส กิเลสเกิดสติรู้ทัน เรียกว่าจับมันได้แล้ว จับตัวมันได้แล้ว แต่ไม่ได้ไปตะครุบอย่างนี้ คือสติเกิดขึ้นมามันก็รู้ กิเลสมาแล้ว สติรู้ทันปุ๊บ แล้วจิตตั้งมั่นอยู่ ปัญญามันจะตัด ฉะนั้นตัวที่ล้างกิเลสคือตัวปัญญา
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ไม่ใช่ด้วยสติ ไม่ได้ด้วยสมาธิ ไม่ใช่ด้วยศีล ด้วยทานอะไรทั้งสิ้น แต่ด้วยปัญญา การฝึกให้จิตมีปัญญา ก็คือการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน พอเราได้จิตที่ตั้งมั่น เด่นดวง เป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เราถึงจะเดินปัญญาได้จริง วิธีเดินปัญญาทำอย่างไร เราจะเห็นว่าจิตมันตั้งมั่นอยู่นี่ ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างนี้ ร่างกายมันของถูกรู้ถูกดู ร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน นี่เราเริ่มแยกรูปแยกนามได้แล้ว บางคนก็บอก เฮ้ย แยกรูปแยกนาม เช่น ท้องพองก็อันหนึ่ง ท้องยุบก็อันหนึ่ง นั่นไม่ได้แยกรูปแยกนาม มันคือรูปกับรูป ไม่มีนาม หรือเดินจงกรมบอกยกเท้า ย่างเท้า แยกรูปแยกนาม ไม่ใช่ นั่นรูปกับรูปทั้งหมดเลย
แยกรูปกับนาม ต้องมีนาม นามตัวนี้คือนามจิต แล้วมีจิตที่เป็นคนรู้ เพราะฉะนั้นพอเรามีจิตที่เป็นผู้รู้แล้ว การแยกรูปแยกนามจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าเราไม่มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่มีจิตที่ทรงกำลัง เราจะแยกรูปนามไม่ได้ แยกได้ก็แยกด้วยความทุกข์ทรมานมาก แยกแป๊บเดียวก็ตะครุบรวมกันเข้าไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าละเลย ต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง ไม่ได้มุ่งที่สงบ ไม่ได้มุ่งที่ความสุข ไม่ได้มุ่งที่ความดี แต่ทำไปแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ ในที่สุดจิตเราจะได้จิตผู้รู้ที่เด่นดวงขึ้นมา
หลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็ก มันก็ได้ผู้รู้มาแต่เด็กแล้ว มันได้อัตโนมัติขึ้นมาแล้ว ตอนมาเจอหลวงปู่ดูลย์อายุ 29 ปีแล้ว มาดูจิตๆ เอา แยกๆๆ ออกไป อ้าว มันก็กลับมาที่ตัวผู้รู้นี้อีกแล้ว ก็เลยรู้ว่าตัวรู้นี้มันเกิดได้ 2 วิธี วิธีทำสมาธิลึกๆ ไป นั่นวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งก็คือทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วจิตไหลไปแล้วรู้ ไหลไปคิดก็รู้ ไหลไปเพ่งก็รู้ เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา ที่หลวงพ่อภาวนาได้ง่าย ก็เพราะหลวงพ่อมีจิตที่เป็นผู้รู้ พวกเรามันมีจิตผู้คิด จิตผู้หลงอะไรอย่างนี้ มันภาวนาไม่ได้จริงหรอก ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ต้องฝึก ฟลุคๆ ก็ไม่มี คำว่า “บังเอิญ” คำว่า “โชคดี” ไม่มีในพระพุทธศาสนา อย่างเราบอก โอ๊ย บังเอิญ ภาวนาวันนี้บังเอิญดี บังเอิญดีไม่มี บังเอิญชั่วก็ไม่มี
ทุกอย่างมีเหตุทั้งสิ้น บังเอิญสุขก็ไม่มี บังเอิญทุกข์ก็ไม่มี อยู่ที่เหตุทั้งหมด โชคดีไม่มี เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย ไม่มี เคราะห์มันชื่อของดาว ฤกษ์ดี ฤกษ์ไม่ดี ฤกษ์ก็ชื่อของดาว ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวจะมาทำอะไรกับมนุษย์ ขอให้เรามีใจเข็มแข็ง เด็ดเดี่ยว มั่นใจในคุณงามความดีของเรา ดวงดาวก็ทำอะไรเราไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปกังวล อย่างบางคนบวช จะบวชก็ต้องหาฤกษ์บวช หาฤกษ์บวชพอเข้ามาอยู่ที่วัดหลวงพ่อนี่ เออ มีฤกษ์บวชมาหลวงพ่อไม่ว่า แต่ตอนจะสึกหาฤกษ์สึกนี่หลวงพ่อด่าเลย บอก โห มาอยู่กับเราตั้งนานไม่หายโง่ ฤกษ์ยามไม่ใช่เรื่องของพุทธ
จิตนั่นล่ะสำคัญ จะฝึกทีแรกก็ฝึกให้มันตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา พอรู้เนื้อรู้ตัวได้ก็แยกขันธ์ เริ่มเดินปัญญาขั้นต้น ปัญญามี 2 ระดับ ปัญญาเบื้องต้น กับปัญญาในระดับวิปัสสนาปัญญา ปัญญาเบื้องต้นก็จะเห็นกายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ความสุขความทุกข์ก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ความดีความชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง แยกๆๆๆ ขันธ์ 5 นั่นล่ะแยกออกไป มันจะแยกได้ ไม่ยาก ถ้าจิตมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ มันรู้สึกตัวนี้ไม่ใช่เรา ตัวนี้มันถูกรู้ มันไม่ใช่จิตด้วย มันจะเห็นแยกกัน ขันธ์แต่ละตัวมันจะกระจายออก
พอขันธ์แต่ละตัวกระจายออก คราวนี้มันจะเริ่มขึ้นวิปัสสนาแล้ว มันจะเห็นว่าขันธ์แต่ละตัว สภาวะแต่ละสภาวะนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตรงนั้นล่ะเราขึ้นวิปัสสนาแล้ว จะเห็นเช่นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันแค่ของถูกรู้ถูกดู เราเห็นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนเราดูละครเห็นนางเอกมันออกมา แล้วนางเอกมันก็ไป เห็นพระเอกมา พระเอกมันไป ผู้ร้ายมาเดี๋ยวผู้ร้ายมันก็ไป นางอิจฉามาเดี๋ยวนางอิจฉาก็ไป เราคอยรู้คอยดูลงไป เราเห็นทุกตัวมาแล้วไป ทุกตัวมาแล้วไป เราขึ้นวิปัสสนาเบื้องต้นแล้ว เป็นวิปัสสนาเบื้องต้น แต่ว่ากำลังของสมาธิมักจะไม่พอ
ทำวิปัสสนาก็ไม่ทิ้งสมาธิ
ช่วงแรกๆ ถ้าคนไหนฝึกจนกระทั่งจิตมันมีกำลังอย่างแท้จริง โดยเฉพาะถ้าไปผ่านฌานมาแล้ว จิตมีกำลังมันจะผ่านวิปัสสนูปกิเลสตัวนี้ง่าย แต่ถ้าเราฝึกแบบหลงแล้วรู้ๆ ตัวนี้ สมาธิไม่ค่อยมีกำลัง มีนิดหน่อย มีเหมือนกันแต่ว่ามันมีไม่นาน คล้ายๆ แบตเตอรี่ของเราไม่ดี แบตเตอรี่เสื่อมชาร์จไฟเข้าไป เดี๋ยวก็รั่วไปหมดแล้ว ถ้าเขาผ่านฌานมา คล้ายๆ แบตเตอรี่เขาดี มีกำลังอยู่ได้นาน ของเราเข้าฌานไม่เป็น เราก็อาศัยกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตนั่นล่ะ ก็จะได้พลังงานอันหนึ่งขึ้นมา จิตจะตั้งมั่น ตั้งแล้วรีบแยกขันธ์ไปเลย
กายก็ส่วนกาย ความสุขทุกข์ก็ส่วนความสุขทุกข์ ความดีความชั่วก็ส่วนความดีความชั่ว จิตที่เป็นคนรู้คนดูก็อยู่ส่วนจิต แยกอย่างนี้ แล้วถัดจากนั้นจะเริ่มขึ้นวิปัสสนา มันก็จะเห็นเลย อย่างความดีความชั่ว เราแยกออกไปจากจิตแล้ว เราจะเห็นเลยจิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่ว เช่น จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ นี่เราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เห็นสภาวธรรมแต่ละตัวๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่เริ่มวิปัสสนา แต่พอกำลังสมาธิไม่พอ เวลาที่เห็นมันเกิดดับๆ จิตมันจะถลำลงไปที่ตัวที่เกิดที่ดับ มันไม่ตั้งมั่นเป็นแค่คนดู แต่มันจะจมลงไปในตัวที่เกิดที่ดับ พอดับปั๊บว่างสว่างขึ้นมา คราวนี้จะโดนวิปัสสนูปกิเลสหลอกแล้ว
เพราะอะไร จิตเคลื่อนไปแล้วไม่เห็น อย่างจิตมันสว่างว่าง พวกดูจิตๆ นั่นล่ะ ส่วนใหญ่ที่เจอ จะเจอวิปัสสนูปกิเลสชนิดที่เรียกว่า โอภาส วิปัสสนูปกิเลสมี 10 ตัวเอาไปเปิดกูเกิลดู วิปัสสนูปกิเลส 10 ตัว 10 ตัวนั้นเกิดจากสาเหตุเดียวกัน ก็คือเจริญวิปัสสนา เห็นสภาวธรรมแต่ละตัวเกิดดับๆ แล้วกำลังสมาธิไม่พอ จิตมันเคลื่อนออกไปที่ตัวสภาวะ เช่น มันเห็นความโกรธเกิดขึ้นแล้วสมาธิไม่พอ จิตมันจะเคลื่อนไปที่ความโกรธ แล้วความโกรธมันจะเคลื่อนหนีไป แล้วมันสลายตัวแวบไป จิตก็ไปค้างอยู่ข้างนอกเลย ไม่รู้ว่าจิตเคลื่อนออกไปแล้ว ไปสว่าง ว่าง สบาย อยู่ข้างนอก
ที่มาเรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อว่าจิตไม่เข้าฐาน ไม่เฉพาะพวกเรา หลวงพ่อยังเคยเป็นเลยจิตไม่เข้าฐานอย่างนี้ เห็นโทสะขึ้นมา หลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห เห็นโทสะมันผุดจากกลางอก แต่เดิมพอรู้ปุ๊บขาดปั๊บ รู้ปุ๊บขาดปั๊บ วันนั้นอยากทดลองว่าถ้ารู้แบบแผ่วๆ ไม่รู้แบบเข้มแข็ง ดูซิมันจะเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าโทสะ จิตมันก็เข้าไปแตะที่โทสะ แต่มันไม่ทำลายโทสะ มันแตะนิดเดียว โทสะนี้มันเคลื่อนไปแล้วเราไม่รู้ว่าเคลื่อน เพราะจิตกับโทสะนี้เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เราก็เลยไม่รู้
เหมือนเราตกอยู่ในน้ำ น้ำก็ไหลไป เราเห็นท่อนไม้ท่อนหนึ่งอยู่ใกล้ๆ เรา ลอยอยู่ในน้ำ เรากับท่อนไม้ลอยไปด้วยกัน เพราะเราไม่รู้ว่าท่อนไม้มันเคลื่อน เพราะเรากับมันเคลื่อนไปด้วยกัน จิตกับโทสะมันไปเกาะอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็เคลื่อนไปด้วยกัน เราไม่เห็น พอโทสะดับปั๊บลงไป จิตมันอยู่ข้างนอกแล้ว จิตมันเคลื่อนไปเราไม่เห็นแล้ว คราวนี้สว่างว่างเลย บางทีนึกถึงธรรมะอะไรขึ้นมา รู้ไปหมดเลย ธรรมะกี่หมวด กี่บท แต่ละบท แต่ละหัวข้อ โยงกันได้หมดเลย ธรรมะ โยงไปโยงมา จิตใจนี้แน่นอึดเลย นี่เป็นวิปัสสนูปกิเลสอีกแบบ ปัญญามากไป ปัญญาเยอะไม่ใช่ว่าจะดี ถ้าปัญญาไม่มีสติกำกับ ไม่มีสมาธิกำกับด้วย ก็กลายเป็นวิปัสนนูปกิเลส มันหลอกเอา รู้หมด รู้โน่นรู้นี่ รู้โน่นรู้นี่เลย ไม่รู้ว่ากำลังหลงอยู่
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำวิปัสสนา เราก็ไม่ทิ้งสมาธิ ทุกวันต้องแบ่งเวลากลับมาทำสมาธิ ทำกรรมฐานของเรา แล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อน ทำอย่างนี้ทุกวันๆ หลวงพ่อเคยเคลื่อนไป แล้วไปอยู่กับความว่างปีกว่าๆ อยู่อย่างนั้น สบาย ไม่มีกิเลส เหมือนไม่มีกิเลส ที่จริงก็คือนอนทับกิเลสอยู่ แต่มองไม่เห็น วันหนึ่งเกิดเฉลียวใจ เอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง แต่ทำไมจิตเราเที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ ควบคุมได้ เราผิดตรงไหน นี่ย้อนมาดู เราผิดตรงไหน ไม่ได้คิดว่า พระไตรปิฎกผิดตรงไหน บางคนภาวนาเห็นอะไรแปลกๆ ในพระไตรปิฎกไม่มี มันบอกพระไตรปิฎกไม่สมบูรณ์ ตกหล่น นี่พวกบ้าแล้ว พวกเซลฟ์จัด
พอหลวงพ่อเห็นนี่มันขัดกับพระไตรปิฎก เราผิดที่ไหน ดูตัวเองใหญ่เลย ดูไม่ออกว่ามันผิดตรงไหน จิตมันว่าง สว่าง สบาย อยู่อย่างนั้น พอดีขึ้นไปวัดป่าบ้านตาด ไปกราบหลวงตามหาบัว ยุคที่ขึ้นไปผู้คนยังไม่ค่อยมีหรอก ผู้คนยังไม่เข้าทางนั้นเท่าไร ส่วนใหญ่จะไปที่วัดหินหมากเป้ง ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านมี 3 รุ่น รุ่นใหญ่ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน คล้ายๆ เป็นหัวหน้าลูกศิษย์ ถัดจากรุ่นหลวงปู่สิงห์ มารุ่นกลางๆ แล้วหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง คล้ายๆ เป็นผู้นำ แล้วรุ่นเล็กก็จะเป็นหลวงตามหาบัว
ตอนนั้นหลวงปู่เทสก์ยังอยู่ คนก็เข้าแต่หาหลวงปู่เทสก์ หลวงพ่อก็ไปหา ไปอยู่วัดหินหมากเป้งนั่นล่ะ แต่มีเวลาก็แวะมาวัดป่าบ้านตาด เรารู้ว่าองค์นี้ไม่ธรรมดา องค์นี้ดี เข้าไป เข้าไปถามท่าน ท่านกำลังจะฉันข้าว ไปถามท่าน “พ่อแม่ครูอาจารย์สอนให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมมันไม่พัฒนาเลย” ท่านหันมามองหน้า ท่านมองขวับ ท่านก็ตอบเลย “ที่ว่าดูจิตนั้น ดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง ตรงนี้สำคัญนะ อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมานิดหนึ่ง นั่งอยู่ใกล้ๆ กันห่างท่านเมตรกว่าๆ ท่านนั่งฉันข้าว เราก็นั่งพิงระเบียงอยู่ใกล้ๆ กับท่าน แล้วก็หายใจ ทีแรกก็พุทโธๆ
ท่านบอกให้บริกรรมก็พุทโธๆ ไป จิตไม่ชอบบริกรรมอย่างเดียว จิตอึดอัด ก็นึกขึ้นมาทำไมท่านให้บริกรรม บริกรรมเป็นเรื่องของการทำสมถะนี่ ฉะนั้นเราก็ทำสมถะ ที่แท้ก็คือเดินปัญญาจนกระทั่งทิ้งสมาธิ นั่นล่ะปัญหาถึงได้เกิด สมาธิไม่พอ เสร็จแล้วก็เลยหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำกรรมฐานที่เราถนัด หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวมมา รวมปุ๊บมา โอ๊ย แทบเขกกบาลตัวเองเลย โดนวิปัสสนูปกิเลสหลอกมาตั้งปีหนึ่ง มันนิดเดียวเท่านั้น คือสมาธิไม่พอ วิปัสสนูปกิเลสจะหลอกเรา
เพราะฉะนั้นการทำสมาธิ สำคัญ ต้องทำทุกวัน ถ้าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ อย่ามาทำฟุ้งซ่าน ดูจิตๆ แต่ฟุ้งเละเทะ ดูไม่ได้หรอก มันขี้โม้ จิตมันต้องตั้งมั่น ต้องเด่นดวง ไม่อยากใช้คำว่าเด่นดวง แต่มันรู้สึกเด่น ไม่ใช่เด่นแบบกูเก่งอะไรอย่างนั้น มันรู้สึก แหม มันมีกำลัง จิตจริงๆ ไม่มีจุดไม่มีดวงอะไรหรอก พอเราทำไปเรื่อยๆ ปัญญามันก็เกิด ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็เกิด มันก็จะเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง จะปรุงสุขหรือปรุงทุกข์ ปรุงดีหรือปรุงชั่ว ปรุงรูปหรือปรุงนาม ก็คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นล่ะ บางทีก็ปรุงดี บางทีก็ปรุงชั่ว บางทีพยายามไม่ปรุง ทำจิตให้ว่าง
นิพพานไม่ใช่ความว่างที่เป็นคู่กับความวุ่นวาย
อย่างทุกวันนี้ก็ยังมีคนสอนกัน ว่างๆ ชอบพูดแต่คำว่าว่าง ได้ยินว่านิพพานนั้นว่าง ก็ชอบพูดว่างๆ กัน ได้อวดกันว่าเข้าถึงนิพพาน จริงๆ มันว่างแต่ปาก จิตมันไม่ได้ว่าง ว่างที่เรารู้จัก มันคือว่างที่เป็นคู่กับวุ่น เรายังไม่ได้รู้จักนิพพาน นิพพานเป็นว่างที่ว่างไม่มีคู่ ว่างคือว่าง แต่ว่างของเรามันเป็นว่างที่คู่กับวุ่นวาย เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็ไม่ว่าง เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็ไม่ว่าง ไม่ใช่ของจริงหรอก บางคนได้ยินว่างๆๆ แล้วชอบพูดแต่ว่างๆ ก็ไปท่องคำสอนของครูบาอาจารย์มาบ้าง ท่องพระไตรปิฎกมาบ้าง ก็มาพูดๆๆ พวกไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ก็เชื่อ โอ๊ย นี่พระอรหันต์แน่นอน พูดธรรมะระดับนี้ นิพพานไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีกลางคืน ไม่มีกลางวัน ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการจุติ ไม่มีการอุบัติ มีวลีเยอะแยะเลย แต่ท่องมา
เราจะดูว่าจริงไม่จริง ง่ายๆ ดูศีล มีศีลไหม บางทีไม่มีศีลเลย ท่องเก่งเท่านั้นเอง อย่าไปเชื่อ ทุกวันนี้ชอบตั้งคนโน้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์ อย่าไปเชื่อเอาง่ายๆ ฉะนั้นว่างๆๆ มันว่างแบบไหน ว่างที่คู่กับวุ่น ก็อย่างที่หลวงพ่อเคยทำผิดนั้น ว่างอย่างนั้น ว่างได้แล้วก็ยังวุ่นได้อยู่ ไม่ใช่ของจริงหรอก ตรงที่เราน้อมจิตให้ว่าง หรือเข้าอรูปฌาน ว่างอย่างนั้นเรียกว่า อเนญชาภิสังขาร ความปรุงแต่งอภิสังขาร ความปรุงแต่งมี 3 ชนิด ปุญญาภิสังขาร ปรุงบุญ ปรุงดี อย่างการที่เราขยันภาวนา เราปรุงดี เป็นความปรุงแต่ง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นความปรุงดี แต่ต้องปรุงดีไว้ก่อน ถ้าเราไม่ปรุงดีจิตมันก็ปรุงชั่ว
เพราะฉะนั้นเบื้องต้นปรุงดีไว้ก่อน แต่รู้ทันว่านี่เราปรุง ปรุงศีล ปรุงสมาธิ ปรุงปัญญา ปรุงสมาธิก็ต้องจิตเคลื่อนเรารู้ เราปรุงแต่งเอา สร้างมันขึ้นมา ในที่สุดจิตก็ทรงตัวขึ้นมา อยู่ได้ชั่วคราวก็แตกสลาย ดับ เห็นไหมยังเป็นของที่เป็นคู่ กลับกลอก เชื่อถือไม่ได้ ฉะนั้นศีล สมาธิ ปัญญา ยังเชื่อถือไม่ได้ มันแค่ความปรุงดี ส่วนความปรุงชั่วก็ปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง อะไรต่างๆ นาๆ นั่นล่ะ
อีกอันหนึ่งเรียกปรุงว่าง ปรุงอเนญชาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง ตรงพยายามไม่ปรุงนั่นล่ะ พูดถึงว่างๆๆ โน่นก็ว่าง นี่ก็ว่าง พวกนี้ล่ะอเนญชาภิสังขาร อย่าไปหลงกล นึกว่าได้ยินใครว่าว่างๆๆ คิดว่านี่พระอรหันต์ ไม่ใช่ อันนั้นมันอเนญชาภิสังขาร จะไปถึงสุญญตาจริงหรือถึงว่างจริง ต้องทำสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยปัญญาอันยิ่ง มีปัญญาอันยิ่งก็มีสัมปชัญญะกำกับ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ทำสมถะก็รู้ว่าทำ จะทำอะไรเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำแล้วมีผลอย่างไร รู้ตลอด อย่างเราทำสมถะเพื่ออะไร เพื่อให้จิตมีกำลังไปเจริญวิปัสสนา
เราเจริญวิปัสสนาเราก็ต้องรู้ เราเจริญวิปัสสนาจะทำอย่างไร จะทำอะไร ทำอย่างไร ทำแล้วจะเป็นอย่างไร มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีเป้าหมายชัดเจน วิปัสสนานั้นทำไปเพื่อให้จิตเห็นความจริงของรูปนาม ความจริงของรูปธรรมนามธรรมก็คือไตรลักษณ์ เมื่อ 2 วันนี้ก็มีพระมาถาม “ทำอย่างไรผมจะเห็นสภาวะที่ละเอียด เพื่อนๆ กันเขาเห็นสภาวะละเอียด ผมเห็นแต่สภาวะหยาบ” หลวงพ่อบอก “ไม่จำเป็นเลย หยาบหรือละเอียดแสดงไตรลักษณ์เหมือนกัน” ที่เราต้องการเห็นก็คือไตรลักษณ์ ไม่ใช่ต้องการเห็นสภาวะ สติเป็นตัวรู้ว่ามีสภาวะอะไรเกิดขึ้น จิตตั้งมั่น ปัญญาเห็นไตรลักษณ์
ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ นั่นเป็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ เป็นปัญญาระดับวิปัสสนา ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาธรรมดาแยกรูปแยกนามได้ ปัญญาอย่างโลกๆ ไม่นับ นั่นปัญญาอย่างโลกๆ ทิ้งไป ปัญญาจากการปฏิบัติ แยกรูปนามได้เป็นปัญญาเบื้องต้น เห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม แสดงไตรลักษณ์ได้ เป็นวิปัสสนาปัญญา ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตเป็นกลาง สุขมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันกับทุกข์ ดีกับชั่วมันก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ สุดขีดของการทำวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ถัดจากนั้นมันจะไปเข้ากระบวนการแห่งโลกุตตรปัญญา ปัญญาระดับที่ฆ่ากิเลส ถอนรากถอนโคน มันเป็นโลกุตตรปัญญา เกิดในอริยมรรค ไม่เกิดที่อื่น เกิดในอริยมรรค
เราค่อยๆ ฝึกของเรา ทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป จนกระทั่งจิตมีกำลัง จิตมีกำลังเราจะสามารถแยกขันธ์ได้อย่างง่ายๆ รูปส่วนรูป เวทนาส่วนเวทนา สังขารส่วนสังขาร จิตส่วนจิต ก็แยกๆๆ ไป แล้วต่อไปจะเห็นสภาวะแต่ละสภาวะ รูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม เกิดแล้วก็ดับ มีแต่ไตรลักษณ์ แสดงไตรลักษณ์ เราไม่ได้สนใจตัวรูปตัวนามแล้ว ในขั้นวิปัสสนานี้เราจะเพ่งเล็งความรับรู้มาที่ไตรลักษณ์ สมาธิตรงนี้เรียก ลักขณูปนิชฌาน จิตที่ตั้งมั่นเป็นลักขณูปนิชฌาน คือสามารถเห็นลักษณะ คือเห็นไตรลักษณ์ได้
แต่ถ้าจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเรียก อารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบอยู่กับอารมณ์อันเดียว อารัมมะก็คืออารมณ์ ฉะนั้นถ้าจิตไปจมอยู่กับอารมณ์ แต่มีสติอยู่ ก็เป็นสมาธิชนิดพักผ่อน ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา สามารถเห็นไตรลักษณ์ได้ อันนั้นเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน เห็นลักษณะคือไตรลักษณ์ได้ ลักขณูปนิชฌาน เกิดอยู่หลายที่ เกิดตอนที่เราฝึกจนมันตั้งมั่นขึ้นมาได้ เกิดตอนที่ทำวิปัสสนา เกิดในขณะแห่งอริยมรรค เกิดในขณะแห่งอริยผล เป็นลักขณูปนิชฌาน ในอริยมรรค ในอริยผล ไปเห็นอะไร เห็นนิพพาน ตรงนั้นล่ะเห็นว่าง ว่างตัวนั้นไม่เหมือนว่างที่เราคิดหรอก มันไม่ใช่ว่างที่เข้าคู่กับความวุ่นวาย
พอได้หลักไหม ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปฟังซ้ำๆ ทุกวันนี้ง่าย สมัยที่หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ เอาเทปไปอัดก็ไม่ได้ ไปนั่งจดก็ไม่ได้ ฟังแล้วต้องตั้งใจฟัง จำเอาๆ แล้วมาภาวนา
คนที่อยู่ในห้อง พอหลวงพ่อพูดคำว่าคนที่อยู่ในห้อง สังเกตไหมจิตมันตื่นตัว คล้ายๆ อันตรายจะถึงตัวแล้ว หลวงพ่อจะทำอะไร หลวงพ่อไม่ทำอะไรหรอก หลวงพ่อจะบอกให้พวกเราคอยรู้ทันจิตใจของตนเองไว้ แล้วสมาธิของเราจะได้เพิ่มขึ้น ดูจิตในเบื้องต้นจะได้สมาธิ แล้วพอจิตมีสมาธิแล้วก็เดินปัญญา จะเริ่มที่กายก็ได้ เริ่มที่เวทนาก็ได้ เริ่มที่จิตก็ได้ อย่างหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อทำสมาธิมาแต่เด็ก เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านบอกให้ดูจิตเลย ท่านไม่ได้บอกดูกาย เพราะท่าน ญาณทัศนะท่านเยอะ
เวลาเราไปเรียนกรรมฐานกับท่าน ท่านยังไม่พูด นั่งเงียบๆ นานเลย คล้ายๆ สอบประวัติเรา ว่าเราเคยทำกรรมฐานอะไรมา มีจริตนิสัยเหมาะกับกรรมฐานชนิดไหน ท่านก็จะบอกให้ คนหนึ่งๆ ท่านใช้เวลาดูนาน บางคนเป็นชั่วโมง หลวงพ่อไม่ถึงชั่วโมง แต่เกินครึ่งชั่วโมง นั่งเงียบๆ อย่างนั้น ท่านลืมตาท่านก็บอกให้หลวงพ่อดูจิตเอา ไม่ได้เริ่มที่กาย เพราะจิตมันมีสมาธิอยู่แล้ว เดินปัญญา
หลวงพ่อเดินปัญญาด้วยการดูจิตเอา ขึ้นจิตตานุปัสสนา แล้วเสร็จแล้วดูไปช่วงหนึ่ง พอเข้าใจอะไรบ้างแล้ว ก็ออกไปดูครูบาอาจารย์ท่านสอนองค์อื่น ท่านสอนโน่นสอนนี่ ไปดูที่โน่นที่นี้ ก็เห็นส่วนใหญ่ท่านสอนพุทโธพิจารณากาย ขนาดสายอื่นที่ไม่ใช่สายวัดป่าก็กายทั้งนั้น อย่างสายท่านพุทธทาส ท่านทำอานาปานสติ มันก็กาย สายหลวงพ่อเทียน ขยับมือทำจังหวะก็กาย พองยุบก็กาย โกเอนก้าท่านก็เริ่มมาจากอานาปานสติ ก็กาย
เห็นที่ไหนๆ เขาก็เริ่มด้วยกาย ทำไมหลวงปู่ดูลย์บอกให้เราดูจิต ก็เลยกลับไปถามท่านว่า “หลวงปู่ครับ ผมต้องย้อนไปดูกายไหม” ท่านบอกว่า “ที่เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต เมื่อเห็นจิตแล้วจะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านบอกอย่างนี้ อันนี้ท่านสอนหลวงพ่อ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะใช้แบบนี้ อย่างพระ พระทิ้งการดูกายไม่ได้ ไม่ปลอดภัย อย่างเวลาราคะเกิด จะเป็นจะตายเลย ราคะเกิด ถ้าพระไม่ดีก็ทำผิดศีลไป ถ้าพระดี โห มันทรมานบอกไม่ถูกเลย ทุกข์ขนาดไหน
อันนี้ถ้ามันทุกข์มากๆ สู้ไม่ไหวจริงๆ พิจารณาลงในกาย ร่างกายนี้มันเป็นของไม่สวยไม่งาม ไม่ดี หนังหุ้มอยู่ข้างนอก ข้างในโสโครก เหม็น กลิ่นที่ออกจากร่างกายนี้ก็เหม็น วัตถุอะไรที่ออกจากร่างกายนี้ก็เหม็น พิจารณาอย่างนี้ อันนี้เป็นสมถะ แต่ว่าแก้ราคะได้เด็ดขาดนัก บางองค์ท่านก็เดินอย่างนี้ พิจารณาอสุภะไปเรื่อยๆๆๆ จนราคะไม่รุกราน บอก เอ๊ย นี้พระอนาคามี ไม่ใช่หรอก อันนั้นเกิดจากการทำพิจารณาปฏิกูล อสุภะ จิตมีสมาธิ ถ้าสมาธิเสื่อมราคะมันก็กลับมาอีก ก็ต้องให้เห็นความจริงของรูป ของนาม ถึงเราดูจิต แต่เวลามันแจ่มแจ้ง มันแจ่มแจ้งที่จิต เวลามันละ มันละที่จิต แต่ถ้าเราดูกาย มันรู้กายแจ่มแจ้ง วางกาย มันก็ทวนเข้ามาที่จิต มาตัดที่จิต
เพราะฉะนั้นเวลาล้างกิเลสไม่ล้างที่กาย ล้างที่จิต แต่ใช้กายเป็นแบบฝึกหัด ดูกายไปเรื่อยๆ เห็นไตรลักษณ์ของกายไปเรื่อยๆ พอจิตมันเห็นจริงแล้วมันรวมเข้ามาที่จิต แล้วก็ตัดความรักใคร่หวงแหนยึดถือในกายได้ ถึงจะเป็นพระอนาคามี ไม่ไปตัดลงที่กาย ต้องตัดที่จิต แต่ว่าที่หลวงพ่อบอกพระเราว่า ราคะเกิดก็พิจารณากายเข้าไป นี่เป็นอุบายของสมาธิ เอาตัวรอดไปคราวหนึ่งก่อน พอราคะสงบแล้ว เราก็ดูลงไปเรื่อย แล้วแต่ถนัดดูกายก็เห็นว่ากายแสดงไตรลักษณ์ ถนัดเวทนาก็เห็นเวทนาแสดงไตรลักษณ์ ถนัดจิตก็เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ไป อะไรก็ได้ แต่ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นทำวิปัสสนาไม่ได้จริง
วัดสวนสันติธรรม
22 ตุลาคม 2565