วิธีทำความรู้สึกตัว

หลวงพ่อเจอพวกเราส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าให้รู้สึกตัวไว้ ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องใหญ่ รู้สึกตัวไม่ได้ การปฏิบัติหาความเจริญไม่ได้ อย่างเวลาคิดถึงการปฏิบัติ คิดแต่เรื่องนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำอย่างไรจิตจะสงบอะไรอย่างนี้ ไปมุ่งที่ความสงบ มุ่งที่ความสุข มันดีไหม มันดี แต่มันมีดีที่เหนือกว่านั้นอีก แทนที่จะนั่งสมาธิแล้วก็ขาดสติลืมเนื้อลืมตัว นั่งสมาธิ ก็นั่งด้วยความรู้สึกตัว เดินจงกรมดีไหม ดี แต่จะดีมากเลยถ้าเดินด้วยความรู้สึกตัว ทิ้งความรู้สึกตัว จะไปปฏิบัติอะไรได้ ได้แต่น้อมจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ ไปเท่านั้น สงบแล้วก็ฟุ้ง ก็มีเท่านั้น วนเวียนไปไม่รู้จักจบ

ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นที่จะพัฒนาคุณงามความดีทั้งหลาย คนเราเวลาทำชั่ว มันทำตอนที่ไม่รู้สึกตัว ตอนที่กำลังหลงอยู่ อย่างไปตีเขาไปฆ่าเขา มันหลงไปด้วยอำนาจของความโกรธ ไปลักไปขโมยเขา มันหลงไปด้วยอำนาจของความโลภ ถ้ามันไม่หลงไปตามอำนาจกิเลส รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มันทำชั่วไม่ได้

หลวงพ่อบอกให้รู้สึกตัวๆ พวกเราบางคนก็คิดเยอะ พยายามจะรู้สึกตัว ไปกันใหญ่ ความรู้สึกตัว เรารู้สึกได้อยู่แล้ว อย่างขณะนี้ร่างกายเรานั่งอยู่ ก็รู้ว่าร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก เห็นร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันหายใจ รู้สึกไป ร่างกายมันหายใจ คอยรู้สึกอย่างนี้ เรียกว่ารู้สึกตัว จะต้องทำจิตให้นิ่งๆ ซึมๆ ทื่อๆ ก่อนไหมถึงจะรู้สึกตัวได้ ไม่ต้องทำ ใช้ใจที่ปกตินี่ล่ะรู้สึกเข้าไปตรงๆ มันรู้สึกได้อยู่แล้วล่ะ มันละเลยที่จะรู้สึก

 

ไม่มีสติ ไม่เรียกว่าการปฏิบัติ

ส่วนใหญ่พอได้ยินว่าให้รู้สึกตัว ก็จะเริ่มบังคับตัวเอง เริ่มประคองจิต รวบจิตเข้ามารักษาไว้ ใจทื่อๆ แล้วก็คอยมารู้สึกร่างกาย ขยับๆ รู้ไปด้วยความเคร่งเครียด อันนั้นจิตกำลังหลงอยู่กับความปรุงแต่ง ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว ปรุงอะไร ปรุงภพของนักปฏิบัติขึ้นมา นักปฏิบัติมันต้องไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดา จิตใจต้องผิดปกติ ต้องนิ่งๆ ไม่คิด ไม่นึก บางทีก็นิ่ง เครียดๆ อยู่ ไม่ได้เรื่องหรอก เสียเวลา

จะรู้สึกตัวก็รู้สึกเข้าไปเลย เห็นรูปมันเคลื่อนไหว ทีแรกอย่างยกมืออย่างนี้ เราอาจจะรู้สึกว่าเรายกมือ ถ้าสังเกตให้ดี ตัวที่เคลื่อนไหว มันไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นเรา คำว่าเป็นเรา มันเป็นเรื่องคิดเอาทั้งนั้นเลย แล้วมันหลงไปในความคิด ลองรู้สึกตัว ใช้ใจธรรมดานี่ล่ะ แล้วรู้สึกไป ร่างกายนั่งก็รู้ ร่างกายยืนก็รู้ ร่างกายเดินก็รู้ ร่างกายนอนก็รู้ รู้ด้วยใจธรรมดาๆ ซึ่งเรามีอยู่แล้ว ใจที่ธรรมดา อย่าไปทำให้มันผิดธรรมดา

ตรงที่เราไปทำใจให้ผิดธรรมดาก็คือเราปรุงแต่งขึ้นมา เราสร้างความปรุงแต่ง เราสร้างภพของนักปฏิบัติ ทื่อๆ เซื่องซึม แข็งๆ เครียดๆ บางคน อันนั้นคือความปรุงแต่งที่เราสร้างขึ้นมา แล้วเราคิดว่าอย่างนี้ดี ความปรุงแต่งของจิต จิตปรุงขึ้นเมื่อไร จิตก็ติดอยู่ในภพเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่า ภพเล็กภพน้อยเหมือนอุจจาระ ก้อนเล็กก้อนใหญ่ก็ไม่น่ารับประทานทั้งนั้น ฉะนั้นอย่ามัวแต่ไปปรุงแต่งจิต

เวลาเดินก็ปรุงแต่งร่างกาย เดินท่านั้นท่านี้ เดินท่าไหนดี ท่าที่พ่อแม่สอนให้เราเดินนั่นล่ะดี เดินมาได้จนป่านนี้ เพียงแต่ตอนที่พ่อแม่สอนเราเดิน ไม่ได้สอนเรื่องว่าให้เรารู้สึกตัว ว่าร่างกายมันกำลังเดิน ฉะนั้นการปฏิบัติมันผิดกับคนธรรมดานิดเดียว คือมันรู้สึกขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา คือมีสติขึ้นมา เราเคยเดินท่าไหน เราก็เดินไป ทุกก้าวที่เดิน เดินด้วยความรู้สึกตัว นั่นล่ะคือการปฏิบัติ ถ้าเดินกลับไปกลับมา ตามตำรับตำรา เดินท่านั้นท่านี้ แต่ละสำนักสอนไม่เหมือนกัน กำหนดอย่างนั้นกำหนดอย่างนี้ ใจก็เครียดๆ แข็งๆ ขึ้นมา อันนั้นคือความปรุงแต่ง

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความปรุงแต่งอันนั้นคือโลภะ อยากดี อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี มีโลภะเกิดขึ้น แล้วก็เกิดความจงใจปฏิบัติ ก็เกิดความปรุงแต่งที่จะปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ แทนที่เราจะรู้กายอย่างที่มันเป็น รู้ใจอย่างที่มันเป็น เราก็ไปปรุงแต่ง แล้ววันๆ คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไรก็ปรุงแต่งเมื่อนั้น ของง่ายก็เลยยาก ของที่เปิดเผยอยู่ต่อหน้าต่อตาเลยกลายเป็นของลึกลับไป

ตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม พยักหน้ารู้สึกไหม ต้องทำใจให้เรียบร้อยก่อนไหม ใจเรียบร้อยแล้ว พยักหน้าแล้ว รู้สึก นี่มันปรุงแต่งไปเรียบร้อยแล้ว มันมีมารยาเกิดขึ้น แทนที่จะรู้ซื่อๆ ก็มีมารยาในการปฏิบัติเกิดขึ้น ทำให้ตายมันก็หาดียาก มันไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวจริง ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้รู้สึก ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ

รู้สึกร่างกายที่เคลื่อนไหว เรียกรู้สึกตัว หรือความสุขความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ อันนี้ก็เรียกว่ารู้สึกตัว แต่รู้ในทางนามธรรม สิ่งที่เป็นตัวเราก็มีรูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมก็คือตัวร่างกาย มันยืน มันเดิน มันนิ่ง มันนอน คอยรู้สึกไว้ ถ้าเมื่อไรลืมมัน ก็เรียกว่าขาดสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ใช้ไม่ได้ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้เนื้อรู้ตัว คือเราขาดสติไป ไม่มีการปฏิบัติ ถึงจะนั่งสมาธิโต้รุ่งก็ไม่ได้ปฏิบัติ แต่เป็นการนั่งทรมานตัวเอง

เดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ แต่ไม่มีสติ ก็ไม่เรียกว่าการปฏิบัติ มันเป็นอัตตกิลมถานุโยคทันทีเลย ทำตัวเองให้ลำบากโดยไม่เกิดประโยชน์ อัตตกิลมถานุโยค คือการทำตัวเองให้ลำบากโดยไม่มีประโยชน์ ถ้าลำบากแล้วเกิดประโยชน์ อันนั้นไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค อย่างเราตั้งใจถือศีล ตั้งใจถือศีลไว้ เรารู้ว่าเราถือเพื่ออะไร มีสติรักษาจิตใจอยู่ ไม่ให้มันทำชั่วตามอำนาจกิเลสอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ดี ถ้าถือศีลแล้วเคร่งเครียด ทำอะไรก็เครียดไปหมดเลย ถือศีลแล้วเครียด เยอะแยะเลยที่เห็น อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค

เดินจงกรม ถ้าเรารู้ว่าเราเดินไปเพื่อความรู้เนื้อรู้ตัวๆ แล้ววันหนึ่งเราจะได้เห็นร่างกายที่เดิน ไม่ใช่ตัวเรา จิตที่ไปรู้ร่างกายที่เดินไม่ใช่ตัวเรา ฉะนั้นเราเดินด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว อันนี้คือความเพียรที่ถูกต้อง มีความเพียรชอบ แต่เราเดินจงกรมแล้วก็เห็นใจมองอะไรไม่ออก บังคับตัวเองตลอดเลย ด้วยความเคร่งเครียด กำหนดเวลาไว้จะเดิน 1 ชั่วโมง เดินด้วยความเครียด หรือเดินด้วยความฟุ้งซ่าน เดินไปดูนาฬิกาไป ผ่านไปนาทีเดียว การเดินอันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เราทำตัวเองให้ลำบากโดยไม่ได้มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย

นักปฏิบัติเกือบร้อยละ 100 ทำอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองให้ลำบากโดยไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นพยายามรู้สึกตัวไว้ ถ้าขาดสติ ถ้าไม่รู้สึกตัวเมื่อไร ที่ทำอยู่มันสนองกิเลสไปหมด นึกว่าทำแล้วจะดี เปล่า ทำตามใจกิเลส อยากดี อยากดีก็โลภะ แล้วเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำ ทุกข์ทรมาน ก็พยายามเดิน เดินได้ครบตามเวลาก็อิ่มอกอิ่มใจ โอ๊ย มีความสุขแล้ว ดี มันไม่ได้อะไรขึ้นมา

บางคนก็ไปเข้าคอร์สไปอะไร ทรมานมากเลย วันสุดท้ายที่จะกลับบ้าน โอ๊ย ใจมีความสุขมากเลย โปร่ง โล่ง ใจมันมีความสุขขึ้นมา โปร่ง โล่งขึ้นมา เพราะอะไร เพราะจะได้กลับบ้าน มันทุกข์ทรมานมาหลายวันแล้ว มันเป็นกลไกทางจิตวิทยาธรรมดาๆ ที่ใจมีความสุขขึ้นมาไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติ แต่เป็นผลจากการเลิกทำอัตตกิลมถานุโยค เลิกกดข่มกาย กดข่มจิต เพราะฉะนั้นพยายามทำความรู้สึกตัวไว้ มีสตินั่นล่ะ ทำความรู้สึกตัวไป รู้ด้วยใจที่ปกติ

 

การปฏิบัติจริงๆ ไม่ยาก ยากที่เราละเลยไม่ปฏิบัติเท่านั้น

อย่างขณะนี้นั่งอยู่ รู้ไหมว่านั่ง ไม่เห็นต้องดัดแปลงจิตใจเลย มันก็รู้ได้ทันทีอยู่แล้วว่านั่งอยู่ ถ้าเริ่มดัดแปลงจิตใจเมื่อไร มันจะตกไปข้างอัตตกิลมถานุโยคทันทีเลย ข้างบังคับใจ ใจก็เครียด ใจก็มีความทุกข์โดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัว รู้สึกไป มันไม่ได้ยาก แค่รู้สึก ไม่ใช่คิดเอา ไม่ได้เพ่งเอา แค่รู้สึก นั่งอยู่ ขณะนี้นั่งอยู่ ก็รู้สึก

ถ้าไม่รู้สึกจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่รู้สึกก็จะมี 2 อาการ การที่หนึ่ง ใจลอยไปคิดเรื่องอื่น ลืมว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ อีกอันหนึ่งก็คือไปจ้องไปเพ่งร่างกายด้วยจิตใจที่เคร่งเครียด ตรงที่เราลืมร่างกายไป เป็นกามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อนไป ตรงที่เราเพ่งเราจ้องร่างกายเอาจริงเอาจัง เป็นอัตตกิลมถานุโยค มันตึงเกินไป เมื่อไม่ได้เดินอยู่ในทางสายกลาง มรรคผลมันเกิดขึ้นมาไม่ได้

เพราะฉะนั้นจุดตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญ พวกเราต้องตั้งต้นให้ถูก ถ้าตั้งต้นผิดมันก็ผิดนั่นล่ะ เหมือนเดินหมากผิด มันก็ผิด ตาแรกผิด ต่อไปก็ยิ่งผิดหนักเข้าๆ ผิดทั้งกระดาน ฉะนั้นจุดตั้งต้น ทำให้ถูกเสียก่อน พระพุทธเจ้าบอกว่าท่านไม่เห็นธรรมะอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัว ที่จะทำให้เราลดละ ล้างอาสวกิเลสได้

การทำความรู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร รู้สึกเข้าไปเลย ร่างกายนั่ง รู้ว่านั่ง ร่างกายเดิน รู้ว่าเดิน ไปดูในสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไร “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ให้ทำอะไร ให้รู้ รู้อะไร รู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า เรารู้ร่างกายอยู่ ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ก็เรียกว่ารู้สึกตัวอยู่ แต่ถ้าหายใจไปด้วยความเคร่งเครียด ไม่เรียกว่ารู้สึกตัว แต่เรียกว่าทรมานตัวเองอยู่

“ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เมื่อนอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่” ขณะนี้นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดัดแปลงจิตใจ รู้สึกไป ขณะนี้นั่ง สังเกตไหมได้ฟังหลวงพ่อบอกอย่างนี้ เรารู้สึกร่างกายนั่ง ใจเราไม่หนัก ใจเราไม่เครียด ถ้าเราจะรู้สึกร่างกายนั่งแล้วใจเราเครียดขึ้นมา แสดงว่าเราแอบไปปรุงแต่งเรียบร้อยแล้ว เราไปปรุงจิตให้มันแข็งๆ ทื่อๆ คิดว่าอย่างนี้คือการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คอยรู้สึกตัวไว้ แล้วก็คอยรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของกายของใจไป

เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อก็ไม่เข้าใจตัวนี้ล่ะ หลวงพ่อก็นั่งสมาธิเดินจงกรมอะไรอย่างนี้ อย่างที่ทำกันทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่หลวงพ่อมี คือมีสติอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ นั่งสมาธิก็ไม่ได้นั่งเพื่อจะเห็นโน่นเห็นนี่ เพื่อจะรู้จิตคนโน้นคนนี้ จะเห็นผีสาง เพื่อจะเห็นอดีต เห็นอนาคต เพื่อจะระลึกชาติ เพื่อจะรู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน หลวงพ่อไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเลย ตอนเป็นโยมยังเอาบ้าง รู้สึกสนุก แต่ตั้งแต่บวช ไม่เอาเลย ทิ้งหมดเลย เราก็ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าบอก ท่านให้เรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่ให้เรียนรู้ออกไปข้างนอก

ฉะนั้นพยายามรู้สึกตัวอยู่ให้สติรู้สึกอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปดมกลิ่น เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปลิ้มรส เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็หลงไปคิดนึกปรุงแต่ง เดี๋ยวก็รู้สึกตัว เดี๋ยวก็ถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน คอยรู้เท่าทันมันเรื่อยๆ ไม่ยากอะไรหรอก

อย่างร่างกายเรานั่งอยู่ รู้ว่าร่างกายนั่งอยู่ ไม่เห็นยาก ไม่ต้องทำอะไร มันก็รู้ เราละเลยที่จะรู้ ไม่ใช่รู้ไม่ได้ รู้ได้ทุกคน แต่ละเลยที่จะรู้ เพราะไม่รู้ว่าตัวนี้สำคัญ หรือจะดูจิตดูใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องลึกลับ เราสามารถรู้ได้ทุกคน จิตใจเราขณะนี้มีความสุขไหม หรือจิตใจเราขณะนี้มีความทุกข์ รู้ได้ไหม ต้องวางฟอร์มก่อนหรือเปล่า ต้องทำใจให้นิ่งๆ ก่อนหรือเปล่า แล้วก็ค่อยมาดูว่านี่สุขหรือทุกข์ ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ขณะนี้จิตใจมีความสุข รู้ว่ามีความสุข ขณะนี้จิตใจมีความทุกข์ รู้ว่ามีความทุกข์ เวลาโกรธ เคยรู้ตัวไหมว่ากำลังโกรธ ไม่เห็นยากเลยที่จะรู้ว่ากำลังโกรธ แต่มันละเลยที่จะรู้

อย่างเราขับรถอยู่ คนมาขับรถปาดหน้าเรา เราโกรธ คนส่วนใหญ่ทำอย่างไรเวลาโกรธ ก็จะไปมองคันที่ปาดเรา ไปมอง เดี๋ยวต้องหาทางไปเอาคืน ขับรถแข่งกัน อันนี้ชาวโลกเขาเป็นอย่างนั้น แต่นักปฏิบัติโกรธ คนนี้มาขับรถปาดหน้าเรา มันไปแล้ว ไปแล้วก็แล้วไป เราเห็นใจที่โกรธ ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องเข้าฌานก่อนแล้วถึงจะมารู้ว่ากำลังโกรธ มันรู้สึกได้อยู่แล้ว อย่าละเลยเท่านั้น พยายามรู้สึกไปเรื่อยๆ ใจเราสุขก็รู้ ใจเราทุกข์ เราก็รู้ ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลงก็รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ใจหนีไปคิดก็รู้ ใจจมลงไป ถลำลงไปเพ่งก็รู้ ใจเที่ยวแสวงหาอารมณ์ก็รู้ อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีใจเราก็ส่ายไปส่ายมา เที่ยวแสวงหาอารมณ์ จะดูอะไรดีๆ

เพราะฉะนั้นจำไว้อย่างหนึ่ง การปฏิบัติจริงๆ ไม่ยาก มันยากที่เราละเลยไม่ปฏิบัติเท่านั้นล่ะ ขณะนี้หายใจออก หรือหายใจเข้า รู้ได้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้า ต้องทำใจให้นิ่งก่อนไหมถึงจะรู้ ต้องไปบังคับจิตให้เครียดๆ ซื่อบื้อ ซึมๆ ก่อนไหม ไม่เห็นต้องบังคับเลย ใจเราหลงไปในความคิดแล้วรู้ไหม ไปรู้เรื่องที่คิดแล้ว ไม่รู้ว่าจิตกำลังคิด รู้เรื่องที่คิดมันธรรมดา หมามันก็รู้ แต่การรู้ว่าจิตคิดนั่นล่ะการปฏิบัติ เวลาโกรธแล้วไปสนใจคนที่ทำให้โกรธ อันนั้นใครๆ ก็ทำได้ แต่เวลาโกรธแล้วรู้ว่าจิตกำลังโกรธ อันนี้ล่ะคือการปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นสังเกตกาย สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ช่วงไหนสมาธิเราดี จิตใจเรามีกำลัง เราก็ดูจิตใจมันทำงานไป เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวรู้สึกตัว เดี๋ยวหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูมันทำงานไป ถึงวันหนึ่งปัญญามันก็เกิด มันจะเห็นจิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตที่ดีก็ไม่เที่ยง จิตโลภ โกรธ หลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้สึกตัวก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ไม่เที่ยง จิตตั้งมั่นอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ก็ไม่เที่ยง จิตหลงไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตถลำลงไปเพ่งก็ไม่เที่ยง เพราะปัญญา

เดินปัญญามันจะเดินอย่างนี้ มันจะเห็นของจริง ไม่ได้คิดเอา มาคิดว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นไม่ใช่การเห็น การทำวิปัสสนาต้องเห็นเอา เราเห็นไม่ได้เห็นด้วยตา ไม่ได้เห็นด้วยลูกตา เราเห็นด้วยใจ เรียกว่ามีจักษุๆ มีดวงตาที่จะเห็นสภาวธรรม เรามีอยู่แล้วล่ะ ปลุกมันให้ตื่นเท่านั้น ลืมตาขึ้นมา ไม่ได้ลืมตาเนื้อ ลืมตาใจของเราขึ้นมา

ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายเดิน ร่างกายนอน ร่างกายหายใจ รู้ไป ไม่เห็นต้องทำอะไรมันก็รู้ได้ จิตใจเราสุข จิตใจเราทุกข์ รู้ไป จิตใจโลภ โกรธ หลง รู้ไป จิตเป็นกุศล รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ ตามรู้ด้วยความรู้สึก เรียกรู้ด้วยญาณ รู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยจักษุที่ดี เป็นธรรมจักษุ ดวงตาที่เห็นธรรมะ ธรรมะก็มีรูปธรรม นามธรรม เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรมทำงานไปเรื่อยๆ แต่เราจะเห็นได้ อย่าลืม ต้องรักษาศีล 5 ศีลเสียเมื่อไร ตาเรามืดบอดทันทีเลย ตาข้างในมืดบอดทันทีเลย ภาวนาไม่ได้จริง

 

จิตใจเราก็ต้องมีสมาธิ

ทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานไป ให้จิตอยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป แล้วถ้าจิตหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ จิตจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ ฝึกอย่างนี้เยอะๆ ทำในรูปแบบ ฝึกอย่างนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตของตัวเองไป สิ่งที่ได้ก็คือจิตซึ่งตั้งมั่นมีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา พอจิตเราตั้งมั่นเด่นดวง คราวนี้ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ร่างกายมันนั่ง จิตก็เป็นคนรู้ รู้สึกได้ง่ายๆ แต่ถ้าจิตเราฟุ้งซ่านนั่งอยู่ ไม่รู้เรื่อง ดูไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้นจิตใจเราก็ต้องมีสมาธิ สมาธิตัวนี้ ฝึกทำกรรมฐาน ต้องทำทุกวัน ถ้าอยากดี ต้องทำ จะทำบอกเจริญสติในชีวิตประจำวันรวดไป ทำไม่ได้จริงหรอก หลวงพ่อทดลองมาแล้ว ตั้งแต่เด็กตั้งแต่ 7 ขวบ หลวงพ่อนั่งสมาธิ ทำทุกวันเลย ในรูปแบบบ้าง นั่งโดยที่คนไม่รู้บ้าง อย่างนั่งรถเมล์ ไม่ได้นั่งเฉยๆ นั่ง วันไหนจิตฟุ้งซ่านก็นั่งทำความสงบ วันไหนจิตใจสงบแล้วก็นั่งเจริญปัญญา มีเวลาเมื่อไร ทำเมื่อนั้น ทำไปเรื่อยๆ จิตใจก็สงบๆ ฝึกสมาธิอยู่ 22 ปี แต่เดินปัญญาไม่เป็น

มาเจอหลวงปู่ดูลย์ เข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ไปบอกท่านบอก หลวงปู่ครับ ผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่ยังไม่สอน หลวงปู่นั่งหลับตาเงียบไปเลย สัก 40 กว่านาทีได้ ไม่ถึงชั่วโมง แต่ว่าเกินครึ่งชั่วโมง หลับนิ่ง หลวงพ่อก็นึกว่า โอ้ หลวงปู่อายุมากแล้ว ฉันข้าวเสร็จแล้วหลับไปแล้ว ที่จริงท่านสอบประวัติเราอยู่ว่าเราควรจะทำกรรมฐานอะไร เราเคยทำกรรมฐานอะไร จะได้ต่อยอด ถ้าต่อยอดได้การปฏิบัติจะไปได้เร็ว ถ้าเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่มันก็ยากหน่อย

พอท่านลืมตามาท่านก็บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” สอนเท่านี้ เราก็อ่านจิตใจเหมือนที่อ่านหนังสือนั่นล่ะ หนังสือสมมติเราอ่านนิยายสักเรื่องหนึ่ง นิยายถึงบทรัก เราก็รู้ นิยายถึงบทโกรธ เราก็รู้ เราอ่านจิตใจเราก็เหมือนเราดูละคร ตัวละครมากมายแสดงอยู่ในใจเรา มีทั้งพระเอก มีทั้งนางเอก มีทั้งผู้ร้ายครบถ้วน มีทั้งตัวตลกอะไรอย่างนี้ แสดงละครอยู่ในใจเราทั้งวันทั้งคืน แสดงอยู่อย่างนี้ล่ะ ประเดี๋ยวก็ตัวดีมา ประเดี๋ยวตัวดีมันก็ไป ผู้ร้ายมา แล้วถ้าเราสังเกตให้ดี ผู้ร้ายมาทั้งวันเลย ผู้ดีไม่ค่อยมาหรอก ผู้ร้ายมาบ่อย

คนไหนขี้โมโหใช่ไหม ผู้ร้ายตัวขี้โมโหมาเรื่อยๆ คนไหนขี้อิจฉา ผู้ร้ายคือตัวอิจฉามันก็มา มาแสดงให้เราดู มีบทบาท เวทีละครก็อยู่ที่ใจเรานี่เอง ธรรมะนานาชนิดก็มาแสดงตัวขึ้นที่จิตใจเรา ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล มันก็คือตัวละครนั่นเอง ตัวโลภก็เป็นตัวละครตัวหนึ่ง ตัวโกรธ ตัวหลงก็ตัวละครตัวหนึ่ง กระทั่งสติก็เป็นละครตัวหนึ่ง สมาธิก็เป็นละครตัวหนึ่ง ปัญญาก็ตัวหนึ่ง ศรัทธาก็เป็นละครอีกตัวหนึ่ง รวมแล้วเรามีตัวละครมากมายตั้ง 70 กว่าตัว ละครโรงนี้โรงใหญ่ แสดงอยู่ที่ใจเรานี้ล่ะ

ฉะนั้นเราเฝ้าดูตัวละครนี้ไป ดูเหมือนดูละคร เวลาเราดูละคร เราไม่ได้แทรกแซง เราไปสั่ง เหมือนที่เขาชอบสั่งกันเปล่า เอ้า จูบเลยๆ อะไรอย่างนี้ เราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราก็เห็นจิตใจมันทำงานอย่างไร เราก็รู้อย่างนั้น รู้อย่างที่มันเป็นนั่นล่ะ ฉะนั้นเราคอยดูละครนี้แสดงอยู่ในใจเรา ถ้าเราไม่รู้ตัว เราก็จะหลงไปอยู่ในโลกของความคิด แล้วพอคิดถึงการปฏิบัติ เราก็จะหลงไปอยู่ในโลกของความเคร่งเครียด จิตไม่ได้เดินอยู่ในทางสายกลาง

จิตที่เดินอยู่ในทางสายกลาง คือจิตที่รู้เนื้อรู้ตัวธรรมดาๆ นี้ล่ะ แต่จิตที่ธรรมดาหายาก เพราะตั้งแต่เกิดมามันมีแต่จิตที่ไม่ธรรมดา จิตที่ถูกกิเลสลากจูงไปซ้ายขวา หน้าหลัง บนล่าง วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา จิตของเราไม่เคยธรรมดา เพราะฉะนั้นเราต้องมาฝึกให้จิตมันธรรมดาก่อน จะฝึกจิตให้ธรรมดาก็ตั้งใจรักษาศีลไว้ก่อน ศีลแปลว่าความเป็นปกติ แต่ความเป็นปกติของศีล มันเป็นความปกติระดับมีกายที่ปกติ มีวาจาที่ปกติ คือไม่ถูกกิเลสครอบงำให้ทำชั่วทางกาย ทางวาจา

ถัดจากนั้นเราก็มาฝึกสมาธิให้ใจเราเป็นปกติ ใจที่เป็นปกติ คือใจธรรมดา ใจที่ธรรมดามันเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกแล้ว ธรรมดาของจิตประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา จิตของเราไม่ประภัสสร ทั้งๆ ที่เราเดิมนั้นจิตเราประภัสสรผ่องใส แต่เราปล่อยให้กิเลสมันย่ำยีครอบงำ จิตใจเราทั้งวันทั้งคืน เพราะฉะนั้นเราก็มาทำสมาธิ

 

“ร่างกายกับวาจาของเรามีความเป็นปกติด้วยอำนาจของศีล
แล้วเราก็มาฝึกจิตใจของเราให้เป็นปกติด้วยการทำสมาธิ”

 

วิธีทำสมาธิก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตไว้นั่นล่ะจะได้สมาธิที่รวดเร็วมากเลย เวลาจิตจะไม่มีสมาธิ มันเกิดจากกิเลสมายั่วให้จิตกระโดดโลดเต้นไป ถ้าเรามีสติคอยระลึกรู้จิตใจของเรา ทำกรรมฐานไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่ง เพราะเกิดจากโลภอยากดีแล้ว ถลำลงไป เพราะความโลภ รู้ทัน คอยรู้ทันๆๆ ไปเรื่อย กิเลสก็จะมายั่วเย้าจิตไม่ได้ พอกิเลสยั่วเย้าจิตไม่ได้ จิตก็เป็นธรรมดา นั่นล่ะเป็นธรรมดา เป็นปกติ

ศีลก็ทำให้กายวาจาของเราปกติ เวลาคนชกต่อยกัน ทะเลาะกัน ดูเหมือนคนบ้า คนที่เฮฮา เอิกเกริก เจี๊ยวจ๊าว โวยวาย มันก็เหมือนคนบ้า หัวเราะเอิ๊กๆ อ๊ากๆ ลืมเนื้อลืมตัว มันเหมือนเด็กทารก อยากหัวเราะมันก็หัวเราะอะไรอย่างนี้ มันไม่ปกติ มันถูกกิเลสครอบงำ ฉะนั้นทีแรกเราก็ตั้งใจรักษาศีลหน่อย เวลาร่างกายเราจะไม่ปกติ จะไปทำชั่วทางกาย เราก็ข่มใจ ไม่ยอมทำตาม เวลามันจะไปทำชั่วทางวาจา เราก็ข่มใจไม่ทำตาม ร่างกายกับวาจาของเราก็มีความเป็นปกติด้วยอำนาจของศีล

แล้วเราก็มาฝึกจิตใจของเราให้เป็นปกติด้วยการทำสมาธิ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไม่มุ่งไปที่ความสงบ สงบก็ได้ ไม่สงบก็ได้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ ฉะนั้นทุกวันต้องกรรมฐานสักอย่างหนึ่งเพื่อจิตใจเราจะได้เป็นปกติ ทำกรรมฐานไปจิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตถลำลงไปเพ่งแล้วรู้ ฝึกเรื่อยๆ เดินจงกรม จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตลงไปเพ่งร่างกายที่เดินอยู่ก็รู้ นั่งสมาธิ หายใจอยู่ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตไปเพ่งร่างกายก็รู้ จิตไปเพ่งลมหายใจก็รู้

อย่างดูท้องพองยุบ จิตจมลงไปอยู่ที่ท้อง อันนั้นไม่ใช่ทางสายกลาง จิตถลำลงไปเพ่ง ให้เราคอยมีสติรู้ทันจิตใจของตัวเองไว้ สตินั่นล่ะเป็นเครื่องมือคุ้มครองจิตให้พ้นจากอำนาจของกิเลส ตัวที่ทำให้จิตใจเราสูญเสียความเป็นธรรมดา ก็คือกิเลสนั่นล่ะ ฉะนั้นทำกรรมฐานไปแล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร เราค่อยรู้ รู้เล่นๆ ไป รู้อย่างที่มันมี รู้อย่างที่มันเป็นไป

พอกิเลสมันครอบงำจิตไม่ได้ จิตของเราก็ประภัสสร ก็เป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้าบอกว่าเดิมจิตของพวกเราประภัสสร แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมาเป็นคราวๆ การที่เราทำสมาธิ มีสติคอยดูแลรักษาจิตอยู่ จิตใจก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จิตก็ประภัสสร อาการที่จิตประภัสสร มันรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สว่าง แต่ไม่สะอาด เคยได้ยินไหม สงบ สว่าง สะอาดอะไรนี่ สงบ สว่างด้วยอำนาจของสมาธิ สะอาดด้วยอำนาจของปัญญา เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง แต่ก่อนจะถึงปัญญา ก็ต้องมีสมาธิเสียก่อน

ภาวะที่จิตมีสมาธิก็คือจิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่โดยไม่ได้เจตนา ถ้าเจตนาอยู่ก็ยังไม่ใช่ของจริง ยังมีกำลังอ่อน เป็นกุศลที่มีกำลังอ่อน ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลังกล้า ไม่ได้เจตนารู้สึก มันรู้สึกเอง ใจไหลปุ๊บรู้ปั๊บ รู้เอง ไม่ได้เจตนาจะรู้ ร่างกายขยับ ไม่ได้เจตนาจะรู้ รู้เอง นอนหลับอยู่ จะพลิกซ้ายพลิกขวา ยังรู้เลย จะเอียงแล้วตรงนี้ เมื่อยแล้วก็ขยับอย่างนี้ มันรู้หมด ทั้งหลับทั้งตื่น เราฝึกเรื่อยๆ แล้วมันอัตโนมัติขึ้นมา มันรู้ได้หมด

 

วิธีเจริญปัญญา

พอเราฝึกไปเรื่อยจนจิตของเราเป็นผู้รู้แล้ว หรือจิตเราประภัสสรแล้ว ก็ถึงขั้นเดินปัญญา เราสงบแล้ว จิตใจเราสว่างไสวแล้ว ไม่มืดมัวด้วยเมฆหมอก คือกิเลสทั้งหลาย จิตใจสว่าง สงบ สว่าง สบาย อย่าหยุดอยู่แค่นี้ ถ้าหยุดอยู่แค่นี้ ก็เรียกว่ายังไม่คุ้มค่าที่ได้เจอพระพุทธศาสนา จะให้เจอพระพุทธศาสนาแล้วคุ้มค่าต้องเจริญปัญญา มีศีล มีสมาธิ ศาสนาอื่นเขาก็มี แต่การเจริญปัญญานั้นมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า

วิธีเจริญปัญญาก็คือพอจิตเราตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวแล้ว เราก็รู้สึกไป ร่างกายนั่งอยู่ รู้ มันก็จะเห็นเลย ร่างกายที่นั่งอยู่ มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุที่เหมือนกับถูกยกมาตั้งไว้บนเก้าอี้ ขณะนี้ วัตถุก้อนนี้ มันถูกเอามาตั้งไว้บนเก้าอี้ เดี๋ยวมันก็ไปตั้งไว้ที่อื่น เดี๋ยวมันก็เดินไปที่อื่น รู้สึกอย่างนี้ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่ก้อนธาตุ เป็นแค่วัตถุ เคลื่อนไหวไปมาด้วยอำนาจที่จิตสั่ง จิตเป็นตัวบงการ เหมือนตัวร่างกาย มันเป็นตัวฮาร์ดแวร์ จิต มันเป็นตัวซอฟท์แวร์ สั่ง ร่างกายมันก็เลยเคลื่อนไหวไปตามที่จิตสั่ง ใครเป็นคนสั่งให้เข้ามานั่งในศาลา จิตเราสั่งให้มานั่ง ถึงเวลาก็เข้ามานั่ง

เพราะฉะนั้นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุ นี่เรียกว่าการเจริญปัญญา เห็นความจริงว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นี่เราเห็นความจริง เพราะความจริงเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราไม่ต้องมาพยายามดูให้ร่างกายมันไม่เที่ยง ไม่ต้องพยายาม เพราะมันไม่เที่ยงอยู่แล้ว ไม่ต้องดูให้ร่างกายเป็นทุกข์ เพราะมันทุกข์อยู่แล้ว ไม่ต้องดูว่าร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี ก็ตัวเรามันไม่มีอยู่แล้ว

ฉะนั้นเราไม่ได้ทำอะไรที่พิสดาร แต่เราเห็นความจริงต่างหาก ความจริงที่ร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่มีความทุกข์บีบคั้น เป็นของที่เป็นวัตถุก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเรามีสมาธิที่ดี มันจะเห็นทันทีเลย ไม่ต้องน้อม ไม่ต้องนึก ไม่ต้องคิดอะไร จะเห็นเอา เห็นเอาก็คือรู้สึกเอา ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกเอา ตัวที่เคลื่อนไหว

หัดใหม่ๆ บางทีขยับ อย่างแปรงฟันอยู่ๆ มันรู้สึกขึ้นมา นี่ไม่ใช่เรา บางคนรู้สึกอย่างนี้ แต่ถ้าฝึกชำนิชำนาญ เห็นทั้งตัวนี้เลย มันไม่ใช่เรา โลกทั้งโลกนี้ ไม่ใช่เรา ปัญญามันแผ่กว้างออกไป ทีแรกอาจจะมีปัญญานิดๆ เห็นแค่ท่อนเดียวไม่ใช่เรา ฝึกเรื่อยๆ มันคล้ายๆ มันบุกเบิกออกไปเรื่อยๆ ถางสิ่งปิดกั้นความจริง ถูกเราค่อยๆ ถางออกไปๆ ด้วยกำลังของศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

ดูจิตใจก็เหมือนกัน จิตใจที่สุขก็ไม่เที่ยง เห็นจริงๆ ไม่เห็นต้องคิดเลย จิตใจที่ทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตใจที่ดีก็ไม่เที่ยง จิตใจที่ชั่วก็ไม่เที่ยง จิตใจที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น เป็นผู้ประภัสสรก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวถูกกิเลสจรมาก็ไม่ประภัสสรแล้ว แต่จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็กลายเป็นผู้ไปดูรูป หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดทางใจ หลงไปเพ่งทางใจ ให้รู้ทันเรื่อยๆ แล้วปัญญามันเกิด แต่ปัญญาเกิดได้ จิตเราต้องเป็นผู้รู้ผู้ดูได้ คือประภัสสรเสียก่อน

แล้วถัดจากจิตประภัสสรเราก็จะมาเรียนรู้ความจริงของร่างกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจว่าเป็นไตรลักษณ์ พอเราเห็นความจริงว่าร่างกายนี้มันเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือ แล้วก็ปล่อยวางร่างกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกายอีกต่อไป

เรามาเฝ้ารู้จิตใจ แต่เดิมเราอยากให้จิตใจมีความสุขตลอดอย่างนี้ เราก็มาเห็น จิตใจที่มีความสุขก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับอย่างนี้ ต่อไปจิตจะสุข จิตจะทุกข์ จิตจะดี จิตจะชั่ว เราก็มีปัญญารู้ มันไม่มีอะไร มันมีแต่ไตรลักษณ์ มีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับ มีแต่ของที่บังคับไม่ได้ ความรักใคร่ยึดถือหวงแหนในอารมณ์สุขทั้งหลาย เกลียดชังความทุกข์ทั้งหลาย ยึดถือในความดี เกลียดชังในความชั่ว ไม่เหลืออยู่ ไม่ยึดกระทั่งตัวจิตผู้รู้

ตรงที่ไม่ยึดจิตผู้รู้ หลวงพ่อ ตอนภาวนาไม่เข้าใจหรอก ตอนที่ยังเป็นโยมอยู่ ตอนนั้นเข้าไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ครั้งสุดท้าย 36 วันก่อนท่านจะมรณภาพ เข้าไปวันที่ 24 กันยายน ปี 2526 เข้าไปเรียนกับท่าน ท่านก็สอนๆๆ ไปเรื่อย ตอนจะลาท่านกลับ ก็บอกท่าน หลวงปู่ครับ ผมจะกลับแล้ว หลวงปู่ เหนื่อยมากแล้ว สอนจนหอบแล้วหอบอีก ท่านสอนดุเดือดมากเลย บอกผมจะกลับแล้ว ท่านบอก “ยังกลับไม่ได้ ต้องจำไว้ก่อน พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม”  ไม่เข้าใจแต่ผมจะจำไว้ ท่านบอก “เออ จำไว้นะ”

วันรุ่งขึ้น วันที่ 25 กันยายน หลวงพ่อลงมาโคราช มากราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธถาม ไปหาหลวงปู่รอบนี้ท่านสอนอะไรมา กราบเรียนท่านว่าหลวงปู่สอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่า พบผู้รู้ทำลายผู้รู้นี่ล่ะคือจุดสุดยอดของกรรมฐาน

 

“จิตนี้ถ้าเราอบรมด้วยศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว
มันจะเจาะทำลายอาสวกิเลสออกมาเอง”

 

เมื่อ 7 วันก่อน ก่อนหน้านี้ ก่อนที่หลวงพ่อจะเข้าไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ไปเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ก็สอนท่านว่า “เจ้าคุณ การปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านบอกว่าหลวงปู่ก็สอนท่านอย่างนี้ แต่ท่านกลัวหลวงพ่อจะไประเบิดตัวผู้รู้ทิ้ง ถ้าทำอย่างนั้นบ้าเลย ท่านก็เลยสงสารเรา ท่านก็บอกว่าก็คือการเห็นจิตใจมันเป็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ไม่ได้ไปทำลายมันหรอก “คุณกับอาตมามาทำกติกา” ทำข้อตกลงกัน “ถ้าใครทำลายได้ก่อนกัน ให้มาบอกกัน” ว่าใครทำลายได้ให้มาบอกกัน

หลวงพ่อรู้ว่านี่เป็นวาทะที่ดีของท่าน คือหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ (หลวงปู่ดูลย์) อาวุโสกว่าหลวงพ่อพุธ อยู่ๆ ท่านจะมาบอกว่าท่านจะสอนหลวงพ่อ มันไม่งาม เพราะว่าหลวงปู่ดูลย์ไม่ได้มอบหมายให้หลวงพ่อมาเรียนกับท่าน ท่านก็เลยมีสัมมาวาจา มีคำพูดที่ดี บอกว่าถ้าใครได้ก่อนให้มาบอกกัน เรารู้เลย เดี๋ยวท่านก็บอกเราล่ะ อย่างไรท่านก็ต้องได้ก่อน แล้วผ่านมานานมาก 20 กว่าปี หลวงพ่อยังไม่ได้บวช ทำไม่ได้ ทำอย่างไรมันก็ทำลายผู้รู้ไม่ได้

วันหนึ่งหลวงพ่อพุธมาเทศน์ที่องค์การโทรศัพท์ ตอนนั้นหลวงพ่อใกล้จะบวชแล้ว แต่ท่านมาเทศน์ พอท่านเทศน์จบ คนก็มัวแต่วุ่นวายเรื่องกัณฑ์เทศน์เรื่องอะไรกันอยู่ หลวงพ่อไม่สนใจ หลวงพ่อวางใส่ขันไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่เข้าห้องแล้ว พอได้จังหวะ บุกเข้าไปกราบท่านเลย บอกหลวงพ่อครับ ผมไม่เจอหลวงพ่อนานแล้ว ท่านบอก “หลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก” หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย

ท่านกำลังเหนื่อย ท่าทางเหนื่อยอิดโรย พอหลวงพ่อบอกท่าน ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้ ท่านอย่างนี้เลย โห สว่างไสวเลย มีกำลังขึ้นมาทันทีเลย แล้วท่านก็บอก “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” โอ๊ย หลวงพ่อสิ้นสงสัยแล้ว วิธีทำลายผู้รู้ จิตผู้รู้ก็คือลูกไก่ที่อยู่ในไข่ เมื่อลูกไก่ที่อยู่ในไข่ ในเปลือกไข่มันโตเต็มที่แล้ว มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมา จิตนี้ถ้าเราอบรมด้วยศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว มันจะเจาะทำลายอาสวกิเลสออกมาเอง

ตอนนั้น อู้หู ธรรมะของท่านดีจริงๆ เรารู้เลยว่าท่านทำลายได้แล้ว หลวงปู่ท่านสอนธรรมะอันนี้ไว้ 2 คน เรื่องทำลายผู้รู้ สอนหลวงพ่อกับสอนหลวงพ่อพุธ 2 คน หลังๆ ก็มีคนเอาไปพูด เอาไปต่อๆ จำไปพูดๆ ต่อ แต่การทำลายผู้รู้ไม่ใช่จงใจไปทำลาย เจริญศีล สมาธิ ปัญญา มันทำลายเอง ตรงนั้นล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่ออบรมแก่กล้า อริยมรรค มันจะทำลายอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่ อาสวะจะแตกสลายไป คราวนี้ขันธ์ก็เป็นขันธ์ ธรรมก็เป็นธรรม ธรรมที่เหนือขันธ์

เราจะเห็นขันธ์ก็มี 2 ส่วน ขันธ์ที่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นได้ เป็นส่วนหนึ่ง ขันธ์ที่พ้นจากความยึดมั่น เป็นอีกส่วนหนึ่ง ขันธ์ที่พ้นจากความยึดมั่น เช่น โลกุตตรจิต โลกุตตรเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทั้งหลาย เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต พวกนี้ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ สิ่งที่เรียกว่าตัวทุกข์ ก็คือตัวอุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์เป็นอย่างไร ขันธ์ที่พวกเรามีนี่ล่ะ อุปาทานขันธ์ เพราะพวกเราไม่มีโลกุตตระ เรามีโลกิยะ นั่นล่ะคือตัวอุปาทานขันธ์

ฉะนั้นขันธ์ยังมี 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นส่วนของโลกุตตระ ไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่น แล้วมันมีอีกสิ่งหนึ่ง ที่พ้นจากขันธ์ มีสิ่งที่พ้นจากขันธ์อยู่อีกอย่างหนึ่ง ตัวนั้นเป็นธรรม เป็นธรรมธาตุ สมเด็จญาณฯ ท่านเรียกวิญญาณธาตุ หลวงตามหาบัวท่านเรียกธรรมธาตุ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตหนึ่ง ท่านพุทธทาส ท่านเรียกว่าจิตเดิมแท้ เรียกตามท่าน เว่ยหล่าง หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ อันเดียวกัน หลวงปู่บุดดาเรียกว่าใจเดียว มันคือสภาวะอันหนึ่งซึ่งมันพ้นจากขันธ์แล้ว มันทรงพระนิพพานอยู่ อันนี้พวกเราฟังไว้ก่อน เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อล่ะ ธรรมะบางอันกว่าจะย่อยได้นานแสนนาน ต้องฝึก ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็จะได้ดีขึ้นมา

มีเรื่องราววุ่นวายทั้งทางโลก ทั้งในวงการพระ อย่าไปหวั่นไหว มันไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืนหรอก ทุกอย่างมันหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เราเอาเวลามาพัฒนาใจของเราให้ดี แต่อาทิตย์หน้าอย่าลืมไปเลือกตั้ง เราต้องกำหนดชะตาชีวิตของบ้านเมือง กำหนดชะตาชีวิตบ้านเมืองผิด เหมือนประเทศอื่นๆ เยอะแยะ หายนะ เลือกให้ดี ใช้สติปัญญา อันนั้นเรื่องของชาวโลก ส่วนในทางธรรม พัฒนาตัวเอง เบื้องต้นก็รักษาศีลไว้ อันที่สอง ฝึกให้จิตประภัสสรด้วยกำลังของสมาธิ อันที่สาม ฝึกให้จิตบริสุทธิ์ด้วยกำลังของปัญญา เส้นทางมันก็มีอยู่เท่านี้ล่ะ ค่อยฝึกไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 พฤษภาคม 2566