ช่วงนี้ร้อนได้ที่เลย ธรรมดาแถวกุฏิหลวงพ่อจะเย็นกว่าที่นี่ ต้นไม้มาก วันอังคารโน้นพายุมันเข้า ลมกระโชก 15 นาที ต้นไม้ใหญ่ๆ ล้มไปเยอะแยะเลย แถวกุฏิหลวงพ่อตอนนี้เลยโล่งเลย ร้อนใกล้เคียงกับแถวนี้ อากาศร้อนบางทีก็อารมณ์เสียง่าย ขี้โมโหกัน ร้อนๆ ก็มีสติเอาไว้ รักษาจิตใจของเราให้ดี การรักษาจิตใจนั้น เราต้องทำเอง ใครจะมารักษาแทนเราไม่ได้
อย่างอาทิตย์หน้าจะเลือกตั้งวันอาทิตย์ หลวงพ่อไม่รู้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะได้ปิดวัด ให้พวกเราไปเลือกตั้งสะดวกหน่อย ไปธุระข้างนอกเห็นป้ายหาเสียงเยอะแยะเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นนโยบายประชานิยม นโยบายแบบนี้เป็นอันตรายกับบ้านเมือง จะให้แจกเงินอย่างนั้น แจกเงินวิธีนี้ มันคือเหยื่อตกปลา หลายประเทศล่มจมไป เพราะนโยบายแบบนี้ บางทีล้มละลาย เราจะเลือกตั้ง เราก็ดูให้ดี อนาคตของบ้านเมือง ไม่ใช่ของเอามาลองเล่น ใช้เหตุใช้ผลให้ดี
ช่วงหลายปีมานี้ บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะ พัฒนาไปเยอะผิดหูผิดตา ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์โควิด เราก็เสียหายไม่มาก เราช่วยกันรักษาบ้านรักษาเมืองมาได้ดีแล้ว ก็ช่วยกันดูแลต่อไป เลือกผู้นำก็เลือกที่ดีๆ หน่อย หลายประเทศลองไปดูรอบๆ บ้านเรา ประเทศที่เขาเจริญแล้วก็มีผู้นำที่ดี ประเทศที่แทบจะล้มละลายหายนะ เสียบ้านเสียเมือง ก็ผู้นำ ได้ผู้นำไม่ดี บ้านเมืองหายนะเอาอย่างรวดเร็วเลย เพราะฉะนั้นเราใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ข้อมูลให้ดี จะเลือกใครก็ไม่เกี่ยวกับหลวงพ่อหรอก หลวงพ่อไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมีเยอะแยะ พวกเราก็รู้จักเลือกบริโภค ใช้เหตุใช้ผลให้ดี
ตอนนี้ก็มีเรื่องพระ เรื่องพระเป็นเรื่องปกติ มีเรื่องเป็นระยะๆ ธรรมดา เราต้องแยกให้ออก ระหว่างศาสนากับตัวบุคคล ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม ไม่เสื่อม แล้วก็ไม่มีการพลิ้วไปพลิ้วมา ไม่มี มีแต่เรื่องตรงไปตรงมา มีเหตุมีผล แต่ตัวบุคคลนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาเรื่องพระ มีปัญหาอะไรขึ้นมา เราอย่าไปตกใจ เรื่องธรรมดา ตัวเราฝึกตัวเราให้ดี พัฒนาจิตใจของเราให้ดี อย่าหวั่นไหวกับโลกธรรม
งานรักษาจิตใจตัวเองสำคัญที่สุด
คำว่า “โลกธรรม” 8 ประการ มันเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายเขาหวั่นไหวกัน เวลาได้รับอะไรในทางบวก ก็ยินดี เวลาได้รับอะไรในทางลบ ก็ยินร้าย แต่ในโลกไม่มีบวกด้านเดียว หรือลบด้านเดียว มันก็หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ตามเหตุปัจจัยของมัน อย่างตัวบุคคลนั้นก็มีลาภ มีผลประโยชน์ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ นี้ส่วนตัวบุคคล ส่วนของประเทศชาติมันก็ตกอยู่ใต้โลกธรรมเหมือนกัน ถ้าเราดูให้ดี อย่างบางชาติเคยมีชื่อเสียง มีผลประโยชน์มาก ถึงจุดหนึ่งหาผลประโยชน์ยากขึ้น เคยมีชื่อเสียง ถึงช่วงหนึ่งก็เสียชื่อเสียง
ระดับชาติก็เป็น ระดับบุคคลก็เป็น เหมือนกันล่ะ ถูกคนชมบ้าง คนนินทาบ้าง เหมือนกันหมด ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับชาติ มันก็หนีกฎของโลกธรรมไม่พ้น เจริญได้ก็เสื่อมได้ ถ้าเราจะเอาด้านเดียว อยากได้ด้านที่ดี ไม่เอาด้านที่ไม่ดี เรียกว่าเรายังไม่เข้าใจความจริงของโลก ความจริงของโลกก็โลกธรรมนั่นล่ะ ได้มาเสียไป เสียไปแล้วก็ได้มา เรื่องธรรมดา สิ่งที่สำคัญก็คือโลกจะเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของโลก อย่าได้ไปทุกข์ตามโลก อย่าได้ไปกระโดดโลดเต้นตามโลกไป
ฉะนั้นงานรักษาจิตใจตัวเอง สำคัญที่สุดเลย ก็ต้องปฏิบัติธรรม ค่อยๆ ฝึกตัวเอง การปฏิบัติธรรมก็ดูวัตถุประสงค์ของเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน เท่าที่หลวงพ่อสังเกต บางคนปฏิบัติธรรมด้วยเหตุผลอย่างนี้ บางคนด้วยเหตุผลอย่างนี้ ไม่เหมือนกัน ความต้องการไม่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติคนที่เรารักตายไป สมมติว่าพ่อแม่เราตาย บางคนก็มาวัด มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ต่ำสุดเลยอยากรู้ว่า พ่อแม่เราตายแล้วไปอยู่ที่ไหน คิดว่ามานั่งสมาธิแล้วเราจะรู้จะเห็น ลงมือปฏิบัติธรรม หวังว่าจะรู้จะเห็นอะไรพวกนี้ อันนี้มันก็เป็นไปได้ แต่มันไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าไรหรอก
หรือบางคนพ่อแม่ตายแล้วก็มาวัด มาทำบุญ หวังว่าจะอุทิศบุญให้ อันนี้ดีขึ้น ดีกว่าพวกแค่อยากรู้อยากเห็นว่าตายแล้วไปไหน ดูไปมากๆ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ก็จะเกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดสัสสตทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ อย่างพ่อแม่เราตายแล้วมานั่งสมาธิ เราปฏิบัติธรรมแล้วก็รู้ ระลึกได้ รู้ได้ไปเกิดที่นี้ เกิดที่นี้ เราก็นึกว่าดีอันนั้น เอาเข้าจริงมันเป็นการสะสมมิจฉาทิฏฐิ เราจะเกิดความเห็นผิด ว่าจิตวิญญาณนี้เที่ยง พอตายจากชีวิตนี้ จิตวิญญาณดวงเดิมนี้ไปเกิดในภพใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่อ สัสสตทิฏฐิ บางคนมานั่งสมาธิ เข้าวัดภาวนา แล้วก็ไปดูพ่อแม่เราตายแล้วไปไหน มองไม่เห็น โอ้ ตายแล้วสูญ อันนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชื่อ อุจเฉททิฏฐิ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม อย่ามัวเที่ยวแสวงหาความรู้ออกข้างนอกเลย มันมักจะนำมิจฉาทิฏฐิมาให้เรา ถ้าคนที่เรารักตายไป เราทำบุญ ทำทาน นั่งสมาธิ กำหนดจิตแผ่ส่วนบุญไป เมตตา หวังว่าให้เขาได้บุญ อันนี้ยังดีกว่ากันเยอะเลย แล้วดีกว่านั้น สมมติคนที่เรารักตาย อัปเกรดมากเลยสำหรับการปฏิบัติ คือเราได้เห็นความจริง ว่าคนเราเกิดแล้วตาย ถ้าเราเห็นตรงนี้ได้ เป็นคุณ เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ตอนพ่อของหลวงพ่อตาย หลวงพ่อเห็นเขาตายต่อหน้าต่อตา อยู่โรงพยาบาล พอเขาตายปุ๊บ จิตหลวงพ่อร่าเริง ไม่มีคำว่าเศร้าโศก ตอนนั้นยังไม่ได้บวชด้วยซ้ำไป เพราะมันได้เห็นความจริง โอ้ พระพุทธเจ้าพูดความจริง เกิดแล้ว สุดท้ายต้องตาย คนที่เรารักตายไป วันหนึ่งเราก็ต้องมีสภาพแบบนี้ อย่างนี้เราเห็นความตาย แล้วเราเกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความไม่ประมาท เรารู้ว่าวันหนึ่งเราก็ต้องตาย
ฉะนั้นก่อนจะตาย ก็สร้างสมคุณงามความดีเอาไว้ ถ้าคนที่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดตายแล้วสูญ มันคิดว่าวันหนึ่งจะต้องตาย มันจะรีบแสวงหาความสุขอย่างโลกๆ มันเบียดเบียนใครก็ได้ เพราะอย่างไรสุดท้ายก็ตายแล้วก็สูญไป นี่โทษของพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่กลัวบาปกลัวกรรม พวกที่เห็นว่าตายแล้วเกิดยังดีกว่า ก็จะไม่กล้าทำชั่ว อยากจะทำดี แต่ก็ยังไม่พ้นทุกข์หรอก ฉะนั้นในสถานการณ์อันเดียวกัน คนแต่ละคนนั้น สามารถแสวงหาคุณประโยชน์ได้ไม่เท่าเทียมกัน
อย่างตัวอย่างสมมติพ่อแม่ตายที่หลวงพ่อเล่า เราก็เลยเข้าวัดมาภาวนา ก็ยังแสวงหาประโยชน์ได้ไม่เท่ากัน บางคนอยากรู้ว่าเขาตายแล้วไปเกิดที่ไหน เราจะได้ตามไปเลี้ยงเขาต่อ บางคนสูงขึ้นมา ก็มานั่งสมาธิ มาทำบุญทำทาน อุทิศส่วนกุศลไป ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดี อันนี้ก็สูงขึ้นมา แล้วสูงสุดก็คือมีปัญญา เห็นความจริงของชีวิต ชีวิตนี้ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน อย่างไรเราก็ต้องตาย แต่ก่อนจะตาย ควรจะสร้างคุณงามความดีไว้ ที่จริงการภาวนา จนเราสามารถเห็นสัตว์ทั้งหลายตายตรงนี้ ไปเกิดตรงนั้น มันก็มีข้อดีเหมือนกัน ดีกว่าเชื่อว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วสูญ เราทำชั่วได้เต็มที่เลย
เครื่องมือชำระล้างกิเลส
ถ้าเรารู้ว่าตายแล้วเกิด ไม่กล้าทำชั่ว ก็พยายามทำความดี หวังว่าจะไปเกิดดีๆ พอพยายามทำความดี ค่อยๆ สะสมไป วันหนึ่งบุญกุศลส่ง ให้ได้ยินได้ฟังธรรมะ ที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า แล้วลงมือปฏิบัติ เพื่อชำระล้างกิเลสออกจากใจของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุด เพราะสิ่งที่ทำให้เรามีความทุกข์ ก็คือกิเลสนั่นล่ะ กิเลสอยู่ที่ไหน กิเลสไม่ได้อยู่ข้างนอก กิเลสไม่ได้อยู่ในร่างกาย กิเลสอยู่ที่จิต เครื่องมือในการชำระล้างกิเลส คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องมือ ศีลเป็นเครื่องมืออย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องมืออย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องมืออย่างละเอียด
เวลาเราแพ้กิเลส กิเลสมันแรงมาก มันครอบงำใจเรา เราโกรธคนๆ หนึ่งมากเลย อยากฆ่าเต็มทีแล้ว เตรียมปืนจะไปยิงเขาแล้ว แล้วก็ระลึกได้ ทำอย่างนี้มันผิดศีล ไม่ฆ่ามัน ศีลเลยเป็นปราการด่านสุดท้าย ที่จะป้องกันไม่ให้เราทำความชั่ว ด้วยอำนาจของกิเลสทั้งหลาย ฉะนั้นถ้าเรายังไม่มีกำลังของสมาธิและปัญญา เราต้องรักษาศีลไว้ก่อน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าทำความชั่วทางกาย ทางวาจา แต่ทางใจมันชั่ว มันยังห้ามไม่ได้ เพราะมันเป็นของประณีต เป็นของละเอียด ลำพังศีลไม่สามารถปิดกั้นความชั่วทางใจได้ ปิดกั้นไม่ให้ทำชั่วทางกาย ทางวาจา ใจมันชั่ว มันถูกกิเลสครอบงำ แต่ว่าไม่ทำตามกิเลส ตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย ทางวาจา นั่นคือหน้าที่ของศีล เป็นการฝึกตัวเอง การถือศีลทีแรก ถือลำบาก มันเคยผิดศีลจนชิน มันจะพร้อมจะผิดศีลใหม่
ฉะนั้นตั้งใจรักษาศีลไว้ทุกวันๆ ตั้งใจไปเรื่อยๆ จะเป็นจะตายก็จะขอรักษาศีล 5 เอาไว้ พอเรารักษาศีลไปช่วงหนึ่ง ต่อไปการรักษาศีลมันจะง่ายขึ้น เพราะมันเคยรักษา คนโบราณท่านก็ฉลาด เราอย่าว่าคนโบราณโง่ เราบางทีโง่กว่าคนโบราณเสียอีก คนโบราณสอนบอกว่า เข้าพรรษาให้อดเหล้า อดกินเหล้า 3 เดือน ถ้าอยู่ๆ ไปบอกให้อดเหล้าเลย มันทำไม่ได้ มันใจไม่แข็งพอ ก็เลยบอกอดเหล้าตอนเข้าพรรษาอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นก็อึด สู้ คิดว่าเดี๋ยว 3 เดือนกินเหล้าต่อ พอครบ 3 เดือน ใจมันเคยฝึกอดเหล้ามาแล้วมันเข้มแข็งอยู่ ถ้าบอกให้อดต่อไป บางทีทำได้ ต่ออีก 3 เดือน หรือต่ออีก 1 ปี ค่อยๆ ต่อไปเรื่อยๆ
มีพระองค์หนึ่งหลวงพ่อเคยเจอท่าน ท่านเป็นคนมีการศึกษา แล้วออกไปบวช ทีแรกก็ตั้งใจจะบวช 3 เดือน พอบวชไปๆ ภาวนาไปก็ดี ดีขึ้นๆ ไม่อยากสึกแล้ว แต่พอจะใกล้ 3 เดือน กิเลสมันแรงขึ้นมาอีกแล้ว อยากสึก ท่านก็ต่ออายุ เอ้า ต่ออีกปีหนึ่ง บวชอีกปีหนึ่งแล้วค่อยสึก ใจมันก็ค่อยเข้มแข็ง เหมือนพวกอดเหล้าเข้าพรรษา พอออกพรรษาแล้วก็ต่อ มันก็เข้มแข็งพอสู้ไหว พอผ่านไปใกล้ๆ อีกปีหนึ่ง อยากสึก ท่านต่ออีกหน่อย ต่ออีก 3 ปี ตอนที่หลวงพ่อไปเจอท่าน ท่านอายุจะ 70 ปีแล้ว ท่านบอกตอนนี้ไม่ต้องต่อแล้ว ใจมันไม่ได้อยากที่จะสึกอีกต่อไปแล้ว มันเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ
ฉะนั้นการถือศีลก็เหมือนกัน เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ นี่ล่ะ อดเหล้าเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วก็อดต่อค่อยๆ ฝึกไป เคยด่าคน ช่วงนี้งดการด่า มีนิทาน มีผู้หญิงคนหนึ่งชอบด่าสามี สามีเลยไม่ยอมกลับบ้านเลย ก็ไปหาพระว่าทำอย่างไรดี อยากขอวัตถุมงคลให้สามีรัก ให้สามีกลับบ้าน พระท่านก็หยิบน้ำให้ขวดหนึ่ง บอกเอาไป ถ้าสามีเข้าบ้านรีบอมน้ำมนต์นี้ไว้เลย อมไว้เฉยๆ พอสามีมาแกก็อมน้ำมนต์ไว้ในปาก ไม่ด่า ด่าไม่ได้เพราะว่าอมอยู่ ทำ ฝึกอย่างนี้หลายๆ หน สามีก็ โอ้ เดี๋ยวนี้ดีจังเลย พอเจอหน้าไม่ด่าสักคำเลย มีแต่ยิ้มไปยิ้มมา อมยิ้มแก้มตุ่ยเลย ต่อไปก็เคยชิน ไม่ต้องอมน้ำมนต์ก็ไม่ด่า ที่แท้ไม่ใช่น้ำมนต์อะไรหรอก น้ำธรรมดานั่นล่ะ เป็นอุบายพระท่านให้อมไว้ จะได้ไม่ด่า ไม่ปากมาก พองดความปากมากได้ช่วงหนึ่ง ต่อไปมันก็งดง่าย
ศีลก็เหมือนกันมันยากตอนแรก ถ้าตั้งใจรักษาไว้ ต่อไปมันก็รักษาง่าย เราจะไม่ยอมทำตามใจกิเลส กิเลสจะมาเป็นเจ้านายเราไม่ได้ ลำพังถือศีลยังไม่พอ กิเลสยังมีอีกหลายระดับ กิเลสอย่างกลางชื่อว่านิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลสที่ทำหน้าที่ ปิดกั้นพัฒนาการทางจิตใจ เวลาเราจะทำความดีอะไร นิวรณ์จะมาคอยถ่วง อย่างเราอยากรักษาศีล 8 กามฉันทนิวรณ์ ก็มากวนให้จิตใจโหยหาในกาม ในที่สุดที่ตั้งใจจะถือศีล 8 ก็ถือไม่ไหว สู้ไม่ไหว หรือบางทีใจมันก็คิดไปในทางพยาบาทมาดร้ายคน มีความพยาบาทเกิดขึ้น ใจเราก็ไปโน้มเอียง ความดีอะไรลืมๆ มันไปแล้ว ตอนนี้โกรธจะไปตีเขาแล้ว จะไปด่าเขาแล้ว หรือความฟุ้งซ่าน เราตั้งใจทำความสงบของจิต จิตกำลังจะสงบ อยู่ๆ ก็ถูกนิวรณ์ คือความฟุ้งซ่านแทรกเข้ามา ไม่สงบแล้ว ฟุ้งซ่านเสียแล้ว
หรือรำคาญใจ ความรำคาญใจ พอมันฟุ้งซ่าน มันจะต่อด้วยรำคาญใจ ถ้าสงบสุข ไม่รำคาญใจ แต่ถ้าฟุ้งซ่านแล้วมันจะต่อรำคาญใจ หรือบางทีเราอยากปฏิบัติธรรม ใจเราเกิดความลังเลสงสัย สงสัยในธรรมะข้อนั้นข้อนี้ มัวแต่หาคำตอบ เอ๊ะ อันไหนถูก อันไหนผิด เราจะปฏิบัติจะทำอย่างไรถึงจะดี ทำอย่างไรถึงจะถูก มัวแต่สงสัยอยู่นั่นล่ะ เราก็เลยไม่ได้ปฏิบัติเสียที เอาแต่คิดหาคำตอบ หรือเที่ยวถามคนอื่น หรือบางทีใจเราก็หดหู่ เซื่องซึม ไม่รู้เหนือรู้ใต้ ภาวนาไม่ขึ้น นั่งสมาธิแล้วก็ซึมหงอย เป็นหมาหงอยอะไรอย่างนั้น ภาวนาไม่ได้
สมาธิเป็นคู่ปรับของนิวรณ์
ฉะนั้นตัวนิวรณ์ เป็นกิเลสระดับกลาง ไม่ได้ทำให้เราผิดศีล มันยังไม่ได้กระตุ้นจนราคะ โทสะ โมหะเกิด แต่ถ้านิวรณ์เราไม่ดูแลให้ดี มันจะพัฒนาต่อไป กลายเป็นราคะ โทสะ โมหะ ที่หยาบ นิวรณ์เกิดจากจิตใจของเรามันไม่มีสมาธิพอ ถ้าจิตเรามีสมาธิพอ นิวรณ์ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นสมาธิเป็นคู่ปรับของนิวรณ์ อย่างเวลาเราเกิดกามฉันทะ ความชอบอกชอบใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย แทนที่จิตจะกระโดดไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส สัมผัส เพลิดเพลินยินดีพอใจไป ลืมปฏิบัติ เราก็มีสมาธิ
อย่างเราชอบผู้หญิงสวย หรือชอบผู้ชายหล่อ ผู้หญิงเดี๋ยวนี้เขาทันสมัย ไม่ต้องรอให้ผู้ชายมาจีบ เดี๋ยวนี้เป็นยุคใครจีบใครก็ได้ เท่าเทียมกัน เวลาเกิดกามฉันทะ มันกระตุ้น ทำให้จิตใจเราเสียสมดุล ถ้าเสียสมดุลแล้วเราไม่ดูแลรักษาจิต มันก็จะกลายเป็นราคะที่รุนแรง ไปบงการพฤติกรรมทางกาย ทางวาจาของเรา แต่ถ้าเราเห็นกามฉันทะ ความรักใคร่ผูกพัน โหยหา ในรูปที่สวย ในเสียงที่ถูกใจ ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส จิตใจมันโหยหาขึ้นมา เราก็ทำสมาธิ ทำสมาธิมันทำได้ตั้งเยอะตั้งแยะ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ได้ ไม่ไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันนั้น เราไม่ไปคิดถึงมัน ความโหยหามันก็หายไป
หรือถ้าห้ามใจไม่ให้คิดถึงมันไม่ไหว สมมติมันชอบสาวอยู่คนหนึ่ง มันคิดถึงทั้งวัน คิดถึงทั้งคืน ลำพังนั่งหายใจก็สู้ไม่ไหว เราก็ใช้อย่างอื่น เช่น พิจารณาลงไป เราชอบเขาที่ไหน ชอบผู้หญิงคนนี้ตาสวย ลองพิจารณาไป ถ้าเขาขี้ตาเขรอะ เราจะชอบไหม หรือถ้าเขาอยู่ๆ ชักกระตุกไป ตาเหล่ จะชอบไหม เราชอบเขาที่ผมเขาสวย แล้วเขาเกิดเป็นโรคผิวหนัง ผมร่วง หัวเว้าแหว่ง ผมเว้าแหว่งไป จะชอบไหม พิจารณาไปอย่างนี้ อย่างนี้ก็เป็นการพิจารณาอสุภะทั้งหลาย ปฏิกูลอสุภะก็ข่มราคะได้ บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็เคยเป็น ท่านพ่อลี ภาวนาเก่ง ตอนนั้นมาอยู่วัดสระปทุม ใจอยากสึกเพราะเพื่อนพระด้วยกันสึก แล้วออกไปทำงาน เห็นเขาทำงาน เขาแต่งตัวสวยงาม มีข้าวกิน มีอะไร โอ้ เราเป็นพระมีผ้าอยู่ 3 ผืน อาหารก็แล้วแต่จะบิณฑบาตได้ บางวันบิณฑบาตไม่ได้ มันก็ไม่ได้ฉัน ใจมันก็โหยหา สำนวนบาลีเรียก กระสันที่จะสึก
พอท่านคิดจะสึก ท่านบอกไหนๆ ก็จะสึกแล้ว ขอภาวนาโต้รุ่งดูสักวัน ขึ้นไปที่พระเจดีย์ ที่ฐานพระเจดีย์ ก็ไปนั่งสมาธิ จะทำอานาปานสติอะไร จิตไม่ลงเลย เพราะกำลังของกามนั้นรุนแรง ท่านเลยใช้การพิจารณาเอา สมมติตัวเองเลยว่า ถ้าเราสึกไป เราจะไปทำอะไร อ๋อ เรารู้จัก มีเพื่อนทำงานอยู่ที่แห่งนี้ ที่บริษัทฯ นี้ จะให้เขาไปฝากเข้าทำงาน ได้ไปทำงานจะได้มีเงินเดือน เราจะเก็บออมเงินเดือนไว้ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่กินเหล้า ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จะตั้งอกตั้งใจขยันทำงาน จนนายห้างเห็นความดี นายห้างเขาก็ขึ้นเงินเดือนให้อีก ต่อไปก็ไปรักกับลูกสาวนายห้าง ได้แต่งงานกัน โอ๊ย ชีวิตเรานี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน นี่ท่านมโนเอาทั้งนั้น คิดเอาแล้วก็เพลินไปเลย มีความสุขแล้ว
คิดถึงโลกแล้วมีความสุข ต่อมาก็มีลูก 1 คน โอ้ ชีวิตสมบูรณ์แล้ว ได้แต่งงาน ได้มีลูก ชีวิตสมบูรณ์แบบ พอมีลูก 2 คน 3 คน เมียเคยช่วยทำงาน ช่วยไม่ไหวแล้ว เมียภาระเยอะต้องเลี้ยงลูก ต้องทำงานคนเดียว บ้านก็ต้องดูแลเอง งานก็ต้องทำ หน้าที่การงานมันสูงขึ้น งานก็เยอะขึ้น เมียไม่ได้ช่วยทำแล้ว เลี้ยงลูก ท่านมโนต่อไปเรื่อยๆ ท่านจินตนาการเอา ต่อไปเมียไม่สบาย ที่เคยสวยก็ไม่สวยแล้ว ดูทรุดโทรม สุดท้ายเมียก็ตาย ลูกก็เกเรไปหมดเลย เหลือตัวคนเดียวจะทำอย่างไร ใจก็เบื่อหน่าย ใจรู้สึก โอ้ ต่อสู้ดิ้นรนมาทั้งชีวิตเลย สุดท้ายว่างเปล่า มีเงินทองเท่าไรก็ไม่ได้มีความสุขจริง มีเมีย เมียก็หนีไปแล้ว ตายไปแล้ว มีลูก ลูกก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ ไปหมดแล้ว ชีวิตเรานี้ไม่มีอะไรเหลือแล้ว เราจะทำอะไรดี ใจก็บอก “ไปบวชดีกว่า”
พอท่านพิจารณามาถึงจุดที่ว่า “ไปบวชดีกว่า” ท่านสะดุ้งขึ้นมาเลย ตอนนี้บวชอยู่แล้วนี่ จะไปบวชทำอะไรอีก ท่านเลยไม่สึก อยู่มาจนเป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ หลวงพ่อก็เรียนกับท่าน เป็นวิธีที่ท่านสู้กับกาม การสู้กับกาม มีวิธีเยอะแยะ แต่มันอยู่ในข่ายของการทำสมาธิทั้งหมด การพิจารณาความไม่เที่ยง พิจารณาอะไรต่อไป ตรงที่เรายังใช้ความคิดอยู่ อันนั้นเป็นสมถกรรมฐาน สุดท้ายก็ข่มกามฉันทนิวรณ์ลงไปได้ นิวรณ์ตัวอื่นเราก็ดูเอา กรรมฐานกลางๆ ที่สู้นิวรณ์ทุกๆ ตัวได้ ก็อย่างอานาปานสติ สู้ได้หมด กายคตาสติก็ดี
กรรมฐานชั้นเลิศที่สุดมี 2 ตัวที่พระพุทธเจ้ายกย่อง คืออานาปานสตินี้อันหนึ่ง อีกอันหนึ่งคือกายคตาสติ พิจารณากายด้วยอาการ 32 แยกกายเป็นส่วนๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกอะไรอย่างนี้ ไล่ๆ ไป สุดท้ายพบว่าไม่มีตัวไม่มีตนอะไร 2 อย่างนี้เป็นกรรมฐานชั้นเลิศ ท่านบอกยอดเยี่ยมมาก ทำแล้ว ถ้าทำสมาธิด้วยกรรมฐาน 2 อย่างนี้ ทำได้ถึงรูปฌานที่ 4 จะต่อเข้าอรูปฌานก็ว่ากันไป แต่อย่างเราเจริญเมตตา มันจะพาสเข้าไปที่อรูปฌาน แล้วเราดูความว่างของจิต จะพาสเข้าไปอรูปฌานเลย ฉะนั้นถ้าเมื่อไรจิตเราทรงสมาธิขึ้น มันจะมีกำลังข่มนิวรณ์ได้
ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเอง ถ้ากิเลสรุนแรงมาก จะทำผิดศีลแล้ว ตั้งใจรักษาศีลไว้ อย่างไรก็ไม่ยอมผิดศีล จะเป็นจะตายก็ไม่ยอมผิดศีล เหมือนอมน้ำมนต์อยู่ในปาก เลยด่าใครไม่ได้ ถ้ามันมีสิ่งเร้าขึ้นภายใน คือนิวรณ์นั่นล่ะ มันมาเร้าความรู้สึกของเรา อันนี้สู้ด้วยสมาธิ ใช้สมาธิ ถ้าเรารู้จักทำสมาธิ ถ้าเราได้สมาธิสักอย่างหนึ่ง สมมติเราทำอานาปานสติสำเร็จ แล้วเราจะพลิกแพลงไปทำสมาธิอื่น ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว มันเหมือนเราทำกสิณสำเร็จสักอย่างหนึ่ง อีก 9 อย่างไม่ใช่เรื่องยากแล้ว กำหนดจิตปุ๊บสว่างทันทีเลย กลายเป็นดวงปฏิภาค ไม่ใช่เรื่องยาก
ถอดถอนกิเลสชั้นละเอียด
ศีลนั้น เราใช้เวลาที่กิเลสมันเข้มแข็งกว่าเรา สมาธิ ตอนนั้นกิเลสมันเริ่มอ่อนแรงแล้ว แล้วจิตใจเราเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทำสมาธิเป็น มันก็เลยอยู่ในช่วงผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ช่วงไหนสมาธิดี เราก็ข่มนิวรณ์ได้ ช่วงไหนสมาธิตก นิวรณ์มันก็ข่มเรา อยู่ในขั้นผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ถ้าเราจะถอนรากถอนโคน เอาชนะกิเลสให้เด็ดขาด ทำได้ด้วยการเจริญปัญญา ถ้าไม่เจริญปัญญา ไม่สามารถถอดถอนกิเลสชั้นละเอียดได้ กิเลสอย่างละเอียดๆ เช่น พวกสังโยชน์ พวกอาสวกิเลส ต้องสู้มัน เจริญวิปัสสนากรรมฐานไป
เบื้องต้นแยกรูปแยกนาม กายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง สุขทุกข์อยู่อีกส่วนหนึ่ง ดีชั่วอยู่อีกส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้อยู่อีกส่วนหนึ่ง แยกไป พอแยกได้แล้วต่อไปก็เห็น แต่ละส่วนๆ คำว่า “ส่วน” คือคำว่า “ขันธ์” เราได้ยินคำว่า “ขันธ์ 5ๆ” ฟังแล้วตกใจ มันคืออะไร “ขันธ์ 5” คือ “ส่วน” เราแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ ร่างกายนี้มันส่วนหนึ่ง ความรู้สึกสุขทุกข์ส่วนหนึ่ง ความจำได้หมายรู้ส่วนหนึ่ง ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วนี่อีกส่วนหนึ่ง ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือจิต หรือวิญญาณ เป็นอีกส่วนหนึ่ง
พอเราแยกได้ ต่อไปเราก็จะเห็น แต่ละส่วนๆ สติระลึกรู้ที่กาย แล้วจิตเรามีกำลังตั้งมั่นอยู่ด้วยสมาธิที่ดี จิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ถูกบีบคั้น มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอด ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นแค่วัตถุธาตุของโลก สมบัติของโลก ยืมโลกมาใช้ วันหนึ่งก็ต้องคืนโลก เวลาจิตตั้งมั่นอยู่แล้วสติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ หรือความไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็จะเห็นสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ล้วนแต่ไม่เที่ยง สุขก็อยู่ได้ไม่นาน ทุกข์ก็อยู่ได้ไม่ทน ดูเรื่อยๆ ดูเฉยๆ เดี๋ยวก็ดับ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็อยู่ไม่ได้นาน เดี๋ยวก็กลายเป็นสุข เดี๋ยวก็กลายเป็นทุกข์
มันจะสุข หรือมันจะทุกข์ หรือมันจะเฉย เราสั่งไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้ทุกคนก็เลือกมีความสุข นี่เราเลือกไม่ได้ บางทีเราก็ทุกข์ บางทีเราก็สุข อยากให้สุขมี มันก็ไม่มี อยากให้สุขอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่ อยากให้ทุกข์ไม่เกิด มันก็เกิด อยากให้ทุกข์ดับเร็วๆ มันก็ไม่ดับ มันไม่อยู่ในอำนาจ ตรงนี้เรียกเราเห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้สังขาร ที่เป็นกุศลอกุศล เราจะเห็นกุศลอกุศล ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ทนอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ชั่วคราวแล้วก็ต้องแตกสลายไป ดีก็อยู่ได้ชั่วคราว ชั่วก็อยู่ได้ชั่วคราว อย่างใจเราโลภ ความโลภเกิดตลอดวันไหม ไม่เกิดตลอดเวลา มันเกิดตอนที่เราคิด หลงคิดไปด้วยกามฉันทะ มีกามวิตก โลภะมันก็เกิด
ถ้าไม่หลงไปในโลกของความคิด ด้วยอำนาจของโลภะ กามราคะมันก็ไม่เกิด เคยมีคนทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระองค์มีกามราคะไหม” ท่านตอบดีตอบน่าประทับใจ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็จะตอบว่า “เราไม่มีหรอก เพราะเราเป็นพระอรหันต์” เราก็จะคิดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่ตอบอย่างนั้น ท่านบอก “เราไม่มีกามราคะ เพราะเราไม่มีกามวิตก” เราไม่คิดเรื่องกาม กามราคะมันจะเกิดได้อย่างไร ทำนองเดียวกัน เราไม่มีพยาบาทวิตก โทสะมันจะเกิดได้อย่างไร ท่านสอนเรื่องเหตุเรื่องผลทั้งหมดเลย ถ้าขืนเราไปทำเหตุ คือกามวิตก ราคะมันก็เกิด
เราเฝ้ารู้เฝ้าดู เอ๊ะ ราคะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกระทั่งกุศล มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ตรงเกิดแล้วก็ดับ เห็นอนิจจัง ตรงที่เราเห็นว่า เราบังคับมันไม่ได้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนั้นเรียกว่าเราเห็นอนัตตา ตัวจิตเองก็เหมือนกัน เกิดดับเหมือนกัน เราต้องฝึกจนเรามีจิตที่เป็นผู้รู้ จิตมัน 2 ชนิด คือจิตผู้รู้กับจิตผู้หลง ถ้าเรามีจิตผู้รู้ เราถึงจะรู้ว่าจิตผู้หลงเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่เคยมีจิตผู้รู้ เราหลงทั้งวัน แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ตัวอยู่ ที่จริงไม่รู้ กำลังหลงอยู่แต่ไม่รู้
เมื่อไรที่เราฝึกจนกระทั่งจิตเราตั้งมั่น เป็นผู้รู้ขึ้นมาได้ แล้วต่อไปจิตมันหลง เราจะรู้เลย อ้าว เมื่อกี้รู้ตอนนี้หลง มันจะเริ่มแยกจิตที่หลง กับจิตที่รู้ออกจากกันได้ เวลาจิตหลงเกิดขึ้น มันเกิดจิตชนิดไหนบ้าง ก็เกิดจิตหลงไปดูรูป จิตหลงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ กระทั่งไปทำกรรมฐานยังไปเพ่งอยู่ทางใจ เพราะฉะนั้น เฝ้าดู ก็จะเห็นจิตเองก็เกิดดับ หรือเห็นจิตสุขก็เกิดดับ จิตทุกข์ก็เกิดดับ จิตดีจิตชั่วก็เกิดดับ จิตไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ ไปเพ่งอารมณ์ทางใจ ก็เกิดดับ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราทำวิปัสสนาอยู่
การที่เราเห็นขันธ์ทั้ง 5 มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก ของที่มันเกิดแล้วมันก็ดับสลายไป ไม่ใช่ตัวตนตรงไหนเลย ไม่มีคำว่าเราอยู่ตรงนั้นเลย ดูไปเรื่อยๆ คำว่า “เรา” นี้เกิดจากการหมายรู้ผิด เกิดจากการคิดผิดๆ ด้วยอำนาจหมายรู้ผิด จนกระทั่งเกิดความเชื่อผิดๆ ว่ามีเรา ที่จริงตัวเราไม่มี ฉะนั้นเราภาวนาไม่ได้เพื่อละอัตตาตัวตน เราไม่มีอัตตาตัวตนมาแต่แรกแล้ว เรามีแต่การหมายรู้ผิดว่ามีอัตตาตัวตน คิดผิดว่ามีอัตตาตัวตน เชื่อผิดว่ามีอัตตาตัวตน ฉะนั้นเราไม่ได้ละ เราไม่ได้ละอัตตาตัวตน แต่เราเห็นขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร
นี่คือเส้นทางที่เราปฏิบัติ เรายังเกิดมาได้ทันที่พระสัจธรรมยังดำรงอยู่ ขวนขวายพากเพียรปฏิบัติเข้า เป็นฆราวาสหน้าที่ทางโลกต้องทำ หน้าที่ทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัว หน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม อย่างไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ต่อชาติบ้านเมือง ส่วนหน้าที่ต่อตนเอง คือการปฏิบัติธรรม เรียกว่าทางโลกเราก็ต้องทำ ทางธรรมเราก็ต้องทำ พยายามฝึกตัวเองไป ชีวิตเราก็จะสะอาดหมดจด ด้วยอำนาจของศีล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยปัญญา พอปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูกเกิดขึ้น มันจะทำลายกิเลสอย่างละเอียด
พวกอาสวกิเลสทั้งหลาย หรือพวกสังโยชน์ทั้งหลาย เป็นกิเลสชั้นละเอียด มันยังมีกิเลสลึกสุดยอดอยู่อีกชนิดหนึ่ง ชื่ออนุสัยกิเลส อนุสัยกิเลสนั้นคือสันดาน สันดานนี้ยังไม่ทำงาน ต้องมีผัสสะ ก็จะกระตุ้นเกิดเป็นนิวรณ์ เกิดเป็นอาสวะ เกิดเป็นสังโยชน์ เกิดเป็นราคะ โทสะ โมหะขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราไม่ต้องไปสนใจตัวอาสวะ เพราะมันไม่เห็นหรอก เราดูราคะ โทสะเกิด เราคอยรู้ นิวรณ์เกิดเราคอยรู้ไป แล้วต่อไปอริยมรรคเกิด จะทำลายกิเลสชั้นละเอียด คือสังโยชน์ เป็นกิเลสที่ผูกมัดเราไว้กับโลก ให้เราติดอยู่ในภพภูมิต่างๆ
ฉะนั้นอาสวะเป็นเครื่องย้อมจิตใจ ย้อมใจเรา อาสวะมี 4 อัน อย่างพระอนาคามีดูได้เลย ว่าเป็นพระอรหันต์หรือยัง จิตยังมีภวาสวะไหม จิตยังพร้อมจะสร้างภพขึ้นภายในไหม ถ้าขณะนั้นจิตนิ่งๆ ว่างๆ ด้วยอำนาจของฌาน อันนั้นยังมีภวาสวะอยู่ ฉะนั้นใช้ความสังเกตเอา กระทั่งระดับพระอนาคามียังมีอาสวะบางตัวอยู่ กามาสวะชั้นละเอียดก็มี ความติดใจในรูปฌาน ในอรูปฌาน ติดในความสุขความสงบ อันนี้ก็เป็นอาสวะชั้นละเอียด เป็นสังโยชน์ชั้นละเอียด ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึกไป พอเรามีศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ อริยมรรคก็จะเกิด เราก็จะล้างกิเลส ชนะ คราวนี้ชนะแล้ว ศีลเอาไว้ป้องกันตัว เวลากิเลสมันแข็งแรง สมาธิเอาไว้ยันกันไปยันกันมา เวลาพอๆ กันระหว่างจิตกับกิเลส ปัญญา เป็นขุดรากถอนโคนกิเลส
นี่คือเส้นทางที่เราจะต้องเดินกัน ค่อยๆ ฝึก ขั้นแรกรู้สึกตัวให้ได้ก่อน ความรู้สึกตัวเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ ทำอย่างไรจะรู้สึกตัว เมื่อวานซืนนี้หลวงพ่อสอนโยมคนหนึ่ง ภาวนามานานแล้ว บอก “ให้รู้สึกตัวไว้” เขาก็บอกหลวงพ่อว่า “กำลังพยายามทำความรู้สึกตัวอยู่” หลวงพ่อบอก “เข้าใจผิดแล้ว” อย่างเราจะรู้สึกตัวว่าเรากำลังนั่ง ต้องทำอะไรไหมที่จะรู้ว่าเรานั่ง ต้องทำจิตให้ซื่อบื้อก่อนไหม ถึงจะรู้ว่าร่างกายนั่งอยู่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ขณะนี้นั่งอยู่รู้ไหม เห็นไหมความรู้สึกตัวมันง่ายขนาดนี้ แต่เราก็ทำไม่เป็น เราคิดว่าจะรู้สึกตัวได้ เราต้องทำจิตนิ่งๆ ก่อน จิตซื่อบื้อ แล้วก็ แหม รู้สึกแล้ว อันนั้นจิตกำลังหลงความปรุงแต่งอยู่ ไม่ได้รู้สึกตัว จิตกำลังตกอยู่ใต้ความปรุงแต่งอยู่
ฉะนั้นถ้าเราจะรู้สึกตัว ก็รู้สึกเข้าไปเลย ไม่ต้องทำจิตให้ซื่อบื้อ ทื่อๆ นิ่งๆ อะไรหรอก ขณะนี้รู้ไหมกำลังนั่งอยู่ ขณะนี้รู้ไหมหายใจออก ขณะนี้รู้ไหมหายใจเข้า ยากไหม ไม่เห็นยากตรงไหนเลย เราไปทำเรื่องง่ายให้ยาก ทำเรื่องที่เปิดเผยให้ลึกลับซับซ้อน ฉะนั้นธรรมะจริงๆ มันของเปิดเผยมาก ฉะนั้นพยายามทำไป สุดท้ายเข้าใจธรรมะ จะอุทานเลย “แจ่มแจ้งนัก พระเจ้าข้า” เหมือนเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงาย ไม่เห็นยากเลย เปิดฝาจะยากอะไร
เราอย่าไปดัดแปลงจิตใจให้ผิดธรรมดา แหม จะรู้สึกตัวใจต้องซื่อบื้อ นิ่งๆ อะไรอย่างนี้ อันนั้นกำลังปรุงแต่งอยู่ ให้รู้ทัน รู้ไปด้วยใจธรรมดา ใจที่ไม่ได้ปรุงอะไร รู้สึกไป แล้วมันจะแยกขันธ์ได้อย่างรวดเร็วเลย แยกขันธ์ได้แล้ว ต่อไปมันก็เห็นแต่ละขันธ์แสดงไตรลักษณ์ได้ พอเห็นขันธ์แสดงไตรลักษณ์ได้ ต่อไปอริยมรรคก็เกิด มี 4 ครั้ง ก็จะเกิดโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี จบ จบเรารู้ด้วยตัวเอง จบไม่จบ สังเกตกิเลสเอา ยังเหลือกิเลสไหม ยังสร้างภพขึ้นมาอีกไหม ในจิตในใจ สังเกตเอา แค่นั้น ง่ายๆ แล้วเราจะไม่เห่อ ทุกวันนี้ตื่นพระอรหันต์มากไป ชอบตั้งพระองค์นั้นเป็นอรหันต์ พระองค์นี้เป็นอรหันต์ เอาอะไรไปตั้ง เอากิเลส เอาตัวเองไปตั้ง พอเกิดความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนขึ้นมา โอ๊ย ศาสนาพุทธไม่ดี อันนั้นโง่เอง
อย่าไปตั้งใครเป็นพระอริยะ อย่าไปตั้งใครเป็นพระอรหันต์ ใครเขาดี ข้อวัตรดี ปฏิบัติดี ทำตัวดี อนุโมทนา เขาพลาดพลั้ง เออ สังสารวัฏนี้น่ากลัว โทษของสังสารวัฏมันน่ากลัว มันไม่ปล่อยให้ใครหลุดไปง่ายๆ เราจะมองแบบชาวพุทธ ไม่ใช่ถากถางเยาะเย้ย ใครเขาพลาดก็เยาะเย้ยเขา นั่นไม่ใช่ชาวพุทธหรอก มันเป็นโทษของสังสารวัฏ มารไม่ปล่อยให้ใครหลุดมือง่ายๆ เราเองก็ไม่หลุด ต้องสู้ สู้แล้วอาจจะพลาดได้อีก ไม่ใช่ไม่พลาด
วัดสวนสันติธรรม
6 พฤษภาคม 2566