บางคนฟังธรรมนานหลายปี 10 ปี 20 ปีก็มี แต่การปฏิบัติมันไม่เข้มข้นพอ ถ้าเด็ดเดี่ยวจริงๆ มันควรต้องได้อะไรบ้าง เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมันไม่ใช่ของเหลือวิสัย ที่คนธรรมดาๆ จะทำได้ ธรรมะที่ท่านสอนมันเป็นเรื่องคนทำได้ อะไรที่เกินกว่าคนปกติจะทำได้ท่านก็ไม่ได้สอนเอาไว้ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยบอกหลวงพ่อว่า ท่านดูพระไตรปิฎกแล้ว คือท่านท่องพระไตรปิฎกได้ ท่านบอกในพระไตรปิฎกนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เป็นเรื่องการปฏิบัติทั้งนั้น เอามาปฏิบัติได้ อยู่ที่เรา ได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วน้อมนำมาปฏิบัติจริงหรือไม่จริง
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมันมี 2 ระดับ ในระดับจริยธรรมนั้นสอนชาวบ้าน อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี ทำอย่างนี้แล้วรวย ทำอย่างนี้แล้วชีวิตตกอับ ก็เป็นความจริง เป็นสัจจะเป็นความจริงในระดับหนึ่ง อย่างถ้าเราคบคนไม่ดี คบคนพาล ชีวิตอับเฉาแน่นอน ฉะนั้นเริ่มต้นมงคลชีวิตมงคลข้อแรกเลย ไม่คบคนพาล ข้อที่สองให้คบบัณฑิต คบคนพาลมันเป็นอบายมุขเป็นปากทางแห่งความเสื่อม หรือเราติดการพนันอย่างนี้อย่างไรชีวิตก็เสื่อม
ฉะนั้นธรรมะที่ท่านสอนมันก็เป็นความจริง นี่พวกเราได้เอามาทำหรือเปล่า ถ้าเอามาปฏิบัติสม่ำเสมอไป ผ่านไปช่วงหนึ่งเราก็จะเห็นผล หรือธรรมะระดับที่จะพ้นโลก ธรรมะอันหนึ่งเป็นธรรมะที่จะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ธรรมะระดับพ้นโลก ท่านสอนให้เรามีศีล สมาธิ ปัญญา เจริญวิปัสสนากรรมฐานไว้ ถ้าเราลงมือปฏิบัติให้จริงจังตั้งอกตั้งใจเด็ดเดี่ยว ทำทุกวันทุกวันไม่เลิก ผ่านไปช่วงหนึ่งเราจะเห็นพัฒนาการของตัวเอง
คนส่วนน้อย
หลวงพ่อเมื่อก่อนก็เป็นฆราวาสเหมือนพวกเรานี่ล่ะ ก็รู้จักคนหลายจำพวก พวกหนึ่งไม่สนใจการปฏิบัติเลย ไม่สนใจกระทั่งศาสนา วันๆ หมกมุ่นอยู่กับโลก พวกหนึ่งก็สนใจเข้าวัดเข้าวา ก็เข้าไปทำบุญ ส่วนน้อยที่สนใจแล้วเข้าไปศึกษาเข้าไปปฏิบัติและลงมือปฏิบัติ ส่วนน้อยที่สุดลงมือปฏิบัติแล้วเอาจริงไม่เลิก มีหลายระดับ
ผ่านวันผ่านเวลามาหลายสิบปี หันไปมองคนที่เคยรู้จักกันมา เดินกระทบไหล่กันมา พวกหนึ่งก็เป็นคนแก่หงำเหงือก หาอะไรติดตัวไม่ได้เลย อาจจะรวยแต่ว่าไม่รู้จักศีลรู้จักธรรม ไม่รู้จักอะไรเลย ชีวิตไม่ได้มีความสุขเลย เครียด เป็นคนแก่ที่เหี่ยวเฉา ไม่มีความสุขในชีวิต วันๆ ก็คิดแต่ว่าลูกหลานทำไมไม่ยอมมาเยี่ยม นั่งด่าลูกด่าหลานให้คนฟัง วันไหนลูกหลานมาเยี่ยมก็ด่าลูกหลานอีก สุดท้ายไม่มีใครเขาอยากเห็นหน้า เพราะทำตัวเอง คือสะสมกิเลสมานาน เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่ตั้งมานาน ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจตลอด
ส่วนพวกเข้าวัดชอบทำบุญชอบอะไรแบบนี้ อย่างเวลานึกถึงยังมีความสุขเลย เอารูปมาดูเคยไปวัดนี้ไปวัดนี้ก็มีความสุขของเขาได้ ก็ตายไปแบบหลงมีความสุข ยังหลงอยู่ แต่หลงดี ก็ไปสุคติได้ ไปสุคติมันไปตั้งแต่ยังไม่ตาย เหมือนพวกที่ไปทุคติมันไปตั้งแต่ยังไม่ตาย มันทุรนทุราย อะไรอะไรก็ไม่ถูกใจไปหมด พวกทำบุญมาดีนึกถึงอะไรมันก็มีความสุข เฮฮา ลืมนึกไปอย่าง พวกที่เข้าวัดด้วยกันมันตายไปเกือบหมดแล้ว ฉะนั้นเวลานึกถึงคนนี้ตายไปแล้วก็ยังนึกในทางบวก เพราะว่าทำบุญมาเยอะ เคยไปทำบุญวัดนั้นวัดนี้ ก็คงจะไปสวรรค์ คิดอย่างนี้ก็มีความสุข ไปหรือเปล่าก็ไม่รู้หรอก
คนที่เคยภาวนา ผ่านวันผ่านเวลามานาน บางคนภาวนาไปช่วงหนึ่งแล้วพอใจ ในผลที่ได้รับแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ก็ดีเหมือนกัน แต่ส่วนน้อยที่หลวงพ่อบอกก็คือภาวนาไม่เลิก สู้ตาย ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังยอมรับตัวเองไม่ได้ ต้องต่อสู้ เด็ดเดี่ยว ต่อสู้ผ่านวันผ่านเวลาไป หันไปมองรอบๆ ตัวนี่แทบไม่เหลือใครเลย แทบไม่เหลือคนที่ตามกันมา เหลือน้อยเต็มที แต่ว่าคนพวกนี้มีความสุขมาก ชีวิตมันเต็มสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง ไม่ได้หิวโหย คนส่วนใหญ่ที่ภาวนามาไม่เต็มที่ ไม่เต็มภูมิ ใจมันจะหิว เดี๋ยวก็อยากโน้นเดี๋ยวก็อยากนี้ ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนในใจก็เกิดขึ้น ทุกครั้งที่ความดิ้นรนในใจเกิดขึ้นความทุกข์ก็เกิดขึ้น จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้นเอง
ส่วนคนที่ภาวนาจนเห็นความจริงของชีวิต แจ่มแจ้งแล้ว โลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้จริงๆ ก็คือกายกับใจของเรานี่เอง ขันธ์ 5 นี่ล่ะตัวโลก ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์ ขันธ์ 5 เต็มไปด้วยภาระสิ่งที่มันเป็นภาระมันบีบคั้นมันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ พอรู้สึกอย่างนี้ใจมันคลายความยึดถือใน ขันธ์ 5 ออก ใจมันก็หมดความอยาก พอเห็นความจริงของขันธ์ 5 แล้วมันจะมันจะหมดความอยาก
การที่ไม่เห็นความจริงของขันธ์ 5 นั่นล่ะเรียกว่าอวิชชา พอเห็นความจริงของขันธ์ 5 แล้วเรียกว่ามีวิชชาแล้ว ใจมันจะหมดความอยาก หมดความหิวโหย ที่มันหิวโหย มันอยาก เพราะมันยังไม่เห็นความจริงของกายของใจ ของรูปนาม มันคิดว่ากายนี้เป็นของดีของวิเศษ ใจนี้เป็นของดีของวิเศษมันก็อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากมันก็เกิดขึ้น
ถ้าเราภาวนาเด็ดเดี่ยวจริงจัง เรียนรู้ลงในกายเรียนรู้ลงในใจไม่เลิก ถึงจุดหนึ่งมันจะปิ๊งขึ้นมา เวลาเข้าใจความจริงของชีวิต เข้าใจธรรมะ มันเข้าใจในขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง มันจะปิ๊งขึ้นมาในพริบตาเดียวเท่านั้นเอง มันรู้แล้วว่ากายนี้ใจนี้คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษอะไร รู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ความจริงของกายของใจ มันจะละสมุทัยอัตโนมัติ มันละความอยากโดยอัตโนมัติ
ความอยากที่พวกเรามีนั้น ท่วมหัวท่วมหูเราอยู่ทุกวันนี้ ไปดูให้ดี ย่อลงมาสรุปลงมามันก็เหลือแค่ว่าอยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ อย่างอยากมีเมียหลายๆ คนนั้นก็อยากให้กายให้ใจให้ใจเป็นสุข อยากมีเงินมากๆ ก็คืออยากให้กายให้ใจของเราเป็นสุขเพราะคิดว่าถ้าไม่มีเงินแล้วมันจะไม่มีความสุข สารพัดจะอยาก จริงๆ ย่อลงมา สรุปลงมาประมวลลงมา มันก็ลงมาที่กายที่ใจเรานี่เอง อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ แต่พอมันแจ่มแจ้งแล้วว่ากายกับใจนี่มันคือตัวทุกข์ มันรู้แจ้งขึ้นมาแล้วว่ามันคือตัวทุกข์ มันก็หมดความยึดถือในกายในใจ มันก็ไม่รู้สึกว่าอยากให้กายนี่มันมีความสุขตลอด เพราะรู้ความจริงแล้วว่ากายมันทุกข์ จะไปอยากให้มันไม่ทุกข์นี่โง่ อยากให้ของที่ต้องทุกข์มันไม่ทุกข์ หรืออยากให้ของที่มันทุกข์มันมีความสุข นี่มันเป็นความโง่เขลาของเราเอง ความไม่รู้ เรียกว่าอวิชชา
จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้
พอเรารู้ความจริงของกายของใจแล้วความอยากมันจะไม่เกิด รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นการละสมุทัย สมุทัยก็คือตัวอยาก ตัวตัณหานั่นเอง เมื่อเราละความอยากได้แล้ว ใจก็จะหมดความดิ้นรนหิวโหย ใจเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง คือพระนิพพานหรือนิโรธ ฉะนั้นเมื่อไหร่เรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็เป็นอันละสมุทัยเมื่อนั้น เมื่อไหร่ละสมุทัย เมื่อนั้นก็แจ้งนิโรธเมื่อนั้น เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวกันนั่นล่ะ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ และในขณะนั้นอริยมรรคจะเกิดขึ้น
กิจทั้งสี่ของอริยสัจก็คือรู้ทุกข์ การละสมุทัย การแจ้งนิโรธ การเจริญมรรค กิจทั้งสี่นี่สำเร็จเข้าสู่ความสำเร็จ ทำกิจทั้งสี่สำเร็จในขณะจิตเดียว แวบเดียวสำเร็จหมดแล้ว ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นอัศจรรย์แสนจะอัศจรรย์ เราลงมือปฏิบัติแล้วเราเห็นจริงตามที่ท่านสอน ความทุกข์มันจะกระเด็นออกไปจากใจของเรา
ความทุกข์มันอยู่แต่ร่างกาย ร่างกายก็เจ็บป่วยไปแก่เฒ่าไปก็เจ็บป่วยมาก บางคนไม่ทันแก่เฒ่าก็เจ็บป่วยมาก ให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดา ร่างกายนี่มันทุกข์มันเป็นธรรมดา แต่ใจที่ฝึกดีแล้วไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่าจิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ จิตที่ฝึกดีแล้วฝึกอบรมศีล สมาธิ ปัญญาจนแก่รอบ ในที่สุดก็เกิดวิชชา การได้รู้ความจริง ของธาตุของขันธ์ กายนี้คือตัวทุกข์ ความอยากให้กายไม่ทุกข์ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายมีแต่ความสุขล้วนๆ ไม่เกิดขึ้น เพราะมันฉลาดจนรู้ว่าความสุขความอยากนั้นมันโง่ มันโง่มันถึงเรียกว่าอวิชชามันโง่ หรืออยากให้จิตใจนี่มีแต่ความสุข อยากให้จิตใจไม่มีความทุกข์ ขันธ์ 5 อย่างไรก็ทุกข์
ถ้าเราภาวนา เราหัดช่วงระหว่างที่เรายังไม่ถึงจุดสุดขีดของการปฏิบัติ เราจะพบว่าร่างกายเรานี่เต็มไปด้วยความทุกข์ แต่จิตนี่ทุกข์บ้างสุขบ้าง มันจะเห็นอย่างนี้ จิตเป็นของทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่เมื่อเราภาวนาเต็มที่แล้วเราจะรู้ ว่าจิตนี่ล่ะคือตัวทุกข์ คือหัวโจกของความทุกข์ คือสิ่งที่ทุกข์ที่สุดเลยในวัฏสงสาร ไม่มีอะไรทุกข์มากกว่าตัวจิตเลย เพราะฉะนั้นคนทั่วๆ ไปที่ภาวนายังไม่ได้ถึงจุดสุดท้ายนี้ ยังเห็นว่าเราสามารถทำจิตให้มีความสุขได้ ด้วยการทำทาน ถือศีล นั่งสมาธิ บางทีเจริญปัญญาไปคิดพิจารณาธรรมะ เรียนอภิธรรมเรียนอะไรไป แล้วรู้สึกว่าจิตใจมีความสุข อันนั้นยังไม่ได้เห็นความจริงของจิต
ถ้าได้ภาวนาจนเห็นความจริงของตัวจิตแล้ว จะรู้ว่าตัวจิตเองก็คือตัวทุกข์ จิตมันอยู่ในวิญญาณขันธ์ ท่านก็บอกแล้วว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวทุกข์ มันจะกลายไปเป็นตัวสุขไป สำหรับคนหลงเท่านั้น คนที่ยังมีอวิชชาอยู่
นี่ถ้าภาวนาจนถึงจุดหนึ่งนะ จิตมันรวมตัวลงที่จิต ทีแรกจิตมันวางโลก มันพิจารณาโลกแจ่มแจ้งแล้ว มันวางโลกข้างนอก ลงมาอยู่ที่กายที่ใจนี่ ต่อมามันมีปัญญาแทงตลอดลงในกาย รู้ในกายนี้คือตัวทุกข์นะ มันวางกายลงไป แล้วมันก็จะเข้ามาที่ตัวความรู้สึกทั้งหลาย มันเห็นแล้วว่าตัวจิตนี่เป็นตัวที่มีความสุข แต่ความรู้สึกทั้งหลายนี่ มันสุขบ้างทุกข์บ้าง ก็พยายามสร้างความดีต่างๆ เพื่อจะได้มีอารมณ์ที่ดีมีความสุข
ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างจิตทรงสมาธิ จิตทรงฌานอย่างดี จิตดูมีความสุขมากเลย มีอารมณ์ที่มีความสุข ภาวนาไปภาวนาไปถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นเลยว่า กระทั่งการเข้าฌานก็เป็นภาระของจิต มันก็จะวางอารมณ์ทั้งหลายที่เคยแสวงหา อารมณ์ที่ละเอียดที่ประณีตก็จะวาง พอวางอารมณ์ทั้งหลายแล้วมันจะทวนกระแสเข้ามาที่ตัวจิต จิตตัวนี้ไม่ใช่จิตธรรมดา เป็นตัวจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ถ้าเป็นทางปริยัติมันคือมหากุศลจิต ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องพยายามให้เกิด เป็นจิตกุศลชั้นเลิศ
ในทางปริยัติมี 2 ดวง จิตชนิดนี้ จิตทั้งหมดมีตั้ง 80 กว่าดวง แยกละเอียดตั้ง 120 กว่าดวง แต่มี 2 ดวงนี้เท่านั้นที่ทรงคุณค่ามหาศาลจริงๆ คือจิตที่เป็นกุศล เค้าเรียกมหากุศลจิต ลักษณะของจิตที่เป็นมหากุศลคือจิตที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แล้วก็มีความเบามีความนุ่มนวลอ่อนโยน มีความคล่องแคล่วว่องไว ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน และก็รู้สภาวะทั้งหลายโดยไม่เข้าไปแทรกแซง ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลชั้นเลิศจริงๆ เป็นแบบนี้ และก็ประกอบด้วยการมีปัญญา จิตบางดวงเป็นกุศล แต่ไม่มีปัญญา เฉยๆ ซื่อบื้ออยู่เฉยๆ อย่างบางคนภาวนานะมุ่งไปหาจิตที่ว่าง จิตเฉยๆ ว่างๆ ถือว่าดี มันดีเหมือนกันเมื่อเทียบกับจิตวุ่นวาย แต่มันยังต่ำต้อยเมื่อเทียบกับจิตที่เจริญปัญญาได้อย่างแท้จริง
ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ท่านไม่มายกย่องหรอกนะว่าทำจิตให้ว่างทำจิตให้นิ่งอะไรอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ ต้องเจริญปัญญาเข้าไปอีกจนเห็นความจริง ท่านเรียกว่าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งคือเห็นความจริง ตัวจิตผู้รู้นั้นที่ว่าดีที่ว่าวิเศษ เป็นของวิเศษที่สุด ในโลก ในความเป็นจริงมันยังเป็นตัวทุกข์อยู่ เห็นถึงขนาดนี้ แล้ววางจิตผู้รู้ลง เรียกว่าจิตรู้จิตอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจิตก็ปล่อยวางจิต เมื่อจิตปล่อยวางจิตแล้วจิตมันจะแปรสภาพไปเป็นธรรมชาติรู้ ไปเป็นธรรมธาตุไม่ใช่ธรรมชาติรู้
ธรรมชาตินี่ยังเป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับอยู่ คำว่าชาติแปลว่าเกิด สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นยังดับ มันจะเข้าถึงธรรมแท้ เข้าถึงจิตแท้ธรรมแท้ ตัวนี้ครูบาอาจารย์ท่านเรียกชื่อไม่เหมือนกัน บางท่านไม่ได้เรียนปริยัติ อย่างสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านเก่งปริยัติด้วย ท่านเรียกตัวนี้ว่าวิญญาณธาตุ เป็นตัวธาตุรู้ที่แท้จริง ครูบาอาจารย์บางองค์อย่างหลวงตามหาบัวท่านเรียกธรรมธาตุ เป็นธาตุแห่งธรรม ก็ถูกของท่าน บางองค์ท่านเรียกว่าใจ หลวงปู่มั่นท่านก็เรียกใจ หลวงปู่เทสก์ท่านก็เรียกว่าใจ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตหนึ่ง ท่านเรียกตามฮวงโป ท่านพุทธทาสท่านเรียกตามท่านเว่ยหลาง จิตเดิมแท้ มันคือสภาวะอันเดียวกัน เป็นสภาวะที่จิตใจรู้ความจริงของขันธ์ 5 อย่างแจ่มแจ้งแล้วปล่อยวางขันธ์ 5 ลงได้ พอท่านวางขันธ์ 5 ลงได้ ตัวจิตผู้รู้นี้ถูกวางไปด้วยแล้วเพราะมันอยู่ในขันธ์ 5 นั่นล่ะ มันจะเหลือสิ่งซึ่งอยู่เหนือกองทุกข์ ตัวขันธ์นี้มี 2 ส่วน ขันธ์ที่เป็นอุปาทานขันธ์ อยู่ในกองทุกข์ ขันธ์ที่พ้นจากอุปาทานขันธ์ พ้นจากกองทุกข์
ตัวโลกุตตระจิตทั้งหลายมันพ้นจากกองทุกข์ เพราะฉะนั้นเข้ามาถึงตรงนี้แล้วมันไม่ทุกข์แล้ว ตัวมันก็ไม่ทุกข์ แต่โลกุตตระจิตในเบื้องต้นอย่างพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีนี่มันเกิดแล้วมันก็ดับไปทันทีเลย ตอนที่บรรลุพระอรหันต์ อรหัตตมรรค อรหัตตมรรคจิตเกิดแล้วก็ดับ อรหัตตผลจิตเกิดแล้วก็ดับ ตรงนี้ยังเป็นจิตเกิดแล้วดับอยู่ แต่เมื่อมันเกิดดับไปตรงนี้แล้วนี่ มันเข้าถึงสภาวะรู้อีกชนิดหนึ่ง สภาวะรู้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมันไม่มีความแปรปรวนอีกต่อไปแล้ว แต่จะว่าไม่แปรปรวนเลยก็ไม่เชิงเพราะมันยังมีลักษณะ 2 อันประกอบกันอยู่ บางดวงมีความสุข บางดวงเป็นอุเบกขา มีลักษณะนี้ บางดวงสงบสุขอยู่เฉยๆ บางดวงประกอบด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้นอย่างพระอรหันต์นี่ไม่ใช่มีปัญญาตลอดเวลา จิตบางดวงก็เฉยๆ บางดวงก็ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่ามันมีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือไม่มีอะไรเข้ามาปรุงแต่งมันได้อีกต่อไปแล้ว มันไม่กระเพื่อมหวั่นไหวเพราะสิ่งใดอีกต่อไปแล้ว ถ้ายังไม่ถึงจุดนี้มันยังกระเพื่อมหวั่นไหวอยู่ ยังอยากได้จิตที่มีปัญญาอยากได้จิตที่มีความสุขอะไรแบบนี้ ยังมีอยู่ แต่พอภาวนาถึงขีดสุดแล้วนี่มันไม่มี พ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิงแล้ว
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นปรัชญาพูดกันเลื่อนๆ ลอยๆ แต่เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แล้วท่านก็บอกว่า “ควรบอกกับผู้อื่นว่า มาลองดูเถิด” ธรรมะอันนี้เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ชวนให้ลองชักชวนให้ลอง ฉะนั้นหลวงพ่อก็ชวนพวกเราว่ามาลองดูเถิด จริงหรือไม่จริงท่านไม่ได้สอนให้เชื่อ ท่านสอนให้ลองดูว่าที่ท่านสอนไว้จริงหรือไม่จริง มาพิสูจน์ด้วยตัวของตัวเอง เมื่อได้ลองเต็มที่แล้ว
วิธีลองทำอย่างไร โอปะนะยิโก คือน้อมเข้ามาหาตัวเอง เอหิปัสสิโก พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด วิธีลองก็คือโอปะนะยิโก คือน้อมเข้ามาหาตัวเอง มาเรียนรู้ลงที่รูปนามกายใจของตัวเอง สุดท้ายก็จะรู้ได้ด้วยตัวเอง วิญญูชนรู้แจ้งความจริงด้วยตนเอง ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเองจริงหรือไม่จริง พอเห็นแล้วนี่มันจะห้าวหาญเลย ว่าอันนี้เป็นความจริงแท้แน่นอนไม่มีความคลอนแคลน ไม่มีความลังเลสงสัยในพระพุทธศาสนาอีกต่อไปแล้ว
ฉะนั้นบางทีบางสำนวนครูบาอาจารย์บางองค์ เจอกันท่านถามกัน ท่านชวนคุยกัน ความจริงท่านไม่ได้มีความสงสัยแต่ท่านชวนคุยกันว่า “ไง ท่านยังมีความสงสัยในพระศาสนาอยู่ไหม” เป็นสำนวน ถ้าเราฟังไม่รู้เรื่องก็นึกว่า เอ๊ะ ท่านคุยกันเฉยๆ แต่ความจริงท่านคุยกันว่าแตกหักไปหรือยัง ยังไม่ได้แตกหักลงไป ก็ยังไม่สิ้นสงสัยในพระพุทธศาสนา
สำนวนครูบาอาจารย์บางทีท่านก็ต้องเลี่ยงๆ ไม่ให้คนมันมาโจมตีได้ เดี๋ยวมันบาปเปล่าๆ พวกคนบางคนมันภาวนาไม่เป็น มันได้ยินครูบาอาจารย์พูดมันก็โจทอาบัติ หลวงปู่ดูลย์เคยเจอ เคยโดน มีพวกพระกรรมฐานพวกหนึ่ง ไปชักชวนกันมาจะมาโจทอาบัติหลวงปู่ดูลย์ บอกอวดอุตริมนุสธรรม พูดเรื่องจิตเดิมแท้ จิตว่าง จิตหนึ่ง อะไรอย่างนี้สอนให้ดูจิต ที่จริงก็คือไม่พอใจคำสอนเรื่องดูจิตนั่นล่ะ ก็จะโจมตี ก็จะบอกว่าท่านปาราชิก อวดอุตริมนุสธรรมในสิ่งที่ตนไม่มี ไปชวนหลวงตามหาบัวบอกให้ช่วยกันโจมตี
หลวงตาบอก “พระองค์นี้เราไม่เอานะ เราไม่เล่นด้วยนะ” พวกนี้ถึงหยุด ไม่กล้า ดีว่ายังฉลาดอยู่ รู้ว่าหลวงตาพูดแบบนี้หมายถึงอะไร ไม่กล้าโจมตี เพราะอย่างนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดบางทีท่านอ้อมค้อม พูดเลี่ยงๆ ไปเพื่อจะสอนเรา สอนตรงๆ ก็ไม่ได้ คนยุคนี้มันร้าย ต้องสอนอ้อมไปอ้อมมา แต่ถ้าเป็นพระนี่พูดกันตรงไปตรงมาได้ อย่างเป็นพระนี่สอนกันจวกกันหนักกว่าที่พวกโยมเจอมาเยอะเลย อย่างเป็นโยมว่าภาวนาดีๆ พอมาบวชกับครูบาอาจารย์นี่แทบจะต้องเริ่มต้นใหม่เลย ไอ้ที่ดีแบบโยมมันก็ดีแบบโยม แต่มันยังไม่ใช่ดีแบบพระ มันยังอ่อนกว่ากันเยอะ บทเรียนความเข้มข้นน้อยกว่ากันเยอะเลย
การดูจิตดูใจ
แต่ธรรมะที่หลวงพ่อเอามาสอนนี่หลวงพ่อได้เรียนมาจากครูบาอาจารย์ ก็เลยเอามาเผื่อพวกเรา หลวงพ่อเรียนจากท่าน ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อยังเป็นโยม ท่านสอนธรรมะระดับนี้ให้แก่หลวงพ่อตั้งแต่หลวงพ่อยังเป็นโยม และบางองค์ท่านสั่งหลวงพ่อไว้ด้วย หลวงพ่อพุธท่านสั่งหลวงพ่อว่าให้ไปเผยแพร่ต่อ เรื่องที่หลวงพ่อเอามาสอนเหยงๆ ตั้งแต่ยังเป็นโยมแล้ว ทำตามที่ครูบาอาจารย์สั่ง ไม่ใช่เสร่อออกมาสอนเอง หลวงพ่อพุธท่านสั่ง ท่านบอกว่า “คนที่มีจริตนิสัยแบบคุณยังมีอีกมาก ถ้าเค้าไม่ได้ฟังธรรมอย่างนี้แล้วเค้าจะเสียโอกาส” ที่จริงก็คือคนยุคนี้มันเป็นคนช่างคิด ช่างหาเหตุผล
พวกช่างคิดนี้เรียกว่าพวกทิฏฐิจริต กรรมฐานที่เหมาะกับพวกทิฏฐิจริตคือการดูจิต หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อเสร็จแล้วท่านยังบอกเลย ต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ท่านบอกอย่างนี้ มาถึงวันนี้สังคมมันกลายเป็นสังคมเมืองไปแล้ว สังคมชนบทสังคมเกษตรนี่เหลือไม่ถึง 10% ลองไปดูจากผลผลิตมวลรวมของประเทศ ผลผลิตในภาคเกษตรเหลือนิดเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตส่วนใหญ่เป็นชีวิตของคนเมืองแล้วในยุคนี้ กรรมฐานที่เหมาะกับคนเมือง คนเมืองมีลักษณะช่างคิด กรรมฐานที่เหมาะกับคนช่างคิดคือการดูจิตตนเอง เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ท่านถึงพยากรณ์ไว้ว่าต่อไป การดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ท่านไม่สอนเรื่องอื่นกับหลวงพ่อเลย ท่านเจาะเข้ามาที่การดูจิตเลย เข้ามาที่นี่เลย
ครูบาอาจารย์อย่างหลวงพ่อพุธท่านก็บอกให้หลวงพ่อไปบอกต่อ ไม่อย่างนั้นหลวงพ่อก็อยู่ของหลวงพ่อไปสบายๆ นะ สบายกว่านี้เยอะเลย ทุกวันนี้ก็ทรมานขันธ์ ฝืน ต้องออกมาพูดออกมาอะไร เวลาอยู่ลำพังของเรา มีความสุขจะตายไป สบาย ไม่ต้องพูด การพูดก็กินแรง ใช้กำลัง ยิ่งพูดกับพวกเรายังไม่เท่าไหร่ บางคนมันทิฏฐิมานะแรง แต่ก่อนหลวงพ่อก็พยายามสู้พวกทิฏฐิมานะแรง พยายามสอน เดี๋ยวนี้ถ้าทิฏฐิมานะแรง หลวงพ่อก็ปล่อยแล้วสู้ไม่ไหวแล้ว อยากเป็นอย่างไรอยากเชื่ออะไรก็เอาเถอะตามใจเธอเถอะ บอกให้อย่างนี่ไม่เชื่อก็แล้วไป ให้โอกาสแล้ว นี่อย่างพวกเราได้ฟังธรรมะ มีหน้าที่เอาไปปฏิบัติ การดูจิตดูใจจะเรียนให้แจ่มแจ้งก็ต้องเข้าใจ
การดูจิตดูใจยังมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นสมถกรรมฐาน ส่วนหนึ่งเป็นวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าดูจิตดูใจแล้วไปเพ่งให้ว่างๆ อยู่ เป็นสมถะ ดูจิตแล้วก็เพ่งจ้องอยู่ที่ตัวจิตเป็นสมถะ ดูจิตแล้วก็พยายามจะไม่เพ่งความว่าง ไม่เพ่งจิต พยายามจะไม่ทำอะไรเลยก็เป็นสมถะ ดูจิตแล้วน้อมจิตให้เคลิ้มลงไปเลยแทบจะลืมเนื้อลืมตัว ก็เป็นสมถะ ฉะนั้นดูจิตนั่นมันกลายเป็นสมถะได้ 4 ลักษณะนี้ คืออรูปฌาณ 4 นั่นเอง แต่เรายังเข้าไม่ถึงฌาน แต่ว่ามันเดินไปในร่องที่จะไปสู่เส้นทางทั้งสี่นี้
อย่างเวลาไปดูจิตแล้วทำจิตให้ว่าง สิ่งสูงสุดที่จะได้ก็คืออากาสานัญจายตนะ ถ้าดูจิตแล้วก็ไปจับที่ตัวผู้รู้ ตัวผู้รู้กลายเป็นตัวถูกรู้ แล้วก็จับตัวผู้รู้ใหม่ จับตัวผู้รู้ใหม่ไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ ถ้าไม่จับทั้งอารมณ์ว่างไม่จับทั้งจิต เรียกอากิญจัญญายตนะ ไม่เอาอะไรเลย กูไม่ยึดอะไรสักอย่างแล้วก็ฝึกให้ใจเคลิ้ม เกิดความรู้สึกริบหรี่ ๆ นิดเดียวเหมือนแทบไม่มีความรู้สึก นั่นเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ฉะนั้นที่ว่าดูจิตดูจิตแล้วเคลิ้มๆ นั้นใช้ไม่ได้ ดูจิตแล้วว่างๆ ใช้ไม่ได้ ดูจิตเราต้องเห็นอะไร ดูจิตแล้วต้องเห็นความจริงของจิต ความจริงของจิตคืออะไร ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการดูจิตถ้าดูแล้วว่างดูแล้วนิ่งดูแล้วเคลิ้ม ดูแล้วไม่เอาอะไรเลย เป็นสมถะ
ถ้าดูแล้วเห็นความจริงของจิตนี้ หลวงปู่ดูลย์บอกให้ทำญาณเห็นจิตเหมือนตาเห็นรูป ทำญาณคือปัญญาเห็นจิต ไม่ใช่ทำสติเห็นจิต สมถะทำสติเห็นจิต แล้วมันก็ว่างลงไป ถ้าเจริญวิปัสสนามีสติรู้จิต มีจิตตั้งมั่นก็เกิดปัญญา เห็นความจริงของจิตว่าเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นเวลาดูจิตนี่อย่าไปดูให้มันว่างๆ ดูให้มันเห็นความจริง ยกเว้นเวลาเราต้องการพักผ่อน จิตเราเหนื่อยแล้ว เราต้องการพัก เราก็จับเข้ากับความว่าง
เราทำสมถะโดยรู้ว่านี่คือสมถะ เรียกว่าทำสมถะด้วยปัญญาอันยิ่ง อันนี้พระพุทธเจ้าให้ทำ ท่านสอนว่าสิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทำสมถะโดยไม่มีปัญญาอันยิ่งนี่ใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ทำ เพราะฉะนั้นอย่างเวลาเราเจริญปัญญาไปนี่จิตมันอ่อนล้าลง มันเหน็ดเหนื่อย มันเหมือนเราใช้มือถือ ใช้เล่นเน็ตเล่นอะไร ดูวิดีโอ เดี๋ยวนี้มันดูหนังได้ด้วยใช่ไหม มันกินแบตเตอรี่เยอะ เวลาเราเจริญปัญญามันก็เหมือนเราใช้มือถือไป ทำงานหนัก แบตเตอรี่มันก็เสื่อมมันอ่อนลง แบตเตอรี่มันจะหมดแล้ว เราก็ต้องรีบชาร์ตแบตเตอรี่ คือการทำสมถกรรมฐาน เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าตอนนี้สมควรทำสมถะ เราก็ทำอันนี้เรียกว่าการทำสมถะด้วยปัญญา ไม่ใช่ทำเพราะว่าเสพติดสมถะ ถ้าทำเพราะเสพติดสมถะติดในความว่าง ติดในความไม่มีอะไร ติดในความเคลิบเคลิ้ม อันนั้นเรียกว่าทำด้วยความไม่มีปัญญา
เพราะฉะนั้นอย่างเราดูจิตนี่เราเห็นจิตเกิดดับ จิตเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย จิตสุขเกิดแล้วดับจิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตโลภโกรธหลงเกิดแล้วดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตดูเกิดแล้วก็ดับ จิตฟังเกิดแล้วก็ดับ จิตได้กลิ่นเกิดแล้วก็ดับ จิตรู้รสเกิดแล้วก็ดับจิตรู้สัมผัสทางร่างกายเกิดแล้วก็ดับ จิตคิดนึกเกิดแล้วก็ดับ จิตเพ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างนี้ เห็นอย่างนี้เรียกว่าเราเห็นอนิจจังของจิต นี่คือการเจริญปัญญาด้วยการดูจิต อย่างเราเห็นจิตโลภมันมาแล้วมันก็ไป เห็นมันเกิดดับอย่างนี้ใช้ได้ อย่าไปทำจิตให้ว่างๆ ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเราดู เจริญปัญญาไปแล้ว จิตหมดกำลังแล้ว เหนื่อยแล้ว ทำสมถะ อย่างนี้ใช้ได้ ควรทำ
อย่างเวลาหลวงพ่อต้องการพักนี่ ง่ายมากเลยนะ หลวงพ่อใช้เคล็ดลับของหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์ท่านสอนเคล็ดลับทำสมาธิแบบรวดเร็ว กลั้นลมหายใจ ลองกลั้นใจซิ อย่าหายใจเข้าก่อนนะ มีลมอยู่แค่ไหนกลั้นไว้แค่นั้น แล้วจับไปที่ความรู้สึกนิ่งๆ แป๊บเดียวเท่านั้นจิตก็สงบแล้ว จิตสงบแล้วถอยออกมา ออกมาทำงานต่อ เรียกว่าเป็นระบบควิกชาร์จ (quick charge) มีเหมือนกันนะไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาทำควิกชาร์จนี่จะมีพลังอีก 2 ชั่วโมง แต่ชาร์จแบบเร็วๆ ครั้งที่สองก็จะอยู่ได้สั้นลงๆๆ ในที่สุดแบตเตอรี่เสื่อม ฉะนั้นจะใช้วิธีนี้ตลอดไม่ได้ ใช้ยามฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ เช่น จะไปสัมภาษณ์งาน ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูกแล้ว ตื่นเต้นหัวหมุนติ้วๆ ไปหมดเลย ก็ทำควิกชาร์จ จะไปนั่งสมาธิเดินจงกรมอะไรมันก็ไม่ทันแล้ว
ใช้ใจปกติ อย่าหายใจเข้าก่อนนะ ใช้ลมหายใจเท่าที่มีอยู่นี่ แล้วหยุดหายใจ หายใจเข้าก่อนแล้วมันจะไปอัดซะแน่นอึ้ดเลย อันนั้นหายใจเหน็ดเหนื่อยยิ่งกว่าเก่าอีก ทำได้ไหม ยังไม่ได้ก็ไปลองให้เล่นดู เอาไว้ใช้เหมาะกับฆราวาส เวลาเราขับรถอยู่ รถตกเหวยังไม่ทันถึงพื้นยังไม่ทันจะตายนี่ ตัวนี้ทำควิกชาร์จได้ อย่างน้อยก็ไปสุคติ ทำจิตว่างปุ๊บ สงบ ตายก็ตายไป แล้วตกลงมา ร่างกายบาดเจ็บ เห็นร่างกายมันเป็นตัวทุกข์ จิตเป็นคนรู้ ค่อยดูอย่างนี้ดีไม่ดีได้มรรคผล ได้มรรคผลไปตอนจะตายเลย
เพราะฉะนั้นเราฝึก ตอนไหนควรทำสมถะก็ทำ ทำสมถะก็ไม่ใช่เพื่อไปติดในว่าง ไม่ใช่เพื่อไปติดในจิต รักษาจิตนิ่งๆ ไว้ ไม่ได้ ไม่ติดในความไม่มีอะไรเลย ไม่ได้ไปติดในความเคลิบเคลิ้ม แต่ทำสมถะเพื่อให้มีแรงมาเจริญปัญญา เห็นความเกิดดับเปลี่ยนแปลงของจิต จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตโลภโกรธหลงเกิดแล้วดับ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตเพ่งเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้
ดูไปเรื่อยๆ มันจะเกิดปัญญา หรือดูในมุมของอนัตตาก็ได้ จิตทุกชนิดควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ อย่างนี้มองในมุมของอนัตตา มันทำงานได้เองมันไม่ใช่เราหรอก บางคนภาวนาจิตมันเข้าใจขึ้นมา มันอุทานเลยนะ “เอ๊ะ! จิตไม่ใช่เรานี่” มีเอ๊ะด้วยนะ อุทานขึ้นมา จิตมันเกิดปัญญาขึ้นมาอุทาน “ไม่ใช่เรานี่” หลงคิดว่าจิตคือเรามาตลอดอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ภาวนาไป นี่เป็นวิธีการปฏิบัติสำหรับผู้ดูจิต ทำทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา อย่าไปคิดว่าการดูจิตคือวิปัสสนาทั้งหมด ส่วนใหญ่ผู้ที่ดูจิตดูจิตอยู่ ทำสมถะอยู่นึกว่าทำวิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะเป็นวิปัสสนา
วัดสวนสันติธรรม
26 กรกฎาคม 2563