วิธีเรียนธรรมะทำอย่างไร

พวกเราง่ายกว่าสมัยหลวงพ่อเยอะเลย สมัยหลวงพ่อแสวงหาธรรมะ เที่ยวไปหาครูบาอาจารย์ ขึ้นรถทัวร์ไป ขึ้นรถไฟไป อะไรอย่างนี้ ไปแล้วก็ต้องไปต่อรถอีก ท่านส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเมือง อย่างหลวงปู่ดูลย์อยู่ในเมือง องค์อื่นอยู่ห่างๆ ต่อรถไป บางทีต่อรถไปสุดทาง แล้วก็ต้องไปเดินต่ออีก ไม่มีรถเข้าไป บางองค์ก็อยู่บนภูเขานะ เดินขึ้นเขาไปเรียน ยากลำบากกว่ารุ่นพวกเราเยอะ เพราะฉะนั้นอย่าขี้บ่น ภาวนาเข้า ให้ขยันภาวนาเข้า เราไม่ได้ลำบากอะไรเท่าคนรุ่นก่อน รุ่นหลวงพ่อก็ง่ายกว่ารุ่นครูบาอาจารย์ของหลวงพ่ออีกที รุ่นนั้นท่านอยากไปหาหลวงปู่มั่น ท่านต้องเดิน หลวงปู่มั่นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เที่ยวเดินแสวงหาติดตามไปเรื่อยๆ มีบุญวาสนาก็เจอไม่มีบุญก็ไม่เจอ หลงทิศหลงทางเข้าไปประเทศอื่นก็มี บางองค์ตามหาหลวงปู่มั่นเดินเข้าไปถึงอินเดียก็มี ฉะนั้นท่านลำบากกว่าพวกเราเยอะ พวกเราไม่ลำบาก ง่าย ทีนี้บางทีง่ายเกินไปมันก็ไม่เห็นคุณค่า

อย่างพวกเรารู้สึกว่าเราฟังธรรมเอาไว้ก่อน เดี๋ยวแก่ๆ แล้วค่อยปฏิบัติ หลวงพ่อบอกเลยว่าอายุเยอะขึ้นยิ่งภาวนายากขึ้น สติมันเลือนราง และสมาธิมันก็ไม่ค่อยมั่นคงแล้ว สมองมันเสื่อมไป ฉะนั้นรีบภาวนาตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่ อย่าอ้างโน่นอ้างนี่ การภาวนาไม่ได้เบียดบังเวลาทำมาหากิน หรือเวลาดำรงชีวิตที่ไม่ผิดศีลธรรมหรอก มันกวนเฉพาะการทำผิดศีลธรรมเท่านั้นเอง แล้วจริงๆ ธรรมะ ถึงอยู่บ้าน เราก็มีธรรมะได้ อยู่ที่ไหนมันก็มีธรรมะได้ ธรรมะไม่ได้อยู่ที่วัด ธรรมะไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะมันอยู่ที่ตัวเราเอง สิ่งที่เป็นธรรมะก็แยกออกเป็นรูปธรรมกับนามธรรม พวกเรามีรูปธรรมไหม พวกเรามีนามธรรมไหม มันก็มี ธรรมะมันอยู่ตรงนี้ต่างหาก ไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่หลวงพ่อ บางคนก็น้อยใจ จองไม่ทัน น้อยใจเหลือเกิน ต่อไปนี้ไม่ปฏิบัติแล้ว พวกนี้อ้าง ถ้าคนอยากปฏิบัติ จะเป็นจะตายอย่างไร มันก็ปฏิบัติ ไอ้พวกไม่อยากปฏิบัติมันก็หาข้ออ้างอย่างนู้นอย่างนี้ไป หลวงพ่อไม่สนใจหรอก หลวงพ่อสนใจคนที่อยากปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้หวังว่าคนต้องมาเยอะๆ อะไรอย่างนี้ หาคนที่ภาวนาจริงๆ น่าสนใจกว่า

 

วิธีเรียนธรรมะ

วิธีเรียนธรรมะทำอย่างไร? ก็บอกแล้วว่าธรรมะอยู่ที่ตัวเอง คือรูปธรรมกับนามธรรม อยากเห็นธรรมะก็เห็นรูปธรรม นามธรรม เห็นกาย เห็นใจของตัวเองไป มันก็เห็นธรรมะ เพราะธรรมะมันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ตัวเองนี้ คอยมีสติ ระลึกรู้รูปธรรม ระลึกรู้นามธรรม ร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้สึก มันคันแล้ว เกา รู้สึก พยักหน้า รู้สึก คอยรู้สึกไป อย่าให้จิตใจมันล่องลอย ลืมตัวเอง ถ้ามันลืมตัวเอง มันก็ลืมธรรมะ จิตใจมันหนีไป ถ้าจิตใจมันตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจก็อยู่กับธรรมะ เพราะธรรมะมันอยู่ที่ตัวเองนี่เอง รูปธรรมของเราก็มี นามธรรมของเราก็มี ทุกคนมีเท่าๆ กัน เราก็มีรูปเท่าๆ กัน มีนามเท่าๆ กันทุกคน ก็พยายามใช้ต้นทุนที่เรามีมาพัฒนาตัวเอง เราอยากรู้ธรรมะ เราก็คอยระลึกรู้กายระลึกรู้ใจ รู้ของตัวเอง อย่าไปรู้ของคนอื่น รู้ของตัวเองแล้วลดละกิเลสได้ ไปรู้กายรู้ใจคนอื่น มันเพิ่มกิเลส ฉะนั้นพยายามรู้สึกๆ ของเราไป

ศัตรูที่ทำให้เราไม่สามารถรู้รูปธรรม นามธรรม รู้กาย รู้ใจของตัวเองได้ อันแรก คือหลง หลงไป เผลอไป แล้วขาดสติ จิตหนีไปที่อื่น สติเป็นตัวระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจของเรา สติตัวนี้เป็น สติปัฏฐาน สติอย่างโลกๆ เราไม่ต้องพูดถึงหรอก ขับรถไม่ไปชนเขา ก็มีสติ อะไรอย่างนี้ กินเหล้าทำให้ขาดสติแต่ก็กิน อันนั้นสติโลกๆ สติสำหรับนักปฏิบัติ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็คือสติที่ระลึกรู้รูปธรรม นามธรรมของตัวเอง เรียกว่าสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้ายังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ก็ยังมีผู้เข้าใจธรรมะ รู้ธรรม เห็นธรรม บางท่านพูดถึงขนาดว่า ถ้ายังมีคนเจริญสติปัฏฐานก็มีโอกาสมีพระอรหันต์ ก็จริง มีโอกาสมี แต่ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานวันนี้แล้วจะเป็นพระอรหันต์ทุกคน ไม่ใช่ ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้า เราก็เป็น ยังไม่แก่กล้า ก็สะสมเอา เพราะฉะนั้น พยายามเจริญสติปัฏฐาน มีสติรู้ร่างกาย มีสติรู้จิตใจของตัวเองไป

ลองขยับตัวสิ ลองขยับ ขยับอะไรก็ได้ ลองรู้สึก ขยับอย่างนี้ รู้สึกไหม รู้สึกได้โดยไม่ต้องมองไหม หรือว่าต้องมองถึงจะรู้ว่าขยับ มันรู้ด้วยใจ นี่ ขยับก็รู้สึก รู้ด้วยใจ รูปตัวนี้ มันยังไม่ใช่รูปแท้หรอก แต่อาศัยรู้ไปก่อน รูปที่เคลื่อนไหว เรียกวิญญัติรูป อาศัยรู้มันไปก่อน รู้ด้วยใจ รูปบางอย่างรู้ด้วยตา คือสี รู้ด้วยตา รูปบางอย่าง รู้ด้วยหู คือเสียง รูปบางอย่าง รู้ด้วยจมูก คือ กลิ่น รูปกลิ่น รูปบางอย่างรู้ด้วยลิ้น คือรูปรส รสนี่ถือเป็นรูปอย่างหนึ่ง รูปบางอย่าง รู้ด้วยร่างกาย อย่างความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว อะไรอย่างนี้ นี่รู้ด้วยร่างกาย คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รู้ด้วยร่างกาย รูปที่เหลือรู้ด้วยใจ ฉะนั้นรูปที่รู้ด้วยใจเยอะกว่ารูปที่รู้ด้วยกายอีก ฉะนั้นอย่างเรานั่งอยู่นี่ เราเห็นร่างกายหายใจอยู่ เรารู้สึกไป ร่างกายมันหายใจ ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายมันหายใจ ใจเป็นคนดู ร่างกายมันนั่ง ใจเป็นคนดู ร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนดู นี่คอยรู้รูป ก็คือระลึกรู้ มีอะไรเกิดขึ้นกับรูปก็ระลึกรู้ เรียกเรามีการเจริญสติปัฏฐาน ที่เรียกกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรารู้รูป คอยระลึกรู้ไป ต่อไปสติเราก็จะเข้มแข็งขึ้น พอรูปขยับนิดเดียว สติเกิดเอง

จิตออกนอกไหม นี่หัดอย่างนี้ จิตหนีไปแล้วก็รู้เอา หันซ้ายหันขวา คอยรู้สึก เรียกว่าเราเจริญสติปัฏฐาน พยักหน้า รู้สึก เรียกว่าเราทำสติปัฏฐานอยู่ เป็นสติปัฏฐานในเบื้องต้น สติปัฏฐานมี 2 ขั้น ขั้นแรก เป็นไปเพื่อความมีสติ ขั้นที่สอง เป็นไปเพื่อความมีปัญญา ขั้นแรก ฝึกให้มีสติก่อน สติไม่มี จะไปพูดถึงปัญญาอะไร ไม่มีสติ ก็ไม่มีศีล ไม่มีสติก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติก็ไม่มีปัญญา ฉะนั้นพยายามทำสติปัฏฐานเพื่อให้มีสติ หันซ้ายหันขวาอะไรนี่ รู้สึกไป ลองยิ้มซิ

ตอนยิ้ม อยู่ในหน้ากากแล้วยิ้ม รู้สึกไหมร่างกายมันยิ้ม รู้สึกได้ไหม หรือต้องส่องกระจกถึงจะรู้ว่ายิ้ม ไม่จำเป็น เห็นไหมรู้ด้วยใจ ขยับไม้ขยับมืออะไรนี่ รู้สึกไป ฝึกให้เคยชินที่จะรู้สึก ทำไมความรู้สึกตัวมันยากนัก คนในโลกมันไม่ค่อยรู้สึกตัว ที่ความรู้สึกตัวมันยากนัก ทำยากนัก เพราะมันเคยชินที่จะหลง มันไม่เคยชินที่จะรู้สึกตัว ธรรมชาติของจิตนะมันไหลไปตามความเคยชิน อย่างหนุ่มนั่นน่ะ ที่กำลังพยายามขยับมือ พยายามนวดอย่างนี้ พยายามจะจับ แต่ใจผิด ใจมันเพ่งอยู่ นี่ ทื่อๆ อยู่ มันไม่ใช่สักว่ารู้ว่าเห็นหรอก มันบังคับตัวเองอยู่ อย่างนี้ปัญญาไม่เกิด เพราะมันเครียด ตอนเครียดนี่ใจไม่มีสมาธิ ถ้าใจมีสมาธิ มีความสุข มีความสงบ อย่างแย่ๆ ก็เป็นอุเบกขา ไม่สุขแต่ก็อุเบกขา สบาย เบาๆ ไม่ตึง ไม่หนัก ไม่แน่น ไม่แข็ง ไม่ซึม ไม่ทื่อ แล้วใจมีสมาธิที่ถูกต้อง ถ้าใจเราทื่อๆ แล้วเราพยายามจะดูรูป มือยังเกร็งเลย เกร็งนะไม่ได้กินหรอก รู้สึกมันธรรมดานี่ รู้สึกไป มันไม่ได้ยากอะไร

 

การฝึกเจริญสติปัฏฐาน

ตอนนี้หายใจอยู่ รู้สึกไหม ถ้าหายใจแล้วรู้สึก เรียกว่าเราเจริญอานาปานสติอยู่ ถ้ายืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกอยู่ เรียกว่าเราเจริญอิริยาบถอยู่ในสติปัฏฐานอิริยาบถบรรพ ถ้ากระดุกระดิกแล้วรู้สึก หยุดนิ่งแล้วรู้สึก เรียกเราเจริญสัมปชัญญะบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ยากอะไรแค่คอยรู้สึก อย่าไปบังคับจนจิตมันเกร็ง รู้สึกสบายๆ ที่หลวงพ่อชอบบอกให้ยิ้ม ยิ้มหวาน ลองยิ้มซิ ยิ้มอีก ยิ้มไม่ได้เก็บเงิน ไม่เสียสตางค์ ยิ้มหวานๆ แล้วก็รู้สึก นี่ หน้ามันยิ้ม เรารู้สึก แล้วเวลาเรายิ้ม เราจะค่อยๆ สังเกต ต่อไปมันดูทะลุเข้ามาถึงใจได้ พอหน้าเรายิ้มแล้วเรามีความสุขขึ้นมาจริงๆ ก็เห็นใจมันมีความสุข มันเข้ามาดูใจได้

ฉะนั้นพยายามรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก คอยรู้สึกไป พอรู้สึกไปเรื่อยๆ นานๆ นี่ ต่อไปสติมันจะเกิด จิตมันจะจำสภาวะได้ อย่างมันกระดุกกระดิกอะไรนี่ มันคอยรู้สึกเรื่อยๆ ต่อไปเวลาเราเผลอ แล้วเราเกิดกระดุกกระดิกขึ้นมา สติจะเกิดเอง มันจะเกิดรู้ขึ้นมาเอง อ้าว เผลอแล้วนี่ มันจะรู้ได้เอง ฉะนั้นพยายามมีสตินะอยู่กับกายของเรา หรืออยู่กับเวทนา หรืออยู่กับจิตที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้ นี้ถ้าหัดใหม่ๆ ดูนามธรรมไม่เป็น ก็ดูรูปธรรมไป เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายคู้ คู้แขน เหยียดแขนอะไรนี่ ใจเป็นคนดู อย่างนี้ก็ใช้ได้ ต่อไป อย่างสมมติเราหัดอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วเรารู้สึกๆ แต่อย่าไปจงใจ แหม บอกว่ามีสติ อันนั้นไม่ใช่แล้ว อันนั้นมีโลภะ โลภอยากปฏิบัติ มันก็โลภ สติไม่เกิดหรอก กิเลสมันเกิดซะแล้ว ฉะนั้นรู้สึกไปสบายๆ นี่ รู้สึกๆ ไป

เมื่อก่อน ตอนหลวงพ่อฝึกใหม่ๆ หลวงพ่อมีพัดประจำตัว อยู่ที่ไหนก็มีพัด เดี๋ยวนี้เค้าก็ยังวางไว้ให้ นานๆ พัดทีหนึ่ง เพราะเดี๋ยวนี้มันชินกับการรู้สึกตัวแล้ว เมื่อก่อนอาศัยมีพัดนี่ ขยับแล้วรู้สึกไปเรื่อย รู้สบายๆ รู้ด้วยจิตใจที่สบายๆ ไม่ใช่รู้ด้วยใจที่เครียด อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอก สติไม่เกิดหรอก มันเครียด ก็พัดไปแล้ว แหม อากาศร้อนๆ พัดแล้ว แหม มันสบาย ตรงที่เราสบายใจแล้วเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวด้วยจิตใจที่สบายๆ อันนั้นดี

(หันไปบอกลูกศิษย์) ลูบแขนแล้วใจลอย รู้สึกไหม เออ นี่ รู้สึกไหม พอหลวงพ่อพูดด้วยเลยเกร็งเลย ใจแข็งทื่อๆ ขึ้นมานี่ อันนี้เรารู้ด้วยตัวเราเอง ทำไมหลวงพ่อรู้ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ คนที่เป็นครู มองลูกศิษย์ มันก็รู้ไส้ลูกศิษย์นั่นล่ะ ไม่ใช่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์อะไร เรื่องธรรมดา อย่างครูบางคน เห็นหน้าลูกศิษย์ก็รู้แล้วไอ้เด็กคนนี้ดื้อ เด็กคนนี้มีปัญหาทางบ้าน อะไรอย่างนี้ ไม่เห็นจะต้องปาฏิหาริย์ตรงไหนเลย นี่พัดไปแล้วสบาย รู้สึกไปๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วพอพัดไปๆแล้วเผลอไป มันพัดไปเรื่อยๆ แต่ใจมันหนีไปที่อื่นแล้ว มันไม่ได้รู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว อันนี้ไม่ตรงวัตถุประสงค์

ที่เราเจริญกายานุปัสนานี่ เรามีสติ เคลื่อนไหวเรารู้สึก เคลื่อนไหวเรารู้สึก แต่เคลื่อนไหวแล้วก็เผลอไปที่อื่น หรือรับโทรศัพท์ คุยไปพัดไป อะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องหรอก ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานแล้ว อันนั้นขาดสติ ฉะนั้นไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ อย่างหลวงพ่อพัดแล้วบอกหลวงพ่อบอกเมื่อก่อนหลวงพ่อพัดนี่เป็นการฝึกสติ แล้วพวกเราพัดแล้วมันจะเป็นสติด้วยกัน ไม่เป็นหรอกนะ มันอยู่ที่ว่าเราพัดแล้วเรารู้ตัวไหม ถ้าพัดแล้วใจหนีไปก็ไม่มีสติ นี่พยายามฝึกเข้า

บางคนไม่ชอบรู้กาย เราก็เจริญสติปัฏฐานด้วยการรู้ใจตัวเอง อย่างใจเรามีความสุขหรือใจเรามีความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ ทุกคนรู้ได้ อย่างขณะนี้ใจของเราสุขหรือใจของเราทุกข์หรือใจของเราเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข รู้ไหม ขณะนี้ใครใจมีความทุกข์บ้าง ยกมือซิ ไม่ทุกข์เลยนะ โห อัศจรรย์มากเลย บางคนหน้าตาหน้านิ่วคิ้วขมวด ใจไม่ได้มีความสุขหรอก คนไหนมีความสุขบ้าง ยกมือซิ อ้อ เมื่อกี้ไม่มีความสุข มีความทุกข์นะ 2 คน มีความสุข 3 คน เอ้า ใครใจเป็นอุเบกขาบ้าง ยกมือซิ ไม่มีสักคน พวกที่เหลือไม่มีเวทนา ถ้าดูตัวเองตรงนี้ไม่ออกนะ ดูจิตลำบากแล้ว การดูจิตดูใจตัวเองนี่ จิตมีความสุขก็รู้ จิตมีความทุกข์ก็รู้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ อันนี้ง่ายที่สุดแล้ว เป็นดูจิตอย่างง่ายที่สุดแล้ว ในใจเรานี่มันจะต้องมีเวทนาเกิดขึ้นเสมอ จิตทุกดวงต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วยเสมอ ฉะนั้นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตได้มี 3 แบบ มีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตทุกดวงต้องมีเวทนาอันใดอันหนึ่ง ฉะนั้นไอ้ที่ไม่มีเวทนานี่เพราะดูไม่เป็น ถ้าดูเป็นมันจะมี

อย่างเราสุขหรือเราทุกข์เราดูตัวเองออกไหมตรงนี้ รู้สึกยากไหม ว่าตอนนี้เราสุขหรือเราทุกข์ ไม่ยากหรอก ไปหัดดูเข้า ถ้ายังไม่เป็นก็ไปหัดดูเข้า ง่ายๆ หรือบางคนขี้โมโห ถ้าคนไหนขี้โมโห เราก็เจริญจิตตานุปัสสนาไป จิตโมโหขึ้นมา จิตโกรธขึ้นมารู้ทัน จิตไม่โกรธก็รู้ทัน จิตโกรธก็รู้ทันไปเรื่อยๆ ฝึกไปอย่างนี้ ต่อไปสติอัตโนมัติมันจะเกิด พอจิตมันมีความรู้สึกแปลกปลอมขึ้นมา มันหงุดหงิดอะไรนิดเดียว สติเกิดเองเลย มันจะรู้ได้ด้วยตัวเอง หลวงพ่อสมัยเป็นโยมก็ฝึกอย่างนี้เหมือนกัน รู้ทันความรู้สึกของตัวเองเรื่อยๆ แล้วจิตมันโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตมันโลภขึ้นมาก็รู้ จิตมันหลงขึ้นมาก็รู้ รู้ไปรู้มาเลยรู้ว่าตัวเรานี่เป็นพวกขี้โมโห หลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห ดูสไตล์การพูดก็รู้แล้ว พวกขี้โมโหนี่จะพูดเร็ว ไม่มาพูด “เป็นอย่างไรจ๊ะ สบายดีไหมจ๊ะ” จ๊ะๆจ๋าๆนะ นี่พวกโลภ ถ้าพวกหลงจะอีกแบบ “เจริญพรญาติโยม พุทธบริษัท” ฟังแล้วซึม แต่หลวงพ่อดูพูดรวดเร็วเห็นไหม เคลื่อนไหวก็รวดเร็ว ทำอะไรไม่มีงุ่มง่าม เพราะใจมันเป็นพวกโทสจริต

พอหลวงพ่อมาหัดดูจิตดูใจ หลวงพ่อพบว่า จิตเรานี่มีโทสะเกิดขึ้นทั้งวันเลย เจออันนี้ก็หงุดหงิด เจออันนี้ก็รำคาญ เจออันนี้ก็ไม่ได้อย่างใจ นี่คอยอ่านไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เห็นว่าหงุดหงิดแล้ว โกรธแล้ว ถ้าเห็นไม่ทัน แทนที่จะหงุดหงิดก็กลายเป็นโกรธ ถ้าโกรธก็ยังรู้ไม่ทัน ถูกความโกรธครอบงำ เรียกโกรธจนหน้าเขียว หน้าเหลือง หน้าแดง โมโหโทโส หน้ามืดไปเลย มันมีดีกรีของมัน โกรธจนแทบเป็นแทบตายเลย แล้วทีแรกต้องโกรธแรงๆ ก่อนเราถึงจะเห็น ทีนี้พอโกรธแรงๆ เราเห็นบ่อยๆ เข้า ต่อไปโกรธเล็กๆ เราก็เห็น เริ่มโกรธแล้ว ก็เห็นแล้ว ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว อย่างหลวงพ่อตอนฝึก เราเห็นจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ฝึกอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งสติมันเร็ว วันหนึ่งเปิดประตูบ้านออกไป แสงแดดกระทบเปลือกตา กระทบนิดเดียวเท่านั้น เห็นเลยใจนี้หงุดหงิด โกรธกระทั่งแสงแดดที่มากระทบตา นี่สติมันเร็วขึ้นๆ มันเห็นได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ พวกเราก็ลองไปทำดู

หรืออย่างเวลายุงมานี่ โมโหนะยุงมา อยากตีให้ตาย แต่ตีให้ตายก็กลัวผิดศีลอีก ยังดีว่ากลัวผิดศีลอยู่ ถ้าไม่มีศีล ตีมันให้ตาย มันมาเกาะแขนเรานะตบมันแล้ว แหม มันหนีทัน มันบินไปโน่น เราวิ่งตามมันไปตบมันให้ได้ ใครเคยเป็นบ้าง อาฆาตยุง ใครเคยเป็น มีไหม นี่เยอะเหมือนกัน นี่เริ่มดูเป็นแล้ว เริ่มดูเป็นแล้ว กระทั่งยุงมากัดเราทีหนึ่ง เราอาฆาตมากเลย แค้นนี้ต้องชำระ ตามตบมันให้ได้ ถ้ามันหนีไปได้ โมโหตัวเอง ซุ่มซ่ามจริง งุ่มง่ามจริง ยุงเกาะแขนอยู่ ตบไม่ทัน อะไรอย่างนี้ ตามไปตบก็ไม่ทัน นั้นไม่ไหว นี่เราค่อยๆฝึกตัวเอง คอยรู้ทันความรู้สึกของเราเอง ความรู้สึกของเรา โกรธขึ้นมาเราก็รู้ไป โลภขึ้นมาเราก็รู้ บางคนขี้โลภ เจออะไรก็อยากได้หมดเลย เห็นเสื้อก็อยากได้เสื้อ เห็นกางเกงก็อยากได้กางเกง เห็นรองเท้าก็อยากได้ เห็นมือถือก็อยากได้อีก เห็นอะไรก็อยากได้ เห็นเมียชาวบ้านยังอยากได้เลย นี่ใจมันโลภ เราหัดคอยรู้ทันใจที่โลภของตัวเอง

ทีแรกต้องโลภเยอะๆ ก่อนถึงจะเห็น ต่อไปแค่อยากดูนี่ก็โลภแล้วเอ๊ะ ได้ยินเสียงนกอะไร อยากดู นี่ใจมันมีโลภะเกิดขึ้นแล้ว มันอยากแล้ว อยากได้อารมณ์ทางหู อยากฟังให้ชัดๆ แล้วก็อยากเห็น ได้ยินเสียงแล้วอยากเห็น หันไปดู นี่ใจมันโลภแล้ว ต้องละเอียดเราถึงจะเห็น เป็นโลภะที่ละเอียดขึ้นไปอีก แต่ถ้าโลภะหยาบๆ เช่น อยากโน่นอยากนี่อะไรที่รุนแรงนี่ หัดใหม่ๆ ก็เห็นของหยาบไปก่อน ต่อไปก็จะเห็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นๆ อย่างทีแรกต้องโกรธแรงๆ ก่อนถึงจะเห็น ต่อมาขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว หรือทีแรกหัด ต้องโลภแรงๆ ก่อนถึงจะรู้ แล้วต่อมาพอหัดเรื่อยๆ โลภนิดเดียวก็เห็นแล้ว แค่อยากได้ยินเสียง อยากได้เห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากกระทบสัมผัสทางกาย อยากคิดนึกทางใจ อยากหาเรื่องสนุกสนานอะไรอย่างนี้ มันอยากทั้งนั้น อยากปฏิบัติก็อยากนะ

ฉะนั้นเวลาเราอยากปฏิบัติเราจะลงมือบังคับตัวเอง ทันทีที่คิดถึงการปฏิบัติ ทำไงจะปฏิบัติ จะเริ่มบังคับตัวเอง บังคับกายให้เข้าที่ แล้วก็บังคับใจให้เซื่องซึม มี 2 พวก พวกหนึ่งบังคับใจให้ซึมๆ พวกหนึ่งบังคับใจให้เคร่งเครียด แข็งๆ ทื่อๆ อันนี้ไม่ได้ผลหรอก มันทำตามอยาก มันไม่เห็น เพราะฉะนั้นอย่างเราอยากปฏิบัติ รู้ว่าอยากเลยแล้วลงมือนั่งไป นั่งอย่างนี้ นั่งอยู่แล้วนี่ รู้สึกไป แค่รู้สึกเท่านั้น อย่างบางคนเกา มันคันก็อยากเกา ตอนคันใจลอยอยู่ แต่ว่ามันรู้ว่าคัน มันรู้หน่อยๆว่ากำลังคันอยู่แล้วสติไม่มี ไม่เห็นว่ามันกำลังคันที่ชัดเจน รู้สึกครึ่งๆ กลางๆ กำลังดูอะไรอยู่แล้วมันคันๆ มันเกาอัตโนมัติ เราไม่รู้หรอกว่าจิตมันทำงานไปหลายช็อตแล้ว ฉะนั้นอย่างถ้าสติเราเร็วขึ้น มันคันนี่ เรารู้แล้ว ร่างกายนี้มันคัน มันอยากเกา มันรู้ว่าอยากแล้ว เกาอยู่นี่เห็นร่างกายมันเกา เกาไปแล้วรู้สึกมันมาก เคยไหม คันแล้วเกาแล้ว ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งเกายิ่งมัน ยิ่งมันยิ่งเกา ยิ่งเกาไปเกามาหนังถลอกเลย ใครเคยเป็นไหม แหมมันเกาแล้วมันมากเลย นี่กิเลสนะ ราคะแทรกแล้วไม่เห็น แต่กว่าจะเห็นตัวนี้ได้ ต้องฝึกให้ชำนาญก่อน

ทีแรกเห็นของหยาบๆ ก่อน ต่อมาจะเห็นมันละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งละเอียดจริงๆ เราจะรู้เลย ทุกความคิดของเรามักจะมีกิเลสซ่อนอยู่ข้างหลัง ทุกคำพูดของเรามักจะมีกิเลสซ่อนอยู่ข้างหลัง ทุกการกระทำของเราก็มักจะมีกิเลสซ่อนอยู่ข้างหลัง เราเห็นได้ละเอียดยิบเลยนะอย่างนี้ ถ้าเราเห็นถึงตรงนี้ คำพูดของเรา ความคิดของเราก็จะไม่ผิดศีลผิดธรรม คำพูดของเราก็ไม่ผิดศีลผิดธรรม การกระทำของเราก็ไม่ผิดศีลผิดธรรม ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทัน อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กิเลสอะไรเกิดขึ้นคอยรู้ โลภเกิดก็รู้ โกรธเกิดก็รู้ ฟุ้งซ่าน ใจลอยอะไรไปก็รู้ หัดรู้เรื่อยๆ ต่อไปพอเรารู้ทันกิเลสชำนิชำนาญแล้ว สัมมาสังกัปปะจะเกิดขึ้น ก็คือการคิดนี่จะคิดถูกต้อง คิดไปด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง คนในโลกมันคิดไปด้วยความโลภ คิดไปด้วยความโกรธ คิดไปด้วยความหลง

เราค่อยๆ หัด แต่หัดทีแรกยังไม่เห็นตรงนี้หรอก โกรธแรงๆ แล้วค่อยรู้ โลภแรงๆ แล้วค่อยรู้ แค่นั้นก็ยังดี หลงไปชั่วโมงแล้วรู้ ก็ยังพอน่าเอ็นดูอยู่ ถ้าหลงเช้ายันค่ำยังไม่รู้เลย ไม่ไหวแล้ว เธอตายเธอก็ไปอบายแน่นอน โอกาสจะไปอบายสูงมากเลย เพราะจิตถูกโมหะครอบอยู่ทั้งวัน ถ้าไม่ได้ไปทำชั่วอื่น มีโมหะอะไรอยู่ ก็ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานที่เจ้าของเลี้ยงดี ถ้ามีกรรมชั่วอื่นด้วยก็ไปเป็นสัตว์ที่ลำบากหรือไปเป็นอสุรกาย ไปเป็นเปรต ไปเป็นสัตว์นรกอะไรอย่างนี้ ก็แล้วแต่กรรม แล้วแต่กิเลสที่เราสะสมไว้

 

รู้สึกกายก็ได้ รู้สึกที่ใจเราก็ได้

ที่หลวงพ่อสอนวันนี้เป็นเรื่องของการฝึกเจริญสติปัฏฐาน รู้สึกกายก็ได้ รู้สึกที่ใจเราก็ได้ รู้สึกในกาย ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ตอนนี้แมลงวันมันมาฟังธรรมบนหัวหลวงพ่อ เพราะที่นั่งไม่มีนะ เก้าอี้คนยึดหมดแล้ว มันไม่มีที่นั่ง พยายามมาเกาะ ถ้าเราโมโหใช่ไหม เราก็จ้อง บางทีแกล้งทำเป็นใจบุญ เห็นมันมาแล้วทำเป็นไม่เห็น แต่สะบัด ไปดูอย่างนี้ มารยาของเราเยอะนะแต่ละคน ไปดู เรียนรู้ตัวเองอย่างที่เราเป็นจริงๆ รู้ลงไปในรูปนี้ ร่างกายนี้หายใจออก ร่างกายนี้หายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง คอยรู้สึก หรือเรียนรู้จิตใจ จิตใจเป็นสุข จิตใจเป็นทุกข์ จิตใจไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้สึกเอา หรือจิตใจโลภ จิตใจไม่โลภ จิตใจโกรธ จิตใจไม่โกรธ จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน อะไรอย่างนี้ ก็คอยรู้เอา จิตลังเลสงสัย ฟังแล้วงง จะเริ่มปฏิบัติอย่างไร รู้ว่าสงสัย ฝึกไปอย่างนี้

ทีแรกก็จะรู้ของหยาบๆ ต่อไปจะรู้ละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งจิตมันเคลื่อนไหวทำงานอะไรนิดเดียว เราก็จะเห็น แล้วตรงนั้นต่อไปเราจะเห็น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำพูด สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการกระทำเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ส่วนใหญ่จะเป็นอกุศล ถ้าเรารู้ทันแล้วนี่ มีสัมมาสังกัปปะแล้ว สัมมาวาจาจะเกิดขึ้นเอง คำพูดของเรานี่เมื่อใจเราไม่ได้คิดตามกิเลสแล้ว คำพูดของเราก็ไม่เป็นเครื่องมือของกิเลส สัมมากัมมันตะคือการกระทำของเราก็ไม่เป็นเครื่องมือของกิเลส การดำรงชีวิตของเราเลี้ยงชีวิตของเรา ก็ไม่เป็นไปเพื่อสนองกิเลส ค่อยๆ ฝึกตัวเอง ศีลของเราก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วก็ฝึกไปเรื่อยๆ ใจของเราก็ค่อยตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นเรื่อยๆ เจริญสติเต็มที่ เจริญไปเรื่อยๆ ใจมันจะมีสมาธิมั่นคงขึ้น ฉะนั้นสัมมาสติที่สมบูรณ์ จะทำให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์ขึ้นมา ในมรรคมีองค์ 8 มันเรียงลำดับนะ จากการฝึกของเรา

สิ่งที่ฟังหลวงพ่อพูดนี่ก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราควรทำนั้นคืออะไร อันนี้เป็นสัมปชัญญะ เป็นสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ทีนี้เรารู้แล้วว่าเราควรจะดูกายดูใจตัวเองบ่อยๆ ก็หัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะรู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจของเรา แล้วต่อไปคำพูด การกระทำ การดำรงชีวิตของเรานี่จะสะอาดหมดจด พอถึงตรงนั้นแล้ว เวลากิเลสเกิดเราจะยอมไม่ได้ เราจะเห็นมันเป็นของสกปรก เวลากุศลเกิด ใจมันยินดีพอใจ ก็รู้ทัน ใจนี่กิเลสจะค่อยๆ ลดลง กุศลจะค่อยๆ เจริญขึ้น เรามีความเพียรชอบ เรียกว่าสัมมาวายามะ คือเพียรละกิเลสที่กำลังมีอยู่ เพียรปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด ไอ้เพียรๆ นี่ด้วยการมีสติ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า มีสติคือมีความเพียร ขาดสติคือขาดความเพียร ค่อยๆ ฝึกไป

พอสัมมาวายามะของเราดี สติของเราก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราขาดสติก็เพราะกิเลสมันหลอกลากเราไปที่อื่น พอเรากุศลเจริญขึ้น อกุศลลดลงเรื่อยๆ สติปัฏฐานของเราก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น พอเข้มแข็งเต็มที่ แล้วต่อไปสัมมาสมาธิจะเกิด ถ้าสัมมาสมาธิเกิดแล้ว ตอนที่สัมมาสมาธิเกิดนี่ 7 ตัวแรก มรรค 7 ตัวแรกไม่ใช่หายไป ยังอยู่ ทีนี้พอมีสัมมาสมาธิมันจะเป็นที่รวมขององค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือ รวมลงเป็นหนึ่ง มันจะเกิดพลังอันมหาศาลขึ้นขับเคลื่อนจิต ปฏิวัติจิตไปสู่อริยมรรค มรรคผลก็จะเกิดขึ้นตรงที่สัมมาสมาธิของเราบริบูรณ์แล้ว แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิไม่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ไม่ประกอบด้วยสัมมาสังกัปปะ การดำริชอบ ไม่มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ อะไรไม่มี มันไม่ใช่สมาธิที่ดี ไม่มีกำลังที่จะให้เกิดมรรคผล เพราะฉะนั้นอยากให้มีกำลังเกิดมรรคผลก็ทำอย่างที่หลวงพ่อสอนนี่ ค่อยๆฝึกไป มีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจเรื่อยๆ ไป เดี๋ยวมันละเอียดขึ้นเอง ทีแรกก็รู้หยาบๆไปก่อน เป็นอย่างนี้ทุกคน

เอ้า พอสมควรแก่เวลา ต่อไปให้ส่งการบ้าน

 

คำถาม 1: ฝึกสติรู้ทันจิตที่เคลื่อน ไม่ทราบว่าที่ทำอยู่เป็นสมถะหรือวิปัสสนาคะ

หลวงพ่อ: อย่าคิดมาก ที่ฝึกอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ไปฝึกอีก ไม่ต้องไปคิดมากหรอกว่ามันเป็นอะไร เวลาเราภาวนาจริง เราไม่มานั่งคิดหรอกสมถะหรือวิปัสสนา จิตมันเดินของมันเอง อันนี้สำหรับคนที่พอทำได้แล้ว ถ้ายังทำไม่ได้ จงใจปฏิบัติอยู่ ต้องรู้ทันว่าที่ทำอยู่นี่สมถะหรือวิปัสสนา แต่ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว รู้ไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ใจมันหนีไปคิด รู้ว่าใจหนีไปคิด รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจหรอกไอ้ตรงที่รู้ว่าจิตหนีไปคิดนี่สมถะหรือวิปัสสนา ไม่ต้องไปสนใจมันหรอก แล้วก็อย่าไปห่วงวิปัสสนามาก วิปัสสนานะนานๆ เกิดที ไม่ได้เกิดตลอดเวลาหรอก ส่วนใหญ่อย่างเก่งนะ จิตก็ทรงสมาธิอยู่ นานๆ มันก็ปัญญาเกิด จิตมันเดินวิปัสสนาทีหนึ่ง ไปทำกรรมฐานต่อ แล้วก็คอยรู้ทันเวลาจิตมันไหลไป จิตมันหลงไป ไปทำตัวนี้ให้เยอะๆ ที่ฝึกอยู่ดีแล้วล่ะ ฝึกถูกแล้ว อย่าคิดเยอะ

 

คำถาม 2: ปัญหาหนึ่งคือ จิตไม่ตั้งมั่น ไม่ถึงฐานค่ะ จึงขอแนวทางภาวนาของหนูในตอนนี้และต่อๆ ไปค่ะ

หลวงพ่อ: ที่ภาวนาตอนนี้ดีกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนไอ้ที่คิดว่าจิตตั้งมั่น จิตถึงฐานนะ เพ่งเอาไว้ทั้งนั้น เป็นจิตที่ทรมานตัวเอง เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทีนี้พอเราปล่อย ขั้นแรกหลังจากที่เราเพ่งมานาน ตอนที่ปล่อยมันจะฟุ้งซ่าน อย่าตกใจ ฟุ้งซ่านเราก็มีกรรมฐานของเราอยู่ อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังว่าจะสงบ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันค่อยสงบเองล่ะ พุทโธไปทีแรกก็ หายใจเข้า พุท ยังไม่ทันจะออก โธ เลย หนีไปแล้ว หนีไปครึ่งชั่วโมง อ้อ รู้ กลับมาพุทโธใหม่ หายใจใหม่ ต่อไปพอมันหนี มันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ สติมันจะเร็วขึ้น พอมีสติรู้ทัน สมาธิมันก็จะสะสม เพราะทุกครั้งที่มีสติรู้สภาวะถูกต้อง สัมมาสมาธิที่เป็นขณิกสมาธินี่จะเกิด สมาธิเป็นขณะๆ ทีนี้เป็นขณะๆ พอเกิดถี่ขึ้นๆ มันจะเหมือนเรารู้สึกตัวได้ทั้งวัน สมาธิเราจะดีขึ้น จิตมันเด่นดวงขึ้นมา ฉะนั้นที่ทำอยู่ตอนนี้เจริญขึ้นนะ ไม่ใช่แย่ลง ดีแล้ว ไปทำอีก

 

คำถาม 3: ช่วงที่หยุดงานที่ผ่านมาฟุ้งซ่านค่ะ รบกวนหลวงพ่อ ขอคำแนะนำค่ะ

หลวงพ่อ: ฟุ้งซ่านมันก็เรื่องธรรมชาติ ก็ใจของเรามันชอบฟุ้งซ่าน เราก็อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ฟุ้งซ่านอย่างเดียว บางทีมันก็กังวลขึ้นมา ดูออกไหม มันฟุ้งซ่านแล้วใจมันกังวล ยิ่งกังวลยิ่งฟุ้งซ่าน เพราะว่ามันมีปัญหา ฉะนั้นปัญหายังไม่หมด อย่างไรมันก็กังวล ถ้ามันยังกังวลอยู่ มันก็ฟุ้งซ่าน ต้องคิดหาทางออกว่าจะทำอย่างไรดี อันนั้นเป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันเถอะ ใจมันกังวลขึ้นมาก็รู้ ใจมันกังวลขึ้นมาก็รู้ เล่นมันตั้งแต่ต้นตอนี่ พอใจมันกังวลแล้วเรารู้ๆๆ ใจมันไม่กังวลแล้ว เดี๋ยวมันค่อยสงบเองล่ะ ดูที่ต้นเหตุมัน ต้นเหตุมันคือความกังวลใจ

 

คำถาม 4: ตั้งแต่ต้นปี 61 ฝึกกับผู้ช่วยสอน ท่านบอกติดเพ่ง ปัจจุบันยังเพ่งอยู่หรือไม่ มีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่คะ

หลวงพ่อ: รู้เปล่าว่าเพ่งรึเปล่า ถ้าเราเพ่งใจมันจะแน่นๆ ใจมันจะอึดอัด ตอนนี้เพ่งน้อยลงแล้วรู้สึกไหม มันสบายขึ้น รู้สึกไหม พยักหน้าอยู่รู้สึกไหม เอ้อ เมื่อกี้ไม่รู้สึกหรอก มารู้สึกตอนหลวงพ่อบอก พยายามฝึกเข้า ที่ฝึกอยู่นี่ใช้ได้ ดีกว่าแต่ก่อน เราไม่ได้เพ่งตะบี้ตะบันเพ่งอย่างแต่ก่อนแล้ว แต่ว่าตอนที่เราเลิกเพ่งใหม่ๆ มันจะฟุ้งซ่านนิดหน่อย ไม่ต้องตกใจ ฟุ้งซ่านเราก็ทำกรรมฐานของเราไป เดี๋ยวมันก็หายเอง ที่ฝึกอยู่ใช่ได้นะ ดี

 

คำถาม 5: หนูปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อโดยตั้งใจรักษาศีล ทำรูปแบบอย่างน้อย 30 นาที และพยายามรู้สึกตัวระหว่างวัน ปีที่ผ่านมานี้รู้สึกว่ามันเหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนา พิจารณาแล้วว่าน่าจะมีอะไรผิด อยากให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะ ขอบคุณค่ะ

หลวงพ่อ: มันยังเพ่งอยู่ ใจมันยังไม่ได้ปล่อย ให้มันทำงานอิสระจริงๆ อย่างขณะนี้เพ่ง รู้สึกไหม แต่ตรงนี้มัน error เพราะว่ามันตื่นเต้น ก็เลยเพ่งมากกว่าปกตินิดหน่อย ใจถ้ายังเพ่งอยู่นี่ก็เราก็รู้ว่ามันเพ่ง พยายามรู้ทันความรู้สึกของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้น อ่านใจตัวเองให้ออก ต่อไปใจก็จะค่อยสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ ขณะนี้ใจมันสบายกว่าเก่า ดูออกไหม ใจมันว่าง ใจมันสบาย สมาธิมันก็ดีขึ้น ค่อยๆ ฝึกไป สิ่งเหล่านี้ต้องสะสม ไม่ใช่ทำวันสองวัน เดือนสองเดือนหรอก

หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอนว่า กรรมฐานนี่เค้าทำกันตลอดชีวิต ถึงจบกิจแล้วท่านยังปฏิบัติอยู่เลย แต่ปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้นพวกเราหัดเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้มีญาณทัศนะที่ถูกต้อง เพื่อจะได้เห็นความจริง แต่พอเรามีญาณทัศนะถูกต้องแล้ว บรรลุมรรคผลแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังเจริญสติปัฏฐานเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการเจริญสติรู้กายรู้ใจเป็นของที่เขาทำกันทั้งชาตินั่นล่ะ ครูบาอาจารย์สอนมาอย่างนี้ ฉะนั้นเราอย่าไปรีบร้อนว่าทำแล้วต้องได้นั่น ทำแล้วต้องได้นี้ในเวลาเท่านั้นเท่านี้ อันนั้นเป็นความโลภ มันจะทำให้เรายิ่งช้าใหญ่ เรามีหน้าที่ทำเหตุคือเจริญสติไป ผลมันจะเป็นอย่างไรไม่เกี่ยวกะเรา แล้วผลมันเกิดเอง ทำเหตุให้สมควร ผลมันก็สมควร

ใจยังฟุ้งซ่านอยู่ ก็รู้ทัน ทำกรรมฐานไปเรื่อยแล้วใจฟุ้งซ่านก็รู้ ใจเคร่งเครียดก็รู้ ฝึกตัวนี้ให้มากๆ ฝึกพื้นฐานตัวนี้ให้สำคัญ สำคัญมากๆ เลย ฝึกให้บ่อยๆ ใจเคร่งเครียดก็รู้ ใจหลงไปก็รู้ ฝึกไป แล้วมันจะดีกว่านี้ ตอนนี้สมาธิมันยังไม่พอ

 

คำถาม 6: ได้ฟังหลวงพ่อและมาที่วัดร่วมปี แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้น ทำได้น้อยมาก อยากให้หลวงพ่อแนะนำว่า ปฏิบัติในทางใดถึงจะถูกจริตตน ในตอนนี้สวดมนต์ และพยายามนั่งสติ รู้สึกว่าดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะค่ะ ตลอดทั้งวันก็รู้สึกตัวอยู่เนืองๆ

หลวงพ่อ: การฝึกนะ คอยรู้ทัน ใจมันเศร้าหมอง รู้ว่ามันเศร้าหมอง ใจมันเป็นอย่างไรก็รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ อย่ารู้แล้วก็อยากว่าจะต้องดี ต้องสุข ต้องสงบ มันเศร้าหมอง มันไม่สงบ มันไม่สบายใจ อะไรนี่ รู้อย่างที่มันเป็นไป คอยรู้ คอยดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเห็นความรู้สึกทั้งหมด ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว เป็นแค่ของที่ถูกรู้ถูกดู เห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกอย่างไม่มีตัวเรา ต่อไปมันจะเห็นอย่างนั้น พื้นของจิตนะ ไปดูอนัตตาไว้ ดูอะไรๆ ก็บังคับไม่ได้ อะไรๆ ก็บังคับไม่ได้ หัดดูตัวนี้บ่อยๆ ทำได้ไหมตัวนี้ นั่นล่ะเราเหมาะกับตัวนี้เราก็ดูตัวนี้ เดี๋ยวมันค่อยเจริญหรอก ที่มันทำไม่ได้เพราะเราหวังผล ใจเราไม่มีความสุข ชีวิตเรามีปัญหา เราอยากให้มันไม่มี เราอยากให้ใจเราสบาย อะไรนี้ อันนี้ใจเราโลภ เราก็หวังผล ฉะนั้นสติไม่เกิด สมาธิไม่เกิด แต่ถ้าเราทำแบบไม่ได้หวังผล ใจไม่สบายก็รู้ว่าไม่สบาย ใจสบายรู้ว่าสบาย อะไรอย่างนี้ ใจมีกิเลสรู้ว่ามีกิเลส ใจสบายไม่มีกิเลสก็รู้ไป อะไรอย่างนี้ รู้แล้วมันจะได้อะไรก็ช่างมัน ถ้าจะวางใจได้อย่างนี้ การพัฒนาของใจมันจะเร็วแต่ถ้าทำโดยหวังผล เราจะรู้สึกว่ามันช้าตลอดเวลาเลย เพราะใจเรามันอยาก มันก็อยากได้ผลเร็วๆ มันจะรู้สึกช้า อันไหนที่เราอยากได้มากๆ เราจะรู้สึกต้องรอนาน อันไหนที่เราเฉยๆ อย่างทำงานไป อยากให้เงินเดือนออกเร็วๆ อยากได้เงิน ทำงานแต่ละวันๆ มีแต่ความกลุ้มใจ เพราะเงินเดือนยังไม่ออก ยังไม่สิ้นเดือน แต่ถ้าทำงานแล้วเราก็มีความสุขอยู่กับงานไป แป๊บเดียว เงินเดือนออกแล้ว นี่เป็นตัวอย่างให้ฟัง ถ้าเราหวังผลมันจะรู้สึกช้า ถ้าเราไม่ได้หวังผล เราทำเหตุไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกช้าหรอก ที่หนูรู้สึกช้า เพราะหนูอยากพ้นทุกข์เร็วๆ ไปดูเอาตัวนี้ล่ะ

 

คำถาม 7: เมื่อสิงหาคม ปี 61 ได้ส่งการบ้านหลวงพ่อ หลวงพ่อให้การบ้านให้ดูจิตไปได้เลย และปล่อยให้จิตทำงาน ทุกวันทำในรูปแบบและเจริญสติดูจิตในชีวิตประจำวัน จิตพรากจากอารมณ์ได้ดีขึ้น ในวันที่ใช้ความคิดมากๆ จิตฟุ้งบ้าง แต่กลับมามีสติ รู้ที่ลมหายใจและคำบริกรรม ก็ตั้งมั่นขึ้นมาได้ เห็นว่าอารมณ์ทั้งหลายไม่ใช่เราได้เป็นบางครั้ง บางครั้งก็ใช้โยนิโสมนสิการ

หลวงพ่อ: แล้วมีปัญหาอะไรล่ะ นี่เหมือนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังเฉยๆ เนอะ ดูแล้วไม่ได้เป็นปัญหา ขณะนี้เราเพ่งอยู่รู้สึกไหม เอ้อ ถ้ารู้สึกก็ใช้ได้ ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ มันจะไม่เดินปัญญา แต่ตอนนี้มันตื่นเต้น มันก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก พยักหน้ารู้สึก ของคุณถ้าอยากให้สมาธิเพิ่ม ดีกว่านี้ รู้สึกร่างกายเพิ่มขึ้น เอากายมาช่วยนิดหนึ่ง เพราะเราทำงานที่ต้องคิดเยอะ ใจมันจะไม่มีแรง แรงมันจะไม่พอ ฉะนั้นอาศัยร่างกายมาช่วย อย่างยืน เดิน นั่ง นอนอะไรนี่ คอยรู้สึกไปเรื่อย หายใจออก หายใจเข้า คอยรู้สึก เหมือนที่คุณพูดเมื่อกี้ว่า ทำอานาปานสติแล้วมันก็จะมีสมาธิดีขึ้น นี้เราก็เพิ่มพลังของสมาธิตัวนี้ขึ้น ใช้ลมหายใจก็ได้ ใช้ยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ ใช้การเคลื่อนไหวหยุดนิ่งก็ได้ จะเป็นกำลังหนุน กำลังเสริมให้การดูจิตของเรานี้เฉียบคมขึ้น เพิ่มตัวนี้ขึ้นหน่อย ถ้าสมาธิเราดีขึ้น การปฏิบัติก็จะราบรื่นไปได้เร็วขึ้น ทีนี้เราทำงานที่ต้องใช้ความคิดเยอะ ใจมันก็เลยไม่ค่อยมีกำลัง ดูได้ แต่ไม่ค่อยมีแรง ฉะนั้นพยายามอาศัยร่างกายมาช่วย อย่าว่าแต่โยมเลย พระมาอยู่กะหลวงพ่อ หลวงพ่อยังให้ดูร่างกายเลย ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกกายไปเรื่อยๆ ใจก็มีกำลังมากขึ้นๆ พอใจมีกำลังมากขึ้น พอจิตขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวนิดเดียวก็เห็นแล้ว ฉะนั้นสมาธิของเราดี เราก็จะเห็นจิตของเราได้ชัดเจนขึ้น ไม่อย่างนั้นมันก็ดูไปอย่างนั้น ก็เห็น ไม่ใช่ไม่เห็น แต่การเห็นไม่มีพลังพอ เพราะใจเรายังฟุ้งอยู่ เอากายมาช่วย รู้สึกกายบ่อยๆ แต่ไม่ได้เพ่งกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายไป แล้วสมาธิเราเพิ่ม เราจะเห็นจิตได้ชัดเจนขึ้น

 

คำถาม 8: ฟังคลิปหลวงพ่อจาก YouTube ภาวนาในรูปแบบเช้าเย็น รู้ลมและพุทโธ ระหว่างวันดูจิตที่เคลื่อนออกไปคิด ขอหลวงพ่อเมตตาให้การบ้านค่ะ

หลวงพ่อ: ที่ทำมานั่นล่ะการบ้าน ไปทำอีก ทำมาได้ดีแล้ว จิตก็มีพัฒนาการรู้สึกไหม ดูออกไหมว่าใจเราเดี๋ยวนี้กับแต่ก่อนไม่เหมือนกัน ใจเดี๋ยวนี้มันรู้เนื้อรู้ตัวได้ดีขึ้น โปร่งเบาได้ดีขึ้น ไม่ได้หนักแน่นอึดอัด ดี ไปฝึกอีก ที่ทำน่ะถูกแล้ว มันยังไม่พอเท่านั้นล่ะ ทำให้พอไม่ได้แปลว่าทำให้มากๆ ชั่วโมงนะ ทำให้พอหมายถึงสะสมของเราไปเรื่อย มีสติ ตรงที่มันพอนี่มีสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ พอของมันเอง ของเราตอนนี้ก็ทำเหตุ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ แล้วมันก็ค่อยพัฒนาขึ้น ใจมันเบาไปนิดหนึ่ง ดูกายเพิ่มขึ้นหน่อย เวลาดูจิตอย่างเดียวนี่จิตมันเบา ใจมันจะล่องลอยง่าย เราก็ช่วยมันนิดหนึ่ง รู้สึกร่างกายเพิ่มขึ้นหน่อย อย่างทำงานบ้านนี้ กวาดบ้าน ถูบ้านไรนะ รู้สึกร่างกายไป ช่วยทำให้จิตมีพลังมากขึ้น การที่เราคอยรู้ร่างกาย เรียก เราเจริญกายกตาสติ มีสติอยู่ในกาย ได้สมาธิ มีสมาธิดีขึ้น การดูจิตดูใจก็จะดูได้ง่ายขึ้น

 

 

 

ช่วยตัวเองให้มาก เชื่อคนอื่นให้น้อย

ช่วงที่ผ่านมา ทีแรกหลวงพ่อจะเปิดวัดตั้งแต่เดือนก่อนแล้วล่ะ พอดีเป็นอัมพฤกษ์ ปากเบี้ยวไปเลย ตาตก ปากเบี้ยว รักษาได้หมอก็ฝังเข็มให้ ก็หายเร็วหน่อย ทีแรกจะเปิดวัดตั้งแต่เดือนก่อนแล้วล่ะ หลวงพ่อวางแผนการทำงาน เลยต้องเอามาใช้เดือนสิงหาคมนี้ ไม่อย่างนั้นเปิดตั้งแต่กรกฎาคมแล้ว มีมารผจญคือสังขารร่างกายไม่อำนวย พวกเราก็อย่าประมาทนะ เราบอกเรายังแข็งแรง เรายังไม่เจ็บป่วย ไม่แน่ ครูบาอาจารย์เจ็บป่วย

ทุกวันนี้ครูบาอาจารย์หายาก ไม่เหมือนเมื่อ 30-40 ปีก่อน ครูบาอาจารย์มีมาก มาถึงวันนี้ หายากแล้ว ฉะนั้นรีบภาวนาตั้งแต่ยังมีโอกาสอยู่ ติดขัดขึ้นมายังมีโอกาสมาถาม ไม่ฉะนั้นต่อไปต้องพึ่งตัวเอง ถ้าพึ่งตัวเอง ถ้าหลักเราแม่น เราก็พึ่งตัวเองได้ อย่างหลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิต ไปดูผิดอยู่ 3 เดือน ไปบังคับจิต ให้นิ่งให้ว่าง กลับไปหาหลวงปู่ หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว ไปบังคับจิต ให้ไปดูจิต ไม่ได้ให้ไปปรุงแต่งจิต ก็เลยไปดูจิต เห็นจิตมันปรุงแต่งทั้งวันเลย เดี๋ยวมันก็ปรุงสุข เดี๋ยวมันก็ปรุงทุกข์ เดี๋ยวมันก็ปรุงดี เดี๋ยวมันก็ปรุงโลภ โกรธ หลง รู้ทันมันไปเรื่อยๆ รู้ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้อยู่ 4 เดือน หลวงปู่ท่านก็รับรองว่าหลวงพ่อช่วยตัวเองได้แล้ว รู้หลักแล้ว

ทีนี้หลวงพ่อนี่อาศัยหลักที่ครูบาอาจารย์สอน แล้วมาสังเกตตัวเอง หลวงพ่อใช้โยนิโสมนสิการมาก กัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์นี่นานๆ จะได้เจอที เดือนหนึ่งจะได้ไปหาหลวงพ่อพุธครั้งหนึ่ง 3 – 4 เดือนถึงจะได้ไปหาหลวงปู่ดูลย์ หรือหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงตามหาบัว อะไรนี่ หลายๆ เดือน ถึงจะได้ไปครั้งหนึ่ง ฉะนั้นเวลาที่เหลือเกือบทั้งหมด อย่างเดือนหนึ่งเจอหลวงพ่อพุธครั้งหนึ่ง อีก 29 วันเราไม่ได้เจอครูบาอาจารย์ หลวงพ่อใช้การสังเกตตัวเองเอา ทำอย่างนี้แล้วกุศลเจริญ หรือทำอย่างนี้แล้วอกุศลเจริญ สังเกตตัวเองไป ทำอะไรแล้วกิเลสงอกงาม อันนั้นไม่ใช่หรอก ทำอะไรไปแล้วกุศลเจริญขึ้นมา ศีลดีขึ้น สมาธิดีขึ้น เห็นปัญญา มีความเห็นถูก เห็นรูป เห็นนาม เห็นกาย เห็นใจเป็นไตรลักษณ์ ได้เร็วขึ้นๆ ชัดขึ้น อะไรอย่างนี้ อย่างนี้แสดงว่าเราเดินถูกทาง

หลวงพ่อใช้ตัวนี้ โยนิโสมนสิการวัดตัวเอง วัดการปฏิบัติของตัวเอง แล้วประมาณเดือนหนึ่งจะมีผลงานแล้ว เราทำทุกวันไม่เลิก ถึงเดือนหนึ่งก็จะไปส่งการบ้านกะหลวงพ่อพุธ ช่วงเดือนนี้ผมภาวนาอย่างนี้ๆ มีผลเป็นอย่างนี้ๆ ถูกหรือผิด ถ้าผิด ขอเมตตาพ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยบอกด้วย ถ้าถูกแล้ว ให้ครูบาอาจารย์บอกว่าจะทำอย่างไรต่อไปอีก ส่วนใหญ่ท่านก็จะบอกว่าทำถูกแล้ว ให้ไปทำอีก ถ้าท่านพูดอย่างนี้ มี 2 choices 2 ประเด็น หนึ่งภาวนาได้ ท่านเห็นว่าถูกแล้ว ท่านเลยบอกให้ไปทำอีก อีกพวกหนึ่งพวกสอนไม่ไหว พวกที่ท่านสอนไม่ไหวก็ไปทำเหอะไป แต่ที่หลวงพ่อบอกวันนี้ ไม่มีชนิดหลังนี้ ที่หลวงพ่อบอกให้ไปทำอีกไม่ใช่อยู่ในกลุ่มหลัง แต่เป็นกลุ่มที่พอจะเดินไปได้แล้ว ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็พัฒนา สังเกตตัวเองไป ทำอย่างนี้แล้วมันสนองกิเลสนี่ อันนี้ไม่ใช่แล้ว ทำอย่างนี้แล้ว อยากภาวนา ไม่อยากทำมาหากินแล้ว วันๆ อยากนั่งสมาธิอย่างเดียว ให้พ่อให้แม่เลี้ยงอะไรอย่างอย่างนี้ ไปดูให้ดี อะไรผลักดันให้คิดอย่างนี้ ส่วนใหญ่กิเลสนะ อยากบรรลุมรรคผล อยากดี อยากเด่น หรือขี้เกียจ ขี้เกียจแล้วก็ไม่อยากทำมาหากิน อ้างว่าจะเอาเวลาไปภาวนา อะไรอย่างนี้ จริงๆ บอกแล้วว่าการภาวนาไม่ได้กินเวลาทำมาหากินหรอก ทำมาหากินของเราไป ก็ค่อยๆ ฝึกของเราไป

อาศัยการสังเกตตัวเองให้มาก ช่วยตัวเองให้มาก เชื่อคนอื่นให้น้อย นี่ มีคนมาเล่าให้หลวงพ่อฟังเมื่อวานนี้เอง ไปเชื่อหมอดูทางอินเทอร์เน็ตเขาสอนเรื่องแก้กรรม ให้แก้กรรมอย่างโน้น แก้กรรมอย่างนี้ เรียนกับหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่เคยสอนเรื่องแก้กรรมเลย เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยสอน กรรมมันแก้ไม่ได้ มันทำไปแล้ว ท่านสอนให้ทำกรรมใหม่ที่ดี เพื่อเจือจางอิทธิพลของกรรมเก่าที่ไม่ดี หรือกรรมเก่าที่ดีของเรามีอยู่แล้ว เราทำกรรมใหม่ที่ดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น นี่หลักของกรรมแบบชาวพุทธ ไม่ใช่ไปแก้กรรมด้วยการทำวิธีโน้นวิธีนี้ ถูกเขาหลอก แล้วทุกวันนี้คนมันเล่นวิชาสะกดจิตเยอะ มันสะกด มันเล่นคุณไสย เล่นอะไร ไม่ใช่ไม่มี มันคือการสะกดจิตเหมือนที่รัสปูตินมันสะกดจิตจนราชวงศ์โรมานอฟล่ม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ไม่มี ในประวัติศาสตร์ก็มี

ฉะนั้นอย่าเที่ยวร่อนเร่หาที่พึ่งที่อื่น พึ่งตัวเองให้มาก พระพุทธเจ้าก็สอนอยู่แล้วให้พึ่งตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง ฟังธรรมเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ แล้วพึ่งตัวเองให้มาก มาเรียนรู้ตัวเองให้มาก อย่างโดนเขาหลอก โดนเค้าครอบไปนี่ มีเงินเท่าไหร่ก็เอายกให้เขาไปหมด มีอะไรก็ยกให้เขาไปหมดเลย บางทียกตัวเองให้เขาไปเลย ถูกหลอกน่ะผู้หญิง ผู้ชายเดี๋ยวนี้ก็โดนหลอก ไว้ใจไม่ได้หรอกอันตราย

ฉะนั้นทางที่ดีนี่ ภาวนาของเรา อยู่กับบ้านเรานี่ล่ะปลอดภัยที่สุด มีปัญหาขึ้นมาก็สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่ช่วงนี้ ศีล สมาธิ ปัญญาดีขึ้นไหม หรือว่ากิเลสเยอะแยะ กิเลสเยอะแยะก็สังเกตไปอีก ที่กิเลสเยอะแยะเพราะสติเราดีขึ้นหรือเปล่า หรือว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้นจริงๆ ถ้าเห็นกิเลสเยอะแยะเพราะสติดีขึ้น อันนี้เราพัฒนา เราพัฒนาในการปฏิบัติ แต่ถ้าเราเห็นกิเลสเยอะแยะเลย เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ อันนี้ไม่ถูกแล้ว ทำไปเพื่อสนองกิเลส ไม่ถูกแล้ว

สำรวจใจของเราเอง ช่วยตัวเองให้มาก อย่าเชื่อสิ่งที่คนอื่นเค้าบอก เชื่ออันโน้นดี อันนี้ดี แก้กรรมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน ถ้ามันดีจริงพระพุทธเจ้าสอนแล้ว ทำไมท่านไม่สอน เพราะมันทำไม่ได้ ไม่มีใครแก้กรรมใครได้หรอก กรรมมันใหญ่กว่าอย่างอื่น ขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังหนีกรรมไม่ได้เลย กรรมกระทบถึงร่างกายท่านได้แต่ไม่กระทบจิตใจท่าน กรรมให้ผลต่อร่างกายท่านในชาติสุดท้ายนี้ได้ แต่ไม่สามารถให้ผลที่ทำให้ท่านไปเกิดต่อไปได้ ทำไมท่านต้องถ่ายเป็นเลือด นี่ ท่านสร้างคุณงามความดีตั้งเยอะ ทำไมต้องถ่ายเป็นเลือด ก็เพราะมีกรรม แล้วท่านก็อธิบายไว้ ท่านเคยเป็นหมอวางยาคนอื่นเขา อะไรอย่างนี้ ก็ต้องรับกรรม ถ้าแก้กรรมทำได้ ทำไมท่านจะไม่รู้ว่าท่านไปวางใครไว้ ท่านก็ไปขอขมาเขาสิ แล้วก็สิ้นกรรม มันเป็นไปได้หรือ มันเป็นไปไม่ได้ อย่าโง่ แต่ขออภัยคนอื่น ขอขมาคนอื่น อันนี้ไม่ได้ผิด อย่างเราล่วงเกินคนนี้ไว้ ไปขอโทษเขา อันนี้ถูก อันนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่กรรมเมื่อทำแล้วต้องมีผล กรรมเดินซุ่มซ่าม ความซุ่มซ่ามเป็นเหตุ เดินไป หัวไปชนเสา เสาเหลี่ยมๆ หัวแตก จะไปนั่งคิดว่า เอ กรรมนี้เกิดจากตีหัวใครมาในชาติไหน ไปถามหมอก่อน หัวก็ยังเลือดอาบอยู่ ยังไม่ยอมไปรักษา นี่กรรมเก่าก็ไม่ดีคือ ซุ่มซ่าม กรรมใหม่ก็ไม่ดี โง่นะ ก็สมควรให้เลือดไหลหมดตัว

ฉะนั้นต้องฉลาดในการดำรงชีวิต ต้องฉลาดในการปฏิบัติ เดินอยู่ในร่องในรอยที่พระพุทธเจ้าสอน อย่าออกนอกลู่นอกรอยอะไร ไม่ได้ผลหรอก

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
วันที่ 1 สิงหาคม 2563