โลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม

พยายามมีสติสำคัญที่สุดเลย มีสติก็มีการปฏิบัติ ขาดสติก็ขาดการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่เรื่องแค่สมถะวิปัสสนา เมื่อไรเราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อนั้นก็ปฏิบัติแล้ว อย่างเราตั้งใจรักษาศีลอะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมเรียบร้อยแล้ว เราทำมาหากินสุจริต ทำหน้าที่ของเราให้ดีตามที่พระพุทธเจ้าสอน เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูกเมียอะไรอย่างนี้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นอะไรที่ท่านสอนไว้ เอาไปทำก็เรียกว่าเราปฏิบัติธรรมทั้งหมด

การปฏิบัติธรรมมันมี 2 ส่วนใหญ่ๆ ธรรมะเพื่อจะอยู่กับโลกอันหนึ่ง ธรรมะเพื่อจะพ้นโลกมันอีกอันหนึ่ง ช่วงหลังๆ คำว่าปฏิบัติธรรมมันมุ่งมาที่เรื่องสมถะวิปัสสนา ธรรมะเพื่อจะพ้นโลก จนเราลืมความหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติ คือการทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะเพื่ออยู่กับโลกเราก็ต้องทำ อย่างเรื่องทิศ 6 อย่างนี้ ฟังแล้วดูเชยเรื่องทิศ 6 ถ้าเราเป็นนักบริหาร เอาเรื่องทิศ 6 มาใช้ได้สบายๆ เลย ไปหาอ่านเอาเองแต่ละเรื่องๆ ธรรมะที่ท่านสอน เรื่องทิศ 6 เป็นเรื่องการดำรงตนท่ามกลางคนกลุ่มต่างๆ กับพ่อแม่ทำอย่างนี้ มีหน้าที่อย่างนี้ พ่อแม่ก็มีหน้าที่กับลูกอย่างนี้ กับสามีภรรยามีหน้าที่อย่างนี้ กับพระกับนักบวช กับพระก็มีหน้าที่อย่างนี้ กับลูกน้องเรา กับเพื่อนของเรามีหน้าที่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งนั้น ถ้าเราทำตามได้ชีวิตเราก็จะมีความสุข อาชีพการงานของเราก็เจริญรุ่งเรืองได้

 

การปฏิบัติธรรม คือการทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

อย่างมงคลชีวิต แต่ละคนก็อยากได้มงคล เที่ยวหาวัตถุมงคล วัตถุมงคลไม่ใช่มงคล วัตถุก็คือวัตถุ มงคล 38 ประการไปดู เป็นเรื่องที่เราต้องลงมือปฏิบัติทั้งนั้นเลย การไม่คบคนพาลนี่เป็นมงคลแล้ว การที่เราไม่คบคนพาลถือว่าเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว การที่เราคบกับบัณฑิต เราเคารพคนที่ควรเคารพอะไรอย่างนี้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม การเลือกที่อยู่ที่ทำงานที่เกื้อกูลกับการดำรงชีวิตอะไรอย่างนี้ ก็คือการปฏิบัติธรรม

อยู่ในปเทสที่สมควร เรียก ปฏิรูปเทส คำว่าปเทสตัวนี้ ไม่ใช่แปลว่าประเทศ ประเทศมันเกิดขึ้นมาทีหลัง แต่ก่อนก็ไม่มีประเทศหรอก มีแต่ชุมชน มีแต่เมือง มีแต่นครรัฐอะไรอย่างนี้ การเลือกปเทสที่เหมาะหมายถึงเราอยู่ในที่ที่เหมาะ อยู่ในที่ที่กิเลสไม่รุมเร้าเรา ทำแล้วกุศลเจริญขึ้นอะไรอย่างนี้ รู้จักเลือก ถ้าเราไปอยู่ในย่านโลกียะก็ภาวนายาก ดำรงชีวิตอยู่ในโลกก็ลำบากวุ่นวาย ไม่สงบ อย่างบางพื้นที่มีผับมีบาร์อะไรอย่างนี้ เสียงดัง คนมาเที่ยวจ้อกแจ้กจอแจทั้งคืนเลย อันนี้ไม่ใช่ปฏิรูปเทส เราอยู่ในที่ที่เหมาะสม เลือกได้ก็เลือก เลือกไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่ในที่ที่วุ่นวาย จำเป็นก็ต้องอยู่ อยู่ไปก่อนค่อยหาทางขยับขยาย

การเลี้ยงดูพ่อแม่อะไรอย่างนี้เป็นมงคล ลองไปดูเรื่องมงคล 38 ประการ จนสุดท้ายจิตของเราเกษม จิตเกษมคือจิตนี้ปลอดภัยแล้ว จิตปลอดภัยคือจิตพ้นจากอำนาจของมาร พ้นจากอำนาจของกิเลส ฉะนั้นอย่างในมงคล 38 ครอบคลุมทั้งโลกิยธรรมทั้งโลกุตตรธรรม แล้วถ้าไปมองให้ดี มันเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับ ถ้าเราทำไปตามลำดับ เราเจริญขึ้นเรื่อยๆ ข้อแรกสุดเลยก็คือไม่คบคนพาล ข้อสุดท้ายก็คือจิตเข้าถึงความปลอดภัย การรู้แจ้งอริยสัจ แล้วก็จิตใจมันก็ปลอดภัย เริ่มต้นก็มาจากการไม่คบคนพาล คบบัณฑิต เราคบคนพาลมันก็พาเราเสียไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมะที่อยู่กับโลก ถ้าเราคบคนพาล ชีวิตเสียหายหมดทุกด้านเลย กระทั่งทรัพย์สินเงินทองอะไรก็หายนะ คบคนไม่ดี ชวนเราเล่นการพนัน ชวนเราเข้าบ่อนเข้าบาร์ กินเหล้า หาสารเสพติดอะไรพวกนี้ นี่คนพาล เราก็เลือกปฏิบัติธรรม การที่เราไม่คบคนพาลก็คือเราปฏิบัติธรรมแล้ว การที่เราคบบัณฑิตก็คือเราปฏิบัติธรรมแล้ว การที่เราคบเคารพคนที่ควรเคารพก็คือการปฏิบัติธรรม การที่ทำหน้าที่ของเรา หน้าที่ต่อครอบครัวอะไรนี่ก็คือการปฏิบัติธรรม

ฉะนั้นคนรุ่นหลังเรา คำว่าปฏิบัติธรรมมันเพี้ยน มันเป็นความหมายที่แคบลงเรื่อยๆ อีกหน่อยถ้าไม่มีใครท้วงติงไว้ แล้วอีกหน่อยเหลือแต่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรมคือการปฏิบัติ ถ้าไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม ไม่เรียกว่าปฏิบัติ จริงๆ นั่งสมาธิเดินจงกรม มันเป็นแค่วิธีการที่จะภาวนา ภาวนาคือการเจริญ เจริญสติ เจริญปัญญา แค่วิธีการ เราไปหลงวิธีการจนกระทั่งคิดว่ามันคือหลักการ คือทั้งหมด ชาวพุทธไม่ได้ทำแค่ทำสมถะวิปัสสนา ชาวพุทธก็ทำหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อชุมชน พัฒนาตัวเองไป ฉะนั้นการที่เราอยู่บ้าน ทำมาหากินอยู่ด้วยความสุจริต เราได้ปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว อันนี้เป็นโลกิยธรรม

ส่วนถ้าเราอยากพ้นจากโลก เราก็มาฝึกให้หนักขึ้น เข้มงวดในการรักษาศีล เข้มงวดในการฝึกสมาธิ ขยันขันแข็งในการเจริญปัญญา ถ้าเราทำได้ก็เดินไปสู่โลกุตตระ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ เป็นมรรค มรรคก็คือหนทางไปสู่ความดับสนิทแห่งทุกข์ ฉะนั้นที่เราปฏิบัติธรรมๆ สูงสุดก็คือเพื่อดับทุกข์ เพื่อความดับสนิทของทุกข์นี่เป้าหมายสูงสุด ในทางโลกิยธรรมก็คือเพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดี แล้วก็เกื้อกูลที่วันหนึ่งเราจะสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองไปสู่ความดับสนิทแห่งทุกข์ได้

อย่างถ้าเราติดยาเสพติด กินเหล้าเมายาอะไรอย่างนี้ โอกาสที่จะพัฒนาตัวเองต่ำมาก ฉะนั้นโลกิยธรรมควรทำไว้ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ แล้วก็ถ้ามีโอกาส ก็ศึกษาลงมือปฏิบัติธรรมที่จะไปสู่โลกุตตระ เป็นโลกุตตรธรรม มีศีล มีสมาธิ มีปัญญานี่ล่ะ สะสมไป ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดได้ด้วยสติ แล้วจริงๆ กระทั่งโลกิยธรรม เราจะทำได้ดีก็ต้องมีสติ อย่างถ้าเราขาดสติ เดี๋ยวก็เผลอคบคนไม่ดีไปแล้ว ใครมาประจบสอพลออะไรอย่างนี้ก็คบเขาชื่นมื่นไป ไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะยั้งคิด ว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร หรือมีแต่ข่าวเฟค นิวส์ทุกวันนี้เต็มบ้านเต็มเมืองเลย เราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เรากลั่นกรองไม่ออก อันไหนจริง อันไหนไม่จริง อันไหนควรเชื่อ อันไหนไม่ควรเชื่อ ที่สำคัญคืออันไหนควรเสพ อันไหนไม่ควรเสพข่าวสาร นี่เป็นธรรมะที่อยู่กับโลก

 

ธรรมะเพื่อที่จะพ้นจากโลก

ธรรมะพ้นโลกก็มีสติไว้ แต่ไม่ใช่สติธรรมดา สติสำหรับจะพ้นโลก เราต้องรู้ก่อนโลกคืออะไร สิ่งที่เรียกว่าโลก คือรูปนาม รูปนามที่สำคัญคือรูปนามของเราเองนี้ล่ะ ก็คือกายกับใจเรานี่เอง ถ้าเราสามารถปล่อยวางความยึดถือในกาย ปล่อยวางความยึดถือในใจได้ เรียกเราพ้นโลกแล้ว พ้นโลก ฉะนั้นคำว่าโลกๆ ก็คือตัวรูปตัวนามสำหรับนักปฏิบัติ สำหรับนักเรียน นักศึกษาก็เป็นอีกเรื่อง โลกก็เป็นโลกที่เขารู้จักกัน โลกภูมิศาสตร์ แต่คำว่าโลกสำหรับผู้ปฏิบัติที่อยากได้โลกุตตรธรรม ต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนาม

พระพุทธเจ้าท่านมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าโลกวิทู ผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง บางทีเราก็นั่งเพ้อๆ ไปว่าท่านรู้ทุกเรื่องเลย ท่านอาจจะรู้ก็ได้ แต่คำว่าโลกที่ท่านแจ่มแจ้งคือรูปนามนั่นเอง ท่านรู้แจ้งตรงนี้ แล้วท่านรู้แจ้งสิ่งที่เหนือโลกคือพระนิพพาน ฉะนั้นพวกเราอยากได้โลกุตตระ โลกุตตระก็คำว่าโลกกับอุตตร โลกก็รู้แล้วคือรูปนาม อุตตรแปลว่าเหนือ อุตตร คนไทยใช้คำว่าอุดร ทิศอุดรก็คือทิศเหนือ โลกุตตรธรรมก็คือธรรมที่อยู่เหนือโลก ธรรมที่อยู่เหนือโลกก็คือสภาวะที่ไม่ยึดถือในรูปธรรม ในนามธรรม สภาวะที่ไม่ยึดถือในกายในใจ จิตมันพ้นจากความยึดถือในกายในใจได้

เราจะพ้นความยึดถือกายยึดถือใจได้ ต้องทำอย่างไร เราต้องเห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของจิตใจก่อน ความจริงของกาย ความจริงของใจ คือไตรลักษณ์ กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การที่เราตามรู้ตามเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ อันนั้นล่ะเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการฝึกที่จะเห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ พอเราเห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจแล้ว จิตมันจะคลายความยึดถือ ปล่อยวาง หลุดพ้น จิตก็หลุดพ้นจากรูป รูปมีอยู่ แต่จิตไม่ยึด นามธรรมมีอยู่ กระทั่งตัวจิตก็มีอยู่ แต่ไม่ยึดถือ จิตที่พ้นความยึดถือ เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง เป็น โลกุตตระ โลกุตตรจิต จิตมีทั้งฝ่ายที่เป็นโลกิยะ ฝ่ายที่เป็นโลกุตตระ ฉะนั้นเราจะพ้นโลก คือพ้นรูปพ้นนามได้ เราต้องเห็นความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์

วิธีที่จะทำให้เราเห็นความจริงของรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เราไปดูวิธีปฏิบัติ อยู่ในเรื่องของสติปัฏฐาน มีสติรู้กายในกายเนืองๆ มีสติรู้เวทนาในเวทนาเนืองๆ มีสติรู้จิตในจิตเนืองๆ มีสติรู้ธรรมในธรรมเนืองๆ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มันเป็นศัพท์เทคนิค เป็น technical terms กายในกาย เวลาเราจะเรียนรู้กาย เราไม่ต้องเรียนรู้ทั้งหมดของกาย ไม่ถึงขนาดต้องเรียนกายวิภาค รู้กระทั่งเส้นเลือด เส้นเอ็น เส้นประสาท ทุกสิ่งทุกอย่าง อันนั้นให้หมอเขาเรียน กายในกายเป็นการสุ่มตัวอย่าง เรียนกายบางอย่าง ถ้าเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจรูปนามทั้งหมด

เวทนาในเวทนาก็เหมือนกัน ถ้าเราเรียนเวทนา สุ่มตัวอย่างมาเรียน เรียนเวทนาบางอย่าง ถ้าเราเข้าใจเราก็จะเข้าใจเวทนาทั้งหมด แล้วก็เข้าใจจิตที่รู้เวทนาทั้งหมดด้วย เวลาเราเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราดูจิตในจิต จิตมีจำนวนมหาศาลแต่ว่าเราไม่ต้องเรียนทั้งหมด เราเรียนจิตที่มันเกิดบ่อยๆ อย่างถ้าคนไหนขี้โกรธ จิตโกรธเกิดบ่อย เราก็เรียนอยู่ 2 อย่างพอ จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เรียน 2 อย่าง สุ่มตัวอย่างมาเรียน 2 อย่างนี้ พอเข้าใจ ก็จะเข้าใจว่าจิตทั้งหมดนั่นล่ะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา

เรียนธรรมในธรรม คำว่าธรรมะคืออะไร พูดยากเลยใช่ไหม ธรรมะคืออะไรตอบได้ไหม ธรรมะคืออะไรไม่ค่อยมีการตอบ แต่พยายามอธิบายธรรมะด้วยการแจกแจงแยกแยะว่า กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา คำว่าธรรมะคำเดียว แยกได้ 3 อย่าง ธรรมะที่เป็นกุศล ธรรมะที่เป็นอกุศล ธรรมะที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลอะไรอย่างนี้ พยายามแยกคำว่าธรรมะ เพราะฉะนั้นธรรมะกว้างขวางมาก รวมทั้งโลกุตตรธรรมด้วย ก็อยู่ในธรรมะ ธรรมะยังแยก 2 กลุ่มก็ได้ ถ้าแยกแบบกุศล อกุศล แบบเป็นกลาง ไม่เป็นกุศลอกุศล นี่แยกแบบหนึ่ง แยกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ธรรมะที่เป็นความปรุงแต่ง อย่างขันธ์ 5 เรา รูป นาม กาย ใจเรานี้เป็นธรรมะที่อยู่ในกลุ่มของความปรุงแต่ง เรียกว่าสังขตธรรม กับธรรมะที่พ้นจากความปรุงแต่ง อสังขตธรรมคือพระนิพพาน นี่เป็นการพยายามแยกคำว่าธรรมะ ไม่อย่างนั้นเราก็งง ได้ยินคำว่าธรรมะแล้วไม่รู้คืออะไร

จะเรียนธรรมะทั้งหมด มันเหลือวิสัยที่จะเรียน ท่านก็สอนให้สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเราเป็นพวกกิเลสแรง กิเลสเยอะอะไรอย่างนี้เราก็ดูนิวรณ์ นิวรณ์มันเป็นกิเลสเบื้องลึกในใจเรา เป็นตัวขวางตัวกั้นความเจริญทางจิตใจ นิวรณ์มันซ่อนอยู่ คอยขวาง อย่างเช่นเวลาเราทำสมาธิ ก็ฟุ้งซ่าน ก็ขวางการทำสมาธิ เวลาเราจะเจริญเมตตา โทสะมันก็มาแทรก คิดไปในทางพยาบาทอะไรนี่ ความเมตตาที่เราพยายามเจริญก็ล่มจมลงไป ฉะนั้นนิวรณ์เป็นตัวขัดขวางคุณงามความดีทั้งหลาย ถ้าเราเจริญธัมมานุปัสสนา แล้วมาเรียนสุ่มตัวอย่าง มาเรียนที่พระพุทธเจ้าสอน มาดูนิวรณ์ ตัวไหนที่มันมาขัดขวางคุณงามความดีของเรา เรียนรู้มัน เรียนรู้ลงไปถึงเหตุถึงผลเลยว่าทำไมมันเกิด ทำไมมันไม่เกิด เรียนรู้อย่างนี้ เรียกว่าเจริญธัมมานุปัสสนา ยาก

หรือถ้าจิตเราเป็นกุศลเยอะ พระพุทธเจ้าท่านก็สุ่มตัวอย่างให้ ท่านก็สอนเรื่องโพชฌงค์ 7 โพชฌงค์เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นธรรมะฝ่ายกุศลชั้นเลิศ 7 ข้อ สุ่มตัวอย่างมาเรียน เรียนธรรมะฝ่ายกุศลอยู่ 7 ข้อนี้ ก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์เกิดได้อย่างไร อะไรทำให้มันไม่เกิด วิริยสัมโพชฌงค์เกิดได้อย่างไร อะไรทำให้มันไม่เกิด อันนี้ลึกๆ ลงไป ธัมมานุปัสสนาที่ละเอียดที่สุดก็คือการเรียนรู้อริยสัจ 4 หรือปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจ ก็คือเรื่องเหตุกับผลนั่นล่ะ เรื่องเหตุกับผล ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ทำเหตุอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ ผลอันนี้ก็ไม่มี

ถ้ามันยากไปเราก็เรียนธรรมะ เจริญสติ เจริญปัญญา อยู่กับธรรมะที่พอทำได้ อย่างกาย เวทนา จิต 3 อันนี้พอทำได้ จะดูกาย อันนี้มีเงื่อนไข ควรเข้าฌานก่อนจนจิตเป็นอุเบกขา ในพระไตรปิฎกจะพูดถึงเข้าฌานจนกระทั่งถึงฌานที่สี่ จิตเป็นอุเบกขา แล้วท่านก็ใช้คำว่าโน้มน้อมจิตดวงนั้นไปเพื่อให้เกิดญาณทัศนะ ตรงที่ฝึกจิตจนกระทั่งมันถึงอุเบกขาในฌาน เป็นการทำสมถะเต็มรูปแบบ แล้วก็ตอนออกมา จิตมันยังมีสมาธิ มีอุเบกขาทรงตัวอยู่ไม่เกิน 7 วัน แล้วก็เสื่อม บางทีกำลังเราอ่อน ก็อยู่ได้ 1 – 2 วัน

ตรงที่มันเป็นอุเบกขา เวลามันไปรู้สภาวะ เห็นรูปธรรม เห็นนามธรรมแสดงไตรลักษณ์อะไรอย่างนี้ มันจะรู้ซื่อๆ รู้แบบไม่เข้าไปแทรกแซง ถ้าสมาธิเราไม่ดี จิตเราไม่เป็นอุเบกขา มันจะคอยแทรกแซง เช่น เห็นอกุศลก็แทรกแซง ทำอย่างไรอกุศลจะดับ เห็นกุศลก็แทรกแซง ทำอย่างไรกุศลจะอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้ มันจะยินดีบ้างยินร้ายบ้าง เพราะไม่มีอุเบกขา ถ้าเข้าฌานถึงฌานที่สี่ อันนี้เหมาะที่สุดเลยกับการทำวิปัสสนากรรมฐาน เพราะจิตจะเป็นกลางจริงๆ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้ขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิเราก็ฝึกเอา สมาธิทีละขณะๆ นี่ล่ะ ฝึกบ่อยๆ จิตจะทรงตัวเป็นผู้รู้อยู่ตลอดเวลาเลย

 

ทำฌานไม่ได้ก็ฝึกขณิกสมาธิเอา

ก่อนที่หลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อทำสมาธิตามรูปแบบ จิตเป็นอุเบกขา โลกธาตุดับอะไรอย่างนี้ เหลือแต่จิตผู้รู้ดวงเดียว จิตถอนออกมา ขันธ์มันแยกตลอดเลย ไม่เจตนาแยก แยกเองเลย มันเห็นเลย กายส่วนกาย จิตส่วนจิต คนละอันกัน พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อมาดูจิตทำงานเป็นขณะๆ ไป จิตบางดวงก็สุข บางดวงก็ทุกข์ บางดวงเป็นกุศล บางดวงโลภ บางดวงโกรธ บางดวงหลง จิตบางดวงเป็นจิตไปดูรูป จิตบางดวงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ หรือไปเพ่งทางใจ เห็นจิตอันวิจิตรพิสดาร ทำงานมากมาย ฉะนั้นทุกครั้งที่เราเห็นจิตมันเป็นอย่างไร แล้วเรารู้ๆ ทุกครั้งที่รู้นั้น ขณิกสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นในขณะที่รู้นั้นเลย รวดเร็วมาก

ถ้าเรารู้ถี่ๆ ขณิกสมาธิทีละนิดๆ ทีละจุดๆ มันจะเหมือนต่อเนื่องเลย มันจะทรงตัวเหมือนต่อเนื่อง สภาวะไม่ได้ต่างกับจิตที่ถอยออกมาจากฌานด้วยความเป็นอุเบกขาเลย ดูทีละขณะๆๆ มันคล้ายๆ เรามีดินสอดำ แล้วเรามีกระดาษ เราก็ลากเส้นดินสอลงไปในกระดาษ เราเห็นว่าเส้นสีดำๆ นี้มันต่อเนื่องเป็นเส้นเดียว แต่เราเอาแว่นขยายไปส่อง ความขยายสูงๆ หน่อย เราจะเห็นเส้นไม่ได้ต่อกัน มันเป็นจุดดำๆ ไม่ปะติดปะต่อกัน เป็นจุดดำๆ มาเรียงๆๆ กัน มีช่องว่างที่ไม่ใช่สีดำคั่นเป็นระยะๆ ไป ขณิกะมันก็เหมือนจุดจุดเดียวของปลายดินสอ แต่ถ้ามันเกิดบ่อยเกิดถี่ มันเหมือนเราลากดินสอไปแล้ว ตัวผู้รู้เด่นดวงอยู่ได้ทั้งวัน

ตอนที่หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อไม่สนใจเรื่องการทำสมาธิในรูปแบบเลย อันนี้ผิด ไม่ควรเอาตัวอย่าง หลวงพ่อตอนนั้นเจริญปัญญาแล้ว มันวิจิตรพิสดาร จิตนี้อัศจรรย์อย่างโน้นอย่างนี้ เลยหมดความสนใจเรื่องการนั่งสมาธิเลย แต่จิตมันก็มีสมาธิ มันเป็นขณิกสมาธิ ไปเจอครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่สิม เป็นครูบาอาจารย์ที่ เจโตปริยญาณไวที่สุดที่หลวงพ่อเคยเห็น ไวมากเลย เราอยู่ที่ไหน เราคิดอะไรนี่ ท่านได้ยินหมด ท่านรู้หมดเลย หลวงปู่สิมท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ เพราะจิตหลวงพ่อเป็นผู้รู้ จิตมันทรงตัวรู้อยู่ ทรงอยู่ด้วยขณิกสมาธิที่สืบเนื่องไปเรื่อยๆ แต่มันทรงอยู่ได้ 2 ปีกว่าๆ กำลังของสมาธิที่ทำเต็มรูปแบบ มันเสื่อมลงไป มันหมดลงไป มันไม่พอ ก็ต้องกลับมาทำใหม่ นั่งสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเข้าสู่ความสงบประณีตลึกซึ้ง มีเรี่ยวมีแรง เราก็มาเจริญสติอยู่ในชีวิตธรรมดานี้ล่ะ ค่อยๆ ฝึกไป

อย่างเจโตปริยญาณอะไรพวกนี้ อยู่ในอุปจารสมาธิเวลาจะใช้งาน อยู่ในอัปปนาสมาธิไม่ใช้หรอก มันลงมาใช้อยู่ในอุปจารสมาธิ เรื่องระลึกชาติ เห็นผีสางนางไม้ เห็นเทวดา รู้อดีต รู้อนาคตอะไรอย่างนี้ ตอนอยู่ในอัปปนาสมาธิ จิตไม่เอาหรอก เรื่องพวกนี้ของเล่นไม่ใช่ของจริง บางคนภาวนาก็ทำไปเรื่อย หายใจไปอะไรไป พอใจเริ่มสงบๆ เข้าสู่ระดับอุปจารสมาธิ ยังไม่ถึงฌาน อย่างถ้าทำกรรมฐานชนิดซึ่งมันมีปฏิภาคนิมิต อย่างพวกกสิณทั้งหลายมีปฏิภาคนิมิต อานาปานสติก็มีปฏิภาคนิมิต คือกลายเป็นดวงสว่างขึ้นมา

อย่างเรานั่งหายใจ ทีแรกหายใจเข้าพุทออกโธ ต่อมาคำว่าพุทโธหายไป เหลือแต่หายใจเข้าหายใจออก พอจิตสงบละเอียดขึ้น ลมหายใจระงับ มาหยุดอยู่ปลายจมูก หายใจน้อยที่สุดเลย เหมือนไม่หายใจ แล้วมันจะกลายเป็นแสงสว่างขึ้นมาตรงนี้ แล้วแสงสว่างเรียกว่าอุคคหนิมิต ตัวลมหายใจเข้าหายใจออกอะไรนี่ เรียกว่าบริกรรมนิมิต เกิดสว่างขึ้นมาเป็นอุคคหนิมิต ถ้าเราชำนาญในสมาธิ เราอยู่กับอุคคหนิมิตจนชำนาญ เราสามารถกำหนดจิตให้แสงนี้สว่างกว้างขวางได้ ให้ย่อลงมาเล็กเท่าปลายเข็มก็ได้ เวลาแสงมันย่อลงมาเท่าปลายเข็ม แสงมันเข้มมากเลย เข้ม เข้มข้นมากเลย เวลาสว่างออกไป เราทำจิตเหมือนพระอาทิตย์เหมือนพระจันทร์ สว่าง นี้เป็นเรื่องของอุปจารสมาธิทั้งหมดเลย จิตที่ได้ปฏิภาคนิมิตเป็นจิตในอุปจารสมาธิ ถ้าจะเลยต่อไปก็ไม่สนใจนิมิต นิมิตมันเกิดตรงนี้ เพราะฉะนั้นไม่ควรสนใจ เป็นจุดที่หลอกให้นักทำสมาธิหลง หลอกให้หลง เราภาวนาให้ได้มรรคได้ผลก่อน ถ้าจริตนิสัยมันเคยสะสมอะไรมา คุณสมบัติพิเศษอะไรแล้วมันมาเอง ไม่ต้องฝึก มันจะเกิดขึ้นเอง

หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง แต่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อเก่งๆ เยอะเลย แต่ละองค์ลวดลายแพรวพราวไปหมดเลย อย่างหลวงปู่ดูลย์ทำอะไรได้แปลกๆ มากมาย รู้อนาคตตั้งยาว รู้อนาคตหลวงพ่อก็เคยเจอหลายองค์ ท่านรู้ยาวมากเลย อย่างหลวงปู่ดูลย์ เมื่อปี 2523 มีผู้หญิงคนหนึ่งไปลาท่าน เป็นคนสุรินทร์ บอกว่าจะมาแต่งงาน จะมาอยู่ชลบุรี หลวงปู่บอก “อ้อ เมืองน้ำเค็ม” เขาบอกใช่ อยู่ริมทะเล หลวงปู่ก็บอกว่า “ต่อไปลูกศิษย์เราจะเอาธรรมะของเราไปเผยแพร่ที่ชลบุรีนี้ล่ะ” นี่ท่านบอกไว้ ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่เจอท่านเลย ท่านรู้อย่างนั้น รู้อนาคต ที่รู้อนาคตที่น่าทึ่งอีกองค์คือหลวงปู่บุญจันทร์ รู้อะไรต่ออะไรได้แม่นเป๊ะๆๆ เลย อย่างหลวงปู่สิม เราคิดอะไรได้ยินหมด

มีให้เห็นแปลกๆ เยอะแยะเลยเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านไม่ได้เจตนาแสดงให้เราดูหรอก แต่ว่าท่านเห็นว่าเราภาวนาจริงๆ ก็ไม่ได้ปิดอะไร คล้ายๆ ใช้เครื่องมือพิเศษของท่านเพื่อประโยชน์ในการสั่งสอน ไม่ได้เพื่อหาลาภสักการะอะไร อย่างหลวงพ่อเคยพาเพื่อนขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม ขึ้นภูเขาไป เสร็จแล้วท่านก็ให้นั่งขัดสมาธิเพชร นั่งไขว้อย่างนี้ นั่งท่านี้ เจ็บ ก็ไปด้วยกันหลายคน ก็นั่งกัน ท่านเทศน์ๆ ไปนิดหนึ่ง พี่คนหนึ่งผู้หญิง แกก็นึก “โห หลวงปู่เทศน์ดีเหลือเกินวันนี้ เสียดายลูกสาวไปเรียนอยู่อเมริกา ไม่ได้มาฟังเทศน์หลวงปู่” หลวงปู่หยุดกึกเลย หันมาดุทันทีเลยว่าเหลวไหล ฟังเทศน์อยู่ถ้ำผาปล่องไปคิดถึงลูกที่อเมริกา แกเลยช็อกไปเลย ต้องปลอบกันอยู่พักหนึ่ง หายช็อก

สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องของอุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้นเวลาท่านเทศน์ ท่านทรงสมาธิๆ อยู่ระดับอุปจารสมาธิ ถ้าเวลาท่านจะพัก ท่านก็เข้าอัปปนาสมาธิไป ตอนที่มาอยู่อุปจารสมาธิน่ากลัวมากเลย ครูบาอาจารย์เวลาเทศน์ เราพลาดนิดเดียวท่านจวกเลย อะไรควรสอนท่านสอนทันทีเลย มีประโยชน์เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ธรรมะ อย่าเล่นกับมัน หายนะ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์จำนวนมากเลย ชอบไปดูจิตคนอื่น ยังไม่เข้าใจธรรมะเลย ดูจิตคนอื่นรู้หมดเลย ดูจิตตัวเองไม่ออก หลวงปู่ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ต่อมาพอหลวงปู่มรณภาพไป พวกนี้เล่นอิสระแล้ว ไม่มีใครว่าแล้ว สุดท้ายก็บ้า แยกแยะไม่ออกเลยว่าที่เห็นอยู่นี่คนหรือผีก็ไม่รู้ เห็นคนเป็นผี เห็นผีเป็นคนอะไรนี่ สุดท้ายก็บ้า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อย่ามัวแต่ไปเล่นกับมัน

ทำสมาธิ ถ้าจะทำความสงบก็ให้สงบจริงๆ อย่าไปสนใจนิมิต สนใจที่จิตใจของเราไป ค่อยๆ ภาวนาไป จิตมันก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งขึ้นมา มีอุเบกขาขึ้นมา ค่อยๆ ฝึกไป หรืออยู่ข้างนอกเจริญขณิกสมาธิ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป ตรงนี้ไม่มีนิมิตหรอก แต่ถ้าจะมุ่งไปทางฌาน มันจะไปผ่านนิมิต เพราะฉะนั้นเวลานั่งสมาธิ หลวงพ่อจะคอยโขกพวกเรา นั่งแล้วเคลิ้ม เดี๋ยวนิมิตมันจะมา เคลิ้มๆ ไม่ใช่อุปจารสมาธิหรอก คล้ายๆ เท่านั้นเอง อุปจารสมาธิที่ดีมีสติ อย่างครูบาอาจารย์ท่านใช้อุปจารสมาธิในการสั่งสอนเรา อุบายการสอนของท่านนี่แพรวพราวไปหมดเลย ทั้งรู้ทั้งเห็นอะไรสารพัด ไส้เรามีกี่ขด ท่านรู้หมด รู้ดีกว่าเราอีก แต่ว่าถ้าเรายังไม่ได้ธรรมะ อย่าสนใจ

 

 

เอาสติไว้เป็นหลัก มีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป
ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่เพลิน ฝึกมากๆ เราก็จะเจริญวิปัสสนาได้

 

อุปจารสมาธิเป็นตัวหลอกให้หลง หลอกให้หลงด้วยนิมิตนานาชนิด นิมิตเป็นรูปก็มี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัสก็มี นิมิตเป็นสัมผัสนี่อัศจรรย์ หลวงพ่อเคยเจอ เรานั่งสมาธิจนปวดขา ตอนนั้นไปบวชอยู่วัดชลประทานฯ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ เรียนปริญญาโทแล้วกระมัง เรียนยังไม่จบ เมื่อยเต็มที ก็เห็นคนเดินเข้ามานวดให้ เราก็ลืมตาขึ้นมาดู เราเห็นขาเราเนื้อมันบุ๋มลงไปเป็นรอยนิ้วเลย เนื้อบุ๋มลงไปอย่างนี้ บุ๋มลงไป เออ นวดเก่ง นี่นิมิตที่เป็นโผฏฐัพพะ นิมิตมีทั้งนิมิตภายใน นิมิตภายนอก นิมิตภายนอกคือสิ่งข้างนอกแทรกเข้ามา นิมิตภายในคือสิ่งที่จิตสร้างขึ้นมา ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้อย่ามัวไปเล่น เดี๋ยวไม่ได้ของจริง

เอาสติไว้เป็นหลัก มีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไป ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่เพลิน ฝึกมากๆ เราก็จะเจริญวิปัสสนาได้ อย่างทีแรกเรารู้กาย สมมติเราถนัดกาย เราเห็นร่างกายเดินจงกรม ถ้าภาวนาไม่เป็น มันก็ไปเห็นแต่ร่างกายเดิน ร่างกายเดินแล้วเพ่งอยู่ที่ร่างกาย เห็นท้องพองยุบ เพ่งอยู่ที่ท้อง เห็นขยับมือ เพ่งอยู่ที่มือ อันนี้เป็นสมถกรรมฐาน เพราะไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์ มันจะมีสัญญาที่ถูกเข้าไปหมายรู้รูปที่เดินอยู่ มีสัญญาไปหมายรู้ถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้เรียกว่ามีสัญญาที่ถูก ฉะนั้นเวลาเราเจริญสติ มีสมาธิอยู่อะไรนี่ มีสัญญา มีการหมายรู้ถูก ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกขึ้นมา

ฉะนั้นอย่าไปเกลียดสัญญา บางคนเกลียดสัญญา คิดว่าสัญญาเป็นสิ่งหลอกลวงให้หลง สัญญามี 2 กลุ่ม สัญญาวิปลาส ทำให้หลงผิด อย่างหลงของที่ไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม ของไม่เที่ยงหลงว่าเที่ยง อย่างเรา ชีวิตเราไม่เที่ยง แต่เราไม่คิดหรอกว่าวันนี้จะตาย เรารู้สึกยังเที่ยงอยู่ อย่างนี้สัญญาวิปลาส ของเป็นทุกข์เห็นว่ามันเป็นสุข ของไม่ใช่ตัวเราเห็นว่าเป็นตัวเรา แต่ถ้าเจริญปัญญา ก็ต้องมีสัญญาที่ถูก คือหมายรู้ของไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง หมายรู้ของเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ หมายรู้ของที่ไม่ใช่ตัวเราว่าไม่ใช่ตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าหมายรู้ถูก

หมายรู้ถูกมีจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ สติระลึกรู้ลงในรูปธรรมหรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมต้องกำลังปรากฏ เพราะสติไม่สามารถระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมในอดีตได้ มันไม่มีให้รู้ รูปธรรมนามธรรมมันมีอยู่ในปัจจุบัน ในอดีตมันหมดไปแล้ว ในอนาคตมันยังไม่เกิด ฉะนั้นสติอยู่กับปัจจุบันนี้ถึงจะเห็นรูปเห็นนามของจริงได้ มิฉะนั้นถ้าหลงไปในอดีต ก็ไปคิดถึงรูปนามในอดีตซึ่งหมดไปแล้ว หรือคิดถึงรูปนามในอนาคตซึ่งยังไม่มีอะไรอย่างนี้ เพ้อๆ ไป ฉะนั้นสติเรารู้รูปรู้นามที่กำลังปรากฏในปัจจุบัน จิตมีสมาธิ มีความตั้งมั่น ไม่ถลำลงไปรู้ แล้วก็มีสัญญาหมายรู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์

สัญญาหมายรู้ มันต่างกับการคิดๆ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ยังอยู่ในการคิดอยู่ ยังเป็นการตรึก เป็นการวิตกอยู่ ไม่ใช่ตัวสัญญา ตัวนั้นเป็นตัวสังขารถ้าคิดเอา สัญญามันเป็นมุมมองที่จิตมอง เราต้องฝึกไปเรื่อยๆ ทีแรกเราก็ฝึก เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะคิดนำนิดหน่อย จนกระทั่งจิตมันมองเป็น มันมองเอง มันหมายรู้เอง ตรงที่มันหมายรู้เองโดยไม่ได้คิด ตรงนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนาได้จริง

 

 

ธรรมะสนุกๆ เรียนอะไร ค่อยๆ เรียนไป ในที่สุดเราก็เห็นความจริงของรูป นาม กาย ใจ พอเห็นความเป็นจริงแล้วว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเกิดอะไรขึ้น จิตมันจะเบื่อหน่าย เอือมระอา กายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ไม่ใช่ของน่ารัก น่าหวงแหน จิตนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ไม่ใช่ของน่ารัก น่าหวงแหน จิตก็หมดความยึดถือในกายในใจนี้ จิตก็เข้าสู่โลกุตตระ เพราะมันพ้นกายพ้นใจ พ้นรูปพ้นนามแล้ว ก็บอกแต่แรกแล้วว่ารูปนามนั่นล่ะคือโลก จิตมันพ้นจากรูปนามแล้วก็คือพ้นโลก ก็คือโลกุตตระ พ้นจากโลกได้

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไป ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมอยู่กับโลก อย่าทิ้งธรรมะทางโลก คือโลกิยธรรม ต้องศึกษา ต้องเรียน ต้องลงมือปฏิบัติ ในฝ่ายของโลกุตตรธรรม ศีล สมาธิ ปัญญาอะไรก็ต้องฝึก ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ตามลำดับๆ ที่หลวงพ่อเทศน์วันนี้ ฟังรอบเดียวอาจจะฟังได้ไม่หมดหรอก ไปฟังซ้ำๆ รีรันหลายๆ รอบ เดี๋ยวมันก็ค่อยเข้าใจขึ้นมา ไปดูซ้ำแล้วจะเข้าใจที่หลวงพ่อพูด มันจะคลุมการปฏิบัติไว้เยอะแยะเลย ทั้งโลกิยธรรมจนถึงโลกุตตรธรรม.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 สิงหาคม 2564