กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเอง

ภาวนาใจต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเป็นผู้หลง เป็นผู้หลับ เป็นผู้เคร่งเครียด เซื่องซึมอะไรอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เรื่องสมาธิเป็นเรื่องใหญ่เรื่องการภาวนา บางทีบางคนคิดแต่จะเจริญปัญญา ไม่ได้ฝึกจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาก่อน คือไม่ผ่าน จิตตสิกขา จะกระโดดขึ้นปัญญาสิกขาเลยไปไม่รอด สมาธิที่จะใช้เจริญปัญญามันก็ประกอบด้วยสติ แล้วก็จิตตั้งมั่น สมาธิไม่ใช่แปลว่าสงบ ฉะนั้นเวลาภาวนาจะทำสมาธิ อย่าไปทำใจให้เคลิ้มๆ ใจโดยตัวมันเองมันสว่างไสว ผ่องใสโดยตัวของมันเอง เรียกมันประภัสสร มันเศร้าหมองมืดมัวไป เพราะกิเลสที่ผ่านเข้ามาเป็นคราวๆ กิเลสไม่ใช่จิตไม่ใช่ใจ เป็นของแปลกปลอมเข้ามา เราฝึกให้ใจเราเป็นธรรมชาติรู้ เป็นตัวรู้ที่ซื่อตรง พอใจมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ค่อยเจริญปัญญา

สมาธิมีหลายระดับ ถ้าทำเต็มภูมิเลยก็เข้าอัปปนาสมาธิไป อัปปนาสมาธิก็ยังมีหลายระดับ ระดับต้นๆ ยังมีปีติมีความสุขอยู่ ถ้าสมาธิขั้นอัปปนามันแก่กล้าขึ้นมันจะเป็นอุเบกขา ถ้าเป็นอุเบกขาแล้วบางทีก็เดินปัญญาอยู่ข้างในนั้นเลย จิตเป็นแค่คนดู เห็นสภาวะองค์ธรรมของสมาธิเกิดดับไปอย่างนั้นก็ได้ แต่ไม่ค่อยมีคนทำได้ น้อย คนเจริญปัญญาในฌานต้องชำนาญในฌานด้วย ชำนาญในการดูจิตด้วยถึงจะไปทำได้ ถ้าชำนาญในฌานอย่างเดียวก็พอจิตมันถอนออกจากสมาธิ มันเป็นอุเบกขา มันจะซื่อตรงในการรู้อารมณ์ รู้ซื่อๆ มันจะเห็นดูร่างกายไป ดูเวทนาไป อย่าเพิ่งไปดูจิต ถ้าออกจากฌานมาแล้วอย่าเพิ่งไปดูจิต ดูไม่รู้เรื่อง มันจะนิ่งไปหมดเลย

ก็มาดูกาย บางทีมาดูกายแล้วจิตมันก็ไม่เดินปัญญาจริง มันไปดู เพ่งอยู่ที่กายเฉยๆ อันนั้นก็ต้องช่วยกระตุ้นให้มันหัดเดินปัญญา ด้วยการคิดพิจารณาลงไป ร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราอะไรอย่างนี้ พิจารณา พอจิตมันเริ่มเดินปัญญาได้ ไม่ต้องพิจารณา จิตมันพิจารณากายเอง มันจะเห็นร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเห็นร่างกายทีละส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แต่ละส่วนๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้จิตมันเดินเองมันเห็นเอง ไม่ได้คิดแล้ว ถ้าคิดอยู่ยังไม่เป็นวิปัสสนาจริง

แต่เบื้องต้นถ้าเข้าฌานมา ออกมาบางทีจิตไม่ยอมคิด จิตติดในความสงบเฉยอยู่อย่างนั้น อันนั้นต้องคิดพิจารณา พิจารณาอะไรดี พิจารณากายไป พิจารณาจิตไม่ได้จิตมันว่างๆ นิ่งๆ ไม่มีอะไรให้ดู สมาธิที่ใช้ในการเจริญปัญญาอีกตัวหนึ่งที่ดีมากๆ คือขณิกสมาธิ เราทำความสงบในเบื้องต้นนิดๆ หน่อยๆ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วเราก็สังเกตสภาวะไป ฉะนั้นจิตไหลไปคิดเรารู้ จิตไหลไปคิดเรารู้ รู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ทุกครั้งที่รู้จิตจะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะเป็นขณิกสมาธิ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้มีอย่างเดียว ที่ว่าต้องทำสมาธิแล้วมาดูกาย มาดูเวทนาอะไรอย่างนี้ ท่านสอนกรรมฐานไว้ตั้งหลากหลาย ถูกทั้งสิ้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

 

ถ้าเราเข้าฌานไม่ได้เราจะไปดูกาย จะดูไม่ค่อยได้หรอก ดูไม่ได้จริง ถ้าดูกายมันจะกลายเป็นสมาธิเฉยๆ เป็นสมถะ ดูกายไม่ใช่ว่าดูแล้วเกิดปัญญาเสมอไป ส่วนใหญ่ที่ดูกายกลายเป็นสมาธิหมด เป็นสมถะหมด ดูกายแล้วที่ได้สมาธิระดับอัปปนาสมาธิมีอยู่ 2 อัน มีสติระลึกรู้การหายใจเรียกอานาปานสติตัวหนึ่ง มีสติระลึกรู้ร่างกายเป็นส่วนๆ ไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรอย่างนี้ทีละส่วนๆ เรียก กายคตาสติ ก็ทำให้ได้อัปปนาสมาธิ อนุสติมี 2 ตัวนี้ ที่จะทำให้ได้ถึงอัปปนาสมาธิจริงๆ เข้าฌานได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าฌานแล้วออกมาดูกายจะเดินปัญญา ถ้ายังไม่ได้เข้าฌาน ไปดูกายมันจะได้สมาธิก็จะเป็นกายคตาสติ

ฉะนั้นพวกเราหลายคนไม่มีกระทั่งขณิกสมาธิ ขณะเดียวก็ไม่มี หลงๆๆ ไปเรื่อย จะเข้าสมาธิจริงๆ เต็มรูปแบบก็ทำไม่เป็นอีก หลวงพ่อบอกให้รู้สึกร่างกายไว้ หลายคนก็งง หลวงพ่อบอกว่าต้องเข้าฌานแล้วมาดูกาย เข้าฌานแล้วมาดูกายหมายถึงมาเจริญปัญญา ด้วยการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ถ้าเรามาเจริญกายคตาสติ ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาไปเรื่อยๆ จิตรวมได้สมาธิ ฉะนั้นการดูกายส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำสมาธิ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ไม่เหมือนกัน ดูกายทีละส่วนๆ ไป หรือเห็นกายหายใจออก หายใจเข้าเรื่อยๆ มีสติขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา จิตใจตั้งมั่นมีเรี่ยวมีแรง แล้วก็ไปเจริญปัญญาต่อ จะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย หรือเวทนา หรือดูจิต หรือเจริญธัมมานุปัสสนาก็ได้ ขอให้มีสมาธิเท่านั้น บางท่านทำสมาธิจิตเข้าอัปปนาสมาธิแล้วออกมาดูกาย พิจารณาลงไป ถ้าดูกายเฉยๆ ก็เป็นสมถะ ถ้ากระตุ้นมันให้เดินปัญญาก็ทำวิปัสสนาได้ด้วยการดูกาย เจริญปัญญาได้

ฉะนั้นดูกายมีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนา ดูจิตก็เหมือนกัน ดูจิตให้เป็นสมถะก็ได้ ดูจิตให้เป็นวิปัสสนาก็ได้ คนดูจิตส่วนมากดูๆ ไปสักพักจิตมันจะว่างๆ แล้วไปดูว่างๆ อยู่อย่างนั้น อันนั้นเป็นสมถะ ดูจิตแล้วกลายเป็นสมถะ จำนวนมากของนักดูจิตไปทำสมถะแล้วคิดว่าทำวิปัสสนา เช่นเดียวกับจำนวนมากของคนที่ดูกาย ทำสมถะอยู่แล้วก็คิดว่าทำวิปัสสนาอยู่ มันก็ผิดด้วยกัน ผิดด้วยเหตุผลอันเดียวกัน ถ้าถูกก็ถูกด้วยกัน ด้วยเหตุผลอันเดียวกัน อย่างเราดูจิตมันเป็นสมถะก็ได้ อย่างเราเห็นทีแรกเราเห็น เราจะเห็นกิเลสผุดขึ้นมาจากกลางอก สมมติโทสะผุดขึ้นมาเราเห็น พอเราเห็นแล้วมันเคลื่อนๆ แล้วจิตนี้มันเคลื่อนตามกิเลสออกไป พอกิเลสดับจิตก็ว่างเลย จิตไปติดในความว่างอยู่ข้างนอก แล้วก็คิดว่าเดินปัญญาอยู่ ไม่เดินแล้ว ดูจิตไม่ถึงจิตแล้ว จะไปดูช่องว่างไปดูความว่าง

ตรงนี้หลวงพ่อก็เคยผิดไปติดอยู่ตรงนี้ตั้งนานเป็นปีเลย ดูจิตแล้วก็ว่างสว่างมีแต่ความสุข จนเฉลียวใจ พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยงคงที่มีแต่ความสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราเป็นสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตบังคับไม่ได้ ทำไมจิตเราบังคับได้ เฉลียวใจมีโยนิโสมนสิการ เฉลียวใจมันต้องมีอะไรผิด พยายามดูมันยังดูไม่ออก ไม่รู้ว่าผิดตรงไหน พอดีเจอหลวงตามหาบัวท่านบอกให้ว่า “ดูไม่ถึงจิตแล้ว” ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ให้บริกรรม ให้ทำสมาธิขึ้นมานั่นล่ะ ทำสมาธิจิตเข้าฐานแล้วเราก็เดินปัญญาต่อได้ ฉะนั้นถ้าจิตหลงไปอยู่ในความว่างก็อยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้าตายไปตอนนั้นก็ไปเป็นพระพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีร่างกาย อยู่ตรงนั้นนานมาก พระเมตไตรยตรัสรู้จนนิพพานไปแล้ว พระพุทธเจ้าอื่นมาอีกตั้ง 10 พระองค์แล้วยังไม่ออกมาเลย เสียเวลา

 

ดูกายมีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนา
ดูจิตก็เหมือนกัน ดูจิตให้เป็นสมถะก็ได้ ดูจิตให้เป็นวิปัสสนาก็ได้

 

ฉะนั้นที่ว่าดูจิตๆ ต้องระวัง ดูให้มันถึงจิตถึงใจจริงๆ ไม่ใช่ไปหลงในความว่าง หรือไปหลงเพ่งจิต ดูจิตที่ผิดอันแรกเลยหลงไปในความว่าง ดูจิตที่ผิดอีกอันหนึ่งคือมาหลงเพ่งตัวจิต เอาผู้รู้ไปดูผู้รู้ ผู้รู้ตัวเก่ามันก็ดับเกิดผู้รู้ตัวใหม่ซ้อนๆ ไปเรื่อย ก็เป็นสมาธิเป็นสมถะชื่อ วิญญาณัญจายตนะ ฉะนั้นดูจิตๆ ระวังอย่าไปติดอรูป ต้องระวัง ดูกายก็ระวังไปติดรูป ฉะนั้นต้องมีสติ มีปัญญา มีสมาธิที่ถูกต้องจริงๆ ถึงจะเอาตัวรอดได้ บางทีดูจิตไป ก็รู้แล้วว่านี่จิตเคลื่อนไปหาความว่าง ไม่เอา จิตเคลื่อนเข้าหาตัวจิตผู้รู้ก็ไม่เอา เพราะว่าถ้าจ้องอยู่ที่ตัวผู้รู้ก็จะเป็นอรูปฌานที่สอง ถ้าเพ่งอยู่ที่ความว่างก็เป็นอรูปฌานที่หนึ่ง พอไม่เพ่งทั้ง 2 อัน อยู่กับความไม่มีอะไรเป็นอรูปฌานที่สาม รู้สึกโน่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่เอา ไม่ยึดอะไร ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดทั้งจิตอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นดูจิตอย่างนั้นไม่ได้เรื่องหรอก จะไปเป็นพระพรหม เป็นพรหมที่ไม่มีร่างกาย มาฟังเทศน์ก็ไม่ได้ ถ้าเป็นพรหมก็พยายามไปเป็นพรหมที่มีร่างกายไว้ ยังฟังเทศน์ได้ เพราะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ถ้าเป็นพรหมอย่างนั้นไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอรูปมีแต่ใจอันเดียว

ฉะนั้นดูจิตๆ ระวังพลาดไปเป็นอรูปพรหม ทำอย่างไรจะไม่พลาด จิตต้องตั้งมั่นจริงๆ ตั้งมั่นแล้วเป็นคนดู เห็น รู้ทัน จิตมันเคลื่อนไปหาความว่างรู้ทัน จิตมันเคลื่อนเข้ามาจ้องเพ่งที่จิตผู้รู้ รู้ทัน จิตมันจะไม่เอาอะไรเลย รู้ทัน จิตมันเคลิ้มๆ ลงไปก็รู้ทัน ไม่เคลิ้มขาดสติลืมเนื้อลืมตัวไป คอยรู้ทันไว้จริงๆ ก็จะรอด ฉะนั้นที่ดูจิตๆ บางทีจำนวนมากทำสมถะ ดูจิตอย่างไรให้เป็นวิปัสสนา พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว เราจะเห็นสภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สิ่งที่จิตไปรู้ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความสุขแต่เดิมเรารู้สึกจิตสุข พอจิตเราตั้งมั่นเราจะเห็นว่าความสุขกับจิต มันเป็นคนละอันกัน ความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู

 

 

ความทุกข์แต่เดิมเราก็เห็นว่าจิตมันทุกข์หรือเราทุกข์ พอเจริญปัญญาเป็นมันก็จะเห็นว่าความทุกข์ก็เป็นอันหนึ่ง จิตก็เป็นอันหนึ่ง ความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ อย่างนี้เรียกเจริญปัญญา ดูกุศล อกุศล อย่างจิตโกรธขึ้นมา จิตหงุดหงิดขึ้นมา ภาวนาไม่เป็นมันก็เป็นเราหงุดหงิด ภาวนาเก่งขึ้นหน่อยก็เป็นว่าจิตหงุดหงิด ภาวนาถูกจริงๆ จะเห็นว่าความหงุดหงิดเป็นสิ่งหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ความหงุดหงิดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง คนละอันกัน จิตไม่เคยหงุดหงิด จิตเป็นแค่คนรู้ ฉะนั้นความหงุดหงิดเป็นของถูกรู้ถูกดู เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้ตลอดหรอก ความหงุดหงิดก็ทนอยู่ไม่ได้ตลอด แล้วความหงุดหงิดจะเกิด หรือความหงุดหงิดจะตั้งอยู่ หรือความหงุดหงิดจะดับไป สั่งไม่ได้ มันคืออนัตตา นี่คือการเจริญปัญญา ด้วยการดูจิตดูใจ ไม่ใช่ดูจิตว่างๆ นั่นสมถะ

หรือความโลภเกิดขึ้น คนที่ไม่ได้ภาวนามันก็โลภไปเฉยๆ เลย ภาวนานิดหน่อยมันก็จะเห็นว่าเราโลภ ภาวนาได้มากขึ้นก็เห็นจิตมันโลภ ภาวนาต่อไปก็เห็นว่าความโลภก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง คนละอันกัน จิตเป็นแค่คนรู้ ความโลภเป็นของถูกรู้ถูกดู ความโลภเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตก็ตั้งมั่นเป็นแค่คนดู ก็จะเห็นเลยความโลภเกิดแล้วก็ดับไป จิตที่โลภเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตที่ไม่โลภขึ้นแทน นี่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานที่จะทำให้เกิดปัญญา จิตหลง เช่นนั่งๆ อยู่จิตมันหลงไปคิด เรามีสติรู้ทัน ถ้าคนทั่วไปเขาบอกแหมเผลอใจลอย มาภาวนาเราจะเห็นเลย ความฟุ้งซ่านของจิตที่ไหลออกไป ความฟุ้งซ่านนั้นอันหนึ่ง จิตเป็นอีกอันหนึ่ง เป็นคนรู้คนดูความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป นี่เราเดินปัญญา ดูจิตแล้วเกิดปัญญา

ถ้าดูจิตแล้วว่าง ดูจิตแล้วไปเพ่งจิต ดูจิตแล้วไม่เอา ไม่เพ่งอะไรเลย ไม่ยึดอะไรเลย ดูจิตแล้วก็เคลิบเคลิ้มอันนั้นเป็นสมถะ ฉะนั้นต้องระวังดูจิตไม่ใช่เป็นวิปัสสนาหมด บางคนก็ไม่ชำนาญในการดูจิต ก็คิดว่าการดูจิตเป็นสมถะ ที่จริงการดูจิตเป็นทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาอยู่ที่ว่าดูอย่างไร การดูกายก็เหมือนกันเป็นได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ถ้าเราเพ่งลงในการกายก็ได้สมาธิ เราคิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังทีละส่วนๆ เป็นสมถะ พอจิตมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา มันเห็นร่างกายแต่ละส่วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเห็นไม่ใช่มันคิด ตรงที่มันเห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเป็นวิปัสสนา ตรงที่มันคิดว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสมถะ ระหว่างเห็นกับคิดไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นในสติปัฏฐานท่านจะสอนให้รู้กาย ให้รู้เวทนา ให้รู้จิต ให้เห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ให้เห็นเอา มันจะขึ้นวิปัสสนา ฉะนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะสายกายหรือสายจิต ถ้าทำถูกก็เป็นวิปัสสนาได้หมด ทำผิดมันก็กลายเป็นสมาธิไปหมด จะดูกายก็เป็นสมาธิ ดูจิตก็เป็นสมาธิ ดูกายไปเรื่อยๆ บางทีระเบิดเลย ระเบิดสลายไปเป็นผลของสมาธิทั้งหมดเลย ฉะนั้นการภาวนาถนัดทางไหนก็เอา แล้วเวลาปฏิบัติสังเกตไป ตอนนี้ควรทำความสงบก็ทำความสงบ ตอนนี้ควรเจริญปัญญาก็ควรเจริญปัญญา ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำแต่ความสงบ ไม่ได้เรื่อง ก็ได้สงบนั่นล่ะ

ถ้าเพ่งร่างกายแล้วสงบก็ไปเป็นรูปพรหม ถ้าเพ่งจิตแล้วสงบก็เป็นอรูปพรหม ก็ไปอยู่พรหมโลกเหมือนกัน ถ้าเจริญปัญญาดูกายไป เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นว่าจิตที่รู้กายไม่ใช่เรา ก็ได้มรรคได้ผล ดูจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่เป็นเราแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเราแล้ว ก็ได้มรรคได้ผลเหมือนกัน ฉะนั้นค่อยๆ สังเกตสิ่งที่ทำอยู่ช่วงไหนเป็นสมถะช่วงไหนเป็นวิปัสสนา รู้ให้ทัน แต่บางทีครูบาอาจารย์ท่านก็สอนบอกว่า ไม่ต้องสนใจหรอกเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ทำไปเถอะ ทำไปเถอะก็ได้แต่นานหน่อย เพราะถ้าเราภาวนาประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยสติ ประกอบด้วยปัญญามันไปได้เร็ว ถ้าภาวนาแล้วเอาศรัทธานำไป ทำๆ ไปเถอะเดี๋ยวก็รู้เอง ไปได้ไหม ไปได้แต่นานหน่อยมันเดินด้วยศรัทธา ถ้าเดินด้วยปัญญาก็เร็วหน่อย

 

 

เดินด้วยปัญญาไม่ใช่คิด แต่รู้จักพิจารณา รู้จักแยกแยะ ตอนไหนควรจะทำอะไร กรรมฐานอันไหนควรกับเรา อันไหนไม่เหมาะกับเราต้องรู้ด้วยตัวเอง อย่างบางคนเริ่มด้วยการดูจิตไม่ได้ต้องไปดูกายก่อน การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ผิดสำหรับคนๆ นี้ บางคนดูกายจิตไม่เอาจิตรู้สึกจืดชืด ก็เริ่มด้วยการดูจิตก่อนอะไรอย่างนี้ ถ้าตะบี้ตะบันจะไปดูกายตามคนอื่นเขา ก็ไม่ถูก ไปไม่รอด ฉะนั้นเราก็สังเกตตัวเองกรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา แล้วขณะนี้ในภาพรวมอะไรเหมาะกับเรา ขณะนี้อะไรเหมาะกับเรา อย่างสมมติภาพรวมเรา เราต้องดูจิต แต่ขณะนี้การดูจิตควรจะทำเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา รู้ละเอียดลงไป ฉะนั้นเป็นปัญญา ปัญญาที่รู้จักแยกแยะว่าอะไรสมควรแก่เรา อะไรมีประโยชน์ อะไรสมควรแก่เรา อย่างเรารู้สึกการดูจิตสมควรแก่เรา หรือดูกายสมควรแก่เรา แล้วขณะที่ดูจิต ขณะที่ดูกาย อันไหนเหมาะกับเราที่จะทำ ควรจะทำสมถะหรือควรจะทำวิปัสสนา

ดูกายก็ต้องมีสมถะมีวิปัสสนา ดูจิตก็ต้องมีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ก็ต้องรู้ว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะหรือจะทำวิปัสสนา อย่างเราว่าชอบดูจิตๆ กัน ดูจิตไม่ใช่ดูไปเรื่อยๆ ดูจิตแล้วต้องสังเกต ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง จิตมันฟุ้งซ่านแล้ว กลับมาทำความสงบเลย จะทำความสงบด้วยกรรมฐานอะไรก็ได้ เช่น พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ บอกหายใจเป็นกาย ทำไมดูจิตอยู่แล้วกลับมาให้ดูกาย ดูกายนี้ทำเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อให้เกิดสมถะ ไม่ใช่ดูกายให้เกิดปัญญา ค่อยๆ รู้จักแยกแยะ ฟังแล้วงงไหม ฉะนั้นทีแรกเราต้องรู้ว่าเราควรจะทำกรรมฐานอะไรเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น บางคนเริ่มจากดูกาย บางคนเริ่มจากดูจิต ระหว่างที่ดูกาย ระหว่างที่ดูจิตก็ต้องฉลาด ตอนนี้ควรจะทำสมถะหรือตอนนี้ควรจะทำวิปัสสนา แล้วต้องรู้อีกจะทำสมถะจะใช้อะไรเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องมือ จะทำวิปัสสนาจะใช้อะไรเป็นวิหารธรรม ต้องรู้จัก

อย่างเราดูจิตๆ แล้วจิตเราฟุ้งซ่านดูไม่รู้เรื่องแล้ว ต้องทำสมถะ บางคนสมถะที่ถนัดคือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ต้องไปคิดหรอกว่า นี่มันกาย เราไม่เอากาย อันนั้นไม่ถูกหรอก ถนัดอันไหนเอาอันนั้น หลวงพ่อทำอานาปานสติ แต่ตอนเจริญปัญญานั้นดูจิตเอา แต่ตอนทำสมถะทำอานาปานสติก็อยู่ในอนุสติ 10 ข้อ ทำไปแล้วก็จะได้สมาธิขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องค่อยๆ สังเกต อันแรกเลยเราควรจะใช้กรรมฐานอะไรในการทำวิปัสสนา แล้วตอนระหว่างทำวิปัสสนา ช่วงไหนควรทำสมถะก็ทำสมถะ ช่วงไหนควรทำวิปัสสนาก็ทำวิปัสสนา อย่างวิปัสสนาเรารู้แล้วเราจะดูอะไรตั้งแต่แรก รู้ว่าอันนี้เหมาะกับเรา แต่ตอนทำสมถะเราก็ต้องรู้อีกอะไรเหมาะกับเรา จะดูจิตให้ว่างไปเลย ใช้จิตทำสมถะก็ได้

หลวงพ่อตอนเด็กๆ ท่านพ่อลีท่านสอนอานาปานสติไว้ หลวงพ่อก็ยังถนัดอานาปานสติ ฉะนั้นเราดูจิตก็จริง แต่ตอนทำอานาปานสตินั่นมันดูกายแล้ว เป็นส่วนของกาย หลวงพ่อก็ทำไม่ได้รังเกียจว่า แหม เราต้องเอาจิตล้วนๆ อะไรอย่างนี้ไม่จำเป็นหรอก อันไหนมีประโยชน์ อันไหนเหมาะกับเรา อันไหนเราทำได้เอาอันนั้นล่ะ ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ แยกแยะไป พอเรารู้แล้วว่าตอนนี้ควรทำสมถะ สมถะที่ควรทำคืออันนี้ เราก็ลงมือทำ ถ้าจิตมีเรี่ยวมีแรงตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้แล้ว มันจะเด่นดวงขึ้นมา ไม่ได้เจตนาประคองบังคับเลย จิตมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันมีกำลัง ตรงนั้นเป็นเวลาของการเดินวิปัสสนาแล้ว จะดูจิตก็ได้ ดูกายก็ได้

ดูจิตก็อาจจะเห็นเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วเห็นจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ทั้งจิตทั้งเจตสิกล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือบางทีเราดูจิตไม่สนใจเจตสิกก็ได้ เราเห็นจิตทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อาศัยอายตนะ เราจะเห็นจิตที่เกิดที่ตาเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดที่หูเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายเกิดแล้วก็ดับ จิตที่เกิดทางใจ เช่นจิตไปหลงคิดเกิดที่ใจเกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้เราทำวิปัสสนาอยู่ อย่างจิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ อันแรกได้ทั้งสมาธิ อันที่สองได้ปัญญาด้วย สามารถได้ปัญญาได้ด้วย จิตมันคิดได้เอง จิตไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อันนี้ถ้าจิตไหลไปคิดแล้วรู้ จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาก็ได้สมาธิ แล้วก็ดูซ้ำๆ เดี๋ยวก็เคลื่อนแล้วรู้ๆ สุดท้ายก็ได้ปัญญาขึ้นมา ฉะนั้นการภาวนา กรรมฐานพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หลากหลาย เพราะจริตนิสัยของคนมันมากมาย แต่ละคนสร้างมาไม่เหมือนกัน ทางใครทางมัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอย่างนี้ ส่วนใหญ่เคยทำอย่างไรทางนี้ดีที่สุด

 

กรรมฐานที่เหมาะกับจริต

เรานึกว่าหลวงปู่ดูลย์สอนแต่ดูจิต ไม่ใช่ ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ดูจิตมีไม่มากหรอก ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ที่ไปดูกาย เริ่มมาจากกายเยอะเลย ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเก่งจริงๆ ท่านไม่มาติดยึดหรอกว่าต้องทางนี้เท่านั้นถึงจะใช่ นี้ท่านรอบรู้ท่านกว้างขวาง ท่านก็แจกธรรมะให้เหมาะสมกับลูกศิษย์แต่ละคน การแจกแจงธรรมะให้เหมาะสมกับแต่ละคน คนที่ทำได้ดีที่สุดคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถึงมีชื่อๆ หนึ่งว่า ภควโต แปลว่าผู้จำแนกแจกธรรม ไม่ใช่ซี้ซั้วแจก อยากแจกก็แจกๆ เหมือนกันหมดทุกคน ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าสอนคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะท่านสามารถจำแนกแจกธรรมได้ คนนี้ควรจะทำกรรมฐานอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ธรรมะขั้นนี้ๆ อะไรนี่ท่านรู้หมด ครูบาอาจารย์ที่จำแนกแจกธรรมได้ในรุ่นหลังๆ หลวงพ่อเห็นแต่หลวงปู่ดูลย์ องค์อื่นส่วนมากท่านไม่ได้จำแนกแจกธรรม ท่านทำอย่างไรท่านก็สอนอย่างนั้นส่วนใหญ่ ยิ่งรุ่นหลังๆ มายิ่งความแตกฉานไม่เท่าครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ เสียอีก อย่างหลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆ ท่านไม่มาสอนหลวงพ่อดูกายเลยไม่ว่าองค์ไหน ท่านก็สอนเข้ามาที่จิตเลย คือท่านเห็นว่าเราเดินทางนี้มันมาได้ ท่านก็สอนแต่พอสอนทั่วๆ ไปท่านก็สอนให้ไปดูกายอะไรอย่างนี้

ฉะนั้นเราก็สังเกตตัวเองเอา กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับเรา ควรจะดูกายหรือดูจิตเป็นหลักไว้ ถ้าเราเป็นพวกตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงามอะไรอย่างนี้ ไปดูกายไว้ ถ้าพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น พวกทิฏฐิจริตไปดูจิตไว้เป็นหลักเลย สังเกตตัวเอง ปัญหาอยู่ตรงนี้ทุกคนเป็นจริตผสม มีทั้งตัณหาจริตและทิฏฐิจริต ที่จะแบ่งแยกเพียวๆ เลยไม่เคยเจอ เพราะทุกคนมีทั้งตัณหาและทิฏฐิ ดูเอาตัวไหนเด่น บางคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นมาก พวกนี้ทิฏฐิเด่น บางคนติดสุขติดสบายแล้วก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็นด้วย แต่ระหว่างเอาความสุขความสบายกับเอาความรอบรู้อะไร สนใจความสุขความสบายมากกว่า พวกนี้ไปดูกายเลย

อย่างครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านเป็นชาวไร่ชาวนา ชาวไร่ชาวนาชีวิตลำบากมาก เหน็ดเหนื่อย ทำนาลำบาก ฝนตกไม่ได้นอนเล่นหรอก ฝนตกก็ไปไถนา ฝนยังไม่ตกตลอดปี ต้องเอาวัวเอาควายไปเลี้ยง ทำอย่างไรจะหาหญ้าหาข้าวหาน้ำอะไรมาให้มันกินได้ ถึงเวลาก็ไปไถนา ไถนาแล้วก็ไปหว่านข้าว ไปดูน้ำมากไปหรือน้ำน้อยไป ดูต้นข้าวมีเพลี้ยมีปูนามีหนูนามาอาละวาดอะไรอย่างนี้ จะต้องต่อสู้ ถึงได้เวลาเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวข้าว คัน ใบข้าวเขาคม ทั้งคม ทั้งคัน ชีวิตลำบาก ฉะนั้นสิ่งที่คนรุ่นโน้นท่านสนใจ ทำอย่างไรชีวิตจะได้สบายกว่านี้เสียที อยากมีความสุขอย่างคนอื่นเขาบ้าง ท่านมุ่งมาที่ความสุขไม่ใช่คนคิดมาก คนคิดมากมันคนรุ่นเรา คนรุ่นโน้นท่านเป็นชาวไร่ชาวนาไม่ได้คิดมากหรอก คิดแค่ว่าจะหาอยู่หากินไปวันๆ หนึ่ง ให้รอดไปแต่ละวัน แต่ละปีอะไรอย่างนี้ก็ดูเท่านั้นล่ะ ฉะนั้นสิ่งที่ปรารถนาคือความสุขความสบาย

พอจะมาทำสมาธิจิตมีความสุขความสบาย ชอบสิ อยากได้ความสุขความสบาย มานั่งสมาธิแล้วสุขสบาย อยู่กับโลกข้างนอกมันทุกข์จะตายอยู่แล้ว เหนื่อยสายตัวจะขาด เพราะฉะนั้นท่านก็เลยนั่งสมาธิกันเก่ง ชอบในความสุขความสบาย พอออกจากสมาธิมาดูจิตไม่ได้ จิตมันจะเฉยๆ ท่านดูกาย มันเหมาะกับท่านอยู่แล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกกับหลวงพ่อว่า “ต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง” ท่านย้ำในเมือง เพียงแต่ทุกวันนี้ชนบทมันแทบไม่มีแล้ว บ้านนอกก็กลายเป็นเมืองไปหมดแล้ว เป็นสังคมเมือง สังคมชนบทหาอยู่หากินเลี้ยงตัวเองได้ สังคมเมืองไม่มีเงินเสียอย่างเดียวอยู่ไม่ได้เลย ทุกอย่างซื้อหมดเลย ทุกวันนี้สังคมมันเป็นอย่างนี้ กระทั่งบ้านนอกต่างจังหวัดก็คือสังคมเมือง สังคมเมืองในพื้นที่ที่เคยเป็นชนบท ในสังคมเมืองคนต้องใช้ความคิดเยอะ เหน็ดเหนื่อยมากในการคิดแต่ละวันๆ ฉะนั้นกรรมฐานที่เหมาะจะไปนั่งเข้าฌาน มันเข้าไม่ค่อยได้

เราก็ต้องนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนคนที่ไม่ได้ฌานมาก่อน คือเรื่องจิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาเป็นของง่าย จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ฝึกไปเรื่อยๆๆ แล้วพอมันเหนื่อยขึ้นมาเราช่วยมันก็ทำสมาธิไป พุทโธๆๆ ไปก็ได้ ถ้าเราไม่ทำสมาธิจิตจะพลิกไปทำสมาธิเอง ดูจิตอยู่พอจิตมันต้องการพัก มันพลิกไปหาสมาธิเองเลย มันไปติดอยู่ในความว่างนั่นล่ะ มันจะหนีไปหาสมาธิแล้ว ฉะนั้นเราใช้ความสังเกต ตอนนี้ควรทำสมถะก็ทำ ตอนนี้ควรทำวิปัสสนาก็ทำ สังเกตไป กรรมฐานอะไรมีประโยชน์ อันไหนเหมาะกับเรา ของที่มีประโยชน์ทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนมีประโยชน์หมด แต่อันไหนเหมาะกับเรา บางอย่างเหมาะกับเรา บางอย่างไม่ได้เหมาะกับเรา เหมาะกับคนอื่น แล้วตอนที่เราเอามาลงมือทำ เราก็ต้องมีชั้นเชิงในการทำ ตอนนี้ควรจะเดินปัญญา ตอนนี้ควรจะทำความสงบต้องรู้ สังเกตตัวเองไปอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วต่อไปกำลังของศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้าขึ้น อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น ดูทางกายก็เกิดมรรคผล ดูทางจิตก็เกิดมรรคผลได้

พระพุทธเจ้าท่านสอน สติปัฏฐาน 4 เหมือนประตูเมือง 4 ทิศ คำสอนมีอยู่ในคัมภีร์ สติปัฏฐาน 4 คือประตูเมือง 4 ทิศ จะเดินเข้าประตูไหนมันก็ถึงเมืองเหมือนกัน ฉะนั้นเราภาวนา ถ้าเราเข้าใจเราก็จะไม่ไปติเตียนกรรมฐานของคนอื่น แต่เรารู้ว่าเขาทำอันนี้มันเป็นสมถะหรือวิปัสสนา อย่างถ้าเขาไปดูท้องพองท้องยุบอะไรอย่างนี้ ดูท้องไปเฉยๆ เป็นสมถะ ถ้าดูท้องพองท้องยุบแล้วก็คิดว่าท้องไม่ใช่เรา ร่างกายไม่ใช่เรา เป็นสมถะหรือวิปัสสนา เป็นสมถะเพราะคิด วิปัสสนาไม่ได้คิด วิปัสสนาเกิดเมื่อเห็น เห็นนี่ไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยธรรมจักษุ เห็นด้วยใจ อย่างเราเห็นร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรารู้ด้วยใจของเรา ไม่ใช้ด้วยความคิด เห็นจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นด้วยจิตด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยความคิด

 

 

หลวงพ่อพุธท่านสอนดีท่านบอกว่า “สมถะเริ่มเมื่อหมดความจงใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด” ท่านสอนอย่างนี้ สมถะมันเริ่มเมื่อหมดความจงใจ อย่างเราอยากสงบจงใจจะให้สงบ ไม่สงบหรอก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เมื่อไหร่จะสงบ ไม่สงบ หายใจไปๆ หมดความจงใจที่จะให้สงบ สงบเลย สมถะเกิดเมื่อหมดความจงใจ ส่วนวิปัสสนาเกิดเมื่อหมดความคิด หมดความคิดแล้วเหลืออะไร เหลือการเห็นสภาวะทั้งหลาย เห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นด้วยตาทิพย์ เห็นด้วยใจ อย่างจิตมีความโกรธเกิดขึ้น เราเห็นด้วยตาเนื้อได้ไหม ความโกรธเห็นด้วยตาเนื้อก็ไม่ได้ใช่ไหม มันเป็นนามธรรมเราเห็นด้วยใจ ร่างกายขยับอย่างนี้ เราดูด้วยตาไหม ต้องดูด้วยตาไหม ไม่ต้อง เรารู้ด้วยใจต่างหาก รูปมันเคลื่อนรู้ด้วยใจ นี่มือเป็นท่อนๆ ลองจับดูบางที่แข็ง บางที่อ่อน อันนี้รู้ด้วยอะไร รู้ด้วยกาย บางอย่างรู้ด้วยกาย บางอย่างรู้ด้วยใจ ส่วนใหญ่จะรู้ด้วยใจ ส่วนน้อยรู้ด้วยกาย

รูปที่ตาเห็น รู้ด้วยกาย รู้ด้วยตา เสียง รูปเสียงรู้ด้วยหู กลิ่นรู้ด้วยจมูก รสรู้ด้วยลิ้น สิ่งที่สัมผัสความเย็นความร้อนอะไรอย่างนี้มากระทบ นั่งคิดเอาเองได้ไหมว่าตอนนี้เย็นหรือร้อน ไม่ได้ รู้ด้วยสิ่งที่มากระทบ ความร้อนที่มากระทบอันนี้รู้ด้วยกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว รู้ด้วยร่างกาย ที่เหลือรู้ด้วยใจ รู้ด้วยใจทั้งหมดเลยกระทั่งรูปธรรม หลับตาอยู่ก็รู้ ไม่ใช่ตา ไม่ใช่หู ไม่ใช่จมูก ไม่ใช่ลิ้น ไม่ใช่กาย แต่รู้ด้วยใจ ฉะนั้นถ้าเราสามารถฝึกตัวเองรู้ด้วยใจได้ ก็จะรู้ได้ทั้งรูปทั้งนาม ไม่ใช่ว่าจะรู้ได้แต่รูปหรอก ทำอย่างไรจะรู้ด้วยใจได้ ก็นั่งคิดเอาเมื่อไรจะรู้ด้วยใจ “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ แต่เบื้องต้นอาศัยคิด”

ค่อยฝึกไปเดี๋ยววันหนึ่งก็เป็น ไม่ยากหรอก อดทนเอาไว้ ยุ่งกับโลกน้อยๆ ยุ่งกับโลกเท่าที่จำเป็น เอาเวลามาพัฒนาจิตใจของเรา เป็นสมบัติที่ติดตัวไปอย่างแท้จริง สมบัติทางโลกเป็นของอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว บ้านช่องที่หามาอะไรอย่างนี้ เป็นของอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็เป็นของคนอื่น คุณสมบัติในใจของเรา บุญบาปทั้งหลาย เป็นสมบัติที่จะติดตัวเราอย่างแท้จริง ติดอยู่ในจิตใจของเราไปเลยข้ามภพข้ามชาติไป ฉะนั้นพยายามฝึกให้มันเคยชินที่จะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ฝึกไป ศีลก็ตั้งใจรักษาไว้ก่อน ต่อไปก็มีสติรักษาจิตมันก็ได้ศีล สมาธิ ก็ฝึกสมาธิที่ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ สมาธิเคลิ้มๆ มีโมหะแทรกอะไรอย่างนี้ ไม่ได้เรื่อง สมาธิเคร่งเครียดไม่ได้เรื่อง ก็ฝึกให้มันถูก ไปดูเอาว่าจะใช้กรรมฐานอะไรที่เหมาะกับตัวเอง

การเจริญปัญญานั้น ต้องจิตตั้งมั่นก่อนแล้วเจริญปัญญา ถ้าจะเจริญปัญญาด้วยการดูกาย ควรจะเข้าถึงอัปปนาสมาธิก่อน ถ้าเจริญปัญญาด้วยการดูจิตใช้แค่ขณิกสมาธิ แล้วอัปปนาสมาธิเกิดทีหลัง เกิดตอนที่จะบรรลุมรรคผล ก็ดูไปแต่ละทาง แต่ละทิศทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ได้ไปบลัฟว่าของใครดีกว่าของใคร มันดีทุกทาง พระพุทธเจ้าสอนไว้ทั้งนั้น.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
21 สิงหาคม 2564