ของถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา

คนจีนมาเรียนลำบาก มาไกล อยู่เรียนก็อยู่ได้ชั่วคราว หลวงพ่ออยากให้จับหลักการปฏิบัติให้แม่นๆ เรากลับบ้านที่เมืองจีนเราจะได้เอาไปทำได้ ทุกวันนี้การสอนกรรมฐานมีเยอะไปหมดเลย กระทั่งในเมืองไทยยังสับสนเลย หลายที่ซึ่งสอนออกนอกแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ คิดเอาเอง สอนไปตามกิเลสของตัวเอง อย่างสอนว่าพระอรหันต์ตายแล้วยังกลับมาเกิดได้อีก หรือสอนว่าเขาสามารถช่วยให้พวกเราเข้าถึงธรรมะได้ มีทางลัด อย่างส่งพลังจิตมาช่วยอย่างนี้ มันเป็นเรื่องหลอกลวง พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้วิธีแบบนั้นเพราะมันใช้ไม่ได้จริง ถ้าท่านช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ บรรลุมรรคผลได้ ท่านก็ช่วยไปหมดแล้ว แต่หลักการสำคัญของศาสนาพุทธคือการช่วยตัวเอง เรียกว่าตนเป็นที่พึ่งของตัวเอง ใครจะมาช่วยเราได้

 

ตนเป็นที่พึ่งของตัวเอง

พระพุทธเจ้าท่านทำหน้าที่ของครู บอกวิธีการปฏิบัติให้เรา ถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติตามที่ครูสอน เราก็ไม่มีความรู้ ยังไม่เข้าใจศาสนาพุทธ แล้วพ้นทุกข์ไม่ได้ การปฏิบัติธรรมะ เริ่มตั้งแต่การรักษาศีล มีแค่ 5 ข้อ ก็คือการไม่เบียดเบียนตัวเองและก็ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกายของคนอื่นของสัตว์อื่นของตัวเราเอง ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของคนอื่นของตัวเอง เบียดเบียนทรัพย์สินตัวเองเช่น ไปติดยาเสพติด ติดการพนัน ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็วอดวายไปหมด ไม่เบียดเบียนคนอื่นและตัวเอง ด้วยการประพฤติผิดในกาม อย่างเราชอบผู้หญิงสักคน ไปฉุดเขามา เบียดเบียนเขา เห็นเมียชาวบ้านสวยก็ไปแย่งเขามา นี่เบียดเบียนเขา หรือนอกใจเมียตัวเองก็ผิดศีล ก็เบียดเบียนคนซึ่งเป็นที่รักสิ่งอันที่รักของคนอื่น

ศีลอีกข้อหนึ่งก็คือไม่เบียดเบียนคนอื่นรวมทั้งตัวเองด้วยคำพูด บางคนมันพูดอะไร มันโกหกตลอดเวลา จนตัวเองก็แยกไม่ออกว่าอะไรเรื่องจริงเรื่องไม่จริง หลวงพ่อก็เคยเจอ โกหกตลอดเวลา คำพูดนี้เชื่ออะไรไม่ได้เลย มันเบียดเบียนตัวเองแล้ว โกหกเก่งๆ เบียดเบียนตัวเองก็คือทำให้ตัวเองหมดคุณค่า ไม่มีใครเชื่อถือ อย่างโกหกหลอกลวงคนอื่นไปเบียดเบียนคนอื่น อีกข้อหนึ่งก็อย่าเบียดเบียนสติสัมปชัญญะของตัวเองและก็คนอื่นด้วย อย่างเราไม่กินเหล้า ไม่กินสารเสพติด มันทำให้สติสัมปชัญญะของเราเสีย แล้วก็เราไม่เลี้ยงเหล้าใครด้วย บางคนไม่กินเองแต่ซื้อเหล้าแจก ก็เบียดเบียนเหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องศีลถ้าเรารักษาไว้เราก็ไม่เบียดเบียนคนอื่นไม่เบียดเบียนตัวเอง จิตใจเราจะสงบง่าย

พอเราตั้งใจรักษาศีล ต่อไปเราก็ต้องมาฝึก บทเรียนที่ 2 คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่นแล้วก็มีกำลัง ส่วนใหญ่ที่เขาฝึกกันในเมืองไทย ฝึกให้สงบเฉยๆ จิตที่สงบก็จะมีกำลังมีแรง แต่โอกาสที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่นแทบไม่มีเลย หายากมาก ฝึกให้จิตสงบมีเยอะแยะ วิธีฝึกให้จิตสงบก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง พอจิตมันอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข มันก็ไม่วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่นๆ จิตไม่วิ่งไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ วิ่งพล่านไปตลอดเวลา จิตก็ฟุ้งซ่านไม่สงบ จิตไม่สงบจิตเปลืองพลังงาน จิตก็ไม่มีแรง ฉะนั้นถ้าเรามาให้จิตพักอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง จิตไม่ได้เปลืองพลังงานไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมา จิตก็สะสมกำลังมีกำลัง พลังของจิตก็เกิดขึ้น

ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น เราเติมสติลงไป เราก็อาจจะอยู่ในอารมณ์อันเดิมนั่นล่ะ อย่างเราอยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธ อยู่กับคำบริกรรมอะไรอย่างนี้ เราเติมสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเองลงไป เช่นเราหายใจออกหายใจเข้า ถ้าหายใจแล้วจิตไม่หนีไปไหน เราจะได้สมาธิชนิดสงบ จิตจะมีแรง แต่ถ้าเราหายใจไปแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมการหายใจ อาศัยสติรู้ทันจิตที่หนีไป ทันทีที่สติระลึกรู้ว่าจิตมันหลงไปแล้ว จิตที่หลงจะดับ มันจะเกิดจิตที่ตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตที่สงบนั้นทำให้เรามีความสุขมีเรี่ยวมีแรง จิตที่ตั้งมั่นมีประโยชน์ยิ่งใหญ่ เป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา จิตที่ตั้งมั่นเขาเรียกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่มีปัญญา ได้แต่สงบเฉยๆ

ฉะนั้นเราจะต้องฝึกสมาธิชนิดนี้ขึ้นมาให้ได้ ตอนที่หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดุลย์ เรียนอยู่ 7 เดือนก็เข้าใจการปฏิบัติแล้ว หลวงปู่บอกว่าพึ่งตัวเองได้แล้ว ไม่หลงทางแล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูสำนักปฏิบัติต่างๆ เห็นเขาทำสมาธิกัน มันเป็นสมาธิที่สงบเฉยๆ บางทีมีโมหะแทรก นั่งแล้วก็เคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว ไม่มีความรู้สึกตัว นั่งแล้วเคลิ้มๆ เหมือนคนติดยาไปก็มี บางคนก็นั่งแล้วก็เคร่งเครียด คนนั่งสมาธิเยอะแยะไปหมดเลย แต่มันไม่มีความรู้สึกตัวขึ้นมา จิตมันหลง หลงไปอยู่ในโลกของความคิดบ้าง หลงไปเพ่งอารมณ์บ้าง ขาดสติ

 

การรู้เท่าทันจิตตัวเองสำคัญกว่าการทำความสงบ

ฉะนั้นถ้าเราทำกรรมฐานทำสมาธิแล้วจิตเราหนีไป ให้เรารู้ว่าจิตหนีไป สำคัญกว่าความสงบ การรู้เท่าทันจิตตัวเองสำคัญกว่าการทำความสงบอยู่เฉยๆ ฉะนั้นเราก็ทำกรรมฐานไป ทำสมาธิอย่างเดิมที่ทำให้จิตสงบนั่นล่ะ แต่คราวนี้ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ แต่มุ่งที่จะรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง ทำสมาธิแล้วจิตหนีไปคิดให้รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งกรรมฐานที่เราทำอยู่ก็รู้ทัน อย่างเราทำอานาปานสติเราหายใจ ถ้าเราต้องการความสงบ เราก็น้อมจิตอยู่กับลมหายใจไม่หนีไปเที่ยวที่อื่น จิตก็สงบมีแรง ถ้าเราต้องการให้จิตตั้งมั่น แทนที่จะน้อมไปหาความสงบ ให้คอยรู้ทันจิตใจตัวเอง

อย่างเราหายใจอยู่แล้วจิตหนีไปคิด ให้รู้ทัน จิตไหลลงไปอยู่ที่ลมหายใจ ให้รู้ทัน จิตเรามันจะไหลไปไหลมา ไหลไปทางตาไหลไปดู ไหลไปทางหูไหลไปฟัง ไหลไปทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ทางใจส่วนใหญ่ไหลไปคิด ตรงที่จิตมันไหลไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ให้เรามีสติรู้ทัน จิตจะหยุดการไหลแล้วก็จะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ อยู่ๆ เราไปสั่งให้จิตตั้งมั่นไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา แต่เราคอยรู้เท่าทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น พอจิตไหลไปนี่คือมันไม่ตั้งมั่น เรารู้ทันปุ๊บจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา

พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว มันก็ถึงบทเรียนสุดท้าย บทเรียนที่ 3 คือการเจริญปัญญา เราจะต้องใช้จิตที่ตั้งมั่น ไปเรียนรู้ความจริงของกายของใจ อย่างพอจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมามีกำลังขึ้นมา เราค่อยๆ สังเกตลงไป อย่างขณะนี้ทุกคนฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตมันจะมีพลังขึ้นมา เวลาที่หลวงพ่อเทศน์แล้วเราตั้งใจฟัง จิตจะเกิดกำลังขึ้นมา มันจะสงบแล้วก็อยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา ให้เราสังเกตลงไปเลย ขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหมร่างกายที่นั่งอยู่เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจออกร่างกายที่หายใจเข้าเป็นของถูกรู้ถูกดู เราเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว มันหายใจ มันขยับ มันอยู่ในอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนอะไรอย่างนี้ คอยรู้สึกลงไป

แต่พอจิตเราตั้งมั่น มันจะเห็นว่าร่างกายกับจิตนั้นเป็นคนละอันกัน ร่างกายเคลื่อนไหวไป จิตเป็นคนรู้คนเห็น เวลาที่จิตเราทรงสมาธิจริงๆ เราจะแยกขันธ์ได้ เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน อย่างขณะนี้ร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายที่นั่งอยู่เป็นของที่ถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดู เราไม่ต้องหาจิต เราแค่ให้เห็นว่าร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่ยืนเดินนั่งนอน มันถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจออกหายใจเข้า มันถูกรู้ถูกดู ทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันจะเกิด

ปัญญาไม่ใช่เกิดจากการคิด แต่มันเกิดจากความรู้รวบยอดของจิต จิตที่มีสัมมาสมาธิมีความตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอสติระลึกรู้ร่างกาย มันจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราเป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู แล้วถ้าสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ มันก็จะเห็นว่าความสุขทุกข์ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นของที่ถูกรู้ถูกดู หรือจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น อย่างใจเราโกรธหรือใจเราสงสัยเกิดขึ้น ฟังเทศน์แล้วก็สงสัย ถ้าจิตเราตั้งมั่นเราจะเห็นว่า ความสงสัยก็เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก แล้วทุกสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู มันจะฟ้องตัวเอง ว่าไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู เป็นของภายนอก

ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือ เราจะต้องฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว สติระลึกรู้ร่างกาย ก็จะเห็นว่าร่างกายถูกรู้ถูกดูไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วสติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศล อย่างโลภโกรธหลง มันก็จะเห็น กุศลอกุศลโลภโกรธหลงอะไรไม่ใช่ตัวเรา

นี่เราฝึกมากเข้ามากเข้า เราก็จะเห็นว่าบางครั้งจิตก็เป็นผู้รู้ บางครั้งจิตก็เป็นผู้หลง จิตที่เป็นผู้รู้มันก็ถูกรู้ จิตที่เป็นผู้หลงมันก็ถูกรู้ สุดท้ายกระทั่งจิตก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เมื่อกายก็ไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา อันนี้เราจะได้คุณธรรม ถ้าเราเห็นอย่างถ่องแท้จริงๆ นั่นคือพระโสดาบัน ที่เราอยากเป็นพระอริยะ แต่เราไม่รู้วิธี วิธีที่เราจะเป็นพระอริยะได้ก็คือ การทำสติปัฏฐานนี่ล่ะ ก็มีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้จิตใจของตัวเอง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ที่เขาภาวนาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ใช้เวลาหลาย 10 ปีบางคนไม่ได้ผลเลย เพราะขาดจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ขาดจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู

 

สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น

สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น แค่แปลคำศัพท์ ยังแปลผิดเลย พอไปแปลว่าสมาธิว่าสงบ ก็มุ่งจะทำให้จิตสงบอย่างเดียว มันก็ซึมๆ โง่ๆ อยู่อย่างนั้นเอง มันไม่เดินปัญญาหรอกเพราะมันจะสงบ เวลาเดินปัญญามันไม่สงบหรอก อย่างเวลาเรานอนอยู่เฉยๆ กับเวลาเราเรียนหนังสือเห็นไหม ตอนที่เราเรียนหนังสือสะสมสติปัญญา จิตมันไม่นิ่งๆ เฉยๆ หรอก มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นความสงบยังไม่ใช่คำแปลของสมาธิที่ถูกต้อง

สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ลองไปเปิดพจนานุกรมกรมดูเลย หลวงพ่อท้าเลย พจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่านสมเด็จประยุทธ์ ปยุตฺโต เขียนไว้ดี หรือตำรับตำราที่ถูกต้องทั้งหลาย สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น อะไรตั้งมั่น ไม่ใช่ตัวเราตั้งมั่นเป็นจิตเราตั้งมั่น จิตตั้งมั่นก็คือจิตที่ไม่ไหลไปไหลมาโคลงเคลงคลอนแคลน จิตที่ตั้งมั่นนั้นจะเป็นจิตที่สามารถแยกขันธ์ได้ แยกออกไปว่าร่างกายเป็นอันหนึ่งจิตเป็นคนรู้คนดู ร่างกายยืนจิตเป็นคนดู ร่างกายนั่งจิตเป็นคนดู ร่างกายเดินจิตเป็นคนดู ร่างกายนอนจิตเป็นคนดู ร่างกายหายใจออกจิตเป็นคนดู ร่างกายหายใจเข้าจิตเป็นคนดู ร่างกายเคลื่อนไหว

อย่างเบอร์ 1 เกา ถ้าเราภาวนาเราจะเห็นเลยร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตมันเป็นแค่คนรู้คนเห็น ไม่ต้องไปบังคับจิต จิตธรรมดานี่เองก็เห็นร่างกายมันทำงานแล้วจะรู้สึกเลย นี่ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู นี่คือหลักการปฏิบัติที่แท้จริง มีแก่นสารสาระ เราทำไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้เลยร่างกายไม่ใช่เรา ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายก็ไม่ใช่ตัวเรา เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปทั้งสิ้น

เมื่อเราเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา พอร่างกายแก่มันไม่ใช่เราแก่ เราเห็นร่างกายมันแก่ เวลาร่างกายเจ็บมันก็ไม่ใช่เราเจ็บ มันเห็นว่าร่างกายเจ็บ เวลาจะตายมันก็เห็นว่าร่างกายตายไม่ใช่เราตาย เพราะมันไม่ใช่เรา ฉะนั้นเราจะไม่ทุกข์ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในร่างกายเราจะไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะมันไม่ใช่เรา แต่ความเจ็บปวดทางร่างกายนี่เป็นปกติเป็นส่วนของร่างกาย แต่จิตใจจะไม่ทุกข์ ความทุกข์จะเข้าได้แค่ร่างกาย แต่เข้ามาไม่ถึงใจเราแล้ว เพราะเราเห็นแล้วร่างกายไม่ใช่เรา มันเหมือนเราเห็นคนอื่นทุกข์ เห็นคนอื่นถูกรถชนเขาเจ็บ เราไม่ได้เจ็บด้วยเพราะเราเป็นแค่คนเห็น

ค่อยๆ ฝึกแล้วเราจะแยกขันธ์ได้ กายกับจิตแยกออกจากกัน แล้วคราวนี้อะไรจะเกิดกับกาย ใจมันไม่เดือดร้อน ในส่วนของจิตใจตอนจะมีความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เราเห็นความรู้สึกสุขทุกข์ ก็ถูกรู้ไม่ใช่เรา คนในโลกนี้วิ่งพล่านๆ อยากได้ความสุข อยากหนีความทุกข์ แล้วความสุขที่ได้มาด้วยความเหนื่อยยาก มันอยู่ได้ชั่วคราวมันก็ไป ความทุกข์ที่เราเกลียดนักหนา เวลามันจะมาเราก็ห้ามมันไม่ได้ พอมาแล้วเราไล่มันก็ไม่ไป ถึงเวลามันก็มาถึงเวลามันก็ไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน พอเราเห็นอย่างนี้เราก็จะเห็นความสุขหรือความทุกข์มันถูกรู้ มันไม่ใช่เรา มันเป็นของที่อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ มีเหตุมันก็เกิดหมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ พอเห็นอย่างนี้จิตมันก็ปล่อยวาง

ต่อไปเราก็จะไม่หิวความสุข เราจะไม่เกลียดความทุกข์ จิตเราจะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ เราเห็นว่าความสุขและความทุกข์ทางใจเป็นของที่เสมอกันเท่าเทียมกัน คือเกิดขึ้นแล้วดับทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลาที่เรามีความสุขเกิดขึ้น เราจะไม่หลงลำพองไม่ลืมเนื้อลืมตัว เพราะเรารู้ว่าไม่นานมันก็ดับ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ เราก็ไม่กลุ้มใจเพราะเรารู้ว่าเดี๋ยวมันก็ดับ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นสุดท้ายมันก็ดับ ตรงนี้ถ้าเรามีปัญญารู้ถ่องแท้ ใจเราจะไม่มีความทุกข์เลย มันจะไม่หลงยินดี มันจะไม่หลงยินร้าย ต่อความสุขหรือความทุกข์ ต่อความดีหรือความชั่ว จิตมันจะสงบมันจะเป็นกลางอย่างแท้จริง

ถ้าเรายังไม่มีปัญญาที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ เวลาที่ชีวิตเรามีความทุกข์มากๆ หลวงพ่อให้คาถาไว้บทหนึ่ง เวลาที่ชีวิตเรามีความทุกข์หนักๆ เรายังแก้ไม่ตก แล้วเรากลุ้มใจมาก ให้ท่องคาถาบทนี้ไว้ คาถานี้สั้นๆ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” มีไหมความทุกข์ที่เกิดแล้วไม่ผ่าน ไม่มีหรอก ในชีวิตเราผ่านความทุกข์มาตั้งเท่าไรแล้ว เห็นไหมว่าทุกอย่างก็ผ่านไป แล้วถ้าความสุขเกิดขึ้นก็ท่องคาถานี้ได้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เราก็จะได้ไม่หลงวิ่งหาความสุขวุ่นวาย เวลาอะไรเกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ กุศลหรืออกุศล ท่องคาถาไว้ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ใจเราก็จะมีสมาธิจะสงบขึ้นมา

เราก็ดูไปว่ามันจะผ่านจริงหรือไม่จริง อย่างความสุขเกิดขึ้น เดี๋ยวมันก็ผ่านไปดูสิ สุดท้ายมันก็ผ่านไปจริงๆ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นเราทำอะไรไม่ได้ เราก็ท่องในใจ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แล้วดูสิมันจะผ่านไม่ผ่าน แล้วมันก็ผ่านจริงๆ คอยเตือนตัวเองเรื่อยๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเราเดี๋ยวมันก็ผ่านไปทั้งหมด ชีวิตร่างกายเราเองเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ชีวิตร่างกายของคนที่เรารักเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ชีวิตร่างกายของคนที่เราเกลียดเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่มีอะไรเลยที่มาแล้วไม่ไป คอยพิจารณาคอยสอนตัวเองอย่างนี้เรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีสติมีจิตตั้งมั่นเราดูของจริงไปเลย แต่ถ้าจิตเรายังไม่มีคุณภาพพอ เราก็สอนๆ มันไปอย่างนี้ ท่องคาถานี้ คาถานี้เป็นคาถาวิเศษ ท่องเรื่อยๆ จิตจะทรงสมาธิที่ดีมากๆ เลย วันนี้หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังเท่านี้ วันนี้ถึงขนาดต้องสอนคาถาให้แล้ว

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 กรกฎาคม 2567