เส้นทางของคนจริง

การภาวนาต้องทำสม่ำเสมอ ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้ผลหรอก เราหยุดเมื่อไร กิเลสก็ลากเราลงต่ำไป กว่าจะดิ้นรนกลับขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง มันใช้แรงเยอะ ถ้าทำแล้วก็หยุดๆ มันก็อยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็นานๆ ก็หมดกำลังที่จะปฏิบัติ แต่ละคนมันมีต้นทุน มีพลังงาน ใช้ไปเรื่อยๆ ก็หมด อย่างคนมาบวชเป็นพระเห็นง่ายๆ เลย มาใหม่ๆ ก็ขยันขันแข็งภาวนา พอนานไปก็เริ่มเฉื่อย ทั้งพระทั้งโยมก็เหมือนกัน มันต้องอดทนจริงๆ ตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปเลย จะปฏิบัติ ไม่ใช่ทำเล่นๆ

ถ้าเราทำถูกแล้วก็ทำสม่ำเสมอ มันจะมีพัฒนาการที่มองเห็นได้ด้วยตัวเอง อย่างจิตใจของเราเคยวุ่นวายดิ้นรนไป เรามาภาวนา จิตใจก็เริ่มอยู่กับเนื้อกับตัว สภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวพูดยาก คนส่วนใหญ่มันไม่มี จิตใจไม่ได้อยู่กับกายไม่อยู่กับใจตัวเอง จิตใจไปอยู่ในโลกของความคิดความฝันเกือบทั้งหมด ในโลกเลยหาคนที่รู้สึกตัวได้ หายากจริงๆ มันมีแต่คนหลง เราก็เกิดมาด้วยความหลง ฉะนั้นเราจะต้องฝ่าความเคยชินของเราให้ได้ เปลี่ยนจากเคยชินหลงมาเป็นเคยชินที่จะคอยรู้ตัวไว้

 

เปลี่ยนจากเคยชินหลงมาเป็นรู้

การเปลี่ยนนั้นก็มีวิธีฝึก พยายามฝึกทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่เราถนัด พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ หายใจเข้าพุทออกโธก็ได้ จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะทำจังหวะขยับมืออะไรอย่างนี้ก็ได้ จะเดินจงกรมก็ได้ จะนั่งก็ได้ เอาที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง แต่จุดสำคัญก็คือในขณะที่เราทำกรรมฐานนั้น ถ้าจิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน หรือจิตเราถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้เรารู้ทัน เรามีอารมณ์กรรมฐานอย่างหนึ่งมาเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องสังเกตๆ จิตตนเอง

อย่างเราใช้ท้องพองยุบอย่างนี้ เพื่อจะสังเกตจิตตนเอง ท้องพอง ท้องยุบ เสร็จแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ทัน หรือจิตมันจมลงไปอยู่ที่ท้อง ถลำลงไปเพ่งท้องก็รู้ทัน ตัวนี้เป็นหัวใจสำคัญ ของการปฏิบัติเลย ถ้าเราละเลย 2 เงื่อนไข อันหนึ่ง ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ไม่มีอารมณ์กรรมฐาน อีกอันหนึ่ง ในขณะที่ทำกรรมฐาน ละเลยจิตตนเอง โอกาสประสบความสำเร็จไม่มีๆ เพราะบทเรียนอันนี้ชื่อว่าจิตตสิกขา เป็นบทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ดี ที่ถูกต้องขึ้นมา

สมาธิที่ถูกต้องเรียกว่าสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิอาศัยการทำสัมมาสติให้มาก เจริญสติให้มาก สัมมาสมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา มันมีเหตุมีผลทั้งสิ้น ไม่มีฟลุคหรอก การทำสัมมาสติทำอย่างไรดี ต้องคอยรู้สึกกายรู้สึกใจเอาไว้ ต้องรู้เนื้อรู้ตัวไว้ วันๆ หนึ่งจิตเราชอบหลงไป เราไม่รู้ว่ามันหลง มันก็เลยหลงยาว เราจะมาฝึกตัวเอง ให้ประเภทหลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ แล้วก็ด้วยวิธีทำกรรมฐานสักอันหนึ่ง จิตหลงไปคิด รู้ทัน ลืมอารมณ์กรรมฐานแล้ว จิตถลำลงไปเพ่งในตัวอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน

ทุกคราวที่เรารู้ เรียกเรามีสติแล้ว ไม่ใช่สติธรรมดาด้วย มันเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าเรารู้เท่าทันรูปธรรมนามธรรมของเราเอง ไม่ใช่สติอย่างโลกๆ ฉะนั้นทำกรรมฐาน พอจิตมันไหลไปคิดรู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน เรากำลังเจริญสติอยู่ คอยรู้ทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตที่หลงไปคิดก็คือจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่มีอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตที่ถลำลงไปเพ่ง มันก็หลง มีโมหะเหมือนกัน มองไม่ออกว่าตัวเองกำลังจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน ตราบใดที่ความหลงยังอยู่ ปัญญาเกิดไม่ได้ เจริญปัญญาไม่ได้

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด อะไรก็ได้ แต่ทำแล้วต้องคอยรู้ทันจิตตนเอง อย่างถ้าเราชำนาญจริงๆ กระทั่งกสิณยังได้เลย กสิณบางอันต้องอาศัยวัตถุภายนอก กสิณบางอันไม่จำเป็นเลย อย่างกสิณที่อาศัยวัตถุภายนอก อย่างเราเล่นกสิณไฟ หรือกสิณดินอะไรอย่างนี้ เราดู กสิณลมอย่างนี้ เราดู ลมเราดูอย่างไร เราดูที่ใบไม้มันไหว เราคอยรู้สึก อย่างลมพัดมา ใบไม้ไหว พอลมหยุด ใบไม้นิ่ง แล้วถ้าจิตเราเผลอไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปอยู่ที่ใบไม้ รู้ทัน อย่างนี้ก็ใช้ได้ แต่ยาก

กสิณบางอย่างไม่จำเป็นต้องอาศัยของข้างนอกเลย อย่างกสิณแสงสว่าง ไม่จำเป็นต้องไปดูแสงที่ไหนเลย ทำใจให้สบาย จิตก็สว่างขึ้นมาดูความสว่างในจิตอย่างนี้ก็ได้ ก็เป็นกสิณอย่างหนึ่ง แต่ว่าส่วนใหญ่ ที่ทำกสิณยาก ทำแล้วมักจะออกนอก ลืมจิตตนเอง จิตมันจะถลำลงไป

ฉะนั้นหลวงพ่อแนะนำกรรมฐานที่ง่ายๆ อย่างเราหายใจไป จิตเราหลง แต่ร่างกายเราก็ยังอยู่ ไม่หายไปไหนหรอก หรือเราดูท้องพองยุบ จิตเราหลงไป ร่างกายที่พองที่ยุบมันก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ใช้กรรมฐานที่ละเอียดเกินไป เกินกำลัง ก็ใช้ไม่ได้ผล ดูของที่ดูได้ๆ อย่างหลวงพ่อหัด หลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับคำบริกรรมพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วหลวงพ่อรู้ทันจิตตัวเอง

ทีแรกไม่รู้ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ ต่อมาจิตมันสงบลง พุทโธหาย ก็เหลือแต่การหายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงสว่างอยู่ตรงนี้ สว่างขึ้นมา แต่ไม่เห็น ไม่รู้ทันจิตตนเอง ฝึกทีแรก พอมันสว่างก็ไปดูในความสว่าง คราวนี้เลยเตลิดเปิดเปิงไปดูโน่นดูนี่ นิมิตต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อยากรู้อยากเห็นอะไร ก็รู้ อยากรู้จิตใจคนอะไรอย่างนี้ มันเรื่องของสมาธิทั้งหมด

แล้ววันหนึ่งก็พบว่า จิตมันออกไปเห็นเทวดา เราก็อยู่กับเขาไม่ได้ ไปเที่ยวสวรรค์ เราก็อยู่ไม่ได้ เหมือนเราเป็นยาจก เราไปเที่ยวบ้านเศรษฐี ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย แล้วจิตมันเกิดกลัวขึ้นมา หลวงพ่อตอนเด็กๆ เป็นคนกลัวผี มันกลัวว่าถ้าจิตมันเห็นเทวดาได้ มันก็ต้องเห็นผีได้ ตั้งแต่นั้นเลยพยายามรักษาสติ แต่ตอนนั้นไม่รู้จักว่าคือการประคองจิตใจด้วยสติ เอาสติประคองจิตใจไม่ให้หลง ตอนนั้นไม่รู้จักวิธี ไม่รู้จักเรียกว่าจะเรียกว่าอะไร แต่ทำได้

คือพอภาวนา พุทโธหาย ลมหายใจหายเกิดแสงสว่าง แล้วก็คอยรู้ทันจิตไว้ จิตเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่าง รู้ทัน ตรงนี้ถ้ารู้ไม่ทันจะออกไปรู้ทั่วจักรวาลเลย ไปได้หมด แล้วแต่กิเลสจะพาไป มันหลอน เชื่อถืออะไรไม่ได้หรอก รู้อดีต รู้อนาคตอะไร เชื่อไม่ได้ ไม่มีข้อพิสูจน์ โมเมกัน เชื่อไม่ได้หรอก แต่ว่าที่เชื่อได้ก็คือจิตเราถลำออกไป ถึงไปรู้ไปเห็น หลวงพ่อกลัวว่าถ้ามันถลำลงไปในแสงสว่าง เดี๋ยวมันเห็นผี

เพราะฉะนั้นเวลานั่งสมาธิ พอสว่างขึ้นมา พอจิตจะเคลื่อนเข้าไปที่แสง รู้ทันจิต จิตไม่เคลื่อนเข้าไป จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จะไหลไปคิด รู้ทันจิต จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ฉะนั้นกรรมฐานที่หลวงพ่อทำ สุดท้ายมันก็มาลงตรงที่รู้ทันจิตตัวเองนั่นเอง เราจะใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตัวเองไว้ ดูท้องพองยุบ จิตหนีไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งท้องก็รู้ เหมือนหลวงพ่อดูแสงสว่างนั่นล่ะ ตัวนั้นเป็นแสงสว่าง พอดูแล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตถลำลงไปในแสง รู้ทัน หลักเดียวกัน

 

“กรรมฐานไม่มีดี ไม่มีเลวกว่ากันหรอก ขอให้ถูกหลักเท่านั้น
ถ้าทำผิดหลัก มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนๆ กัน”

พอภาวนามาถึงจุดนี้ถึงเข้าใจว่า กรรมฐานอะไรมันก็เหมือนๆ กันทั้งนั้นล่ะ ไม่มีดี ไม่มีเลวกว่ากันหรอก ขอให้ถูกหลักเท่านั้นล่ะ ถ้าทำผิดหลัก มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนๆ กัน แต่ถ้าทำถูกหลัก คอยรู้ทันจิตตนเองไว้ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น จะใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ เบื้องต้นพยายามฝึกให้มากๆ ต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำ ทำไปแล้วก็ไม่ใช่เพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความสงบไม่ใช่เพื่อความดี เราทำไปเพื่อจะปลุกความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น เวลาจิตหลงไปคิด ไม่รู้สึกตัวแล้ว จิตถลำลงไปเพ่ง ไม่รู้สึกตัวแล้ว

ฉะนั้นทำกรรมฐาน ทุกคนต้องทำ ถ้าอยากได้มรรคผลในชีวิตนี้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเอง รู้ทันใน 2 แบบเท่านั้นล่ะ มันไม่หลงไป เผลอไป มันก็ไปเพ่ง ไม่เผลอก็เพ่ง มีเท่านั้นล่ะ อย่างตอนหลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ คนมาเรียน หลวงพ่อสอนเรื่องไม่เผลอไม่เพ่ง พวกชอบนั่งสมาธิขำเลยว่าสอนอะไรไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่เผลอ ไม่เพ่ง ตรงนั้นมันคือเคล็ดลับ ให้เราทำกรรมฐาน แล้วจิตเราเผลอให้รู้ทัน จิตเราเพ่งให้รู้ทัน แล้วกรรมฐานอะไรเสมอกันหมดเลย สิ่งที่เราได้มาคือจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง

อาศัยการมีสติรู้ทันความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของจิต เรียกว่าเราทำสัมมาสติ สัมมาสติเมื่อทำให้มาก ทำให้เจริญ จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้เลย เราจะทำสมาธิกัน เอะอะก็จะทำสมาธิ แต่ทิ้งสติ มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิหมดเลย สมาธิอะไรที่ไม่มีสติเป็นมิจฉาสมาธิ จิตดวงนั้นเป็นอกุศลจิต

เพราะฉะนั้นสมาธิไม่เหมือนสติ สติเกิดร่วมกับจิตดวงไหน จิตดวงนั้นเป็นกุศล สมาธิเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ถ้าประกอบด้วยสติ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติ สมาธิอันนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่เป็นอกุศล เกือบร้อยละ 100 ที่ฝึกสมาธิ ไปทำมิจฉาสมาธิกัน หลวงพ่อเคยไปดูมาหลายที่ ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น ไม่เผลอก็เพ่งเกือบทั้งหมด ถ้าทำสมาธิถูกต้อง จิตจะตื่นขึ้นมา จะรู้สึกตัวขึ้นมา

ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านจะบอกว่ามีจิตผู้รู้ คำว่า จิตผู้รู้ หลวงพ่อไม่ได้ตั้งขึ้นเอง ครูบาอาจารย์ตั้งแต่ยุคหลวงปู่มั่น ท่านก็สอนเรื่องจิตผู้รู้มา หลังๆ มันทำมาไม่ถึงตัวนี้ ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้สอนต่อ สุดท้ายก็หายไป หลังๆ ก็จะเหลือแค่ว่าพุทโธไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้ บางคนพุทโธไปแล้วก็เคลิ้ม บางคนพุทโธไปก็เครียดอะไรอย่างนี้ ลืมเคล็ดลับสำคัญไป คือจิต ถ้าเราพุทโธแล้วเรารู้ทันจิต พุทโธๆ จิตไปคิดเรื่องอื่นแล้วลืมพุทโธ รู้ทัน พุทโธๆ แล้วจิตถลำลงไปจ้องพุทโธ พุทโธๆ เอาเป็นเอาตาย รู้ทัน จิตผู้รู้ก็จะเกิดขึ้น

ความจริงจิตผู้รู้ ไม่ใช่แค่ว่าเห็นจิตเคลื่อนไปแล้วรู้ทัน แล้วเกิดจิตผู้รู้หรอก ถ้าเมื่อไรเรารู้สภาวธรรม มีสติรู้สภาวธรรมได้ จิตผู้รู้ก็เกิดเหมือนกัน สภาวะที่เกิดบ่อยที่สุดก็คือสภาวะหลง หลงคิดกับหลงเพ่ง ครูบาอาจารย์เลยเน้นลงมาที่หลง เพราะมันเกิดบ่อย ถ้าคนไหนขี้โมโห ใช้โกรธก็ได้ คือจิตมันโกรธ ก็รู้ทันไป ทันทีที่รู้ทันว่าจิตโกรธ จิตโกรธจะดับ จิตรู้จะเกิด เหมือนกันหมดล่ะ

เพราะฉะนั้นพอทำเป็น รู้หลักแล้ว กรรมฐานนี้แสนจะง่ายเลย ไม่ใช่เรื่องลึกลับยากเย็นอะไรอย่างที่คิดเลย จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ ทันทีที่มีราคะ เรียกเรามีสติปัฏฐานแล้ว จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เรามีสัมมาสติ ก็คือสัมมาสมาธิ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านจะเรียกจิตผู้รู้ จิตผู้รู้คือจิตซึ่งประกอบด้วยสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ เพราะฉะนั้นตัวจิตผู้รู้มีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ อาศัยสัมมาสติ อาศัยสัมมาสมาธิ การเจริญปัญญาถึงทำได้

ตรงการเจริญปัญญาที่ถูกต้อง เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม เรียกว่าสัมมาญาณะ เป็นการเจริญวิปัสสนาญาณนั่นเอง จะเกิดขึ้นได้ถ้ามีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาสติรู้ทันสภาวะของรูปนาม แล้วสมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ สภาวะที่เกิดบ่อยที่สุดคือสภาวะหลง เกิดบ่อยที่สุดเลย สภาวะโกรธจะเกิดไม่ได้ ถ้าเราไม่หลง สภาวะโลภจะเกิดไม่ได้ ถ้าเราไม่หลง ฉะนั้นสภาวะหลงเป็นสภาวะที่เกิดบ่อยที่สุด ถี่ที่สุด ครูบาอาจารย์เลยเน้นลงมาที่สภาวะหลง

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ทันทีที่รู้ทันว่าจิตหลง จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิด นั่นล่ะจิตมันทรงสมาธิขึ้นมา พอทำซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ไม่ใช่ทำแล้วหยุดๆ ไม่ได้เรื่องหรอก ทำไปเรื่อยๆ จิตจะเริ่มมีพลัง มันจะเริ่มตั้งมั่นขึ้นๆ ไม่ใช่แค่สงบ จิตสงบไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ไปฟังเพลงเพลินๆ ลืมเนื้อลืมตัว นิ่งๆ บอกสงบ ไม่ใช่เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นไปทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน ทำตัวนี้ให้มาก จิตจะค่อยๆ มีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อันนี้เป็นวิธีสำหรับคนที่ไม่ทรงฌาน คนที่ไม่ได้ทรงฌานใช้วิธีนี้

ถ้าคนทรงฌาน จะเป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างพอจิตเกิดแสงสว่าง จิตเคล้าเคลีย จิตอยู่กับแสงสว่าง เรียกว่ามีวิตก มันจับแสงสว่างเป็นอารมณ์ไว้อันเดียว ไม่เอาอันอื่นเลย จิตเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ไม่หนีไปโดยไม่ได้บังคับเลย นั่นล่ะวิจาร มันเคล้าเคลียอยู่

เสร็จแล้วจิตจะเกิดปีติ เกิดความสุข จิตจะเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นอยู่ ต่อมาจิตก็มีปัญญามากขึ้น รู้ว่าการที่จิตยังตรึก ยังเคล้าเคลียอยู่กับแสงสว่าง ยังเป็นภาระอยู่ จิตก็วางแสงสว่าง ทวนกระแสเข้ามา ตรงนี้เอโกทิภาวะ คือสภาวะที่เป็นสมาธิแท้ๆ สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้น เรียกว่าเราจะได้จิตผู้รู้ขึ้น ตรงที่มันวางแสงสว่าง หรือวางอารมณ์กรรมฐานไปแล้ว จิตจะตั้งขึ้นมาตรงนี้ แล้วถ้าเดินลึกเข้าไป ก็จะเข้าฌานที่สูงขึ้นๆ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

จริงๆ ไม่ต้องถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ อันนั้นฌานที่แปด เอาแค่ฌานที่สี่ก็ได้ จิตเป็นอุเบกขา ตัวอุเบกขาดี สงบ ตั้งมั่น เป็นกลาง ที่หลวงพ่อพูด ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สำหรับคนซึ่งเดินแนวของสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ได้ฌานที่สี่ แต่ถ้าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ทำจิตเป็นขณะๆ เรียกใช้ขณิกสมาธิ สะสมไปเรื่อย จิตหลงแล้วรู้ๆ หลงไปเพ่งก็รู้ หลงไปคิดก็รู้ จิตจะค่อยมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ความตั้งมั่นตัวนี้ไม่ทนทาน จะไม่เหมือนคนที่ตั้งมั่นขึ้นมาโดยผ่านฌานมา พวกนั้นจะทรงตัว จิตทรงตัวอยู่อย่างนั้นได้หลายวัน แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน

แต่ถ้าเราทำฌานไม่ได้ คนยุคนี้ คนที่ทำฌานได้ ไม่ค่อยมีหรอก เพราะว่าเป็นยุคของสมาธิสั้น สมาธิสั้น ก็เรียกพวกขณิกสมาธิ สมาธิสั้นๆ ชั่วขณะเดียว เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ ไม่ต้องไปฝืน ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทัน จิตหลงก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ ทำซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ต่อไปหลงปุ๊บรู้ปั๊บๆ จิตมันจะมีกำลังมากขึ้นๆ มันจะตั้งมั่นเด่นดวง สภาวะเทียบเท่ากับจิตที่ไปผ่านฌานที่สองมาแล้ว เทียบเท่ากัน แต่ไม่ทนทานเท่าเท่านั้นล่ะ

ฉะนั้นเราทุกวันต้องทำ คล้ายๆ แบตของเราเป็นแบตคุณภาพไม่ดี เราก็ต้องชาร์จบ่อยๆ ชาร์จทุกวันๆๆ ไป บางทีวันเดียวชาร์จครั้งหนึ่งไม่พอ ก็ชาร์จเช้า สาย บ่าย เย็น ชาร์จไปเรื่อยๆ ก็คือทำกรรมฐานของเราไปเรื่อยๆ แล้วรู้ทันจิตไป จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน สุดท้ายจิตมันก็มีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างพวกเราหลายคน หลวงพ่อมองปร๊าด หลวงพ่อก็รู้แล้ว มันดูออก หน้าตามันไม่เหมือนคนหลง คนที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวกับคนหลง หน้าตาไม่เหมือนกัน ราศีต่างกัน ไม่เหมือนกัน ผิดกันไกลเลย

 

การเจริญปัญญาที่แท้จริง

พอจิตเราได้ตั้งมั่น มันก็ถึงขั้นในการเจริญปัญญาที่แท้จริงแล้ว การเจริญปัญญามีเครื่องมือสำคัญ 2 ตัว สัมมาสติกับสัมมาสมาธิ แล้วก็ให้ความสำคัญลงมาที่กิเลส ตรงที่เราคอยรู้เท่าทันกิเลสตัวเอง จิตใจเรามีกิเลส เรารู้ทัน กิเลสก็ดับ จิตก็เกิดเป็นกุศล ตรงนั้นคือตัวสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คอยเพียรรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไป กิเลสอะไรเกิด รู้ทันมันไป กิเลสมันก็จะดับ เกิดเป็นกุศลขึ้นแทน

เหมือนการทำสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา ท่านสอน จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ ตรงที่มีราคะ รู้ว่ามีราคะ ราคะดับ กุศลเกิดแล้ว จิตเป็นอโลภะขึ้นมา จิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้นสัมมาวายามะอาศัยสติรู้ทันจิตของเราอีกนั่นล่ะ แล้วเราคอยรู้ทันจิตบ่อยๆ บ่อยๆ ไป สติเราก็ไวขึ้นๆ สัมมาสติก็เข้มแข็งมากขึ้น สัมมาสมาธิก็บริบูรณ์ขึ้น ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรมไหลผ่านไป เป็นแค่ปรากฏการณ์ของรูปธรรม ปรากฏการณ์ของนามธรรมไหลผ่านไป

รูปที่ดีหรือรูปที่เลวเสมอกันๆ คือมาแล้วก็ไป นามธรรมที่ดีหรือนามธรรมที่เลว นามธรรมที่สุขหรือนามธรรมที่ทุกข์ ก็เสมอกัน มาแล้วก็ไป จิตที่ตั้งมั่นแล้วเป็นกลาง มันมีลักษณะอย่างนี้ มันจะเห็นสภาวะของรูปธรรมนามธรรมไหลผ่านไป จริงๆ ดูแล้ว มันเหมือนฝันอยู่ รูปนาม ขันธ์ 5 เหมือนเราฝันๆ เท่านั้น มันก็ไหลผ่านไปเรื่อยๆ ไม่มีสาระแก่นสารอะไร เหมือนภาพลวงตา ไม่ได้มีอยู่เท่าไรหรอก ไม่มีจริง เป็นภาพลวงตาที่หลอกให้คนหลงเท่านั้นเอง

พอเราภาวนามากเข้าๆ ตรงที่จิตเราตั้งมั่นและเป็นกลาง มันตั้งมั่นและเป็นกลางด้วยกำลังของสมาธิ พอเรามีสัมมาวายามะ คอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองที่มันมีกิเลส สติก็ไวขึ้น สมาธิก็ดีขึ้น สุดท้ายปัญญาเกิด เวลาปัญญาเกิด เกิดชั่วแวบเดียว ตรงนี้จำให้ดี ถ้าบอกว่าปัญญาเกิดแล้วปัญญาอธิบายธรรมะให้เราฟังเป็นชั่วโมง ไม่ใช่ปัญญาหรอก อันนั้นความฟุ้งซ่านของจิต ปัญญาเวลาเกิด เกิดชั่วแวบเดียวเท่านั้นเอง

อย่างมีเด็กคนหนึ่งเล่าให้หลวงพ่อฟังเมื่อเช้า เขาเรียนอยู่กับคุณแม่ คุณแม่ชี เขาก็ภาวนาของเขาอยู่นั่นล่ะ แล้วงานเหนื่อย งานเยอะ ภาระทางโลกเยอะมาก ทั้งเรียน ทั้งทำงาน ทั้งมาช่วยงานวัดอะไร ยาวนานหลายสัปดาห์ต่อกัน มันเหนื่อยมาก วันหนึ่งก็นอนอยู่ สติระลึกรู้ลงไป ร่างกายนี้เหน็ดเหนื่อย ร่างกายนี้ไม่ไหว บังคับมันไม่ได้แล้ว จิตที่เคยฝึกให้มันไหลแล้วรู้ไป มันตั้งมั่นมากพอ ปัญญามันก็เกิด

มันเห็นร่างกายเห็นโลกเป็นอันเดียวกัน มันราบเป็นหน้ากลอง เสมอกันหมด อันนี้เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้นเอง อันนี้เป็นความสงบ เป็นอุเบกขาด้วยปัญญาๆ เกิดไม่นานๆ มาบอกหลวงพ่อว่าเกิดแวบเดียวเอง บอก เออ ถ้ายาวกว่านั้นก็คิดเอา ไม่ใช่ตัวจริงหรอก เวลาปัญญาจริงๆ เกิด ชั่วขณะเท่านั้น ตัวนั้นดี แล้วปัญญาแบบนี้จะฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกเลย ฝังลงไปในจิตใจ ปัญญาอย่างนี้ข้ามภพข้ามชาติได้

สมมติว่าชาตินี้ภาวนาไม่ได้มรรคได้ผลอะไร ชาติต่อไปมีอารมณ์อะไรแรงๆ มากระทบเท่านั้นเอง จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาแล้วเห็นโลกราบไปเลย มันเห็นโลกราบลงไป เพราะมันไม่เข้าไปหยิบฉวยโลก มันไม่หยิบฉวยร่างกาย ไม่หยิบฉวยโลก มันก็เลยราบเสมอกัน ทั้งร่างกายทั้งโลกข้างนอกราบ หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนโบราณ ท่านใช้คำว่า ภาวนาจนโลกมันราบเป็นหน้ากลอง ยุคนี้เรารู้จักกลองไหม ยังมีใช่ไหมกลอง หน้ากลองมันก็แบนๆ เรียบๆ ถ้าหน้ากลองตะปุ่มตะป่ำ ตีได้อย่างไร

โลกมันเรียบเสมอกันหมด อันนี้มันเป็นกลางด้วยปัญญา เป็นกลางด้วยปัญญามันเกิดจากอะไร เกิดจากมีความเพียรชอบๆ คอยเรียนรู้จิตใจของตัวเอง รู้ทันกิเลส กิเลสเกิดรู้ทัน จิตที่เป็นกิเลสก็ดับ เกิดจิตที่เป็นกุศล แล้วการที่กิเลสเกิดแล้วรู้ นั่นคือสติ กิเลสดับ เรารู้ นั่นคือสติ ฉะนั้นโลภะเกิด รู้ทัน สติเป็นตัวรู้ทัน อโลภะ ความไม่โลภเกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ทัน สติที่แท้จริงเกิด สมาธิที่แท้จริงก็เกิด

ฉะนั้นเวลาบางครั้งจิตมันราบนิ่งอยู่นานๆ อันนั้นเป็นกลาง เป็นความสงบด้วยอำนาจของสมาธิ แต่เวลาที่ปัญญาเกิด เกิดชั่วแวบเดียว ไม่เกิดยาว ถ้าเกิดยาวคือคิดเอา ไม่ใช่ของจริง ฉะนั้นโดยเฉพาะเวลาที่อริยมรรคเกิด เกิดชั่วขณะจิตเดียวเอง เกิดโดยที่ไม่ได้จงใจให้เกิด ปัญญานี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้จงใจให้เกิด อาศัยสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิที่มากพอ ปัญญามันเกิดๆ ตัวนั้นคือตัวสัมมาญาณะ เป็นวิปัสสนาญาณ

ก็มีหน้าที่ฝึกต่อไป ก็จะเห็นมันเจริญแล้วเสื่อมเหมือนเดิม ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ไม่เป็นไปอย่างที่ใจอยาก พอเห็นซ้ำๆๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จิตจะรวมเข้ามาอีก เกิดปัญญาอีกรอบหนึ่ง 2 รอบ 3 รอบอะไรก็ได้ ถ้าอินทรีย์มันแก่กล้า บารมีแก่กล้าพอ อริยมรรคก็เกิด

 

 

เส้นทางนี้ไม่ได้ยาก แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางของคนจริง คนจริงไม่ใช่แปลว่าคนจริงๆ หมายถึงคนที่เข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการที่จะเรียนรู้ตัวเอง อันนี้ก็อยู่ใต้กฎแห่งกรรม ใครทำกรรมอันใดไว้ ก็จะต้องรับผลของกรรมนั้นสืบไป เราทำกรรมฐานที่ดีถูกต้อง เราก็ได้รับผล ได้รับผลเป็นความร่มเย็นในจิตใจ การที่เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา นี่เรียกเราเจริญเหตุที่เป็นตัวมรรค ผลคือความพ้นทุกข์ มันก็จะมาถึงในวันหนึ่ง

ถ้าเราทำเหตุคือตัณหา สนองกิเลสตัวเองทั้งวันเลย ทุกวัน ทั้งวัน ตามใจกิเลสตลอดเวลา ผลที่ได้ก็คือทุกข์ ทำเหตุคือตัณหา ก็ได้ผลคือตัวทุกข์ บางคนก็คิดว่า เอ๊ะ ถ้าตามใจกิเลสแล้วมีผลเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราจะไม่ตามใจกิเลสอีกต่อไป อยากกิน เราจะไม่กิน อยากนอน เราจะไม่นอน อันนี้ตามใจกิเลส แต่เป็นการตามใจในเชิง negative ในทางลบ ไม่ได้เป็นกลางกับกิเลส

เห็นกิเลสเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้นแล้วกลั้นลมหายใจไว้เลย ดูสิ ถ้ามันไม่หายโกรธตายๆ ไปเสียเลย แล้วบอกว่าชนะกิเลส ไม่ชนะหรอก หรือรักสุขรักสบาย ไปนั่งบนตะปู ตะกละก็อดข้าวอันนั้นมันไม่ใช่วิธีของพุทธหรอก มันเป็นการตามใจกิเลส กิเลสเป็นตัวตั้ง นึกออกไหม อย่างอยากสุขอยากสบายเป็นตัวตั้ง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคือแอนตี้มัน จะคล้อยตามหรือจะแอนตี้ก็คือเป็นทาสมันอยู่นั่นเอง มันไม่เป็นกลาง

ฉะนั้นเส้นทางของพระพุทธเจ้า จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตหลงรู้ว่าหลง จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ว่าหดหู่ อย่างยุคนี้ คนเป็นโรคซึมเศร้าเยอะมาก สังคมมันเครียดขึ้นทุกทีๆ คนก็จิตใจไม่ออกในทางธรรมะ ก็ดิ้นออกไปในทางซึมเศร้าเสีย อยากลืมโลกมันไปเลย อันนั้นเป็นปฏิกิริยาที่จิตมันหนีความจริง ฉะนั้นเราชาวพุทธ อย่าไปยอมแพ้ อย่าไปหนี กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ให้ดูที่จิตตนเอง จิตเราไม่ชอบ ให้รู้ว่าไม่ชอบ ดูตรงนี้ ไม่ใช่ไปดูว่าเมื่อไรเรื่องที่ไม่ดี อารมณ์ที่ไม่ดีจะผ่านไป ไม่ต้องไปดูตรงนั้น ดูเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจเลย

อย่างแฟนเราทิ้งเราไป เราไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไรเขาจะกลับมา หรือจะทำอย่างไรจะแก้แค้นได้ ให้ดูเข้าไปที่ใจเลย ใจเศร้าโศกเสียใจ รู้ทัน ใจคับแค้น รู้ทัน เรียนลงมาตรงนี้ เรียนเข้ามาที่จิตที่ใจตัวเอง ในที่สุดจิตมันก็เป็นกลาง จะเป็นกลาง ไม่เป็นแล้วโรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ไม่ซึมเศร้าแล้วคราวนี้ แต่อันนี้ยกเว้นว่าเป็นโรคทางสมอง อันนั้นเป็นเรื่องทาง physical ต้องไปหาหมอ ต้องไปกินยา แต่ถ้าเป็นโรคที่เกิดจากจิตใจ ภาวนา

ให้เห็นใจที่ชอบกับไม่ชอบ 2 ตัวนี้ล่ะ หายเลย หายทันทีได้เลย จิตใจไม่ชอบอารมณ์นี้ก็เลยหดๆ ลงมาอย่างนี้ ซึมเศร้าอยู่ ให้รู้ทันเลย ใจไม่ชอบ หายทันที ของง่ายๆ เราลูกมีพ่อมีแม่ ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ไม่ยอมแพ้ ไม่ปล่อยให้ใจจมอยู่กับอดีต จมอยู่กับความหดหู่ เรียนรู้มันเข้าไป ถ้ารู้มันด้วยจิตที่เป็นกลาง คือไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่ชอบไม่ชัง จิตมันจะเด่นดวงขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมาใหม่ ของง่ายๆ

เมื่อวานหลวงพ่อเพิ่งเทศน์ตามใจเด็ก เด็กเยอะ เลยเทศน์เวอร์ชันเด็กประถม วันนี้เวอร์ชันสูงขึ้นนิดหนึ่ง เป็นเด็กมัธยม พวกเราบางคนก็เป็นอุดมศึกษา อยู่ระดับอุดมศึกษาแล้วก็รีไทร์ เยอะ ทำๆ ไปพอจะดีก็เลิกอะไรอย่างนี้ พวกนี้คล้ายๆ เรียนไม่จบรีไทร์เสียก่อน อดทนสิ สอบตกสอบอีก เรียนไปเรื่อยๆ

เรียนอะไร เรียนกายเรียนใจ โดยเฉพาะเรียนจิตใจให้ได้ ถ้าเรียนจิตใจได้ ได้ครบเลย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิได้หมด สัมมาญาณะคือการทำวิปัสสนา มันเกิดอัตโนมัติเลย อย่างพอจิตเราตั้งมั่น เราเห็นกายกับใจมันแยกเป็นคนละอันได้แล้ว ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน เริ่มเดินปัญญาแล้ว ลึกลงไปอีกก็เห็นไตรลักษณ์ ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ จิตก็เป็นไตรลักษณ์ รูปที่ดีกับรูปที่ไม่ดี เป็นไตรลักษณ์ จิตก็เสมอกัน

ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้น ดับไป เสมอกัน จิตก็เป็นกลาง กุศลอกุศลเกิดขึ้น ตัวนี้ไม่อยากพูดเลย เดี๋ยวพวกเราบอกมีกิเลสก็ได้ มีกิเลสแล้วไปทำกรรมชั่ว ผลที่ได้รับคือทุกข์ แต่จริงๆ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง กุศลอกุศลมันเสมอกัน แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งเรียนตรงนี้ เดี๋ยวกิเลสจะพาเรา บอกกุศลอกุศลเสมอกัน อยากด่าใครก็ด่า ไม่ได้ ทำชั่วเมื่อไรผลเป็นทุกข์ทันที แต่ถ้าปัญญามันเลยระดับขึ้นมาแล้ว จะเห็นกุศลอกุศลก็เกิดดับเหมือนกัน อย่าให้ปัญญาล้ำหน้า เดี๋ยวเสียคน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
9 เมษายน 2566