คุณของพระพุทธเจ้า

ใช้ได้ นั่งก็ภาวนาเอา อย่าเสียเวลาเปล่าๆ ใช้ใจธรรมดาๆ ไปรู้กาย ธรรมดาของกายเป็นอย่างไร ใช้ใจธรรมดา ไปรู้ความเป็นธรรมดาของจิตใจ จิตใจนั้นธรรมดามันเป็นอย่างไร ง่ายๆ อย่างนี้เอง มันไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก เราวาดภาพการปฏิบัติธรรม มันยากเกินความเป็นจริง เราจะรู้จักกาย รู้จักใจ จะรู้ได้ก็ต้องให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ จิตใจเราล่องลอย คิดเรื่องโน้น คิดเรื่องนี้ มันก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจได้ อย่างเวลาเราเผลอไปดู เห็นอะไรผ่านมาแล้วไปดู เห็นหมาวิ่งมาก็ไปดูหมา จิตเราไปอยู่กับหมา ร่างกายเรากำลังชะเง้อมองหมา ไม่เห็น ไม่รู้ร่างกายกำลังไปจ้องหมา จิตใจกำลังสนใจว่า เอ๊ะ หมาที่ไหนมันเข้ามาในบ้านเรา ไม่รู้ว่ากำลังสงสัย

ฉะนั้นการที่จะรู้กาย จะรู้ใจ มันไม่ยากหรอก มันยากแค่เราไม่สนใจที่จะรู้ เราสนใจรูปข้างนอกที่เรามองเห็น สนใจเสียงที่ได้ยิน สนใจกลิ่น สนใจรส สนใจสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย อย่างเวลายุงมากัดเรา เราสนใจยุง เราไม่สนใจว่าตอนนี้จิตกำลังพยาบาท อยากตีให้ยุงตาย ไม่เห็น หรือใจเราคิดไปแล้วเกิดสุขบ้าง เกิดทุกข์บ้าง เกิดกุศลบ้าง เกิดโลภ โกรธ หลงบ้าง เราไม่รู้ เพราะว่าเรามัวแต่รู้เรื่องที่คิด

 

จิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว

ธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว อย่างพอมันไปรู้รูปที่มองเห็น มันก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจ พอมันไปสนใจกับเสียงที่ได้ยิน มันก็ลืมกายลืมใจตัวเอง อย่างสามีภรรยาข้างบ้านเรา สมมติว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน เขาทะเลาะกันเสียงดัง เราก็ฟัง อันนี้ยังไม่เท่าไร ถ้าเขาพูดกันเบาๆ แล้วอยากฟัง พยายามเงี่ยหูฟัง จิตใจเรามันพุ่งไปที่เขา พุ่งไปที่เสียง พุ่งไปที่คนที่พูด เราไม่สามารถเห็นได้ว่า จิตใจเรากำลังเป็นเปรตอยู่ กำลังยืดคอให้ยาว จะไปฟังชาวบ้านเขา โลภะมันเกิด ไม่เห็น

ฉะนั้นจริงๆ แล้ว การจะรู้กายรู้ใจตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ใครๆ ก็ทำได้ อย่าสนใจสิ่งที่ถูกรู้มากเกินไป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กระทบร่างกาย ธัมมารมณ์ คือเรื่องราวทางใจ เวลาจิตเราไปสนใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจ อย่างเราใจลอย ไปคิดถึงใครสักคนหนึ่ง คนมาร้องเรียกเรา เรายังไม่ได้ยินเลย มันลืม ร่างกายนั่งอยู่ ไม่รู้ หรือนอนคิดอยู่ ร่างกายนอนอยู่ ไม่รู้ คิดไปแล้วเกิดสุข ไม่รู้ คิดแล้วเกิดทุกข์ ไม่รู้ คิดแล้วโลภ โกรธ หลง ไม่รู้ เพราะอะไร เพราะมันมัวแต่ไปรู้ในรูปทั้งหลาย ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส รู้เรื่องราวที่คิดนึกทั้งหลาย มันก็เลยไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ เพราะธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว

อันนี้ถ้าเราค่อยๆ สังเกตจิตใจของเรา เราจะเข้าใจ อย่างเราดูทีวี ดูซีรีส์ ดูอะไรอย่างนี้ ไปสังเกตให้ดีขณะที่เราไปดูซีรีส์ แล้วเรามีกาย เราลืมกาย มีจิตใจเราลืมจิตใจ มัวแต่ไปดูซีรีส์ แล้วถ้าเรารู้ได้ละเอียดเข้าไป เราจะเห็นละเอียดขึ้นไปอีก ขณะที่เราได้ยินเสียง ตาเราจะไม่จับที่รูป รูปจะไม่ชัดแล้ว อย่างเราตั้งใจว่า พระเอกจะบอกรักนางเอกอย่างไร สนใจที่จะฟัง ตาเราที่มองจอนี้ มันจะเบลอไป มันจะไปชัดอยู่ที่เสียง ฉะนั้นถ้าหากสติเราว่องไวพอ สมาธิเรามากพอ เราจะเห็นขณะที่ดูซีรีส์ เราใช้อายตนะ 3 ตัว บางทีตาก็ไปดูรูป หูก็ไปฟังเสียง ใจก็ไปคิด อย่างเราฟังเขาพูดกัน เราก็คิดตาม หรือเขาแสดงท่าทาง เราก็คิดว่านี้เป็นภาษาท่าทาง มีความหมายอย่างไร

ฉะนั้นเราสังเกตให้ดี ที่เราแค่ดูซีรีส์อันเดียว แป๊บเดียวนั้น ประเดี๋ยวก็ใช้ตา ประเดี๋ยวก็ใช้หู ประเดี๋ยวก็ใช้ใจ สลับกันไปเรื่อยๆ มันถึงรู้เรื่อง ถ้าตาไปดู หูไปฟัง แต่ใจไปที่อื่น ตาก็มองเห็น จอทีวีก็อยู่ข้างหน้าเรานี้ ตาก็เห็น แต่ใจเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เราไม่รู้เรื่องว่าหนังไปถึงไหนแล้ว ไม่รู้ รู้อีกทีหนังจบแล้ว ฉะนั้นธรรมชาติของจิต รู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว ถ้าเรามัวแต่สนใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในเรื่องราวที่คิด เราก็ไม่สามารถรู้กายรู้ใจตัวเองได้ ใครก็ทำไม่ได้ พระอรหันต์ทำได้ไหม เห็นรูปด้วย ฟังเสียงด้วย คิดด้วย รู้ด้วย

จิตเกิดดับเป็นขณะๆ เวลาคิด จิตก็ไม่ได้จับอยู่ที่รูปนาม ไม่ได้มองเห็นไตรลักษณ์ แล้วไปรู้เรื่องที่คิด เป็นอารมณ์บัญญัติ ใจมันก็หมุนเวียนไป ฉะนั้นกระทั่งพระอรหันต์ ท่านยังมีจิตที่อยู่ในกามาวจร คือจิตบางดวงก็ไปทางตา ไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไปคิด ขณะที่จิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นไม่มีกุศลหรืออกุศลอยู่แล้ว ตรงที่จิตมันคิดขึ้นมา พิจารณาอารมณ์อันนั้นขึ้นมา ถ้าเป็นพระอรหันต์ มันจะสักแต่ว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น จิตจะไม่สร้างภพขึ้น

อย่างของเราดูซีรีส์ จิตก็สร้างภพ อย่างเราอินไปกับเรื่องที่กำลังแสดง จิตเราไปสร้างภพเรียบร้อยแล้ว เราคุยกับศัตรูเรา จิตก็สร้างภพไปอีกแบบหนึ่ง เราคุยกับคนที่เราชอบ จิตก็สร้างภพไปอีกแบบหนึ่ง คุยกับพ่อแม่ จิตก็สร้างภพไปอีกอย่างหนึ่ง คุยกับลูก จิตก็สร้างภพไปอีกอย่างหนึ่ง จิตมันสร้างภพไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจของความอยาก อยากอะไร อยากให้เขาดูว่าเราดีอะไรอย่างนี้ ตัวอย่าง แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีความอยาก เพราะฉะนั้นตรงจิตที่เสพอารมณ์ สักแต่ว่า สักแต่ว่าไป ไม่ได้อินกับอารมณ์ทั้งหลาย เลยเรียกว่าเป็นกิริยาเท่านั้นเอง เป็นกิริยาอาการของจิตที่จะคิด ที่จะนึก ที่จะปรุงแต่ง เป็นกิริยาอาการเท่านั้นล่ะ แต่ว่าไม่อินกับมัน

ถ้าเราเข้าใจหลักว่า จิตมันรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว เราต้องการเรียนรู้ความจริงของกายของใจ ก็ให้จิตใจมันคอยอยู่ที่กายที่ใจ อย่าให้มันร่อนเร่ มัวแต่ไปชะเง้อดูโน่นดูนี่เพลินๆ ไป ก็ลืมกายลืมใจ มัวไปฟังเสียงโน้นเสียงนี้ ฟังเพลง ฟังเขาด่ากัน ฟังเขาชมกัน ฟังนักการเมืองหาเสียง จิตเราก็ไหลไป สังเกตไหมว่าพวกเรา ตอนที่หลวงพ่อยกตัวอย่าง เราไปเห็นดอกไม้ หรือเราไปได้ยินเสียงที่ดีๆ ใจเราก็เป็นแบบหนึ่ง พอหลวงพ่อพูดว่า ไปได้ยินเสียงนักการเมืองพูดกัน รู้สึกไหม ใจเรากระตุกขึ้นมานิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เลย ตึ้กขึ้นมาเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเสียงอกุศล

ถ้าเสียงธรรมชาตินี้ ไม่เป็นกุศลอกุศล เสียงลมพัด ใบไม้ไหว เสียงอะไรอย่างนี้ หรือเสียงบางอย่าง ถ้าเราหลงก็เป็นอกุศล ตัวเสียงไม่เป็นอกุศล อกุศลอยู่ที่ตัวเราเอง อย่างเราได้ยินเสียงนกร้องเพราะๆ เสียงนกร้อง เสียงไม่มีกุศลอกุศล แต่ใจเราชอบ เพลิน อันนี้เผลอเพลิน เป็นราคะ เพลินๆ ไป ฉะนั้นกุศลอกุศลมันมาที่จิตของเรานี้เอง อาศัยการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ส่งสัญญาณเข้ามาแปลค่า เกิดกุศลอกุศลขึ้นที่จิต

หรือบางทีไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจเราคิดขึ้นมา อย่างอยู่ดีๆ เราคิดถึงคน คนหนึ่งขึ้นมา ไม่เคยคิดถึงมาตั้ง 20 ปีแล้ว ไม่เคยนึกถึงเลย อยู่ๆ สัญญามันผุดขึ้นมา นึกถึงคนนี้ขึ้นได้ ความรู้สึกทั้งหลายมันก็เกิดตามมา เช่น คนนี้เป็นเพื่อนรักของเรา พอเราคิดถึง สบายใจ หรือคิดถึงเราสงสัย เอ๊ะ ตอนนี้เพื่อนเราคนนี้ไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร จะสุขหรือทุกข์ จะยากจนหรือร่ำรวย ใจมันฟุ้งต่อ สัญญามันผุดขึ้นมา ใจก็ปรุงต่อได้ หลงต่อได้ ก็มาปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วต่อไป

 

อ่านจิตได้ให้อ่านจิตไป ถ้าอ่านจิตไม่ได้ ก็มาคอยรู้สึกกายไป

เราค่อยๆ ให้จิตใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็คอยอ่านใจของเรา ถ้าอ่านใจไม่ออก ก็อ่านร่างกายเรา อย่างเราเจอคนที่เราเกลียด เกลียดอย่างแรงเลย เราขยับจะด่า อยากด่าแล้ว ถ้าสติเราเร็วเราเห็นเลย จิตมันอยากด่า ความอยากดับมันก็ไม่ด่า ถ้าสติยังไม่ทัน อ้าปากแล้ว อ้าปากจะด่าแล้ว สติเกิดรู้ทันขึ้นมา เปลี่ยนจากคำด่าเป็นคำทักทาย มันเปลี่ยนได้ ฉะนั้นถ้าสติเกิด เราก็จะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไป

แล้วถ้าอ่านจิตได้ให้อ่านจิตไป ถ้าอ่านจิตไม่ได้ ก็มาคอยรู้สึกกายไป อย่างเราโกรธคนหนึ่ง จะชกเขา เราเห็นความอยากจะชก อยากทำร้าย สติเราเร็ว เราเห็น ตั้งแต่จิตเริ่มทำงาน จะประทุษร้ายเขา อย่างนี้ดี เก่ง ถ้าตรงนี้ยังไม่ทัน เงื้อหมัดแล้ว จะชกแล้ว สติระลึกได้ ร่างกายเคลื่อนไหว สติระลึกได้ ความโกรธก็ดับทันที ทันทีที่สติเกิด อกุศลจะดับ ความโกรธหายไป กำลังจะชก ก็เปลี่ยนจากกำปั้น ทักทายอะไรอย่างนี้

ฉะนั้นเราฝึก ฝึกอ่านกาย อ่านใจของเราให้ชำนิชำนาญ การปฏิบัติมันจะไม่ยาก ที่ยากเพราะเราไม่รู้ว่า การปฏิบัติจริงๆ นั้น คือการเจริญสติ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ แล้วเจริญปัญญา หลักของการปฏิบัติจริงๆ งานสิ่งเหล่านี้ ฝึกให้จิตมีกำลัง อันนี้เรียกฝึกสมถะ เราฝึกให้จิตเกิดปัญญา เรียกว่าการทำวิปัสสนา แต่จะทำวิปัสสนาได้ ก็อาศัยเครื่องมือหลายตัว ตัวหนึ่งคือสติ สติเป็นตัวรู้ทัน อะไรเกิดขึ้นในร่างกาย รู้ทัน อะไรเกิดขึ้นในจิตใจ รู้ทัน สติเป็นตัวรู้ทัน เครื่องมืออีกตัวหนึ่งก็คือตัวสมาธิ สมาธิคือสภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าจิตใจเราลอย สติไม่มีหรอก ใจลอยมันเป็นอกุศล ไม่มีสติ

ฉะนั้นเราพัฒนาเครื่องมือคู่นี้ สติกับสมาธิ ถ้าเราพัฒนาคู่นี้ขึ้นมาได้ การเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐาน จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อย่างถ้าเราฝึกจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมาปุ๊บ เราจะเห็นขันธ์มันแยกได้ นั่นปัญญาขั้นต้นมันเกิดแล้ว อย่างพอจิตเรามีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาอย่างนี้ เรารู้สึกไหม ร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นไหมร่างกายมันนั่ง เห็นด้วยใจ ไม่ต้องเห็นด้วยตา หลับตาอยู่แล้วรู้ไหมว่ากำลังนั่งอยู่ ก็รู้ เพราะฉะนั้นรูปที่นั่ง ไม่ได้รู้ด้วยตา แต่รู้ด้วยใจ รูปตัวนี้เขาเรียกวิญญัติรูป รู้ด้วยใจ

หายใจอยู่รู้ไหม ร่างกายหายใจอยู่รู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่ากำลังหายใจ ยากไหมที่จะรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า ลองหายใจอยู่ หายใจด้วยใจธรรมดานี้ล่ะ แล้วจะรู้ไหม รู้ไหมว่ากำลังนั่งอยู่ รู้ไหมว่ากำลังเกา รู้ไหมว่าขยับมือ ของง่าย ไม่ใช่เรื่องยากเลย รู้ไหมก้มลงไป ไปหยิบน้ำแล้ว ใจมันอยากกินน้ำ เห็นไหม ใจมันอยากกินน้ำ ยังไม่เห็น เอื้อมมือหยิบมาก็ยังไม่เห็น พอหลวงพ่อบอกแล้วเห็น ขณะนั้นใจมันไหลไปอยู่ที่กระติกน้ำแล้ว มันไหลไป หัดรู้อย่างนี้ หัดรู้เรื่อยๆ ไป แล้วจะพบว่า การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ พวกไม่ปฏิบัติคือพวกที่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่ปฏิบัติก็คือ คนที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่

ฉะนั้นเราพยายามรู้สึก นั่งพัดอยู่นี้ก็ทำกรรมฐานได้ เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่ที่สวนโพธิ์ฯ พรรษาที่ 1 พรรษาที่ 2 มีการพัดอย่างนี้เป็นเครื่องอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว ที่เมืองกาญจน์ฯ นั้นร้อนจัด หน้าร้อนนี้ร้อนสุดๆ เลย นั่งพัด ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก พอพัดแล้วลมมันเย็นๆ มากระทบ เกิดความพอใจ รู้สึก มันง่ายๆ เห็นไหมจะทำอะไรคอยรู้สึกกายรู้สึกใจ มันก็เป็นกรรมฐานไปหมด จะนั่งสมาธิอยู่ เดินจงกรมอยู่ แต่ลืมกายลืมใจ ไม่ได้ทำกรรมฐานอยู่ กำลังหลงอยู่

ฉะนั้นการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่กระบวนท่า ว่าจะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าเรามีสติหรือเปล่า เรามีสมาธิ คือจิตใจตั้งมั่น อยู่กับเนื้อกับตัวหรือเปล่า ถ้าเราไม่มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าเรามีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วจ้องเอาไว้ สติถลำลงไปจ้องอยู่ในร่างกาย ได้สมถะ ถ้าจิตมันตั้งมั่นจริงๆ มันเห็นว่าจิตกำลังถลำลงไป จิตที่ถลำไปก็ดับ เกิดจิตที่ตั้งมั่นจริงๆ ขึ้นมา แล้วขันธ์จะแยกทันทีเลย มันจะเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ร่างกายมันเคลื่อนไหว จะรู้สึกรูปมันเคลื่อน นามธรรมคือจิตมันเป็นคนรู้ ดูไปๆ ไม่เห็นมีเราสักที่หนึ่ง มีแต่รูปธรรมกับนามธรรม รูปมันเคลื่อนไหว จิตใจเป็นนามธรรม เป็นคนรู้

จิตใจก็เป็นของบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้ จงรู้แต่รูป อย่างนี้สั่งไม่ได้ จงรู้แต่เสียง สั่งไม่ได้ จงอย่าคิด สั่งไม่ได้ ฉะนั้นตัวจิตเองก็สั่งอะไรมันไม่ได้ ร่างกายมันก็เป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นวัตถุ เป็นธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เป็นสมบัติของโลก เรายืมโลกมาใช้ ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องคืนให้โลก เขาเอาไปฝัง เอาไปเผา คืนสมบัติอันนี้ คือร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คืนโลกไป ส่วนจิตใจเป็นส่วนของนามธรรม เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญปัญญาอยู่

เราจะเจริญปัญญาได้ สติรู้ทัน เช่น ร่างกายเราเคลื่อนไหว สติรู้ จิตใจเราเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วขึ้นมา มีความเปลี่ยนแปลงในจิตใจแล้ว สติรู้ แต่ขณะที่สติรู้ จิตต้องตั้งมั่น จิตไม่ถลำลงไปรู้ ตัวนี้ล่ะที่ยากมากเลย เพราะเวลาเรารู้อะไร จิตมันจะถลำลงไปรู้ที่นั้น อย่างเราเห็นหมาเดินมา จิตเราถลำไปอยู่กับหมา มันพุ่งออกไปเลย เราไปคิด คิดถึงเพื่อนที่อเมริกา จิตทะลุไปอเมริกาเลย จิตมันพุ่งออกไป พยายามฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึก 2 ตัว ฝึกสติกับฝึกให้จิตตั้งมั่น

 

สิ่งที่เราต้องการก็คือสติกับสมาธิ

ฝึกให้จิตตั้งมั่นทำอย่างไร อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น ง่ายๆ ฉะนั้นต้องฝึกสติก่อน จะได้เอาสติไปรู้ทันจิตไม่ตั้งมั่น ทำอย่างไรจะมีสติ ในสติปัฏฐานนั้นทำไปเพื่อ 2 เหตุผล เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อมีปัญญา ฉะนั้นเราลงมือทำสติปัฏฐาน ฐานกายก็ได้ ฐานเวทนา คือสุขทุกข์ก็ได้ ฐานจิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ได้ ฐานของธรรม อันนี้พวกเรายังไม่ต้องฝึก ยาก มันประณีต มันละเอียด เอาฐานกาย ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าจะสงบหรือไม่สงบ เพราะอันนี้เราจะฝึกสติ เราไม่ได้ฝึกเอาสงบ

ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายกระดุกกระดิก รู้สึก คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ สติเป็นตัวรู้ทัน ทีแรกอาจจะขยับไปพักหนึ่งแล้ว เกาๆ เกาอยู่พักหนึ่งแล้วนึกได้ เฮ้ย นี่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ร่างกายกำลังเคลื่อนอยู่ อย่างนี้ก็ ตรงที่รู้ทันนั้นล่ะ มีสติขึ้นมา ตรงที่เคลื่อนไหวโดยไม่รู้ทัน ตรงนั้นหลงอยู่ ฉะนั้นเราเดินจงกรมไป จิตเราไหลลงไปที่เท้า เราไม่เห็น ตรงนั้นหลงอยู่ หลงเพ่ง ได้แต่ความสงบ แต่ถ้าเราเดินอยู่ จิตเราไหลไปอยู่ที่เท้าปุ๊บ เรารู้ว่าจิตไหลไป สติเกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ว่าจิตไหลไป จิตก็จะตั้งมั่น สมาธิก็จะเกิด หรือเราเห็นร่างกายมันหายใจ สติรู้ว่าร่างกายหายใจอยู่ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา

เพราะฉะนั้นลองฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทัน ถ้าจิตมันไหลไปแล้วรู้ไป แล้วเราจะได้ควบเลย ได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิควบกัน นี่เป็นหลักสูตรเร่งรัด หลักสูตรเร่งรัด ยุคนี้อะไรๆ ก็ต้องเร็ว เราก็ทำกรรมฐานหลักสูตรแบบเก่าๆ ใช้เวลานาน อย่างหัดพุทโธก็เป็นปีๆ เลย หัดพุทโธไป กว่าจะมารู้สึกตัวได้ อีกนาน ที่หลวงพ่อบอกพวกเรานี้ มันเป็นหลักสูตรเร่งรัด แต่ถ้าเราทำก็ได้ผล เพราะหลวงพ่อทดลองมาแล้ว ขนาดพวกพระ พระอยู่กับครูบาอาจารย์ เคยมาถามหลวงพ่อว่า “โยมทำได้อย่างไร โยมปฏิบัติปีหนึ่ง เหมือนพระทำ 10 ปี 20 ปี” บอก “ผมทำทั้งวัน”

ท่านก็นึกว่าเรานั่งสมาธิทั้งวัน เดินจงกรมทั้งวัน ไม่ใช่ เพราะเราทำมาหากิน เราก็ต้องโหนรถเมล์บ้าง ไปนั่งทำงานบ้าง ทำคอมพิวเตอร์บ้าง กินข้าวบ้าง อาบน้ำบ้าง ขับถ่ายบ้าง ใช้ชีวิตอย่างนี้แต่ทำไมปฏิบัติได้ เพราะร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก ทันทีที่ร่างกายเคลื่อนไหวแล้วเรารู้สึก มันไม่ได้แค่มีสติอย่างเดียว ทันทีที่สติเกิด สมาธิที่ถูกต้องมันเกิดอัตโนมัติเลย หรือจิตเราโกรธ สติรู้ว่าโกรธ ความโกรธดับปั๊บ จิตตั้งมั่น สมาธิอัตโนมัติเกิดขึ้นเลย

ฉะนั้นการที่เราฝึกสติปัฏฐาน คอยรู้สภาวะไปเรื่อย ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายหายใจ รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก นี่ทำสติปัฏฐานไป หรือร่างกายสุข รู้สึก ร่างกายทุกข์ รู้สึก จิตใจสุข รู้สึก จิตใจทุกข์ รู้สึก จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ รู้สึก จิตใจโลภ รู้สึก จิตไม่โลภ รู้สึก จิตโกรธ รู้สึก จิตไม่โกรธ รู้สึก จิตหลง รู้สึก จิตไม่หลง รู้สึก จิตฟุ้งซ่าน รู้สึก จิตหดหู่ รู้สึก คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ ตัวที่คอยรู้สึกนั่นล่ะ เรียกว่าตัวสติ ทีแรกสติไม่ค่อยเกิด หลงไปตั้งนาน สติถึงจะรู้ หลงคิดไปชั่วโมงแล้ว เพิ่งรู้ว่า เอ๊ะ นี่มันหลงนี่ ต่อมาพอเรารู้บ่อยๆ มันจะหลงสั้นลงๆ สติก็จะเกิดเร็วขึ้นๆ อย่างเคยโกรธชั่วโมงหนึ่งถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ขึ้นมาก็เห็นแล้ว รู้แล้ว

การที่เราฝึกรู้สภาวะเนืองๆ รู้กาย รู้สุขทุกข์ รู้ดีชั่วเนืองๆ สติเราจะเร็วขึ้น แล้วสมาธิก็จะเพิ่มขึ้น เบื้องต้นของสติปัฏฐาน ทำแล้วได้สติ ได้สมาธิขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตใจเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เราก็ทำสติปัฏฐานต่อไป รู้สึกกายรู้สึกใจต่อไป ด้วยจิตที่ตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น เรียกว่ามีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา มันเกิดอย่างไร อย่างจิตเราตั้งมั่นอยู่ พอความโกรธเกิดขึ้น สติรู้ทัน ความโกรธดับ จิตก็ตั้งมั่น แล้วมันจะค่อยเห็น ความโกรธกับจิต มันคนละอันกัน ปัญญามันเริ่มเกิดแล้ว มันแยกได้แล้ว ความโกรธมันเป็นสังขารขันธ์ ตัวจิตมันเป็นตัววิญญาณขันธ์ คนละอันกัน

หรือเรากำลังใจลอย แต่เราฝึกสติจนชำนาญแล้ว เราใจลอย เราหันตัวอย่างนี้ ได้ยินเสียงอะไรแปลกๆ หันปุ๊บ ร่างกายเคลื่อนไหว สติรู้ สมาธิเกิด จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเลย แล้วมันจะเห็นเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหว มันถูกรู้ถูกดู มันเป็นของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่จิต ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นว่า ร่างกายกับจิต คนละอันกัน สุขทุกข์กับจิต คนละอันกัน ดีชั่วกับจิต ก็คนละอันกัน ค่อยฝึกอย่างนี้ไป เพราะฉะนั้นทำสติปัฏฐานไป ทำไป ดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตที่เป็นกุศลอกุศลก็ได้ เอาที่เราถนัด อะไรก็ได้ เหมือนกันล่ะ เพราะสิ่งที่เราต้องการก็คือสติกับสมาธิ

เราเห็นกายเคลื่อนไหว รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของกาย มันก็ได้สติ ตรงที่รู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว มีสติเกิดขึ้น สมาธิก็เกิดขึ้น ตรงที่มีสุขทุกข์เกิดขึ้น สติรู้ทันสุขทุกข์เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดขึ้น ตรงที่โลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น สติรู้ทัน สมาธิก็เกิดขึ้น ตั้งมั่น แล้วพอจิตตั้งมั่นก็จะเห็นเลย ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่จิต กายกับจิต คนละอันกัน เวทนาคือสุขทุกข์กับจิต ก็คนละอันกัน สังขารคือกุศลอกุศลกับจิต ก็คนละอันกัน ตรงนี้เรียกว่าเรามีปัญญา แยกรูปแยกนามได้แล้ว พอเราแยกรูปแยกนามได้แล้ว เราจะก้าวไปสู่ปัญญาที่สูงขึ้นไปอีก เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา

 

จิตเป็นประธานของธรรมะทั้งปวง

การที่เราเห็นร่างกายเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่ง ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา เพราะเราเห็นอะไร เราเห็นกายกับเห็นจิต คนละอันกัน แต่ตรงที่ขึ้นวิปัสสนา เราจะเห็นลึกลงไปอีก ร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่นี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นตัววัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายนี้นั่งอยู่ สมมติเรานั่งอยู่นานๆ เรารู้สึกอยู่ เราจะรู้สึกเลย โอ้ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเราเดินปัญญา เดินวิปัสสนา ขึ้นมาสู่ขั้นที่เห็น ร่างกายทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ มันถูกบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถตลอดเวลา

ทำไมเราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่ามันถูกความทุกข์บีบคั้น ไปดูให้ดีเถอะ ยกเว้นแต่ว่ามีภารกิจจำเป็นจะต้องไปทำงาน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นเดิน วิ่งไปขับรถอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเรานั่ง นั่งเล่นๆ อย่างนี้ นั่งแล้วเดี๋ยวเราก็ลุก เราต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นั่งไปตลอดชีวิตก็เป็นแผลกดทับตายอีก ทำไม่ได้ มันทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ นอนแล้วกระดิกตัวไม่ได้ ก็เป็นแผลกดทับอีกแล้ว ฉะนั้นที่เรานอน เราต้องพลิกซ้าย พลิกขวา พลิกไปพลิกมา เพื่อหนีทุกข์

การที่เรามีจิตตั้งมั่นอยู่ เห็นกายมันทำงานไปเรื่อยๆ มันแยกขันธ์ได้ เห็นกายมันทำงานไป สุดท้ายปัญญามันจะเกิด ปัญญาในขั้นวิปัสสนา มันจะเห็นเลย ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถ ร่างกายต้องหายใจออก หายใจเข้า เพื่อหนีทุกข์ทั้งสิ้น เป็นเรื่องการหนีทุกข์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตัวร่างกายนี้คือตัวทุกข์ เป็นก้อนทุกข์ หรือจะมองอีกมุมหนึ่ง ร่างกายเป็นก้อนธาตุ เราเห็นมีธาตุไหลออก มีธาตุไหลเข้า หายใจออก หายใจเข้า กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย

อย่างร่างกายเรามันมีนาฬิกาชีวิตอยู่ ตอนเรานอนลำไส้ใหญ่ไม่ค่อยทำงาน ยกเว้นท้องเสีย ตอนเราตื่นนอน กลไกของร่างกาย มันจะทำให้เราอยากขับถ่าย ตื่นนอนมานี่ เพื่อให้ท้องว่าง เดี๋ยวจะได้ไปกินอย่างอื่นต่อ เพื่อให้ธาตุมันหมุนเวียน ถ้าธาตุไม่หมุนเวียนก็ทุกข์ ทุกข์มากๆ ตายเลย ลำไส้ตัน เรียกลำไส้อุดตัน ก็ตาย ไม่หมุนเวียน เพราะฉะนั้นร่างกายไม่ใช่แค่เป็นก้อนทุกข์อย่างเดียว ร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุ ต้องมีธาตุไหลเวียนตลอด ถ้าธาตุไม่ไหลเวียนเมื่อไร ก็แตกสลายเมื่อนั้น

เราเฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ เรียกว่าเรามีวิปัสสนา แต่ไม่ใช่การคิด การคิดนั้นมันเป็นอุบายเบื้องต้น ให้จิตหัดมองไตรลักษณ์ แต่ตรงที่ทำวิปัสสนาจริง ไม่ได้คิดแต่รู้สึกเอา อย่างบางคนนั่งพัดอยู่นี้ อยู่ๆ ก็รู้สึกปุ๊บเลย ตัวนี้ไม่ใช่เราแล้ว มันเป็นวัตถุอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างนี้เวลาปัญญาจริงๆ เกิด วิปัสสนาปัญญาเกิด มันไม่พูดมาก ถ้าพูดมากมันเป็นจินตามยปัญญา ปัญญาจากการคิด ฉะนั้นเวลาวิปัสสนาปัญญาเกิด เกิดชั่วขณะเท่านั้น แวบเดียว รู้สึกขึ้นมาแวบเดียวเลย แล้วถ้ากำลังมันแก่กล้า มันจะกลายเป็นโลกุตตรปัญญา เกิดอยู่ในอริยมรรค ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง ก็ล้างสังโยชน์ลงไปได้แล้ว

เราต้องค่อยๆ ฝึก ฝึก เบื้องต้นทำสติปัฏฐาน จะดูกายก็ได้ ดูเวทนาคือสุขทุกข์ก็ได้ ดูสังขารที่เป็นกุศลอกุศลก็ได้ ทีแรกก็ดู อย่าใจลอยไปที่อื่น คอยรู้สึก ใจเราสุขคอยรู้ ใจเราทุกข์คอยรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้ หายใจออก รู้ หายใจเข้า รู้ อันนี้เราจะได้สติ โกรธขึ้นมาก็รู้ โลภขึ้นมาก็รู้ หลงขึ้นมาก็รู้ อันนี้เราจะได้สติที่ถูกต้อง สติเป็นตัวรู้สภาวะรูปธรรมนามธรรม ถึงเรียกว่าสติปัฏฐาน ถ้าสติขับรถไม่ตกถนน อันนั้นสติอย่างโลกๆ สติที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผล คือสติปัฏฐาน สติรู้สึกกาย สติรู้สึกใจ

แล้วถ้าสติที่ถูกต้องเกิด สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติเลย เกิดร่วมเลย แล้วพอจิตตั้งมั่น ต่อไปนี้สติระลึกลงที่กาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย นี่ขึ้นวิปัสสนาแล้ว สติระลึกรู้ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจ เห็นมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย นี่ขึ้นวิปัสสนาแล้ว แต่ก่อนจะถึงวิปัสสนา ต้องผ่านจุดนิดหนึ่งเล็กๆ เราเห็นกายกับจิตเป็นคนละอันกัน เราเห็นเวทนาคือสุขทุกข์กับจิต เป็นคนละอัน เราเห็นกุศลอกุศลกับจิต เป็นคนละอันกัน ฉะนั้นจิตเป็นตัวตั้ง จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นหัวหน้าธรรมะทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทิ้งจิตก็คือคล้ายๆ ทิ้งจอมทัพไปแล้ว ไปสู้กับหมาได้ที่ไหน สู้ไม่ได้หรอก ก็แม่ทัพไม่มี จิตมันคือตัวแม่ทัพ คือตัวจอมทัพ

เพราะฉะนั้นเราจะดูกาย มีจิตเป็นคนดู เราจะดูเวทนา มีจิตเป็นคนดู เราจะดูสังขาร กุศลอกุศล มีจิตเป็นคนดู ทิ้งจิตไม่ได้ ทิ้งจิตคือทิ้งธรรมะเลย เพราะจิตนั้นเป็นประธานของธรรมะทั้งปวง จะไปรู้แต่กาย หรือไม่เห็นไม่รู้ว่าจิตกับกาย เป็นคนละอันกัน แยกไม่ออก ไปวิปัสสนาไม่ได้จริง อย่างมากก็วิปัสสนึก นึกๆ เอา ใช้ไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นสรุป พวกเราทุกวันฝึกสติปัฏฐาน เอาฐานกายก็ได้ ร่างกายหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ อย่าใจลอย ถ้าใจลอยก็คือไม่รู้สึก ไม่มีสติ พอไม่มีสติ ใจลอยใช่ไหม สมาธิก็ไม่มี จิตหนีไปแล้ว จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

แต่ถ้าเราหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก จิตใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัวอัตโนมัติ แต่ถ้าหายใจออก ไปเพ่งลมหายใจ หายใจเข้า ไปเพ่งลมหายใจ มันจะไม่ใช่ความรู้สึกตัว ใจมันจะเครียดๆ ไม่ใช่ความรู้สึกตัว ไม่ใช่สมาธิที่ดี มันเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิเคร่งเครียด ถ้าเครียดเมื่อไร ต้องรู้เลยจิตดวงนั้นเป็นอกุศลจิต ถ้าภาวนาแล้วเครียด ต้องรู้เลยว่าอย่าภาวนาดีกว่า ตรงนั้นกำลังสะสมโทสะอยู่ ทำแล้วเครียด

ฉะนั้นจับหลักให้แม่นๆ การภาวนาจะไม่ยาก ร่างกายนั่งอยู่รู้สึกไหม ตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม ต้องบังคับใจไหม ให้ใจนิ่งๆ ก่อนแล้วถึงมารู้ร่างกายนั่ง ไม่เห็นต้องบังคับเลย ตอนนี้ร่างกายขยับ รู้สึกไหม รู้สึกธรรมดาๆ รู้สึกเรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นเลย ร่างกายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง ต่อไปลึกซึ้งขึ้นมาอีก มันจะเห็นร่างกายที่ว่าเป็นอันหนึ่ง มันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา อย่างนี้ อันนี้ขึ้นวิปัสสนา ตรงวิปัสสนานี้ต้องเห็นไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่เห็นไตรลักษณ์ ก็เป็นปัญญาเบื้องต้น ยังเจือด้วยการคิดอยู่ ยากไหม ไม่ยากหรอก

 

เอาธรรมะล้างใจของเรา

ช่วงนี้อากาศร้อนจัด วันสงกรานต์เราก็เล่นน้ำกัน ส่วนใหญ่ คนแต่ก่อนไม่ได้เล่นน้ำเอิกเกริกแบบนี้ ก่อนจะเอาน้ำไปรดกัน เขาต้องสรงน้ำพระก่อน หลวงพ่อก็เลยตั้งพระให้สรงน้ำอยู่ข้างหน้านี้ สรงน้ำพระ แล้วก็ค่อยๆ รดน้ำกัน ไปรดผู้ใหญ่ ไม่ใช่ไปเจอใครก็สาดๆ รดน้ำขอพร แล้วหนุ่มสาวจะเล่นกัน ก็ไม่หยาบคาย ไม่แตะเนื้อต้องตัว ไม่ใช่ฉวยโอกาสลวนลาม อันนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดี เดี๋ยวนี้สังคมมันเปลี่ยน ใจคนมันหยาบขึ้น ก็เล่นหยาบๆ

พวกเรานักปฏิบัติ เราก็ต้องมองอะไรให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น เราสรงน้ำพระ มันได้บุญตรงไหน พระก็เป็นก้อนอิฐ ก้อนหิน เป็นทองเหลือง ทองแดง เอาน้ำไปรดทองแดง เอาน้ำไปรดทองเหลือง มันได้อะไรขึ้นมา อันนั้นไม่ฉลาด คิดว่าเอาน้ำไปรดพระแล้วจะได้บุญ ได้เล็กน้อยเพราะตอนนั้นไม่ได้ทำชั่ว หรือถ้าเราฉลาดกว่านั้น เราจะรู้เลย พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ของพุทธะ ของพระพุทธเจ้า เราถือว่าเรากำลังอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ วางใจอย่างนี้ก็ได้บุญ ก็ได้บุญเยอะกว่าเอาน้ำไปรดทองเหลืองเฉยๆ

แล้วถ้าสูงกว่านั้นอีก เรารู้ว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ของพุทธะ สิ่งที่เรียกว่า “พุทธะ” ไม่ใช่แค่พระพุทธเจ้าองค์นั้นองค์นี้ สิ่งที่เรียกว่า “พุทธะ” คือจิตนั่นเอง จิตนั่นล่ะคือตัวพุทธะที่แท้จริง เราเอาน้ำไปรดพระพุทธรูป เตือนตัวเอง เราต้องล้างจิตใจของเราด้วย ไม่ใช่แค่พระพุทธรูปสะอาด ใจเราต้องสะอาดด้วย น้ำทำให้พระพุทธรูปสะอาดได้ แต่ธรรมะทำให้ใจเราสะอาด เพราะฉะนั้นเราต้องรดจิตใจเราด้วยธรรมะ ด้วยศีล ด้วยธรรม ใจเราจะสะอาด หมดจด ผ่องใสขึ้น แล้วด้วยการภาวนา สูงสุด

เราทำทาน รักษาศีล เราภาวนาไป ภาวนาก็ทำอย่างที่หลวงพ่อสอนเมื่อกี้ ใจเราก็สะอาดมากขึ้นๆๆ ถึงจุดหนึ่งใจเราจะเป็นพระ เรียกว่าพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เห็นไหมจิตเราเป็นพระไปแล้ว เป็นโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติผลจิต คือจิตเราเป็นพระไปแล้ว อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต จิตมันเป็นพระ เราล้างจิตสกปรกของเราด้วยธรรมะเรื่อยๆ ไป ในที่สุดจิตเราก็เป็นพระขึ้นมา แล้วตอนที่เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เรายังนึกพระพุทธเจ้าได้ไม่ชัดหรอก วันใดที่ภาวนา อันนี้ฟังครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังมา วันใดที่ภาวนาจนสิ้นภพจบชาติแล้ว จิตกับพระพุทธเจ้าจะกลายเป็นอันเดียวกัน จิตกับพระพุทธเจ้าเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าไม่ใช่ ไม่ได้มีรูปมีนาม นิพพานแล้วไม่ได้มีรูปมีนาม ไปอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ อันนั้นไม่ใช่ นั่นเป็นเรื่องที่เราคิดขึ้นเอาเอง

เพราะเราไม่รู้จักนิพพานตัวจริง เราก็ต้องไปวาดนิพพานให้มีรูปมีนาม เพราะเรามันเคยมีรูปมีนามจนชิน ถ้าไม่มีรูปมีนามรู้สึกว้าเหว่ ฉะนั้นเวลาคิดถึงนิพพานยังมีรูปมีนามอยู่ แต่ถ้าใจเรามันพ้นจากขันธ์จริงๆ พ้นจากขันธ์แล้ว มันจะรู้เลย รูปนามนั้นคือตัวทุกข์ จิตที่พ้นจากขันธ์มันมีอยู่ เป็นโลกุตตรจิต แล้วถ้าละเอียดประณีตถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เวลาน้อมจิตระลึกถึงพระพุทธเจ้า อะไรคือพระพุทธเจ้า ทองเหลือง ทองแดง ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระบรมสารีริกธาตุเป็นพระพุทธเจ้าไหม ไม่ใช่พระพุทธเจ้า นั่นคือวัตถุที่ท่านยืมโลกมาใช้เหมือนกัน ถึงตอนนี้ท่านก็ทิ้งแล้ว เราก็ไปเก็บมา ก็ยังดี ก็เหมือนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง พระธาตุ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้

สิ่งที่เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ คือตัวคุณธรรม คุณธรรมของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ท่านมีปัญญาธิคุณ ท่านตรัสรู้ได้ด้วยตัวเอง เราที่เป็นสาวก กระทั่งอรหันตสาวก ไม่มี ไม่มีปัญญาธิคุณอันนี้ เรามีกรุณาธิคุณเหมือนพระพุทธเจ้าไหม สาวกมีไม่เหมือนพระพุทธเจ้า มีไม่เท่า พระพุทธเจ้าตกนรกไปช่วยคนก็ยังได้ สาวกก็ยังไม่ค่อยกล้าหาญขนาดนั้น ความกรุณานี้ไม่เท่าเทียม บางองค์บรรลุแล้วไม่สอนใครเลย ก็นิพพานไปเลย ไม่สงเคราะห์โลก ความกรุณาของสาวกไม่เท่า ปัญญาไม่เท่า

พอพิจารณามาถึงความบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ พระสาวกก็บริสุทธิ์ เป็นอันเดียวกัน ความรู้สึกมันจะรู้สึกว่า จิตที่บริสุทธิ์นั้น ที่เราพัฒนาขึ้นมา กับความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วจะรู้ทันทีเลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเลย จากสามก็เป็นหนึ่ง เป็นอันเดียวกันหมด ฉะนั้นเราภาวนา วันหนึ่งเราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริง เราจะเจอพระพุทธเจ้าตัวจริงได้ ใจเราต้องสะอาด ใจเราสะอาด เราต้องล้างความสกปรกด้วยศีล ด้วยธรรม เหมือนที่เราเอาน้ำไปล้างพระพุทธรูป แล้วพระพุทธรูปสะอาด

ฉะนั้นสงกรานต์ สรงน้ำพระให้ดี พระที่ต้องสรงน้ำ คือจิตของเรานี่ล่ะ ตัวไม่ดีเลย ถ้าเราสรงน้ำจิตของเราได้ ด้วยศีล ด้วยธรรมไปเรื่อย ล้างมันไปเรื่อย ล้างกิเลสออกไปได้ มันสะอาดหมดจด มันกลายเป็นพระ เพราะฉะนั้นสงกรานต์ทั้งที ก็เพิ่มสติ เพิ่มปัญญาไป อย่าเอาแต่สนุกสนาน รถคว่ำตาย กินเหล้าเมายา ก็ไปอบาย ไปไหว้พระมา แล้วก็ออกมากินเหล้า รถคว่ำรถหงายอะไร ขณะนั้นมีสติไหม ถ้าไม่มีสติ จิตก็เป็นอกุศล จิตเป็นอกุศล ทุคติก็เป็นอันหวังได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้

ฉะนั้นพวกเรา ถึงเราไม่กินเหล้า ขับรถเราก็ต้องระวัง พวกกินเหล้ามันจะชนเราก็ได้ ถ้าเรามีวิบาก แต่วิบากของชาวพุทธเรา ไม่ได้มีเอาไว้ยอมแพ้ เรามีวิบากเอาไว้สู้ อย่างเรามีวิบากเกิดมายากจน ไม่ใช่งอมืองอเท้าจนไปทั้งชาติ ไม่ใช่ ต้องรู้จักวิธีทำมาหากิน รู้จักคบคน รู้จักใช้จ่าย รู้จักดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ เดี๋ยวมันก็หายจน จนก็คือมันรู้สึกไม่พอ มีหมื่นล้านมันก็ยังจนอยู่ เพราะมันยังไม่พอ มันยังหิว ยังเป็นเปรตไม่เลิกอยู่ เรามีพออยู่พอกิน แล้วจิตใจเราร่มเย็น มีความสุขกว่ากันเยอะ

วันนี้เทศน์ฉลองสงกรานต์ให้หน่อยหนึ่ง หลวงพ่อขออวยพร ให้พวกเรา ให้เป็นคนดี ให้มีศีล มีธรรม แล้วชีวิตเราจะมีความสุข”

ร้อนไหม ใครว่าร้อนบ้างยกมือ นี่พวกขี้ระแวง จะยกดีไม่ดี หัดรู้ทันตัวเอง อะไรบงการพฤติกรรม หลวงพ่อตั้งคำถามปุ๊บ ตอนจะตอบยังต้องคิดเลย เห็นไหม เอาอย่างไรดี เดี๋ยวจะโดนหลวงพ่อหลอกล่อให้เสียหน้าอะไร ท่าไหน รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง มันอยู่เบื้องหลังในจิตในใจเรานี้ กิเลสซ่อนอยู่ที่จิต แต่มันทนสติทนปัญญาไม่ได้หรอก มีสติ มีปัญญา เรียนรู้ซักฟอกจิตใจตัวเอง เหมือนเอาน้ำไปรดพระพุทธรูปนั่นล่ะ เราเอาธรรมะมาล้างใจของเราไป ตัวเจ้าเล่ห์แสนกล ทิฏฐิมานะ ตัวกิเลสอะไร ตัวเศร้าใจ เสียใจอะไร คอยรู้มันไป เดี๋ยววันหนึ่งใจก็สะอาด ใจก็เป็นพระ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
15 เมษายน 2566