โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก

โลกมันวุ่นวาย ไม่มีวันสงบหรอก คนในโลกมันก็อยู่กันด้วยกิเลส เบียดเบียนกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา ไปแก้ตรงนั้น เราแก้ไม่ได้ เราตัวเล็กนิดเดียว พยายามฝึกตัวเองให้สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขในทุกๆ สถานการณ์ พวกเราได้เปรียบคนประเทศอื่น คนศาสนาอื่นอะไรอย่างนี้ คือเรามีธรรมะ เป็นศาสตร์ที่สอนให้เราฝึกตัวเองจนเราสามารถอยู่ด้วยความสงบสุขในทุกๆ สถานการณ์ ถ้าโลกวุ่นวายมันเรื่องของโลก มันกระทบกระทั่งได้แค่ร่างกายเรา แต่มันกระทบเข้ามาไม่ถึงจิตใจเรา ศาสตร์ของพระพุทธเจ้าวิเศษมาก ท่านถึงบอกว่าคนทั่วๆ ไปเวลามีปัญหามากระทบ กระทบเข้าที่ร่างกาย ที่ชีวิตความเป็นอยู่ แล้วมันก็ยังกระทบครั้งที่สองต่อเนื่องเข้ามา คือกระทบเข้ามาที่ใจ ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า ปัญหา ความทุกข์ยากอะไรมันกระทบได้แต่ร่างกาย แต่มันกระทบเข้ามาไม่ถึงจิตใจ เพราะเรามีศาสตร์ที่จะฝึกจิตของเราให้พ้นจากความทุกข์

คนส่วนใหญ่เขาฝันๆ เอาว่าอย่างตอนนี้ลำบากก็ทนๆ ไป ไม่นานมันก็ผ่าน แล้วชีวิตจะได้มีความสุข เอาเข้าจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก พอปัญหาอันหนึ่งจบไป ปัญหาใหม่มันก็มา ปัญหาบางที ปัญหาเก่ายังไม่จบ ปัญหาใหม่เข้ามาแล้ว ซ้อนๆ กันเข้ามาตลอดเวลา โลกมันเป็นอย่างนี้ล่ะ เราจะไปเพ้อฝันว่าโลกจะต้องมีสันติภาพ มีความสงบสุข คนในโลกจะต้องดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบกันอะไรอย่างนี้ เป็นความฝัน เขาเรียกว่าโลกในอุดมคติ ซึ่งมันไม่เคยมี ก็เพ้อๆ ฝันๆ กันไป

เรามาเรียนศาสตร์ของพระพุทธเจ้ากัน เบื้องต้นก็รักษาศีลเอาไว้ ถัดจากนั้นก็เป็นงานฝึกจิตฝึกใจของเราเอง รักษาศีล ก็คือดูแลคำพูดและการกระทำของเราไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้เบียดเบียนตัวเอง เราไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง ก็มีเวลามาฝึกจิตฝึกใจตัวเอง การฝึกจิตฝึกใจของเรามันมีงานสำคัญอยู่ 2 งาน คือการเจริญสมาธิ เรียกทำสมถกรรมฐานกับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมันเป็นสิ่งที่เราควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง

 

องค์ธรรมที่ทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มของมรรค

ธรรมะ บางทีท่านก็พูดพลิกแพลงไปตามจริตนิสัย ตามวาสนาบารมีของคนฟัง โดยทั่วๆ ไปท่านก็พูดถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ก็คือรูปนาม สมุทัยคือตัณหา นิโรธคือพระนิพพาน ความดับทุกข์ มรรคก็มีองค์ 8 บางทีท่านก็สอน ตัวมรรค สิ่งที่ควรเจริญ ท่านย้ำลงไปว่าคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานก็คือองค์ธรรมที่ทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มของมรรค คือสิ่งที่เราต้องเจริญ

สมถกรรมฐาน เราฝึกไปเพื่อให้จิตเราตั้งมั่น ให้จิตเรามีกำลัง ให้มีความพร้อม เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา เราไม่ได้ทำสมถกรรมฐานเพื่อความสุข ความสงบ ความดีอะไรทั้งสิ้น ความสุขเป็นของไม่เที่ยง ความสงบก็ไม่เที่ยง ความดีก็ไม่เที่ยง ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่ แต่เราทำความสงบ ทำความตั้งมั่นของจิตให้เกิดขึ้นเพื่อการเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง แล้วถ้าเราเจริญปัญญาได้มากพอมรรคผลก็จะเกิดขึ้น จิตใจเราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น

พระพุทธเจ้าท่านบอกบุคคลเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา แต่ปัญญาตัวนี้ต้องเป็นวิปัสสนาปัญญา ปัญญามีหลายอย่าง ปัญญาอย่างโลกๆ ก็มี ปัญญาในการทำสมถะก็มี เราจะทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น ให้จิตสงบก็ต้องมีปัญญาเหมือนกัน ทำโง่ๆ ดุ่ยๆ ไป ไม่รู้เหตุรู้ผลไป มันก็ไม่ได้ผล แต่ปัญญาที่เลิศที่จะทำให้เราพ้นทุกข์จริงๆ คือตัววิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญาจะมีได้ถ้าจิตเรามีสมาธิที่ถูกต้องมากพอ พอเรามีสมาธิที่ถูกต้อง ทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญามันก็จะเกิด เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง

สิ่งที่เราต้องฝึก ถ้าเราไปดูในองค์มรรค อริยมรรคมีองค์ 8 ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของการฝึกจิตฝึกใจทั้งนั้น มันเป็นการฝึกในปัญญาเบื้องต้น เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก มีความคิดความเห็นที่ถูกต้อง นี่เป็นปัญญาขั้นต้น เราก็ต้องพัฒนา ไม่พัฒนาก็ไม่ได้ การสร้างสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นนั้นอาศัยการฟัง อาศัยการอ่านคำสอนตามพระไตรปิฎก มันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง ของพระสาวกผู้หลักผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้บ้าง อาศัยคำสอนอย่างนี้เราจะได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น มันเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ เกิดจากการอ่าน การฟัง หรือการพิจารณาไตร่ตรอง มันเป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดเอา พิจารณา ตรงนี้ยังไม่พ้นทุกข์หรอก

เราเรียนสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นให้ได้ก่อน สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นที่เราต้องรู้จักก็คืออริยสัจ 4 กิจของอริยสัจ 4 คือสิ่งที่เราต้องเรียน อริยสัจ 4 ก็คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ สรุปเลยก็คือรูปนามนี้ล่ะคือตัวทุกข์ อาการปรากฏของทุกข์ก็เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นอาการปรากฏของมัน คนทั่วไปเขามองเห็นได้แค่นี้ เวลาแก่ขึ้นมา ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กระฉับกระเฉง ป่วยบ่อย ไม่มีความสุข กินข้าวก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ ขับถ่ายก็ไม่สะดวกอะไรอย่างนี้ แก่ เดินโซซัดโซเซ อันนี้เป็นธรรมะที่ท่านชี้ให้ดูสำหรับคนซึ่งอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็ดูความทุกข์ง่ายๆ อย่างนี้ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่รักก็เป็นทุกข์ ต้องเจอกับสิ่งที่ไม่รัก เจอกับคนที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนามีความต้องการอะไรแล้วไม่ได้อย่างที่อยากก็เป็นทุกข์

เบื้องต้นท่านสอนทุกข์ที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง เสร็จแล้วท่านมาขมวดสิ่งที่เรียกว่าทุกข์จริงๆ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ พอขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ มันก็ไม่มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คนประสบกับสิ่งที่ไม่รัก มันมีแต่ขันธ์ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ รูปนี้เป็นตัวทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา พอมันถูกบีบคั้นก็กลายเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตายขึ้นมา ตัวรูป จิตใจมันก็ตัวนาม ก็เป็นตัวทุกข์ มีความอยากเกิดขึ้นทีไร ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นทุกที อันนี้ยังเป็นปัญญาระดับกลางๆ เท่านั้น ระดับสูงขึ้นไปอีก ก็คือมีรูปมีนามก็มีทุกข์แล้วล่ะ รูปยังไม่ต้องแปรปรวนรุนแรงให้เราเห็นเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย รูปก็มีความทุกข์อยู่ทุกๆ ขณะ นามคือจิตใจของเรานี้มันก็มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ ขณะ จะสมอยากหรือไม่สมอยาก มันก็ทุกข์โดยตัวของมันเอง

 

รากฐานของทุกข์

ธรรมะมันมีเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าสอนคนไม่มีพื้นฐานเลย ก็จะสอนเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ประสบสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ อันนี้สอนพื้นๆ คนทั่วไปมองเห็น ถ้าเราจะภาวนาจะปฏิบัติให้ลึกขึ้นไป ใครมันแก่ ใครมันเจ็บ ใครมันตาย รูปมันแก่ รูปมันเจ็บ รูปมันตาย ใครสมหวัง ใครผิดหวัง นามธรรม จิตมันสมหวัง จิตมันผิดหวัง

ฉะนั้นตัวที่เป็นรากเป็นฐานของทุกข์จริงๆ ก็คือตัวขันธ์ 5 ตัวรูป ตัวนามนั่นเอง ท่านถึงสอนบอกว่า ว่าโดยย่อ โดยสรุปอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ เราภาวนาใหม่ๆ เราไม่เห็นหรอกตรงนี้ เราฝึกให้จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมาก่อน แล้วก็มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้ใจ มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ จิตมีความตั้งมั่น คือมีสมาธิที่ถูกต้อง มีองค์ธรรมหลายอย่างร่วมกันทำงาน ในที่สุดก็เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก คือตัวปัญญา รูปนามนี้คือตัวทุกข์

ฉะนั้นธรรมะมีหลายขั้นหลายตอน ธรรมะอย่างหยาบๆ ถ้าพูดให้ชาวโลกฟัง ถ้าเราภาวนาเราก็แยกแยะออกไป ในโลกพระพุทธเจ้าสอน ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ ชาวโลกฟังแล้วก็ไม่ได้ฟังอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก ท่านบอกความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ พอเราฟังปุ๊บ กิเลสก็พาแปลธรรมะเลย คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายเป็นทุกข์ มีคนขึ้นมาทันทีเลย หรือเรา เราแก่ เราเจ็บ เราตายเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

กระทั่งธรรมะพื้นๆ พอฟังแล้วก็เพี้ยน กลายเป็นฟังแล้วมีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขาขึ้นมาทุกทีเลย เพราะอะไร เพราะพื้นเดิมของเรามันพึงพอใจที่จะมีตัวมีตนอยู่ มีเรา พื้นของจิตเลยมันถูกสะสมมาอย่างนี้ พอได้ยินธรรมะที่บอกว่าความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ มันก็แปลทันทีเลย คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายเป็นทุกข์ ถ้าจะทุกข์มากก็คือ เราแก่ เราเจ็บ เราตาย ทุกข์มาก บางทีเห็นคนอื่นแก่ คนอื่นเจ็บ คนอื่นตาย ไม่เห็นจะทุกข์เลย เรื่องของเอ็ง ไม่ใช่เรื่องของข้า มีเรามีเขาขึ้นมา ธรรมะของพระพุทธเจ้าประณีตมาก เวลาฟังแล้วฟังให้มันรู้เรื่อง ท่านสอนว่าความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ท่านไม่ได้บอกว่าคนอกหักรักคุดเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีคน พระพุทธเจ้าสอนประณีตมากเลย

พอภาวนาละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก ก็จะเห็นเลย อย่างท่านสอนว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ พอได้ยินว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ ก็ตีความทันทีเลย ขันธ์ที่เราเข้าไปยึดทุกข์ ถ้าเราไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ขันธ์มันไม่ทุกข์ ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น คำว่าอุปาทานขันธ์ เป็นการจำแนกชนิดของขันธ์ จริงๆ แล้ว ขันธ์เป็นทุกข์ทั้งนั้นล่ะ เกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทุกชนิด ขันธ์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เราไปคิดว่าถ้ายึดแล้วจะทุกข์ ถ้าไม่ยึดไม่ทุกข์ ไม่ใช่ หรือจิตเรานี้ เราภาวนา มีปัญญาเล็กๆ น้อยๆ เราก็เห็น ถ้าจิตเข้าไปยึดอะไร จิตทุกข์ ถ้าจิตไม่ยึด จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ทุกข์ ภาวนากันไปเรื่อยๆๆ รู้เลย ตัวจิตนั่นล่ะ ตัวทุกข์ จะยึดหรือไม่ยึด ตัวจิตนั่นล่ะ คือตัวทุกข์

ธรรมะมันหลายระดับ ชาวโลกก็เห็นว่ามีคน มีเรา มีเขา เราทุกข์ คนอื่นทุกข์อะไรอย่างนี้ พอภาวนาไปช่วงหนึ่ง ก็จะเห็นมีแต่ขันธ์ๆ แล้วจิตเข้าไปยึดบ้างไม่ยึดบ้าง ยึดเมื่อไรก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ บางทีก็เห็นจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้ ตรงนี้ปัญญายังไม่พอหรอก ถ้าปัญญาพอ ภาวนาไปถึงจุดหนึ่งจะเห็น จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด จิตหรือขันธ์ทั้งหลายคือทุกข์ คือตัวทุกข์ ถ้าเราเห็นทุกข์ได้ประณีตถึงระดับนี้ การละสมุทัยถึงจะเกิดขึ้น คือเราเห็นว่าขันธ์เป็นตัวทุกข์แล้ว ความอยากที่จะให้ขันธ์ไม่ทุกข์ไม่มี ไม่เกิดแล้ว เพราะความอยากให้ขันธ์มันไม่ทุกข์ เป็นความโง่ซึ่งเราล้างไปแล้ว เพราะขันธ์มันคือตัวทุกข์

 

 

ถ้าภาวนาถึงจุด ขันธ์นี้คือตัวทุกข์ ตัวหัวโจกของขันธ์ก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ ตัวอันตราย ตัวร้ายกาจที่สุดเลย ดูยากที่สุดว่ามันคือตัวทุกข์ เราเห็น เห็นผิดๆ แต่จะว่าผิดก็ไม่เชิง ก็เห็นถูกเหมือนกัน แต่ถูกไปตามลำดับ เราเห็นว่าจิตอยาก จิตยึดจิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ ภาวนาให้มันมากพอจริงๆ มันรู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์ อะไรคือทุกข์ รูปนามขันธ์ 5 นั่นล่ะตัวทุกข์ จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด มันก็ทุกข์

มันมีขันธ์อยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ คือพวกโลกุตตรจิตทั้งหลาย กับโลกุตตรเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต พวกเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก พวกนี้เป็นขันธ์ แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ เพราะว่าไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่นได้ ไม่มีใครยึดมั่นโลกุตตรจิตหรอก แต่มันเที่ยงไหม มันไม่เที่ยง มรรคจิตเที่ยงไหม ไม่เที่ยง ผลจิตเที่ยงไหม ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นในส่วนของขันธ์ แม้แต่จะเป็นโลกุตตระ ก็ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เพราะมันเป็นของที่เกิดแล้วก็ดับไปเหมือนกัน เหมือนกับธรรมะฝ่ายโลกิยะทั้งหลายนั่นล่ะ แต่พอจิตมันรู้แจ้งแทงตลอดจริง จิตมันปล่อยวาง มันวางกระทั่งโลกุตตรจิต ไม่ได้หิวโหยอยากได้ มันวางจิตทุกชนิดลงไป ไม่ยึดถือ ตรงนี้ล่ะที่ใครภาวนาเข้ามาถึงตรงนี้ ไม่คิดหรอกว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น ไม่มีนัยยะอะไร

คำว่าพระอรหันต์ มันก็คำสมมตินั่นล่ะ จิตมันพ้นกิเลส พ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่า ตัวนี้ต่างหากที่สำคัญ ฉะนั้นอย่างเห่อ เราชอบเห่อพระอรหันต์ ลือองค์นั้นพระอรหันต์ องค์นี้พระอรหันต์ อย่างหลวงพ่อ คนก็มาตั้งให้เป็นพระอรหันต์ตั้งเยอะ บอกประสาทกินสิ เอาอะไรมาตั้ง เรื่องอย่างนี้ มันรู้ได้เฉพาะตนเองว่ากิเลสเรายังเหลืออยู่ไหม จิตยังเข้าไปยึดไปถืออะไรไหม

ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกไป จิตเราก็จะค่อยห่างความทุกข์ออกเป็นลำดับๆ อย่างปุถุชนที่ไม่เคยได้ยินธรรมะ ก็คิดว่าเราแก่ เราเจ็บ เราตาย เป็นทุกข์ คนที่เรารักแก่ เจ็บ ตาย เราก็เป็นทุกข์ด้วยอะไรอย่างนี้ มันมีคนมีสัตว์ ในโลกเขารู้สึกอย่างนี้ทั้งนั้นล่ะ พ่อเราตาย เราก็ทุกข์ แม่เราตาย เราก็ทุกข์ บางคนพ่อมีมรดกเยอะ พ่อตายมีความสุข ดีใจอะไรอย่างนี้ ไม่มีความแน่นอนแล้วแต่กิเลสจะพาไป

 

วิธีฝึกสมาธิที่ถูกต้อง

พวกเราได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็มาฝึกตัวเอง เบื้องต้นรักษาศีล 5 ไว้ ทุกวันแบ่งเวลาฝึกจิตฝึกใจให้สงบและตั้งมั่น 2 อัน สงบอย่างเดียวไม่พอ สงบส่วนใหญ่ที่ทำสมาธิกัน มันเป็นมิจฉาสมาธิ เกือบร้อยละ 100 เลยกล้าพูดเลย เกือบร้อยละ 100 มันทำมิจฉาสมาธิ สมาธิเคร่งเครียดบ้าง สมาธิเคลิบเคลิ้มบ้าง ควายทั้งคู่เลย ทั้งเคร่งเครียด ทั้งเคลิบเคลิ้ม ที่สมาธิชนิดรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา หายาก พอได้ยินว่าต้องมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ก็นั่งแต่งจิตให้รู้ ตื่น เบิกบาน แต่งจิต ทำเป็นตื่นๆ ความจริงหลงนั่นล่ะ หลง บางทีภาวนาก็คลุ้มคลั่ง บางทีก็เคลิบเคลิ้ม อย่างนั้นไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้อง

วิธีที่เราจะฝึกสมาธิที่ถูกต้อง จะต้องมีสติกำกับ เบื้องต้นทำกรรมฐาน หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ ต้องมีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เรียกว่ามีวิหารธรรม แล้วก็มีสติรู้เท่าทันจิตใจตนเองไป เช่น เราหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า พอจิตใจมันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ ไปเพ่งร่างกาย รู้ทันว่าจิตถลำลงไปเพ่งแล้ว หรือหายใจเข้า หายใจออกอะไรก็ทำไปเถอะ ถ้าจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น ลืมว่าตอนนี้กำลังทำกรรมฐาน เห็นร่างกายหายใจอยู่ อย่างนี้จิตก็หลงไป ถ้าเรามีสติรู้ว่าจิตหลงไป จิตก็จะไม่หลง ก็จะตั้งมั่นขึ้นชั่วขณะ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อย

วิธีฝึกสมาธิ อย่าอยากสงบ อย่าอยากให้จิตดี อย่าอยากให้จิตสุข ใช้จิตธรรมดาๆ อย่างนี้ ไม่ต้องโลภ จิตโลภเป็นอกุศลจิต ไม่มีสติ ความโลภมันถึงแทรกเข้ามาได้ เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป มีวิหารธรรมอันหนึ่ง แล้วทำกรรมฐานไปด้วยความมีสติ ทำไปแล้ว จิตเราหลงไปที่อื่น เรารู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันนั่นล่ะ เรียกว่าเรามีสติ สติเป็นตัวรู้ทันแล้วทันทีที่สติรู้ทันสภาวะที่กำลังปรากฏ เช่น จิตกำลังหลงไป หรือจิตกำลังเพ่งอยู่ สภาวะของความหลง สภาวะของความเพ่ง เรารู้ทัน สภาวะที่ผิดๆ ก็จะดับทันที สภาวะพวกนั้นเกิดจากอกุศลทั้งนั้น เกิดจากโลภ อยากปฏิบัติบ้าง บางทีก็เกิดจากหลง เคลิบเคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัวไป

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ต้องทำ ถ้าอยากจะดี ต้องทำ มีวิหารธรรมไว้ แต่วิหารธรรมไม่ใช่คุกไว้ขังจิต ห้ามจิตหนี ไม่ใช่ วิหารธรรม มันเป็นแค่เครื่องสังเกต เช่น เราอยู่ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน เรารู้ทันเพราะจิตมันหนีไปจากการรู้การหายใจ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ลืมว่ากำลังหายใจอยู่ พอเรารู้ทันว่าจิตมันหลงไป จิตที่หลงก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด เพราะจิตรู้กับจิตหลงมันตรงข้ามกัน เหมือนเหรียญ 2 ด้าน ด้านหัว ด้านก้อย ถ้าไม่ออกหัว ก็ออกก้อย ก็มีเท่านั้นเอง คือถ้าไม่รู้ก็หลงนั่นล่ะ

เราฝึกเรื่อยๆ หลงแล้วรู้ๆ ไป ทำกรรมฐาน อย่าอยากสงบ จิตดีก็ได้ จิตเลวก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ อะไรก็ได้ แต่เรารู้ทันมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็สงบเองล่ะ สงบเอง จิตก็สงบ มีสติกำกับจิตใจอยู่ สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต มันก็เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าท่านสอน การเจริญสติปัฏฐานให้มาก สติปัฏฐานก็คือการที่เรามีสติระลึกรู้กายรู้ใจของเรานี้ล่ะ ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นการเจริญสัมมาสติให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติ ไม่ใช่สติทั่วๆ ไป อยากทำบุญ อยากใส่บาตร อยากทำสงเคราะห์ สังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือสัตว์ ช่วยเหลือคนอะไรอย่างนี้ จิตเป็นกุศล มีสติ แต่เป็นสติธรรมดา ไม่ใช่สติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน ไม่ใช่ด้วยสติทั่วๆ ไป สติปัฏฐานก็คือสติซึ่งมีวิหารธรรม คือรูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย เป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ของจิต เช่น เราเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า การเห็นร่างกายหายใจออก

หายใจเข้า เราก็ทำสติปัฏฐานในอานาปานสติบรรพ อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเรารู้อิริยาบถ 4 เราใช้อิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอนเป็นวิหารธรรม ยืนอยู่ก็รู้ชัด เดินอยู่ก็รู้ชัด นั่งอยู่ก็รู้ชัด นอนอยู่ก็รู้ชัด รู้ชัดว่าอะไร รูปมันยืน รูปมันเดิน รูปมันนั่ง รูปมันนอน ใจเราเป็นคนรู้ไว้ สติจะเป็นตัวรู้ทัน แล้วก็พอเรารู้สภาวะถูกต้องจริงๆ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง พระพุทธเจ้าท่านถึงสอน ว่าสัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ เมื่อเราเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

สัมมาสมาธิก็คือสภาวะความตั้งมั่นของจิตที่เราไม่ได้บังคับให้ตั้งมั่น มันตั้งขึ้นเอง มันมีทั้งความสงบ มีทั้งความตั้งมั่นอยู่ในตัวเอง แล้วสัมมาสมาธิที่เราเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์ สัมมาญาณะก็คือญาณหยั่งรู้ หรือปัญญาที่ถูกต้องมันจะบริบูรณ์ ปัญญาที่ถูกต้องก็คือตัววิปัสสนาปัญญานั่นเอง เมื่อสัมมาญาณะบริบูรณ์ สัมมาวิมุตติมันก็จะเกิดขึ้น จะสมบูรณ์ขึ้นมา คือเกิดมรรคเกิดผลเป็นลำดับๆ ไป

เพราะฉะนั้นเราต้องทำ ศีลต้องรักษา ทุกวันต้องฝึกในรูปแบบ ทำกรรมฐานให้จิตมีเครื่องอยู่ จะเป็นรูปธรรม นามธรรมอะไรก็ได้ แล้วก็รู้เท่าทันจิตใจของตนเองไปในขณะนั้น หายใจเข้า หายใจออกจะพุทโธด้วยก็ได้ หรือจิตหนีไปที่อื่น รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน พอเรารู้บ่อยๆ จิตเคลื่อนนิดเดียว มันจะเกิดสติขึ้นเอง การที่เราหัดรู้บ่อยๆ หัดรู้เนืองๆ ทำกรรมฐานไปแล้วจิตเคลื่อนไป จะเคลื่อนไปคิด หรือเคลื่อนไปเพ่งก็ตาม เราเห็นแล้วเห็นอีก การเห็นบ่อยๆ มันก็จะทำให้จิตจำสภาวะของจิตเคลื่อนได้แม่น พอจิตมันเคลื่อนนิดเดียว สติจะเกิดเอง ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ สติเกิดเองเมื่อจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่น ก็ต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ

เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐาน ท่านจะบอกว่าให้เห็นกายในกายเนืองๆ เนืองๆ ก็คือเห็นบ่อยๆ ให้เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ เห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ แล้วจิตจำสภาวะได้แม่น สติจะเกิดเอง พอสติที่เกิดมาจากการเห็นกายเห็นใจทำงาน ต่อไปพอกายขยับ สติเกิดเอง พอจิตใจขยับ จะไหลไปคิด ไหลไปอยากอะไรก็ตาม สติเกิดเอง พอสติเราเข้มแข็งขึ้นมา สมาธิมันก็จะบริบูรณ์ขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่สติระลึกรู้สภาวะ เช่น จิตไหลไป สติรู้ปุ๊บ สมาธิจะเกิดขึ้นชั่วขณะ จิตถลำลงไปเพ่ง สติรู้ปุ๊บ สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นชั่วขณะ จิตจะรู้ ตื่น เบิกบานขึ้นมา พอเราฝึกให้มาก มีสติถี่ๆ ไปเรื่อยๆ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆๆ ไป จิตก็จะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา

 

 

สัมมาสติที่เจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา สัมมาสมาธิบริบูรณ์แล้ว จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว สติระลึกรู้กาย ก็จะเริ่มมีปัญญาเห็นความจริงของกาย ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็จะเกิดญาณเกิดปัญญา เห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย เช่น โลภ โกรธ หลง มันก็จะเห็นความปรุงแต่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือญาณ เป็นวิปัสสนาญาณ

พอวิปัสสนาญาณของเราแก่กล้า มันจะพัฒนาเป็นลำดับๆ ไป สุดท้ายจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา เพราะมันเห็นแล้วว่า สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว ดีก็ชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว หายใจออกก็ชั่วคราว หายใจเข้าก็ชั่วคราว ยืนก็ชั่วคราว เดิน นั่ง นอนก็ชั่วคราว ในรูปในนามนี้มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย ไม่เห็นมีอะไรดีวิเศษกว่ากันเลย อย่างเราเที่ยวแสวงหาความสุข คนในโลกอยากได้ความสุข มีความสุขมา ความสุขก็ชั่วคราว อยู่แล้วก็สลายไปอีกแล้ว เกลียดความทุกข์ก็ห้ามมันไม่ได้ เดี๋ยวมันก็มา อยากให้มันไปเร็วๆ มันก็ไม่ไป ยังไม่ทันจะทำอะไร อ้าว มันก็ดับของมันได้ มันจะเห็นอย่างนี้เรื่อย

ในที่สุดจิตมันจะเป็นกลาง สุขหรือทุกข์ มันก็เสมอกันล่ะ มันมีแต่ของเกิดดับ ดีหรือชั่วมันก็เสมอกันล่ะ คือมันเกิดและมันดับ อันนี้ดีและชั่วในขั้นเจริญปัญญา ถ้าในขั้นจริยธรรม ดีกับชั่วไม่เท่ากัน ต้องไม่ทำชั่ว ต้องทำดีไว้ก่อน ต้องถือศีล 5 ไว้อะไรไว้ แต่ในขั้นที่เราเจริญปัญญา เราจะเห็นเลยสุขกับทุกข์ก็เสมอกัน ดีกับชั่วก็เสมอกัน คือความปรุงแต่งเท่านั้นเอง ที่ว่าดีๆ วิเศษวิโส เป็นกุศลทั้งหลายก็คือสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา สิ่งที่ว่าชั่วๆ อกุศลก็คือสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา ปรุงขึ้นมาได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นจิตจะเป็นกลางต่อสุขและทุกข์ ต่อดีและชั่ว เพราะปัญญาเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเหมือนๆ กัน

พอมีปัญญาอย่างนี้ จิตก็มีญาณทัศนะแก่รอบแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาของเรามากพอแล้ว อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น เวลาที่อริยมรรคจะเกิด มันมีกระบวนการ ไม่ใช่นั่งสมาธิอยู่ก็เห็นโน่นเห็นนี่แล้วก็สรุป นี่เกิดอริยมรรคแล้ว ไม่ใช่ มีกระบวนการที่จิตล้างกิเลส อันนี้ค่อยไปดูเอา มันเกิดขึ้นใน 7 ขณะ ทีแรกจิตก็รวมลงไปเข้าอัปปนาสมาธิ คือจิตไปเดินปัญญาอยู่ 2 – 3 ขณะ แล้วจิตก็วางการเจริญปัญญาทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ 1 ขณะที่ทวนกระแส เข้ามาถึงธาตุรู้ อริยมรรคเกิดขึ้น แหวกอาสวกิเลสออก สิ่งที่ห่อหุ้มจิตอยู่ถูกแหวกทำลายออก 1 ขณะ แล้วจะเกิดอริยผลตามมา 2-3 ขณะ

แล้วแต่ละคนไม่เท่ากัน พวกปัญญากล้า ก็จะเกิดอริยผล 3 ขณะ พวกไม่มีปัญญามากเท่าไร ก็มีอริยผล 2 ขณะ ถ้าเป็นพระโสดาบันก็จะไปเป็นประเภทเกิด 7 ชาติอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่างได้โสดาบันเหมือนกัน แต่คุณสมบัติไม่เท่ากันหรอก พวกที่เขาแก่กล้า ปัญญาแก่กล้าจริงๆ พระโสดาบันเขาเกิดอีกชาติเดียว ไม่ต้อง 7 ชาติหรอก เขาเกิดอีกชาติเดียวเท่านั้นล่ะ เขาก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ถ้าปัญญินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าพอ ก็เกิด 7 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง หรือคนไหนอินทรีย์แก่กล้าจริงๆ เป็นพระโสดาบัน แล้วก็ต่อด้วยสกิทาคามี อนาคามี หรือจบกิจในชีวิตนี้เลยก็ได้ แล้วแต่ต้นทุนที่เราสะสมมา ยุติธรรม ใครทำใครได้ ไม่ทำก็ไม่ได้

 

กฏแห่งกรรม

ธรรมะยุติธรรม ในโลกไม่มีหรอกยุติธรรม ยุติธรรมปลอมๆ อย่างเรารู้คนนี้ล่ะไปฆ่าเขา แต่ว่าไม่มีหลักฐาน ทั้งๆ ที่รู้ก็ทำอะไรไม่ได้ บอกว่าถ้าไม่มีหลักฐาน เราไปลงโทษกัน ก็ถือว่าไม่ยุติธรรมอีกแล้ว ความยุติธรรมของโลกไม่แน่นอนหรอก แต่ความยุติธรรมของธรรมะ ความยุติธรรมของกรรม แน่นอน ทำแล้วมีผลแน่นอน ไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่รู้สึกหรอก ถ้ารู้ถ้าเห็นจะไม่กล้าทำชั่วหรอก ตรงนี้หลวงพ่อก็เลยไม่ตำหนิ บางที่บางครูบาอาจารย์ท่านสอน นั่งสมาธิแล้วก็ระลึกชาติได้ เที่ยวไปนรกไปสวรรค์ได้ เห็นผี เห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นสัตว์นรกได้อะไรอย่างนี้ มันก็มีประโยชน์ไม่ใช่ไม่มี พอเห็นแล้วไม่กล้าทำชั่ว เห็นแล้วขวนขวายที่จะทำดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่อยากตกต่ำ

คนทั่วไป แค่นี้มันก็ไม่เห็นแล้ว มันก็เลยรู้สึกว่ากฎแห่งกรรมไม่มีจริง มีจริงหรือไม่มีจริง เราก็ดูเอารอบๆ ตัวเรานี้ล่ะ อย่างบางคนไม่ดีใช่ไหม ทุจริตสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอะไรอย่างนี้ มีเงินมีทองมาก อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่มีความสุข จะกินก็กลัวคนวางยาพิษ จะไปไหนมาไหนก็กลัวคนดักยิง มีทรัพย์สมบัติก็กลัวเขาปล้น หรือกลัวทางราชการรู้มายึดคืนอะไรอย่างนี้ ชีวิตเต็มไปด้วยความกลัว ชีวิตไม่ได้มีความสุข อยากอยู่เมืองไทย บางทียังอยู่ไม่ได้เลย อยู่ที่ไหนมันจะมีความสุขเหมือนอยู่บ้าน มันยังอยู่ไม่ได้ เพราะกฎแห่งกรรมมันยุติธรรมมาก ทางโลกเอาความผิดไม่ได้ ทางธรรมอย่างไรก็ผิด ถ้าทำผิด หนีไม่พ้นหรอก

ถ้าเราเห็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่เห็น ก็ค่อยๆ สังเกตเอา สังเกตที่ใจเรานี้ล่ะ เวลาใจเราทำความชั่วมา ใจมันมีความสุขหรือมันมีความทุกข์ ไปดูให้ดี แค่นี้ก็พอแล้ว เวลาเราไปทำชั่วมา อย่างเราไปโมโหโทโสพ่อแม่เรา หลังจากนั้นเราจะเห็นจิตเศร้าหมอง จิตเราเศร้าหมอง มัวซัว ภาวนาไม่ขึ้นอะไรอย่างนี้ หรือเราวันๆ เราฟุ้งซ่าน วุ่นวายอยู่กับโลกข้างนอก ดูแต่เรื่องโซเชียลอย่างโน้นอย่างนี้ คนนี้จะสึก คนนี้จะบวชอะไรวุ่นวาย ใจเราก็กระเพื่อมไปกระเพื่อมมา ลองย้อนมาดูสิ มันมีความสุขไหม มันสงบไหม มันไม่มีหรอก ยุ่งเรื่องคนอื่น มีแต่เรื่องยุ่งมากมาย นี่กฎแห่งกรรมที่เราจะสังเกตด้วยตัวเราเองได้

ถ้าเราไม่มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ถ้าคนที่เขามี เขาก็เห็นผีเปรต น่าสงสาร คนนี้เคยยิ่งใหญ่ อ้าว ตกนรกอยู่ เคยเป็นคนซึ่งคนกลัวทั้งบ้านทั้งเมือง ฆ่าใครก็ได้ สั่งประหารได้อะไรอย่างนี้ อ้าว ตกนรกเสียเฉยๆ ถ้าพวกที่เขามีหูมีตา เขาก็มั่นคงแน่นแฟ้นหน่อย แต่พวกเราไม่มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติไม่ได้ ไม่รู้ว่าสัตว์ตัวนี้ตายแล้วไปเกิดที่ไหน เราสังเกตที่ใจเรานี่ล่ะ เวลาเราไปทำความชั่ว สังเกตไหม มันจะมีผลตามมาที่ใจของเราเศร้าหมอง เวลาทำความดีมา สังเกตไหม มันมีผลที่จิตใจมีความสุข มีความสงบ หัดดูจริงๆ ของตัวเองตรงนี่ล่ะ ไม่ต้องไปดูชาติไหนหรอก ดูตอนนี้เลย แล้วเราจะรู้เลยว่า ทำชั่วทีไร เศร้าหมองทุกที ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องรับบาป รับกรรม เศร้าหมอง

เราฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีลต้องรักษา สมาธิคือการทำในรูปแบบ ต้องทำ ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต แล้วก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเป็นอย่างไร คอยรู้เท่าทัน สติมันจะเกิด สมาธิมันก็เกิด ปัญญามันก็เกิด สุดท้ายวิมุตติมันก็เกิด ง่ายๆ ไม่ยากหรอก อยากดูว่ากฎแห่งกรรมมีไหม ดูที่จิตเรานี่ล่ะ เวลาเราโมโหมากๆ โกรธเต็มเหนี่ยวเลย ตอนที่หายโกรธแล้ว มาดูสิ จิตรับวิบาก จิตไม่มีความสุขหรอก หรือเวลามีราคะแรงๆ ประเภท แหม หื่นมากเลยอะไรอย่างนี้ พอราคะนั้นผ่านไปแล้ว มาดูสิ จิตผ่องใสหรือเศร้าหมอง เราจะรู้เลยว่า ทำชั่วไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็มีผลที่ไม่ดี ใจมันจะค่อยๆ ขยาดต่อการทำชั่ว จะขวนขวายที่จะทำดีให้มากขึ้นๆ เพื่อจะได้พ้นจากการเวียนว่าย ไม่ได้ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่อย่างนี้ ใจมันจะค่อยๆ อยากพ้นไป แล้วจะขยันภาวนา ฝึกทุกวันๆ แล้ววันหนึ่งจะได้ดี โลกเขาก็วุ่นวายอย่างนี้ล่ะ เราไม่ห้ามมัน ห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่วุ่นวายไปกับโลก ก็เท่านั้นล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 มิถุนายน 2565