ศาสนาพุทธมันมีขอบเขตคำสอน ไม่ได้สอนทุกเรื่องทุกศาสตร์สาขา ไม่ใช่ ขอบเขตคำสอนของศาสนาพุทธอยู่ในเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุของทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อจะดับทุกข์ ขอบเขตมีอยู่เท่านี้ ถ้าเกินจากนี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริง อย่างจะรู้เรื่องชาตินี้ชาติหน้า รู้อดีต รู้อนาคต รู้จิตคนอื่น เห็นผีสางเทวดา หรือมีฤทธิ์แสดงฤทธิ์ได้ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ ไม่ใช่เป้าหมายของศาสนาพุทธ หรือไม่ใช่เพื่อแสวงหาความสุข ศาสนาพุทธอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะว่าสอนความจริงที่คนยอมรับไม่ไหว คนต้องการความสุข แต่ศาสนาพุทธสอนให้เห็นจริงๆ แล้วความสุขพวกนั้น ที่แสวงหานั้นไม่ยั่งยืนหรอก สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเที่ยวแสวงหาความสุข ก็คือการฝึกตัวเองให้มันพ้นจากความทุกข์
ขอบเขตศาสนาพุทธจริงๆ เป็นเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์
ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นอันนี้คือสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก็คือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ อริยมรรคมีองค์ 8 ประการเบื้องต้นก็คือมีสัมมาทิฏฐิ ในทางทฤษฎี ยังไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริง ยังล้างกิเลสอะไรไม่ได้ อาศัยการได้ยินได้ฟังธรรมะ ก็เลยรู้ขอบเขตของศาสนาพุทธ ถ้าอยากเป็นเทวดา อยากเป็นพรหม อยากรวยอยากอะไร มันอยู่นอกขอบเขตที่แท้จริงของพุทธ ท่านสอนเรื่องทุกข์ ท่านก็ย้ำลงมา ความทุกข์ เบื้องต้นก็ชี้ให้ดูความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์
เบื้องต้นท่านสอนอย่างนี้ เพื่อให้คนทั่วๆ ไปเข้าใจได้ แล้วท่านก็ชี้ลงมาเหตุของทุกข์เรียกว่าตัวสมุทัย ก็คือตัวอยากนั่นล่ะ ถ้าเราภาวนาเราก็จะเห็น ทุกครั้งที่จิตเรามีความอยากเกิดขึ้น จิตจะมีความทุกข์เกิดขึ้นอัตโนมัติเลย ฉะนั้นเหตุของตัวทุกข์ที่เข้ามาสู่จิตใจเราได้ ก็คือตัวสมุทัยหรือตัวอยาก พระพุทธเจ้าท่านฉลาดมาก ท่านเก่งมาก ท่านบอกว่าตัวทุกข์ดับไม่ได้ มันเป็นตัวผลแล้ว เวลาดับต้องดับที่ตัวเหตุ เหตุก็คือดับที่ตัวตัณหา ตัวความอยาก ตัวสมุทัยนี้ล่ะ ถ้าเหตุมันดับผลมันก็ดับ ถ้าเหตุมันไม่ดับผลมันก็มีอยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้น คนส่วนใหญ่เวลามีความทุกข์จะคิดว่าจะแก้อย่างไร จะทำอย่างไรจะหายทุกข์ คิดแต่จะเข้าไปจัดการกับตัวทุกข์โดยตรง ตรงนี้มันไม่สามารถทำได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอก “ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้ละ” ตัวที่เราจะต้องละต้องจัดการมันคือตัวสมุทัย ท่านก็สอนวิธีปฏิบัติเพื่อจะละสมุทัย ก็คือตัวอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อ สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก็คือสิ่งที่หลวงพ่อบอกให้ฟัง ว่าเราต้องรู้จักว่าขอบเขตศาสนาพุทธจริงๆ เป็นเรื่องทุกข์กับการดับทุกข์ ทุกข์เกิดเพราะความอยาก ถ้าจะดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ดับที่ความอยาก เหมือนเวลาไฟไหม้ ไม่มีใครดับไฟได้ แต่ไฟมันดับเพราะองค์ประกอบของไฟมันดับ อย่างเวลาไฟมันไหม้เพราะอุณหภูมิมันสูง เราเอาน้ำไปราดๆ ก็ลดอุณหภูมิลง เหตุของไฟตัวหนึ่งมันก็ดับ ไฟมันก็ดับ มันเกิดจากมันมีออกซิเจน เอาโฟมไปฉีดกันไม่ให้อากาศเข้าไปถูกจุดที่ไฟไหม้ ไฟก็ดับ หรือเพราะมันมีเชื้อเพลิงเอาเชื้อเพลิงออกไปเสียให้หมด ไฟไม่มีเชื้อไฟก็ดับ กระทั่งการดับไฟเราไม่ได้ดับที่ตัวไฟ เราไปแก้ปัญหาที่ตัวเหตุของไฟไหม้
ฉะนั้นตัวทุกข์นี้ก็เหมือนกัน เราไปดับที่ตัวทุกข์ไม่ได้ เราไปดับที่เหตุของตัวทุกข์ เหตุของตัวทุกข์ก็คือตัวอยาก ความอยาก อยากสารพัดอยาก อยากทุกอย่าง ความอยากเกิดทีไรความทุกข์ก็เกิดทุกที วิธีที่จะละความอยากทำอย่างไร เรารู้ มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นแล้ว เรารู้ว่าต้องเจริญมรรคมีองค์ 8 แล้วจะเจริญอย่างไร ข้อแรกสัมมาทิฏฐิเรารู้แล้ว ถัดจากนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ เลย สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเป็นการเรียนเพื่อให้รู้หลักการปฏิบัติ องค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือเป็นเรื่องของการปฏิบัติทั้งหมด ปฏิบัติอะไรบ้าง เราก็คอยมีสติ คอยรู้เท่าทันความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิต การเลี้ยงชีวิต 4 อย่างนี้มันจะเกื้อกูลต่อการก้าวกระโดดของจิตในขั้นสูงต่อไป
เราคอยรู้เท่าทันความคิดของตัวเองไว้ เบื้องต้นนี้ล่ะง่ายๆ เลย เวลาเราคิด อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด กุศลหรืออกุศลอยู่เบื้องหลังความคิด ไม่เข้าข้างตัวเอง สังเกตตัวเองเข้าไปเลย ถ้าเราเห็นเราก็จะรู้เลย โอ้ นี่มันคิดเพราะความรัก นี่มันคิดเพราะความเกลียด เพราะความโกรธ นี่มันคิดไปเพราะหลงๆ ไม่เข้าใจความจริง เวลาความคิดที่ไม่ดีมันเกิด เกิดจากเหตุคือราคะ โทสะ โมหะ มันเข้ามาทำงาน ก็ทำให้ความคิดของเราเป็นไปตามอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ให้เราคอยรู้ทัน เวลาที่ใจมันคิดอะไรก็ตาม สังเกตลงไปอีกทีหนึ่งอะไรผลักดันให้มันคิดอย่างนี้ พอเรารู้ทันมากๆ อกุศลจะมาผลักดันไม่ได้ กุศลมันจะเข้ามาแทนที่
ลงมือปฏิบัติด้วยการรู้เท่าทันความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิต
ตรงที่เราคอยรู้เท่าทันความคิดของเราเอง เราจะได้องค์มรรคตัวที่สอง ตัวที่หนึ่งคือสัมมาทิฏฐิ ตัวที่สองคือสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ความคิดชอบนั่นล่ะ ไม่อย่างนั้นก็คิดไม่ชอบตลอดเวลา คิดไม่ชอบไม่ใช่แปลว่าไม่ชอบ หมายถึงคิดไม่ถูกคิดไม่ดี ภาษามันโบราณคิดไม่ชอบ หรือคำว่ามิดีมิร้าย แล้วมันดีหรือมันร้าย ทำมิดีมิร้าย ไม่รู้ดีหรือร้าย ภาษานะ แต่จริงๆ คอยรู้เท่าทัน อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ราคะ โทสะ โมหะหรือเปล่า หรือไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีความหลง ตัวนี้สำคัญมาก เป็นจุดตั้งต้นที่จะก้าวไปสู่การเจริญมรรคอันต่อๆ ไป เมื่อเราสามารถรู้เท่าทันความคิดของเราได้แล้ว ว่ามันคิดเพราะอะไร คำพูดมันจะถูกต้องเอง คำพูดมันพูดผิด พูดไม่ดี พูดหยาบคาย พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้ออะไรขึ้นมา ก็เพราะมันคิดไม่ดี มันคิดไม่ดีมันถึงพูดไม่ดี ถ้ามันคิดดีมันก็พูดดี
เพราะฉะนั้นการที่เราคอยเฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของเรา มันคิดอันนี้เพราะอะไร คิดอันนี้เพราะอะไร รู้ทันไปเรื่อยๆ คำพูดของเรามันจะดีไปด้วย เพราะสิ่งที่เราพูดมันก็ออกมาจากความคิดของเรานั่นล่ะ บางทีก็คิดเจ้าเล่ห์แสนกล แล้วก็จงใจพูดไปอีกอย่างหนึ่ง ให้รู้ทันความคิดของตัวเอง จะพูดอะไรมันก็รู้ว่าพูดเพราะอะไร แล้วเราก็คอยรู้เท่าทันการกระทำของเรา ถ้าเรารู้ทันความคิดของตัวเราเองแล้ว การกระทำของเราก็จะถูกต้อง อย่างการคิดเบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่น ไปทำร้ายชีวิตร่างกายเขาเพราะอะไร เพราะมันจากความคิดที่ผิดมาก่อน อย่างเราคิดจะไปเป็นชู้กับเขา ชอบเมียชาวบ้าน เพราะมันคิดไปด้วยอำนาจของราคะ เราคิดอยากทำร้ายเขา ประทุษร้ายชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ประทุษร้ายคนที่เขารัก เพราะอะไรอยู่เบื้องหลังความคิดอันนี้ ก็เพราะโทสะมันอยู่เบื้องหลังความคิด
หรือบางทีการกระทำบางอย่าง อย่างเราไปฆ่าสัตว์ ไปจับปลามาฆ่า ยิงกวาง ยิงเก้ง สมัยก่อนมีให้ยิงเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เราก็ไปคิดเอาว่าสัตว์พวกนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ อันนี้เราโมเมเอาเอง สัตว์ไม่เคยลงมติ ไม่เคยทำประชาพิจารณ์เลยว่าสัตว์เป็นอาหารของมนุษย์ มนุษย์พูดเอาเอง เพราะความคิดมันเบียดเบียนอย่างนี้เรียกว่าวิหิงสาวิตก เบียดเบียนเพราะความหลงผิดของตัวเอง ผิดทำนองคลองธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสัมมาสังกัปปะ มีความคิดที่ถูก ไม่มีกิเลสอยู่เบื้องหลังคำพูดของเราก็ถูก การกระทำของเราก็ถูก เห็นไหมองค์มรรคเราเจริญไปได้ตั้งหลายตัวแล้ว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะก็คือไม่ทำผิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ถ้าเรารู้เท่าทันความคิด คำพูด การกระทำของเรา เราก็จะเริ่มแยกแยะได้ ว่าอาชีพการงานที่เราทำอยู่นี้มันเหมาะสมหรือไม่ มันดีหรือไม่ มันเบียดเบียนตัวเอง มันเบียดเบียนคนอื่นหรือเปล่า ทำไปแล้วกิเลสเราเยอะขึ้นไหม เห็นแก่ตัวเยอะขึ้นไหม ใจร้ายมากขึ้นไหม สังเกตตัวเองไป พอเรารู้ทันความคิดของตัวเอง คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิตมันก็จะสะอาดหมดจดมากขึ้น อย่างบางคนแต่เดิมเคยเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ก็บอกว่าสัตว์มันเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่บาป ฆ่ามันไม่บาป พอเราหัดภาวนาเรารู้แล้วกฎแห่งกรรมมีจริงๆ เวลาเราทำอะไรไม่ดีจิตเราเศร้าหมอง สมาธิที่เคยมีก็เสื่อม สติก็เสื่อม ไม่มีอะไรดีเลย เราก็เริ่มขยาด เริ่มหวาดกลัวการทำชั่ว แล้วก็ค่อยๆ หาทางแก้ไข อาชีพนี้ไม่บริสุทธิ์ยังเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ ก็ค่อยๆ แก้ไขไป ปรับให้มันดีขึ้นไป แล้วสัมมาอาชีวะมันก็เกิดขึ้น
อย่างเป็นพระ องค์มรรคใช้ได้ทั้งพระ ทั้งฆราวาสเลยใช้ได้หมด เป็นพระก็มีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าเราจะต้องลดละตัณหาให้ได้ด้วยการเจริญมรรค ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น ไม่ใช่เพื่อจะเป็นพระเกจิให้คนนับถือเยอะๆ จะเสกโน่นเสกนี่ให้ขลัง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของศาสนาพุทธ ถ้าเป็นพระ คำพูด การกระทำมันก็จะดี การเลี้ยงชีวิตก็จะดี พระจะไม่ทำตัวเป็นตลกคาเฟ่ มันเป็นมิจฉา มิจฉาอาชีวะแล้วไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ฆราวาสทำได้ไหม ทำไปเถอะ ทำมาหากินก็ยังไม่เท่าไร มีโทษไหม ในขั้นละเอียดมีโทษ มันทำกิเลสคนอื่นที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกิเลสที่เกิดแล้วให้แรงขึ้น แต่ว่ามันยังไม่ผิดศีลผิดธรรมรุนแรง ยังค่อยๆ ปรับไป
อาชีพพระอาชีพบิณฑบาต ดำรงชีวิตด้วยการขอ เพราะฉะนั้นพระ อาชีพพระคือขอทาน แต่ขอทานที่มีขอบเขตไม่ใช่ขอทุกสิ่งทุกอย่าง ขอลูกสาวเขาอะไรอย่างนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ขอปัจจัย 4 เพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้นอันนั้นมีสิทธิ์ขอ เกินกว่านั้นไม่มีสิทธิ์ขอ ขอได้แค่นั้น เป็น Basic Minimum Needs จริงๆ ขอได้ ฉะนั้นเป็นพระก็ต้องมีสัมมาอาชีวะ ถ้าขอเรี่ยราดเป็นมิจฉาอาชีวะของพระแล้ว ฆราวาสก็ดูอย่าให้ผิดกฎหมาย อย่าให้ผิดศีลธรรม อาชีพของเรามันจะเกื้อกูลต่อการพัฒนาจิตใจของเราต่อไป
รู้เท่าทันกิเลส กุศลจะเจริญขึ้นโดยอัตโนมัติ
ถ้าเรามีทฤษฎีชี้นำที่ถูกคือมีสัมมาทิฏฐิ รู้ว่าเราจะต้องมุ่งลดละกิเลสตัณหา เราลงมือปฏิบัติด้วยการรู้เท่าทันความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิต การเลี้ยงชีวิต ถ้าเราทำอย่างนี้เรื่อยๆ กิเลสเราจะค่อยๆ ลดลงๆ จิตใจเราจะเป็นบุญเป็นกุศลมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงที่เราคิดไม่ดีเรารู้ทัน ความคิดไม่ดีมันก็ดับ ตรงที่เราพูดไม่ดีเรารู้ทัน การพูดไม่ดีมันก็ดับ เราทำไม่ดีเรารู้ทันว่านี่มันกิเลส ทำไปด้วยกิเลส พอรู้ทัน การทำไม่ดีก็หมดไป เลิก ไม่ทำ การเลี้ยงชีวิตเรารู้ว่าทำอย่างนี้แล้วกิเลสเฟื่องฟู เราก็ไม่ทำ พอเราไม่ทำอย่างนี้จิตใจเราจะมีพัฒนาการ กิเลสที่เคยมีมันจะลดลง กิเลสใหม่เกิดขึ้นยาก เพราะเรารู้ทันความคิดของตัวเองเสียแล้วว่าอะไรอยู่เบื้องหลัง แล้วตรงที่เราสามารถรู้เท่าทัน กิเลสอะไรเกิดรู้ทัน กิเลสอะไรเกิดรู้ทันตรงนี้ล่ะ กุศลมันเจริญขึ้นโดยอัตโนมัติ
ระหว่างอกุศลกับกุศลก็คล้ายๆ ความมืดกับความสว่าง เมื่อมันไม่มืดมันก็สว่าง เมื่อมันสว่างมันก็ไม่มืด ฉะนั้นตรงที่เราสามารถละกิเลส ลดกิเลสลงไปได้ กุศลมันก็จะเจริญขึ้นๆ เราจะเริ่มสู้กับตัวตัณหาจริงจังขึ้นมาแล้ว ถึงขั้นเข้ามาเผชิญหน้ากับมันแล้ว ถึงขั้นจุดที่เข้ามาพัฒนาจิตจริงๆ แล้ว ส่วนการปรับความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิต ทำมาหากิน มันเป็นพื้นฐานจะทำให้กุศลเจริญขึ้น อกุศลที่มีอยู่เสื่อมลง ตรงที่เราสามารถละอกุศลที่มีอยู่ ปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ อันนั้นล่ะคือสัมมาวายามะ เราผ่านองค์มรรคมาหลายตัวแล้ว สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด สัมมาวาจา อันที่สามสัมมากัมมันตะ อันที่สี่ก็คือการรักษาศีล 1 2 3 สัมมาอาชีวะก็เป็นอันที่ห้า เป็นองค์มรรคอันที่ห้า อันที่หกก็คือสัมมาวายามะ สัมมาวายามะนี้ถ้าเราทำเงื่อนไขพื้นฐานต่างๆ มา ทำสม่ำเสมอไป อกุศลที่มีอยู่มันก็จะลดละไป อกุศลใหม่มันก็ไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด กุศลที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้นๆ นี่คือตัวสัมมาวายามะ
เราจะสามารถลดละกิเลสหรือปิดกั้นอกุศลไม่ให้เกิด เราจะสามารถเจริญกุศล ทำกุศลที่มีอยู่ให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เครื่องมือสำคัญก็คือสติ ที่จริงเราใช้สติมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เรามีสติรู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำของเรา นอกจากเป็นสัมมาวายามะแล้ว มันยังเป็นการพัฒนาสติของเราด้วย ตรงที่เรามาถึงสัมมาวายามะ เรารู้แล้วว่าทิศทางของชีวิตเรา ต้องลดละอกุศล ต้องเจริญกุศลขึ้น อกุศลเกิดตอนไหน ตอนไม่มีสติ กุศลเกิดตอนไหน ตอนที่มีสติ ฉะนั้นสติสำคัญมากเป็นองค์ธรรม ฉะนั้นเวลาจิตใจเราเกิดโลภ โกรธ หลงขึ้นมา รู้ทันลงไป ตรงที่เรารู้ทันปั๊บกุศลจะเกิดแล้ว อกุศลจะดับแล้ว เราทำบ่อยๆ เราคอยรู้เท่าทันจิตของตนเองไป ในที่สุดเราจะก้าวเข้าไปสู่สัมมาสติ
สัมมาสติ ไม่ใช่สติธรรมดา ไม่ใช่สติโลกๆ ดื่มสุราทำให้ขาดสติ เดินไม่ระวังทำให้ตกถนนขาดสติอะไรอย่างนั้น อย่างนั้นไม่เรียกว่าสัมมาสติ มันเป็นสติธรรมดา สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติคือสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย มีสติรู้เวทนา มีสติรู้จิตใจของตัวเอง มีสติรู้สภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งรูปธรรมนามธรรม ทั้งกุศลทั้งอกุศล รู้กระบวนการ อันนี้จะยากหน่อย ฉะนั้นเบื้องต้นก็ดู มีสติรู้สึกกาย เห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ อย่างที่เราคอยรู้เท่าทันว่า อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด อะไรอยู่เบื้องหลังคำพูด อะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำ นั่นคือการรู้เท่าทันกุศลหรืออกุศลที่เกิดขึ้นในจิตเรา เราฝึกไปเรื่อยๆๆ นอกจากสัมมาวายามะเจริญแล้ว สัมมาสติยังเจริญขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่เราฝึกอยู่นั้นมันคือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นการดูจิตรวบยอดทั้งหมดเลยในองค์มรรคทั้งหลาย ทำอันเดียวนั้นล่ะ มีสติรู้ทันจิตของตนเองไป องค์มรรคทั้งหลายมันจะพัฒนาขึ้นมาหมดเลย อย่างเรามีสติรู้ทัน กิเลสอะไรเกิดเรารู้ทัน ความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิตของเราก็ไม่ผิด จิตใจของเราก็สะอาดมากขึ้นๆ มีความเพียรชอบดีขึ้นๆ สติของเราก็จะยิ่งว่องไวขึ้น เพราะเราคอยรู้เท่าทัน กิเลสอะไรเกิดเรารู้ กิเลสอะไรเกิดเรารู้ จนมันไม่สามารถบงการความคิด คำพูด การกระทำ การดำรงชีวิตของเราได้ อันนี้เรียกว่าเราฝีมือดีแล้ว สัมมาสติเกิดขึ้น คือเราสามารถเจริญจิตตานุปัสสนา ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวขึ้นแล้ว ที่มันชำนาญขึ้นมาเพราะเราทำมาตั้งแต่ต้น มีสติรู้ทันจิตใจของตัวเอง อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ความคิดมันก็อยู่ที่จิตที่ใจของเรานี้ เราก็รู้ทัน อะไรอยู่เบื้องหลังคำพูด ก็กิเลสหรือกุศลนั่นล่ะ การที่เราคอยรู้กุศลอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา มันคือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยตรงอยู่แล้ว
การดูจิตครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการที่เราหัดดูจิตๆ มันจะครอบคลุมองค์มรรคทั้งหมดเลย ฉะนั้นหัดรู้ไปเรื่อยๆ อกุศลที่มีอยู่ก็จะอ่อนกำลังลง กุศลก็จะเจริญขึ้น สติของเราก็จะเร็วขึ้นๆ ต่อไปนี้จิตขยับนิดเดียวมันเห็นแล้ว จิตมันฟุ้งซ่านออกไป แค่จิตมันไหวตัววิ่งออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันคือจิตฟุ้งซ่าน จิตมีโมหะแล้ว ฉะนั้นเรารู้บ่อยๆ สัมมาสติของเราก็จะดีขึ้น พอเรามีสัมมาสติมากเข้าๆ เจริญมากเข้าๆ สัมมาสมาธิก็จะบริบูรณ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทันจิตของตนเองไป รู้กิเลส รู้กุศลที่มันมี เราก็จะได้ทั้งความคิดถูก ก็คือสัมมาสังกัปปะ ได้คำพูดถูก สัมมาวาจา ได้การกระทำถูก คือสัมมากัมมันตะ ได้การเลี้ยงชีวิตถูก คือสัมมาอาชีวะ แล้วก็ได้สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูก แล้วก็มีสติที่ถูก
ตรงที่เรามีสติที่ถูก อย่างเวลาจิตเราโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ เราเห็นความโกรธผุดขึ้นมาในจิต ความโกรธจะดับอัตโนมัติ เพราะอกุศลทั้งหลายตั้งอยู่ไม่ได้ถ้าจิตมีสติ ฉะนั้นเวลาอย่างจิตเราโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าโกรธ ความโกรธดับอัตโนมัติ จิตจะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา ฉะนั้นการที่เรามีสติเนืองๆ ก็จะทำให้สมาธิที่ถูกต้องมันเกิดขึ้น ฉะนั้นหัดรู้ไป เช่นเราหายใจเข้าพุทออกโธอะไรก็ทำไป แล้วพอจิตมันหนี จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน ตรงที่รู้ว่าจิตไหลไปคิดนั้น จิตที่ไหลไปคิดก็ดับจิตรู้ก็เกิด จิตรู้ก็คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องมันเกิดขึ้น เราโกรธ มีความโกรธอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ ยังไม่ทันจะพูดเลย มันคิดไม่ดีแล้วเราก็รู้ นี่ความโกรธมันเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่ทันจะพูดไม่ทันจะทำเลย ความโกรธก็ดับไปแล้ว ทันทีที่ความโกรธนั้นดับลงไป จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว สัมมาสมาธิมันก็เกิดขึ้น
สัมมาสมาธิไม่ใช่จิตตั้งมั่น แต่สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่คือจิตตั้งมั่น คนละอัน มันกลับข้างกันอย่าไปมั่ว สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ความตั้งมั่นของจิตมันก็ตรงข้ามกับความไม่ตั้งมั่นของจิต ความไม่ตั้งมั่นของจิตก็คือ สภาวะที่จิตมันหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีสติรู้ว่าจิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติรู้ทัน การหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจดับ จิตก็ไม่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา เพราะฉะนั้นสติที่ถูกต้อง สัมมาสติจะทำให้สัมมาสมาธิพัฒนาขึ้นมา สัมมาสติบอกแล้วคือสติปัฏฐาน ถ้าพวกเราจะฝึกก็แนะนำให้รู้ทันจิตใจของตัวเองไปเลย จิตมีกิเลสก็รู้ จิตไม่มีกิเลสก็รู้เอา แล้วสมาธิของเราจะดีขึ้น จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ
พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า “สัมมาสติเมื่อเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์” พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว คราวนี้เราจะทำวิปัสสนาได้จริงแล้ว องค์มรรคทั้งหลายที่ท่านสอนมา 2 3 4 5 6 7 8 ก็เพื่อที่จะมาเจริญปัญญานั่นเอง เราก็จะสามารถเห็นความจริงของรูปธรรม เห็นความจริงของนามธรรม มีอะไรเกิดขึ้นในกายสติระลึกรู้โดยไม่ได้จงใจ สติระลึกรู้ ในขณะนั้นจิตมีสัมมาสมาธิ คือตั้งมั่นเป็นแค่คนเห็น เห็นสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน มันก็จะเริ่มล้างความเห็นผิดว่าร่างกายนี้คือตัวเราของเรา คือคน คือสัตว์ คือเรา คือเขา ความเห็นถูกคือสัมมาญาณะมันก็จะเกิดขึ้น
ฉะนั้นที่เราทำคือพัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้เหมือนกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง อย่างเราเห็นบ่อยๆ ว่าจิตดี จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตไม่โกรธเกิดแล้วก็ดับ ทั้งดีทั้งชั่วเกิดแล้วก็ดับ ต่อไปเวลาจิตมันดีขึ้นมาเราก็จะไม่หลงดีใจ เพราะมันยังเป็นของที่ดับได้อยู่ แล้วเราก็ไม่หิวจิตที่ดี ไม่ต้องไปหิวมัน ถ้าเราหิวอยากได้จิตที่ดี ในขณะนั้นจิตเลวเพราะจิตอยาก คอยรู้เท่าทันตัวเอง แล้วต่อไปเราก็จะเห็นเลย ที่ดีก็ชั่วคราว ที่ชั่วมันก็ชั่วคราว ที่สุขก็ชั่วคราว ที่ทุกข์ก็ชั่วคราว ตัวนี้ดูง่าย เราคอยรู้คอยดูไปจิตใจเราเดี๋ยวก็สุข จิตใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์ สุขก็อยู่ชั่วคราว ทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ สุดท้ายมันก็จะเป็นกลาง มันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ความสุขเกิดขึ้นมันก็เท่านั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็ดับ ความทุกข์เกิดขึ้นมันก็เท่านั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็ดับ
ประตูแห่งอริยมรรค
ฉะนั้นจิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน ตรงที่จิตมันเป็นกลางนี่ล่ะเป็นประตูแห่งอริยมรรค ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ตรงนี้จิตเป็นกลางด้วยปัญญา แล้วบารมีเรามากพอ เราไปพบพระพุทธเจ้า ไปปฏิญาณตัวว่าตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แล้วท่านพิจารณาแล้วจิตของเรามีคุณภาพ เป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว ดูแล้วมีโอกาสจะได้ท่านก็จะพยากรณ์ให้ ถ้าจิตเรายังแกว่งไปแกว่งมา ยังหิวความสุข ยังเกลียดความทุกข์ ดิ้นพล่านๆ เจอพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่พยากรณ์ คุณภาพยังไม่ถึงยังกระจอกอยู่ ถ้าเราไม่ได้หวังเป็นพระพุทธเจ้า ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้ เป็นประตูของอริยมรรค ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง
ฉะนั้นสัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เรามีมาก มันมาจากสัมมาวายามะมันมากแล้ว สัมมาสติมันก็เลยมาก สัมมาสมาธิก็เลยมาก ตามรู้ตามเห็นความจริงได้เยอะเลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทั้งรูปทั้งนาม ฉะนั้นมีสัมมาญาณะ สัมมาญาณะเราสมบูรณ์ สัมมาวิมุตติก็จะเกิดขึ้น วิมุตติคือมรรคผลก็จะเกิดขึ้น นิพพานไม่เกิด มรรคผลเกิด เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่มรรคผลไม่ดับ โลกียธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับ โลกุตตรธรรมบางส่วนเกิดแล้วดับ บางส่วนไม่เกิดไม่ดับ เราเคยได้ยินไหมคนโบราณเวลาทำบุญ ขอให้ได้มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 มรรค 4 ก็คือโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ผล 4 ก็คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล สิ่งเหล่านี้เกิดแล้วดับ
อริยมรรคทั้งหลายเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเท่านั้น อริยผลเกิดขึ้น 2 – 3 ขณะจิตเท่านั้นแต่ละครั้ง ส่วนนิพพานไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาวธรรมที่มันไม่เกิดไม่ดับ เราทำได้อย่างเดียวคือการเข้าไปเห็นแจ้ง เข้าไปประจักษ์ เข้าไปเห็นแจ้ง นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราภาวนาจนใจเราสิ้นตัณหา ใจเรามีปัญญาเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีความอยากใดๆ เกิดขึ้น เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล เราจะเห็นพระนิพพาน พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เวลาจะเข้าไปเห็นพระนิพพานซ้ำๆ ทีหลัง หลังจากบรรลุไปแล้ว ท่านจะเห็นผ่านการทำวิปัสสนา ส่วนพระอรหันต์ไม่ต้องผ่านวิปัสสนา พระอรหันต์มนสิการถึงก็ถึงเลย แค่นึกถึงก็ถึงแล้ว
นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง นิพพานไม่มีรูปธรรม ไม่มีนามธรรม ไม่มีพระพุทธเจ้านั่งเข้าแถว ไม่ใช่หรอกนั่นนิมิต สภาวะของนิพพาน สงบ สงบเพราะอะไร เพราะสิ้นตัณหา เราลองลิ้มรสนิพพานเล็กๆ ดู นิพพานแบบหลอกๆ แค่เป็นตัวอย่าง ฉายหนังตัวอย่าง เราคอยรู้เท่าทันจิตใจของเรา เวลาจิตเรามีความอยากขึ้นมา มันทุกข์ไหม ตอนไหนที่จิตไม่ได้มีความอยากขึ้นมา มันไม่ทุกข์ มันก็สงบ มันก็ว่าง นี่นิพพานตัวอย่าง ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่เป็นภพๆ หนึ่งหรอก มันคือสภาวะที่สิ้นตัณหา มีความสุขมาก มีความสุขไม่มีอะไรเหมือนหรอก
ฉะนั้นองค์มรรคทั้ง 8 ถ้าเราหัดดูจิตดูใจ เราสามารถทำองค์มรรคทั้ง 8 นี้ให้บริบูรณ์ได้ ด้วยการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง การที่เราคอยรู้จิตใจของตัวเอง ก็คือการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรารู้ทันกิเลส รู้ทันกุศลที่เกิดขึ้นในใจเรา มันจะบงการความคิดของเรา เรารู้ทัน เราก็จะได้สัมมาสังกัปปะ มันจะบงการคำพูดของเรา เรารู้ทัน เราก็ได้สัมมาวาจา มันจะบงการการกระทำอย่างกิเลสจะบงการการกระทำ เรารู้ทัน เราก็จะได้สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ตรงนั้นทั้งหมดคือการเจริญสัมมาวายามะ แล้วการที่เรามีสติคอยรู้จิตใจตัวเอง นั่นก็คือการเจริญสติปัฏฐานหรือสัมมาสติ แล้วเราเจริญสัมมาสติไปเรื่อยๆ ตรงที่เรารู้สภาวะถูกต้องปั๊บ สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเอง สัมมาสติเกิดบ่อยๆ ในที่สุดสัมมาสมาธิก็แข็งแรงขึ้น
เราดูตัวเราเอง ถึงเรายังไม่เป็นพระอริยบุคคล เราภาวนาทุกวันสม่ำเสมอ เรารู้สึกไหมจิตมันมีกำลังขึ้น ฉะนั้นถ้าเรามีสติถี่ยิบเลย ไม่ต้องกลัวว่าจิตจะไม่มีกำลังหรอก จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลังขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้วอย่าตั้งอยู่เฉยๆ หน้าที่เราที่เราเรียนมาจากสัมมาทิฏฐิก็คือ เรายังต้องลดละกิเลส ต้องต่อสู้เอาชนะตัณหา ฉะนั้นถ้าเราจิตมีสมาธิแล้วทรงตัวเฉย สงบสบายอยู่ ไม่ได้ชนะกิเลสตัณหาตรงไหนเลย ฉะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิจะเป็นไกด์ไลน์ให้เรารู้ว่าเราจะไปทางไหน แล้วเวลาลงมือปฏิบัติเราจะวัดความคืบหน้าของตัวเองได้ เราสามารถลดละอกุศลได้มากขึ้นไหม เราสามารถเจริญกุศลได้มากขึ้นไหม อย่างแต่เดิมเคยหลงนาน เราหลงสั้นลง อย่างนี้ถือว่ากุศลเราเจริญขึ้น สติมันไวขึ้น ฝึกตัวเอง มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง มันจะครอบคลุมการปฏิบัติในองค์มรรคทั้งหมดเลย สามารถทำได้
เมื่อเราเจริญอยู่ในมรรค ยังไม่ใช่ตัวอริยมรรคหรอก ที่เราหัดที่เราฝึกเขาเรียกว่า บุพพภาคมรรค เป็นเบื้องต้นที่จะให้เกิดอริยมรรค ตอนที่อริยมรรคเกิดนั้นมันเกิดชั่วขณะจิตเดียว ในขณะนั้นรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ คือแจ้งพระนิพพานแล้ว ก็เกิดอริยมรรคขึ้น เกิดในขณะเดียวไม่ได้หลายขณะหรอก แต่ว่าตอนที่เราสะสม เราสะสมกัน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี นี่ล่ะศึกษาไป ปฏิบัติดูไปซ้ำๆๆ แล้วตอนที่มันเกิดอริยมรรคจริงๆ มันเกิดชั่วขณะเท่านั้นล่ะ ฉะนั้นที่เราเจริญอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ได้เจริญอริยมรรค เราเจริญบุพพภาคมรรค เราทำเบื้องต้นให้เกิดอริยมรรค
สรุปง่ายๆ รู้ว่าเราภาวนาเพื่อจะพ้นจากอำนาจของตัณหา จิตใจที่พ้นตัณหานั่นล่ะมันจะเจอพระนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา จะสิ้นตัณหาได้ก็อาศัยสติ รู้ทันจิตใจของตัวเองไป องค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือมันก็จะเจริญขึ้น จนกระทั่งจิตมันตั้งมั่น ตัวสัมมาสมาธิไม่ใช่ตัวกระจอก เป็นตัวที่ยากที่สุด ท่านจัดเอาไว้อันดับ 8 ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ สัมมาสมาธินี่ล่ะเป็นที่รวมขององค์มรรคอีก 7 ตัวที่เหลือ สัมมาสมาธิอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง เป็นตัวที่รวบรวมองค์มรรคทั้ง 7 ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกันคือที่จิต ในขณะเดียวกันคือหนึ่งขณะจิตนั้นเอง ถ้าปราศจากสัมมาสมาธิ เราก็ทำบุพพภาคมรรคเหวี่ยงไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ ทำอันโน้นทำอันนี้ไป วันนี้ทำสัมมาวาจา วันนี้ทำสัมมากัมมันตะ ไร้สาระ เจริญสติไป อ่านจิตอ่านใจไป สุดท้ายจิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา องค์มรรคทั้งหมดมันจะประชุมกัน ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านเรียก “มรรคสมังคี” มรรคสมังคีคือมรรคมันมาประชุมกัน สามัคคีกันอยู่ในจุดเดียวกัน ในขณะเดียวกัน แล้วตรงนี้ล่ะที่มันจะข้ามวัฏฏะได้ ล้างสังโยชน์เป็นลำดับๆ ไป นี่คือเส้นทางที่เราจะเดิน
พยายามทำสิ่งที่เราทำได้
หลวงพ่อบอกทางได้ แต่พวกเราต้องเดินด้วยตัวของเราเอง หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกไม่ใช่ไม่อ่าน อ่านแล้วก็ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนจี้เข้ามาที่จิตนี่เอง เราก็สามารถเจริญจิตใจของเราพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากศีลกระพร่องกระแพร่งก็มีศีลที่ดีขึ้น สมาธิที่ไม่แข็งแรงก็แข็งแรงขึ้น จากที่ไม่เคยเห็นความจริงของรูปนามกายใจ ก็ได้เห็นมากขึ้น ก็ดีขึ้นๆ นี้บางคนเพ้อ หลวงพ่อเคยได้ยินบอก โอ๊ย พระพุทธเจ้าสอนต้องเอาอย่างนี้เท่านั้น ถึงจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องทำอานาปานสติ 16 ขั้น 4 ขั้นแรกคือกายานุปัสสนา 4 ขั้นต่อไปของอานาปานสติคือเวทนานุปัสสนา 4 ขั้นต่อไปคือจิตตานุปัสสนา 4 ขั้นสุดท้ายนั้นคือธัมมานุปัสสนา นี่ที่พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนจริงไหม จริง แต่ท่านไม่ได้สอนแค่นี้ ไม่ได้โง่ขนาดนั้น
ท่านสอนธรรมะไว้มากมาย อยู่ในสติปัฏฐานไปทำเถอะไม่ผิดหรอก แต่ทำแล้วอย่าไปติดนิ่งติดเฉย สติปัฏฐานถ้าทำไปบางอัน มันได้สมาธินิ่งๆ ต้องคอยระมัดระวัง คอยสังเกตเอา ฉะนั้นไม่ใช่อานาปานสติอย่างเดียว ในสติปัฏฐานท่านพูดถึงอานาปานสติแค่ 4 ข้อแรกเท่านั้น 4 ขั้นแรก ไม่ได้สอน 16 ขั้น 16 ขั้นไม่ใช่ของง่าย หลวงพ่อสอนพวกเราเป็นหมื่นเป็นแสนคน ลูกศิษย์หลวงพ่อที่ทำอานาปานสติได้ขนาดนั้น มีคนเดียวเท่านั้นเอง ฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเราส่วนใหญ่ขั้นที่ 4 ก็ไม่ผ่านแล้ว ขั้นที่ 4 คืออะไร ลมหายใจระงับ ระงับไหม ไม่ระงับหรอก เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีเฉพาะอานาปานสติ 16 ขั้น ไม่ได้ปฏิบัติหรอก เพราะไม่มีปัญญาจะปฏิบัติ อันนั้นสำหรับท่านที่บารมีสูงมากๆ จริงๆ อาจารย์อภิธรรมบางท่านถึงขนาดบอก “อานาปานสติเต็มภูมินั้น เป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ คือของพระพุทธเจ้า” ของเราขั้นที่ 4 ยังไม่ผ่านเลย ลมหายใจระงับ ไม่ผ่าน มีแต่กลัวจะระงับใช่ไหม หายใจพอมันเริ่มหยุดเท่านั้น กลัวตาย เพราะฉะนั้นไม่ผ่านขั้นที่ 4 ก็ต่อขั้นที่ 5 6 7 ถึงขั้นที่ 16 ไม่ได้
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมีมากมายก่ายกอง ท่านสอนคนแต่ละคนนิดเดียว สอนไม่เหมือนกัน อย่างสอนพระยสะ สอนพระยสะบรรลุพระอรหันต์ พระยสะเป็นลูกเศรษฐี เป็นคุณหนู แต่บารมีเต็มแล้ว ท่านสอนอะไร ท่านสอนอนุปุพพิกถา สอนเรื่องทำทาน รักษาศีลไว้แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ คือชีวิตจะได้มีความสุข สอนโทษของสวรรค์ โอ้ มีความสุขอย่างนี้มันก็ยังไม่ยั่งยืน สู้การมาเรียนรู้อริยสัจ 4 ไม่ได้ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค ท่านสอนย่อๆ เท่านั้นเอง ครั้งที่หนึ่งพระยสะได้โสดาบัน ครั้งที่สองพระพุทธเจ้าสอนพ่อของพระยสะ พ่อจะมาตามกลับบ้าน พระพุทธเจ้าก็สอนพ่อได้โสดาบัน พระยสะเป็นพระอรหันต์ พระยสะยังไม่เคยรู้จักคำว่าอานาปานสติเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดตื้นๆ ว่าต้องอานาปานสติ 16 ขั้นเท่านั้น ถึงจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านสอนปัญจวัคคีย์ เริ่มต้นสอนธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เรื่องทางสายกลาง ทางสายกลางก็คือไม่สุดโต่งข้างซ้าย ข้างขวา หรือตึงไปหย่อนไป เข้าสู่องค์มรรคทั้ง 8 ได้โสดาบัน ยังไม่ได้พูดอานาปานสติสักคำ เทศน์ครั้งต่อมาสอนอนัตตลักขณสูตร สอนให้เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นอนัตตาแล้วเขาบรรลุพระอรหันต์กัน ฉะนั้นอย่าไปศึกษาแล้วไม่รอบคอบ ประกาศวาทะออกไปว่าต้องอานาปานสติ 16 ขั้น มันทำลายพระพุทธศาสนา ต้องระมัดระวัง มีเยอะแยะเลยลองไปดูในพระสูตร สอนชฎิล ชฎิล 1,000 องค์สอนอะไร สอนอาทิตตปริยายสูตร สอนเรื่องอายตนะ ไม่ได้สอนเรื่องอานาปานสติ เพราะฉะนั้นเวลาศึกษาธรรมะอย่ามั่ว มั่วคนเดียวไม่พอเที่ยวประกาศด้วยนี่ หายนะเลย ฉะนั้นเราศึกษา เราทำที่เราทำได้
ยุคเราที่ทำได้ง่ายๆ ที่สุด อ่านใจตัวเองไป ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกไว้ ท่านบอกไว้ว่า “ต่อไปการดูจิต จะรุ่งเรืองในเมือง” เดี๋ยวนี้ชนบทไม่มี ทุกหนทุกแห่งคือเมือง มันคือชุมชนเมืองหมดแล้ว ไม่ได้มีการผลิตเพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนแล้ว แต่ผลิตเพื่อจะค้าขาย ไม่ใช่สังคมชนบทอีกต่อไปแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ฉะนั้นท่านบอก “การดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง” ทุกหนทุกแห่งก็อยู่ในเมืองหมดแล้ว ทำไมต้องดูจิตเอา ถ้าไปเข้าฌานมันเข้าไม่ได้ มันเข้าไม่เป็นแล้ว คนยุคนี้จะเข้าฌานได้อย่างไร เดี๋ยวมือถือก็ดังติ๊ง เอาแล้วต้องดู เดินจงกรมไป 3 ก้าว อ้าว ดังอีกแล้ว เข้าฌานไม่เป็นหรอก
ฉะนั้นพยายามทำสิ่งที่เราทำได้ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็ดู ผ่านไปสักหลายๆ เดือนแล้วมาดูซิ เรามีพัฒนาการไหม จิตใจเราเปลี่ยนแปลงไหม ทุกข์น้อยลงไหม ทุกข์สั้นลงไหม เผลอสั้นลงไหม ดูตัวเอง ผิดศีลได้ยากขึ้นไหม เคยผิดศีลง่ายๆ จะทำผิดศีลแล้วทนไม่ไหวแล้ว ทำยากขึ้น สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนพัฒนาการทั้งหมดเลย ในด้านจิตใจของเรา อย่างเบอร์ 3 มีพัฒนาการสูงใช้ได้เลย มันเห็นด้วยตัวเอง
วัดสวนสันติธรรม
12 มิถุนายน 2565