หลักการปฏิบัติ

ดี นั่งทำความรู้สึกตัวไป ไม่รู้สึกตัวมันหลงไปอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง จิตหลงไปกับความปรุงแต่ง จิตก็มีความทุกข์เกิดขึ้น พยายามรู้เนื้อรู้ตัวไว้ รู้ตัวธรรมดาๆ ไม่เกร็ง แข็งๆ เกร็งๆ เครียดๆ ไม่ถูก อันนั้นไม่ใช่รู้สึกตัว

เมื่อวานหลวงพ่อไปเผาศพญาติพระอาจารย์อ๊าที่พัทยา คนที่วัดนั้นเขาบอกคนตายด้วยโควิดมีอยู่เรื่อยๆ ฝรั่งก็มี มาเที่ยวแต่เป็นโควิดอยู่แล้ว พอมาเที่ยว ตาย เขาเผาทันทีเลย เอาศพเข้ามาถึงวัดก็เผาเลย บอกยังมีอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นเราอย่าเพิ่งประมาท เวลาอยู่ลำพังจะไม่ใส่แมสก์ไม่อะไรก็ไม่เป็นไร อยู่ในที่ชุมนุมชนควรจะใส่เอาไว้ มันไม่ได้หมดไปจากโลก เชื้อโรคมันก็ยังอยู่ รักษาชีวิตเอาไว้

 

ใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ชีวิตเป็นของหายาก มีจำกัด คนหนึ่งอย่างเก่งก็สักร้อยปี ส่วนใหญ่ก็ไม่ถึง 60-70 ปี บางคนไม่ถึงอีก ฉะนั้นชีวิตจริงๆ หายาก อายุเฉลี่ยคนรุ่นนี้ก็ราว 75 ปีโดยประมาณ เอาไปนอน เป็นเวลานอน 25 ปี 50 ปีเอาไปเรียนหนังสือ ไปทำมาหากิน ไปเพลิดเพลินอยู่กับโลก หมดแล้ว

ฉะนั้นเราผู้มีสติมีปัญญา รู้ว่าชีวิตเป็นของมีค่า เวลามีจำกัด ก็ต้องใช้ชีวิตใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่เป็นประโยชน์ในสายตาหลวงพ่อมันไม่มีอะไรดีเท่าธรรมะ อย่างประโยชน์ทางโลก ก่อนจะบวชหลวงพ่อก็อยู่ในโลกแบบพวกเราอย่างนี้ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวโลกเขาอยากมี ก็รู้สึกไม่ยั่งยืนอะไร ตั้งแต่เรียนจบเพื่อนๆ เขาก็ไปสอบปลัดอำเภอกัน วันหนึ่งจะได้เป็นผู้ว่าฯ เป็นอธิบดีกรมการปกครอง เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย

บางคนเรียนรัฐศาสตร์ สาขาต่างประเทศ ได้เป็นเอกอัครราชทูต มีเป้าหมายในชีวิต แล้วก็เรียนจบก็ทำงานไป บางคนก็ถึงเป้าที่ตั้งไว้ บางคนก็ไม่ถึง แต่สุดท้ายเกษียณมันก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว เคยมีตำแหน่งก็ไม่มีตำแหน่ง เคยมีคนยกย่องก็ไม่มีคนยกย่อง คนเขาก็เฉยๆ สักพักเดียวคนเขาก็ลืม อย่างเคยเป็นผู้ว่า โอ๊ย คนก็ยกมือไหว้ เกษียณไปสิบปีคนจำไม่ได้แล้ว ตาแก่คนนี้มาเดินเกะกะอะไรอย่างนี้

หลวงพ่อเห็นสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ ฉะนั้นเป้าหมายในชีวิตไม่ได้มุ่งไปที่ความใหญ่โตผลประโยชน์อะไร รู้ทุกอย่างในชีวิตเรามันของชั่วคราว ไม่ได้ดิ้นรนว่าจะต้องรวย ทำมาหากินพออยู่พอกิน วางแผนอนาคตที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนพึ่งพาคนอื่น วางแผน เวลาก็เลยเหลือเยอะ อย่างถ้าเราอยากใหญ่ หรืออยากมีเงินมีอะไรพวกนี้มากๆ เราก็ต้องเหนื่อยมาก

อย่างอยากเป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องทำงานหนัก ต้องเข้ากับคนทุกกลุ่มให้ได้ บางทีบางคน ไม่ใช่ทุกคน อย่างตำรวจอะไรพวกนี้ เขาต้องเข้ากับผู้มีอิทธิพล เพราะว่ามิฉะนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้ในพื้นที่นั้น เขาต้องหาเงินหาทอง ส่งส่วยส่งอะไร ระบบมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ นักการเมืองแย่งกันมีอำนาจเพื่อจะมาหาเงิน บางคนก็หาเงิน ลงทุนแจกก่อน แจกหัวละพัน อยากเป็น ส.ส. ต้องซื้อเสียงให้ได้ 8 หมื่นคน ต้องซื้อ จ่ายหัวละพันอะไรอย่างนี้ มันคือการลงทุน แย่งกันไปแย่งกันมาสุดท้ายก็ว่างเปล่า บางทีติดคุกติดตาราง ต้องหนีคดีหนีอะไร

นี่สมบัติทางโลก มันไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรนักหรอก ได้มาเพื่อวันหนึ่งจะเสียไป เหนื่อยแทบตายกว่าจะได้มา พอได้มาแล้ววันหนึ่งมันก็เสียไป สุดท้ายทุกอย่างกลับไปที่ศูนย์เหมือนเดิม เกิดมามือเปล่า ตายไปก็ตายเปล่าๆ ไม่มีอะไรติดตัวไปได้เลย ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้หลวงพ่อไม่เคยเห็นว่ามันมีสาระแก่นสาร มันไม่เหมือนธรรมะ ตั้งแต่เด็กนั่งสมาธิภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำทุกวันๆ จิตใจมันร่มเย็นเป็นสุข มันเป็นความสุขซึ่งอยู่กับเรา ไม่หายไปไหน เราปฏิบัติทุกวันๆ ยิ่งมาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิตดูใจ ก็เข้าใจจิตใจตัวเอง เข้าใจชีวิตเข้าใจโลกมากขึ้นๆ มันมีความรู้สึกว่าโลกมันอยู่ห่างๆ ออกไป โลกที่คนเขาแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างกัน มันเหมือนความฝันเท่านั้นเอง

ถ้าใจที่มีความสงบ มีความตั้งมั่น มีปัญญา มันถอดถอนตัวเองออกจากโลก เห็นโลกมันก็อยู่ส่วนโลกมันเข้ามาไม่ถึงจิต โลกมันก็วุ่นวายไปอย่างนั้น แต่มันก็เข้ามาไม่ถึงจิต จิตไม่ได้วุ่นวายไปกับโลก เราภาวนา เราเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ มีความสุข มีความสงบ เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เห็นคนทำไม่ดีก็เข้าใจ ไม่ได้โกรธไม่ได้เกลียดอะไร เข้าใจ เห็นคนทำดีก็เข้าใจ เขาดีอย่างนี้ ดี ก็อยากให้เขาดียิ่งขึ้นไป ถ้าบางคนเป็นคนดีแต่ว่าไม่ภาวนา น่าเสียดายมากเลย เสียโอกาส นานๆ พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นสักองค์หนึ่ง เวลาพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ยั่งยืนเท่าไร อยู่ไม่นาน

 

ภาวนาจนเข้าถึงความเป็นพุทธแท้ๆ

ธรรมะของพระพุทธเจ้าถึงจะเป็นความจริง แต่คนในโลกไม่ได้อยากได้ความจริง อยากได้ผลประโยชน์ต่างๆ มันฝืนธรรมชาติ ฝืนความรู้สึก ศาสนาก็ไม่ยั่งยืนเท่าไรหรอก บางยุคบางสมัย บางพระพุทธเจ้าพอสาวกรุ่นที่ท่านสอนไว้นิพพานไปหมด หรือตายไปหมด ศาสนาก็สูญเลย ไม่มีการสืบทอด หลายพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น อย่างพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ท่านปัญญามาก บัญญัติธรรมบัญญัติวินัยเอาไว้มากมาย ศาสนาก็ยั่งยืนมาได้ 2 พันกว่าปี ถามว่ามันยั่งยืนจริงไหม มันก็ไม่ค่อยจริง คนส่วนน้อยหรอกที่จะได้ประโยชน์จากพระศาสนาจริงๆ ส่วนมากก็ไม่ได้

ศาสนาพุทธเข้ามาเมืองไทยก็มาเจอศาสนาผี ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามา ดินแดนนี้เป็นศาสนาผี เราเคยได้ยินคำว่าขวัญไหม ขวัญ นี่เรื่องของศาสนาผี ในภาษาไทยจะมีคำเกี่ยวกับขวัญเยอะแยะเลย ขวัญหาย ขวัญดีอะไรต่ออะไร เสียขวัญอะไรอย่างนี้ ก็ต้องทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้ ให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว คิดอย่างนั้นเพราะว่าไม่รู้จักศาสนาพุทธมาก่อน พอศาสนาพุทธเข้ามาในเมืองไทย ศาสนาก็ต้องปรับตัวกลมกลืนเข้ากับสังคมอันนี้

อย่างศาสนาพุทธไปอยู่เมืองจีนก็ต้องปรับตัวกลมกลืน เข้ากับเต๋า เข้ากับขงจื๊อ อยู่ด้วยกัน มันไม่ใช่ศาสนาพุทธเพียวๆ หรือบางที่ศาสนาพุทธก็ต้องสร้าง พระโพธิสัตว์อะไรขึ้นมามากมายเพื่อต่อสู้กับลัทธิของเทพฮินดู ฮินดูมีเทพเจ้าเยอะแยะ พุทธก็มีพระโพธิสัตว์เยอะแยะเก่งๆ อะไรอย่างนี้ ก็เป็นความแอพพลาย เป็นการปรับให้เข้ากับชุมชนนั้น สังคมนั้น พุทธที่คนในโลกรู้จักมันเลยไม่ใช่พุทธแท้ๆ หรอก

เราก็ต้องภาวนาจนวันหนึ่งใจเราสลัดสิ่งซึ่งไม่ใช่พุทธออกไปได้ เราก็เข้าถึงความเป็นพุทธแท้ๆ ฉะนั้นเราจะต้องหัดฝึกจิตใจของเรา พอเราเข้าใจความเป็นพุทธขึ้นมาแล้ว จิตใจมันมีความสุขมหาศาล ความสุขโลกๆ มันก็อย่างนั้นๆ มันเป็นความสุขที่เจือความทุกข์ แต่ความสุขจากธรรมะมันบอกไม่ถูกเลย มันสุขจนไม่มีอะไรเหมือน มันสงบสุข ไม่ใช่สุขร้อนๆ สุขในโลกเป็นสุขร้อนๆ เจือความเร่าร้อนลงไปด้วย สุขในธรรมมันร่มเย็น สบาย อันนี้มันเป็นประโยชน์ที่แท้จริง

ถ้าเราฝึกภาวนาไป ภาวนามี 2 อัน ช่วงไหนจิตเราไม่มีเรี่ยวมีแรง จิตฟุ้งซ่าน ก็ทำสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานก็มีวิธีทำนับไม่ถ้วน แต่ทุกวิธีย่อลงมาแล้วก็คือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล แล้วก็มีความสุขอย่างต่อเนื่อง เคล็ดลับก็คือไปอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข ถ้าจิตใจอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข จิตก็ไม่พล่านไปหาอารมณ์อื่น จิตก็สงบ พอจิตสงบไปเรื่อยๆ จิตก็มีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา คราวนี้เราก็ทำกรรมฐาน

ภาวนาอันที่สองคือวิปัสสนากรรมฐานและวิปัสสนาภาวนา เจริญวิปัสสนา วิปัสสนาก็ดูรูปนาม ไม่ได้ดูรูปนามทั้งหมด แต่เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ฉะนั้นธรรมะเวลาเรียนในขั้นการเจริญปัญญามันคือการสุ่มตัวอย่าง เรียนแบบสุ่มตัวอย่างเหมือนงานวิจัย ตัวอย่างที่ท่านสอนมาให้อย่างเรื่องกาย ท่านให้ดูกายหายใจออก กายหายใจเข้า เรียนเรื่องกายอยู่เรื่องเดียว เรื่องกายหายใจออก กายหายใจเข้า ถ้าเห็นว่ากายหายใจออกไม่ใช่เรา กายหายใจเข้าไม่ใช่เรา มันจะรู้รวบเลยว่ากายทั้งหมดไม่ใช่เราหรอก นี่สุ่มตัวอย่างมาเรียน แค่เรียนกายหายใจอย่างเดียวก็จะรู้กายทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าเรียนกายในกาย

 

กายในกาย จิตในจิต

กายในกายก็คือเรียนกายส่วนย่อย เข้าใจแล้วก็จะเข้าใจกายทั้งหมด เหมือนงานวิจัยเปี๊ยบเลย ทำวิจัย สุ่มตัวอย่างมาทำวิจัย พอเข้าใจแล้วก็จะเข้าใจทั้งหมด ภาพรวมทั้งหมด

หรือบางคนไม่ถนัดหายใจ บางคนเป็นโรคจมูกตัน อย่างพระอาจารย์อ๊าจมูกท่านตัน เป็นมานาน ก็ดูอย่างอื่น เช่น ดูกายยืน เดิน นั่ง นอน หรือกายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง ถ้าเห็นว่ากายยืน เดิน นั่ง นอน นี่เซ็ตหนึ่ง กายหายใจออก หายใจเข้าเป็นอีกเซ็ตหนึ่ง กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง นี่ก็อีกเซ็ตหนึ่ง แต่ละเซ็ตนั่นล่ะเรียกว่ากายในกาย ถ้าเราเห็นว่ากายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนไม่ใช่ตัวเรา มันจะรู้รวบยอดว่ากายทั้งหมดไม่ใช่เรา

ถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน เราดูกายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง ถ้าเห็นว่ากายเคลื่อนไหวไม่ใช่เรา กายที่หยุดนิ่งไม่ใช่เรา มันก็จะเกิดความรู้รวบยอดว่ากายทั้งหมดไม่ใช่เรา อย่างนี้เรียกว่าดูแบบกายในกาย จิตในจิตก็เหมือนกัน จิตนั้นมันมีความหลากหลาย วิจิตรพิสดารมาก จิตมีจำนวนมาก มากมายมหาศาล เราไม่ต้องเรียนจิตทุกชนิดหรอก ไม่ต้องเรียนแบบที่เขาเรียนอภิธรรม จิตมีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง จำแนกตามชาติกำเนิด อันนี้เป็นกุศล อกุศล อันนี้ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล จำแนกตามภูมิ อันนี้จิตในกามวจร รูปาวจร อรูปาวจร จำแนกไปเยอะแยะเลย ไม่ต้องเรียนมากมายขนาดนั้น

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องจิตในจิต เราเรียนจิตบางอย่าง ถ้าเข้าใจแล้วเข้าใจจิตทั้งหมด อย่างถ้าเราเป็นคนขี้โลภ เป็นคนโลภ เห็นอะไรก็อยากได้หมดเลย มีความอยาก มีความโลภ มีราคะ คุกรุ่นทั้งวัน นี่นิสัยขี้โลภ ท่านก็สอนจิตในจิต ก็ดูจิต 2 อย่างเท่านั้นล่ะ จิตที่โลภกับจิตที่ไม่โลภ ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ เดี๋ยวจิตมันก็โลภขึ้นมา เดี๋ยวมันก็ไม่โลภ ตรงที่ไม่โลภมันอาจจะโกรธก็ได้ อาจจะเป็นกุศลก็ได้ อาจจะมีโมหะเซ่อๆ อยู่ก็ได้เลยไม่โลภ

ฉะนั้นจิตไม่โลภ คำว่าไม่โลภเลยครอบคลุมกว้างๆ กว้างกว่าคำว่าอโลภะ อโลภะทั่วๆ ไปไม่โลภเฉยๆ แต่เวลาที่เราเจริญจิตตานุปัสสนา จิตที่ไม่โลภอาจจะเป็นจิตที่โกรธก็ได้ จิตที่เฉยๆ ก็ได้ หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ถ้าไม่โลภ เราไม่ต้องแยกมากมายให้ยุ่งยาก เราขี้โลภ เราก็เห็น ตอนนี้จิตโลภขึ้นมา อ้าว ตอนนี้หายโลภแล้ว ดูแค่นี้ ถ้าเราเห็นว่าจิตโลภไม่ใช่เรา จิตที่หายโลภก็ไม่ใช่เรา จิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตที่หายโลภ ก็ไม่เที่ยง ต่อไปมันจะเกิดความรู้รวบยอด จิตทั้งหมดล่ะมันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวเรา

คนไหนขี้โมโห โกรธบ่อย กระทบอะไรนิดหนึ่งก็โกรธแล้ว หงุดหงิดๆ ทั้งวัน ขี้หงุดหงิด เราก็เรียนจิตในจิต เรียนจิตบางอย่าง คือเรียนจิตเซ็ตเล็กๆ อันหนึ่ง จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ขณะจิตไม่มีโทสะอาจจะเป็นกุศลก็ได้ จะเป็นจิตโลภก็ได้ จะเป็นจิตหลงเฉยๆ ก็ได้ เราไม่ต้องแยกให้ยุ่งยาก เราแค่รู้ว่าตอนนี้หงุดหงิดแล้ว อ้าว ตอนนี้ไม่หงุดหงิดแล้ว เรียนอยู่แค่นี้ ถ้าเห็นจิตหงุดหงิดเห็นจิตโกรธมันไม่ใช่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา เห็นจิตที่ไม่หงุดหงิดเห็นจิตที่ไม่โกรธว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่เรา มันก็จะรู้เลยจิตทั้งหมดไม่เที่ยง จิตทั้งหมดไม่ใช่ตัวเรา อย่างนี้เรียกว่าจิตในจิต เรียนจิตบางชนิด เรียนเซ็ตเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเรียนทั้งหมดตั้งเป็นร้อยๆ ดวง เรียนมัน 2 อย่างเท่านั้น จิตโลภกับจิตไม่โลภ จิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตหลงกับจิตไม่หลง เรียนอย่างนี้ง่ายๆ

ถ้าเรียนไปเรื่อยๆ ต่อไปก็ล้างความเห็นผิด วิปัสสนาจะทำไปเพื่อล้างความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 กายนี้ใจนี้เป็นตัวเราเป็นของเรา ล้างความเห็นผิดตัวนี้ ยิ่งเราภาวนาบางทีเรายังไม่ล้างความเห็นผิด แต่เราเจริญสติ จิตใจเราก็มีสมาธิ ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา แต่ปัญญายังไม่พอ ทำวิปัสสนายังไม่พอ ยังไม่เกิดอริยมรรคอริยผล ก็ไม่เป็นไร แค่เริ่มลงมือปฏิบัติ ตามรู้ตามดูร่างกาย ตามรู้ตามดูจิตใจ ของตัวเองเรื่อยๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ทีแรกมันก็ไม่เป็นกลาง ตั้งมั่นขึ้นมา กระทบอารมณ์ที่ถูกใจมันก็ยินดี กระทบอารมณ์ไม่ถูกใจ ก็ยินร้าย ให้รู้ทัน มีสติรู้ทันยินดียินร้ายอีกทีหนึ่ง ความยินดียินร้ายจะดับด้วยอำนาจของสติ อภิชชาโทมนัสมันจะดับด้วยอำนาจของสติ รู้เท่าทัน จิตก็เป็นกลาง เป็นกลางด้วยสติ

ก็ทำไปเรื่อย ดูไปบางทีก็เป็นกลาง บางทีก็ไม่เป็นกลาง ดูทั้งกาย ดูทั้งใจ สติระลึกรู้อะไรก็ไม่เป็นไร รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้กายก็รู้ด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สติระลึกรู้กุศลอกุศลทั้งหลาย ก็รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ต่อไปสติปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันก็ถอดถอนตัวเอง จากความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นเรา ปฏิบัติต่อไปสุดท้ายมันถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวขันธ์ 5 ไม่ยึดในขันธ์ 5 ต่อไป ไม่ยึดขันธ์ 5 มันก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์ แล้วก็ไม่มีตัวทุกข์ ที่เราไปหยิบฉวยขึ้นมา

 

ความอัศจรรย์ของธรรมะ

เมื่อก่อนธรรมะมันเป็นเรื่องแปลก บางทีเราฟังธรรมะเรานึกว่าเราเข้าใจ พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ ความเข้าใจของเราเปลี่ยน ที่ว่าเข้าใจๆ โอ้ มันยังเข้าใจไม่จริง มีธรรมะชนิดนี้เยอะแยะเลยที่เรารู้สึกเข้าใจๆ อย่างเรื่องอริยสัจอย่างนี้ เรียนมาตั้งแต่เด็ก สมัยหลวงพ่อมันยังมีวิชาศีลธรรมอยู่ ก็มีเรื่องอริยสัจ 4 เรียนตั้งแต่ประถมเลย ก็เข้าใจแบบเด็กๆ คิดว่านิพพานก็คือตาย ฉะนั้นเราไม่อยากนิพพาน กระทรวงศึกษาฯ มันเขียนตำราภาษาลิงอะไร นิพพานแปลว่าตาย ไม่เอา ไม่อยากนิพพาน

พอโตขึ้นมาก็ภาวนาไป เราเห็นกายเห็นใจไปเรื่อยๆ ก็เห็น โอ้ กายนี้ล่ะมันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ความทุกข์เวลาเกิดมันก็เกิดอยู่ที่กาย จิตนี้ก็เป็นที่ตั้งของความทุกข์ เวลาความทุกข์เกิดก็เกิดที่จิต ความทุกข์มันต้องตั้งอยู่ที่กายตั้งอยู่ที่จิต ดูไปแล้วก็คิดว่าเข้าใจอริยสัจอีกแล้ว ภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วพบว่าไม่ใช่ คนละโลกเลย คนละเรื่องเลย ที่จริงตัวกายนั่นล่ะตัวทุกข์ ตัวจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ไม่ใช่ว่าเป็นที่ตั้งของความทุกข์เฉยๆ หรอก ตัวมันคือตัวทุกข์

โอ้ กว่าจะเข้าใจ โง่เสียตั้งหลายสิบปี กว่าจะเข้าใจแต่ละเรื่องๆ เยอะแยะเลยที่เวลาเราฟังธรรมะ เรารู้สึกเข้าใจๆ เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ คนฟังก็หลากหลาย ทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจ ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ่ายทอดออกจากพระจิตที่บริสุทธิ์ของท่าน แล้วก็เข้าสู่จิตใจของสาธุชนทั้งหลายซึ่งมันแตกต่างกันมากมาย บางคนกิเลสหนา บางคนกิเลสบาง บางคนเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี บางคนเป็นพระอรหันต์ ทุกคนฟังพระพุทธเจ้าเทศน์พร้อมๆ กัน ทุกคนรู้สึกว่าเข้าใจ แต่ความเข้าใจของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน นี่ความอัศจรรย์ของธรรมะ นึกว่าเข้าใจๆ

เพราะฉะนั้นเราฟังธรรมที่หลวงพ่อเทศน์ สังเกตไหม บางคนบอกเทศน์เหมือนกันทุกวันเลย ก็จะเอาอะไร ธรรมะมันมีแค่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เทศน์ก็อยู่ในเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีเรื่องอื่นหรอก แต่เวลาเราฟังแล้วเราลงมือปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

อย่างเราภาวนาแล้วค่อยๆ ดูไป เราเห็นจิตกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี มีความทุกข์ กระทบอารมณ์ที่ดีแล้วมีความสุข เราจะเห็นอย่างนี้ทีแรก ต่อไปเราเห็นจิตกระทบอารมณ์ที่ดีก็สะเทือนขึ้นมา ไหวตัวขึ้นมา ไหวอยู่กลางอกนี้ กระทบอารมณ์ที่ดีก็ไหว กระทบอารมณ์ที่ไม่ดีก็ไหว จิตไหว จิตสะเทือนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขหรอก ทำอย่างไรจะไม่กระทบอารมณ์ หลงไปโน่นแล้ว คิดว่าวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ต้องพ้นจากการกระทบอารมณ์ หนีการกระทบอารมณ์ จิตจะได้ไม่สะเทือน ไม่ปรุงแต่งอะไรขึ้นมา นึกว่าทำอย่างนี้ถูก ไม่ถูกหรอก มันหนีการกระทบอารมณ์ไม่ได้ จิตมันมีหน้าที่รู้อารมณ์ เราค่อยภาวนาไปจนวันหนึ่งเห็นจิตนั่นล่ะตัวมันเองนั่นล่ะคือตัวทุกข์ มันเป็นตัวทุกข์ มันถึงจะวาง

ฉะนั้นธรรมะ ฟังแล้วก็ลงมือปฏิบัติไป ความรู้ความเข้าใจก็จะประณีตลึกซึ้ง ถูกต้องมากขึ้นๆ อะไรที่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เคยครอบงำเราอยู่แต่ไหนแต่ไร คือเป็นพุทธแบบปนเปื้อน มันปนเปื้อน จะว่ามันไม่ให้ปนเปื้อนก็ไม่ได้ มันมาอยู่ในสังคมผี มันก็ต้องปนเปื้อนกับผี อยู่สังคมขงจื๊อ สังคมเต๋า มันก็ต้องปนเปื้อน อยู่ในสังคมฮินดู มันก็ปนเปื้อน

 

หลักการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หน้าที่ของเราก็คือจับหลักการปฏิบัติให้แม่น ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา จับหลักให้แม่น สมถะก็มีหลักนิดเดียว น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง เป็นอารมณ์ที่ไม่ยั่วให้เกิดกิเลส วิปัสสนา จะดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธัมมานุปัสนาอะไรก็ตาม หลักมันก็มีอยู่อันเดียว มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ไม่หนีจากหลักนี้ หลวงพ่อก่อนที่จะสรุปหลักนี้ขึ้นมาได้แต่ละข้อๆ ที่เป็นหลักขึ้นมา ผ่านการลองผิดลองถูกมากมายจากการปฏิบัติจนกระทั่งสรุปออกมาอย่างห้าวหาญ ไม่กลัวว่าใครจะคัดค้าน ไม่กลัวหรอก จะทำสมถะใช้อะไร ใช้กสิณหรือใช้อะไร มันก็หนีไม่พ้นหลักที่บอกว่าสมถะต้องทำอย่างไร

เจริญวิปัสสนาจะแบบไหนก็ตามเถอะ ก็หนีไม่พ้นหลักที่บอก หลักของวิปัสสนาก็มีสติ สติทำหน้าที่อะไร สติทำหน้าที่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้กายรู้ใจ รู้รูปรู้นามนั่นล่ะ สติไปรู้อย่างอื่นได้ไหม ได้ อารมณ์ที่เป็นกุศลทั้งหมดนั่นล่ะมีสติประกอบเสมอ แต่ไม่ใช่สติตัวสำคัญ มันเป็นสติธรรมดา แต่สติที่รู้กาย สติที่รู้ใจ คือสติปัฏฐาน คือคำว่าสัมมาสติ สติมี 2 อย่าง มีมิจฉาสติกับสัมมาสติ พวกเรียนอภิธรรมชอบพูดว่าสติไม่มีมิจฉาสติ ต้องเป็นสัมมาหมดล่ะ ในพระไตรปิฎกมีคำว่ามิจฉาสติ มี อย่าโมเมไปตัดทิ้งเสีย มิจฉาสติ ถามว่าชั่วไหม ไม่ชั่ว จิตที่มีมิจฉาสติเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นกุศล แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นกุศล แต่เจริญปัญญาไม่ได้

อย่างเราเห็นพระบิณฑบาต เราเกิดเลื่อมใส ศรัทธา มีปีติ เห็นแล้วขนลุกขนพอง เช้าๆ เข้าไปในหมู่บ้าน เห็นพระอาจารย์มาบิณฑบาต เห็นแล้วปลื้มอะไรอย่างนี้ นี่จิตมีสติ จิตเป็นกุศล แต่อันนี้ไม่ทำให้บรรลุมรรคผล สติที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลได้ต้องเป็นสติปัฏฐาน คือสติรู้กาย สติรู้ใจ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าอธิบายคำว่าสัมมาสติ ด้วยสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่เรื่องอื่น ฉะนั้นให้เรามีสติ สติรู้อะไร รู้กายรู้ใจ รู้อย่างไร ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าเรารู้กาย แล้วจิตถลำลงไปในกาย ปัญญาไม่เกิด มันคือการเพ่งกาย กลายเป็นสมถะ สติรู้จิตว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตถลำลงไปเพ่ง จิตก็เป็นสมถะ ไม่เกิดปัญญา จิตต้องตั้งมั่นแยกตัวออกมาอยู่ต่างหาก เป็นคนรู้คนดู สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่น เรียกว่ามีสัมมาสติ ก็จะเห็นว่ากายกับจิตมันคนละอันกัน แล้วต่อไปมันก็จะเห็นอีก เวลาไปรู้กาย รู้จิต หรือรู้อารมณ์ใดๆ เดี๋ยวก็ยินดี เดี๋ยวก็ยินร้าย

อย่างพอเราสามารถแยกได้ว่ากายกับจิตแยกออกจากกัน เรายินดีสภาวะที่กายกับจิตแยกออกจากกัน พอยินดี พยายามดึงไม่ให้กายกับจิตรวมกัน นี่ผิดแล้ว พลาดแล้ว ไม่เป็นกลาง อยากได้อันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่ง อยากให้จิตกับกายแยกจากกัน เกลียดการที่จิตกับกายเข้าไปรวมกัน มันก็ตกจากหลักของวิปัสสนาที่แท้จริง ทำไม่ได้หรอก กลายเป็นการเพ่งกาย หรือถ้าดูจิต ก็ไปเพ่งจิตเอา อยากให้จิตสงบตลอดเวลา อยากให้จิตสุขตลอดเวลา อยากให้จิตดีตลอดเวลา ก็ไปนั่งเพ่งจิตเอา นั่นไม่ใช่ มันไม่เป็นกลาง มันยินดีกับจิตที่สุข สงบ ดี ยินร้ายกับจิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่ไม่สบาย มีความทุกข์ ยินดีข้างหนึ่ง ยินร้ายข้างหนึ่ง จิตไม่เป็นกลาง ถ้าจิตไม่เป็นกลาง ปัญญาตัวจริงไม่เกิดหรอก มันละกิเลสไม่ได้จริง

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปออกมา มีสติ สติทำหน้าที่อะไร สติทำหน้าที่ระลึกรู้ รู้อะไร รู้กาย รู้ใจ รู้อย่างไร รู้ตามความเป็นจริง กายเป็นอย่างไร ความจริงของกายก็เป็นไตรลักษณ์ ความจริงของจิตเป็นอย่างไร ก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราจะเห็นกายเห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ได้ ต้องเห็นด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จะถลำลงไปเพ่งกายเพ่งใจ จะไม่เกิดปัญญา แต่จะเกิดความสงบเฉยๆ เป็นสมถะทันทีเลย แล้วถ้าไม่เป็นกลาง จิตใจจะไม่สักว่ารู้ว่าเห็น จิตจะดิ้นรนปรุงแต่งต่อ เช่น เห็นความโกรธเกิดขึ้น จิตไม่เป็นกลาง จิตก็หาทางทำลายความโกรธ หาทางละความโกรธ เห็นไหม จิตปรุงแต่งต่อแล้ว เกิดสังขาร เกิดความปรุงแต่งต่อไปแล้ว

สังขารคือภพ แล้วก็ภพที่พยายามจะลดละกิเลสเป็นภพที่ดีๆ เป็นบุญ ตายไปก็ไปเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นเทวดาเป็นพรหมไป นิพพานไหม ไม่นิพพานหรอก ไม่สามารถวางได้ มันจะยึดถือกาย ยึดถือจิตเอาไว้เหนียวแน่น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจับหลักให้แม่น เวลาเราต้องการทำความสงบ อย่าอยากสงบ ให้น้อมใจไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วสงบหรือไม่สงบก็ช่างมัน

อย่างหลวงพ่อตอนที่ฝึกมา หลวงพ่อทำอานาปานสติ ทีแรกก็ทำตามตำราตามสูตรที่ปกติเขาทำกัน หายใจยาวๆ ไปถึงท้อง หายใจออก หายใจเข้า รู้สึกๆๆ ไป พอจิตมันเริ่มสงบ ลมมันก็สั้นลงๆ สุดท้ายมันมาอยู่ที่ปลายจมูกนี่เอง แล้วต่อมาพอชำนาญเข้า แค่อยู่ที่ปลายจมูก จะหายใจยาวหรือหายใจสั้น มันรู้ด้วยตัวนี้ที่เดียวเลย ไม่ต้องวิ่งไล่ขึ้นไล่ลง การที่จิตจะต้องทำงานมากมาย มันก็ค่อยลดการทำงานลง แล้วจิตมันก็หยุดทำงาน หยุด เหลือแต่รู้อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน สบาย

ค่อยๆ ฝึก น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อารมณ์ที่หลวงพ่อมีความสุขก็คือทำอานาปานสติบวกกับคำบริกรรมพุทโธ ทำแล้วมีความสุข จิตก็สงบ ถ้าเราไปทำกรรมฐานซึ่งไม่เหมาะกับตัวเอง ทำแล้วไม่มีความสุข จิตไม่มีวันสงบหรอก หลวงพ่อเคยดูร่างกายเหมือนกัน ดูๆๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ๆๆ ไปทั้งหมดจนกระทั่งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อหายไปหมดเลย เอ็นหายไปหมด เหลือกระดูก ดูกระดูกไป ในกายนี้มันมีกระดูกอยู่ชิ้นหนึ่งคือกระดูกไหปลาร้าข้างซ้าย ถ้าดูตรงนี้ปุ๊บจะปวดทันทีเลย ดูกระดูกตัวอื่น แหม จิตคล่องแคล่ว

ไปถามหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่าปกติ จิตท่านบอกว่ามันไม่ชอบ ไม่ชอบดูตัวนี้ ก็ไปดูตัวอื่นสิ ตัวนี้มันไม่ชอบ ท่านก็บอกท่านก็มีกระดูกซี่โครงอยู่ซี่หนึ่ง ถ้าดูแล้วปวด ท่านก็ไม่ดู แต่พอดูไปเรื่อยๆ จิตรวมลงไป กายก็แตกสลายไปหมด ชิ้นที่เราไม่ชอบมันก็หายไปด้วย แตกสลายเหมือนกันหมด เราดู อย่างสมมติถ้าเราดูแล้วปวดอย่างนี้ ไม่ต้องไปดูมัน ดูแล้วไม่มีความสุข ดูแล้วไม่มีความสุขจิตไม่สงบ ต้องดูกรรมฐานอะไรที่เรามีความสุขแล้วจิตมันสงบ

พอเข้าใจหลักไหม เวลาเราต้องการความสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข อย่างต่อเนื่อง น้อมจิตไป ไม่ได้เพ่ง ถ้าไปเพ่งก็ไม่มีความสุข อึดอัด แค่น้อมใจไปรู้สึก น้อมใจเข้าไปรู้สึกในอารมณ์อันนั้น ถ้าจะเจริญวิปัสสนา มีสติระลึกรู้กายระลึกรู้ใจตามความเป็นจริง จะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คำว่าตั้งมั่นและเป็นกลาง ใส่วงเล็บไว้ได้เลย ฉะนั้นหลักจริงๆ คือ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง หลวงพ่อพบว่าจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ จิตต้องตั้งมั่นและเป็นกลาง ต้องมีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีทางเกิดปัญญาที่แท้จริงหรอก อย่างมากก็เกิดจินตามยปัญญา คิดๆ เอา ฉะนั้นอยากมีปัญญาพ้นทุกข์ จริงๆ ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นและเป็นกลางก่อน

สังเกตไหมที่หลวงพ่อสอนพวกเราส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสมาธิ เพราะพวกเราส่วนใหญ่จิตยังไม่มีคุณภาพในระดับที่ตั้งมั่นและเป็นกลางหรอก ส่วนใหญ่จิตยังไม่ตั้งมั่น แล้วก็ยังไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรามาก ถ้าสังเกตให้ดี นี่เผลอไปแล้ว ไม่ตั้งมั่นแล้ว มันเผลอมันไหลไปแล้ว หรือมันไม่เป็นกลาง มันยินดีกับอันโน้น ยินร้ายกับอันนี้ไป

 

จิตตั้งมั่น เป็นกลางแล้วต้องเดินปัญญา

ฉะนั้นถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่หลวงพ่อสอนส่วนใหญ่ ที่พวกเราเรียนทุกวันนี้ เรื่องของสมาธิ คนใดซึ่งจิตตั้งมั่น เป็นกลางแล้วก็ต้องออกเดินปัญญา ถ้าตั้งมั่นเป็นกลางแล้วเฉยๆ อยู่ โง่ เหมือนเราชาร์จแบตเต็มแล้วเราก็ทิ้งไปให้แบตเสื่อม เอาน้ำไปใส่ตู้เย็น ใส่ช่องฟรีซได้น้ำแข็งมา แล้วก็ถอดออกมา เอามาวางไว้ข้างนอกให้มันละลายเล่น อันนี้โง่ เพราะฉะนั้นเวลาจิต ตั้งมั่นและเป็นกลางแล้วทิ้งมัน ไม่ทำประโยชน์ โง่

เมื่อเช้าหลวงพ่อเจอทิดคนหนึ่ง มาส่งการบ้านหลวงพ่อ ทิดนี้จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว จิตมีแรงแล้ว เฉยๆ ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น บอกจิตมันไม่เดินปัญญา คล้ายๆ ทำน้ำแข็งเสร็จแล้วก็ให้มันละลายเล่นไปอย่างนั้น พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว ถ้าสติระลึกรู้กาย แล้วมันก็รู้อยู่เฉยๆ ช่วยมันนิดหนึ่ง หมายรู้ลงไป ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ช่วยมันนิดหนึ่ง แล้วถ้าจิตมันตั้งมั่น แล้วมันนิ่งๆ เฉยๆ อยู่ สติระลึกรู้จิต ช่วยมันหน่อย จิตนี้มันไม่เที่ยง เมื่อกี้รู้ตัวเฉยๆ ตอนนี้มันออกมาเห็นไตรลักษณ์แล้ว

เมื่อกี้จิตดี เป็นจิตตั้งมั่น เป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เราก็น้อมไป หมายรู้ลงไปที่จิตใจของเรา เออ มันไม่เที่ยง เมื่อกี้มันเฉยๆ ตอนนี้มันออกมาดูไตรลักษณ์แล้ว เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดกับจิต มันไม่เที่ยง แล้วมันก็เกิดเองดับเองตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่ใช่เราสั่งได้ ช่วยมันนิดหนึ่ง พิจารณาลงไป หมายรู้ลงไปถึงความเป็นไตรลักษณ์ของกาย หมายรู้ลงไปถึงความเป็นไตรลักษณ์ของจิต การที่เราต้องหมายรู้หมายถึงว่าเราฝึกจิตจนตั้งมั่นแล้วมันไม่ยอมหมายรู้เอง ถ้าจิตตั้งมั่น แล้วมันหมายรู้เอง ไม่ต้องไปเจตนาหมายรู้ ไม่ต้องไปคิดมาก อันนั้นทำให้จิตฟุ้งเปล่าๆ

ฉะนั้นเราค่อยๆ ทำ จับหลักที่หลวงพ่อบอกให้แม่นๆ แล้วไม่ว่าเราจะทำกรรมฐานอะไร หนีไม่พ้นจากหลักที่หลวงพ่อบอกนี้หรอก จะใช้วิธีไหนมันเข้าใจไปหมด ถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติแล้ว เราไปฟังท่านใดท่านหนึ่งเขาพูดธรรมะ ฟังปุ๊บเราจะรู้เลยว่าภูมิจิตภูมิธรรมของเขาระดับไหน ฟังออกๆ โอ้ คนนี้พูดแล้วทำจิตให้นิ่งๆ เฉยๆ สงบ ทำจิตให้ว่าง เรารู้เลยพวกนี้ยังติดสมถะอยู่ สอนทีไรก็สอนทำจิตให้ว่าง เวลาความคิดเกิดแล้วปัดทิ้งไป อย่าไปคิดมันๆ เฉยๆ อันนั้นทำจิตให้ว่างๆ เฉยๆ มันเป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่งชื่อ อเนญชาภิสังขาร รากเหง้าของอเนญชาภิสังขาร ก็คืออวิชชาๆ ความปรุงแต่งทั้งหมดรากของมันคืออวิชชา

จับหลักให้แม่น ไม่ใช่ไปทำจิตให้นิ่ง แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านทำสมถะแล้วจิตนิ่ง แล้วตอนเดินปัญญา ไม่ใช่บังคับจิตให้นิ่งตลอดชาติ ถ้าจิตมันนิ่งอยู่ สติระลึกรู้กาย หมายรู้กายว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตมันนิ่งๆ อยู่ สติระลึกรู้ความรู้สึกในใจเรา หมายรู้ลงไปว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ต่อไปมันจะเห็นไตรลักษณ์เอง หรือสติระลึกรู้กายก็เห็นกายเป็นไตรลักษณ์เอง ไม่ต้องหมายรู้แล้ว ไม่ต้องจงใจ มันหมายรู้ของมันเอง หรือสติระลึกรู้จิต มันก็ไปหมายรู้เองว่าจิตใจก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ต้องฝึก ทีแรกถ้าจิตมันนิ่งๆ ต้องช่วยมันหมายรู้ ถ้ามันหมายรู้ได้แล้ว ไม่ต้องไปช่วยมัน ไปช่วยมันก็คือเป็นการปรุงดี เรียกว่าปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร รากของมัน พ่อแม่ของมันก็คืออวิชชา เพราะฉะนั้นความปรุงแต่งทั้งหมดมีรากเหง้าอันเดียวกัน คืออวิชชาทั้งหมดเลย จะปรุงดีก็ปรุงเพราะอวิชชา ปรุงชั่วก็เพราะอวิชชา พยายามไม่ปรุงก็เพราะอวิชชา

พอได้หลักไหม หลักของสมถะว่าอย่างไร ตอบได้ไหม น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เราแค่น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข แต่อย่างถ้าเราไปเพ่ง เราไม่ใช่แค่ระลึกถึงอารมณ์ น้อมจิตไป แต่เอาจิตไปเพ่ง ไม่มีความสุขหรอก จะเครียดทันทีเลย จิตก็แน่นๆ บางทีเพ่งร่างกายคอเคล็ดไปเลย นั่นไม่ได้มีความสุขหรอก ถ้าไม่มีความสุข สมาธิไม่เกิดหรอก เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ

ค่อยๆ ฝึก ถ้าจะทำสมถะ จะให้จิตได้พักผ่อน จะให้จิตมีเรี่ยวมีแรง เราก็ดูเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้นล่ะ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง แต่ระลึกถึงอารมณ์อันนั้นไป ให้จิตใจเคล้าเคลียอยู่กับอารมณ์อันนั้นไป เดี๋ยวเดียวจิตก็จะสงบตั้งมั่น มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาได้ ค่อยๆ ฝึก หรือถ้าจะทำวิปัสสนาให้จิตรู้ความจริงเพื่อจะได้ปล่อยวางได้ ก็หลักมีนิดเดียวนั่นล่ะ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง (ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง) ไม่หนีหลักนี้หรอก ใช้วิธีไหนก็เหมือนกัน

 

 

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ว่าจะเทศน์ง่ายๆ จะโทษพระอาจารย์ก็ละอายใจ ฟังแล้วก็ไปทำ วันหนึ่งก็ง่ายล่ะ วันนี้ยาก มันก็ไม่ยากตลอดไป ใครเคยขี่จักรยานไหม หัดขี่จักรยานทีแรกล้มไหม ล้ม หัวเข่าถลอก มือถลอก แขนซ้นอะไรอย่างนี้ มันธรรมดา

หัดขับรถยนต์ทีแรกยากไหม เกร็งเลยใช่ไหม จับพวงมาลัยแข็งเลย รถก็ยังส่าย สมัยก่อนมันไม่มีเกียร์ออโต้ มันเป็นเกียร์กระปุก เกียร์มือ เกียร์อะไรพวกนี้ ขับรถไม่เก่ง ตอนออกรถ รถกึกๆๆ ออกเหมือนกบ พอวิ่งไปได้ เคลื่อนที่เหมือนงู เลี้ยวซ้ายแฉลบไปแฉลบมา ไม่ยอมนิ่ง สุดท้ายก็ตายหยั่งเขียด แต่พอขับเป็นแตะอันเดียว อันนี้เป็นตัวอย่าง ห้ามทำ แตะมือเดียวนี่ล่ะ สบาย เบาๆ รถก็วิ่งตรงๆ

การปฏิบัติก็เหมือนกัน ทีแรกก็ส่ายไปส่ายมา มากไปน้อยไปๆ ต่อไปมันก็มีสติระลึกรู้นิดเดียวเท่านั้นก็เข้าที่เลย จะทำสมถะทำวิปัสสนาอะไรก็ง่ายๆ ไปหมด หลวงพ่อเมื่อก่อนถึงพูดเรื่อยๆว่ามันง่ายๆ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบอกมันยาก หลวงพ่อว่ามันง่าย มาถึงวันนี้หลวงพ่อยอมรับแล้ว มันยากเหมือนกัน ที่มันยากเพราะพวกเราไม่มีสมาธิถูกต้อง จิตเราไม่มีคุณภาพพอที่จะเจริญปัญญา มันก็เลยยาก

ฉะนั้นตรงที่ฝึกให้จิตตั้งมั่น เป็นกลาง ตัวนี้สำคัญแล้วก็มีกำลัง ตัวมีกำลังทำสมาธิชนิดสงบ ตั้งมั่น คอยรู้ทันจิต มีสติรู้ทันจิตที่มันหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน หรือมันถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน แล้วจิตมันจะตั้งมั่น พอกระทบอารมณ์แล้วยินดี รู้ทัน ยินร้าย รู้ทัน มันจะเป็นกลาง ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ยากหรอก ไม่ยากอีกแล้ว นี่พูดออกมาจากจิตใต้สำนึกเลย มันไม่ยาก ไม่ได้ทำอะไรเลย จิตมันทำเอง เพราะจิตมันเคยชินที่จะปฏิบัติ พวกเราจิตเคยชินที่จะหลงโลก ฉะนั้นจะให้ปฏิบัติยาก ต้องสู้เอา

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
8 ตุลาคม 2566