งานของพวกเรามีแต่เจริญสติปัฏฐาน เมื่อเจริญสติปัฏฐานเต็มภูมิแล้ว จิตเราย่อมว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลส และว่างจากความปรุงแต่งอยู่ทั้งวัน ว่าง สว่าง บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร? เพราะไม่มีอะรไปรุงแต่งได้ ดังที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า จิตเข้าถึงสภาพที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ จิตไร้ขอบไร้เขต จิตกว้างขวางใหญ่โต ไม่มีจุดไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง แต่จิตของพวกเรามีขอบมีเขต รู้สึกไหม? รู้สึกไหม? จิตมันยังมีขอบมีเขต มีความจำกัดอยู่ พอปล่อยวางจิตจริง ๆ จะไม่มีขอบไม่มีเขต จิตไม่หยิบฉวยสภาวธรรมทั้งหลายขึ้นมา สภาวธรรมทั้งหลายเลยกลายเป็นหนึ่ง ถ้าหยิบฉวยขึ้นมาเมื่อไรก็จะมีสภาวะแห่งความเป็นคู่ขึ้นมาทันที เช่น อันนี้หยิบไว้ก็เป็นเรา อันนั้นไม่ได้หยิบไว้ก็เป็นเขา เป็นต้น ถ้าไม่หยิบฉวยเลยก็เป็นหนึ่ง จิตก็เป็นหนึ่ง ธรรมก็เป็นหนึ่ง จิตหนึ่งก็ไปรู้ธรรมหนึ่ง อันนี้แหละที่พระสารีบุตรเคยถามนางกุณฑลเกสาว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง นางกุณฑลเกสาตอบไม่ได้ ท่านเลยเฉลยว่า พุทธมนต์ชื่อว่าหนึ่ง พุทธมนต์ไม่ใช่อะไรเลย คือธรรมที่เป็นหนึ่งนี้เอง ไม่เป็นคู่ ใครยังอยู่กับธรรมคู่ก็ยังเวียนว่ายไปอีก เพราะฉะนั้นให้เรามีสติรู้กายรู้ใจไว้นะ รู้สิ่งที่เป็นคู่ ๆ นี่แหละ สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีบ้างชั่วบ้าง ให้เรียนรู้สิ่งที่เป็นคู่ แล้ววันหนึ่งจะเจอสิ่งที่เป็นหนึ่ง
ถ้าพิจารณาให้ดี อารมณ์ทั้งหลายในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นมาให้เราเรียนรู้นั้น เป็นอารมณ์ที่เป็นคู่ทั้งสิ้น เช่น “หายใจออกกับหายใจเข้า” เห็นไหมว่าเป็นคู่ ๆ “ยืน เดิน นั่ง นอน” นี่ก็เป็นคู่ คำว่า “คู่” ไม่ได้แปลว่าสองนะ แต่หมายถึงสิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นเทียบเคียงได้ ไม่ใช่มีอันเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน นี่มีสี่อย่าง เทียบได้ว่าแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ก็ถือว่าเป็นธรรมคู่ หรือเวทนา มี “สุข ทุกข์ เฉย ๆ” มีสามอย่างก็ถือว่าเป็นธรรมคู่ หรือ “จิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ” นี่หนึ่งคู่ “จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ” นี่หนึ่งคู่ “จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ” นี่อีกคู่หนึ่ง “จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่” นี่อีกคู่หนึ่ง
ทำไมต้องเรียนธรรมคู่ หรือเรียนสภาวะเป็นคู่ ๆ เราเรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่ เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละสิ่ง ๆ นั้นไม่เที่ยง แต่ละสิ่ง ๆ ทนอยู่ไม่ได้นาน แต่ละสิ่ง ๆ บังคับไม่ได้ มันพลิกกลับไปกลับมาระหว่างด้านตรงข้ามเสมอ ๆ เรียนเพื่อให้เห็นตรงนี้ เช่น เราเห็นว่าความสุข ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉย ๆ ก็ไม่เที่ยง อะไรก็ไม่เที่ยง เลือกก็ไม่ได้ด้วยว่าจะสุขหรือจะทุกข์หรือจะเฉย ๆ หรือยืน เดิน นั่ง นอน เห็นไหม มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ บังคับมันไม่ได้หรอก ขืนนั่งอยู่อิริยาบถเดียวนาน ๆ ความทุกข์ก็บีบคั้นเอา ในร่างกายจะถูกความทุกข์บีบคั้นมาก ทนไม่ไหว ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ หายใจออกแล้วก็อยู่นิ่งไม่ได้ใช่ไหม หายใจออกตลอดเวลาไม่ได้ ต้องสลับด้วยหายใจเข้า เพราะอะไร เพราะความทุกข์มันบีบคั้น ให้รู้อย่างนี้นะ เห็นไหมความโกรธเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง โกรธแล้วก็หายโกรธ ไม่มีใครโกรธได้เป็นชั่วโมงนะ ไม่มี ไม่มีใครโกธได้แม่แต่นาทีเดียว ความจริงความโกรธเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่มันเกิดต่อเนื่องซ้ำ ๆๆๆ เราเลยรู้สึกว่า เราโกรธได้เป็นวัน ๆ แต่ถ้าเราสติดีเราจะเห็นว่ามันเกิดดับ ๆๆ อยู่ตลอดเวลา นี่เรียนหนึ่งคู่เพื่อจะได้เห็นความเกิดดับนั่นเอง ถ้าเรียนธรรมเดี่ยว ๆ ก็ไม่มีเกิดดับ อย่างนิพพานไม่มีเกิดดับ นิพพานเที่ยง นิพพานไม่มีทุกข์ เพราะว่าไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีอะไรบีบคั้น เพราะฉะนั้นให้เราเรียนสิ่งซึ่งเป็นคู่ ๆ ซึ่งก็คืออารมณ์ทั้งหลายในสติปัฏฐาน คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย คอยรู้ลงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ถ้าเห็นอย่างได้ก็ได้เป็นพระโสดาบัน
Download หนังสือเรียนธรรมคู่เพื่อรู้ธรรมหนึ่ง
คลิกที่นี่เพื่อติดต่อขอรับหนังสือจากมูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช