แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (ฉบับเพิ่มเติม)

คำสอนทั้งหลายของหลวงปู่ล้วนแต่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ แต่ที่จัดได้ว่าเป็นแก่นธรรมคำสอนอันเป็นหลักธรรมชั้นสูงในขั้นปรมัตถธรรมและครอบคลุมคำสอนของทั้งหมดของท่านอย่างแท้จริง ได้แก่เรื่อง อริยสัจแห่งจิต ซึ่งมีถ้อยคำดังนี้

“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

อนึ่ง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต ย่อมส่งออกนอกเพื่อรับอารมณ์นั้น ๆ โดยธรรมชาติของมันเอง ก็แต่ว่าถ้าจิตส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว จิตเกิดหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตหวั่นไหวหรือกระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น ๆ เป็นทุกข์ ถ้าจิตที่ส่งออกนอกได้รับอารมณ์แล้ว แต่ไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อมไปตามอารมณ์นั้น ๆ มีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมรรคผลอันเกิดจากจิตไม่หวั่นไหว หรือไม่กระเพื่อม เพราะมีสติอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นนิโรธ พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตไม่ส่งออกนอก จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม เป็นวิหารธรรม จบอริยสัจจ์ ๔”

 

หนังสือ “แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล” พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อราวปี ๒๕๕๑ แล้วมีเหตุให้ต้องชะลอการเผยแพร่อยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีผู้หยิบยกมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการโจมตีผู้เขียน แต่ก็มีอีกหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชวรคุณ (เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) / เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม / หลานแท้ ๆ ของหลวงปู่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาหลายสิบปี) ได้กล่าวกับหลายท่าน รวมทั้งกับท่านพระอาจารย์สุจินต์ สุจิณฺโณ ว่าหนังสือนี้ดีมาก เพราะถูกตรงตามคำสอนของหลวงปู่ และลงกันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงสมควรใช้เป็นมาตรฐานในการสอนดูจิต อย่างไรก็ตามพระมหาเถระบางท่านเห็นว่าน่าจะเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการ “ดูจิต” ให้มากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้สนใจ

ผู้เขียนไม่มีเวลาที่จะเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมตามคำแนะนำดังกล่าว ทำให้การเผยแพร่หนังสือเล่มนี้เนิ่นช้ามาหลายปี แต่ผู้เขียนเคยแสดงธรรมเกียวกับการดูจิตไว้หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนได้รับบัญชาจากพระอุปัชฌาย์ (พระราชวรคุณ) ให้ไปแสดงธรรมที่วัดบูรพารามอยู่เนือง ๆ ซึ่งบางครั้งก็ได้กล่างถึงการดูจิตเอาไว้ด้วย จึงเห็นว่าน่าจะนำธรรมเทศนาที่วัดบูรพารามมาถอดเทปพิมพ์ร่วมกับหนังสือเดิม ก็น่าจะช่วยให้แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการดูจิตในหนังสือเล่มนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่เลือกเอาธรรมเทศนาที่วัดบูรพารามมาถอดเทป ก็เพราะที่นั้นเป็นต้นแหล่งคำสอนเรื่องดูจิตของหลวงปู่ และเป็นธรรมเทศนาต่อหน้าท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณผู้ใกล้ชิดและรอบรู้ในคำสอนของหลวงปู่มากที่สุดด้วย นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมบันทึกธรรมเทศนา ณ ศาลากาญจนาภิเษก (ศาลาลุงชิน) เมื่อ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ไว้อีกบทหนึ่ง เพื่อทบทวนเน้นย้ำความเข้าใจเกียวกับภาพรวมของคำสอนของหลวงปู่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

ปัจจุบันมีผู้นำคำสอนเรื่องการดูจิตของหลวงปู่ไปเผยแพร่เป็นจำนวนมาก บางท่านก็เคยพบหลวงปู่ บางท่านเพียงแต่เคยอ่านคำสอนของหลวงปู่แล้วเกิดศรัทธาจึงศึกษาตีความเพิ่มเติมเอาเอง ซึ่งการอ้างอิงคำสอนเรื่องการดูจิตของหลวงปู่นั้นมีความแตกต่างกันมาก แม้ในผู้ที่ได้ฟังธรรมตรงจากหลวงปู่ก็เข้าใจการดูจิตแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้หนังสือที่เรียบเรียงประวัติและคำสอนของหลวงปู่ แม่แต่หนังสือ “อตุโลไม่มีใดเทียม” ก็ยังไม่สามารถประมวลคำสอนของหลวงปู่ไว้ได้ทั้งหมด เพราะสืบค้นจดบันทึกไว้จากศิษย์เพียงบางท่าน ธรรมะที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งซึ่งหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ออกปากว่าเป็นสุดยอดกรรมฐาน คือเรื่อง “การทำลายผู้รู้” ก็ไม่เคยมีการบันทึกไว้ในหนังสือประวัติของหลวงปู่เล่มใดเลย

หลวงปู่มีปกติสอนกรรมฐานตามจริตนิสัยและตามภูมิจิตภูมิธรรมของศิษย์ แต่ละท่านจึงได้รับธรรมะจากหลวงปู่แตกต่างกันออกไป ผู้เขียนมีโอกาสคลุกคลีกับศิษย์กรรมฐานของหลวงปู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้รับคำแนะนำตรงจากหลวงปู่เรื่อง “การทำลายผู้รู้” อันเป็นจุดสูงสุดของการปฏิบัติ ทำให้ได้เห็นภาพรวของคำสอนของท่าน จึงสรุปได้ว่าคำสอนของหลวงปู่มีขั้นตอนที่ชัดเจน ดังนี้

๑. ขั้นการเจริญสมถกรรมฐาน (การทำสมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารม์เดียว / สมาธิเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน) หลวงปู่สอนกรรมฐานไว้หลายอย่าง เช่นสอน “ให้พิจารณาผมเส้นเดียว” “ให้พิจารณากระดูก” และ “ให้บริกรรมพุทโธ” เหล่านี้จะได้ความสงบในขั้นอุปจารสมาธิ และสอน “ให้ประคองจิตให้นิ่งให้ว่างอยู่ภายในไม่ส่งออกนอก ถ้ามีความคิดนึกปรุงแต่งใด ๆ เกิดขึ้นก็ให้ปัดทิ้ง แล้วน้อมจิตให้ว่างอยู่ภายในต่อไป” คำสอนนี้ใช้ทำสมถกรรมฐานได้ถึงขั้นอรูปฌาน ถ้าทำแล้วเจริญปัญญาไม่เป็นก็จะติดอยู่กับความสงบเรื่อยไป ซึ่งผู้ติดความสงบในระดับนี้จะไม่เจริญปัญญา เพราะพอใจในความสุขความสงบและความว่างอย่างเดียว ถ้ากรรมฐานเสื่อมเมื่อใดอารมณ์ก็จะแปรปรวนกว่าคนปกติมากทีเดียว

๒. ขั้นการฝึกจิตให้ตั้งมั่น (การทำสมาธิที่จิตตั้งมั่นหรือลักขณูปนิชฌาน ใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มรรค และผล) หลวงปู่สอนให้บริกรรมพุทโธแล้วรู้ (ไม่ใช่เพ่ง) จิตที่เป็นผู้บริกรรม จนจิตตั้งมั่นและคำบริกรรมหายไป เหลือจิตที่ตั้งมั่นเด่นดวงรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ พร้อมสำหรับการเจริญปัญญาต่อไป

๓. ขั้นการเจริญปัญญา สำหรับผู้ดูจิต หลวงปู่สอนอยู่ในหลักที่ว่า “จงทำญาณเห็นจิตให้เหมือนดังตาเห็นรูป” คือให้มีญาณได้แก่ปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต (หมายรวมถึงเจตสิกหรือธรรมที่ประกอบจิต ได้แก่เวทนา สัญญา และสังขารด้วย) โดยเห็นความเกิดดับหรือการทำงานของจิตตามสภาพธรรมของจิตและเจตสิก ไม่ใช่การเอาสติเพ่งจิตหรือประคองจิตให้นิ่งว่างหยุดการทำงาน คำสอนนี้เป็นสิ่งที่ท่านสอนผู้เขียน และรับรองว่าผู้เขียนปฏิบัติได้ถูกต้องตามคำสอนของท่าน ทั้งนี้ถ้าอ่านประวัติของหลวงปู่ ก็จะทราบว่าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ก็สอนให้ท่านเจริญปัญญาด้วยการดูความไม่เทียงและความเป็นอนัตตาของสัญญาและสังขาร จนหลวงปู่ผู้มีบารมีแก่รอบสามารถรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจในเวลาไม่นานนัก

๔. ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ หลวงปู่สอนหลวงพ่อพุธ ฐานิโย และผู้เขียน ก่อนหลวงปู่มรณภาพไม่นานนักว่า การปฏิบัติในขั้นสุดท้ายนั้น “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ซึ่งก็คือต้องปล่อยวางความยึดถึอจิต เพราะถ้ายังยึดถือจิตอยู่ ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุด เพราะจิตดวงเดียวนั่นแหละจะสร้างขันธ์ใหม่ขึ้นได้ทั้งหมด

๕. ขั้นผลของการปฏิบัติ  หลวงปู่สอนถึง สภาวะของจิตที่หลุดพ้นแล้ว ซึ่งท่านเรียกว่า “จิตหนึ่ง” ในคำสอนเรื่อง “จิตคือพุทธะ” โดยท่านยืมถ้อยคำอันเป็นสมมติบัญญัติของท่าฮวงโป (ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุแปลเป็นภาษาไทย) มาใช้ เพราะท่านเห็นว่าถูกต้องกับสิ่งที่ท่านเข้าใจจากการปฏิบัติ คำสอนเรื่องนี้ทำให้บางท่านสับสน เพราะไม่ทราบว่าท่านฮวงโปกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ กลับพยายามจะฝึกจิตหรือปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะเหมือนจิตหนึ่ง เป็นการมุ่งทำผลโดยไม่สนใจทำเหตุ ปฏิเสธการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา เพราะคิดว่า จิตนั้นดีอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง เพียงแค่ไม่ยึดถืออะไรเลยก็พอแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงจิตยังชุ่มโชกอยู่ด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส อาสวะ อนุสัยต่าง ๆ ตั้งมากมาย ที่จะไม่ให้ยึถือในสิ่งทั้งปวงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

๖. คำสอนพิเศษเฉพาะตัว  ยังมีคำสอนที่หลวงปู่สอนบางท่านเป็นการเฉพาะตัว เช่นครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์สุจินต์ สุจิณฺโณ อาพาธหนักจนคิดว่าจะมรณภาพ แต่ขณะนั้นจิตของท่านไม่กระสับกระส่าย (จนท่านบ่นกับผู้เขียนว่าเสียดายที่ไม่มรณภาพในครั้งนั้น) เมื่อทุเลาจากอาพาธแล้วท่านได้ไปกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า ถ้าขณะนั้นจะมรณภาพควรจะวางจิตอย่างไร หลวงปู่สอนว่า ให้วางจิตให้ “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” เป็นการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในขณะสุดท้ายของชีวิต เข้าลักษณะตกบันไดพลอยโจน อย่างไรก็ตามหลวงปู่สอนทิ้งท้ายไว้ว่า “ทำได้ ถ้าเคยทำ”

 

จะเห็นได้ว่าคำสอนเรื่องการดูจิตของหลวงปู่มีสูงมีต่ำ มีลำดับหน้าหลัง ดังนั้นหากใครสรุปว่าหลวงปู่สอนดูจิตเท่าที่สอนตน โดยไม่พิจารณาถึงคำสอนที่ท่านสอนศิษย์อื่น ก็จัดเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว และถ้าศึกษาการดูจิตที่หลวงปู่มั่นสอนให้แก่หลวงปู่ดูลย์แล้ว จะพบว่าการดูจิตในขั้นที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั้น ตรงกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง

ผู้เขียนไม่ใช่ปรมาจารย์ของการดูจิต เพียงแต่มีโอกาสได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ชั้นเลิศหลายท่าน รวมทั้งได้ศึกษาปริยัติธรรมบ้างจึงพอจะเข้าใจได้ว่าหลวงปู่สอนอะไร และมีลำดับขั้นตอนอย่างใด ที่เขียนเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อรักษาคำสอนอันประเสริฐของครูบาอาจารย์เอาไว้ ไม่เช่นนั้นในระยะยาว รุ่นหลานศิษย์เหลนศิษย์ของหลวงปู่ก็จะเกิดความสับสน เพราะมองไม่เห็นภาพรวมของการดูจิต อาจจะคิดว่าการดูจิตมีแต่การรักษาหรือประคองจิตให้นิ่งว่างอยู่ภายในนิรันดร ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงมรรคผลนิพพาน เพราะการรักษาจิตให้นิ่งว่างเป็นแค่การทำสมถกรรมฐานเป็นทางไปพรหมโลกเท่านั้น หรือถ้าคิดว่าหลวงปู่สอนว่าจิตดีอยู่แล้วด้วยตัวจิตเอง ศีล สมาธิ และปัญญาไม่สำคัญ จึงไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลย ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปโดยไม่รู้ตัว หรือถ้าคิดว่าหลวงปู่สอนว่าจิตเที่ยง ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิอีกเช่นกัน

การฟังธรรมโดยไม่แยบคายนำความหลงผิดมาให้ได้เสมอ แม้ในครั้งพุทธกาลก็มีมาแล้ว ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยผิดพลาดในการศึกษาคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส คือศึกษาแล้วเกิดมิจฉาทิฏฐิว่า ตายแล้วสูญ ยังมีบุญที่ได้ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แก้ไขความเห็นผิดให้ จึงอยากเชิญชวนให้พวกเราชาวพุทธเปิดใจให้กว้างในการศึกษาธรรมะให้มากขึ้น อย่าคิดว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องมีแต่วิธีที่ตนเรียนรู้จากอาจารย์ หรือจากสิ่งที่ตนคิดพิจารณาเอาเองท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า คำสอนของอาจารย์และความเห็นของตนนั้นลงกันได้พอดีกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ สำหรับคำสอนของหลวงปู่ดูลย์นั้น ผู้เขียนเห็นว่าลงกันได้พอดีกับคำสอนของพระพุทธเจ้า จัดเป็นความงดงามหมดจดที่หาตำหนิไม่ได้เลย

(๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕)

Download หนังสือแก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

คลิกที่นี่เพื่อติดต่อขอรับหนังสือจากมูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช