รูปนามทั้งหมดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

รู้สึกตัวไว้ ใจล่องลอยไป ยังดูจิตไม่ชำนาญก็ดูกายไป ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า รู้สึกเรื่อยๆ ไป ทำได้ทั้งวัน แล้วก็คอยสังเกตไป ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ใจเป็นคนดู ฝึกมากๆ พอร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ทำมากๆ ต่อไปตัวรู้มันก็จะเด่นขึ้นมาได้เหมือนกัน จริงๆ ตัวรู้ไม่ได้เกิดแค่ว่าจิตหลงแล้วรู้ ถ้าเรารู้สภาวะถูกต้องตามความเป็นจริง ตัวรู้มันก็เกิดได้ อย่างเราเห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอนอย่างนี้ เห็นไปเรื่อยๆ แล้วค่อยสังเกตไว้ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน มันของถูกรู้ถูกดู ตัวรู้มันก็โผล่ขึ้นมา หรือดูนามธรรม ใจมันโลภขึ้นมารู้ทัน ตัวรู้มันก็เกิด ใจมันโกรธ รู้ทัน ตัวรู้มันก็เกิด ใจมันหลง มันหลงไปคิด รู้ทัน ตัวรู้ก็เกิด

ครูบาอาจารย์ท่านเน้นตรงที่จิตมันหลงคิด เพราะจิตหลงคิดมันเกิดตลอดเวลา เกิดบ่อย ทำกรรมฐาน เราก็เลือกเอากรรมฐานที่มันมีอยู่บ่อยๆ เพราะเวลาดูกาย เวทนา จิต ธรรม ท่านบอกให้ดูเนืองๆ คือดูบ่อยๆ นานๆ เห็นทีหนึ่ง ใช้ไม่ได้ เวลาดู อย่าถลำลงไปดู ใจมันถลำลงไป ไม่รู้สึก

ช่วงนี้เป็นช่วงที่โรคระบาดมันล้อมรอบๆ เรา เป็นเวลาที่เรามีเวลาภาวนา ไม่เฉพาะโยมที่บ้านหรอก พระอยู่วัดก็ว่างเหมือนกัน ไม่มีโยมมายุ่งด้วย เป็นเวลาที่จะภาวนาได้ ฉะนั้นฉวยโอกาสใช้ตอนที่เราไม่ต้องทำอะไรวุ่นวาย ภาวนาให้มากๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติไปเรื่อยๆ ต่อไปมันจะเห็นตัวที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ร่างกายมันทำ ตัวที่คิดนั้น จิตใจมันเป็นคนคิด รู้สึกบ่อยๆ ต่อไปมันก็รู้ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนสั่ง จิตเป็นเจ้านาย ร่างกายเป็นลูกน้อง อย่างจิตมันขำขึ้นมา มันก็สั่งให้ร่างกายหัวเราะ ร่างกายยิ้ม จิตมันมีความสุข หน้าตามันก็เบิกบาน จิตมันเครียด หน้าตามันก็เครียด ร่างกายมันก็เป็นไปตามที่จิตสั่ง

ตัวจิตเองมันเป็นไปตามความเคยชิน มันเคยชินโลภ มันก็โลภบ่อย เคยชินจะโกรธ มันก็โกรธบ่อย เคยชินหลง มันก็หลงบ่อย เราก็มาฝึกจิตใจของเราให้เคยชินที่จะรู้สึกตัว ฝึกเรื่อยๆ ให้มันชิน อย่างเราฝึกหายใจออก หายใจเข้า รู้สึกตัว ต่อไปเวลาเราเผลอ เวลากิเลสมันเกิด จังหวะการหายใจมันจะเปลี่ยนไป เช่น มันหายใจแรงขึ้น อย่างเวลาราคะเกิด มันจะหายใจแรงขึ้น โทสะเกิดก็หายใจแรงขึ้น เราเคยมีสติ เห็นร่างกายหายใจ พอร่างกายมันเปลี่ยนจังหวะการหายใจ ตอนนั้นเราเผลอ มีกิเลสผุดขึ้นมา จังหวะการหายใจเปลี่ยนปุ๊บ สติมันเกิดเองเลย เพราะมันเคยรู้จนชำนาญแล้ว สติมันเคยระลึกรู้ร่างกายที่หายใจ พอเปลี่ยนจังหวะ มันก็รู้เองเลย ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ไป

ค่อยๆ ฝึก ต่อไปมันก็จะแยกกาย แยกใจ แยกขันธ์ได้ มันก็จะเห็นเลย ร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวไปตามที่จิตสั่ง ส่วนจิตใจ พอกระทบผัสสะ ตามองเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด มันเกิดทำงานทางใจ เกิดสุข เกิดทุกข์ขึ้นในใจ มันเกิดกิเลสแทรกตัวตามเข้ามา เวลาใจเรามีความสุข ถ้าเราไม่มีสติ ราคะมันจะแทรก เวลาเรามีความทุกข์ เราไม่มีสติ โทสะมันจะแทรก เวลาอารมณ์มันเบา ไม่ชัดเจน มันก็หลงไปเพลินๆ โมหะมันแทรก ฉะนั้นกิเลสมันก็แทรกตัวมาตามเวทนา

 

รู้จิตใจตัวเอง เห็นกิเลสตัวเองสำคัญที่สุด

เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ สังเกตไป พอมีกิเลสทำงาน พอกิเลสมันแรงขึ้น มันจะเกิดความอยาก ตัณหาก็คือโลภะที่มีกำลังแรงกล้า ที่บอกเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา เป็นปัจจัยของตัณหา มันทำงานอย่างนี้ มันกระทบอารมณ์ เกิดเวทนาขึ้นมา กิเลสมันก็แทรกเข้ามาในจิต พอกิเลสมันเริ่มมีกำลังมากขึ้น ตัณหามันก็เกิดขึ้น เจออารมณ์ที่พอใจ ราคะแทรกอยู่ มันก็เกิดกระตุ้นให้อยากให้อารมณ์นั้นอยู่นานๆ เรียกว่า ภวตัณหา อารมณ์นั้นหายไป ก็เสียดาย อาลัยอาวรณ์อยากให้มันกลับมา เรียกว่า กามตัณหา ทีนี้บางทีกระทบอารมณ์ไม่ถูกใจ โทสะแทรกๆ ก็เกิดอยากอีก เกิดความอยาก โทสะมันก็กระตุ้นให้เกิดตัณหาได้อีก เกิดราคะ ตัณหาเป็นตัวราคะที่มีกำลังแรง พอโทสะเกิดไม่ชอบ มันก็อยากให้สิ่งนั้นหายไป อยากให้สิ่งนั้นสูญไปเลย ไม่กลับมาอีก บางทีมันหายไปแล้ว เราก็ยังกังวล กลัวมันจะกลับมาอีก

คอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเองไปเรื่อยๆ การปฏิบัติไม่ใช่เรื่องอื่นเลย การปฏิบัติคือการเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเอง อย่าไปวาดภาพการปฏิบัติทำอะไรที่เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะทำ ไม่ใช่การปฏิบัติคือทำสมาธิ เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นผีสางนางไม้ เห็นหวย เห็นเบอร์อะไรอย่างนี้ อันนั้นไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก

การปฏิบัติธรรมจริงๆ เรียนรู้ธรรมะ ธรรมะก็คือรูปธรรม คือนามธรรม เราไม่สามารถเรียนรู้รูปธรรมทั้งหมดได้ทั้งจักรวาล เลยไม่จำเป็นต้องไปเรียนมันมากขนาดนั้น เรียนรูปธรรมที่ใกล้ตัวเรา คือรูปธรรมที่ประกอบเป็นตัวเราร่างกายของเรา นามธรรมก็มีเยอะแยะในโลก เราไม่ต้องไปเรียนรู้นามธรรม ไปรู้จิตรู้ใจคนอื่นอะไรอย่างนี้ ไม่มีความจำเป็นอะไร ไปรู้จิตใจตัวเอง เห็นกิเลสตัวเองสำคัญที่สุด

พอเราเห็นกิเลสตัวเอง เห็นจิตใจตัวเองชำนิชำนาญ ต่อไปเราก็รู้จิตใจคนอื่น กิเลสคนอื่น มันเห็นเองอัตโนมัติ ไม่ต้องฝึกเลย มันเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องประหลาด อัศจรรย์ วิเศษวิโสนักหนาอะไรหรอก แต่ถ้าภาวนายังไม่ถึงจิตถึงใจตัวเองแล้วอยากรู้ ครูบาอาจารย์ท่านห้าม หลวงปู่ดูลย์ท่านห้าม อย่าเที่ยวส่งจิตออกนอกไปดูกิเลสคนอื่น ดูจิตคนอื่นอะไรอย่างนี้ มันยังไม่มีฐานที่ตั้งที่แท้จริง ยังไม่เจอจิตแท้ ธรรมแท้ของตัวเอง พอมันออกไปดูจิตคนอื่น ไปดูธรรมคนอื่น กิเลสคนอื่นอะไรอย่างนี้ มันจะกลับเข้ามาตั้งมั่นถึงฐานไม่เป็น มันเข้ามาไม่ได้ พอไปดูคนอื่นมากๆ จิตออกนอก คราวนี้ไม่ยอมกลับเข้ามาแล้ว พอจิตเข้าฐานไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะดูกายดูใจให้เห็นไตรลักษณ์ได้

เพราะฉะนั้นหลวงปู่ท่านห้ามเด็ดขาดเลย คนไหนเชื่อฟังก็เจริญไป คนไหนไม่เชื่อฟังก็เสียไป รุ่นที่เรียนมากับหลวงพ่อเสียไปเยอะเลย ที่เชื่อฟังท่าน ดีๆ ก็มีบ้าง อย่างหลวงพ่อสุจินต์ ท่านไม่เอา เรื่องข้างนอกอะไรอย่างนี้ เรื่องผีสางนางไม้ เรื่องเทวดา เรื่องจิตคนอื่นอะไรอย่างนี้ ท่านไม่เอาทั้งสิ้น ท่านก็ดูของท่าน ดูกายดูใจของท่านไปเรื่อยๆ ท่านก็ดีของท่าน ที่ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ เสียไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะตอนที่หลวงปู่ไม่อยู่แล้ว บางองค์ก็บ้า บางคนก็บ้าไป มีทั้งพระทั้งโยม

ฉะนั้นเราพยายามนะ ธรรมะมันเรื่องการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องอื่น สิ่งที่เรียกว่า ตัวเรา ก็คือกายกับใจเรานี้ล่ะ รู้สึกอยู่ในกาย รู้สึกอยู่ในใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด มีสติรู้ ใจคิด นึก ปรุง แต่ง มีสติรู้ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป แล้วมันจะแยกขันธ์ได้ อย่างเราเห็นร่างกายมันหายใจอย่างนี้ มันดูไปๆ มันจะพบว่า ร่างกายหายใจนี่เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันเป็นคนรู้คนดู นี่เราเริ่มแยกขันธ์ได้แล้ว ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ

 

จุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา คือมีปัญญาสามารถแยกรูปนามได้

การเจริญปัญญา ในตำราแยกไว้ 16 ขั้น เรียกว่า โสฬสญาณ ญาณ 16 ปัญญาตัวแรกเลย คือการแยกรูปนามให้ได้ มีปัญญาสามารถแยกรูปนามได้ นี่คือจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู ต้องมีใจเป็นคนดู แต่อย่าไปหาว่าคนดูอยู่ตรงไหน หาไม่เจอหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านบอก “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหาว่าตัวรู้อยู่ที่ไหน มันอยู่ในร่างกายนี้ล่ะ แต่ไม่อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ความรู้สึกเกิดขึ้นตรงไหน ตัวความรู้สึกนั่นล่ะคือตัวรู้ แต่ว่าตัวรู้มันมี 2 อย่าง อันหนึ่งมันเป็นตัวรู้ที่หลงไปจมอยู่กับอารมณ์ ตัวนั้นใช้ไม่ได้ เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณเป็นความหยั่งรู้อารมณ์ ออกไปรู้อารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ส่วนตัวรู้ มันรู้ลึกซึ้งเข้ามา รู้ลึกซึ้งเข้ามาถึงกายถึงใจของตัวเองได้ มันจะเห็นเลย ตัวรู้ จิตมันตั้งมั่นเป็นคนดู เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง จิตมันเป็นคนรู้ เรียกว่า เราแยกรูปแยกนามได้แล้ว

บางคนก็ฝึกกันผิดๆ อย่างไปดูรูปพองเป็นอันหนึ่ง รูปยุบเป็นอันหนึ่ง แล้วเรียกว่า แยกรูปแยกนาม นั่นมันรูปกับรูป ไม่ใช่รูปกับนาม การแยกขันธ์ 5 แยกรูป แยกนาม จะต้องมีนามอยู่ต่างหาก นามที่สำคัญที่สุดเลย ที่เป็นหัวหน้าของนามทั้งหลายเลย คือนามจิต เพราะฉะนั้นตัวจิตที่มันแยกออกมาเป็นคนรู้คนดู พอมีจิตเป็นคนรู้แล้ว พอสติระลึกรู้กาย กายก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต มันแยกออกจากกันได้ ตรงที่มันรู้สึกว่า สภาวะอันนี้ไม่ใช่จิต อย่างร่างกายไม่ใช่จิต รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่งอยู่ มันถูกรู้อยู่ จิตมันเป็นคนรู้อยู่ มันก็จะรู้เลยกายกับจิตมันคนละส่วนกัน เวลามีความสุข ความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย หรือมีความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิต มันก็จะเห็นอีก ความสุข ความทุกข์ในกาย ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ในจิตใจเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้คนดู แยกได้อีก

กระทั่งนามกับนามก็ยังแยกออกไปเป็น 2 ส่วน คือนามจิตกับนามเจตสิก นามจิตเป็นตัวรู้ เป็นคนรู้ นามเจตสิกข์ก็เป็นพวกนามธรรม ความรู้สึกต่างๆ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกโลภ ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกหลง มันเป็นความรู้สึกทางใจ ความมีสติ ความไม่มีสติ ไม่มีสติก็ฟุ้งซ่าน หลงไป ความหลงก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง ความรู้สึกตัวก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันมาเกิดประกอบทำให้จิตซึ่งเป็นธรรมชาติรู้

จิตเป็นธรรมชาติรู้เท่านั้นเอง แต่มันเปลี่ยนแปลงไปได้มากมาย ก็เพราะธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิตนั่นล่ะ นามที่เรียกเจตสิก มันทำให้จิตดวงนี้เป็นจิตสุข ทำให้จิตกลายเป็นจิตทุกข์ เป็นจิตเฉยๆ เป็นจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตไม่โลภ จิตไม่โกรธ จิตไม่หลง จิตโลภเป็นอกุศล จิตไม่โลภเป็นกุศล แต่บางทีก็ต้องระวัง บอกจิตไม่โลภเป็นกุศล อย่างจิตโกรธไม่โลภ ตอนนั้นไม่โลภ ก็เป็นอกุศลเหมือนกัน จิตหลงยังไม่ทันจะโกรธ มันก็เป็นอกุศลเหมือนกัน ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป แต่พูดทางทฤษฎี จิตโลภเรียกว่า โลภจิต คือโลภะ ตัวโลภะเป็นอกุศล ตัวอโลภะเป็นกุศล ตัวโทสะเป็นอกุศล ตัวอโทสะเป็นกุศล ตัวโมหะเป็นอกุศล ตัวอโมหะเป็นกุศล เพราะฉะนั้นพูดถึงกิเลส มันก็ราคะ โทสะ โมหะ พูดถึงกุศลก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ค่อยๆ ฝึกไป

คนแต่ละคนพื้นฐานมันไม่เท่ากัน บางคนเกิดมากุศลมีกำลังกล้าส่งผลให้เกิด เกิดด้วยเหตุ 3 ข้อเลย อโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่หลง ฉะนั้นพวกนี้มาภาวนา จะภาวนาง่าย บางคนอินทรีย์อ่อนหน่อย มาเกิดด้วยเหตุ 2 อย่าง เกิดด้วยอโลภะ อโทสะ ภาวนายาก ทำสมาธิก็ไม่สงบ เพราะโมหะมันเยอะ ฟุ้งซ่านเยอะ มันฝึกอย่างไรก็ไม่สงบ เข้าฌานก็ไม่มีทางได้ จะเจริญวิปัสสนา ทำให้มรรคผลเกิดขึ้นก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นพื้นฐานเดิมก็สำคัญ ถ้าเราเกิดมาด้วยกำลังของโมหะ เราภาวนาไม่ขึ้น แต่ถ้าเราเกิดมาแบบนั้น เราก็ยังพากเพียรภาวนาไปเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ชาติต่อๆ ไปมันก็ทำง่ายขึ้นๆ

คนที่เขาทำง่าย เขาเคยยากมาแล้วทั้งนั้นล่ะ เหมือนพระพาหิยะ เคยเล่าให้ฟังหลายทีแล้ว พระพาหิยะฟังพระพุทธเจ้าพูด 1 – 2 ประโยค เป็นพระอรหันต์เลย แต่ก่อนที่ท่านจะว่องไว เป็นแชมป์ในทางไว เอตทัคคะในทางรู้เร็ว ท่านช้ามาก่อน ชาติก่อนๆ ภาวนา พรรคพวกเพื่อนฝูงไปภาวนาด้วยกัน บางองค์ก็เป็นพระอรหันต์ บางองค์ก็ได้เป็นพระอนาคามีอะไรอย่างนี้ ท่านไม่ได้อะไรเลย ท่านภาวนาจนตัวตาย ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา มาชาตินี้บุญบารมีเต็ม เจอพระพุทธเจ้า ท่านพูดให้ฟังไม่กี่ประโยค เป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นชาตินี้ บางคนภาวนายากก็อย่าท้อใจ ถ้าภาวนายากแล้วยังขี้เกียจภาวนาอีก หรือไปทำกรรมชั่วมากขึ้นไปอีก ชาติหน้ามันยากกว่านี้อีก ชาตินี้เราภาวนาไม่ไหว ภาวนาไม่ขึ้น เราก็ไม่เลิก ภาวนาไปเรื่อยๆ อดทน ชาติต่อไปมันก็จะง่ายขึ้นๆ คนที่เขาง่ายเพราะเขาเคยยากมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครวิเศษวิโส อยู่ๆ ก็ง่ายขึ้นมาเอง ไม่มีหรอก ทุกอย่างต้องมีเหตุ

สิ่งที่เรียกว่าเหตุ มี 6 อย่าง เหตุที่ดีกับเหตุที่ชั่ว 2 อย่าง อย่างละ 3 เหตุที่ชั่วก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ เหตุที่ดีคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ พยายามฝึกตัวเอง ลดละราคะ โทสะ โมหะลงไปเรื่อยๆ จิตใจเราก็จะมีคุณภาพสูงขึ้นๆ ทีนี้บางคนสงสัย รู้ได้อย่างไรว่าเราเกิดด้วยเหตุ 2 อย่าง คืออโลภะ อโทสะ หรือเกิดด้วยเหตุ 3 อย่าง มีอโมหะด้วย เราภาวนาไปเดี๋ยวก็รู้ ถ้าภาวนาแล้วจิตตั้งมั่นถึงฐาน สงบได้จริงๆ เข้าฌานได้อะไรได้ พวกนี้เกิดด้วยเหตุ 3 หรือเจริญวิปัสสนาได้ เห็นนามรูปเกิดดับได้อะไรได้ พวกนี้ไม่ธรรมดา

เรามาฝึกตัวเอง พอใจเราสงบ ตั้งมั่น เป็นคนรู้คนดู เราก็แยกรูปแยกนามไป จะเห็นเลย รูปก็อยู่ส่วนหนึ่ง นามจิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง นามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต อย่างสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรพวกนี้ อยู่อีกส่วนหนึ่ง ค่อยๆ แยกไป ตัวนี้เป็นปัญญาขั้นแรกเลย ต่อไปก็ดูไปเรื่อยๆ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ได้เกิดลอยๆ มีเหตุถึงจะเกิดทั้งนั้นเลย ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่เกิดหรอก ค่อยๆ สังเกตไป ก็เป็นปัญญาที่เขยิบตัวสูงขึ้นไป ต่อไปก็ค่อยๆ สังเกตอีก รูปธรรมทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง นามธรรมทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง

ดูได้อย่างไรว่ารูปธรรมไม่เที่ยง ไปเอารูปถ่ายเก่าๆ มาดู แต่ก่อนหน้าตาเราไม่ได้เป็นเหมือนตอนนี้เลย เดี๋ยวนี้หน้าตาเปลี่ยนไป อันนี้เห็นเลย รูปธรรมมันไม่เที่ยง แต่มันไม่เที่ยงด้วยการเปรียบเทียบ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาตรงนี้ หรือเราเห็นว่าช่วงก่อนจิตใจเราว้าวุ่น ช่วงนี้จิตใจเราสงบอะไรอย่างนี้ แสดงว่าจิตใจไม่เที่ยง อันนี้ก็เห็นไตรลักษณ์ด้วยการคิดเปรียบเทียบเอา เปรียบเทียบร่างกายเดี๋ยวนี้กับร่างกายเมื่อก่อน เปรียบเทียบจิตใจเดี๋ยวนี้กับจิตใจเมื่อก่อน อันนี้ก็เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ว่ามันยังไม่ถึงวิปัสสนา

 

วิปัสสนาเริ่มตรงที่เห็นรูปธรรม-นามธรรมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

มันจะเริ่มวิปัสสนาตรงที่มันเห็นรูปธรรมอันนี้ นามธรรมอันนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่รูปธรรมอันนี้เทียบกับอันโน้น นามธรรมอันนี้เทียบกับนามธรรมอันโน้น อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา มันต้องเห็นตัวนี้ เกิดแล้วดับๆ ให้ดูต่อหน้าต่อตาเรา อย่างเราเห็นรูปที่หายใจออกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดรูปที่หายใจเข้าขึ้นมาแทน ชีวิตเราตายลงไปทีละน้อยๆ ทุกลมหายใจเข้าออก ร่างกายเต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เข้าใกล้ความตายมากขึ้นๆ ดูรูปนี้ รูปที่หายใจออกเกิดแล้วก็ดับ รูปที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ รูปที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน แต่ละรูปๆ เกิดแล้วก็ดับ รูปที่เคลื่อนไหวเกิดแล้วก็ดับ รูปที่หยุดนิ่งเกิดแล้วก็ดับ

ค่อยๆ ดูไป ในตำราบอกว่า ดูอย่างนี้ทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะรูปที่เคลื่อนไหวไม่ใช่รูปแท้ เรียกอย่างนี้ ตำราเขาว่าอย่างนั้น เรียกวิญญัติรูป รูปเคลื่อนไหว ไม่ใช่รูปแท้จริง รูปแท้จริงอย่างธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมอะไรอย่างนี้ คนดูถึงธาตุ มันทำไม่เป็นหรอก เราก็เชื่ออย่างที่พระพุทธเจ้าสอน เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ท่านสอนอยู่ในสติปัฏฐาน

เราก็ไม่ต้องรู้เยอะ เราก็ทำตามที่ท่านบอกไป เดี๋ยวมันก็จะเห็นร่างกายที่หายใจออก เกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ตายไป ร่างกายที่หายใจเข้าเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็ตายไป ใจมันจะค่อยๆ สลดสังเวช มันค่อยๆ รู้สึก รู้สึกว่า ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร มันของชั่วคราว ไม่นานก็แตกสลายไป พอใจมันเกิดความรู้รวบยอดขึ้นมาก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือในร่างกายได้ มันก็ไปได้เหมือนกัน

ดูจิตดูใจเป็นสภาวธรรมจริงๆ ดูจิตโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ ดูเลย จิตโกรธมันผุดๆๆ ขึ้นมา เรามีสติรู้ มันก็ดับไป ถ้าไม่รู้ มันก็ขึ้นมาครอบงำใจเรา ค่อยๆ ฝึก ตัวนี้เราเริ่มเห็นสภาวะ ตัวที่ปรากฏมันดับ ตัวนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว แต่ถ้าเห็นวันนี้กับเมื่อวานจิตใจไม่เหมือนกัน ไม่เป็นวิปัสสนา เป็นปัญญาขั้นต้นๆ เท่านั้น ฉะนั้นเรามาดูสภาวะจริงๆ เห็นร่างกายเราหมดไป สิ้นไป ตายไปทีละน้อยๆ ทุกลมหายใจเข้าออก เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไหลมาไหลไป เกิดแล้วดับๆ ความสุขเกิดแล้วดับ ความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ ความเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ

เฝ้ารู้เฝ้าดูมันทั้งวัน จะยากอะไรนักหนา หลวงปู่ดูลย์บอกไม่ยากหรอก มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ คือคนที่ไม่ดู เอาแต่คิดเอา คิดว่าการปฏิบัติจะทำอย่างไรหนอๆ ทำอย่างไรจะดี แทนที่จะเห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นใจอย่างที่ใจเป็น พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นเอา ไม่ใช่ให้คิดเอา พวกที่คิดเอา เอาดีไม่ได้หรอก ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ แล้วนึกว่ากูเก่งเสียอีก ยิ่งไปอ่านหนังสือมา แล้วมาคิดตามนั้น นึกว่ารู้เลย แล้วล้มเหลว ล้างกิเลสไม่ได้หรอก คัมภีร์ทั้งหลาย ตำรับตำราทั้งหลาย มันล้างกิเลสไม่ได้หรอก ศีล สมาธิ ปัญญา สติอะไรของเรา ที่เราพัฒนาขึ้นมา ถึงจะล้างกิเลสได้

 

ฉะนั้นเราเรียนเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ รู้วิธีปฏิบัติแล้วลงมือดูของจริง ดูกายจริงๆ ดูใจจริงๆ มันเป็นอย่างไร ดูทีแรกอาจจะเปรียบเทียบกายวันนี้กับกายปีกลายไม่เหมือนกัน อันนั้นไกลเกินไป ดูเลย ร่างกายในขณะนี้เกิดดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างกระทั่งมือเรา เดี๋ยวก็เย็น เดี๋ยวก็ร้อนอะไรอย่างนี้ ลมหายใจที่เข้าไปมันก็เย็น ลมหายใจที่ออกมาก็ร้อน กระทั่งลมที่ไหลผ่านตัวเราก็ยังไม่เที่ยงให้ดูเลย ค่อยรู้ ค่อยดู ค่อยเรียน ค่อยรู้ไป

ถ้าจิตใจ เราก็จะเห็น เดี๋ยวก็สุขแล้วก็ดับไป เดี๋ยวก็ทุกข์แล้วก็ดับไป เดี๋ยวเฉยๆ แล้วก็ดับไป เดี๋ยวดี เกิดใจเป็นบุญ เป็นกุศล อยากฟังเทศน์อะไรอย่างนี้ ฟังไปๆ ไม่รู้เรื่อง ก็นานๆ ฟังทีไม่รู้เรื่อง ฟังหลวงพ่อเทศน์ ฟังแรกๆ งงทุกคน แน่สักแค่ไหนก็งง พอฟังแล้วฟังอีก มันจะรู้เลย ค่อยๆ รู้ขึ้นมา

หลายคนมาบอกหลวงพ่อ มีเรื่อยๆ ว่าตอนนี้เข้าใจแล้วว่าหลวงพ่อสอนอะไร ทีแรกไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจแล้วมัวแต่คิดหาคำตอบ มันก็ไม่เข้าใจทั้งชาติ แต่ไม่เข้าใจ งง รู้ว่างงสิ งง แล้วรู้ว่างง มันจะเห็นงงเกิดแล้วดับ ความสงสัยเกิดแล้วดับ อ้อ หลวงพ่อสอนตัวนี้เอง สอนให้ดูสภาวะที่เป็นปัจจุบัน ที่มันเกิดแล้วก็ดับไปๆ พอเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อสอน คราวนี้ง่ายแล้ว ไปอ่านพระไตรปิฎกก็รู้เรื่อง ไปฟังครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ฟังรู้เรื่อง เมื่อก่อนฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อบอกแล้ว ไปเรียนธรรมะที่ไหนก็รู้เรื่องแล้ว มันอันเดียวกันหมด

เฝ้ารู้เฝ้าดู จะเห็นความโกรธตัวนี้เกิดขึ้น ดับไป ความโกรธก็ไม่มีแล้ว ความโลภผุดขึ้นมา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความหลงเกิดขึ้นมา พอเรามีสติรู้ว่าจิตมันหลงแล้ว ส่วนใหญ่หลงคิด พอรู้ว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา จิตหลงก็ดับ เกิดจิตรู้ จิตรู้อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็หลงใหม่ จิตรู้ก็ดับไป เกิดจิตหลงขึ้นแทนอีก เฝ้ารู้เฝ้าดู ฝึกไปนานๆ มันจะเกิดความเบื่อ จะเกิดความเบื่อ อิดหนาระอาใจ ดูกายอยู่ก็เบื่อในร่างกาย ร่างกายนี้ไม่ดีเลย เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจมันเบื่อ มันก็ไม่มีความรู้สึกอยากให้กายนี้หายไป เพื่อจะไปสร้างกายใหม่ กายใหม่คงจะดีอะไรอย่างนี้ จิตมันไม่ได้โง่อย่างนั้น จิตมันรู้เลย กายอยู่ที่ไหนก็ทุกข์ที่นั่น มีกายก็มีทุกข์ มันรู้สึกอย่างนี้

แล้วความเบื่อจากการที่เดินปัญญาไป อย่างถ้าเราพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลอสุภะ มันจะเบื่อร่างกายตัวนี้ มันจะไปอยากได้ร่างกายที่ไม่มีปฏิกูลอสุภะ อย่างอยากได้กายของเทวดาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นนี่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การที่พิจารณาปฏิกูลอสุภะอะไรนี่ มันแค่ข่มราคะได้ ก็มีประโยชน์สำหรับพระ ราคะแรงๆ ขึ้นมา มันสู้ไม่ไหว พิจารณาปฏิกูลอสุภะอะไรอย่างนี้ ร่างกายสกปรก ก็เบื่อ ราคะก็สงบ แต่ถ้าสติไม่ทัน ความเบื่อเกลียดชังร่างกายนี้จะเกิดขึ้น ในสมัยพุทธกาล มีพระฆ่าตัวตายตั้ง 500 องค์ เพราะพิจารณาอสุภะ แล้วก็เกลียดร่างกายนี้ การดูเราเลยไม่เน้นไปที่อสุภะ ยกเว้นแต่ว่าราคะมันแรง ก็ใช้ชั่วครั้งชั่วคราว

แต่ตัวสำคัญคือเห็นกายนี้แสดงไตรลักษณ์ ถ้าร่างกายนี้แสดงไตรลักษณ์ มันจะรู้เลย ร่างกายทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะไปเกิดเป็นเทวดา มีกายของเทวดา มันก็ต้องเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน มันรู้อย่างนี้ มันจะไม่ใช่ว่า อยากตายจากตรงนี้แล้วไปเกิดที่อื่น ยิ่งเราดูจิตดูใจจนเราเห็นความจริง จิตเกิดแล้วดับไปๆ แสดงไตรลักษณ์ตลอดเวลาเลย แล้วจิตทุกชนิดด้วยตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ กระทั่งจิตผู้รู้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

แล้วทำไมต้องมีจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตผู้รู้ เราจะแยกจิตไม่ออก จิตมันจะหลงๆ ทั้งวันเลย แล้วมันไม่รู้ว่า ตัวหลงอยู่ อย่างคนในโลกนี้ มันไม่มีความรู้สึกตัวหรอก แต่มันคิดว่ามันรู้สึกตัว ทำไมมันรู้สึกว่ามันรู้สึกตัว เพราะมันไม่เคยมีจิตผู้รู้ ถ้ามันมีจิตผู้รู้ปุ๊บขึ้นมา มันจะเห็นเลย ช่วงชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นจิตหลง พอรู้ตัวปุ๊บ รู้เลยชีวิตในอดีตที่ผ่านมามันหลงทั้งนั้น แล้วประเดี๋ยวเดียวจิตรู้ดับ เกิดจิตหลงใหม่แล้วเกิดจิตรู้อีก สลับกันไปๆ สุดท้ายมันจะรู้ จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็รักษาไว้ไม่ได้ จิตหลงก็ห้ามมันไม่ให้เกิดไม่ได้ จิตทุกชนิดตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ทั้งจิตที่เป็นกุศลและจิตอกุศล

จิตที่เป็นกุศลที่เลิศที่สุดเลยก็คือ ตัวจิตรู้ที่ประกอบด้วยปัญญา จิตรู้ที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าพูดแบบอภิธรรม เขาเรียกว่า มหากุศลจิตญาณสัมปยุต ญาณสัมปยุตก็คือประกอบด้วยปัญญา อสังขาริกัง ไม่ได้เจตนาให้เกิด มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวนี้ถึงจะมีกำลังแก่กล้า จิตที่เป็นกุศลอัตโนมัติมีกำลังกล้า จิตที่เป็นอกุศลอัตโนมัติก็มีกำลังกล้า คือชั่วมาก เพราะฉะนั้นจิตผู้รู้ มันก็คือ ถ้าพูดอย่างอภิธรรม ให้พวกอภิธรรมเขารู้เรื่อง คือมหากุศลจิตญาณสัมปยุตอสังขาริกัง มี 2 ดวง จิตผู้รู้ยังมี 2 ชนิด บางดวงมีความสุข บางดวงเป็นอุเบกขา แต่ไม่มีดวงไหนเป็นทุกข์เลย ถ้าจิตเป็นทุกข์เมื่อไหร่ จิตเป็นอกุศลทันทีเลย จิตอกุศลถึงจะมีทุกข์ได้ จิตผู้รู้เป็นจิตที่เป็นกุศลอย่างยิ่งเลย เป็นมหากุศลจิต

เราพัฒนามีจิตผู้รู้ขึ้นมา มันจะทำให้เห็นว่า ชีวิตเราขาดเป็นช่วงๆ ขาดๆๆๆ ตรงนี้หลง ตรงนี้รู้ ตรงนี้หลง ตรงนี้รู้ อย่างนี้แล้วมันจะรู้เลยว่า ทั้งหมดไม่มีอะไรคงที่เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดบังคับไม่ได้ เห็นตรงนี้มันจะเบื่อหน่าย อย่างดูกายก็จะเบื่อหน่ายกาย แล้วก็เบื่อหน่ายกายในเทวโลก พรหมโลกด้วย ดูจิตดูใจอย่างนี้ มันก็จะเบื่อจิตใจ ไม่ว่าจิตใจในมนุษย์ ในเทวดา ในพรหม น่าเบื่อหมดเลย เพราะล้วนแต่เกิดและดับทั้งสิ้น จิตของพรหมก็เกิดและดับ ไม่ใช่ไม่ดับ ฉะนั้นถ้าเกิดและไม่ดับ พรหมก็ไม่ตาย ก็ตายเหมือนกัน

เราพยายามค่อยเรียนค่อยรู้ไป มันจะเห็นขาดเป็นส่วนๆ ให้ดูไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเบื่อ พอเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย ฉะนั้นที่เบื่อๆ เบื่ออันนี้แต่อยากอันโน้น อันนั้นไม่ใช่ ไม่ใช่นิพพิทา อันนั้นเป็นโทสะ พอเบื่อหน่าย ใจมันก็อยากจะพ้นไป อยากจะพ้นจากสิ่งนี้ เห็นทุกข์ เห็นโทษของมัน อยากจะพ้น อยากจะพ้นก็ดิ้นรนหาวิธีพ้นใหญ่เลย ดิ้นรนอย่างไรก็ไม่พ้น

เราจะปฏิบัติอย่างไรให้ไม่มีกาย จะปฏิบัติอย่างไรให้ไม่มีจิตหรือ บางคนมันก็ทำได้ ปฏิบัติให้มันไม่มีกายเลย ก็คือเข้าอรูป แต่พอกำลังของอรูปฌานเสื่อม มันก็กลับมามีกาย บางคนก็ฝึกให้มันไม่มีจิต ให้จิตดับก็มีเหมือนกัน เป็นรูปพรหมชนิดหนึ่ง เรียกว่า อสัญญสัตตา พรหมลูกฟัก มีแต่ร่างกาย ไม่มีจิต แต่ว่ามันก็อยู่ชั่วคราว พอกำลังของฌานนั้นเสื่อม กำลังของสมาธินั้นเสื่อม มันก็กลับมามีจิตใหม่ ฉะนั้นมันไม่ใช่ทาง ทางที่เราจะพ้นจากสิ่งที่น่าเบื่อนี้ คือดูไตรลักษณ์ลงไปเรื่อยๆ ดูกายแสดงไตรลักษณ์ไป ดูจิตแสดงไตรลักษณ์ไป ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ไป ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง อย่าไปเกลียดมัน อย่าไปเกลียดกาย อย่าไปเกลียดจิต

เฝ้ารู้เฝ้าดูมันไปด้วยจิตที่เป็นกลางไปเรื่อยๆ สุดท้ายจิตมันก็จะพัฒนาขึ้นมาสู่จุดที่สำคัญที่สุดเลยในทางโลกิยะ คือจุดสูงสุดในโลกิยะเลย คือจิตซึ่งมีสังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ ญาณแปลว่าปัญญา มีปัญญาที่ทำให้เป็นกลาง มีอุเบกขากับสังขาร สิ่งที่เรียกว่าสังขาร คือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม จัดเป็นสังขารทั้งหมด จิตมันเป็นกลาง มันไม่ได้เกลียดแล้วแต่มันเป็นกลาง พอจิตมันเป็นกลาง มันจะเห็นรูปเห็นนามที่กำลังปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางจริงๆ มันสักว่ารู้ สักว่าเห็นจริงๆ

พวกนักปฏิบัติชอบพูดว่า เดี๋ยวนี้สักว่ารู้ สักว่าเห็น หลวงพ่อเห็นหน้าปุ๊บก็รู้แล้ว แกไม่เคยสักว่ารู้ว่าเห็นเลย แกยังไม่เคยมีสติตัวจริงเลย มันนึกเอาเอง สักว่ารู้ว่าเห็นไม่ใช่ง่าย มันต้องเดินปัญญาจนแก่รอบจริงๆ มันถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ มันเป็นกลางด้วยปัญญาอย่างยิ่ง ถึงจะสักว่ารู้ว่าเห็นจริง นอกนั้นก็ยังแค่หลอกๆ ตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองว่า สักว่ารู้ว่าเห็นเท่านั้น

 

 

เราภาวนา เริ่มต้นแยกกาย แยกใจ แยกขันธ์ให้ได้ แล้วค่อยดูไป จนเห็นขันธ์แต่ละขันธ์เกิดดับ เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความอยากจะพ้นไป เกิดความดิ้นรนที่จะพ้นไป รู้ทันมันไปเลย ดิ้นรนที่จะพ้นไป ก็ทำอย่างไรหนอจะปฏิบัติดีกว่านี้ ทำอย่างไรหนอจะปฏิบัติถูก คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรๆ

ทำอย่างไรก็ผิดหมด จนกว่าจะกลับมาดูรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าเห็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ สุดท้ายจิตมันก็จะรู้เลย รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันหมดเลย จะรูปดี รูปเลว รูปหยาบ รูปละเอียด รูปสวย รูปไม่สวยอะไรนี่เสมอกันหมดเลยด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายกระทั่งตัวจิตใจของเรา จะจิตดีหรือจิตเลว จะจิตสุขหรือจิตทุกข์ มันก็เกิดและดับเสมอกัน ตรงที่เราสามารถเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน รูปธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ นามธรรมทั้งหลายเสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นอย่างนี้ จิตถึงจะหมดการดิ้นรน หมดความหิวโหย จิตตัวนั้นจะหมดแรงดิ้น พอจิตหยุดความปรุงแต่ง หยุดการดิ้นรน จิตจะเริ่มเข้ากระบวนการที่จะตัดสินความรู้ มรรคผลจะเกิดขึ้น มันก็มีกระบวนการของมัน

มรรคผล ไม่ใช่นั่งๆ แล้วขาดสติวูบหมดความรู้สึกตัวไป แล้วบอกว่าเกิดมรรคผล นั่นกลายเป็นพรหมลูกฟัก ไม่ได้เป็นมรรคผลอะไรหรอก บางคนบอกว่าตอนที่เกิดอริยมรรค อริยผล ไม่มีจิต เพราะถ้ามีจิตมันเป็นโลกิยะ เข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลย ตอนที่เกิดอริยมรรคก็มีจิต เรียกว่า มรรคจิต มี 4 ดวง โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค ผลก็มี 4 ดวง โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล มีจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต จิตพวกนี้ใช้นิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นนิพพานไม่ใช่จิต นิพพานเป็นอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า จิตที่จะรู้ถึงพระนิพพานได้ จิตนั้นพ้นจากตัณหา พ้นจากความปรุงแต่ง ถึงจะเห็นพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้นนิพพานมันเป็นความว่าง สุญตา เรียกว่า ปรมัง สุญญัง ความว่างอย่างยิ่ง ค่อยๆ ฝึกไป จากสิ่งที่สกปรกโสมม ค่อยฝึกไปเรื่อย ใจค่อยสว่าง ผ่องใส สะอาดขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดสุดท้าย มันก็จะสัมผัสพระนิพพานได้ ที่สุดของทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น ที่เข้าไปแจ้งพระนิพพาน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 มกราคม 2564