หัดหมายรู้ให้ถูกต้อง

หายใจไว้อย่าขาดสติ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกไปเรื่อยๆ เวลารู้ร่างกายหายใจ ก็ระวังจิตมันจะไหลเข้าไปที่ลม มันถลำลงไป เราจะภาวนาให้ไปได้เร็วๆ จิตมันถลำลงไปให้รู้ทัน พวกเราส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติ เวลาทำกรรมฐาน จิตไหลไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐานแล้วไม่รู้ไม่เห็น เรียกว่าเรายังไม่เห็นจิตตัวเอง อย่างเราหายใจไปพุทโธไป จิตไหลไปอยู่ที่ลมให้รู้ทันมัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วจะได้สมาธิ ดูจิตเป็นเราก็จะได้สมาธิเร็วหน่อย สมาธิก็เรื่องของการฝึกจิตให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่น พอจิตใจสงบ ว่าง สว่างขึ้น อย่าไปคิดว่ามันจบแค่นั้น นั้นเพื่อจะได้เครื่องมือในการปฏิบัติเท่านั้นเอง ภาวนาดูจิตดูใจไป ใจมันว่างๆ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เราได้แค่เครื่องมือที่จะใช้เดินปัญญา งานหลักของเราจริงๆ คือการเจริญปัญญา ดูกายดูใจไป

การเจริญปัญญาก็เป็นการที่ใจเราตั้งมั่น เป็นผู้รู้ผู้ดู สติระลึกรู้ลงในกาย ในใจ ในรูปนาม ในขันธ์ 5 แล้วแต่จะเรียก พอสติระลึกรู้จิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดูอยู่ แล้วจิตเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ถูกรู้ ก็จะได้สมาธิชนิดสงบ ถ้ารู้ว่าจิตเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ถูกรู้ การเคลื่อนก็ดับ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตัวนี้ยังไม่ทำให้เกิดมรรคผลหรอก ยังไม่ได้เดินปัญญา การเดินปัญญาเราจะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้ เจริญธัมมานุปัสสนาเลยก็ได้ แต่ธัมมานุปัสสนานี้ยาก ยากมาก ดูทั้งธรรมที่เป็นอกุศล พวกนิวรณ์ ไม่ใช่รู้ว่าแค่นิวรณ์เกิดมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่านิวรณ์เกิดขึ้น แต่มันรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ทำอย่างไรมันจะไม่เกิด ดูละเอียดลงไปกว่าจิตตานุปัสสนา หรือดูองค์ธรรมที่เป็นกุศล องค์ธรรมที่เป็นกุศลชั้นเลิศเลย โพชฌงค์ 7 จะดูว่าทำไมสติถึงจะเกิด ทำไมธัมมวิจยะถึงจะเกิด ดูไปเรื่อยๆ มันประณีตลึกซึ้งกว่ากัน หรือดูขันธ์ ดูอายตนะ ดูธาตุ เป็นธัมมานุปัสสนาล้วนๆ ดูจนถึงปฏิจจสมุปบาท ส่วนใหญ่เราทำไม่ถึง ทำไม่ได้ เราก็เอาของง่าย ดูกายดูใจไว้

 

ถ้าหมายรู้ถูกจะทำให้เกิดปัญญา

กายไม่เคยหนีไปไหนเลยแต่เราลืมมัน ฉะนั้นเรามีจิตที่ตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงร่อนเร่ไปที่อื่น ร่างกายเคลื่อนไหวมีสติรู้สึก ในใจเราก็จะมีพลังขึ้นมา เป็นคนรู้คนดูที่แจ่มชัด แล้วทำอย่างไรจึงจะเกิดการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ ต้องมีการหมายรู้ที่ถูก การหมายรู้ที่ถูก ก็คือมีสัญญาที่ถูกต้อง บางท่านก็สอนว่าสัญญาใช้ไม่ได้ เป็นตัวขวางปัญญา ก็ถูกส่วนหนึ่ง สัญญาที่ขวางการเจริญปัญญา คือสัญญาวิปลาส สัญญาที่เห็นผิด หมายรู้ผิด อย่างหมายรู้ร่างกายซึ่งจริงๆ มันเป็นอสุภะ ก็หมายรู้ว่ามันดี มันสวย มันงาม นี่หมายรู้ผิด หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง อย่างร่างกายเรานี้ไม่เที่ยงหรอก แต่เรารู้สึกเที่ยง กายเราเดี๋ยวนี้กับกายเราแต่ก่อน ก็เหมือนกันคนเดียวกัน พอไปดูรูปเก่าๆ ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนหรอก เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทุกช่วงของชีวิต แต่ร่างกายมันเปลี่ยนแปลงช้า ไม่เหมือนจิต จิตเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ถ้าเราดูจิตดูใจเป็น แล้วเราเห็นจิตมันเกิดดับอย่างรวดเร็ว มันจะรู้ จิตแสดงอนิจจังอยู่ตลอดเวลา คือมันหมายรู้ว่าจิตเป็นอนิจจัง หมายรู้ว่ากายเป็นอนิจจังหมายรู้ยาก เพราะกายมันอายุยืนกว่าจิต มันเปลี่ยนแปลงช้ากว่าจิต

ถ้าเราดูจิตเราจะเห็นอนิจจังง่าย ถ้าดูกายก็เห็นอนิจจังยากหน่อย มันเปลี่ยนช้า ถ้าจะเจริญปัญญาด้วยการดูเวทนา หมายรู้ว่าเวทนาแต่ละอย่างๆ ไม่เที่ยง ถ้าเวทนาทางกายก็เปลี่ยนช้าหน่อย ถ้าเวทนาจากใจก็เปลี่ยนเร็วหน่อย อย่างมีความสุขอยู่นี่ หันไปเจอคนที่เราเกลียดขี้หน้า ใจมันทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันเปลี่ยนเร็ว ค่อยๆ ดูไป กายมันดูอนิจจังยากนิดหนึ่ง เวทนานี่ก้ำกึ่ง ถ้าเวทนาทางกายดูอนิจจังก็ยากหน่อย ต้องใช้เวลา แต่ไม่เหมือนดูกาย ดูกายต้องใช้เวลามาก ดูเวทนาในกาย นั่งอยู่มันปวดมันเมื่อย ต้องขยับไปเดี๋ยวเดียวมันก็หายแล้ว ที่ปวดที่เมื่อย แต่เวทนาทางใจเปลี่ยนเร็วมาก เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ตลอดเวลา หรือดูสังขารความปรุงของจิต ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว อันนี้เห็นอนิจจังง่าย เพราะจิตใจเรากลับกลอกตลอดเวลา หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงหมุนติ้วๆๆ เปลี่ยนตลอดเลย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวไม่โลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวไม่โกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวไม่หลง ใจมันหมุนเปลี่ยนไปรวดเร็ว

ฉะนั้นดูจิตดูใจเห็นอนิจจังง่าย ถ้าหมายรู้ให้ถูกต้อง หมายรู้สิ่งซึ่งไม่สวย ไม่งาม ว่ามันไม่สวย ไม่งาม หมายรู้ของไม่เที่ยง ว่ามันไม่เที่ยง หมายรู้อย่างนี้ถึงจะใช้ได้ หมายรู้ของที่เป็นทุกข์ว่ามันเป็นทุกข์ หมายรู้ของที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน ก็เห็นว่า หมายรู้ว่ามันไม่ใช่ตัวใช่ตน การหมายรู้จะทำให้เกิดปัญญา ถ้าหมายรู้ถูกจะทำให้เกิดปัญญา ถ้าหมายรู้ผิดก็จะทำให้เกิดความหลงผิด พอหมายรู้ผิดก็ทำให้เกิดการคิดผิด พอคิดผิดก็เกิดความเชื่อผิด เกิดความเห็นผิด ถ้าหมายรู้ถูกก็เกิดการคิดถูก

อย่างเวลาเราคิดถึงร่างกาย เราหมายรู้ถูกว่ามันเป็นของไม่สวยไม่งาม หมายรู้ถูกก็คิดพิจารณาลงในร่างกาย ก็เห็นมันเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ หรือหมายรู้ร่างกายว่ามันทุกข์ ร่างกายหมายรู้ทุกข์ง่าย แต่จิตหมายรู้อนิจจังง่าย ร่างกายมันทุกข์ มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอเลย นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ มันทุกข์ตลอด อยู่นานๆ ก็ทุกข์ อย่างเรารู้สึกอยู่ในร่างกาย แล้วหมายรู้ทุกข์จะดูง่าย นั่งนิ่งๆ เดี๋ยวก็ทุกข์แล้ว ปวดโน่นปวดนี่ คันโน่นคันนี่ขึ้นมา พอหมายรู้อย่างนี้เรียกว่าเราหมายรู้ถูก ต่อไปก็จะเกิดปัญญา รู้ว่าร่างกายนี่ไม่น่ายึดถือหรอก ไม่ใช่ของดี ของวิเศษ จิตก็จะปล่อยวางร่างกาย

ฉะนั้นอย่าไปดูถูกสัญญา ถ้าไม่มีสัญญาที่ถูกทำวิปัสสนาไม่ได้ แต่ถ้ามีสัญญาผิด มีแต่ทำมิจฉาทิฏฐิให้เกิด ถ้าจะบอกว่าสัญญาเป็นตัวขวางปัญญา ก็ต้องพูดให้ชัดๆ ว่าสัญญาที่วิปลาส สัญญาที่เพี้ยน เป็นตัวขวางการเจริญปัญญา อย่างทำไมพวกเราไม่บรรลุมรรคผลกันง่ายๆ ก็เรามีสัญญาที่ผิด เรามีสัญญาของไม่เที่ยงเรารู้สึกเที่ยง อย่างร่างกายเรานี้เที่ยง ชีวิตจิตใจเรา เรารู้สึกเที่ยง อย่างจิตของเรามันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราก็ยังคิดว่าจิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อวานก็เป็นจิตดวงเดียวกัน จิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตปีกลาย ก็เป็นจิตดวงเดียวกัน จิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตตอนเด็กๆ ก็เป็นจิตดวงเดียวกัน แล้วก็เชื่อต่อไปอีกว่า จิตเดี๋ยวนี้กับจิตพรุ่งนี้ก็เป็นดวงเดียวกันอีก จิตชาติหน้าก็ยังเป็นดวงเดียว นี่มันหมายรู้ผิด มันหมายรู้ของไม่เที่ยง จิตเป็นของไม่เที่ยง มันไปหมายรู้ว่าเที่ยง หมายรู้ผิดอย่างนี้ก็ทำให้เวลาคิดก็คิดผิด จิตคือตัวเรา เกิดความเห็นผิด เชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าจิตนี้คือตัวเรา เวลาภาวนาเราก็รู้สึกเลยจิตคือตัวเรา อันนี้หมายรู้ผิดทำให้เกิดการคิดผิดๆ เกิดความเชื่อผิดๆ

ต้องหมายรู้ให้ถูก รู้สึกอยู่ในกาย ก็หมายรู้ให้ถูก กายนี้เป็นของไม่สวยไม่งาม กายนี้เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา กายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นวัตถุยืมโลกมาใช้ เบื้องต้นก็ยืมธาตุของพ่อของแม่มาคนละครึ่งเซลล์ แล้วก็อาศัยน้ำ อาศัยอาหาร อาศัยอากาศ มันเป็นสมบัติของโลก ตอนอยู่ในท้อง ก็อาศัยสมบัติของโลกผ่านแม่ พอออกมาแล้วก็อาศัยสมบัติของโลก ด้วยตัวของตัวเอง ถ้าเรามีสติรู้สึกอยู่ในร่างกาย เราจะรู้เลยร่างกายนี้มีแต่ธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา อย่างนั่งอยู่นี่หายใจเข้าไปก็มีธาตุไหลเข้าไปแล้ว หายใจออกไปก็มีธาตุไหลออกไปแล้ว ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไป จะเห็นร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุเท่านั้น ดูกายเป็นอนัตตา เป็นแค่วัตถุไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อย่างนี้เรียกหมายรู้ถูก หมายรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนัตตา

 

หมายรู้ในมุมของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไปเรื่อย แล้วแต่จิตจะถนัดในการหมายรู้มุมไหน เราเลือกไม่ได้จริงหรอก บางทีบางคนจิตมันถนัดจะรู้อนิจจัง บางคนถนัดจะรู้ทุกขัง บางคนถนัดรู้อนัตตา ก็แล้วแต่จะถนัด แต่เรามีหน้าที่รู้สภาวะที่เป็นปัจจุบัน ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เวลาจิตมันเข้าไปหมายรู้ บางทีเราไม่ได้เลือก เวลาปัญญาแท้ๆ มันเกิด โดยเฉพาะโลกุตตระปัญญาเกิด เราเลือกไม่ได้หรอกว่าเราจะล้างกิเลสด้วยการเห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา เลือกไม่ได้ ฉะนั้นเราพยายามฝึก นอกจากฝึกจิตให้ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ฝึกสติให้ว่องไว มีอะไรเกิดขึ้นในกายรู้สึก มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจรู้สึกแล้ว ถ้าจะเดินปัญญาต่อ ฝึกการหมายรู้

ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านนั่งสมาธิกันมาก ออกจากสมาธิมาจิตมันก็นิ่งว่างๆ อยู่อย่างนั้น ท่านก็สอนให้คิดพิจารณาร่างกาย ตรงที่คิดพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูล อสุภะ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นแค่ธาตุ ตรงนั้นยังไม่ใช่วิปัสสนา แต่มันคือการฝึกหมายรู้ ฝึกสอนจิตมันให้มันหัดหมายรู้ร่างกายว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สุดท้ายปัญญามันก็จะเกิด ภาวนาตามรู้ตามดูไป จนกระทั่งหมดความจงใจจะหมายรู้ จิตมันไปเห็นเองว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะเข้าถึงธรรมะได้

หรือหัดหมายรู้จิตใจ อย่างพวกเราถ้าเราเคยฝึกสมาธิ ด้วยการสังเกตจิตตนเอง จิตเคลื่อนแล้วรู้ เคลื่อนไปอยู่กับอะไรแล้วรู้ เราได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าเห็นการเคลื่อนของจิต เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น ถัดจากนั้นพอมีจิตตั้งมั่น เราก็หมายรู้ จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปดมกลิ่น เป็นผู้ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เป็นผู้ไปคิดทางใจ หรือไปเพ่งอารมณ์ทางใจ มันจะเห็น เราเห็นความเปลี่ยนแปลง เราหมายรู้จิตว่ามันเป็นอนัตตา หรือจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย สุดท้ายก็เห็นจิตไม่เที่ยง จิตนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างนี้เรียกเราหมายรู้ หมายรู้ถึงความไม่เที่ยงของจิตใจ

หรือบางทีเราก็สังเกตไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ใจตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู แล้วก็เห็นจิตมันเคลื่อน หรือจิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันโลภ มันโกรธ มันหลง มันไม่โลภ มันไม่โกรธ มันไม่หลง เห็นมันเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานา สัญญามันเกิดไปหมาย เฮ้ย มันเป็นของมันเอง เราเลือกไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเราหมายรู้จิตว่าเป็นอนัตตา หรือเบื้องต้นจงใจหมายรู้ ว่าจิตเป็นอนัตตาก่อนก็ได้ เหมือนที่พิจารณากายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูจิตนี่ ถ้าสัญญามันไม่ยอมไปหมายรู้ไตรลักษณ์ของจิต เราก็ช่วยมันพิจารณาลงไป เอ๊ะ จิตเมื่อกี้มันเป็นผู้รู้ ตอนนี้มันเป็นผู้คิดเสียแล้ว อย่างนี้เป็นการฝึกหมายรู้

ตอนที่จิตมันเดินปัญญาอย่างแท้จริง เราไม่เจตนาจะหมายรู้ แต่จิตมันหมายรู้เอง สัญญาที่ถูกมันทำงานเอง ในขณะที่คนทั้งโลกและสัตว์ทั้งหลาย สัญญาที่ผิดมันทำงานเอง เพราะมันฝึกมาจนชำนาญที่จะหมายรู้ผิด ฉะนั้นสัญญาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สัญญา ถ้าหมายรู้ผิดก็คิดผิด ก็เกิดมิจฉาทิฏฐิ เกิดความเห็นผิด ถ้าหมายรู้ถูก หมายรู้กาย หมายรู้ใจของเราเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ต่อไปเวลาคิดถึงกาย คิดถึงจิต มันก็จะคิดถึงในมุมของไตรลักษณ์ ในที่สุดก็เกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดความเห็นถูก พ้นจากความเห็นผิด

ฉะนั้นเราต้องฝึก อย่างทีแรกเราฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกสติให้ว่องไว พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ก็ฝึกที่จะหมายรู้ สติระลึกรู้กายก็หมายรู้ มองกาย หมายรู้ก็คือเป็นมุมมองของจิต มองกายในมุมของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตมันมองเอง ทีแรกจงใจมอง ต่อมาจิตมันมองได้เอง ตรงที่จิตมองได้เองนี่เราเดินปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว

ตรงที่เรายังคิดๆ อยู่ ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ตรงที่จิตมันหมายรู้ได้เอง ตรงนั้นมันขึ้นวิปัสสนาจริงๆ แล้ว หรือมันหมายรู้จิต ถ้าไปดูจิตให้นิ่ง ให้ว่าง เมื่อก่อนมี เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ตาย มีลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์คนหนึ่งตั้งสำนักสอนทำจิตให้ว่าง การทำจิตให้ว่างไม่ใช่เส้นทางของพระพุทธเจ้า ทำจิตให้ว่าง ไม่มีอะไรเลย อยู่กับความว่าง ไม่ให้จิตคิด ไม่ให้จิตนึก ไม่ให้จิตปรุง ไม่ให้จิตแต่ง ไม่ให้จิตทำงาน เป็นการเข้าไปแทรกแซงจิตทั้งสิ้นเลย แล้วก็ว่างๆ อยู่อย่างนั้น คิดว่าเป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้เดินปัญญาเลย

ถ้าเดินปัญญา มันต้องมองให้เห็นไตรลักษณ์ได้ ไปทำจิตให้ว่างใช้ไม่ได้เลย ครูบาอาจารย์ก็สอนระวังจิตไปติดเฉย หลวงพ่อก็เคยไปทำผิดอย่างนั้น เคยฝึกดูจิต ดูจิตไปจนกระทั่งมันไม่คิด ไม่นึก รู้ตัวว่างๆ อยู่เฉยๆ ไปหาหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์บอกผิดแล้ว จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง ไปทำจนมันผิดธรรมชาติ ไปดูใหม่ ทำผิดแล้ว

หลวงพ่อถึงมาดู การดูก็คือ จิตเป็นอย่างไร จิตมันทำอะไร รู้มันเป็นอย่างนั้น ดูจิตดูใจเราก็ดูได้ 2 มุม อันหนึ่งเราดูความรู้สึก จิตที่มันสุข จิตที่มันทุกข์ จิตที่มันดี จิตที่มันชั่ว อีกอันหนึ่งดูพฤติกรรมของจิต เช่นจิตเคลื่อนออกไปจับรูป จับเสียง จับกลิ่น จับรส จับโผฏฐัพพะ จับธัมมารมณ์ จิตมันจะเคลื่อนไป เคลื่อนมา เรารู้ ตอนที่เราเห็นจิตมันเคลื่อนไป เคลื่อนมา ตรงนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาจริง ต่อมาเราดูไปเรื่อยๆ เราเห็นเลย จิตรู้มันก็ดวงหนึ่ง จิตที่ไปดูมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง ไม่ใช่จิตรู้วิ่งออกไปดู พอไปดูแล้วก็วิ่งกลับมา เดี๋ยวก็วิ่งไปฟังแล้วก็วิ่งกลับมาเหมือนแมงมุม แมงมุมชักใยแล้วตัวมันอยู่ตรงกลาง มีอะไรมากระเทือนทิศไหน มันก็วิ่งไปทิศนั้น เส้นใยของเราที่แมงมุมตัวนี้จะวิ่งไป คือจิตมันจะวิ่งไปมี 6 ช่อง คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ้าเรายังเห็นว่าจิตนี้วิ่งไปทางตาแล้วก็กลับมา วิ่งไปทางหูแล้วกลับมา ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ตรงที่เราจะขึ้นวิปัสสนาได้ สันตติต้องขาด เราจะเห็นว่าจิตที่เป็นผู้รู้มันดวงหนึ่ง แล้วดวงนี้มันดับไป เกิดจิตที่เป็นผู้ไปดู จิตที่เป็นผู้ไปดู อยู่ชั่วขณะก็ดับไป เกิดจิตรู้ขึ้นมาอีก สำหรับนักปฏิบัติ สำหรับคนไม่ปฏิบัติที่เกิดคือจิตหลงทั้งนั้น ไม่มีจิตรู้หรอก

พอเราเห็นเราจะรู้เลยว่า จิตไม่ได้เหมือนแมงมุมหรอก ที่มี 6 ทิศทางนั้น ก็คือจิตไปเกิดทางทวารทั้ง 6 เกิดที่ตาแล้วดับที่ตา เกิดที่หูแล้วดับที่หู เกิดที่จมูกก็ดับที่จมูก เกิดที่ลิ้นก็ดับที่ลิ้น เกิดที่กายก็ดับที่กาย เกิดทางใจ ไปรู้อารมณ์ทางใจก็ดับที่ใจ จิตที่ตั้งมั่นก็ดับอยู่ที่ความตั้งมั่นของมันนั่นเอง เราจะเห็นอย่างนี้ อย่างนี้เราเดินวิปัสสนาจริงๆ แล้ว

ถ้าดูกายแล้วดูไปเรื่อยๆ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของกายนี่มันแตก กายมันแตกเป็นส่วนๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แตกกระจัดกระจายออกไป ฆนะ กลุ่มก้อนของมันเริ่มแตก แล้วมันละเอียดลงไปอีก มันจะรู้เลยว่า กระทั่งในผมเส้นเดียวมันยังแยกออกไปได้ แยกเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอากาศ อย่างนี้มันเดินปัญญาจริงๆ แต่ว่าเวลาเดินปัญญาในขั้นละเอียด ที่หลวงพ่อบอกมันสั้นนิดเดียว ส่วนใหญ่ก็คือฝึกให้จิตตั้งมั่นขึ้นมา มีสติรู้กายรู้ใจไป มีสัญญาหมายรู้อย่างถูกต้อง ว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกระทั่งหมดความจงใจที่จะหมายรู้ แต่จิตมันรู้ มันเห็นกายมันก็มองกายในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ สติระลึกรู้จิต สัญญามันก็ทำงานเอง มันหมายรู้จิตในมุมของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้

อย่างเมื่อเช้านี้หลวงพ่อเดินตรวจการบ้านพระ เดินก็มีองค์หนึ่งบอกอยู่กับหลวงพ่อมา 2 พรรษา 2 ปีแล้ว วันนี้หลวงพ่อเดินไป หลวงพ่อก็ชมเชยบอกเออภาวนาดีแล้ว องค์นี้ท่านก็เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า ทำมา 2 ปีแล้วยังไม่เข้าใจ เวลารู้อารมณ์จิตมันจะเคลื่อนลงไปแนบที่อารมณ์ ไปจ้องไว้แบบนี้ แล้วบอกนี่เราปฏิบัติอยู่ จริงๆ ไปเพ่งอารมณ์อยู่ พลิกนิดเดียวเอง แทนที่เราให้จิตมันเคลื่อนไปจับนิ่งๆ อยู่ที่อารมณ์ ท่านเห็นจิตมันเคลื่อนไปที่อารมณ์ เห็นจิตมันมีพฤติกรรม คือมันวิ่งไปจับอารมณ์ นี้อารมณ์อันนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานข้างใน เป็นธัมมารมณ์ เห็นจิตมันเคลื่อนไปจับธัมมารมณ์ พอรู้ว่าจิตมันเคลื่อนเท่านั้นเอง ความเคลื่อนขาด จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา หลวงพ่อถามว่าแล้วเห็นไหมจิตไม่ใช่ตัวเรา ท่านบอกเห็นเป็นแวบๆ ยังไม่เห็นเด็ดขาด

เวลาฝึกทีแรกเราจงใจหมายรู้ แต่ต่อมาพอจิตมันมองไตรลักษณ์เป็น มันจะเห็นเอง อย่างตรงที่จิตมันมาตั้งมั่น ว่าง สว่างอยู่นี่ สติปัญญามันแก่กล้า สัญญาหมายรู้ปั๊บลงไป มันไม่มีตัวเรา เห็นอย่างนี้เลย ตรงที่จะเห็นมันไม่ใช่เรานี่นา แต่ว่ากำลังไม่พอ ถ้ากำลังพอมันก็ขาดสะบั้นตรงนั้นเลย

 

ฝึกสติ ฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่น

ฉะนั้นเราจะต้องฝึกมีสติ วิธีฝึกสติ คือหัดรู้สภาวะที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เช่น ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหายใจรู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ในสติปัฏฐานร่างกายหายใจรู้สึก เรียกว่าอานาปานสติบรรพ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนรู้สึก ในสติปัฏฐานในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเรียกว่า อิริยาบถบรรพ ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก ร่างกายหยุดนิ่งรู้สึก ในสติปัฏฐานกายานุปัสสนาจะเรียกว่า สัปปชัญญบรรพ พระพุทธเจ้าสอนแล้วทั้งนั้นเลย ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลย เรามีสติรู้สภาวะบ่อยๆ ถ้าดูกายก็เห็นกายมันเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ เห็นกายมันหายใจ เห็นกายมันยืน เดิน นั่ง นอน ใช้กายเป็นวิหารธรรม ถ้าใช้จิตเป็นวิหารธรรม จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ ตรงนี้มันจะควบระหว่างเวทนานุปัสสนา กับจิตตานุปัสสนาเข้าไปด้วยกัน จะควบกัน หรือบางทีก็มองในมุมของเวทนา บางทีก็มองในมุมของจิตตานุปัสสนา จะเป็นเวทนาทางใจ เวทนาทางกายมันเนื่องอยู่กับกาย เวทนาทางใจมันเนื่องอยู่กับจิต

ค่อยๆ ดูไป หัดดูสภาวะบ่อยๆ เช่น ใจเราขี้โมโห อย่างบางคนขี้โกรธ หงุดหงิดง่าย ทุกครั้งที่หงุดหงิดรู้ทันมันไวๆ หงุดหงิดขึ้นมาแล้วรู้ หงุดหงิดขึ้นมาแล้วรู้อย่างนี้เรื่อยๆ นี้คือการฝึกสติ ฝึกรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ รู้กาย รู้ใจที่กำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ ดูบ่อยๆ ต่อไปไม่เจตนาจะดู มันก็ดูได้เอง ตรงมันไม่เจตนาจะดู มันรู้ได้เอง ร่างกายมันขยับ ไม่ได้เจตนาจะรู้เลย มันรู้เอง แต่ก่อนที่มันจะรู้เอง มันก็ต้องเจตนาฝึกรู้ก่อน ร่างกายขยับ ร่างกายหายใจ คอยสังเกตคอยรู้ไป ต่อไปพอร่างกายเคลื่อนไหว ไม่ได้เจตนาจะรู้ก็รู้ได้ อันนี้เรียกสติอัตโนมัติของเราเกิดแล้ว ก็ต้องฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่น สำคัญนะสมาธิชนิดจิตตั้งมั่น

วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่นทำได้ 2 วิธี วิธีที่หนึ่งทำฌาน แต่หลวงพ่อไม่ค่อยสอนหรอก มีลูกศิษย์หลวงพ่อไม่กี่คนที่เดินเส้นนั้น คนรุ่นเราส่วนมากทำฌานไม่ได้ ฟุ้งซ่าน ไม่เหมือนรุ่นครูบาอาจารย์ บางองค์ท่านเหาะได้ด้วยซ้ำไป ท่านลอยได้ด้วยซ้ำไป ท่านทำอะไรได้แปลกๆ มารุ่นเราทำไม่ได้ ใจเราฟุ้งทั้งวัน เราก็ทำสมาธิชนิด ขณิกสมาธิ

วิธีทำสมาธิชนิดขณิกสมาธิ ก็คือรู้ทันจิตตัวเอง จิตเคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ เคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ ทีแรกมันเคลื่อนไปแช่อยู่กับอารมณ์นานๆ ไปอยู่นานๆ ถึงจะรู้ พอเราหัดดูบ่อยๆ จิตหลงไปดูแล้ว จิตหลงไปฟังแล้ว หลงไปดมกลิ่นแล้ว รู้บ่อยๆ ต่อไปพอหลงปุ๊บ มันรู้ปั๊บเลย สมาธิอัตโนมัติจะเกิด พอฝึกเรื่อยๆ ใจก็ตั้งมั่น เด่นดวงอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย มันไม่หลง มันไม่เผลอไปโดยที่ไม่ได้บังคับไว้ ไม่ได้ประคองรักษา อย่างพวกเราบางคนหลวงพ่อบอกยังประคองจิตอยู่ ยังประคองจิตอยู่มันยังไม่ใช่สมาธิชั้นดีอะไร ยังไม่อัตโนมัติ จิตมันไหลแล้วรู้ปั๊บ สมาธิอัตโนมัติมันเกิด พอมีสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติแล้วยังไม่พอ ต้องพาจิตมันหมายรู้กาย หมายรู้จิตในความเป็นไตรลักษณ์เสียก่อน ถ้ามันไม่ยอมหมายรู้ มันจะรู้กายเฉยๆ รู้จิตเฉยๆ รู้แล้วจ้องนิ่งๆ อยู่กับกาย รู้แล้วไปจ้องนิ่งๆ ในความว่าง อยู่กับจิตว่างๆ ใช้ไม่ได้ ยังไม่ได้เดินปัญญาอะไร ถึงจะไปดูกายอยู่ ขยับแล้วรู้ตลอด รู้ตลอด ไม่ได้เดินปัญญา ต้องหัดหมายรู้

ถ้าของครูบาอาจารย์แต่ก่อน ท่านก็คิดพิจารณาร่างกายไป คิดพิจารณาลงในสัญญาที่ถูก พิจารณากายเป็นปฏิกูล อสุภะ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกระทั่งมันเห็นอัตโนมัติ ใจมันชิน เวลานึกถึงกายก็จะเห็นแต่พวกเป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ตรงที่จะเดินปัญญาจริงต้องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นปฏิกูล อสุภะก็จะกลายเป็นธาตุ อย่างเราดูกาย กายสลายลงไปมันเปื่อย มันเน่า มันสกปรก สุดท้ายมันจะแยกเป็นธาตุ ธาตุดินเหลืออยู่ ธาตุไฟหายไป ธาตุลมหายไป ธาตุน้ำไหลออกไป จนกระทั่งเหลือธาตุดินแห้งๆ อยู่ แล้วก็ใจมันเฉลียวใจขึ้นมา เออ มันไม่ใช่ตัวเรา กายนี้เป็นอนัตตา หรือเห็นว่าแต่เดิมมีตัวมีตน ดูไปเรื่อยๆ มันแยกแตกออกเป็นธาตุ ธาตุดินเหลืออยู่ ธาตุน้ำก็ไหลออกไป มันเริ่มแต่ธาตุลมก่อน ธาตุลมมันดับ พอธาตุลมมันดับ ธาตุไฟก็ดับ พอธาตุไฟดับไม่มีไฟหล่อเลี้ยง ไอ้ตัวที่คุมกันอยู่ก็แตก ธาตุน้ำก็ไหลออกไปเป็นน้ำเลือด น้ำหนองไหลออกไป เหลือแต่ธาตุดินแห้งๆ อยู่ ถึงตรงนี้มันไม่ใช่พิจารณาอสุภะแล้ว เพราะไม่มีอสุภะจะพิจารณาแล้ว

ยังไม่ถึงมรรคผลเลย ไม่มีอสุภะจะให้ดูแล้ว เพราะว่าพอมันแยกธาตุไปแล้ว ไม่เห็นมันจะอสุภะตรงไหนเลย ดินมันก็คือดิน น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไฟก็คือไฟ ไม่มีสะอาดหมดจด หรือเลวทรามอะไร ไม่มีทั้งสิ้นเลย แต่มันจะไปเห็นในมุมที่ว่า แต่เดิมมันเป็นตัวเป็นตน ธาตมันคุมกันอยู่ ตอนนี้มันไม่เที่ยง มันแตกสลายแล้ว ธาตุแต่ละธาตุก็แตกกระจายออกไป หรือแต่เดิมมันเป็นตัวเป็นตนอยู่ ตอนนี้ไม่ใช่คนแล้ว เป็นซากอะไร เป็นดินแห้งๆ น้ำ ไฟ ลม ก็กระจายออกไป ไม่มีตัวเราของเรา จิตมันไปเห็นอย่างนี้เอง ถึงจะเรียกว่ามันทำวิปัสสนาจริงๆ แล้วมันจะละกิเลสจริงๆ ก็ละกันตรงนี้ ละจากตรงที่เห็นของจริง

ถ้าดูจิตดูใจก็เหมือนกัน หัดหมายรู้ไปเรื่อยๆ จิตนี้มันไม่เที่ยง เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง โลภแล้วก็ไม่โลภ โกรธแล้วก็ไม่โกรธ หลงแล้วก็ไม่หลง ฟุ้งซ่านแล้วก็หดหู่ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ หรือบางทีมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เป็นจิตดู เดี๋ยวมันก็เป็นจิตฟัง เดี๋ยวมันก็เป็นจิตดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นจิตลิ้มรส เดี๋ยวเป็นจิตรู้สัมผัสทางร่างกาย เดี๋ยวเป็นจิตคิดนึกทางใจ เห็นแต่ความไม่เที่ยงของจิตใจ

มุมที่ดูง่ายอีกมุมหนึ่งของจิต ก็คืออนัตตา ดูจิตให้เป็นตัวทุกข์ยาก จิตมันไม่มีแขน มีขา ไม่มีกล้ามเนื้อที่จะปวดจะเมื่อยให้เราดูหรอก ฉะนั้นดูจิตดูอนิจจังง่าย ดูอนัตตาง่าย ถ้าดูกายดูทุกขังง่าย ดูอนัตตา อนัตตามันแตกออกเป็นธาตุ ดูจิตดูอนิจจังง่าย เพราะจิตมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากเลย มันเร็วถึงขนาดพระพุทธเจ้าบอก “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน” มันเร็วขนาดนี้ แล้วท่านบอกเลยจิตนี้เที่ยวไปรวดเร็ว เที่ยวไปทางไหน ทางเที่ยวของจิตคือทางโคจรของจิต ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง ฉะนั้นจิตมันจะโคจร มันจะท่องเที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไปอย่างรวดเร็ว พระพุทธเจ้าบอก มือระดับพระพุทธเจ้ายังบอกว่ามันเร็ว ฉะนั้นมันเร็วแน่นอน

ต้องฝึก คอยดูเวลาจิตมันไหลไปดูรู้ทัน จิตมันไหลไปฟังรู้ทัน จิตมันไหลไปดมกลิ่นรู้ทัน จิตมันไหลไปลิ้มรสรู้ทัน จิตมันไหลไปรู้สัมผัสที่กายรู้ทัน จิตมันไหลไปคิดนึกทางใจ หรือไปทำอะไร ไปเพ่งอารมณ์ทางใจ รู้ทัน หัดรู้บ่อยๆ หัดหมายรู้มันบ่อยๆ ต่อไปมันรู้โดยไม่ต้องจงใจ มันหมายรู้โดยไม่จงใจหมายรู้

บางคนรังเกียจสัญญา สัญญาเป็นธรรมชาติที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สัญญายังไงก็ต้องมี เหมือนกับเวทนาเกิดกับจิตทุกดวง จิตมันมีอยู่ไม่จิตสุขก็ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ ก็มีอยู่อย่างนี้ มันต้องมี สัญญาก็ต้องมี เพียงแต่สัญญามันจะวิปลาส หรือสัญญาจะถูกต้องเท่านั้น

อยากให้สัญญาถูกต้องก็หัดหมายรู้ให้ถูกต้อง ร่างกายนี้หมายรู้ไปเป็นปฏิกูล อสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เบื้องต้นก็ช่วยมันหมายรู้ คือพามันคิด จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันหมายรู้ได้เองว่าเป็นไตรลักษณ์ เราก็ไม่ต้องไปทำอะไร ถ้ามันไม่หมายรู้ มันไปว่างสว่างอยู่เฉยๆ อย่างนั้น ต้องจงใจช่วยมันพิจารณา จิตนี้มันสว่างว่างอยู่ มันจะเที่ยงหรือไม่เที่ยง ค่อยๆ ดูสุดท้ายมันก็ไม่เที่ยง เห็นคนเดินมาจิตก็ไปดูแล้ว ยังนึกว่าจิตว่างอยู่ เพราะว่าดูไม่เป็น

เพราะฉะนั้นจิตที่ว่าว่าง สว่างอยู่ มันเป็นจิตที่อยู่ทางใจ เดี๋ยวมันก็เกิดจิตที่ดู เดี๋ยวมันก็เกิดจิตที่ฟัง เวลาดูก็ทำจิตว่าง เวลาฟังก็ว่าง ว่างก็บ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปทำจิตให้ว่างๆ พอจิตว่างแล้วต้องหมายรู้ถึงความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าหมายรู้ไตรลักษณ์ไม่ได้ ไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก เพราะวิปัสสนากรรมฐาน หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ของกาย ของใจ บางทีก็เรียกขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 ก็คือกายกับใจ คือรูปกับนามนี่เอง ต้องหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์

เวลาเราปฏิบัติทางจิตจะมี 3 อัน อันหนึ่งทำสมาธิให้สงบ อันหนึ่งทำจิตให้ตั้งมั่น อันหนึ่งทำจิตให้มีปัญญา 2 อันแรกเป็นเรื่องของสมถะ อันหลังเป็นเรื่องของวิปัสสนา ทำจิตให้สงบนี่ให้ความสำคัญกับอารมณ์กรรมฐาน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง น้อมไปไม่ใช่เพ่ง ถ้าเพ่งแล้วเครียดไม่มีความสุข ไม่สงบหรอก

อย่างหลวงพ่อถ้าหายใจแล้วสบายใจ เวลาเราต้องการความสงบ แทนที่จะปล่อยให้ใจคิดโน้นคิดนี้ เราก็ให้จิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือมารู้ลมหายใจ จิตก็สงบได้พัก ถ้าจะทำจิตให้ตั้งมั่น ไม่ใช่ไปเอาอารมณ์ คือลมหายใจเป็นตัวหลัก แต่เอาจิตเป็นตัวหลัก เปลี่ยนพระเอกแล้ว ถ้าทำความสงบ อารมณ์กรรฐานเป็นตัวพระเอก ถ้าจะฝึกจิตให้ตั้งมั่น เป็นสมาธิตั้งมั่นเอาไว้เดินปัญญา จิตเป็นพระเอก ตัวเอกเปลี่ยนจากอารมณ์มาเป็นจิต ฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ จิตจะตั้งมั่น แล้วตอนเดินปัญญาไม่ใช่อารมณ์ ไม่ใช่ตัวจิตที่เป็นพระเอกจริงๆ ตัวไตรลักษณ์ตัวความจริงเป็นพระเอก

 

ฝึกจนกระทั่งหมดเจตนา

ฉะนั้นถ้าเราดูกาย แล้วเห็นกายกระดุกระดิกยังเป็นสมาธิอยู่ ถ้าดูจิตแล้วก็นิ่ง ว่าง สว่างอยู่ อันนั้นยังเป็นสมาธิอยู่ แต่ถ้าเราเห็นกายที่เคลื่อนไหวอยู่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่ขึ้นวิปัสสนาแล้ว มันเห็น ที่มันเห็นอย่างนี้ได้ เพราะมันหมายรู้ลงไป โดยที่ไม่ได้เจตนาที่จะหมายรู้ ทีแรกเจตนาหมายรู้ก่อน แล้วต่อไปไม่ต้องเจตนามันดูเอง ว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น ไม่ดู 3 อย่างหรอก

ดูจิตก็เหมือนกัน มันก็หมายรู้เอง ทีแรกเราก็ช่วยมันหมาย จิตที่สว่างอยู่ก็ไม่คงที่ เดี๋ยวก็เป็นจิตคิดแล้ว ฉะนั้นจิตที่คิดกับจิตที่ว่างเฉยๆ คนละดวงกัน ค่อยๆ พามันดู สอนมันไป ต่อไปมันเห็นเอง มันหมายรู้โดยไม่ได้เจตนาจะหมายรู้เอง ตรงนั้นมันขึ้นการเจริญปัญญาที่แท้จริงแล้ว มันจะเห็นไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน ถึงจะดูกาย ถึงจะดูจิตก็เป็นสมถะ ถ้าดูกายแล้วลงไปเพ่งกาย ดูจิตแล้วไปเพ่งจิต ก็เป็นสมถะเฉยๆ แต่ถ้ารู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่งกาย จิตถลำไปเพ่งความว่าง อันนี้จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เคยหมายรู้กายเป็นไตรลักษณ์ มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ จิตตั้งมั่น แล้วเคยหมายรู้จิตว่าเป็นไตรลักษณ์ สติก็จะระลึกรู้จิตปุ๊บ สัญญาก็จะหมายรู้ว่าจิตนี้ก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา แล้วตรงที่จิตมันเดินวิปัสสนาอย่างแท้จริง ใช้เวลาไม่มากหรอก ที่ใช้เวลามากคือขั้นเตรียมความพร้อม ที่จะให้จิตสามารถมาเห็นความจริงได้โดยไม่เจตนา

ฉะนั้นเราจะฝึกจนกระทั่งหมดเจตนา ไม่จงใจจะมีสติ พอร่างกายเคลื่อนไหวสติเกิดเอง ไม่จงใจที่จะให้เกิดสมาธิผู้รู้ พอจิตขยับตัวพอเคลื่อนไหวรู้เอง จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาโดยไม่เจตนา ไม่เจตนาจะเดินปัญญา แต่พอสติระลึกรู้กาย สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้จิต สัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของจิต มันทำงานต้องอัตโนมัติอย่างนี้ถึงจะใช้ได้ ถ้ายังมีความจงใจ ต้องจงใจอยู่ มรรคผลยังไม่เกิดหรอก

ตัวความจงใจที่จะทำกรรมฐาน พวกเราเป็นทุกคน ทำกรรมฐานแล้วจะคิดจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร ทำไม่ได้ หลวงพ่อบอกทุกวันทำไม่ได้ แต่ฝึกอะไร ฝึกให้มีสติอัตโนมัติ สมาธิอัตโนมัติ ฝึกให้เดินปัญญาอัตโนมัติ ด้วยการที่สัญญาเข้าไปหมายรู้ไตรลักษณ์ มันคือการจะฝึกให้เกิดปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา พอเรามีสิ่งที่เป็นอัตโนมัติเกิดขึ้น โดยที่ไม่จงใจให้เกิด เราก็หมดโลภเจตนา โลภเจตนาเป็นความโลภ เป็นความจงใจ เป็นความจงใจของจิต เป็นมโนสัญเจตนา ความจงใจ มโนสัญเจตนา มโนคือใจ สัญญะคือการหมายรู้ เจตนาหมายรู้ทางใจ

อย่างเราทำกรรมฐาน เราชอบเจตนาหมายรู้ทางใจ ยังเจตนาอยู่ จิตยังกระทำกรรมอยู่ จิตยังสร้างภพสร้างชาติอยู่ เพราะมโนสัญเจตนาเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรม อภิธรรมตรงนี้ถูกเป๊ะเลย อย่างเราต้องฝึกจนกระทั่งรู้โดยไม่เจตนา ฝึกจนมันไม่ต้องเจตนาจะรู้แล้วมันรู้ได้ แต่อยู่เฉยๆ มันจะรู้โดยไม่เจตนาไม่ได้ ทีแรกก็ต้องเจตนาไปก่อน หัดรู้หัดดูไปจนมันชำนิ ชำนาญ จนจิตมันดูได้เอง ตรงจิตมันดูได้เอง เราหมดเจตนา เมื่อหมดเจตนา

ตัวเจตนาเป็นตัวสร้างภพ สร้างกรรม ภพมันจะดับ จิตมันจะหลุดออกจากภพ มันจะเข้าถึงโลกุตตรธรรม เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ในขณะที่เกิดอริยมรรค อริยผล มันเป็นโลกุตตระไม่ใช่ภพ เพราะฉะนั้นตรงนั้นไม่ได้มีเจตนาให้เกิด พระพุทธเจ้าถึงสอน ไม่มีใครจงใจทำมรรคผล นิพพานให้เกิดขึ้นได้ อันนั้นเป็นความจริงล้วนๆ ไม่มีใครสั่งจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่มีใครทำมรรคผลนิพพานให้เกิดได้ มันเป็นเอง เมื่อมันหมดโลภเจตนา หมดมโนสัญเจตนา หมดความจงใจที่จะหมายรู้ ความเป็นไตรลักษณ์ของใจ แล้วมันอัตโนมัติขึ้นมา

จะอัตโนมัติได้ก็ต้องฝึก ฝึกให้มีสติอัตโนมัติ มีสมาธิอัตโนมัติ ฝึกให้รู้จักเจริญปัญญาอัตโนมัติ การเจริญปัญญาอัตโนมัติ คือพอสติระลึกรู้อะไร ใจเป็นคนดู ตั้งมั่นอยู่ต่างหาก สัญญาหมายรู้ลงไปว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา กระทั่งตัวจิตที่เป็นผู้ไปหมายรู้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

อย่างเมื่อเช้าที่หลวงพ่อเดินตรวจการบ้านพระ เห็นพระองค์หนึ่งผ่องใสมาก ก็บอก ภาวนาดี ภาวนาใช้ได้แล้ว ภาวนาเป็น คือไม่ได้จงใจ แต่ก่อนจะไม่จงใจ จงใจมา 2 ปีแล้ว แล้วต่อไปนี้ก็จะจงใจต่อ จงใจต่อไปอีก เป็นธรรมดาทีแรกก็ต้องจงใจไปก่อน แล้วต่อไปจะเห็น อย่างวันนี้หลวงพ่อก็กระตุ้น เห็นไหมจิตมันไม่มีความเป็นตัวเราหรอก บอกเห็นลางๆ เห็นแวบๆ ยังไม่ได้เห็นแจ้ง ไม่ต้องพยายามให้เห็นแจ้ง ถ้าพยายามมันก็คือโลภเจตนา ไม่มีวันจะเห็นเลย ค่อยฝึก

ค่อยรู้ค่อยดูไป จนกระทั่งสติ สมาธิ และการเจริญปัญญาอัตโนมัติมันเกิดขึ้น แล้วตัวปัญญาที่เป็นโลกุตตระที่แท้จริงถึงจะเกิดขึ้น เกิดในอริยมรรค ปัญญาที่อยู่นอกอริยมรรคยังไม่ใช่ปัญญาที่เป็นโลกุตตระ ยังเป็นปัญญาอย่างโลกๆ อยู่ แต่ก็อาศัยมันนี่ล่ะ พยายามหมายรู้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมันรู้โดยไม่จงใจหมาย อย่างนั้นถึงจะได้ของดี บางคนภาวนาแทบเป็นแทบตาย แล้วมันเข้ามาที่จิต แล้วมันเกิดไปหมายรู้จิตว่าไม่ใช่เราขึ้นมา ไม่ได้เจตนาเลย ครั้งเดียวเท่านั้นขาดสะบั้นตรงนั้นเลยก็มี เราค่อยๆ ฝึกไป

พยายามฝึกเข้า ฝึกตัวเองให้ดี ฝึกไป ฟังทีเดียวไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวก็ไปดูรีรันเอา ดูซ้ำๆ ไป แล้วก็ค่อยดูของจริงเอา อย่าว่าแต่โยมทางบ้านเลย พระอยู่กับหลวงพ่อใช้เวลาตั้ง 2 ปีเลยถึงจะเห็น ไม่ใช่ง่ายๆ บางองค์ตั้ง 10 ปีเลยยังไม่เห็นเลยก็มี แล้วแต่สะสมมาขนาดไหน บุญกรรมทำมาขนาดไหน เลือกไม่ได้หรอก ยุติธรรมที่สุดแล้ว เวลาสอนหลวงพ่อสอนให้เหมือนๆ กัน สอนโยมหลวงพ่อก็สอนเหมือนๆ กัน สอนพร้อมๆ กัน ไม่ได้สอนทีละคน สอนพระในวัดก็สอนพร้อมๆ กัน สอนเท่าๆ กัน เรียนอย่างเดียวกัน แต่บางคนก็กรองธรรมะไว้ได้เยอะ บางคนก็กรองไว้ได้น้อย บางคนก็ปล่อยทิ้งไปหมด ก็แล้วแต่อยู่ที่ตัวเองแล้ว

หลวงพ่อก็ทำหน้าที่ของหลวงพ่อแล้ว สอนให้แล้ว อยู่ที่เราแต่ละคนจะรับไว้ได้แค่ไหนทั้งพระทั้งโยม บางคนอินทรีย์หยาบ มันก็เหมือนเรามีตะแกรงตาห่างๆ ก็กรองธรรมะที่ละเอียดไว้ไม่ได้ ได้แต่ธรรมะหยาบๆ บางคนตะแกรงมันละเอียดขึ้นก็กรองได้ละเอียด บางคนมันละเอียดแบบผ้าขาวบางซ้อน 7 ชั้น กรองละเอียดยิบเลย เหมือนน้ำอัฐบานอย่างนี้ น้ำผลไม้ 8 อย่างคั้นมาไม่ผ่านไฟ ลูกต้องไม่โตเกินไป เอาสับปะรดมาคั้นไม่ได้ใหญ่เกินไป ต้องไม่โตขนาดลูกมะขวิด ก็คั้นเอาน้ำมากรองด้วยผ้า 7 ชั้น น้ำที่ออกมาดื่มได้ในเวลาวิกาล มันละเอียด

ฉะนั้นเครื่องกรองละเอียด มันจะได้ของที่ละเอียดประณีต เครื่องกรองหยาบก็ได้ของหยาบ แต่ใหม่ๆ มันก็หยาบทุกคน ค่อยฝึกไปก็ละเอียดขึ้น เป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาว่ากันไม่ได้

 

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
16 มกราคม 2564