การดูจิตดูใจ

เวลาทุกนาทีมีค่า เวลามันหมดไปพร้อมกับชีวิตเรา ฉะนั้นเราอย่าไปทิ้งให้เวลามันสูญเปล่า มีเวลาว่างๆ ไม่ต้องทำงานที่ต้องคิด ฝึกเจริญสติ เจริญปัญญา มี 2 อัน เจริญสติกับเจริญปัญญา มีสติคอยระลึกรู้สภาวธรรมไป สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม ก็มีรูปธรรม นามธรรม สภาวธรรมอีกชนิดหนึ่งคือนิพพาน พวกเรายังไม่เคยเห็น ปุถุชนไม่เคยเห็น เราก็ไม่ต้องไประลึกถึง มันจะมโนเอาเท่านั้น ระลึกถึงสภาวะที่เรามีจริงๆ

สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรม มี 4 อย่าง มีจิต เจตสิก รูป แล้วก็นิพพาน ทำไมเริ่มจากจิตก่อน เพราะในสภาวธรรมทั้งหลาย จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธานในธรรมทั้งปวง ฉะนั้นเราเรียนรู้จิตของเราให้ดี เราจะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ พอมีสติ มีสมาธิแล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องปัญญา แค่มีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้องบ่อยๆ เดี๋ยวปัญญามันก็เกิด ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ส่วนตัวสตินั้นมีการจำสภาวะได้แม่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิด เราหัดดูสภาวะบ่อยๆ สภาวะอันแรกคือจิตนั่นเอง จิตมันไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวโดดๆ เวลาที่จิตที่เกิดขึ้นทุกครั้งจะมีเจตสิกจำนวนมากเกิดร่วมกับจิต

 

เจตสิก

สิ่งที่เรียกว่าเจตสิกมี 3 กลุ่ม มีเวทนา ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ สัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ สังขาร ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว อันนี้เรียกว่าเจตสิก จิตโดยตัวของมันเองไม่ดีไม่เลว มันเป็นสภาวะที่เป็นกลางๆ มันเข้าได้กับเจตสิกทั้งที่ดี ทั้งที่เลว ฉะนั้นโดยตัวจิตเองมันผ่องใส มันประภัสสร แต่มันไม่ได้บริสุทธิ์ ระหว่างผ่องใสกับบริสุทธิ์ไม่เหมือนกัน อย่างน้ำใสๆ อาจจะไม่บริสุทธิ์ มีเชื้อโรคอยู่ มองไม่เห็น จิตโดยตัวของมันเอง มันผ่องใส แต่มันไม่บริสุทธิ์ แล้วมันจะกลายเป็นจิตที่ดีหรือจิตที่เลวขึ้นกับเจตสิกที่มาเกิดร่วมกับมัน อย่างเรารู้สึกจิตของเราบางดวงมีความสุข เพราะมันมีเจตสิก คือความสุขมาเกิดร่วมกับจิตดวงนั้น จิตบางดวงของเรามีความทุกข์ เพราะมันมีเจตสิก คือตัวความทุกข์มาเกิดร่วมกับจิตดวงนั้น อันนี้คือส่วนของเวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์เป็นส่วนของเวทนา มันเกิดร่วมกับจิต จิตโดยตัวของมันเองเป็นกลางๆ มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ก็เพราะเวทนาที่มาเกิดร่วมกับมัน แล้วมันจะดีหรือมันจะชั่วก็เพราะสังขาร เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง

เจตสิกมี 3 อย่าง มีเวทนา สัญญา สังขาร ฉะนั้นมันจะดีหรือมันจะชั่ว ไม่ใช่ที่ตัวมันเอง ตัวจิตมันไม่ดีไม่ชั่ว ความโกรธมาเกิดร่วมกับจิตดวงนี้ เราก็เลยรู้สึกจิตโกรธ ที่จริงจิตไม่เคยโกรธหรอก ที่โกรธไม่ใช่จิต อย่างเวลาเราภาวนา เราเห็นจิตมันโกรธๆ อันนี้เรายังแยกขันธ์ไม่เก่ง ถ้าเราแยกขันธ์เก่ง เราจะเห็นเลย จิตเป็นคนรู้ว่าโกรธ ความโกรธเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต มันเป็นเจตสิกชนิดสังขาร สังขารขันธ์ จิตมันโลภ เรารู้สึกจิตมันโลภ แต่ถ้าจิตเราภาวนาเก่งๆ จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู มันจะเห็นว่าความโลภไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในจิต เรียกว่าเป็นเจตสิก เวลามันฟุ้งซ่าน จิตไม่ได้ฟุ้งซ่าน จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เป็นกลางๆ ที่มันฟุ้งซ่านได้ เพราะมีเจตสิก คือความฟุ้งซ่านมาเกิดร่วมกับจิต จิตมันจะผันแปรไปต่างๆ นานาเพราะสิ่งที่มาเกิดร่วมกับมัน

เราหัดภาวนา เราค่อยๆ สังเกตไป จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์นี่ล่ะที่หลวงพ่อกับครูบาอาจารย์รุ่นเก่าเรียกว่าจิตผู้รู้ ทำไมเรียกว่าจิตผู้รู้ เพราะจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ท่านพูดถูกเป๊ะเลย ท่านเรียกว่าจิตผู้รู้ จิตไม่ใช่ผู้สุข ผู้ทุกข์ ผู้ดี ผู้ร้ายอะไรหรอก มันสุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรนั่น มันเกิดจากเจตสิกที่แทรกเข้ามาเกิดร่วมกับจิต ฉะนั้นตัวจิตเองเป็นธรรมชาติที่รู้ มันรู้อะไรได้บ้าง มันรู้รูป อย่างตาเราเห็นรูป ถ้ามีแต่ตา มีแต่รูป ไม่มีจิต จะมองรูปไม่เห็น อย่างบางคนใจลอย ลืมตาอยู่ คนเดินผ่านข้างหน้าเรา แต่เราใจลอย เราไม่มีจิตที่จะไปรู้รูป เราไม่เห็นว่ามีคนเดินมา เพราะตอนนั้นจิตไปรู้อารมณ์อย่างอื่น เช่น ไปหลงอยู่ในความคิด มัวคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เพลินๆ ไป คนเดินผ่านมา เรามีตาอยู่แท้ๆ ลืมตาอยู่แท้ๆ เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นการที่มองเห็นได้เพราะมันมีตาเป็นเครื่องมือในการรับรู้อารมณ์ มีรูปคือสิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็มีจิตเป็นผู้รับรู้ ฉะนั้นเวลามันทำงานๆ ร่วมกันแบบนี้ มีตา มีรูป มีจิตที่รู้รูป เราก็เห็นรูป มีหู มีเสียง มีจิตที่รับรู้เสียง เราก็ได้ยินเสียง

โดยธรรมชาติแล้ว จิตเป็นแค่ผู้รู้อารมณ์เท่านั้นเอง มันจะรู้อารมณ์ทางทวารใด เราเลือกไม่ได้ จิตมันเป็นของไม่เที่ยง มันไปรู้อารมณ์ทางตาแล้วมันก็ดับ ไปรู้อารมณ์ทางหูแล้วก็ดับ ไปรู้อารมณ์ทางใจแล้วก็ดับ จิตเป็นอนัตตา เราจะสั่งให้รู้รูปอย่างเดียวก็ไม่ได้ สั่งให้ได้ยินเสียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ สั่งให้รู้ธรรมารมณ์ เรื่องราวทางใจอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ว่าต่อไปนี้เราจะเห็นรูป หรือเราจะได้ยินเสียง หรือเราจะคิด ตรงที่เราเลือกไม่ได้นี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของจิต จิตเกิดดับอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่การเกิดการดับของมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา บางทีเราเจตนาจะไม่เห็น มันก็เห็น เจตนาจะไม่คิด มันก็คิด เจตนาจะไม่โกรธ มันก็โกรธ เห็นไหม มันไม่เป็นไปตามใจที่เราสั่ง

เราค่อยๆ สังเกตจิตใจตนเองไป ดูจิตที่มันทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ได้ ดูจิตที่มันเกิดร่วมกับเวทนาก็ได้ เราจะเห็นว่าจิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตสุขก็สั่งให้สุขตลอดก็ไม่ได้ ความสุขยังไม่มี สั่งให้จิตมีความสุขก็ไม่ได้ ดูอย่างนี้เราก็จะเห็นจิตนี้เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ดูจิตมันเกิดดับ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยการเกิดดับเปลี่ยนแปลงของเจตสิกกับอาศัยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวจิตก็ไปดูรูป ไปฟังเสียง เดี๋ยวจิตไปคิด เราเลือกไม่ได้ เราห้ามไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา หรือเราสั่งจิตให้สุขไม่ได้ ห้ามจิตว่าอย่าทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ นี่เราดูผ่านเจตสิก คือตัวเวทนา

หรือสั่งให้จิตมันจำได้ บางทีมันก็ไม่ยอมจำ เห็นหน้าเพื่อนคลับคล้ายคลับคลา เพื่อนคนนี้ชื่ออะไรหนอ บางทีจำไม่ได้ ไปจำชื่อพ่อมันได้ จำชื่อมันไม่ได้ บางทีก็จำนามสกุลมันได้ จำชื่อมันไม่ได้อะไรอย่างนี้ สัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา ถ้าสัญญาอยู่ในอำนาจบังคับ เราจะไม่ลืมอะไรเลย หรือไม่เราก็ลืมได้ตามใจชอบ เมื่อก่อนมีเจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง คือสมเด็จพระพันวัสสาฯ ท่านเป็นย่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 ชีวิตท่าน มีลูก ลูกตายก่อนท่าน ลูกสวรรคตก่อนท่านหมดเลย ฉะนั้นชีวิตท่าน ท่านบอกท่านอยากจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ถามว่าลืมได้ไหม มันจงใจลืมไม่ได้ เห็นไหมนี่สัญญา สั่งให้ลืมก็ไม่ยอมลืม บอกไม่อยากจำอะไรเลยก็ทำไม่ได้ ไม่อยากจะคิดก็ทำไม่ได้ สิ่งที่ท่านแสดงออกมานี่ล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งนั้นเลย เราสั่งจิตใจเราให้ลืมก็ไม่ได้ สั่งให้จำก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่ว ห้ามโลภ ห้ามโกรธ ห้ามหลงก็ไม่ได้

 

 

เราดูจากของจริงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นจิตนี่บางทีเราจะเห็นจิตมันเกิดดับโดยการผ่านการเกิดดับร่วมกับอายตนะ อย่างมันเกิดทางตาแล้วก็ดับ เกิดทางหูแล้วก็ดับ บางทีมันก็เกิดดับ เราเห็นความเกิดดับของจิตผ่านทางความเกิดดับของเจตสิก เช่น ความสุขมันเกิดขึ้นใช่ไหม เรารู้สึกจิตสุข จิตดวงนี้มีความสุข ดูไปๆ จิตที่มีความสุขมันดับ มันดับไปพร้อมๆ กับความสุข เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกเป็นของที่เกิดร่วมกันเสมอ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ตั้งอยู่ด้วยกัน ดับพร้อมๆ กัน ฉะนั้นเราดูตัวจิตตรงๆ ไม่เห็น จิตมันเป็นคนดู อยู่ๆ เราไปดูมัน เราไม่เจอมัน เราก็อาศัย รู้เท่าทันเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ถ้าเราภาวนาเก่งขึ้น เราก็เห็นจิตนั้นเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6

อย่างหลวงพ่อสอนพระของหลวงพ่อที่วัดนี้ เวลาดูจิตๆ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะดูตัวจิตเห็น หัดใหม่ๆ มองไม่เห็นหรอก ก็ดูจิตมันสุข ก็รู้ จิตมันทุกข์ก็รู้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้ หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปมันจะเห็นจิตที่สุข สั่งให้มันเกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วสั่งให้อยู่ตลอดก็ไม่ได้ จิตที่ทุกข์ห้ามมันไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ สั่งมันว่าเกิดแล้วก็ให้รีบดับเร็วๆ อะไรอย่างนี้ก็สั่งไม่ได้ อันนี้เราดูความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผ่านเวทนา เวทนามันเป็นของดูง่าย เป็นของง่าย มันเป็นของหยาบที่รองลงมาจากรูป

เพราะฉะนั้นในขันธ์ 5 ท่านเรียงจากของหยาบไปหาของละเอียด คือรูปนี้หยาบที่สุดคือร่างกายเราเป็นของหยาบที่สุด ถัดจากรูปคือเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ละเอียดเข้าไปอีกก็คือตัวสัญญา ละเอียดเข้าไปอีกคือตัวสังขาร ละเอียดเข้าไปถึงที่สุดก็คือตัววิญญาณ คือตัวจิต แต่ทำไมไม่เรียกว่าจิต ทำไมไปเรียกว่าวิญญาณ วิญญาณก็คือจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ฉะนั้นวิญญาณเลยมี 6 ตัว มีวิญญาณคือจิตที่รู้รูป จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่คิดนึกทางใจ ดูวิญญาณเกิดดับ มันละเอียดที่สุด

 

รู้เวทนาทางใจ

ถ้าเราจะหัดภาวนา ถ้าเราจะดูนามธรรม หลวงพ่อแนะนำให้เริ่มจากการรู้เวทนาไปก่อน ถ้าจิตใจเราสุขหรือจิตใจเราทุกข์ หรือจิตใจเราเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ในขณะนี้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ หัดรู้ทีแรก มันจะรู้สึกว่าตัวเราสุข ตัวเราทุกข์ ตัวเราเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ พอหัดมากเข้าๆ สติปัญญาเริ่มแก่กล้าขึ้น มันจะไม่รู้สึกว่าเราสุข เราทุกข์ เราเฉยๆ แต่มันจะรู้สึกว่าจิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ หัดรู้หัดดูต่อไปอีก จนเราเก่งมากขึ้นอีก เราก็จะเห็นว่าจิตนั้นไม่ได้สุข จิตนั้นไม่ได้ทุกข์ จิตนั้นไม่ได้เฉย จิตเป็นแค่คนรู้ รู้ว่าตอนนี้มันสุข ตอนนี้มันทุกข์ ตอนนี้มันเฉย ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวเฉยไม่ใช่จิต ดูๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็แยกขันธ์ได้ละเอียดเลย แยกเวทนาขันธ์ออกจากจิต คือตัววิญญาณขันธ์ แยกออกจากกันได้

ฉะนั้นเวลาที่เราหัดภาวนา เราไม่ต้องทำอะไรมาก ถ้าเราทำกรรมฐาน ชอบดูนามธรรม นามธรรมที่ดูง่ายๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ 3 ตัวนี้ ให้ดูสุข ทุกข์ เฉยๆ ที่เกิดขึ้นที่จิต เป็นความรู้สึก อย่าไปดูสุขทุกข์ทางกาย ถ้าสุขทุกข์ทางกาย มันเนื่องด้วยกาย ถ้าดูไปๆ ถ้าเราไม่ทรงสมาธิจริง ดูไม่ไหว อย่างเวลามันเจ็บปวดขึ้นมา เราไปดู ดูไปๆ สมาธิไม่พอ รู้สึก แหม มันปวดครอบโลกเลย ทนไม่ไหว สติแตกได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะดูเวทนาทางกาย ควรจะทำสมาธิเสียก่อน ในตำราถึงบอกว่ากายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนาเหมาะกับคนทำสมาธิ ถ้ามีสมาธิแล้วดูง่าย แต่ถ้าไม่มีสมาธิ เข้าฌานไม่เป็นอะไรอย่างนี้ ดูเวทนาทางใจ ของดูง่าย เวทนาทางกายเวลาเกิดแล้ว ไม่ค่อยดับ อายุมันยืน

อย่างคนเป็นมะเร็ง ปวดอยู่อย่างนั้น ถ้าจิตไม่มีสมาธิพอ มันกลายเป็นกูปวด มันเลยขั้นเราปวดไปแล้ว มันถึงขั้นกูปวดๆ เมื่อไหร่กูจะตายสักที มันปวดเหลือเกินอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าสมาธิพอ มันจะเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดในร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง อย่างนี้ถึงจะภาวนาได้ แต่คนส่วนใหญ่สมาธิไม่พอ จิตมันไม่เป็นคนดูจริง เวลาร่างกายเจ็บปวด มันกลายเป็นกูปวดขึ้นมาแล้ว ทนไม่ได้ ขันธ์มันไปรวมกันหมดเลย ร่างกายกับความเจ็บปวดก็เป็นอันเดียวกัน ความเจ็บปวดกับจิตใจก็เป็นอันเดียวกัน เป็นอันเดียวกันไปหมดเลย

 

 

ฉะนั้นถ้าจะดูเวทนา สำหรับคนที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาธิ หลวงพ่อแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เวทนาทางใจก็มี 3 อย่าง มีความสุข ตำราเขาเรียกว่าโสมนัสเวทนา ทำไมต้องดัดจริตเรียกโสมนัสเวทนา ทำไมไม่เรียกสุขเวทนา เขาเรียกอย่างนี้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา พอได้ยินคำว่า สุขเวทนา นี่หมายถึงความสุขทางร่างกาย ถ้าได้ยินโสมนัสเวทนา นี่หมายถึงความสุขทางจิตใจ ที่เขาแยกกัน มีศัพท์ขึ้นมามากมาย เพื่อแยกว่าอันนี้เป็นสุขทางกาย อันนี้เป็นสุขทางใจ ถ้าทุกขเวทนาเป็นความทุกข์ทางกาย ถ้าโทมนัสเวทนาเป็นความทุกข์ทางใจ เราไม่ต้องรู้ศัพท์หรอก เรารู้ซื่อๆ นี่ล่ะ ใจเรามีความสุข เราก็รู้ ใจเราทุกข์ก็รู้ ใจเราเฉยๆ ก็รู้ หัดรู้เนืองๆ ไป ทีแรกมันก็รู้สึกกูสุข กูทุกข์ เวลามันสุข มันหลง ประกอบด้วยโมหะเข้าไปด้วย โอ๊ย กระโดดโลดเต้น เพลิดเพลิน

เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่บวช ข้างบ้านมันมีวัยรุ่นอยู่ วันเกิดมัน พ่อแม่เขาจัดงานวันเกิดให้ ให้ไปเรียกเพื่อนมากินเลี้ยง กินเหล้ากัน แล้วพ่อแม่ไปอยู่ที่อื่นเพื่อให้ลูกมีความสุขให้เต็มที่ มันก็กินเหล้ากันเสียงดังเลย ไม่เกรงใจใครทั้งสิ้นเลย ดึกดื่น พอสมมติมันเกิดตี 2 มันกินตั้งแต่หัวค่ำ พอถึงตี 2 มันมีการจุดพลุ จุดดอกไม้ไฟ จุดอะไร เจ้าของงาน เจ้าของวันเกิด มันก็ตะโกนลั่นในหมู่บ้าน มันตะโกนลั่นเลย “ไฟของกู นี่พลุของกู” หลวงพ่อฟังมันเมามาตั้งแต่หัวค่ำ จะนอนก็นอนไม่ได้ โมโห พอได้ยินว่าไฟของกูเท่านั้น หลวงพ่อหัวเราะเลย เออ ไฟของมึง นี่มันไปหลง เห็นไหมกูสุขไปแล้ว กูเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว นี่จิตที่ไม่เคยได้รับการศึกษา

ถ้าจิตได้รับการศึกษา มันจะเห็นเลยความสุขไม่ใช่จิต ความทุกข์ก็ไม่ใช่จิต ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นอีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าเวทนา เป็นเวทนาขันธ์ ก็อยู่ในกลุ่มของเจตสิก คือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเรียกเจตสิก มี 3 ชนิด คือเวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ทำกรรมฐานไม่ต้องทำมันทั้งหมดหรอก วุ่นวาย ง่ายๆ เลย ถ้าดูนามธรรม ง่ายๆ ดูเวทนา 3 อันนี้ มันจะหมุนอยู่ในใจเรา ใจเราเดี๋ยวก็สุข ใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์ ใจเราเดี๋ยวก็เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วใจเราเป็นแค่คนรู้ ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ นั้นมันเป็นเจตสิกที่ไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราจะเห็นเลย สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันจะมาหรือมันจะไป สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จิตจะไปรู้อะไรก็สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้

 

รู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว

เฝ้ารู้เวทนาที่เกิดขึ้นในใจเรา ต่อไปเราก็จะดูจิตเก่งขึ้นมา อย่างพระมาอยู่กับหลวงพ่อ ดูจิตๆ ยังดูไม่เป็น หลวงพ่อสอนให้ดูเวทนาก่อน จะเห็นจิตกับเวทนามันคนละอันกัน มันเกิดร่วมกัน แต่มันคนละอันกัน แล้วมันก็ดับไปพร้อมๆ กัน มันเกิดพร้อมกันแล้วมันก็ดับพร้อมกัน เห็นจิตมันเกิดดับได้ พอเราฝึกมากเข้าๆ มันละเอียดเข้าไปอีก เราเห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วได้ เช่น เห็นความโกรธ ความโลภ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่นี้อยู่ในสังขารขันธ์

สังขารนี้อยู่เฉยๆ มันไม่ค่อยเกิดหรอก มันทำงานเด่นชัดขึ้นมาได้อาศัยสัญญา อย่างตาเรามองเห็นรูป ใจเรายังไม่โกรธ ใจเรายังไม่รัก ในขณะที่ตาเห็นรูป มันต้องมีสัญญาเข้าไปหมายรู้ก่อน รูปนี้สวย รูปนี้คือเพื่อนรักของเราอะไรอย่างนี้ จิตก็เกิดสังขาร คือพอใจขึ้นมา หรือบางทีเห็นรูป นี่ศัตรูของเรา นี่นักการเมืองคนที่เราไม่ชอบอะไรอย่างนี้ สัญญามันทำงานก่อน มันตีค่า มันให้ค่า ให้ความหมายว่านี่คืออะไรๆ มีข้อมูลดั้งเดิมเก็บเอาไว้ แล้วก็ปรุงสังขารขึ้นมา ท่านถึงเอาสัญญาไว้หน้าสังขาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร ถ้าเราไม่มีสัญญา สังขารมันก็ไม่มี

สิ่งที่ทำให้สังขารเกิดคือสัญญากับเวทนา 2 ตัวนี้ สัญญากับเวทนา เวทนาเกิดขึ้น มีความสุขเกิดขึ้น พอมันรู้ มันก็เกิดยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดียินร้ายเป็นตัวสังขาร พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ อย่างคิดเรื่องนี้ขึ้นมา สัญญามันแปล อันนี้เรื่องนี้ดี นี่เพื่อนเรา นี่สิ่งที่เรารักที่เราชอบ นี้เพลงที่เราชอบอะไรอย่างนี้ ก็ปรุงสังขาร ปรุงความยินดีพอใจ ปรุงราคะขึ้นมา นี่ความปรุงของจิต ปรุงตั้งแต่ของหยาบๆ หัดดูทีแรก ดูเวทนานั่นล่ะซื่อๆ ไม่มีอะไรมาก ไปดูสังขารนี่มันผ่านกระบวนการที่แปลความหมายมาแล้ว ผ่านสัญญามา

ถ้าเราดูไม่ทันกระบวนการ เราไปเห็นตอนมันโกรธเลย ก็ยังดีที่เห็น ถ้าเราเห็นได้ละเอียด เราจะรู้เลย อาศัยสัญญาและเวทนานั่นล่ะ สังขารก็เลยเกิด ถ้าเราดูไม่ได้ละเอียด เราก็คอยดูของที่ดูได้ จิตมันโกรธ รู้ว่าโกรธ ทีแรกมันก็กูโกรธ พอดูไปเรื่อยๆ ชำนิชำนาญขึ้น มันจะเห็นว่าความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นเจตสิก เป็นสิ่งที่แทรกเข้ามา พอความโกรธเกิด จิตโกรธมันก็เกิดด้วย พอเราภาวนาดีๆ เราจะเห็นว่าความโกรธกับจิตมันคนละอันกัน ความโกรธมันอยู่ได้ต้องอาศัยจิตโกรธ แต่จิตดวงที่เกิดขึ้นมาใหม่นี่ไม่ใช่จิตโกรธ มันเป็นจิตรู้ จิตที่เป็นผู้รู้ ตื่น เบิกบาน ตั้งมั่นขึ้นมา ความโกรธเลยไม่มีที่ตั้งแล้ว มันก็ดับไปพร้อมๆ กับจิตโกรธ ถ้ามันยังมีจิตที่โกรธอยู่ ความโกรธมันก็ยังมีอยู่ มันเกิดดับไปด้วยกัน

อย่างพอจิตมันโกรธ เรามีสติรู้เราเห็นความโกรธไม่ใช่จิต เป็นอีกสิ่งหนึ่ง พอเห็นอย่างนี้ปุ๊บ ตัวรู้มันมีขึ้นมาแล้ว มันถึงจะเห็นได้ว่าความโกรธไม่ใช่จิต มันแยกขันธ์ออกมาได้แล้ว ความโกรธจะกระเด็นหายไปทันทีเลย เพราะมันไม่มีที่รองรับ ที่รองรับความโกรธก็คือจิตโกรธ ที่รองรับความโลภก็คือจิตโลภ ที่รองรับความหลงก็คือจิตหลง ที่รองรับความฟุ้งซ่าน ก็คือจิตฟุ้งซ่าน ที่รองรับความหดหู่ก็คือจิตหดหู่ พอมันเกิดจิตรู้ขึ้นมา มันก็ไม่มีจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ไม่มี เมื่อไม่มีจิตพวกนี้ ความโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่อะไรไม่มีที่ตั้ง อยู่ไม่ได้ แตกสลายไปพร้อมๆ กับจิตนั่นเอง ฉะนั้นจิตโลภดับ ก็ดับไปพร้อมๆ กับความโลภ ความโลภก็ดับไปพร้อมๆ กับจิตโลภ

 

ค่อยๆ ดูไป งานดูจิตเป็นงานที่ประณีต ถ้าดูของละเอียดยังไม่ได้ ก็ดูเวทนา จิตสุข จิตทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ ดูอย่างนี้ง่ายๆ ถ้าดูถึงสังขารมันก็ประณีตขึ้นมา

 

ฉะนั้นตรงที่เรามีสติรู้ปุ๊บ จิตรู้มันเกิด ตรงที่จิตรู้มันเกิด เราไม่ต้องไปละกิเลส เราภาวนา เราดูจิตดูใจนี่ไม่ใช่เพื่อละกิเลส เมื่อไหร่มีสติ เมื่อนั้นไม่มีกิเลสจะให้ละหรอก ถ้ายังมีกิเลสอยู่ แสดงว่ายังไม่มีสติ เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญ เราจะรู้เราไม่ได้ฝึกละกิเลสหรอก เพราะทันทีที่สติเกิด กิเลสก็ดับไปเรียบร้อยแล้ว เราไม่ต้องละ มันไม่มีให้ละ ค่อยๆ ฝึก แล้วมันจะค่อยๆ เห็น ค่อยๆ เข้าใจ ทีแรก โหย โกรธไม่หายสักที โมโหตัวเองอีกทำไมมันโกรธเก่งนัก ไม่หายสักที หลวงพ่อสอนไม่จริงนี่ บอกว่าถ้ารู้แล้วความโกรธต้องดับ มันรู้ไม่จริง มันรู้แล้วก็มันก็ไปโกรธความโกรธตัวนี้เข้าอีก เคยไหมเราโมโหขึ้นมา เราไปเห็นว่าจิตมันโกรธ เราก็โกรธตัวเองอีก จะโกรธอะไรหนักหนา นี่ความโกรธมันเกิดขึ้นใหม่ ซ้อนๆๆ ไป เป็นความโกรธซ้อนความโกรธไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่จะดับๆ หงุดหงิด ก็อยู่ในตระกูลโทสะอีกล่ะ จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ มันไม่ได้ชอบ มันไม่ได้เกลียดความโกรธ มันเป็นกลาง มันซื่อๆ ในการรู้อารมณ์เรียกอุชุกตา ซื่อๆ จิตมันเห็นความโกรธขึ้นมา มันรู้ซื่อๆ ปุ๊บ ขาดสะบั้นหมดเลย ตรงที่รู้ทัน ไม่มีความโกรธให้ละ แต่ว่ามันได้สะสมปัญญาไปเรื่อยๆ มันจะเห็นว่าจิตที่โกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตที่ไม่โกรธ คือจิตที่รู้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จะเห็นอย่างนี้

ค่อยๆ ดูไป ในที่สุดก็จะเห็นเลย เจตสิกคือสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่เกิดร่วมกับสังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว สังขารไม่ได้มีแต่ตัวเลว สังขารฝ่ายดีก็มี ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา นี่คือตัวสังขารทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นภาวนาไม่ใช่หนีสังขาร เราอยู่กับสังขารแต่ว่าเราพัฒนาสติ สมาธิ เราให้แข็งแรงขึ้น สังขารฝ่ายดีมันจะเกิดถี่ขึ้นๆ แล้วเข้มแข็งขึ้น ศีล สมาธิ ปัญญาก็คือสังขารทั้งหมด มันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ในขณะที่สังขารฝ่ายเลว พอเรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอยู่ สังขารฝ่ายเลวอยู่ไม่ได้ แค่มีสติ สังขารฝ่ายเลวก็ดับแล้ว

เพราะฉะนั้นอย่างที่เราฝึก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ดูไป งานดูจิตเป็นงานที่ประณีต ถ้าดูของละเอียดยังไม่ได้ ก็ดูเวทนา จิตสุข จิตทุกข์ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ ดูอย่างนี้ง่ายๆ ถ้าดูถึงสังขารมันก็ประณีตขึ้นมา สังขารมันเกิดได้ก็อาศัยสัญญาและเวทนาปรุงสังขารขึ้นมา สังขารไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับ มันแล้วแต่สัญญาและเวทนาจะทำงานขึ้นมา สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ หรือจิตที่เกิดร่วมกับสังขารแต่ละชนิดก็เกิดร่วมกันแล้วก็ดับร่วมกัน พร้อมๆ กัน มันจะดับได้เราก็ต้องมีสติรู้ทัน มีสังขารฝ่ายชั่วเกิด อย่างจิตโกรธขึ้นมา คนยังไม่ภาวนามันก็คือกูโกรธ ถ้าภาวนาเป็นจิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะเห็นว่าความโกรธกับจิตเป็นคนละอันกัน แล้วสติระลึกรู้ความโกรธ ความโกรธจะขาดสะบั้นเลย ดับไปพร้อมๆ กับจิตโกรธนั้น จิตรู้มันจะเด่นดวงขึ้นมาแทน มันละเอียดกว่าการดูเวทนาทางใจ

ดูเวทนาทางใจหลวงพ่อรู้สึกมันง่ายๆ มันไม่ซับซ้อน แต่ดูสังขารนี่ซับซ้อน สังขารนี่ยอดจะปรุงแต่งเลย เพราะฉะนั้นในบรรดาจิต เจตสิก รูป รวมทั้งหมดนี้ มีสภาวธรรม 71 ตัว ถ้ารวมนิพพานด้วยก็เรียก 72 สภาวะ สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมมีทั้งหมด 72 ตัว เป็นจิตเสีย 1 ตัว เป็นนิพพานเสีย 1 ตัว เป็นรูป 18 เป็นเจตสิก 52 ตัว แล้วในเจตสิก 52 ตัว เกือบทั้งหมดคือสังขารเยอะแยะเลย เจตสิกคือเวทนาก็ตัวหนึ่ง เจตสิกคือสัญญาก็ตัวหนึ่ง เจตสิกที่ตัวสังขารนี่เยอะแยะเลย มันคนละตัวกัน คนละส่วนกัน

ฉะนั้นสังขารนี่สลับซับซ้อนวิจิตรพิสดาร สังขารครอบคลุมตั้งแต่อกุศล กุศล แล้วก็ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล สังขารนี้เกิดได้ตั้งแต่ในกามาวจร อย่างจิตอย่างพวกเรานี่ร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วุ่นวายทั้งวันอย่างนี้ เรียกว่าจิตอยู่ในกามาวจร ก็มีสังขารจำนวนมาก สังขารบางอย่างเกิดในรูปฌาน อยู่ในรูปภพ สังขารบางอย่างเกิดในอรูปภพ ฉะนั้นเราได้ยินว่ามีสังขารเยอะแยะ ไม่ต้องตกใจ เรามีไม่ถึง 50 – 60 ตัวอะไร มีไม่ถึงอย่างนั้นหรอก อย่างเราเข้าฌานไม่ได้ มันก็ไม่มีสังขารในรูปภพ อรูปภพ มันก็มีสังขารอยู่ในกามธรรมดานี้เอง อย่างโลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้ ดูของหยาบๆ ของที่เรามีจริงๆ แล้วค่อยๆ ฝึกไป กระทั่งโพชฌงค์ 7 ก็อยู่ในสังขาร สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขาอะไรนี่ พวกนี้อยู่ในกลุ่มของสังขารทั้งนั้น ฉะนั้นสังขารมันเยอะ เราไม่ต้องดูทุกตัว ดูตัวที่เรามี

 

 

ฉะนั้นเราขี้โมโห เราก็ดู สังขารคือตัวโกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หาย ดูมันคู่เดียวแค่นี้ มีโทสะกับไม่มีโทสะ ดูไป มีโลภะกับไม่มีโลภะอย่างนี้ดูไปเป็นคู่ๆ ไป คู่ไหนมีบ่อย ตัวไหน กิเลสตัวไหนมีบ่อย เอาตัวนั้นเป็นตัวหลัก จิตเราขี้โลภ เราก็ดู จิตโลภ เราก็รู้ จิตเลิก มันหาย ไม่โลภแล้ว เราก็รู้ จิตโกรธเราก็รู้ จิตไม่โกรธเราก็รู้ จิตฟุ้งซ่านเราก็รู้ จิตไม่ฟุ้งซ่าน ซึมๆ ไปอย่างนี้ เราก็รู้ หัดรู้อย่างที่มันเป็นไป เท่าที่มันมี ไม่ต้องรู้ทุกๆ ตัว ของสังขารหรอก เยอะแยะ รู้ตัวที่มีจริงๆ ที่มีบ่อยๆ เป็นตัวหลัก พอเรารู้ตัวหลักบ่อยๆ ต่อไปตัวรองๆ นานๆ เกิดทีอะไรอย่างนี้ เราก็ค่อยๆ เห็น

อย่างหลวงพ่อพื้นจิตของหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต แล้วหลวงพ่อเป็นพวกปัญญากล้า โทสะกับปัญญามักจะอยู่ด้วยกัน ทั้งๆ ที่มันสุดขั้วกันเลย โทสะเป็นกิเลสที่ชั่วหยาบ แล้วก็ปัญญาเป็นกุศลชั้นเลิศ คนซึ่งมีโทสะมักจะมีปัญญา มันมีลักษณะร่วมกัน ระหว่างโทสะกับปัญญา คืออะไร คือลักษณะรวดเร็ว รุนแรง ล้างผลาญ เวลาโทสะเกิด มันรวดเร็ว รุนแรงไหม พรึบขึ้นมา คุมตัวเองไม่อยู่แล้ว ล้างผลาญไหมเวลาโทสะเกิด ล้างผลาญ เวลาปัญญาเกิด ก็รวดเร็ว วับเดียว เวลาปัญญาเกิดจริงๆ เกิดขณะจิตเดียววับเดียว สว่างวาบเดียวเลย แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี เกิดชั่วขณะเดียว เกิดอย่างรวดเร็ว รุนแรง เวลาปัญญาเกิดนี่รุนแรง แล้วล้างผลาญ ล้างผลาญอะไร ล้างผลาญความโง่ ล้างผลาญความไม่รู้ ลักษณะของโทสะกับปัญญามีลักษณะร่วมกัน

ฉะนั้นพวกที่โทสะๆ จำนวนมากเลยที่หลวงพ่อสังเกตเห็นมันตรงกับตำรา พวกนี้มีปัญญากล้า กรรมฐานที่เหมาะกับพวกนี้ พวกนี้จะเป็นทิฏฐิจริตๆ พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น จะขี้โมโห พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ไม่ค่อยโมโหอะไร พวกนี้มันติดอยู่ในราคะ เห็นไหมเรื่องสังขารมันวิจิตรพิสดาร มีแง่มีมุมให้เราเรียนเยอะแยะเลย รู้สึกสนุก ยิ่งภาวนา โอ้ ความรู้เรายิ่งกว้างขวางลึกซึ้งมากมายขึ้นมา

เราดูไปเรื่อยๆ อย่างเราหัดดูจิตดูใจทีแรก เราก็เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วดับ ต่อไปเราเห็นว่าจิตเป็นคนรู้ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ นี่เราก็เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ไม่ใช่เรา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตจะเป็นผู้สุข จิตจะเป็นผู้ทุกข์ จิตจะเฉย หรือจิตจะเป็นผู้รู้ เลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้ นี่ก็จะเห็นทั้งจิต ทั้งเจตสิก ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ด้วยกัน ถ้าดูสังขาร ก็ดู เอาสักตัวที่เรามีบ่อย ขี้โมโห เราก็ดูจิตโกรธกับจิตไม่โกรธ จิตมีโลภะ จิตไม่มีโลภะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่อะไรอย่างนี้ ดูมันไปเรื่อยๆ เป็นคู่ๆๆ ดูไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดล่ะบังคับไม่ได้ ค่อยๆ ดูไป

 

การเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ

ถ้าเราดูจิตดูใจชำนิชำนาญขึ้น มันจะก้าวขึ้นไปสู่การเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ อันนี้ยากที่สุด เพราะไว เดี๋ยวจิตก็ไปดู เดี๋ยวจิตก็ไปฟัง เดี๋ยวจิตก็ไปคิด ถี่ยิบเลย เร็วมาก ถ้าสติเราไม่พอ มันก็ดูไม่ทัน มันหลงไปคิดตั้งนานแล้ว ถึงจะรู้ หลงไปดูอยู่ตั้งนานแล้ว ถึงจะรู้ ฉะนั้นสติ สมาธิ ต้องเข้มแข็ง ถ้าสมาธิเราเข้มแข็ง เวลาจิตมันไปรู้รูป เราจะรู้สึกเลย จิตมันส่งออกนอกแล้ว จิตไปเกิดที่ตาแล้ว มันจะเห็นอย่างนี้ รู้สึก หัดทีแรกก็ยังรู้สึกไม่ถูกทีเดียว มันรู้สึกว่าจิตนี่เป็นผู้รู้อยู่แล้วมันก็วิ่ง วิ่งไปดูรูปทางตา วิ่งไปฟังเสียงทางหู วิ่งไปดมกลิ่นทางจมูก อันนี้ค่อยๆ ทีแรกก็จะเห็นอย่างนี้ก่อน ต่อไปๆ ค่อยๆ หัดไป เราจะเห็นเลย จิตที่เป็นผู้รู้มันก็อันหนึ่ง จิตที่เห็นรูปมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง มันดับไปพร้อมกับการดูรูป จิตที่ฟังเสียงมันก็เป็นอีกดวงหนึ่ง คนละดวงกัน เราจะเห็นว่าจิตที่ดูรูป จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่รู้ธรรมารมณ์ทางใจ มันคนละดวงกัน จิตที่รู้ธรรมารมณ์ทางใจก็คือมีจิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ จิตดี จิตชั่วทั้งหลาย จิตไม่ดีไม่ชั่วทั้งหลาย

เราค่อยๆ ดูไป ฉะนั้นถ้าเราดูจนถึงจิตเกิดดับทางอายตนะ ต้องเก่งจริงๆ ต้องไว สมาธิต้องดี สติต้องไว มิฉะนั้นดูไม่ทันหรอก หลงไปดูตั้งชั่วโมงแล้ว เพิ่งจะรู้ว่าหลงอะไรอย่างนี้ ไม่ได้กินหรอก สู้มันไม่ไหว ฉะนั้นดูของที่เราทำได้ ดูเวทนาที่เกิดในใจ ดูสังขารที่เกิดในใจ ดูสังขารที่เกิดในใจ เช่น โลภขึ้นมาก็รู้ โกรธขึ้นมาก็รู้ หายโลภ หายโกรธแล้วก็รู้อะไรอย่างนี้ รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรู้ลึกซึ้งตามกระบวนการที่หลวงพ่อบอกหรอก อันนั้นค่อยรู้ทีหลัง ค่อยเห็นทีหลัง

ที่จริงมันเริ่มแต่ตามองเห็นรูป พอมีผัสสะ มีวิญญาณทางตาเกิดขึ้น สิ่งที่เรียกว่าผัสสะนี่ จะต้องมี อย่างตามองเห็นรูป นี่เรียกว่าผัสสะตากระทบรูป จะต้องมีตา ต้องมีรูป ต้องมีจิต 3 อันนี้ทำงานด้วยกันถึงจะเกิดผัสสะทางตา ผัสสะทางตามีเวทนาอย่างเดียวคือเฉยๆ ไม่มีสุขมีทุกข์ มันเฉยๆ แล้วมันส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ นี้พอส่งสัญญาณเข้ามาถึงใจ มันมีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ เกิดขึ้นในใจได้ แล้วสัญญามันเข้าไปแปล มันก็เกิดชอบ เกิดไม่ชอบ เกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลงขึ้นมา แล้วถัดจากนั้นมันก็จะเกิดตัณหา เกิดความอยาก พอทันทีที่เกิดความอยาก จะเกิดความดิ้นรนของจิต ความดิ้นรนของจิตคือภพ ตัณหากระตุ้นให้เกิดการดิ้นรนของจิต พอมีการดิ้นรนของจิต จิตจะเริ่มยึดถือ จะเข้าไปหยิบฉวย หยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมาเพื่อจะเอาไว้เสพอารมณ์ให้มันสะใจ ให้มันได้ถึงใจ นี่กระบวนการของมัน

 

 

เราไม่ต้องรู้ละเอียดอย่างนี้หรอก เดี๋ยววันหนึ่งก็รู้ วันนี้ถ้าดู ก็ดูแค่ว่า เฮ้ย จิตโกรธแล้วก็รู้ จิตหายโกรธแล้วก็รู้ จิตโลภแล้วก็รู้ จิตหายโลภแล้วก็รู้ เอาของง่ายๆ อย่างนี้ล่ะ ไม่ต้องคิดมาก ถ้ามานั่งคิดมาก ตอนนี้ๆ เป็นผัสสะ อ้อ เกิดเวทนาแล้ว ก็มีกิเลสแทรกในเวทนาแล้ว นี่เกิดตัณหาแล้ว อ้าว เกิดอุปาทานแล้ว เพี้ยน ไม่ได้เห็นของจริง ใช้ไม่ได้ ดูของจริงที่เราเห็น ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไปทุกวันๆ สุดท้ายมันจะเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าดูในส่วนของนามธรรมก็เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ปล่อยความยึดถือในจิตได้ตัวเดียว ก็วางขันธ์ 5 ได้หมด

ถ้าปล่อยความยึดถือในจิตไม่ได้ วางขันธ์ 5 ไม่ได้หมดหรอก วางได้อย่างมากก็รูปขันธ์ วางกายได้ แต่วางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณวางไม่ได้ แต่ถ้าวางจิตได้ตัวเดียว ก็วางหมดเลย ขันธ์ 5 ถ้าเห็นจิตดวงเดียวนี่ล่ะว่าไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่ใช่ตัวเรา โลกทั้งโลกจะไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเห็นว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ตัวเดียว ก็จะเห็นขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ เห็นโลกเป็นไตรลักษณ์ ฉะนั้นจิตมันเลยเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง

 

การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด

การภาวนาเราตัดตรงเข้ามาเรียนรู้ที่จิตเป็นหนทางปฏิบัติที่ลัดสั้น แต่บางคนไม่มีกำลังที่จะตัดตรงเข้ามาเรียนจิต ก็เรียนทางกายไปก่อน หัดรู้กายไปก่อน รู้กายถูกต้อง ชำนิชำนาญต่อไปจิตก็มีกำลังขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา มันก็จะค่อยมาดูจิตได้ทีหลัง ฉะนั้นดูกายต่อไปก็เห็นจิต แต่ถ้าดูจิตได้ก็ดูไปเลย มิฉะนั้นเสียเวลา อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอาเอง เป็นคำสอนที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา หลวงปู่มั่นบอกว่าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ถ้าดูจิตไม่ได้ ดูกายไม่ได้ทำสมถะ ท่านสอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่าการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด คือตัดตรงเข้ามาที่นี่เลย คนเราจะดี จะชั่ว จะสุข จะทุกข์ก็เพราะจิต จะเกิดในภพภูมิอะไรก็เพราะจิต ฉะนั้นตัดตรงเข้ามาที่จิต ตรงนี้ก็เร็ว ไปได้เร็ว

ที่จริงหลวงปู่ดูลย์ท่านก็ไม่คิดเอาเองหรอก ท่านก็เรียนมาจากหลวงปู่มั่นอีกทีหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ท่านภาวนากับหลวงปู่มั่นใช้เวลานิดเดียว ใช้เวลาไม่นาน ท่านก็เห็น ทีแรกท่านก็พุทโธพิจารณากายตามหลักสูตรเบสิกของครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ท่านสอนอย่างนี้ พุทโธพิจารณากาย หลวงปู่ดูลย์ภาวนาอยู่ไม่นาน แล้วจิตท่านก็เข้าใจธรรมะ ท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น ไปส่งการบ้าน บอกว่า “กิเลส 4 ส่วนนี่ผมพิจารณาตัวเองแล้ว ผมละได้เด็ดขาด 1 ส่วน ส่วนที่สองนี่ละได้ครึ่งหนึ่ง ยังละได้ไม่เด็ดขาด”

อันนี้แปลว่า 4 ส่วนคือกิเลสในขั้นพระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ที่ท่านเรียกว่าท่านมีกิเลส 4 ส่วน ท่านละเด็ดขาดไปส่วนหนึ่งแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังละได้ไม่หมด ละได้ครึ่งหนึ่ง หลวงปู่มั่นก็ชมว่า เออ มีสติ มีปัญญาดี รู้เท่าทันกิเลสของตัวเอง ต่อไปนี้ไปภาวนาต่อ บอกว่า “สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย ไม่เที่ยง สัพเพ สังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย เป็นอนัตตา” บอกให้หลวงปู่ดูลย์ไปพิจารณาตรงนี้ ทำไมท่านก้าวกระโดดมาสอนให้ดูจิตเลยอย่างรวดเร็ว เพราะหลวงปู่ดูลย์อ่านจิตตัวเองได้ละเอียด มีกิเลสเท่าไหร่ๆ ดูตัวเองออก เพราะฉะนั้นมีพื้นฐานที่จะดูจิตได้อย่างดีเลย สามารถที่จะดูจิตได้ หลวงปู่มั่นตัดตรงสอนหลวงปู่ดูลย์เข้ามาดูจิตเลย

ท่านดูอยู่ไม่กี่เดือน ใช้เวลาไม่กี่เดือนหรอก ท่านก็รู้อริยสัจแห่งจิต จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ คำว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค จริงๆ เป็นอรหัตตมรรค เพราะถ้าเป็นมรรคอื่นๆ ยังเห็นจิตไม่แจ่มแจ้งหรอก ถ้าเห็นจิตแจ่มแจ้ง หมายถึงว่าเห็นจิตตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ นั่นล่ะ คือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง มันคืออรหัตตมรรค

หลวงปู่ดูลย์ใช้เวลาสั้นนิดเดียว ตามคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นนั่นล่ะสอนมา ฉะนั้นไม่ใช่หลวงปู่มั่นสอนทุกคนว่าต้องพุทโธพิจารณากาย มันแล้วแต่วาสนาบารมีของลูกศิษย์แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ครูบาอาจารย์ใหญ่ท่านเก่ง ท่านรอบรู้ ท่านก็สอนธรรมะให้เหมาะกับจริตนิสัยวาสนาบารมีของลูกศิษย์ อย่างหลวงปู่ดูลย์ก็เหมือนกัน ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ไม่ใช่ดูจิตหมด ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์จำนวนมากเลยดูกาย ท่านสอนหลวงพ่อดูจิตเลย เพราะว่าหลวงพ่อเป็นพวกทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ส่วนเรื่องสมาธิก็ทำมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นท่านก็สอนตัดเข้ามาที่จิต ท่านรู้ว่าเราตัดเข้ามาตรงนี้ไหว สอนให้ตัดเข้ามา แล้วท่านก็บอกการดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด

หลวงพ่อก็พยายามมาคลี่คำว่าดูจิตให้มันง่ายขึ้น ถ้าบอกให้พวกเราดูจิต เราจะไปเพ่งจิต จะไปจ้องจิต ทำผิด ไปเพ่งจิต จ้องจิต มันผิด หลวงพ่อเลยบอกให้รู้ไป จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตเฉยๆ ก็รู้ แล้วต่อไปก็เห็นจิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ จิตไม่ดีไม่ชั่วก็รู้ แล้วละเอียดประณีตขึ้นไปก็จะเห็นจิตเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เกิดแล้วก็ดับ เกิดที่ไหน ดับที่นั่น

หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ “หลวงปู่ครับจิตมันอยู่ที่ไหน” ตอนนั้นเห็นมันไหวอยู่กลางอก ไปถามท่านนึกว่าจะตอบว่ากลางอก เป็นการถามเพื่อตรวจสอบว่าที่เราเห็น ที่เราเข้าใจถูกไหม คิดว่ามันไหวอยู่นี่ ฉะนั้นจิตเกิดที่กลางอก ดับที่กลางอก ไปถาม “หลวงปู่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหน จิตมันตั้งอยู่ที่ไหน” ท่านบอก “จิตไม่มีที่ตั้ง” เอาล่ะสิ จิตไม่มีที่ตั้ง ภาวนาอีกพักหนึ่งเลยถึงรู้ จิตไม่ได้ตั้งอยู่ที่ไหนหรอก จิตเกิดตรงไหน จิตก็ดับตรงนั้นล่ะ จิตเกิดที่ตา ก็ดับที่ตา ไม่ต้องเอาตั้งไว้ที่ตาตลอด จิตเกิดที่หู ก็ดับที่หู ไม่ต้องเอาจิตไปตั้งไว้ที่หูตลอด จิตเกิดที่ใจ แล้วก็ดับที่ใจ ไม่ต้องเอาจิตไปจ้องอยู่ที่ใจตลอด นี่ดูไปเรื่อยๆ มันค่อยๆ เข้าใจเป็นลำดับไป

วันนี้สอนยาวมากเลย ก็คลุมเรื่องการดูจิตดูใจไว้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะ ยังมีลูกเล่น มีทริค มีศิลปะอะไรอีกเยอะแยะ เรื่องของจิตนี่เป็นเรื่องประณีตลึกซึ้งมากเลย เอาเท่านี้ก่อน เรียนเยอะแล้วก็จำไม่ไหว.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564