สีลัพพตปรามาส

วันนี้วันอาสาฬหบูชา เหตุการณ์เมื่อ 2609 ปีก่อน เป็นวันที่ปณิธานของพระโพธิสัตว์สิทธัตถะสำเร็จ ท่านตั้งความปรารถนาเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าท่านตรัสรู้แล้วบอกต่อไม่ได้หรือไม่ได้บอกต่อ ยังไม่ได้ทำหน้าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็นแค่ปัจเจกพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่ท่านแสดงธรรมเทศนาครั้งแรก เลยเรียกว่าปฐมเทศนา แสดงให้พระปัญจวัคคีย์ฟังแล้วก็ประสบความสำเร็จ พระโกญฑัญญะได้เป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าท่านก็ปีติ ท่านอุทานเลยบอก “โกญฑัญญะรู้แล้ว โกญฑัญญะรู้แล้ว” เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าธรรมะของท่านสามารถรู้ตามได้ ผู้ที่รู้ตามได้เป็นอนุพุทธะ รู้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ท่านมีปัญญามาก เป็นพระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ พระสารีบุตรท่านเคยกล่าวอย่างอาจหาญ บอกว่าไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ไหนที่มีปัญญามากกว่านี้แล้ว เราเกิดในยุคของพระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ ก็ควรจะเดินการปฏิบัติให้สมกับเป็นลูกศิษย์ท่าน อาศัยปัญญาให้มากหน่อย มันก็เหมาะกับคนยุคเรา คนยุคเราจะอาศัยศรัทธามันก็ไม่ค่อยจะมี อาศัยสมาธิก็ไม่ค่อยจะมี ความรู้ความฉลาดอะไรนี้มี แต่ก็จริงๆ แล้วคนที่มีสติ มีปัญญาจริงๆ ก็คนส่วนน้อยอยู่นั่นเอง คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้หรอก ฟังธรรมะแล้วเข้าหูซ้ายออกหูขวาไป หรือไม่สนใจที่จะฟังธรรมะเลย

ในโลกมีคนตั้ง 6 – 7 พันล้านคน มีคนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าสักกี่คนกัน อย่างเมืองไทยเรามีคนหกสิบกว่าล้านเกือบ 70 ล้าน ที่สนใจที่จะเรียนมีสักเท่าไรกัน ธรรมะแบบเถรวาทยิ่งน้อยหนักเข้าไปใหญ่ ศาสนาพุทธยุคนี้มหายานเขาเผยแพร่ได้กว้างขวางกว่า เขาปรับตัวตามโลกไป ปรับศีล สมาธิ อะไรปรับหมด พระบางสายเขาก็มีเมียได้ อย่างของเราเป็นเถรวาทพยายามให้เที่ยงตรง กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้มากที่สุด ก็อยู่ในเมืองไทย เมืองพม่า เขมร ลาว ลังกา ที่หลักๆ ก็มีอยู่เท่านี้เอง ประเทศเล็กๆ เทียบสัดส่วนแล้วนิดเดียว แล้วในประเทศพุทธเถรวาทที่มีคนไม่มาก เมืองไทยก็ 60 กว่าล้านเอง เทียบกับคน 7,000 พันล้านทั้งโลก นิดเดียว ใน 60 กว่าล้านที่ได้ศึกษาธรรมะจริงๆ จะมีสักกี่คน ที่ลงมือปฏิบัติจริงๆ จะเหลือสักกี่คน ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จนรู้ธรรมเห็นธรรมเข้าใจธรรมะจะเหลือสักเท่าไร เป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ

ฉะนั้นพวกเราหลวงพ่อถึงเตือนเรื่อยๆ ว่าอย่าประมาท ศาสนาพุทธแท้ๆ อาจจะหมดไปเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจศึกษาไว้ จะศึกษาธรรมะเบื้องต้นลองศึกษาปฐมเทศนาดู ทำไมท่านต้องสอนปฐมเทศนาเป็นธัมมจักกัปปวัตตนสูตร สอนครั้งแรกทำไมเลือกเรื่องนี้มาสอน ในธัมจักฯ ท่านจะเริ่มต้นบอกว่า สิ่งที่ผิดมี 2 อย่างที่นักปฏิบัติไม่ควรทำ อันหนึ่งเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค การปล่อยเนื้อ ปล่อยตัว ปล่อยกาย ปล่อยใจ ตามกิเลสไป แสวงหาความสุขสนุกสนานเพลิดเพลิน อยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลายในโลก เราเห็นไหมกระแสของกามทุกวันนี้มันรุนแรงขนาดไหน คนที่จะคิดออกจากอำนาจของกามมันจะมีสักเท่าไร ส่วนใหญ่ก็คือปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นเอง แล้วจะมาบอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ดีจริงไม่ได้ จริงๆ คือไม่ได้ปฏิบัติจริง ตกเป็นทาสของกาม ติดในรสชาติของความสุข ความสบาย ความเพลิดเพลิน ติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางร่างกาย ไม่ได้ให้คุณค่า ไม่ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาจิตใจ

สิ่งที่ท่านสอนอันแรกเลยท่านบอก สิ่งที่บรรพชิตไม่ควรเสพมี 2 อย่าง อันนี้เป็นภาษาโบราณ ถ้าพูดภาษาสมัยนี้ คือสิ่งที่นักปฏิบัติไม่ควรทำมี 2 อย่าง อันหนึ่งก็คือการปล่อยตัวปล่อยใจ ตามกำลังของกิเลสกามไป วันๆ หนึ่งก็แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสไปเรื่อยๆ มันไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าท่านบอก การแสวงหากามไม่อิ่มไม่เต็ม เรื่องของกามไม่อิ่มไม่เต็ม ฉะนั้นแสวงไปเรื่อยๆ มันก็วนเวียนไปในวัฏฏะที่ไม่มีที่สิ้นสุด

 

อัตตกิลมถานุโยค

สิ่งที่ท่านย้ำอันที่สองว่าไม่ควรทำ คืออัตตกิลมถานุโยค การบังคับกายบังคับใจตัวเองให้ลำบาก บังคับเอา ข่มเอา กดให้มันสงบ ให้มันนิ่งไว้ อย่างเราจะนั่งสมาธิอย่างนี้ นั่งเสียคอเคล็ด หลังเคล็ด ไหล่เคล็ด นั่นไปนั่งบังคับเอา คือสิ่งซึ่งไม่ควรทำ หรือเดินจงกรม เดินแล้วก็บังคับจิตใจต้องสงบๆๆ บังคับกายก็ทรมานทางกาย บังคับจิตใจก็ทรมานทางจิตใจ สองสิ่งที่ควรจะยกเว้นเสีย ควรจะเลิกเสีย ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าเป็นเรื่องไม่สำคัญปฐมเทศนาจะไม่พูดเรื่องนี้ ทีนี้ท่านเริ่มก่อนเลย ก่อนจะถึงเรื่องขององค์มรรค มรรคมีองค์ 8 ท่านบอกต้องฝึกจิตให้ถูกก่อน ถ้าจิตเราย่อหย่อนตามกิเลสไปเพลิดเพลินไป โอกาสที่จะไปอบายมีสูง เพราะมันตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสชักพาไป ถ้าเราบังคับกาย บังคับใจ พยายามควบคุมมัน เราบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้ แต่ไปสุคติได้

ฉะนั้นระหว่างตึงเกินไปกับหย่อนเกินไป ตึงดีกว่าหย่อน เข้มข้นไว้ก่อน ดีกว่าเริ่มต้นก็หย่อนเลย ฉะนั้นอย่างเริ่มต้น ใครจะภาวนา ตั้งอกตั้งใจทำไปก่อน ผิดไม่เป็นไร ทำแล้วมันเครียดไม่เป็นไร ค่อยๆ สังเกตเอา ทำไมมันเครียด มันเครียดเพราะว่ามันไปบังคับตัวเอง บังคับจิตใจตัวเอง บังคับร่างกายตัวเอง ทำไมมันไปบังคับตัวเอง เพราะมันอยากดี มันอยาก มีตัณหา มีกิเลส ก็เกิดการบังคับตัวเอง เป็นการกระทำกรรม มีวิบาก มีความทุกข์เกิดขึ้น อยากดีก็ดีกว่าอยากชั่ว อยากดีก็ยังดิ้นรนแสวงหาทางพ้นทุกข์

ทีแรกมันก็ผิดก่อนไม่ใช่เรื่องแปลก ลงมือทำทีแรกอย่างไรก็ไม่ถูกหรอก อย่างเราภาวนา เริ่มต้นเราภาวนาไปอย่างที่ครูบาอาจารย์สอน เรานึกว่าอย่างนี้ใช่แล้วถูกแล้ว ภาวนาจนเรานึกว่าดีแล้ว ไปเจอครูบาอาจารย์ หรือมีโยนิโสมนสิการสังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่นี่ยังไม่ใช่ ที่คิดว่าถูกๆ มันถูกในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ถูกในขั้นระดับที่เข้มข้นขึ้นไป อย่างเราบังคับกาย บังคับใจอยู่ เราก็รู้สึกดีกว่าปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส ถามว่าดีกว่าไหม ดีกว่า ทีนี้เราก็คิดว่าบังคับไว้ เพ่งไว้อย่างนี้ดี พอภาวนาไปเรื่อยๆ เราพบว่านี่ก็ไม่ใช่ การเพ่งก็เกิดจากตัณหาอยู่ดี เราอยากดีเราก็เลยไปนั่งเพ่งเอา สิ่งที่ได้มาก็คือความเครียดทางร่างกายและจิตใจ มีความทุกข์เกิดขึ้น

เราก็ เออ เพ่งไม่ดี พอรู้ว่าเพ่งไม่ดีอยากหายเพ่ง อยากเลิกเพ่ง ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้หาทางปฏิบัติใหญ่ เพื่อจะเลิกเพ่ง คิดว่าดี วันนี้ทำอย่างนี้แล้วมันเลิกเพ่ง อีกวันหนึ่งมันเพ่งอีกแล้ว ทำอย่างที่เราว่าดีๆ มันไม่หายอีกแล้ว หาวิธีอย่างอื่นต่อไปอีก ทำไปแล้ววันนี้หาย อีกวันหนึ่งจำไว้ทำอย่างนี้แล้วมันเลิกเพ่ง ถึงอีกวันหนึ่งมันเพ่งแล้วมันไม่เลิกแล้ว เราค่อยๆ สังเกตทำอย่างนี้ก็ไม่ถูก ทีแรกคิดว่าถูก ฝึกไปฝึกมามันก็ยังไม่ใช่ มันก็คือการเข้าไปบังคับกายบังคับใจ แต่เปลี่ยนรูปแบบการบังคับให้มันประณีตมากขึ้นๆ

เราค่อยๆ เรียนไปเราจะพบว่าที่ทำอยู่ไม่ถูกหรอก หลวงพ่อสอนบ่อยๆ ที่ทำอยู่ไม่ถูกหรอกแต่ทำไปก่อน เพราะถ้าไม่ทำผิดมากกว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คือปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส เราก็จะมีทุคติเป็นที่ไป มีสภาวะที่เสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ เพราะจิตนั้นมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ตามกิเลสมันตามง่าย จิตที่จะยกระดับตัวเอง ให้พ้นจากกระแสของกิเลสมันไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนเราตกอยู่กลางน้ำเชี่ยว จะขึ้นจากน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องฝืนต้องอดทนต้องอะไร ทีแรกก็อดทนไปทำไปก่อน ทำกรรมฐานอะไรก็ทำไป จะพุทโธ จะหายใจ จะอะไรก็ทำไปก่อนสักอย่างหนึ่ง ถามว่ามันถูกไหม มันก็ถูกในระดับหนึ่ง อย่างเราพุทโธๆ จิตเราสงบอะไรอย่างนี้ ถามว่ามันถูกไหม มันเคยถูก แต่ถ้ามันสงบอยู่เฉยๆ มันไม่ถูกหรอก เพราะงานของเรายังไม่เสร็จ คือเรายังไม่พ้นจากอำนาจของกิเลส

 

 

ฉะนั้นของที่เราคิดว่าภาวนาอย่างนี้ถูกๆ มันถูกชั่วคราว ภาวนาไปเรื่อยๆ พบว่ายังไม่ใช่หรอก มันยังล้างกิเลสไม่ได้จริง หรือมันข่มกิเลสได้ชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวกิเลสมาแล้วก็เอาไม่อยู่แล้ว หาอุบายอะไรมาก็ตาม สุดท้ายอุบายทั้งหลาย กิเลสมันรู้ทันอย่างรวดเร็วเลย อย่างเรามีอุบายภาวนา เช่นจิตเรามีราคะอย่างนี้ เราพิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ วันนี้จิตลงราคะดับเราก็จำไว้ อีกวันหนึ่งราคะมาเราพิจารณาปฏิกูลอสุภะอีก ก็ได้ผลอีก ที่หลวงพ่อเคยสังเกตเอา ได้ผลไม่เกิน 3 ครั้งหรอก พอครั้งที่สี่ มีราคะไปพิจารณาปฏิกูลอสุภะไม่ลงแล้ว

เราพยายามพิจารณาร่างกายของเราเอง ร่างกายของสาวสวยที่เราชอบ เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นของสกปรกโสโครกอะไรอย่างนี้ ทีแรกใจมันก็สลดลงมา พอหลายๆ วันเข้ากระแสกามมันก็พัฒนาตัว มันแรงขึ้น มันก็เห็นเออไม่สวยไม่งามหรอก แต่ตอนนี้ยังสวยยังงามอยู่ อีกหน่อยไม่สวยไม่งาม แต่ตอนนี้ยังสวยยังงามจีบมันไว้ก่อน เดี๋ยวพอมันไม่สวยไม่งามค่อยทิ้งมันทีหลัง กิเลสมันหลอกเราไปได้สารพัดเลย เอาไม่ลง อุบายกรรมฐานอะไรเคยใช้ได้ผล พอใช้ซ้ำๆๆ เข้าไป กิเลสจะกลายเป็นเชื้อโรคดื้อยาทันทีเลย เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลาเลย

ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่า กิเลสมันเป็นของเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ธรรมะก็ต้องสดๆ ร้อนๆ ต้องทันกัน เหมือนมีเชื้อใหม่แล้วก็มีวัคซีนใหม่มาสู้กันได้ เวลาเราจะเลือกเครื่องมือในการสู้กิเลสเราก็สังเกตเอา สังเกตเอาว่าสภาวะอันนี้ กิเลสอันนี้มันเกิดมาจากอะไร หรือสิ่งที่เราภาวนาอยู่อะไรอยู่เบื้องหลัง อย่างเราเห็นว่าราคะมันเกิด เราก็ค่อยๆ สังเกตไป พิจารณาปฏิกูลอสุภะแล้วมันลงทีแรก ต่อมาไม่ลงแล้ว เราสังเกตดูเกิดอะไรขึ้นกับใจของเรา ทำไมพิจารณาปฏิกูลอสุภะแล้วจิตไม่รวมไม่สงบเหมือนเดิม หรือโกรธเราเคยเจริญเมตตาแล้วหายโกรธ ทำไมเจริญเมตตาแล้วรอบนี้ไม่หายโกรธ ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าปัญญาเราแก่กล้าเราจะปิ๊งขึ้นมาเลยว่า อ๋อ ตรงนี้ล่ะคือธรรมะ จิตจะเป็นกุศล หรือจิตจะเป็นอกุศล จะโลภ หรือจะโกรธ หรือจะหลงอะไร มันเป็นธรรมะล้วนๆ เลย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันสอนไตรลักษณ์เรา

ถ้าหากเราเคยมีราคะ เราพิจารณาอสุภะแล้วหายทุกครั้ง เราจะรู้สึกว่าจิตเป็นอัตตา กูเก่ง กูจัดการได้ หรือโกรธขึ้นมาเราแผ่เมตตาแล้วหายทุกครั้ง เราจะปลูกฝังความรู้สึกว่ากูเก่งๆ กูจัดการได้ แทนที่จะเห็นว่าจิตนี้มันเป็นอนัตตาไปเห็นว่าเป็นอัตตา กูบังคับได้ กูเก่ง ถ้าเรามองเป็นเราจะค่อยๆ เข้าใจ แต่ถ้าสติปัญญาเรายังไม่พอ มองเข้ามาไม่ทะลุเข้ามาจนถึงแก่นของมันแบบนี้ ลงมาที่ไตรลักษณ์ของกายของใจยังดูไม่เห็น เราก็ยังดิ้นแสวงหาเส้นทางต่อไป อย่างนี้น่าจะดีๆ ถือศีลอย่างนี้น่าจะดี มีข้อวัตรบำเพ็ญพรตอย่างนี้น่าจะดี อย่างบางคนคิดว่า อดข้าวแล้วดีอะไรอย่างนี้ อดข้าวแล้วดี ไม่นอนแล้วดีอะไรอย่างนี้ มันดี ดีชั่วคราว ถ้าพอทำไปเรื่อยๆ มันรู้สึกกูเก่ง คนอื่นอดข้าวไม่ได้เท่ากู อดนอนไม่ได้เท่ากู ทำตัวเองให้ลำบากไม่ได้เท่ากู กลายเป็นกูเก่งไปโดยไม่ทันเฉลียวใจ อันนี้เรียกว่าเราพลาดแล้ว

 

ข้อวัตรปฏิบัติมีไว้เพื่อจะขัดเกลาจิตใจตัวเอง

ถ้าเรารู้จักสังเกตเราจะเห็น การถือศีลบำเพ็ญพรตทั้งหลาย มันยังไม่ใช่ทางเพื่อความพ้นทุกข์หรอก แต่ศีลต้องรักษา สมาธิต้องเจริญ แต่ถ้าคิดว่าถือศีลแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นถือศีล 227 ย่อมดีกว่าศีล 5 อะไรอย่างนี้ ไม่จริงหรอก ศีลที่สำคัญคือศีล 5 สำคัญมากๆ เลย ศีล 227 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกิริยามารยาทของพระ ศีลจริงๆ ที่สำคัญจริงคือศีล 5 สมมติเราถือศีล 8 ได้ เรารู้สึกพวกศีล 5 กระจอก เราหลงกลกิเลสแล้ว เรียกว่าถือศีลไม่เป็น ถือศีลต้องถือให้เป็น ถือไปเพื่อลดละกิเลส ไม่ใช่ถือเพื่อเพิ่มพูนกิเลส

เราค่อยๆ ฝึกตัวเอง เราจะรู้เลยการถือศีลอย่างงมงายใช้ไม่ได้ การมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างงมงาย คิดว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี ทำอย่างนี้แล้วจะดี สิ่งที่มุ่งคือดีปรารถนาดี แต่พวกเรานักปฏิบัติเราไม่ได้มุ่งที่ดี เพราะดีมันไม่เที่ยง สิ่งที่เรามุ่งนั้นต้องการเห็นความจริงของรูปนามกายใจ เราภาวนาเราค่อยๆ ฝึกตัวเองไป ทีแรกเราคิดว่าทำอย่างนี้ดี ทำอย่างนี้ดี เช่น ตื่นตีสองมาภาวนาแล้วดีอะไรอย่างนี้ ทุกวันก็พยายามตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตีสอง เครียดมากเลย จะนอนก็คอยระวังว่าจะถึงตีสองหรือยัง จะได้ลุกขึ้นมา นี่เรื่องงมงาย ทำแล้วมันไม่ได้หายเครียดหรอก มันเครียดมากกว่าเก่า

เราค่อยๆ สังเกตไป เราภาวนาไม่ได้มุ่งไปที่ดี ไม่ได้มุ่งไปที่สุข ไม่ได้มุ่งไปที่สงบ แต่ถามว่าภาวนาแล้วดีไหม ดี ภาวนาแล้วสุขไหม สุข ภาวนาแล้วสงบไหม สงบ แต่ความดี ความสุข ความสงบ ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายจริงๆ คือความพ้นทุกข์ เราจะพ้นทุกข์ได้เราก็ต้องปล่อยวาง สิ่งที่เรียกว่าตัวทุกข์ เราไม่ไปหยิบฉวยตัวทุกข์ขึ้นมา ตัวทุกข์ก็คือตัวรูป ตัวนาม ตัวกาย ตัวใจของเรา เราจะวางรูปนามกายใจได้ก็ต้องเห็นความจริงของมัน คือเห็นไตรลักษณ์

ฉะนั้นถ้าเราภาวนา เราคิดว่าถือศีลอย่างนี้มีข้อปฏิบัติอย่างนี้ดี นั่นคือสีลัพพตปรามาส ถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ ก็ต้องรู้ว่าการรักษาศีลเป็นข้อดีไหม ดี แต่ไม่ใช่รักษาศีลเพื่อจะดี เพื่อจะสุข เพื่อสงบ การมีข้อวัตรปฏิบัติพระก็มี แต่ไม่ได้มีข้อวัตรปฏิบัติเพื่อไว้ข่มคนอื่น แต่เอาไว้เพื่อจะขัดเกลาจิตใจตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งให้การอบรมกับจิตใจ จนกระทั่งวันหนึ่งมันเห็นความจริงของกายของใจ ฉะนั้นเราจะต้องก้าวพัฒนาตัวเองมาสู่การเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจให้ได้ ถ้าเราภาวนาถือศีลบำเพ็ญพรต แต่ไม่ก้าวมาสู่การเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ อันนั้นยังลูบๆ คลำๆ อยู่ ยังไม่ใช่แก่น ยังไม่ได้แก่นของการปฏิบัติ

 

เราถือศีลบำเพ็ญพรตเพื่อจะขัดเกลากิเลส เพื่อจะเรียนรู้ตัวเอง

 

หลวงพ่อไม่ได้พูดเอาตามใจชอบหรอก ก็ไปอ่านพระสูตรมีอยู่ ท่านบอกว่าบางคนมาบวชต้องการชื่อเสียงลาภสักการะ ต้องการมีศีลที่ดี ต้องการเข้าฌานได้ มีสมาธิที่ดี ต้องการมีปัญญาแตกฉานอะไรอย่างนี้ ท่านบอกนี้ยังไม่ใช่แก่น แก่นของการปฏิบัติคือตัววิมุตติ จิตใจก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายได้ ฉะนั้นการที่เราถือศีลบำเพ็ญพรตทั้งหลาย ถ้าตั้งเป้าไปเพื่อว่าจะเอาดี เอาสุข เอาสงบ ให้เหนือคนอื่นอะไรอย่างนี้ เรียกว่ายังเป็นสีลัพพตปรามาส ยังลูบๆ คลำๆ อยู่ ยังไม่ได้ของดีหรอก แต่ว่าเราถือศีลบำเพ็ญพรตเพื่อจะขัดเกลากิเลส เพื่อจะเรียนรู้ตัวเอง

การขัดเกลากิเลสมีหลายแบบ คนศาสนาอื่นเขาก็ขัดเกลากิเลส มีไม่ใช่ไม่มี แต่เขาขัดเกลาด้วยมรรคของเขา แบบของเขา เราเป็นชาวพุทธเราก็ขัดเกลากิเลส ด้วยอริยมรรคที่พระพุทธเจ้าสอน อริยมรรคก็คือศีล สมาธิ ปัญญา ทำไปเพื่ออะไร เพื่อเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ พอเรารู้ความจริงของรูปนามกายใจแล้ว มันก็จะหมดความยึดถือในรูปนามกายใจ ทำลายอวิชชาลงไป อวิชชาคือการไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ เราได้ยินอวิชชาๆ วิชชา เราไม่รู้มันคืออะไร ฉะนั้นอวิชชาคือการที่เราไม่รู้ความจริงของรูปนามกายใจ ฉะนั้นจะทำลายอวิชชาก็ต้องทำลายด้วย วิชชา คือการรู้ความจริงของรูปนามกายใจ

 

 

ความจริงของรูปนามกายใจ คือไตรลักษณ์ ถ้าภาวนาแล้วยังไม่เห็นไตรลักษณ์ ยังไม่ได้เข้าทางที่เข้าท่าเลย ยังเป็นทางที่เลียบๆ เคียงๆ อยู่ แต่ถ้าเข้ามาดูไตรลักษณ์ของกายของใจได้ มันเหมือนเราขึ้นทางด่วนแล้วคราวนี้วิ่งพรวดเดียวถึงปลายทางแล้ว ไม่ฉะนั้นก็เหมือนเราวิ่งอยู่แถวพระราม 4 แถวอะไรอย่างนี้ พระราม 9 อย่างนี้ วิ่งไปอยู่อย่างนั้น รถจอดมากกว่ารถวิ่งเสียอีก ตอนนี้คงวิ่งง่ายหรอกไม่มีคน อยู่บ้านกันหมดแล้ววิ่งง่าย ถ้าใจเราเดินเข้าสู่มรรคที่ถูก มันจะไปอย่างรวดเร็วเลย จะไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว

เราค่อยๆ ฝึกตัวเองทุกวันๆ สังเกตเอา ทุกวันนี้เราตามใจกิเลสมากเกินไปหรือเปล่า กระทั่งการที่เรานั่งสมาธิ เดินจงกรมแบบเคร่งเครียด อันนั้นก็เพราะกิเลส เพราะอยากดี อยากพ้นทุกข์ แต่กิเลสอย่างนั้นก็ยังดี มันก็เป็นเบื้องต้น ภาวนาไปเรื่อยๆ แล้วค่อยฉลาดขึ้นมา มันก็กลายเป็นกุศลขึ้นมา กุศลแปลว่าฉลาด กุศลไม่ได้แปลว่ามีบุญ กุศลคือฉลาด อกุศลคือไม่ฉลาด ฉะนั้นเราภาวนาเราจะเป็นกุศลมากขึ้นๆ คือฉลาดมากขึ้น เรารู้ว่าเราถือศีลเพื่ออะไร ถือศีลไม่ใช่เพื่อเหนือคนอื่น นั่งสมาธิไม่ใช่เพื่อเหนือคนอื่น ไม่ใช่เพื่อความสงบ ถือศีลไม่ใช่เพื่อความดี นั่งสมาธิไม่ใช่เพื่อความสงบ แต่ว่าทำไปเพื่อเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะเจริญปัญญา คือการเรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ

ฉะนั้นอย่างเราเจริญสติ สตินี้เป็นไปเพื่อรู้ความจริงของรูปนามกายใจ ไม่ใช่สติอย่างอื่น มีความเพียรเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ก็เพื่อให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น ไม่ใช่รู้กายเพื่อจะสุข เพื่อจะสงบ เพื่อจะดี ไม่ใช่ดูจิตเพื่อจะสุข เพื่อจะสงบ เพื่อจะดี แต่เราดูกายดูใจเพื่อให้เห็นความจริงของกายของใจ เราจะได้ปล่อยวางเพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์ การที่เรามีสติ มีการเจริญปัญญา มีความเพียร มีปีติ มีปัสสัทธิ ความสงบระงับ มีสมาธิ มีอุเบกขา ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นทั้งหมดเลย เพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อพ้นจากกิเลส ตรงนี้เป็นกุศลที่ฉลาดขึ้นมาแล้ว เป็นการปฏิบัติที่เป็นกุศลอย่างแท้จริงแล้ว ฉลาด รู้ว่าที่เราทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เพื่อจะเป็นคนดี ไม่ใช่เพื่อหาความสุข ไม่ใช่เพื่อหาความสงบ แต่ทำไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ

 

จิตแน่วแน่มุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น

เหมือนอย่างที่หลวงพ่อเคยสอนโพชฌงค์ 7 มีสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ ไม่เหมือนสติธรรมดา สติสัมโพชฌงค์ คือจิตมันแน่วแน่แล้ว มันรู้แล้วว่าการปฏิบัตินี่มุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นการเจริญปัญญาไม่ใช่เจริญเฉยๆ แต่เป็นการเจริญปัญญาโดยมีความชัดเจนในจิตใจว่า ทำไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น มีปีติไม่ใช่เพื่อจะเสพความสุข มีปัสสัทธิ มีสมาธิไม่ใช่เพื่อความสุข มีอุเบกขาก็ไม่ใช่เพื่อความสุข แต่ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ตัวนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นโพชฌงค์ เป็นกุศลที่ระดับโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังภาวนาเพื่อจะดี เพื่อจะสุข เพื่อจะสงบ มันก็ดีกว่าพวกหลงโลก แต่มันยังไม่ดีจริง

แต่ถ้าเราภาวนาถือศีลบำเพ็ญพรตโดยมีความชัดเจนว่า ไม่ได้มุ่งไปที่ดี ที่สุข ที่สงบ แต่มุ่งไปที่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น คือถ้าเห็นความจริงของรูปนามกายใจได้ มันก็จะปล่อยวาง พระพุทธเจ้าท่านบอก “เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นแบบนี้ ไม่มีอีกแล้ว” มันจะรู้สึกขึ้นมา

ฉะนั้นภาวนาจับหลักให้แม่นๆ อย่าสุดโต่งไป 2 ข้าง ถ้าสุดโต่งไปข้างตามใจกิเลสอนาคตคืออบาย ไปอบายแน่นอน ถ้าสุดโต่งมาข้างคอยควบคุมกาย ควบคุมใจให้มันเป็นคนดี ไปสุคติได้ แต่ว่ามุ่งอะไรล่ะ มุ่งที่ดี มุ่งที่สุข มุ่งที่สงบ มันยังไม่นิพพานหรอก เราก็ฝึกตัวเอง ฟุ้งซ่านใช้ไม่ได้สงบไว้ก่อน สงบทีแรกเราก็อยากได้สงบ อยากได้สุข อยากได้ดี ต่อมาก็ค่อยฉลาดขึ้น เห็นว่ามันภาวนาจะเอาความสุข ติดในความสุขของสมาธิแล้ว ติดในความโก้เก๋ ความดีของศีลแล้ว ค่อยๆ ฉลาด มันสะสมความฉลาด คือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก เราก็จะค่อยๆ ปรับการปฏิบัติของเราเข้ามาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

เราอย่ากลัวการปฏิบัติผิด ปุถุชนอย่างไรก็ปฏิบัติผิด เพราะปุถุชนยังมีสีลัพพรตปรามาสอยู่ ยังมีการถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ งมงาย ลูบๆ คลำๆ ก็คือยังไปหลงมุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบเป็นเป้าหมายอยู่ ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกตตัวเอง วันหนึ่งมันก็จะค่อยเข้าใจมากขึ้น ถือศีล ทำสมาธิ เจริญปัญญา ไม่ใช่เพื่อดี เพื่อสุข เพื่อสงบหรอก แต่เพื่อจะสามารถเห็นรูปนามกายใจตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้นได้

ค่อยๆ เรียน ฉะนั้นเบื้องต้นอย่ากลัวผิด ทำอะไรก็ผิด เพราะมันตั้งเป้าไว้ผิด มันตั้งเป้าอยากภาวนาดี อยากให้จิตสงบ อยากให้มันมีความสุขอะไรอย่างนี้ เป้าหมายผิดสิ่งที่ทำอย่างไรก็ผิด แต่การที่เริ่มต้นจากสิ่งที่ผิด แล้วเรียนรู้ไป รู้ทันสิ่งที่ผิดต่อไปมันก็ไม่ผิด มันก็ถูกเอง เมื่อไรไม่ผิดเมื่อนั้นก็ถูก เป็นปุถุชนอย่างไรก็ผิด ไม่ต้องกลัวหรอก มาถามหลวงพ่อเรื่อยๆ ที่หนูทำอยู่ถูกหรือยัง หลวงพ่อบอก “เออ ถูกแล้ว” แต่ถูกนี่มันถูกตามชั้นตามภูมิของเรา

คนที่ภาวนาถูกจริงๆ ก็ต้องไม่มีสีลัพพตปรามาส ไม่ถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ ไม่ได้แก่น ลูบคลำหมายถึงว่าไม่ได้แก่นสาร คือหมายถึงหลักการของมันไม่ถูก ฉะนั้นเวลาถือศีลบำเพ็ญพรตที่เราลงมือปฏิบัติ ทำไปเถอะ เบื้องต้นทำไปก่อน แล้วก็เรียนรู้ไปว่าสิ่งที่ทำนี้มันยังไม่ถูกตรงไหน มันไม่ถูกตรงที่ตั้งเป้าไว้ผิด อย่างพยายามฝึกให้จิตดีตลอดอย่างนี้ ให้จิตสงบตลอด ให้จิตมีความสุขตลอด มุ่งมาตรงนี้อย่างไรมันก็ไม่ถูก แต่ทีแรกเอาอย่างนี้ไปก่อน แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาสติ พัฒนาปัญญา เข้าใจ

 

เวลาถือศีลบำเพ็ญพรตที่เราลงมือปฏิบัติ ทำไปเถอะ
เบื้องต้นทำไปก่อน แล้วก็เรียนรู้ไปว่าสิ่งที่ทำนี้มันยังไม่ถูกตรงไหน
มันไม่ถูกตรงที่ตั้งเป้าไว้ผิด

 

หลวงพ่อก็ภาวนามาแบบนี้ ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อก็ลงมือทำ แล้วทำเสร็จแล้วเราก็สังเกตตัวเอง ที่ทำอยู่นี่กุศลหรืออกุศลเจริญ สังเกตตัวเองอย่างนี้ ถ้ากุศลเจริญขึ้นก็ทำถูกแล้ว ถ้าอกุศลเจริญขึ้นไม่ถูกหรอก หรืออกุศลก็ไม่เจริญ แต่กุศลก็ไม่เจริญ ก็ยังไม่ใช่หรอก ใช้ความสังเกตเอา บางทีไปเจอครูบาอาจารย์ก็ฉวยโอกาสถามท่าน ท่านก็บอกให้ อย่างหลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ครั้งแรกที่เรียนกับท่าน ท่านสอนง่ายๆ ท่านบอก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” หลวงพ่อได้ยินว่าอ่านจิตตนเอง ไปนั่งดูจิต รักษาจิตเอาไว้ให้นิ่งๆ ว่างๆ อยู่ ไปหาท่านครั้งที่สองทิ้งระยะกัน 3 เดือน ไปหาครั้งที่สองไปบอกท่าน “ผมดูจิตได้แล้ว ดูได้ทั้งวันเลย” ท่านบอก “ยังไม่ได้ดูจิตเลย นี่ไปบังคับจิต ไปแทรกแซงจิต” นึกว่าถูกมันผิดอีกแล้ว

เราก็ดูไปเรื่อยๆ ต่อมาก็เห็นมันผุดขึ้นมาจากกลางอกนี่ล่ะ สภาวธรรมทั้งหลายทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว ผุดขึ้นจากกลางอกไหวกระเพื่อม ๆ อยู่ ตาเห็นรูปตรงนี้ก็ไหว หูได้ยินเสียงตรงนี้ก็ไหว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ก็ไหวขึ้นจากกลางอก โอ้สงสัยตรงนี้ละมั้งจิตมันไหวขึ้นมา คิดว่าตรงนี้จิตมันตั้งอยู่กลางอก ก็ไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปถามท่าน ยังไม่ได้ไปบอกท่านหรอกว่า “ผมคิดว่าจิตมันอยู่ที่กลางอก” แต่ไปถามท่านดูก่อน

“หลวงปู่ครับจิตมันอยู่ที่ไหน”
หลวงปู่บอก “จิตไม่มีที่ตั้ง”

เอาล่ะสิที่คิดว่าถูกไม่ถูกอีกแล้ว เราเอาไปตั้งไว้ที่นี่ ไม่ต้องกลัวผิด ทำไปเถอะ ผิดไปเถอะ แล้วก็สังเกตไปเรื่อยๆ ใช้ความสังเกตให้มาก ทำอย่างนี้กุศลเจริญ หรืออกุศลเจริญ ลดละกิเลสได้ไหม พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นได้ไหม สังเกตเอา บางทีพัฒนา หมู่นี้จิตสงบมากเลย ดี รู้สึกดี ศีลเราก็ดีไม่ด่างพร้อย สมาธิเราก็ดี ปัญญาเราก็ดี เห็นอะไรก็เห็นไตรลักษณ์ไปหมดเลย ค่อยๆ สังเกตไป เอ๊ะ มันไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ แต่มันคิดเรื่องไตรลักษณ์ ก็สังเกตเอา ยังผิดอยู่ตรงนี้ ผิดอยู่ตรงที่ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ แต่ไปคิดไตรลักษณ์

 

เราค่อยๆ ประคองตัวเอง ค่อยๆ คลำทางไปเรื่อยๆ จากที่มืด ก็ไปสู่ที่สว่างมากขึ้นๆ จากที่เป็นป่ารกทึบมีหนามเต็มไปหมดเลย ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ค่อยๆ คลำไป อย่างเราหลงอยู่กลางป่า แล้วก็นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นตายแน่นอน หลงอยู่ในป่าแล้วก็หาทางออก ทีแรกก็คลำมั่วซั่วไป ต่อมาก็เริ่มเกิดสติ เกิดปัญญา คลำส่งเดชไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ไม่รู้ว่าควรจะออกไปทางไหน ก็หาที่สูงๆ ก่อน ขึ้นต้นไม้สูงๆ หรือขึ้นภูเขาสูงๆ ดูทิศทางก่อน เราจะได้ตัดไปสู่ทิศทางที่ถูก เริ่มจากโง่ หลงป่าอยู่ไม่รู้ทิศทางใช่ไหม ค่อยๆ มีสติปัญญา ค่อยๆ หาวิธี หาทิศทางที่ถูกแล้วก็ค่อยเดินไป เดินไปก็รู้สึกตรงนี้ไม่ใช่ มีเหวขวางหน้า ผ่านไม่ได้จะทำอย่างไร ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ศึกษาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่ากลัวผิด ถ้ากลัวผิดแล้วไม่ทำอะไรเลยใช้ไม่ได้หรอก มันจะผิดตลอดชาติเลย

เริ่มต้นก็ทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง แล้วสังเกตจิตตัวเองไปเรื่อยๆ มันก็จะเริ่มจากที่ผิดไปสู่ที่ถูก เริ่มจากที่มืดไปสู่ที่สว่าง เริ่มจากที่รกชัฏรุงรังไปด้วยหนามอะไรอย่างนี้ก็ไปสู่ที่โล่งขึ้นมา ฉะนั้นอดทน อดทนไป ดีกว่าไม่ทำอะไร ดีกว่าปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส ไปทำเอา สังเกตตัวเองเอา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2564