สุดยอดกรรมฐาน

FileAction
หนังสือสุดยอดกรรมฐาน ในรูปแบบ PDFDownload 

 

จิตที่เป็นผู้รู้ไม่ใช่ของประหลาด ในอภิธรรมบอกไว้ชัดเจนเลยว่าอะไรคือลักษณะของจิต ลักษณะเฉพาะของจิตก็คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่จิตชอบทำเกินธรรมชาติ เกินหน้าที่ แทนที่รู้อารมณ์แล้วจะรู้เฉยๆ รู้แล้วก็ยินดีบ้าง รู้แล้วก็ยินร้ายบ้าง นี่เกินขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่มันยินดียินร้ายขึ้นมา ก็รู้ทันเข้าไปอย่างนี้ทำงานเกินหน้าที่ เกินรู้แล้ว มันก็จะทำงานแค่รู้ พอทำงานแค่รู้มันจะเห็นขันธ์ทั้งหลายทำงานได้ กระทั่งตัวจิตที่ทำงานได้นี้ไม่ใช่ตัวเรา แล้วต่อไปมันจะเห็นว่ามันคือตัวทุกข์ ตรงที่เห็นแตกหักลงไปว่าตัวจิตคือตัวทุกข์ ผู้รู้คือตัวทุกข์นี่แหละ วัฏฏะ สังสารวัฏจะถล่มลงต่อหน้าต่อตาเราเลย ถล่มลงกลางอกเรานี่เอง แตกหักกันลงตรงนี้เอง

 

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปหาครูบาอาจารย์เดือนละครั้ง ทุกเดือนจะขึ้นไปหาหลวงพ่อพุธที่โคราช ซึ่งอยู่ใกล้หน่อย แล้วเวลามีวันหยุดพิเศษ มาฆะบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเฉลิมพระชนพรรษาในหลวงองค์ก่อน ช่วงนี้ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่วัดท่านไกลๆ หน่อย ไปสุรินทร์ ไปศรีเชียงใหม่ที่หินหมากเป้ง หนองคาย ไปถ้ำผาปล่องวัดหลวงปู่สิม อะไรพวกนี้ เรียนกับครูบาอาจารย์ เรียนแล้วก็เอามาทำ ไม่ได้เรียนแล้วไม่ทำ หลวงพ่อพุธท่านจะตรวจการบ้านให้ ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านจะให้การบ้าน หลวงพ่อพุธท่านจะทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยง คอยแนะนำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ เวลาครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่สอนมา บางทีท่านกลัวเราทำผิด ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่นี่ท่านไม่พูดมาก พูดประโยค สองประโยคเท่านั้น เราก็ต้องไปพิจารณาเอาเอง ช่วยตัวเอง บางเรื่องมันยากมากที่จะเข้าใจ ก็ได้อาศัยหลวงพ่อพุธท่านมาขยายความให้

เรื่องที่ยากที่สุดเลยที่ไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ คือครั้งสุดท้ายที่ไปหาท่าน ก่อนๆ นั้นท่านสอนไม่ยากมากสำหรับหลวงพ่อ ท่านจะสอนเป้าถัดไปให้เรา ทำจุดที่ถัดไปจากที่เราทำอยู่นี้ทำอะไร สอนมาเป็นลำดับๆ ทีแรกท่านก็สอนให้อ่านใจตัวเองอะไรอย่างนี้ พอเราไม่อ่าน เราไปแทรกแซงใจตัวเองอะไรอย่างนี้ท่านก็บอกไม่ถูกให้ไปอ่านใหม่ วิธีสอนของครูบาอาจารย์ ไม่พูดมากหรอก บอกแค่ว่าไม่ถูกไปทำใหม่ ไม่บอกว่าไม่ถูกยังไง ไม่ลงรายละเอียด บอกว่าเราไปแทรกแซงอาการของจิตแล้ว ไม่ได้ดูจิตหรอก เราต้องมาพิจารณาเอาเองว่าเราจะทำอย่างไร ตอนนั้นหลวงพ่อพุธยังไม่ได้ช่วยย่อยคำสอนให้ เพราะมันไม่ยากเกินไป เราก็คลำทางเดินต่อของเราได้ เรารู้ว่าหลวงปู่บอกว่านี่แทรกแซงจิต จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง เราไปทำจนไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง รู้ตัวอยู่เฉยๆ นึกว่าดี ที่แท้ไม่ดี ท่านว่าผิด ท่านบอกให้ไปดู ไม่ได้ให้ไปทำ สอนเท่านี้แล้วก็มาหัดดู ดูจิตใจมันทำงานเหมือนดูคนอื่นทำงาน เราเป็นคนดู เราไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ เราไม่ไปแทรกแซง ให้ทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ จงทำอย่างนี้ จงอย่าทำอย่างนี้ ไม่ไปวุ่นวายกับมัน จิตมันปรุงดีก็รู้ จิตมันปรุงชั่วก็รู้ จิตมันปรุงสุขก็รู้ จิตมันปรุงทุกข์ก็รู้ มันปรุงความฟุ้งซ่านก็รู้ มันปรุงความหดหู่ก็รู้ มันเป็นอย่างไรรู้อย่างนั้น รู้อยู่ ๔ เดือนเท่านั้น เข้าใจที่หลวงปู่สอนแล้ว ก็ไปเรียนกับหลวงปู่เรื่อยๆ หลวงปู่บอกว่าไม่ต้องมาก็ได้แล้วล่ะ ไปได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่เราก็ไป เรื่องอะไรเราจะไม่ไปหลวงปู่ยังอยู่ สัก ๓ เดือน ขึ้นไปหาหลวงปู่ทีหนึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่ง ท่านอาพาธ ลงมาอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนนี้เราไปง่ายหน่อย ก็เข้าไปทุกอาทิตย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

 

พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ช่วงท่านกลับวัด ปลายๆ เดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ขึ้นไปกราบท่านครั้งสุดท้ายแล้ว อีก ๓๖ วันท่านมรณภาพ ขึ้นไปหาท่านตอนบ่ายๆ  ท่านก็สอน สอนกว้างขวางมากรอบนี้ สอนตั้งแต่การกำเนิดของโลกของจักรวาล การกำเนิดของจิตวิญญาณ สอนแปลก การทำงานของจิตวิญญาณ จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านสอน ท่านบอกว่าเมื่อเราภาวนาไปจนถึงผู้รู้แล้ว จำไว้นะ ท่านบอกให้จำไว้ เพราะเรายังภาวนาไม่ถึง บอกจำไว้นะ “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านสอนอย่างนี้แล้วท่านก็ถาม เข้าใจไหม ก็เรียนท่านว่าไม่เข้าใจ แต่จะจำไว้ แล้วจะเอาไปภาวนา ท่านบอกเออดี จำไว้นะ เราก็กราบลาท่านออกมา เป็นครั้งเดียว เวลาที่กราบลา ใจมันอาลัยอาวรณ์ คลานถอยหลังออกมา กราบท่าน ถอยออกมาเดินออกมา หันกลับไปมองอีก พยายามมองให้นานที่สุด ใจมันรู้ว่าจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เป็นการมองครั้งสุดท้าย ท่านก็มองตามเรา ครั้งสุดท้ายเหมือนกัน วันรุ่งขึ้นก็ลงมากราบหลวงพ่อพุธที่โคราช หลวงพ่อพุธท่านก็ถามหลวงพ่อว่า ไงนักปฏิบัติ ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ ท่านไม่รู้จักชื่อ หลวงปู่สิมเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ท่านไม่รู้จักชื่อ ไม่เหมือนอาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์บุญจันทร์รู้ชื่อโดยที่เราไม่ต้องบอก น่ากลัวมากเลย อย่างพวกเราถ้าเจอแล้วเละเลย ยิ่งกว่าหมูบะช่อ น่ากลัว

พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ลงจากสุรินทร์ ไปโคราช ก็ไปกราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธถาม ไงนักปฏิบัติ รอบนี้หลวงปู่สอนอะไร บอกหลวงปู่สอนบอกว่า พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง หลวงพ่อพุธท่านก็พูด วิธีพูดของท่าน ท่านจะพูดช้าๆ แล้วชอบพูดทวนที่เราพูด “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต” วิธีพูดของท่านพูดช้าๆ ถ้าพูดเร็วอย่างหลวงพ่อขาดใจตายเลย เพราะท่านพูดทั้งวัน ใครไปหาตอนไหนท่านก็พูดด้วยทั้งนั้นแหละ หลวงพ่อเห็นประสบการณ์ครูบาอาจารย์ ท่านทุ่มแบบนั้นไม่ไหว เราจะไม่มีแรงสอนนานเท่าไหร่หรอก ท่านบอก “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต นี้เป็นสุดยอดของกรรมฐาน นี้เป็นจุดสูงสุดของกรรมฐาน” แล้วท่านก็เล่าบอกว่าเมื่อ ๗ วันก่อนที่หลวงพ่อจะไปหาหลวงปู่ ท่านขึ้นไปกราบหลวงปู่ก่อน แล้วหลวงปู่ก็บอกท่าน บอกว่า เจ้าคุณการปฏิบัติจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง นี่หลวงปู่สอนท่าน หนึ่งอาทิตย์ก่อนที่จะสอนหลวงพ่อ ท่านสอนอยู่ ๒ คนเท่านั้น ๑ องค์กับ ๑ คน ที่หลวงปู่ดูลย์สอนธรรมะอันนี้

หลวงพ่อพุธท่านก็ขยายความให้ฟังว่าการทำลายผู้รู้ก็คือ การวางมัน ปล่อยวางมันลงไป เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปทำให้มันแตก ให้มันระเบิด ท่านกลัวเราจะพลาดไปทำลายผู้รู้ด้วยวิธีที่โง่ๆ ผู้รู้นี่เหมือนเรือ เราต้องอาศัยผู้รู้ข้ามทะเล ถ้าเรายังอยู่กลางทะเล อย่าเพิ่งทำลายเรือ เพราะฉะนั้นการทำลายผู้รู้ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าทำ ท่านบอกว่ามันเป็นสุดยอดของการปฏิบัติ แต่การทำลายผู้รู้คือการปล่อยวางตัวผู้รู้ แต่ท่านไม่บอกว่าปล่อยยังไง แล้วท่านก็บอกหลวงพ่ออีกประโยคหนึ่งบอกว่า คุณกับอาตมามาทำกติกากัน ทำข้อตกลงกัน ใครทำลายได้ก่อนให้มาบอกกัน เราฟังแล้วเราสะเทือนใจเลย ท่านเป็นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ท่านพูดแบบนี้ว่า ถ้าใครได้ก่อนให้มาบอกกัน เราก็พิจารณาทำไมท่านพูดอย่างนี้ หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์อาวุโสกว่าท่าน อยู่ๆ ท่านจะมาบอกว่าท่านจะสอนหลวงพ่อนี่ทำไม่ได้ เสียมารยาท ท่านเลยบอกว่าถ้าใครรู้ก่อนจะบอก อะไรอย่างนี้ คล้ายๆ ไม่ได้ก้าวก่ายล่วงเกินหลวงปู่ดูลย์ เนี่ยงามมาก ข้อวัตรปฏิบัติของพระกรรมฐานแท้ๆ นี่งดงามจริงๆ เลย มีผู้น้อยผู้ใหญ่ เคารพกันตามลำดับ หลวงพ่อฟังหลวงพ่อสะเทือนใจว่าท่านงามจริงๆ ไม่ได้สะเทือนใจว่ากูแน่จริงๆ ขนาดหลวงพ่อพุธ ยังบอกว่าใครได้ก่อนมาบอกกัน เราก็คิดว่าท่านแหละต้องได้ก่อนเรา

ผ่านมาหลายปี หลังๆ ขึ้นไปหาหลวงพ่อพุธไม่เจอ ท่านไม่สบายเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งที่กล่องเสียง เพราะพูดตลอดเวลาแบบหลวงพ่อเปลี่ยน หลวงปู่เปลี่ยนเป็นแบบเดียวกัน ใช้เสียงเยอะ เมตตามาก ใช้เสียงตลอดเวลา ไม่รู้เกี่ยวหรือเปล่าแต่ ๒ องค์นี้มีพฤติกรรมเหมือนกันคือ ใครไปตอนไหนก็พูดด้วยทั้งหมด พอท่านอาพาธ ท่านก็อยู่วัดไม่ได้ ถ้ายังอยู่วัดป่าสาละวัน คนก็ยุ่งกับท่านทั้งวันทั้งคืน ช่วงที่ท่านหลบไปจากวัด ท่านไปอยู่วัดภูแก้ว แถวปากช่องแถวนั้น หลบลงมา หลวงพ่อเปลี่ยนก็หลบมาอยู่ปากช่องเหมือนกัน ตรงนี้เป็นที่ลี้ภัยของพระกรรมฐาน เห็นหลายองค์แล้วหลบไปอยู่ปากช่อง หาท่านไม่เจอ เวลาไปทางอีสานก็จะแวะเข้าไปวัดป่าสาละวัน ไปยืนไหว้ที่หน้ากุฏิท่าน ได้แค่นั้นแหละ ท่านไม่อยู่แล้ว หลังๆ ก็ไม่ได้เข้า ทุกเดือนไม่ได้เข้าไปแล้ว มีธุระผ่านไปก็ไปไหว้ที่กุฏิท่าน

 

จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง

ไม่เจอท่านนานหลายปี จนกระทั่งท่านใกล้จะมรณภาพ  ท่านรับนิมนต์ไปเทศน์ที่องค์การโทรศัพท์ ก่อนนั้นไม่ค่อยรับนิมนต์แล้ว หาตัวไม่เจอเลย ถ้ารับนิมนต์นี่เราตระเวนไปฟังได้ นี่ท่านไม่ค่อยรับงาน งานนิมนต์รับที่องค์การโทรศัพท์ หลวงพ่อทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ เข้าไปนั่งฟังท่านเทศน์ ท่านเทศน์จบ เราก็คลานเข้าไปกราบท่าน หลวงพ่อครับ ผมไม่พบหลวงพ่อนานแล้ว ท่านบอกหลวงพ่อจำได้ นักปฏิบัติมีไม่มากหรอก ก็เรียนท่าน หลวงพ่อครับผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย หลวงพ่อพุธ ท่านยืดตัวขึ้นมา จิต ทรงพลังวูบออกมาเลย แล้วท่านก็สอน จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง ท่านสอน เราขนลุกขนพองทั้งตัวเลย ลงกราบท่าน นี่ท่านทำตามกติกาที่ตกลงกันแล้ว เราหาท่านไม่เจอ ท่านก็มาหาเรา กราบท่าน แล้วลงจากตึกที่ท่านเทศน์ สักพักหนึ่ง รถท่านก็ออกมา ท่านก็เปิดกระจก หลวงพ่อก็ยกมือไหว้ท่าน คุกเข่าไหว้ ท่านก็พยักหน้า นี่เป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายแล้ว ใจรู้สึกเลย ท่านก็มอง มอง มองหันหลังเลยจนรถไป อาศัยครูบาอาจารย์สอนให้ จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง

นี่เราอยู่มาอีกจนกระทั่งออกมาบวช ไอ้ลูกไก่ของเรามันก็ไม่เจาะเปลือกสักที บางครั้งภาวนา ตั้งแต่เป็นโยมแล้ว จิตปล่อยวางจิต อย่างที่ท่านบอกว่าทำลายผู้รู้คือว่าไม่ยึดถือ ปล่อย แต่ว่าแป๊ปเดียวมันก็จะหยิบขึ้นมาอีก วางแล้วก็หยิบ วางแล้วก็หยิบ อยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เป็นโยมแล้ว ภาวนา มันวางไม่ได้ ใจมันรู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่าง มันยังขาดอยู่ สิ่งนี้ ตราบใดที่ยังขาดสิ่งนี้อยู่ ไม่มีทางที่ลูกไก่จะเจาะทำลายเปลือกไข่ออกมา แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ครูบาอาจารย์ไม่บอก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็ไม่ควรบอกพวกเรา ใช่ไหม แต่ว่าเคยบอกไปแล้วล่ะ ภาวนาแทบเป็นแทบตาย จะรู้ว่ามันขาดอริยสัจ เหมือนขาดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ มันยังเห็นว่าตัวจิตผู้รู้นี่เป็นของดีของวิเศษ เป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นที่ฝากเป็นฝากตาย เพราะฉะนั้นภาวนาไปจนถึงจุดหนึ่ง จิตไม่หลงกับกิเลสกามทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ทั้งหลาย จิตไม่หลงไปแล้ว แต่จิตตั้งมั่นอยู่ที่จิต สงบ ตั้งมั่น รู้ ตื่น เบิกบาน เต็มไปด้วยความสุข จิตมีแต่ความสุข มีความสงบ วิเวก เป็นจิตวิเวก สบายอยู่อย่างนั้น จนวันหนึ่ง มันจะต้องเห็น ว่าตัวจิตผู้รู้นี้แหละคือตัวทุกข์ ถ้ามันรู้ว่าจิตผู้รู้คือตัวทุกข์แล้ว มันจะทำลายตัวผู้รู้ออกไปเอง

 

จิตผู้รู้คือตัวทุกข์

การเห็นทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือ รูปนาม ขันธ์ห้า ตัวที่เห็นยากที่สุดคือตัวจิตผู้รู้ อยู่ในวิญญาณขันธ์ เป็นวิญญาณชนิดที่ดูให้เห็นทุกข์ยากที่สุด มันภาวนาไปแล้วมันเหมือนเที่ยง สว่างไสวอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน อยู่กันเป็นปีๆ ก็อยู่ได้ หลวงปู่ดูลย์เคยสอนหลวงพ่อ วันหนึ่งนั่งอยู่กับท่าน ท่านนั่งเก้าอี้โยก แต่ท่านไม่โยก คนเอาเก้าอี้โยกมาถวาย กะให้ท่านนั่งเล่น ท่านนั่งไม่ได้ โยกไปมาเวียนหัว ท่านนั่งเก้าอี้โยก แต่เอาเท้ายันพื้นไม่ให้โยก ดูสิ ความทรมานของครูบาอาจารย์ เมตตาสูง เอาเก้าอี้โยกมาให้ ท่านต้องคอยยันไม่ให้มันโยก ไม่อย่างนั้นเวียนหัว ท่านนั่งเก้าอี้ หลวงพ่อนั่งพื้น ท่านก็ปรารภให้ฟัง บอกว่า เราพิจารณาดูแล้ว นักปฏิบัติ ส่วนใหญ่ที่ว่ามีชื่อเสียง ระดับครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ เนี่ย ส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ท่านว่าอย่างนี้ เป็นผีใหญ่คือเป็นพรหมอนาคาฯ ท่านไม่ขยายความแล้ว ท่านจบแค่ผีใหญ่เท่านั้น บอกเราเห็นนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ เป็นผีใหญ่คือเป็นพรหม ได้พระอนาคาฯ แล้วไปต่อไม่ได้ ที่ไปต่อไม่ได้เพราะไม่เคยเห็นว่าตัวจิตผู้รู้คือตัวทุกข์

หลวงตามหาบัวถึงกับเรียกจิตผู้รู้ว่าจิตอวิชชา จิตผู้รู้นี่หลวงตาเรียกว่าจิตอวิชชา มันยังมีอวิชชาอยู่คือมันยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ นี่หลวงตาพูดตรงๆ เลยว่า มันเป็นจิตที่ไม่รู้อริยสัจ แต่ท่านเรียกว่าจิตอวิชชา เราต้องแปลภาษาท่านอีก เห็นไหมธรรมะทุกองค์ลงมาที่เดียวกันหมดเลย ลงมาตรงที่จิตผู้รู้นี่เอง หลวงพ่อพุธบอกว่าจิตเหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่จะทำลายเปลือกออกมา แต่ไม่บอกว่าทำไมถึงจะโต แต่หลวงตาพูดเลยว่าจิตผู้รู้คือจิตอวิชชา ถ้าเราฉลาด เราก็จะรู้ว่าอวิชชาคือความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้กิจต่อทุกข์ ไม่รู้กิจต่อสมุทัย ไม่รู้กิจต่อนิโรธ ไม่รู้กิจต่อมรรค สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ คืออะไร คือรูปนาม ขันธ์ ๕ กิจต่อทุกข์คือการรู้ อย่างที่มันเป็น ทุกข์ให้รู้ สมุทัยคือตัวตัณหาให้ละ นิโรธคือพระนิพพานให้ทำให้แจ้ง ไม่ได้ทำนิพพานให้เกิด นิพพานไม่เกิด นิพพานถึงไม่ดับ แต่เราเข้าไปแจ้ง เข้าไปเห็น เข้าไปประจักษ์ มรรคทำให้เจริญ เจริญตั้งแต่ยังไม่มีมรรคก็มี โสดาปฏิมรรค เจริญไปจนถึงอรหัตมรรค มรรคมีหน้าที่ทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆ

ตอนภาวนาเรารู้สึกมีงานต้องทำตั้ง ๔ เรื่อง รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ตอนลงมือปฏิบัติจริงๆ นี่รู้ทุกข์เข้าไปเถอะ รู้ทุกข์เข้าไปให้แจ้ง รู้ลงไปที่จิต ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านเห็นว่าจิตไม่เที่ยง ท่านก็ปล่อยวางจิต บางองค์ท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ ท่านก็ปล่อยวางจิต บางองค์ท่านเห็นจิตเป็นอนัตตา ท่านก็ปล่อยวางจิต ถ้าเห็นความไม่เที่ยงแล้วปล่อยวาง เรียกว่าหลุดพ้นโดยอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีนิมิตเพราะอะไร เพราะว่าเกิดแล้วดับไม่มีนิมิต ถ้าบรรลุด้วยการเห็นทุกข์ เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ถ้าบรรลุด้วยการเห็นอนัตตาเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ เพราะฉะนั้นตอนที่บรรลุพระอรหันต์นี้มี ๓ ลักษณะ บรรลุแล้วลงไปที่เดียวกัน คือทำลายตัวผู้รู้ลงไป

 

เรียนรู้ทุกข์ให้มาก

เพราะฉะนั้นหน้าที่เรา เรียนรู้ทุกข์ให้มาก อะไรเป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ รู้สึกลงไป คอยรู้สึกอยู่ในร่างกาย คอยรู้สึกอยู่ในจิตใจของเรา ขันธ์ ๕ อยู่ในกายในใจเรานี่เอง รูปขันธ์ก็คือ ส่วนของกาย นามขันธ์มี ๔ อย่าง คือ เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกสุขทุกข์ เกิดขึ้นในกายบ้าง เกิดขึ้นในใจบ้าง ความสุขความทุกข์ในร่างกายมีไหม ความสุขความทุกข์อยู่ในจิตใจมีไหม มี ร่างกายไม่ได้เจ็บป่วยแต่จิตใจเป็นทุกข์อย่างนี้ มี เพราะฉะนั้นความทุกข์เนี่ย ความสุขความทุกข์คือตัวเวทนาขันธ์อยู่ได้ทั้งในร่างกายและอยู่ทั้งในจิตใจได้ แต่มันเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม

นามธรรมตัวต่อไปคือตัวสัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ จำได้ นี่สีเขียว นี่สีแดง หมายรู้ ก็หมายรู้ถูกบ้าง หมายรู้ผิดบ้าง ส่วนใหญ่ปุถุชนจะหมายรู้ผิด อย่างหมายรู้ร่างกายจิตใจนี้ว่าคือตัวเรา ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ตัวเรา เพราะฉะนั้นการหมายรู้ของปุถุชนเป็นวิปลาส เรียก สัญญาวิปลาส หมายรู้ผิดๆ เวลาเราทำวิปัสสนาเราหมายรู้ถูก มีจิตตั้งมั่นเป็นคนดู มีสติระลึกรู้รูปนาม มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม เรียกว่าหมายรู้ถูก สุดท้ายปัญญาก็จะเกิด แต่ถ้าเรามีสติไปรู้รูปรู้นามอยู่เฉยๆ จิตนิ่งๆ อยู่เฉยๆ ปัญญาจะไม่เกิด ต้องมองรูปนามในมุมของไตรลักษณ์ด้วย ต้องเห็นรูปนามในมุมของไตรลักษณ์ได้ ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นเห็นรูปเห็นนามไม่ใช่วิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา เห็นท้องพองเห็นท้องยุบแล้วบอกเข้าคอร์สวิปัสสนา ไม่มีใครทำวิปัสสนาหรอกไปดูท้องพองท้องยุบ เห็นอะไร เห็นท้อง ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ยกเท้าย่างเท้า เห็นอะไร เห็นเท้าไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ รู้ลมหายใจแล้วเห็นอะไร เห็นลมหายใจ ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ขยับมือ ทำจังหวะขยับมือ เห็นอะไร เห็นมือ ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ ก็ไม่ใช่วิปัสสนา

ถ้าพุทโธไปแล้วรู้เท่าทันจิตใจ เห็นจิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อย่างนี้ทำวิปัสสนาอยู่ ถ้ารู้ลมหายใจ เห็นร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ตัวเรา เป็นตัวทุกข์ ทำไมมันต้องหายใจเพราะมันทุกข์ หายใจออกแล้วก็ทุกข์ก็ต้องหายใจเข้าแก้ทุกข์ หายใจเข้าแล้วก็ต้องหายใจออกแก้ทุกข์ มันทุกข์ อย่างนี้มีปัญญาอยู่ เดินปัญญาอยู่เห็นกายนี้มันทุกข์อยู่ เห็นกายนี้ไม่ใช่ตัวเราเป็นวัตถุธาตุมีธาตุไหลเข้าไหลออก เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก กินอาหารแล้วก็ขับถ่ายอะไรอย่างนี้ รู้สึกลงไปวัตถุธาตุไม่ใช่ตัวเราอย่างนี้เห็นอนัตตา

ถ้าเห็นไตรลักษณ์ หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้ถึงจะเป็นวิปัสสนา หรือดูจิตดูใจ เห็นว่ามันไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยววิ่งไปดู เดี๋ยววิ่งไปฟัง เดี๋ยววิ่งไปคิด หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา นี่เห็นอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนา เห็นจิตจับผู้รู้นิ่งอยู่ที่ตัวผู้รู้นิ่งๆ อยู่ ไม่ได้เห็นตัวผู้รู้เป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าดูจิตแล้วเป็นวิปัสสนาเสมอไป ต้องเห็นไตรลักษณ์ ดูกายก็ต้องเห็นไตรลักษณ์

เพราะฉะนั้นต้องรู้จักหัดหมายรู้มัน ถ้าเรารู้สึกร่างกายแล้วใจเฉยๆ พิจารณาลงไป คิดพิจารณาลงไป ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ กระตุ้นให้จิตหัดมองไตรลักษณ์ พอกระตุ้นแล้วต่อไปจิตมันมองไตรลักษณ์ได้เอง ตรงที่มันมองไตรลักษณ์ได้เอง ตรงนั้นแหละทำวิปัสสนาแล้ว ไม่ได้เจตนาคิดแล้ว

อีกตัวหนึ่งที่ต้องเห็นคือ ขันธ์ตัวที่ ๔ เรียกว่าสังขารขันธ์ อันแรกรูปขันธ์ อันที่ ๒ เวทนาขันธ์คือ ความสุข ทุกข์ ที่ ๓ สัญญาขันธ์ ความหมายรู้ต่างๆ จำได้หมายรู้ ที่ ๔ คือ สังขารขันธ์ ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง เนี่ยไม่ใช่จิต ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดมาปรุงแต่งจิต เรียกว่าสังขาร

ความดี ความชั่วทั้งหลายเป็นสังขาร อยู่ในกองสังขารขันธ์ นี่เราภาวนาเห็นสังขารทั้งหลายเกิดดับ เช่น เห็นความโกรธเกิดแล้วก็ดับ ความโลภ ความหลงเกิดแล้วก็ดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับ อย่างบางทีอยากฟังเทศน์ ใจเป็นกุศลอยากฟังธรรม ฟังไปสักพักหนึ่ง ใจขี้เกียจ ใจพลิกแล้ว กุศลพลิกเป็นอกุศล รู้ทันเข้าไป มันก็ดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับ อกุศลเกิดแล้วก็ดับ อย่างนี้เรียกว่าเราเดินปัญญาแล้ว ถ้าเห็นจิตนิ่งอยู่เฉยๆ เป็นสมถะ เห็นร่างกายอยู่เฉยๆ เป็นสมถะ เห็นท้องพองท้องยุบนี่เรียกว่าเห็นร่างกายเฉยๆ ไม่เห็นไตรลักษณ์ เป็นสมถะ

แต่ถ้าเห็นว่าตัวที่พองตัวที่ยุบไม่เที่ยง ตัวที่พองตัวที่ยุบไม่ใช่เรา อันนี้เป็นวิปัสสนาได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าพองยุบผิด มันอยู่ที่ว่ามองถูกไหม ถ้ามองถูกมันก็ถูกเหมือนๆ กันหมด ถ้ามองผิดก็ผิดเหมือนๆ กันหมด ไม่ดีไม่เลวกว่ากันหรอกกรรมฐานทั้งหลาย

ตัวสุดท้ายคือตัวจิต วิญญาณขันธ์ เราจะเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตเดี๋ยวก็เกิดที่ตา แล้วก็ดับลงที่ตา เกิดที่หู แล้วดับลงที่หู เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดแล้วดับลงไปหมด ที่ใจนี่ถ้าเราฝึกให้ดี เราจะเห็นจิตที่เป็นผู้รู้ จิตเป็นคนรู้ ค่อยๆ ฝึก แล้วต่อไปเวลาตาเห็นรูป มันจะรู้ว่ารูปนี้ถูกรู้ หูได้ยินเสียง มันจะรู้ว่าเสียงนี้ถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นคนรู้ นี่เรียกว่าจิตผู้รู้ เวลาใจคิดหรือมีความรู้สึก มีอารมณ์ทั้งหลาย จิตจะไม่ไหลลงไปจมอยู่ในอารมณ์ จิตมันถอนตัวขึ้นมาเป็นคนดู มันเห็นอารมณ์ทั้งหลายผ่านมาผ่านไป สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลาย ผ่านมาผ่านไป เป็นขันธ์ต่างหาก ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนดู พอเข้าถึงสภาวะที่แท้จริงของจิต สภาวะที่แท้จริงของจิต อะไรคือลักษณะของจิต ธรรมชาติที่รู้อารมณ์เรียกว่าจิต เพราะฉะนั้นเราจะรู้จักธรรมชาติที่รู้อารมณ์ก็คือที่ครูบาอาจารย์วัดป่าเรียกว่าจิตผู้รู้นั่นเอง เราจะเข้าไปจนถึงตัวจิตจริงๆ แล้ว จิตของเราไม่ใช่จิตจริงๆ จิตของเราเป็นจิตที่ปนเปื้อน ปนด้วยความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง ปนด้วยความดีบ้าง ความโลภ ความโกรธ ความหลงบ้าง แล้วเราก็คิดว่าเราโลภ เราโกรธ เราหลง แต่พอจิตมันถอนตัวออกมาเป็นผู้รู้แล้ว มันจะเห็นเลย ความสุข ความทุกข์ ไม่ใช่จิตหรอก เป็นของถูกรู้ ถูกดู ความดี ความชั่ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปเห็นเข้า เราจะฝึกจนกระทั่งมีจิตเป็นผู้รู้ขึ้นมา ผู้รู้ตัวนี้ยังมี ๒ อย่าง ผู้รู้ที่ถูกกับผู้รู้ที่ผิด ผู้รู้ที่ถูกนี่เกิดขึ้นมาได้ ๒ แบบ เห็นไหม ยากไหม เยอะแยะเลย เอาง่ายๆ เลยก็คือ ถ้าเมื่อไหร่เรารู้ทันว่าจิตหนีไป จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น

 

ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนแล้วรู้

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นวิธีแบบง่าย ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วพอจิตหนีไปคิด จิตหนีไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน อย่างรู้ลมหายใจนี่ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจรู้ทัน ตรงที่รู้ทันว่าจิตไหลไปไหลมานั่นแหละ จิตผู้รู้จะเกิด อีกวิธีหนึ่งต้องเข้าฌาน จนถึงฌานที่ ๒ นี่จะได้จิตผู้รู้ที่ทนทาน ประเภทอยู่ตรงนี้นี่จิตผู้รู้ก็ไม่หายไปไหนเลย ต้องระดับนั้นขึ้นไป ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอาเท่าที่ทำได้ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ ในที่สุดจะได้จิตที่เป็นผู้รู้

จิตที่เป็นผู้รู้ไม่ใช่ของประหลาด ในอภิธรรมบอกไว้ชัดเจนเลยว่าอะไรคือลักษณะของจิต ลักษณะเฉพาะของจิตก็คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่จิตชอบทำเกินธรรมชาติ เกินหน้าที่ แทนที่รู้อารมณ์แล้วจะรู้เฉยๆ รู้แล้วก็ยินดีบ้าง รู้แล้วก็ยินร้ายบ้าง นี่เกินขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่มันยินดียินร้ายขึ้นมา ก็รู้ทันเข้าไปอย่างนี้ทำงานเกินหน้าที่ เกินรู้แล้ว มันก็จะทำงานแค่รู้ พอทำงานแค่รู้มันจะเห็นขันธ์ทั้งหลายทำงานได้ กระทั่งตัวจิตที่ทำงานได้นี้ไม่ใช่ตัวเรา แล้วต่อไปมันจะเห็นว่ามันคือตัวทุกข์ ตรงที่เห็นแตกหักลงไปว่าตัวจิตคือตัวทุกข์ ผู้รู้คือตัวทุกข์นี่แหละ วัฏฏะ สังสารวัฏจะถล่มลงต่อหน้าต่อตาเราเลย ถล่มลงกลางอกเรานี่เอง แตกหักกันลงตรงนี้เอง

ไปภาวนา ขั้นต้นนี้ก็หัดรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ แยกขันธ์ไป ให้มันมีใจเป็นคนรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้ ร่างกายกินอาหาร ขับถ่าย ใจเป็นคนรู้ รู้ไปเรื่อย ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้น ใจเป็นคนรู้ ความดี ความชั่วเกิดขึ้น ใจเป็นคนรู้ เรียนรู้มันไปเรื่อย จิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดูมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ถ้าดูได้อย่างนี้ จำที่หลวงพ่อสอนไว้ ถึงวันหนึ่งมันจะทำลายผู้รู้ไป มันทำลายตัวของมันเอง มันเจาะเปลือกออกมาเอง จิตที่บริสุทธิ์นั้นมันเจาะ ทำลายเปลือก สิ่งที่เป็นเปลือกคืออาสวะกิเลสจะถูกทำลายออก ประโยคเดียวที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อ หลวงพ่อมาสอนพวกเราสามสิบกว่านาที ถ้าสอนเท่าที่หลวงปู่ดูลย์สอนคงไม่ทำ คงทำไม่ไหว หน้าตาขี้เกียจ ไม่ใช่โง่ หน้าตาขี้เกียจ ให้ต่อสู้ค้นคว้าไม่ค่อยทำ เลยต้องขยายความให้ฟัง ถ้าได้ยินแค่ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตทำลายจิต คงไปหาทางระเบิดตัวผู้รู้

มีพระไปหาหลวงพ่อที่สวนโพธิ์ฯ เคยไปอ่านที่หลวงพ่อเขียนไว้เรื่อง พบผู้รู้ ทำลายผู้รู้ ท่านมาทำหน้าอย่างนี้มา (ทำหน้าเอ๋อๆ) ผมทำลายผู้รู้ไปแล้ว (หลวงพ่อ)บอกท่านกลับมาก่อน ท่านทำลายสติ ทำลายสมาธิ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีๆ ไปหมดแล้ว บ้าแล้ว เรียกว่ายังอยู่กลางทะเลแล้วไปทำลายผู้รู้ เราไม่ได้ทำลาย จิตมันทำลายของมันเอง เมื่อปัญญารู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจะทำลายอาสวะกิเลสเอง ทำลายอวิชชาเอง สอนให้แล้ว ก็จำไว้ก่อน จำไว้ก่อน วันหนึ่งจะได้ใช้

 

เรียนรู้ทุกข์ : หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ไฟล์ 610401A ซีดีแผ่นที่ ๗๕