ฆ่าตัวตายอย่างไรก็บาป

ตอนนี้โรคก็ระบาดก็เยอะ รักษาตัวเองให้ดีก็แล้วกัน มีสติไว้ อยู่บ้านได้ก็อยู่บ้าน แต่อยู่บ้านก็ต้องดูด้วย คนในบ้านเราเอาเชื้อมาให้เราก็ได้เหมือนกัน ก่อนหน้านี้เราใส่หน้ากากเข้าหากัน แต่ตอนนี้ไว้ใจใครไม่ได้เลย กระทั่งคนในบ้าน โรคระบาดมันห้ามไม่ได้ มีคนไม่มีศีลมีธรรมอะไรพวกนี้ไปรับโรคเข้ามา เอามาแพร่ เราไม่ได้รู้ได้เห็นด้วย เราก็เดือดร้อนไปด้วยเราห้ามไม่ได้ เราก็รักษาตัวเองเท่าที่ทำได้ให้ดีที่สุด จุดสำคัญ คือการรักษาใจของเราเอง อย่าปล่อยให้ความเครียด ความทุกข์ร้อนกังวลครอบงำ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวไม่ได้ติดโควิด แต่เป็นโรคจิตเสียก่อน

ธรรมะช่วยเราตรงนี้ การที่เราฝึกมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ก็ช่วยรักษาร่างกายของเราไม่ให้ติดเชื้อหรือติดก็น้อยลง โอกาสติดมันน้อยลง อย่างคนไม่มีศีลมีธรรมมันเที่ยวแหล่งอบายมุขอะไรอย่างนี้ มันก็เอาเชื้อออกมาไปแพร่กัน

ตัวเลขหลังๆ ไม่ใช่ติดจากอบายมุขแล้ว แต่ติดจากคนใกล้เคียงมากกว่าติดจากแหล่งต้นตอแล้ว มันกระจายออกมา เรามีศีลมีธรรม พอมาถึงจุดนี้รักษาตัวยาก คนใกล้ชิดมันเอามาให้ แต่ธรรมะยังช่วยเราได้อีกเรื่องหนึ่ง คือการรักษาจิต ทำอย่างไรจิตจึงจะไม่เดือดร้อนวุ่นวาย วิตกกังวล

ฝึกจิตฝึกใจตัวเองให้ดี มันก็ช่วยตัวเองได้ ใจมันจะรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ใช่ตัวเรา มันจะต้องเจ็บ มันจะต้องตายอะไรอย่างนี้ กรรมเป็นตัวกำหนดให้ กรรมมีทั้งกรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่าส่งผลมา ทำให้เราต้องเกิดมาอยู่ร่วมกับคนไม่มีวินัย กรรมใหม่คือความประมาทของเราอะไรอย่างนี้ มันก็มีทั้งกรรมเก่ากรรมใหม่ส่งผลมา บางทีก็เลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลารับวิบาก ก็เผชิญหน้ากับมัน ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง องอาจกล้าหาญ ถึงจะกลัวถึงจะกังวลก็ช่วยอะไรไม่ได้ เราไม่ประมาท แต่ไม่กังวล

คนไม่ได้ภาวนาทำไม่ได้หรอก พวกไม่กังวลมันก็ประมาทไปเลย เราไม่ประมาทด้วย ไม่วิตกกังวลด้วย อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ใครมันจะอยู่ค้ำฟ้า ชีวิตเราช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช้มันให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง กับส่วนรวม กับผู้อื่นอะไรอย่างนี้ เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ไม่น่าเสียดายถ้าว่าจะต้องเจ็บ ต้องตายอะไรไปปุบปับ ไม่รู้สึกเสียใจตัวเอง บางคนไม่ได้ทำความดี พอจะตายแล้วเสียดายไม่มีโอกาสได้ทำความดี อันนั้นประมาท

ถ้าเราไม่ประมาท เราก็ฝึกของเราทุกวันๆ ให้มันเข้มแข็ง ให้มันฉลาด มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันมันก็ร่มเย็นเป็นสุข เรียนรู้ความจริงของปัจจุบัน ความจริงอยู่ในปัจจุบันนี้ล่ะ ชัดเจนที่สุด

ถามว่าเราภาวนา เราดูอะไร จริงๆ เราดูความจริง ความจริงในกาย ความจริงในใจ ไม่ใช่ไปดูโน้นดูนี้ ดูกาย หรือดูจิต บางคนบอกการปฏิบัติคือการดูจิต อันนั้นไม่พอ การปฏิบัติจริงๆ คือการดูความจริงของกาย ดูความจริงของจิตใจ ดูจนมันยอมรับความจริงได้ ร่างกายเราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ห้ามมันไม่ได้ ถึงคราวที่มันจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตใจไม่หวั่นไหว จิตใจก็ร่มเย็นเป็นสุข

จิตใจเราก็เหมือนกัน มีแต่ความเปลี่ยนแปลง สั่งให้สุขตลอดก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เราควบคุมบังคับได้จริงเลย เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเห็นความจริงของมัน ดูความจริง ไม่ใช่ดูกายดูใจเฉยๆ ดูกายเฉยๆ ดูใจเฉยๆ เรียกว่ามีสติ ถ้าดูความจริงของกายของใจ เรียกว่าการเจริญปัญญา

ฉะนั้นเราชาวพุทธไม่ใช่ดูกายดูใจ แต่ดูความจริงของกายของใจไป เรารู้ความจริงแล้วจิตใจมันไม่วิตกกังวลอะไร อะไรมันจะเกิดมันก็เกิด แต่เราไม่ได้ประมาท คนทั่วไปมันทำไม่ได้ พอไม่ประมาทก็กังวล ถ้าประมาทก็ไม่กังวลเลย ประมาทขึ้นมาโง่ไปเลย ของเราไม่ประมาทด้วย ไม่กังวลด้วย ฝึกตัวเองให้ดี

 

ฆ่าตัวตายอย่างไรก็บาป ไม่มีข้อยกเว้น

อีกเรื่องหนึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีพวกเราถามหลวงพ่อกรณีพระองค์หนึ่ง ไปตัดหัวตัวเองเป็นพุทธบูชา มันถูกมันผิดอะไร มันจะเป็นอย่างไร การฆ่าตัวตายอย่างไรก็บาป ไม่มีข้อยกเว้นว่าใครจะเป็นคนฆ่า ถ้าเจตนาฆ่าสัตว์ให้ตายก็บาปแล้ว

ฉะนั้นตรงนี้ถ้าเป็นพระไปฆ่าตัวตาย ปาราชิกเลย แต่ถ้าเป็นฆราวาสอย่างเคสที่เป็นข่าวกันนั้น เขาสึกก่อน เพราะฉะนั้นเป็นฆราวาสฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาเป็นความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง อ่านประวัติพระเมตไตรย บอกพระเมตไตรยตอนเจอพระพุทธเจ้าครั้งแรก ไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์นี้ พระพุทธเจ้าเก่าๆ ท่านเลื่อมใสศรัทธารุนแรง ท่านเป็นพวกศรัทธากล้า เป็นพวกวิริยะกล้า ท่านไม่ใช่พวกปัญญากล้า หรือสมาธิกล้า

ตำราบอกว่าท่านตัดศีรษะบูชาพระพุทธเจ้า ตำรานั้นเราก็ต้องดูว่าตำราชั้นไหน ตำราถ้าอยู่ในพระไตรปิฎกก็เป็นของแน่นอน ถ้าเป็นตำราที่พระรุ่นหลังท่านแต่งขึ้นมา บางทีแต่งเพื่อจะบิลด์ออกไปทางดรามามาก เพื่อให้รู้สึกว่านี่ท่านศรัทธาจริง มีข้อยกเว้นไหมว่าพระโพธิสัตว์ทำบาปแล้วไม่บาป ไม่มี เราไปเห็นว่านี่เป็นพระเมตไตรย เรานับถือพระศรีอาริย์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านทำต้องดีที่สุด ถูกที่สุด อันนั้นเป็นความงมงาย

เราต้องไม่ลืมอย่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์เป็นปุถุชน พระโพธิสัตว์ยังเวียนลงนรกได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำไม่แน่ว่าจะถูกเสมอไป ต้องใช้สติใช้ปัญญาว่าอะไรที่มันผิดศีลต้องไม่ทำ ถ้ายังทำอยู่ก็มันไม่ถูกหรอก ฉะนั้นพระโพธิสัตว์ท่านยังลองผิดลองถูกอยู่

ยุคของเรานี่นับถือพระโพธิสัตว์มากกว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนอะไรไม่ค่อยเชื่อ ไปดูแบบอย่างพระโพธิสัตว์ ท่านทำถูกบ้างผิดบ้างเป็นเรื่องปกติ เอาเป็นต้นแบบเป็นนิยามอันดีไม่ได้ ถ้าดูจริยวัตรของพระพุทธเจ้าอันนั้นถึงจะใช้ได้ ดูจริยวัตรพระพุทธเจ้าองค์เดียวสำคัญที่สุด พระอรหันต์สาวกบางทียังทำอะไรที่ไม่สมควรเลย อย่างมีองค์หนึ่งท่านเหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์ เพื่อไม่ให้คนต่างศาสนาดูถูกศาสนาพุทธ ท่านเลยแสดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ตำหนิ ไม่ใช่ไม่ตำหนิ

 

“คนที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นแบบอย่างได้แน่นอนคือพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

 

ฉะนั้นไม่ใช่จะใช้อะไรเป็นแบบอย่างได้ตลอด คนใดคนหนึ่ง คนที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นแบบอย่างได้แน่นอนคือพระพุทธเจ้าเท่านั้น เราก็ดูตัวอย่างไป บางคนก็นับถือครูบาอาจารย์ เอาครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่าง ครูบาอาจารย์บางทีท่านก็อัตโนมัติของท่านเหมือนกัน จะมีข้อวัตรอะไรเฉพาะตัวที่ท่านเคยทำแล้วมันดี เราไปเห็นตัวอย่างครูบาอาจารย์ ท่านทำแบบนี้แล้วดี เราก็เอาอย่างอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็ได้

ฉะนั้นเราทำอะไรก็ต้องมีเหตุมีผล อย่างการฆ่าตัวตายนี่บัณฑิตทั้งหลายเขาติเตียนทั้งนั้น หลวงพ่อไปเห็นคำสอนครูบาอาจารย์หลายองค์ ท่านพูดถึงการฆ่าตัวตาย อย่างสมเด็จพระญาณสังวรฯ ท่านไม่ธรรมดา ท่านสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งทุกอย่างเลย ท่านยังพูดเลยว่า “ร่างกายมันมีประโยชน์ เอาไว้ทำประโยชน์ เอาไปฆ่าทิ้งแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไร เป็นบาปเป็นกรรม ก็เสียประโยชน์ของตัวเอง เสียประโยชน์ของผู้อื่นด้วย”

ฉะนั้นเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาอะไรนี่ อย่าไปทำเลยไม่มีประโยชน์อะไร เป็นความงมงาย ถามว่าพระพุทธเจ้า ท่านอยากได้หัวของใครไหม ท่านไม่ได้อยากได้หัวของใครหรอก เอาหัวไปใส่บาตรท่านเอาไหม ท่านก็ไม่ได้ปลื้มด้วยหรอก แต่ถ้ามองอย่างกรณีพระเมตไตรย หลวงพ่อมองอีกอย่างหนึ่ง คำว่าตัดศีรษะ ตัดหัวของท่าน มันคือคำว่าตัดอัสมิมานะ ท่านเป็นกษัตริย์ในยุคนั้น กษัตริย์อย่างไรก็มีความถือตัว แต่พอเจอพระพุทธเจ้านี่ตัดหัว อาจจะเป็นธรรมาธิษฐาน เป็น symbolic สัญลักษณ์อย่างหนึ่ง การตัดหัวก็คือการตัดมานะถือตัว ตัดอัสมิมานะ กูเหนือคนอื่น อย่างนี้ต้องตัด

ถ้าท่านตัดได้ดีที่สุดเลย ถ้าตัดหัวจริงๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร บางทีเรามองนิทานตำนานทั้งหลาย ก็มองแล้วทะลุนิทานเข้าไปแล้วให้เห็นธรรมะให้ได้ การตัดหัวที่ดีที่สุด คือตัดอัสมิมานะ กูเหนือคนอื่น กูแน่ กูหนึ่ง กูไม่ก้มหัวให้ใคร

ตัวนี้ดูให้ดี ตำราชั้นไหนเขียนไว้ก็ดูเอา ถ้าชั้นพระไตรปิฎกก็เชื่อถือได้ ชั้นรองๆ ลงมาบางทีก็แฝงธรรมะซ่อนเอาไว้ ก็ต้องมีสติมีปัญญา มองให้ออก มองไม่ออกก็คิดว่าทำอย่างนี้เราได้บุญ ได้บาป การฆ่าสัตว์ไม่มีได้บุญหรอก เข้าใจอย่างนี้นะ ชาวพุทธอย่าโง่งมงาย เดี๋ยวก็เลียนแบบกัน ใช้ไม่ได้หรอก

ฉะนั้นการภาวนา ต้องฝึกตัวเองให้มันมีศีล ให้มันมีสมาธิ ให้มีปัญญา มีปัญญาอย่างต่ำเลยก็เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อเหตุ เชื่อผล ในเรื่องของตัวสัมมาทิฏฐิ บางทีมีเรื่องของความเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องอริยสัจ 4 ข้อ มันเป็นเรื่องการรู้เหตุ รู้ผล รู้ว่าเหตุ ผลอย่างนี้มีเหตุมาอย่างนี้ เหตุอย่างนี้มีผลอย่างนี้ เหตุกับผลมีความสัมพันธ์กัน ลักษณะความสัมพันธ์กันมีกฎแห่งกรรม กฎของธรรมะทั้งหลาย ธรรมนิยามทั้งหลาย กฎของปฏิจจสมุปบาทอะไรอย่างนี้ จะเข้าใจตรงนี้ ถ้าเราภาวนาไป เราก็จะไม่โง่งมงาย ทำอะไรตามแบบกัน เดี๋ยวเราก็จะไปเลื่อมใสพระตัดหัวตัวเอง ก็คือเลื่อมใสผู้ทำผิดศีล อย่าไปเลื่อมใสอย่างนั้น ไม่ถูก

 

ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การภาวนาตั้งอกตั้งใจ เวลาของเราแต่ละคนมีจำกัด ไม่ใช่มีเวลาไม่จำกัด ในชีวิตหนึ่งจะยาวนานสักเท่าไร เราไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เราไม่รู้ว่าเวลาเราเหลือเท่าไหร่ เราใช้เวลาที่เหลือนี้ให้มีประโยชน์สูงสุด มีประโยชน์กับตัวเอง ประโยชน์กับส่วนรวม คนอื่น กับหมู่คณะอะไรอย่างนี้ ทำประโยชน์ การทำประโยชน์ต้องไม่ผิดศีลผิดธรรม ถ้าทำอะไรที่ผิดศีลผิดธรรมเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนอื่นก็ตาม อันนั้นไม่เรียกว่าการทำประโยชน์ นั้นคือการทำโทษ แยกให้ออกว่าอันไหนเป็นคุณเป็นโทษ

ฉะนั้นเราอย่างทุกวันทุกเวลาที่ผ่านไป เราผ่านชีวิตช่วงแต่ละวันๆ ด้วยความมีสตินั้นวิเศษที่สุดเลย จะทำอะไรก็คอยรู้สึกตัวไว้ ตั้งแต่ตื่นนอนจิตใจของเราเป็นอย่างไร ร่างกายของเราเป็นอย่างไร รู้สึกไว้ ตื่นขึ้นมาแล้วใจมันคิดเรื่องนี้ จิตใจของเราเป็นอย่างไร รู้สึกไว้ ร่างกายเราทำงาน เราก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวทำงานไป จิตใจมันเข้าไปแทรกแซงร่างกายอย่างไร รู้สึกไว้ อย่างหลวงพ่อก็เคยเป็นแต่ก่อนนี้ ภาวนา ดูลงมาในร่างกาย รู้สึกร่างกายนี้น่าเบื่อหน่ายมากเลย มีแต่ทุกข์ อย่างการที่เราต้องขึ้นรถไปทำงาน ต้องแบกร่างกายไป ถ้าเราไปทำงานด้วยจิตใช่ไหม ก็ไม่ต้องขนร่างกายไป ร่างกายนี้เป็นภาระจริงๆ

จะกินข้าวก็เหนื่อย หาข้าวกิน หาเงินมาซื้อข้าวกิน มีเงินแล้วยังต้องเลือกอีกจะอยากกินอะไร เวลากินแล้วร่างกายก็เคี้ยวไป บางทีจิตใจมันชอบ อย่างชอบของเผ็ดจัด หลวงพ่อไม่ได้ชอบ หมายถึงเป็นตัวอย่าง ชอบของเผ็ดจัด จิตใจ แหม กินแล้วสนุก เบิกบาน แต่ร่างกายมันทุกข์ทรมาน ปวดท้อง จะขับถ่ายอะไรก็ลำบาก ความลำบากนั้นมันมาอยู่ที่ร่างกาย จิตใจนี้เป็นตัวร้ายกาจ มันแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของร่างกาย ดูลงมาอย่างนี้ เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร เป็นตัวทุกข์ ถูกจิตใจนี้กระทำย่ำยีอยู่ตลอดเวลา เป็นภาระมากมายตั้งแต่ตื่นนอน ต้องขับถ่าย ต้องอาบน้ำ ต้องหาข้าวกิน ต้องแต่งตัว ต้องเดินทาง เป็นเรื่องของกายทั้งนั้นเลย กระทั่งต้องหาที่นอน เหน็ดเหนื่อยมาแล้วก็ต้องกลับมาบ้าน อาบน้ำอาบท่าแล้วก็นอนอะไรอย่างนี้

เรื่องของร่างกายเป็นภาระที่เราต้องดูแลตั้งแต่เช้ายันเย็น เห็นทีแรกเบื่อหน่ายร่างกาย รู้สึกร่างกายเป็นของไม่ดี ดูไปๆ สติปัญญามันแหลมคมขึ้น มันเห็นร่างกายนี้มันเป็นทาส จิตใจนี้มันตัวร้าย มันแสวงหาความสุข โดยการใช้ร่างกายทำอันโน้นทำอันนี้ตลอดเวลา อย่างร่างกายต้องไปทำงานเหน็ดเหนื่อย ได้เงินมาร่างกายก็ไปซื้อข้าวมากิน เคี้ยวข้าวอะไรอย่างนี้ จนกระทั่งถึงขับถ่ายอะไรอย่างนี้ ก็ร่างกายเป็นคนทำทั้งนั้นเลย แหมแต่จิตใจนี้เบิกบานสบาย มันเอาเปรียบชัดๆ เลย ดูไปดูมานะ ไม่ได้เห็นโทษของกาย รู้สึกร่างกายนี้น่าสงสาร ดูลงมาร่างกายตัวเองก็น่าสงสาร ร่างกายคนอื่นก็น่าสงสาร มันเต็มไปด้วยความเมตตา ไม่ได้คิดว่าจะไปฆ่ามันให้มันตาย ตัวที่ร้ายกาจก็คือตัวจิตที่มันมีกิเลสลากจูงไปนั่นล่ะ ค่อยภาวนาๆ ไป ศัตรูร้ายของเรามันคือจิตใจเรานี่เอง คือศัตรูร้าย

 

 

ทีนี้ภาวนาไปอีก ค่อยๆ เห็นละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก จิตใจมันก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ทีแรกเห็นร่างกายไม่เป็นตัวของตัวเอง ตกเป็นทาสของจิตใจ มาดูจิตใจ จิตใจก็ไม่เป็นตัวของตัวเองอีกแล้ว จิตใจเป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของตัณหา ศัตรูที่แท้จริงของเราไม่ใช่สิ่งอื่นเลย ก็คือกิเลสตัณหาของเรานี่เอง พอเห็นตรงนี้ แหม มันเกลียดชังกิเลสตัณหา หาทางจะทำลายมัน ภาวนาใหญ่ ทำอย่างไรจะละมันทำลายมันให้ได้ ไม่ได้คิดจะทำลายจิตใจแล้ว ไม่ได้คิดทำลายร่างกายแล้ว ร่างกายจิตใจมันเป็นทาสของกิเลสตัณหาอีกที ตัวนายทาส ตัวกิเลสตัณหาของเรานี่เอง มันอยู่ที่ไหน มันซ่อนอยู่ที่จิต ซ่อนอย่างประณีตลึกซึ้งอยู่ที่จิตที่ใจของเรานี้เอง เฝ้าดูลงมา สังเกตลงมา ก็เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมา ผุดขึ้นมาจากกลางอก มันผุดๆๆๆ ขึ้นมา แล้วก็ดูมันขึ้นมาจากไหน พอขึ้นมาพอเรารู้ทันมันก็ดับ ถ้ารู้ไม่ทันมันก็ครอบจิตใจเรา บงการให้ร่างกายเราทำความชั่วอย่างโน้นอย่างนี้ ให้จิตใจคิดชั่ว ให้ปากพูดชั่ว ให้ร่างกายทำชั่ว เป็นผลของกิเลสทั้งหมดเลย

ฉะนั้นกิเลสคือศัตรู ก็คอยดูกิเลสมันอยู่ที่ไหน เห็นมันผุดขึ้นมาจากกลางอก หลวงพ่อตามดูลงไปอีก พอกิเลสมันผุดขึ้นมา ก็รู้มันเบาๆ ถ้ารู้มันแบบคมกริบ กระทบปั๊บขาดปั๊บเลย แต่นี่รู้แบบทะนุถนอมกิเลส เป็นชั้นเชิงของจิตใจ เห็นมันค่อยๆ หดตัวลงไป หดๆๆๆ ลงไป กลับเข้าไปข้างใน หลวงพ่อตามดู แล้วมันก็ลงไปลึกๆๆ ลงไปเรื่อยๆ ในใจก็ห้าวหาญมาก ก็นึกเลยว่าถึงมึงจะหนีไปอยู่เมืองบาดาลก็จะตามไปดู พญานาคไม่กลัวแล้ว จะตามดูว่ากิเลสมันโผล่มาจากไหน พอลึกลงไปทีเดียว ค่อยหายไป ลึกๆ ลงไปแล้วมันสลายไปแวบไป อ้าว ไม่มีแล้ว ดูในจิตในใจ ไม่เห็นมีกิเลสเลย ทำอย่างไรดี ถอยขึ้นมาใหม่ก็ออกมาอยู่ข้างนอกนี้ แล้วเดี๋ยวพอการกระทบอารมณ์เกิดขึ้น กิเลสก็ผุดขึ้นมาอีก ก็ดูแล้วมันก็หดลงไปอีก หดลงไปแล้วมันก็หาย ตามดูอย่างไรมันก็ไม่ได้ผล หาต้นตอของกิเลสไม่ได้

วันหนึ่งไปเจอหลวงปู่สิม ขึ้นไปกราบท่านที่วัดถ้ำผาปล่อง พอท่านเห็นหน้าหลวงพ่อ เรายังไม่ทันส่งการบ้านเลย ท่านกวักมือเรียกเลย ท่านบอก “ผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี่ กิเลสไม่ได้อยู่ข้างในนั้นหรอก” ท่านเห็นว่าเราโง่ เข้าไปควานหากิเลสข้างในจิต กิเลสมันย้อมจิตเรา มันผุดขึ้นมาจากจิต แต่ท่านบอกว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก ออกมาอยู่นี่ กิเลสมันอยู่นอกๆ นี่ ท่านสอนง่ายๆ อย่างนี้ “กิเลสมันอยู่นอกๆ นี่ กิเลสไม่ได้อยู่ข้างใน” เราก็ เออ ท่านว่ากิเลสมันอยู่ข้างนอก ก็เห็นมันผุดจากข้างใน ท่านว่ามันอยู่ข้างนอกก็ข้างนอกล่ะ เราต้องเข้าใจอะไรผิด ครูบาอาจารย์ไม่ผิด ครูบาอาจารย์เราแต่ละองค์ไม่ธรรมดา แล้วมาสังเกตดูกิเลสเกิดจากอะไร มีผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ของข้างนอกทั้งหมดเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ของข้างนอก ธรรมารมณ์ถ้าดูให้ดีก็ของนอก เป็นของถูกรู้ถูกดู พอมีการกระทบอารมณ์ มันเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ขึ้นมา มีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ ผุดขึ้นมาในใจ แต่ก่อนที่มันจะมาผุดตรงนี้ มันมีกระบวนการที่จิตทำงานตั้งหลายขั้น อย่างตาเรามองเห็นรูป มันมีการส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต มีการแปลความหมายของสิ่งที่รู้ที่เห็นนั้น พอแปลความหมายเสร็จแล้วมันตีความ มันตัดสินว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้สุข อันนี้ทุกข์อะไร อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบอะไรขึ้นมานี่ แล้วใจมันถึงจะเกิดกิเลสขึ้นมา มันตัดสินก่อน เราตัดสินเองไม่ได้ จิตมันตัดสินของมันเอง ว่าต่อไปนี้กุศล หรืออกุศลจะเกิด สุขหรือทุกข์จะเกิดในใจเรา เราเลือกไม่ได้

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป กิเลสมันเกิดอย่างนี้เอง กิเลสไม่ใช่ว่ามันเกิดอยู่ข้างใน ตามลงไปข้างในจะไปทำลายต้นตอของมัน ที่จริงกิเลสมันมาจากผัสสะ มีผัสสะเกิดเวทนา พอมีเวทนามันก็เกิดกิเลส มีกิเลสแล้วก็เกิดตัณหา มีตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน มีอุปาทานแล้วเกิดภพ มีภพแล้วก็เกิดการหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือชาติ มีชาติขึ้นมาก็มีทุกข์ขึ้นมา ค่อยๆ เห็นไป ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ เห็น อย่างพอกระทบอารมณ์แล้วแปลความหมายได้ อันนี้เป็นรูปที่สวย จิตใจพอใจมีความสุขเกิดขึ้น พอมีความสุขเกิดขึ้นราคะมันแทรก ราคะมันเกิดร่วมกับตัวความสุขตัวนี้ เราเห็นมีราคะเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดตัณหาตามมาทันทีเลย อยากให้อารมณ์อย่างนี้เกิดบ่อยๆ อยากให้อารมณ์อันนี้เกิดขึ้นแล้วก็อยู่นานๆ ตรงที่อยากให้อารมณ์อันนี้เกิดขึ้น เรียกว่า กามตัณหา ตรงที่อยากให้อารมณ์นี้อยู่นานๆ เรียกว่า ภวตัณหา

บางทีกระทบอารมณ์แล้วเป็นอารมณ์ที่ไม่ถูกใจ โทสะมันเกิด มันแทรกตามโทมนัสเวทนา ทุกข์ทางใจมันเกิด กระทบอารมณ์แล้ว แปลความหมายแล้วมันไม่พอใจ อึดอัดขัดข้องใจขึ้นมา โทสะก็แทรก ฉะนั้นโทสะนี้แทรกตามเวทนาขึ้นมา เกิดมาด้วยกัน แต่ว่าจริงๆ เป็นเหตุเป็นผลกัน แต่เวลาผุดขึ้นมา มันผุดขึ้นพร้อมๆ กันเลยแยกไม่ออก ใครก่อนหน้าก่อนหลัง แต่ถ้าเราได้ค่อยสังเกตตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็รู้เลยมีเวทนาแล้วกิเลสมันก็แทรกตัวตามเวทนามา ไม่แทรกตัวตามเวทนาได้ ถ้าสติมันเกิด ไม่ใช่กิเลสเกิด ถ้าสติเกิด มีเวทนาสักแต่ว่ามีเวทนาได้ แต่ส่วนใหญ่สติมันไม่เกิด กิเลสมันก็เกิดแทนสติ เพราะฉะนั้นตรงนั้นเขาเรียกว่า ชวนจิต จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศล ตัวนี้มันเป็นผลจากการที่จิตมันตัดสินแล้วว่า อารมณ์นี้น่าพอใจหรือไม่พอใจ อารมณ์นี้นำความสุขมาให้ ราคะก็แทรกขึ้นมาเลย อารมณ์นี้นำความทุกข์มาให้ โทสะก็แทรกเลย

แล้วมันมีอารมณ์ที่ไม่แรง อารมณ์ที่ไม่ชัดเจน พวกนี้ไม่มีความสุข ไม่มีความทุกข์ แต่โมหะมันจะแทรก มันจะหลง อย่างเวลาเรามีความทุกข์ อย่างสมมติว่าศัตรูของเรามา มันเป็นคู่ต่อสู้เรา พอมันมานี่เราระมัดระวัง เราจะ alert จะคอยระวัง จิตนี้เหมือนกันเวลาเรามีอารมณ์หยาบๆ โทสะอะไรมา เราดูง่าย มันระมัดระวัง หรืออย่างเจอคนที่ชอบใจ รักมากเลย ชอบมากก็ดีใจใช่ไหม ให้ความสนใจคนที่เราชอบ คนไหนไม่ชอบ เราก็สนใจคนที่เราเกลียด คนไหนเกลียดมากเราสนใจมาก คนไหนเราชอบมาก เราก็สนใจมาก คนไหนที่เราเฉยๆ เราไม่สนใจ คนไหนบ้างที่เฉยๆ สามีที่อยู่กับเรามานานๆ หรือภรรยาที่อยู่กับเรานานๆ มันเฉยๆ ภรรยาอุตส่าห์จะให้สามีสนใจ อุตส่าห์ไปทำผมทรงใหม่มา ไปตัดเสื้อชุดใหม่มา แต่งตัวทำมาชวนสามีคุย สามีมองหน้า สนใจ ไม่รู้เลยว่าวันนี้อุตส่าห์ทำสวยมา

จิตนี้ก็คล้ายๆ อย่างนั้น อารมณ์ที่มันไม่ชัดเจน มันซ้ำซากจำเจอะไร มันเผลอๆ เพลินๆ ไป มันไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดี ไม่ชั่วอะไรขึ้นมา มันเฉยๆ เฉยๆ แต่หลง ตัวนี้ตัวโมหะ เป็นกิเลสที่ดูยาก ค่อยรู้ค่อยดู กิเลสมันเกิดจากอันนี้เอง มาจากผัสสะนี่ล่ะ กิเลสไม่ใช่เกิดจากว่ามันอยู่ในภวังคจิต เราจะลึกลงไปตรวจค้นในภวังคจิต หามันไม่เจอ เพราะมันไม่มีร่องรอยเลย มันแทรกซึมซ่านเป็นเนื้อเดียวกับจิตไปเลย มันไม่มีอะไรโดดเด่นขึ้นมา จนภาวนาๆ ไปจะเห็นมันแยกชั้น แยกชั้นออกจากจิต มันคนละอัน มันไม่ใช่จิต แล้วมันเป็นตัวร้าย มันเป็นเจ้านายของจิต พระพุทธเจ้าเวลาท่านตรัสรู้ ท่านถึงทักตัณหา “ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน เรารู้จักเจ้าแล้ว ต่อไปนี้ เจ้าสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกแล้ว” เรือนก็คือภพนั่นเอง มันสร้างภพ สร้างชาติให้เราไม่ได้อีกแล้ว ตัวกิเลสนี่ล่ะตัวร้าย เพราะฉะนั้นกายไม่ใช่ตัวร้าย จิตไม่ใช่ตัวร้าย มันคือตัวที่ถูกกดขี่เป็นชั้นๆ ไป ร่างกายก็ถูกจิตกดขี่ จิตก็ถูกกิเลสกดขี่

 

 

ฉะนั้นศัตรูของเราไม่ใช่ตัวเอง ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สิ่งอื่น ทุกวันนี้เอาแต่โทษคนอื่น โทษสิ่งอื่น โทษคนอื่น โทษสิ่งอื่นตลอด เวลาไม่ได้ทำมาหากิน ขี้เกียจทำมาหากินแล้ว ไม่มีเงินใช้ ก็โทษโน้นโทษนี้ไป หาว่าเมืองไทยนี้ไม่มีงานทำ คนตกงานมากมาย ตกงานมากมายทำไมจะต้องไปรับคนต่างด้าวมาตั้ง 2-3 ล้านคนเอามาทำงาน มันขัดแย้งกันในข้อเท็จจริง เราตกงานเพราะบางทีเราไม่อยากทำงาน เราอยากจะสบาย เรารักแต่ความสุขความสบาย รู้ไม่ทันกิเลสตัวเอง พอมันไม่ได้สบายอย่างใจก็ต้องหาเหยื่อ ด่าคนโน้น ด่าคนนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะด่าใคร ด่าโควิดอีก โควิดมันก็ไม่ได้เจตนามารุกรานเรา เราเองเป็นคนไปรับมันมาเอง ยื่นจมูกเข้าไปรับมันมาเอง

ฉะนั้นเราพยายามภาวนา ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสิ่งอื่นหรอก ให้รู้กิเลสตัวเองไว้ นี่คือศัตรูตัวสำคัญของเรา เราก็สู้มันไปด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ได้สู้ด้วยวิธีที่โง่งมงาย คนสู้กิเลสก็มี แต่บางทีสู้ด้วยความงมงาย คิดว่าจะสู้กิเลส ทำวิธีนี้ๆ ตัดหัวนี้สู้กิเลส ถ้ามันมีหัวอยู่มันก็ยังคิดอยู่ ตัดหัวทิ้งไม่ต้องคิด กิเลสจะได้ไม่ต้องเกิดอะไรอย่างนี้ กิเลสมันเกิดจากผัสสะ ผัสสะมันอยู่ที่ไหนบ้าง อยู่ที่ตา ตาก็อยู่ที่หัวใช่ไหม อยู่ที่จมูก ที่ลิ้น ที่เสียงที่หู ตา หู จมูก ลิ้น มันอยู่ที่หัวทั้งนั้นเลย จากใจเราก็รู้สึกมันอยู่ในหัวเราอีก แล้วหัวเราก็เป็นกายอีก ต้องตัดมันทิ้งเสียตัวต้นเหตุ อันนั้นไม่ฉลาดเลย ได้ทำลายสิ่งที่มีคุณค่า ทำลายโอกาสของตัวเองที่จะพัฒนาตัวเอง

 

ฆ่าตัวตายเป็นบาป ใครทำก็บาปทั้งนั้น

ส่วนใหญ่เท่าที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกมา พวกฆ่าตัวตายตกนรก ไม่มีข้อยกเว้นว่าใครฆ่าตัวตาย ถ้าคนระดับนี้ฆ่าตัวตายไม่ตกนรกอะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ฆ่าตัวตายก็ต้องรับกรรม ตกนรกไป บางทีมีชีวิตอยู่มีความทุกข์ มีความทุกข์ก็ไปฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายเสร็จแล้วมันก็เดินร้องไห้ไปเรื่อยๆ มันตกนรกแล้วล่ะ แต่นรกนั้นมันไม่ได้ถูกใครขัง นรกมันอยู่ที่จิตของตัวเอง สร้างภพตายซ้ำตายซากอยู่อย่างนั้น วนๆๆ แล้วฆ่าตัวตายซ้ำๆๆๆ ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นมันไม่มีข้อดีให้กับใครหรอก ถ้ามันมีข้อดีพระพุทธเจ้าต้องสอนไว้แล้ว ว่าให้เราไปฆ่าตัวตายเสีย นี่ท่านไม่ได้สอน ท่านบอกมันเป็นบาป ใครทำก็บาปทั้งนั้น แต่ถามว่าจะตกนรกทุกคนไหม ไม่แน่

มันมีกรรมอยู่ตัวหนึ่ง เรียกมรณาสันนกรรม กรรมในขณะจิตสุดท้ายที่จะตาย มันเกิดพลิกเป็นกุศลได้เหมือนกัน แต่ว่าป๊อบมันต่ำ โอกาสมันต่ำ ถ้าใจมันเคยชินที่จะชั่ว ตอนจะตาย กรรมที่เคยชิน เรียกอาจิณณกรรมนี้ให้ผลมา ที่จะพลิกล็อก เกิดเป็นกุศลฉับพลันตอนฆ่าตัวตายอะไรอย่างนี้ ถามว่ามีไหม มี ในคัมภีร์เราก็พูดถึงมีพระองค์หนึ่ง ท่านภาวนาสมัยพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาลนี้ ท่านภาวนาไปเจริญแล้วก็เสื่อม เจริญแล้วก็เสื่อม ท่านรู้สึกว่าเสียชาติเกิดจริงๆ อยู่ในแวดวงของสมณะที่ประเสริฐ อย่างในวงของชาวพุทธเรานี่ อยู่กับพระพุทธเจ้าแท้ๆ เลย อยู่กับพระอรหันต์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่ทำไมเราไม่ดีอย่างคนอื่นเขา รุ่นเดียวกันเขาพ้นทุกข์ไปแล้ว เราไม่พ้นสักที ท่านก็เจ็บใจตัวเองมากเลย ท่านก็เลยดู เมื่อเป็นพระไม่ดีอย่าเป็นมันเลย ฆ่าตัวตายเสียดีกว่า ท่านก็เอามีดโกนมา ไปยืนพิง หลวงพ่อจำไม่ได้ท่านพิงต้นไม้ หรือพิงกุฏิ จำไม่ได้ตรงนี้ จำไม่ได้ไม่ใช่ระลึกชาติ เคยอ่าน อย่าคิดเป็นปาฏิหาริย์ทุกอย่างอะไรๆ ก็ปาฏิหาริย์ โง่อีกแล้ว อ่านมาอยู่ในคัมภีร์ อยู่ในอรรถกถา บอกท่านสังเวชใจตัวเองว่าภาวนาแล้วก็เสื่อม เสื่อมๆๆ ไป

ท่านเอามีดโกนปาดคอตัวเอง แล้วก็ยืนพิงอะไรอยู่สักอย่างหนึ่ง มันมีช่วงเวลาก่อนจะตาย ท่านก็เกิดนึกขึ้นได้ เอ๊ะ ที่เราคิดว่าเราบวชมานี่เราไม่มีความดีเลยจริงไหม ก็ไม่จริง ตลอดชีวิตที่ผ่านมาที่บวชมานี่ เราไม่เคยทำผิดศีลเลย พระวินัยมีอะไรกำหนดไว้อย่างไร เราทำตามนั้นตลอดเลย พอจิตท่านคิดถึงว่าศีลของท่านงดงาม ไม่มีอะไรด่างพร้อย ตัวเองตำหนิตัวเองไม่ได้ เพื่อนสหธรรมิก คือพวกพระด้วยกันตำหนิท่านไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตำหนิเลยว่า ศีลของท่านไม่ดี ตัวนี้มันคือสีลานุสติ จิตของท่านทรงสมาธิขึ้นในฉับพลันนั้นเลย แล้วท่านก็เห็นสมาธิตัวนี้ เป็นสมาธิที่ไม่ลึกมาก อยู่ในระดับอุปจารสมาธิ เสร็จแล้วท่านก็เห็นร่างกายมันกำลังจะตาย ในขณะที่เห็นร่างกายตาย จิตท่านตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วจิตท่านปล่อยวาง ปล่อยวางกาย ปล่อยวางจิต ปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ พร้อมๆ กับการขาดใจตายลงไป เพราะฉะนั้นนี่มีนะ ไม่ใช่ไม่มี ฆ่าตัวตายแล้วเป็นพระอรหันต์เลย มี แต่ว่าโอกาสมันต่ำมาก ห้ามเลียนแบบ เป็นความสามารถเฉพาะตัว เลียนแบบแล้วก็ตกนรกเลย เพราะว่าทำไปด้วยใจโลภ กะว่าปาดคอแล้วเดี๋ยวจะบรรลุพระอรหันต์ ไม่เป็นหรอกเพราะใจมันโลภ

ท่านไม่ได้โลภ ท่านดูลงไปศีลของท่านดี จิตท่านตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา แล้วพิจาณาลงในกาย กายนี้ไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไรของเราหรอก มันเป็นสมบัติของโลก มันกำลังจะคืนโลกไปแล้ว จิตตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ ในที่สุดท่านก็ปล่อยวางทั้งกายปล่อยวางทั้งจิตได้ ก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง พวกพระไปถามพระพุทธเจ้าบอก พระองค์นี้ฆ่าตัวตายแล้วไปเกิดที่ไหน ตกนรกไหม พระพุทธเจ้าบอกองค์นี้เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นมี ตอนตำราบอกพระเมตตไตรยตัดหัวอะไรนี่ จิตของท่านดวงนั้นไม่มีใครพูดถึงเลยว่าเป็นอะไร ไม่ชัดเจน อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์แน่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่าอย่างมงายนะ ไม่งมงาย ส่วนใหญ่ที่ฆ่าตัวตายนั้น ไปอบาย ที่จะได้มรรคได้ผลอะไรนี่นับตัวได้เลย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 เมษายน 2564