เมื่อเช้าหลวงพ่อเห็นโยมหลายคนมาวัดเรื่อยๆ แต่เรื่องการภาวนา ยังมีปัญหากันเยอะ จิตไม่ถูกต้อง สมาธิไม่ถูกต้อง พวกหนึ่งสมาธิไม่มี ใจไม่มีเรี่ยวมีแรง ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น พวกหนึ่งก็นั่งเพ่งๆ อยู่ ก็ผิดอยู่ 2 ตัวนี้ จิตมันเลยไม่เข้าทางสายกลางเสียที ฟุ้งไปเผลอไปกับนั่งเพ่งเอาไว้ ฟุ้งมันก็ลืมกายลืมใจ เพ่งกายเพ่งใจ กายก็นิ่ง ใจก็นิ่ง เพ่งเข้าไปที่ไหนก็นิ่งไปหมด ก็ไม่เห็นไตรลักษณ์ แต่ระหว่างฟุ้งซ่านกับเพ่ง เพ่งก็ยังดีกว่า ฟุ้งซ่านจิตมันเป็นอกุศลแน่นอน เพ่งไว้นี่ยังพยายามจะมีสติอยู่ สมาธิที่ดีมันยังไม่มี พยายามจ้องเพ่งๆๆ ไป เคร่งเครียด ตึงเกินไป ตึงดีกว่าหย่อน เพราะหย่อนมันไปทุคติ ตึงไปสุคติได้ แต่มันไม่ไปนิพพานทั้ง 2 ทาง จะไปนิพพานได้ ต้องไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป
บทเรียนนี้เจ้าชายสิทธัตถะท่านเรียนมาแล้ว ตอนเป็นเจ้าชาย เสพสุขมากมาย ใจก็หลงอยู่กับโลก ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์อะไร บุญบารมีท่านมาก ท่านเห็นว่ามันไม่มีสาระแก่นสารเลยออกมาบวช พอมาบวชทีแรกก็ไปนั่งสมาธิ บังคับจิตให้นิ่ง ให้สงบไป นี่ก็ตึงเหมือนกัน สมาธิแบบนั้นยังตึงอยู่ อยากดีก็ลงมือทำด้วยความอยากดี อยากรู้แจ้ง ทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่เห็นมันมีประโยชน์อะไร มาทรมานร่างกายต่อ มาตึงไปทางกายอีกแล้ว ทีแรกตึงไปทางใจ ทีนี้ปัญญาท่านสะสมมามาก บุญบารมีท่านพร้อม ท่านก็เห็นว่ามันก็ยังไม่ใช่ทางอีก
การสนองกิเลสไปเรื่อยๆ มีแต่ทำให้จิตใจยึดติดกับโลก ก็ไม่มีทางพ้น อันนี้ท่านรู้มาตั้งแต่เป็นเจ้าชายแล้ว การมาบังคับใจด้วยฌานสมาบัติ การมาบังคับกายด้วยการทรมานกาย มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค ไม่ใช่ทาง พ้นทุกข์เหมือนกัน ในที่สุดท่านก็นึกถึงสมาธิที่เป็นธรรมชาติ ตอนเด็กๆ มีงานแรกนาขวัญ พี่เลี้ยงพาท่านไปไว้ใต้ต้นไม้ พี่เลี้ยงไปดู พระเจ้าสุทโธทนะท่านไถนา ท่านอยู่คนเดียว ท่านก็นั่งหายใจไป หายใจไปด้วยความรู้สึกตัว มีสติอยู่ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ท่านระลึกถึง สมาธิชนิดนี้ได้
เมื่อก่อนที่หลวงพ่อจะเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่ออ่านตรงนี้แล้วงงเลย เจ้าชายสิทธัตถะตอนเด็กๆ ได้ปฐมฌาน อันนี้ถูก ไปฝึกกับฤๅษีก็ได้ฌานตั้งแต่ 1 2 3 4 5 6 7 8 ท่านว่าไม่ใช่ จะได้ฌาน 7 ฌาน 8 อะไรมันก็ต้องผ่านฌาน 1 มาก่อน ทำไมท่านว่ามันไม่ใช่ ก็ไม่เข้าใจ สมาธิมีหลายประเภท สมาธิที่เพ่งจ้อง มุ่งไปที่ความสงบอันหนึ่ง สมาธิที่ฝึกแล้วจิตตั้งมั่นขึ้นมา มันเป็นอีกอันหนึ่ง มันคนละแบบกัน ฉะนั้นไม่ใช่นั่งสมาธิไปเรื่อยๆ แล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้านั่งสมาธิแล้วบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าก็ได้ ฤๅษีก็นั่งสมาธิเป็นก่อนอีก แต่สมาธิแบบของพระพุทธเจ้าคนอื่นไม่รู้จัก เขารู้จักแต่สมาธิชนิดที่เพ่งอารมณ์ เพ่งอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง รู้จักแต่สมาธิอย่างนั้น สมาธิที่จิตสามารถตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้อารมณ์ เขาไม่รู้จักกัน
สมาธิมีหลายประเภท
อันหนึ่งคือสมาธิที่เพ่งจ้อง มุ่งไปที่ความสงบ
อีกอันหนึ่งคือสมาธิที่ฝึกแล้วจิตตั้งมั่นขึ้นมา คนละแบบกัน
ฉะนั้นไม่ใช่นั่งสมาธิไปเรื่อย ๆ แล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
สมาธิที่เพ่งจ้อง จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง มีจิตเป็นหนึ่ง ไม่วอกแวกไปไหนเลย มีอารมณ์เป็นหนึ่ง รู้อยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่สมาธิของพระพุทธเจ้า จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นแสนเป็นล้านก็ได้ เห็นอารมณ์มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง โดยจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู สมาธิมันแตกต่างกันอย่างนี้ ถ้าเมื่อไหร่จิตเป็นหนึ่งเข้าคู่กับอารมณ์เป็นหนึ่ง ก็ไปแนบกันอยู่ อันนี้จิตก็สงบอยู่เฉยๆ ไม่มีทางบรรลุมรรคผลอะไรหรอก ดีไม่ดีตอนสงบอยู่ ตอนมันถอยออกมานิดหนึ่ง ออกจากอัปปนามาอยู่ ในอุปจารสมาธิก็เกิดนิมิต เกิดอะไรพวกนี้ หลงไปเลย หลงเที่ยวดูโน่นดูนี่ รู้อดีต รู้อนาคต รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหนอะไรพวกนี้ รู้วาระจิตคนอื่น มีหูทิพย์ ขนาดผีคุยกันยังได้ยินเลย มีตาทิพย์ เห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็น นี่สมาธิพอมันถอนออกมาแล้วจากอัปปนามาอยู่ตรงนี้ มันเคยชินที่จะออกรู้ ออกเห็นอะไร มันก็ไป มันไม่ใช่ทาง มันหลงอารมณ์ เป็นสมาธิที่หลงอารมณ์
สมาธิแบบของพระพุทธเจ้า
สมาธิของพระพุทธเจ้าไม่หลงอารมณ์ ตั้งมั่นอยู่เหนืออารมณ์ เหมือนดูมาจากที่สูง ยืนอยู่บนตึกเห็นรถวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในถนน ตัวไม่หล่นลงไปอยู่ในถนน รถไม่ได้มีคันเดียวใช่ไหม เดี๋ยวคันนั้นมา เดี๋ยวคันนี้มาอะไรนี่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมาธิของพระพุทธเจ้าจะ เห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ไม่ใช่สงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ถ้าเราแยกแยะไม่ออกก็ไม่เข้าใจหรอก ทำไมทำสมาธิแล้วไม่ได้มรรคผล ทำไมสมาธิของพระพุทธเจ้าได้มรรคได้ผล ก็ต้องค่อยๆ ฝึกเอา ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าเราให้ความสำคัญกับอารมณ์เป็นหลัก เราจะได้สมาธิชนิดสงบ ถ้าเราให้ความสำคัญกับจิตใจของตนเอง เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น
อย่างเรารู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกอะไรนี่ หลวงพ่อทำมาแต่เด็ก หายใจให้จิตมันแนบลงไปในลม พอลมมันระงับเป็นแสงสว่าง จิตก็ไปแนบอยู่กับแสงสว่างอะไรอย่างนี้ แล้วก็ใจก็ฟุ้งออกรู้นู่นรู้นี่อะไร หาสาระไม่ได้ สมาธิอย่างนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เราก็เพิ่มสติขึ้น เพิ่มสติขึ้น รู้ทันว่าจิตมันจะเคลื่อนไปหาแสงแล้วอย่างนี้ หรือเคลื่อนไปหาลมแล้ว ตรงที่เรามีสติรู้ทันจิตที่มันจะเคลื่อนไปจมอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน จิตมันจะดีด ตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ นี่เกิดสมาธิอีกชนิดหนึ่ง
สมาธิชนิดเพ่งอารมณ์ก็ทำฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 ได้ แต่สมาธิที่จิตดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้อยู่ ทำสมาธิไปเรื่อย มันก็ได้ฌานที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 แต่สภาพของจิตใจไม่เหมือนกัน อันหนึ่งนั้นมันเพลิน มันหลงไป กับอารมณ์ อันหนึ่งมันสงบมันไม่หลงอารมณ์ สิ่งเหล่านี้ก็ควรจะเรียนเอาไว้ บทเรียนนี้ชื่อว่า จิตตสิกขา เรียนให้ได้สมาธิที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่เรียน เรื่องจิตเรื่องใจของตัวเอง เราก็จะได้สมาธิชนิด จมลงไปอยู่กับอารมณ์ ถามว่าดีไหม ก็ดี ไม่ตกนรกตอนนั้น ก็ดี ได้ฌานสมาบัติ อะไรอย่างนี้ เก่งเหนือมนุษย์
บางทีได้พวกอภิญญาอะไร เหนือมนุษย์ อภิญญาคือพวก มีปัญญาอย่างพิเศษเลย อย่างยอดเยี่ยม อย่างยิ่งใหญ่ แต่มันไม่ใช่ปัญญา ที่จะใช้ในการพ้นทุกข์ แต่ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา ดูรูป ดูนามมันทำงาน เห็นความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงมันไป โดยจิตตั้งมั่นเป็นคนดู จิตไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่จมลงไปในอารมณ์ทั้งหลายที่จิตรู้ ก็จะตั้งมั่นเป็นผู้รู้อารมณ์ แล้วก็ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์ทั้งหลาย จิตพ้นจากความยินดี พ้นจากความยินร้ายในอารมณ์ทั้งหลาย จิตเข้าถึง ความเป็นกลาง ตัวนี้ที่เราจะได้ดีก็ตรงที่จิตมันสามารถ ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง รู้สภาวะทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอดับไปแล้วมีสภาวะใหม่มา ก็เห็นสภาวะอันนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอีก
เห็นไปเรื่อยๆ นับร้อย นับพันครั้ง นับหมื่น นับแสนครั้ง ดูไปเรื่อยๆ 7 วัน 7 เดือน 7 ปีอะไรก็ดูมันไปเรื่อยๆ จะเห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่น ความสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดอุเบกขา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความโลภเกิดแล้วก็ดับ ความไม่โลภ เกิดแล้วก็ดับ ความโกรธ ความหลง ความไม่โกรธไม่หลงเกิดแล้วก็ดับ ก็เห็นสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป เห็นปีติเกิดขึ้น ปีติก็ดับไป เห็นความสุขความสงบของสมาธิ เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เห็นความเป็น อุเบกขาของจิตเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เห็นทุกอย่างที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น
เวลาที่เราฝึก เราก็จะเห็นว่าเดี๋ยวตัวนั้นเกิดแล้วก็ดับ ตัวนี้เกิดแล้วก็ดับ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านวันเดือนปีไป แล้วแต่บุญบารมีของเรา ถ้าบุญบารมีมาก อาจจะภายใน 7 วันเราก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดบรรลุพระอรหันต์หรือบรรลุ พระอนาคามีเหมือนในสติปัฏฐานสูตรบอกหรอก ถ้า 7 วันบรรลุโสดาบันก็ สุดยอดแล้ว หายากแล้ว ในยุคของเรามีหรือเปล่าไม่รู้เลย เพราะไม่มีใคร พยากรณ์ได้ หรือถ้าอย่างกลางๆ ก็ 7 เดือน ถ้าอ่อนหน่อยก็อาจจะ 7 ปี คำว่า 7 ปี หมายถึงหลายๆ ปี แต่ไม่มากเกินไป คำว่า 7 ไม่ใช่แปลว่า 7 นั้นเป็นสำนวน แปลว่าไม่มาก หมายถึงว่าถ้าเราทำกรรมฐานถูกต้อง เราจะได้ผลในเวลา ไม่นานเกินไป แต่ถ้าทำมา 10 ปี 20 ปี ไม่ได้เรื่องเลย ต้องไปทบทวนแล้ว ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันถูกหรือมันไม่ถูก ถ้ามันถูกมันควรจะได้อะไรบ้าง
ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ไว้ แต่แทนที่จิต จะไปจมอยู่กับเครื่องอยู่ ก็ให้เห็นว่าเครื่องอยู่ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู ถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่เป็นเครื่องอยู่อย่างเช่น ลมหายใจ หรือร่างกาย หรือความเคลื่อนไหวอะไรอย่างนี้ อิริยาบถอะไรอย่างนี้ ความสุขความทุกข์ อะไรนี่เป็นของถูกรู้ถูกดู โลภ โกรธ หลงอะไรก็เป็นของถูกรู้ถูกดู เช่น ใจมันหนีไปคิด ใจมันหลงไปคิด มันก็เป็นสภาวะที่จิตฟุ้งซ่าน พอเรามีสติ รู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูได้
ฉะนั้นการที่จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตใจก็ได้ ดู จริงๆ ดูอะไรก็ได้ ธรรมะภายในหรือธรรมะภายนอกก็ได้ ในขั้นของ การที่จะฝึกให้เกิดสติ ให้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง เช่น เราขับรถอยู่ เห็นรถมันชนกัน ใจมันอยากดู มันวิ่งออกไปดู แล้วมีสติรู้ทันว่าจิตใจ มันวิ่งออกไปดูแล้ว จะไปดูรถชนกัน มันอยากดู ตรงที่รู้ทันว่าใจมันวิ่งออกไป นั่นล่ะจิตที่ฟุ้งซ่าน วิ่งออกไป มันจะดับอัตโนมัติ จิตรู้มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือเรานั่งอยู่ อย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันนั่ง ถ้าเราเห็นว่าร่างกายมันนั่งอยู่ มันก็จะมีคน ที่รู้ว่าร่างกายนั่ง มันก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรา จะเห็นสภาวธรรมใด ภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าเรารู้เท่าทันจิตตนเอง จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาได้เป็นแบบเดียวกันหมด
แต่ในขั้นเดินปัญญาไม่แนะนำให้ดูออกนอก ให้น้อมจิตเข้ามา โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง เรียนรู้ลงมาในสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา สิ่งที่เรียกว่า ตัวเราคือตัวขันธ์ 5 ของเราเอง ตัวกาย ตัวใจของเรานี้ล่ะ แต่ในขั้นของสมถะ ถ้าจิตวิ่งไปดูรูปอย่างจุดไฟไว้ จุดเทียนไว้ แล้วไปดูเทียน แล้วถ้าจิตมัน จมลงไปอยู่ที่เทียน ทุกอย่างนี้ลืมหมดเลย เห็นแต่ความสว่างของไฟ อันนี้เป็นสมาธิชนิดแรกที่จิตมันไหลเข้าไปจมอยู่ในตัวอารมณ์ แต่ถ้าเราดูไฟอยู่ แล้วจิตมันไหลไปที่ไฟ เรารู้ทันว่าจิตไหลเข้าไปที่ไฟ จะเห็นว่าไฟเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ตัวผู้รู้มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ฝึกง่ายๆ อย่างนี้ ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ
เวลาฟังหลวงพ่อพูดต้องเข้าใจอย่าง หลวงพ่อพูดแล้วคนฟังจำนวนมาก หลวงพ่อจะพูดภาพกว้างๆ มีตัวอย่างหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ให้พวกเรา ต้องทำทุกอย่าง อันใดอันหนึ่งก็พอแล้ว กรรมฐานไม่ต้องเรียนเยอะหรอก แค่รู้อันใดอันหนึ่งก็พอแล้ว เช่น เรานี่ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้สึกอยู่ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว มันถูกรู้อยู่ ใจมันเป็นคนรู้อยู่ ตัวรู้มันก็เกิด หรือดูความสุข มีความสุขผุดขึ้นมาในใจเราอย่างนี้ ความสุขเกิดขึ้น ความสุขนี้ก็ถูกรู้ จิตก็เป็นคนรู้ ตัวผู้รู้มันก็เกิด จิตไหลไปคิด รู้ว่าจิตไหลไปคิด รู้ว่ามีการคิด มีการไหลไปคิด จิตรู้มันก็เกิด เพราะฉะนั้นจิตรู้มันเกิด จากการที่เรารู้เท่าทันจิตใจของตนเอง ให้เห็นไปว่าจริงๆ มันเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู อารมณ์ทั้งหลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตคือผู้รู้อารมณ์
ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้
มันมีธรรมชาติอยู่ 2 ตัว คือคำว่าจิต มันเป็นผู้รู้อารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์แปลว่าอะไร อารมณ์ไม่ใช่ emotion อารมณ์ตัวนี้คือสิ่งที่ถูกรู้ ฉะนั้นสิ่งที่ถูกรู้นี่สารพัดเลย อย่างเรื่องราวที่เราคิดก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ แต่เรื่องราวที่คิด เขาเรียกอารมณ์บัญญัติ ไม่มีรูปธรรม ไม่มีนามธรรมอะไร ล่องลอยความคิด มันเหมือนฝันๆ ไป ไม่มีตัวจริงอะไร เราเลยไม่เอาเรื่องของความคิด มาทำวิปัสสนา เพราะไม่มีไตรลักษณ์ให้ดูหรอก คิดอย่างไรก็ได้ใช่ไหม บังคับตัวเองให้คิดเรื่องนี้ยังได้เลย ถ้าชอบมากๆ ใจมันชอบ มันก็คิดแต่เรื่องนี้ เรื่องไม่ดีส่วนใหญ่ คิดอยู่อย่างนั้นหรือเรื่องเก่าๆ คิดแล้วก็เพลิดเพลิน ยินดีในความสุข ในอดีตอะไร ก็คิดซ้ำๆๆ ไป มันหาสาระแก่นสารไม่ได้
ฉะนั้นอารมณ์ชนิดแรกก็คืออารมณ์บัญญัติ เอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้ มันไม่มีไตรลักษณ์จริง อารมณ์อีกชนิดหนึ่งคือรูป รูปธรรมทั้งหลาย อีกชนิดหนึ่งคือนามธรรมทั้งหลาย อีกชนิดหนึ่งคือพระนิพพาน พวกเรายังทำไม่ได้ ผู้ที่ใช้นิพพานมาเป็นอารมณ์กรรมฐานนี่ ท่านเอาไปทำสมถะ ไม่ทำวิปัสสนาหรอก เพราะนิพพานมันไม่มี ไตรลักษณ์ให้ดู นิพพานมีแต่อนัตตาอยู่อย่างเดียว มันเที่ยง มันมีแต่ความสุข ขืนไปดูตัวนั้นก็จะเพลินไปเลย ฉะนั้นเราดูของหยาบๆ ที่เรามีนี่ล่ะ ที่เรารักที่สุด ที่เราหวงแหนที่สุด คือร่างกายแล้วก็ความรู้สึกนึกคิดของเรานี้ คอยรู้สึกอยู่ ในร่างกายจิตเป็นคนรู้ เช่น ร่างกายขยับ จิตเป็นคนรู้ ร่างกายทำอะไร ร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ รู้ซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู
เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ มันจะเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายมันเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ร่างกายคนกับร่างกายหมามันก็แบบเดียวกัน คือเป็นวัตถุธาตุเท่านั้นเอง จิตมันโง่ มันไปสำคัญมั่นหมายว่า นี่เป็นร่างกายของเรา อันนี้ร่างกายคนอื่น ร่างกายนี้ดี ร่างกายนี้ไม่ดี อันนี้สวย อันนี้ไม่สวยอะไรนี่ อันนี้จิตมันปรุงแต่งทั้งหมดเลย ร่างกายไม่ว่าจะร่างกายของ นางงามจักรวาลหรือร่างกายของหมาขี้เรื้อน มันก็คือก้อนธาตุเหมือนกัน มันก็ธาตุอย่างเดียวกันเท่านั้นเอง คนไม่มีสติปัญญามันก็หลงไป ถ้าเราภาวนา เราก็เห็นมันก็แค่ธาตุเท่านั้นเอง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มันจะสวย มันจะงามสักแค่ไหน เอาเข้าจริงก็เต็มไปด้วยของโสโครก เต็มไปด้วย ปฏิกูลอสุภะเหมือนๆ กันหมด แล้วใจมันจะค่อยๆ คลายออก
มันเคยหลงรูปมากๆ พอเราเห็นความจริงของรูปเนืองๆ ไป ความหลงรูป มันก็จะลดลงๆ มันจะเริ่มเห็นความจริงก่อน ความจริงในเบื้องต้น มันจะเห็นว่า ตัวรูปมันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเป็นแค่วัตถุ ไม่มีตัวเราในรูปนี้ เป็นแค่วัตถุที่ เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นี่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ หาตัวตนอะไรที่แท้จริงไม่ได้ ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นว่า มันไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา พูดภาษาง่ายๆ คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เราจะเห็นตรงนี้ ได้ก็ต้องเห็นเนืองๆ ร่างกายมันของถูกรู้ถูกดู ดูไปเรื่อยๆ มันเที่ยงหรือมันไม่เที่ยง มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์ มันบังคับได้ หรือบังคับไม่ได้ ถ้าเห็นว่ามันไม่เที่ยง หรือมันเป็นทุกข์ หรือมันบังคับไม่ได้ อันใดอันหนึ่ง เห็นอย่างนี้แจ่มแจ้งจริงๆ มันก็จะรู้เลยว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
ฝึกไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายก็ไม่ใช่เรา ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น ในร่างกายก็เป็นของถูกรู้อีก มันก็ไม่ใช่ตัวเรา ความดีความชั่วทั้งหลาย ที่เกิดตามหลังมาอีกก็ไม่ใช่ตัวเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย ก็จะเห็นเอง จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวหดหู่ เดี๋ยววิ่งไปดู เดี๋ยววิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางกาย วิ่งไปคิดนึกทางใจ วิ่งของมันได้เองด้วย จิตดูอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตฟังอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ จิตจะไปดูหรือจิตจะไปฟังก็เลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้ว่า จงดูอย่างเดียว ห้ามฟังอะไรอย่างนี้ทำไม่ได้ จงฟังอย่างเดียวอย่าดู มันก็ห้ามไม่ได้ จงอย่าคิดก็ห้ามไม่ได้ เห็นซ้ำๆ ไปเรื่อย
สุดท้ายก็เห็นอีกกระทั่งตัวจิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา พอตัวรูป ร่างกายนี้ตัวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่มีเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นอย่างนี้เราก็จะได้ปัญญาขั้นต้น ปัญญาขั้นต้น คือตัวเราไม่มีหรอก มีแต่รูปธรรม นามธรรม อันนี้ถ้าเป็นธรรมะ ระดับภูมิจิตภูมิธรรมก็เป็นพระโสดาบัน ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ฝึกเข้า
สมัยพุทธกาลคนมันก็คนเหมือนเรานี้ล่ะ แต่เขาอาจจะบารมี เยอะกว่าเราหน่อย เราบารมีน้อยไม่ได้เจอพระพุทธเจ้า แต่คนที่เจอ พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่บารมีเยอะทุกคน บางคนได้บาปเยอะด้วยซ้ำไป ไม่ได้ดีเสมอไปหรอก เราไม่ทันพระพุทธเจ้า เราก็อนุมานไว้ก่อนแบบ ถ่อมตัวหน่อย ไม่ได้ลืมตัว บุญบารมีเราคงไม่เยอะนักหรอก ถ้าเยอะมันคง ไม่มานั่งตาแป๋วๆ อยู่ตรงนี้หรอก คงพ้นไปนานแล้ว เมื่อของเก่าเรา ยังไม่เข้มแข็ง เราก็ฝึกให้เยอะ อดทนเข้า ไม่มีธรรมะตัวไหนสำคัญ เท่าตัวอดทนเลย ภาวนาไม่ใช่ แหม บวชตั้ง 3 เดือนแล้วยังไม่ได้มรรคผล แล้วท้อแท้ใจ คิดอย่างนี้มันไม่มีทางหรอก จิตใจยังอ่อนหัดอยู่ก็อดทนเอา ได้ไม่ได้ก็ช่างมัน ขอให้ได้ทำเหตุ ได้ปฏิบัติเถอะ ถือว่าเราปฏิบัติ เป็นพุทธบูชาไป ถ้าฝึกให้มากๆ เข้าเดี๋ยววันหนึ่งมันก็ดีเอง
หลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเป็นผู้ใหญ่ท่านเคยอยู่ บ้านผือกับหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่ารุ่นเดียวกันเขาพ้นทุกข์ไปหมดแล้ว ท่านยังไม่พ้นเลย ท่านยังไม่ได้อะไรเลย แต่ท่านจะภาวนาไม่เลิก ท่านจะภาวนาตลอดชีวิต แล้วตายแล้วเกิดอีก 100 ชาติก็จะไม่เลิกปฏิบัติ จะภาวนาอีก นี่ใจอย่างนี้น่านับถือมากเลย ประเภทหนูภาวนามา 2 ปีแล้วยัง ไม่ได้เลย ท้อแท้ หนูเลิกแล้ว เลิกไปเหอะ อินทรีย์ยังอ่อน ค่อยๆ สะสมไป พระพุทธเจ้าอีกหลายๆ องค์เดี๋ยวคงดีขึ้นเอง ค่อยๆ สะสมเอา ไอ้นั่นเหลวไหล ทีนี้เราถ้าเราอินทรีย์ยังอ่อน เราก็ขยันดูไปเรื่อยๆ ดูกาย ดูใจไป มีจิตตั้งมั่น เป็นคนดูไปเรื่อย ดูความจริงของมัน ความจริงของร่างกายมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเรา ความจริงของจิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา ความจริงอันเดียวกันคือไตรลักษณ์ ดูแล้วดูอีก
ความรู้รวบยอด
บางทีดูๆ กายอยู่ จิตรวมลงไปปุ๊บ มันตัดเลย มันรู้ทั้งหมดเลย เพราะเวลารู้กาย มันก็มีจิตเป็นคนรู้ ฉะนั้นเวลามันเข้าใจขึ้นมา เกิดความเข้าใจนี่ มันเข้าใจรวบยอดเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูป ทั้งนามนี่ไม่ใช่ตัวเราหรอก มันเข้าใจอย่างนี้เลย หรือบางทีเราดูจิตเป็นหลักเลย ไม่ค่อยสนใจกาย ดูแต่จิตๆ เห็นจิตเกิดดับๆๆ ไป แล้วเวลาตัด บางทีจิตรวมปุ๊บ ลงไปมันตัดสังโยชน์เลย มันเห็นเลยทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราหรอก ถ้าจิตไม่ เป็นเราสักอย่างเดียว อะไรมันจะเป็นเราได้ นี่จิตมันเป็น ตัวหลักเลยที่เราจะไปคิดว่านี่เรา เราอยู่ตรงนี้ คนที่ไม่ได้ฝึกภาวนา มันจะรู้สึกร่างกายคือตัวเรา แต่พอเรามาฝึกภาวนา จิตเราตั้งมั่นเป็นคนดูปุ๊บนี่ ร่างกายจะเปลี่ยนสถานะจากตัวเราเป็นแค่ของเรา มันจะลดฐานะลง ความสุข ความทุกข์ คนไม่ได้ภาวนามันก็คิดว่าเราสุขเราทุกข์ ถ้าเราภาวนา เราก็จะเห็นความสุขความทุกข์ก็ไม่ใช่เรา เป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ไม่มีตัวเรา ในความสุข ความทุกข์ ไม่มีตัวเราในกาย ไม่มีตัวเราที่ไหนเลย
เวลาทำกรรมฐานใช้กายเป็นหลัก หรือใช้เวทนาเป็นหลัก หรือใช้จิตเป็นหลัก เวลาตัดนี่มันจะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั่นล่ะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งกายทั้งใจ มันรู้รวบยอด อย่างเวลาเรารู้กาย ก็จิตเป็นคนรู้ เวลารู้เวทนา เวทนาก็อยู่ในกาย เวทนาอยู่ที่ใจ มี 2 ที่ เวทนาไม่อยู่ที่กายก็อยู่ที่ใจ ก็เป็นของถูกรู้ถูกดูอีก ไม่ใช่ตัวเราของเราอีก มันจะมีจิตเป็นคนรู้ อะไรที่ถูกรู้มันจะไม่เป็นเราทั้งสิ้นเลย ฉะนั้นเวลาภาวนาไปเรื่อย ถึงเวลาที่มันพอ มันจะรู้แจ้งแทงตลอดทั้งรูป ทั้งนาม ทั้งกาย ทั้งใจว่าไม่ใช่เราหรอก
อย่างเราดูจิตๆ จิตมันเปลี่ยนแปลงได้เพราะตาเห็นรูป จิตมันก็เปลี่ยน ตามันเป็นวัตถุ เป็นตัวรูป มันอาศัยรูปนี้ทำงาน จิตก็เกิดความเปลี่ยนแปลง อาศัยจิตทำงาน รูปก็เปลี่ยนแปลง อย่างรูปที่กำลังนั่งอยู่ จิตมันสั่ง “เอ้า ยกมืออย่างนี้” รูปมันก็เปลี่ยนแปลงแล้ว จิตมันก็เป็นคนสั่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นตัวรูป เวลามันกระทบอารมณ์ อารมณ์มันก็เป็นรูปธรรมอีก กระทบอารมณ์ จิตก็เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นมันเนื่องกันระหว่างกายกับจิต สัมพันธ์กันอยู่ เวลาเราภาวนาถึงเราใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นวิหารธรรม แต่ถ้ามีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เวลาเข้าใจมันจะเข้าใจว่าทั้งหมด ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เวลาความรู้รวบยอดมันเกิด มันเกิดแบบนี้
อย่างเวลาเราดูจิตๆ เราเห็นว่าความโกรธเกิดแล้วดับ ความเฉยๆ ไม่โกรธอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ดับไป เกิดโลภขึ้นมาแทน ความโลภ อยู่ชั่วคราวดับไป เกิดเฉยๆ ขึ้นมา เฉยๆ อยู่ชั่วคราว อ้าว หลงไปแล้ว เกิดหลงขึ้นมาแทน นี่เห็นมันเกิดดับๆๆ ดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เราจะเห็นว่า สุขเกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ โลภ โกรธ หลงอะไรเกิดแล้วดับหมดเลย แต่เวลาจิตมันเข้าใจธรรมะ มันจะเข้าใจรวบยอด ทุกสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น มันจะเห็นอย่างนี้ ทุกสิ่งที่เกิดนั้นดับทั้งสิ้นเลย เพราะฉะนั้นก่อนที่มันจะเห็น รวบยอดได้ก็อาศัยเห็นทีละอย่างๆ ไปก่อน สะสมจนมันพอ มันก็เกิดความรู้ รวบยอดขึ้นมา ตรงที่มรรคผลเกิด มันเป็นความรู้รวบยอด
ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ มีจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู ความรู้สึกนึกคิดอะไรเกิดขึ้นจิตเป็นคนดู จิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียงอะไรอย่างนี้ ตัวจิตเองก็เกิดดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ก็เห็นแต่สิ่งที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น แต่ที่หลวงพ่อพูดนี่ บอกแล้วว่าเวลาลงมือ ทำจริงไม่ต้องเรียนเยอะขนาดนี้ ที่พูดนี่เป็นภาพกว้างๆ เพราะว่าคนที่ฟังนี่ มันเยอะเหลือเกิน ถ้าเวลาหลวงพ่อสอนคนใดคนหนึ่ง หลวงพ่อสอน นิดเดียวเอง
อย่างสอนดูกระดูกไป ไม่ได้สอนอะไรเยอะเลย สอนพระอาจารย์อ๊า ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร หลวงพ่อไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสอนอะไรมากหรอก นานๆ ว่าที บอกพระอาจารย์ บอกว่า “ไปหัดดูไป หัดดูจิตดูใจไป” พระอาจารย์ก็ดู เห็นมันไหวๆ อยู่กลางอกอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อ “เอ้อ ดี” ดูไปนานๆ ดูเป็นปีๆ เลย วันหนึ่งหลวงพ่อบอก “ไปดูมันทำไม” ไม่บอกเหตุบอกผลอะไรเลย บอกไปดูมันทำไม วันนั้นพระอาจารย์เขาสมควรที่จะบอกแล้วก็บอก บอกแค่นั้น เย็นวันนั้นพระอาจารย์เขาไปเห็นต้นไม้หรือเห็นใบไม้อะไร เห็นจิตมันไหลไป ก็เลยรู้เลย ที่ไหวๆ กลางอก จิตมันก็ไหลลงไปดู ก็เลยรู้ทันจิต ที่มันไหลไปไหลมาได้ นี่เรียนกรรมฐาน ที่อยู่กับครูบาอาจารย์ก็สอนกันอย่างนี้ ไม่มานั่งโอ้โลมปฏิโลมหรอก ใครทนได้ก็ได้แก่น ใครทนไม่ได้ก็หลีกไป หลีกทางไปให้คนอื่นเขามาเรียนแทน เขาเรียนกันอย่างนี้สำหรับพระจริงๆ แต่กับโยมเรียนอย่างนี้ไม่ได้ โอ้โลมปฏิโลมเยอะหน่อย เพราะอินทรีย์มันอ่อน แต่อย่าให้ถึงขั้นต้องโอ๋ หลวงพ่อไม่โอ๋หรอก
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป สะสมของเราไป ศีล 5 รักษาเอาไว้ ทุกวันทำในรูปแบบแล้วก็มาเจริญสติ คอยรู้ทันกายรู้ทันใจของตัวเองไป โดยมีจิตเป็นคนรู้ ต่อไปปัญญามันก็เกิด กรรมฐานมันก็ไม่ใช่ เรื่องลึกลับอะไรหรอก ฝึกมากๆ ไป ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ เวลาเราลงมือ ปฏิบัติผิดตลอด ไม่ต้องกลัวถูก ไม่ต้องกลัวหรอกว่าจะถูกหรือไม่ถูก ไม่ถูกหรอกที่ฝึกอยู่ จะแน่สักแค่ไหนเชียว อย่างเรานั่งดูจิตดูใจของเรา นี่ไม่เผลอก็เพ่ง ที่รู้จริงๆ แวบเดียวเท่านั้นเอง อย่างทีแรกก็เผลอ ดูจิตใจไม่ออก พอรู้ว่า อุ้ย จิตมันเผลอไปแล้ว เพ่งปั๊บเลย ที่ถูกมีนิดเดียว ที่ผิดนี่ยาวนานมากเลย บางทีเพ่งกันเป็นปีเลยกว่าจะรู้ว่าจิตหลงไปเพ่ง เพราะฉะนั้นเวลามาถามหลวงพ่อ “ตอนนี้หนูปฏิบัติถูกหรือยัง” ถ้ายังไม่สมควรบอกหลวงพ่อก็ “เออ ดีแล้วล่ะ ค่อยๆ ฝึกไป” ถ้าบอก ตรงไปตรงมาก็คือ ไม่ถูกหรอก ถูกแล้วมันไม่มาถามแล้ว ถูกแล้วมันก็รู้ ด้วยตัวเองแล้ว มันจะมาถามหาอะไร
หรือกับโยม สอนเข้มข้นเกินไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ เลิกปฏิบัติไป ทำให้เราบาปเสียอีก เลิกปฏิบัติ กลายเป็นเราไปว่าเขา จนเขาหมดกำลังใจ มันก็ให้กำลังใจไปเถอะ “ปฏิบัติไปเถอะ มันก็ค่อยๆ ดีขึ้นล่ะ มันไม่ดีในวันเดียวหรอก” กระทั่ง มันไม่ดีในวันเดียวนี้ยังต้องสงวนเลย บางทีไม่พูดกับบางคน “ก็ดีขึ้นเยอะแล้วนี่ ทำไปอีกๆ” ส่วนใหญ่ก็จะบอกแค่นี้ ถ้าใครได้ยินแค่นี้ ให้รู้ตัวไว้เลยที่ทำอยู่ ยังไม่ได้เรื่องหรอก ถ้าภาวนาดีหลวงพ่อจะเล่นแรงๆ ถ้าภาวนาดีขึ้นมานี่ ไม่มีมธุรสวาจาหรอก อย่างพระอาจารย์ภาวนาเห็นไหวๆ ภาวนาดี ไม่ดีไม่เห็นหรอก
เรียนธรรมะนะอดทน อินทรีย์เราไม่ได้เข้มแข็ง บุญบารมีไม่ได้มาก อดทนเข้าไว้ ปฏิบัติทุกวันให้สม่ำเสมอ แบ่งเวลาไว้เลย ต้องทำในรูปแบบ จะเป็นจะตายก็ต้องทำ สมมติว่าเราเคยเดินจงกรม เกิดลุกไม่ขึ้นจริงๆ หลวงพ่อยังเคยเลย เหนื่อยมากเลย ลุกไม่ขึ้น นอน ขยับเท้า ขยับ ค่อยๆ ขยับๆ มันถึงเวลาต้องเดินจงกรมแล้ว ก็ต้องขยับเท้าแล้ว แต่ว่ามันไม่มีแรง ที่จะลุกขึ้นมา หมดเรี่ยวหมดแรง ค่อยๆ ขยับๆๆ ไป ก็เห็นรูปนี้ไม่อยู่ ในอำนาจบังคับ นี่ก็เดินปัญญาได้แล้วอันนี้ ฉะนั้นต้องทำในรูปแบบ ฝึกทุกวัน ไม่มีข้อยกเว้น เวลาที่เหลือออกมานอกห้องกรรมฐาน นอกกุฏิ นอกบ้านเรา ก็ฝึกในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นมีจิตเป็นคนรู้อยู่ แต่อย่าไปเพ่งใส่ตัวผู้รู้ เพ่งตัวผู้รู้ก็ผิดอีกแล้ว ตึงไปแล้ว หลงไปเลย ตัวผู้รู้ก็หายไปแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ หย่อนไป ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ เดี๋ยวมันก็ดีเอง
คำว่า “เดี๋ยวมันก็ดีเอง” ก็เป็นประโยคที่ให้กำลังใจ ดีไม่ดีมันก็อยู่ที่ตัวเอง ทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่ได้ดีอะไรขึ้นมา ของฟรีไม่มี ของฟลุคไม่มี บังเอิญไม่มี มีแต่กรรม กรรมคือการกระทำ เพราะฉะนั้นไม่มี การกระทำก็ไม่มีผลของการกระทำ ไม่ทำเหตุมันก็ไม่มีผล ก็แค่นั้น ทำเหตุน้อย มันก็มีผลน้อย ทำเหตุให้มาก เจริญสติ สมาธิ ปัญญาให้มาก มันก็มีผลมาก ก็ยุติธรรมที่สุดแล้ว บางคนภาวนาปุ๊บปั๊บๆ ก็เข้าใจ เห็นขันธ์ 5 ไม่เป็นเรา บางคนภาวนาหลายสิบปีกว่าจะเห็น ก็ยุติธรรม ไม่ใช่ไม่ยุติธรรม อยู่ที่ตัวเองต่างหาก
วัดสวนสันติธรรม
18 เมษายน 2564