สมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าตัวเซลฟ์ทำให้อยู่กับโลกยากมาก

คำถาม:

ปีที่แล้วหลวงพ่อให้ไปดูตัวเซลฟ์ ตัวอัตตา ทีแรกก็คิดว่าเห็น แต่จริงๆ ยังไม่เห็น ทราบภายหลังจากอาจารย์ผู้ช่วยสอนว่าสมาธิไม่พอ หลังจากเพิ่มสมาธิ ก็เห็นและรู้แล้วว่าที่ลูกเข้ากับคนได้ยากก็เป็นเพราะตัวเซลฟ์นี้ และทำให้อยู่กับโลกยากมาก ขอหลวงพ่อชี้แนะต่อด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ใช่ ที่ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ ถูกแล้ว การที่เราจะเห็นว่าเรามีเซลฟ์ เซลฟ์ก็ไม่ใช่เรา จิตเราก็ต้องมีสมาธิพอ ฉะนั้นทุกวันต้องทำในรูปแบบ เราจะได้จิตที่มีกำลังขึ้นมา ฉะนั้นที่ผู้ช่วยสอนเขาสอนก็ถูกแล้วล่ะ สมาธิเป็นของที่ทิ้งไม่ได้ ฆราวาสนี่มีจุดอ่อนตรงที่ขาดสมาธิกับขาดความต่อเนื่อง 2 ตัวนี้เป็นปัญหาใหญ่ของฆราวาส นี้ถ้าเราจะแก้ปัญหาก็คือเรามีวินัย ทุกวันต้องปฏิบัติ ทุกวันทำในรูปแบบอะไรอย่างนี้ เราก็จะมีความต่อเนื่อง แล้วก็มีสมาธิขึ้นมา แล้วก็กำลังเราดีขึ้นมาแล้ว

อยู่ในชีวิตประจำวันเราจะเจริญสติ เจริญปัญญาได้ ถ้าสมาธิเราไม่พอ เราดูสภาวะไม่รู้เรื่องหรอก มันเหมือนน้ำกระเพื่อม เรามองไม่เห็นว่าก้นสระน้ำนี้มีอะไร แต่ถ้าน้ำมันนิ่ง เรามองทะลุลงไปเห็นก้นสระน้ำได้ ฉะนั้นเราจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจเราเอง มานะอัตตาที่ซ่อนอยู่ในจิตในใจอะไรอย่างนี้ จิตเราก็ต้องนิ่งพอ สงบพอ ฉะนั้นเราทิ้งสมาธิไม่ได้หรอก ทุกวันก็ต้องฝึกไว้ เราถึงจะเห็นสภาวะได้ชัด พอเห็นแล้ว เราก็รู้ว่านี่มันไม่ดีไม่งาม ถ้าจิตมันรู้เท่ารู้ทัน เดี๋ยวจิตมันค่อยๆ ละ ถ้าเราละเรื่องเซลฟ์จัดได้ ต่อไปเราจะเข้ากับคนอื่นได้ เราจะมีเพื่อนมากขึ้น คนเซลฟ์จัดไม่มีเพื่อนหรอก คนเซลฟ์จัดไม่มีใครชอบหรอก ทำไมคนไม่ชอบคนเซลฟ์จัด เพราะทุกคนเซลฟ์จัด เซลฟ์มันชนกัน

ถ้าเราฝึกของเรา ไม่เซลฟ์จัด เราอยู่ตรงไหน เราก็มีความสงบสุข มันจะเหลือแต่เหตุผล คนอื่นเขาเสนอความเห็นมา ถ้าเป็นสมัยเซลฟ์จัด เราก็จะรู้สึกไม่ถูก เราเท่านั้นที่ถูก พอเราลดเรื่องเซลฟ์จัดได้ เราจะฟัง นี่เป็นความเห็นที่ดี เราก็รู้จักเอามาใช้ประโยชน์ มันมีประโยชน์เยอะเรื่องกรรมฐาน เอาไปใช้ได้จริงๆ เลย เราเข้ากับโลกได้ เข้ากับคนได้ อยู่อย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่อยู่แบบบ้าเลือด พวกเซลฟ์จัดนี่มันคล้ายๆ หมาบ้า เจออะไรมันกัดแหลกเลย อะไรมากระทบก็ไม่พอใจ กัดเละเทะไปหมด นี้เราไม่ใช่หมาบ้า เราภาวนา เราจะเป็นคน เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นๆ ดี ที่ฝึกอยู่ใช้ได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564