ทางสายกลาง

ภาวนา อย่าทำตัวเองให้ลำบากเกินไป ให้เครียด ภาวนา บางทีพอตั้งใจ มันบังคับกาย บังคับใจมากไป ให้เดินอยู่ในทางสายกลาง ทางกลางๆ ไม่ย่อหย่อน ย่อหย่อนก็คือปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยกายปล่อยใจตามกิเลส ผัดวันประกันพรุ่งอะไรอย่างนี้ ย่อหย่อน ตึงเกินไปก็พอคิดถึงการปฏิบัติก็บังคับกายบังคับใจ ก็ผิดอยู่ 2 ด้าน หย่อนไปกับตึงไป มันเลยไม่เข้าทางสายกลางเสียที ทางสายกลางคือมรรคมีองค์ 8 ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป มรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถือศีลหย่อนเกินไปก็ใช้ไม่ได้ ถือศีลแล้วก็ตึงเกินไปก็ใช้ไม่ได้ สมาธิหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ เจริญปัญญาหย่อนไปก็ไม่ได้ ตึงไปก็ไม่ได้ ต้องทางสายกลางจริงๆ

 

ศีล

ถือศีลหย่อนไป หลวงพ่อเคยเจอ กิเลสมันพาให้ตีความการถือศีลเพื่อสนองกิเลส ตอนหลวงพ่อเป็นนักศึกษา เคยบวชที่วัด ที่วัดนั้นท่านก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี วัดหลวงพ่อปัญญา วัดชลประทาน มีพระที่โตหลายพรรษาแต่ไม่ใช่ถึงระดับผู้ใหญ่จริงๆ แกก็มาสอน บอกถือศีลต้องไม่งมงาย ถือศีล อย่าให้มันลำบาก อย่างเราจะกินอาหารเกินเที่ยง เกินเที่ยงวัน เริ่มต้นก่อนเที่ยง ฉันไปเรื่อยๆ เราไม่ยึดถือ ถือศีลแล้วยึดถือ ไม่ถูก ตึงเกินไป อย่างนั้นอย่าถือดีกว่าหย่อนตามกิเลส อยากจะกินโน้นกินนี้ อยากกินนานๆ แล้วก็บอกว่านี่ถือศีลแบบไม่ยึดถืออะไร ไม่ยึดถือแล้วไปถือทำไม ไม่ต้องถือเลย อย่างนี้หย่อนไป

บางทีก็ช่วยตีความๆ เลี่ยงพระวินัย เลี่ยงศีลอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าหย่อนไป ตึงเกินไป อันนี้เห็นได้ทั่วๆ ไป ถือศีลแล้วเครียด วันๆ นั่งคอยระวังตลอดเวลา กลัวศีลจะด่างพร้อย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ด่างพร้อย ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ใจมันกังวลไปเอง ตรงที่กลัวมาก ระวังมาก กังวลตัวนี้ ใจที่กังวลว่าผิดศีลหรือยังๆ กลัวผิด เขาเรียกวิปฏิสาร เป็นใจที่เร่าร้อนโดยไม่มีเหตุผลอะไร คิดไปเอง กังวลไปเอง ฉะนั้นถือศีลก็อย่าหย่อนเกินไป อย่าตึงเกินไป ถือด้วยสติ

มีสติรักษาจิตตัวเองแล้วมันพอดีเป๊ะเลย ถ้าถือศีลไม่ได้เน้นที่สติ แต่เน้นที่ว่าอันนี้จะทำอันนี้จะไม่ทำ ถ้าคิดไปด้วยกิเลสหยาบๆ ส่วนใหญ่ก็เรื่องกาม อยากกิน อยากนอน อยากเที่ยวอะไรอย่างนี้ เรื่องของกาม ถ้าอย่างนี้ก็หย่อน พวกหนึ่งก็คิดว่าต้องดี ต้องเป๊ะ ถือศีลจนเครียดไปหมดเลย พวกนี้ก็ใช้ไม่ได้ ศีลไม่ได้เอาไว้ให้เครียด ศีลเป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง เอาไว้ข่มใจตัวเองไม่ให้ไหลตามกิเลสไป แต่ก็ไม่ใช่ไปกดข่มว่าไม่ให้มีกิเลส มันแค่ข่มใจไม่ให้ทำตามที่กิเลสบงการเท่านั้น ถ้าข่มแล้วจะไม่ให้มีกิเลสเลยนี่ตึงเกินไปแล้ว ฉะนั้นทางสายกลางที่ว่ากลางๆ ไม่ตึงไปไม่หย่อนไป ถือศีลก็ต้องไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ถืออย่างมีเหตุมีผล มีสติกำกับจิตใจเราไว้

อย่างเคยมีพระบางองค์เกิดกามราคะ พระ Masturbate ไม่ได้ ก็ใช้วิธีเดินลมปราณให้อสุจิเคลื่อน บอกว่ามือไม่ได้จับ ไม่อาบัติ มันอาบัติเห็นๆ ลมปราณมันก็เป็นส่วนของกาย มีการทำงานทางร่างกายแล้ว เดินลมปราณออกไป นี่เป็นการตีความเพื่อจะตามใจกิเลส สไตล์อย่างนี้มันจะหย่อน เรื่องกินข้าว ตีความว่าเริ่มกินตอนไหนก็นับตอนนั้น กินไปเรื่อยๆ กินไปถึงบ่ายโมงก็ไม่เป็นไร ถ้ายังไม่อิ่ม ถือว่ายังเริ่มต้นก่อนเที่ยง อันนี้ตีความตามกิเลสอีกแล้ว

พวกเราฆราวาสก็เหมือนกัน เราถือศีล 5 ถืออะไร ก็ระวังอย่าให้มันตามกิเลสไป แล้วก็อย่าถือศีลจนเครียด จะกระดุกกระดิกจะทำอะไรกลัวผิดศีลไปหมด นี่เครียดไป ง่ายๆ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป กิเลสอะไรเกิด เรารู้ทัน กิเลสอะไรเกิด เรารู้ทัน แค่นี้ศีลมันดีเอง ทำผิดศีลเพราะกิเลสมันครอบเอา ตึงเกินไป อยากดี อยากดีฟังแล้วก็ดูดี จริงๆ มันก็กิเลสนั่นล่ะ

 

สมาธิ

เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน เวลาฝึก อย่าให้ตึงเกินไป อย่าให้หย่อนเกินไป เกือบร้อยละร้อยของผู้ปฏิบัติตึงเกินไปเวลานั่งสมาธิ สมาธิแปลว่าความตั้งมั่นของจิต นั่งสมาธิก็ตั้งเป้าหมายต้องสงบอะไรอย่างนี้ ต้องสงบ ต้องตั้งมั่น มีความอยากนำหน้าแล้ว มีกิเลสนำหน้าแล้ว มองไม่เห็น พออยากสงบ อยากดี อยากโน้นอยากนี้ขึ้นมา ก็เริ่มบังคับกดข่ม บังคับกาย บังคับใจ เดินจงกรมอย่างนี้ ก็ต้องเดินมีกระบวนท่าในการเดินมากมาย จะกระดุกกระดิกสักนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ ระวังไปหมดเลย เครียด จะนั่งก็ต้องนั่งท่านั้นท่านี้ ต้องตรงเป๊ะ ตึงไปหมด เครียดจนภาวนาทำสมาธิจนคอเคล็ด หลังเคล็ด แข้งขาเคล็ด เอวเคล็ด บังคับมากไป กระทบมาที่กาย หรือบังคับจิตใจให้ตึงเกินไป จ้องแบบเอาเป็นเอาตาย อย่างนี้ตึงไป

ร่างกายเคยเดินท่าไหนก็เดินท่านั้น แต่เดินด้วยความมีสติ นั่งสมาธิ ถนัดนั่งท่าไหนก็นั่งท่านั้น ถนัดนั่งยองๆ อย่างหลวงพ่อคูณ นั่งแล้วมีสมาธิดีก็นั่งอย่างนั้นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสวยๆ เดินสวยๆ อะไรหรอก นั่นไม่ใช่เรื่องของสมาธิแล้ว เป็นเรื่องทางร่างกาย แต่ไม่ใช่นั่งระทดระทวย หลังพิงฝา พิงโน้นพิงนี้ไป พิงเสา เหยียดเท้า เหยียดแข้ง เหยียดขาอะไร นั่งสมาธิ เดี๋ยวๆ ก็หลับ นั่งไปนั่งมาแล้วก็ไม่ยึดถืออีกแล้ว ลงไปกลิ้ง กลิ้งสมาธิ นี่หย่อนไป

ตามใจกิเลส หย่อนไป เช่น เราหายใจเข้าพุท เราหายใจออกโธอะไรอย่างนี้ ประเดี๋ยวก็ห่วงไลน์เข้ามาแล้ว มีใครมาตอบเฟซบุ๊ก ตอบเมล์เราอะไรอย่างนี้ คอยสนใจวอกแวกๆ อย่าเดินเลย อย่านั่งเลย มันลวงโลก นั่งสมาธิลวงโลก ที่จริงจิตวุ่นวายอยู่กับโลกตลอดเวลา ห่วงอินเทอร์เน็ต ห่วงโน้นห่วงนี้ อย่างนี้มันย่อหย่อนเกินไป ฉะนั้นเวลาเราจะทำสมาธิก็ตั้งใจ เวลานี้เป็นเวลาปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เวลาเล่น มือถืออะไรก็เปิดโหมดเรือบินมันไปเลย ไม่ต้องสั่นเตือน ไม่ต้องอะไร วางไว้ไกลๆ ไม่ต้องไปมองมัน มิฉะนั้นอย่ามาคุยเลยว่าจะทำสมาธิได้ ไม่ได้เรื่องหรอก หรือทำสมาธิตึงเกินไป เช่น ต้องเดินอย่างนี้ ต้องนั่งอย่างนี้ ตึงเกินไป สมาธิเป็นงานของใจ งานของจิตใจ ถ้าเราต้องการความสงบ เราก็น้อมใจเราไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง

อย่างหลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วมีความสุข มันฝึกมาแต่เด็กตั้งแต่ 7 ขวบ ท่านพ่อลีสอนมาเมื่อปี 2502 ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เวลาเราต้องการพักผ่อน ต้องการให้จิตใจสงบ หลวงพ่อก็มาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังว่าจิตจะสงบหรือไม่สงบ ถ้าคาดหวังแล้วจะไม่สงบหรอก ใจมันจะเครียด มันจะพยายามบังคับลมหายใจ อย่างวิธีดูง่ายๆ เลยว่าเราตึงเกินไปไหม บังคับไหม เวลาเราหายใจ ถ้าหายใจแล้วเหนื่อย แสดงว่าบังคับเกินไป หายใจมาตั้งแต่เกิดไม่เหนื่อย พอมานั่งสมาธิหายใจหน่อยเดียว เหนื่อย แสดงว่าหายใจผิด หายใจไม่เป็นธรรมชาติ หายใจแบบบังคับตัวเองมากไป นี่ตึงเกินไป

แรกๆ หลวงพ่อก็เป็น ทีแรกไม่เป็นหรอก ทีแรกท่านพ่อลีสอนหายใจเข้าพุทออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 มันไม่ได้คาดหวังว่านั่งแล้วจะเป็นอย่างไร จะได้ผลอย่างไร ท่านพ่อลีท่านให้นั่งหายใจ เราก็หายใจไป ไม่มีความคาดหวังอะไร ในเวลาไม่นานจิตรวม สงบแล้ว สว่าง สงบ สบาย พอภาวนาไปช่วงหนึ่ง มันเริ่มโลภ มันเริ่มรู้แล้ว นั่งๆ ไปอย่างนี้ มีแสงสว่างเกิดขึ้น จิตอยู่กับแสงแล้วรวมเลย เราจำอาการที่จิตมันรวมได้ พอเริ่มนั่งสมาธิก็น้อมจิตจะให้รวมไปเลย ถ้ามันชำนาญเป็นวสี มันทำได้ แต่ถ้าหัดใหม่ๆ มันไปเค้นๆๆ จะให้มันสงบ จะให้มันรวม ไม่รวมหรอก

อย่างเด็กเล็กๆ มันภาวนาง่าย มันไม่มีมารยา ไม่ได้โลภ นักปฏิบัติ พอโตขึ้นมาหน่อย อยากดี แล้วพอลงมือปฏิบัติก็เริ่มบังคับกาย บังคับใจ ตึงเกินไปแล้ว กว่าจะปรับจิตใจให้มันสมดุล ไม่ตึง ไม่หย่อนได้ ลำบาก หรืออย่างบางคนมาเริ่มฝึกตอนแก่ จิตใจฟุ้งซ่านมาหลายสิบปี จะมาฝึก มันจะหลง มันจะเพลินๆ หลงๆ ง่าย สติมันไม่ค่อยเข้มแข็ง มาเริ่มฝึกตอนอายุเยอะๆ หรือบางทีนั่งแป๊บเดียวก็หลับไปเลย ใครนั่งสมาธิแล้วหลับเก่ง ให้รู้ตัวเลย แก่ อายุไม่มากแต่ว่ามันแก่ก่อนวัย บางคน

ถ้ามันเป็นอย่างนั้น นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ หลับๆ ไป ฝันๆ ไป บางทีนั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ อันนี้หย่อนไป นั่งแล้วจิตมันไหลออกไปข้างนอก มันตามแสงออกไปข้างนอก ไปเห็นผี เห็นเทวดา ไปนรก ไปสวรรค์อะไรนี่ สติมันอ่อนไป เกิดนิมิต หูทิพย์ ตาทิพย์ ได้ยินโน้นได้ยินนี้ ก็เพลินๆ เที่ยวรู้เที่ยวเห็นออกข้างนอก เที่ยวรู้เที่ยวเห็นไปอดีต ไปอนาคตอะไรอย่างนี้ หย่อนไปหมดเลย เพราะสติอ่อนเกินไป ฉะนั้นตึงเกินไปก็ไม่ดี ใจเครียด ร่างกายก็เครียด หย่อนไปก็ไม่ดี

 

จุดที่พอดีทำขึ้นมาไม่ได้

ทำอย่างไรให้มันพอดี เริ่มต้นอย่างไรก็ตึง ไม่ต้องตกใจ พอเราคิดถึงการปฏิบัติ มันจะตึงอัตโนมัติ เราไม่ใช่เด็กที่ไม่ได้คาดหวังอะไรจากการปฏิบัติ โตๆ แล้ว อย่างไรมันก็คาดหวัง ฉะนั้นเบื้องต้นมันตึง ตึงก็ไม่เป็นไร ดีกว่าหย่อน ถ้าเบื้องต้นหย่อนเลย ไม่ได้กินหรอก ก็เหลวไหลไปเลย เบื้องต้นก็ตั้งใจหายใจเข้าพุท หายใจออกโธตั้งใจไว้ พอหนีไปคิดเรื่องอื่น โยนมันทิ้งไปเลย กลับมาหายใจต่อ มันจงใจที่จะให้จิตอยู่กับลมหายใจ หรือให้จิตอยู่กับพุทโธ เบื้องต้นก็จงใจไปก่อน แล้วรู้ว่าจงใจค่อยๆ สังเกตไป จงใจแรง แน่น หน้าอกนี้แน่นเลย จงใจมาก ดีกว่าหลง จงใจปฏิบัติ ไปสุคติได้ ถ้าย่อหย่อนแล้วหลงๆ ไป ไปทุคติ ฉะนั้นตึงดีกว่าหย่อน แต่ถ้าตึงจนร่างกายพิกลพิการ จิตใจเครียด ตึงมาก ดีไม่ดีเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็ได้ มันเครียดมากเกินไป

ค่อยๆ สังเกตเอา เราจะเห็นว่าตรงนี้ตึงไป มันตึงเพราะมันโลภ มันอยากดี อยากสุข อยากสงบ พอมันรู้ทันต้นเหตุของความตึง ก็คือตัวอยากนี่เอง เรารู้ทันจิตที่อยาก ความตึงมันก็ค่อยๆ ลดลงๆ มันจะพอดี แต่ถ้าเริ่มต้นหย่อนไป หายไปเลย ถ้าเริ่มต้น ตึงหน่อยๆ อย่าตึงเยอะ ไม่ใช่เริ่มต้นต้องตึงสุดขีดอย่างนี้ อันนี้เว่อไป ธรรมดาอยู่นี่ตึงอยู่แล้วล่ะ เราก็ค่อยสังเกต ทำไมภาวนาแล้วมันเหนื่อย หายใจแล้วมันเหนื่อย ภาวนาแล้วมันอึดอัด มันแน่นหน้าอกอะไรอย่างนี้ สังเกตไป โอ้ มันอยากดี มันอยากสุข อยากสงบ พอรู้ทันต้นตอ รู้ทันตัวอยาก ความอยากดี อยากสุข อยากสงบดับไป ใจมันจะเริ่มลดระดับลงจากความตึง ค่อยๆ ลดลงมา มันจะสู่จุดที่พอดี

จุดที่พอดีเหมือนจุดเล็กๆ จุดเดียว หย่อนนี่ยาวนาน พอดีนิดเดียว ตึงก็ยาว ตรงที่มันพอดี จิตมันตั้งมั่น มันสงบ มันตั้งมั่นโดยไม่ได้จงใจ ไม่ได้เจตนา มันเป็นเอง แต่ก่อนจะมาถึงตรงนี้ มันก็เจตนามาก่อน เรารู้ทันตัณหา ตัวอยากดี รู้ทัน ตัณหาดับ ใจมันจะค่อยๆ ภาวนาไปแป๊บเดียว มันก็เข้าที่พอดี จุดที่ดีพอดีเป็นจุดที่ถูกทำขึ้นมาไม่ได้ อย่านึกว่าจะทำปุ๊บถูกพอดีเป๊ะ ทำไม่ได้หรอก สิ่งที่ดีทำไม่ได้ ที่ทำทีไรเลวทุกที ไม่ตึงไปก็หย่อนไป แต่สิ่งที่ดี มันเกิดจากเรามีสตินี่ล่ะ เรารู้ทันว่ามันตึงเกินไป รู้ทันต้นเหตุว่าตัณหามันพาให้ตึง อาศัยสติรู้ทัน จิตหมดตัณหา ภาวนาไปแล้วมันจะพอดีเอง ฉะนั้นจุดที่พอดีทำขึ้นมาไม่ได้

พอพอดีแล้วก็ไม่ต้องรักษา มันเสื่อมไป เราก็รู้ทันไปอีก มีสติไปเรื่อย จิตเคลื่อนออกไป รู้ทันอีก จิตก็กลับเข้ามาตั้งมั่น ต้องมีอารมณ์กรรมฐาน อย่านึกว่าแน่ ไม่ต้องใช้อารมณ์กรรมฐาน ไม่ต้องมีวิหารธรรมอะไรอย่างนี้ ไม่แน่จริงหรอก ถ้ามันไม่จำเป็นพระพุทธเจ้าไม่สอนให้ทำ ท่านสอนให้เรามีอารมณ์กรรมฐาน อย่างเราจะอยู่กับพุทโธ ธัมโม สังโฆ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรก็ได้ คิดถึงทาน คิดถึงศีลที่เรารักษาไว้ดี ทำไว้ดีแล้ว ก็ต้องมีเครื่องอยู่ เครื่องอยู่อย่างพวกกสิณอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อไม่ค่อยแนะนำ กสิณเล่นแล้วมันชอบออกนอก พวกอนุสติปลอดภัยกว่า มีสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงทานที่ทำแล้วที่ดี คิดถึงศีลที่ทำแล้วที่ดี คิดถึงความสงบ คิดถึงคนดีๆ คิดถึงแล้วเรามีความสุข เรียกเทวตานุสติอะไรอย่างนี้

พอใจเรามันอิ่มเอิบ สมมติเราคิดถึงสมเด็จพระเทพฯ อย่างนี้ ท่านน่ารัก เห็นรูปท่านก็น่ารักแล้ว ใจเราก็สบาย มีความสุข พอใจมีความสุข เรามีสติรู้ลงไป ใจมันจะหลงไปที่อื่น เรารู้ทัน หรือเราหายใจไปสบายๆ พอจิตเราเคลื่อนไปที่ลมหายใจ เรารู้ทัน จิตมันเคลื่อนไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทัน นี่เรามีอารมณ์กรรมฐานอยู่ เราไม่ได้บังคับว่าจิตเราต้องอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ต้องตั้งพอดีเป๊ะอย่างนี้ เราแค่มีอารมณ์กรรมฐานเป็นเครื่องสังเกตจิต จิตก็อยู่ที่นี่บ้าง จิตหนีออกไปบ้าง จิตอยู่บ้าง หนีบ้าง มีอารมณ์กรรมฐานไว้เป็นเครื่องสังเกตจิต พอจิตมันเคลื่อนไปจากอารมณ์กรรมฐาน เราก็รู้ทัน หรือจิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เราก็รู้ทัน เดี๋ยวสมาธิที่พอดีมันก็จะเกิดเอง

ค่อยๆ ฝึกไป ทีแรกมันก็ต้องจงใจก่อน ฝึกไปๆ เราก็ฝึก ไม่ได้โลภแล้วว่าจะต้องดีอย่างโน้น ต้องสงบอย่างนี้ ทำไปเป็นธรรมดาๆ แต่ก็ไม่ย่อหย่อน ไม่ทิ้งอารมณ์กรรมฐานของเรา เราคอยระลึกถึงอารมณ์กรรมฐานของเราเนืองๆ ระลึกถึงเรื่อยๆ ไป ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เรื่องของสมาธิ ถ้าตึงไป ก็เครียด ทำตัวเองให้ลำบาก ลำบากกาย ลำบากใจ หย่อนไป มันก็ลืมเนื้อลืมตัว เที่ยวออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอกไป

หลวงพ่อตอนเด็กๆ เรียนกับท่านพ่อลี ทีแรกภาวนาไม่กี่วันจิตก็รวมแล้วสงบ พอมันถอยขึ้นมา มันสว่าง มันตามแสงออกไปเที่ยว ไปเที่ยวสวรรค์ เที่ยวอะไร ดูเทวดา ดูโน้นดูนี้ แต่ผีจะไม่ไปดู มันไม่ไปดู มันกลัวผี อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้ว จิตมันหลงนิมิตแล้ว ต่อมามันเกิดเฉลียวใจ เอ๊ะ ถ้าจิตมันออกไปเห็นเทวดาได้ มันก็ต้องเห็นผีได้สิ เรากลัวผี เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา หลวงพ่อจำเส้นทางได้ จิตรวมลงไปแล้ว พอถอนขึ้นมานิดหนึ่ง สว่างออกไป หลวงพ่อไม่ตามแสงสว่างออกไป ไม่ตาม มีสติ เราเพิ่มสติขึ้น ไม่ให้สมาธินำ สมาธินำโดยสติตามไม่ทัน มันจะหย่อน มันจะออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก แต่สิ่งเหล่านี้เอาไว้ใช้งานได้ แต่ขอให้เราภาวนาให้เป็นก่อนเถอะ

อย่างเวลาครูบาอาจารย์แสดงธรรม ท่านไม่ได้พูดลอยๆ ส่วนมากจิตท่านก็ทรงสมาธิอยู่ อย่างพอเราไปนั่งฟัง จิตของท่านจะอยู่ในตัวอุปจารสมาธิส่วนใหญ่ ฉะนั้นธรรมะอะไรที่พอดีพอเหมาะกับเราอะไรอย่างนี้ ท่านก็จะถ่ายทอดให้ บางทีใจเราวอกแวก คิดอะไรนอกเรื่องนอกราว ท่านก็ดุเอา มันเป็นเครื่องมือของท่าน แต่ของเราอย่าเพิ่งไปเอาเครื่องมือตัวนี้ เราจะหย่อนเกินไปทันทีเลย มันจะเที่ยวดูข้างนอกแล้วลืมหน้าที่หลักของเรา คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเพื่อจะไปเจริญปัญญา

ตอนที่หลวงพ่อไปฝึกอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อก็รู้จักพระลูกเล็กเด็กน้อยอะไรนี่ ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ รู้จัก อยู่ด้วยกัน มีหลายองค์ชอบเล่นออกรู้ออกเห็นอะไรนี้ สารพัดจะรู้สารพัดจะเห็นเลย อย่างมีเณรองค์หนึ่ง ฉายาเณรสังฆราช รู้ไปทุกเรื่องเลย ความรู้มันเยอะ มันเป็นวิปัสสนูปกิเลส ความรู้มากมาย ใครถามอะไรตอบได้หมดเลย เช้าขึ้นมาก็จะเที่ยวไปบอกพระองค์นั้นองค์นี้ เมื่อคืนท่านปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถูก ต้องอย่างนี้อะไรอย่างนี้ บอกเขาไปได้ทั่ววัดเลย รู้หมดเลย สุดท้ายบ้า สุดท้ายก็เข้าถึงความเป็นบ้า ครูบาอาจารย์ห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง สนุกในการเล่น เล่นแล้วกูเก่งๆ รู้วาระจิตคนอื่น กูเก่งเหลือเกิน ฉะนั้นอันตรายมากเลย นี่ย่อหย่อนเกินไป ลืมภาระหน้าที่ของตัวเอง

เราฝึกสมาธิไม่ใช่เพื่อรู้เพื่อเห็นอะไรของคนอื่น เราฝึกสมาธิเพื่อรู้เพื่อเห็นกายเห็นใจของตัวเอง ให้มันมีกำลัง ฉะนั้นเราก็อย่าไปหลง กิเลสมันลากเราออกรู้ออกเห็นอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาฝึกสมาธิ อย่าให้ตึงเครียด อย่าให้ย่อหย่อนแล้วก็เตลิดเปิดเปิงออกไป เสีย พวกที่นั่งสมาธิแล้วก็เที่ยวออกรู้ออกเห็นข้างนอก สู้คนปกติไม่ได้ เพราะคนปกติโอกาสบ้ามีน้อยเลย พวกนี้โอกาสบ้ามีเยอะ อย่างเห็นผีจนชำนาญ ผีเดินมาปุ๊บรู้ปั๊บเลย ต่อมาผีมันเดินมากับคน ไม่รู้อันไหนคนอันไหนผี มันเริ่มแยกไม่ออกแล้ว เลอะเทอะไปหมด

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะนั่งสมาธิอะไรนี่ รู้หน้าที่ของเรา เราฝึกจิตใจของเราเอง ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นหรอก แต่ฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ให้มันมีเรี่ยวมีแรง ให้มันสดชื่น เพื่อจะเอาจิตที่ตั้งมั่นแล้วมีกำลังไปเจริญปัญญา นี่รู้หน้าที่ แล้วเวลาภาวนาตึงไปก็รู้ ตึงไปเพราะโลภมากอยากดี หย่อนไปก็เพราะหลงออกข้างนอก หลงไป คอยรู้ทันตัวเองไปเรื่อยๆ มันจะถูกขึ้นมามากขึ้นๆ ต่อไปพอเราชำนาญแล้ว พอเรานึกถึงการทำสมาธิ จิตมันก็เข้าที่เลย มันเข้าที่ได้เลย แต่ถ้ายังไม่ชำนาญ ค่อยฝึกไป ล้มลุกคลุกคลานไปก่อน ลำบากไปก่อนแล้วค่อยสบายทีหลัง ก็ต้องอดทนเอา

 

ปัญญา

การเจริญปัญญาก็ต้องไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปเหมือนกัน ถือศีล ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ทำสมาธิ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เจริญปัญญาก็ไม่ให้ตึงไป ไม่ให้หย่อนไป เจริญปัญญาอย่างตึงไปก็คือ ตะบี้ตะบันเจริญปัญญา ลุยลูกเดียวเลย เห็นสภาวะอะไรก็กัดติด ลุยตลอดเวลาไม่รู้จักพักจิตบ้าง เจริญปัญญารวดไปเลย บางทีจิตมีกำลังแล้วก็ไปเจริญปัญญาดูร่างกายอย่างนี้ ดูๆๆๆ ไป กำลังของจิตมันหมดแล้ว มันเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว ที่เจริญปัญญาอยู่ไม่ได้เจริญปัญญาแล้ว นั่นคือฟุ้งซ่าน

หรือบางทีเรานั่งสมาธิอยู่ จิตรวมสงบ แล้วพอต่อมาจิตมันถอยขึ้นมา มันเคลื่อนไปเคลื่อนมา เรามีสติรู้ เราเห็นจิตมันทำงานได้เอง จิตมันเป็นอนัตตา มันอยากทำอะไรมันก็ทำ สั่งมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวไม่สุข เดี๋ยวมีปีติ เดี๋ยวไม่มีปีติอะไรนี่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ พอดี ถูก แต่พอเห็นนานๆๆ เข้า กำลังของสมาธิตกไปแล้ว เวลาเจริญปัญญา เราใช้พลังงานของจิตเยอะ เพราะฉะนั้นต้องสะสมพลังของจิตไว้ พอพลังของจิตมันตกไป ที่ว่าเจริญปัญญา ไม่ได้เจริญแล้ว มันฟุ้งซ่านแล้ว

ฉะนั้นการเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านคาบเส้นกันนิดเดียว สมาธิไม่พอเมื่อไหร่ จิตฟุ้งซ่านเมื่อนั้นแล้วนึกว่าเจริญปัญญาอยู่ อย่างคิดพิจารณากาย คิดไปๆ ใจฟุ้งๆๆๆ ไม่เกิดประโยชน์ๆ อะไรขึ้นมา หรือดูจิตดูใจ ดูทีแรกก็ดี ดูไปดูมา มันเตลิดเปิดเปิงไปแล้ว ดูอะไรต่ออะไรมั่วซั่วไปหมดแล้ว อารมณ์ทางจิตผ่านเข้ามาเร็วจี๋เลย เดี๋ยวแป๊บๆๆๆ เปลี่ยนไปตลอดเวลา เร็วจนกระทั่งดูไม่ทันว่าแต่ละอันนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วับๆๆๆ อย่างนี้ อันนี้กำลังไม่พอ ดูต่อไปก็คือย่อหย่อนเกินไป

หรือว่าตึง บางทีเครียด จงใจจะดูไม่ให้คลาดสายตาอะไรอย่างนี้ เวลาเจริญปัญญา จะดูไม่ให้คลาดสายตา มันเครียด เพราะฉะนั้นบางทีก็เที่ยวแสวงหา เอ๊ะ ตอนนี้กิเลสอะไร มีกิเลสอะไรหรือเปล่า นี่หมกมุ่นในการเจริญปัญญาเกินเหตุไป หมกหมุ่นมากไป วุ่นวายเกินไป กลายเป็นฟุ้งซ่านไปหมดเลย ฉะนั้นเวลาภาวนาก็ต้องค่อยๆ สังเกตเอา เราเจริญปัญญาไป สภาวะผ่านเร็วจี๋ ดูไม่รู้เรื่องแล้ว ทิ้งการเจริญปัญญาเลย กลับมาทำสมถะ มาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป ให้จิตได้พักผ่อน มีเรี่ยวมีแรงแล้วค่อยไปเจริญปัญญาต่อ

เจริญปัญญา อย่างจะดูกาย ก็ดูกายไป ดูไปช้าๆ ไม่ต้องรีบดูพรวดพราด บางคนพิจารณากาย หัวถึงเท้า นาทีเดียวพิจารณาหมดแล้ว มันเว่อไป จะดูผมก็ดูให้มันประณีต จะดูเส้นผม ผมมีรูปร่างอย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ เป็นของไม่สวยไม่งามอย่างนี้ เป็นของไม่เที่ยงอย่างนี้ เราบังคับได้ไหมให้ผมงอกเร็วๆ ก็บังคับไม่ได้ ให้ยาวเร็วๆ อะไรอย่างนี้ หรือบังคับว่าตัดผมมารอบนี้ ทรงนี้สวยแล้ว อย่ายาวกว่านี้ ให้คงที่อยู่อย่างนี้ สั่งอะไรไม่ได้สักอย่าง ผมดำๆ ก็สั่งว่าอย่าหงอกอะไรอย่างนี้ ก็สั่งไม่ได้ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ดูความจริงไปเรื่อยๆ เวลาพิจารณา ไม่ใช่ลุกลี้ลุกลน นึกถึงผม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เอ้า ขน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แป๊บเดียวถึงหัวแม่ตีนแล้ว ใช้ไม่ได้ ใจเย็นๆ ถ้าลุยอย่างนั้นฟุ้งซ่าน ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเราค่อยๆ ดูไป

ดูจิตก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์มันผ่านเร็วเกินไป แสดงว่าเริ่มฟุ้งซ่านแล้วกำลังสมาธิไม่พอแล้ว ถ้ากำลังสมาธิพอ อารมณ์มันจะไหลมาเนิบๆ ค่อยๆ มา ค่อยมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ดูสบายๆ เหมือนเรานั่งดูอยู่ริมแม่น้ำ เดี๋ยวนานๆ ก็มีเรือผ่านมาลำหนึ่ง เดี๋ยวก็มีต้นไม้อะไรลอยมา นานๆ ไหลมาทีหนึ่ง ไม่เหมือนอยู่ริมถนนศรีนครินทร์หรืออะไรนี่ รถยุบยับๆ ดูคันไหนๆ ดูไม่ทันแล้ว อย่างนี้ฟุ้งซ่านไป เห็นอารมณ์เคลื่อนไหวเยอะแยะไปหมด ดูไม่รู้เรื่อง

 

 

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา จะถือศีล ก็อย่าให้ตึงไป อย่าให้หย่อนไป จะทำสมาธิ ก็ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เจริญปัญญา ก็ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ตึงไปก็คือตะบี้ตะบันทำ ไม่ยอมหยุดเลย หย่อนไปก็คือดูนิดเดียว เลิกแล้ว เจริญปัญญาหน่อยเดียว กลับไปทำสมาธิไปสงบเฉยๆ แล้ว มีเยอะ คนที่ติดสมาธิ พอครูบาอาจารย์บอกให้ออกเดินปัญญา ออกมาดูกาย มาดูใจแวบเดียว หนีกลับเข้าไปนอน อยู่ในสมาธิแล้ว นี่หย่อนไป เพราะฉะนั้นเราก็ระวังไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วถ้าติดสมาธิ มันจะหย่อนไปในการเดินปัญญา แล้วถ้าเดินปัญญาไปเรื่อยๆ ไม่สนใจสมาธิเลย มันก็จะตึงในการเดินปัญญาไป มันจะเหน็ดเหนื่อย มันใช้ไม่ได้

ฉะนั้นค่อยๆ ฝึกไป ทางสายกลาง เห็นไหมคำว่าทางสายกลางคำเดียว ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย ฝึกกันหลายปีๆ กว่าจะถือศีลอย่างเป็นทางสายกลาง กว่าจะมีสมาธิอย่างเป็นทางสายกลาง กว่าเจริญปัญญาเป็นทางสายกลางได้ ไม่ใช่ง่ายหรอก ต้องฝึก ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี ค่อยๆ ฝึกเอา อย่างเดินปัญญารวดไปเลยนี่ตึงไป เดินปัญญานิดเดียวก็เลิก หันเข้าไปหาสมาธิ ไปนิ่งอยู่เฉยๆ อันนี้หย่อนไป หรือเดินปัญญานิดเดียว หนีไปคิดเรื่องอื่นเลย อันนี้สมาธิก็ไม่มีแล้ว เหลวไหล ค่อยๆ ฝึกตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่าพอดีมันอยู่ที่ไหน ความพอดีอยู่ตรงไหน ทางสายกลางนั่นล่ะ มันพอดี ตรงอื่น ไม่หย่อนไป ก็ตึงไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 สิงหาคม 2564