จิตที่เปิดรับธรรมะ

ช่วงนี้คนจีนเข้ามาเยอะ มาเรื่อยๆ หมุนเวียนเข้ามา ส่วนใหญ่ก็มาหาลู่ทางทำมาค้าขาย มีส่วนน้อยเข้ามาเรียนธรรมะ เป็นเรื่องปกติ แต่ขนาดว่าส่วนน้อย ตอนเช้าๆ แต่ละวัน คนจีนมาวัดเกินครึ่ง คนไทยน้อยกว่า เขาก็ขยันขันแข็งกันดี แต่ก็เปลี่ยนรุ่นมาตลอดเวลา หลวงพ่อเลยต้องสอนเรื่องเบสิกอยู่เรื่อยๆ เมื่อวันจันทร์นี้ก็เทศน์คนจีนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา หลวงพ่อเทศน์ไว้ มันเป็นธรรมะ การปฏิบัติในขั้นพื้นฐาน คนไทยฟังก็ไม่เสียหลาย เพราะส่วนใหญ่ก็ยังภาวนาไม่ถูกอยู่ดีล่ะ เดี๋ยวจะเปิดให้ฟัง

 

ธรรมะเรียนกันด้วยใจ

เวลาฟังธรรม เราไม่ต้องตั้งอกตั้งใจมากหรอก ภาวนาไป ทำสมาธิทำอะไรของเราไป ฟังธรรมะ จุดไหนที่ธรรมะมันตรงกับใจเรา ใจเราจะ Alert ขึ้นมา มันตื่นตัวขึ้นมารับธรรมะตรงนั้นได้ เรียนธรรมะไม่เหมือนเรียนทางโลก อย่างเราฟังเลกเชอร์ เราฟังไปจดไป หลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ รู้เลยว่าขืนฟังไปจดไปท่านไม่เทศน์ ธรรมะหายหมด เพราะธรรมะเราเรียนกันด้วยใจ ใจต่อใจ ครูบาอาจารย์เห็นหน้าเรา ก็รู้ว่าเราควรฟังธรรมะแค่ไหนเรื่องอะไร ท่านก็จะสอน ถ้าเรามัวแต่ตั้งอกตั้งใจฟังทุกคำพูดเลย ธรรมะมันเข้าหูแล้วก็เข้าสมองไป เดี๋ยวก็ลืม แต่ถ้าเราภาวนาไปด้วย ดูจิตดูใจของเราไปด้วย ครูบาอาจารย์ก็จะเทศน์ไปเรื่อยๆ ค่อยๆ นำจิตใจเรา ให้ผ่านจุดที่เราติดขัดอยู่ เราจะเห็นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ท่านสะกดจิต

ฉะนั้นเวลาเรียนธรรมะ จะสังเกต อย่างครูบาอาจารย์ที่เรียนกับหลวงปู่มั่น ไม่มีใครไปนั่งจด มีอาจารย์วิริยังค์มาจดก็มาจดทีหลัง อยู่ต่อหน้าท่านไม่ได้จด หลวงพ่อขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ เคยเอาเทปไป ตอนนั้นมันเป็นเทปคาสเซ็ท หิ้วเครื่องไป หลวงปู่ถามว่านี่อะไร ท่านไม่รู้จัก แล้วขอท่านอัดไว้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร ก็เปิดเครื่องทิ้งไว้ เราก็ภาวนาฟังไป ฟังท่าน

เวลาคนเยอะๆ ระดับความเข้าใจธรรมะ แต่ละคนไม่เท่ากัน ฉะนั้นบางทีครูบาอาจารย์ ท่านจะเทศน์เป็นลำดับไป จากพื้นๆ ก็สูงขึ้นๆ ไป ส่วนที่เกินภูมิจิตภูมิธรรมของเรา เราจะจำไม่ได้ แล้วส่วนไหนที่จิตเรารับได้ ก็จะรู้จะเข้าใจ ธรรมะไม่ได้เรียนด้วยการตั้งอกตั้งใจฟังแบบฟังเลกเชอร์ ทำใจให้สบาย ทำใจให้สงบ รู้เนื้อรู้ตัวไป แล้วก็ฟังธรรมะไป เรียกว่าเรียนแบบจิตสู่จิต จิตของครูบาอาจารย์ก็แสดงธรรมไป จิตของเราก็เปิดรับธรรมะไป

จิตที่เปิดรับธรรมะ มันมีอาการอะไร ที่สำคัญ พวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น จิตรับธรรมะไม่ได้ คล้ายๆ ชาล้นถ้วย สำนวนจีน จิตที่เปิดรับธรรมะได้ สงบ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่เคร่งเครียด ไม่เจ้าความคิด ไม่เจ้าความเห็น มีใจสุภาพ อ่อนโยนในการฟัง ก็คือจิตที่เป็นกุศลนั่นล่ะ ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลมันจะเบา ถ้าเครียดจัด ฟังธรรมะไม่ได้ มันจะนุ่มนวล ถ้ากระด้าง ขัดแข็ง ดื้อรั้น รับธรรมะไม่ได้ มันจะว่องไว ไม่ใช่นั่งจะฟังธรรมะ แล้วก็เคลิ้มเซื่องซึมไป อันนั้นรับธรรมะไม่ได้

ที่สำคัญเวลาฟังธรรมะ ฟังซื่อๆ ไม่ต้องตีความมาก ฟังไปคิดไปมันก็เรียนปริยัติล่ะถ้าอย่างนั้น เราจะฟังธรรมะได้แล้วรู้เรื่องดี ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มหากุศลจิต ลหุตา เบา มุทุตา นุ่มนวล ปาคุญญตา คล่องแคล่วว่องไว ไม่เซื่องซึม กัมมัญญตา ควรแก่การงาน ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อุชุกตา รู้ซื่อๆ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้ ใจอย่างนี้รับธรรมะง่าย ฉะนั้นเราปรับจิตใจของเรา ให้มันเป็นกุศลไว้ก่อน แล้วฟังธรรม เราจะได้ประโยชน์มาก ถ้าฟังไป แล้วก็ใจก็หนักๆ แน่นๆ เพ่งเอาไว้มากๆ บางคนเพ่ง เพ่งจนเครียด ฟังธรรมะไม่รู้เรื่อง จิตใจเหมือนกับครกหินทั้งลูก เอาน้ำสาดลงไป ไม่ซึมสักนิดเดียวเลย ใจกระด้าง กูก็แน่ กูก็หนึ่ง พวกนี้ก็รับธรรมะไม่ได้ พวกหัวดื้อหัวรั้น เจ้าความคิดเจ้าความเห็น

ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจเรา ให้จิตใจเราเป็นกุศลที่แท้จริง จิตใจที่เป็นกุศล เป็นจิตใจที่ฉลาด มันพร้อมที่จะรับธรรมะ สังเกตดูจิตเราขณะนี้หนักไหม แน่นไหม แข็งไหม ซึมทื่อหรือเปล่า หรือว่าคิดอุตลุด คิดกับรู้ตรงข้ามกัน คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ รู้อะไร รู้สภาวะ ถ้าคิดจะรู้อะไร รู้เรื่องที่คิด เรื่องที่คิดไม่ใช่สภาวธรรม สภาวธรรมคือรูปธรรมนามธรรม เรื่องราวที่คิดเรียกบัญญัติ มันเป็นคนละชนิดกัน ฉะนั้นถ้าเรายังหลงอยู่ในโลกของความคิด เราก็ไม่เห็นรูปธรรมนามธรรม ค่อยๆ สังเกตใจเรา เจ้าความคิดเจ้าความเห็นอะไรพวกนี้ โยนทิ้งไป เป็นอุปสรรคต่อการเรียนธรรมะ

เวลาหลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์ จะเข้าไปด้วยจิตใจที่สุภาพอ่อนโยน เปิดใจ เปิดใจหมายถึง ไม่ Protect ตัวเอง ไม่กลัวเสียหน้าว่า ครูบาอาจารย์ว่าภาวนาผิด ภาวนาไม่ดี กิเลสท่วมหัวเลยอะไรอย่างนี้ ไม่ Protect ตรงนี้ ใจเข้าไปธรรมดาๆ ถ้าจิตใจเราไม่ดี แล้วครูบาอาจารย์ดุด่าว่ากล่าวเรา เป็นสิริมงคลกับเรา ดีกว่าคำพูดของคนพาล เราทำไม่ดีก็ชมเรา อันนี้คนพาล ฉะนั้นใจที่สบายๆ ธรรมดาๆ สุภาพอ่อนโยน ไม่เจ้าความคิด ไม่เจ้าความเห็น พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ เอาใจอย่างนี้ไปฟังธรรมะ

เดี๋ยวจะเปิดวิดีโอให้ฟัง แล้วดูสิ ใจของเราจะรับธรรมะได้สักกี่ส่วน ถ้าได้ 5 ส่วนถือว่าสอบผ่าน ได้ 1 ส่วนก็สอบผ่าน ไม่ได้สักส่วนนี่ ไม่ได้เลย ทำไมส่วน 1 ส่วนก็ให้ผ่านแล้ว ก็บอกแล้วว่าแต่ละคน ภูมิจิตภูมิธรรมไม่เท่ากัน จากคนไม่รู้เรื่องเลย เข้าใจขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ก็ถือว่าก้าวหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาส่งการบ้านหลวงพ่อ หลวงพ่อ เออ ดีๆ ดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดีของเบอร์ 1 ไม่ใช่เท่ากับดีของเบอร์ 2 อะไรอย่างนี้ มันดีเฉพาะตัว เพราะธรรมะเราไม่ได้แข่งกับคนอื่น เราดูที่ตัวเอง ถ้าจิตใจของเราพัฒนาขึ้น เออ อันนั้นดี ถ้าพัฒนาขึ้นไปแล้ว ดีแล้ว แล้วก็ไม่พัฒนาต่อ มาเจอหลวงพ่อครั้งต่อไป หลวงพ่อ ไม่ดี ไม่ดี พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญความดีที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ว่าจะตรวจการบ้านก่อน ไปเทศน์เสียแล้ว เอาอย่างไรดี เปิดวิดิโอไปก่อนเลยก็แล้วกัน สังเกตที่ใจเราตอนนั่งฟังเทศน์

 

เมื่ออาทิตย์ก่อนหลวงพ่อแทบไม่ได้ออกมาเจอพวกเรา ไม่สบายหลายวัน ธรรมะจริงๆ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อ ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง อันนี้พูดอยู่บ่อยๆ การเรียนธรรมะไม่ต้องฟังเยอะ ฟังพอได้หลักที่จะปฏิบัติ แล้วเอาไปลงมือปฏิบัติ หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เรียนไม่มาก ไปหาท่านวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 40 กว่าปีก่อน ไปเรียนท่านบอกว่า “ผมอยากปฏิบัติ” คือตอนนั้นหลวงพ่อทำแต่สมาธิ ทำสมาธิมา 22 ปีแล้ว แล้วมันไม่เข้าใจธรรมะ ได้แต่ความสงบ ก็นั่งสมาธิอย่างที่พวกเราชอบนั่งกัน นั่งแล้วเงียบๆ ไป ก็รู้ว่ามันยังไม่ถึงจุดสุดท้าย ไม่ถึงที่หมายปลายทางของศาสนาพุทธ พอได้ไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปบอกท่านว่า “ผมอยากปฏิบัติ”

 

เรียนธรรมะอย่าเอาแต่คิด ให้เห็นสภาวะ

ท่านก็สอนหลวงพ่อ สอนนิดเดียว บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” คีย์เวิร์ดจริงๆ หัวใจคำสอนจริงๆ ก็คืออ่านจิตตนเอง จากประโยคนี้ประโยคเดียว หลวงพ่อก็อ่านใจตัวเองมาเรื่อย ทีแรกก็ไม่รู้จะอ่านอย่างไร เพราะครูบาอาจารย์ไม่บอก ให้เราศึกษาเอาเอง ท่านถามว่า “เข้าใจไหม” ที่ท่านบอกให้อ่านจิตตนเอง บอก “เข้าใจ” ตอนนั้นบอกว่าเข้าใจ เพราะตื่นเต้น เหมือนที่พวกเราตอนนี้ เวลาเจอหลวงพ่อแล้วตื่นเต้น ถามเรื่องหนึ่งตอบไปอีกเรื่องหนึ่ง ท่านบอกเข้าใจแล้วก็ไปทำเอา

หลวงพ่อก็กราบลาท่าน ขึ้นรถไฟจากสุรินทร์ตอน 10 โมงเช้ารถไฟออก กะจะไปแวะหาหลวงพ่อพุธที่โคราช หลวงพ่อเจอหลวงปู่ดูลย์กับหลวงพ่อพุธวันเดียวกัน ไปฟังหลวงปู่ดูลย์แล้วก็ขากลับจากสุรินทร์ ก็มาแวะที่โคราชหาหลวงพ่อพุธ ตรงนี้รถไฟใช้เวลาวิ่งชั่วโมงกว่าๆ พอรถไฟมันเคลื่อนขบวนจากสุรินทร์ หลวงพ่อก็นึกได้ว่า เอ๊ะ หลวงปู่บอกให้อ่านจิตตนเอง จิตคืออะไร ไม่รู้ จิตอยู่ที่ไหน ไม่รู้ จะอ่านจิตตัวเองได้อย่างไร ไม่รู้ จะเอาอะไรไปอ่าน ไม่รู้ รวมความแล้วไม่รู้อะไรสักอย่างเลย หลวงพ่อก็ตกใจว่าตายแล้ว จะลงจากรถไฟก็ไม่ได้แล้ว จะทำอย่างไรดี

เวลาทำอะไรไม่ถูก หลวงพ่อก็กลับมาทำสมถะ อันนี้เป็นหลักการปฏิบัติ ช่วงไหนที่เราภาวนาแล้ว ดูอะไรไม่รู้เรื่อง หรือสับสนมึนงง ไม่ต้องดิ้นรนค้นคว้า โยนมันทิ้งไปให้หมดเลย แล้วก็ทำความสงบของจิตขึ้นมา หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ นี้เคยฝึกสมาธิมาตั้ง 22 ปี หายใจไม่กี่ทีจิตก็รวม สงบ พอจิตสงบปัญญามันก็เกิด มันพิจารณา จิตมันอยู่ที่ไหนหนอ จิตมันต้องอยู่ในร่างกายเรานี้ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ เราจะไม่เรียนกรรมฐานเกินร่างกายของเราออกไป จะไม่เรียนออกไปข้างนอก ไม่เรียนไปที่คนอื่น ไม่เรียนไปที่สิ่งอื่น แต่จะเรียนอยู่ในกายของตัวเอง เรียนอยู่ในร่างกายนี้ ไม่ให้เกินร่างกายไป เกินจากร่างกายมันก็เป็นเรื่องของคนอื่นหมดแล้ว ฉะนั้นเราจะย้อนเข้ามาเรียนรู้อยู่ในร่างกายนี้ เพราะจิตมันต้องอยู่ในร่างกาย

คราวนี้ก็สงสัยต่อ เมื่อจิตอยู่ในร่างกายแล้ว มันอยู่ตรงไหน ส่วนไหนในร่างกาย หลวงพ่อก็ดูไปที่ผม ในผมก็ไม่มีจิต ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูลงไปถึงเท้า ก็ไม่มีจิต เลยได้ความรู้อย่างหนึ่ง จิตอยู่ในร่างกายเรานี้ล่ะ แต่ไม่ได้อยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าจิตเป็นอย่างไร แต่รู้แล้วว่าจิตอยู่ในร่างกาย แต่ว่าไม่ใช่อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ฉะนั้นอย่างพวกเราภาวนา บางทีเราไปเพ่งร่างกายเอาไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วหวังว่าจะเห็นจิต ไม่มีทางเห็นหรอก เพราะสิ่งที่ถูกเพ่งไม่ใช่จิตหรอก มันกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลีเรียกว่าอารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งถูกรู้ จิตแปลว่าผู้รู้ เป็นผู้เห็นอารมณ์ ไล่อยู่ในร่างกายตั้งแต่หัวถึงเท้า พบว่าจิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ตรงส่วนไหนของกาย

อันนี้เลยสงสัยต่อ แล้วจิตมันเป็นอย่างไร ดูแล้วจิตไม่ได้อยู่ในกาย หรือจิตอยู่ในเวทนา ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ หลวงพ่อก็ทำใจสงบปุ๊บ จิตมีความสุข ไม่สงบลึก ถ้าสงบลึกจิตจะเป็นอุเบกขา สงบนิดหน่อย จิตจะมีความสุข เราก็ดูลงไปในความสุข ความสุขดับไปก็ไม่เห็นจิต หาต่อไปอีก หรือจิตอยู่ในความทุกข์ พยายามนั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก ให้ร่างกายมันเมื่อย แล้วดูลงไปในความปวดความเมื่อย ก็ไม่เห็นว่ามีจิต เพราะฉะนั้นจิตรู้กาย แต่จิตก็ไม่ใช่กาย จิตรู้เวทนา แต่จิตก็ไม่ใช่เวทนา

ก็คิดต่อไปอีก พิจารณาต่อไป หรือว่าจิตมันอยู่ในความคิด หลวงพ่อก็เจตนาคิด จงใจคิด คิดบทสวดมนต์ “พุทโธสุสุทโธ กะรุณามะหัณณโว” แปลว่า “พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณา มีความกรุณาเหมือนห้วงมหาสมุทร” “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณโว” ภาษาที่แปลไว้โบราณเพราะมากเลย บอก “พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” ก็คือบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีความกรุณากว้างขวางมาก เหมือนมหาสมุทรเลย เหมือนทะเลใหญ่ๆ พอคิดว่าพุทโธ สุสุทโธ คิดคำบริกรรมนี้ขึ้นมา บทสวดนี้ขึ้นมา

หลวงพ่อเห็นกระแสของความคิด เห็นกระแสของความคิดมันเลื้อยออกมา เหมือนงูเลื้อยออกจากรู มันเลื้อยออกมาจากกลางอก เลื้อยขึ้นมา แล้วมันก็ดับ ตรงที่เห็นความคิดเกิดแล้วดับปั๊บลงไป จิตผู้รู้ก็เด่นดวงขึ้นมา ก็เลยรู้ความรู้อันหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รู้กับคิดเป็นสิ่งตรงข้ามกัน พอความคิดดับ รู้ก็เกิด พอความคิดเกิด ตัวรู้ก็ดับ เพราะจิตเรามัวแต่ไปสนใจความรู้ สนใจสิ่งที่ถูกรู้ หลวงพ่อถึงบอกพวกเรา เรียนธรรมะอย่าเอาแต่คิด ให้เห็นสภาวะ ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด แต่รู้ว่าจิตคิด 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน รู้ว่าจิตกำลังคิด อันนี้เรียกว่ารู้วิตก วิตก ความตรึกของจิต ส่วนเรื่องราวที่จิตคิด เป็นสมมติบัญญัติ ไม่มีสภาวธรรมรองรับ

 

เห็นสภาวะได้ ตัวผู้รู้จะเกิด

ฉะนั้นการปฏิบัติ ถ้าเราเห็นสภาวะได้ ตัวผู้รู้มันจะเกิด อย่างที่สอนบ่อยๆ ว่า ให้นั่งปฏิบัติไป แล้วจิตหลงไปคิดให้รู้ทัน รู้ที่จิตหลงคิด ไม่ใช่รู้เรื่องที่จิตคิด คนละอันกัน ถ้ารู้เรื่องที่จิตคิด ไม่มีวันสิ้นสุดเลย เพราะมันคิดได้ทั้งวันทั้งคืน หมามันก็รู้เวลามันคิด ทำไมมันไม่บรรลุมรรคผล มันคิดเรื่องอะไรมันก็รู้ แมวมันจะไปจับนก มันก็คิดว่าจะจับอย่างไร จะไปหลบอย่างไร จะไปตะครุบอย่างไร ทำไมมันไม่บรรลุมรรคผล เพราะมันรู้แต่ความคิด มันไม่เคยรู้ว่าจิตกำลังคิด

ฉะนั้นที่ให้ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง เช่น หายใจเข้าพุทออกโธ นี่ตัวอย่าง อะไรก็ได้กรรมฐาน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น มันลืมพุทโธ ลืมหายใจ เรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหนีไปคิดปุ๊บ จิตที่หนีไปคิดจะดับทันที จิตผู้รู้ก็จะเกิดขึ้นทันที เราก็จะได้ตัวจิตที่ดีมา จิตของพวกเรา มันเป็นจิตสะเปะสะปะ เป็นจิตผู้หลง ไม่ใช่จิตผู้รู้ หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ ไม่ใช่จิตผู้รู้

จิตที่เป็นผู้รู้ มันรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น ส่วนใหญ่จิตของเรามันหลงทั้งวัน ครูบาอาจารย์ก็เลยเน้นบอกว่า ให้ทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ จิตหลงแล้วรู้ ที่จริงจะใช้สภาวธรรมอันอื่นก็ได้ อย่างถ้าจิตเราโกรธ เรารู้ว่าจิตโกรธ ความโกรธจะดับ แล้วจิตผู้รู้ก็จะเกิดเหมือนกัน กุญแจมันอยู่ตรงนี้ ให้เรารู้สภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น ไม่ใช่รู้เรื่องราวที่คิด ความคิดปิดบังความจริง ปิดบังสภาวธรรมไว้ เวลาที่เราหลงไปในความคิด เรามีร่างกาย เราลืมร่างกาย เรามีจิตใจ เราก็ลืมจิตใจ ร่างกายจิตใจของเรานั้นคือสภาวธรรม ธรรมะอยู่ที่กายที่ใจนี้ ไม่ได้อยู่ในโลกของความคิด แต่อยู่ในโลกของความเป็นจริง คือความรู้เนื้อรู้ตัว เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้ได้จิตที่เป็นผู้รู้ก่อน

วิธีที่จะฝึกให้จิตเป็นผู้รู้ก็คือ รู้ทันจิตที่มันหลง รู้กับหลงมันเป็นสิ่งตรงข้ามกัน จิตเราหลงไปคิด รู้ทัน หลงรองลงมาก็คือหลงไปดู เดี๋ยวดูโน่นดูนี่ โน่นจิตไปอยู่ที่คนอื่นแล้ว รู้ว่าจิตหนีไปอยู่ที่คนอื่น ไม่ใช่รู้ว่าเห็นอะไร ถ้ารู้ว่าเห็นอะไร มันก็เหมือนรู้ว่าคิดเรื่องอะไรนั่นล่ะ ให้รู้ว่าจิตหลงไปดูรูป จิตที่หลงไปดูรูปจะดับ จิตผู้รู้จะเกิด

ทางหลงอันที่ 3 เบอร์ 3 เบอร์ 1 หลงไปทางใจ คือหลงไปคิด เกิดทั้งวัน รองลงมาสำหรับคนที่ตาไม่บอด คือหลงไปดู เวลาเราดูซีรีส์ดูอะไร รู้สึกไหม เรารู้เรื่องในซีรีส์ แต่ลืมกายลืมใจตัวเอง นี่ล่ะเรียกว่าหลงดู หลงช่องทางที่ 3 คือหลงฟัง เราได้ยินเสียงอะไรอย่างนี้ สนใจ ใจวอกแวกไปฟังแล้ว ลืมกายลืมใจตัวเอง หลงที่เกิดบ่อยที่สุด ก็คือหลงทางใจ คือหลงไปคิด

เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์จะเน้นมา ทำกรรมฐานไป จิตหลงไปคิดแล้วรู้ทัน อย่างถ้าหลวงพ่อก็คือหายใจไป แล้วจิตหลงไปคิดแล้วรู้ทัน หรือจิตหลงไปเพ่งลมหายใจก็รู้ทัน หลวงพ่อเคยเจอหลวงพ่อเทียนสอนขยับมือ หลวงพ่อเทียน ดูหลวงพ่อเทียนปุ๊บ โอ๊ะ หลวงพ่อเทียนภาวนาใช้ได้เลย ท่านขยับมือ ไม่ใช่เพื่อจะรู้มือ ท่านขยับมือเพื่อให้รู้สึกตัว ก็คือให้มีจิตผู้รู้นั่นเอง ภาษาที่แตกต่างกัน แต่เนื้อหาอันเดียวกัน ท่านขยับมืออย่างนี้ หลวงพ่อดูท่าน เออ ท่านรู้สึกตัวตลอดเลย เห็นร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดูเท่านั้นเอง นี่เดินปัญญาได้ต่อไป

ลูกศิษย์ที่ไปนั่งเรียนกับท่าน พวกหนึ่งนั่งคิดว่า เอ๊ะ ท่านี้แล้วต่อไปจะท่าไหน มัวแต่คิด ท่านี้แล้วก็ยก แล้วถัดไปก็อันนี้อีก นี่หลงแต่เรื่องคิด อีกพวกหนึ่งหลงไปเพ่งมือ มือเคลื่อนไปนี่ จิตก็อยู่นี่ มือมาอยู่นี่ จิตก็วิ่งมานี่ แต่มองไม่เห็นจิตตัวเอง มันคือการเพ่ง เหมือนเราดูท้องพองยุบ จิตมันไหลไปอยู่ที่ท้อง หรือเรารู้ลมหายใจ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ แล้วเราไม่เห็นว่าจิตมันไหลไป อันนี้คือหลงทั้งหมด

 

การอ่านจิตก็เหมือนอ่านหนังสือ

เพราะฉะนั้นไม่มีกรรมฐานอะไร ดีกว่ากรรมฐานอะไรหรอก ทำกรรมฐานที่เราถนัดนั่นล่ะ แต่พอจิตมันหลงไปให้รู้ทัน นี่หลงคิดแล้ว รู้สึกไหม ให้รู้ ไม่ได้ห้าม หลงแล้วรู้ ไม่ใช่บอกว่าห้ามหลง คนละเรื่องเลย ถ้าห้ามหลง เราจะเครียดจัดเลย เราไม่ห้าม เพราะว่าธรรมชาติของจิตมันคิดนึกปรุงแต่งตลอดเวลา เราไม่ได้ไปดัดแปลงมัน เราจะเรียนรู้มัน แต่เราไม่ได้ไปดัดแปลงมัน จิตมีหน้าที่คิดมันก็คิด แต่เวลาคิดแล้วเราไปไหลเข้าไป เราหลงเข้าไปในโลกของความคิด เรารู้ทัน หัดรู้ทันจิตใจตัวเองไป

หลวงพ่อบริกรรม “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณโว” สวดมนต์บทนี้ขึ้นมา หลวงพ่อเห็นว่าจิตมันกำลังคิด ไม่ใช่รู้ว่ามันคิดเรื่องอะไร เห็นกระแสของความคิดมันผุดขึ้นมา ดับปั๊บ ผู้รู้เกิด พอจิตผู้รู้เกิด หลวงพ่อร้อง เอ๊ย ตัวนี้เราทำได้มาตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว แต่ทำได้จากอีกวิธีหนึ่ง ไม่ใช่วิธีเอาสติไปรู้สภาวะ แต่ทำได้มาจากการนั่งสมาธิ

นั่งสมาธิก็นั่งหายใจเข้าพุทออกโธ พอจิตสงบมากขึ้น พุทโธหายไป เหลือแต่หายใจ พอจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไปกลายเป็นแสงสว่าง แล้วจิตไปจับอยู่ที่แสงสว่าง ต่อมาสติรู้ทันว่าจิตไปจับที่แสง จิตก็กลับเข้ามาตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ละวิตก ละวิจาร วิตกคือการที่จิตไปตรึกกับแสง ไปคิดเรื่องแสง ละวิจารคือการที่จิตใจไปเคล้าเคลียกับแสง ละวิตกวิจารได้ จิตทวนกลับเข้ามาที่ตัวเอง เกิดปีติ เกิดความสุข นี่เรารู้เลย โอ้ จิตมันเป็นคนดู ตอนนั้นไม่มีครูบาอาจารย์ ตอน 10 ขวบ ไม่อย่างนั้นคงพ้นทุกข์ไปนานแล้ว

มาเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อลองอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งมันเป็นวิธีที่คนเมืองจะใช้ เป็นอีกวิธีหนึ่งเลย สำหรับคนซึ่งไม่ได้เข้าฌาน คนที่เข้าฌานไม่เป็น เข้าสมาธิไม่เป็น ก็ให้ใช้วิธีทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่ต้องคอยรู้ทันจิตตัวเอง หายใจไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน หรือดูท้องพองยุบก็ดูไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไปเพ่งท้องก็รู้ทัน เดินจงกรมก็เดินไป รู้สึกไป ร่างกายมันเดิน ไม่ได้ไปบังคับให้สงบ เห็นร่างกายมันเดินไป แล้วจิตมันหนีไปคิด รู้ทัน จิตมันมาเพ่งร่างกาย รู้ทัน เช่น มันไปเพ่งจ้องอยู่ที่เท้า รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตนั่นล่ะ ตัวผู้รู้มันจะเกิดขึ้นมาทันทีเลย เรารู้ทันจิตที่หลงปุ๊บ จิตรู้จะเกิดอัตโนมัติ

พอมีจิตรู้แล้ว คราวนี้หลวงพ่อก็ภาวนาต่อ พยายามไปรักษาจิตให้นิ่งๆ คิดว่าการดูจิต คือการเฝ้าไม่ให้คลาดสายตา เฝ้าไว้นิ่งๆ ว่างๆ อยู่อย่างนี้ จิตว่างๆ ไม่คิดอะไร ทำอยู่ 3 เดือน พอขึ้นไปส่งการบ้าน หลวงปู่ดูลย์เห็นท่านบอก “ทำผิดแล้ว จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง เราไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ทำผิดแล้วไปทำใหม่” ให้ไปอ่านจิต การอ่านจิตก็เหมือนอ่านหนังสือ เราไม่ใช่คนแต่งหนังสือ ในหนังสือนิยาย มีบทรัก เราก็รู้ มีบทโกรธ เราก็รู้ มีบทตื่นเต้น เราก็รู้ เราอ่านจิตของเราเหมือนอ่านนิยาย

จิตเราเกิดความรัก เราก็รู้ จิตเราเกิดความโกรธ เราก็รู้ จิตเราตื่นเต้นก็รู้ จิตเรากลัวก็รู้ อ่านอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หลวงพ่อใช้เวลา 4 เดือนจากจุดนี้ วันหนึ่งจิตมันก็รวมเข้าไป แล้วมันก็เข้าใจ จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันสุขได้เอง มันทุกข์ได้เอง มันโกรธได้เอง มันรักได้เอง มันตื่นเต้นได้เอง มันกังวลได้เอง เห็นมันทำงานของมันได้เอง มันไม่ใช่เรา ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งที่ 3 ท่านก็บอกว่า “เข้าใจแล้วล่ะ การปฏิบัติ พึ่งตัวเองได้แล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องเรียนกับท่าน ก็สามารถไปด้วยตัวเองได้” แต่หลวงพ่อก็ไป ไปเรื่อยๆ ครูบาอาจารย์ยังอยู่ ก็ต้องฉวยโอกาสไป

ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อ่านจิตตัวเองให้ออก เข้าใจจิตว่าเป็นอย่างไร เข้าใจจิตว่าจิตไม่เที่ยง เข้าใจจิตว่าไม่ใช่ตัวเราหรอก เราบังคับมันไม่ได้ คือเห็นอนิจจัง เห็นอนัตตาไป นั่นล่ะคือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นเราอ่านจิตเราอย่างที่จิตเป็นนั่นล่ะ จิตรักก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตโลภ จิตหลง ก็รู้ไป

ในที่สุดปัญญามันจะเกิด จิตแต่ละอย่างไม่เคยเที่ยง โกรธก็ไม่โกรธตลอด รักก็ไม่รักตลอด จิตทุกอย่างเราสั่งไม่ได้ มันทำงานของมันเอง มันโกรธเรา มันก็โกรธได้เอง มันรัก มันก็รักได้เอง นี่เห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นการอ่านจิตตนเอง เราก็จะเห็นความจริงของจิตว่า จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นตรงนี้ เราก็ได้ธรรมะแล้ว ถ้าเราเห็น เห็น นี้หลวงพ่อเรียนมาจากหลวงปู่ดูลย์ วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปทำเอา ไปอ่านจิตตัวเองเอา

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 กุมภาพันธ์ 2567

 

จุดแรก พัฒนา มีสติไว้ จนกระทั่งจิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมาให้ได้ คอยรู้ทันสภาวะ รู้สึกสนใจอยู่ที่จอภาพเยอะเลย สนใจจิตตัวเอง สนใจที่ตัวเอง ธรรมะมันเป็นการเรียนรู้ตัวเอง จนกระทั่งปล่อยวางตัวเองได้ หมดความยึดถือในกาย ในใจ ในรูปนาม หมดความยึดถือจิตก็วาง ไม่หยิบฉวย จิตก็หมดภาระ มีความสุขมีความสงบอยู่ในตัวเอง

วันนี้เลยเทศน์ให้ฟังแค่นี้ เอาไปทำให้ได้ ไปทำ ฝึกไปเรื่อยๆ จำได้ไหม จำวิธีที่สอนอย่างนี้ได้ไหม จำไม่ได้เดี๋ยวไปรีรัน ไปฟังเอาอีก ฝึก ถ้าเราไม่ได้จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราทำวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก เพราะว่าจิตมันจะมี Bias มีอคติตลอดเวลา ชอบอันนี้ เกลียดอันนี้ กลัวอันนี้ หลง ลืม จิตมันมีอคติ แต่จิตที่เป็นผู้รู้ไม่มีอคติ

มันรู้อย่างซื่อๆ ร่างกายเป็นอย่างไร ก็รู้อย่างที่มันเป็น จิตใจเป็นอย่างไร ก็รู้อย่างที่มันเป็น แล้วมันเป็นอะไร กายมันก็เป็นไตรลักษณ์ จิตมันก็เป็นไตรลักษณ์ จะเห็นอย่างนี้ พอเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์ จิตก็วาง ไม่รู้จะเอาไว้ทำอะไร มันของไม่ยั่งยืน มันของข้างนอก ควบคุมบังคับบัญชาอะไรมันไม่ได้ จิตมันก็โยนทิ้งไป พอจิตเราไม่ยึดกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ถ้าจิตไม่ยึดจิต เราจะไม่ทุกข์เพราะจิต ยึดอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นล่ะ ไปฝึก ไม่มีใครช่วยเราได้หรอก ต้องช่วยตัวเอง

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปทำเอา พัฒนาจิตให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมา แล้วอาศัยจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้น ไปเรียนรู้ความจริงของกายของใจไป ถ้าไม่มีจิตที่เป็นคนรู้คนเห็น ยังภาวนาไม่ได้จริง อย่างสำนักอภิธรรมบางที่เขาสอนดี เขาบอกว่า ร่างกายเดิน ร่างกายเดินจิตเป็นคนรู้ เขาก็พูดถูก แต่ว่ามันยังใช้การคิดเอา ฉะนั้นเราต้องฝึกจิตให้มันเป็นคนรู้ได้จริงๆ ก่อน แล้วคราวนี้พอเห็นร่างกายเคลื่อนไหว มันเห็นทันทีเลย ตัวที่เคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เรา ปัญญามันจะเกิดทันทีเลย เห็นไตรลักษณ์เลย ไม่อย่างนั้นก็นั่งท่องไปเรื่อย ร่างกายนั่งจิตเป็นคนรู้ เขาจะใช้อย่างนี้ รูปมันนั่ง นามมันรู้ รูปมันยืน นามมันรู้ รูปมันเดิน นามมันรู้ ฟังอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ท่องไปเรื่อยๆๆๆ แล้วจะได้อะไร ได้สมถะ ได้สมถะ แต่ถ้าจิตเราเป็นผู้รู้จริงๆ สติระลึกรู้กาย เห็น ไม่มีเรา สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นไม่มีเรา กระทั่งสติระลึกรู้จิต ก็จะเห็นว่าในขณะที่รู้อยู่นั้น ไม่มีเรา ขณะที่หลงคิดนั้นมีเราขึ้นมา

เราไม่ได้มีจริง เราเกิดจากการหมายรู้ผิด เกิดจากการคิดผิด แล้วก็เกิดจากความเชื่อผิดๆ 3 ผิด 3 ระดับ 3 ดีกรีซ้อนๆ กัน เริ่มจากหมายรู้ผิด เราไปหมายรู้ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่าเที่ยง อย่างกายเรานี้ กายเราไม่เที่ยง แต่มีใครคิดบ้างไหมว่าเราจะตายวันนี้ ไม่มี ไม่มีนะ เราหมายรู้แต่ว่า กายของเรานี้ยั่งยืน อย่างน้อยวันนี้ยังไม่ตายแน่นอน หัดหมายรู้ให้ถูก ว่าเราตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก หัดหมายรู้ไป แล้วต่อไปความคิดของเราก็จะถูก สุดท้ายความเห็นของเราก็จะถูก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 กุมภาพันธ์ 2567