ฆราวาสธรรม

ธรรมะมันไม่ใช่มีแต่เรื่องเหนือโลก ธรรมะมี 2 ส่วน ธรรมะเพื่อการอยู่กับโลกก็ส่วนหนึ่ง ธรรมะที่จะพ้นจากโลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เราเป็นฆราวาส เราก็ต้องเรียนธรรมะที่จะอยู่กับโลก ต้องเข้าใจตัวนี้ แล้วสิ่งที่เราจะได้ก็คือเราจะอยู่กับโลกแบบมีความสุขตามสมควร คนในโลกมันไม่มีความสุขจริง ความสุขมันจะอยู่ในอนาคตตลอด ปัจจุบันมันไม่เคยมีความสุข แต่ละคนถูกผลักดันให้ทะยานไปข้างหน้า ทะยานไปหาความสุข แล้วคิดว่าถ้าไปสู่เป้าหมายตัวนี้ได้แล้วจะมีความสุข แล้วดิ้นไปทุกวันๆ เหนื่อย มัวแต่หาความสุขในอนาคตจนลืมปัจจุบัน

 

หลายคนหาความสุขในอนาคต
แล้วลืมความสุขในปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าสอนเรา เราสามารถมีความสุขอยู่กับปัจจุบันได้ ในขณะที่ไม่ได้ทอดทิ้งอนาคต ถ้าปัจจุบันของเราดี อนาคตมันก็ต้องดี ส่วนใหญ่ทิ้งปัจจุบัน วิ่งพล่านไปเรื่อยๆ เหมือนหมาหิว วิ่งไปเรื่อยๆ หาอะไรกินทีละนิดทีละหน่อยไปเรื่อยๆ เราควรจะรู้เป้าหมายในชีวิตของเราว่าเราตั้งเป้าไว้เพื่ออะไร ถ้าจะอยู่กับโลก เรามีเป้าหมายจะอยู่กับโลกก็ต้องอยู่แบบทุกข์น้อยๆ หน่อย มีความสุขกับโลกให้ได้ มีความสุขกับโลก มีสิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติอะไรเยอะแยะ พอรู้เป้าหมายแล้วก็ดู เราจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน ต้องไม่มุ่งไปที่เป้าหมายจนจมอยู่ในความทุกข์ของปัจจุบัน คนจำนวนมากเป็นอย่างนั้น น่าสงสารจริงๆ

หลายคนทะเยอทะยาน อยากรวย อยากใหญ่ อยากมีอำนาจ อยากมีนั่นอยากมีนี่ อยากมีบ้านหลังใหญ่ๆ ลำบากยากเข็ญ อยากบ้านใหญ่ๆ ทำงาน กู้หนี้ยืมสิน ส่งดอกเบี้ย มีชีวิตแบบอดๆ อยากๆ หวังว่าวันหนึ่งจะได้มีบ้านเป็นของตัวเองหลังโตๆ ก็ส่งบ้านไปเรื่อยๆ ได้บ้านมามันก็อย่างนั้นๆ บ้านจะพังแล้ว ของที่เราเห็นว่าดีว่างามในทางโลก มันล้วนแต่เป็นของที่ไม่ยั่งยืนทั้งนั้นเลย เรายอมลำบากเพื่อไปได้ของที่มันไม่ค่อยจะยั่งยืนอะไรหรอก มันสบายใจแบบหลอกตัวเองไปวันๆ หนึ่งเท่านั้นเอง อย่างอยากมีบ้าน ยอมลำบาก ปัจจุบันไม่ได้มีความสุขเลย ต้องรัดเข็มขัด กระเบียดกระเสียร อดๆ อยากๆ อะไรอย่างนี้ เพื่อจะได้บ้านใหญ่ๆ ได้มาทำอะไรยังไม่รู้เลย

หลายคนเพ้อฝัน ที่มีบ้านใหญ่ๆ ถ้ามีที่เยอะก็จะปลูกหลายหลัง ให้ลูกคนละหลัง คนไทยจะคิดอย่างนี้ ถ้ามีเงินไม่มากขนาดนั้น ก็จะสร้างหลังใหญ่ๆ มีหลายๆ ห้องให้ลูกคนละห้อง ฝันไปเรื่อยๆ ลำบากเหน็ดเหนื่อย สุดท้ายก็เป็นตาแก่ยายแก้เฝ้าบ้านอยู่คนเดียวล่ะ ไม่มีใครเขาอยู่ด้วย สังคมมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว สิ่งที่ได้มาก็คือความว่างเปล่า บางคนอยากรวย หาเงินเหน็ดเหนื่อยมากเลยเพื่อจะรวย อายุเยอะขึ้นหาแต่หมอ เอาเงินให้หมอแล้ว มีเงินแต่ว่าสุขภาพย่ำแย่ เพราะว่าชีวิตตรากตรำมานาน

ทำอย่างไรเราจะสามารถดำรงชีวิตแบบสมดุลได้ ปัจจุบันก็อยู่ได้พอสมควร ไม่ทุกข์เกินไป ไม่ลำบากเกินไป อนาคตก็อยู่ได้ วางแผนไว้ให้ดี ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุผล ไม่ใช่ใช้ความอยาก ถ้ามีความอยากเท่าไรมันก็ไม่พอ เท่าไรมันก็ไม่เต็ม เราก็ต้องดูเหตุผล เราทำงาน เราทำได้แค่นี้แต่ละวัน ฝืนมากกว่านี้เดี๋ยวก็เส้นเลือดในสมองแตก ก็ไม่คุ้มค่า ดูตัวเองทำอะไรได้แค่ไหน ยินดีพอใจในผลที่ได้ เมื่อได้ทำเต็มความสามารถของเราแล้ว ไม่ฝืนเกินไป มิฉะนั้นชีวิตจะไม่มีความสุขเลย

เมื่อเช้ามีทิดหลายคนมาส่งการบ้านกับหลวงพ่อ คนหนึ่งเป็นหมอ บอกว่าชีวิตเขาในขณะนี้ อยู่ได้แล้ว ไม่ลำบาก ไม่ต้องดิ้นรนอะไรแล้วล่ะ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากไปเรียนต่อ จะได้เป็นศาสตราจารย์เป็นอะไร มีตำแหน่งแพทย์ใหญ่ ใจมันมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งรู้สึกพอแล้ว อีกด้านหนึ่ง รู้สึกยังไม่พอ จะตัดสินใจอย่างไรดี ก็บอกสังเกตตัวเองไป อะไรเป็นแรงผลักดันเราที่อยากให้วิ่งไปไม่รู้จักจบจักสิ้น อันนี้สำหรับเขาอยากปฏิบัติ เป็นฆราวาสที่เป็นนักปฏิบัติ บอกสังเกตใจเลย อะไรที่ผลักดันเราให้ทะเยอทะยาน มันเป็นความอยากเด่น อยากดี อยากใหญ่ อยากให้คนยอมรับ มันเต็มไปด้วยคำว่าอยาก ถ้าเรารู้ตรงนี้ เราก็จะไม่ต้องทำตามความอยาก มีเหตุผลสมควรทำเราก็ทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยาก

ควรจะไปเรียนต่อไหม ถ้าเราอยากช่วย อย่าใช้คำว่าอยากเข้ามาจูง เราใช้ฉันทะ มีฉันทะ อยากจะเป็นหมอที่เก่งเพื่อจะช่วยคน นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าอยากเก่งเพราะจะได้ให้คนยอมรับเพื่อความเด่นความดัง นี่เป็นอีกแบบหนึ่ง อันหนึ่งเป็นกุศล อันหนึ่งเป็นอกุศล แยกแยะให้ออก แล้วก็เลือกเอาด้วยสติด้วยปัญญา จะเอาอะไร ถ้าหากอยากเด่น อยากดัง อยากใหญ่ หลวงพ่อก็เล่าให้ฟัง หลวงพ่อเรียนจุฬาฯ เรียนรัฐศาสตร์ เพื่อนๆ ร่วมรุ่นเขาก็อยากใหญ่กัน อยากเป็นผู้ว่าฯ อยากเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี บางคนก็อยากเป็นเอกอัครราชทูตอะไรนี่ แล้วก็ต่อสู่ดิ้นรน เหน็ดเหนื่อยในชีวิตมากมายเลย สุดท้ายก็ได้เป็น เพราะมีฝีมือ เก่ง พวกนี้เก่ง

พอได้เป็นแล้ว เป็นอยู่ไม่กี่ปีเกษียณแล้ว ปี 2 ปีเกษียณแล้ว เป้าหมายในชีวิตที่ตั้งเอาไว้ วิ่งๆๆ มา สำเร็จ แต่มันครอบครองไม่ได้ ตอนนี้ก็เป็นข้าราชการเกษียณกัน ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เป็นตาแก่ยายแก่ ตลอดชีวิตที่วิ่งมาสู่เป้าหมายนี้ เหน็ดเหนื่อยมาก ไม่มีความสุขหรอก เหนื่อย แต่ละวันเครียด จะรักษาตำแหน่ง จะหาตำแหน่ง เครียดทั้งนั้น ก็หวังว่าวันข้างหน้าจะมีความสุข ได้สู่เป้าหมายแล้ว อยู่ปี 2 ปีเองเกษียณแล้ว คราวนี้เหลืออะไร เหลืออดีต นึกถึงอดีต โอ้ เคยใหญ่เคยโต มันคุ้มไหม มีความสุขโดยการคิดถึงอดีต มันก็ดีเหมือนกัน ดีโลกๆ แต่หลวงพ่อไม่เอาหรอก หลวงพ่อ เรื่องอะไรเราต้องวิ่งไปอย่างนั้น เราสามารถหาสิ่งซึ่งมีคุณค่าที่แท้จริงได้มากกว่านั้น

อันนี้ก็เป็นบุญ เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นสัมมาทิฏฐิ พาหลวงพ่อเข้าวัดมาแต่เด็กๆ เลย ตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องเลย อายุไม่กี่เดือน เกิดธันวาคม ปี 2495 ในพรรษาปี 2496 ไปวัดฟังเทศน์ตลอดพรรษาเลย ไม่ขาดสักวัน ฟังไม่รู้เรื่องหรอกแต่ว่าไป เวลาพระเทศน์ก็เงียบๆ ไม่ร้อง ไม่อะไร ใจมันคุ้นเคย เพราะเรารู้ว่ามันยังมีทางเลือกบางอย่างอยู่ เราภาวนาทุกวันๆ เรารู้สึก โอ้ จิตใจเรามีความสุขกับปัจจุบันได้ เราไม่ต้องฝันถึงความสุขในอนาคต เพราะเรามีความสุขในปัจจุบันแล้ว หลายคนหาความสุขในอนาคตแล้วลืมความสุขในปัจจุบัน

 

มุมมองที่ต่างกัน จะทำให้การดำเนินชีวิตแตกต่างกัน

เมื่อก่อนเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ใครเขียนก็ไม่รู้ ฝรั่งมันเขียน ใครจำไม่ได้ มันมีนักวิเคราะห์ทางการเงินไปเที่ยวพักผ่อนริมทะเล แล้วไปเห็นคนอยู่ริมทะเลนั่งๆ นอนๆ สบายใจ เช้าขึ้นมาไปตกปลาได้ตัว 2 ตัว มาปิ้งปลากินแล้วก็นอนเล่น ดูทะเล ดูต้นไม้ถูกลมพัด มีความสุขของเขา นักลงทุนนี่ก็ไปสอน สงสาร โอ้ ทำไมชีวิตของเธอมันด้อยค่าเหลือเกิน ว่างเปล่าเหลือเกิน วันๆ เอาแต่มานอนเล่นอยู่ริมทะเล ไม่เห็นจะได้สาระอะไรเลย ก็เลยไปบอกคนนี้ บอกว่าทำไมไม่จับปลาให้เยอะขึ้น เรามีเรือจับปลา จับให้เยอะขึ้นเลย ถามว่าจับไปทำอะไรเยอะๆ เอาไปขายสิ แล้วถ้าได้เงินมา ก็มาซื้อเรือเพิ่ม ให้คนเขาเช่าให้อะไรอย่างนี้ ก็จะมีรายได้เพิ่ม

จับปลาได้เยอะขึ้นๆ แล้วก็จะได้มีเงินเยอะๆ เดี๋ยวตอนแก่จะได้สบาย ถามว่าสบายอย่างไร ตอนแก่ก็จะมีชีวิตที่ได้พักผ่อน มานอนเล่นริมทะเลสบายๆ ไม่กังวลถึงชีวิตอีกต่อไปแล้ว มีอยู่มีกิน ตาคนนั้นแกบอกแกมีอยู่แล้ว แกมีอยู่แล้วทุกวันนี้ แกก็พักผ่อนอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องเหนื่อยยากตลอดชีวิตเพื่อจะกลับมาพักผ่อนที่เดิมนี้ นี่มุมมองที่ต่างกัน จะทำให้การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ว่ามุมมองแบบไหนผิด มันก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

อย่างบางคน หลวงพ่อเคยเจอคนหนึ่งเขาทำกิจการโทรคม ตอนนั้นก็มาวิ่งเต้น หลวงพ่ออยู่ ทีโอที อยู่กับผู้อำนวยการ คนนี้มาหาผู้อำนวยการของหลวงพ่อเรื่อยๆ มาติดต่อเรื่องธุรกิจกันนี้ จะทำจะสัมปทานตัวโน้นตัวนี้ เสร็จแล้วเขาก็มาบอกผู้อำนวยการของหลวงพ่อ ผู้อำนวยการโทรศัพท์ บอกว่าเดี๋ยวเขาจะไปเล่นการเมือง ผู้อำนวยการคนนี้เก่ง ไม่ใช่เก่งทางวิชาการด้านวิศวกรรมไฟฟ้าอะไร ไม่ใช่แค่นั้น เก่งในแง่มองคน เขาถึงเป็นใหญ่ได้ แล้วอยู่รอดตลอดรอดฝั่ง ไม่มีคดี ไม่มีอะไรติดตัวเลยหลังเกษียณ เขามองคนเก่ง เขาก็เตือนว่าอย่าไปเล่นเลยการเมือง ถ้าเล่นแล้วเดี๋ยวจะติดคุก เตือนไว้อย่างนี้

เขาไม่เชื่อ คนนั้นไม่เชื่อ ก็เล่นจริงๆ ก็ตกระกำลำบากอยู่หลายปี เพราะอะไร คนนั้นหวังอะไร หวังมีเงินเยอะๆ นั่นเป้าหมายแรก มีเงินเยอะก็จะต้องปกป้องเงินของตัวเอง ต้องเล่นการเมือง พอเล่นแล้วมันลงไม่ได้ มันขี่หลังเสือ ก็ไปเรื่อยๆ ชีวิต แล้วได้อะไรมา ทุกวันก็มีข้าวกิน คนที่ไม่ต้องรวยหลายหมื่นล้าน พออยู่พอกิน มันก็มีข้าวกิน ก็อิ่มเหมือนกันแต่ละวัน เขามีบ้านใหญ่ๆ มีบ้านใหญ่มันก็อยู่ได้ห้องเดียว เวลาจะนอน มันก็นอนเตียงเดียว มีใครนอนเตียงใหญ่ๆ เท่าสนามฟุตบอลไหม ก็ไม่มี เตียงมันก็แค่นี้ล่ะ ก็ตัวเรามันแค่นี้เอง สิ่งที่อยากได้มา รู้สึกมันสำคัญมากกับชีวิต สุดท้ายมันว่างเปล่า มันเหนื่อยโดยใช่เหตุ ชีวิตพวกเราก็เลือกเอา เราต้องการอะไร อะไรพอดีกับเรา อะไรสมควรแก่เรา อะไรเป็นประโยชน์แก่เรา ดูเอา

หลวงพ่อเห็นว่าเราทำมาหากินไป ไม่มีหนี้ ไม่ยอมเป็นหนี้เป็นสิน มีเป็นหนี้อยู่ช่วงเดียว ไปซื้อบ้านตอนนั้น ซื้อก็เพราะว่ายังโง่อยู่ เห็นคนอื่นเขาซื้อก็ซื้อด้วย เขาสะสมสมบัติก็สะสมด้วย ทำไปตามๆ กันไป สุดท้ายไม่ได้อยู่สักบ้านหนึ่งเลย มาอยู่วัดแล้ว ตอนนั้นทุกวันตื่นนอนมา เราจะถือศีล 5 ตื่นนอนมาก็ตั้งใจถือศีล 5 กลางวันจะกินข้าว ก็นึกถึงเราจะถือศีล 5 จะกินข้าวเย็น ก็นึกถึงเราจะถือศีล 5 จะนอน เราก็จะต้องรักษาศีล 5 บอกอย่างนี้ เตือนตัวเองเรื่อยๆ ไม่ให้ผิดศีล ทุกวันทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ ไม่ค่อยได้เดินจงกรม เพราะบ้านเป็นบ้านไม้ บ้านโบราณ มันเป็นไม้ ไม้ทั้งหลังเลย เวลาเดินมันจะดังเอี๊ยดๆๆ มันหนวกหูคนอื่นเขา ส่วนใหญ่ก็เลยนั่งไม่ค่อยได้เดินเท่าไร ถ้าเดินก็เดินแกว่งแขนเอา ยืนแกว่งแขนเคลื่อนไหวอะไรอย่างนี้

ภาวนาทุกวันๆ วันไหนฟุ้งซ่านก็ทำความสงบ วันไหนสงบแล้วก็ดูความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไป แล้วในแต่ละวันๆ อ่านใจตัวเองไปเรื่อย ถึงเวลาทำงาน ตั้งใจทำงาน ทำเต็มที่ ไม่ใช่ว่าภาวนาแล้วงานในหน้าที่เสียหาย อย่างหลวงพ่อเป็นข้าราชการ เราก็เตือนตัวเองว่าเขาจ้างเรามารับราชการ จ้างเรามาทำงาน ไม่ใช่จ้างเรามาภาวนา เมื่อก่อนมีพี่คนหนึ่ง แกมาบ่นว่าหัวหน้ากองใจร้าย แกจะเดินจงกรมก็เรียกไปทำงาน ก็บอก ก็ถูกแล้ว เขาจ้างมาทำงาน เขาไม่ได้จ้างมาเดินจงกรม ฉะนั้นเวลาทำงานหลวงพ่อทำเต็มที่ สติอยู่กับงาน ไม่วอกแวกไปที่อื่น สมาธิ จิตใจจดจ่ออยู่กับงาน ไม่หนีไปที่อื่น ปัญญาคิดพิจารณาอยู่เรื่องงาน ไม่หนีไปที่อื่น ฉะนั้นเวลาทำงานทำเต็มที่ หมดเวลางาน หรือเวลาเราจะพัก เบรกตัวเองตอนทำงาน ตอนนั้นเราก็เจริญสติเอา อ่านใจตัวเองไป

ฝึกตัวเองอย่างนี้ ทางโลกก็ไม่เสียหาย ทางธรรมก็ไม่เสียหาย ทางโลกหลวงพ่อก็โตเร็ว รับราชการก็เป็นชั้นพิเศษเร็วไม่กี่ปี เบื่อแล้วลาออกมาอยู่รัฐวิสาหกิจ ก็โตเร็ว โตขึ้นไปได้รวดเร็ว ไม่ต้องวิ่งเต้นอะไร อยู่ที่งานของเรา ตั้งอกตั้งใจ ฉะนั้นนักปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ทิ้งงาน มีงานต้องทำ มีหน้าที่ต้องทำแล้วก็ทิ้ง กะว่าจะปฏิบัติ พอถึงเวลาปฏิบัติ บางคนอยากปฏิบัติต้องไปอยู่วัด ทิ้งงานไปอยู่วัด พอไปอยู่ที่วัดก็คิดถึงงาน เอ๊ะ อันนี้ยังไม่ได้ทำ เอ๊ะ อันนี้จะทำอย่างไรดี เอาดีไม่ได้สักที่หนึ่งเลย งานทางโลกก็ไม่ได้เรื่อง งานทางธรรมก็ไม่ได้เรื่อง

 

ปัจจุบันเราก็ต้องปฏิบัติให้ได้

ฉะนั้นรู้จักแบ่งแยก รู้จักบริหารเวลาให้ดี เวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญมาก เวลาหมดแล้วหมดเลย ทุกคนมีเวลาจำกัด ทำอย่างไรเราจะใช้เวลาอันนี้ให้มีประโยชน์สูงสุด ถ้าเราแบ่งแยกได้ เวลานี้เวลาทำมาหากินก็ทำมาหากิน แต่ทำมาหากินแบบฉลาด ไม่ใช่ทำแบบหวังอะไรต่ออะไรไป แล้วก็ลืมปัจจุบัน ทิ้งการปฏิบัติในปัจจุบันไปนี่น่าสงสาร ทิ้งสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดไปเพื่อความฝันลมๆ แล้งๆ ในอนาคต เพราะฉะนั้นปัจจุบันเราก็ต้องปฏิบัติให้ได้ เป็นฆราวาสต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่จะมารอออกมาบวชแล้วถึงจะปฏิบัติ ถ้าคิดอย่างนั้นยังต่ำต้อยมากเลย เรียกต่ำต้อยไม่ถูก ต้องเรียกต่ำตม อยู่ใต้ตมเลย ไม่ใช่บัวพ้นน้ำ เป็นบัวต่ำตม

ฉะนั้นแยกให้ออก มีหน้าที่ทางโลกอะไรบ้าง หน้าที่ทำมาหากิน หน้าที่ดูแลครอบครัว หน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่ เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุตร ภรรยา สามี หน้าที่มี หน้าที่ต่อหน่วยงาน อยู่ที่หน่วยงาน ต้องทำงาน ภักดีต่อองค์กร แต่ถ้าองค์กรชั่วเราก็ย้ายองค์กรเสีย องค์กรไม่ดี องค์กรนี้ทำกิจการ ทำคาสิโนอะไรอย่างนี้ อย่าไปอยู่เลย ย้ายเถอะ ทำบาปตั้งแต่ในปัจจุบันยันอนาคตเลย ฉะนั้นเลือกงานๆ ที่มันไม่สกปรก แล้วก็ทำหน้าที่ของเราในทางโลกให้เต็มที่ แล้วเวลาในทางธรรม งานทางโลก ถ้าเป็นงานสุจริต จะไม่เบียดบังการปฏิบัติของเราหรอก

ยกตัวอย่างหลวงพ่อตอนนั้นอยู่สภาความมั่นคง งานหลักเลย งานประชุม เราเตรียมเอกสารประชุม จัดประชุม ทำบันทึกประชุม ทำข้อสรุป ทำอะไรต่ออะไรออกมา กำหนดเซ็ตนโยบาย เซตแผนงาน เซตอะไร ทำงานเตรียมประชุม ยกตัวอย่างเตรียมประชุม พอเราเตรียมประชุมเสร็จแล้วเราไปนั่งรอ เมมเบอร์ยังมาไม่ครบ องค์ประชุม ยังไม่ได้ประชุม ระหว่างรอไม่ฟุ้งซ่าน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่หลับตาด้วย ถ้าหลับตา คนมันจะมองเราแปลกๆ คนนี้เป็นอะไร คนในโลกมันเป็นคนบ้า พอมันเห็นคนไม่บ้ามันก็นึกว่าคนบ้า มันบ้าอะไร มันบ้าตามโลกล่ะ ถ้าเห็นใครปฏิบัติธรรม มันว่าบ้า ตัวเองกำลังบ้าโลกอยู่ ไม่เห็น

ฉะนั้นเวลาหลวงพ่อภาวนา เราไม่ทำอะไรให้มีจุดที่คนเขาจะทำบาปได้ เวลาภาวนาอยู่กับคน ลืมตาๆ ไป เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้สึกไป พอกรรมการมาทีละคน เห็นคนนี้ปุ๊บ คนนี้เก่ง วันนี้คงจะได้ความคิดดีๆ หรือได้ข้อมูลดีๆ เพิ่มเติม เห็นอย่างนี้ดีใจ รู้ว่าดีใจแล้ว เห็นอีกคนหนึ่งมา โห หน่วยงานนี้ทำไมส่งคนนี้มา คนนี้ฟุ้งซ่านพูดมาก หาข้อยุติอะไรไม่ได้ ไม่มีข้อมูล มีแต่บอก เมื่อก่อนเป็นอย่างนี้ สมัยโน้นเป็นอย่างนี้ ก็สมัยโน้นเป็นอย่างนี้ สมัยนี้มันเป็นอย่างไร ที่อยากรู้คือตรงนี้ต่างหาก ไม่รู้หรอก กูจะเล่าแต่อดีตกาลนานโบราณอะไรของตัวเอง เห็นก็น่าเบื่อ แล้วก็พูดยาว แล้วก็ใหญ่ด้วย ไม่มีใครกล้าเบรก พูดทีหนึ่งยาว

เราเห็นหน้าเราก็ หึย เบื่อชะมัดเลย รำคาญ เขายังไม่ทันพูดเลย รำคาญแล้ว นี่อ่านใจตัวเองออกแล้ว นี่ปฏิบัติๆ แล้วเวลาการประชุมดำเนินไป เราก็ฟัง คนนี้ดี โน้ตไว้ ส่วนคนนี้พูดหรือ ฟัง นานๆ ออกมาฟังที ลืมตาแป๋วๆ คนอื่นเขาพยักหน้าตามมารยาท เราก็พยักหน้าด้วย เวลาฟังคนอื่นพูด บางทีเรื่องไม่มีสาระเราก็ต้องทำเป็นสนใจ มีมารยาทให้ถูกจังหวะ ไม่มีใครรู้ว่าเราปฏิบัติ เวลานายเพ้อเจ้อ ที่แกพูดรู้ว่าไม่มีประเด็นอะไรหรอก เดี๋ยวรอฟังประโยคสุดท้ายแก ก็รู้แล้วว่าแกอยากบอกอะไร ก็ให้แกพูดไป เราก็ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ เห็นคนอื่นเขาพยักหน้า ก็พยักหน้าบ้าง เขายิ้มก็ยิ้มบ้าง แต่เราภาวนาของเรา นี่เก็บเล็กเก็บน้อย งานทางโลกเราก็ไม่เสีย งานทางธรรมของเราก็ไม่เสีย เราสามารถมีชีวิตอย่างมีความสุข

มีคนเขาพูดกัน บอกคุณปราโมทย์ทำไมยิ้มทั้งวันเลย เขาเคยมาถาม ทำไมยิ้มทั้งวัน ก็มีความสุข ทำไมมีความสุข ดูวันๆ หนึ่ง ดูงานยุ่งจะตาย ก็ปลงตก ก็มีความสุข ฉะนั้นเราลองทำดู เราอยู่กับโลก หน้าที่ในทางโลก ถ้าไม่ใช่งานที่ผิดศีลผิดธรรมอะไร ทำให้เต็มที่ไปเลย แต่ทำแล้วอย่าทิ้งการปฏิบัติการภาวนา เรามีเวลาจำกัด บอกแล้วเวลาเป็นทรัพยากรที่จำกัด เราภาวนาให้เยอะที่สุด

วิธีภาวนา มีสติไว้ หลวงปู่มั่นท่านสอนบอก “มีสติก็มีการปฏิบัติ ขาดสติก็ขาดการปฏิบัติ” เพราะฉะนั้นเรามีสติไปเรื่อยๆ ตอนไหนอ่านจิตใจตัวเองออก ก็อ่านจิตใจไป ตอนไหนอ่านจิตใจไม่ออก ก็รู้สึกร่างกายไป ตอนไหนจิตใจวุ่นวาย หากกำลังความสามารถที่จะรู้กายรู้ใจไม่มี ก็ทำความสงบ ทำสมาธิ เอาแบบที่เราถนัด ทำกรรมฐานอะไรแล้วมีความสุข เอากรรมฐานอันนั้นล่ะ แต่มันมีเคล็ดลับอยู่นิดๆ หน่อยๆ เวลาเราจะทำกรรมฐานให้ใจสงบ อย่าอยากสงบ ใจมัน จะสงบแล้ว มันมีเรี่ยวมีแรง มีกำลังขึ้นมา เราต้องให้ใจได้พักผ่อน ถ้าเราลงมือทำสมาธิแล้วใจไม่ได้พักผ่อน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ใจที่ไม่พักผ่อนคือใจที่ทำงานไม่เลิก

แล้วเวลาเราทำงานทางโลก เราก็เหนื่อยเต็มทีแล้ว หรือเราเจริญวิปัสสนา จิตมันต้องทำงาน เราเหนื่อยแล้ว เราต้องการพักผ่อน แล้วเราก็ยังไปบังคับจิตอีก ไปบีบจิต ไปเค้นจิต เฮ้ย สงบเสียทีสิ ไม่ยอมสงบเราก็โมโหอะไรอย่างนี้ จิตไม่ได้พักผ่อนหรอก เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำความสงบ อย่าไปบังคับจิตตัวเอง จิตฟุ้งซ่านก็ช่างมัน เรื่องของจิต เราก็คอยสนใจอยู่ในอารมณ์กรรมฐานของเรา จิตจะสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เราระลึกถึงอารมณ์ มีสติระลึกในอารมณ์กรรมฐานของเราไป พอเราไม่ไปบีบไปเค้นจิต ไม่ไปบังคับจิต จิตมันจะค่อยๆ สงบลง แล้วถ้าเราชำนาญ แค่เราคิดถึงว่าจะทำความสงบก็สงบได้เลย เพราะเรารู้จักวางจิตให้ถูกต้อง

เวลาเราต้องการความสงบ เราวางจิตไป ไม่ไปหยิบฉวยมันขึ้นมาบีบมาเค้น มาบังคับมัน ของเราเวลาจะนั่งสมาธิก็บังคับๆๆ จิตไม่มีความสุข ถ้าจิตไม่มีความสุข จิตจะไม่สงบ ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ เพราะฉะนั้นเราต้องทำสมาธิแบบทำความสงบ ทำด้วยใจธรรมดาๆ นี่ล่ะ หายใจไป อย่างหลวงพ่อใช้หายใจ หายใจไป จิตสงบหรือไม่สงบก็เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา เรารู้อยู่อารมณ์อันเดียว รู้อยู่ที่การหายใจ พอเรารู้อยู่ในอารมณ์อันเดียวต่อเนื่องไป จิตมันก็ไม่ต้องวอกแวก วิ่งหาอารมณ์นั้นที วิ่งหาอารมณ์นี้ที แล้วเราก็ไม่ไปบีบ ไปเค้น ไปบังคับมัน จิตมันก็ได้พักผ่อน

ตรงที่จิตมันสงบลงไป มันได้พักผ่อน จิตพอได้พักผ่อน จิตก็มีเรี่ยวมีแรง เหมือนร่างกายเรานี้ออกไปทำงานแล้วก็ต้องมาพักผ่อน ถ้าไม่ได้พักผ่อนเลยก็ไม่มีเรี่ยวมีแรง ร่างกายเราก็พักผ่อนด้วยการนอนหลับด้วยอะไรอย่างนี้ จิตใจเราก็พักผ่อนในสมาธิให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวแทนที่จะวิ่งพล่านไปในอารมณ์ทั้ง 6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิ่งพล่านไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ อย่างนั้นจิตไม่มีความสงบ วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน โคจรร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ถ้าเราน้อมมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข แป๊บเดียวก็สงบแล้ว แต่อย่าไปบังคับจิต

เคล็ดลับมันมี เราใช้จิตใจที่ธรรมดาๆ ไปรู้อารมณ์ที่รู้แล้วมีความสุข ประเดี๋ยวเดียวก็สงบแล้ว ต่อไปมีวสี นึกอยากสงบเมื่อไร นึกอยากสงบที่ไหน ทำได้หมด หลวงพ่อเคยสงบกระทั่งที่ป้ายรถเมล์ คนเยอะแยะเลย เราต้องการพักผ่อน ก็สงบประเภทลืมโลกไปเลย เหลือแต่ใจอันเดียว

 

ฆราวาสอย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม

ค่อยฝึก เราก็จะมีที่พักที่สบาย ออกจากที่พักอันนี้มา เราก็จะมีกำลัง ปฏิบัติธรรมก็ดี ในทางโลกก็จะดี ปัญหาหลายเรื่องคิดไม่ออกๆ งานนี้ยากมากคิดไม่ออก ยิ่งพยายามคิด ยิ่งเวียนหัว ก็อย่าไปคิดมัน ทำใจให้สบาย ทำใจให้สงบ ให้ใจได้มีกำลังพักผ่อน พอจิตขึ้นจากภวังค์มา มันคิดออกเลย มีหลายเรื่อง บางคน สังเกตไหมเรื่องที่ยากๆ คิดไม่ออก บางทีหลับไป ตอนตื่นนอนเช้าๆ ตื่นขึ้นมา คิดออกแล้ว เพราะใจมันได้พักมาแล้ว ฉะนั้นตอนเช้าๆ ตื่นขึ้นมา เวลาถ้าคิดงานคิดอะไร ก็จะคิดได้เยอะแยะเลย รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ ทีนี้เราจะมาพักผ่อนด้วยการนอนหลับทั้งวัน มันก็ไม่ไหว เราหัดทำความสงบได้ ถึงเวลาควรจะพักผ่อน เราก็พัก รีบพักเลย 5 นาที 10 นาที เราก็พักของเราได้ แล้วจิตถอยออกมาจากสมาธิ ทางโลกเราก็ได้ ทางธรรมเราก็ได้

ภาวนาไป เราเป็นฆราวาส อย่าทิ้งทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เราถึงจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ถ้ามีแต่ทางโลก มันก็เหมือนคนศาสนาอื่น ไม่แปลกอะไร จะเอาแต่ทางธรรม ก็เรียกคนไม่รู้จักหน้าที่ ฆราวาสมีหน้าที่ หน้าที่อะไร หน้าที่ เช่น ทำบุญใส่บาตร อย่างนี้หน้าที่ของฆราวาส ไม่ใช่หน้าที่ของพระ เป็นหน้าที่ของฆราวาส มีหน้าที่อะไรเราก็ทำของเราไป แล้วเราก็รู้เป้าหมายในชีวิตเรา เราปรารถนาความสุข ความสุขที่คนในโลกอยากได้ มันจะอยู่ในอนาคตตลอดเวลาเลย มีเงื่อนไข ถ้ารวยแล้วจะสุข ถ้ามีเมียสวยแล้วจะสุข ถ้ามีลูกจีเนียสแล้วจะสุข มีแต่คำว่าถ้าแล้วก็จะสุข ในขณะที่ชาวพุทธเรา หายใจออก มีความสุข หายใจเข้าก็มีความสุข เพราะจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ฉะนั้นเราฝึกตัวเอง ส่วนถ้าจะอยากเหนือโลกขึ้นไปอีก ก็ไม่ได้อยู่ที่ความสุข ให้เรียนรู้ทุกข์ไป กายนี้ทุกข์ ใจนี้ทุกข์ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

เมื่อวานยังสอนพระองค์หนึ่ง บอกว่าสังเกตสิ จิตมันชอบสร้างภพ อันนี้พวกเราส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้หรอก เพราะเราไม่รู้ว่าจิตสร้างภพเป็นอย่างไร องค์นี้ท่านภาวนาดีแล้ว บอกจิตมันสร้างภพ เรารู้สิ ก็เห็นจิตมันเข้าไปอยู่ในภพ พอรู้จิตมันก็วาง จิตก็หลุดออกมา บอกมันคือสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คู่ที่แปด จิตหลุดพ้น รู้ว่าหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น รู้ว่าไม่หลุดพ้น ตรงที่ไม่หลุดพ้น จิตมันเข้าไปอยู่ในภพ จิตไม่หลุดพ้น แต่พอรู้ทันปุ๊บ จิตมันหลุดพ้น บอกว่าไม่ได้ฝึกเพื่อให้จิตหลุดพ้น ตรงนี้จับหลักให้แม่น แต่ฝึกให้เห็นว่าจิตที่หลุดพ้นก็ยังไม่เที่ยงหรือว่าเป็นอนัตตา จิตที่เข้าไปสร้างภพก็ยังไม่เที่ยงหรือว่าเป็นอนัตตา ดูไปเรื่อย ดูไตรลักษณ์ ไม่ใช่ดูเพื่อจะให้จิตหลุดออกมาจากภพ ถ้าดูเพื่อให้จิตหลุดจากภพ มันจะเป็นภพอีกชนิดหนึ่งๆ ด้วยอำนาจของอเนญชาภิสังขาร ไปเล่นอย่างนั้นเสียเวลา มันเป็นเรื่องของสมาธิ

ทำไมจิตไปติดภพ เพราะจิตหิวความสุข อันนี้ถ้าจะดูต่อ ไม่ใช่แค่ดูว่าจิตหลุดก็ไม่เที่ยง จิตเข้าไปจับก็ไม่เที่ยง ดูมุมอื่นๆ อีกก็ยังได้ จิตเข้าไปอยู่ในภพทีไร จิตทุกข์ทุกทีเลย แต่ทำไมจิตชอบไปอยู่ในภพ เพราะจิตคิดว่าจะหาความสุขได้ สิ่งที่มาหลอกล่อเรา มาหลอกเราได้ มีกาม ทำไมคนในโลกหลงกาม เพราะคิดว่ากามจะให้ความสุขเราได้ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเห็นกามเป็นตัวทุกข์ จิตที่หลงในกามมีทุกข์ จิตจะทิ้งกาม ถ้าเราเห็นว่าภพเป็นตัวทุกข์ จิตจะทิ้งภพ ถ้ามันเห็นว่าทิฏฐิ ยึดถือในความคิดความเห็นมันนำความทุกข์มาให้ จิตมันจะทิ้งทิฏฐิ มันไม่ใช่ของดี มันตัวทุกข์ทั้งนั้นเลย

ค่อยๆ สังเกตไป อะไรที่จิตมันชอบ มันนึกว่าดี เข้าไปเอา แต่พอสติปัญญาเห็นชัด กามที่ว่าดีมันทุกข์ จิตมันพ้นกาม ภพที่ว่าจิตมันคุ้นเคย จะเข้าไปอยู่ในภพ ศีล สมาธิ ปัญญาก็เกิดในภพ โอ้ ภพนี่เป็นของดี ถ้าเห็นว่าการที่จิตเข้าไปอยู่ในภพ แม้แต่ภพวิเศษที่ไหน วิเศษขนาดไหนมันก็ทุกข์ เห็นอย่างนี้ จิตมันก็ไม่เอาภพแล้ว ไม่ต้องไปประคองรักษามันอีกต่อไปแล้ว มองมุมนี้ก็ได้ จิตก็หลุดได้เหมือนกัน ฉะนั้นจะมองจากตัวจิตตรงๆ ก็ได้ มองจากธรรมที่แวดล้อมอยู่ก็ยังได้เลย เรียกว่าธรรมภายใน ธรรมภายนอก ธรรมในที่ใกล้ ธรรมในที่ไกล ธรรมในที่ไกล ไม่ใช่อยู่ที่ดาวพลูโต อยู่ตรงนี้ล่ะ มันไกลออกไปจากจิต ค่อยสังเกต ใจมันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

วิธีดูว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ไม่ยากหรอก จิตยังติดในภพหรือเปล่า ดูง่ายๆ แต่เราต้องดูเป็นว่าจิตติดภพเป็นอย่างไร ดู ดูที่กิเลสนั่นล่ะ ถ้ายังมีภวาสวะ ยังมีอุปาทาน มีอะไรพวกนี้ พวกนี้ดูง่ายๆ อาสวะกับอุปาทาน ก็ดูง่ายๆ สังโยชน์อย่างนี้ เราดูจากกิเลสนี่ล่ะ แต่ละตัวมันจะมีลีลาไม่เหมือนกัน อย่างนิวรณ์ ลีลาของมันคือ ขวาง นิวรณ์ ลีลาของมันคือขวาง ขวางความดีงามทั้งหลาย อาสวะมันมีอาการซึมซ่านเข้ามา อุปาทานมีอาการกระโดดออกไปตะครุบ มันมีลีลาของมันแต่ละตัว เราภาวนาไป เราก็รู้ไส้มัน รู้ชั้นเชิงมัน ทีหลังก็ไม่โดนหลอก ค่อยรู้เท่าทันไป

พอเห็นทุกข์นั่นล่ะถึงจะไม่โดนหลอก อย่างเราเห็นว่าภพทั้งหลายเป็นทุกข์ ใจมันก็พ้นจากภพ เห็นว่าจิตทุกชนิดนั่นล่ะเป็นทุกข์ จิตมันก็ปล่อยวางจิต ภพก็เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ เราเห็นว่าจิตทั้งหมดคือตัวทุกข์ก็ทิ้ง มันก็ไม่มีภพอีกแล้ว เห็นภพทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ จิตทิ้งภพ จิตนี้ก็ไม่มีภพอยู่ มันมีข้างในข้างนอก การภาวนา แต่ว่าพูดให้ฟังเล่นๆ ตอนนี้ไปถือศีล 5 ให้ได้ก่อน เอาตัวนี้ให้ได้

หลวงพ่อสอนๆ ไว้เพราะว่าครูบาอาจารย์ที่สอนไม่มี ไม่ค่อยมีแล้วล่ะ แล้วที่ท่านรู้ท่านก็ไม่สอน ท่านรู้สึกสอนแล้วก็เดือดร้อน ดีไม่ดีคนก็มาหาเรื่อง หลวงพ่อไม่กลัวคนหาเรื่อง บอกหลวงพ่อฟังมาจากครูบาอาจารย์ ไปทะเลาะกับครูบาอาจารย์โน่น ไม่ต้องมาทะเลาะกับหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่รู้เรื่องอะไรหรอก

ทำชีวิตตัวเองในปัจจุบันให้ดี อย่าเพ้อแต่อนาคตแล้วลืมปัจจุบัน ปัจจุบันสำคัญที่สุด

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 กุมภาพันธ์ 2567