ฝึกจิตเพื่ออนาคตที่สดใส

บางคนมันจะรู้สึกทำไมวัดหลวงพ่อมันเหม็นๆ ในวัดจริงๆ ไม่เหม็น สะอาด มีต้นไม้ มีดอกไม้อะไร มาอยู่ใหม่ๆ หอมทั้งวันทั้งคืน สงบ ตอนหลังๆ ชุมชนอะไรต่ออะไรขยาย โดยเฉพาะหลังวัดมีโรงเลี้ยงไก่ขนาดมหึมาเลย อยู่คนละอำเภอ มาตั้งเราก็ไม่รู้หรอก แต่กลิ่นมาที่วัดในฤดูหนาว มันอยู่ทางเหนือ มันไม่ใช่แค่ฝุ่น มันยังมีกลิ่น มีแอมโมเนีย มีเชื้อโรคเยอะแยะ ขนาดต้นไม้เรากรองขี้ฝุ่นเอาไว้ได้ แต่กั้นกลิ่นไม่ได้ กั้นแอมโมเนียไม่ได้ ถ้าแดดออกก็ค่อยยังชั่วหน่อย กิจการพวกนี้มันไม่ควรอยู่ใกล้ชุมชน อันตรายกับชุมชน

ในโลกอยู่มานานๆ เราจะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ผู้คนแออัดยัดเยียด ตอนหลวงพ่อเกิดคนในเมืองไทยยังไม่ถึง 20 ล้านเลย มีราวๆ 18 ล้าน ก็เกิดมากขึ้นๆ แออัดมากขึ้น การทำมาหากินก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนทำพออยู่พอกิน ทำไร่ทำนาจับปลาอะไรอย่างนี้ คนเยอะขึ้น น้ำก็เสีย ปลาก็ไม่มี อากาศก็เสีย โลกไม่น่าอยู่หนักขึ้นๆ ทุกทีแล้ว

เมื่อก่อนในหมู่บ้านเป็นญาติกันทั้งหมู่บ้าน ในบ้านเราก็มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน ปู่ย่าตายาย ลูกหลานเหลนอะไรอย่างนี้อยู่ด้วยกัน ช่วยกันทำมาหากิน มันมีความอบอุ่น มาถึงวันนี้น่าสงสารเด็กๆ สงสารมากเลย พ่อแม่ไปทำงาน เด็ก พี่น้องก็ไม่ค่อยจะมี เครียด แล้วก็ถูกกระตุ้นให้ต้องแข่งขันกันตลอดเวลา 7 วัน เมื่อก่อนนี้ 7 วันเราเรียนหนังสือ 5 วัน ก็มีเวลาของตัวเอง เดี๋ยวนี้ต้องเรียนหนังสือ 7 วัน เรียนในโรงเรียนแล้วไม่พอต้องไปเรียนพิเศษ เด็กมันถูกกระตุ้นให้วิ่งไปเรื่อยๆ แล้วต้องวิ่งให้เร็วกว่าคนอื่น

 

เรียนธรรมะแล้วลงมือปฏิบัติให้ถูก จะไม่เครียด

การพัฒนามันมุ่งมาทางทิศทางนี้ มุ่งให้ตัวเลขสูงๆ ไม่ได้มุ่งที่ความสุขของคน ความสงบ ความสบาย ไม่ได้มุ่งมาจุดนี้ มุ่งความร่ำรวย ถ้าเราดูหลายๆ ประเทศที่เขาร่ำรวยมาก่อน เราจะพบว่าอัตราฆ่าตัวตายของเขาสูงมากเลย กระทั่งประเทศที่คนไทยเห่อนิยมมาก คนไม่ได้มีความสุขๆ ทีนี้เราจะไปต้านกระแสของโลกแบบนั้น ต้านไม่อยู่ มุ่งไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลก สังเกตไหมว่าประเทศที่มันเจริญๆ ไป พอเครื่องจักรมันเข้ามาแทนที่คน คนก็ไม่ทำงาน สุดท้ายระบบมันก็อยู่ไม่ได้ ที่เคยเจริญมันก็เสื่อม มันสู้กฎไตรลักษณ์ไม่ได้ ของเรามันขึ้นมาสู่จุดเจริญมากแล้ว วันข้างหน้าถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องเสื่อม

อย่างคนจำนวนมากไม่ทำงาน บอกอัตราว่างงานของเรา ตัวเลขว่างงานหมายถึงคนอยากทำงานแล้วไม่มีงานทำ แต่คนไม่อยากทำงานมันอีกเยอะเลย คนพวกนี้มันเครียดจัด อยู่ พึ่งตัวเองไม่ได้ หลายประเทศคนแก่ต้องออกไปทำงานเพราะรุ่นลูกไม่ทำงาน ทำกันจนอายุ 80 เลี้ยงลูกอายุ 50 – 60 อย่างนี้ เพราะฉะนั้นทิศทางของโลกมันโน้มไปสู่ความเครียดๆ

พวกเราชาวพุทธเรายังมีโอกาสฝึกจิตใจตัวเอง เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลง อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เลวลง อยู่อย่างไรเราจะเครียดน้อยๆ หน่อย เราก็มาหัดฝึกจิตใจของเราให้ดี ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ้าเราศึกษาปฏิบัติ แล้วเราจะพบว่านำความสงบสุขมาให้จิตใจของเรา ไม่มีอะไรเหมือน

ความสุขทางโลกหลวงพ่อรู้จักมาอย่างดี เพราะกว่าหลวงพ่อจะบวชอายุมาก 48 แล้วกว่าจะได้บวช ถามว่าชีวิตลำเค็ญหรือถึงมาบวช ไม่ใช่ หลวงพ่อมีทุกอย่างที่ชาวโลกเขาว่าดี เรามีทั้งนั้น แต่เราเห็นความไม่มีสาระแก่นสาร แย่งชิงสิ่งต่างๆ มา วันหนึ่งก็เอาไว้ไม่ได้ มันสู้ลงมือปฏิบัติธรรมไม่ได้ ชีวิตมันร่มเย็น มีความสุขท่ามกลางความวุ่นวาย ท่านพุทธทาสท่านเปรียบบอกเหมือนลิ้นของงู อยู่ในปากของงู อยู่ในที่ที่ไม่ดี อันตรายแต่ปลอดภัย สามารถปลอดภัยอยู่ได้ในท่ามกลางสิ่งซึ่งมันไม่ดี อันนี้อยู่ที่เราฝึกฝนตัวเอง

เรียนธรรมะแล้วลงมือปฏิบัติให้ถูกมันจะไม่เครียด แต่ถ้าปฏิบัติผิดก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก คนก็ชอบคิดแปลกๆ ว่าคนปกติไม่ควรปฏิบัติธรรม เดี๋ยวเป็นบ้า แต่คนบ้าชอบเอาส่งมาให้บวช กะว่าจะได้หายบ้า คิดพิลึกๆ มาก อย่างคนจะมาบวช หรือคนจะปฏิบัติธรรม ร่างกายต้องพร้อม จิตใจต้องพร้อม ต้องเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะอย่างถ้าจะบวช มันเหมือนเข้าสนามรบเลย เป็นนักรบที่ร่างกายก็อ่อนแอ จิตใจก็อ่อนแอ มันสู้กับใครไม่ได้ สู้กิเลสไม่ไหว

ฉะนั้นพวกเราตอนนี้ยังมีกำลังอยู่ ตั้งอกตั้งใจภาวนา วันข้างหน้าชีวิตทุกข์แน่นอน เงียบเหงาอะไรต่ออะไรเป็นแน่นอน เพราะว่าต้องอยู่ตามลำพัง ฝึกอยู่กับกรรมฐานของเราให้ได้ เป็นเพื่อนคู่ชีวิตของเราให้ได้ คนอื่นไม่ใช่คู่ชีวิตที่แท้จริงของเรา ถึงจุดหนึ่งก็ต้องจากกันไปหมด จากเป็นบ้าง จากตายบ้าง คนที่จะเป็นคู่ชีวิตของเราก็คือตัวอารมณ์กรรมฐานของเรานี่ล่ะ

อย่างหลวงพ่อฝึก กรรมฐานที่หลวงพ่อใช้ ใช้อานาปานสติควบกับพุทโธ เราสามารถอยู่คนเดียวได้ ไม่เงียบไม่เหงา อยู่ตรงไหนเราก็มีความสุข มีความสงบอยู่ได้ เห็นทุกอย่างมันผ่านไปเรื่อยๆ แต่ใจเราไม่เข้าไปยินดีไม่เข้าไปยินร้ายกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ใจมันมีความสุข สงบ ไม่ยุ่ง เคยไปนอนโรงพยาบาลติดต่อกันรอบแรก 4 เดือนครึ่ง คนมาถามเรื่อยว่าหลวงพ่อเบื่อไหมอยู่โรงพยาบาล ไม่เบื่อ เรามีเพื่อน เราหายใจของเราไป รอบหลังไปปลูกถ่ายไขกระดูก อยู่ 28 วันออกมาแล้ว โดยเฉลี่ย เขาอยู่กัน 45 วัน

ออกมาได้เร็วเพราะสุขภาพจิตเราดี เราไม่เครียด เราไม่กลุ้ม เจ็บเราก็เห็นร่างกายมันเจ็บ ใจมันไม่ได้เจ็บ ปวดตรงโน้นปวดตรงนี้ เห็นร่างกายมันเป็น ใจเราไม่เกี่ยว ใจเราเป็นคนรู้คนเห็นเท่านั้นเอง เมื่อจิตใจมันเข้มแข็ง มีความสุข มีความสงบ มันก็มีกำลัง ถ้าเราตั้งใจมั่นว่าเราจะหายเร็วๆ มันก็หายเร็ว ถ้าใจเราอ่อนแอ ไม่สบายขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ ใจอ่อนแอก็เป็นหนัก แป๊บเดียวก็ตายแล้ว

 

ฝึกตัวเองตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่

มีครูบาอาจารย์ทางอีสานท่านเล่าให้ฟัง ตอนนี้ท่านมรณภาพไปแล้ว แต่ก่อนท่านเป็นเจ้าคณะภาค อยู่วัดสุทธจินดา ท่านเคยเล่าให้หลวงพ่อฟัง ญาติท่านจะมาตรวจร่างกายในโคราช ที่
โรงพยาบาลที่โคราช ก็นั่งปิคอัพมากัน มาหลายคนสดชื่นรื่นเริงมาเลย กะว่าเดี๋ยวตรวจร่างกายแล้วก็จะออกเที่ยวในเมืองอะไรอย่างนี้ ตอนเช้าไปตรวจยังไม่รู้ผล ตอนบ่ายก็เที่ยวเฮฮาสนุก เช้าวันรุ่งขึ้นไปฟังผล เป็นมะเร็งขั้นแรก ตกใจ เดินไม่ได้แล้ว จากคนแข็งแรงเฮฮากลายเป็นเดินไม่ได้ เพื่อนต้องหิ้วปีก ญาติๆ หิ้วปีกมาที่วัด มาลากลับบ้าน กลับไปไม่กี่วันตายไปแล้ว ไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะใจมันเสีย กังวลมาก เครียดมาก

ฉะนั้นพวกเราต้องฝึกตัวเองตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่ ยังมีกำลังอยู่ต้องฝึก เดินจงกรมได้ก็เดิน นั่งสมาธิได้ก็นั่ง แต่ต้องทำด้วยความมีสติ ถ้าเดินจงกรมไม่มีสติ เดินแล้วบางคนก็เดินใจลอย เสียเวลา ไม่มีประโยชน์ บางคนเดินแล้วก็บังคับตัวเอง เคร่งเครียด กำหนดจนเครียดไปหมดเลย อันนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ไปเดินทำไมให้มันทุกข์มากขึ้น ถ้าเดินก็เดินให้เป็น เดินด้วยความมีสติ เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนดูไป พวกอภิธรรมบอก รูปมันเคลื่อนไหว นามเป็นคนรู้ ก็พูดภาษาที่คนไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้าพูดภาษาที่รู้เรื่องก็คือร่างกายมันเดิน จิตใจเราเป็นคนรู้คนดูไป

ฝึกไป ถ้ายังเดินไหว ยังนั่งไหวก็นั่งไป ถึงเวลาก็แบ่งเวลาไว้ทุกวันๆ จะนั่งสมาธิอะไรก็นั่ง นั่งกับพื้นไม่ได้ก็นั่งเก้าอี้ ไม่ได้มีข้อห้าม จะนั่งเก้าอี้ก็ได้ ถ้านั่งพื้นไม่ไหว แต่อย่านั่งเก้าอี้ที่สบายจนนั่งหลับ ถ้านั่งก็นั่งด้วยความมีสติ นั่งแล้วก็หายใจไป ถ้าจิตใจมันหนีไป เรารู้ทัน จิตใจมันเพ่งลงมาในร่างกาย เรารู้ทัน ตรงนี้ผิดทั้งคู่ จิตที่หลงไปหนีไปมันย่อหย่อนไป จิตที่เพ่งที่จ้องจนมันเครียดมันตึงเกินไป ถ้ารู้ตัวจริงๆ ก็จะเห็นร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนรู้ เหมือนกับที่ร่างกายมันเดินแล้วจิตเป็นคนรู้นั่นล่ะ

อย่างขณะนี้พวกเราส่วนใหญ่นั่งอยู่ เราก็แค่รู้สึกลงไปว่าร่างกายมันนั่ง รู้สึกไหมร่างกายมันนั่ง จิตมันเป็นแค่คนรู้เท่านั้นเอง แต่ต้องนั่งปกติ อย่านั่งเครียดๆ นั่งเครียดไปแล้ว จงใจแรงไป มันจะสุดโต่งไปข้างบังคับตัวเอง เพราะฉะนั้นเรายังเดินได้เราก็เดิน วันข้างหน้าเราอาจจะเดินไม่ได้ แล้วมานั่งเสียดายว่าตอนเดินได้เราไม่ได้เดินจงกรม หรือบางคนลุกขึ้นนั่งไม่ได้แล้ว ป่วยหนัก ถ้าเคยนั่งก็ยังนึกถึง มันก็ยังอบอุ่นใจว่าเราเคยนั่งสมาธิเคยอะไร

มีคราวหนึ่งหลวงพ่อไปเยี่ยมญาติที่ศิริราช ตึก 72 ปี ตอนนั้นโรงพยาบาลคนเยอะ เดินผ่านไปตามทางเดิน มีเตียงคนไข้จอดเรียงกันเป็นแถวอยู่ คนไข้ก็นอนอยู่อย่างนั้น เห็นแต่ละคนดูไม่มีความสุขเลย เครียด เดินๆ ไปเจอเตียงหนึ่งเป็นพระ เป็นพระผู้เฒ่านอน หลวงพ่อเห็น โห ดูดีจัง เข้าไปไหว้ท่าน ถามท่าน โห หลวงพ่อภาวนาดูสดใส ป่วย มีท่อน้ำเกลืออะไรเสียบๆ ไว้ ดูสงบ ดูผ่องใส

ท่านก็มองหลวงพ่อออกเหมือนกัน ท่านถามว่าแล้วโยมภาวนาอย่างไร บอกผมใช้อานาปานสติ ท่านก็ถาม แล้ววันหนึ่งไม่สบายหายใจเองไม่ได้จะทำอย่างไร หลวงพ่อก็เลยถาม แล้วหลวงพ่อใช้อะไร ท่านบอกอาตมาใช้พุทโธ จมูกตันไปหมดแล้วก็ยังพุทโธได้ เรา เออ พุทโธก็ดีเหมือนกัน แล้วแต่ความถนัด ให้หลวงพ่อไปพุทโธเฉยๆ เรารำคาญ ต้องหายใจ ท่านก็บอกว่า อ้าว ถ้าหายใจไม่ได้จะทำอย่างไร หายใจไม่ได้ก็ตายไป เราก็เห็นร่างกายมันหายใจไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย ก็ไม่มีปัญหาอะไร

จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยคนอื่นเขาทุกข์ เราก็ยังมีความสุขอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธ อยู่กับการบริกรรมอะไรของเราที่เราถนัด ทำไป แต่ตอนป่วยหนักแล้วเราทำได้ ก็ต้องหมายความว่าก่อนจะป่วยเราต้องฝึกไว้ก่อน เพราะฉะนั้นพวกเราทุกวันต้องซ้อม ซ้อมเจ็บ ซ้อมตาย ต้องซ้อม ส่วนแก่ไม่ต้องซ้อม ก็แก่ขึ้นทุกวันๆ ไม่ต้องซ้อมแก่ เดินหลังงออะไรไม่จำเป็น ซ้อมเจ็บก็เป็นต้นว่าเวลาเราไม่สบายจิตใจเราทุรนทุรายไหม ถ้ายังทุรนทุรายเรียกเราสอบไม่ผ่าน พอสอบมิดเทอมไม่ผ่าน ไปสอบไฟนัลก็ตก

 

จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้

ฉะนั้นเราฝึกของเราทุกวันๆ เวลาทำฟัน พอถึงเวลาเราก็ไปทำฟัน มันหวาดเสียว ไปทำฟัน ต้องไปอ้าปากให้หมอเขาขูด คล้ายๆ เครื่องเจาะพื้นถนน เสียงดังเชียว จิตใจเราจะเป็นอย่างไรเวลามันเจ็บ เวลามันกลัวจิตใจเราเป็นอย่างไร เอาแบบนี้มาซ้อม ไปนอนทำฟันอยู่ ใจเรากลัว เราก็เห็นร่างกายมันเจ็บ เราก็เห็น ซ้อมๆ อย่างนี้ เรียกว่าซ้อมเจ็บ ก็ซ้อมไปเรื่อยๆ ส่วนตายก็ไม่ต้องซ้อมหรอก เดี๋ยวก็ตายเองล่ะ คนส่วนใหญ่ไม่กลัวตายเท่ากับกลัวเจ็บ ที่กลัวตายเพราะกลัวเจ็บตอนก่อนตาย

เราซ้อมเวลามันเจ็บปวดหรืออะไรขึ้นมา เป็นไข้เป็นอะไร อย่าเอาแต่โมโหโทโส บางคนร่างกายไม่สบายแล้วหงุดหงิด โมโห พาล เกเร คนไข้มีหลายประเภท บางคนดูแลง่าย คนไข้บางคนดูแลยาก ไม่ร่วมมือ ตีโพยตีพายอย่างเดียวเลย พวกนี้ดูแลยาก ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง เจ็บป่วยขึ้นมาก็ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย ไม่โทษโน้นโทษนี้ อาละวาดอะไรอย่างนี้ หมอจะรักษาก็ร่วมมือกับเขาหน่อย เขารักษาแล้วเรารู้สึกไม่ใช่ไม่ถูก บางทีหมอก็วินิจฉัยผิดได้เหมือนกัน มันเป็นไปได้ แบบนี้ก็ต้องบอกว่าเรามีความเห็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้หมอก็เลยเลี่ยง ปรึกษากันเป็นทีม เฉลี่ยความรับผิดชอบกันไป

 

“เวลาที่ชีวิตมีปัญหาภาวนาให้เป็น
ถ้าทำวิปัสสนาได้ให้ทำวิปัสสนาทำวิปัสสนาไม่ได้ทำสมถะ
อย่าเอาแต่กลุ้มใจ เอาแต่โมโหโทโส”

 

เราต้องซ้อมตัวเราเอง เวลาเราไม่สบายอะไรอย่างนี้จะทำอย่างไร บางคนติดโควิดถูกกักตัว อาการไม่ได้มากอะไรแต่มันโมโห มันหงุดหงิด มันถูกกักตัว มันไม่สบายใจ อยากไปเที่ยว อยากอะไรอย่างนี้ นี่ก็ซ้อมได้ ซ้อม เวลาเจ็บป่วยแล้วมันไม่ได้อย่างใจ ใจเราจะเป็นอย่างไร หัดสังเกตไปเรื่อยๆ

ที่จริงแล้วการปฏิบัติเราซ้อมได้ตลอด อย่างเราจะรีบไปธุระแล้วรถมันติด ใจเราทุรนทุรายอย่างนี้ เราจะทำอย่างไร ใจมันกลุ้มใจ จะเปิดเพลงฟังหรือ ก็ชาวบ้านมากไป เราเห็นใจที่หงุดหงิด ถ้าเราเห็นใจที่หงุดหงิด ใจเรามีกำลังของสมาธิพอ เราก็จะเห็นร่างกายที่ขับรถไม่เคยหงุดหงิดเลย มีแต่เหนื่อย ที่หงุดหงิดคือความรู้สึกหงุดหงิดมันเกิดขึ้น ความหงุดหงิดก็ไม่ใช่จิตอีก มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความหงุดหงิดใจเป็นสังขาร เป็นโทสะชนิดหนึ่ง เวลารถติดเราก็ภาวนาได้

เพราะฉะนั้นเวลาที่ชีวิตมีปัญหาภาวนาให้เป็น ถ้าทำวิปัสสนาได้ให้ทำวิปัสสนา ทำวิปัสสนาไม่ได้ทำสมถะ อย่าเอาแต่กลุ้มใจ เอาแต่โมโหโทโส รถติดที่เล่าให้ฟัง เราก็เห็นความหงุดหงิด ความกังวลเกิดขึ้น จิตเราเป็นคนเห็น เราก็จะเห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราทำวิปัสสนาแล้ว บางทีมันดับแล้วใจก็สบาย สงบสบายขึ้นมา แต่บางทีดูแล้ว หงุดหงิดไม่หาย ยิ่งหงุดหงิดมากขึ้นๆ อะไรอย่างนี้ อันนี้สู้ด้วยวิปัสสนาไม่ไหวก็สู้ด้วยสมถะ ก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับพุทโธอะไรของเราไป สวดมนต์ไป ไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อไรรถมันจะวิ่งได้ ถึงเวลามันก็วิ่งไปเองนั่นล่ะ ก็วิ่งได้เอง

เราก็ใช้วิธีนี้เวลาเราอยู่กับโลก เวลาชีวิตเรามีปัญหา ถ้าใช้วิปัสสนาได้ให้ใช้วิปัสสนา ถ้าใช้วิปัสสนาไม่ไหวให้ใช้สมถะ อย่างไปทำฟันอย่างนี้ ถ้าทำวิปัสสนาได้เราก็จะเห็นร่างกายมันนอนเอนๆ อยู่ส่วนหนึ่ง ความเจ็บปวดมันส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้คนเห็นส่วนหนึ่ง เราก็จะเห็นความเจ็บปวดเดี๋ยวก็มากเดี๋ยวก็น้อย มันไม่ได้เจ็บคงที่หรอก ไปสังเกตให้ดี มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันความเจ็บ พอหมอเขาหยุดสักพัก เราก็คลายความเจ็บออก

หรือจิตก็ไม่เที่ยง จิตเดี๋ยวก็วิ่งมาอยู่ที่ฟัน เดี๋ยวก็วิ่งไปกังวล เดี๋ยวก็วิ่งไปอย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ทุรนทุรายขึ้นมา เดี๋ยวก็สงบ เดี๋ยวก็วุ่นวาย สังเกตลงไป มีแต่ของไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยง เวทนาก็บังคับไม่ได้ หมอมาจิ้มเหงือกเรา เราก็เจ็บ เราสั่งบอกว่าอย่าเจ็บ มันก็ไม่เชื่อ อันนี้มันสอนอนัตตาเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันไปอยู่ในอำนาจหมอ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา จิตนี้ก็เหมือนกัน ทำฟันอยู่ จิตกลัว เราไม่ได้เจตนาจะกลัว มันก็กลัวเอง จิตหายกลัว มันก็หายเอง จะไปสั่งมันว่าอย่ากลัวๆ มันก็ไม่หายหรอก

 

เครื่องมือ 2 ตัว คือสมถะกับวิปัสสนา ต้องฝึกซ้อม

ให้เราคอยรู้ทัน ถ้ารู้อย่างนี้ได้เราใช้การเจริญปัญญาอยู่ จิตใจเราก็สงบสุขอยู่ได้ แต่ถ้ามันไม่ไหวจริงๆ จิตใจมันทุรนทุรายมาก ดูไม่ทันแล้ว ก็ทำสมถะ หลักของการทำสมถะ คือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข แล้วดูในตัวเราตรงไหนยังมีความสุขเหลืออยู่บ้าง ที่ฟันเรา ที่หน้าเราไม่มีความสุขแล้ว กรามเมื่อยไปหมดแล้ว ถ้าเราจะทำสมถะ เราก็ย้ายความรู้สึกไปไว้ที่อื่น เช่น ไปอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจก็เล่นยากอีกล่ะ หมอมายุ่งอยู่ในปากเรา หายใจลำบาก หลวงพ่อก็เคยทำ ย้ายไปอยู่ที่หัวแม่เท้าเลย ห่างหมอหน่อย เอาจิตไปอยู่กับหัวแม่เท้า สบาย อ้าปากให้เขาทำไป อย่างนี้ใช้สมถะ

หลวงตามหาบัวท่านก็เคยเล่าว่าท่านไม่สบาย ท่านฉันยาจีน ยานี้เหม็นมากเลยแต่ต้องฉัน ท่านบอกว่ามันเหม็น ท่านเอาจิตไปไว้บนขื่อ รู้จักขื่อไหม ขื่อมันอยู่ข้างบนนี้ เดี๋ยวนี้มันมีฝ้าเพดานมาบังไว้ เหนือฝ้าเพดานขึ้นไป มีขื่อ เอาจิตไปไว้ข้างบน ร่างกายก็ไม่เหม็นแล้ว ไม่รู้สึกเหม็น อันนี้ใช้สมถะ

เพราะฉะนั้นเรามีเครื่องมืออยู่ 2 ตัว ก็ต้องฝึกซ้อม สมถะกับวิปัสสนา สมถะเราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะทำวิปัสสนาเราก็แยกรูปแยกนาม แล้วก็เห็นรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามแสดงไตรลักษณ์ไป อันนั้นเราใช้วิปัสสนา เวลาเราทำสมถะ ถ้าทำได้ดี ทำได้ถูก จิตเราก็สงบสุข เวลาเราทำวิปัสสนา ทำได้ดี ทำได้ถูก จิตก็สงบสุข เข้าถึงความสงบสุข แต่ความสงบนั้นแตกต่างกัน

ความสงบของสมถะมันเหมือนเด็กได้ของเล่นถูกใจก็เพลินอยู่กับของเล่นนั้น ความสงบจากการทำวิปัสสนามันคล้ายๆ เราเป็นผู้ใหญ่ เราทำงานที่ยากๆ ชิ้นหนึ่งสำเร็จ จิตใจมันมีความสุข พระพุทธเจ้าท่านบอก อย่างพระอรหันต์ท่านทำสมถวิปัสสนาสมบูรณ์แล้ว ไม่มีธุระอะไรต้องทำต่อ อันนั้นเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ความรู้สึกเหมือนคนซึ่งทำงานสำเร็จแล้วกำลังรอรับค่าจ้างอยู่ ค่าจ้างของผู้ปฏิบัติในระดับนั้นก็คืออนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่เหลือขันธ์ นี่เป็นรางวัลแจ็คพอต เรายังไม่ถึงตรงนั้น แต่ว่าเราทำสมถะจิตใจเราก็มีความสุข มีความสงบ เราทำวิปัสสนาได้ถูกต้อง จิตใจก็มีความสุขความสงบ

อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนาบางทีก็ใช้สมถะ ใช้สมถะเรารู้สึกเสียเวลา จริงๆ ไม่ใช่เสียเวลา สมถะจำเป็น ถ้าเราไม่ทำเลย ใจเราฟุ้งซ่านไม่มีกำลัง ทำวิปัสสนาได้ไม่ดี แต่ถ้าสมาธิเราดีอยู่แล้ว เจริญปัญญาไป ทำวิปัสสนาไป เราก็พบว่าเวลาที่เราทำสมถะอยู่ บางทีจิตมันก็มีความสุขผุดขึ้นมา หรือบางทีเราเดินปัญญาอยู่ เราพิจารณาธรรมะอะไรอยู่ จิตมันก็มีความสุขขึ้นมา มีความสุขมีความสงบผุดขึ้นมาได้

ไปเห็นครูบาอาจารย์ท่านไม่สบายมาก แต่จิตท่านมีความสุขมีความสงบ หลวงพ่อเห็นตั้งแต่เป็นโยม บอก เอ๊ะ ทำไมท่านมีความสุขอย่างนั้น เราต้องฝึกตัวเองให้ได้อย่างท่าน ใจนึกอย่างนี้ จะฝึกตัวเองให้ได้อย่างท่าน ก็ถามท่านว่าท่านฝึกมาอย่างไร ท่านปฏิบัติอย่างไร สอนเราด้วยสิ ท่านสอนมาแล้วเราก็ลงมือทำ เราก็ได้ลิ้มรสของความสุขความสงบเป็นลำดับๆ ไป ทำสมถะเราก็มีความสุขแบบสมถะ ทำวิปัสสนาเราก็มีความสุขอย่างของคนทำวิปัสสนา

สมถะก็คล้ายๆ ทำงานเหนื่อยแล้วได้พักผ่อน อย่างนี้ได้พักผ่อน ถ้าเป็นสมถะ สุขแบบสมถะ สุขแบบพักผ่อน ถ้าทำวิปัสสนา สุขคล้ายๆ ทำงานสำคัญเสร็จแล้ว จิตใจผ่อนคลาย มันสุขคนละแบบ ไม่เหมือนกัน แต่มันมีความสุข สุขอันหนึ่งสุขเหมือนเด็ก สุขอันหนึ่งเป็นสุขแบบผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ ก็จะแตกต่างกัน

 

“ฝึกซ้อมตัวเองทุกวันๆ
เวลาฉุกเฉินจำเป็นขึ้นมา จิตจะปฏิบัติได้เอง”

 

ถ้าเราฝึกตัวเองแล้วเราอยู่กับโลกที่วุ่นวาย เราสามารถอยู่ได้ แต่ในช่วงต้นๆ ที่เราฝึกอินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า เราก็ต้องรู้จักที่สัปปายะสำหรับเรา ที่ไหนที่เราอยู่แล้วเราภาวนาดี เราภาวนาคล่องแคล่ว เราก็ไปอยู่ตรงนั้นบ่อยๆ ตรงไหนที่เราเข้าไปแล้วจิตใจเราฟุ้งซ่าน ไม่สงบเลย ไม่ดีเลย ไม่มีสติ เราก็เลี่ยง ตอนหลวงพ่อเป็นโยม หลวงพ่อจะเลี่ยงการไปตามศูนย์การค้าที่วัยรุ่นเยอะๆ เข้าใกล้มันเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่กลางพายุหมุน หัวเราหมุนติ้วๆๆ ไปด้วย เพราะว่าอินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าพอ พอเราเข้าไปแล้ว โห เวียนหัว มันมีความสุขได้อย่างไร

มีคราวหนึ่งรับราชการ ไปต่างจังหวัด เขาบังคับให้ไปเข้าผับเข้าบาร์อะไร เคยเข้าไปทีเดียวนั่นล่ะ พอเข้าไป โห ไฟวูบวาบๆ เสียงก็ดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปหมด ควันบุหรี่ควันอะไรนี่ตลบอบอวลไปหมดเลย กลิ่นเหล้ากลิ่นอะไร กลิ่นอาหารกลิ่นอะไรปนกันไปหมดเลย เข้าไปปุ๊บผงะเลย นี่มันนรก มันสวรรค์ตรงไหน มันนรกแท้ๆ เลย มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่สิ่งซึ่งเป็นอันตราย อันตรายต่อตา แสงวูบๆ วาบๆ อันตรายต่อหู เสียงดังเหลือเกิน อันตรายต่อจมูก ต่อปอด ควัน กลิ่นอะไรต่ออะไร และอันตรายต่อจิตใจ เพราะเราไปอยู่ท่ามกลางคนหลง เหมือนเราไปอยู่ท่ามกลางคนบ้านั่นล่ะ อันนี้เขาก็บ้า คือเขาหลงโลกอย่างรุนแรง

ใจมันสู้ไม่ไหว ถอย สู้ไม่ได้ก็ถอย ก็ต้องฝึกตัวเองอย่างนั้น ตรงไหนเราอยู่แล้วไม่ไหว เราพยายามถอย มีโอกาสถอยได้ก็ถอย ถอยไม่ได้ก็ต้องทำใจอยู่กับมัน แต่ไม่หลงเพลินไปกับมัน ไม่ถูกมันย้อม อยู่อย่างเป็นตัวของตัวเองให้ได้ อย่างหลวงพ่ออยู่กับพวกกินเหล้า เราก็จำเป็น เขากินเหล้ากันทั้งโต๊ะ มีเราไม่กินอยู่คนเดียวอย่างนี้ เราจะไปตั้งท่ารังเกียจเดียดฉันท์เขา เราก็อยู่กับเขายาก เขากินเหล้า เราก็นั่งกับเขา หนีไม่ได้ ช่วยยกอาหารให้เขาบ้าง ไปชงเหล้าให้เขายังเคยทำเลย ตอนนั้นเป็นข้าราชการเด็กที่สุด ผู้ใหญ่เขาใช้ให้ชงเหล้า เราก็ทำ

หรือบางทีหัวหน้ากองนั่งติดกับหลวงพ่อ แกจะรีบทำงาน โทรศัพท์อยู่ตรงกลางระหว่างแกกับหลวงพ่อ แกก็สั่งไว้บอกว่า “ปราโมทย์ ถ้าใครโทรมาหาพี่ บอกว่าพี่ไม่อยู่” เราฟังแล้ว เฮ้ย เราจะทำอย่างไร ถ้าบอกว่าไม่อยู่ มุสาแล้ว เราจะรักษาศีลของเราอย่างไร อยู่กับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วโทรศัพท์มันก็มาจริงๆ เขาก็บอกขอพูดกับหัวหน้ากอง หลวงพ่อก็พูดเบาๆ ยกโทรศัพท์ห่างออกไปหน่อย “หัวหน้าสั่งว่า… ไม่อยู่ครับ” กูไม่ได้โกหก โอ้ มันลำบากๆ แต่ก็ต้องพยายาม

 

อยู่กับทุกข์ให้เป็น

ถ้าเราจะรักษาศีลของเรา เราจะฝึกสมาธิ เราจะฝึกเจริญปัญญาอะไรของเรา ก็ต้องอดทน ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา หลายคนพยายามปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา ทุกคนต้องทำตามใจฉันอะไรอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวเองอยู่ในที่ทุกที่ได้ อยู่ในสถานการณ์ทุกสถานการณ์ได้ สถานการณ์เจ็บป่วย สถานการณ์พลัดพรากทุกคนต้องเจอ

ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความโศกเศร้าร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ นี่ก็เป็นทุกข์ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ทำไมเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะโลกนี้มันคือทุกข์ โลกนี้มันเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราอยู่ตรงนี้ ก็คือเราอยู่กับทุกข์ ก็ต้องอยู่ให้เป็น ไม่ใช่อยู่กับทุกข์แล้วก็เลยทุกข์ไปกับมันด้วย หรือหลงโลกไปเลย ทุกข์ไปกับมันก็คือปฏิเสธมันตลอด

ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง มีสติไว้ ศีลต้องรักษา ทุกวันแบ่งเวลาไว้ปฏิบัติ ยังมีแรงนั่งสมาธิก็นั่งไป มีแรงเดินจงกรมก็เดินไป นั่งสมาธิก็นั่งด้วยความมีสติ เดินก็เดินด้วยความมีสติ ถ้าต้องการทำสมถะ เวลาเดินก็เห็นร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนดู เฉยๆ แค่นี้ล่ะ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง เดี๋ยวก็สงบเอง ได้สมถะ ถ้าจะเดินจงกรมให้เป็นวิปัสสนา เห็นร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนดู เห็นร่างกายที่เดินไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้คนดู เดี๋ยวก็ดูกาย เดี๋ยวก็หนีไปคิดเรื่องอื่น มันเป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

นั่งสมาธิ ถ้าเป็นสมถะ ก็เห็นร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนดูอยู่ อันนี้ได้สมถะ ถ้าจะขึ้นวิปัสสนาก็จะเห็นร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่นั่งอยู่ไม่ใช่เราหรอก เป็นวัตถุธาตุที่มีธาตุไหลเข้ามีธาตุไหลออกตลอดเวลา เช่น หายใจเข้า หายใจออก เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป หรือเห็นจิตใจที่เป็นคนรู้ร่างกาย เดี๋ยวก็รู้ร่างกาย เดี๋ยวก็เผลอหนีไปที่อื่น เห็นจิตใจก็ไม่เที่ยง จิตที่รู้กายอยู่ก็ไม่เที่ยง จิตเดี๋ยวเดียวหลงไปคิดแล้ว เรารู้ทัน จิตหลงคิดก็ดับอีกแล้ว เกิดจิตที่รู้ขึ้นมาอีกแล้ว จิตก็ไม่เที่ยง แล้วจิตจะรู้ หรือจิตจะหนีไป เราก็บังคับไม่ได้ มันเป็นอนัตตา อย่างนี้เราก็นั่งสมาธิแล้วก็เจริญปัญญาได้ หรือจะนั่งให้สงบ ก็อยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้าจะนั่งแล้วเจริญปัญญาก็เห็นไตรลักษณ์ของกายของใจไป

ฉะนั้นเราต้องรู้จักทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา รู้หลักของมัน แล้วก็ไปฝึกซ้อมตัวเองทุกวันๆ ตอนนี้จิตมีกำลังแล้วเราก็ทำวิปัสสนาดูไตรลักษณ์ของกายของใจไป ตอนนี้จิตไม่มีกำลังเราทำสมถะ อยู่กับอารมณ์อันเดียว เช่น อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ก็ทำไปทุกวัน ซ้อมมันทุกวันนั่นล่ะ การที่เราซ้อมตอนนี้แล้วเวลามันฉุกเฉินมันจำเป็นขึ้นมา จิตมันจะทำงานได้เอง มันจะปฏิบัติได้เอง อย่างเราฝึกดูจิตดูใจเรา จิตแฉลบไปแฉลบมาเราเห็นหมด จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เราเห็น แล้วต่อไปเวลาฉุกเฉิน จิตมันจะทำงานเองอัตโนมัติเลย

หลวงพ่อสมัยยังไม่บวช อยากไปดูนกปากห่าง บ้านอยู่เมืองนนท์จะไปดูนกปากห่างที่ปทุมธานี ชวนคุณแม่ชี ตอนนั้นไม่ได้บวช ไม่ใช่หลวงพ่อไปชวนแม่ชีไปเที่ยว ตอนนั้นก็ไม่ได้บวชทั้งคู่ ขับรถไป เราไม่เคยขับรถไปบ้านนอกอย่างนั้น ขับแต่อยู่ในกรุงเทพฯ ไปเจอสะพานที่ขึ้นไปแล้วหัวมันแบนๆ หัวมันตัด ขึ้นไปสะดุดตรงนี้ รถลอยทั้งคันเลย หัวชนเพดานรถ ตรงที่หัวชนเพดาน มองลงไป จิตมันตั้งมั่นปุ๊บขึ้นมาอัตโนมัติ มองลงไปข้างหน้า เลยสะพานไปนิดเดียวสักสิบกว่าเมตร เลี้ยวหักศอก รถกำลังวิ่งเต็มที่เลย กระแทกแล้วลอย ตอนนั้นมันเป็นรถเกียร์ธรรมดา หลวงพ่อลดลงเกียร์ 1 เลย เหยียบเบรกสุดขีดกลางอากาศ พอรถกระแทกพื้นคลายเบรกออก มิฉะนั้นรถคว่ำ แล้วเราก็ค่อยๆ แตะๆๆ ไปเรื่อย ก็เลี้ยว นี่จิตมันทำงานเอง มันดีดตัวเด่นขึ้นมา ไม่มีคำว่าตกใจ

หลวงพ่อพุธท่านก็เคยเล่าให้ฟัง ท่านนั่งรถไปแล้วรถตกเหว นั่งรถตู้ ท่านบอกว่าพอรถมันพุ่งลงไป เห็นต้นไม้ จิตท่านตั้งมั่นอยู่ รถวิ่งเข้าใส่ต้นไม้ รถมันก็หลบต้นไม้ ก็ต้นไม้มันไม่หลบรถนี่ รถมันหลบต้นไม้ ไปเจออีกต้นหนึ่งมันก็หลบอีก ท่านบอกมันหลบไปหลบมาจนลงมาเตี้ยๆ แล้ว ใกล้จะถึงพื้น ท่านบอกท่านหมดกำลังตอนนั้น รถเลยชนต้นไม้ต้นสุดท้าย ท่านคงรีแล็กซ์แล้วล่ะ เห้อ พ้นแล้ว มันก็เลยชนโครมเข้าให้

หลวงตามหาบัวก็เล่าตอนที่ท่านรถคว่ำ ท่านบอกร่างกายท่านพลิก ท่านเห็นเป็นช็อตๆ ช็อตๆ หมดเลย จิตที่ฝึกมาดีแล้วมันจะเป็นอย่างนี้ๆ พวกเราก็มีคนหนึ่ง วันนี้ไม่เห็น ชอบขับรถเร็วในมอเตอร์เวย์ ขับจนกระทั่งรถมันหมุน หมุนๆๆ จิตมันถอนตัวออกมาเป็นคนดูเลย เห็นร่างกายมันหมุนไป เห็นรถมันหมุนไป จิตมันไม่ตกอกตกใจ สติปัญญามันทำงานได้เต็มที่ ก็รักษาตัวรอดไปได้ สิ่งเหล่านี้ไม่มีของฟรีหรอก ต้องฝึก วิธีฝึกก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ ทำสมถะ ทำวิปัสสนาไป ถึงคราวจำเป็นแล้วจิตมันทำเอง จิตมันช่วยตัวเองได้

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปฝึกเอาเพื่อชีวิตที่มีคุณค่า ชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส ถ้าเราไม่ได้ฝึกกรรมฐาน เราไม่มีชีวิตที่มีอนาคตที่แจ่มใส พวกเรามีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า มีความพลัดพรากรออยู่ข้างหน้า มีความตายรออยู่ข้างหน้า ฉะนั้นในโลกไม่มีชีวิตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าหรอก แต่ในทางธรรมมี ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยสมถะด้วยวิปัสสนานี่ล่ะ เรามีความสุขมีความสงบตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตก็มีความสุขความสงบสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรามีความสุขความสงบของพระนิพพาน

นิพพานเป็นความสงบอย่างยิ่ง นิพพานมีสันติลักษณะ มันสงบ นิพพานมีความสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นั่นล่ะเรามีรางวัลใหญ่รอเราอยู่ข้างหน้าสำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ฉะนั้นเราทำ ฝึกของเราทุกวันๆ อย่าทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 พฤศจิกายน 2565