คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

พระอุปัชฌาย์หลวงพ่อ ท่านจะเปิดสถานที่แห่งหนึ่งเรียกอุทยานธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านให้ไปเทศน์ที่นั่น ท่านบอกคนที่รักษาแนวทางของหลวงปู่ดูลย์ไว้ ก็มีหลวงพ่อนี่ล่ะ เวลามีงานแบบนี้ท่านก็จะเรียกไป

ท่านอายุเยอะแล้ว 92 ปีแล้ว ท่านเป็นหลานหลวงปู่ดูลย์ เป็นหลานแท้ๆ เลยของหลวงปู่ดูลย์ ท่านเล่าให้ฟังตอนเด็กๆ หลวงปู่ไปที่บ้านท่าน แล้วบอกพ่อท่านว่ามีลูกชายหลายคน ขอมาบวชสักคนหนึ่ง คนไหนก็ได้ขอสักคนหนึ่ง พ่อเลยมาชี้ที่ท่าน ตอนนั้นยังเด็กๆ อยู่ บอก “เอาคนนี้มันซื่อๆ มันทำมาหากินไม่ทันใครเขาหรอก ให้ไปบวช” อยู่กับหลวงปู่ดูลย์มา 40 กว่าปี รู้เรื่องของหลวงปู่เยอะที่สุดแล้ว ท่านถึงเขียนหนังสือ หลวงปู่ฝากไว้ ได้ เป็นหนังสือน่าอ่านเล่มหนึ่ง ใครยังไม่เคยอ่านก็ไปหาอ่านเสีย เป็นธรรมะที่ถึงใจ

 

ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิต

ที่จริงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ส่วนหนึ่งก็จะเหมือนๆ กับคำสอนของครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไป แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน โดดเด่น ไม่มีองค์ไหนเหมือนก็คือเรื่องของจิต ท่านสอนตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย แต่ก็ไม่ได้สอนทุกคนให้เข้ามาที่จิต ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาได้หรอก จิตมันต้องมีกำลังมากพอ ถึงจะเข้ามาดูจิตได้ ถ้ากำลังยังไม่พอ ท่านก็ให้เริ่มไป บางคนก็พุทโธ บางคนก็พิจารณากาย พอจิตมีกำลังแล้วถึงจะขึ้นมาที่จิตได้

หลวงพ่อทำสมาธิแต่เด็กไปเจอท่าน ท่านเลยให้ดูจิตเลย ถ่ายทอดเรื่องจิตให้ ก่อนเจอท่านได้ไปเห็นหนังสือวัดสัมพันธวงศ์ เขาเขียนประวัติหลวงปู่แหวน เขาเหลือพื้นที่อยู่นิดหนึ่งท้ายหนังสือท้ายๆ หน้า เอาธรรมะของหลวงปู่ดูลย์ไปลงไว้ หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกมาเยอะ คำสอนครูบาอาจารย์อะไรก็อ่าน พระไตรปิฎกอ่านแล้วถึงอกถึงใจ แต่ไม่รู้จะลงมือปฏิบัติได้อย่างไร มันเยอะแยะไปหมด เป็นหนังสือพิมพ์ออกมาก็เป็นตู้หนึ่ง ธรรมะมากมายเหลือเกิน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน

ส่วนคำสอนครูบาอาจารย์ทั่วๆ ไปในสายวัดป่า ท่านจะสอนพุทโธพิจารณากาย หลวงพ่อลองพิจารณาแล้วมันไม่ถึงใจ รู้สึกมันจืด พิจารณากายลงไป ทีแรกกำหนดจิตทำสมาธิ แล้วดูลงไปที่ผม เส้นผมก็หายไป เห็นหนังศีรษะ หนังศีรษะก็เปิดออกไปเห็นหัวกะโหลก ดูหัวกะโหลก หัวกะโหลกก็สลายตัวไป หายไป ดูร่างกายเนื้อหนังก็สลายไป เหลือกระดูก ดูกระดูกระเบิด มันเป็นเรื่องของสมาธิทั้งนั้น กายก็หายไปหมดเลย ไม่มีกาย เหลือแต่จิตดวงเดียว ฉะนั้นให้ไปพิจารณากายรู้สึกจืดๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย ดูไปเดี๋ยวเดียวก็สลาย ไปต่อไม่เป็น

พอไปเจอหนังสือธรรมะหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอน “จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ ธรรมดาของจิตย่อมส่งออกนอก เมื่อส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ก็เป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอก แล้วกระเพื่อมหวั่นไหวไม่มีสติอยู่ก็เป็นทุกข์ จิตส่งออกนอกแล้วมีสติอยู่ ก็เป็นการเจริญมรรค ผลก็คือนิโรธ” แล้ววรรคสุดท้ายที่หลวงปู่สอนก็คือ “อนึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีจิตไม่ส่งออกนอก มีจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่” พอได้อ่านธรรมะตรงนี้ มันสะเทือนเข้าถึงใจ มันเห็นว่าถ้าจิตมันไม่ทุกข์แล้วใครมันจะทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาที่จิตของเราได้ ความทุกข์มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เที่ยวหาหลวงปู่ว่า เอ๊ะ ท่านอยู่ที่ไหน ทีแรกก็คิดว่าท่านมรณภาพไปแล้ว เพราะดูจากประวัติ ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ฝั้น เป็นอาจารย์หลวงปู่อ่อน เป็นอาจารย์เจ้าคุณโชติ ครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ ครูบาอาจารย์รุ่นนั้นยังมรณภาพไปหมดแล้วเลย คิดว่าหลวงปู่ดูลย์ไม่อยู่แล้ว แต่ก่อนนี้คนไม่รู้จักหลวงปู่ดูลย์ มองข้าม เพราะท่านอยู่ในเมือง คนก็คิดว่าเป็นพระบ้าน ภาวนาไม่เป็น ที่จริงท่านภาวนาได้รวดเร็วมาก ในบรรดาลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์เร็วมากเลย ใช้เวลานิดเดียว เพราะท่านได้เคล็ดลับก็คือจิตนั่นเอง

ที่จริงคำสอนเรื่องดูจิตๆ ที่หลวงปู่ดูลย์สอน ก็มาจากหลวงปู่มั่น ไม่ได้ว่าหลวงปู่ดูลย์คิดเองหรอก ตอนหลวงปู่ดูลย์ไปพบหลวงปู่มั่น ท่านไปกับพวกอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านอยู่อุบลฯ กัน หลวงปู่มั่นก็อยู่อุบลฯ ก็เข้าไปเรียนกับหลวงปู่มั่น พอเข้าไปเรียนกับหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่ดูลย์ทิ้งทุกอย่าง ธุดงค์ออกไปเลย ไปภาวนา ในเวลาไม่กี่เดือน ท่านก็กลับมาหาหลวงปู่มั่น ก็รายงานการปฏิบัติ บอก “ผมเห็นว่า กิเลส 4 ส่วน ผมละเด็ดขาดได้ 1 ส่วนแล้ว ส่วนที่ 2 ผมละได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ 3 ที่ 4 ยังละไม่ได้ จะทำอย่างไรต่อ”

หลวงปู่มั่นท่านก็สอนหลวงปู่ดูลย์ บอกให้ไปพิจารณาธรรมตรงนี้ “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง” “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายเป็นอนัตตา” บอกให้ไปพิจารณาธรรมตรงนี้ นี้ก็คือหลักของการดูจิตนั่นเอง การดูจิตนั้นไม่ได้ดูตัวจิตตรงๆ เพราะจิตไม่มีอะไรให้ดู ตัวจิตนั้นมันว่างเปล่า ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่างอะไรทั้งสิ้น มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์เท่านั้นเอง แต่จิตนั้นมันวิจิตรพิสดารขึ้นมาได้ ก็เพราะสิ่งที่มาประกอบจิต พวกสังขาร พวกสัญญา ที่จริงมีเวทนาอีกตัวหนึ่ง

เวทนา สัญญา ทำให้เกิดสังขารขึ้นมา แล้วทำให้จิตเกิดจิตหลากหลายชนิดขึ้นมา อย่างจิตที่เป็นกุศลก็คือจิตบวกด้วยเจตสิก คือองค์ธรรมที่ประกอบกับจิตที่เป็นกุศล อย่างจิตโกรธมันก็คือ จิตไปบวกกับเจตสิกคือความโกรธ จิตโลภก็คือ จิตไปบวกกับเจตสิกคือความโลภ จิตฟุ้งซ่าน จิตก็คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แล้วมันไปรวมเข้ากับความฟุ้งซ่าน ก็เลยกลายเป็นจิตฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นการที่เราดูจิตๆ นั้น เราไม่ได้ดูตัวจิตตรงๆ เพราะไม่มีอะไรให้ดู เราเห็นว่าจิตดวงนี้แตกต่างกับจิตดวงนี้ได้ เพราะธรรมะที่มาประกอบกับจิตแต่ละดวงนั้นไม่เหมือนกัน

 

“สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา
สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง
สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา
สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายเป็นอนัตตา”

 

จิตบางดวงก็ประกอบด้วยความสุข จิตบางดวงประกอบด้วยความทุกข์ จิตบางดวงประกอบด้วยความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตบางดวงเป็นกุศล บางดวงเป็นกุศลเฉยๆ บางดวงเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา บางดวงก็เป็นอกุศล เป็นจิตหลง หรือว่าเป็นจิตหลงบวกกับจิตโลภ เป็นจิตหลงบวกกับจิตโกรธ ตัวเจตสิกที่เข้ามาประกอบจิต มันทำให้จิตเกิดเป็นจิตชนิดต่างๆ ขึ้นมา แล้วมันก็เป็นร่องรอยที่ทำให้เราเห็นจิตเกิดดับได้ อย่างตัวจิตจริงๆ ไม่มีรูปร่าง เราจะไปเห็นมันเกิดดับได้อย่างไร เราเห็นไม่ได้

แต่เราเห็นจิตเกิดดับได้โดยผ่านเจตสิก คือธรรมะที่มาประกอบกับจิต อย่างเราพบว่าจิตเราดวงนี้มีความสุขอยู่ดีๆ อ้าว ความสุขหายไปแล้ว โอ้ จิตไม่เที่ยง จะเห็นอย่างนี้ได้ ลำพังดูตัวจิตจริงๆ มันว่าง มันไม่มี อะไรหรอก จิตโดยธรรมชาติของมัน มันว่างๆ นี้มันดี มันชั่ว มันสุข มันทุกข์ ก็เพราะธรรมะที่มาประกอบจิต ธรรมะตัวนั้นเรียกว่า “เจตสิก” จิตกับเจตสิกจะต้องเกิดร่วมกันเสมอ กระทั่งในโลกุตตรจิตก็มีเจตสิกที่เป็น โลกุตตรเจตสิก

ฉะนั้นการที่เราเห็นว่าจิตดวงนี้โกรธ จิตดวงนี้หายโกรธ จิตดวงนี้โลภ จิตดวงนี้หายโลภ จิตดวงนี้หลง จิตดวงนี้ไม่หลง จิตดวงนี้ฟุ้งซ่าน จิตดวงนี้หดหู่ มันก็อาศัยธรรมะชนิดต่างๆ เข้ามาประกอบกับจิต ทำให้เราสามารถแยกได้ว่าจิตนั้นมันเกิดดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ จิตหดหู่เกิดแล้วก็ดับ ที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์มาก็คือเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ให้ไปดูตัวจิตตรงๆ ท่านบอก “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนิจจา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลายไม่เที่ยง” “สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา สังขารทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย เป็นอนัตตา”

 

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง

สังขารก็คือความปรุงดีปรุงชั่ว สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ ก็มันหมายรู้อย่างนี้ มันก็ปรุงอย่างนี้ หมายรู้อย่างนี้มันก็ปรุงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์ท่านไปภาวนา แล้วก็ดูจิตใจของท่านทำงาน ท่านใช้เวลาไม่นาน ท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ อริยสัจที่ท่านเข้าใจขึ้นมานี้ ไม่ใช่อริยสัจธรรมดา มันเป็นอริยสัจขั้นสุดท้าย คืออริยสัจแห่งจิต เป็นความแจ่มแจ้งนั่นเองว่าจิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเข้าใจแจ่มแจ้งอย่างนี้แล้ว เรียกว่ารู้ทุกข์ รู้ทุกข์ก็คือรู้แจ้งว่าจิตนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้เรียกว่ารู้ทุกข์ เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ

อย่างพวกเราเวลาตัณหาเกิด แหม เราก็ต้องแก้ตัณหาสารพัดวิธี อย่างคนทั่วๆ ไปมีความอยากเกิดขึ้น ก็ไปสนองความอยาก แล้วความอยากอันนั้นก็ดับ เดี๋ยวก็ความอยากอย่างอื่นมาเกิดแทน นี้อย่างโลกๆ อีกพวกหนึ่งมีตัณหาขึ้นมา มีกิเลสขึ้นมา ก็ไปนั่งสมาธิ จิตสงบลงไปตัณหาหยาบๆ กิเลสหยาบๆ ก็หายไป กลายเป็นตัณหาละเอียด แต่มองไม่ออก แต่การที่รู้แจ้งแทงตลอดลงไปที่ตัวจิต ว่าจิตมันไม่เที่ยง จิตมันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตเป็นของบังคับไม่ได้ พอรู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ มันจะปล่อยวางความยึดถือจิตได้

เพราะฉะนั้น “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” แจ่มแจ้งนั้นแจ่มแจ้งอย่างไร แจ่มแจ้งว่าจิตคือตัวทุกข์ ทุกข์แบบไหนบ้าง ทุกข์เพราะไม่เที่ยง จิตดีวิเศษแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่เที่ยง จิตผู้รู้ที่เราฝึกกันแทบเป็นแทบตาย ได้ผู้รู้มา สุดท้ายจิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยง จิตทั้งหลายเป็นทุกข์ด้วยการถูกบีบคั้น การเห็นทุกข์ของจิตเห็นได้ 3 มุม เห็นเพราะมันทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยงก็ได้ เห็นทุกข์เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลาย อย่างจิตผู้รู้ มีผู้รู้ขึ้นมา ผู้รู้ก็ถูกบีบคั้นให้กลายเป็นผู้หลง ให้ต้องไปดิ้นรนทำงาน กลายเป็นผู้คิดบ้าง ผู้เพ่งบ้าง มันทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ตลอด หรือเราเห็นว่าตัวจิตเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เห็นในมุมใดมุมหนึ่ง จิตก็จะปล่อยวางจิตได้ ก็จะเข้าถึงนิโรธ ความดับสนิทแห่งทุกข์

หลักที่หลวงปู่ดูลย์สอนจริงๆ เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นบางคนได้ยินว่าดูจิตๆ ก็ไปนั่งดูจิต ดูอย่างนั้นไม่ถูกหลักหรอก หลวงพ่อเขียนหนังสือมาเล่มหนึ่งเรื่อง “แก่นธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์” เขียนมาทีแรก โอ๊ย บางคนมาอ่านจะคลุ้มคลั่งตาย โมโหโทโส โกรธหลวงพ่อแทบเป็นแทบตาย โอ๊ย ไม่ถูก อย่างนี้ไม่ถูก ดูจิตมันต้องดูจิตให้ว่างๆ นี้มาดูจิตทำงาน เห็นจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ดูจิตหรอก อันนี้หลง หลงอาการของจิต ก็หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ดูลย์มาแบบนี้ หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อมาแบบนี้ ไม่ได้สอนให้ทำจิตให้ว่าง อันนั้นมันเด็กเล่นแล้ว ทำจิตให้ว่างๆ ไม่คิดไม่นึกอะไร เข้าอรูปฌานจิตมันก็ว่างๆ แล้ว

จิตเข้าอรูปฌาน เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร จิตมันมีความปรุงแต่ง 3 แบบ ปรุงดีเรียกว่าปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่วเรียกอปุญญาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง ทำจิตว่างๆ เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ส่วนใหญ่ก็คือพวกอรูปฌาน ความปรุงแต่งของจิตทั้ง 3 ชนิด มาจากรากเหง้าอันเดียวกันคืออวิชชา เพราะฉะนั้นที่มาสอนกัน ทำจิตให้ว่างๆ อันนั้นทำไปด้วยอวิชชา จะทำลายอวิชชาก็ต้องมีวิชชา วิชชาคือรู้แจ้งอริยสัจ รู้ว่าขันธ์ 5 มันเป็นทุกข์ พอรู้ว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์ มันก็หมดความยึดถือในขันธ์ 5 ในขณะนั้นตัณหาทั้งหลายถูกทำลายไปแล้วไม่เกิดอีก แล้วการรู้ทุกข์ก็จะละสมุทัยในขณะนั้นเลย คือละตัณหาในขณะนั้นเลย แล้วก็แจ้งนิโรธในขณะนั้นเลย เห็นพระนิพพานในขณะนั้น แล้วก็เกิดอริยมรรคในขณะนั้น

เพราะฉะนั้นการรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญอริยมรรค เกิดขึ้นในขณะจิตเดียว โดยอาศัยการที่เราหัดภาวนาเข้ามาที่จิตที่ใจนี้ หลักที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน ที่หลวงพ่อเรียนมาได้ อุปัชฌาย์หลวงพ่อท่านถึงบอก ว่า ก็เห็นหลวงพ่อนี่ล่ะที่สืบทอดคำสอนอันนี้มาได้ หลวงพ่อก็มาบอกต่อพวกเรา ก็ทำเอา แต่ไม่ใช่ทุกคนพรวดพราดมาดูจิต บางคนพยายามจะดูจิต หาจิตไม่เจอ มันต้องมีจิตที่ตั้งมั่น ต้องฝึกให้ได้สมาธิก่อน การดูจิตที่หลวงปู่ดูลย์เรียนมาจากหลวงปู่มั่น แล้วหลวงพ่อไปเรียนมาจากท่านมาอีกที เป็นการดูจิตในขั้นของการเจริญวิปัสสนา ในขั้นเจริญปัญญา มันจะครอบคลุมสติปัฏฐานทั้งหมดไว้เลย

สติปัฏฐาน 4 ถ้าเราดูจิต จิตเราสุข จิตเราทุกข์ จิตเราดี จิตเราชั่ว เกิดจากอะไร อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ร่างกายนี้ล่ะ อาศัยรูปไปกระทบอารมณ์ พอไปกระทบอารมณ์ก็เกิดเวทนา แล้วก็มีสัญญาเข้าไปแปล เข้าไปหมาย เกิดความปรุงแต่งให้ค่าขึ้นมา ก็เลยเกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ขึ้นที่จิต นี้กระบวนการที่จิตใจมันทำงานเป็นอย่างนี้ เรียนลงไป ค่อยๆ สังเกตเอา ถ้าเรายังดูจิตไม่ออก ไม่ต้องพยายามดู ตรงพยายามดูจะไม่เห็นหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “ใช้จิตแสวงหาจิต อีกกัปหนึ่งก็ไม่เจอ” คือดูไปจนโลกแตกก็ยังไม่เจอเลยเพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปเที่ยวหา จิตของเราเป็นอย่างไร จิตของเราอยู่ตรงไหน ไม่ต้องไปหามัน เพราะบอกแล้วว่าจิตไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง เราจะไปหาของที่ไม่มีตัวตน ไปหาได้ที่ไหน มันหาไม่ได้

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรู้วิธี ค่อยๆ ฝึกของเราไป ค่อยๆ สังเกตไป อย่างขณะนี้จิตเราสุขหรือจิตเราทุกข์ หรือจิตเราเฉยๆ อันนี้ทุกคนรู้ได้ แต่ว่าทุกคนละเลยที่จะรู้ อย่างเราไปเห็นผู้หญิงสวยๆ สักคน จิตเรามีความสุขแล้ว อิ่มเอิบพออกพอใจเห็นสาวงาม เราก็มัวแต่ดูสาวงาม เราไม่ดูว่าจิตกำลังมีความสุข แล้วในความสุขนั้นจิตมีราคะแทรกอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะดูจิตดูใจ มันก็ไม่ได้ยากเกินไป หัดไปตามลำดับ อยู่ๆ จะไปดูตัวจิต มันดูไม่ได้ มันไม่มีอะไรให้ดู

 

ถ้าเข้าใจจิตตนเอง ก็จะเข้าใจธรรมะทั้งหมด

เราสังเกตตัวเองเอา ขณะนี้จิตใจเราสุข หรือจิตใจเราทุกข์ หรือจิตใจเราเฉยๆ ลองสังเกต 3 อย่างนี้ดู บางทีเราเห็นรูปอย่างนี้จิตเราก็มีความสุข บางทีเห็นรูปนี้จิตเราก็ทุกข์ บางทีเห็นรูปอย่างนี้จิตเราก็เฉยๆ อย่างสมมติเรานั่งรถไปตามถนน นั่งรถไปแล้วเราไปเห็นบางบ้าน หน้าบ้านเขาแต่งดอกไม้สวยงาม เราได้อารมณ์ที่ถูกใจ เรามีความสุข นี่จิตมันเปลี่ยน ก็อย่ามัวแต่ดูดอกไม้สวย เราก็เห็นเลย จิตมีความสุขเกิดขึ้น แล้วก็มีความพอใจตามมา ความรักใคร่พอใจก็คือตัวราคะ มันตามสุขมา หรือเรานั่งรถต่อไปอีกหน่อย โอ๊ย เจอกองขยะเยอะแยะเลย อยู่ริมถนน เรากระทบอารมณ์ที่ไม่ถูกใจเลย เห็นแล้วอึดอัด ไม่ชอบ ตัวนั้นจิตเรามีความทุกข์เกิดขึ้น ไม่อยากเห็นอันนี้ มันทุกข์ ในความทุกข์ก็มีโทสะแทรกอยู่ นั่งรถไปเห็นคนอยู่ข้างถนนเราก็ไม่รู้จัก สวยก็ไม่สวย น่าเกลียดก็ไม่น่าเกลียด ดาดๆ ดื่นๆ เพลนๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ พอตาเรามองเห็นก็ผ่านๆๆ ไป ใจเราเฉยๆ ไม่ได้ชอบ ไม่ได้เกลียดอะไร เราก็รู้ว่าใจเราเฉยๆ

คนทั่วไปพอเห็นของที่ชอบ ก็มัวแต่ดูของที่ชอบ เห็นของที่ไม่ชอบก็มัวแต่ดูของไม่ชอบ ถ้าเห็นอะไรที่เพลนๆ ก็หลงไปเลย ลืม มัวแต่ไปคิดโน้นคิดนี้เพลินๆ ไป ย้อนกลับเข้ามาที่จิตใจตัวเอง ต่อไปนี้เราเห็นดอกไม้สวยงาม เรามีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข เราชอบรู้ว่าเราชอบ เราเห็นกองขยะ หรือเห็นหมาถูกรถทับเละเทะอยู่ เราไม่ชอบ เราก็รู้ใจเราไม่มีความสุข เราก็รู้ ใจเราไม่ชอบ ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น มีโทสะเราก็รู้เอา นั่งรถไปเห็นคนธรรมดาเพลนๆ ไม่สวยไม่น่าเกลียดอะไร เฉยๆ ก็รู้ว่าเฉยๆ แล้วใจเราหลงไปคิดเรื่องอื่น รู้ทันว่ามันหลงไป

หัดอย่างนี้ หัดมาจากการดูเวทนา ถัดจากการดูเวทนา หัดอย่างอื่นได้ไหม ได้ ดูจากสังขารก็ได้ อย่างเมื่อกี้หลวงพ่อพูด เวทนากับสังขารควบกันไป สังขารก็คือความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างพอเราเห็นผู้หญิงสวย เห็นแล้วสบายตา ใจเราก็คิดก็เกิดความคิดขึ้นมา สวยจังเลย ชอบ มันมีการให้ค่าเกิดขึ้น ราคะมันก็เกิด ราคะมันตามหลังกามวิตก การตรึกในกาม มันตามหลังกันมา เพราะฉะนั้นเวลาอย่างถ้าเราเห็นผู้หญิงสวย แต่เรากำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ ราคะก็ไม่เกิด เราเห็นผู้หญิงสวยเราก็คิด โอ้ สวยจังเลย ไม่รู้ทำบุญไว้ด้วยอะไร สวยเหลือเกิน อย่างนี้ถ้ามาเป็นแฟนเราจะมีความสุขมาก ใจมันคิดไปในกาม คิดไปในทางรักใคร่ผูกพัน ราคะมันก็เกิด

คนมาด่าเรา สมมติมีใครมาด่าแม่เรา ปรากฏว่าเราก็ได้ยินเสียงเขาด่า ก็นึกว่าเพื่อนสนิทของเราร้องทักทาย เราไม่โกรธ พอหันไปเห็นหน้า เฮ้ย นี่มันศัตรูเรา มาด่าเราอย่างนี้ เราคิดแล้ว มึง มาด่ากู โกรธเลย ฉะนั้นโทสะมันก็ตามหลังพยาบาทวิตกมา หรือเราขับรถอยู่ถูกคนปาดหน้า ตอนที่มันปาดหน้าเรา เรากำลังคิดเรื่องอื่นอยู่ ไม่ทันสนใจมัน ก็ไม่โกรธ แต่ถูกขับรถปาดหน้า เราก็คิด แหม มันรีบร้อนไปไหน นิสัยเสีย เอาเปรียบคนอื่น เริ่มวิจารณ์อย่างนี้ เดี๋ยวเดียวโทสะก็เกิดเลย

กระบวนการที่จิตใจมันปรุงกิเลสขึ้นมา สัญญาเข้าไปหมายรู้ เฮ้ย อย่างนี้ไม่ดี อย่างนี้ไม่ถูก โทสะก็ขึ้น ค่อยๆ สังเกตเอา แล้วเราก็จะพบว่าจิตเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงเวลามีผัสสะ คือการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอกระทบอารมณ์แล้วก็เกิดเวทนา มีผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดเฉยๆ พอมีเวทนา มีการหมายรู้ลงไป แล้วก็ให้ค่า แล้วก็อะไรเกิด สังขารเป็นตัวปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา

ถ้าเราสังเกตให้ดี สังขารมันเป็นลูกของเวทนาและสัญญา อาศัยเวทนาและสัญญานั่นล่ะ เราก็จะปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา อย่างพอเราเห็นผู้หญิงสวย ถ้าเราไม่คิด ไม่หมายรู้ ไม่สนใจ มันก็เฉยๆ แต่ถ้าเราไปหมายรู้ สวยเหลือเกิน เรียกว่าหมายรู้แบบสุภสัญญา สวยเหลือเกิน ราคะก็แทรก เห็นไหมราคะ โทสะ โมหะ กิเลสเป็นสังขาร เป็นเจตสิกชนิดที่เรียกว่าสังขารขันธ์ มันก็เป็นลูกของสัญญาและเวทนา ฉะนั้นบางทีพระพุทธเจ้าท่านก็สอน อะไรชื่อว่าจิตตสังขาร อะไรเป็นชื่อว่าจิตตสังขาร สิ่งที่เรียกว่าจิตตสังขาร หมายถึงสัญญาและเวทนา ก็ทำให้สังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วนั้น เกิดขึ้นในจิต

 

“ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ อยากถึงที่สุดแห่งทุกข์
สามารถปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้
ก็ต้องเรียนรู้สติปัฏฐาน ไม่มีทางอื่นนอกจากสติปัฏฐาน
แต่ว่าตอนเรียนสติปัฏฐาน แล้วตัดตรงเข้ามาถึงจิตเลย ลัดสั้นหน่อย
บางคนตัดตรงเข้ามาที่จิตไม่ได้ก็อ้อมๆ ไปก่อน”

 

หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียนสิ่งเหล่านี้จากหลวงปู่มั่น ท่านมาดูอยู่ไม่กี่เดือน ท่านก็รู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของอริยสัจ รู้ว่าจิตนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ปล่อยวางจิตได้ แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก ท่านเคยบอกว่า “จิตถึงที่สุดแล้ว ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” เข้าไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมคือว่าง แล้วก็ปัญญาแก่รอบแล้ว ต่อไปนี้ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งมันได้อีกแล้ว ของเรา จิตของเรายังมีอวิชชา ยังมีความโง่ ก็ยังถูกปรุงแต่งได้อยู่ ปรุงแต่งได้ 3 แบบ บอกแล้วปรุงดีก็ได้ ปรุงดีก็เกิดมาจากอวิชชา ปรุงชั่วก็เกิดจากอวิชชา ไปทำจิตให้ว่างก็เรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ปรุงว่างๆ ก็เกิดจากอวิชชา

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากพ้นทุกข์ อยากถึงที่สุดแห่งทุกข์ สามารถปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้ ก็ต้องเรียนรู้สติปัฏฐาน ไม่มีทางอื่นนอกจากสติปัฏฐาน แต่ว่าตอนเรียนสติปัฏฐาน แล้วตัดตรงเข้ามาถึงจิตเลย ลัดสั้นหน่อย บางคนตัดตรงเข้ามาที่จิตไม่ได้ก็อ้อมๆ ไปก่อน เรียนกาย เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตเป็นคนรู้กาย เห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตเป็นคนรู้เวทนา เห็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตเป็นคนรู้สังขาร สุดท้ายมันก็จะเข้ามาที่จิตได้เหมือนกัน แต่ก็ไปอ้อมที่เจตสิก ไปให้ความสำคัญอยู่ตรงนั้นก่อน เพื่อจะได้เห็นจิตเกิดดับ

แต่ถ้าเห็นจิตเกิดดับแล้ว เหลือนิดเดียวเอง เหลือนิดเดียว เหลือจิตขณะนี้เป็นจิตรู้ จิตขณะนี้เป็นจิตหลง เหลืออยู่แค่นี้เอง มันคือ 010101010 นั้นคือจิตดั้งเดิม 01 คือมีความปรุงแต่งบวกเข้ามาแล้ว ฉะนั้นถ้าภาวนา ทีแรกก็อาจจะรู้กาย รู้เวทนา รู้โน้นรู้นี้มาก่อน จนกระทั่งจิตมันมีกำลัง มันวางๆๆ ตัวอื่นหมด แล้วเข้ามาที่จิต แล้วเราจะเห็นมันเป็นระบบนี้เลย 0101 ว่างแล้วก็ปรุง ว่างแล้วก็ปรุง มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี ถ้าเข้ามาถึงตรงนี้ การภาวนาไม่มีอะไรมากแล้ว นิดเดียวเลย คือแตกหักกันลงที่จิตนั่นเอง เข้าใจขึ้นมา จิตจะเป็น 0 หรือ 1 ก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

เขาเรียกระบบดิจิทัล 0101 เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เกิดดับๆๆ อยู่อย่างนั้น จิตรู้กับจิตหลง จิตรู้กับจิตหลง เกิดดับสลับกันไป แล้วปรุงต่างๆ นานาขึ้นมา ที่จริงไม่มีอะไรเท่าไรหรอก เห็นมันเกิดดับไป จิตรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ จิตคิดก็คือจิตหลงคิด จิตไปดูก็คือจิตหลงดู จิตถลำไปฟังก็คือจิตหลงฟัง จิตจะทำกรรมฐานหลงไปเพ่ง ก็คือจิตหลงเพ่ง เติมคำว่า “หลง” ลงไปได้เลย ถ้าเกินจาก “รู้” ก็คือ “หลง” แล้ว ฉะนั้นเราค่อยๆ ภาวนา ถ้าตัดตรงเข้าที่จิตใช้เวลาไม่มาก

มีในประวัติหลวงปู่ดูลย์ จริงๆ แล้วท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น แล้วตอนที่หลวงปู่มั่นสอนท่าน หลวงปู่มั่นอยู่ที่อุบลฯ หลวงปู่มั่นตอนหลังออกจากอุบลฯ แล้วไปแตกหักในการภาวนาที่เชียงใหม่ ในขณะที่หลวงปู่ดูลย์เรียนจากหลวงปู่มั่น แล้วออกภาวนา แล้วกลับมาหาหลวงปู่มั่น ตั้งแต่หลวงปู่มั่นยังอยู่อุบลฯ เร็วมาก หลวงปู่มั่นเจอกับหลวงปู่ดูลย์รอบหลัง ไม่มีอะไรต้องคุยกันแล้ว ไม่มีธุระอะไร เหมือนหลวงปู่ดูลย์เจอหลวงปู่สาม 2 องค์เวลาท่านไปเยี่ยมกัน หลวงปู่สามก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์เหมือนกัน แล้วก็ไปเรียนกับหลวงปู่มั่น

หลวงปู่สามเรื่องของฌานสมาบัติ เก่ง ชำนิชำนาญมาก แล้วเป็นพระที่ไม่พูด เงียบอยู่ทั้งวัน ไม่พูดหรอก ไปอยู่กับท่าน ถ้าเราไม่ถามอะไร ท่านก็เงียบๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ก็ไม่ค่อยพูด แล้ว 2 องค์มาเจอกัน ไม่พูดกับไม่พูดมาเจอกัน ไปเยี่ยมกัน หลวงปู่สามมาเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์ มากราบอาจารย์ ก็นั่งเงียบๆ อยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมง แล้วก็ค่อยลงกราบหลวงปู่บอก “ผมไปแล้ว” หลวงปู่ดูลย์ก็พยักหน้า อือ อุปัชฌาย์หลวงพ่อก็ถามว่าทำไมไม่คุยกันเลย ท่านบอกว่า “มันไม่มีธุระจะต้องคุย” พวกเราทำไมธุระที่ต้องคุยมันเยอะนักก็ไม่รู้ คุยทั้งวันเลย รุ่นครูบาอาจารย์ท่านภาวนากันอย่างนั้น สู้ตาย ไม่ตามใจกิเลส

ถ้าเข้าใจจิตตนเอง ก็จะเข้าใจธรรมะทั้งหมด หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกหลวงพ่อว่า “ธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง” แต่เป็นจิตระดับพระพุทธเจ้า ธรรมะนี้จะถ่ายทอดออกมา ถ้าจิตพวกเราธรรมะไม่ค่อยถ่ายทอด สิ่งที่ถ่ายทอดส่วนมากเป็นอธรรม ถ่ายทอดแต่เรื่องวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ฉะนั้นตั้งอกตั้งใจภาวนา ถือศีล 5 ไว้ก่อน ทุกวันทำในรูปแบบ อยู่ๆ จะเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ทำในรูปแบบเลย ส่วนมากทำไม่ได้หรอก กำลังของจิตไม่พอ กำลังสมาธิไม่พอ อย่างมากมันจะไปคิดเรื่องจิต ไม่สามารถดูจิตได้

 

ศีลต้องรักษา ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ เจริญสติในชีวิตประจำวัน

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกในรูปแบบ วิธีฝึกในรูปแบบที่ลัดสั้นเลย ก็คือทำกรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง เช่น เราพุทโธๆๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ว่าจิตหนีไปคิด พุทโธๆ จิตถลำไปอยู่ในความว่างแล้ว รู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่งความว่างแล้ว หรือเรารู้ลมหายใจอยู่อย่างนี้ จิตหนีไปคิดเราก็รู้ แล้วก็หายใจไป ไม่บังคับ ไม่บังคับการหายใจ หายใจเป็นปกตินี่ล่ะ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า จิตมันหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตมันถลำลงไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน ฝึกอย่างนี้เยอะๆ จิตจะได้ทั้งสมาธิ แล้วจะได้สติรู้ทันจิตด้วย เพราะว่าเราสังเกตไปเรื่อย จิตขยับเขยื้อนอะไรนี้เราเห็น เราไม่ได้ไปบังคับให้นิ่ง

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป พุทโธ หายใจ อะไรก็ทำไป หรือดูท้องพองยุบก็ได้ อะไรก็ได้เหมือนๆ กันหมด พอทำไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่ง รู้ทัน หัดรู้อย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นจิตตัวเองได้ชัด จิตขยับนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว จิตจะปรุงอะไรนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว ฉะนั้นเราต้องทำในรูปแบบทุกวัน ทำกรรมฐานไว้ ถ้าไม่ทำเลย จิตจะฟุ้งดูอะไรไม่ได้หรอก แล้วเวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันทำอย่างไร มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นกระทบรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจกระทบความคิด ให้มันกระทบ แต่พอกระทบแล้วจิตใจเรากระเทือนขึ้นมา จิตใจเราปรุงสุข ปรุงทุกข์ขึ้นมา รู้ทัน จิตใจเราปรุงดีปรุงชั่วขึ้นมา รู้ทัน

หัดรู้อย่างนั้นล่ะ ที่เรียกว่าเจริญสติในชีวิตประจำวัน ที่จริงเรารู้อยู่ที่จิต แต่เราให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานไปตามธรรมชาติ แต่พอมันทำงานไปกระทบอารมณ์แล้ว เกิดอะไรขึ้นกับจิตใจเรา รู้ทัน นั่นล่ะคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่จะทำอะไรทีก็กำหนดไปเรื่อยๆ นั่นปรุงแต่งอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว จะทำอะไรก็ยืดๆ ผิดมนุษย์มนา ไม่ใช่การปฏิบัติอะไรหรอก อันนั้นเป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ปรุงดี ปรุงเป็นคนดี มันก็อวิชชานั่นล่ะ มาจากอวิชชา

ฉะนั้นเราทำ 3 อัน ศีลต้องรักษา ทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบ คือทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตประจำวัน เราเคยฝึกซ้อมรู้ทันจิตตัวเองมาแล้ว ในการฝึกในรูปแบบ พอมาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะมีกำลังที่จะดูจิตใจตัวเองได้ เพราะมันเคยเห็นจิตทำงานมาแล้ว จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ จิตหลงไปทางตาก็รู้ จิตหลงไปทางหูก็รู้ จิตหลงไปทางความคิดก็รู้ มันเคยซ้อมมาแล้ว พอมาอยู่ในชีวิตจริง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว จิตหลงไปทางไหน สติระลึกรู้ทันจิต ที่เดียวเลย แต่ไม่ใช่นั่งเฝ้าอยู่ที่จิต

หลักธรรมชนิดนี้ไม่ใช่ของประหลาด สมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว หลวงพ่อเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ “ทางเอก” ใครยังไม่มี ก็ลองไปขอที่มูลนิธิฯ ไม่รู้มีไหม ลองไปขอเขาดู มีอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องพระโปฐิละ พระใบลานเปล่า พระโปฐิละเป็นพระที่เรียนปริยัติ แตกฉานพระไตรปิฎกมากเลย ใครถามธรรมะข้อไหนตอบได้หมดเลย แต่ไม่เคยภาวนา แล้วท่านก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีไร โดนพระพุทธเจ้าแซวทุกที บอกพระโปฐิละๆ โปฐิละเป็นฉายา ไม่ใช่ชื่อท่าน ชื่อจริงอะไรก็ไม่รู้ แต่ใครๆ ก็เลยเรียกตามพระพุทธเจ้าว่าโปฐิละ แปลว่าใบลานเปล่า คัมภีร์ที่ไร้ตัวหนังสือ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คัมภีร์ที่ว่างเปล่า

ท่านอายถูกเรียกอย่างนี้ท่านอาย ท่านก็เลยหนีออกจากเมือง เข้าไปอยู่ที่วัดในป่า เข้าไปหาอาจารย์ใหญ่บอก “ขอช่วยสอนกรรมฐานผมหน่อย” อาจารย์ใหญ่บอก “ไม่เอา สอนไม่ได้หรอก ท่านเก่งกว่าผมอีก รู้หมดแล้ว” ท่านก็ไปถามพระรองๆๆ ลงไป ไม่มีใครยอมสอนท่าน จนถึงเณร เณรอายุ 7-8 ขวบ เณรบอก “สอนให้ก็ได้ แต่ท่านต้องเชื่อฟังคำสั่ง” คล้ายๆ เรื่องอิกคิวซังอย่างไรก็ไม่รู้ บอก “ต้องเชื่อนะ” ท่านบอก “เชื่อก็เชื่อ” จะเชื่อฟังอาจารย์ อาจารย์เณรสั่งอะไรจะเชื่อเลย ตอนนั้นท่านยืนคุยกันอยู่ริมน้ำ เณรก็สั่ง “ท่านอาจารย์ลงน้ำไปเลย” ทั้งๆ ที่ใส่จีวรอย่างดี ผ้าอย่างดีเลย ท่านก็ใจเด็ดจริงๆ ท่านก็ก้าวลงน้ำจริงๆ เณรสั่งแล้ว

พอลงไปน้ำยังไม่ทันถูกชายจีวรท่าน เณรก็บอก “หยุดก่อน” เณรก็ชี้ให้ดูบอก “มันมีจอมปลวกอยู่ริมตลิ่งนี้เห็นไหม” จอมปลวกนี้เป็นจอมปลวกร้างแล้ว ไม่มีปลวกแล้ว ข้างในเป็นโพรง มันมีรู 6 รู มีเหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ เป็นรังของเหี้ย บอก “ท่านอาจารย์จะจับเหี้ยตัวนี้ ให้ท่านอาจารย์อุด 5 รูไว้ แล้วเฝ้าอยู่รูเดียวเดี๋ยวก็จับได้ แต่ถ้ามันมี 6 รู จะรออยู่รูนี้ มันก็หนีออกรูโน้น” พระโปฐิละท่านได้ยินแค่นี้ ท่านได้ความคิดแล้ว ท่านเข้าใจการปฏิบัติแล้ว รูทั้ง 6 ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 5 รูไม่ต้องใส่ใจกับมัน 5 รูแรกตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ทันอยู่ที่จิตอันเดียว รู้ทันอยู่ที่ใจอันเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอารมณ์ มันกระเทือนเข้าที่ใจเท่านั้น จะสุข จะทุกข์ จะดี จะชั่ว ก็อยู่ที่จิตเท่านั้นเอง บอกให้ “ท่านอาจารย์คอยรู้อยู่ที่ตรงนี้” ท่านภาวนาไม่นานก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง แล้วแตกฉานมาก

เพราะฉะนั้นหลักที่ว่าให้รู้ทันจิตตัวเอง ไม่ใช่ของใหม่ สมัยพุทธกาลท่านก็สอนกันแล้ว คำสอนพวกนี้มันเลือนไป มันกลายเป็นธรรมะเต็มตู้ แล้วเราก็ไม่รู้จะภาวนาอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านจับแก่นเข้ามาให้ จับเข้ามาที่จิตให้ เราก็เลยรู้ โอ้ ภาวนาไม่ยากหรอก ถ้าไม่ได้แก่นก็ยาก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ที่อุปัชฌาย์หลวงพ่อจะให้หลวงพ่อไปเทศน์ ก็ธรรมะของหลวงปู่อย่างนี้ แต่วันนี้หลวงพ่อมาเทศน์เสียก่อน เพราะไปทางโน้นมันเหลือคนปฏิบัติไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่ก็อยู่กันตามประเพณี มาเข้าวัดถือศีล กลางค่ำกลางคืนก็ฟังเทศน์ ฟังเอาบุญ ที่จะฟังเอาสาระแก่นสารแท้ๆ จริงๆ อะไรนี้ หายาก เพราะฉะนั้นเอาเรื่องนี้มาเทศน์ให้พวกเราฟังไว้ก่อน นี้ล่ะคือคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ ที่อุปัชฌาย์ท่านบอกว่า ก็มีแต่หลวงพ่อที่รักษาแนวทางนี้ไว้ได้

 

 

การภาวนามันไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอก รู้หลัก ก็ลงมือทำให้มาก นานๆ ทำทีมันก็ไม่ได้อะไร เพราะจิตไม่เคยหยุดทำงานเลย ถ้าเราไม่พามันทำดีๆ มันก็ทำชั่ว ฉะนั้นเราก็ฝึกของเราทุกวันๆ ให้มันเข้มแข็งไว้ นั่งอยู่เราก็สังเกตเห็นไหม เรานั่งอยู่ ตัวเราก็ยังอยู่นี่ล่ะ แต่จิตเราหนีไปที่อื่น หลงไปอยู่ในโลกของความคิด นั่งไปแล้วจิตหลงไป อยู่ในความคิดแล้ว รู้ทัน ซ้อมอย่างนี้บ่อยๆ แล้วต่อไปเราจะดูจิตในชีวิตประจำวันได้คล่องแคล่ว แบบที่พระโปฐิละทำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ จิตกระเทือน จิตไหว มันเห็นหมดล่ะ

แต่ว่าต้องอาศัยการซ้อมในรูปแบบ ทำได้วันหนึ่งสัก 2 – 3 รอบก็ดี ไม่จำเป็นต้องทำวันละรอบหรอก ตื่นเช้าขึ้นมา อาจจะตื่นให้เร็วขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็ทำในรูปแบบไป เช้าๆ ถ้าทำได้ก็จะเก่ง จะเก่งเร็ว เพราะเช้าๆ นี่ขี้เกียจ แล้วก็ใจแข็งลุกขึ้นมาภาวนาได้ ใจมันต้องเข้มแข็ง เช้าๆ ก็จะขี้เกียจ กลางวันจะขี้โมโห กลางคืนค่ำๆ Relax แล้วมักจะมีราคะ ตื่นเช้าก็ชอบงัวเงียๆ นั่นโมหะเอาไปกิน ตอนตื่นนอนโมหะก็ครอบงำ กลางวันโทสะก็ครอบงำ เย็นๆ ค่ำๆ ราคะก็ครอบงำ เลยสู้ไม่ได้เสียที มันโดนกิเลสย่ำยีทั้งวัน เราตื่นเร็วขึ้นนิดหนึ่ง

มาภาวนาอย่าให้จิตมันเซื่องซึม กลางวันแทนที่จะต้องลุยๆๆ ไปแล้วก็หงุดหงิดไปเรื่อยๆ มีจังหวะก็เบรกตัวเอง ทำกรรมฐานไป ทำกรรมฐานไปรู้ทันจิตไป กลับมาทำงานตอนบ่ายโทสะก็จะไม่ค่อยแรง คล้ายๆ มันเคยโดนเบรกมาแล้ว ตกเย็นตกค่ำกลับบ้าน ไม่ต้องไปเที่ยวที่อื่นหรอก มาภาวนา แล้วไม่ตามใจราคะ ไปสู้อย่างนี้ หลวงพ่อสู้มาก็สู้อย่างนี้ ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปเลย

บอกพวกเราเรื่อยๆ ว่าหลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง ครูบาอาจารย์หลวงพ่อเก่ง แต่หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อดีอย่างเดียว ทน อดทน ทำแล้วทำอีก ทำมันทุกวี่ทุกวัน ไม่เลิก ถ้าเราสู้ วันหนึ่งเราก็ชนะ ไม่สู้ก็ไม่มีวันชนะ ก็ต้องตกเป็นทาสกิเลสตัณหาตลอดไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 ธันวาคม 2565