ฝึกให้จิตมีแรงแล้วเดินปัญญา

เรียนธรรมะฟังอย่างเดียวไม่ได้ ไม่มีทางเข้าใจ เหมือนๆ จะเข้าใจ แต่ไม่มีทางเข้าใจ ต้องลงมือปฏิบัติไป ฟังธรรมะ ฟังเพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติ พอรู้แล้วก็ลงมือปฏิบัติ ก็ผิดๆ ถูกๆ ไป ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว เราจะเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดนั่นล่ะ อย่างเราอยากพ้นทุกข์ เราเรียนรู้จากสิ่งที่ไม่ดี คือเรียนจากทุกข์ เราอยากปฏิบัติให้ถูก เราก็เรียนจากสิ่งที่ผิด ทำอย่างนี้ก็ผิด ทำอย่างนี้ก็ผิด พอเรารู้แล้วต่อไปมันก็ไม่ผิด เพราะไม่ผิดมันก็ถูก ก็แค่นั้นเอง มันไม่ยากหรอก

วันนี้ว่าจะเทศน์แบบง่ายๆ หน่อย เทศน์เบื้องต้นสำหรับคนที่เริ่มหัด จะปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่ต้องมีคือศีล ถ้าไม่มีศีล จิตใจจะตกเป็นทาสของกิเลส สู้กิเลสไม่ไหว ฉะนั้นจะไปภาวนาลดละกิเลสอะไร มันแพ้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ฉะนั้นตั้งใจรักษาศีลไว้ อย่างน้อยศีล 5 ต้องมี จะถือศีลกี่ข้อก็ตาม แต่ศีล 5 ละทิ้งไม่ได้ จำเป็นที่สุดเลย ถัดจากนั้นเราก็เริ่มฝึกตัวเอง

การฝึกจิตใจมันมี 2 ขั้นตอน ขั้นฝึกให้จิตสงบมีเรี่ยวมีแรง กับฝึกให้จิตตั้งมั่น ฝึกให้จิตสงบก็คือฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ธรรมดาจิตเราวิ่งพล่านๆ ทั้งวัน เดี๋ยววิ่งไปคิด เดี๋ยววิ่งไปดู วิ่งไปฟัง วิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางร่างกาย จิตมันวิ่งตลอดเวลา มันก็เหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง คล้ายๆ ร่างกาย วิ่งๆ ไปเรื่อยๆ ก็หมดแรง ก็ต้องพัก จิตก็ต้องพักเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะต้องหัดกรรมฐาน ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน พอพักพอสมควรมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องออกไปทำมาหากิน

 

ฝ่าด่านของนิวรณ์ 5 ตัวด้วยกำลังของสมาธิ

ถ้าร่างกายพักพอสมควรมีแรงแล้ว ออกไปทำมาหากิน หาผลประโยชน์ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เราพักพอสมควรแล้ว ออกไปทำประโยชน์ ออกไปเจริญปัญญา นั่นล่ะหาของดีมาให้จิตใจ ปัญญามันเป็นอาหารชั้นเลิศของใจ ขั้นแรกเราก็ต้องฝึกให้จิตมันรู้จักหยุดเสียบ้าง ไม่อย่างนั้นวิ่งพล่านๆ ตลอดเวลา จิตก็ไม่มีแรง มันเหนื่อย เวลาจิตมันเหนื่อย เราจะรู้สึกจิตใจฟุ้งซ่าน หรือเบื่อหน่าย หมดเรี่ยวหมดแรง ท้อแท้ นิวรณ์มันจะเกิดขึ้น ทำงานขึ้นมาได้ เวลาจิตไม่มีกำลัง

ฉะนั้นตัวนิวรณ์มี 5 ตัว กามฉันทะ นิวรณ์ ความติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พยาปาทะ นิวรณ์ ความขัดเคือง ไม่พออกพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อุทธัจจกุกกุจจะ ใจเราฟุ้งซ่าน แล้วมันหงุดหงิด สมาธิก็ไม่มี ความลังเลสงสัย เรียกวิจิกิจฉา ทำอย่างไรดีๆ คิดแต่ว่าจะทำอย่างไร ทำอย่างไร ใจก็ฟุ้ง ใจไม่มีเรี่ยวมีแรง อีกอันหนึ่งก็ใจเซื่องซึม เกิดความเซื่องซึม เรียกถีนมิทธะ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝ่าด่านของนิวรณ์ 5 ตัวนี้ไป ด้วยกำลังของสมาธิ ถ้าจิตมีสมาธิ จะสามารถข่มนิวรณ์ได้ ล้างนิวรณ์ไม่ได้ ทำได้แค่ข่มมันไว้ ไม่ให้มันมีพิษสงขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึกให้จิตรู้จักหยุด ให้จิตรู้จักพักเสียบ้าง ไม่ใช่ปล่อยจิตร่อนเร่ทั้งวันทั้งคืน วิธีที่จะฝึกให้จิตรู้จักหยุด รู้จักพักนั้นก็คือการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อันใดอันหนึ่งก็ได้ที่เราถนัด ทำแล้วสบายใจ เราก็อยู่กับกรรมฐานอันนั้นไปเรื่อยๆ อย่างสมัยหลวงพ่อหัด หลวงพ่อใช้อานาปานสติบวกกับพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำอย่างนี้ ทำแล้วมีความสุข จิตใจมันก็ไม่หนีไปไหน

หัดทีแรกไม่ใช่แค่หายใจเข้าพุทออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับเลขด้วย พอจิตใจเราจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่ง ที่เราอยู่แล้วสบายใจ อย่างหลวงพ่ออยู่กับลมหายใจ พุทโธอะไรอย่างนี้ สบายใจ จิตมันก็ไม่หนีไปหาความสุขที่อื่น เหมือนเทียบกับคนก็คือ ในบ้านเรามีความสุข ลูกเราก็ดี ภรรยาเราก็ดี เราก็ไม่อยากตะลอนๆ ไปหาความสุขนอกบ้าน ถ้าใจเรามีกรรมฐานเป็นเครื่องอยู่ มีความสุข จิตใจก็ไม่ตะลอนๆ ออกไปหาความสุข ด้วยการดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส หรือหาสัมผัสทางร่างกาย มันมีความสุข มันก็ไม่ไปไหน ก็อยู่กับที่ เรียกอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

คนก็เหมือนกัน มีความสุขที่อยู่บ้าน ก็ไม่อยากไปซนที่อื่น ถึงเวลาก็กลับมาบ้าน มีความสุข จิตใจก็เหมือนกัน เราหาบ้านที่พอดี อยู่แล้วสบาย ให้จิตอยู่ เราไปเลือกเอาของเรา จะใช้กรรมฐานอะไรก็เอา สมถ กรรมฐานไม่เลือกอารมณ์ เอาแค่ว่าไม่ทำให้กิเลสมันแรงขึ้น ก็ใช้ได้แล้ว อย่างเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อยู่กับการเจริญเมตตา อยู่กับการคิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับการคิดถึงคนดี เรียกเทวตานุสสติ คิดถึงคนดีๆ คิดถึงความสงบ เรียกอุปสมานุสติ

บางทีใจเร่าร้อน กิเลสรุนแรง คิดถึงความตาย เราอยากรวยมากมาย รวยแค่ไหนพอตายไปก็เอาไปไม่ได้ อะไรอย่างนี้ ค่อยๆ สอนจิตใจไป พิจารณาไปไม่นานเราก็ตาย คนอื่นก็ตาย เราก็ตาย จะไปโกรธเขาทำไม ไม่นานก็ตายจากกัน จะไปหลงมากมายอะไรนักหนา ไม่นานก็ตายจากกัน ค่อยๆ สอนไป จิตก็สงบได้เหมือนกัน เราต้องไปดูตัวเองว่าทำอย่างไรแล้วจิตสงบ

 

อัปปนาสมาธิและอุปจารสมาธิ

การสงบมันก็มีหลายระดับ อย่างถ้าเราบริกรรมพุทโธๆๆ จิตมันก็สงบเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แต่ถ้าอย่างเราใช้ลมหายใจ เรารู้ลมหายใจ จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิระดับรูปฌาน อย่างถ้าเราเจริญเมตตา จิตเข้าถึงความสงบระดับอัปปนาสมาธิ แต่อยู่กับอรูปฌาน ความเมตตาไม่มีรูปร่าง เลยเป็นอรูปฌาน อย่างลมหายใจมีรูปร่าง ก็เป็นรูปฌาน แต่อย่างพวกบริกรรมอะไรพวกนี้ทั้งหลาย จะได้สงบระดับอุปจารสมาธิ

ถ้าเราทำอัปปนาสมาธิได้ เราก็ทำไป ถ้าจิตเราเข้าถึงอัปปนาสมาธิที่แท้จริง จิตมีแรงมาก มันทรงตัวอยู่ได้หลายวัน อย่างเข้าฌานไป ออกมาจิตตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ได้หลายวัน แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน ก็เสื่อม เพราะสมาธิมันก็ยังเป็นโลกียะ เป็นของเสื่อมอยู่ แต่ถ้าเป็นสมาธิที่ตื้นๆ กว่านั้น มันก็เสื่อมเร็วหน่อย อยู่ได้ไม่นาน เราก็เลือกเอา เราทำอะไรได้แค่ไหน เราก็เอาอันนั้น ไม่ต้องเอาอย่างคนอื่น

อย่างหลวงพ่อใช้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง ทำไปตั้งแต่ 7 ขวบ มันไม่ได้คิดมาก ท่านพ่อลีท่านสอนให้ทำก็ทำ ไม่คิดหรอกว่าทำแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น หายใจไปๆ พอจิตมันสงบแล้ว มันก็ทิ้งการนับเลข การนับเลขมันกลายเป็นภาระของจิต ทิ้งไปแล้วก็หายใจเข้าพุทออกโธเรื่อยๆ พอสงบลงไปอีกระดับหนึ่ง ก็ทิ้งพุทโธไป เหลือแต่การหายใจ แล้วสงบมากๆ มันก็ทิ้งลมหายใจไป กลายเป็นแสงสว่าง มันก็ทิ้งๆๆๆ ไป แล้วจิตก็รวม สงบ

หรืออย่างเจริญเมตตา เราก็นึกในใจไปเรื่อยๆ จะบริกรรมช่วยก็ได้ “เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา” “เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา” ทำความรู้สึกถึงความเมตตาในใจเรา แต่ถ้าไปท่องอยู่ที่คำบริกรรม “เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา” แล้วจดจ่ออยู่ที่คำบริกรรม จะสงบระดับอุปจารสมาธิ แต่ถ้าเราระลึกถึงความร่มเย็น ในจิตใจของเรา ความรู้สึกเป็นมิตรกับคนอื่น สัตว์อื่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราระลึกถึงความรู้สึกเป็นมิตรอยู่ แล้วบริกรรมไปด้วยก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ตรงความรู้สึกเป็นมิตรนั้นคือตัวเมตตา

ทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีปฏิภาคนิมิต บริกรรม “เมตตาฯ” ไป แล้วก็รู้สึกถึงความเมตตา จะไม่มีแสงมีเสียงอะไรหรอก ไม่เหมือนอย่างอานาปานสติ รวมลงไปแล้วเกิดปฏิภาคนิมิตเป็นดวงสว่าง กรรมฐานบางอย่างระดับอัปปนาสมาธิ บางอันมีปฏิภาค บางอันไม่มีปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตคือดวงสว่างขึ้นมา อย่างถ้ากสิณ 10 อย่าง ดูน้ำ ดูไฟ ดูอะไรอย่างนี้ จะมีปฏิภาคนิมิต แต่อย่างเจริญเมตตา เรารู้สึกถึงความเมตตาในใจเรา ระลึกไป บริกรรมด้วยก็ได้ มันรวม มันตัดเข้าทีเดียว เข้าไปถึงอรูปฌานเลย ว่าง สว่าง สบาย สงบ เยือกเย็น จิตถอนออกมาแล้วจะรู้สึกเย็นๆ ชื่นฉ่ำ สดชื่นมาก อันนี้เรื่องของสมาธิ

ถ้าเราทำระดับนี้ไม่ได้ เราก็ทำสมาธิที่ตื้นขึ้นมา ทำกรรมฐานแล้วบริกรรมไป “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” สวดมนต์สั้นๆ “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” อะไรอย่างนี้ก็ได้ จะ “นะ มะ พะ ทะ” “นโม พุทธายะ” อะไรก็ได้ บริกรรมไปเรื่อยๆ พอจิตใจมันไม่หนีไปจากการบริกรรม มันก็ได้ความสงบ ใจมันก็เริ่มสงบขึ้น จะรู้สึกสว่างเหมือนกัน สว่าง บางทีกำหนดแสงสว่าง ให้กว้างขวางออกไปก็ได้ ให้ย่อให้เล็กลงเท่าปลายเข็มก็ได้ พวกบริกรรมอะไรทั้งหลาย มันจะได้ความสงบระดับอุปจารสมาธิ

ถ้าตรงนี้ยังทำไม่ได้ ทำอย่างไร ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อันนี้มาตรการสุดท้ายแล้ว ถ้าอัปปนาสมาธิก็ทำไม่ได้ อุปจารสมาธิก็ทำไม่เป็น จิตไม่ไปทรงอยู่ ฝึกสมาธิชนิดหนึ่ง เรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิมี 3 ชนิด อัปปนาสมาธิ มันสมาธิสูงระดับฌาน อุปจารสมาธิ สมาธิกลางๆ ขณิกสมาธิคือจิตสงบเป็นขณะๆ พวกเราส่วนใหญ่ก็จะต้องใช้วิธีนี้ เพราะว่าพวกเราทำสมาธิที่ลึกกว่านั้นไม่ค่อยจะได้

 

“เข้าฌานไม่ได้ ทำอุปจารสมาธิไม่ได้ ก็ใช้ขณิกสมาธิ ไม่มีต่ำกว่านี้แล้ว”

คนยุคนี้เป็นพวกสมาธิสั้น ได้ยินใช่ไหมคำว่า “สมาธิสั้น” คือความใส่ใจ ความสนใจในอะไร ไม่ค่อยยาวนาน ไม่ค่อยต่อเนื่อง แวบเดียวก็เปลี่ยนเรื่องไปแล้ว อย่างบางคนสนใจมือถือ ดูทั้งวัน ถามว่าจิตมีอารมณ์อันเดียวไหม ก็ดูแต่มือถืออย่างเดียว ถ้าปิดเครื่องเสียแล้วก็ดูตัวมือถือ มันเป็นกสิณ อันนั้นอาจจะได้สมาธิระดับอัปปนาสมาธิ แต่ถ้าดูเนื้อหาของมัน จิตใจจะวอกแวกมากเลย อย่างข้อมูลข่าวสารอะไร ในอินเทอร์เน็ตมันเยอะมาก เวลาเราดูอันนี้ ดูข่าว ดูแค่หัวข้อก็ปัดไปดูอันอื่นต่อแล้ว แวบๆๆๆ ไปเรื่อยๆ นี่ล่ะสมาธิสั้น สั้นจุ๊ดจู๋เลย แวบเดียวก็เลิกแล้ว แวบเดียวก็เลิกแล้ว เรียนรู้อะไรที่ต่อเนื่องยาวนานไม่ได้แล้ว

ถ้าเราอยู่ในยุคของสมาธิสั้น เราก็ฝึกขณิกสมาธิ วิธีฝึกขณิกสมาธิ ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จะไม่เหมือนการทำระดับอัปปนาสมาธิ อย่างอัปปนาสมาธิ เราหายใจเข้าพุทออกโธ นับหนึ่ง พอละเอียดขึ้นมา สงบขึ้นมา การนับหายไป สงบมากขึ้น พุทโธหายไป สงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงอะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นขณิกสมาธิ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องล่อให้จิตใจเรามาอยู่ด้วย แล้วเวลาจิตมันหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน คอยรู้ทัน คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้เถอะ แล้วมันจะได้ขณิกสมาธิง่ายๆ เลย เช่น เรานั่งท่องพุทโธๆๆ ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบระดับอุปจารสมาธิ อันนั้นจดจ่ออยู่กับคำพุทโธๆ จะได้อุปจารสมาธิ อันนี้เราปรับนิดหนึ่ง เราพุทโธๆ แล้วคอยรู้ทันจิต พุทโธๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน ตรงที่จิตหนีไปแล้วเรารู้ทัน ขณิกสมาธิจะเกิดขึ้น คือสมาธิชั่วขณะจะเกิดขึ้น พอจิตหนีไปคิดปุ๊บรู้ปั๊บ อาการที่จิตเคลื่อนไปในโลกของความคิด จะดับทันที จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาทันทีชั่วขณะ ไม่นาน เดี๋ยวจิตก็ไหลอีก ไหลอีกรู้อีก ไหลอีกรู้อีกไปเรื่อย ก็จะได้สมาธิทีละขณะๆ

ทีแรกใช้เวลานานกว่าจะรู้ ไหลไปชั่วโมงแล้วรู้ เราฝึกทุกวันๆ ต่อไปพอไหลปุ๊บรู้ปั๊บ เราก็จะได้ขณิก สมาธิที่ถี่ยิบขึ้นมา พอจิตมันมีสมาธิถี่ยิบขึ้นมาแล้ว มันจะมีความรู้สึก สะสมไปเรื่อยๆ จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา แล้วตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ว่าง่อนแง่นคลอนแคลนเหมือนกัน มันไม่ได้ทนทานอยู่ได้ 7 วัน อย่างที่เข้าอัปปนาสมาธิหรอก อาจจะอยู่ได้ชั่วโมง 2 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้ ทำได้ นี้ถ้าเราอยู่กับเครื่องอยู่แล้ว ก็คอยรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ มันก็เลยอยู่ได้ทั้งวัน แต่ถ้าเราอยู่กับเครื่องอยู่ของเรา อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ แล้วรู้ทันจิตอย่างนี้ พอจิตสงบสบายแล้วเราก็เลิก ประเดี๋ยวเดียวมันก็กลับมาฟุ้งได้อีก

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำขณิกสมาธิ จะเอาดีด้วยวิธีนี้ มันวิธีสุดท้ายแล้ว ก็เข้าฌานไม่ได้ ทำอุปจารสมาธิไม่ได้ ก็ใช้ขณิกสมาธิ ไม่มีต่ำกว่านี้แล้ว ก็ทำกรรมฐานไปแล้วคอยรู้ทันจิต นานๆ ไปจิตก็จะมีกำลังขึ้นมา สามารถเดินปัญญาได้ ฉะนั้นต้องทำ ทำให้ได้ทุกวัน มีเวลาเมื่อไรทำเมื่อนั้น ไม่ต้องรอไปทำตอนก่อนนอน กลางวันมีเวลาเมื่อไรก็ทำกรรมฐานไป อย่างหลวงพ่อถ้าจะทำขณิกสมาธิ หลวงพ่อก็หายใจเข้าพุทออกโธ แล้วคอยรู้ทันจิตเอา ถ้าจะทำสมาธิที่ลึกกว่าขณิกสมาธิ ก็รู้ลมหายใจไป จนกระทั่งลมหายใจระงับ กลายเป็นปฏิภาคนิมิต มีวิตก วิจาร ปีติ สุข มีความเป็นหนึ่งอยู่

 

จิตตั้งมั่นแล้ว เจริญปัญญา เห็นไตรลักษณ์

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ แรกๆ อาจจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่พอทำสม่ำเสมอไปสักช่วงหนึ่ง สักเดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือน เราจะรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง จิตมันจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันจะรู้สึกตัวโดยที่ไม่ได้เจตนา ตรงนี้จิตเรามีความพร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว คือจิตมันตั้งมั่นแล้ว มีเรี่ยวมีแรง นี้บางคนพอจิตตั้งมั่น แล้วก็เลยพอใจอยู่แค่นั้น พอใจที่จะรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ

เมื่อก่อนก็มีคนกล่าวตู่หลวงพ่อ ชอบกล่าวตู่ว่าเรียนกับหลวงพ่อปราโมทย์ ไม่มีอะไร ดูจิตเฉยๆ ดูไปเรื่อยๆ อันนี้กล่าวตู่ ถ้ากล่าวให้ถูกก็คือ หลวงพ่อสอนบอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตหนีไปคิดแล้วรู้ หนีไปคิดแล้วรู้ หรือจิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานแล้วรู้ ไม่ได้สอนให้เฉยๆ พอจิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวได้โดยไม่เจตนาแล้ว มันถึงขั้นเจริญปัญญา สงบอยู่เฉยๆ ตั้งมั่นอยู่เฉยๆ มันก็เหมือนเราชาร์จแบตฯ มือถือ ชาร์จไว้จนเต็มแล้ว แล้วก็ไปทิ้งไว้อีกหลายๆ วันให้แบตฯ เสื่อมไป แล้วก็มาชาร์จใหม่

ถ้าทำสมถะมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ก็ต้องใช้ประโยชน์ อย่างเราชาร์จแบตฯ เต็มที่แล้ว เราก็ต้องไปใช้ประโยชน์จากแบตฯ ไม่อย่างนั้นจะไปชาร์จมันทำไม เสียเวลา

พอจิตเราตั้งมั่น พอสติระลึกลงที่กาย สังเกตลงไป ร่างกายที่กำลังหายใจอยู่นี้มันถูกรู้ ร่างกายที่นั่งอยู่นี้มันถูกรู้ ค่อยๆ ดูอย่างนี้ แล้วมันจะเห็นเลย ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จะเห็นชัดเจนเลย ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง แล้วถ้าดูได้ชำนิชำนาญ อย่าว่าแค่ร่างกายเลย โลกทั้งโลกมันก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่สิ่งที่จิตรู้เท่านั้นเอง จักรวาลทั้งจักรวาล มีดาวนับไม่ถ้วน ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง

ดูจิตตั้งมั่นขึ้นมา สติระลึกรู้กาย จะเห็นเลยกายไม่ใช่เรา กายเป็นของไม่เที่ยง กายเป็นของทนอยู่ไม่ได้ กายไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเห็นว่าร่างกายมันก็อันหนึ่ง ความสุขความทุกข์ในร่างกายก็อันหนึ่ง จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง เรามีปัญญาขั้นต้นแล้ว แล้วเราจะเห็นอีก ความสุขความทุกข์ในร่างกาย เป็นของไม่เที่ยง สุขๆ อยู่เดี๋ยวก็ทุกข์ได้

อย่างเวลาเราไปอยู่ในที่ร้อนๆ สมมติเราทำงานอยู่หน้าเครื่องจักรสักอันหนึ่ง มันร้อน พอเราหมดเวลาทำงาน เราเดินออกมานอกห้อง นอกโรงงาน อากาศข้างนอกเย็น หน้าหนาว แต่ในโรงงานร้อนมากเลย อยู่จากที่ร้อนๆ พอมากระทบอากาศเย็น โอ๊ย มีความสุขจังเลย ผ่อนคลาย ปรากฏว่าเย็นนานเกินไป เริ่มหายใจไม่ออก น้ำมูกไหล เริ่มอะไร รู้สึกไม่สบาย เวทนามันไม่คงที่เลย เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ ในร่างกายนี้

สังเกตไปเรื่อยๆ ก็จะเห็น เวทนามันก็ไม่เที่ยง สุขในร่างกายก็ไม่เที่ยง ทุกข์ในร่างกายก็ไม่เที่ยง สุขในร่างกายก็สั่งมันไม่ได้ ทุกข์ในร่างกายก็ห้ามมันไม่ได้ อย่างเรานั่งอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ปวด เดี๋ยวมันก็เมื่อย เดี๋ยวมันก็คันตรงนั้นตรงนี้ เราจะสั่งมัน จะควบคุมมัน ทำไม่ได้ อย่างนี้เราเริ่มเห็นเวทนาทางกาย มันไม่เที่ยง มันทนอยู่ไม่ได้ ในสภาวะอันใดอันหนึ่ง แล้วก็บังคับมันไม่ได้ เรียกว่าเราทำวิปัสสนา เราเจริญปัญญา เห็นไตรลักษณ์แล้ว

 

ถ้าสมาธิเราไม่พอ แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ

หรือเราดูเวทนาทางใจ ก็สามารถทำได้ เวทนาทางใจเป็นกรรมฐานที่ทำง่าย เวทนาทางกาย ต้องใช้กำลังของสมาธิมาก แล้วถ้าสมาธิไม่มีกำลังพอ ไปดูเวทนาทางกายไม่นาน สติแตกเลย อย่างเราไปทำฟัน มันหวาดเสียว หมอมาทำฟันเรา สมาธิเราไม่พอ โอ๊ย มันเจ็บ มันทุรนทุราย จิตใจกระสับกระส่าย ร่างกายเกร็งไปเกร็งมา ถ้ามีสมาธิ หมอให้เขาทำฟันไป เราก็อยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธไป ไม่ค่อยรู้สึกเจ็บหรอก ฉะนั้นตัวเวทนาทางร่างกาย เราจะผ่านได้ ถ้าจิตเรามีสมาธิมากพอ

แต่ถ้าสมาธิเราไม่พอ หลวงพ่อแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เวทนาทางใจดูไม่ยาก ขณะนี้จิตใจเราสุข หรือขณะนี้จิตใจเราทุกข์ หรือขณะนี้จิตใจเราเฉยๆ มี 3 อย่างเท่านั้นเอง เราคอยสังเกตใจของเรา ขณะนี้มันสุขหรือมันทุกข์ หรือมันไม่สุขไม่ทุกข์ มันเฉยๆ อยู่ หัดรู้หัดดูไป ถ้าจิตมันตั้งมั่นมีกำลังพอ สติระลึกรู้เวทนาในใจ เราจะเห็นมันไม่เที่ยง มันเกิดแล้วมันก็ดับ อย่างความสุขในใจ แป๊บเดียวก็ดับ ความทุกข์ในใจ ถ้าดูเป็นก็ดับทันทีเลย แต่ความสุขในใจ บางทีดูแล้วก็ดับ บางทีดูแล้วก็ไม่ดับ แต่ความทุกข์ทางใจ ถ้าดูเป็นดับทันทีเลย ทำไมมันเป็นอย่างนั้น

เวลาจิตใจเรามีความสุข จิตมันมี 2 ลักษณะ อันหนึ่งเป็นจิตที่มีราคะ อันหนึ่งเป็นจิตที่เป็นกุศล อย่างเราฟังธรรมะ จิตเราแช่มชื่นเบิกบาน เรามองลงไป เรารู้ว่าจิตมีความสุข มีความแช่มชื่นเบิกบาน มันไม่จำเป็นต้องดับ เพราะจิตดวงนี้มันเป็นกุศลอยู่ แต่อย่างจิตเราเบิกบาน เราเป็นพวกบ้ากาม ไปฉุดผู้หญิงมาได้ โอ๊ย จิตใจมีความสุข ถ้ามีสติรู้ลงไป จิตใจมีความสุขจากการบ้ากาม ตัวบ้ากามนี้ดับทันที ความสุขอันนั้นดับทันทีเลย เพราะว่าความสุขอันนั้น มันเกิดร่วมกับราคะ

ความสุขนี้เกิดได้ 2 แบบ อันหนึ่งเกิดร่วมกับราคะ ถ้าเรามีสติรู้ทันปั๊บ ดับทันที อันหนึ่งเกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล รู้แล้วไม่จำเป็นต้องดับ อย่างจิตใจเราอิ่มอยู่ในฌาน ทรงอยู่ในฌาน รู้อยู่อย่างนี้ อยู่ได้เป็นวันๆ ก็ไม่ดับหรอก ส่วนจิตที่มีความทุกข์ จิตที่ทุกข์เกิดร่วมกับโทสะเสมอ เพราะฉะนั้นจิตที่ทุกข์ รู้เลยเวลาจิตเรามีความทุกข์ ต้องรู้เลย ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ทันทีที่เรามีสติรู้ว่าจิตเป็นอกุศล มันดับทันที อย่างเรากำลังโกรธอยู่ เกิดรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่ ความโกรธจะดับทันทีเลย ความทุกข์ในใจที่กำลังมี ก็จะค่อยลดระดับแล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้นเรามาดูเวทนาทางใจ ค่อยๆ ดูไป ถ้าสติเราเกิด เวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลนั้นจะดับ แต่เวทนาที่เกิดร่วมกับกุศล ไม่จำเป็นต้องดับ โดยเฉพาะถ้าเป็นอุเบกขา อุเบกขามันทรงอยู่ได้ทีหลายๆ วันเลย ถ้าทรง จิตทรงสมาธิ ทรงฌาน ออกมาแล้วจะทรงความเป็นอุเบกขาอยู่ได้หลายวัน เราค่อยๆ ดูลงไป ไม่ว่าเวทนาทางใจ จะเกิดร่วมกับกุศล หรือเกิดร่วมกับอกุศลก็ตาม ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยง อย่างไรก็ไม่เที่ยง อย่างเวลาเรามาฟังธรรม จิตใจเราแช่มชื่นเบิกบาน พอเราไปฟังเรื่องอื่น ออกจากเรื่องฟังธรรม เราไปฟังเรื่องอื่น จิตใจที่แช่มชื่นเบิกบานก็ดับไป เปลี่ยนไปตามการกระทบอารมณ์

ฉะนั้นเวทนาทั้งหลายล้วนแต่ไม่เที่ยง เวทนาทั้งหลายทางใจ ล้วนแต่บังคับไม่ได้ เราสั่งให้จิตใจมีความสุขตลอดเวลา ทำไม่ได้ ห้ามจิตใจเป็นทุกข์ ห้ามไม่ได้จริง ห้ามได้ก็ห้ามได้แป๊บๆ เดียวก็เป็น แต่ก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี ตรงที่มันห้ามไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เรียกว่าอนัตตา ตรงที่เห็นว่ามันมีแล้วมันก็ไม่มี อันนั้นเรียกว่าอนิจจัง อย่างมีความสุขอยู่ แล้วก็เดี๋ยวความสุขหายไป มีแล้วก็ไม่มี อันนี้มันแสดงอนิจจัง เราค่อยๆ ดูไป หรือดูร่างกายก็เห็นมันทุกข์ มันไม่ใช่ตัวเรา จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนาในกาย ก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตตั้งมั่นอยู่ ระลึกรู้เวทนาทางใจ ก็เห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 

ธัมมานุปัสสนา

แล้วถ้าจิตยังตั้งมั่นอยู่ แล้วระลึกถึงกุศลอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ ก็จะเห็นกุศลอกุศลทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างเรากำลังโกรธอยู่ จิตเป็นอกุศล จิตมีโทสะ นี้จิตเราเกิดตั้งมั่นขึ้นมาปุ๊บ สติระลึกรู้ เห็นความโกรธ ความโกรธจะขาดสะบั้นต่อหน้าต่อตาเลย แสดงความไม่เที่ยงทันทีเลย แล้วประเดี๋ยวพอไปคิดเรื่องไม่ดีอีก ความโกรธก็เกิดขึ้นอีก นี้เราเห็น เออ เราไม่ได้เจตนาจะโกรธ จิตมันปรุงแต่งความโกรธขึ้นมาได้เอง แล้วพอจิตมันปรุงความโกรธขึ้นมาได้แล้ว ความโกรธนั้นกลับเข้ามาปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเร่าร้อนเหมือนหมาบ้า เที่ยวอาละวาดไปที่โน่นที่นี่

เรามีสติรู้ มีจิตตั้งมั่นคือมีสมาธิ พอสติระลึกรู้ลงไปในกุศล ในอกุศล จะเห็นอะไร จะเห็นว่ากุศลก็ไม่เที่ยง อกุศล โลภ โกรธ หลง ก็ไม่เที่ยง กุศลนั้นเราสั่งให้เกิดก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ อกุศลนั้นเราก็ห้ามมันไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เราเห็นอนิจจังบ้าง เห็นอนัตตาบ้าง แล้วแต่เห็นอันไหนเอาอันนั้นล่ะ ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องให้เห็นว่า เออ ครูบาอาจารย์เห็นอนัตตา เราต้องเห็นอนัตตา ไม่จำเป็น

หัดอย่างนี้เรื่อยๆ ไป แล้วต่อไปเราก็ดูละเอียดเข้าไปอีก ตัวจิตเองเดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เอาแน่เอานอนไม่ได้ ตัวจิตเองบางครั้งก็ถูกนิวรณ์ครอบงำ บางครั้งก็ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตบางทีก็ดี มีสติ บางทีก็ไม่มี บางทีก็มีความเพียร บางทีก็ไม่มี ขี้เกียจขี้คร้าน บางทีก็มีสมาธิ บางทีก็ฟุ้งซ่าน บางทีสงบระงับ บางทีกระเพื่อมหวั่นไหว บางครั้งเป็นอุเบกขา บางครั้งไม่เป็นอุเบกขา เราเฝ้ารู้ลงไป นี้เราเขยิบตัวขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราเห็นนิวรณ์ทั้งหลาย บางทีมีเหตุอย่างนี้มันก็เกิดนิวรณ์ตัวนี้ขึ้นมา ไม่มีเหตุนิวรณ์ตัวนั้นก็ดับ

โพชฌงค์ 7 เป็นองค์ธรรมฝ่ายกุศลชั้นเลิศ เริ่มแต่สติ บางทีสติก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก เราก็ต้องฝึก ทำอย่างไรสติจะเกิดบ่อย ธัมมานุปัสสนาจะไม่ใช่แค่รู้ ว่ามีสภาวะกุศลอกุศลเกิดหรอก เรารู้ลึกลงไปถึงราก ถึงเหง้า ถึงสาเหตุของมันด้วย อย่างสาเหตุของนิวรณ์แต่ละตัว เกิดจากอะไร สาเหตุขององค์ธรรมที่เรียกว่า โพชฌงค์ 7 ประการนี้ แต่ละตัวๆ เกิดจากอะไร อย่างสติเกิดจากจิตเห็นสภาวะบ่อยๆ จนจิตจำสภาวะได้แม่น รูปธรรม นามธรรมใดปรากฏ สติระลึกได้ปั๊บเลย

สติสัมโพชฌงค์มันเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นสติเพื่อจะได้ขับรถไม่ตกถนน พูดไม่ผิดพลาด อันนั้นไม่ใช่สติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ เป็นสติที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ เพื่อความพ้นทุกข์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดจากอะไร เกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง ได้พิจารณาไตร่ตรองในธรรมะ แล้วจิตมันก็คุ้นเคย ที่จะมองรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ในมุมของไตรลักษณ์ อย่างวิริยสัมโพชฌงค์เกิดจากอะไร เป็นความเพียร ไม่ใช่เพียรเพื่อเอาดี เอาสุข เอาสงบ แต่เพียรเพื่อพ้นทุกข์ เพื่อลดละกิเลส เพื่อการตรัสรู้

ถ้าถึงธัมมานุปัสสนา มันดูลงไป ทะลุลงไปถึงตัวเหตุของแต่ละอย่างเลย ขององค์ธรรมแต่ละตัวๆ อันนี้มันยากหน่อย แต่ว่าสักวันหนึ่ง เมื่อเราดูกาย ดูเวทนา ดูจิตไปเรื่อย มันก็จะขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนาได้ ทุกคน แล้วก็ธัมมานุปัสสนาที่ละเอียดที่สุด คือการเห็นอริยสัจ 4 เห็นปฏิจจสมุปบาท เหมือนอย่างที่เจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระอรหันต์ เพราะเจริญธัมมานุปัสสนาในสัจจบรรพ คือเห็นอริยสัจ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเพื่อความหลุดพ้น” ท่านก็เจริญเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่เจริญ บางคนบอก โอ๊ย บารมีท่านเต็ม ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ท่านบอกว่ามันเป็นทางสายเดียว มันก็ไม่มีทางสายที่ 2

ถ้าบอกว่าท่านไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วท่านบรรลุพระอรหันต์ ก็แสดงว่ามีทางสายที่ 2 ฉะนั้นคำพูดของท่านก็ใช้ไม่ได้ พูดถึงเจ้าชายสิทธัตถะ เราต้องระวังนิดหนึ่ง เวลาอ่านประวัติท่าน ตอนหัวค่ำท่านนั่งสมาธิทำอานาปานสติ พอจิตสงบมีกำลังแล้ว ได้อัปปนาสมาธิแล้ว ท่านระลึกชาติไป เพราะฉะนั้นบางคนบอก โอ๊ย เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระอรหันต์ เพราะทำอานาปานสติ ไม่ใช่ ไม่ใช่ทำอานาปานสติแล้วบรรลุพระอรหันต์

เจ้าชายสิทธัตถะท่านทำอานาปานสติ แล้วก็ระลึกชาติไป แล้วก็พบว่าไม่ใช่ทาง กำหนดดูสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไปเกิดที่ไหน แล้วก็พบว่าไม่ใช่ทาง อันนั้นเป็นผลของสมาธิ เป็นกำลังของสมาธิ แล้วตรงที่ท่านบรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะท่านย้อนมาดูปฏิจจสมุปบาท อะไรมีอยู่ ทุกข์ถึงมีอยู่ ชาติคือการที่จิตเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา พอหยิบฉวยขึ้นมาปุ๊บ ความทุกข์เกิดขึ้นทันทีเลย ท่านค่อยๆ ดูอย่างนี้ ทวนลงไปจนถึงอวิชชา ความไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ เพราะฉะนั้น ถ้าคนเขาถามเราว่า เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระอรหันต์โดยใช้กรรมฐานอะไร ก็ต้องบอกว่าท่านใช้ธัมมานุปัสสนาสัจจบรรพ รู้อริยสัจ

 

 

พวกเราก็เหมือนกันค่อยๆ ฝึกไป ขั้นแรกทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ เป็นเดือนๆ จิตจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา อย่างพระมาบวชอยู่กับหลวงพ่อ ตอนเป็นโยมว่า โอ้ ขยันภาวนา มาอยู่กับหลวงพ่อต้องมาเรียนเรื่องสมาธิใหม่ บางองค์เดือนหนึ่ง บางองค์ 2 เดือน 3 เดือน บางองค์ 3 ปี บางองค์ 7 ปี ความแก่อ่อนของอินทรีย์ไม่เท่ากัน แต่ต้องเรียนจนกระทั่งจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นแล้วไปเจริญปัญญาเอา จะให้จิตตั้งมั่นก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง

บางคนมีลักษณะเฉพาะ ก็ทำกรรมฐานที่ประณีตมากขึ้น อย่างบางองค์หลวงพ่อให้ดูกระดูก ดูลงไปที่กระดูก ดูจนเห็นกระดูกเลย เห็นกระดูกมันคือนิมิต นิมิตอันนี้เราก็เอามาใช้ทำกรรมฐานได้ ดูกระดูกลงไปเรื่อยๆ ทีแรกนึกๆๆ ถึงกระดูก จนกระทั่งเห็นกระดูก หลับตาลงไปมองเห็นกระดูก แล้วเสร็จแล้วค่อยดูต่อไป กระดูกมันจะค่อยๆ ใสขึ้นๆๆ สุดท้ายจิตมันรวมถึงอัปปนาสมาธิได้ มันรวมลงได้

เมื่อก่อนลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์มีอยู่องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่องาน หลวงพ่องานสิ้นไปนานแล้ว หลวงพ่องานท่านดูกระดูก เห็นไหม หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนทุกคนให้ดูจิต ท่านสอนลูกศิษย์ตามจริตนิสัย ท่านสอนหลวงพ่อดูจิต แต่หลวงพ่องานท่านให้ดูกระดูก เวลาเดินจงกรม ท่านก็เห็นร่างกายมันเดิน ทีแรกท่านดูกายนี่ล่ะ เห็นร่างกายเดินไปเดินมาๆ แล้วจิตรวมลงไป มีกำลังสมาธิขึ้นมา มันทะลุเนื้อลงไป มองทะลุเนื้อลงไปได้เลย คล้ายๆ มีตาที่ประณีตมากกว่าตาของพวกเรา ทะลุลงไปเห็นกระดูกของตัวเอง แล้วเวลาเดินจงกรม จิตมันสร้างนิมิตขึ้นมาอีก มีกระดูกโครงหนึ่งอยู่ข้างหน้า ข้างขวา ข้างซ้าย ข้างหลัง ตรงกลางนี้กระดูกของตัวเอง อีก 4 อันเป็นภาพนิมิตที่จิตสร้างขึ้นมา เวลาเดินไปไหนมีกระดูกล้อมไป ถ้าใครมีหูมีตาเห็นแล้วสะดุ้งเลย นึกว่าผีหลอก มีผีล้อมมา อันนี้เป็นเรื่องของสมาธิ

ส่วนใหญ่พวกเราเล่น อย่างเล่นอานาปานสติอะไร ในยุคนี้ส่วนใหญ่เข้ามาไม่ถึงฌาน หลวงพ่อก็เอาแค่ว่าให้ได้อุปจารสมาธิ แค่อุปจารสมาธินี้ บางทีฝึกกันหลายเดือน เพราะจิตใจมันเคยฟุ้งซ่านหนักหนาสาหัส กว่าจิตมันจะตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว เด่นดวงขึ้นมาได้ ใช้เวลา ก็เวลาหลงโลกสะสมมาตั้งหลายสิบปี เวลาที่จะภาวนาพ้นจากโลก จะเอาอะไรเร็วนัก จิตมันคุ้นเคยกับการหลงโลก ฉะนั้นอย่างบวชเข้ามาก็ใช้เวลา หลายคนใช้เวลาเป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 3 เดือน ถ้าไม่ดื้อ หรือถ้าไม่เคยติดสมาธิอย่างแรง

ถ้าเคยติดสมาธิมาก่อน เพ่งเก่ง โอ๊ย แก้กันนานเลย คนที่ไม่เคยฝึก ฝึกง่ายกว่าอีก พวกที่เคยทำสมาธิผิดๆ แก้ยาก ใช้เวลา บางทีแก้กันเป็นปีเลย พอสมาธิถูก ก็ไม่ให้อยู่เฉยแล้ว ระลึกลงไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึกไป ก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่เรา จิตใจก็ไม่ใช่เรา มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งกาย ทั้งใจนี้ล่ะ ถนัดรู้กายก่อนก็รู้กายไป ถนัดรู้จิตก็รู้จิตไป บางคนดูจิตๆ แล้วสมาธิตก แรงตก พอแรงตกดูจิตไม่ได้ หลวงพ่อบอกให้ไปดูร่างกายไว้ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก

คอยรู้สึกๆ ไป จิตจะสงบ แล้วพอจิตสงบ มันจะเริ่มสังเกตเห็น หายใจไปแล้วจิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ ตรงนี้จิตจะเริ่มตั้งมั่น เมื่อจิตสงบ จิตตั้งมั่น ตรงนี้ล่ะจะเดินปัญญาได้แล้ว ถนัดดูกายก็จะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์ ถนัดดูจิตก็เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ เราอย่าทิ้งกาย เพราะเวลาบางช่วงสมาธิเราไม่พอ เราดูจิตไม่ได้ ให้หันมาดูกายไว้ ไม่ใช่ดูจิตไม่ออก ก็เลิกปฏิบัติ ไม่ใช่ คำว่า “เลิกปฏิบัติ” ไม่มีในสารบบของนักปฏิบัติ ต้องสู้ตาย

 

 

ว่าจะสอนง่ายๆ ไม่รู้ง่ายหรือเปล่า จะถามประชามติก็วุ่นวาย ง่ายหรือเปล่าก็ไม่รู้ สอน แต่ว่าพวกเราส่วนใหญ่ก็รู้เรื่อง ถ้าคนไหนฟังหลวงพ่อครั้งแรกแล้วรู้เรื่อง นี้ประเภทอัจฉริยะที่ฟ้าประทานเลย ส่วนมากก็ต้องฟังแล้วฟังอีก เมื่อก่อนก็มี สมัยยังไม่มีซีดี มีเทป มีผู้หญิงคนหนึ่ง เขาอยู่ระยอง ไปกับสามี ได้เทปไปม้วนหนึ่ง เขาฟังเสียเทปยืดเลย ฟังๆๆๆ ไปเรื่อยเลย อันนั้นเขาอัดเอาเองด้วย เขาขออัดไปเอง แล้วก็ไปฟังซ้ำๆๆ ตอนเทปยืด จิตตื่นเลย ไม่ใช่จิตตื่นเพราะเทปยืดหรอก แต่ฟังไปแล้วมันเกิดเก็ตขึ้นมา เกิดเข้าใจขึ้นมา โอ๊ย ภาวนามันไม่ใช่เรื่องบังคับตัวเองเลย มันหลุดออกจากโลกของความคิดความฝัน จิตก็ตื่นโพลงขึ้นมา บางทีก็ใช้เวลา

ฉะนั้นที่ฟังปุ๊บ เข้าใจปั๊บอะไรนี้ หายาก บารมีพวกเรามันไม่พอหรอก น้อยที่จะทำได้ อย่างสมัยพุทธกาลบางคนเขาฟังปุ๊บ เขาบรรลุพระอรหันต์ บางคนฟังปุ๊บ ได้โสดาบัน ของเราฟัง 100 เที่ยว ได้โสดาบันก็บุญแล้ว ค่อยๆ ฝึก ไปฟังซ้ำๆ มูลนิธิฯ เขาก็ทำ ทีมไลฟ์ ทีมอะไรเขาก็อัดไว้ เดี๋ยวไปขึ้นยูทูป ขึ้นในเฟซบุ๊ก Dhamma.com ไปดูซ้ำๆ ไป ฟังเที่ยวหนึ่งไม่รู้เรื่อง ก็ฟังหลายๆ เที่ยว มันคงไม่โง่ตลอดชาติหรอก เดี๋ยวก็รู้เรื่อง

คนจำนวนมากที่หลวงพ่อไปเจอ ไม่ได้มาเจอที่วัด ไม่เคยมาวัด ไม่เคยเจอหลวงพ่อเลย หลวงพ่อไปที่ต่างๆ เขาเข้ามาหา เขาบอกเขาฟังซีดี ดูยูทูป ภาวนาเป็น จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แยกขันธ์ได้ เห็นธาตุเห็นขันธ์แสดงไตรลักษณ์ได้ นับจำนวนไม่ถูกเลย มีเยอะมากเลย แค่ฟังซีดี ดูยูทูป ก็ทำได้ ให้อดทนเท่านั้น ค่อยๆ สังเกตของจริงไป

 

กติกาการเผยแพร่ธรรมะของหลวงพ่อ

เดี๋ยวนี้หลวงพ่อพบอย่างหนึ่งว่า มีคนเอาธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์นี้ ส่วนมากก็เอาไปจาก Dhamma.com ตัด อย่างนั้นก็ยังไม่ว่าอะไร เอาไปทำยูทูปช่องของตัวเองเยอะมากเลย เต็มไปหมดเลย แต่ว่าขอให้ทำตามกติกาก็แล้วกัน อันหนึ่งก็คือตัดไปจากเทศน์วันไหน ต้องระบุ ที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญเรื่องนี้เพราะว่า หลวงพ่อเห็นตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา คำสอนของครูบาอาจารย์สับสนวุ่นวายไปหมดเลย

เดี๋ยวก็อ้างนี่หลวงปู่มั่นเทศน์ องค์นั้นเทศน์ องค์นี้เทศน์ เอามาจากไหน ไม่มี Reference นึกๆ เอาเอง มีกระทั่งสมเด็จโตเทศน์ สมเด็จโตเทศน์เรื่องโควิด มันเป็นไปได้อย่างไร หรือหลวงปู่ทวด นี่หลวงปู่ทวดแสดงธรรม เราฟังปุ๊บเราก็รู้แล้ว ไม่ใช่หลวงปู่ทวดหรอก เธอล่ะแสดงเอง หลวงปู่ทวด คนอยุธยา ภาษาที่คนอยุธยาใช้ กับคนยุคนี้ใช้ไม่เหมือนกันหรอก

แล้วถ้าไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มานี้ ต่อไปมันจะสับสน ไม่รู้ว่าบริบทที่หลวงพ่อเทศน์เรื่องนั้น มันมาจากไหน เพราะบางทีหลวงพ่อเทศน์บอกให้ทำอย่างนี้ อีกคนหนึ่งหลวงพ่อบอกให้ทำอย่างนี้ ถ้าฟังด้วนๆ แค่นี้ ไม่อ้างอิง มันจะไม่เห็นบริบท ก็จะงง เอ๊ะ ทำไมสอนขัดกันเอง ขัดไปขัดมา เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาธรรมะที่หลวงพ่อเทศน์ไปเผยแพร่ต่อ หลวงพ่อไม่ว่า แต่ต้องทำให้ถูกกติกา ต้องอ้างอิง แล้วก็อย่าไปอธิบาย ไม่ต้องไปอธิบายเพิ่มเติม

เวลาเอาธรรมะครูบาอาจารย์ไป แล้วไปอธิบายเพิ่มเติม มักจะเพี้ยน เพราะอธิบายไปตามความเข้าใจของตัวเอง ฉะนั้นถ้าจะเอาไปใช้ ก็ไม่ต้องเอาไปดัดแปลง จะตัดตอนไปให้มันรู้เรื่องก็ไม่เป็นไร แต่ก็อ้างอิงว่ามาจากไหน แล้วไม่ต้องไปขยายความ อ้างโน่นอ้างนี่ เลยกลายเป็นอยากเผยแพร่ของตัวเอง เอาหลวงพ่อมา เขาเรียกเอามาล่อเป้า ชวนคนมาดูแล้วก็จะได้ถ่ายทอดธรรมะของตัวเอง แบบนี้ไม่เอา อยากถ่ายทอดของตัวเอง ก็ถ่ายทอดไปเลย ไม่ต้องมาลากหลวงพ่อไปเกี่ยว เพราะบางทีที่อธิบายนั้น มันคนละเรื่องกับที่หลวงพ่อพูด มันมั่ว มันทำให้คนฟังสับสน

ถ้าเกิดเคสพวกนี้ขึ้นมา ทางมูลนิธิฯ เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หลวงพ่อยกลิขสิทธิ์ให้มูลนิธิฯ เพราะฉะนั้นเอาไปเผยแพร่แล้วอยู่ในกติกา มูลนิธิฯ เขาไม่ว่า ถ้าทำผิดกติกา เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เขามีสิทธิ์จัดการ มีสิทธิ์ทักท้วง ไม่เชื่อฟังก็แจ้งปิดช่องไป ไม่อย่างนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เข้าใจกันตามนี้ก็แล้วกัน ไม่หวงหรอกธรรมะ แต่ไม่อยากให้ธรรมะมันสับสน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 มกราคม 2566