ปีนี้ครูบาอาจารย์สิ้นไปหลายองค์แล้ว มีหลวงปู่กวง อยู่เชียงใหม่ หลวงปู่ขันตี นี่หลวงปู่อินสมเมื่อวาน กว่าจะได้ครูบาอาจารย์สักองค์หนึ่งใช้เวลามาก แล้วท่านอยู่กับเราไม่ค่อยนานเท่าไร ล่วงลับดับขันธ์ไป เราก็ภาวนา ครูบาอาจารย์สอนมาก็ปฏิบัติกัน อย่าโอ้เอ้
เมื่อวานยังคุยกับพวกคนจีน ช่วงนี้คนจีนกลุ่มใหม่เข้ามาอีก มาเป็นกลุ่มๆ บอกคนจีนมาเรียนธรรมะ กะจะมาเอาให้เต็มที่เลย แบบคล้ายๆ จะมาจ่ายตลาด ถือกระบุง ตะกร้ามา จะมาหยิบธรรมะใส่ย่าม ใส่เป้ เอากลับไป ใจร้อนไป ธรรมะไม่ได้เป็นสินค้าแบบนั้น ที่มาซื้อ จะมาหยิบฉวยเอาง่ายๆ มันต้องฝึก บอกคนจีนจะใจร้อนไปหน่อย จะเอาเร็วๆ
ส่วนคนไทยกลับข้างกัน ใจเย็น คล้ายๆ เกิดมาในแผ่นดินที่มีพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว จะฟังเมื่อไรก็ได้ จะเรียนเมื่อไรก็ได้ จะปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ เลยเฉื่อย กลับข้างกัน ฝรั่งก็อีกแบบหนึ่ง ฝรั่งจำนวนมากเลย ชอบการทำสมาธิ จะไม่ค่อยยอมเจริญปัญญา เพราะคิดว่าเขาปัญญาเยอะอยู่แล้ว ปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรม คนละเรื่องกัน ถ้าเราดูคนแต่ละกลุ่มๆ ก็มีความแตกต่างกัน มีของเก่า มีกรรมร่วมกันมา ก็ไปเกิดร่วมกัน
ถ้าเรารู้ว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหน ก็พยายามปรับ พยายามแก้เสีย ถ้าใจร้อนเกินไป ก็ใจเย็นๆ บ้าง ถ้าใจเย็นเกินไป ก็อย่าเฉื่อยขนาดนี้ ทุกวันต้องมีวินัยในการปฏิบัติ ต้องทำ แล้วถ้าดีกว่านั้นก็คือ มีเวลาเมื่อไรปฏิบัติเมื่อนั้น ไม่ต้องรอทำตอนก่อนนอน ถ้าทั้งวันฟุ้งซ่านมาเต็มที่แล้ว หวังว่าจะไปปฏิบัติสักชั่วโมง 2 ชั่วโมงก่อนนอน ไม่ได้เรื่องหรอก จิตไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้จิตมีกำลัง ไปนั่งสมาธิก็ไม่นั่งหลับ เราก็ต้องมีสติอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ให้ได้ ตรงนี้สำคัญที่สุดเลยการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
อย่าทิ้งการทำสมาธิ
ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนกันมาบอก “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน” เพราะฉะนั้นต้องทำสมาธิ แต่พอจิตสงบพอสมควรแล้ว ก็ออกมาพิจารณา พิจารณาแล้ว สักพักหนึ่งจิตอ่อนกำลังลง ก็กลับไปทำความสงบใหม่ กลับไปกลับมาอย่างนี้ เหมือนเราลับมีด นั่งสมาธิเหมือนเราลับมีด มีดคมๆ แล้วเอาไปตัดต้นไม้ ตัดพอมีดทื่อ เราก็ต้องมาลับใหม่ หรือเราใช้โทรศัพท์ ใช้ไปแบตเตอรีมันอ่อนแล้ว เราก็ต้องไปชาร์จใหม่
ฉะนั้นเวลาทำกรรมฐาน เจริญปัญญารวดไปไม่ได้ ก็ต้องทำสมาธิให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรง มีความสุข มีความสงบ ให้จิตใจมันได้ลิ้มรสชาติของความสงบ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ถ้าจิตใจไม่เคยสงบ ไม่เคยสัมผัสความสุขของการปฏิบัติธรรม มันจะขี้เกียจ เวลาปฏิบัติ รู้สึกทุกข์ยากเหลือเกิน กดข่มบังคับตัวเองอย่างรุนแรง เพราะจิตมันไม่สงบ แต่ถ้าคนไหนเคยลิ้มรสชาติ ของความสงบในสมาธิ จะรู้เลยว่า ความสุขสนุกสนานอย่างโลกๆ หาสาระอะไรไม่ได้ มันแค่หลงๆ บ้าๆ ไป เวลาแต่ละวันๆ เท่านั้นเอง
ถ้าเราไม่มีกำลังของสมาธิเลย ใจไม่ได้อยากปฏิบัติ ใจมันก็หลงโลกง่าย มันเพลินกับโลก เรียกหลงในกาม หลงในกามก็หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอะไรต่างๆ แต่ถ้ามีจิตใจที่ฝึกสมาธิมาดี เราสัมผัสความสุขอีกชนิดหนึ่ง ความสุขของความสงบ เราจะเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เราอยากปฏิบัติธรรม อย่างหลวงพ่อเห็นพวกเรา บางทีมาเรียนแล้วก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง เรายังไม่ได้รู้รสชาติของธรรมะ ยังไม่ได้ลิ้มรสว่าอร่อยแค่ไหน เราเคยกินอะไรอร่อย เราก็อร่อยอยู่แค่นั้น ไม่รู้ว่าสิ่งที่เหนือกว่านั้นมีอีก
เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งการทำสมาธิ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ชอบอารมณ์อะไร เอาอารมณ์อันนั้น ไม่ต้องเลียนแบบใคร อย่างพวกคำบริกรรม บางคนก็บริกรรมพุทโธ บางคนสัมมาอะระหัง บางคนนะมะพะทะ บางคนสวดบทเจ้าแม่กวนอิม ก็เท่าเทียมกัน เอาที่เราถนัด บางคนถนัดอานาปานสติ บางคนไม่ถนัด บางคนถนัดเรื่องอิริยาบถ 4 บางคนไม่ถนัด บางคนถนัดเรื่องสัมปชัญญะ ความเคลื่อนไหว ความหยุดนิ่ง เอาที่เราถนัด แล้วเราน้อมจิตเราไปอยู่ในอารมณ์อันนั่นล่ะ
ฝึกเรื่อยๆ ทีแรกจิตมันก็ดิ้นเร่าๆ กระโดดหาอารมณ์นั้นทีอารมณ์นี้ทีไปเรื่อยๆ ตามความเคยชิน อารมณ์ที่มันกระโดดไปหา กามทั้งนั้น พอโดดไปคิดเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัสอะไรพวกนี้ หรือหลงไปอดีตหลงไปอนาคตอะไรต่ออะไร เราก็ต้องน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ทีแรกก็จะดิ้น แต่ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ดิ้น อย่างถ้าเราถนัดอานาปานสติ เวลาเราต้องการความสงบ เราก็มากำหนดลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นบ้าน เป็นเครื่องอยู่ หายใจที 2 ที จิตก็สงบแล้ว
ถ้าเราฝึกของเราเรื่อยๆ หรือบางคนถนัดพุทโธๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ บางคนรู้สึกพุทโธสั้นไป เอาพุทโธ ธัมโม สังโฆ บางคนก็รู้สึกตรงนี้ยังสั้นไป เอาบทอื่นก็ได้ “เมตตา คุณณัง อะระหัง เมตตา” ก็ได้ บางท่านก็ “พุทธะเมตตัง จิตตัง มะมะ พุทธะพุทธา นุภาเวนะ” ยาวหน่อย บางท่านก็ชอบบทนี้ “อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา อิติโพธิมนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนโม” อันนี้ยาวขึ้นมา
สมัยพุทธกาลก็มี มีบทที่พระท่านบริกรรม อย่างพระจุฬปันถกะออกไปบวช พี่ชายเป็นพระอรหันต์เรียกพระมหาปันถกะ เป็นพระอรหันต์ที่มีปัญญามากด้วย ท่านก็แต่งบทสรรเสริญพระพุทธเจ้า ให้พระจุฬปันถกะท่อง ท่องเท่าไรก็ไม่จำ ท่องไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนสั้นๆ บริกรรมสั้นๆ ทำได้ ยาวๆ ไม่ได้ นี้แล้วแต่จริตคน เราถนัดอารมณ์อันไหน เราก็เอาอันนั้น ทำไปเรื่อยๆ ถ้าใจเรามีความสุข มันก็สงบอย่างรวดเร็ว
พอมันสงบ ให้จิตใจได้พักผ่อนแช่มชื่น ถ้าเข้าฌานไป พอจิตถอยออกจากฌาน ก็น้อมจิตพิจารณาร่างกายเข้าไปเลย ไม่ต้องไปดูจิต ถ้าจิตเข้าฌาน ถอยออกมาจิตก็ยังนิ่งๆ ว่างๆ อยู่อีกนาน เพราะฉะนั้นก็ให้ดูกายไป จะเห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกาย ถ้ากำลังของสมาธิเข้มแข็งมากๆ บางทีเห็นร่างกายนี้ลงเป็นธาตุ แยกร่างกาย ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟ แยกกันออกไป มันก็เห็นดินไม่ใช่เรา น้ำไม่ใช่เรา ลมไม่ใช่เรา ไฟไม่ใช่เรา ไม่มีเรา
ถ้าเราไม่ได้ฌาน เราทำความสงบได้บางระดับ ไม่ถึงฌาน พอจิตถอยออกจากตรงนี้ เราจะดูจิตเลยก็ได้ เพราะเวลาเราทำสมาธิ จิตก็สงบนิดๆ หน่อยๆ ออกจากสมาธิมา จิตก็เริ่มฟุ้ง คิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อย คิดเรื่องอดีต เรื่องอนาคต คิดเรื่องที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เมื่อเช้าหลวงพ่อก็ให้ผู้ช่วยสอนคนหนึ่ง เขาภาวนาเก่ง เลยสอนต่อยอดให้ไปอีก ให้เห็นจิตมันทำงานตลอดเวลา การทำงานของจิต เขาเรียกการทำกรรม เป็นกรรมภพ
จิตมันสร้างภพตลอดเวลา บอกไม่ต้องหาทางพ้นจากภพ ศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในภพ แต่ทำไมคนส่วนใหญ่มันอยู่ในภพ แต่มันไม่ได้มรรคผล เพราะไม่มีสติ นักปฏิบัติกับคนไม่ได้ปฏิบัติ ต่างกันนิดเดียวเอง คนไม่ปฏิบัติ มันไม่ได้มีสติกำกับจิตใจตัวเอง เวลาเห็นรูปก็หลงไปดู หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปฟังเสียง หลงไปคิด มีแต่คำว่า “หลง” อกุศลที่ยังไม่มี มันก็มีขึ้นมาง่าย เพราะมันหลง
แต่เวลาหลงๆ แล้วคิดถึงสิ่งที่ดีงามก็มี อกุศลเป็นปัจจัยของกุศลก็มี แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น หลงไปแล้วก็ส่วนใหญ่เรื่องไม่ค่อยจะดี นักปฏิบัติต่างกับคนทั่วไปนิดเดียว จิตไปดูรูป จิตไปเห็นรูป จิตไปฟังเสียง ไปได้กลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ จิตเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ ไม่ได้ให้ละ แต่ให้รู้ เพราะฉะนั้นเราปฏิบัติ เราไม่ใช่มนุษย์ที่ผิดมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ธรรมดานี่ล่ะ เพียงแต่เราเติมสติลงไป
ตาเห็นรูป จิตเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีสติรู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเกิดความเปลี่ยนแปลง ให้มีสติรู้ทัน ใจเราไปคิด จิตมีความเปลี่ยนแปลง ให้มีสติรู้ทัน เปลี่ยนแปลงบางทีเราก็เห็นตัวเวทนา ว่าจิตเมื่อกี้เฉยๆ อ้าว ตอนนี้มีความสุข จิตเมื่อกี้มีความสุข ตอนนี้เฉยๆ จิตเมื่อกี้เฉยๆ ตอนนี้มีความทุกข์ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน
หรือดูตัวสังขารก็ได้ จิตทีแรกก็เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ อยู่ไปช่วงหนึ่งกลายเป็นอกุศลไปแล้ว พลิกไปพลิกมา เอาความแน่นอนอะไรไม่ได้ อย่างเราเห็นเด็กซน ออกไปวิ่งเล่นข้างถนน เราเกิดความเป็นห่วง สงสารมัน มีความกรุณาเกิด ไม่อยากให้มันไปวิ่งข้างถนน ห้าม ห้ามแล้วมันไม่ฟัง เราโกรธ กุศลพลิกเป็นอกุศลไปแล้ว ฉะนั้นเราก็สังเกตตัวเองให้ดี อ่านใจตัวเองไปทุกขณะๆ เท่าที่ทำได้ อันนี้เรียกว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ครูบาอาจารย์สอนบอกว่า “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า” ช้าจริงๆ ช้าเป็นกัปๆ เลย ถ้าเราเข้าฌานได้ แล้วไปเป็นพระพรหม “ทำสมาธิมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติ คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน” การเจริญสติในชีวิตประจำวันที่เล่าเมื่อกี้ เราไม่ได้ทำตัวให้ผิดมนุษย์ ถ้าเราเห็น ตาเรามองเห็นผู้หญิงสวยๆ มา เราไม่ต้องทำเป็นว่า สักว่ารู้ สักว่าเห็น ท่องใหญ่เลย หรือไปคิดว่านี่ปฏิกูลอสุภะ ถ้าแบบนั้นเป็นสมถะ
ถ้าเจริญปัญญา เห็นผู้หญิงสวย ใจชอบรู้ว่าใจชอบ เราจะต่างกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัตินิดเดียวเอง คนไม่ได้ปฏิบัติ เห็นผู้หญิงสวย มันก็มองผู้หญิง เราเห็นผู้หญิงสวย เรามองใจตัวเอง ใจมันชอบขึ้นมา เรารู้ว่าใจมันชอบ นี่การปฏิบัติในชีวิตจริงๆ ตาเห็นรูป แล้วใจเราเป็นอย่างไร เรารู้ทัน หูได้ยินเสียง แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ทัน ใจเราคิดนึกขึ้นมา แล้วจิตใจเราเป็นอย่างไร เรารู้ทัน
อย่างเราคิดถึงคนคนนี้ แล้วเราก็โมโหขึ้นมา คนนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เคยมาจีบสาวแข่งกับเรา แล้วมันชนะ เราชอบใคร มันก็ไปแย่งจีบหมดเลย เรื่องผ่านมาตั้งหลายสิบปี พอคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา สัญญาเก่าทำงานขึ้นมา โทสะที่เกิดขึ้น เป็นโทสะปัจจุบันแล้ว เรากำลังก่อกรรมทำเข็ญครั้งใหม่แล้ว จิตของเราเป็นจิตที่สกปรกไปเรียบร้อยแล้ว เราต่างกับคนที่ไม่ปฏิบัติ เราคิดถึงคนนี้ขึ้นมา ใจเรามีโทสะ เรารู้ว่าใจมีโทสะ ไม่ต้องไปนั่งคิดถึงอดีตหรอก รู้ทันจิตใจที่กำลังมีกำลังเป็นในปัจจุบัน
การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ
ฝึกเรื่อยๆ ไป ยากไหม ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย เราอย่าทำตามที่มันเคยชิน คนในโลกมันเคยชินที่จะดูออกนอก พอตาเห็นรูป ใจก็ไหลไปที่รูป หูได้ยินเสียง ใจก็ไหลไปที่เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิดนึก ก็ไหลออกไปอีก ตรงนี้หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า “ส่งจิตออกนอก” พอส่งจิตออกนอก จิตก็กระเพื่อมหวั่นไหว เราไม่เห็น หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนบอกว่า “ธรรมชาติของจิต ย่อมส่งออกนอก” เห็นไหมท่านบอก
ท่านไม่ได้บอกว่าอย่าส่งออกไป ท่านบอกว่า “ธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก” แต่มีเหมือนกันบางคน ท่านก็ดุเอาว่าอย่าส่งออกนอก เพราะมันออกนอกไม่มีที่สิ้นสุดเลย โดนดุเอา บอก “เฮ้ย ไปสนใจของข้างนอก” แต่จริงๆ แล้วท่านก็สอนบอกว่า “จิตมีธรรมชาติส่งออกนอก” เมื่อจิตส่งออกนอกแล้วไปรับอารมณ์ แล้วเราไม่มีสติ ผลที่เกิดขึ้นก็คือทุกข์ ถ้าจิตส่งออกนอก แล้วเรามีสติรู้ทันจิตใจตนเอง นั่นคือการเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้นเวลาจิตส่งออกนอกแล้ว มีทั้งคุณ มีทั้งโทษ จิตส่งออกนอก คือจิตไปสร้างภพนั่นเอง กิเลสทั้งหลายเกิดในภพ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดในภพ เพราะฉะนั้นถ้าจิตเราออกนอก ออกไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ ไม่ห้าม แต่มีสติรู้เท่าทันจิตตนเอง เห็นรูปอย่างนี้ พอใจ เห็นรูปนี้ ไม่พอใจ ได้ยินเสียงอันนี้ พอใจ ได้ยินเสียงอันนี้ ไม่พอใจ คิดเรื่องนี้ พอใจ คิดเรื่องนี้ ไม่พอใจ สังเกตไปแค่นี้ล่ะ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย
หลวงปู่ดูลย์ถึงบอกว่า “การปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” ท่านสอนหลวงพ่อบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” วิธีอ่านจิตตนเอง ก็ทำอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ ไม่ใช่ไปคร่ำเคร่ง หรือเคร่งเครียดในการเฝ้าดูจิต เฝ้าไม่ให้คลาดสายตา ไม่ใช่ ไปเพ่งไปจ้องจิต มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความสงบ ดีไม่ดีหลุดเข้าอรูปฌานไป ตายไป ไปเป็นพระพรหมที่ไม่มีร่างกาย พรหมชนิดนี้มีใจอย่างเดียว ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย พระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ ไม่รู้เรื่องด้วยหรอก ไม่รู้เรื่องด้วยเลย เพราะไม่มีสิ่งที่จะมาสัมผัสข้างนอก อยู่แต่ใจของตัวเองอย่างเดียว
ฉะนั้นอย่าไปเพ่งใจ อย่าไปเพ่งจ้องจิตตัวเอง ให้อ่านจิตตัวเอง ไม่ได้ให้ไปเพ่งจิตตัวเอง อ่านจิตตัวเองก็คือ เมื่อมันกระทบอารมณ์แล้ว จิตสุขให้รู้ จิตทุกข์ให้รู้ จิตเฉยๆ ให้รู้ จิตดีให้รู้ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงให้รู้ จิตฟุ้งซ่านให้รู้ จิตหดหู่ให้รู้ แล้วถ้าเราฝึกเรื่อยๆ จิตมีสมาธิรวมลงมาเล็กน้อยก็รู้ จิตเข้าถึงฌานก็รู้ จิตเดินปัญญาในฌานก็รู้ จิตปล่อยวางจิตก็รู้ ค่อยเป็นลำดับลึกซึ้ง ประณีตขึ้นเป็นลำดับไป อย่างของเราตอนนี้ จิตรู้แค่จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว รู้ไปเรื่อยๆ เราไม่ได้พวกเล่นฌาน ถ้าพวกเล่นฌาน ก็จะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานท่อนหลัง ท่อนแรกสำหรับพวกไม่มีฌาน
ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้ขยับตัว (หลวงปู่ขยับตัว) ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ขยับ บางคนบอกว่าขยับให้รู้สึก เอาแล้ว (หลวงปู่ทำท่าขยับตัวแรงๆ) ไร้สาระจริงๆ เดี๋ยวก็คอเคล็ดหรอก หรือบอกถ้าเคลื่อนไหวแล้วให้รู้สึก บางคนก็ขยับๆๆ ขยับเสร็จแล้วก็ไปเพ่ง เพ่งๆๆๆ อันนี้ไม่ได้รู้สึก อันนี้เพ่งเอา บอกเคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ ร่างกายเราเคลื่อนไหวอยู่แล้ว หรืออยากเคลื่อนไหวให้ต่อเนื่องยาวนาน ก็ไปเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมไม่ใช่ไปเพ่งให้จิตนิ่งๆ
เดินจงกรมก็เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนดู แล้วเดี๋ยวปัญญามันจะเกิด ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า หรือถ้าเดินจงกรม ต้องการความสงบ ก็คอยรู้สึกร่างกายที่เดินเรื่อยๆ รู้สึกอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็เห็นร่างกายมันเดิน ดูร่างกายเป็นหลักไว้ จิตก็จะสงบ ถ้าจะเจริญปัญญา อ่านใจตัวเอง เราก็เดินจงกรม พอจิตเราหนีไปคิด รู้ทัน จิตไหลลงไปเพ่งร่างกาย รู้ทัน รู้ทันจิตไป แล้วต่อไปมันจะเกิดปัญญา เห็นจิตมันทำงานได้เอง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตเพ่งก็ไม่เที่ยง แล้วก็บังคับไม่ได้
เห็นไหมการปฏิบัติ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ของง่ายๆ ขณะนี้นั่งอยู่รู้ไหม แต่ถ้าใจลอยแล้วไม่รู้ หรือพอคิดว่าจะรู้ตอนนั่ง ก็นั่งเพ่งเลย เพ่งเคร่งเครียด เดี๋ยวก็คอเคล็ด หลังเคล็ด ไหล่เคล็ด แค่รู้สึก เอาแค่รู้สึก ร่างกายหายใจออก รู้ไหม ร่างกายหายใจเข้า รู้ไหม ยากไหมที่จะรู้ว่าตอนนี้หายใจออก หรือตอนนี้หายใจเข้า ไม่เห็นยากเลย รู้ด้วยใจธรรมดานี่ล่ะ อย่าไปทำใจให้เคร่งเครียดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยไปรู้ ใช้ใจปกติ
พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า จิตนี้ธรรมดา จิตดั้งเดิมของมัน ประภัสสร ผ่องใส จิตประภัสสร หลวงตามหาบัวบอกคือจิตผู้รู้นี่ล่ะ มันเป็นจิตประภัสสร แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา ฉะนั้นจิตปกติของเรานี้ผ่องใสอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ถ้าลงมือทำนิดเดียว มันก็ไม่ผ่องใสแล้ว แค่เราคิดถึงการปฏิบัติ ตั้งใจปฏิบัติขึ้นมา โลภะเกิดแล้ว อยากสุข อยากสงบ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี เกิดขึ้นมาปุ๊บ จิตผู้รู้ก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นจิตผู้โลภ เกิดจิตผู้โลภขึ้นแทนจิตผู้รู้แล้ว
ฉะนั้นเรารู้ด้วยใจปกติ เริ่มต้นของการปฏิบัติ อย่าไปยุ่งกับจิต จิตเราขณะนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น รู้สึกลงไป ร่างกายมันนั่งอยู่ ร่างกายมันหายใจอยู่ รู้สึกด้วยจิตปกติของเรานี่ล่ะ ร้อยละร้อย นี่พูดแบบไม่เกรงใจ ถ้าเกรงใจก็ร้อยละ 99 ของนักปฏิบัติ พอคิดถึงการปฏิบัติ ก็บังคับตัวเองทันทีเลย บังคับจิตก่อน แล้วก็เอาจิตไปบังคับร่างกายอีกทีหนึ่ง ก็ทรมาน ทนไปเรื่อยๆ คนไหนมีบุญบารมี ก็หลุดออกมาได้ คนไหนบุญน้อยหน่อยก็ติดเพ่ง ติดไปอย่างนั้น ติดกันเป็นชาติๆ ติดกันหลายภพหลายชาติ แก้ยาก ถ้าติดไปแล้ว
กิเลสทนสติทนปัญญาไม่ได้หรอก
เพราะฉะนั้นจิตของเราเป็นปกตินั่นล่ะ จิตเราดีอยู่แล้ว เพียงแต่มันโง่เท่านั้นล่ะ จิตประภัสสรไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ ประภัสสรแปลว่าผ่องใส บริสุทธิ์คือไม่มีกิเลส จิตประภัสสรคือจิตผู้รู้ของเรา เป็นจิตประภัสสร มันสว่าง มันสงบ มันทำได้ แต่มันโง่ มันยังไม่รู้ความจริง ไม่ได้เดินปัญญา ถ้าเราจะมาพัฒนา จากจิตประภัสสร จิตผู้รู้นี้ขึ้นมา ให้เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก สร้างสัมมาทิฏฐิขึ้นมาจนได้ ในที่สุดจิตที่ประภัสสร แต่เจือด้วยอวิชชา มันถูกทำลาย อวิชชาถูกทำลายไป คราวนี้จิตก็กลายเป็นจิตบริสุทธิ์ขึ้นมา
ฉะนั้นเริ่มต้นก็อย่าไปทำลายจิตประภัสสร จิตปกติของเราล่ะ พอเรามีจิตที่เป็นปกติแล้วดูลงไป ร่างกายหายใจออก รู้ ร่างกายหายใจเข้า รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดว่าจะรู้ไปนานเท่าไร รู้ไปทั้งชาติเลยก็ได้ ส่วนจะได้มรรคผลตรงไหนอะไร ก็แล้วแต่บุญบารมีที่เราสะสมมา บางคนมีสติรู้กายรู้ใจ ไม่นาน 7 วันเป็นพระอรหันต์ บางคน 7 วันยังไม่ได้อรหันต์ ก็เป็นพระอนาคามี บางคน 7 เดือนเป็นพระอรหันต์ บางคน 7 เดือนได้อนาคามี บางคน 7 ปีเป็นพระอรหันต์ บางคน 7 ปีเป็นพระอนาคามี
ถ้าเรามีสติ ทำสติปัฏฐาน มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจตัวเองเรื่อยๆ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ถ้าบารมีเราพอ เราก็ได้ธรรมะ ถ้ายังไม่พอ กิเลสเราหนา ปัญญาเราหยาบ อดทน ทำแล้วทำอีก มันคงไม่โง่ไปตลอดชาติหรอก กิเลสมันทนสติทนปัญญา เข้าไปซักฟอกมันไม่ได้หรอก ค่อยๆ ทำไป เพียงแต่บางคนจิตใจสกปรกมาก ก็ต้องใช้เวลานานหน่อยในการซักฟอก บางคนสะอาดอยู่แล้ว มอมๆ นิดเดียว ขี้ฝุ่นมาเกาะจิตนิดเดียว สะบัด เหมือนสะบัดผ้า ใบไม้มาเกาะอยู่ สะบัดทีเดียวใบไม้ก็หลุดไปแล้ว
บางคนกิเลสละเอียดฝังแน่นเข้าไปในเนื้อผ้า สกปรกอยู่ในเนื้อผ้า ก็ต้องเอาไปซักไปล้าง บางทีซักทีเดียวไม่หาย ก็ซักหลายๆ ที อย่างพระที่มาบวชที่นี่ โยมที่มาบวช แล้วมาเป็นพระมาอยู่ที่นี่ แต่ละคนก็ต้นทุนไม่เท่ากัน บางคนทำอกุศลมาเยอะ แล้วก็ทำกุศลก็เยอะด้วย ทำบาปก็เยอะ ทำบุญก็เยอะ บางคนทำบาปเยอะ บุญก็น้อยอีก บางคนทำบาปน้อยมีบุญมาก บางคนทำบาปน้อยมีบุญน้อยอีก แต่ละคนไม่เท่ากันหรอก
แต่ว่าธรรมะเป็นของวิเศษ ถึงจิตใจเรา พื้นฐานที่ผ่านมาอยู่กับโลก สกปรกมาก สกปรกแบบดำปี๋มาเลย เหมือนกับไปคลุกขี้โคลน คลุกยางมะตอย สกปรก แต่มาลงมือปฏิบัติ ซักฟอกตัวเองไปเรื่อยๆ ตอนนี้สะอาด สวยงาม เพราะจิตดั้งเดิมมันไม่ได้สกปรกไปด้วย มันถูกกิเลสห่อหุ้มเท่านั้นเอง พอเราล้างเอากิเลสออกไป จิตมันก็ผ่องใสขึ้นมา
ฝึกนะ ฝึกตัวเองทุกวันๆ แล้วชีวิตเราจะดีขึ้น ปฏิบัติ ทำความสงบเข้ามาก่อน ถ้าใจเราไม่มีแรง ใจเราฟุ้งซ่าน ทำความสงบมา บางคนไปทำความสงบตรงๆ ไม่ได้ ก็อาศัยปัญญานำไปก่อน มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจไป อย่างพวกเราจำนวนมาก จะไม่ได้เริ่มจากการเข้าฌาน คนยุคนี้ที่เข้าฌานได้จริงๆ มีน้อยเต็มที เพราะสังคมทุกวันนี้ มันวุ่นวายเหลือเกิน ความวุ่นวายมันหลุดเข้ามาอยู่ในกระเป๋ากางเกงเรา ในกระเป๋าเสื้อเรา ผ่านมือถือ ผ่านอะไรพวกนี้
ฉะนั้นคนรุ่นนี้ หาคนทรงฌานยาก เราก็ต้องใช้อีกวิธีหนึ่ง ใช้ปัญญานำสมาธิ อาศัยมีสติคอยระลึกรู้ ร่างกายหายใจ รู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้ รู้ไปเรื่อยๆ ผ่านไปนานๆ ช่วงหนึ่ง จิตมันจะมีกำลังขึ้นมา ฉะนั้นที่พวกเราบางคน จิตมีกำลังขึ้นมา ไม่ได้มาจากการทำฌาน แต่มาจากการเจริญสติอย่างถูกต้อง จิตก็มีกำลัง มีสติถูกต้อง ทำไปเรื่อยๆ อย่างจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันฟุ้งอีก รู้อีก ฟุ้งอีก รู้อีก จิตก็มีแรงมากขึ้นๆ เพราะตอนที่จิตฟุ้งซ่าน จิตเสียพลัง เสียพลังงาน
คนทั่วไปจิตฟุ้งซ่านทั้งวัน จิตเลยไม่มีกำลัง แค่จะนอนหลับ ยังนอนไม่ค่อยได้เลยฟุ้งซ่าน ถ้าเรามีสติ จิตหลงไปแล้วรู้ หลงไปแล้วรู้ จิตมันจะเก็บพลังมากขึ้นๆ สุดท้ายมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างหลายคนที่ภาวนาแล้วจิตมีกำลัง ที่หลวงพ่อบอกจิตมีแรงแล้ว จิตมีกำลังแล้ว อาศัยสตินี้รู้ทันเรื่อยๆ จิตก็มีกำลังขึ้นมา พอจิตมีกำลังแล้ว ก็อย่ามีกำลังอยู่เฉยๆ เหมือนชาร์จแบตเตอรีเต็มแล้ว ก็ต้องใช้แบตเตอรี ใช้ประโยชน์ ไม่อย่างนั้นจะไปชาร์จมันทำไม พอจิตเรามีกำลัง เราก็เดินปัญญา เดินปัญญาต่อเลย
เห็นไหม เริ่มต้นไม่ได้มาจากการเข้าฌาน แต่อาศัยสติรู้ทันจิตที่หลง รู้บ่อยๆ จิตก็ตั้งมั่น มีกำลังขึ้นมาได้ พอจิตมีกำลังแล้วก็เดินปัญญา เห็นร่างกายมันนั่ง อย่างขณะนี้ เวลาพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตเราจะมีแรง จิตมันจะมีกำลัง ไม่ใช่ฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วนั่งหลับ หายากมากเลย น่ายกย่องผิดปกติเลย ถ้าฟังหลวงพ่อแล้วหลับ ส่วนใหญ่ฟังหลวงพ่อจิตมันจะมีแรง พอจิตมันมีกำลังขึ้นมา อย่างขณะนี้แทบทุกคนจิตจะมีแรง รู้สึกไหมร่างกายมันนั่งอยู่ ต้องคิดมากไหมในการที่จะรู้ว่าร่างกายกำลังนั่ง ใครๆ ก็รู้ได้ ร่างกายกำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า รู้ยากไหม ไม่ได้เพ่ง รู้ไม่ยากหรอก
มีสติรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญาจะเกิด
ถ้าจิตเรามีกำลัง มีสมาธิพอ ตั้งมั่นขึ้นมา จะตั้งมั่นขึ้นมาด้วยการเข้าฌาน หรือโดยมีสติรู้เท่าทันจิตตัวเองก็ได้ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่นแล้วก็เดินปัญญา เห็นกายกับจิตเป็นคนละอันกัน เห็นเวทนากับร่างกายเป็นคนละอันกัน เห็นเวทนากับจิตเป็นคนละอันกัน เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วกับจิตเป็นคนละอันกัน อย่างเราเห็นความโกรธ รู้เลยความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นสิ่งที่ผ่านเข้ามา ให้จิตเห็นเท่านั้นเอง
ถ้าจิตเราตั้งมั่น มันจะเริ่มแยก แยกขันธ์ได้ แยกธาตุได้ ค่อยๆ แยกออกไป แล้วเราจะเห็นร่างกายที่ถูกจิตรู้ ไม่ใช่เรา เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา เวทนาทางใจคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนาทางกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่เวทนา สุขทุกข์ ไม่ใช่จิต กุศลอกุศลทั้งหลายก็ไม่ใช่เรา
อย่างคนทั่วไปโกรธ อันนี้ต่ำสุดเลย โกรธไม่รู้ว่าโกรธ อย่างหมามันทะเลาะกัน มันโมโห มันกัดกัน มันโกรธ มันไม่รู้ว่าโกรธ มัวแต่กัดกันอยู่ แล้วเป็นคน บางคนก็โกรธ แล้วเห็นความโกรธเกิดขึ้น แต่ว่ายอม ความโกรธก็ยังย้อมจิตได้ รู้ตัวนิดหน่อยว่าโกรธ แต่ก็ตามใจมัน เคยชินที่จะอาละวาด ก็ปล่อยใจตามกิเลสดั้งเดิม ตามความเคยชิน อย่างนี้ก็มี
บางคนสติสมาธิแข็งแรง ปัญญาแก่กล้าขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น มันเห็นความโกรธไม่ใช่จิตหรอก ไม่ใช่เราโกรธ ความโกรธเป็นสภาวะอันหนึ่ง จิตที่ไปรู้ความโกรธก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่มีเราโกรธ มีแต่ความโกรธกับการรับรู้ว่าโกรธ ปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันจะเห็นความทุกข์ มีความทุกข์ แต่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ มีความโกรธ แต่ไม่มีผู้โกรธ มีความโลภ แต่ไม่มีผู้โลภ มีความหลง แต่ไม่มีผู้หลง
ค่อยๆ ฝึกเรื่อยๆ ไป อาศัยจิตธรรมดานี่ล่ะ ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น มีสติบ่อยๆ รู้ทันจิตใจตัวเองบ่อยๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ แล้วจิตเราเป็นอย่างไร รู้บ่อยๆ สุดท้ายจิตมันจะมีแรงขึ้นมา ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอจิตมันมีกำลังตั้งมั่นแล้ว ขันธ์มันถึงจะแยกได้ ถ้าจิตไม่มีกำลัง ขันธ์ไม่แยกหรอก พยายามไปแยกมัน ยิ่งหลงผิดหนักเข้าไปอีก กลายเป็นกูเก่ง กูแยกได้ เพราะฉะนั้นไปทำ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป จิตหลงก็รู้ หลงไปก็รู้ หลงไปก็รู้
ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วจิตมีกำลังก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นที่หนึ่ง การแยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ แยกรูป ร่างกายเป็นตัวรูป นามคือจิต เป็นคนรู้รูป ร่างกายกับจิตนี้คนละอันกัน ต่อไปดูได้ละเอียดขึ้น ก็เห็นนามแต่ละอย่างกับจิต ก็เป็นคนละอันกัน นาม ที่เรียกว่านาม มี 2 กลุ่มเป็นนามจิต กับนามเจตสิก เจตสิกก็คือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว
เราฝึกเรื่อยๆ เวลาความสุขเกิดขึ้น เราจะเห็น อ๋อ นี่มีความสุขเกิดขึ้น ไม่ใช่เราสุข จิตเป็นคนเห็นว่า ตอนนี้มีความสุขเกิดขึ้น เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มันก็เห็นตอนนี้ความทุกข์เกิดขึ้น ไม่ใช่เราทุกข์ จิตเป็นคนรู้คนเห็นอยู่ แล้วมันจะไม่เป็นเราทุกข์ เกิดโลภขึ้นมา ก็เห็นว่าตอนนี้ความโลภเกิดขึ้น จิตเป็นแค่คนรู้ว่าโลภ จิตไม่ได้โลภ จิตเป็นคนรู้ว่าโลภ จิตก็ไม่ใช่เราด้วย ความโลภก็ไม่ใช่เรา
ค่อยๆ เห็นไป ความโกรธเกิดขึ้นก็เห็นความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธเป็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกดูผ่านมาแล้วก็ผ่านไป พอเห็นอย่างนี้จิตก็ถอนตัวออกมา ความโกรธก็กระเด็นหายไปทันทีเลย เพราะมีปัญญา รู้แล้วความโกรธเหมือนผีหลอก ทีแรกเราก็กลัวผี ตรงนี้มืดๆ เราก็กลัวผี พอแสงสว่างเกิดขึ้น เรารู้ตรงนี้ไม่ได้มีผีหรอก ตรงนี้เป็นแค่ต้นไม้ พอปัญญามันเกิด รู้ความจริงก็วาง อย่างเราไปที่มืดๆ เรากลัวผี เห็นผียืนตัวสูงๆ หัวโตๆ มีขาเดียว นี่ต้องผีกองกอยยักษ์ พอมันสว่างขึ้นมาไปดู นี่ต้นตาล พอปัญญามันเกิด ก็หายหลงผิด หายโง่
ปัญญาเกิดจากอะไร มีจิตที่ตั้งมั่น มีสติรู้สภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ปัญญามันจะเกิด จะเกิดรู้ถูกเข้าใจถูก ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่ของถูกรู้ ความสุขทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่ของถูกรู้ ความสุขทุกข์ ความเฉยๆ ในจิต ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ เป็นของผ่านมาแล้วผ่านไป กุศลอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิต ก็ไม่ใช่จิต ทีแรกก็เรารู้สึกจิตเราโกรธ คนทั่วไปมันโกรธ มันไม่รู้ว่ากำลังโกรธหรอก มันโกรธแล้วก็อาละวาดไปข้างนอก เรามาปฏิบัติใหม่ๆ เรารู้สึกว่าเรากำลังโกรธ ปฏิบัติดีขึ้น เราก็เห็นว่า เออ ความโกรธกับจิตมันคนละอัน ความโกรธไม่ใช่เรา
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ แยกๆๆ ออกไป สุดท้ายพบว่าจิตไม่เห็นจะโกรธเลย แต่ว่ามันโดนความโกรธหลอก โดนโมหะ โดนความหลงหลอก เลยคิดว่าเราโกรธ จริงๆ จิตไม่เคยโกรธ จิตไม่เคยโลภ จิตไม่เคยหลง เพียงแต่ความโกรธ ความโลก ความหลง มันเข้ามาครอบงำจิต มันทำให้จิตที่ดีของเราเศร้าหมองไป ค่อยๆ ฝึก แล้ววันหนึ่งปัญญาขั้นสูงเกิดขึ้น จะรู้แจ้งแทงตลอดลงมาที่ตัวจิต รู้แจ้งแทงตลอด จิตนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าเห็นจิตมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่ด้วยคิดเอา จิตจะปล่อยวางจิต ถ้าจิตปล่อยวางจิตได้ ก็ไม่มีอะไรต้องพูดกันต่อไปแล้ว
วัดสวนสันติธรรม
10 สิงหาคม 2567