ต้องมีวิหารธรรม

เมื่อเช้าหลวงพ่อเจอทีมงานไลฟ์อยู่คนหนึ่ง ดูภาวนาก็ดีขึ้นเยอะเลย ถามไปทำอะไรมา เขาบอกมีวิหารธรรม ฟังหลวงพ่อพูดเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ว่าจิตมันต้องมีเครื่องอยู่มีวิหารธรรม แต่ฟังแล้วมันก็เอาไปภาวนาไม่ได้ ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ได้ทำ ไปสนใจตรงการเจริญปัญญาเห็นความเกิดดับ โดยจิตไม่ได้มีวิหารธรรม มันไปไม่ได้ถ้าไม่มีวิหารธรรม

ในสติปัฏฐานสิ่งแรกที่เราต้องมีคือวิหารธรรม จะใช้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอันใดอันหนึ่งเป็นวิหารธรรม นี่เป็นสิ่งแรกเลยที่สติปัฏฐานพูดถึง ถัดจากนั้นก็มีความเพียรแผดเผากิเลส เรียกอาตาปี มีปัญญาขั้นต้นกำกับการปฏิบัติ เรียกว่าสัมปชัญญะ แล้วก็มีสติระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงไป ของรูปของนามอะไรที่กำลังมีกำลังเป็น ถัดจากนั้นก็จะถึงจุดสูงสุด ก็คือการถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก คือในรูปธรรมนามธรรม ฉะนั้นหลักของสติปัฏฐานจริงๆ มีเท่านี้ล่ะ ต้องทำต้องเรียนให้ดี อย่าข้ามอย่าทิ้งอันใดอันหนึ่งไป

 

บ้านให้จิตอยู่

เราก็ต้องดูว่าวิหารธรรมอันไหนพอเหมาะพอควรกับเราเอง อย่างคนที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อกี้ เขารู้สึกว่าถ้าใช้ร่างกายที่หายใจเป็นวิหารธรรม คืออานาปานสติมันละเอียดเกินไป มันหายใจตลอดเวลารู้สึกละเอียดไป จิตมันก็ทรงอยู่ไม่ได้ เลยหลงไปง่าย จะใช้อิริยาบถ 4 เป็นวิหารธรรมก็หยาบเกินไป ก็เลยใช้อิริยาบถย่อย อิริยาบถย่อย ร่างกายจะขยับท่าไหนก็ได้ หันซ้ายหันขวาคอยรู้สึก เรียกว่าเรามีบ้านให้จิตอยู่แล้ว จิตมันก็จะมีเรี่ยวมีแรง เหมือนอย่างคนเรามีบ้านอยู่ก็ได้พักผ่อนสบาย ไม่วอกแวกจรจัด คนไม่มีบ้านเขาเรียกจรจัด จรจัดหมายถึงจรไปไม่รู้จักจบจักสิ้น จิตที่ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีวิหารธรรม มันก็จรจัด เดี๋ยวมันก็จรไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จรไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะ จรไปแสวงหาธรรมารมณ์ต่างๆ จิตที่จรจัดไปเรื่อยๆ ไม่มีแรงหรอก เหนื่อย

ฉะนั้นให้จิตมันมีบ้านอยู่จะมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พอมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาเราก็ต้องรู้ ว่าเรามีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมาไม่ใช่เพื่อความสุข ความสงบ ความดีอะไรทั้งสิ้น แต่เพื่อแผดเผากิเลส ไม่ยอมเป็นทาสของกิเลส อย่างภาวนาแล้วติดในความสุขจิตมันมีราคะ ภาวนาแล้วก็เคร่งเครียดจิตมันมีโทสะ อันนี้เรียกว่าเราไม่มีตบะ ไม่มีความเพียรที่จะแผดเผากิเลส ฉะนั้นเวลาเราอยู่กับเครื่องอยู่เราก็สังเกตใจตัวเองไป ใจมีอกุศลให้รู้ ใจเป็นกุศลให้รู้ ตามรู้ตามเห็นมันไปเรื่อยๆ มีปัญญากำกับการปฏิบัติของเรา เราทำอะไร เพื่ออะไร จะทำอย่างไร อย่างตอนนี้จิตใจเราฟุ้งซ่าน เราก็กลับมาอยู่กับเครื่องอยู่ของเรา ไม่ต้องการเห็นไตรลักษณ์ ต้องการพักผ่อน ตอนนี้จิตใจเรามีกำลังพอแล้ว ถ้าพักผ่อนไปเรื่อยๆ ก็ขี้เกียจ กิเลสก็มาแล้วตัวขี้เกียจ หรือติดในความสุขความสงบอะไรอย่างนี้ นี่ก็กิเลสทั้งนั้น ก็รู้ทันนี่มันทำไปเพื่อกิเลส ไม่ใช่ทำไปเพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล ไม่ได้ลดละกิเลสทำแล้วพอกพูนกิเลส

สำรวจตัวเองว่าตอนนี้ควรจะทำสมถะ หรือตอนนี้ควรจะทำวิปัสสนา สมถะจะใช้อารมณ์อันไหนถึงจะเหมาะกับเรา บางทีอย่างแค่เรารู้อิริยาบถย่อยก็เป็นสมถะได้ ไม่ใช่เจริญปัญญาตลอด อย่างถ้าเรารู้อิริยาบถย่อย แต่ว่าสัญญาไม่ได้เข้าไปหมายรู้ ความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกายนี้ มันก็ไม่ขึ้นวิปัสสนา เราค่อยๆ สังเกตตัวเอง ตอนนี้ควรทำความสงบก็ทำ สงบพอสมควรแล้วมันสงบเฉยๆ อยู่ ก็ต้องกระตุ้นมันให้มันเดินปัญญา นี้บางทีเจริญปัญญาเป็นแล้ว ขยันเจริญปัญญา สมควรจะพักแล้วไม่ยอมพัก จะมีสัมปชัญญะก็รู้ทันตัวเอง ตอนนี้มันสมควรพักแล้ว เจริญปัญญาเยอะเกินไปจิตจะฟุ้งซ่าน ดีไม่ดีจิตหลอน เกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมาหลอกนึกว่าเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ไปเลย ก็ต้องกลับมาทำความสงบเข้ามา

ปฏิบัติไปเรื่อยๆๆ ต่อไปสติปัญญามันแก่รอบขึ้นก็จะเห็น เวลาที่จิตมันไปรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา มันไม่รู้เปล่าๆ หรอก มันรู้แล้วมันก็ยินดีบ้างยินร้ายบ้าง เช่น พอจิตวันนี้จิตมีสติถี่ยิบเลยรู้ตัวได้ดี ยินดีพอใจ ถ้าไม่รู้ทันคือติดกับดักแล้ว ไปไหนไม่รอดแล้ว ก็จะอยากมีสติตลอดเวลา ทั้งๆ ที่สติเป็นอนัตตาสั่งให้เกิดไม่ได้ แต่อยากให้มันมีแล้ว หรือภาวนาไปจิตสงบยินดีพอใจ ไม่เห็นว่ายินดีพอใจแล้ว ไม่รู้ทันก็ติดอยู่ในความสงบนั้น ติดกันเป็นปีๆ ถ้าเป็นพรหมก็ติดกับเป็นกัปๆ โลกแตกแล้วแตกอีก ก็ยังพอใจในความสงบว่างๆ อยู่อย่างนั้น

 

มีเครื่องอยู่เพื่อจะรู้จิต

ฉะนั้นการภาวนาจับหลักของการปฏิบัติให้มันแม่นๆ เลือกเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่ง เครื่องอยู่อย่ามีหลายอย่าง มี 1 – 2 อย่างอะไรอย่างนี้พอสมควร เหมือนคนมีบ้านหลายหลัง วุ่นวาย สมมติว่ามีบ้าน 7 หลัง วันจันทร์ไปอยู่หลังนี้ วันอังคารไปอยู่หลังนี้ พอเข้าไปบ้านสิ่งแรกที่ต้องทำคือกวาดบ้าน ถูบ้าน หมดแรงแล้วทำอะไรไม่ได้แล้ว อีกวันหนึ่งย้ายบ้านอีกแล้ว ก็มัวแต่เก็บกวาดอยู่อีก ทุกวันๆ ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ความสุขจากการมีบ้านเยอะๆ เลย มีบ้านหลังเดียวดูแลปัดฝุ่นแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว เราก็ว่างมีเวลาพักผ่อน พักผ่อนก็คือการทำสมถะ หรือเจริญปัญญา มีเวลาแล้ว แต่ถ้ามีเครื่องอยู่เยอะเกินไป ใจจะฟุ้งซ่านไม่สงบหรอก อย่างเรามีเครื่องอยู่คือลมหายใจ ที่จริงอันเดียวก็พอแล้ว หรือบางคนมีเครื่องอยู่คือการบริกรรมแล้วรู้ทันจิต จำไว้ให้ดี บริกรรมเพื่อจะรู้ทันจิต ถ้าบริกรรมเฉยๆ เผลอๆ เพลินๆ ใช้ไม่ได้ มันเป็นมิจฉาสมาธิทันทีเลย ฉะนั้นอย่างเรา พุทโธๆๆ ถ้าพุทโธแล้วไม่รู้ทันจิตตัวเองถือว่าผิดแล้ว พลาดแล้ว ล้มเหลวแล้ว

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ ท่านเป็นพระที่ทรงฤทธิ์ทรงอภิญญามาก แต่คนไม่ค่อยรู้จักท่าน คือท่านอาจารย์บุญจันทร์ ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ ท่านก็สอนเวลาบริกรรมพุทโธไม่ใช่พุทโธเฉยๆ ท่านบอก “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” พุทโธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า พุทโธแล้วก็คอยรู้ทันใจตัวเองไป อย่างนี้เรียกว่ามีเครื่องอยู่ คำบริกรรมเป็นเครื่องอยู่ เพื่ออะไร เพื่อจะรู้จิต ตรงที่เราไปอยู่กับคำบริกรรม ตรงนี้จะไม่เจริญปัญญาหรอก มันเป็นอารมณ์ที่เรียกอารมณ์บัญญัติเรื่องที่คิดขึ้น แต่ถ้าเราบริกรรมแล้วเรารู้ทันจิต เรียกว่าเราใช้จิตเป็นวิหารธรรม จะทำมรรคผลให้แจ้งได้ นี้บางคนเช้าก็อยู่กับเครื่องอยู่อันหนึ่ง สายไปอยู่อีกอันหนึ่ง กลางวัน ตอนเย็น ตอนค่ำ เปลี่ยนเครื่องอยู่ไปเรื่อยๆ เหมือนคนย้ายบ้านตลอดเวลา จิตจะไม่ได้พักผ่อนหรอก จิตจะไม่มีกำลังมันจะฟุ้งไปเรื่อยๆ เอาไม่ลงหรอก ถ้าจิตใจมันฟุ้งซ่านเราก็จะอ่านจิตไม่ออก มันวุ่นวาย

เพราะฉะนั้นเราต้องดูตัวเอง เราอยู่กับเครื่องอยู่อะไรแล้วจิตใจมันมีความสุข มีความสงบ เราก็อยู่กับเครื่องอยู่อันนั้น แต่ถ้ามันมีความสุข มีความสงบแล้วมันติด มันยินดีมันพอใจให้รู้ทัน จิตก็เป็นกลาง ก็รู้สภาวะไปด้วยความเป็นกลาง การอยู่กับเครื่องอยู่ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ตลอดเวลา การอยู่กับเครื่องอยู่เหมือนคนอยู่บ้าน เวลาเราอยู่บ้านเราจะออกจากบ้านเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นอย่างเราอยู่กับอิริยาบถย่อย หรืออยู่กับลมหายใจ แล้วจิตมันจะไปทำงานที่อื่น เราก็ไม่ห้ามหรอก เหมือนเจ้าของบ้านจะออกจากบ้านไปชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวก็กลับบ้านแล้ว ไม่เป็นไร ฉะนั้นอย่างเราอยู่กับอิริยาบถย่อย ต่อมาเราเห็นหมาบ้าวิ่งมา จะมามัวอิริยาบถย่อยไม่ทันแล้ว ใจมันกลัวขึ้นมา มันเกิดอารมณ์ที่รุนแรง คือความกลัวหมาบ้า สติรู้ลงที่กลัวเลย ไม่ใช่กำหนดอิริยาบถย่อยไปเรื่อยๆ จนหมากัด ใช้ไม่ได้หรอก

แต่การรู้อิริยาบถย่อยไม่ใช่แกล้งทำตัวเองให้ช้าๆ บางคนก็ฝึกรู้อิริยาบถย่อยแล้วค่อยๆ ขยับ นี่ย่อยมากไป ย่อยจนไม่เหลืออะไรเลย ย่อย หลวงพ่อเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่ง เขาไปเข้าคอร์สพอกินข้าวเช้าเสร็จเขาก็เริ่มแปรงฟัน ค่อยๆ ขยับ บีบยาสีฟันนานมากเลย แล้วก็มาแตะค่อยๆ ขยับ บอกอิริยาบถย่อย ขยับ จนเพื่อนกินข้าวกลางวันแล้ว คนนี้ยังแปรงฟันไม่เสร็จเลย อย่างนี้ไม่ได้เรื่อง รู้อิริยาบถย่อย รู้ความเคลื่อนไหวที่ปกติของเรา ไม่ต้องมารยา เวลากิเลสเกิดมันไม่ทำประณีตทีละนิดๆ อะไรอย่างนั้นหรอก กิเลสมันก็เกิดในสภาวะธรรมดาๆ นี่เอง ฉะนั้นอย่างเรารู้อิริยาบถย่อย ร่างกายขยับ ขยับแล้วรู้สึก ไม่ใช่แกล้งทำเรียบร้อย นุ่มนวลอะไรอย่างนี้ ไม่ต้อง เคยขยับอย่างไรก็รู้สึกไปอย่างนั้นล่ะ

 

เวลาภาวนาไม่ต้องมารยา

สมัยพุทธกาลมีในพระไตรปิฎก หรือในอรรถกถาจำไม่ได้แล้ว เรื่องท่านพระสารีบุตร พระสารีบุตรท่านเคยเกิดเป็นลิงตั้ง 500 ชาติ ท่านติดในสายลิงมา ลิงไม่เคยหยุดนิ่งเลย ยุกยิกๆ ตลอดเวลา พระสารีบุตรกระทั่งเป็นพระอรหันต์ กิริยาอาการก็ยังหลุกหลิกอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เรียบร้อยติ๋มๆ อย่างที่พวกเราวาดภาพออกมา ก็ท่านไม่มีมารยา พระอรหันต์ไม่มีมารยาหรอก กิริยาอาการท่านเป็นอย่างไร ท่านก็เป็นอย่างนั้น วันหนึ่งท่านจะออกจาริกไปที่เมืองอื่น พวกพระที่เคารพนับถือท่านมาส่งเยอะแยะเลย นั่ง ยืนเป็นแถวเลยส่งท่าน ท่านก็เดินทักทายไปทีละองค์ ร่ำลา บางทีก็แนะนำองค์นี้ทำอย่างนี้อะไรต่ออะไร มีอยู่องค์หนึ่งท่านคาดหวังว่าพระสารีบุตรจะต้องทักท่าน อย่างน้อยยิ้มให้สักทีก็ยังดี พระสารีบุตรเดินทักคนอื่นมาตลอด พอเจอองค์นี้ข้ามไม่ได้ทัก ไปทักองค์ต่อๆ ไป

เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านข้ามอย่างนั้น พอหลวงพ่อสอนกรรมฐานหลวงพ่อรู้ บางทีลูกศิษย์นั่งเรียงเป็นแถว หลวงพ่อทักๆๆ มาพอถึงองค์นี้ข้าม คือขณะนั้นใจยังไม่พร้อมที่จะเรียนธรรมะ ท่านก็ข้าม พอพระสารีบุตรไม่พูดด้วยก็โกรธเลย เซลฟ์จัดคิดว่าท่านต้องทักเรา พอไม่ทักโกรธไปฟ้องพระพุทธเจ้า คือพระสารีบุตรกิริยาท่าทางท่านหลุกหลิก ท่านหมุนตัวชายผ้าของท่านไปกระทบพระองค์นี้เข้า พระองค์นี้ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระสารีบุตรตีท่าน สำนวนโบราณบอกประหารท่าน ตีท่าน พระพุทธเจ้ารู้อยู่แล้วมันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ก็อยากให้ธรรมะอันนี้ปรากฏขึ้น ท่านก็บอกให้ไปเรียกพระสารีบุตรมา เรียกพระสงฆ์มา แล้วก็สอบสวนว่ามีคนมาฟ้องแล้ว ว่าพระสารีบุตรไปตีเขาจริงไหม

พระสารีบุตรท่านบอก ท่านไม่ได้มีความคิดที่จะทำร้ายใครเลย จิตท่านเหมือนแผ่นดิน จิตท่านเหมือนน้ำ เหมือนลม เหมือนไฟ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ยินดียินร้ายอะไร อย่างไฟไม่ใช่ยินดีที่จะต้องไหม้แต่ของหอม ถึงจะไหม้ซากศพอะไรอย่างนี้ ไฟก็ไหม้ตามหน้าที่ของไฟ จิตของท่านก็เหมือนกัน ไม่ได้มีความยินดียินร้ายอะไร พระพุทธเจ้าก็บอกว่าใช่แล้ว จิตพระอรหันต์เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเห็นไหมจิตท่านสะอาดบริสุทธิ์ แต่กิริยาท่าทางต้องเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันเป็นวาสนา ความเคยชินของพระสารีบุตร ไม่เรียบร้อยหรอก ร่างกายเคลื่อนไหวอะไรขยุกขยิกรวดเร็ว เดินไปเจอร่องน้ำ ถ้าเป็นพระอื่นคงหาทางเอาไม้มาทอดแล้วเดินข้าม พระสารีบุตรกระโดดปุ๊บเลยข้ามไปแล้ว เป็นนิสัยของท่านอย่างนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่จะสอนเรา ว่าเวลาเราภาวนาถึงเราใช้อิริยาบถย่อยหรืออะไรก็ตาม อย่าดัดแปลง ไม่ต้องมารยา เคยกระดุกกระดิกอย่างไรก็ได้ แต่ว่ากระดุกกระดิกแล้วรู้สึก รู้สึกตัวไป ขยับไปแล้วรู้สึก รู้สึกๆๆไปเรื่อย

ครูบาอาจารย์กระทั่งหลวงปู่ดูลย์ มีฤดูร้อนปีหนึ่งมีผู้หญิงฐานะดีเอาผ้านวมมาถวาย เขาบอกท่านบอกว่า เตรียมมาถวายตั้งแต่หน้าหนาวแต่ยังไม่ว่าง กว่าจะว่างถึงฤดูร้อนแล้ว ฤดูร้อนเมืองสุรินทร์ไม่ธรรมดา 40 องศาถือว่าเล็กน้อย ยังไม่ร้อนจัด กลางวันมันร้อน ลมพัดมาเหมือนลมพัดผ่านเตาไฟมาเลย ร้อนขนาดนั้น ฉะนั้นถูกลมไม่ได้ยิ่งร้อนหนักเข้าไปอีก มาเรียกให้ท่านห่มผ้านวมในฤดูร้อน ท่านบอกไม่จำเป็นหรอก ทำไมไม่จำเป็น เพราะตอนนี้ไม่หนาว ท่านไม่ตามใจ ผู้หญิงคนนี้อยากจะมาถ่ายรูปท่านห่มผ้านวม ไม่สำเร็จ โกรธ โกรธไปก็กลับไป

อุปัชฌาย์หลวงพ่อท่านเป็นหลานหลวงปู่ เจ้าคุณโพธิ์ เจ้าคุณสมศักดิ์ ท่านเป็นหลานหลวงปู่ แล้วก็อุปัฏฐากหลวงปู่อยู่ 40 กว่าปี ตั้งแต่ท่านยังเป็นเณร อยู่กับหลวงปู่จนหลวงปู่มรณภาพ ท่านอายุห้าสิบกว่า ท่านก็เข้าไปถามหลวงปู่ว่า ทำไมหลวงปู่ไม่ตามใจเขาหน่อยล่ะ ถ้าตามใจเขาๆ จะได้สบายใจ ท่านบอกมันไม่จำเป็น แล้วท่านก็บอกว่าจะทำให้ดูดี ให้คนนับถือ ไม่ยากหรอกท่านทำได้ เพราะก่อนที่ท่านจะบวช ท่านเคยเป็นนางเอกละครของเจ้าเมืองสุรินทร์ สมัยก่อนละครเขาเรียกละครนอก ละครที่อยู่นอกวังห้ามเอาผู้หญิงแสดง ส่วนละครในวังห้ามเอาผู้ชายแสดง หลวงปู่ดูลย์เคยเป็นนางเอกละคร ท่านบอกท่านเล่นละครเก่ง จะทำให้น่าเลื่อมใสแค่ไหน ให้ดูดีแค่ไหน ท่านทำได้หมด แต่ท่านไม่ทำเพราะไม่มีประโยชน์อะไร เห็นไหมท่านไม่มีมารยา

ฉะนั้นเราลูกศิษย์ลูกหาเราก็ดูไป ครูบาอาจารย์สอนกันมาอย่างนี้ ไม่ต้องมีมารยาในการปฏิบัติ เคยเดินท่าไหนมันก็เดินท่านั้น เคยนั่งอย่างไร จะนั่งยองๆ อย่างหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณนั่งยองๆ น่าเกลียดไหม ไม่น่าเกลียดเลย เป็นปกติของท่านอย่างนั้น ถ้าให้หลวงพ่อไปนั่งยองๆ นี่น่าเกลียดมาก เข้าขั้นอัปลักษณ์เลย เพราะถ้าหลวงพ่อนั่งยองๆ แล้ว หลวงพ่อจะลุกขึ้นไม่ได้อีกแล้ว แต่หลวงพ่อคูณทำได้งดงาม หลวงตามหาบัวท่านเคยพูดเองเลยว่า ใครอย่ามาเลียนแบบ พระองค์อื่น อย่ามาเลียนแบบกิริยาอาการของท่าน ไม่งาม ท่านงามเฉพาะตัวของท่าน เพราะท่านอย่างนี้ล่ะ ท่านเป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างนี้ ไม่มีมารยา ท่านบอกถ้าจะเลียนแบบให้งาม ให้ไปเลียนแบบหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์เป็นพระที่งาม งามแบบไม่เคยมีองค์ไหนที่หลวงพ่อเห็นแล้วเหมือนเลย ท่านงดงามจริงๆ ไม่ใช่รูปหล่ออย่างเดียว กิริยาอาการของท่านมันงามไปหมดเลย งามเกินมนุษย์ อย่างพวกเทพถ้าเราเคยรู้เคยเห็น เขาจะงาม นุ่มนวล เขาไม่มากระโดกกระเดก ร่างกายเขาดูไม่มีข้อมีปมอะไร กลมกลืนสวยงามนุ่มนวลไปหมด ครูบาอาจารย์ท่านบอกมา งาม มนุษย์ก็ดูกระโดกกระเดก เพราะร่างกายเราเป็นอย่างนี้ ร่างกายมนุษย์มันไม่ใช่กายทิพย์ มีข้อ มีปม ข้อศอก ข้อเข่าอะไรอย่างนี้

เวลาภาวนาไม่ต้องมารยา ทำเป็นให้ดูดีให้เรียบร้อย ถ้าจะฝึกอิริยาบถย่อย เคลื่อนไหวรู้สึก หยุดนิ่งรู้สึก หลักแค่นี้เอง รู้สึก ไม่ใช่จะต้อง ใครเขาไปไหนเราก็ไม่รู้เลยมัวแต่กริ๊กๆๆๆๆ อย่างนี้ เหมือนคนพิการเคลื่อนไหวไม่ค่อยจะได้ เอาไว้เวลาเป็นผู้ป่วยติดเตียง กระดุกกระดิกไม่ได้แล้วก็ค่อยทำอย่างนั้นก็แล้วกัน ตอนนี้ยังกระดุกกระดิกได้ เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกไป ฝึกตัวเองอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าเรา ร่างกายเราเคลื่อนไหวแล้วเรารู้สึก เราจะได้อะไร อันแรกเลยเราได้สติ ร่างกายเคลื่อนไหวเรารู้สึกๆ ต่อไปพอร่างกายเคลื่อนไหว ไม่เจตนาจะรู้สึกก็รู้สึกได้เอง

ฉะนั้นตัวแรกที่เราจะได้คือสติ พอมีสติศีลมันก็มาเอง แล้วการที่เราเห็นร่างกายเคลื่อนไหว รู้อยู่ในอารมณ์เดียวเราจะได้สมาธิชนิดสงบ แล้วถ้าร่างกายเคลื่อนไหวแล้วเราเห็นจิตมันเคลื่อนไป สมมติมือเคลื่อนไหวแล้วจิตเคลื่อนไปที่มือ รู้ทัน จิตหนีไปที่อื่นรู้ทัน เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น ฉะนั้นเราเคลื่อนไหวรู้สึกให้ดี รู้สึกตามธรรมชาติไม่ใช่แกล้งทำ สิ่งที่ได้อันแรกคือสติ อันที่สองเราจะมีศีล อันที่สามเราจะมีสมาธิชนิดสงบ อยู่ในอารมณ์เดียวคือการเคลื่อนไหว อันที่สี่แล้วถ้าเรารู้ทันจิตเข้าไปด้วย จิตหนีไปจากมือแล้ว จิตหนีไปคิด จิตหนีไปเพ่งมือ รู้จิตที่เคลื่อนเราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น แค่นี้จะมีปัญญาหรือยัง ยัง แต่มีจุดตั้งต้นที่จะเกิดปัญญาแล้ว คือสัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นนี้เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ใกล้แล้วแต่ยังไม่ถึงปัญญา แต่ใกล้ที่จะเกิดแล้ว ทำอย่างไรจะมีปัญญา เติมใส่เครื่องหมายบวก เติมสัญญาลงไป บางคนก็สอนว่าสัญญาเป็นศัตรูของการปฏิบัติ เป็นตัวล่อลวงจิตให้หลง

 

สัญญาวิปลาส

สัญญามี 2 ชนิด สัญญาที่ไม่ดีเรียกว่าสัญญาวิปลาส สัญญาวิปลาสมี 4 อย่าง คือการเห็นของซึ่งไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม อย่างร่างกายเรานี้ไม่สวยไม่งาม สกปรก โสโครก เราก็ไปเห็นว่า แหม สวยจังเลย ผู้หญิงคนนี้สวยจังเลย ถ้าดูเป็นไม่สวยหรอก จะเห็นมันซ่อนความโสโครกอยู่ภายใน ร่างกายที่ว่างามนักหนา เหมือนถุงใบหนึ่ง เหมือนถุงทำด้วยหนัง ถุงหนังใบหนึ่งมีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง รูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน มีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา ขี้หู ขี้หัว ขี้ตา มีแต่คำว่าขี้ ภาษาไทย จนถึงขี้ตีน ขี้เล็บ ขี้มือ มันไม่ได้สวยได้งาม แต่คนหลงจะไปหมายรู้ว่าร่างกายนี้สวย ว่าร่างกายนี้งาม

หมายรู้ผิดอันที่สอง คือหมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง อย่างจิตเรานี้เกิดดับตลอดเวลา เรากลับรู้สึกว่าจิตเราเป็นอมตะ จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเราเมื่อวานก็คนเดียวกัน จิตดวงเดิม จิตเดี๋ยวนี้กับจิตชาติก่อนก็ยังเป็นจิตดวงเดิม เวลาตายก็จิตดวงนี้ออกจากร่างไปหาร่างอยู่ใหม่ อันนี้เป็นการหมายรู้ผิด หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง จริงๆ แล้วจิตเกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา

หมายรู้ผิดอันที่สาม คือหมายรู้สิ่งซึ่งเป็นทุกข์ว่ามันเป็นสุข อย่างรูปนามขันธ์ 5 เราเห็นเป็นของดีของวิเศษนำความสุขมาให้ ที่จริงมันคือก้อนทุกข์ล้วนๆ เลย มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีแต่ทุกข์กับสุข มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น กายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตก็มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่กายนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง จิตสุขบ้างทุกข์บ้าง อันนั้นสำหรับคนซึ่งยังหมายรู้ผิดอยู่ ยังเห็นผิดอยู่

หมายรู้ผิดอันที่สี่ หมายรู้ของที่ไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวตนของตน อย่างเรารู้สึกนี่ตัวเรา ถ้าตัวเราจริงเราต้องสั่งได้ สั่งว่าอย่าแก่ได้ไหม ไม่ได้ สั่งว่าอย่าเจ็บได้ไหม ไม่ได้ อย่าตายได้ไหม ไม่ได้ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน สั่งได้ไหมว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ สั่งได้ไหมว่าอย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ จงมีแต่ความดี สั่งได้ไหม ไม่ได้ ห้ามชั่ว ห้ามได้ไหม ห้ามก็ไม่ได้ ความจริงก็คือมันเป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ แต่หมายรู้ผิดก็คิดว่าบังคับได้ ร่างกายนี้เราบังคับได้ สั่งให้กำมือแบมือเราก็สั่งได้ เคยภาวนานะ เคยภาวนาไปหลับลงไปแล้วจิตตื่นขึ้นมา จิตตื่นแล้วร่างกายยังไม่ทันตื่น สั่งให้ร่างกายขยับมันไม่ขยับ เฮ้ย ลุกขึ้นมาได้แล้ว ไม่ลุก ขยับมือซิ ไม่ขยับ ขยับเท้าซิ ไม่ขยับ สั่งมันไม่ได้ มีแต่ของสั่งไม่ได้ ห้ามไม่ได้

ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นเราห้ามมันไม่ได้หรอก ถ้าห้ามได้เราคงห้ามอย่าแก่ อย่าหนังเหี่ยว อย่าฟันหัก อย่าหัวหงอก อย่ามีตีนกา เอาจริงๆ ห้ามไม่ได้ เวลาที่เราเห็นสภาวธรรมแล้ว เรารู้สึกเนื้อรู้สึกตัวไปอย่างนี้ ร่างกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนรู้ไปเรื่อย เราก็หมายรู้ลงไป ถ้าเราแค่เห็นร่างกายเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เป็นสมาธิ เราเติมสัญญาลงไป หมายรู้ลงไปร่างกายที่เคลื่อนไหวนี้มันถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเราหรอก ตรงนี้จิตจะเริ่มเดินปัญญาแล้ว มีการหมายรู้ถูกเกิดขึ้น ถ้าหมายรู้ถูกจะมีหมายรู้ของไม่สวยไม่งาม ว่าไม่สวยไม่งาม ของไม่เที่ยงก็หมายรู้ว่าไม่เที่ยง ของเป็นทุกข์ก็หมายรู้ว่ามันเป็นทุกข์ ของไม่ใช่ตัวเราก็หมายรู้ว่าไม่ใช่ตัวเรา

 

หมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์

ถ้าเรามีสติ มีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว คือทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ต้องหมายรู้ สติระลึกรู้กายก็หมายรู้กาย ด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป หมายรู้จิตก็ด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป หมายรู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ การหมายรู้ถูกก็จะทำให้เกิดการคิดถูก คิดถูกก็จะทำให้เกิดความเห็นถูก ความเห็นถูกนั่นล่ะตัวสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นเราหมายรู้ให้ถูกไป ตัวนี้ที่เคลื่อนไหวรู้สึกไป นี่มันไม่ใช่เรา รู้สึก ทีแรกอาจจะเจือการคิดนำ ร่างกายนี้มันไม่ใช่เราหรอก มันเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุนี่หว่า ทีแรกอาจจะช่วยมันคิดนิดหนึ่ง จิตมันไม่เคยหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ ทีแรกอาจจะช่วยมันคิดนิดหนึ่ง แต่ถ้ามันเคยหมายรู้มาแต่ชาติก่อนๆ ไม่ต้องช่วยเลย มันจะหมายรู้อัตโนมัติเลย

แต่ถ้ามันไม่เคยเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ พอรู้ตัวชัดขึ้นมาแล้วช่วยมันนิดหนึ่ง หมายรู้ลงไปในกายนี้ กายนี้ไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายรู้ หัดหมายรู้ แล้วต่อไปจิตมันหมายรู้ได้เอง พอขยับมันรู้สึกขึ้นมา นี่มันไม่ใช่เรานี่หว่า ไม่ใช่เรา หรือดูจิตดูใจเหมือนกัน ถ้าเราดูจิตแล้วสว่างว่างนิ่งเฉยอยู่ อย่ามัวภูมิใจว่าภาวนาดี อันนั้นติดสมาธิ ต้องหมายรู้ลงไปให้ได้ว่า จิตที่สว่างนี่คงที่ไม่คงที่ เดี๋ยวก็สว่างมาก เดี๋ยวก็สว่างน้อย เดี๋ยวก็มืดลงไป มันไม่เที่ยงนี่ หรือจิตใจมีความสุข รู้ลงไปจิตใจมีความสุข มันก็ไม่คงที่ มันสุขประเดี๋ยวหนึ่งเดี๋ยวความสุขก็ค่อยลดลงๆ แล้วก็หายไป

หัดหมายรู้ลงไปในกาย หัดหมายรู้ลงไปในใจ ให้มันเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าหมายรู้จิตไม่มีอสุภะ เพราะจิตไม่มีร่างกายที่จะเปื่อยเน่า ก็มีแค่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าหมายรู้กายก็จะเห็นเลยเป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การหมายรู้ถูกทำให้เกิดการคิดที่ถูก เวลาคิดเราก็คิดเออมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ความคิดถูกจะนำไปสู่ความเห็นถูก ฉะนั้นทีแรกมีสัญญามีการหมายรู้ถูก จะเกิดความคิดถูก จะเกิดความเห็นถูก ที่เราภาวนาแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้อะไรมา ไม่เสียอะไรไป ยกเว้นได้ความเห็นถูกมา เสียความเห็นผิดไป แต่เดิมเรามีความเห็นผิด มีความคิดผิด มีความเห็นผิดว่านี่คือตัวเราอย่างแท้จริง พอจิตเราตั้งมั่นแล้วเราก็มีสัญญาหมายรู้ลงไป ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจเรื่อยๆ ไป สุดท้ายมันก็เวลาคิดขึ้นมาร่างกาย เวลาคิดถึงร่างกายไม่ใช่เรา คิดถึงจิตใจก็เห็นมันไม่ใช่เรา มันเป็นธาตุรู้อันหนึ่งเท่านั้นเอง ทำหน้าที่รู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่คงที่ ไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เห็นซ้ำๆๆๆๆๆ ลงไป สุดท้ายความเห็นถูกที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น สัมมาทิฏฐิก็จะเกิดขึ้น

นี่คือเส้นทางที่เราจะภาวนา ฉะนั้นอย่างเราเริ่มต้นด้วยการรู้อิริยาบถ อิริยาบถย่อย ขยับ ขยับไปตามธรรมชาติไม่ต้องแกล้งช้าๆๆ ช้าๆ กว่าจะขยับยกมือขึ้นมาตรงนี้ กิเลสเกิดไป 500 รอบแล้วยังไม่เห็นเลย กริ๊กๆๆ ทุกกริ๊กนี้กิเลสเกิดไปตลอดเวลาแล้ว ไม่เคยเห็นเลย อันนั้นล้มเหลวในการปฏิบัติ ถ้าขยับอย่างนี้แล้วเฮ้ยเมื่อกี้หลงนี่ รู้ว่าเมื่อกี้หลง ใช้ได้แล้ว บางคนบอกหลวงพ่อปราโมทย์สอนอย่างนี้ไม่ถูกหรอก รู้ว่าเมื่อกี้หลงไม่เป็นปัจจุบัน ต้องเป็นปัจจุบัน ถามหน่อยขณะที่หลงมีสติได้ไหม ในขณะที่หลงไม่มีสติหรอกเพราะจิตเป็นอกุศล

การรู้กาย รู้ลงปัจจุบันขณะได้ ขณะนี้กำลังกำมือแบมือ ขณะนี้ อันนี้เรียกว่าปัจจุบันขณะ แต่การดูจิตดูใจเขาเรียกปัจจุบันสันตติ สืบเนื่องในปัจจุบัน เช่นโกรธขึ้นมาแล้วรู้ว่าโกรธ ไม่ใช่วันนี้โกรธพรุ่งนี้รู้ อันนั้นไม่เป็นปัจจุบันสันตติ สันตติมันต่อทันทีเลย โกรธปุ๊บรู้ปั๊บ โลภปุ๊บรู้ปั๊บ หลงปุ๊บรู้ปั๊บ หัดรู้อย่างนี้ การดูนามธรรมไม่ใช่ดูเป็นปัจจุบันขณะ แยกตัวนี้ให้ออก ไม่เหมือนกัน ดูกายนี่กายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ไม่ใช่เรา หมายรู้ลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่คิดจนเครียด แค่หมายรู้ไม่ใช่คิด ต่างกัน ถ้าวันหนึ่งก็นั่งคิดไอ้นี่ไม่ใช่เรา ไอ้นี่ก็ไม่ใช่เราคิดฟุ้งซ่าน ความคิดจะทำให้จิตตกจากสมาธิ แค่รู้สึกไปๆ แล้วก็หมายรู้ พูดง่าย แต่ว่าตรงไหนหมายรู้ต้องไปสังเกตเอาเอง แค่ไหนมันหมายรู้กับตรงไหนคิด ไม่เหมือนกันหรอก แต่ภาษามนุษย์มันสื่อไม่ได้แล้ว มันได้แค่นี้

ฉะนั้นเราไปสังเกตตัวเอง ถ้าเคลื่อนไหวแล้วเราหมายรู้ลงไป นี่ไม่ใช่เราเป็นวัตถุเท่านั้น ใจจะไม่มีน้ำหนักขึ้นมา ตรงถ้าเรามันขมวดเข้าไปในความคิดเมื่อไร มันจะหนักๆ ขึ้นมาเลย ใจหลงไปอยู่ในโลกความคิดเมื่อไร มันจะหนักเลย แต่ถ้ามันหมายรู้เฉยๆ ใจไม่หนัก ทำไมหมายรู้ไม่หนัก หมายรู้เป็นตัวสัญญา ที่มันหนักขึ้นมาเพราะตัวสังขาร อย่างโลภ โกรธ หลงเกิด กุศลเกิด หนักนะ แต่การหมายรู้ไม่มีน้ำหนักเกิดขึ้นในใจหรอก มันมีดีกรี ค่อยๆ สังเกตเอาก็แล้วกัน ถ้าอยู่ต่อหน้าเราก็บอกได้ นี่อยู่กันทีเยอะแยะเป็นพันเป็นหมื่นอะไรอย่างนี้ ไม่รู้จะชี้อย่างไร

 

 

สรุป ถ้าเราใช้อิริยาบถย่อย เคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวไป ใจเราเป็นคนดูสบายๆ ใจไม่จมลงไป ไม่ไปเพ่งในอิริยาบถย่อย แล้วก็ไม่หลงลืมอิริยาบถย่อย รู้สึกไปเรื่อยๆ ถ้ามันรู้สึกดีแล้วสังเกตต่อไปอีก ตัวที่เคลื่อนไหวอยู่นี่มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา รู้สึกๆ ไป แล้วต่อไปเราไม่ได้เจตนารู้สึกมันจะรู้สึกเอง ตรงที่มันรู้สึกได้เองจิตมันมีสัญญาที่ถูกต้องแล้ว มันเดินสัญญาที่ถูกต้องได้เองแล้ว แล้วสุดท้ายมันจะเห็น เกิดความเห็นถูก ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตที่เป็นคนไปรู้ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี มีแต่สภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ใจก็เข้าถึงธรรมะ เข้าใจความจริงแล้วตัวเราไม่มีหรอก

วันนี้พูดถึงอิริยาบถย่อยเยอะหน่อย เพราะเมื่อเช้าเจอพวกที่มาช่วยงานไลฟ์สด เห็นเขาภาวนาดี เขามีวิหารธรรมใช้อิริยาบถย่อย ก็เลยฉวยโอกาสสอนต่อเลยว่า จากอิริยาบถย่อยจะเดินต่อไปอย่างไร แต่อย่าฟุ้งซ่าน อย่าใจร้อน ค่อยๆ ทำไป ถ้าใจร้อนปุ๊บๆ ขั้นนี้แล้วขั้นนี้ๆ ฟุ้งซ่าน สมาธิแตกหมดเลย ใช้ไม่ได้ ใจเย็นๆ แล้วความจริงถ้าเราไม่ได้ใช้อิริยาบถย่อย เราใช้กรรมฐานอื่น ใช้วิหารธรรมอย่างอื่น ก็ใช้หลักอันเดียวกันนั่นล่ะ อย่างเราจะดูจิตดูใจ ไม่ได้ทำจิตให้นิ่งให้ว่าง จิตมันเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนร่างกายมันเคลื่อนไหวอย่างไร ก็รู้มันไปอย่างนั้น ไม่ต้องมารยาทำเป็นเรียบร้อย จิตนี้เหมือนกัน ถ้าเราจะดูจิตเป็นวิหารธรรม จิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันดี จิตมันชั่ว รู้มันไป จิตมันเกิดที่ตารู้ เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ รู้ รู้อย่างที่มันเป็น ไม่ต้องมารยาทำเป็นเรียบร้อย แหม จิตสำรวมนิ่งๆ

หลวงพ่อได้ยินบางที่เขาไปภาวนา 7 วัน ออกใบรับรองเลยได้โสดาบัน ไปเรียนครั้งที่สอง 7 วันได้สกทาคามี อีก 7 วันได้อนาคามี อีก 7 วันเป็นพระอรหันต์ อีก 7 วันตกนรกอีกแล้ว ฉะนั้นเวลาไปภาวนาอย่ามัวแต่บ้า certificate ไม่ต้องหาให้ใครเขามารับรองเราหรอก ดูกิเลสตัวเองให้ออก ไม่ใช่ บางที่เขาใช้วิธีนี้ล่ะ ใช้วิธีแต่งตั้งให้เราเป็นพระอริยะ เราไปเรียนกับเขาไม่กี่วันเลย เขาตั้งเป็นพระโสดาบัน เราก็ดีใจเราปลื้มเลื่อมใสศรัทธา ที่นี่สอนดีจังเลยอะไรอย่างนี้ ไม่รู้หรอกว่าโดนเขาหลอกแล้ว เหมือนเมื่อก่อนตอนหลวงพ่อยังไม่บวช มีเพลง รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก มันเต็มใจจริงๆ เพราะเขาตั้งให้เป็นพระอริยะ

อย่าบ้าพระอริยะ มันไม่ได้เยอะ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรอก กิเลสเราหนากว่าภูเขากว่าแผ่นดินเสียอีก กว่าจะขุดดินทะลุลงไปเจอน้ำบาดาลไม่ได้ตื้นๆ ขุดกันนาน ฉะนั้นกว่าจะขุดสันดอน คือสันดานของเราได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอก ฉะนั้นประเภท 3 วัน 7 วัน เขารับรองแล้ว อาจจะมี 1 คนเขาได้จริงๆ เพราะบารมีมันเต็มแล้ว คนที่สองมา 3 วันก็ได้เหมือนกันอีกแล้ว คนที่สามมาก็เหมือนกันอีกแล้ว ต้องเฉลียวใจเลย อย่าโง่ เขากำลังเอาเหยื่อมาหลอกเรา เอาความเป็นพระอริยะมาหลอกเรา จะเป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ ที่สำคัญก็คือจิตใจเราพ้นจากกิเลสได้แค่ไหน บางทีภาวนาทำจิตให้นิ่ง ให้ว่าง ให้สว่าง เข้าไปอยู่อย่างนี้แล้วบอกไม่มีกิเลส มันจะมีอะไร เพราะจิตมันไปทรงสมาธิขึ้นมา กิเลสหยาบๆ มันก็ไม่มี แต่ถามว่าอยู่ตรงนี้แล้วมีกิเลสละเอียดไหม มี จิตติดในรูปราคะ ในอรูปราคะได้อีก แล้วถอยออกมาก็มีมานะ กูเก่งกว่าคนอื่น กูเป็นพระอริยะ ถ้ารู้สึกว่ากูเป็นพระอริยะ ปลอมแน่นอน พระอริยะไม่รู้สึกว่าตัวเป็นพระอริยะหรอก แต่รู้สึกว่าธรรมดาเท่านั้นล่ะ ธรรมดาที่สุดเลย

ฉะนั้นภาวนา ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งคือมีวิหารธรรม มีสติระลึกไปเรื่อยๆ ระลึกไปมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล ถ้าภาวนาแล้วอกุศลงอกงาม กูเก่ง กูใหญ่ กูดีอย่างโน้นอย่างนี้ อันนี้ผิดแล้วล่ะ กูเป็นพระอริยะ โอ๊ย ถ้ากูเป็นพระอริยะได้ ถ้ารู้สึกกูเป็นพระอริยะ มึงก็พระอริยะเหมือนกัน มีกูมันก็มีมึง มันก็มีเรา มันก็มีเขา พระอริยะไม่รู้สึกอย่างนั้นหรอก มันไม่มีเราเสียอย่างเดียวมันก็ไม่มีเขา ถ้ามีเราก็มีเขา คือโง่เป็นควายมีเขา ยังมีเราอยู่

ฉะนั้นหัดรู้หัดดู ทำกรรมฐานต้องมีเครื่องอยู่ อยู่ไปแบบไม่สนองกิเลส ลดละกิเลสไป สำรวจตัวเอง รู้เท่าทันตัวเอง ควรทำความสงบก็ทำ ควรเจริญปัญญาก็เจริญ วิธีเจริญปัญญาก็คือหมายรู้ให้ถูก รู้สึกในรูปก็หมายรู้รูปอย่างถูกต้อง รูปนี้ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล อสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายรู้จิตก็หมายให้ถูกต้อง จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตไม่มีอสุภะ จิตไม่มีรูป หมายรู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดความรู้ถูก เกิดความเห็นถูก เวลาเกิดสัมมาทิฏฐินั้นเกิดในขณะจิตเดียว ถ้าค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจยังไม่ใช่ เวลาเกิดสัมมาทิฏฐิตัวจริงเกิดในอริยมรรค ชั่วขณะจิตเท่านั้นเองแวบเดียวเข้าใจแล้ว มันปิ๊งขึ้นมาเลยเข้าใจแล้ว ค่อยสะสมทีละเล็กทีละน้อย อันนี้เป็นการสะสมปัญญาในเบื้องต้น เรียกว่าบุพพภาคมรรค เป็นเบื้องต้นแห่งมรรค ตอนที่อริยมรรคเกิดนั้น เกิดชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 กุมภาพันธ์ 2565