พ้นทุกข์ด้วยอริยสัจ 4

คนมีปัญญาก็รู้จักแสวงหาประโยชน์จากศาสนา คนไม่มีปัญญาก็แสวงหาประโยชน์ไปอีกอย่างหนึ่ง อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์โลกๆ ประโยชน์ในทางพัฒนาคุณธรรม พัฒนาจิตใจอะไรอย่างนี้ ต้องมีปัญญารู้จักเลือกเฟ้น กว่าพระพุทธศาสนาจะรอดมาถึงยุคเรา ผ่านอะไรต่ออะไรมาเยอะแยะ หลายพื้นที่หลายประเทศก็ล่มสลายไป พวกเรามีสติมีปัญญา เรารู้ว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนมีคุณค่ามาก มันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาจิตใจเราให้พ้นจากความทุกข์ ไม่มีศาสตร์อื่นเทียบได้เลยในเรื่องที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้

ศาสตร์อื่นๆ บางทีก็แค่เรื่องบรรเทาทุกข์ หรือกลบเกลื่อนทุกข์ ทุกข์ขึ้นมาก็ร้องรำทำเพลง ฟังเพลง ทำสปา รีแลกซ์ มีหลักสูตรรีแลกซ์อะไรเยอะแยะ มันก็เป็นความพยายามของคนทั้งหลาย พยายามหาวิธีการทำอย่างไรแล้วจะสบายใจ ทำอย่างไรแล้วจะไม่ทุกข์ มันไม่ตอบโจทย์จริง อย่างถ้าเราต้องเสียเงินเยอะๆ เพื่อไปเข้าคอร์สบำบัดทางจิตใจอะไรอย่างนี้ ออกจากคอร์สไม่นานมันก็เป็นอีก เพราะต้นเหตุของทุกข์มันยังอยู่ พระพุทธเจ้าท่านเลยไม่ได้สอนแค่การแก้อาการของทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ก็ไปร้องเพลงให้ลืมๆ ไป ลืมเรื่องราวที่ทำให้ทุกข์ ลืมเหตุผลที่ทำให้ทุกข์ อันนั้นเป็นวิธีหนีทุกข์ ในโลกมันก็มีแค่นั้น อย่างเก่งก็แค่หนีทุกข์

หนีทุกข์ก็คือหนีความจริง เพราะทุกข์มันเป็นความจริง หนีความจริงก็หนีไม่รอด ถึงจุดหนึ่งก็ทุกข์อีก มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้เราปฏิบัติไป ฝึกตัวเองไป แล้วพ้นทุกข์ได้จริงๆ การจะพ้นทุกข์ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ตัวทุกข์ ละก็ละที่ต้นเหตุ ตัวทุกข์มันเป็นปลายเหตุแล้ว ปลายทาง เป็นผล คำสอนของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยหลักของเหตุผลแท้ๆ เลย ไม่ใช่เรื่องงมงาย ไม่ใช่เรื่องต้องเชื่อเอา

 

เราจะแก้ปัญหาทั้งหลาย อย่าลืมหลักของอริยสัจ 4

หลวงพ่อเคยทำงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่นานนักหนาหลายสิบปีมาแล้ว เข้าไปทำงานใหม่ๆ มีหัวหน้ากอง หัวหน้ากองท่านนี้ต่อมาท่านก็เป็นเลขาธิการสภา ความมั่นคงคนหนึ่ง หัวหน้ากองสอนหลวงพ่อ สอนดี บอกเราจะแก้ปัญหาทั้งหลาย อย่าลืมหลักของอริยสัจ 4 แก้ปัญหาของบ้านเมือง กำหนดนโยบายแก้ปัญหาอะไรต่างๆ บอกอย่าทิ้งหลักของอริยสัจ ขั้นแรกต้องศึกษาก่อน เก็บข้อมูลให้ได้ก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหามันเป็นอย่างไร ต้องรู้ว่าปัญหามันเป็นอย่างไรก่อน อันนี้ก็คือการรู้ทุกข์นั่นเอง ถัดจากนั้นต้องวิเคราะห์ให้ออก ศึกษาให้ออกให้ได้เลยว่าสาเหตุของปัญหามันอยู่ที่ไหน ตัวสาเหตุของปัญหาก็คือตัวสาเหตุของทุกข์ เปรียบเทียบกัน คือตัวสมุทัยนั่นเอง เมื่อเรารู้สาเหตุแล้ว เราจะแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่แก้ที่ตัวปัญหา แต่เราต้องแก้ที่เหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ก็คือละที่ตัวสมุทัย ไม่ใช่ละที่ตัวทุกข์ ท่านผู้นี้ท่านเก่งจริง ท่านมองทะลุปรุโปร่งได้ หลวงพ่อได้ครูดีหลายท่าน ท่านนี้เป็นครูดีคนหนึ่ง ตอนนี้คงอายุร่วม 90 แล้ว

พอเราจะแก้ที่ต้นเหตุคือแก้ที่ตัวสมุทัย จะละที่ตัวสมุทัย เราก็ต้องมาดู ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาของเราคืออะไร คือต้องทำลายปัญหาให้หมดไป หรือยังทำไม่ได้ก็ทำให้มันเบาบางลง กำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา ท่านเทียบบอกนี่คือตัวนิโรธ ถัดจากนั้นเราก็ต้องมาดู เรารู้สาเหตุแล้ว จะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ที่สาเหตุ เรามีทรัพยากรอะไรที่จะใช้ในการแก้ปัญหา หรือเรามีข้อจำกัดอะไรในการแก้ปัญหา ตรงเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ล่ะคือตัวมรรค เรียนรู้ลงไป เครื่องมือตัวไหนยังไม่มีก็สร้างขึ้นมา เครื่องมือตัวไหนมีแล้วก็รักษาไว้ไม่ให้เสื่อมไป

อย่างเวลาเราภาวนา ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ต้องพัฒนาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ เราก็ต้องพัฒนาสัมมาสมาธิ หรือเราไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องศึกษา ศึกษาจากพระไตรปิฎกจากอะไรนี่ ให้ได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น เป็นทฤษฎีชี้นำว่าเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร นี่คือตัวสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น ฉะนั้นไม่ว่าเราจะแก้ปัญหาทางโลก หรือเราจะแก้ปัญหาทุกข์ทางจิตใจของเรา หลักมันก็ตรงกันนั่นล่ะ เพราะสัจจะความจริงก็ต้องเป็นความจริงในทุกที่ทุกเวลา ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะในวัด ไปแก้ปัญหาชีวิตจริงทำไม่ได้ อันนั้นด้อยเกินไป ศาสนาพุทธไม่ได้ด้อยอย่างนั้น ที่หลวงพ่อสอนพวกเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็สอนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนั่นเอง สอนพวกเราให้รู้ทุกข์

 

กิจต่อทุกข์คือการรู้

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูป นาม กาย ใจ ตัวขันธ์ 5 คือตัวทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านก็บอก สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 คือทุกข์ คำว่า อุปาทานขันธ์ หมายถึงขันธ์ซึ่งสามารถเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นได้ ขันธ์มีหลายแบบ ขันธ์บางอย่างไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่น อย่างโลกุตตรจิตทั้งหลาย เป็นขันธ์ไหม เป็น แต่ไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่น ไม่ใช่ตัวทุกข์ เป็นตัวนิโรธ ท่านบอกแล้วว่าขันธ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือทุกข์ พูดอย่างนี้ ฟังยาก พูดให้ง่ายๆ ก็คือขันธ์ที่พวกเรามีตอนนี้ล่ะ มันคืออุปาทานขันธ์ เรามีกาย เราก็ยึดกาย เรามีเวทนา เราก็ยึดเวทนา เรามีสัญญา เราก็ยึดสัญญา เรามีสังขาร ปรุงดีปรุงชั่ว เราก็ยึดความปรุงแต่ง เรามีจิตมีใจ เราก็ยึดจิตใจของตัวเอง สิ่งที่พวกเรามีนี่ล่ะ นี่เรียกว่าอุปาทานขันธ์

ถ้าเป็นพระอริยะ ถ้าเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีอะไรนี่ ท่านยังไม่พ้นจากอุปาทานขันธ์ทั้งหมด แต่ท่านเริ่มรู้จักขันธ์ที่ไม่ใช่อุปาทานแล้ว คือรู้จักโลกุตตรจิต โลกุตตรเจตสิกที่เกิดร่วมกัน รู้จักสิ่งเหล่านี้ พวกเราไม่มี เราเป็นปุถุชน นึกถึงร่างกายนี้ ก็กายเรา นึกถึงความสุขความทุกข์ ก็เราสุขเราทุกข์ นึกถึงกิเลส อย่างโกรธอย่างนี้ เราโกรธ แหม เราใจบุญ เราดี เรามีศรัทธา มันมีเราแฝงอยู่ตลอด ตัวจิตตัวใจก็เป็นเราอีก ตัวนี้เป็นตัวเราที่เหนียวแน่นที่สุด ปุถุชนเราเป็นอย่างนี้ นี่คือตัวทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ รู้อย่างที่มันเป็น อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรา รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ไม่ใช่เข้าไปดัดแปลง พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เราดัดแปลงทุกข์ ท่านบอกให้เรารู้ทุกข์ กิจต่อทุกข์คือการรู้ ฉะนั้นเรารู้กายเรารู้ใจไป

บางเวลา บางคน บางสถานที่ บางเหตุการณ์ หลวงพ่อก็สอนเรื่องตัวสมุทัย เห็นไหม เรามีความอยาก มีความยึด เราก็มีความทุกข์ ถ้าไม่อยาก ไม่ยึด ก็ไม่ทุกข์ นี่ธรรมะขั้นกลางๆ ถ้าสูงขึ้นไป จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด ถ้ายังมีขันธ์อยู่ ยังเกาะเกี่ยวขันธ์อยู่ ก็ยังทุกข์อยู่ เพราะว่าตัวขันธ์นั่นล่ะ ตัวทุกข์ บางทีก็สอนให้สาวลึกลงไป สำหรับบางคนสติปัญญาแก่กล้าขึ้นมา ดูลงไป สิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัณหาหรือเบื้องหลังตัวสมุทัย ตัวหัวโจก ตัณหาอุปาทาน คือตัวอวิชชา สอนทวนเข้าไปหาตัวเหตุ ละก็ละที่เหตุ ถ้าละอวิชชาได้ตัวเดียว ทั้งหมดล่มสลายหมดเลย วัฏฏะถล่มลงต่อหน้าต่อตาเลย

อวิชชาคืออะไร อวิชชาคือความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อวิชชาจะเป็นลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้เหตุของทุกข์ รู้กายรู้ใจไป แล้วจะรู้เลยว่าเหตุของทุกข์ มันมาจากอยากนี้ล่ะ ถ้าไม่อยากมันไม่ทุกข์ ถ้าไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ถ้าความอยาก พอเรารู้ทันใจอยาก ประเดี๋ยวเดียว หายได้เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวอยากอีกล่ะ เพราะเหตุของความอยากยังอยู่ คือตัวอวิชชายังอยู่

ค่อยเรียน ค่อยศึกษาดูจากของจริงในกายในใจของเรานี้ล่ะ มันจะทวนเข้าไปหาตัวอวิชชา ในวันหนึ่ง ในที่สุดก็เข้าใจ รูปนามนี้เป็นตัวทุกข์ พระโสดาบัน อวิชชา ยังแทบไม่กระเทือนเลย โสดาบัน สกิทาคามี แค่เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ไม่มีเราที่ไหนเลย เห็นอย่างนี้ แต่ความยึดถือเหนียวแน่นในขันธ์ 5 ยังคงอยู่ ทำไมยังยึดถือเหนียวแน่นในขันธ์ 5 เพราะไม่เห็นว่าขันธ์ 5 มันเป็นตัวทุกข์ เราจะเริ่มเห็นทุกข์จริงๆ ตรงที่ภาวนาไปจนกระทั่งเห็นความจริง ตัวรูป ตัวกายนี้ คือตัวทุกข์มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข

 

จะละอะไรได้ ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของตัวนั้น

อย่างพวกเรา ดูอย่างซื่อสัตย์เราจะรู้สึกเลย ร่างกายนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็สุข เรายังเป็นปุถุชน หรือเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี ก็จะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าภาวนาประณีตละเอียดขึ้นไป รู้เหตุรู้ผลอะไรมากขึ้นๆ จะรู้เลย ตัวรูปนี่ตัวทุกข์ พอรู้ทุกข์ จิตก็วางรูป รู้ทุกข์ของรูป จิตก็วางรูป จิตก็เข้าสู่ภูมิธรรมของพระอนาคามี หมดความยึดถือในตัวรูปได้ ถ้าภาวนาต่อไป สุดท้ายก็เห็นแจ้งลงไป ตัวจิตเองก็คือตัวทุกข์ พอเห็นว่าตัวจิตเป็นตัวทุกข์ มันก็วางตัวทุกข์ลงไป คือวางจิตลงไป ไม่ยึดถือจิต พอไม่ยึดถือจิต วัฏสงสารถล่มลงทันทีเลย มันพ้นจากภพทั้งหมดเลย

ภพของรูปเขาเรียกว่า กามภพ ยังติดอยู่ในกาม หรือติดอยู่ในรูป รูปภพคือยังติดอยู่ในรูป แต่ในรูปภพ ร่างกายของพรหม มันไม่ได้เหมือนพวกเรา ไม่ได้แสดงอนิจจังให้เห็นง่ายๆ ไม่ได้แสดงทุกข์ให้เห็นง่ายๆ ถ้าหมดความยึดถือจิต จิตก็จะไม่หลงใหลในความสุขความสงบของฌานสมาบัติทั้งหลาย ฉะนั้นเวลาบรรลุพระอรหันต์จะละรูปราคะ อรูปราคะ ละพร้อมกัน พอละที่จิตตัวเดียว วางที่จิตตัวเดียว จิตก็ไม่หิวความสุขจากการเพ่งรูป จิตก็ไม่ติดในความสุขจากการเพ่งนาม ก็พ้นจากรูปราคะ อรูปราคะ พ้นในขณะเดียวกันเลย ฉะนั้นถ้าเราเห็นทุกข์ จิตมันถึงจะปล่อยวาง ถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่ปล่อยวาง

เมื่อปี 2525 กลางๆ ปี หลวงพ่อกับน้องคนหนึ่ง ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ ไปกราบหลวงปู่เทสก์ครั้งแรก ประมาณช่วงวิสาขบูชา ปี 2525 ราวๆ นั้น น้องคนนี้ก็ไปถามหลวงปู่เทสก์บอก “หลวงปู่ครับ ผมอยากจะละกาม แต่จิตใจมันยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ผมจะทำอย่างไร” หลวงปู่ได้ยินคำถาม หลวงปู่อุทานเลย “อ้าว อาลัยอาวรณ์อยู่ มันก็ละไม่ได้สิ” แล้วท่านก็ขยายความให้ฟังว่าจะละได้ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ กระทั่งเราจะละกามก็ต้องเห็นทุกข์ของกาม เห็นโทษของกาม จะละอะไรได้ก็ต้องเห็นโทษของตัวนั้น เห็นทุกข์ของตัวนั้น ถึงจะละได้ เพราะฉะนั้นเราจะละกายได้ ก็ต้องเห็นกายนี้เป็นทุกข์เป็นโทษ จะละจิตได้ก็ต้องเห็นจิตนี้เป็นทุกข์เป็นโทษ

ที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรา คลี่อริยสัจให้พวกเราเรียนไป กำลังเรายังน้อย เราค่อยๆ เรียนไปทีละส่วนๆ จับหลักให้แม่นๆ เพราะงานหลักจริงๆ ต้องรู้ทุกข์ เสร็จแล้วหลวงพ่อก็มาสอนเรื่องเครื่องมือ เราจะรู้ทุกข์ได้ เราต้องมีเครื่องมือ เครื่องมือก็ตัวองค์มรรคทั้งหลาย เป็นเครื่องมือเป็นวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะพัฒนาจิตใจตัวเอง ศีลต้องรักษา ในองค์มรรคมีเรื่องของศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะเป็นเรื่องของศีล ทำอย่างไรเราจะเลี้ยงชีวิตโดยไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

อย่างเราขายเหล้าอย่างนี้ เบียดเบียนตัวเองไหม เราเบียดเบียนตัวเอง เราสะสมความเห็นผิดว่าเรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมาย เราก็ไม่มีความผิดอะไร แต่มันผิดธรรม มันผิดธรรมะ เราไปส่งเสริมคนทั้งหลายให้ขาดสติมากยิ่งขึ้น ไปทำกิเลสของเขาให้ฟูขึ้น สนับสนุนให้กิเลสเขาแรงขึ้น เป็นบาปของเราด้วย ถ้าเราเข้าใจ ฉะนั้นสัมมาอาชีวะ ถ้าเราไม่รักษา มันก็มีลักษณะทำมาหากินด้วยการเบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่นเรื่อยๆ ไป นี่องค์ของศีล มีสัมมาวาจา ศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะ รักษาศีลข้อ 1 2 3 มีความคิดเห็นที่ถูกต้อง อันนี้ต้องเรียน

 

ปฏิบัติจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง

เรียนจากปริยัติในเบื้องต้น เรียนปริยัติไม่ใช่ต้องไปเรียนอภิธรรมอะไรมากมายหรอก อ่านพระสูตรให้ดีเถอะ ในพระสูตรจะสอนเหตุสอนผลอะไรเอาไว้เยอะแยะ หรือฟังคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างนี้ มันเป็นสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นนี้เกิดจากการอ่าน การฟัง การคิดใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยเหตุผล อันนี้จะได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น แต่ยังไม่บรรลุมรรคผลหรอก สัมมาทิฏฐิที่ทำให้เกิดมรรคผล มันเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปฏิบัติ สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ ฉะนั้นปริยัติก็สำคัญ อาศัยการอ่าน การฟัง การคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผล เราก็จะมีความเห็นถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้เรื่องของอริยสัจ

อย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังนี้ล่ะ สิ่งที่สอนพวกเรานั้นคือการพยายามถ่ายทอดสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติให้เรา ปริยัติไม่ใช่แปลว่าเรียนตำราอย่างเดียว ฟังครูบาอาจารย์เทศน์ก็ปริยัติแล้ว ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ก็ปริยัติแล้ว แล้วไปลงมือดูของจริง ต้องดูของจริงนั่นล่ะเรียกว่าปฏิบัติจนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง นั่นล่ะเป็นปัญญาอย่างแท้จริง เบื้องต้นก็เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า ปัญญาของพระสาวก ปัญญาของครูบาอาจารย์ บอกแนวเป็นไกด์ไลน์ให้เรามีความเห็นถูก แล้วต่อไปก็พัฒนาการคิดถูก พอเรามีความเห็นถูกแล้ว เวลาคิดมันจะคิดถูก ถ้าเรามีความเห็นผิด เวลาคิดมันก็คิดผิด

อย่างเรามีความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ เราไม่เคยได้ยินหรอกว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา เวลาคิด มันก็เป็นเราหมดเลย คิดก็จะคิดไปในทางไม่ค่อยจะดี คิดไปในทางกามวิตก หิวโหยอารมณ์ทั้งหลาย คิดไปในทางพยาบาทวิตก ชิงชังในอารมณ์ คิดไปในทางวิหิงสาวิตก คิดเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นด้วยความโง่ ด้วยความไม่รู้ อย่างบางคนคิดว่าสัตว์มันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคน ฉะนั้นถ้าเราฆ่าสัตว์เพื่อกินไม่บาป อันนี้คิดเอาเองสัตว์มันไม่ได้บอกอย่างนั้นสักหน่อย ถ้าถามประชามติปลา บอกว่าปลาเกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ ต้องยอมให้คนกิน มันก็ไม่ลงมติให้หรอก เราโมเมเอาเอง พูดเอาเอง ฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูก เรารู้เรื่องเหตุเรื่องผล เหตุกับผลมันจะโยงมาถึงเรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมก็คือกฎของเหตุผลนั่นเอง ทำเหตุอย่างนี้มีผลอย่างนี้ ละเหตุอันนี้ ผลอันนี้ก็ดับ เป็นเรื่องอย่างนี้ทั้งนั้น

ฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูก ความคิดเราก็ถูก ก็เรียกว่ามีสัมมาสังกัปปะ นี้ในส่วนของความคิดเห็นถูกต้องในส่วนของศีลถูกต้อง ก็มาถึงในส่วนสุดท้ายแล้ว ส่วนของการพัฒนาจิต จริงๆ แล้ว ลงมือเผชิญหน้ากับจิตตัวเอง องค์มรรคมี 3 ตัวคือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิที่หลวงพ่อสอนแทบทุกวัน คือเรื่องพวกนี้ล่ะ สัมมาวายามะ เป็นความเพียรที่จะละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้ว ให้เจริญงอกงามขึ้นไป ฉะนั้นเป้าหมายในการฝึกจิตฝึกใจเรา ลืมมรรคผลเสีย ถ้าตั้งเป้าเพื่อจะให้เกิดมรรคผล มันจะไม่เกิดหรอก ถ้าตั้งเป้าเพื่อความสุขความสงบ มันไม่เกิดหรอก เอาอันเดียวเลย ตั้งเป้าจิตใจเรามีกุศลหรือมีอกุศล

คอยเรียนคอยรู้ลงไป เครื่องมือที่จะมาเรียนมารู้มันก็คือตัวสติกับตัวสมาธิ ตัวสติก็สอนอยู่ทุกวันว่า สติเกิดมีถิรสัญญาเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถิรสัญญาคือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจะจำสภาวะได้แม่นต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ อย่างเราขี้โกรธ เราก็ดูไป จิตโกรธเราก็รู้ๆ ถ้าไม่รู้เราก็ไม่มีสัมมาวายามะแล้ว ความโกรธจะครอบเรา ฉะนั้นจิตโกรธขึ้นมาเรารู้ๆ ต่อไปจิตมันจำหน้าตาของความโกรธได้ โอ๊ย ความโกรธมันมีลักษณะอย่างนี้ มันมีอาการอย่างนี้ มันทำงานอย่างนี้ ทำแล้วมีผลอย่างนี้ มันจำแม่นขึ้นมา พอความโกรธไหวตัวขึ้นมานิดเดียว จากกลางอกเราไหวขึ้นมานิดเดียว สติระลึกได้เลย ทันทีที่สติระลึกได้มันขาดสะบั้นทันทีเลย ตัวกิเลสทั้งหลาย ถ้าสติที่แท้จริงเกิดขึ้น กิเลสจะอยู่ไม่ได้ จะแตกสลายทันทีเลย แล้วทันทีที่สติเกิด กิเลสก็แตกตรงนั้นเลยพร้อมๆ กันไปเลย แล้วในขณะนั้นสมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดในขณะนั้นเลย

ฉะนั้นถ้าเรามีสัมมาสติที่ถูกต้องเมื่อไหร่ สัมมาสมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดร่วมด้วยเสมอ สัมมาสมาธิก็คือสภาวะที่จิตใจมันถอดถอนตัวเองออกจากโลกของความคิด ถอดถอนตัวเองออกจากความปรุงแต่ง มาอยู่เหนือความปรุงแต่ง เห็นความปรุงแต่งทั้งหลายผ่านมาผ่านไป ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับจิต มันจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูเรื่อยๆ ไป สุดท้ายอริยมรรคก็เกิดขึ้น ตัวอวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นเหตุ ผลของมันคือตัวทุกข์ ศีล สมาธิ ปัญญาหรือองค์มรรคเป็นเหตุ ผลของมันคือนิโรธ คือความดับทุกข์ คือความพ้นทุกข์

มี 2 คำ ดับทุกข์กับพ้นทุกข์ ดับทุกข์ตอนบรรลุพระอรหันต์ จิตมันพรากออกจากขันธ์ มันใช้คำนี้ถูกที่สุดแล้ว ในพระไตรปิฎกที่แปลมาเป็นภาษาไทย บอกจิตพรากออกจากขันธ์ จิตยังไม่ได้ไปทำลายขันธ์ แต่จิตพรากออกจากขันธ์หมายถึงอะไร ขันธ์ส่วนขันธ์ จิตส่วนจิต ไม่สัมผัสกัน จิตก็พ้นจากกิเลส กิเลสมันเป็นเรื่องของขันธ์ล้วนๆ เลย ฉะนั้นพอบรรลุพระอรหันต์ เราพ้นจากทุกข์ คือพ้นจากขันธ์ แล้วอยู่ไปดำรงชีวิตไป จนถึงวันหนึ่งวิบากของขันธ์มันหมดแล้ว ขันธ์ก็แตกดับ เหตุที่ให้เกิดขันธ์ ชนกกรรมที่เราสร้างมาส่งผลมาให้เราได้ขันธ์ตัวนี้มา พอดำรงชีวิตไปถึงจุดหนึ่ง หมดเหตุแล้ว หมดกำลังกรรมที่ส่งมาให้มีร่างกายอย่างนี้ มีชีวิตอย่างนี้ ก็แตกดับ

พระอรหันต์เวลาแตกดับ ท่านไม่ไปเกิดอีก ขันธ์อันนี้ก็ทิ้งไปแล้ว แล้วก็ไม่ไปหยิบฉวยขันธ์อันใหม่ขึ้นมาอีก อย่างพวกเราทิ้งขันธ์นี้ปุ๊บก็ไปหยิบขันธ์ใหม่ขึ้นมาทันที ตรงที่ไม่มีขันธ์เรียกว่าความดับสนิทแห่งทุกข์ พระนิพพานเป็นความดับสนิทแห่งทุกข์ เป็นสภาวะที่พ้นความปรุงแต่ง พ้นความเสียดแทง พ้นความยึดถือ เป็นสภาวะที่อิสระ ฉะนั้นพระอรหันต์ไม่ได้กลัวตาย แต่ก็ไม่ได้อยากตาย ถ้าอยากตายก็เป็นตัณหา แสดงว่ายังเกลียดขันธ์อยู่ ถ้าเกลียดขันธ์อยู่ยังไม่ใช่หรอก รักขันธ์อยู่ผูกพันกับขันธ์อยู่ก็ไม่ใช่ เกลียดขันธ์ก็ไม่ใช่ ก็เป็นกลางกับมัน มันเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง

สิ่งที่หลวงพ่อสอนมันก็วนเวียนอยู่ในเรื่องของอริยสัจนี่ล่ะ บางวันก็เน้นเรื่องทุกข์ บางวันก็เน้นเรื่องสมุทัย นานๆ จะพูดถึงนิโรธทีหนึ่ง แต่ทุกวันจะพูดเรื่องมรรค สอนวนเวียนอยู่เรื่องเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก อินทรีย์พวกเราอ่อน เราก็ต้องฟังหลายรอบหน่อย ฟังแล้วก็ไปสังเกตของจริง ดูของจริงไปเรื่อยๆ ถ้าดูของจริงแล้ว วันหนึ่งเรากล้าพูดเลยว่าพระพุทธเจ้าสอนของจริง เราทำตามท่านแล้วเราทุกข์น้อยลงจริงๆ หรือเราพ้นทุกข์จริงๆ ท่านผู้สอนธรรมะอันนี้ออกมาคือตัวพุทธะ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็มีจริง

ฉะนั้นธรรมะมันมีจริง พระพุทธเจ้าก็มีจริง จิตของเราก็เป็นพระอริยสงฆ์ขึ้นมา จะบวชไม่บวชไม่สำคัญ พระสงฆ์ที่แท้จริงอาจจะเป็นฆราวาสก็ได้ จะเป็นพระก็ได้ ส่วนปุถุชนนั้นจะเป็นฆราวาสก็ได้ เป็นพระก็ได้เหมือนกัน พระก็ปุถุชนเยอะแยะไป ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าจิตเราเข้าถึงธรรม เราก็จะเป็นพระอริยะ เป็นพระสงฆ์สาวกตัวจริงแล้ว ไม่ได้เลือกเพศว่าผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศที่สาม เพศทางเลือก ไม่เลือกเพศพระเพศโยม ไม่เลือกทั้งสิ้น ภาวนาไปแล้ว สุดท้ายจิตนั่นล่ะเป็นพระสงฆ์ขึ้นมา เพราะจิตนั้นรู้ในธรรม รู้แจ้งธรรม ถ้ารู้ตรงนี้ มันก็รู้จักพระพุทธเจ้าด้วย แต่เดิมพระพุทธเจ้าเหมือนอะไรอย่างหนึ่งที่จับต้องไม่ได้ เหมือนไอดอลอะไรอย่างหนึ่งที่สัมผัสไม่ได้จริง เราภาวนา เราจะรู้สึกเราพบพระพุทธเจ้าแล้ว เราอยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว ชีวิตเราไม่พรากไปจากพระพุทธเจ้าแล้ว จะรู้สึก

 

โลกติเตียน โลกวัชชะ

ทุกวันนี้คนเขาเห็นพระเหลวไหลเยอะแยะเลย เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีอีก ญาติโยมบุกเข้าไปจับเอาผู้หญิงไปซ่อนไว้ในกุฏิ บอกไม่ได้ทำอะไรกัน อ้าว แต่ยกทรงหลุดอยู่อีกที่หนึ่ง ผู้หญิงทำไมมันต้องถอดยกทรงในกุฏิพระอะไรอย่างนี้ การที่โยมเข้าไปช่วยกันจับออกมาอย่างนี้ถูกแล้ว ถือว่าเป็นชาวพุทธที่ดี ช่วยกันรักษาศาสนา อะไรที่ไม่สะอาดก็ขจัดออกไป แต่มันก็มีความเสี่ยง เพราะญาติโยมไม่ค่อยเข้าใจธรรมะหรอก บางเคสพระทำไม่ถูกธรรมไม่ถูกพระวินัย เราก็ไปเชียร์กันเหยงๆ คนกดไลค์กดแชร์ให้เป็นแสนเป็นล้านอะไรอย่างนี้ ทั้งๆ ที่พระนั้นทำไม่ถูกธรรมไม่ถูกวินัย ฉะนั้นบางทีการเอาความเห็นของคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะมาตัดสินก็ยากเหมือนกัน แต่เคสที่ไปจับพระอยู่กับผู้หญิง อันนั้นมันโจ่งแจ้ง มันชัดเจน ถ้าบางเรื่องประณีตลึกซึ้งกว่านั้น เราก็ไม่เข้าใจ

อย่างเราได้ยินคำว่า โลกวัชชะ ได้ยินอยู่เรื่อย แปลว่าอะไร แปลว่า โลกติเตียน ถามจริงๆ ในโลกนี้มีใครไม่ถูกติเตียนบ้าง ขนาดพระพุทธเจ้ายังมีคนติเตียนเลย พระพุทธรูปนั่งอยู่เฉยๆ คนยังติเตียนได้เลย ในโลกนี้ไม่มีใครพ้นจากการนินทาว่าร้าย ฉะนั้นโลกวัชชะไม่ใช่ว่าโลกติเตียน อันนั้นพูดมั่วๆ เอาเอง เพราะทุกคนในโลกมันถูกติเตียนทั้งนั้นล่ะ จริงๆ โลกวัชชะแปลว่าอะไร แปลว่า แม้จะไม่ใช่พระ เป็นชาวโลก ไปทำสิ่งนั้นก็น่าติเตียน คือฆราวาสไปทำสิ่งนั้นก็ไม่ถูกเหมือนกัน แยกให้ถูก แยกให้ดี คำว่าโลกติเตียน ภาษามันหลอกเรา ภาษาที่ถูกก็คือไม่ว่าใครทำสิ่งนี้ก็ไม่ถูกทั้งนั้นล่ะ

ยกตัวอย่างๆ เอาอะไรดี ตัวอย่างมันเยอะแยะไปหมด อย่างพระกินเหล้า พระกินเหล้าผิดอะไร ผิดวินัย กฎหมายห้ามพระกินเหล้าไหม กฎหมายไม่ได้ห้าม เพราะฉะนั้นตัวนี้ไม่ใช่โลกวัชชะ พระกินเหล้าผิดวินัยเฉยๆ แต่ถ้าพระสูบเฮโรอีน กฎหมายกำหนดไว้ สูบเฮโรอีนผิดกฎหมายอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นพระสูบเฮโรอีน ผิดทั้งวินัย ผิดทั้งกฎหมาย ตรงที่ผิดกฎหมาย เรียกว่าโลกวัชชะ บางเรื่องยกตัวอย่างตลกๆ อย่างเรื่องเหล้าต้องแถมอีกนิด มันมีกฎหมายเมื่อปี 2551 ประมาณนั้น กินเหล้าในวัดผิดกฎหมาย ไม่ว่าพระหรือโยมกินเหล้าในวัดผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครกินเป็นโลกวัชชะ ถ้าพระไปกินก็เป็นโลกวัชชะ ฉะนั้นพระกินเหล้าในวัด ผิดทั้งวินัย แล้วผิดเรื่องโลกวัชชะด้วย อย่างพระองค์นั้นแกมีเหล้าอยู่ในกุฏิด้วย แช่เย็นเอาไว้กินอะไรอย่างนี้

แล้วถ้าพระนั่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนมอเตอร์ไซค์ กฎหมายบอกให้ใส่หมวกกันน็อก ถ้าพระใส่หมวกกันน็อกเราจะโห่ไหม ลองนึกภาพหัวเหม่งๆ ใส่หมวกกันน็อก แต่ไม่ใส่หมวกกันน็อกผิดกฎหมาย ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องชาวบ้านติเตียน นึกอยากติอะไรก็ติส่งเดชไป ถ้าพระซ้อนมอเตอร์ไซค์แล้วไม่ใส่หมวกผิดกฎหมาย มีหลายเรื่องเลย ฉะนั้นความเห็นของชาวบ้าน บางทีเสียงข้างมากเชื่อไม่ได้ มันเป็นเสียงของคนที่ไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้ ไม่มีหลักเกณฑ์ ฉะนั้นเราเรียน เรียนธรรมะไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจไป ใจเราก็จะค่อยๆ ห่างทุกข์ออกไปเรื่อยๆ มีความสุขผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นระยะๆ ไป

พระโฆษณาขายของผิดไหม ผิดกฎหมายไหมพระโฆษณาขายของ ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ผิดวินัยไหม ผิด ถ้าไปทำให้เขาฟรี ก็เข้าในเรื่องของการประจบคฤหัสถ์ ถ้าไปรับจ้างเขาโฆษณาสินค้า เป็นพระรับจ้าง ไม่ใช่กิจของพระเลย ก็ผิดอีก เราบอก โอ้ พระโฆษณาสินค้าน่าเอ็นดู ไม่เห็นจะผิดตรงไหน เห็นไหมเสียงข้างมากบอกไม่ผิดเลย แต่มันผิด เสียงข้างมากเชื่อมันไม่ได้ มันไม่ได้มีความรู้จริง

เรื่องโลกๆ เราก็แค่เข้าใจมัน เข้าใจโลก โลกมันโลกของกิเลส มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะ ตัวเราเองก่อนที่จะพัฒนาตัวเอง ก่อนที่จะมาเจอพระพุทธศาสนาจริงๆ เราก็ล้มลุกคลุกคลานมา เราก็มีกิเลสมาแล้วทุกคน แต่เราเห็นทุกข์เห็นโทษของกิเลส เราเห็นคุณของพระศาสนา เห็นคุณของธรรมะ เราก็เลยมาศึกษากัน ยิ่งศึกษาเราก็ยิ่งเห็นคุณของธรรมะ เห็นโทษของโลก ยิ่งศึกษาเราจะเห็นธรรมะมีคุณ โลกมีโทษ โลกไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ ในขณะที่ธรรมะมีคุณ ทำให้เราพ้นทุกข์ เราอยู่โดยชีวิตของเราสะอาดหมดจดไม่มีโทษ คนนินทาด่าว่าได้ไหม ได้ ใครๆ ก็ไม่พ้น ดีวิเศษอย่างไรก็โดน อันนั้นไม่ใช่โลกวัชชะ อย่ามั่ว

 

 

ไม่มีใครรู้สิ่งที่หลวงพ่อเทศน์ได้หรอก จนกว่าจะภาวนาจนเห็นด้วยตัวเอง ฉะนั้นที่หลวงพ่อเทศน์ ถามว่าพวกเราจะรู้ไหม รู้ด้วยการจำไว้ รู้จริงไหม ไม่จริงหรอก จะรู้จริงมีวิธีเดียว ลงทุนปฏิบัติ ลงแรงปฏิบัติ เห็นจริงเป็นลำดับๆ ไป

เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการปฏิบัติ เรียนปริยัติอย่างไรมันก็สู้กิเลสไม่ได้ พระเรียนปริยัติตั้งเยอะใช่ไหม สุดท้ายก็สู้กิเลสไม่ไหว ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ แต่เราต้องแยกให้ออกคำว่าปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้แปลว่านั่งสมาธิเดินจงกรม อย่ามั่ว การที่เราตั้งใจรักษาศีล นั่นล่ะเราปฏิบัติธรรมแล้ว คือถ้าเมื่อไหร่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ถือว่าเราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว คำว่าปฏิบัติธรรมเป็นคำกว้าง คำกว้าง ไม่ใช่แค่นั่งสมาธิ เดินจงกรม อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติเท่านั้นเอง อย่างเรารักษาศีล ถือว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เราทำทาน เราลดละความเห็นแก่ตัว ส่งเสริมจิตใจให้เกิดความเมตตากรุณาอะไรขึ้นมา เราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว

ถ้าเรียนอย่างเดียวแล้วไม่ปฏิบัติอะไรสักอย่าง ศีลก็ไม่รักษา โกหกหลอกลวงอะไรต่ออะไร ก็ไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านเคยพูดไว้ว่า ธรรมวินัยของท่านเหมือนมหาสมุทร มีธรรมชาติที่จะซัดซากศพทั้งหลายขึ้นมาเกยตื้น ซัดสิ่งสกปรกขึ้นบก ซัดขึ้นมา อลัชชีทั้งหลายอยู่ไม่ได้นาน อยู่ไม่ค่อยได้ จะถูกซัดขึ้นบก ฉะนั้นเราไม่ต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจ ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ภาวนา ปรับปรุงตัวเราเองให้มันดีก็แล้วกัน คนอื่นเขาเลว เราก็เข้าใจเขา แต่เราไม่ได้ไปเกลียดเขาหรอก เข้าใจ โถ เขาแพ้กิเลส เมื่อก่อนเราก็เคยแพ้กิเลสแบบนี้ล่ะ มันสงสารมากกว่า ไม่ได้เกลียดหรอก.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มกราคม 2565