เรียนลงที่กายที่ใจ

เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า อันนี้เรียนร่างกายแบบสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลเทคโนโลยีมันยังไม่ดี วิทยาการอะไรพวกนี้ยังไม่ดี ก็แยกร่างกายเป็น 32 ส่วน อาการ 32 มายุคหลังๆ นี้ทางการแพทย์พัฒนาไปเยอะแยะเลย แยกร่างกายออกเป็นชิ้นส่วนอะไรต่ออะไรเยอะแยะ เป็นระบบๆ ระบบต่างๆ เยอะแยะ ไม่ใช่แค่ 32 อย่างโบราณแล้ว ถามว่าดูเป็นพันๆ ส่วนอย่างนี้ได้ไหม ก็ได้ ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน

ฉะนั้นในทางรูปธรรม สมัยโน้นวิทยาการแยกได้ 32 มาในสมัยนี้แยกได้เยอะ วิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์มันก้าวหน้าไป แต่ในส่วนนามธรรมพวกวิทยาศาสตร์ยังตามไม่ค่อยทัน ต้องใช้เวลาอีก ถ้าเราเป็นหมอเราไม่ต้องไปเรียนอาการ 32 เรียนที่เรารู้นั่นล่ะดูลงไปว่าแต่ละอันๆ เป็นคนหรือเปล่า เป็นสัตว์หรือเปล่า เป็นเราเป็นเขาหรือเปล่า ดูลงไปอย่างนั้นใช้ได้เหมือนกัน เรียนธรรมะก็รู้เนื้อหาแก่นสารของธรรมะจริงๆ เราเรียนรูปธรรมนามธรรม เราแยกแยะ รูปธรรมเราก็แยกเป็นส่วนๆ จะแยกกี่ส่วนก็แล้วแต่วิทยาการ นามธรรมนั้นสมัยพุทธกาลท่านแยกเอาไว้ 4 ส่วนคือเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ สุขทุกข์ก็เกิดที่กาย สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เกิดที่จิต สัญญาความจำได้ความหมายรู้ สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว วิญญาณคือความรับรู้ อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ก็แยกนามธรรมออกเป็น 4 ส่วน ทำไมต้องแยก การเรียนรู้ความจริงด้วยการแยกส่วน เป็นวิธีการในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิภัชชวิธี

 

วิภัชชวิธี

ความเป็นเรานั้นมันเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มันมารวมตัวกัน แล้วเราหมายรู้ผิดว่านี่คือเรา อย่างรูปธรรมนี้ ประกอบด้วยวัตถุธาตุจำนวนมากมารวมกัน หรือประกอบด้วยอวัยวะจำนวนมากมารวมกัน กล้ามเนื้อก็มีเท่านั้นเท่านี้ กระดูกก็มีเท่านั้นเท่านี้ ระบบประสาทมีอย่างนั้นอย่างนี้ หลอดเลือดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เยอะแยะ พอเราจับแยกออกไปได้ เราจะพบว่าความเป็นคน ความเป็นสัตว์ ความเป็นเรา ความเป็นเขานั้น มันหายไป แยกร่างกายออกไปแล้วก็พบว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แยกนามธรรมออกไปก็จะพบว่า นามธรรมทั้งหลายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาเหมือนกัน เป็นวิธีที่จะเรียนรู้ความจริงว่าตัวเราไม่มี มีรูปธรรม รูปธรรมก็ไม่ใช่ตัวเรา นามธรรมก็ไม่ใช่ตัวเรา การแยกนั้นเบื้องต้นเราแยกรูปกับนาม รูปธรรมส่วนหนึ่ง นามธรรมส่วนหนึ่ง รูปธรรมก็แยกออกไปได้อีก จะแยกเป็นธาตุ 4 หรือจะแยกเป็นอาการ 32 หรือจะใช้วิทยาการสมัยใหม่แยกออกมาเป็นร้อยเป็นพัน แต่เนื้อในของมันก็เหมือนกันคือมันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ฉะนั้นเราไม่ต้องไปติดยึดว่าพิจารณากายต้องสามสิบสอง ถ้ามีความรู้เยอะมีความเข้าใจเยอะ จะแยกมากกว่านั้นก็ได้ สามสิบสองเป็นเทคโนโลยีสมัยพุทธกาล แยกได้แค่นั้น

นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา คือส่วนของนามธรรม มันก็คือเรื่อง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นล่ะ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ มันก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง ความโลภไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แยกออกไปเรื่อย ตัวที่ยากคือตัววิญญาณ วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะแยกได้ดีไม่ว่าจะแยกรูปแยกนาม อันแรกเราต้องมีสมาธิมากพอ ให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ก่อน พอจิตตั้งมั่นได้ มันจะเห็นขันธ์มันจะแยกตัวออกไป รูปมันก็แยกออกไป ทีแรกก็เห็นรูปทั้งตัวนี้กับจิตนี้คนละอันกัน แยกย่อยออกไป แยกออกไปเป็นอาการ 32 เป็นธาตุ 4 หรือจะเป็นร้อยเป็นพันแบบวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก็ได้เหมือนกัน

ส่วนนามธรรมค่อยๆ ดูไป ขั้นแรกแยกรูปนาม แล้วก็แยกรูปต่อไป แยกนามต่อไป การแยกนามทำอย่างไร พอใจเราเป็นคนรู้คนดู ทำใจสบาย อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป จะหายใจเข้าพุทหายใจออกโธอะไรก็ได้ หรือจะใช้อย่างอื่นก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่ง แล้วมันเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ขึ้นในร่างกาย เรารู้ทัน ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ มันจะเห็นว่าความสุขความทุกข์ในร่างกายนี้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป หรือเราหายใจเข้าพุทออกโธ ทำกรรมฐานของเราอยู่นี่ล่ะ ไม่ต้องไปสนใจอะไรมาก ทำไปเรื่อยๆ จิตใจมีความสุขขึ้นมารู้ทัน จิตใจมีความทุกข์ขึ้นมารู้ทัน แยกอย่างนี้ก็ได้ เป็นเวทนาทางใจ เราจะเห็นความสุขในใจ ความทุกข์ในใจ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ตัวสัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ อันนี้ก็เป็นนามธรรม บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ บางทีก็หมายรู้ผิด บางทีก็หมายรู้ถูก แล้วแต่การฝึก หมายรู้ผิดเป็นเรื่องของปุถุชนจะเป็นอย่างนั้นล่ะ สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วเราก็จะเห็นอีก ปรุงดี ความปรุงดีเกิดขึ้นจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ก็จะเห็นสิ่งที่ปรุงดีๆ นั้นไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความปรุงชั่วอย่างความโลภ โกรธ หลง ความโลภเกิด ความโกรธเกิดก็เห็นมัน มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ค่อยๆ ฝึก จิตก็ไปรับรู้อารมณ์ เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวฟังเสียง จิตที่ดูรูปก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย จิตที่คิดนึกปรุงแต่งทางใจนั้นก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้ สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์ มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป รูปธรรมนามธรรมนั้นมันก็มีความสัมพันธ์กัน ถึงจะเป็นคนละส่วนกันแต่มันก็มีความสัมพันธ์กัน อย่างรูปธรรมนี้ เราจะยิ้ม เราจะหน้าบึ้ง เราจะขยับ เราจะเดิน มันก็สัมพันธ์กับนามธรรม จิตมันเป็นคนสั่งให้รูปมันเคลื่อนไหว บางทีรูปมันก็เชื่อฟังคำสั่ง บางทีมันก็ไม่เชื่อฟัง จิตมันสั่งลงมาในระบบประสาท คนละอันกัน จิตกับระบบประสาท จิตกับสมองคนละอันกัน แต่มันสั่งผ่าน อย่างพวกเราเป็นมนุษย์ จิตมันก็สั่งร่างกายผ่านทางระบบประสาทของเรา ฉะนั้นพออายุมากๆ ระบบประสาทเราเสีย สมองเราเสื่อม บางทีก็สั่งไม่ค่อยจะได้ สั่งให้เดินตรงๆ ก็เดินเซๆ ควบคุมกล้ามเนื้ออะไรก็คุมไม่อยู่ แต่จิตนั้นยังไม่ได้เพี้ยน จิตยังสั่งได้ เที่ยงตรงยังไม่เสื่อม แต่ร่างกายมันเสื่อมได้ มันเสื่อมก่อน

 

ความจำของจิต

จิตเสื่อมได้ไหม ได้ เพราะจิตเองก็เกิดแล้วดับ อย่างตัวสัญญาความจำ ความจำมี 2 ส่วน ความจำของสมองกับความจำของจิต ความจำของสมองก็แยกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ความจำเขาเรียกความจำถาวรกับความจำชั่วคราว ที่เรียกความจำถาวรเรียกโก้ๆ ไปอย่างนั้นล่ะ เอาเข้าจริงถึงจุดสุดท้ายก็จำไม่ได้เหมือนกัน ความจำชั่วคราว อย่างเราจะทำอะไรเฉพาะหน้าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร มันจำได้แวบเดียวเดี๋ยวก็ลืมแล้ว อย่างเราไปท่องเลขโทรศัพท์ เพื่อนเราบอกเลขโทรศัพท์เราท่องเอาไว้ พอเราไปจดเสร็จเราก็ลืมเลย นี่มันจำชั่วคราวเฉพาะใช้งาน นี่เป็นเรื่องของสมอง

มันมีความจำอีกอันหนึ่งคือความจำของจิต เวลาที่เราทำกรรมอะไรที่มันมีความประทับใจ ต้องแรงๆ หน่อย มันจะฝังลงไปในจิตของเรา เราทำความชั่วมากๆ เราไม่จำหรอกว่าเราฆ่าคนมาแล้วกี่คน แต่ว่าจิตมันจำ จิตมันจำความหยาบกระด้าง ความใจร้ายใจดำ มันจำได้แล้วมันก็สะสมไว้ พอเราตายไปจิตดวงใหม่ในภพใหม่ มันก็รับมรดกอันนี้ไป มันก็สะสมความใจดำมาแต่จิตดวงก่อนๆ ชาติก่อนๆ มันจำอย่างนี้ได้ หรือบางคนชอบทำบุญ ชอบภาวนา จิตมันจำได้ พอเกิดมาชาติใหม่สมองลืมไปหมดแล้ว เพราะถูกเอาไฟเผาไปแล้ว หรือไปฝังดินแตกสลายหมดแล้ว แต่จิตมันจำได้ อย่างเราเคยภาวนา เราเคยแยกขันธ์ได้ คนที่เคยแยกธาตุแยกขันธ์ได้ มาภาวนาชาติใหม่มันทำง่ายมากเลย บางทีไม่ได้เจตนาแยกเลย มีอารมณ์อะไรที่แรงๆ มากระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์จำพวกตกใจ เวลาเราตกใจมันเป็นอารมณ์ที่รุนแรง จิตที่เคยฝึกมีผู้รู้ ตัวผู้รู้มันจะดีดผางออกมาเลย จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเด่นดวงขึ้นมา มันก็จะเห็นร่างกายนี้มันทำอะไร มันเห็นหมด ร่างกายมันตกใจ ใจสั่นอะไรอย่างนี้มันเห็น แล้วรู้เลยว่าจิตไม่ได้ตกใจจิตเป็นคนดู อย่างพวกเราถ้าตกใจ ใจเราสั่นไปด้วยเลย ประสาทเสียไปเลย

สิ่งที่จิตมันจำได้ นอกจากเรื่องดีเรื่องเลวแล้ว มันจำคุณธรรมที่สำคัญๆ ได้ อย่างเวลามันเกิดอริยมรรค อริยผลแล้ว มันจะฝังเข้าไปในใจ ไปเกิดใหม่ชาตินี้ได้โสดาบันไว้ ชาติหน้าไปเกิดใหม่ ได้ยินธรรมะนิดเดียว ธรรมะของเดิมก็กลับมาหมดเลย มันแค่มีสิ่งมาเร้านิดเดียว มันก็แยกขันธ์ออกไปเห็นทุกอย่างไม่มีตัวเราได้เลย จิตมันจะทำงานอย่างนี้ได้ มันไม่ใช่สมอง เพราะสมองเราพอเราตายสมองก็หยุดทำงาน แต่จิตนั้นมันไม่หยุด จิตมันดับลงไปแล้วมันก็เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นในภพใหม่ มันส่งทอดมรดกไป ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล กุศลถึงระดับเคยได้มรรคได้ผล อริยมรรค อริยผล พวกเราจะเกิดได้อย่างละ 4 ครั้ง อริยมรรคเกิดได้ 4 ครั้ง อริยผลเกิดได้ 4 ครั้งในสังสารวัฏ ไม่ใช่ในชาตินี้

ฉะนั้นอย่างเราภาวนาเราได้โสดาบันไป ไปเกิด บางท่านก็บอกไม่เห็นพระโสดาบันมาเกิดเลย ที่จริงคือจิตมันเป็นไปแล้ว เพียงแต่ว่าพูดธรรมะไม่ถูกเพราะบัญญัติไม่ถูก พอได้มาเรียนธรรมะบัญญัติถูกขึ้นมาก็เข้าใจ อธิบายออกมาง่ายๆ เพราะฉะนั้นจิตกับสมองคนละอันกัน คนละเรื่อง สมองจำไม่ได้หรอก สะสมวิบากไม่เป็นตายแล้วก็ตายไปเลย แต่จิตนั้นสะสมกุศลวิบาก อกุศลวิบาก สะสมได้ หรืออย่างถ้าเราภาวนาจิตเราเข้าถึงธรรมะ อย่างสมมติจิตพระอรหันต์ ขันธ์มันเสื่อมไหม ขันธ์มันเสื่อม สมองเสื่อมไหม เสื่อม ความจำเสื่อมไหม เสื่อม ก็เสื่อมได้ แต่ธรรมะที่มันประทับอยู่ในใจแล้ว มันไม่เสื่อม คือสภาวะที่แจ่มแจ้ง จิตที่มันแจ่มแจ้งในอริยสัจแล้ว มันจะไม่รวมตัวเข้าไปยึดถือไปเกาะไปเกี่ยว ในรูปธรรมในนามธรรมทั้งหลายอีกแล้ว แล้วมันจะแยกขาดแล้ว มันไม่รวมกันเข้ามาอีกแล้ว ในพระไตรปิฎกท่านบอก “จิตพรากจากขันธ์” ขันธ์จะเสื่อมก็เรื่องของขันธ์ แต่จิตนั้นพรากจากขันธ์ไปแล้ว

สัญญาบางอย่างเสื่อม สัญญาที่ใช้สมอง ความจำที่ใช้สมอง เสื่อม สัญญาของจิตที่มีคุณภาพสูง ยิ่งเราภาวนาถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว สัญญาที่ถูกไม่เสื่อม อย่างเราเวลามองอะไรก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เห็นนิจจัง สุขขัง อัตตาหรอก นี้ไม่ได้เจตนา มันประทับลงไปในจิตอย่างรุนแรง แล้วจิตมันก็เปลี่ยนคุณภาพไปแล้ว มันจะไม่กลับกลอกเข้ามายึดมาถือขันธ์ทั้งหลาย ไม่กลับกลอกเข้ามาสำคัญมั่นหมาย เห็นผิดว่าอันนี้สวย อันนี้งาม อันนี้เที่ยง อันนี้เป็นสุข อันนี้เป็นตัวเรา ไม่มี ขาดแล้วขาดเลย เพราะฉะนั้นจิตกับขันธ์คนละอันกัน จิตที่ฝึกดีแล้วกับธาตุขันธ์ธรรมดา คนละส่วนกัน ตัวจิตในขันธ์ 5 มันก็เกิดดับๆๆ ไปตามธรรมชาติของมัน จิตที่เหนือขันธ์ 5 จิตบางชนิดไม่ใช่อุปาทานขันธ์ คือพวกโลกุตตรจิตทั้งหลายไม่ใช่อุปาทานขันธ์ จัดอยู่ในขันธ์ 5 ไหม อยู่ แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์ ไม่ใช่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่น จิตพวกนี้มันมีคุณภาพที่มันไม่กลับเสื่อมลงมาเป็นจิตปุถุชนอีก ถึงร่างกายจะเสื่อม สมองจะเสื่อม แต่คุณภาพของจิตชนิดนี้ไม่เสื่อมด้วย เพราะฉะนั้นสัญญาก็มี 2 ส่วน ส่วนของขันธ์กับส่วนของจิต ความปรุงต่างๆ มีส่วนของขันธ์ จิตแท้ธรรมแท้ไม่ปรุงอะไร

 

สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา

ค่อยๆ ภาวนา ต้องแยกรูปแยกนามไป รูปจะแยกจำนวนเท่าไรก็แล้วแต่จะแยกได้ แต่รูปทุกชนิดอย่างไรก็ไม่เที่ยง รูปทุกชนิดอย่างไรก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย รูปทุกชนิดอย่างไรก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นามธรรมทั้งหลายก็มีสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ในทางรูปธรรมวิทยาศาสตร์ก้าวล้ำไปแล้ว แต่ในนามธรรมวิทยาศาสตร์ยังไม่ทัน เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังมีคิดว่า จิตกับสมองมันน่าจะอันเดียวกัน ก็เลยไปศึกษาแต่เรื่องสมอง ไม่เข้าใจจิต เขาไม่รู้จักวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิดอะไรนี้ วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง วันหนึ่งอาจจะถึง ถ้าถึงแล้วต้องมากราบพระพุทธเจ้าเลย มารู้ตามหลังท่านนานเหลือเกิน กว่าจะรู้ได้ ทำอย่างไรจะทันได้ ก็ธรรมะคือความจริง ใครมีคุณภาพพอมันก็เข้าถึงความจริงอันเดียวกัน จะพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ก็เหมือนกัน

ฉะนั้นพวกเราขัดเกลาจิตใจของเรา สำคัญ ถ้าจิตใจของเราชอบทำชั่วให้รู้ทัน มีสติรู้ไป จิตมีอกุศลแล้วรู้ไป มันจะได้ไม่ไปทำชั่วทางกาย ทางวาจา ส่วนความชั่วทางใจห้ามไม่ทัน มันชั่วขึ้นมาแล้วสติถึงจะรู้ ฝึกเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง มันไม่มีโอกาสที่จะปรุงความชั่วหยาบๆ ขึ้นมา ฝึกจิตใจของเราให้ดี จะสุขหรือจะทุกข์ จะดีหรือจะชั่ว ก็เพราะจิตนี้ล่ะ หลวงพ่อเคยเจอคนแก่คนหนึ่งตลอดชีวิตเป็นคนดี พอสมองเสื่อมลงไป สมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมอะไรไว้ที่ดีๆ ความรับผิดชอบสำนึกชั่วดี มันเสีย ร่างกายมันก็ทำงานไปแบบไม่ค่อยดี อันนี้จิตกับกายมันรวมกันอยู่ แยกไม่ออก ถ้าแยกออกจิตไม่เสียหายอะไร ร่างกายมันเสียหายไป คนละส่วนกัน

ค่อยเรียน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ สังเกต แยกธาตุแยกขันธ์ไปเป็นลำดับๆ แยกเท่าที่แยกได้ พอแยกได้แล้วก็ดู ทุกสิ่งที่แยกออกมา everything ที่เราแยกออกมาได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สุดท้ายจะเห็นตัวเราไม่มี สิ่งที่มีก็คือสิ่งที่มีความปรุงแต่ง สร้างมันขึ้นมาชั่วคราวแล้วมันก็แตกสลายไป พระพุทธเจ้าถึงสอน “สัพเพ สังขารา อนิจจา” สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ไม่เที่ยง “สัพเพ สังขารา ทุกขา” สังขารคือความปรุงแต่งทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา คือสิ่งที่เป็นสังขารกับสิ่งที่เกินสังขารออกไป ส่วนที่เป็นวิสังขารเป็นอนัตตา ธรรมที่เกินสังขารก็ตัวนิพพานนั่นล่ะ นิพพานเที่ยง นิพพานไม่ทุกข์หรอก

พระพุทธเจ้าบอก “นิพพานัง ปรมัง สุขขัง” ความบรมสุข แต่นิพพานไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้ครอบครอง จิตที่ฝึกดีแล้วก็จะไปเห็นพระนิพพาน ไปประจักษ์ ไปแจ่มแจ้งพระนิพพาน แต่ไม่ได้ครอบครองพระนิพพาน ถ้าคิดจะครอบครองพระนิพพาน ยังไม่ถึงหรอก ธรรมะนั้นยังไม่ถึงจริง จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาไม่กลัววิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เก่ง รู้อะไรต่ออะไรเยอะแยะเลย อย่างตอนนี้เริ่มศึกษาในจักรวาล เรียนรู้ออกไปได้เยอะแยะ เห็นการเกิดของจักรวาล มี big bang ขึ้นมา จักรวาลขยายตัวไปช่วงหนึ่ง หมดกำลังที่จะขยายตัว เริ่มดึงดูดกลับเข้าไป ลงไปในหลุมดำอยู่กลาง center ของจักรวาล ดูดทุกอย่างเข้าไป แล้วหลุมดำพอมันดูดสสารเข้าไปเยอะๆ มันก็ทนอยู่ไม่ได้ สุดท้ายมันก็แตกสลายอีก ตอนนี้ก็เริ่มจับได้แล้วว่า มันเริ่มปล่อยพลังงานอะไรออกมามหาศาลเลย สูญเสียพลังออกมาแล้ว

เรียนกันตั้งนานมาเห็นถึงตรงนี้ ในขณะที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “สัพเพ สังขารา อนิจจา” คลุมหลุมดำไหมสังขาร คลุมนะ ปรากฏการณ์ทั้งหลาย เราชาวพุทธเราไม่ได้ไปต่อต้านวิทยาศาสตร์หรอก เราเรียน ฟัง ดูเขาศึกษาแล้วก็เข้าใจ แต่พวกที่เรียนส่วนใหญ่ก็เรียนหวังจะไปครอบครอง อยากได้ทรัพยากรโลกนี้จะหมดแล้ว อยากหาโลกใหม่ไว้อยู่ เพราะมันมีตัวตนอยู่ ก็ดิ้นรนไปทุกข์ไปไม่รู้จักจบจักสิ้น รู้ว่าชีวิตมนุษย์อยู่ไม่นาน ถ้าต้องย้ายโลกนี้ มันคงตายก่อนที่จะไปถึง คิดวิธีฟรีซเอาไว้ใส่แคปซูล วิ่งไป ไปถึงปลายทางแล้วค่อยตื่นขึ้นมา คิดมากมาย ทำไมต้องคิดมากมายอย่างนั้น เพราะมันรักในอัตตาตัวตนเท่านั้นล่ะ ไม่มีอะไรหรอก เท่านั้นเอง

พวกเราชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนประณีตลึกซึ้ง ล้างอัตตาตัวตนไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็แค่รูปธรรมกับนามธรรม ฉะนั้นเวลาพระอรหันต์ท่านนิพพาน ท่านไม่คิดหรอกว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหน นิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้ายังคิดอยู่ไม่ใช่หรอก ท่านไม่ต้องคิดอย่างนั้นหรอก ท่านก็เห็นขันธ์ทั้ง 5 เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จบตรงนั้นเองไม่ต้องพูดอะไรต่อแล้ว ถ้าพูดต่อได้ก็คือความปรุงแต่งชนิดใหม่แล้ว เทศน์ยากไปไหม หลวงพ่อไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์หรอก เรียนรัฐศาสตร์ ไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้ อาศัยภาวนาเอาก็ค่อยเข้าใจ ศึกษาข้อมูลข่าวสารอะไรพวกนี้ เข้าใจ ทำไมคนดิ้นรนอยากไปอยู่โลกอื่น มันกูทั้งนั้นล่ะ

 

แผนที่ไปพระนิพพาน

ภาวนานะ วันหนึ่งใจเราพ้นจากความดิ้นรน เรียกว่าเราเข้าถึงวิสังขาร จิตมันหมดความดิ้นรนปรุงแต่ง จิตมันหมดความอยากเรียกว่า วิราคะ จิตมันไม่ยึดถือในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเรียกว่า วิมุตติ หลุดพ้นไป มีความหลุดพ้นแต่ไม่มีผู้หลุดพ้นหรอก ชอบถามกันว่า “ยุคนี้มีพระอรหันต์ไหม” ไม่มีผู้หลุดพ้นหรอก มีความหลุดพ้นแต่มันไม่มีผู้หลุดพ้น พระอรหันต์ท่านไม่มาสำคัญมั่นหมายว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรอก ถ้าสำคัญมั่นหมายอยู่ก็ไม่ใช่ ค่อยๆ ภาวนาไป หลวงพ่อพูดให้ฟังเหมือนให้แผนที่พวกเราเท่านั้น เราก็ต้องเดินทางด้วยตัวเอง อย่านึกว่าฟังที่หลวงพ่อเทศน์แล้วจะได้ธรรมะ ไม่ได้หรอกต้องปฏิบัติเอา เจริญสติไป ศีลต้องรักษา สมาธิต้องฝึก ให้จิตสงบจะได้มีกำลัง แล้วก็ให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้เห็นปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรม แล้วพอเรามีจิตที่ตั้งมั่นเราก็เจริญปัญญาไป เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปธรรม ของนามธรรมทั้งหลาย สุดท้ายมันจะรู้ว่าตัวเราไม่มีหรอก

ให้แผนที่ไว้ พวกเราก็ต้องเดินเอาเอง หลวงพ่อไปอ่านพระไตรปิฎกก็ได้แผนที่มาส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มเดินทางจากจุดไหน คล้ายๆ GPS เรากำลังหลงอยู่ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ มันก็บอก “มุ่งหน้าทางตะวันตก” ก็เราไม่รู้ว่าตะวันตกอยู่ไหน เรียนพระไตรปิฎกมาไม่รู้จะเริ่มอย่างไร บอก “มุ่งหน้าทางตะวันออก แล้วเลี้ยวซ้าย” ตะวันออกอยู่ไหนยังไม่รู้ ตอนนี้อยู่ตรงไหนไม่รู้ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิต ก็เลยรู้เลยทิศเหนือทิศใต้มันอยู่ตรงไหน ตำรับตำราที่เคยเรียนมาไม่ได้เสียหายอะไร มันเป็นตัวตรวจสอบการปฏิบัติของเราได้อย่างดีเลย ตอนยังเรียนหนังสืออยู่ หลวงพ่อบวชอยู่วัดชลประทานฯ ที่วัดชลประทานฯ เขาทำวัตรสวดมนต์แปล มีบทแปล โดยเฉพาะทำวัตรเช้านี้วิเศษมากเลย เป็นธรรมะที่คัดมาจากพระไตรปิฎกอีกทีหนึ่ง

โดยเฉพาะบทที่ว่า “รูปูปาทานักขันโธ เวทะนูปาทานักขันโธ สัญญูปาทานักขันโธ สังขารูปาทานักขันโธ วิญญาณูปาทานักขันโธ” แล้วก็ “รูปังอะนิจจัง เวทะนาอะนิจจา สัญญาอะนิจจา สังขาราอะนิจจา วิญญาณังอะนิจจัง” “รูปังอะนัตตา เวทะนาอะนัตตา สัญญาอะนัตตา สังขาราอะนัตตา วิญญาณังอะนัตตา” บทนี้ หลวงพ่อมาภาวนา หลวงปู่บอกให้ดูจิต นั่งดูอยู่ในรถไฟ นั่งดูอย่างนั้นแล้วหาจิตไม่เจอ นึกถึงบทสวดมนต์อันนี้ ค่อยๆ แยกรูปส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ค่อยๆ แยกๆๆๆ ในที่สุดก็สามารถแยกขันธ์ได้ นั่งรถไฟจากสุรินทร์ไปโคราช ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงราวๆ นั้น เวลาเท่านี้จากที่ฟังหลวงปู่ดูลย์ว่าให้ดูจิตๆ หลวงพ่อแยกขันธ์เสร็จก่อนจะถึงโคราช เพราะอาศัยอะไร อาศัยปริยัตินี่ล่ะ เอามาใช้ จิตมันต้องอยู่ในขันธ์ 5 นี่ล่ะ แล้วค่อยๆ แยกขันธ์ แยกๆๆๆๆ ไป ในที่สุดก็ได้ตัวรู้ขึ้นมา พอตัวนี้เกิดขึ้นมา จำได้ เวลานั่งสมาธิมันก็มาถึงตัวนี้ จิตมันจะทรงอยู่ที่ตัวนี้ได้นานๆ ทีหนึ่งหลายๆ วันเลย

เพราะฉะนั้นปริยัติ ถ้าเราเรียนไว้แล้วเอามาปฏิบัติได้ วิเศษนะตรวจสอบได้ อย่างครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบอกว่า “นิพพานเป็นอัตตา” เราฟังดูเราก็รู้ พระพุทธเจ้าบอก “นิพพานเป็นอนัตตา” ทำไมท่านพูดอย่างนั้น มันเป็นการบัญญัติที่คลาดเคลื่อน แต่สภาวธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็นไม่คลาดเคลื่อน ภาษาเคลื่อนได้ เพราะท่านไม่ได้เรียนมา เพราะฉะนั้นอย่างเราฟังท่านผู้ปฏิบัติท่านนี้ ท่านพูดอย่างนี้สำนวนเป็นอย่างนี้ ถ้าเราภาวนาเราก็เข้าใจว่าท่านต้องการสื่ออย่างนี้ เราไม่ได้เป็นหนอนกัดคัมภีร์ พูดไม่เหมือนตำราใช้ศัพท์ผิดตำรา แสดงว่าปฏิบัติผิด ไม่ใช่ ปฏิบัติถูกแต่พูดไม่ถูก มี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้นด้วย ทำไมท่านว่า “นิพพานเป็นอัตตา” เพราะท่านเห็นว่านิพพานเที่ยง ท่านเห็นว่าสิ่งใดเที่ยงสิ่งนั้นเป็นอัตตา ท่านไปคิดอย่างนี้ ท่านคิดว่านิพพานเป็นของท่านไหม ไม่คิดหรอกมันเห็นอยู่แล้ว ถ้าพูดให้ถูกก็คือ “นิพพานไม่มีเจ้าของ” นิพพานก็เป็นอนัตตา แต่นิพพานเที่ยง

ฉะนั้นถ้าเราเรียนปริยัติ เราเอามาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติได้ ดีมากเลย ไว้ตรวจตรวจสอบตัวเอง เวลาเราภาวนาจิตผ่านไปถึงจุดนี้แล้วไปติดอยู่ตรงนี้ ถ้าเราเคยเรียนปริยัติเราก็จะเข้าใจว่ามันผิด จะผิดตรงไหนค่อยสังเกตเอา หรือเจอครูบาอาจารย์ถามเอา อย่างหลวงพ่อเคยภาวนาผิด จิตมันเคลื่อนออกไปข้างหน้านิดหนึ่ง แล้วมันสว่างว่างอยู่อย่างนั้น อยู่ได้เป็นเดือน อยู่ได้เป็นปี สว่าง ทีแรกก็ดีใจ โอ้ จิตนี้ผ่องใสไม่มีกิเลส ต่อมาเฉลียวใจพระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมตัวนี้เที่ยง ท่านว่าจิตเป็นตัวทุกข์ทำไมมันสุข ท่านว่าจิตเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ เราผิดที่ไหน ปริยัติมาช่วยตรงนี้ หลวงพ่ออาศัยปริยัตินี่เอง อย่างแยกรูปนามได้ก็อาศัยปริยัติมาแยก เคยเรียน แล้วจิตไปติดไปพลาดอะไรอยู่ ปริยัติมาตรวจสอบ ทำไมมันเป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา มันต้องผิด มันผิดที่ไหนค่อยๆ สังเกตเอา ฉะนั้นปริยัติจริงๆ มีประโยชน์ แต่ถ้างมงายเกาะคัมภีร์ไว้ ไม่ไหว มันไม่ละกิเลส

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 มิถุนายน 2565