ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องใหญ่

เราชาวพุทธ ขั้นต่ำสุดต้องรักษาศีลให้ได้ เอะอะจะเจริญปัญญาอะไรอย่างนี้ แต่ศีลไม่มีสมาธิมันก็ไม่มี สมาธิไม่มีปัญญามันก็ไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเรียน การเรียนไม่ใช่เรียนด้วยการอ่าน การฟังอย่างเดียว ต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ

ทุกวันนี้การถือศีลยากลำบากมากเลย ช่องทางที่เราจะผิดศีลมากมายเหลือเกิน เอาแค่สักข้อหนึ่ง อย่างข้อ 4 มุสาวาท รักษายาก ยิ่งมันมีโซเชียล โอกาสทำผิดพลาด มันเยอะมากเลย ฉะนั้นเวลาพวกเราอ่านอะไรในโซเชียล ก็สังเกตใจตัวเองให้ดี ถ้าอ่านอะไรแล้วจิตเราเป็นกุศล เราก็อ่านได้ ถ้าอ่านแล้วจิตเราเป็นอกุศล อย่าไปยุ่งกับมัน เราไปห้ามคนอื่นเขาเขียนอะไร ห้ามไม่ได้ เราก็อย่าไปเสพอะไรที่มันไม่ดี ที่ทำให้จิตเราเศร้าหมอง ที่สำคัญตัวเราเอง ก่อนที่จะโพสต์อะไร ก่อนที่จะเขียนอะไร พิจารณาให้ดี สิ่งที่เราเขียนไปนั้น สำหรับเราเองมันทำให้กุศลเจริญขึ้นไหม หรือทำให้กุศลเสื่อมไป หรือทำให้อกุศลมันเกิด

 

เราทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีกุศลเจริญขึ้น หรือว่ามีอกุศลเจริญขึ้น

สังเกตตัวเอง ขั้นแรกเลยสังเกตตัวเอง สิ่งที่เราเขียน ถ้าเราเป็นคนอ่าน ใจเราจะดีขึ้นหรือจะเลวลง สังเกตเอา อย่างถ้าเราอ่านเอง เรารู้สึก แหม เป็นกุศลมาก เราเขียนด้วยความหวังดีจริงๆ แต่เรามองกลับ ถ้าคนอื่นเขามาอ่าน จิตของเขาที่เคยเป็นกุศลมันเสื่อมไปไหม หรือว่ามันเป็นกุศลมากขึ้น หรือจิตของเขาเป็นอกุศลมากขึ้นอะไรอย่างนี้ อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้ว เกิดมากขึ้น ถ้าเราพิจารณาไตร่ตรองให้ดี เราเห็นว่าอะไรที่เราเขียนออกไปจะทำให้กุศลของเราและของคนอื่นเจริญขึ้น อกุศลของเรา อกุศลของคนอื่นลดลง อันนั้นก็เขียนได้ อย่าให้ผิดกฎหมายก็แล้วกัน แต่ถ้าสิ่งที่เราเขียน คนอื่นมาอ่าน อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้วก็รุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่ที่เขียนกันมันจะเป็นอย่างนี้ล่ะ ยิ่งอ่าน อกุศลยิ่งเยอะ ถ้าอย่างนั้นเราต้องรับอกุศลวิบากแน่นอน เราไปทำจิตผู้อื่นให้มีกิเลสมากขึ้น เราก็บาป

สมัยพุทธกาล มีนักแสดงคนหนึ่งชื่อตาลบุตร ตาลบุตรก็คือลูกต้นตาล นายลูกตาล ก็เป็นนักแสดงดัง ผู้คนชอบ วันหนึ่งไปเจอพระพุทธเจ้า เขาไปทูลพระพุทธเจ้าบอกว่า ผมเป็นนักแสดง ขับร้อง ฟ้อนรำ แสดงแบบแขกก็ต้องเต้นเก่งๆ ด้วย ผู้คนมีความสุข ครูบาอาจารย์ของผมบอกว่า การที่เราเป็นนักแสดงทำให้คนอื่นมีความสุข เราได้บุญ เราจะได้ขึ้นสวรรค์ เลยอยากถามความเห็นของพระพุทธเจ้าว่าจริงหรือไม่จริง ท่านไม่ตอบ พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบ ถามครั้งที่หนึ่งก็ไม่ตอบ ครั้งที่สองก็ไม่ตอบ ตาลบุตรอยากรู้จริงๆ ว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างไร ก็ถามเป็นครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า สิ่งที่เราแสดงออกไปมันทำอกุศลที่ยังไม่เกิดของตัวเอง อกุศลที่ยังไม่เกิด ทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า ทำอกุศลที่มีอยู่ของตัวเองให้มากขึ้นหรือเปล่า ทำกุศลที่มีอยู่แล้วให้หมดไปสิ้นไปหรือเปล่า ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้ แล้วก็ให้ดูที่คนอื่นด้วย เขาดูกาลเล่นของเราแล้ว กุศลของเขาเจริญขึ้นหรือเปล่า หรือกุศลที่มีอยู่เสื่อมไป กุศลใหม่ก็เกิดไม่ได้ อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด อกุศลที่เกิดแล้วก็รุนแรงขึ้น ท่านให้ดูว่าสิ่งที่แสดงออกมาให้คนเห็น มันทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีกุศลเจริญขึ้นหรือว่าอกุศลมันเจริญขึ้น กุศลมันเสื่อม ท่านชี้ให้ตาลบุตรดู ตาลบุตรฟังแล้วก็เข้าใจเลย ปิ๊งเลย อย่างขับร้อง ฟ้อนรำ คนก็หลงขาดสติ หรือไปเล่นละคร เดี๋ยวจิตเขาก็มีราคะ เดี๋ยวจิตเขาก็มีโทสะ

อย่างเราชอบดูหนังดูละคร สมัยก่อน เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่าไม่รู้ เมื่อก่อนจะมีละครหลังข่าว แม่ผัวลูกสะใภ้ เมียหลวง เมียน้อยอะไรตบกันกระจาย ดูแล้วสนุกอะไรอย่างนี้ จากที่ไม่มีกิเลส จิตสงบก็กลายเป็นจิตฟุ้งซ่าน นี่พูดถึงการแสดง การแสดงละคร ในลักษณะเดียวกัน คำพูดของเรา เราก็ประเมินได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เราพูดนั้น กุศลของเราที่ยังไม่มี มันมีไหม กุศลของเราที่มีอยู่แล้วเจริญขึ้นไหม อกุศลของเราที่ยังไม่เกิด มันเกิดไหม ที่เกิดแล้ว มันเจริญขึ้นไหม มันมากขึ้นไหม ของคนอื่นก็เหมือนกัน คำพูดของเราทำให้กุศลของคนอื่นที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นไหม กุศลของคนอื่นที่เกิดแล้วเจริญขึ้นไหม มากขึ้นไหม หรือทำให้อกุศลของคนอื่นที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็มีมากขึ้น วัดใจตัวเองให้ดี เหมือนที่พระพุทธเจ้าตอบตาลบุตร ถ้าเราไปทำอะไร ที่ทำให้อกุศลของตนเองและผู้อื่นเจริญ ทำกุศลของเราและกุศลของผู้อื่นให้เสื่อมไป อันนี้บาป ท่านก็พูดว่าไม่ได้ไปขึ้นสวรรค์หรอก แต่ตกนรก ท่านว่าอย่างนี้

ฉะนั้นพวกเราระมัดระวัง ก่อนที่เราจะแสดงความคิดความเห็น เราบอกเรามีเสรีภาพ อยากแสดงความเห็นอะไรก็ได้ แสดงความเห็นแล้ว คนยิ่งเครียดหนักขึ้น ยิ่งโมโหโทโส ยิ่งขัดแย้ง ยิ่งอยากใช้ความรุนแรงมากขึ้นอะไรอย่างนี้ เลี่ยงเสีย อย่าไปยุ่งด้วยเลย คนอื่นเขาจะทำบาปอกุศล เราห้ามเขาไม่ได้ แต่เราอย่าทำเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปทำผิดในโซเชียล อันตรายระยะยาว อย่างเราโกรธใครสักคน เราไปถึง เราไปด่าเขา เราไปชกหน้าเขา ความผิดตรงนั้นมันก็จบตรงนั้นล่ะ ไปขึ้นโรงขึ้นศาลตัดสิน จะถูกปรับจะติดคุกอะไร มันก็จบกันตรงนั้น แต่อย่างเราไปเขียนอะไรไม่ดีในโซเชียล มันอยู่นาน ทุกครั้งที่คนไปอ่าน อกุศลของเขาก็เกิด บาปกรรมของเรามันก็มีขึ้นมาอีก

ในลักษณะที่กลับข้างกัน เราไปทำอะไรที่คนอื่นเขาเห็นแล้วเป็นกุศล อย่างบางคนชอบสร้างพระพุทธรูป พระพุทธรูปอยู่นาน เจ้าของตายไปแล้ว คนมากราบมาไหว้พระ เจ้าของรู้ก็อิ่มอกอิ่มใจ อย่างสมมติไปเป็นเทวดาเฝ้าพระอยู่ เห็นคนมาไหว้พระ ใจก็เบิกบานมีความสุข ก็ยังได้รับผลบุญไปเรื่อยๆ แต่เราไปเขียนอะไรไม่ดีไว้ 10 ปี 20 ปี มันยังไม่หายเลย มันยังอยู่เลย อย่างเราไปปรามาสล่วงเกินครูบาอาจารย์ไว้ หรือไปใส่ร้ายพระที่ท่านไม่มีความผิดไว้ มันอยู่นาน เขามาอ่านเมื่อไร คนมาเห็นเมื่อไร จิตเขาเศร้าหมองขึ้นมา เราก็ได้รับผลไปเรื่อยๆ ในทางไม่ดี

เพราะฉะนั้นยุคนี้เราต้องระวังตัวเองให้ดี จะแสดงความคิดความเห็นอะไร สำรวจใจให้ดีก่อน ก่อนที่จะแสดงออกไปทางกาย หรือทางวาจา ยิ่งออกไปทางโซเชียล มันอยู่นาน กฎหมายหมิ่นประมาทอะไรอย่างนี้ หมิ่นประมาทกันซึ่งหน้าอะไรอย่างนี้ ไม่เท่าไร เห็นไหม ถ้าหมิ่นประมาททางสื่อ โทษหนัก โทษหนักกว่า เขาก็คิดอย่างมีเหตุผลเหมือนกันว่าสื่อนั้นมันอยู่นาน 10 ปี 20 ปีอะไรมันก็ยังอยู่ อกุศลมันก็เกิดซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเราระมัดระวังตัวเองให้ดี อกุศลเล็กๆ น้อยๆ เราก็อย่าประมาท

 

“ระมัดระวังตั้งแต่คำพูดของเรา
การกระทำทั้งหลายมันจะไม่ชั่วหยาบหรอก
ถ้าใจเรา วาจาเราไม่สกปรก
อย่าประมาทนิ่งนอนใจว่าไม่เป็นไร”

 

ถ้าเราเริ่มต้นทำผิดเล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็เรื่องวาจานี่ล่ะ เริ่มต้นเราทำผิดด้วยวาจาเล็กน้อย ไม่ถึงกับโกหก แต่กระแนะกระแหนอะไรอย่างนี้ สมมติกระแนะกระแหน ส่อเสียดอะไรอย่างนี้ เยาะเย้ยถากถางอะไรอย่างนี้ ใจเราก็ยิ่งหยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ทีแรกก็แค่พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเป็นกันเกือบร้อยละ 100 เลยพวกเล่นโซเชียล คือไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เขียนไปวันนี้วันอาทิตย์ วันนี้วันจันทร์อย่างนี้ เพ้อเจ้อ มันเริ่มต้นจากอกุศลเล็กๆ อย่างนี้ล่ะ ต่อไปก็เริ่มชิน ค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเป็นส่อเสียด เป็นการโกหก เป็นอะไร พอโกหกได้ ใจยิ่งกระด้าง อกุศลแรงขึ้นๆ ต่อไปมันก็เริ่มออกทางกาย เริ่มผิดศีลทางร่างกาย

ฉะนั้นจุดตั้งต้นของความเลวที่หลวงพ่อเห็น มันอยู่ที่ใจที่ไม่ไตร่ตรองเป็นต้นเหตุเลย แล้วก็ส่งผลเกิดพฤติกรรมทางวาจา เราไม่ค่อยรู้สึกว่าโทษมันมีหรอก พอเราทำความชั่วทางวาจาได้ สุดท้ายมันก็ออกทางกายด้วย รุนแรง ก้าวร้าว ระรานคนอื่น หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง มันจะออกไปอย่างนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าคนที่โกหกได้ที่จะไม่ทำชั่วอย่างอื่น ยาก ลองโกหกได้สักอย่างเดียว ความชั่วอื่นๆ ก็ทำได้หมดล่ะ เพราะว่ามันเป็นจุดตั้งต้นไป

เพราะฉะนั้นเราระวังตั้งแต่จุดตั้งต้น ตรงความคิดเราระวังไม่ทัน สติเราไม่ไว สมาธิเราไม่พอ เราระวังตรงคำพูด อย่าพูดด้วยวาจา หรือพูดด้วยตัวหนังสือก็ตาม หรือพูดด้วยสัญลักษณ์ก็ตาม บางทีเราไม่ต้องพูดด้วยวาจา ใช้สัญลักษณ์ เช่น ชูนิ้วกลางใส่อะไรอย่างนี้ คนก็รู้ความหมาย มันก็คือคำพูด แต่พูดด้วยนิ้ว ถ้าเราระมัดระวังตั้งแต่คำพูดของเรา การกระทำทั้งหลายมันจะไม่ชั่วหยาบหรอก ถ้าใจเราวาจาเราไม่สกปรก อย่าประมาทนิ่งนอนใจว่าไม่เป็นไร เขียนอย่างนี้ไม่มีใครรู้ ชอบคิดอย่างนี้ ในโซเชียลเวลาจะเขียนอะไร ไม่มีใครรู้หรอก เขียนได้ ความจริงเขารู้ แต่เขาจะเอาเรื่องหรือไม่เท่านั้นเอง แต่คนที่รู้คือตัวเราเอง

หลวงพ่อเห็นแล้ว โอ ท่าจะลำบาก มันจะสร้างนรกบนแผ่นดินขึ้นมา แล้วก็ไม่ต้องถึงตอนตายหรอก มันลำบากตั้งแต่ตอนนี้ล่ะ จิตใจของเราแทนที่จะพัฒนาขึ้นก็กระด้างขึ้นๆ รับธรรมะยาก ใจที่แข็งกระด้าง หยาบกระด้าง รับธรรมะไม่ได้ ใจที่อ่อนโยน ใจที่อ่อนน้อม ใจที่เปิดรับ ถึงจะรับธรรมะได้ การรับธรรมะเรารับกันด้วยใจ ไม่ใช่รับด้วยสมอง หรือด้วยหู ด้วยตา ตาเราไปอ่านหนังสือธรรมะ ใจเราไม่ได้รับ ถ้าตาเราอ่านหนังสือธรรมะแล้วใจเราถ้าตาเราอ่านหนังสือธรรมะแล้วใจเรา 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่อ่านพระไตรปิฎกจบก็เป็นพระอรหันต์เลย ไม่ได้เป็นกัน

 

ทุกวันต้องทำในรูปแบบ จิตจะมีกำลังขึ้นมา

การปฏิบัติ ปฏิบัติอะไรบ้าง ปฏิบัติศีล ต้องตั้งใจรักษา ต้องระวังให้มากเลย ข้อ 4 แล้วก็ต้องปฏิบัติสมาธิ เมื่อวานก็บอกแล้ว สมาธิมี 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นสภาวะทั้งหลายแสดงไตรลักษณ์ รูปธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ นามธรรมก็แสดงไตรลักษณ์ ต้องเห็น อันนี้สมาธิชนิดตั้งมั่นจะทำให้เราเห็น สมาธิสงบก็ไม่มีการเห็นอะไร ก็นิ่งๆ อยู่เฉยๆ มันก็มี 2 อย่าง แต่ก็มีประโยชน์ทั้ง 2 อย่าง มีสมาธิชนิดตั้งมั่นแล้วเจริญปัญญารวดไปเลย จิตจะหมดแรง ถ้าจิตจะหมดกำลัง วิปัสสนูปกิเลสจะแทรก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีสมาธิชนิดสงบด้วย

แบ่งเวลาไว้เลยทุกวันๆ ต้องทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรมอะไรก็ได้ ทำไปแล้วก็ให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ จะเดินจงกรมก็เดินไปด้วยจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว จะนั่งสมาธิก็นั่งด้วยจิตใจที่อยู่กับเนื้อกับตัว พอจิตมันมีเครื่องอยู่ เช่น อยู่กับร่างกาย อยู่กับร่างกายที่หายใจ อยู่กับร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่กับร่างกายที่เคลื่อนไหว หยุดนิ่งอะไรอย่างนี้ ถ้าสติระลึกรู้ร่างกายอย่างเดียว ไม่ไปรู้อย่างอื่นโดยเราไม่ได้บังคับ มันรู้สึกอยู่ในกาย ไม่ได้หนีไปที่อื่นเลย อันนั้นเราจะได้สมาธิชนิดสงบ จิตอยู่ในอารมณ์เดียว ก็ดูอยู่ในกาย ควรทำๆ ไม่อย่างนั้นจิตจะไม่มีกำลัง

ที่หลวงพ่อพูดพูดเต็มปากที่หลวงพ่อพูดพูดเต็มปาก เพราะหลวงพ่อทำผิดมาแล้ว หลวงพ่อถือตัวว่านั่งสมาธิมาตั้งแต่ 7 ขวบ สมาธิชำนาญอยากสงบก็สงบอะไรอย่างนี้ พอมาเจอการดูจิตของหลวงปู่ดูลย์ ขึ้นวิปัสสนา ทิ้งการทำสมถะ ก็อยู่ได้ช่วงเดียวล่ะ กำลังสมาธิไม่พอแล้ว วิปัสสนูปกิเลสมันก็หลอกเอา เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรอให้กำลังของสมาธิหมด ทำมันทุกวันล่ะ ปลอดภัยที่สุด

แบ่งเวลาไว้เลย วันละครึ่งชั่วโมง วันละชั่วโมงอะไรอย่างนี้ ทำ นั่งภาวนา ไหว้พระสวดมนต์นิดหน่อย ไม่ใช่สวดทีหนึ่ง บอกให้ปฏิบัติชั่วโมงหนึ่ง ก็สวดมนต์ไป 55 นาที มาหายใจ 5 นาที ไม่ไหว สวดแบบไหว้ครู แบบนักมวยเขาไหว้ครู เห็นไหม เขาไม่ไหว้ครูทีละ 5 ยกหรอก เขาไหว้ครูก่อนชก นิดๆ หน่อยๆ เราก็ไหว้ครู ไหว้พระสวดมนต์นิดๆ หน่อยๆ พอให้ใจระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เสร็จแล้วเราก็ลงมือทำในรูปแบบ จะนั่งสมาธิก็นั่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไปเถอะ เห็นร่างกายนั่นล่ะหายใจเข้า เห็นร่างกายหายใจออกไป ใจไม่วอกแวกไปที่อื่น กำลังเห็นร่างกายหายใจเข้าหายใจออก แล้วใจหนีไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องจะไปซื้อหวยอะไรอย่างนี้ งวดนี้เลขไหนจะดีอะไรนี่ ใจมันหลงแล้ว เราก็ทิ้งมันไป นี่ฟุ้งซ่าน เสียเวลา ยังไม่ใช่เวลาจะมานั่งคิดว่าหวยงวดนี้จะออกอะไร ก็มารู้สึกร่างกายหายใจเข้า ร่างกายหายใจออก ไม่ใช่ดูที่ลม

ขอแนะนำให้ดูร่างกายที่หายใจ ถ้าดูที่ลม ส่วนใหญ่ร้อยละ 100 จะไปเพ่งลม เพ่งลมแล้ว มันจะออกไปทางกสิณ ลมมันจะค่อยระงับ มันกลายเป็นแสง จากแสงมันก็เกิดปฏิภาคนิมิต เล่นกับแสงได้ ก็เข้าฌาน ออกจากฌานมาอธิษฐาน อยากรู้อยากเห็นอะไร มันตามแสงสว่างไปอะไรอย่างนี้ บางทีก็สู้กัน สู้ เจอผีก็กำหนดจิต ผีตัวนี้ดุนัก กำหนดจิตเป็นไฟลุกขึ้นมา สกัดกั้นผีเอาไว้อะไรอย่างนี้ อันนี้ของเล่น เราไม่ได้มุ่งไปทางนั้น เรามุ่งที่จะไปสู่พระนิพพาน สู่ความพ้นทุกข์ ฉะนั้นเราเวลาหายใจ เราเห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า ใจเราเป็นคนดู ฝึกเรื่อยๆ ไป

ทุกวันแบ่งเวลาไว้ทำ จิตจะมีกำลังขึ้นมา ไม่ต้องไปเร่งเร้าให้จิตมีกำลัง ทำกรรมฐานไปเถอะ หลายๆ วันจิตมันจะค่อยๆ มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมาเอง อันนั้นล่ะเรียกว่าเรามีกำลังของสมาธิชนิดสงบแล้ว ถัดจากนั้นเราก็ทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่ไม่ได้มุ่งไปที่ความสงบ เรามุ่งไปที่จิต อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไป เรารู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปเพ่งลมหายใจ เรารู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันสภาวะ ที่จริงสภาวะอะไรก็ได้ ถ้าเรารู้ทัน สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหนีไปคิดเรารู้ สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดอัตโนมัติ หรือใจเราขี้โกรธ พอความโกรธเกิดขึ้น เราเห็นความโกรธมันเกิดขึ้น ใจเป็นแค่คนรู้คนดู มันจะเห็นเลยว่าความโกรธกับใจมันคนละอันกัน สมาธิชนิดตั้งมั่นก็เกิดขึ้นมา

ไม่ได้ยากอะไรหรอก ขอให้จับหลักให้ได้ แต่ก่อนจะจับหลักให้ได้ ก็ลำบากเหมือนกัน กว่าหลวงพ่อจะสรุปเป็นหลักออกมาให้พวกเราฟังง่ายๆ หลวงพ่อยากลำบากมาหนักหนาแล้ว ค้นคว้าพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตัวเอง ใช้เวลามากมาย ทำลองผิดลองถูกอยู่ เพื่อวันหนึ่งจะต้องมาทำงานอย่างนี้ล่ะ

ฉะนั้นเวลาที่เราต้องการสมาธิชนิดสงบ อย่าไปบังคับจิตให้สงบ ให้มีเครื่องอยู่ มีอารมณ์อันหนึ่งเป็นเครื่องอยู่ของจิต พอจิตมันหนีไปจากอารมณ์นั้น ไม่สนใจมัน กลับมาอยู่กับอารมณ์นี้ใหม่ เอาตัวอารมณ์กรรมฐานเป็นพระเอก ถ้าจะทำสมาธิชนิดตั้งมั่น เอาจิตเป็นพระเอก ไม่เหมือนกัน ถ้าต้องการความสงบ เอาอารมณ์เป็นพระเอก อารมณ์กรรมฐาน เช่น พุทโธ ลมหายใจ ดูท้องพองยุบอะไรนี่ เอาสิ่งที่ถูกรู้เป็นพระเอก แล้วจิตมันหนีไปปุ๊บ ทิ้งมันไปเลย จิตอันนั้นไม่สนใจ กลับมาอยู่กับร่างกาย อยู่กับลม อยู่กับท้อง อยู่กับเท้าอะไรของเราต่อไปอีก

 

อธิจิตตสิกขา: เรียนเรื่องจิตตัวเอง

อย่างนี้ถ้าเราเอาอารมณ์เป็นพระเอก เราจะได้อารัมมณูปนิชฌาน คือสมาธิชนิดที่จิตสงบ แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วถ้าเราอยากได้สมาธิชนิดตั้งมั่น เราเอาจิตเป็นพระเอก เราก็อาจจะทำกรรมฐานอย่างเดิมล่ะ แต่คอยรู้ทันจิตตัวเอง เช่น เราหายใจไป แล้วเกิดขี้เกียจขึ้นมา รู้ว่าขี้เกียจ รู้เข้าไปเลย ตรงนี้เราจะได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญาเลย ควบเลย หรือตรงที่จิตเราหนีไป แล้วเรารู้ เรานั่งหายใจอยู่ดีๆ จิตหนีไปคิด เรารู้ว่านี่หลงคิดแล้ว ตรงที่รู้ว่าหลงคิด สมาธิก็เกิดขึ้นแล้ว สมาธิชนิดตั้งมั่น เพราะเรารู้ทันจิตตัวเอง สมาธิชนิดตั้งมั่นก็เกิดขึ้น สมาธิที่พระพุทธเจ้าเน้นมากๆ เลย คือสมาธิชนิดตั้งมั่น เพราะฉะนั้นสมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ไม่ได้แปลว่าความสงบ แล้ววิธีฝึกให้จิตตั้งมั่น ท่านถึงเรียกว่าจิตตสิกขา วิธีฝึกสมาธิ บทเรียนชื่ออธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตัวเอง แล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้นควรทำ ฝึก แบ่งเวลาไว้ทุกวันๆ เลย ทำในรูปแบบนั่นล่ะ วันนี้จิตเราฟุ้งซ่าน เราก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง วันนี้จิตเรามีกำลังพอสมควรแล้ว เราปล่อยให้จิตมันทำงาน จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป เบื้องต้นจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่น เบื้องปลายจะได้ปัญญา แค่ที่เราเห็นว่า เดี๋ยวจิตก็ตั้งมั่น เดี๋ยวจิตก็ไม่ตั้งมั่น เห็นแค่นี้บรรลุพระอรหันต์ได้ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เลย เราจะเห็นเลย เดี๋ยวจิตก็ตั้งมั่น เดี๋ยวจิตก็ไม่ตั้งมั่น ตรงที่ไม่ตั้งมั่น ก็คือจิตมันหลง มันไหลไป 6 ช่อง ไหลไปดู ไหลไปฟัง ไหลไปดมกลิ่น ไหลไปลิ้มรส ไหลไปรู้สัมผัสทางกาย ไหลไปคิดนึกทางใจ หรือไหลไปเพ่งอารมณ์ทางใจ จิตมันไหลไป แล้วเรารู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอจิตตั้งมั่นแล้ว เดี๋ยวก็ไหลอีก

ถ้าเราไม่ไปบังคับเอาไว้ ถ้าเราจะไม่ให้จิตไหลไปเลย เราก็เพ่ง เพ่งอารมณ์อันเดียว เพ่งตัวอะไรได้ เพ่งจิตก็ได้ เพ่งความว่างที่จิตไปเห็นเข้าก็ได้ เยอะแยะ คือเพ่งอะไร ก็คืออารัมมณูปนิชฌานจากการเพ่งอารมณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปเพ่งจิต ถ้าเพ่งจิตก็ได้อารัมมณูปนิชฌาน ถ้าเราจะให้ได้ลักขณูปนิชฌาน แค่รู้จิต ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง แล้วจิตไหลไปแล้วรู้ๆ สมาธิก็จะเกิดขึ้นแล้วต่อไปปัญญามันก็ตามมา มันจะเห็นจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางตาก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางหูก็ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่เที่ยงอะไรอย่างนี้ เห็น หรือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ก็เป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่จะไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ ก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่เห็นอนัตตา

พูดถึงจิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางคนเขาก็โห่เอา พวกที่เรียนปริยัติเยอะๆ บอกจิตไม่เคยไหลไปไหนหรอก จิตมันเกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หูแล้วก็ดับเป็นขณะๆๆ ไป พวกที่สอนว่าจิตไหลไปไหลมา เที่ยวไปเที่ยวมา ไม่ถูก ไม่เข้าใจธรรมะ ลองไปอ่านพระไตรปิฎก อ่านพระไตรปิฎกดู พระพุทธเจ้าท่านก็บอก “จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน จิตนั้นมีธรรมชาติเที่ยวไปรวดเร็ว” ท่านใช้คำว่ามันเที่ยวไปได้ ทำไมท่านใช้คำนี้ ท่านไม่รู้หรือว่าจิตเกิดที่ตาแล้วดับ เกิดที่หูแล้วดับ ท่านรู้ ทำไมท่านจะไม่รู้ แต่ท่านพูดตามอาการที่ผู้ปฏิบัติมองเห็น เราจะเห็นว่าจิตมันไหลไปที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ก็มันเห็นอย่างนี้ ท่านถึงบอกว่าจิตมันเที่ยวไป มันโคจรไป

ทำไมท่านไม่บอกว่าจิตมันเกิดดับทางอายตนะ มันเร็วเกินไปที่จะบอก เวลาผู้ปฏิบัติบอกว่าจิตเกิดดับทางอายตนะ มันยังไม่เห็น พูดให้ตาย มันก็ไม่เห็น พอไม่เห็น ก็จะดิ้นรนค้นคว้า ยิ่งไม่เห็นหนักกว่าเก่าอีก ท่านถึงพูดในสิ่งที่เราเห็น คือเห็นว่าจิตมันเที่ยวไปทางตา เที่ยวไปทางหู เที่ยวไปไกล ท่านบอกเลย จิตมันเที่ยวไปไกล มิฉะนั้นไม่ใช่ใครบอกว่าจิตมันไหล ครูบาอาจารย์บอกจิตมันไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ด่าเลย เรียนแต่ว่าไม่ลึก ไม่ลึกซึ้งจริง ท่านพูดถึงจิตที่ไหลไปไหลมา พูดให้นักปฏิบัติฟัง เพราะนักปฏิบัติภาวนาเห็นจิตมันไหลไปไหลมาจริงๆ

คือพระพุทธเจ้าท่านก็บอกจิตมันเที่ยวไปรวดเร็ว มันก็เที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวดเร็ว จริงๆ มันก็ไม่ได้เที่ยว มันเกิดที่ไหน มันก็ดับที่นั่นล่ะ แต่ท่านพูดเพื่ออนุโลม เพื่อสงเคราะห์ให้คนที่อยากปฏิบัติมันรู้เรื่อง อย่างหลวงพ่อก็บอกเห็นไหมจิตมันไหลไปทางตาแล้ว จิตมันไหลไปในความคิดแล้ว เราภาวนา เราก็เห็นอย่างนี้ได้ พอเราภาวนาเข้มแข็งขึ้น หลวงพ่อก็ค่อยบอกใหม่ สังเกตไหมจิตที่รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตผู้รู้ก็ดวงหนึ่ง จิตที่ไปดูก็ดวงหนึ่ง จิตที่ไปฟังก็ดวงหนึ่ง สติ สมาธิเราแหลมคมพอแล้ว เราก็จะเห็นจิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ จิตเกิดที่ใจ เป็นจิตผู้รู้ขึ้นมาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่ใจ เป็นจิตผู้คิด เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่ใจ เป็นจิตผู้เพ่ง เกิดแล้วก็ดับ ก็จะเห็นจิตเกิดดับๆ ไป

จิตไม่ได้มีดวงเดียว เบื้องต้นพวกเรายังมีสักกายทิฏฐิอยู่ เราคิดว่าจิตมีอยู่ดวงเดียว แล้วก็เที่ยวไปทางโน้นเที่ยวไปทางนี้ จิตดวงนี้อมตะ จิตดวงนี้เมื่อชาติก่อนกับจิตในชาติหน้ามันก็จิตดวงเดิม เราเห็นอย่างนี้ เราไม่ต้องฝืนมารยา อ่านตำรามาแล้วไม่ใช่หรอก จิตต้องเกิดดับอะไรอย่างนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้นเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน อย่างพระพุทธเจ้าสอน อยู่ในพระสูตร หรือพระสาวกรุ่นใหญ่ท่านสอนอยู่ในพระสูตรอะไรอย่างนี้ ท่านก็พูดถึงจิตที่ท่องเที่ยวไป บางทีพูดจิตนี้เที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ตัณหาผู้สร้างเรือนทำให้จิตของเราร่อนเร่ไปในภพน้อยภพใหญ่ นี่พระพุทธเจ้าพูด เวลาเรียนธรรมะ เรียนไปตามลำดับ เรียนจากสิ่งที่เราเห็น ไม่ใช่เรียนจากตำรา เห็นอย่างไร รู้มันไปอย่างนั้นล่ะ พอสติสมาธิมันเข้มแข็งขึ้น มันก็จะเห็นจิตผู้รู้ก็ไม่เที่ยงเกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ จิตที่ไปดูก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ บังคับไม่ได้ สุดท้ายมันก็แจ้ง แจ่มแจ้งขึ้นมา มันสรุปของมันได้เองเลยว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

บางคนคิดว่าถ้าเห็นว่าจิตไม่ใช่เราเป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นหรอก ถ้าเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา มันจะเห็นแค่ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา แต่ความยึดถือมันยังมี ระหว่างการเห็นถูก เห็นในเบื้องต้นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา รวมทั้งจิตไม่ใช่เรา จิตมันก็อยู่ในขันธ์ 5 นั่นล่ะ ก็ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าเมื่อไรหมดความยึดถือ เพราะเห็นว่าขันธ์ 5 มันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนั้นถึงจะเป็นพระอรหันต์ ระหว่างการเห็นว่าจิตไม่ใช่เรากับการหมดความยึดถือจิต มันคนละเรื่องกัน บางทีฟังครูบาอาจารย์พูดแล้วก็เมา เลอะเทอะไปว่าถ้าใครเห็นว่าจิตไม่ใช่เราก็เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้เป็นหรอก

 

ภาวนาดูของจริง เห็นความจริงของธาตุของขันธ์

เราดูจากของจริง ดูจากของจริง ค่อยๆ ดู ค่อยๆ เรียนไป การเจริญปัญญา ถ้าเรามีจิตตั้งมั่นจริงๆ เราดูจิตต่อไปเลย จิตผู้รู้เกิดแล้วดับ จิตผู้คิดเกิดแล้วดับ จิตผู้เพ่งเกิดแล้วดับ จิตที่ไปดูรูปเกิดแล้วดับ จิตที่ไปฟังเสียงเกิดแล้วดับ ดูซ้ำๆๆ ดูมันไปเรื่อยๆ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ดูสิมันจะโง่ขนาดไหน มันคงไม่โง่สุดขีด ดูตั้ง 7 วัน 7 เดือน 7 ปีแล้ว จิตยังสรุปไม่ได้ว่าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันคงไม่โง่ขนาดนั้นหรอก คือถ้าภาวนาถูก แล้วก็ทำทุกวัน ทำให้พอ

บางท่าน ในสติปัฏฐาน ท่านก็บอก บางท่านใช้เวลา 7 ปี เจริญสติปัฏฐานอย่างที่เราดูจิตผู้รู้เกิดดับ หรือจิตต่างๆ เกิดดับ นี่คือการเจริญสติปัฏฐานนั่นล่ะ 7 ปี บางท่านก็เป็นพระอรหันต์ บางท่านไม่ได้พระอรหันต์ ก็ได้พระอนาคามี ท่านบอก 7 ปียกไว้ บางท่าน 6 ปี ก็เป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามี บางท่าน 5 ปี บางท่าน 3 ปี บางท่านปีเดียว ท่านบอกปีหนึ่งก็ยกไว้ บางท่าน 7 เดือนเอง ก็เป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี บางท่านก็ 6 เดือน 5 เดือน 3 เดือน 1 เดือน ท่านบอก 1 เดือนยกเอาไว้ ยังมียิ่งกว่านั้นอีก บางท่าน 7 วันก็บรรลุพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี บางท่านเหลือวันเดียว บรรลุวันนั้นเลย นี่การเจริญสติปัฏฐานอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ท่านไม่ได้บอกว่าถ้าเราเจริญสติปัฏฐานวันนี้ ในปีพ.ศ. นี้จะได้แค่นี้ ถ้าในปี 2500 มานี้ เป็นพันปีที่สาม ถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้ว สูงสุดเธอทั้งหลายจะได้แค่พระอนาคามีอะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกเลย

เพราะฉะนั้นหน้าที่เราอย่าไปฟังตำรามาก ฟังพอเป็นไกด์ไลน์ให้ภาวนา แล้วดูของจริง ดูเข้าไปจริงๆ เลย เวลาภาวนาเรื่อยๆ เห็นความจริงของธาตุของขันธ์ สุดท้ายจิตมันจะพราก พรากออกจากธาตุขันธ์ จิตมันพรากออกจากขันธ์ 5 นั่นล่ะ มันเป็นอย่างนั้นๆ ในพระไตรปิฎกก็เขียนอย่างนั้น แล้วถัดจากนั้น อย่างพอเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ยังเจริญสติปัฏฐานอยู่ จะเจริญเพื่อเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ให้จิตมีที่อยู่ เพราะอะไร เพราะมันยังมีจิตอยู่ ยังมีขันธ์อยู่ ท่านก็อยู่กับขันธ์ ใช้สติปัฏฐาน ก็คือเรื่องของขันธ์ 5 นั่นล่ะ ใช้สติปัฏฐานเป็นวิหารธรรม ในขณะที่พวกเราทำสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติ เกิดปัญญา จนกระทั่งเกิดวิมุตติ

พอบรรลุพระอรหันต์ เราทำสติปัฏฐานเพื่อเป็นเครื่องอยู่ของจิต ในขณะที่เป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตพรากออกจากขันธ์ จิตจะพรากออกจากขันธ์เพราะว่ามันพรากขาดออกจากกันแล้ว มันไม่ไปรวมกับขันธ์แล้ว ฉะนั้นอย่างบางทีเราเห็นพระแก่เฒ่าหลงลืมอะไรอย่างนี้ เราบอกว่าไม่ใช่ๆ เราไม่รู้จักสภาวะที่จิตพรากออกจากขันธ์ จิตที่พรากออกจากขันธ์ จิตดวงนี้ไม่มีทางกลับกลอกใดๆ ต่อไปอีกแล้ว แต่ขันธ์นั้นอย่างไรก็เสื่อม ต้องแตกดับ แตกสลายไป เวลาจิตที่พรากออกจากขันธ์ มันจะดูลงมา แต่จะไม่มีการหมายรู้จิต จิตมันจะไม่ไปหมายรู้จิตหรอก มันจะรู้ลงในขันธ์นี่ล่ะ แล้วมันจะเห็นความว่างเปล่า เห็นสุญญตาของขันธ์ โลกข้างนอกก็เป็นอันเดียวกัน เป็นสุญญตาอันเดียวกัน แล้วเวลานิพพาน พระอรหันต์ท่านจะไม่คิดว่านิพพานแล้วจิตท่านจะไปอยู่ที่ไหน ท่านจะรู้อย่างหนึ่งว่า พระอรหันต์นิพพาน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดขึ้นแล้ว ดับไป ดับสนิท ใจมันแจ่มแจ้งอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ดิ้นรนจะไปเข้านิพพานที่ตรงโน้นตรงนี้

หลวงพ่อเคยทำผิด ตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่ คิดว่า เอ๊ะ ทำอย่างไรจิตเราจะเข้านิพพาน นิพพานไม่ยึดอะไรสักอย่าง กำหนดจิตลงไป เช่น เราจะไปรู้ลมหายใจอย่างนี้ กำหนดจิตลงไป พอจิตมันจะไหลไปที่ลม ไม่เอา ทวนกระแสเข้ามาที่ตัวรู้ พอมันจะจับตัวรู้ก็ไม่เอา ทวนกระแสกลับไปที่ตัวอารมณ์ใหม่ เคลื่อนเข้า เคลื่อนออก ไม่จับอะไรเลย สุดท้ายจิตก็รวมปุ๊บลงไป ว่าง ไม่มีความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่ง อะไร พอคิดว่า โอ้ นี่นิพพาน เวลามันผ่านไปเท่าไรยังไม่รู้เลย อกาลิโก ไม่มีเวลา ดู ภาวนาโง่จริงๆ

เจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง คืออาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์บุญจันทร์เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชอบ ลูกศิษย์เบอร์ 1 องค์แรก อาวุโสสุด ของหลวงปู่ชอบ ท่านภาวนาดี แล้วก็ท่านสิ้นไปแล้ว ก็พูดได้ ท่านชำนิชำนาญเรื่องอภิญญา เรื่องอะไร เก่งมากๆ เลย หลวงพ่อไม่เคยเจอท่าน ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ ท่านให้พระมาเรียกหลวงพ่อไปหาท่าน พอไปหาท่าน ท่านก็ถามว่าจะภาวนาอย่างไร ที่ภาวนา ภาวนาอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟัง ไม่ยึดทั้งอารมณ์ ไม่ยึดทั้งจิต ถูกท่านตะคอกเอา ท่านตวาดเอาบอก “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก” ท่านตวาดอยู่ 2 ที ถึงเข้าใจขึ้นมา เออ วิธีฝึกอย่างนี้ ไม่ทำให้เรานิพพานหรอก ไม่ทำให้เราแจ้งในพระนิพพานหรอก มันเป็นสมาธิเท่านั้นเอง นี่เคยทำผิดมาแล้ว

 

 

เพราะฉะนั้นเราเจริญสติปัฏฐานไว้ ไม่มีทางสายอื่น ไม่มีทางที่สอง นอกจากการเห็นรูปอย่างที่รูปเป็น เห็นนามอย่างที่นามเป็น เห็นจิตอย่างที่จิตเป็น เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ล่ะ ถึงวันหนึ่งจิตมันก็เข้าใจเอง พอจิตมันเข้าใจ มันก็รู้ขันธ์คือกองทุกข์ โดยเฉพาะตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ คือบรมทุกข์ ทุกข์ยิ่งกว่าตัวอื่นๆ จิตมันจะพรากออกจากขันธ์ พรากออกไป เรื่องอะไรมันจะจมอยู่ในตัวทุกข์ จิตมันก็พ้นจากตัวทุกข์ไป แล้วถ้าจะนิพพานก็เห็นขันธ์มันตายไป ขันธ์มันแตก ขันธ์มันดับ ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าจิตจะต้องไปทางไหน ถ้าคิดว่าจิตจะต้องไปตรงนั้นจิตต้องไปตรงนี้ ยังไม่ใช่หรอก ยังไปหมายรู้ที่ตัวจิตอยู่ หมายรู้ที่ตัวผู้รู้อยู่

มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านสอนดี แต่พวกเราไม่ค่อยรู้จักท่าน แต่ก่อนท่านมีชื่อเสียง คือหลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าอยู่ที่ภูจ้อก้อ ไม่ใช่หลวงปู่หล้าตาทิพย์ คนละองค์กัน องค์นั้นท่านมีฤทธิ์เยอะ หลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อท่านสอนว่า “ผู้รู้ไม่ใช่นิพพาน ฟากผู้รู้ไป” พ้นจากผู้รู้ไป “จนไม่มีที่กำหนดหมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ” ท่านพูดอย่างนี้ เวลาฟัง โอ๊ย สะใจจริงๆ พูดสั้นๆ เรารู้เลยว่าภูมิจิตภูมิธรรมของคนที่พูดอย่างนี้ได้ ไม่ได้เลียนแบบประโยคนี้มาจากคนอื่น ไม่ธรรมดา

ฝึกทุกวันๆ ทำไว้ ศีลต้องรักษา ตัวที่ต้องระวังมากๆ คือวาจานั่นล่ะ จะพูดด้วยปากหรือจะพูดด้วยนิ้ว พวกเกรียนคีย์บอร์ดทั้งหลายระวังให้ดี พิมพ์ลงไป เขียนไปด่าพระเอาไว้ 10 ปีมันยังอยู่เลยที่เขียน วันดีคืนดีมันก็ดีดขึ้นมาให้ดูได้อีก คนไปอ่านเข้า อกุศลเกิดอีกแล้ว ระมัดระวังรักษาจิตใจของเราไว้ให้ดี อย่าให้ปนเปื้อนสิ่งสกปรก เพราะธรรมดาก็สกปรกมากอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาอะไรที่สกปรกมาแต้มเติมลงไปอีก แล้วใจจะค่อยผ่องใส ก็เอาใจที่สงบสะอาดมาเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรมไป ใจมันสงบ มันสว่าง พอมีสมาธิ มันจะสงบสว่าง ไม่สะอาดหรอก ต้องมาเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม มันถึงจะสงบ สว่าง สะอาดได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 พฤษภาคม 2565