นั่งสมาธิ ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ กำหนดตามอาการที่เป็น เห็นข้อเสียในตัวเองก็รู้สึก ช้าบ้างเร็วบ้าง

คำถาม:

ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ บางครั้งเห็นความเป็นอัตโนมัติ ก็กำหนดตามอาการที่เป็น เห็นข้อเสียในตัวเองก็รู้สึก ช้าบ้างเร็วบ้าง พยายามอยู่ ขอหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยค่ะ

หลวงพ่อ:

คอยรู้ทันกิเลสเอาไว้ กิเลสอะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ กำหนดนั้นมันได้สมาธิในขั้นต้น ต่อไปเราไม่ต้องไปนั่งกำหนดมันหรอก เป็นภาระของจิต อย่างโทสะเกิดเราก็โกรธหนอๆ จิตมันจะไม่ได้สงบจริงจัง มันถูกใช้งานตลอดเลย มันถูกใช้ให้ไปกำหนด มันจะเหนื่อย แรกๆ กำหนดไว้ก่อนก็ได้ เพราะสติเราอ่อน สมาธิเราอ่อน กำหนดก็จะช่วย ช่วยให้สมาธิมันค่อยดีขึ้นหน่อย แต่ว่าไม่สงบจริง แล้วคำบริกรรมนั้น ถึงจุดหนึ่งจะเป็นภาระ ที่เรากำหนดคำโน้นคำนี้ ก็คือคำบริกรรมนั่นล่ะ ถึงจุดหนึ่งเป็นภาระ

แล้วอีกอย่างพอถึงภาวนาในขั้นละเอียด สภาวะบางอย่างเกิดขึ้น เราไม่รู้จะใส่ชื่ออะไร เวลาจิตมันเดินปัญญาในขั้นละเอียดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีชื่อแล้ว ไม่รู้ว่าคืออะไร เห็นแค่สิ่งบางสิ่งมันไหวๆ ขึ้นมาแล้วก็ดับ “ยังกิญจิสะมุทะยะธัมมัง สัพพันตังนิโรธะธัมมันติ” เห็นแค่ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา” ทำไมใช้คำว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือ Something ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นอย่างโกรธหนอ โลภหนอ พองหนอ ยุบหนอ มันไม่ใช่ Something มันเป็นเบื้องต้น ใช้ได้ไหม ใช้ได้ แต่คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ถ้าเรากำหนดไปเรื่อยๆ มันก็เป็นภาระ
เมื่อก่อนหลวงพ่อลองทำ หลวงตามหาบัวท่านบอกว่าบริกรรมว่าดี ดีที่สุด หลวงพ่อมาพุทโธๆ มันเป็นภาระ จิตไม่ชอบ ตอนเด็กๆ หัด เรียนกับท่านพ่อลี ท่านสอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับหนึ่ง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับสอง นับอย่างนี้ พอจิตมันเริ่มสงบ มันจะรู้สึกว่าการนับเป็นภาระ ก็จะเหลือแต่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตสงบมากขึ้น มันจะรู้สึกว่าการบริกรรมพุทโธเป็นภาระ พอจิตสงบมากขึ้นจะพบอีก ลมหายใจก็เป็นภาระ เป็นเรื่องของสมาธิ เข้าไปตามลำดับๆ ไป

ฉะนั้นถ้าเราสร้างภาระให้จิตไปเรื่อย กำหนดไปเรื่อยๆ ก็สร้างงานให้จิตทำ เป็นภาระ แค่รู้สึกก็พอแล้วไม่ต้องใส่ชื่อมัน โกรธขึ้นมารู้ว่าโกรธ เห็นความโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แค่นี้ล่ะดีแล้ว ถ้าโกรธเกิดขึ้น โกรธหนอๆ แล้วมันดับไป มันคือสมถะ มันดับเพราะอะไร สังเกตให้ดีความโกรธมันตามหลังความคิดที่ไม่ดี พยาบาทวิตก ความโกรธ เราไปคิดถึงคนนี้ในทางไม่ดี โทสะก็เกิด แต่พอโทสะเกิด เราก็ไปบริกรรมโกรธหนอๆ เราลืมการคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ โทสะมันก็ดับ มันดับเพราะเหตุของมันดับ มันไม่ได้ดับเพราะเราบริกรรมหรอก ฉะนั้นทำไปเรื่อยๆ จะรู้สึก กูเก่ง กูดับได้ ที่จริงมันดับของมันเอง เพราะเราลืมคิดไปในทางพยาบาทวิตก โทสะมันก็ดับ

ฉะนั้นเรารู้สภาวะ แต่หัดใหม่ๆ จะกำหนดก่อน หลวงพ่อไม่ว่าอะไรหรอก แต่อย่ากำหนดจนชิน แล้วมันจะเดินต่อไปไม่ไหว เดินยาก มันจะติดเพ่งไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 1 ตุลาคม 2565