ชีวิตติดกับความหดหู่ ​เพราะแมวที่เลี้ยงไว้ป่วย จิตคอยสงสารสัตว์​ไปทั่ว​ กลัวความเจ็บป่วยพลัดพราก กลัวภาระ

คำถาม:

ชีวิตติดกับความหดหู่ ​เพราะแมวที่เลี้ยงไว้ป่วย จนหายป่วยแต่ก็ยังทุกข์​ จิตคอยสงสารสัตว์​ไปทั่ว​ กลัวความเจ็บป่วยพลัดพราก กลัวภาระ​ เช้าตื่นมาหดหู่รุนแรง เย็นเริ่มลดลง​ ทำในรูปแบบได้น้อยลง​ เช้านั่ง 15 นาที​ค่ำนั่งสลับเดินรวม 35 นาที กลางวันท่องพุทโธ​หลงแล้วรู้ ขอคำแนะนำให้ความทุกข์ลดลงบ้างครับ

 

หลวงพ่อ:

ดูเข้าไปตรงๆ เลย มันห่วงแมวดูเข้าไปที่ความรู้สึกห่วงเลย พอจิตมันมีกำลังมันจะถอนตัวออกมา มันจะเห็นว่าความห่วง ความกังวล ความเศร้าหมอง เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู เลี้ยงสัตว์เมตตาสัตว์เป็นเรื่องดี แต่พอความเมตตาไม่มีอุเบกขากำกับ มันจะกลายเป็นความทุกข์ไป ความเศร้าหมองเกิดขึ้น อย่างเราเมตตาสัตว์แล้วสัตว์มันป่วย สัตว์มันตาย เราต้องดูให้ออก สัตว์ทั้งหลายมันมีกรรมของมันเอง สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม มันทำกรรมของมันมาอย่างนี้ ถึงเวลามันก็ตาย หรือมันต้องเจ็บ ถ้าเราเห็นถึงกรรม กฎแห่งกรรม ใจเราจะเป็นกลาง อุเบกขาจะเกิดขึ้น อุเบกขาไม่ใช่เกิดจากการข่มใจให้ซื่อบื้อ อุเบกขาที่ดีเกิดจากการยอมรับความเป็นจริง ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัวเอง เราช่วยมัน สงเคราะห์มัน ให้อาหารมัน เจ็บป่วยพาไปหาหมอ ดูแลรักษาไม่ให้งูมากิน ไม่ให้หมามากัด ดูแล แต่ถ้ามันจะต้องแก่ มันจะต้องเจ็บ มันจะต้องตาย มันเป็นธรรมดา แมวมันทำกรรมมา มาเกิดเป็นแมว เมื่อเกิดเป็นแมวมันก็มีอายุขัยของแมว อย่างมากก็ 10 ปีกว่าๆ ก็ต้องตาย เหมือนคนอายุไม่ถึง 100 ปีก็ตายเป็นส่วนมาก มันมีลิมิตของมันเอง กรรมจัดสรรให้เรามาเป็นคน เราก็มีอายุขัยของคนยุคนี้ก็เฉลี่ย 70 กว่าปี

ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เราจะเป็นอุเบกขา ถ้าหากเราไม่ยอมรับกฎแห่งกรรม เรามีแต่ความอยาก มีแต่ความเมตตาสงสารสัตว์ เราก็จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของสัตว์ เราสั่งมันได้ไหมว่าอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย เราสั่งแมวเราอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตายยังไม่ได้เลย เพราะว่าตัวเราเองอย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตาย เรายังสั่งไม่ได้เลย สอนตัวเองเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วค่อยภาวนาไป ถ้ามันยังเศร้าหมองตรงไหน รู้ลงไปตรงนั้นเลย รู้เฉยๆ ไม่ไปเพ่งให้หาย รู้เฉยๆ พอจิตมีกำลังมันจะถอนตัวออกมาเป็นคนรู้คนดูเองล่ะ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม 7 พฤษภาคม 2565