ใจที่อยากพ้นโลกจะมีความพากเพียร

เมื่อวานหลวงพ่อบอกให้พวกเราลองไปวัดใจตัวเองดู ว่าเราอยากสร้างบารมีไป ค่อยๆ สะสมไป หรือเราอยากนิพพานเร็วๆ อยากพ้นทุกข์ หรืออยากจะแสวงหาความสุขไปเรื่อยๆ ลองวัดใจอย่างซื่อสัตย์ดู แล้วเราจะได้คำตอบ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า ทำไมคนส่วนใหญ่เนิ่นช้า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ปรารถนาความพ้นทุกข์ แต่ปรารถนาความสุขก็เลยเที่ยวร่อนเร่ไปในสังสารวัฏไม่จบไม่สิ้น เที่ยวแสวงหาความสุข ส่วนคนซึ่งอินทรีย์เขาแก่กล้า บารมีเขามาก เขาให้ความสำคัญกับความพ้นทุกข์มากกว่าการแสวงหาความสุข

เวลามองโลก สำหรับคนซึ่งบารมีเขาแก่กล้า เขามองโลกนี้ว่างเปล่า ไร้สาระ ไม่มีแก่นสารอะไร เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริง ดูโลกว่างๆ ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ เห็นอย่างนั้น ใจก็อยากพ้นไปจากโลก อยากพ้นไปจากทุกข์ ฉะนั้นเวลาในชีวิตเขาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็จะพากเพียรปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ส่วนคนแสวงหาความสุขก็เที่ยวหาโลกนั่นล่ะ สนุกสนานเพลิดเพลิน ยุคนี้วุ่นวายอยู่กับโลกได้ง่าย ง่ายกว่าคนโบราณ มันมีอินเทอร์เน็ตนั่นล่ะ ทำให้เราหลงอยู่ในโลก โลกซึ่งไม่ใช่ของจริง โลกเสมือน สิ่งหลอกล่อมันมากขึ้นทุกทีๆ

อย่าว่าแต่โยมเลย กระทั่งพระมาบวช มาบวชใหม่ๆ ก็บอกอยากได้มรรคผลนิพพาน อยากพ้นทุกข์ สุดท้ายก็หลงโลก น้อยรายที่จะไม่หลงโลก โลกดึงดูดอย่างรุนแรง หลายคนนึกว่าการมาอยู่ในวัดคือคำตอบของชีวิต มาอยู่วัดแล้วก็จะได้ภาวนาเต็มที่อะไรอย่างนี้ ใครคิดอย่างนี้มาขอบวชหรือมาพูดให้หลวงพ่อฟัง อยากมาอยู่วัดจะได้ภาวนาเต็มที่ หลวงพ่อก็จะบอกตรงๆ วัดก็คือโลกอีกโลกหนึ่ง ก็คือโลกนั่นล่ะ มันไม่ใช่วัดสมัยต้นพุทธกาล ทั้งวัดมีแต่พระอริยะ มีแต่พระอรหันต์อะไรอย่างนี้ วัดช่วงปลายพุทธกาลก็เป็นโลกแล้ว

 

มุ่งที่จะพ้นทุกข์ หรือมุ่งแสวงหาความสุข

พระมหากัสสปะท่านเคยตั้งข้อสังเกต ท่านพูดกับพระพุทธเจ้า ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสมัยต้นพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ สอนธรรมะ พระอรหันต์มีมาก พระวินัยมีน้อย มาช่วงหลังๆ พระวินัยมีมากขึ้นๆ พระอรหันต์มีน้อยลงๆ ฉะนั้นความเป็นโลกของวัด วัดต่างๆ มีมาตั้งแต่พุทธกาลแล้ว พวกอินทรีย์แก่กล้ามาพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วก็พวกนี้แสวงหาความพ้นทุกข์อยู่แล้ว อย่างพวกปัญจวัคคีย์ เขาอุตส่าห์บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญโน้นบำเพ็ญนี้ เป็นนักบวชอยู่แล้ว อยากพ้นทุกข์ แต่ไม่รู้ทาง พอพระพุทธเจ้าชี้ทางให้ แต่ละองค์ก็ไปลิ่วเลย เพราะอะไร เพราะท่านเหล่านี้ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้ว

พวกชฎิล 1 พันรูป มีหัวหน้าชื่ออุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ พันองค์ ท่านก็เป็นนักบวช ท่านอยากพ้นทุกข์อยู่แล้วแต่ไม่รู้วิธีพ้นทุกข์ ใช้วิธีบูชาไฟเอา นั่งดูไฟไป ศาสนา Zoroastrian มีมานานแล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าอีก บูชาไฟ คนเหล่านี้อยากพ้นทุกข์ พวกพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ 250 องค์ ท่านเป็นนักบวชชนิดปริพาชก พวกนี้ก็แสวงหาความพ้นทุกข์ ฉะนั้นในยุคต้นพุทธกาล คนที่แสวงหาความพ้นทุกข์เยอะ พระพุทธเจ้าท่านมุ่งเข้ามาที่คนกลุ่มนี้ก่อน ฉะนั้นบรรลุพระอรหันต์กันในเวลาอันรวดเร็ว ปรารถนาความพ้นทุกข์อยู่แล้วล่ะ พอรู้วิธีที่จะพ้นทุกข์คือทางสายกลาง ท่านก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

มาสมัยหลังๆ ปลายพุทธกาล บางคนอดอยากยากจนเข้ามาบวช จะได้มีข้าวกิน ความแตกต่างกันเกิดขึ้นแล้ว มาบวชเพื่อจะได้ข้าวกิน จะได้มีความสุขอะไรอย่างนี้ หรือบวชแล้วคนนับถือพระพุทธเจ้าเยอะ พอเห็นสาวกมาเขาก็ปรนเปรอพระสาวก พวกเหลวไหลก็เข้ามาเยอะแยะเลย มาแฝงตัวอยู่ในวงการพระ มาหากิน มันมีมาตั้งแต่พุทธกาล แล้วก็ทำอะไรเหลวๆ ไหลๆ ไปเรื่อย พระพุทธเจ้าท่านก็ตามแก้ไป มีคนทำผิด ท่านก็กำหนดพระวินัยออกมาป้องกันตรงนี้ไว้ พระวินัยก็เยอะขึ้นๆ พระอรหันต์น้อยลงๆ เพราะใจของคนรุ่นหลังๆ มันไม่ได้มุ่งที่จะพ้นทุกข์ แต่มันมุ่งแสวงหาความสุข

อย่างมาถึงยุคเรานี้ บางคนมาบวชเพราะเป็นอาชีพ อาชีพพระ บวชได้เงินได้ทองได้อะไร มันเป็นธรรมดาของโลก คือคนที่เขามาบวชไม่ได้อยากพ้นทุกข์ อยากได้โลก อยากมีลาภ อยากมียศ อยากได้รับคำสรรเสริญ อยากมีความสุขนานาชนิด ฉะนั้นเราจะเห็นว่าพระมีเรื่องอยู่เรื่อยๆ แต่หลวงพ่ออยากบอกอย่างหนึ่ง พระที่ก่อเรื่องมีไม่มากนักแต่มันมีข่าว พระที่พยายามจะดีมีมาก มีเยอะ แต่พลอยลำบาก พลอยถูกด่าไปด้วย

พวกเราเห็นข่าวพระไม่ดีอะไร เราก็สำรวมวาจาของเราไว้ ก่อนจะเขียนก่อนจะด่าอะไร สำรวมให้ดี แยกให้ออก คนพวกนั้นมาอาศัยศาสนาอยู่เท่านั้นเอง ก็คือฆราวาสนั่นล่ะ แต่มาอยู่ในเครื่องแบบของพระ ฆราวาสเองก็เหมือนกัน ฆราวาสยุคแรกๆ บางทีเขาปรารถนาความพ้นทุกข์เหมือนกัน ก็เที่ยวแสวงหา ฆราวาสจำนวนมากได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ก็ได้ธรรมะขั้นต้นๆ พระโสดาบันอะไรอย่างนี้เยอะแยะไปหมดเลย หลังๆ ก็เริ่มลดน้อยถอยลง เป็นธรรมดา

ฉะนั้นหลวงพ่อถึงบอกพวกเราวัดใจตัวเองดู เราอยากพ้นทุกข์ หรือเราอยากได้ความสุข ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้มาก ถ้าอยากมีความสุขก็ทำบุญไป สร้างความดีนานาชนิดไป บุญกุศลทั้งหลาย บุญทั้งหลายมันจะพาให้เรามีความสุข ทำไปเถอะ ถ้าเราไม่ประมาท เราก็พยายามภาวนาให้เต็มที่เผื่อมันจะพ้นไปได้เยอะๆ หน่อย ได้โสดาบัน สกิทาคามี ได้อนาคามีอะไรอย่างนี้ ยังไม่พ้นโลกสักทีเดียวแต่ว่าสูงขึ้นไปก็จะปลอดภัย ได้โสดาบันก็เริ่มปลอดภัย คือมันปิดอบายได้ ไม่ไปอบายแล้วล่ะ

เป็นโสดาบันก็จะมีศีลที่ดี มีศีลที่ไม่ด่างพร้อย มีสมาธิเล็กน้อย คือจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวนิดหน่อย หลงเสียเยอะ มีปัญญาเล็กน้อย คือเข้าใจความจริงนิดหน่อย เข้าใจว่าจริงๆ ตัวเราไม่มี เข้าใจแค่นั้น ตัวเราไม่มี รู้ว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มีจริงๆ คนแต่งเครื่องแบบอย่างที่หลวงพ่อเป็น เรียกสมมติสงฆ์ พระสงฆ์จริงๆ อาจจะนุ่งกระโปรง นุ่งกางเกงก็ได้ อยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ ถ้าได้โสดาบันเราจะรู้เลยว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระอริยสงฆ์มีจริง เราก็จะไม่งมงาย ไม่ถือศีลบำเพ็ญพรตแบบลูบๆ คลำๆ

 

ถือศีลเพื่อไม่ตามใจกิเลส

ถือศีลอย่างลูบๆ คลำๆ บางทีถือศีลด้วยความเคร่งเครียด จะทำอะไรก็เครียดไปหมดเลยเพราะถือศีล อันนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการถือศีล ถือศีลไม่ได้มุ่งไปที่ความเคร่งเครียด ถือศีลเพื่อให้เราสำรวมระวัง อย่าปล่อยให้จิตใจถูกกิเลสผลักดัน จนกระทั่งเราทำความชั่วทางกายทางวาจา บางคนถือศีลแต่ใจคิดไม่ดีขึ้นมา เร่าร้อนแล้ว ทำไมไม่ดีๆ หรือบางทีเราไม่ทันเห็น เราเดินๆ เราไปเหยียบมดตาย หันมาเห็นมดแบนไปแล้ว จิตใจเสียหายเศร้าหมองอะไรอย่างนี้ ที่จริงมันไม่ได้ผิดหรอก เราไม่ได้เจตนาๆ ถ้าอันโน้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้ มันงมงาย

หรืออย่างเป็นฆราวาส อยู่ๆ ก็ไปบอกสามีว่าต่อไปนี้อย่ามาถูกตัวฉัน ฉันถือศีล 8 ประพฤติพรหมจรรย์ อันนี้ถือศีลแบบไม่ได้คำนึงถึงสถานะของตัวเอง เป็นผู้ครองเรือน อันนี้ถือศีลแบบนักบวช มันงมงายไป เครียด เมื่อก่อนหลวงพ่อก็รู้จักคนหนึ่ง หนุ่มๆ แล้วเขาก็ตั้งใจจะไม่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ตั้งใจว่า 100 วันจะไม่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ถ้าหากทำไม่ได้ พลาด จะต้องบวกเข้าไปอีก 100 วัน นับจากวันที่พลาดแล้ว สมมติถือมาได้ 90 วัน แล้วก็ไปสำเร็จความใคร่ รอบต่อไป ต้องถือ 190 วัน ตอนที่หลวงพ่อเจอ เวลาที่จะต้องถือตัวนี้หลายปีแล้ว ภาวนาไม่ได้เลย เพราะเครียดตลอดเลย รู้สึก อุ๊ย ทำไม่ได้ๆ เครียด มันงมงายไป มันถือศีลเกินฐานะไป ฉะนั้นเราก็ต้องดูสถานะของเรา แค่ไหนพอเหมาะพอควร

ถือศีลเพื่อว่าเราจะไม่ทำชั่วทางกาย วาจา เพราะอำนาจของกิเลสเท่านั้นล่ะ ไม่ใช่ถือศีลเพื่อความเคร่งเครียด เพื่อความเท่ เราเท่มากเลย เราถือศีลเยอะ คนไม่มีศีลชั่วร้ายอะไรอย่างนี้ ดูถูกเหยียดหยามเขา อย่างพระบางทีบางองค์ชอบมีศีล 227 ฆราวาสศีล 5 ยังถือไม่ได้เลย ว่า ที่จริงฆราวาสคนไทยไม่ได้ถือศีล 5 แล้วพระก็ไม่ได้ถือศีล 227 จริง มันมีพระวินัยอยู่แต่ว่าวินัยบางข้อมันไม่มีการปฏิบัติแล้ว อย่างวินัยเกี่ยวกับภิกษุณีอะไรอย่างนี้ ไม่มีแล้ว ไม่มีภิกษุณี ก็ไม่ได้ปฏิบัติ 227 ก็มีไม่ครบ

ในขณะที่ฆราวาสเขามีกิริยามารยาทที่ดี อย่างเขาไม่กินไปพูดไป ข้าวเต็มปากยังพูดอะไรอย่างนี้ ฆราวาสก็ไม่ได้ทำ คนมีกิริยามารยาท พระก็ทำแบบเดียวกัน แต่พระนับว่าเป็นศีลอีกข้อหนึ่ง ของฆราวาสไม่ได้นับให้ ลองไปดูพระวินัยเรื่องเสขิยะๆ 75 ข้อ เป็นเรื่องกิริยามารยาทเสียเยอะเลย เวลากินข้าว สมัยก่อนกินข้าวด้วยมือ ข้าวติดมือ ไม่เที่ยวสะบัด ข้าวกระจัดกระจายเกลื่อน กินแล้วเหมือนไก่ ฆราวาสก็ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นจริงๆ ฆราวาสก็มีศีลเยอะแยะเหมือนกันล่ะ พระก็มีเยอะแยะเลย

แต่ว่าเราถือศีล ไม่ใช่ถือ เราคิดว่าเราถือแล้วเราจะเหนือคนอื่น ถือศีลแล้วดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เราถือศีลเพื่อไม่ตามใจกิเลสเท่านั้นล่ะ สู้กับกิเลสของตัวเอง กิเลสผลักดันให้เกิดโทสะ มีโทสะเกิด ผลักดันออกทางปาก ไปด่าเขา ออกทางร่างกาย ไปชกไปต่อยเขา อันนี้ไม่ได้เรื่อง เรียกว่าผิดศีลจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ถือศีลแล้วเครียด ถือศีลแล้วงมงาย ใช้ไม่ได้หรอก

หลวงพ่อตอนเป็นโยม หลวงพ่อภาวนา ภาวนาไม่ธรรมดาหรอก ครูบาอาจารย์ชมเลย หลวงพ่อถือแค่ศีล 5 เอง ข้าวเย็นยังไม่ได้อดเลย ทำไมไม่ได้อดข้าวเย็น เราทำงานเหนื่อยทั้งวัน ร่างกายทรุดโทรมอิดโรยอะไรนี่ ไม่กินข้าว เดี๋ยวเดียวโรคกระเพราะก็ถามหาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้ทำอะไรที่พิลึกพิลั่นอะไร ถือศีล 5 เท่านั้นล่ะ เหมาะกับเพศของเราคือเพศของฆราวาส

 

พยายามฝึกตัวเอง มีสติคุ้มครองรักษาจิตใจ

สิ่งสำคัญก็คือมีสติ ดูแลจิตใจของเราอยู่ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอนหลับ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด นอกนั้นเรามีสติ จิตใจเราเกิดสุข รู้ทัน เกิดทุกข์ รู้ทัน ถ้าเกิดสุขแล้วไม่รู้ทัน ราคะจะแทรก ถ้าเกิดทุกข์แล้วไม่รู้ทัน โทสะจะแทรก หรือจิตใจเรามีโมหะ หลงไป ฟุ้งซ่าน หลงไป เรารู้ทัน รู้ทันจิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน พอจิตไม่ฟุ้งซ่าน ราคะ โทสะอะไรก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีโมหะเสียอย่างเดียว ไม่หลงเสียอย่างเดียว ราคะ โทสะ ก็ไม่เกิด ราคะจะเกิดได้ต้องหลง โทสะจะเกิดได้ เราก็ต้องหลง เพราะฉะนั้นเวลาราคะเกิด เวลาโทสะเกิด จะเกิดร่วมกับโมหะเสมอ ราคะไม่เกิดเดี่ยวๆ โทสะก็ไม่เกิดเดี่ยวๆ แต่โมหะเกิดเดี่ยวๆ ได้ ดูความเก่งของมัน

เราอาศัยสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จิตใจเราหลงไป ในโลกของความคิด รู้ทัน ความตื่นก็เกิดขึ้น ตอนที่เราหลงไปในโลกของความคิด มันก็เหมือนเราหลงไปฝันนั่นล่ะ เราฝันทั้งๆ ที่ร่างกายตื่น ความฝันก็เป็นความหลง เป็นความคิดในขณะหลับ ส่วนความคิดเป็นความฝันในขณะตื่น ถ้าจิตเราตื่นขึ้นมา จิตเราหลุดออกจากโลกของความคิดความฝัน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา ราคะ โทสะอะไรมันเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ถ้าขาดสติแล้ว ราคะ โทสะถึงจะเกิดได้

หลวงพ่อภาวนาไม่ได้ยุ่งยากอะไร ถือศีล 5 แล้วก็มีสติ ดูแลจิตใจของตนเองเสมอๆ จะกินข้าวก็เห็น แค่เดินเข้าไปในโรงอาหารที่ทำงาน มีร้านอาหารเยอะแยะเลย ไปเดินดู เห็นเลยใจมันโลภ มันเที่ยวดู หาของอร่อยกิน เที่ยวเดินๆๆๆ หรือบางทีวันนี้แม่ค้าทำแต่ของที่เราไม่ชอบอะไรอย่างนี้ ใจเราก็หงุดหงิดแล้ว แค่นี้ก็หงุดหงิดแล้ว อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ เลย วันนี้เจอแต่ของชอบ ดีใจ เจ้านี้ก็ชอบๆ แต่ท้องมีจำกัด จะกินอะไร งง หงุดหงิดตัวเอง กินอะไรดี มีปัญหาไหม ไม่รู้จะกินอะไร ไม่รู้จะกินอะไรไม่ใช่ไม่มีกิน มีให้เลือก ยุ่งฉิบหายเลย มันรู้สึกอย่างนี้

อ่านใจตัวเองไป อ่านใจ ใจมันหงุดหงิด ใจมันฟุ้งซ่าน ไปเจอของอร่อย ไปซื้อมา อร่อยสมกับที่เราคิดไว้ คำที่หนึ่งรู้สึก แหม อร่อยมาก คำที่สองก็ยังอร่อยอยู่ พอคำที่สี่ คำที่ห้า ความรู้สึกอร่อยเริ่มลดลงแล้ว เพราะฉะนั้นอร่อยไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่คงที่หรอก อร่อยของคนหนึ่งกับอร่อยของอีกคนหนึ่งไม่เหมือนกัน กระทั่งอร่อยของเราเอง เราชอบกินอย่างนี้ กินซ้ำๆๆๆ ความรู้สึกอร่อยลดลงแล้ว ไม่ยั่งยืนอะไร

อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ กระทั่งของชอบกินไปเรื่อยๆ ก็คลื่นไส้ กินไม่ไหว บางทีหลวงพ่อเคยแกล้งมันๆ แต่ก่อนหลวงพ่อไม่ชอบกินผักหรอก ตอนแก่กินได้คล่องแคล่ว กินเนื้อกินอะไรไม่ค่อยลง ตอนยังหนุ่มๆ ไม่ชอบกินผักเท่าไร วันหนึ่งก็ดัดสันดานตัวเอง เข้าไปโรงอาหาร หูย ของชอบทั้งนั้นเลย อันนี้ก็ชอบๆๆ ก็ไปหยิบจานผักสลัด 1 จาน บอกเอาอันนี้ล่ะ แม่ค้าบอก ไหนเอามาราดน้ำสลัดก่อน ไม่ต้องราด อร่อยเกินไป ลองกินผักเฉยๆ ดู ก็กินได้ ดัดสันดานมันบ้าง มันตะกละนัก แกล้งมันบ้าง แต่ไม่ได้อดหรอก ไม่ได้ปล่อยให้ท้องว่างแล้วเป็นโรคกระเพาะขึ้นมา

พยายามฝึกตัวเอง มีสติคุ้มครองรักษาจิตใจของเราไปเรื่อย เวลาโกรธขึ้นมา อยากด่า เห็นเลยใจมันด่าก่อน ปากมันจะด่าทีหลัง พอสติเราเร็ว เราเห็นใจมันจะอยากด่าแล้ว มันไม่ออกทางปากแล้ว มันก็เลิกไป ที่โมโหมันก็ดับไป ดูอย่างนี้เรื่อยๆ

หรือบางวัน เมื่อก่อนหลวงพ่อทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เขาก็ทำสภาพแวดล้อมอะไรไว้สวยงาม บางวันถึงที่ทำงานแต่เช้าก็เดินดูดอกไม้ ดูต้นไม้มีนกมีอะไร มันมาเอง นกเขาไม่ได้เลี้ยง ดู ใจมีความสุข หน้าหนาวจะมีหมอกลง กรุงเทพฯ มันไม่ได้แห้งแล้งกันดารเหมือนยุคนี้ เห็นแล้วนึกว่าหมอก ที่แท้ควันรถยนต์ ยุคนั้นมันยังมี เช้าๆ หน้าหนาวจะมีหมอกอวลๆ ต้นไม้ก็สวย ดอกไม้มีน้ำค้างเกาะอยู่เป็นเม็ดๆ สวย ใจมันชอบ

พอใจมันชอบปุ๊บ สติเรารู้เลย ใจมันชอบแล้วราคะเกิดแล้ว แล้วก็เห็นซ้อนลงไป หลงด้วย เมื่อกี้นี้หลง ถึงได้ไปชอบ หลวงพ่อรวมการปฏิบัติเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงๆ การที่เรามีสติคุ้มครองรักษาจิตอยู่ ศีลอัตโนมัติมันจะเกิดขึ้นเอง เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจาหรอก เพราะคนที่ทำชั่วทางกายทางวาจาได้ เพราะมันชั่วทางใจมาก่อน ใจมันถูกกิเลสครอบงำมาก่อน ถ้าเรามีสติรู้ทันใจตัวเอง กิเลสครอบงำใจไม่ได้ รับรองว่าไม่ชั่วทางกาย ทางวาจา ค่อยๆ ฝึกตัวเอง

 

“ถ้าใจเรามันสนใจ มันอยากพ้นทุกข์
มันจะพากเพียรปฏิบัติโดยไม่ต้องถูกใครเขาบังคับเคี่ยวเข็ญ”

แล้วทุกวันหลวงพ่อก็แบ่งเวลาทำในรูปแบบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำ ไม่ใช่ไม่ทำ มีเวลาว่าง อย่างขึ้นรถเมล์ๆ แทนที่จะนั่งเรื่อยเปื่อยไป แต่ก็มีบางวันนั่งเรื่อยเปื่อยเหมือนกัน ขี้เกียจภาวนา มันเหนื่อยๆ บางวัน เวลาขึ้นรถเมล์ได้ก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จะนั่งหรือจะยืน ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อย ก็ทำสมาธิ กลางวันกินข้าวเสร็จก็เดิน จะเดินจงกรมอยู่ในที่ทำงาน คนเขาก็จะว่าบ้า หลวงพ่อก็มีลูกเล่น เดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน อยู่ในทำเนียบข้ามคลองไป ก็จะเจอวัดโสมฯ วัดโสมนัสวิหาร ไปอีกฝั่งหนึ่งผ่าน ก.พ. ไป ก็จะมีวัดเบญจฯ เดินไป

กินข้าวเสร็จแล้วก็เดินไปวัดนั้นทีวัดนี้ทีไป เดินทำอะไร คนก็ถามว่าเดินไปทำอะไรทุกวันๆ ไปไหว้พระ เขาก็แค่ขำๆ นี่ชอบไหว้พระ ไม่เป็นไร ยังพอรับได้ ถ้าบอกว่าที่เดิน เดินจงกรม มันว่าเราบ้าแน่นอนเลย เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปเดินให้มันรู้หรอก เพราะในโลกมันมีแต่คนหลง พอเราจะฝึกตัวเองไม่ให้หลง มันว่าเราบ้า หนักเข้าไปอีก กินข้าวเสร็จก็เดินไปที่วัดโน้นวัดนี้ ไม่ได้ไปทำอะไรหรอก เดินจงกรมนั่นล่ะ เดินมีสติไปเรื่อยๆ เห็นร่างกายเดิน ใจเป็นคนดู รู้สึกๆ ไป ไปถึงวัดก็ยกมือไหว้พระพุทธรูปในโบสถ์ทีหนึ่ง แล้วก็เดินกลับแล้ว แค่นี้ก็ได้ปฏิบัติแล้ว เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเก็บเล็กเก็บน้อย มีเวลานิดๆ หน่อยๆ ทำทั้งนั้น ภาวนา ไปห้องน้ำไปอะไรก็ปฏิบัติ เก็บตลอด

เพราะใจมันเห็นว่าโลกไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก ใจมันรู้สึกลึกๆ ว่าทุกสิ่งที่เราพบ ทุกสิ่งที่เราเห็น ทุกสิ่งที่เรามี มันเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย ถึงวันหนึ่งเราก็ต้องทิ้งตรงนี้ไป ความรู้สึกอย่างนี้มันมีมาตั้งแต่เด็กแล้ว อยู่ในบ้านของพ่อของแม่ บ้านเกิด มีพี่น้อง มีอะไรหลายคน ใจมันรู้สึกว่าต่อไปก็ไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ ต้องไปอยู่ที่อื่น จะย้ายบ้านกี่ครั้งๆ ก็มีความรู้สึกอย่างนั้น ไปซื้อบ้านแล้ว ก็ยังมีความรู้สึกว่าเดี๋ยววันหนึ่งเราก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ใจมันรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอด มันรู้แล้ว มันไม่มีที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริงในโลก

ใจที่มันไม่อยากอยู่กับโลก มันก็มีความพากเพียร ถามว่าใครบังคับให้ภาวนาหรือเปล่า ไม่มี ไม่มีใครบังคับ ตอนเด็กพ่อพาไปกราบท่านพ่อลี ท่านก็สอน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 ท่านก็สอนอย่างนี้ แจกพระไว้ให้องค์หนึ่ง พระใบโพธิ์ ทำด้วยเกสรดอกไม้ จริงๆ ได้มา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นสามเหลี่ยม พอถึงวันสงกรานต์ เราก็สรงน้ำพระ พระเลยละลาย ละลายไปองค์หนึ่ง เหลืออยู่องค์เดียว ก็ไม่มีอะไร ท่านสอนหายใจเข้าพุทออกโธ เราก็ทำ ขยันทำ ทำทุกวันๆ ตั้งแต่เด็ก มันชอบ มันอยากทำ ไม่มีใครบังคับ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้ดูจิต ตั้งแต่วันที่ท่านบอก ดูไม่เลิก ดูทุกวันๆๆ เห็นความพิสดารของจิต ดูไปเรื่อยๆ จิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตมันเป็นตัวทุกข์ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นเป็นลำดับๆ ไป จิตมันก็ทุกข์น้อยลงๆ ถ้าเราไม่ทุกข์กับมัน เราก็ไม่ต้องทุกข์มาก

ถ้าใจเรามันสนใจมันอยากพ้นทุกข์ มันจะพากเพียรปฏิบัติโดยไม่ต้องถูกใครเขาบังคับเคี่ยวเข็ญ บางทีภาวนาแล้วเห็นจิตมันไหว กระเพื่อมๆ อยู่กลางอก ดูไปดูมา จิตนี้ยังถูกอะไรบางอย่างห่อหุ้มอยู่ จิตนี้มีเปลือกหุ้ม ไปเล่าให้ครูบาอาจารย์ฟัง ครูบาอาจารย์ ตอนนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่อยู่แล้ว ไปเล่าให้หลวงพ่อคืนฟัง หลวงพ่อคืนท่านก็บอก อ๋อ จิตมันอยู่ในไหปลาแดก ท่านคนอีสาน ท่านบอกนั่นล่ะจิตมันเหมือนถูกขังอยู่ในไหปลาแดก บอกไม่เหมือนหรอกครับ มันเหมือนมันอยู่ในแคปซูล เราคนเมือง เราไม่รู้จักไหปลาแดก เรารู้สึกมันเหมือนอยู่ในแคปซูล มันถูกขังอยู่

พอรู้ว่าจิตมันถูกขัง ตั้งแต่เห็น จิตมันเกิดความรู้สึกว่าสังเวชตัวเอง เราเกิดมา จิตใจเราไม่มีอิสรภาพ จิตใจเราถูกขังด้วยอะไรก็ไม่รู้อย่างหนึ่ง ที่ทั้งเหนียว ทั้งหนา ทำลายยาก ทำลายไม่ได้ ในใจมันมีความรู้สึกขึ้นมาเลยว่าเรายอมไม่ได้ ถ้าเกิดมาก็ถูกขังอยู่ในคุกที่มองไม่เห็นนี้ แล้วจะต้องตายไปในสภาวะอย่างนี้อีก รับตัวเองไม่ได้ จะต้องสู้ ต้องภาวนา รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องทำลายมันให้ได้ ตราบใดที่ทำลายมันไม่ได้ จะไม่เลิกปฏิบัติหรอก

ใจที่มันอยากพ้นทุกข์ แค่เห็นว่าจิตมีเปลือกหุ้มก็ทนไม่ได้แล้ว มันก็ทุกข์แล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ยอมไม่ได้ คล้ายๆ เกิดมาในคุก แล้วไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองอยู่ในคุก วันหนึ่งออกมาเจอโลกข้างนอก โลกอันกว้างใหญ่ไพศาล เหมือนปลาอยู่ในตู้ ตู้กระจก วันหนึ่งหลุดออกแม่น้ำ ออกทะเลได้ โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาล ไปถูกจับมาใส่ในตู้ปลาใหม่ คราวนี้ต้องหาทางหนีจากตู้ปลานี้ล่ะ จิตที่มันเห็นทุกข์เห็นโทษของโลก มันจะดิ้นรน จะต่อสู้ ไม่ยอมเลิก เพื่อความพ้นทุกข์ ดูเพื่อนๆ กัน เห็นเขาก็เป็นคนดี เขาก็อยากมีความสุขกัน ก็ไม่ว่าอะไร ก็ดีกว่าทำชั่ว

 

“ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็พากเพียรเข้า รักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป
ถ้าเราอยากเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็สร้างความดีไป
สร้างให้พอดี ไม่ใช่สร้างแบบเมาบุญแล้วก็ยากจนทีหลัง ลำบากทีหลัง”

 

ฉะนั้นหลวงพ่อเลยผ่อนปรนพวกเราเยอะ บอกว่าให้พวกเราวัดใจตัวเองดู ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็พากเพียรเข้า รักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไป ถ้าเราอยากเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็สร้างความดีไป สร้างให้พอดี ไม่ใช่สร้างแบบเมาบุญแล้วก็ยากจนทีหลัง ลำบากทีหลังอะไรอย่างนี้ ไม่เอา เอาแต่พอดี ตามฐานะของเรา อย่างเราเป็นฆราวาส เราต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ มีเงินมีทองมีบ้านอะไร ก็ไปยกให้พระให้หมด ตัวเองไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีข้าวจะกินอะไรอย่างนี้ จิตเศร้าหมอง

ถ้าเราทำบุญ ตอนก่อนทำจิตเบิกบาน ระหว่างทำเบิกบาน แต่ทำแล้วเศร้าหมอง บุญนี้ไม่สมประกอบทันทีเลย แล้วถ้าบุญตัวนี้ให้ผลให้เราไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นอะไรที่อยู่สุคติ เราจะพิการโดยกำเนิด เป็นมนุษย์ ต้องมีบุญพอ มากพอถึงจะเป็นมนุษย์ได้ ถ้าเป็นมนุษย์บางทีก็พิการมาแต่กำเนิด ระดับเป็นบ้า เป็นใบ้ ตาบอด หูหนวก อันนี้อาภัพอย่างสุดขีดเลย ถ้าบ้า ใบ้ บอด หนวกมาแต่กำเนิด ไม่สามารถเรียนธรรมะได้ ไม่รู้จะเรียนอย่างไร ฟังก็ไม่ได้ ดูก็ไม่ได้ อ่านก็ไม่ได้ อาภัพ อย่านึกว่าทำบุญเยอะๆ แล้วจะได้ดี ทำเกินฐานะแล้วเศร้าหมองทีหลัง ไม่ดีหรอก ฉะนั้นต้องดู อะไรพอดี อะไรพอเหมาะพอสมกับฐานะของเรา

อย่างคนจะมาทำบุญกับหลวงพ่อเยอะแยะไป บางทีเอาที่ดินมาให้ เอาบ้านมาให้ หลวงพ่อไม่เอา เอาไว้ใช้ เอาไว้อยู่ของเธอ เขารบเร้า เขาอยากให้จริงๆ บอกอย่างนั้นไปทำพินัยกรรมยกให้วัด ถ้ายังไม่ตายก็ยังอยู่ของตัวเองไป ถ้าเกิดวันหนึ่งลำบาก หรือหมดศรัทธาแล้ว ก็ไปขายกินได้ กระทั่งจะมาทำทาน เรายังไม่อยากเบียดเบียนเลย นิดหนึ่งก็ไม่อยากเอาของเรา

 

สะสมมรดกเอาไว้

ฉะนั้นเราเป็นฆราวาส จะทำทานก็พอดี ถือศีลก็ถือให้มันถูก ไม่ใช่ถือแล้วก็เครียด ถือแล้วก็กลุ้มใจตัวเอง ภาวนาไม่ขึ้นเลย อันนั้นใช้ไม่ได้ ฉะนั้นทุกวันแบ่งเวลาทำในรูปแบบไว้ มันจะเพิ่มพลังของสมาธิ สะสมไป แล้วก็บางครั้งจิตมันก็มีปัญญาขึ้นมา อย่างเราคอยมีสติระลึกรู้กายไปเรื่อยๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกๆ อะไรอย่างนี้ บางทีเรากำลังแปรงฟันอยู่ๆ ปุ๊บ มันรู้สึกขึ้นมาเลย อันนี้ไม่ใช่เราแล้ว เป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุอันหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ปัญญามันเกิดๆ

มันค่อยๆ รู้สึกไป เห็นตัวเราไม่มี กายนี้ไม่ใช่เรา หรือบางทีภาวนาไปเรื่อยๆ เห็นจิตไม่มีตัวเรา จิตไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าบางทีก็ใช่ขึ้นมาอีก บางทีก็ไม่ใช่ บางทีก็ใช่ บางทีจิตมันก็เป็นเรา บางทีมันก็ไม่เป็นเรา มันยังไม่เป็นสมุจเฉท ถ้ามันเป็นสมุจเฉทแล้ว มันก็จะไม่เป็นเราอีก มันเป็นด้วยอริยมรรค

ส่วนเปลือกนี้ทนมาก ตอนได้โสดาปัตติมรรคเปลือกนี้แตกออกไป แสงสว่างเกิดขึ้น ความรู้ ตื่น เบิกบานเกิดขึ้น ธาตุรู้แสดงตัวออกมา ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีร่องรอยอะไรเลย มีแต่ความมีอยู่ของมัน อยู่แวบเดียว เปลือกนี้ก็เข้ามาปิดอีก เกิดอริยมรรคครั้งที่สอง แหวกอีกแล้วก็เข้ามาปิดอย่างรวดเร็ว ครั้งที่สามก็เหมือนกัน หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ มันต้องเกิดอย่างนี้กี่ครั้งครับ ท่านอายุ 96 แล้ว ท่านก็นับๆๆ 4 ครั้ง เกิด 4 ครั้ง

ภาวนาไปเรื่อยๆ จะรู้เลย เปลือกนี้มันคืออาสวกิเลส มันห่อหุ้มไว้ แล้วสังขารมันก็ปรุง ทำงาน ที่เราเห็นไหวยิบยับๆ เป็นสังขารในขั้นละเอียด ก่อนที่จะแปลเป็นคำพูดออกมา ก่อนที่จะแปลเป็นโลภ โกรธ หลงออกมา เป็นสังขารปรุง ไหวยิบยับๆ เปลือกนี้กับสังขารละเอียดทำอย่างไรก็ไม่หาย มันตายได้ด้วยวิธีเดียว ด้วยสิ่งเดียว คืออรหัตมรรค นอกนั้นมันยังไม่ตาย เดี๋ยวมันก็ขึ้นมาอีก

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ทำไป ถึงพวกเรายังไม่ได้ตั้งความปรารถนาว่าจะพ้นทุกข์ในชีวิตนี้ หลวงพ่อก็เรียกร้องเชิญชวนให้ตั้งใจรักษาศีล เจริญสมาธิ ทำในรูปแบบไป เจริญสติในชีวิตประจำวันไป ทำให้มากที่สุด คล้ายๆ เราสะสมต้นทุนที่จะเอาไว้ใช้เดินทางในสังสารวัฏ อย่างถ้าเราเคยเจริญสติ สติเราเกิดได้ถี่ๆๆ เราตายไป ไปเกิดอีก สติก็จะกลับมาง่าย เราเคยมีจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ตายไปแล้วไปเกิดอีก มันกลับมาง่าย มันของเคยมี ของเคยเป็น

จิตไม่ใช่ดวงเดิม จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่มันส่งทอดวิบาก ส่งทอดพลังงาน จิตดวงใหม่เหมือนลูกของจิตดวงเก่า พ่อแม่เรามีมรดกให้เราเยอะ เราก็สบาย ถ้าพ่อแม่มีหนี้ไว้ให้เราเยอะ เราก็ลำบาก ฉะนั้นอย่างชีวิตนี้เราพยายามสะสมมรดกเอาไว้ แล้วจิตของเราในภพภูมิต่อๆ ไป มันก็เป็นจิตที่มีมรดกเยอะ เคยมีศีล จะให้เราทำผิดศีล มันฝืนใจอย่างแรงเลย เคยมีสมาธิ จะให้ฟุ้งๆ ทั้งวัน รู้สึกรำคาญ เคยเจริญปัญญา ก็จะไม่หลงโลก เราสะสมแต้มเอาไว้ แล้วก็วันหนึ่งข้างหน้าเกิดไปพบพระศรีอริยเมตไตรย เราฟังธรรมปุ๊บเดียว เราก็จะได้ธรรมะแล้ว ได้อย่างรวดเร็วเลย เพราะว่าเราเคยสะสมของเรามาแล้ว

อย่างสมัยพุทธกาลที่ฆราวาสมากมายฟังเทศน์แล้วได้ธรรมะเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะเขาเคยทำมาแล้ว เขาสะสมมาแล้ว แต่ว่าเขาพอใจจะเวียนว่ายอยู่ เมื่อสะสมมาพอสมควร มาได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้า จิตก็หลุดพ้นขึ้นมา ได้ธรรมะเป็นระดับไป บางคนยังติดอยู่ในความสุขไม่เลิก บางคนได้โสดาบันแล้วยังขอเกิดอีก นางวิสาขาตั้งความปรารถนาเลย ขอเกิดอีก 7 ชาติๆ แล้วไปนิพพานในชาติที่เจ็ด เพราะแกได้โสดาบัน

ทำไมยังไม่ยอมนิพพานเลยในชาติที่เจอพระพุทธเจ้า ยังอาลัยอาวรณ์โลกอยู่ อย่างมีลูกมีหลานมีอะไร ห่วงลูกห่วงหลาน นางวิสาขา หลานตายนั่งร้องไห้เลย ใจมันยังผูกพันอยู่กับโลกเยอะ แต่ว่าเขามีต้นทุนที่ปลอดภัยแล้ว เขาได้โสดาบัน ฉะนั้นพวกเราถึงเราทำไม่จบในชาตินี้ เอาโสดาบันให้ได้ ปลอดภัย แล้วอยากจะเวียนว่ายตายเกิดก็เวียนไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก มันปลอดภัย ดีกว่าลงอบาย

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
14 สิงหาคม 2565