อยากได้ความสุขหรืออยากพ้นทุกข์

หลวงพ่อสอนกรรมฐานมา 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่เป็นโยม คนที่มาเรียนด้วยก็เยอะ นับจำนวนไม่ถูกแล้ว ก็เห็นแต่ละคนที่เข้ามาศึกษามาปฏิบัติธรรม มีความต้องการที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ก็ปรารถนาความสุข น้อยคนที่จะปรารถนาความพ้นทุกข์ ปรารถนาความสุขก็พยายามทำความดีทั้งหลาย ทำทาน ถือศีล มีงานบุญงานอะไรก็ไปตลอดเลย ถามว่าดีไหม ก็ดี เข้าพรรษาก็แห่เทียน ออกพรรษาก็มีงานโน้นงานนี้ หล่อพระ สร้างโน้นสร้างนี้

สิ่งที่ปรารถนาส่วนใหญ่ก็คือความสุข เพราะการทำบุญ บุญเป็นชื่อของความสุข ทำบุญแล้วก็มีความสุข ส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ตัวความสุข อย่างไปหล่อพระ สร้างพระพุทธรูป หวังว่าคนมากราบมาไหว้เราก็จะได้บุญไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผลนับภพนับชาติไม่ถ้วน ตั้งความปรารถนาอยากได้รับบุญเยอะๆ มีความสุขนับภพนับชาติไม่ถ้วน ภพชาติมันก็ไม่จบหรอก มันก็ได้อย่างที่เราทำเหตุนั่นล่ะ ถ้าเราตั้งความปรารถนาจะมีความสุข ทำบุญไป ลองไปดูเรื่องบุญมี 10 ข้อ ใน 10 ข้อนั้นเลือกทำไปเถอะ ผลที่ได้คือความสุข

คนที่ภาวนาแล้วปรารถนาความพ้นทุกข์มีน้อยจริงๆ ส่วนมากจะขอเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ คนที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์พ้นการเวียนว่ายตายเกิดมีน้อย ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอก ทำไมคนทำทาน ถือศีล ทำบุญอะไรต่ออะไรมีจำนวนมาก แต่คนซึ่งจะบรรลุมรรคผลมีจำนวนน้อย เราก็เลือกเอาเราต้องการอะไร ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป ต้องการสิ่งที่สูงกว่านั้นคือความพ้นทุกข์ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ มันจะตัดภพตัดชาติของเราให้สั้นลงๆ

 

โลกไม่มีสาระ

คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่า การที่เราเวียนว่ายตายเกิดไปแต่ละครั้งๆ ไม่มีสาระแก่นสารหรอก มีแต่ความทุกข์ มองไม่เห็นตัวนี้ มันจะหิวความสุขดิ้นรนอยากได้ความสุข คนโง่ไปทำเหตุของความทุกข์ มันไปปล้น ไปฆ่า ไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็ หวังมีความสุข คนฉลาดขึ้นมาหน่อยก็ทำบุญ ทำทาน ทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ อันนี้เขาจะมีความสุข ตั้งแต่เขาเริ่มคิดจะทำก็มีความสุขแล้ว อย่างเวลาเราคิดจะทำดี แค่เริ่มคิดว่าวางแผนจะไปทำก็มีความสุขได้ ระหว่างทำก็มีความสุข ทำเสร็จแล้วนึกถึงทีไรก็มีความสุข อันนี้คนมีปัญญาระดับหนึ่งแล้ว

แล้วคนโง่คิดว่าไปปล้นเขาได้ ไปข่มขืนเขาได้ มีความสุข มันทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิดชั่วแล้ว จิตใจมันเร่าร้อน ตอนไปทำชั่วมันก็ทุกข์แต่มองไม่เห็น ไม่มีปัญญาจะเห็น ทำไปแล้วก็ทุกข์ก็ไม่เห็นอีก ไม่มีปัญญาจะเห็น คิดว่าตำรวจไม่จับ จับไม่ได้ ไม่ทุกข์ คนในโลกมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับมืดบอด ระดับที่สูงขึ้นมาก็พยายามทำความดีทั้งหลาย ทำบุญทั้งหลาย สิ่งที่ได้ก็คือความสุข ถ้าเรามีสติมีปัญญาจริง เราจะเห็นโลกนี้ไม่ได้มีความสุขจริง โลกนี้มันทุกข์

อย่างเรารู้สึกตอนเราเด็กๆ มีความสุข ตอนเด็กๆ เคยรู้สึกอยากโตขึ้นไหม ตอนเด็กรู้สึกไม่มีอิสระ อยากกินขนมยังต้องขอสตางค์พ่อแม่ เขาให้บ้างไม่ให้บ้าง ไม่ได้พึ่งตัวเอง ไม่มีความสุข โตขึ้นมาก็ไปเรียนหนังสือ ตอนเรียนหนังสือคนจำนวนมากเลยก็หวัง เรียนจบแล้วคงมีความสุข เรียนหนังสือแล้วมันเครียดตลอด พอเรียนจบก็ทำงาน กะว่าถ้าได้เงินเยอะๆ ได้ตำแหน่งดีๆ แล้วจะมีความสุข ตรงที่หาเงินเยอะๆ หาตำแหน่งดีๆ ก็ตีกับคนอื่นแทบตาย แย่งชิง บางคนเรียนหนังสือมาด้วยกัน เป็นเพื่อนรักกัน พอโตขึ้นมาทำงานก็แย่งตำแหน่งกัน ไม่มองหน้ากัน หรือแย่งผู้หญิงกัน แย่งผู้ชายกัน เพื่อนรักกันก็ไม่รักแล้ว

ความสุขในโลกๆ มันเจือความวุ่นวายอยู่เสมอ บางทีทำงานกะว่าต้องเก็บเงินไว้สักก้อนหนึ่ง หรือซื้อทรัพย์สินอะไรไว้ ยุคนี้เขานิยมไปซื้อที่ดิน กะว่าทำงานสักช่วงหนึ่งแล้วจะไปทำไร่ทำนา หาความสุขของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าชีวิตของคนเมืองมันวุ่นวายเหลือเกิน ปัจจุบันก็เลยทุกข์ แล้วก็ฝันถึงความสุขในอนาคต มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ ก็ทุกข์ ไม่มีอิสระ ไม่มีเงิน คิดว่าโตขึ้นแล้วจะดี พอช่วงเรียนหนังสือก็คิดว่าเรียนจบแล้วจะดี เรียนจบแล้วก็ทำงาน คิดว่าได้เงินเยอะๆ ได้ตำแหน่งดีๆ แล้วจะดี มีชื่อเสียง ทำไปช่วงหนึ่งเหนื่อยมากๆ คิดว่าถ้า Early Retire ได้ก็จะดี ทิ้งสังคมเมืองที่วุ่นวาย ตื่นแต่เช้าก็ตาลีตาเหลือกไปทำงานกัน กลับมาบ้านดึกๆ ดื่นๆ เหน็ดเหนื่อย รู้สึกชีวิตในเมืองวุ่นวายเหลือเกิน คิดว่าไปอยู่บ้านนอกดีกว่า ซื้อที่ซื้ออะไรไว้ คนไม่เคยทำเกษตรนึกว่าง่าย ไม่ง่ายหรอก ส่วนใหญ่มาเริ่มทำ ส่วนใหญ่ก็เจ๊ง ไปไม่รอด ทุกข์ไปอีก

จนกระทั่งแก่คิดว่าวันหนึ่งจะได้มีความสุข วันหนึ่งจะได้มีความสุข หมดวัยทำงานแล้วคิดว่าเราจะได้พักผ่อน จะได้มีความสุข มันก็ไม่มี พอหมดวัยทำงาน มันก็เริ่มเป็นวัยเจ็บป่วยมากขึ้นๆ แล้ว เงินทองที่ได้ไว้เก็บ อุตส่าห์อดออมไว้ ก็ไปจ่ายค่ายาค่าหมอ ไม่มีความสุขอีกแล้ว จนกระทั่งเจ็บมากๆ อยากตาย หลวงพ่อเคยเห็นนะอยากตาย เมื่อไหร่จะตายเสียทีๆ เพราะว่าชีวิตมันทุกข์เหลือเกิน พอตายแล้วจะมีความสุข คนในโลกน่าสงสารจริงๆ ดิ้นรนแสวงหาความสุขแล้วก็ไม่เคยได้ คิดว่าถ้ามีอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้แล้วจะสุข แล้วไม่ได้อย่างที่ตั้งใจหรอก บางคนเขาก็บอกกัน บอกว่าตอนเด็กๆ มีเวลา มีเวลาว่างๆ มีเวลาไปวิ่งไปเล่น สุขภาพก็แข็งแรง แต่ไม่มีเงิน ตอนวัยทำงานเริ่มมีเงินแล้ว สุขภาพก็ยังดี แต่ไม่มีเวลา พอแก่ลงมามีเวลาแล้ว ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไรแล้ว เงินทองบางทีก็เก็บเอาไว้ มีเงินแต่ไม่มีกำลัง ชีวิตตั้งแต่เด็กจนแก่ มันมีแต่ความขาดตลอด ไม่มีความสุขหรอก ยิ่งถึงจุดที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ยิ่งลำบากมากเลย

มีคนเขาเปรียบเทียบก็น่าฟังดี เป็นคำเปรียบเทียบ บอกคนอายุราวๆ 50 ปีลูกหลานต้องการตัว เพราะกำลังแข็งแรงมีรายได้ดี มีชื่อเสียง มีกำลัง ลูกหลานก็แย่งกันเปรียบเหมือนลูกบาสเกตบอล แย่งกันแทบเป็นแทบตาย พยายามยึดครองไว้ไม่ปล่อย พออายุ 60 ปีเริ่มหมดกำลังลงแล้ว แต่ยังมีเงินอยู่ ลูกหลานก็พยายามเลี้ยงเอาไว้ บอกเหมือนลูกวอลเลย์บอล ดีดกันอยู่อย่างนั้นไม่ยอมตีกันไปง่ายๆ พอถึงอายุ 70 ปีมันเป็นภาระของคนอื่นแล้ว บอกเปรียบเหมือนลูกฟุตบอล ถ้าวิ่งมาข้างเรา เราก็เตะออกไปให้ไกลๆ พอแก่ๆ แล้วลูกหลานก็อยากเตะไปไกลๆ พอถึง 80 ปีเขาบอกเหมือนลูกกอล์ฟ ถ้าหวดทีหนึ่งไปไกลๆ ได้ก็ดี แล้วถ้าหวดทีเดียวลงหลุมได้ยิ่งสุดยอดเลย โฮลอินวัน

ในโลกดูไปเถอะ หาความสุขหาความสงบอะไรไม่ได้จริงหรอก ยิ่งถ้าต้องพึ่งคนอื่นยิ่งลำบาก ผู้มีปัญญาก็จะเห็นชีวิตในโลกไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย แย่งชิงกันทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน พวกสัตว์มันก็แย่งพื้นที่กัน แย่งอาหารกัน แย่งตัวเมีย ก็สู้กัน แย่งชิงกันอุตลุดเลย สุดท้ายก็ว่างเปล่า ทุกสิ่งที่เราแย่งชิงมาได้ สุดท้ายมันก็ว่างเปล่าจริงๆ เราเอาอะไรไว้ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง ฉะนั้นอยู่กับโลก ถ้าเรายังรักที่จะอยู่กับโลก ก็พยายามทำความดีเท่าที่ทำได้ อย่าทำความดีจนทุกข์ บางคนมีเงินเท่าไรเอาไปให้พระหมด ให้วัดหมด หวังว่าชาติหน้าจะรวย มันจนตั้งแต่ชาตินี้แล้ว บางคนทำบุญจนไม่มีจะกิน ไม่มีบ้านจะอยู่ อันนั้นโง่ เข้าขั้นโง่เลย ฉะนั้นทำบุญทำอะไร มีโอกาสทำก็ทำ ทำแบบรู้จักประมาณตัว พอดี รู้จักคำว่าพอดี ชีวิตก็จะทุกข์น้อยหน่อย ไม่รู้จักคำว่าพอดีทุกข์แน่นอน กระทั่งทำดี ทำบุญก็ต้องรู้จักคำว่าพอดี

แต่ถ้าเราเห็นว่าโลกไม่มีสาระ เราอยากพ้นโลกจริงๆ เราลงมือปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง เบื้องต้นก็พยายามศึกษาตัวเอง ไม่ใช่ศึกษาคนอื่น ดูตัวเองไม่ใช่ดูคนอื่น ถ้าคิดจะปฏิบัติแล้วก็คอยดูคนอื่น ไปไม่รอดหรอก สนใจ อย่างมาบวชคนอื่นเขาจะทำอะไร ใครเขาจะขยับซ้ายขยับขวาอะไรรู้หมดเลย ความชั่วของตัวเองมองไม่เห็น อย่างนี้ล้มเหลว

 

เรียนรู้ร่างกาย จนเข้าใจความจริงของร่างกาย

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เราเรียนรู้ตัวเอง เราดูตัวเองไว้ สนใจโลกข้างนอกเท่าที่จำเป็น ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปที่จะเรียนรู้ตัวเอง การเรียนรู้ตัวเอง ก็คือการมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คอยรู้ลงไปเรื่อยๆ ร่างกายเราเคลื่อนไหวอย่างไรคอยรู้สึก หรือหน้าตาเรามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลามีความสุขหน้าตาเราก็เป็นแบบหนึ่ง มันรู้ด้วยใจไม่ต้องไปดูกระจกหรอก เวลาโกรธหน้าตาน่าเกลียด เวลาหื่นมีราคะรุนแรงหน้าตาน่าเกลียด เวลาหลงหน้าตาก็น่าเกลียด เราคอยดูหน้าตัวเอง คอยระลึกถึงหน้าของตัวเอง เราจะเห็นเลยทุกคราวที่มีกิเลสเกิดขึ้น หน้าตาเราน่าเกลียด อย่างเวลาเราโกรธหน้าตาเหมือนยักษ์ เหมือนมาร ดูไม่ได้เลย เวลาเรามีราคะหน้าตาเราก็เป็นพวกเปรต ดูไม่ได้ เวลาเราหลงเราก็คล้ายๆ เดรัจฉาน เผลอๆ เพลินๆ หลงๆ ไป

คอยรู้สึกหน้าตัวเอง ตอนเผลอๆ เพลินๆ นึกถึงหน้าตัวเองปุ๊บ เหมือนหน้าหมาเลย หมามันชอบหลงๆ เหม่อๆ เพลินๆ ไป รู้สึก รู้สึกร่างกายตัวเองเคลื่อนไหว รู้สึก นั่งอยู่ รู้สึก ยืนอยู่ รู้สึก เดินอยู่ รู้สึก นอนอยู่ รู้สึกไป เอารู้สึกไม่ใช่คิด ถ้าเจริญปัญญาจริงๆ ในขั้นเจริญวิปัสสนาจริงๆ รู้สึกเอาไม่ใช่คิดเอา ความรู้สึกสำคัญกว่าความคิด เพราะฉะนั้นเราคอยรู้สึกในร่างกาย ร่างกายยิ้ม รู้สึก ร่างกายหน้าบึ้ง รู้สึก ร่างกายเฉยๆ หายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก คอยรู้สึกมันไป

การเรียนรู้ตัวเองไม่ใช่นั่งพากย์ นั่งบรรยาย ตัวเรามีระบบประสาทอย่างนี้ มีเส้นโลหิตอย่างนี้ มีกล้ามเนื้ออย่างนี้ มีกระดูกอย่างนี้ๆ อันนั้นเอาไว้ให้นักเรียนแพทย์เขาเรียน นักกรรมฐานไม่ต้องเรียนอย่างนั้น รู้สึกลงมาในร่างกายนี้เลย ร่างกายนี้นั่งอยู่ ร่างกายนี้เดินอยู่ ร่างกายนี้นอนอยู่ ร่างกายนี้เคลื่อนไหว ร่างกายนี้หยุดนิ่ง ร่างกายนี้กำลังยิ้ม ร่างกายนี้ทำหน้าบึ้ง ร่างกายหันซ้ายแลขวา คอยรู้สึกๆ ไป รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายไป นี่ล่ะเป็นวิธีที่จะเรียนรู้ร่างกายตัวเอง

ส่วนการเรียนรู้จิตใจตัวเองก็ใช้ความรู้สึกอีกล่ะ จิตใจเรามีความรู้สึกอะไร รู้ทันมันไปเรื่อยๆ จิตใจรู้สึกสุขก็รู้ทัน จิตใจรู้สึกทุกข์ก็รู้ทัน จิตใจโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ก็รู้ทัน จิตเป็นกุศลก็รู้ทัน คอยรู้ไปเรื่อยๆ เป็นความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น เราก็รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ความรู้สึกโลภเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตอนนี้มันรู้สึกโลภแล้ว ก็จะเห็นความโลภมันเกิดขึ้นมา เรียนรู้ไปเรื่อยๆ การที่เราเรียนรู้กาย สุดท้ายเราจะเข้าใจกาย การที่เราเรียนรู้จิต จิตมีความรู้สึกนึกคิดพิสดารมากมาย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกคราวที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์นั้น จิตก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ร้ายบ้าง เรามีสติรู้ไปเรื่อยๆ พอเรารู้มากๆ ต่อไปเราก็เข้าใจจิต รู้กายก็เข้าใจกาย รู้จิตก็เข้าใจจิต

การเรียนรู้ตัวเอง เริ่มจากคอยสนใจดูกายดูใจของตัวเอง ไม่ไปดูคนอื่นหรอก ดูตัวเอง พอดูเนืองๆ ดูบ่อยๆ ต่อไปก็เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ร่างกายเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเหมือนเครื่องจักร เครื่องจักรอันนี้ตอนเครื่องจักรยังใหม่ๆ ก็แข็งแรง มีกำลังมาก พอเครื่องจักรนี้เก่าลงกำลังมันก็ตกลง เหมือนเครื่องยนต์เก่าๆ แล้วกว่าจะสตาร์ตได้ก็ลำบาก เหมือนร่างกายเราตอนเด็กๆ นึกจะไปไหนก็ลุกพรวดพราดวิ่งอ้าวไปเลย เครื่องยนต์มันยังใหม่ พออายุเยอะๆ เครื่องยนต์มันเก่า กว่าจะติดเครื่องได้ไม่ใช่ง่าย นอนอยู่จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นเดิน ก็ต้องเว้นระยะ ต้องมีเวลา ลุกขึ้นนั่งแล้วลุกพรวดพราดไปเลย จากนอนแล้วลุกพรวดแล้วก็เดินเลย หัวทิ่มเลย เครื่องยนต์มันสำลักแล้ว เดี๋ยวก็เครื่องดับหัวทิ่มดินไป

ฉะนั้นร่างกายจริงๆ เหมือนเครื่องจักรเท่านั้นเอง เครื่องจักรยังใหม่ๆ ก็ทำงานคล่องแคล่ว ใช้งานไปนานๆ ชำรุดทรุดโทรม บางทีก็ต้องเปลี่ยนมีอะไหล่มาเปลี่ยน แต่เดิมก็มีเรื่องเปลี่ยนเลนส์ลูกตา เป็นต้อกระจกเปลี่ยน เปลี่ยนของง่ายๆ ก่อน หลังๆ ก็มาเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนโน้น เปลี่ยนนี้ เปลี่ยนได้เยอะขึ้น คล้ายๆ เครื่องยนต์นี้ทรุดโทรมมากแล้ว ก็ไปซื้ออะไหล่มือสองมา เอามาใส่แทน อะไหล่ใหม่หาไม่ได้ ซื้ออะไหล่มือสองมา ไปซื้อเครื่องยนต์เก่าๆ จากญี่ปุ่นมา เอามาเปลี่ยนในเครื่องจักรของเราซึ่งมันเก่ากว่า ก็เหมือนเรารอบริจาคร่างกาย อวัยวะต่างๆ เป็นของมือสองทั้งนั้น บริจาคดวงตา ที่เราได้มามันก็ดวงตามือสอง คนอื่นเขาใช้มาก่อน บริจาคหัวใจก็หัวใจมือสอง คนอื่นเขาก็ใช้มาก่อน คล้ายๆ จะต้องซ่อมเครื่องยนต์อันนี้ คือร่างกายนี้ต้องซ่อมแล้ว ถึงขนาดต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว พอมีอะไหล่เก่าๆ ก็มาใส่ไปก่อน พอทนอยู่ได้อีกช่วงหนึ่ง

สุดท้ายไม่รู้จะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนภพ เครื่องจักรพัง เข้าไปเป็นเศษเหล็ก เป็นเครื่องจักรก็เป็นเศษเหล็ก เอาไปหลอมมาใหม่ เปลี่ยนร่างกายเราตายก็กลับเป็นธาตุเอาไปฝังดิน ต้นไม้ก็มากินไป สัตว์ก็มากินต้นไม้ คนก็มากินสัตว์ แล้วกลับมาเป็นเนื้อเป็นหนังของคนอื่นต่อ ที่แย่งกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารอะไรหรอก เพราะฉะนั้นร่างกายจริงๆ ถ้าเราเรียนรู้กายไปเรื่อยๆ เราจะรู้ ร่างกายไม่มีสาระแก่นสาร ร่างกายนี้ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความหิว ด้วยความกระหาย ด้วยความหนาว ด้วยความร้อน ด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วย ถูกบีบคั้นตลอดเวลา ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่แท้จริง เหมือนเครื่องจักรตัวหนึ่งเท่านั้นเอง เครื่องจักรวันหนึ่งนี้ก็ต้องพังไป

 

ชนะตัวเองก็คือชนะความไม่รู้

การที่เราเรียนรู้ร่างกายมากๆ เราก็เข้าใจความจริงของร่างกาย มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา การที่เราคอยเห็นจิตเนืองๆ เห็นจิตมันทำงานบ่อยๆ ต่อไปเราก็เข้าใจจิต จิตนี้เดี๋ยวก็สุข จิตนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ จิตนี้เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หดหู่ จิตใจนี้ไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สั่งให้ดีก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้ เรียนรู้จิตใจ รู้ทัน ความรู้สึกอะไรเกิดก็รู้ไป สุดท้ายก็เข้าใจ จิตใจนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง จิตใจนี้ทนอยู่ไม่ได้ในภาวะอันใดอันหนึ่ง จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้ อันนี้เราเรียนรู้ตัวเองจนเราเข้าใจตัวเอง สุดท้ายเราก็ปล่อยวางตัวเอง

ดูกายจะเห็นความจริง ไม่เห็นมีสาระแก่นสารเลยก็วางกาย ดูจิตไปเรื่อยก็เห็นจิตนี้ไม่มีสาระแก่นสารเลย ก็วางจิตได้ วางกายได้แล้วก็ไม่ทุกข์เพราะกายแล้ว กายมันทุกข์อยู่โดยตัวของมันเอง เพราะมันเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรมก็ตกอยู่ใต้กองทุกข์ แต่จิตที่มันวางกายนั้นมันไม่ทุกข์ไปกับกาย กายมันทุกข์ไปจิตมันไม่ทุกข์ด้วย ถ้าเราวางจิตได้ เราก็ไม่ทุกข์ จะกระทบอารมณ์ที่ดี กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี จิตใจก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ไปด้วย

ฉะนั้นถ้าเราต้องการความพ้นทุกข์ เรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง จนปล่อยวางตัวเองได้ ถ้าไม่สนใจเรียนรู้ตัวเองคอยแต่ดูคนอื่นเขา ใครเขาจะทำอะไร ใครเขาจะหันซ้ายหันขวา ใครเขาจะมองหน้า อุบาทว์มากเลย โง่ โง่อย่างแรงเลย เรียนรู้ตัวเองไม่ใช่ไปดูคนอื่น แล้วเห็นความจริงของกายของใจตัวเอง ไม่ใช่หลงโลก เพลิดเพลินแล้ว กายนี้ดีเหลือเกิน จิตใจของเรานี้ดีเหลือเกิน เรียนรู้ลงไป สุดท้ายมันถึงจะวางได้ ตรงที่เราสามารถวางความยึดถือในกายในใจได้ เราชนะแล้ว ชนะความโง่ของเราเอง ชนะความหลงผิดของเราเอง ชนะกิเลส ชนะความปรุงแต่งทั้งปวง ชนะตัวเองไม่ใช่ชนะคนอื่น

พระพุทธเจ้าท่านก็สอน “ชนะตัวเองเป็นเลิศ ชนะคนอื่นก่อเวร” อย่างเราชนะคนนี้เขา เราก่อเวรทำให้เขาเจ็บช้ำ เขาก็เกลียดเรา เขาก็อาฆาตเรา เราชนะตัวเองได้ โดยเฉพาะการเอาชนะกิเลส ชนะความฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ชนะความหลงผิดของตัวเอง ก็วางความยึดถือในกายในใจได้ นั่นคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวพุทธเรา ฉะนั้นอย่างถ้าเราลงมือปฏิบัติ เราไม่ได้คิดที่จะเอาชนะกิเลสตัวเอง ชนะความโง่ของเราเอง ปฏิบัติแล้วหวังว่าจะถูกหวย จะเฮง จะอย่างโน้นจะอย่างนี้ ยังอ่อนนัก ยังเวียนว่ายตายเกิดอีกนาน

ลองวัดใจเราดูด้วยความซื่อสัตย์ วัดใจตัวเองดู ขณะนี้ในชีวิตเรา เราอยากชนะตัวเองหรือเราอยากชนะคนอื่นอยู่ ซื่อสัตย์ในการประเมินตัวเองดู ถ้าเรายังคิดจะชนะคนอื่น โอกาสที่จะเกิดมรรคเกิดผลอะไร ยังไม่เกิดหรอก เพราะอยากชนะคนอื่นแล้วก็จะสนใจคนอื่น ดูแต่คนอื่นว่าเขาทำอะไร ไม่ได้เรียนรู้กายรู้ใจตัวเอง แล้วมันจะวางกายวางใจตัวเองได้อย่างไร ฉะนั้นเราดูตัวเองเลย บางคนบอก โอ๊ย ภาวนามา 10 ปี 20 ปีแล้ว ทำไมมันไม่ได้ผล ทำไมคนอื่นเขาภาวนา 7 วัน 7 เดือนเขาได้ผลแล้ว เพราะความมุ่งหมายไม่เหมือนกัน ความมุ่งหมายที่ต่างกันก็ทำให้เกิดการกระทำที่ต่างกัน การกระทำที่ต่างกันก็ทำให้เกิดผลของการกระทำแตกต่างกัน เพราะความมุ่งหมายที่อยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ก็เกิดการกระทำ ทำบุญ ผลก็มีความสุขอย่างโลกๆ ชั่วครั้งชั่วคราว อยากมีความสุขแต่ทำชั่วทำบาป ก็มีผลเป็นความทุกข์ อยากชนะกิเลส อยากชนะตัวเอง ชนะความโง่ของตัวเอง ไม่ใช่ชนะเรื่องอื่นหรอก บางคนบอกชนะตัวเองเป็นอย่างไร เช่น อยากกินข้าวแล้วไม่กินนี้ชนะตัวเอง ไม่ใช่ อยากนอนแล้วก็ไม่นอน ไม่ใช่

ชนะตัวเองก็คือชนะความไม่รู้ ชนะความโง่ของตัวเอง เป็นชัยชนะที่สำคัญที่สุด ถ้ามีความอยากแล้วก็ต่อต้าน เก็บกด แล้วบอกชนะแล้ว อันนั้นไม่ใช่วิธีของพุทธ ในลัทธิศาสนาอื่นเขาก็มี เขาทรมานร่างกายเจ็บปวดแสนสาหัส บางคนทรมานหนักจริงๆ จนพิกลพิการเลย หลวงพ่อเคยไปอินเดียครั้งหนึ่ง เห็นพวกเขาบำเพ็ญตบะ บางคนเขาชูมืออย่างนี้ ชูอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ไม่เอามือลงเลย เขาชนะใจตัวเองแล้ว ไม่เอามือลง แขนลีบเลย มือพิการ ได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้ปัญญาอะไรเลย ไม่ได้ความพ้นทุกข์อะไรเลย เพราะฉะนั้นการชนะตัวเองไม่ใช่การทรมานตัวเอง บอกแล้วว่าจะชนะตัวเองก็คือต้องเข้าใจตัวเอง จะเข้าใจตัวเองก็เกิดจากการเรียนรู้ตัวเอง รู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจมัน ถ้าเข้าใจมันก็ปล่อยวาง ตรงที่วางได้นั่นล่ะเราชนะแล้ว วางได้คือชัยชนะ ช่วงชิงมาได้ไม่ใช่ชัยชนะในทางธรรมที่แท้จริงหรอก

 

วางได้แล้วถึงจะชนะ

ในอรรถกถามีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง พระสมัยก่อนชอบมากเลยชอบเล่า เพราะบางทีมีผลประโยชน์แฝง บอกมีวันหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ ก็มีพราหมณ์ยากจนคนหนึ่ง แกจนมากบ้านนี้ มีผ้านุ่งกับเมียมีคนละผืนเท่านั้น ส่วนผ้าห่ม สังเกตไหมแขกเขาจะมีผ้าห่ม ในบ้านมีอยู่ผืนเดียว เพราะฉะนั้นถ้าสามีจะออกจากบ้าน เมียต้องอยู่บ้าน ถ้าเมียจะออกจากบ้าน ตัวผัวมันก็ต้องอยู่บ้าน มีผ้าคลุมไหล่ผ้าคลุมตัวนี้ผืนเดียว วันหนึ่งตาผัวอยากฟังเทศน์ก็ห่มผ้าไป ตอนเย็นๆ พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์ ปกติท่านก็เทศน์ไปช่วงหนึ่งแล้ว พอดึกๆ ท่านก็เลิก ให้คนกลับบ้านไปไม่ดึกมากหรอก แต่วันนั้นท่านพิเศษท่านเทศน์ไม่เลิก เพราะตาคนนี้อยู่ในข่ายที่ท่านจะโปรดแล้ว ท่านก็ทนเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำ เทศน์ไปจนจะสว่างเลย ไม่เลิก ตานี้ยังไม่ได้ธรรมะ

ช่วงที่พระพุทธเจ้าเทศน์ พระเจ้าปเสนทิโกศลเพิ่งไปทำสงครามชนะมา กำลังลำพองใจว่ารบชนะมา ข้าศึกแพ้ไปแล้ว ก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย คล้ายๆ จะได้มาอวด รบชนะมาแล้ว ก็มานั่งฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ด้วย พระพุทธเจ้าก็เทศน์ๆๆ ไป ตาพราหมณ์นั้นก็ศรัทธา เกิดศรัทธาตั้งแต่หัวค่ำเลย อยากจะหาอะไรเป็นเครื่องบูชา เป็นอามิสบูชาพระพุทธเจ้า ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีแต่ผ้าห่มอยู่ผืนเดียว คิดไม่ตกถ้าถวายไปแล้วเดี๋ยวเมียก็จะด่าเอา เมียก็ไม่มีใช้ ตัวเองก็ไม่มีใช้ ก็ลังเลๆ อยู่ ตอนหัวค่ำก็ตัดใจไม่ได้ ตอนดึกก็ตัดใจไม่ได้ ตอนใกล้สว่างศรัทธาแรงกล้าเต็มที่ขึ้นมา ก็ถวายผ้าได้แล้วก็ร้องตะโกนบอกว่า “ชัยยะๆ ชนะแล้วๆ”

พระเจ้าโกศลฟังแล้วหมั่นไส้ เราต่างหากชนะ เอ็งจะไปรบกับใครแก่ปานนั้นแล้ว จะไปชนะใครได้ พระเจ้าแผ่นดินเพิ่งรบชนะมา ยังไม่ตะโกนเลยว่าชนะแล้วๆ ตานี่ไม่เห็นทำอะไรบอกชนะ ก็ซักเลยว่า “แกชนะอะไร” ตอบ “ชนะใจตัวเองได้แล้ว” กล้าเสียสละได้แล้ว ในตำราก็เลยบอก โอ๊ย พระเจ้าโกศลปลาบปลื้มใจ เลยให้ผ้าตั้งหลายผืน สมัยก่อนพวกพระชอบเทศน์ คนจะได้เอาของมาให้ หลังๆ ไม่ค่อยเทศน์ ไม่ค่อยมีเท่าไรแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็บอก “ชนะตัวเองเลิศที่สุด ดีที่สุด” ท่านแสดงธรรมถึงจุดนี้ ตาคนนี้แกก็ได้พระโสดาบัน แกเห็นแล้วตัวแกไม่มีหรอก ชนะตัวเองสูงสุดเลย คือพบว่าตัวเองไม่มี มีแต่รูปธรรมนามธรรม

นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่าไม่รู้ มันไม่ได้อยู่ในตัวพระไตรปิฎก อยู่ในอรรถกถา แต่ว่าเนื้อหาใจความมันสำคัญ ก็คือชนะคนอื่นสู้ชนะตัวเองไม่ได้ ชนะตัวเองก็คือชนะกิเลสของตัวเองได้ ดีที่สุด ฉะนั้นพวกเราเป็นนักสู้ นักปฏิบัติคือนักต่อสู้ ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ วิธีจะชนะคือเรียนรู้ตัวเอง มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าทำอย่างนี้ได้เนืองๆ ทำบ่อยๆ ต่อไปก็จะเข้าใจตัวเอง รูปนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เข้าใจแล้ว พอเข้าใจมันก็วาง ตรงที่วางได้นั่นล่ะคือชัยชนะ

ในโลกต้องได้มาถึงจะชนะ วิ่งเร็วก็ได้เหรียญทอง เตะบอลเก่งก็ได้เหรียญ ได้ถ้วย ก็ต้องมีการได้ขึ้นมา ในทางธรรมของเรานี้วางได้แล้วถึงจะชนะ วางไม่ได้ยึดเอาไว้ก็ทุกข์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราไปทำบุญ ทำทาน แล้วก็ปรารถนาขอมีความสุขหลายภพหลายชาติ มันก็มีความสุข มันสุขอย่างโลกๆ มันสุขเจือทุกข์ แล้ววันหนึ่งพออินทรีย์เราแก่กล้า เราภาวนาเราย้อนระลึกไป เราจะพบเลยว่าที่คิดว่าสุขนั้น ที่จริงทุกข์ทั้งนั้นเลย นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มีแค่นั้นเอง โง่เสียตั้งนานกว่าจะเข้าใจความจริงแล้ววางได้ ของเราก็สำรวจตัวเอง เราต้องการอะไร บางพวกบ้าบุญ ไม่ใช่พวกอยากพ้นทุกข์หรอก พวกบ้าบุญพวกนี้อยากมีความสุขนานๆ ก็สุข สุขโลกๆ สุขเจือทุกข์ไป อยากพ้นทุกข์จริงก็เรียนรู้ตัวเองไป เข้าใจตัวเอง ปล่อยวางตัวเองไป

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็พอแล้ว ไปสำรวจตัวเองว่าจริงๆ ต้องการอะไรแน่ ถ้าเราต้องการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก เราทำบุญไป แล้วเราหัดภาวนาอย่างที่หลวงพ่อสอนนี่ล่ะ เพื่ออะไร เพื่อเป็นนิสัย นิสัยหมายถึงให้ติดอยู่ในกมลสันดาน ให้ติดฝังอยู่ในใจเรา เคยชินที่จะปฏิบัติไว้ อีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้มันสะสมไปเรื่อยๆ เราจะแก่กล้าขึ้น แล้วเราจะมีกำลังที่จะภาวนาออกจากโลก ออกจากทุกข์ ภาวนาเพื่อพ้นทุกข์แล้ว ไม่ใช่เพื่อมีความสุข ฉะนั้นถ้าเราอินทรีย์แก่กล้า เราก็ภาวนามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์เลย เรียนรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง ปล่อยวางตัวเองไป

อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า ไม่พร้อมที่จะทำขนาดนั้น ไม่เป็นไร ทำความดีไว้ ทำบุญอย่างเดียวไม่พอ มีโอกาสได้ยินธรรมะภาคปฏิบัติแล้ว ให้ลงมือปฏิบัติด้วย ไม่ต้องกลัวบรรลุมรรคผลเร็วหรอก ตั้งใจทำแทบเป็นแทบตายยังไม่บรรลุเลย ทำเล่นๆๆๆ ทำบ้างหยุดบ้าง ทำให้เป็นนิสัยให้เคยชินเอาไว้ ชาติต่อๆ ไปจะได้ภาวนาง่าย ตั้งความหวังไว้อย่างนี้ล่ะ แล้วทำบุญทำอะไรไว้เยอะๆ ชาติต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ไม่ลำบากไม่ทุกข์มาก เห็นไหมมีทางให้เราเลือก เรามีอิสระที่จะเลือก เลือกที่จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข ก็ทำไป แต่ฉลาดหน่อยหนึ่งก็คือหัดภาวนาไว้ด้วย หัดเจริญสติไว้ด้วย ถ้ามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ก็ให้เด็ดเดี่ยวลงมา ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ เจริญปัญญาก็คือเรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง จนปล่อยวางตัวเองได้ นั่นเป็นผลของปัญญา

 

 

พวกเราภาวนา ตั้งอกตั้งใจเข้า สำรวจตัวเองไปต้องการแค่ไหน ต้องการอยู่กับโลกก็ทำความดีไป ต้องการพ้นโลกก็เห็นความจริงไป ความจริงของกายใจ เรามีเสรีภาพ ต้องการอะไรแค่ไหนก็ทำเอา ยุติธรรมมากเลย ส่วนใหญ่คนในโลกใจไม่เด็ดเดี่ยวพอที่จะพ้นโลกจริง ยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ทำไมอาลัยอาวรณ์ เพราะไม่เห็นทุกข์ ถ้าเห็นโลกนี้ทุกข์ ไม่อาลัยอาวรณ์หรอก ที่อาลัยอาวรณ์เพราะยังไม่เห็นทุกข์แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นการไม่เห็นทุกข์คือไม่เห็นธรรม ไม่เห็นอริยสัจ รู้ทุกข์ก็คือรู้ธรรม รู้อริยสัจได้ ตราบใดที่เราไม่รู้ทุกข์ เราไม่รู้อริยสัจ เราก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก

มีนักปฏิบัติพวกหนึ่งเขาพยายามพิจารณากาย เป็นปฏิกูลอสุภะอะไร พิจารณาเรื่อยๆ พิจารณาไปจิตก็ค่อยคลายออกจากราคะ ในที่สุดจิตไม่มีราคะ อันนี้ที่เขาพิจารณากายมาเขาจะรู้สึกจิตไม่มีราคะ ได้พระอนาคามี แต่วิธีปฏิบัติที่หลวงพ่อสอนให้พวกเราดู อยากพ้นจากกามก็ต้องเห็นโทษของกาม เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาม ความไม่มีสาระของกาม อันนั้นถึงจะพ้นจริงๆ ถ้าเราพิจารณาอสุภะไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีราคะ แต่มันไม่มีราคะเพราะกำลังของสมาธิ แต่ถ้าเราเห็นกระทั่งกามราคะอะไร ที่ในโลกเขาว่าเอร็ดอร่อยนัก เราเห็นว่ามันคือตัวทุกข์ เห็นจริงๆ ไม่ใช่โมเมคิดเอา มันละของมันเอง

ฉะนั้นหลวงพ่อเคยพูดให้ฟังนานนักหนาแล้ว ว่าคนที่ดูทางกายแล้วเขาเห็นความไม่มีสาระของกาย เขาวางกายได้ เป็นพระอนาคามีได้ อันนั้นเห็นทุกข์ของกาย แต่พวกเราดูจิตเราไม่ได้ดูกายเป็นหลัก แล้วมันวางกายได้อย่างไร มันวางกายได้เมื่อจิตมันมีปัญญา เห็นว่ามีความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร มีความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้น ความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นที่ใด เกิดขึ้นคราวใด ความทุกข์เกิดขึ้นคราวนั้น จิตมันจะวางกาม มันพ้นจากกามเพราะมันรู้แล้ว กามนี้เป็นตัวทุกข์ไม่ใช่ตัวดี สายดูจิต อาจจะไม่ข้องแวะไปที่กายเลย ดูแต่จิตนี่ล่ะแล้วผ่านขั้นที่สามได้

หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอนน้องหลวงพ่อ ไปหาท่านด้วยกัน เขาไปถามท่านว่าทำอย่างไรจะละกามได้ อยากละกามแต่จิตยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ท่านก็อุทานเลย “อ้าว อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ ต้องเห็นโทษของกาม” คือเห็นทุกข์นั่นเอง ฉะนั้นการเห็นทุกข์มันก็จะละสมุทัยได้ เห็นทุกข์ของกามคุณอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย มันก็ละความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ เห็นทุกข์ของฌานสมาบัติได้ ก็ละรูปราคะ อรูปราคะ ได้

นอกจากการเห็นทุกข์แล้ว ไม่มีทางเลือกทางอื่นหรอก เส้นทางของอริยสัจนั้นเป็นเส้นทางของการรู้ทุกข์จนกระทั่งมันละสมุทัยเอง หลวงพ่อดูจิตมาเรื่อยๆ แล้วก็วันหนึ่งไปถามหลวงปู่ดูลย์ “ผมต้องย้อนไปดูกายไหม” ท่านบอกว่า “กายเป็นของทิ้ง เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว ไปเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านว่าอย่างนี้ เราก็ดูมาเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็เห็น จิตมันอยาก อยากอะไร อยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อยากทีไรเป็นทุกข์ทุกทีเลย มันเข้าใจอริยสัจขึ้นมาอีก ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วตัวกามคุณอารมณ์ทั้งหลายที่ได้มา ก็ล้วนแต่ตกอยู่ในความไม่เที่ยง

เราเห็นรูปอย่างนี้ ทีแรกก็จิตยินดี พอเห็นรูปนี้นานๆ จิตก็ยินร้ายเบื่อแล้ว ตัวที่ยึดถือมันคือตัวจิต ถ้ามองเข้ามาเห็นถึงตัวจิต เห็นความไม่มีสาระแก่นสาร มันก็แค่อารมณ์อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง จะกามคุณอารมณ์ หรือรูปฌาน อรูปฌาน มันก็คือตัวอารมณ์ อารมณ์ในกามาวจร หรืออารมณ์ในรูปาวจร อารมณ์ในอรูปาวจร ในรูปฌานก็คืออารมณ์ จิตกระทบอารมณ์คราวใด จิตทุกข์ทุกทีเลย จิตกระทบอารมณ์จิตก็ทุกข์ อารมณ์ในที่นี้ก็คือกามคุณอารมณ์ในกามาวจร อารมณ์คือรูปฌาน อารมณ์คืออรูปฌาน ถ้าจิตไปยินดี ไปพอใจ ไปเกาะเกี่ยว จิตก็ทุกข์เลย เห็นอย่างนี้มันก็วาง ถ้าเห็นโทษของการที่จิตไปยึดกาม จิตก็พ้นกาม เห็นโทษของการที่จิตไปยึดสภาวธรรมอันประณีตทั้งหลาย มันก็วางจิตลงไป สุดท้ายมันก็วางจิตลงไป ฉะนั้นนอกจากการเห็นทุกข์แล้ว ไม่มีทางเลือกทางที่สองหรอก ก็ต้องเห็นทุกข์จนละสมุทัย จนกระทั่งแจ้งนิโรธเกิดอริยมรรคขึ้น นี่คือเส้นทาง

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 สิงหาคม 2565