ธรรม 10 ประการของนักปฏิบัติ

เรียนกรรมฐาน จะให้เข้าใจต้องลงมือปฏิบัติ ทีแรกเราเรียนให้รู้วิธีที่จะปฏิบัติ แต่จะเข้าใจธรรมะหรือยัง ยัง เรียนให้รู้วิธีที่จะปฏิบัติเท่านั้นเอง เหมือนเราจะไปหาขุมทรัพย์ เบื้องต้นเราก็ต้องรู้ มีแผนที่ มีทิศทาง มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการเดินทาง พอมีทุกอย่างพร้อมแล้วก็อยู่เฉยๆ อยู่ที่เดิม มันก็ไม่ได้เจอขุมทรัพย์ ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน รู้วิธีปฏิบัติก็เหมือนเรามีแผนที่แล้วก็พัฒนาตัวเองขึ้นไป

เคยเห็นแก่ตัว ก็พยายามลดละความเห็นแก่ตัว การทำทานก็ต้องทำให้เป็น ทำเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว มีส่วนเกินมากเกินไป แบ่งให้คนอื่นไปบ้าง บางคนก็สะสมทุกสิ่งทุกอย่างเยอะแยะไปหมด เสื้อผ้ามีเยอะ บางคนบอกว่าใช้ทั้งเดือนไม่ซ้ำกันเลย มีเยอะๆ ก็ต้องมีตู้เก็บ เคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งเขาเสื้อผ้าเยอะจนกระทั่งต้องไปซื้อบ้านอีกหลังหนึ่งเอาไว้อยู่ หลังหนึ่งให้เสื้อผ้าอยู่ อย่างนี้ส่วนเกินมันเยอะเกินไป พะรุงพะรัง มีบ้านหลายหลัง มีเครื่องพะรุงพะรัง อะไรที่จะไม่เป็นภาระ เอาอย่างนั้นล่ะสบาย ค่อยๆ ดูไป มีเมียคนเดียวก็พอแล้ว เหนื่อยจะแย่แล้ว หรือมีสามีคนเดียวพอแล้ว มักน้อย สันโดษ เรื่องต่างๆ จะทำให้ชีวิตเราเบา อย่างคนจะเดินทางไกล แต่ อู๊ย สมบัติเยอะเหลือเกิน หอบพะรุงพะรุง ก็ไปไหนไม่รอดหรอก

 

จะเดินทางไกลไปหาธรรมะ
มีเครื่องพะรุงพะรังมากมาย มันก็ไปไม่ไหว

เมื่อก่อนที่นี่ก็มีพระองค์หนึ่ง อันนี้ไม่ได้ไปนินทาท่านหรอก ท่านก็ยังอยู่ พรรษาเยอะแล้ว อยู่ที่นี่ เป็นตัวอย่าง พูดถึงเป็นตัวอย่างให้ฟัง ไม่ได้ไปว่าท่าน อยากไปธุดงค์ ก็ไปนัดแนะกันกับพระท่านมาอยู่ที่ทิพย์ประสิทธิ์ องค์นั้นก็ไปนัดแนะอยากตามไปธุดงค์ แล้วก็ไปถามครูบาอาจารย์ว่าจะต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ท่านพูดคำเดียวว่าบริขาร 8 องค์นี้ บริขาร ผ้าไตรจีวร มีบาตร มีที่กรองน้ำเรียกธมกรก ของใช้ที่จำเป็นสำหรับพระจริงๆ ก็มี 8 อย่าง มีด้าย มีเข็ม เผื่อผ้าขาดก็จะได้เย็บซ่อม ของใช้จำเป็นจริงๆ

ไปถามว่าจะออกธุดงค์ต้องมีอะไรบ้าง มีบริขาร 8 ก็ไม่เชื่อ เบิกของจากคลังไปเพียบเลย ไฟฉาย มีถ่านแล้ว ยังต้องมีถ่านสำรองอีก ขนไปเยอะเลย ไอ้นู่นก็เยอะ ไอ้นี่ก็เยอะ ขนไป กลัวลำบาก พอเดินๆ ไป หนัก ยิ่งกำลังจะขึ้นเขา หนัก โยนทิ้งไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เหลือแต่บริขาร 8 ขึ้นไปภูเขา ครูบาอาจารย์ท่านนำข้ามเขาไปแล้ว คนกรุง คนในเมืองขึ้นเขาลงห้วยไม่เป็น ไต่ๆ ตกลงมาหน่อย ขาเคล็ด ไม่เอาแล้ว เลิกแล้ว

อาจารย์ข้ามภูเขาไป อีกวันหนึ่งให้คนมาตาม ตกเขาไปหรือเปล่า ไม่เอาแล้ว ไม่ไปแล้ว ลำบาก ทำไมต้องลำบากเยอะ ขนของไปเยอะ ท่านก็ปีนภูเขาไม่ไหว แบกไปก็เหนื่อยแล้ว อันนี้เป็นทางรูปธรรม ยกตัวอย่างให้ดู จะเดินทางไกล ขนของไปเยอะ มันก็เดินไปไม่ไหว แบกของเยอะเกิน จะเดินทางไกลไปหาธรรมะ มีเครื่องพะรุงพะรังมากมาย มันก็ไปไม่ไหว เป็นเครื่องถ่วง ฉะนั้นเรามีในสิ่งที่จำเป็นต้องมีก็พอแล้วล่ะ

ส่วนเรื่องการเก็บการออมอะไรเป็นเรื่องที่ต้องทำของฆราวาส ไม่ใช่มักน้อยสันโดษ มีเงินเท่าไรใช้หมด อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นเรียกคนประมาท ก็ต้องรู้จัก เป็นฆราวาสก็ต้องรู้จักวางแผน ไม่มีใครเลี้ยงเรา อย่างพระไปบิณฑบาตยังพอได้ข้าวฉันบ้าง บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ ก็ยังพออยู่ไหว ฆราวาสทำไม่ได้ ก็ต้องคิดถึงอนาคตบ้าง แต่ไม่ได้สะสมจนไม่ลืมหูลืมตา อย่างบางคนมีบ้านหลายหลัง คิดว่านี่คือทรัพย์สิน มันเป็นตัวดูดทำลายทรัพย์สินอย่างดีเลย บ้าน เดี๋ยวก็ต้องซ่อม เดี๋ยวนู่นพังนี่พัง มีแต่ค่าใช้จ่าย ซื้อไว้เยอะแยะหลายหลัง ดูแลลำบาก

อะไรที่มันไม่จำเป็น ดูเท่าที่จำเป็น คำนึงถึงอนาคต การเก็บการออมอะไรจะทำอย่างไร รู้ แค่นี้พอแล้ว พอจะอยู่ได้โดยไม่รบกวนคนอื่น ไม่ใช่บอก ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ต้องพึ่งคนอื่นตลอด อันนั้นไม่ใช่แล้ว ทำตัวถ่วงความเจริญของคนอื่นเขา ฉะนั้นอะไรที่เป็นเครื่องพะรุงพะรังวางเสียบ้าง ลดละลงไป เราจะได้ตัวเบาๆ ส่วนเกินก็ให้กับคนที่ขาดแคลนไปบ้าง เป็นการสละออก ทำตัวเองให้เบา แล้วก็ค่อยๆ ฝึกที่จะลดละความเห็นแก่ตัว

เราไม่จำเป็นต้องมีอะไรเหนือคนอื่น มีพอกินพอใช้ในปัจจุบันเผื่อสำหรับความอยู่รอดในอนาคตแค่นี้พอ บางคนรวยเท่าไรๆ ก็ไม่รู้จักหยุด หาเงินตลอดชีวิต ไม่เคยได้ใช้เงิน ตอนใช้เงินก็คือตอนอายุเยอะแล้ว ใช้อะไร ใช้ให้หมอ หมอเอาไปหมดตอนท้ายๆ พอเรารู้จักดำรงชีวิตพอเหมาะพอควร เครื่องพะรุงพะรังในใจของเราก็ลดลงไปเยอะแล้ว

หรือการที่เราซื่อสัตย์กับคู่ของเรา มันก็ลดความฟุ้งซ่าน ลดความพะรุงพะรัง มีแฟนแล้วยังมีกิ๊กอีก มีกิ๊ก 1 กิ๊ก 2 โอ๊ย ยุ่ง ชีวิตเต็มไปด้วยความสับสน ฉะนั้นท่านถึงสอนคำว่าสันโดษ มีคำอยู่คำ เรียก สทารสันโดษ สันโดษในคู่ของตัวเอง มีแล้วก็พอแล้ว ไม่ต้องมีหลายคน ชีวิตก็จะสบาย ไม่ต้องไปเอาอกเอาใจคนหลายๆ คน ดูแลในครอบครัวก็อยู่กันสงบสุข มีความสุข

 

ฝึกใจตัวเองให้ร่มเย็นก่อน

ถ้าเราภาวนาหรืออยู่ข้างนอก ในสังคมเราดีแต่พออยู่ในบ้านเราบ้านเราร้อน ไม่ถูกแล้วล่ะ เมื่อก่อนรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งเขาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ไปช่วยเยาวชน ไปคอยให้คำปรึกษากับเยาวชน หรือเด็กมีปัญหาทางบ้านอะไรพวกนี้ ให้คำปรึกษาอย่างดีเลย ช่วยคนอื่นได้เยอะ แล้วก็เครียด วันๆ หนึ่งฟังแต่ปัญหามากมาย กลับมาบ้านเครียดจัดเลย เจอลูกด่าลูก เจอผัวด่าผัว สุดท้ายทั้งลูกทั้งสามีหนีออกจากบ้าน

ไปสบายที่อื่น ที่อื่นดูดี ข้างนอกดูดี ข้างในร้อน อันนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ดี ในบ้านเราเราควรจะฝึก ตัวเอง ชวนคนในบ้านภาวนา บ้านเราร่มเย็น ข้างนอกร้อนไม่เป็นไร ถึงเวลาเรากลับบ้านเราแล้วเรามีที่ร่มเย็นอยู่ เราก็ยังมีชีวิตอยู่ไหว เหมือนสัตว์ออกมาอยู่ข้างนอก ต้องต่อสู้เอาชีวิตรอด พอตกเย็นตกค่ำมันเข้ารังของมัน พักผ่อน สบายใจ พรุ่งนี้สู้ใหม่ มันต้องมีที่ให้เราหลบความวุ่นวายมาอยู่ในความสุขความสงบ ถ้าเข้าบ้านแล้วก็มีแต่เรื่องร้อน ไม่มีที่จะไปแล้ว ข้างนอกมันก็ร้อน ในบ้านก็ร้อน ชีวิตลำบากมากเลย ฉะนั้นพยายาม ตัวเองมีศีลมีธรรม ชักชวนคนในบ้านให้มีศีลมีธรรม บ้านจะได้ร่มเย็น พอบ้านเราร่มเย็น เราไม่อยากตะลอนๆ ไปที่อื่นหรอก มาอยู่บ้านแล้วสบายใจ สิ่งเหล่านี้ขอให้เกิดไม่ได้ อ้อนวอนให้เทวดาบันดาลให้เป็นมันก็ไม่ได้ มันต้องทำเอาเอง

ฝึกใจตัวเองให้ร่มเย็นก่อน พอใจเราร่มเย็นแล้วคนรอบข้างเรามันจะค่อยๆ ร่มเย็น คราวนี้ก็เลยเย็นทั้งบ้าน ก็มีความสุข หลวงพ่อก็ฝึกอย่างนั้นตอนเป็นโยม ในบ้านร่มเย็น ไปในที่ทำงาน คนเขาก็เห็นความร่มเย็นของเรา เขาก็เริ่มถาม ทำไมดูมีความสุข ทำไมดูมีความสุขจัง บอกเราภาวนา เขาก็เลยสนใจภาวนากัน เราไม่ต้องไปชวนใครเขาปฏิบัติหรอก เรามีความสุขความร่มเย็นให้เขาเห็น แล้วเขาอยากปฏิบัติเอง

ที่หลวงพ่อทำงานมาจนถึงวันนี้ จุดเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ นี้เอง คือเราฝึกตัวเราเองร่มเย็น คนรอบข้างร่มเย็น เพื่อนร่วมงานร่มเย็นขึ้นมา ความร่มเย็นค่อยๆ แผ่ออกไป ทีแรกก็สอนวงแคบๆ แค่นั้นล่ะ ไม่ได้คิดจะสอนกว้าง ทีนี้เมื่อปี 2527 หลวงพ่อพุธท่านสั่ง ท่านบอกว่าให้คุณไปเผยแพร่ เพราะคนต่อไปจริตนิสัยแบบคุณเยอะ ถ้าเขาไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะอย่างนี้ เขาจะเสียประโยชน์ ครูบาอาจารย์สั่ง หลวงพ่อต้องทำ ทีแรกก็เผยแพร่แบบลึกลับ เขียนไปลงหนังสือ ใช้นามปากกาไม่ให้คนรู้จัก ไม่เอาค่าตอบแทน เขามีค่าเรื่องให้ ค่าเรื่อง แต่ละเรื่องได้เท่านั้นเท่านี้ บอกเราไม่รับ เราไม่ส่งที่อยู่ให้ ช่วยเอาเงินอันนี้ไปทำบุญที่ไหนก็ได้แทน ทีแรกก็เผยแพร่อย่างนั้น

ต่อมาก็ไปเขียนในอินเทอร์เน็ต เขียนไปเขียนมาก็เลยรู้จักคนเยอะแยะ นัดให้คนมาเรียนทีละกลุ่มๆ แล้วค่อยขยายความรู้ความเข้าใจออกไป ช่วงแรกๆ คนที่เข้ามาเป็นพวกที่ชอบเล่นอินเทอร์เน็ต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ภาวนาได้ไม่กี่คน ส่วนใหญ่ฟุ้ง สุดท้ายก็ไปไม่ไหว รุ่นหลังๆ สนใจจริงจังกว่ารุ่นก่อน พวกเราที่เข้ามาทีหลังสนใจ ตั้งอกตั้งใจ ทุกวันนี้คนได้ยินได้ฟังธรรมะของหลวงพ่อก็เป็นแสน หลักแสน กระแสของความร่มเย็นก็แผ่ออกไป พอแต่ละคนมันร่มเย็นขึ้นมา ในบ้านเขาก็เริ่มร่มเย็น ค่อยๆ แผ่ออกไป

ไม่ได้อยากเด่นอยากดัง อยากโน้นอยากนี้ ทำไปตามหน้าที่ของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าท่านสั่งไว้ให้ช่วยตัวเองช่วยผู้อื่นตามสมควร ทำด้วยความไม่ประมาท สงเคราะห์ตัวเอง พัฒนาตัวเอง พัฒนาคนอื่น ช่วยเขาเท่าที่ทำได้ อันนั้นเป็นหน้าที่ที่พระพุทธเจ้าท่านมอบหมาย พระทุกองค์มีหน้าที่อันนี้ ฝึกตนดีแล้วก็ฝึกผู้อื่น

ครูบาอาจารย์รุ่นหลวงปู่มั่นท่านฝึกตนเอง แล้วก็สอนสืบทอดกันมา หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ ก็อยู่ในสายหลวงปู่มั่น แต่วิธีนำเสนอไม่เหมือนรุ่นครูบาอาจารย์ วิธีนำเสนอ ธรรมะที่หลวงพ่อทำ มันเป็นธรรมะที่คนในเมืองฟังรู้เรื่อง ถ้าวิธีของครูบาอาจารย์ท่านจะใช้สมาธินำปัญญา ยุคนี้มันไม่ใช่ยุคสมาธินำปัญญาได้ง่ายๆ มันเป็นยุคสมาธิสั้น ถ้าสมาธิสั้น การปฏิบัติที่เหมาะกับพวกสมาธิสั้น พวกคิดมาก พวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น คือการดูจิต

หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกไว้ว่าต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ตอนนั้นก็รู้สึก ท่านทายอะไรไว้ไม่น่าเชื่อถือ ผ่านวันผ่านเวลามา สังคมตอนนี้เป็นสังคมเมือง กระทั่งในชนบทมันก็คือสังคมเมือง เกษตร ภาคเกษตรก็ทำเป็นธุรกิจทางการเกษตรแล้ว ไม่ใช่เกษตรธรรมดา อะไรๆ มันก็เปลี่ยน สังคมมันก็เปลี่ยน เศรษฐกิจก็เปลี่ยน การเมืองก็เปลี่ยนกระโดกกระเดกอยู่อย่างนี้ เจริญแล้วก็เสื่อม สงบแล้วก็วุ่นวาย เป็นธรรมชาติ

คนรุ่นนี้เจ้าความคิดเจ้าความเห็น ถ้าเจ้าความคิดเจ้าความเห็น จิตใจไม่เคยสงบหรอก ฉะนั้นกรรมฐานที่เราจะทำได้ ไม่ใช่เริ่มจากการนั่งสมาธิให้จิตนิ่งๆ สมัยก่อนครูบาอาจารย์สอนให้พุทโธอย่างนี้เป็นปีๆ ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ทำอย่างอื่น ไม่นั่งคิดหรอกว่าพุทโธไปทำอะไร ท่านสอนให้พุทโธก็พุทโธจริงๆ สู้ตาย แล้วถ้าใจมันยังไม่ยอมนิ่ง ไม่ยอมสงบก็ทรมานสารพัดจะทรมานมัน

องค์ไหนกลัวผีไปภาวนาในป่าช้า กลัวเสือก็ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในถ้ำ กลัวงู กลัวเสือ กลัวช้าง กลัวอะไรก็ไปภาวนาที่นั่น ตายไปก็เยอะ ไม่ได้ตายเพราะเสือเพราะช้าง ตายเพราะมาลาเรีย ที่เจอเสือเจอช้างไม่ค่อยเป็นอะไร เพราะว่าใจมันสงบ ถ้าใจสงบสัตว์มันก็รู้ว่าเราไม่กลัวมัน สัตว์มันมีสัญชาตญาณ ตัวไหนอ่อนแอกว่ามัน มันก็กินเอา ถ้าตัวไหนแข็งแรงมันก็ไม่อยากเล่นด้วย จิตใจท่านเข้มแข็ง ท่านเอาตัวรอด

อย่างหลวงปู่ชอบ ดูประวัติท่าน หลวงพ่อเคยเจอท่าน เคยกราบท่าน องค์นี้อัศจรรย์ เจโตปริยญาณของท่านไวมาก เคยเข้าไปกราบท่าน มีครั้งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ คนก็ล้อมท่านไว้เยอะ ทั้งพระทั้งโยมแน่นเลย เราไปแล้วเข้าไม่ถึงท่าน เห็นช่อง มีช่องโหว่นิดหนึ่งมองเห็นท่านนอนหันหลังอยู่ ขึ้นไปบนศาลาไม่ได้ อยู่ข้างล่างยกมือไหว้ ท่านนอนหันหลัง ยกมือไหว้ท่าน “ผมขอไหว้พระอรหันต์ ผมขอกราบพระอรหันต์” พูดอย่างนี้พูดในใจ ท่านหันหน้ามาพยักหน้าทีหนึ่งแล้วก็หันกลับไป ไวจริงๆ ไว

องค์นี้ตอนที่ท่านภาวนาได้ดิบได้ดี ท่านเจอเสือ ท่านเป็นพระที่ชอบเดินธุดงค์กลางคืน ชอบไปกลางคืน กลางคืนสัตว์มันก็ออกหากิน ก็ถือตะเกียงไป ตะเกียงของพระมันเป็นผ้า ข้างในจุดเทียนไขไว้ ถือไป เดินในป่า ไปเจอเสือ ทีแรกท่านก็ตกใจกลัว พอกลัวจิตมันเคยฝึกมาดีแล้ว พุทโธๆ จิตรวมปุ๊บเลย ร่างกายก็หายไป เสือก็หายไป ป่าก็หายไป ไม่มีอะไรเลย จิตถอยออกจากสมาธิมาสว่างแล้ว ท่านคิดถึงบุญคุณของเสือ ครูเสือมาทำให้ท่านได้ดี ให้ท่านจิตรวม ก็เที่ยวเดินตามหาเสือ จะไปขอบคุณมัน มันก็ไม่อยู่แล้ว

รุ่นก่อนครูบาอาจารย์ท่านสู้กันแบบนั้น รุ่นเรา มันไม่มีที่จะไปแล้ว ป่ามันก็กลายเป็นอุทยาน ไปกางเต็นท์ ไปนอน ไปเล่นกีต้าร์ ไปอะไร มันไม่ได้มีที่สงบที่วิเวกแล้ว ฉะนั้นเราทำบ้านของเราให้สงบแล้วภาวนา กรรมฐานที่เหมาะกับพวกเราคือการดูจิตใจตัวเอง

 

เงื่อนไขพื้นฐานในการดูจิตดูใจตนเอง

การจะดูจิตดูใจก็ต้องมีเงื่อนไขพื้นฐาน มักน้อย อย่าโลภมาก หิวไม่รู้จักเลิก มันก็เหนื่อยวุ่นวาย จิตใจไม่สงบ สันโดษ ยินดีพอใจ ตามมีตามได้ เราทำงานเต็มที่ เรามีแค่นี้ พอใจแล้ว มีเสื้อผ้า 2 – 3 ชุดมันก็พอใช้แล้ว มีแค่นี้ก็พอ อย่างตอนหลวงพ่อทำงานหลวงพ่อมีเสื้อผ้าอยู่ 2 – 3 ชุดเอง ก็พอแล้ว ไม่เห็นจะต้องยุ่งยากอะไรเลย ถึงปีก็ซื้อสักชุด 2 ชุดอะไรอย่างนี้ ก็สบาย

มักน้อย สันโดษ แล้วก็ฝักใฝ่ในความสงัด คำนี้มันแปลยากจริงๆ คำว่า วิเวก วิเวกมันก็มีกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก กายวิเวกก็คือไม่คลุกคลี ถ้ายังชอบคลุกคลีเฮฮาปาร์ตี้ไปเรื่อย กระทั่งคลุกคลีในการเข้าวัดทำบุญ เฮๆ ไปวัดโน้นไปวัดนี้ ไม่ได้กินหรอก เพราะฉะนั้นต้องรู้จักกายวิเวกบ้าง รู้จักปลีกตัวออกจากความวุ่นวาย จากหมู่คณะ เส้นทางนี้มันเป็นเส้นทางของผู้ต้องไปคนเดียว ที่เรียกว่าเอกายนมรรค คือทางที่ไปเดินคนเดียว ทางที่ไปครั้งเดียว ถ้าไปแล้ว ไม่ถอยกลับแล้ว เอกายนมรรค แปลได้หลายอย่าง ทางของท่านผู้เป็นเอก คือทางของพระพุทธเจ้าก็ได้ คำว่าเอกายนมรรค

แล้วก็เราจะต้องวิเวก ฝักใฝ่ในความสงบ วุ่นวายไม่ได้กินหรอก ชวนกันไปทอดผ้าป่าที่นั่นทอดกฐินที่นี่ ให้ทอดกฐินร้อยวัดมันก็ไม่ได้ธรรมะอะไรขึ้นมาหรอก มันเป็นทาน ทำทาน มันก็สบายใจ มีความสุข อยากได้ธรรมะมันก็ต้องให้ครบ ศีล สมาธิ ปัญญาต้องครบ ทำทานมันเป็นแค่การปรับความรู้สึกเบื้องต้นเท่านั้นเอง ให้รู้จักมักน้อยสันโดษ แต่ว่าทำทานแล้วคลุกคลี ไม่ได้เรื่อง

จิตตวิเวก อันนี้เป็นเรื่องของทุกวันปลีกตัวทำในรูปแบบ ให้ใจมันสงบจากกิเลสบ้าง ให้สงบจากสิ่งยั่วยุทั้งหลาย แล้วมันจะค่อยๆ ฝึกเจริญปัญญาได้อุปธิวิเวกคือสงัดจากกิเลส ภาษาไทยคำว่าวิเวก แปลว่าสงัด ไม่ใช่สงบ ซึ่งภาษาคำว่าสงัด มันแปลไม่ออก คนยุคนี้มันไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะมันไม่เคยสงัดสักที พูดยากคำนี้ รวมความก็คือให้เวลากับตัวเองให้เยอะหน่อย อย่าไปวุ่นวายกับข้างนอกมากนัก ถัดจากนั้น ปลีกวิเวก มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงบ ไม่คลุกคลีแล้วก็ปรารภความเพียร

นักปฏิบัติเราวัดตัวเองไปว่าเราสมควรเรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติหรือยัง วิธีวัดที่ง่ายที่สุดคือตอนที่เราตื่นนอน ตอนเราตื่นนอน เราคิดไหมว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร วันนี้เราจะภาวนาอย่างไรดี หลวงพ่อเป็น เป็นอย่างนั้นตั้งแต่เป็นโยม ตื่นมาก็คิดว่าวันนี้เราจะภาวนาอย่างไร มันแสวงหาเส้นทาง มันผิดนั่นล่ะ แต่โดยธรรมชาติใจที่มันอยากพ้นจากวัฏฏะ มันก็จะคิดแต่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรดีหนอ อกุศลที่มีมันจะลดละไป กุศลที่ยังไม่มีจะมี ที่มีแล้วจะเจริญ คอยคิดอยู่อย่างนี้ทุกวันๆ ใจมันปรารภความเพียร

มีเวลา 5 นาที 10 นาทีก็ลงมือปฏิบัติ ขึ้นรถเมล์ก็ปฏิบัติ รอรถเมล์ก็ปฏิบัติ ตอนนั้นขึ้นรถเมล์ไปทำงานรับราชการใหม่ๆ ไม่ได้มีเงินทองอะไรมากมาย เป็นชาวบ้านธรรมดานี้เอง ยืนรอรถเมล์ก็ยังภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ รอไปแล้วจิตใจเรากระวนกระวาย รถมันไม่มาก็เห็น เห็นความกระวนกระวายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขึ้นรถเมล์ได้ดีใจ รู้ว่าดีใจ ขึ้นได้แล้วดีใจอยู่ประเดี๋ยวเดียว เบียดกันไปเบียดกันมา อึดอัดอีกแล้ว ไม่ค่อยสบายใจอีกแล้ว เมื่อไรจะได้นั่งเสียที พอได้นั่งปุ๊บ พระขึ้นมาอีกแล้ว แหม รู้สึก พระนี่เป็นมารความสุข ตอนนี้ไม่กล้าขึ้นรถเมล์เลย กลัวอกุศลตามมาเล่นงาน เดี๋ยวนี้เขาไม่ลุกให้พระนั่งแล้วใช่ไหม เห็นในรถไฟฟ้าอะไรต่ออะไร เห็นเขาถ่ายรูปมา เห็นพระโหนกันต่องแต่ง โยมไปนั่งที่เต็มไปหมด

ภาวนาได้ตลอดเลย อยู่ตรงไหนก็ภาวนาได้ อยู่ในสถานการณ์อะไรก็ภาวนาได้ เวลาทำงาน อย่างจัดประชุมอย่างนี้ เราเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว รอกรรมการมาให้ครบองค์ประชุม ระหว่างรอภาวนา ลืมตานี่ล่ะ ไม่ได้นั่งหลับตา ขืนหลับตาภาวนา คนเขาว่าเราบ้า เพราะเราอยู่ในสังคมของคนบ้า ถ้าเราไม่บ้าตามเขา เขาก็ว่าเราบ้า คนในโลกมันบ้า มันหลงอะไรต่ออะไรตลอดเวลา เราไปนั่งหลับตาภาวนา มันก็เลยสรุปว่าเราบ้า กลมกลืน ไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม กลมกลืน ถ้าเราเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่สงบสุข วุ่นวาย อย่างน้อยต้องคอยตอบคำถามว่าทำไมทำอย่างนี้ๆ หลวงพ่อใช้วิธีกลืนไปเลยกับชีวิตคนทั่วไป การภาวนาเป็นเรื่องของจิตใจใครมันจะมารู้ เรารู้ของเราเอง

อย่างกลางวัน ครูบาอาจารย์ท่านสอน เวลาพระฉันข้าวเสร็จแล้วก็อย่าเพิ่งไปเข้ากุฏิ เดี๋ยวจะไปหลับ ให้เดินจงกรม หลวงพ่อตอนเช้ากินข้าวแล้ว ไม่มีทางได้นอน งานเยอะแยะ แต่กลางวันมันมีเวลาเหลือ เราจะไปเดินจงกรมก็เป็นเรื่องประหลาด หลวงพ่อใช้วิธีเดินจากที่ทำงานไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ข้างหนึ่งก็วัดโสมนัสวิหาร ข้ามคลองไปอีกข้างหนึ่งวัดเบญจมบพิตร ไปอยู่ 2 วัดนี้ เพราะมันไปแล้วก็กลับได้ในเวลา เดินไป นั่นคือการเดินจงกรม เดินไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เดินไปเดินกลับ รู้ตัวตลอด คอยรู้สึก ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านมากก็เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนดูไป ถ้าจิตมันมีกำลังขึ้นมาก็เห็นจิตมันทำงานได้ มันคิดเรื่องนี้สุข มันเห็นอันนี้พอใจ เห็นอันนี้ไม่พอใจ ได้ยินเสียงอย่างนี้พอใจ ได้ยินเสียงอย่างนี้ไม่พอใจ มันคือการปฏิบัติ

คนเขาถามว่ากินข้าวกลางวันแล้วหายไปไหนทุกวันเลย บอกไปวัดตรงนี้ ไปทำอะไร ไปไหว้พระ ก็ไหว้จริงๆ ไหว้อยู่หน้าโบสถ์ ไปถึงก็ไหว้พระแล้วก็เดินกลับแล้ว คนก็ โอ้ นี่ชอบไหว้พระ อันนี้ยังพอรับได้ ถ้านี่ชอบภาวนา นี่บ้าแล้ว กลืนไปกับเขา หลวงพ่อถึงเคยสอนพวกเราว่าการปฏิบัติเราไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อมหรอก อยู่ในสิ่งแวดล้อมอะไร เราก็ภาวนาได้ เราคอยรู้เท่าทัน รู้กายรู้ใจของเราไป นี่ปรารภความเพียร ทำตลอดวัน มีเวลาเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้น

 

ศีลจำเป็น ถ้าเราจะภาวนาต่อไป

ถัดจากนั้นก็คือมีศีล ต้องรักษาศีล ถ้าศีลไม่ดี โอกาสที่จะพัฒนาอัพเกรดจิตใจขึ้นไปยากมาก แค่ทำสมาธิแล้วเราไม่มีศีล ไม่นานสมาธิก็เสื่อม ถามว่าคนทุศีลทำสมาธิได้ไหม ทำได้ แต่สมาธินั้นจะออกไปทางมิจฉาสมาธิแล้วก็ไม่ยั่งยืน เจริญได้ก็เสื่อมได้ อย่างเทวทัตไม่ธรรมดา เทวทัต บุญบารมีสูง ต่อไปจะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเขาไม่ธรรมดาหรอก เพียงแต่ว่าเขาเป็นคนขี้อิจฉา ความขี้อิจฉาตัวนี้ล่ะตัวสำคัญที่เลยจองล้างจองผลาญกับพระโพธิสัตว์สิทธัตถะมาเรื่อยๆ ใจแต่เดิมมีฤทธิ์ สมาธิดี แสดงปาฏิหาริย์ได้ แล้วพอทำความชั่วมากเข้าๆ สมาธิมันเสื่อม

ทำไมมันเสื่อม เพราะนึกถึงจิตใจตัวเอง มันมีแต่ความเร่าร้อน สมาธิมันจะไปตั้งอยู่ได้อย่างไร สมาธิไม่ไปตั้งอยู่ในใจที่สกปรกหรอก เร่าร้อน สมาธิที่ดีมันก็เสื่อมไปๆ สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้นศีลจำเป็น ถ้าเราจะภาวนาต่อไป

สิ่งจำเป็นทั้งหลาย มักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความวิเวก ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร นี่เป็นพื้นฐานที่เราจะต้องฝึกตัวเอง ถัดจากนั้นก็เป็นการฝึกจิตแล้วฝึกให้มีศีล วิธีฝึกให้มีศีลอย่างง่ายก็คืออ่านจิตตัวเองให้ออก คนทำผิดศีลได้เพราะกิเลสมันครอบงำจิต ถ้ากิเลสไม่ครอบงำจิต มันไม่ทำผิดศีลหรอก

อย่างโทสะเกิดใช่ไหม ก็ไปต่อยไปตีเขา ไปทำลายทรัพย์สินเขา ไปเผาบ้านเผาเมือง ไปอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีก็ไปแย่งคนรักเขา เพราะเกลียดเขา ไม่ได้ชอบหรอกลูกสาวเขา บ้านนี้น่าเกลียดออก แต่อยากให้พ่อมันเจ็บใจ ไปหลอกลูกสาวเขา หรือไปโกรธเขา ก็ไปด่าเขา ศีลมันเสียเพราะว่าโทสะครอบงำ หรือราคะครอบงำ ศีลก็เสีย ราคะครอบงำ ไปฆ่าเขาชิงทรัพย์อย่างนี้ ผิดทีเดียว 2 ข้อเลย ไปผิดลูกผิดเมียเขา ไปปลิ้นปล้อนหลอกลวงเขา เป็นผลจากราคะ หรือผลจากโมหะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อันนี้ทำผิดศีลได้ทุกอย่างเลย

ศีลแต่ละตัว ถ้าเรามีกิเลสๆ แต่ละอย่าง ราคะก็ทำให้ผิดศีลได้ทั้งหมด โทสะก็ทำให้ผิดศีลได้ทั้งหมด โมหะก็ทำผิดศีลได้ทั้งหมด ถ้าเราคอยรู้ทันจิตตัวเองเอาไว้ จิตเรามีโลภะ เรารู้ จิตมีโทสะ เรารู้ จิตเราหลง เรารู้ รู้ไปเรื่อยๆ ราคะ โทสะ โมหะ มันจะครอบงำจิตไม่ได้ เมื่อมันครอบงำจิตไม่ได้ มันก็ไม่มี motive ที่จะผลักดันเราให้ทำผิดศีล ไม่มีตัวที่จะผลักดันให้ผิดศีล เพราะว่าไม่มีกิเลสอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา คำพูดของเรามันก็ดี การกระทำของเราก็ดี ฉะนั้นเราคอยรู้เท่าทัน มีสติไว้ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไว้ แล้วศีลมันจะเกิดอัตโนมัติ

แล้วก็มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไว้ ถ้ามันฟุ้งซ่าน มันหดหู่ ก็รู้ทันมันไป รู้ด้วยความเป็นกลางไปเรื่อยๆ หรือมันมีกามฉันทะ โอ๊ย วันๆ คิดจะอยากได้โน่น อยากได้นี่ มีสติรู้ทันเข้าไป พวกนิวรณ์ทั้งหลายมันจะสงบระงับลงไป นิวรณ์มี 5 ตัว กามฉันทะ พยาบาท อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญใจ อันนี้เขาจัดอยู่ด้วยกัน มีความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย แล้วก็มีความเซื่องซึม สิ่งเหล่านี้มันทำให้สมาธิเสื่อม ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง นิวรณ์มันอยู่ไม่ได้ นิวรณ์เป็นกิเลสอย่างกลาง พอเรามีสติอยู่ กิเลสอยู่ไม่ได้ จิตจะเกิดสมาธิอัตโนมัติเลย

 

พอเรามีสติอยู่ กิเลสอยู่ไม่ได้ จิตจะเกิดสมาธิอัตโนมัติ

อันนี้หลวงพ่อพูดไม่ได้โมเมเอา ในตำราก็มี ก็ทดลองมาแล้ว หัดทีแรกหลวงพ่อทำสมาธิ เต็มรูปแบบ ทำสมาธิเต็มที่เลย รูปแบบ เพราะว่าเรียนจากครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ต่อมาพอถึงขั้นเจริญปัญญา มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตดูใจตัวเอง แล้วหลวงพ่อก็พบว่าการดูจิตเราจะได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา เวลาเราดูจิตใจไป ถ้าเราเห็นนิวรณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น เห็นกิเลสทั้งหลายเกิดขึ้น นิวรณ์มันจะดับ พอนิวรณ์ดับสมาธิมันเกิดเองล่ะ

อย่างที่พระอาจารย์กฤชท่านชอบสอน หลงรู้ๆ อะไรพวกนี้ อันนี้มันก็อยู่ในเรื่องนี้ล่ะ จิตที่หลงไปคือจิตมีอุทธัจจะ ฟุ้งซ่านไป ส่วนใหญ่ก็หลงไปคิด พอจิตมันฟุ้งซ่าน มันไหลไป เรามีสติรู้ว่าตอนนี้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ความฟุ้งซ่านจะดับ ทันทีที่ความฟุ้งซ่านดับ ความสงบมันก็เกิด มันเหมือนทันทีที่เราจุดไฟขึ้นมา เปิดไฟขึ้นมา ความมืดก็หายไปเอง เราไม่ต้องไปไล่ความมืด ไม่ต้องไปตีกับความมืด เราทำแสงสว่างให้ปรากฏ ความมืดมันก็หายไปเอง เรื่องของจิตก็เหมือนกัน เวลาจิตเราไหลไป มันเป็นโมหะ มันมืดมันมัว กิเลสมันมืดมัวทั้งนั้นล่ะ เรามีสติรู้ทัน โมหะมันดับ จิตมันก็สว่างไสวขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา

เพราะฉะนั้นการทำสมาธิ ทำได้หลายแบบไม่ใช่ว่าต้องทำอานาปานสติ ต้องทำอันนั้นต้องทำอันนี้ตามสูตร ผิดไหม ไม่ผิด แต่คนรุ่นนี้ทำยาก มันมีในพระสูตร พระสูตรที่สอง ชื่อสามัญญผลสูตร พระพุทธเจ้าสอนอชาตศัตรู อชาตศัตรูเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินก็แบบพวกเรานี้ล่ะ พวกคิดเยอะ วันๆ หนึ่งมีแต่เรื่องปวดหัวทั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอชาตศัตรูกำหนดลมหายใจ ไม่ได้สอนเลย ท่านสอนให้คอยรู้ทันจิตใจตัวเอง พอรู้ทันจิตใจตัวเอง จิตใจมันก็สงบ สมาธิมันก็เกิดเพราะว่าความฟุ้งซ่านทั้งหลายมันเป็นกิเลส ถ้าเรามีสติรู้ทันมัน กิเลสดับ สมาธิเกิดทันที

ฉะนั้นการจะฝึกให้เกิดสมาธิทำได้หลายแบบ ไม่ใช่มีแต่ในรูปแบบอย่างเดียว การที่สังเกตจิตก็ได้สมาธิเหมือนกัน แล้วบางทีที่เราหัดดูจิตๆ บางคนจะรู้สึกเลย ดูๆ ไป เห็นโน่นเกิดดับๆ อ้าว อยู่ๆ มันนิ่งๆ ไปแวบหนึ่ง แล้วความสุขก็ผุดโชยขึ้นมา มีความสุขโชยขึ้นมาเองในใจเรา นั่นล่ะตรงนั้นล่ะจิตมันพลิกไปสู่ความสงบแล้ว สมาธิมันเกิดแล้ว มีความสุข นุ่มนวล

ความสุขอันนั้นนุ่มนวลยิ่งกว่าตอนไปเข้าฌานในฌานที่หนึ่ง อันนั้นพวกฌานที่หนึ่ง ที่สอง ปีติ ปีติมันรบกวนแรง แต่ตรงที่เราดูๆๆ ความสุขมันโชยขึ้นมา นุ่มนวล แล้วพอจิตมันพักผ่อนพอสมควร มันก็เดินปัญญาต่อ มันไม่หยุดนิ่งตลอดไป เดี๋ยวมันก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว เราก็ตามรู้ตามดูไป

 

ศีล สมาธิ ปัญญาจะมีได้เมื่อมีสติ

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีศีลด้วยการมีสติ แล้วเราจะมีศีล มีสติแล้วเราจะมีสมาธิ แล้วเราก็มีสติอ่านกายอ่านใจของตัวเองไปเรื่อย จิตเราตั้งมั่นมีสมาธิแล้ว สติระลึกรู้กาย เราไม่ได้เจตนาระลึกเลย มันระลึกได้เอง สติระลึกรู้กาย ปัญญามันเกิด มันเห็นกายไม่ใช่เรา เห็นไตรลักษณ์ของกาย กายไม่ใช่เรา กายเป็นก้อนทุกข์ ตัวที่ชัดของกายคือทุกขตา การเห็นเป็นก้อนทุกข์ กับเป็นอนัตตตา ไม่ใช่เรา

บางทีจิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้การทำงานของจิตขึ้นมา จิตส่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรู้ทัน หรือเกิดความรู้สึกที่จิตเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วขึ้นที่จิต สติรู้ทัน มันก็จะเห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่วไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา มันมาเอง มันไปเอง สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ หรือตัวจิตมันจะไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน ไปทางตา ดูรูปแวบเดียวก็เปลี่ยนอารมณ์แล้ว เดี๋ยวก็ไปทางหู ทางจมูกอะไรอย่างนี้ นี่แสดงความไม่เที่ยง หรือมันสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง อันนี้แสดงความไม่เที่ยง

ถ้ามันเห็นมันสุขเอง ทุกข์เอง ดีเอง ชั่วเอง เราสั่งไม่ได้ อันนั้นเห็นอนัตตา หรือเราเห็นจิตไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้ อันนั้นเห็นอนัตตา ฉะนั้นถ้าดูจิตดูใจ เราจะเห็น เราจะดู 2 ส่วนใหญ่ๆ ก็คือดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ได้ ดูพฤติกรรมของจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ได้

ถ้าดูแล้วเราจะเห็นว่ามันไม่เที่ยงสักอย่างหนึ่ง จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตดี จิตชั่วก็ไม่เที่ยง จิตไปที่ตาก็ไม่เที่ยง จิตไปที่หูก็ไม่เที่ยง มีแต่ของไม่เที่ยง แล้วก็เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ นี่อาศัยการมีสติ ก็เลยเกิดปัญญา แต่มีสติอย่างเดียวไม่เกิดปัญญา มีสติไป รู้เท่าทันกิเลส แล้วจิตจะเกิดสมาธิขึ้นมา ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา คราวนี้สติระลึกรู้อะไร ปัญญาถึงจะเกิด

ฉะนั้นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดปัญญาคือสมาธิ ท่านบอกสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิคือสมาธิที่ประกอบด้วยสติ มิจฉาสมาธิไม่มีสติหรอก สงบโง่ๆ ไปอย่างนั้นเอง หรือฟุ้งๆ ไป เห็นโน่นเห็นนี่ ไม่เห็นปัจจุบัน เห็นอดีต เห็นอนาคต เห็นผี เห็นอะไรต่ออะไร ไม่เห็นกายเห็นใจตัวเอง อันนั้นสมาธิออกนอก ใช้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นตัวสำคัญ เห็นไหม ตัวที่เราต้องฝึกให้พัฒนาก็คือมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาจะมีได้เมื่อมีสติ เพราะฉะนั้นการที่ฝึกสติ ท่านบอกสติปัฏฐานเป็นทางสายเอก ทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น มันเป็นอย่างนี้ อาศัยมีสติก็จะเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้น เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้น

ในทั้งหมดมี 10 ข้อ มีมักน้อย สันโดษ ฝักใฝ่ในความสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร 5 ข้อ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถัดจากนั้นคือมีวิมุตติ ตัวที่เก้าคือเกิดอริยมรรคเกิดอริยผล พอเกิดอริยมรรคอริยผลแล้ว มันก็ขึ้นมาถึงตัวสุดท้าย ตัวที่สิบชื่อวิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะไม่ใช่เห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นฟุ้งซ่าน วิมุตติญาณทัสสนะก็คือจิตมันทวนกลับเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคอริยผลนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อริยมรรคได้ทำลายล้างกิเลสชั้นละเอียดคือตัวสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว ยังเหลือกี่ตัว ทำลายไปกี่ตัว

ถ้าเป็นการตัดเกิดอริยมรรคครั้งสุดท้าย เกิดอรหัตตมรรค ทวนเข้ามาไม่มีกิเลสเหลือ ไม่มีเชื้อเหลือแล้ว เรียกว่าไม่มีเชื้อที่จะเหลือ ทวนกลับมาสรุปบทเรียนทั้งหมดเลย เป็นการวัดใจตัวเองขั้นสุดท้าย ยังมีกิเลสเหลือหรือไม่มี วัดตัวเอง วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาวัดให้เรา เชื่อไม่ได้หรอก เชื่อถือไม่ได้ ต้องดูของเราเอง

 

 

ธรรมะ 10 ประการ 5 ประการแรกเป็นการปรับเงื่อนไขในการดำรงชีวิตที่เอื้อต่อการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดได้ด้วยการพัฒนาสติ ในวิธีการที่จะพัฒนาสติคือสติปัฏฐานนั่นเองแล้วเราจะได้ศีล สมาธิ ปัญญา พอศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบก็จะเกิดมรรคเกิดผล เกิดวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะจะตามมาอัตโนมัติเป็นของแถมให้ นี่องค์ธรรม 10 ประการที่พวกเราจะต้องเดิน ทำ 5 ข้อให้รอด อย่ายอมแพ้ แล้วก็มีสติรักษาจิตไว้ แล้วศีลเราจะดี สมาธิเราจะดี ปัญญาเราจะเกิด มีสติรักษาจิตไว้

ฉะนั้นถ้าถามว่าถ้าจะหาการปฏิบัติอะไรสักข้อหนึ่ง เอาอย่างเดียวเลยได้ไหม ได้ มีสติรักษาจิตไว้ ธรรมะข้อเดียวที่จะข้ามโลกได้เลย ที่พูดธรรมะมากมายก่ายกองอะไร เพราะจริตนิสัยคนมันแตกต่างกัน แต่ถ้าจะรวบยอดลงมาในการปฏิบัติจริงๆ มีสติรักษาจิตไว้

รักษาจิตก็ไม่ใช่ไปรักษาจริงๆ หรอก สติทำหน้าที่รักษาจิต เราไม่ได้รักษา เรารู้จิตอย่างที่จิตเป็น แต่การที่เรารู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ ยิ่งเราหัดรู้บ่อยๆ สติก็ยิ่งแข็งแรง รวดเร็ว ชัดเจนขึ้น ว่องไวขึ้น แล้วคราวนี้ศีล สมาธิ ปัญญามันจะเกิดเอง

เพราะอะไร เพราะเรามีสติรู้เท่าทันจิตตัวเองไป อกุศลทั้งหลายเกิดไม่ได้ ในขณะนั้นกุศลได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่มีสติ แล้วกุศลก็พัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา สุดท้ายก็ถึงวิมุตติ เลยจากกุศลไปแล้ว เลยจากโลกิยกุศลเป็นโลกุตตรกุศล อาศัยการทำสติปัฏฐาน มีสติแล้วแนะนำให้มีสติรู้ทันจิตตัวเองไว้ เร็วที่สุดแล้ว มีสติรู้กายได้ไหม ได้ แต่รู้กายเพื่ออะไร วันหนึ่งจะได้เข้ามาเห็นจิต ถ้าเข้ามาที่จิตได้ก็ดูไปเลย เสียเวลา

วันนี้เทศน์ให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบเลย อยู่ที่เราจะทำหรือเปล่า มักน้อยเป็นไหม หรือยังมักมากอยู่ มีมือถือรุ่นนี้ แล้วมันยังไม่ถูกใจต้องไปซื้ออีกรุ่นหนึ่งออกใหม่ พอชาร์จเอาไปถือแป๊บเดียว ร้อนแล้วระเบิดแล้วอะไรอย่างนี้ เสียเวลา ถามว่าเราใช้อะไรมากมายไหม อย่างแค่มือถือ ดูง่ายๆ เลย แค่มือถือ เราใช้อะไรบ้าง ใช้ทำมาหากิน ทำธุรกิจอะไร ซื้ออย่างดี ไม่เป็นไรหรอก ถ้าเราชาวบ้านๆ ใช้โทรเข้าโทรออก ใช้ดูเฟซบุ๊ค ดูไลน์อะไรนิดๆ หน่อยๆ ใช้เป็นนาฬิกาปลุก ไม่ต้องซื้อแพงก็ได้ ไม่ต้องทันสมัยทุกรุ่น

รู้จักมักน้อยบ้าง รู้จักสันโดษ สันโดษคือมีแค่นี้ก็มันยังใช้ได้ ไม่เห็นต้องหาใหม่เลย เสียเงิน นี่สันโดษ วันๆ อย่ามัวแต่ยุ่งข้างนอก หาความสงบสงัดภายในบ้าง ไม่คลุกคลี คอยคิดถึงการปฏิบัติไว้ เตือนตัวเองทุกวัน ชีวิตเราสั้นนิดเดียว ไม่รีบปฏิบัติวันนี้ จะไปปฏิบัติเมื่อไร รอจนแก่เดี๋ยวก็ไม่มีแรงปฏิบัติ เตือนตัวเองไป แล้วก็มีสติอ่านใจตัวองไปเรื่อยๆ ง่ายๆ พูดแล้วง่าย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
1 ตุลาคม 2566