ความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ

จะมาปฏิบัติธรรม รู้สึกตัวไว้ก่อน ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้ ปฏิบัติธรรมมี 2 อัน ทำสมถะ ฝึกจิตให้สงบ ตั้งมั่น แล้วทำกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ฝึกจิตให้มีปัญญา ไม่ว่าจะทำสมถะหรือทำวิปัสสนา ต้องรู้สึกตัวให้ได้ มีคนจำนวนมาก ทำสมถะแล้วไม่มีความรู้สึกตัว นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว พอเคลิ้มอย่างเดียวไม่พอก็ฝันต่อ เรียกมีนิมิต เห็นโน่นเห็นนี่

นิมิตมีได้ตั้ง 6 ลักษณะ นิมิตเป็นรูปก็มี นั่งภาวนาเห็นคนเดินมาหา เป็นรูป เป็นเสียงก็มี บางทีนั่งแล้วได้ยินเสียงคนนั้นบอกอย่างนี้ คนนี้มากระซิบอย่างนี้ เป็นกลิ่นก็มี เวลานั่งสมาธิ หรือว่าจิตเรามีสมาธิ แต่ยังไม่ถึงสมาธิขั้นละเอียด สมาธิครึ่งๆ กลางๆ นิมิตมันเกิด เราอาบน้ำ อย่างเราอาบน้ำอยู่ บางทีน้ำที่ออกจากฝักบัวมาหอมๆ มันนิมิตเป็นกลิ่น เป็นรสก็มี นิมิตเป็นรส อาหารธรรมดาๆ ข้าวเปล่าๆ กินแล้ว แหม มันอร่อย เป็นสัมผัสทางร่างกายก็มี เป็นอารมณ์เรื่องราวทางใจก็มี

ฉะนั้นเวลาภาวนาจะทำความสงบ ทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง ให้จิตอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้น ไม่วอกแวกไปที่อื่น ก่อนที่มันจะถึงจุดที่สงบอย่างแท้จริง บางทีมันผ่านจุดครึ่งๆ กลางๆ จุดครึ่งๆ กลางๆ เรียกอุปจารสมาธิ ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส บางทีรู้อดีต รู้อนาคตอะไรต่ออะไร ถ้าไม่มีความรู้สึกตัว นิมิตพวกนี้มันหลอน จิตมันหลอนสร้างนิมิตขึ้นมา สร้างรูปขึ้นมาก็มี สร้างเสียง สร้างกลิ่น สร้างรส สร้างสัมผัส อันนี้ทำไปด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว สติมันอ่อนไป ถ้าสติอ่อน จิตใต้สำนึกมันทำงาน อยากรู้ อยากเห็น อยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ มันก็ปรุงขึ้นมา

 

ถ้ารู้สึกตัวไม่เป็น ยังปฏิบัติธรรมไม่ได้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำสมถกรรมฐาน หรือใช้อารมณ์กรรมฐานอะไรก็ตาม ก็ต้องมีความรู้สึกตัวไว้ อย่างหลวงพ่อฝึกสมถกรรมฐาน ใช้หายใจเอา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หัดใหม่ๆ สติมันยังอ่อน ความรู้เนื้อรู้ตัวไม่พอ จิตมันก็ออกนอกไป สว่างขึ้นมา คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันไหลตามออกไปรู้ไปเห็น เหมือนเรามีไฟฉายอย่างดี ฉายได้ไกลๆ ในความมืดนั้นแสงสว่างไปถึงไหน เราก็เห็นไปถึงนั่น เพราะฉะนั้นเวลาทำกรรมฐาน จะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัว

ตอนที่หลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ท่านบอกพึ่งตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็อยากรู้ว่าคนที่อื่น สำนักอื่น ครูบาอาจารย์อื่นสอนกรรมฐานกันอย่างไร ก็ออกตระเวนดู สำนักที่มีชื่อเสียงอะไรต่ออะไร ไปดู ก็พบว่าบางคนไม่ทำสมาธิเลย บางที่ นั่งคิดๆๆ ไปเรื่อย คิดแต่เรื่องไตรลักษณ์ อันนี้จิตมันจะโล่งๆ ว่างๆ คิดแต่เรื่องไตรลักษณ์ ใจมันโล่งๆ ก็ติดอยู่ตรงนั้น บางคนทำสมาธิ จำนวนมากนั่งสมาธิ นั่งแล้วก็เครียดๆ อยากให้ใจสงบ อยากให้ใจสงบ มันก็เริ่มบังคับจิตใจ จิตใจมันก็เครียด แน่นๆ

บางคนนั่งแล้วก็ไม่มีสติกำกับ ใจก็เคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว เคลิ้มไม่ใช่เคลิ้มอย่างเดียว เคลิ้มแล้วฝัน ฝันก็มีนิมิตนั่นล่ะ ฝันเขาเรียกสุบินนิมิต เป็นนิมิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน ทีแรกภาวนา หลวงพ่อก็ทำผิด มุ่งไปที่ความสงบ ไม่ได้มุ่งที่ความรู้สึกตัว ฉะนั้นนั่งไปจิตสงบ สบาย ลมหายใจระงับ กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา แล้วจิตมันก็ตามแสงออกไป อยากรู้อยากเห็นอะไร มันก็ตามออกรู้ออกเห็นข้างนอก รู้ไปนานๆ ก็รู้สึกไม่เห็นมีสาระอะไรเลย ไปเห็นเทวดา ไปเที่ยวสวรรค์ ไปดูโน่นดูนี่ มันก็เหมือนเราดูหนัง หรือเหมือนเราฝันไป ฝันว่าไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ มันไม่มีสาระแก่นสารอะไร

พอดีหลวงพ่อเป็นคนกลัวผี ตั้งแต่เด็กๆ มีผีเป็นครู วันหนึ่งนึกขึ้นได้ ถ้าจิตเราออกไปเห็นเทวดาได้ มันก็เห็นผีได้ คราวนี้เลยกลัว ออกไปเห็นผีเดี๋ยวไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเวลาจิตมันสงบลงไป มันสว่างขึ้นมา พอจิตมันจะเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่าง รู้ทัน ไม่ให้ไหลเข้าไป จิตมันเริ่มรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาแล้ว แล้วจิตมันก็รวมสงบ ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ตรงนี้ล่ะที่สัมมาสมาธิ มันแยกออกจากมิจฉาสมาธิ มิจฉาสมาธินั้นสงบ แต่ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่มีสติกำกับ จิตมันก็หลอนได้นานาชนิด ไม่ก็ลืมตัวหลับ เหมือนนั่งหลับ ไปนอนดีกว่า ไปนั่งหลับง่อกแง่กๆ นี่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางทีก็เห็นโน่นเห็นนี่ ฝัน

เพราะฉะนั้นมิจฉาสมาธิไม่ประกอบด้วยสติ ถ้าเราทำสัมมาสมาธิ เราไม่ลืมเนื้อลืมตัว มีสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ลมหายใจละเอียด รู้สึก ลมหายใจระงับ รู้สึก มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ละเอียดลงไปอีก ร่างกายนี้หายไป ก็ยังรู้สึก มีจิตรู้อยู่ โลกทั้งโลกหายไป ร่างกายจะหายไปพร้อมๆ กับโลกข้างนอก เวลาหายหายรวดเดียวเลย รูปธรรมทั้งหมด ทั้งร่างกาย ทั้งโลกข้างนอกหายหมดเลย แต่ว่าเรายังมีสติอยู่ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะออกไปบวช ไปเรียนกรรมฐานกับฤๅษี อาฬารดาบส กับอุทกดาบส ไปเรียนกับอาฬารดาบสได้ฌานที่ 7 เรียนกับอุทกดาบสได้ฌานที่ 8 สงบ เฉยๆ สงบ

แล้วท่านก็พบว่ามันไม่ใช่ทาง ออกจากสมาธิมากิเลสก็ยังอยู่ ความทุกข์ก็ยังอยู่ ท่านก็เลยไม่เอาสมาธิ เรียกสมาธิหัวตอ ครูบาอาจารย์เรียกสมาธิหัวตอ เป็นอย่างไรสมาธิหัวตอ สมาธิซื่อบื้อ ซื่อบื้อ ไม่เอา ท่านก็ออกมาฝึก หา แสวงหาทางแนวใหม่ ฝึกทางจิต ฝึกกับฤๅษีก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่พ้นทุกข์ ท่านออกมาฝึกทางกายบ้าง ก็มาทรมานร่างกาย อดข้าว อดนอน ทรมานตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ จนกระทั่งผอมไม่มีเนื้อหนังอะไร เหลือแต่หนังกับกระดูก เวลาเอามือลูบศีรษะ ผมร่วงติดมือมาหมดเลย ก็รากผมมันตาย มันไม่มีอาหารหล่อเลี้ยง ลูบท้อง สัมผัสกระดูกสันหลังเลย ผอมขนาดนั้น จับลงไปเจอแต่ซี่โครง

ฝึกเข้าสมาธิอย่างฤๅษีก็ไม่สำเร็จ มาฝึกทางกาย ทรมานร่างกายก็ไม่สำเร็จอีก สุดท้ายท่านก็เลยนึกถึง มันสุดโต่งไป 2 ข้าง ข้างมุ่งไปทำความสงบ มันก็เพลินๆ มีแต่ความสุขความสงบไป ในฌานสมาบัติ ไม่มีปัญญา ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ฝึกทรมานร่างกาย ก็ทรมานเหนื่อยเปล่าๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ กิเลสก็ยังมีอยู่ สุดท้ายท่านนึกถึงสมาธิ ที่ท่านเคยได้ตอนเด็กๆ ตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนท่าน แต่บารมีเก่าของท่าน ท่านเคยฝึกสมาธิที่ประกอบด้วยสติมา ท่านก็ลงมือทำ

 

ให้ความสำคัญกับความรู้เนื้อรู้ตัว

ตอนนั้นท่านเด็กเล็กๆ ได้สมาธิตามธรรมชาติของท่าน แล้วท่านก็ลืม พอโตขึ้นมาออกไปบวช ก็คิดถึงเรื่องนั่งสมาธิ ไปฝึกกับฤๅษี ไปทรมานร่างกาย ท่านนึกถึงสมาธิที่ท่านเคยได้ตอนเด็กๆ หายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้ารู้สึกตัว ไม่ใช่หายใจออก ก็รู้ลมหายใจ แล้วก็นิ่งๆ ไป หายใจเข้า รู้ลมแล้วก็นิ่งๆ ไป นี้ท่านหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว เห็นไหม มันมีคำๆ หนึ่งที่เพิ่มมาจากสมาธิ ที่เป็นมิจฉาสมาธิ คือหายใจออก รู้สึกตัว หายใจเข้า รู้สึกตัว ฉะนั้นลมหายใจยาวก็รู้สึกตัว ลมหายใจสั้นก็รู้สึกตัว

ส่วนใหญ่เขาก็สอนกัน ลมหายใจยาวให้หายใจลึกๆ ลงไปถึงท้อง แล้วบอกว่าพอจิตสงบ มันจะหายใจค่อยๆ ตื้นๆๆ ขึ้นมา มาอยู่ที่จมูก หัดใหม่ๆ ก็อย่างนั้น แต่พอเราชำนาญในสมาธิ เราเห็นลมหายใจออก เห็นลมหายใจเข้า ไม่ต้องดูไล่ตามลมเข้าไปข้างใน รู้อยู่ที่ตรงนี้ ลมมันก็ผ่านรูจมูก มันผ่านยาวก็รู้ มันผ่านตื้นๆ สั้นๆ ก็รู้ ตอนที่จิตเราไม่สงบ ลมมันจะเข้ายาว ออกยาว เข้ายาว แต่พอจิตมันเริ่มสงบมันจะสั้น เข้าสั้น ออกสั้น ฉะนั้นในสติปัฏฐานจะพูดถึงลมที่ยาวก่อน แล้วต่อไปก็ลมสั้น อันนั้นจริงๆ เลย แล้วไม่ต้องไปดูที่ท้อง ไม่ต้องดูลมไล่ขึ้นไล่ลง ดูอย่างนั้นขึ้นๆ ลงๆ สงบยาก

หลวงพ่อทำ หลวงพ่อรู้อยู่แค่นี้เอง รู้อยู่ที่ปลายจมูกนี้ จะงอยปากนี้ เห็นลมไหลเข้าไป เห็นลมมันไหลออกมา รู้สึกอยู่ หายใจอย่างนี้ด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าหายใจแล้วตามลมยาว ตามลมสั้น จิตมันไปให้ความสำคัญกับลม แต่ถ้าหายใจอยู่อย่างนี้ เราให้ความสำคัญกับความรู้เนื้อรู้ตัว ก็แค่เห็นลมมันไหลเข้า เห็นลมมันไหลออก รู้สึกตัวอยู่ แล้วเวลาต้องการพักผ่อน เราก็พัก เราก็พักเข้าไปเลย เวลาจะออกก็หายใจให้แรงขึ้น จิตถึงจะถอยออกมาจากสมาธิ สมาธิที่ลืมตัวเอง กับสมาธิที่รู้เนื้อรู้ตัว มีคุณค่าแตกต่างกันมาก

ถ้าเราฝึกสมาธิที่ลืมเนื้อลืมตัว เราก็จะออกข้างนอก เคลิ้มไปบ้าง ลืมตัวเอง ก็เคลิ้มๆ เหมือนกับนอนหลับ หรือจิตมีนิมิตหลอนไปอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก ไม่ต้องไปตามลมอะไรหรอก ลมสั้น ลมยาว อยู่ที่จมูก มันก็รู้แล้ว จุดสำคัญคือทำไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติไว้ แล้วเวลาจิตมันรวม มันก็จะรวมลงไปด้วยความมีสติ กระทั่งโลกธาตุดับ ร่างกายหายไป ร่างกายกับโลกนี้จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วก็จิตไปอยู่ในความว่างๆ ก็ยังมีสติ ไม่ขาดสติตลอดสายของการปฏิบัติ นี่วิธีฝึก

ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นเรื่องสำคัญ จะทำความสงบ ก็ต้องสงบแบบมีสติ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ถ้าจะเจริญปัญญา ก็ต้องไม่ลืมเนื้อลืมตัว ต้องรู้ตัวไว้ รู้สึก รู้ถึงความมีอยู่ของกายของใจตัวเอง อย่างเวลาเรานั่งสมาธิ บางทีร่างกายหายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว ไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นเอาไว้พักผ่อน ไม่ได้เดินปัญญา เดินปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว ให้จิตมันทำงานไป อย่าไปให้จิตติดนิ่งติดว่างอยู่ ให้จิตมันทำงานไปตามธรรมชาติ

วิธีที่จิตมันทำงานตามธรรมชาติคือ มันต้องออกกระทบอารมณ์ ธรรมชาติของจิตนั้นเกิดคู่กับอารมณ์เสมอ เราก็ไม่ต้องไปฝืน ไม่ให้จิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง อยู่ในอารมณ์นิ่งๆ อย่างเดียว เวลาเจริญปัญญา ปล่อยให้จิตมันทำงาน อย่าให้มันนิ่งว่างๆ อยู่ เวลาจิตมันทำงาน มันทำอย่างไร บางทีมันก็ไปเห็นรูป บางทีมันก็ไปฟังเสียง บางทีมันก็ไปดมกลิ่น บางทีมันก็ไปรู้รส บางทีก็ไปรู้สัมผัสทางร่างกาย บางทีก็ไปรู้อารมณ์ทางใจ อารมณ์ทางใจเรียกธรรมารมณ์ อารมณ์ทางใจนี่กว้างขวางมาก อารมณ์ทางตาคือการเห็นรูป เห็นแต่สี รูปที่ตามองเห็น ก็แค่สีที่ตัดกัน ออกมา เราก็เลยสรุปว่าเป็นรูปร่างอย่างนี้ๆ อารมณ์ทางหูก็มีอันเดียวคือเสียง อารมณ์ทางจมูกก็มีแค่กลิ่น อารมณ์ที่ลิ้นก็มีแค่รส

อารมณ์ทางกายมีเยอะขึ้นหน่อย มีความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหว อันนี้เป็นอารมณ์ที่กระทบร่างกาย อย่างลมพัดมาถูกร่างกาย ลมพัดมาถูกแล้วก็รู้สึก รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก นั่งๆ อยู่ อากาศร้อน อากาศร้อนสัมผัสด้วยผิวกาย เส้นประสาททางผิวกาย อันนี้จิตมันเกิดที่กาย จิตเกิดที่ตา รู้อารมณ์อย่างเดียวคือสี จิตเกิดที่หู รู้อารมณ์อย่างเดียวคือเสียง จิตเกิดที่จมูก ก็รู้อารมณ์อันเดียวคือกลิ่น จิตที่เกิดที่ลิ้น รู้อารมณ์อันเดียวคือรส

จิตที่รู้อารมณ์ทางร่างกายนี้ รู้ความเย็น ความร้อน มันรู้ด้วยร่างกาย ความอ่อน ความแข็ง อย่างเราเดินไป พื้นมันอ่อน พื้นมันแข็ง รู้ด้วยร่างกาย ความตึง ความไหวในร่างกาย อันนี้สัมผัสด้วยร่างกาย อย่างเรากินอาหาร แล้วก็มีแก๊สในท้องเยอะก็แน่น เหมือนมันตึงขึ้นมา หรือมีลมเคลื่อนไปเคลื่อนมาในร่างกาย โครกครากๆ อันนี้รู้ด้วยกาย อารมณ์ที่เหลือรู้ด้วยใจ ฉะนั้นกว้างที่สุดเลย อารมณ์ทางใจนี้ มีตั้งแต่เรื่องราวที่เราคิด เราคิดโน้นคิดนี้ อันนี้เป็นอารมณ์ทางใจ อารมณ์ทางใจตัวนี้เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ

อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ บางอย่างก็เป็นรูปธรรม อย่างเราหลับตา เรารู้สึกนี่ร่างกายมันเคลื่อนไหว รู้ด้วยใจ เดินจงกรม เห็นร่างกายเดิน มันรู้ด้วยใจ รู้รูปจำนวนมาก รู้ด้วยใจ นามธรรมทั้งหมดรู้ด้วยใจ เช่น ความสุข ความทุกข์ ความจำได้ ความหลงลืม ความดี ความชั่วทั้งหมด อันนี้รู้ด้วยใจ เป็นอารมณ์ทางใจ อีกอันหนึ่งที่รู้ด้วยใจคือนิพพาน สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่งสิ้นเชิง ฉะนั้นตัวธรรมารมณ์กว้าง ตัวเดียวนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องราวที่เราคิด ทั้งรูปธรรมจำนวนมาก ทั้งนามธรรมทั้งหมด แล้วก็นิพพาน รู้ด้วยใจ

 

วิธีเจริญปัญญาด้วยการดูจิต

เวลาที่เราเจริญปัญญา เราไม่ได้จงใจว่าจะต้องเห็นอย่างเดียว จะต้องได้ยินอย่างเดียว ต้องได้กลิ่นอย่างเดียว ต้องได้รสอย่างเดียว ต้องสัมผัสทางกายอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น เจริญปัญญาก็คือ ถ้าจิตมันจะเกิดที่ตา มันจะไปดูรูป เราก็แค่รู้ จิตไหลไปทางตา แล้วจิตไปเกิดที่ตา เราก็รู้ จิตไปเกิดที่หู เราก็รู้ จิตไปเกิดที่จมูก ที่ลิ้น เราก็รู้ เวลาจิตมันไปที่ตา หู จมูก ลิ้น จิตมันจะเป็นอุเบกขาเสมอ มันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์หรอก อย่างเราเห็นรูปอันหนึ่ง จิตก็เฉยๆ ต่อมาจิตมันคิดได้ มันแปลได้ สัญญาเข้าไปแปล นี่รูปดอกไม้ สวย คราวนี้จิตก็มีความสุข จิตมีราคะ อันนี้มันเป็นกระบวนการ ที่ทำงานอยู่ที่จิตล้วนๆ เลย

ตรงที่ตาเห็นรูปไม่มีกิเลส หูได้ยินเสียงก็ยังไม่มีกิเลส ตอนที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสก็ยังไม่มีกิเลส แต่ใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่งแล้ว ถึงจะเกิดกิเลสขึ้น เวลาเราปฏิบัติเราไม่ได้จงใจ บางครั้งจิตก็ออกไปรู้รูป บางครั้งจิตก็ไปฟังเสียง บางครั้งจิตก็ไปคิด จิตมันทำงานของมันได้เอง ดูรูปมันก็ดูของมันเอง ไม่ได้เจตนาจะดู มันเห็นเอง บางทีเรานั่งดูซีรีส์อยู่ แหม หนังนี้สนุก กำลังดูพระเอกนางเอกกำลังทะเลาะกัน แหม สนุกเหลือเกิน แล้วใจก็คิด ใจก็คิด เอ๊ะ สนุกจังเลย น่าจะชวนเพื่อนมาดูด้วย ในขณะนั้นตาไม่เห็นรูปแล้ว ในขณะที่ใจคิด ไม่ได้เห็นรูปแล้ว แล้วในขณะที่ตาเห็นรูป ก็ไม่ได้ยินเสียง

ถ้าเราสังเกตให้ดี สติเราไวพอ เราจะรู้ว่าจิตเกิดดับทีละดวง จิตที่รู้รูปเกิด ในขณะที่จิตรู้รูป จิตก็ไม่ได้ยินเสียง จิตก็ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้สัมผัสทางกาย ไม่ได้คิด ในขณะที่จิตคิด จิตก็ไม่ได้เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้สัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไร มันก็ยังมีอยู่ แต่จิตไม่ออกไปรับรู้ จิตไม่รับรู้ อย่างเวลาเรานั่งอยู่แล้วเราใจลอย เหม่อๆ ใจลอย นั่งอยู่หน้าบ้าน ใจลอย หมาวิ่งมาเราก็ไม่เห็น คนเดินมาเราก็ไม่เห็น เพราะเราใจลอย ใจเรากำลังล่องลอยไปอยู่ในโลกของความคิด โลกของจินตนาการ เราก็ไม่เห็นรูป ไม่ได้ยินเสียง การที่เราจะเห็นรูป หรือจะได้ยินเสียง หรือจะได้กลิ่น หรือจะได้รส หรือจะได้สัมผัสทางกาย เราก็เลือกไม่ได้ จิตมันทำงานของมันเอง มันเลือกของมันเอง

ในพวกปริยัติเขาก็เก่งพอสมควร เขาพูดถึงจิตชนิดหนึ่ง เรียกปัญจทวาราวัชชนจิต พวกเราไม่ต้องจำหรอก ปัญจทวาร ก็คือทวารทั้ง 5 ทวารทั้ง 5 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างเวลาเรานอนหลับลึกๆ จิตอยู่ในภวังค์ หลับลึกๆ ต่อมามันมีอะไรบางอย่าง มากระตุ้นให้เราตื่น ตอนที่จิตมันตื่น มันขึ้นจากภวังค์ จิตยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย ว่าตื่นมาเพราะอะไร ต่อมามันมีเสียงที่น่าสนใจ จิตมัน Alert มันไปฟังเสียง เพราะฉะนั้นจิตสับสวิตช์ไปฟังเสียง จิตมันทำเอง เราไม่ได้ทำ ตัวนี้เรียกปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เป็นอเหตุกจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่ได้มีเหตุ 6 ประการ อเหตุกะ คือไม่มีเหตุทั้งดีและชั่ว ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ ไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุ คือไม่มีกุศล ไม่มีอกุศลนั่นล่ะ มันเป็นอัตโนมัติ เป็นวิบากเฉยๆ

เพราะฉะนั้นจิตมันจะขึ้นไปฟังเสียง หรือมันจะไปดูรูปอะไร ตอนที่เราตื่นนอนสังเกตไหม บางทีตื่นขึ้นมา ยังไม่รู้จะรู้อะไรดี แป๊บเดียวไหลไปคิดเลยก็มี หรือมันมีเสียงอะไรแปลกๆ มาเร้า จิตก็วิ่งไปฟังเลย เอ๊ะ เสียงอะไร ขโมยเข้าบ้านหรือเปล่า ตรงที่หูได้ยินเสียง ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร แล้วตรงจิตมันทำงานต่อ มันมาแปลต่อ มันถึงจะรู้ว่า เฮ้ย เสียงคนงัดบ้าน พอได้ยินว่าเสียงคนงัดบ้าน ก็กลัว ตกใจแล้ว จิตมันทำงานเป็นช็อตๆ ไป จิตดวงนี้ทำงานอย่างนี้ หมดหน้าที่ก็ส่งทอดการทำงานไปให้อีกดวงหนึ่ง เหมือนโรงงานมีสายพานยาวๆ ผ่านตรงนี้ แล้วก็ไปผ่านตรงนี้ ผ่านตรงนี้

เพราะฉะนั้นเวลาที่เราภาวนาจริงๆ ในขั้นเจริญปัญญา เราไม่เลือกหรอกว่าเราจะดูรูป หรือฟังเสียง หรือดมกลิ่น หรือรู้รส หรือรู้สัมผัสทางกาย เราไม่เลือกหรอกว่า จิตจะทำงานทางใจ แล้วจะเป็นสุข หรือทุกข์ เป็นกุศลหรืออกุศล จิตมันเลือกของมันเอง เมื่อกี้บอกแล้วจิตที่มันเลือก ว่ามันจะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกปัญจทวาราวัชชนจิต ส่วนจิตที่จะทำงาน แล้วก็จะให้รู้อารมณ์ทางใจ ว่าจะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว เรียกมโนทวาราวัชชนจิต มโนทวาร คือเปิดทวาร เปิดประตูใจขึ้นมารับอารมณ์แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นอัตโนมัติ เป็นอัตโนมัติ เราเลือกไม่ได้

 

เพราะฉะนั้นจิตจะเห็นรูป หรือไม่เห็นรูป จะได้ยินเสียง หรือไม่ได้ยินเสียง จะได้กลิ่น หรือไม่ได้กลิ่น จะรู้รส หรือไม่รู้รส จะรู้สัมผัสทางกาย หรือไม่รู้สัมผัสทางกาย เราเลือกไม่ได้ จิตทางใจเราจะสุขหรือจะทุกข์ เราก็เลือกไม่ได้ จะดีหรือจะชั่ว เราก็เลือกไม่ได้ หน้าที่ของเราคือตามรู้ตามเห็นไป พอจิตไปเห็นรูป ตรงนี้เป็นธรรมชาติ หมามันก็เป็น ไม่ใช่นักปฏิบัติเป็นอย่างเดียว หมาแมวมันก็เห็นรูปได้ แต่ว่าตรงที่จิตมันทำงานขึ้นมา หมาแมวมันประกอบด้วยโมหะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีอะไร ก็ทำไปตามสัญชาตญาณดิบ

ส่วนพวกเราเป็นมนุษย์ ผู้มีใจสูง พอตาเห็นรูป โห เมียชาวบ้านนี่สวยจริงๆ ราคะเกิด อยากจะไปฉุดเมียชาวบ้านเขา เราเห็นกิเลสที่เกิด เรารู้ทัน พอรู้ทันลงไป กิเลสจะหมดฤทธิ์ทันทีเลย อกุศลจะดับทันที จิตจะกลายเป็นกุศลขึ้นมาทันที พออกุศลดับแล้ว โลภะดับไปก็เกิดอโลภะ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็กระทบรส มีกายก็กระทบสัมผัสไป แต่พอกระทบแล้ว จิตเราทำงานขึ้นมา เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ ตัวสำคัญอยู่ตรงนี้ต่างหาก กุศลหรืออกุศลมันเกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่ตา ไม่ได้เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย เพราะฉะนั้นตาจะเห็นรูป มันมีวิบากจะได้เห็นรูป ก็ให้มันเห็นไป ไม่ต้องห้าม

บางคนบอกไม่ดู ไม่ดูรูปแล้วจะได้ภาวนาดี ถ้าไม่ดูรูปแล้วภาวนาดี คนตาบอดก็บรรลุพระอรหันต์เร็ว บางคนบอกไม่ฟังเสียง ฟังเสียงแล้วจิตแกว่ง ถ้าไม่ฟังเสียงแล้วบรรลุเร็ว คนหูหนวกก็บรรลุก่อนเรา จริงๆ ไม่ใช่ มีตาก็ดู มีหูก็ฟัง มีจมูกก็ดมกลิ่น มีลิ้นก็กระทบรส มีกายก็กระทบสัมผัส มันห้ามไม่ได้ มันเลือกไม่ได้ ตาจะเห็นรูปที่ดี หรือรูปที่ไม่ดี เลือกไม่ได้ หูจะได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี ก็เลือกไม่ได้ จมูกจะได้กลิ่น ลิ้นจะกระทบรส กายจะกระทบสัมผัส แล้วจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี เราเลือกไม่ได้ทั้งนั้น ให้มันกระทบไป แต่พอกระทบแล้ว จิตใจเราทำงานขึ้นมา ตรงนี้ล่ะให้มีสติรู้ทัน ทำไมต้องมารู้ทันตรงนี้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีสติ

ใครๆ ก็ไม่มีสติ ขณะที่จิตพระอรหันต์เห็นรูป ก็ไม่มีสติ มันเป็นวิบาก สติมาเกิดขึ้นที่ใจตรงทีหลังนี่ ฉะนั้นให้เรามาคอยรู้ตรงที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์แล้ว เกิดปฏิกิริยาขึ้นที่จิต มีสติรู้ตรงนี้ เกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดอกุศลให้รู้ อย่างตาเรามองเห็นรูปอันหนึ่ง สัญญาก็แปล เฮ้ย นี่ศัตรูเรา ใจเราก็เกิดโทสะ ให้รู้ โทสะเกิดให้รู้ บางคนฝึกกรรมฐาน เรียนเยอะ สอนกันตาเห็นรูป รู้ไหม หูได้ยินเสียง รู้ไหม ไม่รู้หรอก ตอนที่ตาเห็นรูป มันไม่มีสติ มันเป็นวิบาก แต่ตาเห็นรูปแล้ว จิตทำงานขึ้นมา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล อกุศล รู้ตรงนี้

พอเข้าใจไหม วิธี อันนี้เป็นวิธีเจริญปัญญาด้วยการดูจิต การเจริญปัญญาจริงๆ แล้ว ถ้าจะลัดสั้นที่สุดก็คือ เข้ามาที่จิตเลย บางคนเข้ามาที่จิตไม่ได้ ก็ดูกายไปก่อน กายเป็นบ้านของจิต จิตเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อไรหาเจ้าของบ้านไม่เจอ เราอยากเจอเจ้าของบ้าน เราไปเฝ้าหน้าบ้านเขา วันหนึ่งเราก็เจอเจ้าของบ้าน แต่ถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญขึ้นมา เราตัดตรงเข้าหาตัวเจ้าของบ้านเลย คือรู้ทันจิตใจของเราไปเลย ตาเห็นรูป จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ รู้ทัน จิตเกิดกุศลอกุศล รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ รู้ทัน เกิดกุศลอกุศล รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส จิตเกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล รู้ทัน

หรือบางทีไม่ทันจะเห็นรูป ไม่ทันได้ยินเสียง ไม่ทันได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสทางกาย จิตทำงานของจิตขึ้นโดยตรงก็มี อย่างบางทีเรานั่งใจลอยอยู่ ไม่ได้ดูรูป ไม่ได้ฟังเสียง ไม่ได้รู้สัมผัสทางกายอะไรทั้งสิ้น กำลังใจลอยอยู่ อยู่ๆ หน้าของคนๆ หนึ่งโผล่ขึ้นมาในใจเรา โผล่ขึ้นในใจเรา สัญญามันดีดหน้าคนนี้ขึ้นมา จิตก็ทำงานต่อ เกิดสุขเกิดทุกข์ รู้ทัน เกิดกุศลอกุศล รู้ทัน ไปรู้ทันตรงที่เดียวกันนี้ล่ะ เพราะฉะนั้นตรงที่จิตจะทำงาน บางครั้งก็จะเริ่มต้นจากการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางครั้งทำงานโดยขึ้นมาทางจิตโดยตรง ขึ้นทางใจโดยตรงเลยก็มี

อย่างเราเคยเป็นไหม นั่งอยู่เฉยๆ อยู่ๆ นึกถึงคนๆ นี้ขึ้นมา ไม่เคยนึกถึงตั้ง 20 ปีมาแล้ว ไม่เคยนึกถึง ถ้าคนอายุ 19 คำถามนี้ใช้ไม่ได้ ก็ต้องไม่ได้เคยนึกถึงมา 10 ปีแล้ว อยู่ๆ นึกขึ้นมาเฉยๆ พอมันทำงานขึ้นมา เราก็นึก คนนี้โผล่ขึ้นมาแล้วในใจเรา ก็จะเกิดสุขเกิดทุกข์ ถ้าเป็นคนที่เราชอบก็มีความสุข เป็นคนที่เราเกลียด มันก็มีความทุกข์ หรือพอภาพของคนที่เราชอบเกิดขึ้นมา ดีใจแวบหนึ่ง เอ้า คนนี้มันตายไปแล้ว นึกได้แล้ว เสียใจ อย่างบางทีคนหนึ่งพ่อแม่ตาย อยู่ๆ นึกถึงพ่อแม่ หน้าพ่อแม่ผุดขึ้นมา แวบแรกก็ดีใจ แวบถัดไป โอ้ เสียใจ จิตใจมันเปลี่ยนแปลง ให้มีสติรู้ทันเข้าไป

การที่เรารู้ทันเนืองๆ ต่อไปเราก็จะเห็น การที่จิตปรุงสุขก็ชั่วคราว จิตปรุงทุกข์ก็ชั่วคราว จิตปรุงดีก็ชั่วคราว จิตโลภ โกรธ หลง ก็ชั่วคราว นี่คือความปรุงแต่งทั้งหมด บางครั้งก็ปรุงดี บางครั้งก็ปรุงชั่ว ให้เรามีสติรู้ไปตามที่เขาเป็น ไม่ได้เข้าไปดัดแปลงแก้ไข รู้อย่างที่เขามีเขาเป็นอยู่ แล้วต่อไปทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ปรากฎขึ้นมาให้จิตเรารับรู้ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าดีหรือชั่ว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น แล้วจิตเราจะสุขหรือทุกข์ เราสั่งไม่ได้ จิตเราจะดีหรือชั่ว เราสั่งไม่ได้ อันนั้นคือคำว่าอนัตตา

 

จุดตั้งต้นของการปฏิบัติธรรม
ไม่ว่าจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกตัว

เพราะฉะนั้นการที่เราตามรู้ตามเห็น ต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตาเห็นรูปเราก็เพลินไปเลย ไม่เดินปัญญา หูได้ยินเสียง อย่างเราเปิดเพลงฟัง แหม เพลินไป ไม่เห็นปฏิกิริยาว่าจิตกำลังมีความสุข จิตกำลังมีราคะ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเดินปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่หลง ไม่หลงตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่หลงตามธรรมารมณ์ ที่กำลังมีกำลังเป็น มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ถ้าไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่อย่างเดียว ก็เรียกว่าหลง หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงกับอารมณ์ทางใจ นี่หลงทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นความรู้เนื้อรู้ตัว เป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธเจ้าบอกว่า ท่านไม่เห็นธรรมะอย่างอื่น จะสำคัญเท่าความรู้สึกตัวเลย ในการที่จะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา ก็ต้องทำด้วยความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้นถ้าเราลืมเนื้อลืมตัว พอเราดูซีรีส์สนุกๆ ก็เพลินไปเลย ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว แต่ดูซีรีส์แล้ว โอ้ จิตมีความสุข รู้ ดูแล้วหงุดหงิด มีโทสะ รู้ ดูแล้วชอบจังเลย มีราคะ รู้ อย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาเก่งจริงๆ ดูซีรีส์ยังปฏิบัติได้เลย แต่ตอนนี้ไม่แนะนำหรอก เพราะดูหน้าแล้วไม่เก่งสักราย

ต้องฝึกในรูปแบบ ฝึก เวลาจิตใจฟุ้งซ่าน ทำสมาธิด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว อยู่กับอารมณ์อันเดียวด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว เวลาจิตมีกำลังพอแล้ว เจริญปัญญาไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ไม่ห้าม แต่กระทบแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลที่จิต ก็รู้อยู่ รู้เนื้อรู้ตัว ไม่หลงเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ บางทีนั่งสมาธิ ระลึกชาติได้ เคยเป็นโน้น เคยเป็นนี่ ทำอย่างไรดี รู้ว่าฟุ้งซ่าน รู้ตรงนี้เลย ตัดต้นตอของมันเลย ก็ฟุ้งนั่นล่ะ จิตมันหลง รู้ทัน นิมิตทั้งหมดดับ จิตก็รู้เนื้อรู้ตัว สงบ

พอสงบพอสมควร ออกจากการปฏิบัติ ในรูปแบบเราก็มาใช้ชีวิตธรรมดา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ กระทบแล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่จิตให้รู้ทัน มีสุข มีทุกข์ กุศล อกุศลเกิดขึ้น รู้ทัน เราก็จะเห็น สุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ กุศลอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ โลภ โกรธ หลง อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อย 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ดูอย่างนี้ล่ะ พอฟุ้งซ่านก็กลับมาทำความสงบใหม่ มีแรงแล้วดูต่อ ก็จะเห็น ถึงวันหนึ่งจิตก็จะมีปัญญารู้จริง “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดต้องดับเป็นธรรมดา” คำว่า “ธรรมดา” นั้นล่ะธรรมะ ธรรมดาอย่างนี้ล่ะ เรียนจนกระทั่งยอมรับความเป็นธรรมดาได้

อย่างร่างกายเรามีธรรมดาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ใจยอมรับได้ พอแก่แล้วมันก็ไม่ทุกข์ พอเจ็บมันก็ไม่ทุกข์ พอตายมันก็ไม่ทุกข์ ถ้าอยากให้มันไม่ธรรมดา อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย นี้ทุกข์ แต่ถ้าเราหัดภาวนาเรื่อย เราเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกอย่างบังคับไม่ได้ เวลาฝึกๆ อยู่ที่จิตนี่ล่ะ แต่พอร่างกายไม่สบาย จิตมันออกมารู้กาย มันก็เห็น กายมันก็อยู่ในสภาวะแบบเดียวกัน ก็คือมันบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเราของเราอย่างแท้จริง ถ้าปฏิบัติได้ถึงตรงนี้ ก็ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว มันไม่ได้ยากเกินไป

สมัยพุทธกาลคนฟังธรรม อย่าว่าแต่โสดาบันเลย ฟังธรรมแล้วเป็นพระอรหันต์ทีละ 1,000 องค์ ก็เคยมีมาแล้ว ของเราพวกกิเลสหนาปัญญาหยาบ เราตกค้างมาถึงรุ่นนี้ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี เราได้โสดาบันก็เก่งแล้ว ก็ดีแล้ว ในบรรดาการบรรลุมรรคผล โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ จุดที่สำคัญที่สุดคือพระโสดาบัน คือถ้าเราได้โสดาบันแล้ว ที่เหลืออย่างไรก็ต้องได้ แต่ถ้าไม่ได้โสดาบัน ก็อาจจะไม่ได้ คือไม่ได้โสดาบัน ก็ไม่ได้อยู่อย่างนั้น กี่ภพกี่ชาติก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่สุดเลยคือ ความเป็นพระโสดาบัน ถ้าเป็นแล้วที่เหลือมันตามมาเอง

จะเป็นพระโสดาบันได้ ถือศีล 5 ไว้ แล้วก็ทำในรูปแบบทุกวันๆ ฝึกซ้อมไป ตอนไหนจิตฟุ้งซ่าน ทำความสงบ ตอนไหนสงบแล้วเจริญปัญญา แล้วการเจริญปัญญาก็มี 2 ส่วน ตอนที่เราทำในรูปแบบ ถ้าจิตเราสงบพอ เราก็เดินปัญญาในขณะนั้นเลย เรียกว่าเดินปัญญาในสมาธิ หรือออกจากสมาธิแล้วก็เดินปัญญา อันที่ 3 ที่สำคัญ อันแรกถือศีล 5 อันที่ 2 ทำในรูปแบบ อันนี้ 3 การเจริญสติในชีวิตประจำวัน หัวใจของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้เลย จุดสำคัญเลย เจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าเก่งแต่เรื่องรักษาศีล เก่งแต่เรื่องทำในรูปแบบ อยู่แต่ในห้องกรรมฐาน ออกข้างนอกแล้วล้มเหลว ยากที่จะบรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้นจุดสำคัญเลย อยู่ที่ชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นที่จิต ให้รู้ทัน นี่ล่ะคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากไปไหม เดี๋ยวนี้ต้องถามประชามติ เพราะเป็นยุคประชาธิปไตย ต้องถาม อาจจะต้องทำโพลว่า หลวงพ่อปราโมทย์เทศน์ยากไปไหม เอ้า ต่อไปส่งการบ้าน ยากก็ต้องฟัง จะฟังแต่ ก. เอ๋ย ก. ไก่ ข. ไข่ อยู่ในเล้าตลอดชาติ ไม่ไหว ยากก็ต้องเรียน ทีแรกมันก็ยากทั้งนั้นล่ะ แต่ว่าฝึกไปแล้วมันก็ง่าย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 กันยายน 2566