ละความเห็นผิดแล้วจึงละความยึดถือ

รีบตั้งใจภาวนาเข้า โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกทีแล้ว ดินฟ้าอากาศก็รุนแรง คนก็รุนแรง เมืองไทยเรามันไม่ค่อยมี เมื่อก่อนนี้ สร้างความดังด้วยการไปยิงคนโน้นคนนี้มั่วซั่วไปหมด เลียนแบบกัน สังคมมันเครียด แล้วมันไม่ได้เรียนธรรมะ มันเครียดขึ้นมา มันก็ออกด้วยการใช้ความรุนแรง เราไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่รู้ เดินๆ อยู่มันยิงเอาเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นชีวิตเราเป็นของไม่แน่นอนหรอก มีความเสี่ยงสูงยุคนี้

อย่างเด็กๆ น่าห่วง เมื่อก่อนเด็กๆ ต้องเรียน หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ต้องเรียน จะรู้ว่าไปทำร้ายคนอื่น ไปทำร้ายสัตว์อื่น เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ตอนนี้ก็ไม่เอา สอนแต่เรื่องเสรีภาพ ให้อิสระเต็มที่ ไม่ได้ให้การเรียนรู้ที่จะอยู่กับสังคม ของเราก็เหลืออีกก้าวเดียวก็จะเหมือนฝรั่ง ไม่มีการศึกษาภาคบังคับ บางประเทศเขาไม่บังคับเลย อยากเรียนก็เรียน ไม่อยากเรียนก็ไม่เป็นไร เป็นเสรีภาพ เป็นเรื่องของบุคคล พลเมืองโง่ก็ไม่เป็นไร ปกครองง่ายดี

เด็กจริงๆ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมในสังคมให้ได้ ไม่ใช่เรียนจากเกม เล่นเกมแล้วก็เรียนรู้ ยิงโน่นยิ่งนี่ไปเรื่อยๆ พ่อแม่ต้องให้ความใกล้ชิดกับลูก ไม่อย่างนั้นลูกไปเรียนรู้อะไรเอาเอง อันตรายมากเลย เด็กไม่มีความอบอุ่นก็จะก้าวร้าว ถ้าเด็กที่ได้รับความอบอุ่นจะอ่อนโยนกว่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านบอกมา เมื่อสัก 40 ปีก่อนว่าต่อไปอยู่ยาก มาถึงวันนี้อยู่ยากแล้ว ให้รีบภาวนาเอาตัวรอดไป ใครอยากอยู่ก็ให้เขาอยู่ไป

 

ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน
สร้างความเห็นถูกให้เกิดขึ้น

ฉะนั้นพวกเราภาวนา มีศีลมีธรรมไว้ จะได้ไม่ต้องมาเกิดร่วมกับคนเหล่านี้อีก ลงมือปฏิบัติ ตั้งใจลดละความถือมั่นทั้งหลาย ความยึดถืออันแรกเลย ความยึดถือว่ามีตัวมีตน มีความเห็นผิด เมื่อมีตัวมีตนก็รักแต่ตัวเอง หวงแต่ตัวเอง พยายามฝึกลดละความเห็นแก่ตัว เราทำทาน ถือศีล ภาวนา เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำทานแล้วก็ขอโน่นขอนี่ อยากโน้นอยากนี้ มันไม่ลดละความเห็นแก่ตัว ทำทานขอให้รวย ให้ถูกหวยให้อะไร นั่นไม่ใช่การทำทาน นั่นคือการลงทุน ลงทุนเอาของมาถวายพระ แล้วก็ขอโน่นขอนี่เยอะแยะเลย

ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านขำๆ ท่านบอกมันทำบุญแบบ เอากุ้งฝอยมาตกปลากะพง ทำบุญแล้วก็ขอโน่นขอนี่เยอะแยะไปหมดเลย ชาวพุทธเราก็ต้องฉลาด เราทำบุญเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ทำทานลดละความเห็นแก่ตัว ถือศีลก็เพื่อฝึกตัวเอง ไม่ให้ตามใจกิเลส เจริญปัญญาเอาชนะกิเลส กิเลสก็ครอบงำจิตใจเราไม่ได้ ชีวิตมันก็ร่มเย็นเป็นสุข ช่วงหลังๆ นี้หลวงพ่อเห็นพวกเราจำนวนมาก ตั้งใจภาวนามากขึ้น แล้วก็ดูดีขึ้น เราจะรู้สึกด้วยตัวเองเลยว่า จิตใจของเราห่างโลกออกมา

ภาวนาแล้วก็เห็นโลกมันห่างออกไป ความทุกข์ที่เคยมีหนักๆ ก็ไม่ค่อยหนักแล้ว เบาลง ความทุกข์ที่เคยเกิดแล้วอยู่นานๆ ก็อยู่ไม่นาน สั้นลง ใจมันมีความทุกข์ได้ เพราะใจมันติดอยู่กับโลก นี้ใจมันห่างโลกออกมา มันก็ห่างความทุกข์ออกมา โลกก็ไม่ใช่อย่างอื่นหรอก โลกก็คือทุกข์นั่นล่ะ เราภาวนา ฝึกตัวเอง มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ฝึกไปเรื่อยๆ แต่ทุกวันก็ต้องแบ่งเวลา ทำความสงบจิตไว้บ้าง จะมีสติรู้กายรู้ใจ เจริญปัญญาเรื่อยไป จิตไม่มีแรงพอ มันจะเกิดวิปัสสนูปกิเลสได้ มันจะเกิดความหลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว

มีเยอะเลยที่ภาวนา ไปเรียนมาจากไหนก็ไม่รู้ เขารับรองว่าเป็นพระอริยะ มาถามหลวงพ่อว่าเป็นไม่เป็น บอก โอ๊ย ง่ายจะตาย ไปดูตัวเองไป มีกิเลสอะไรอยู่ ยังรู้สึกไหมตัวเรามีอยู่จริงๆ ถ้าตัวเรายังมีอยู่จริงๆ แน่นอนว่ามีอยู่ ไม่ใช่หรอก ยังไม่ได้ธรรมะหรอก ไปดูเอาเอง วิญญูชนต้องรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มาเที่ยวถาม ใครจะไปบอกใคร ยิ่งการพยากรณ์มรรคผล เชื่อไม่ได้หรอก คนนั้นชั้นนั้น คนนี้ชั้นนี้ เชื่อไม่ได้ หลวงพ่อไม่เชื่อเลย เวลาใครว่าใครเป็นพระอริยะชั้นนั้นชั้นนี้ หลวงพ่อวางใจเป็นกลาง ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน

สังเกตเอา สิ่งที่เขาทำสิ่งที่เขาปฏิบัติอยู่นั้น เป็นไปเพื่อให้เกิดมรรคผลหรือเปล่า ค่อยๆ สังเกตไป ถ้าเรารู้หลักการปฏิบัติที่แม่นยำ เราก็จะแยกออก พยายามสังเกต ความเห็นแก่ตัวทั้งหลาย มันมาจากความเห็นผิด ว่าตัวเรามีอยู่จริงๆ พอมันมีตัวเราแล้ว คราวนี้มันก็รักตัวเรา มันก็เห็นแก่ตัว วิธีไม่เห็นแก่ตัวที่จะได้ผลจริงๆ ต้องละความเห็นผิดว่าตัวเรามีอยู่ การละความเห็นผิดตัวนี้ว่าตัวเรามีอยู่ เรียกละสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ละความเห็นว่ามีตัวตน ไม่ใช่ละตัวตน เพราะในความเป็นจริงตัวตนไม่เคยมี มีแต่ของที่มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้

ฉะนั้นที่เราภาวนาเพื่อละความเห็นผิดว่ามีตัวตน การที่จะละความเห็นผิดได้ ทำได้ด้วยวิธีเดียว คือสร้างความเห็นถูกให้เกิดขึ้น ฉะนั้นเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก การรู้ตามความเป็นจริงนี้ วิปัสสนากรรมฐานนั่นล่ะ คือการเห็นตามความเป็นจริง พอเราเห็นความจริง ก็ละความไม่จริง ละความหลงผิดได้ รู้ถูก เข้าใจถูก ก็ละความรู้ผิด เข้าใจผิดได้

 

ต้องเรียนตั้งแต่ในบ้าน

ตั้งแต่เกิดมาเราถูกอบรมสั่งสอน ให้เกิดความรู้ผิดเข้าใจผิด ว่ามีตัวมีตน ถูกสอนมาอย่างนั้นตั้งแต่เกิดเลย มันก็ไม่แปลก อย่างพ่อแม่ก็พยายามสอน บางทีคอยเอาอกเอาใจเรา เราก็รู้สึกกูเก่ง กูใหญ่ กูแน่ กูหนึ่ง ไม่พอใจอะไรก็ร้องไห้ เดี๋ยวพ่อแม่ก็ต้องเอาใจ ถูกฝึกตั้งแต่ยังพูดภาษามนุษย์ไม่ได้เลย แต่มันก็ต้องฝึกอย่างนั้นก่อน เพราะว่ามันยังไม่รู้เรื่อง ยังไร้เดียงสา เราถูกสอนว่าตัวเรามีจริงๆ นี่พ่อเรา นี่แม่เรา นี่พี่น้องเรา นี่เพื่อนเรา นี่ครอบครัว นี่ของเล่นของเรา มีแต่คำว่าเราๆๆ ฝังอยู่ในใจ ทุกสิ่งทุกอย่าง

ทำไมพ่อแม่สอนอย่างนั้น พ่อแม่ก็เรียนมาอย่างนั้น ผิดไหม ไม่ผิดหรอก พ่อแม่ก็รักลูก ก็พยายามบอกลูกว่านี่พ่อ นี่แม่ สอน มีของเล่น หวงของ เรารู้สึกเด็กมันไร้เดียงสา เห็นคนอื่นเขามีของเล่น ก็ไปแย่งเขาเฉยๆ เลย ผู้ใหญ่ก็บอกให้น้องไปเถอะ น้องมันไร้เดียงสา ก็ปลูกฝัง อยากได้อะไรก็แย่งเอา แรกๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเด็กมันยังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ต้องค่อยๆ ให้การศึกษากับเด็ก ให้รู้จักอันนี้สิทธิของเรา อย่าละเมิดสิทธิคนอื่น อันนี้ของเล่นของคนอื่น อย่าไปแย่งเขา ต้องสอน อย่าไปทำร้ายสัตว์

ในบ้านหลวงพ่อ ผู้ใหญ่สอน ตอนเราเด็กๆ ก็รู้สึกโหด ตอนนี้รู้สึกเทิดทูนเลย เห็นแมวนอน จับแมวมาโยนเล่น ก็มันน่ารักดี เด็กไม่รู้นึกว่าเหมือนตุ๊กตา จับโยน ผู้ใหญ่ก็ห้าม บอกเดี๋ยวแมวเจ็บ มันก็ไม่เชื่อ ยังแอบเล่น โดนตี โดนตีแล้วบอกว่าเจ็บไหม เจ็บ เล่นกับสัตว์แรงๆ สัตว์ก็เจ็บ แล้วเราก็ เออ จริง แล้วไม่รุนแรงกับสัตว์ สงสารกลัวมันเจ็บ เรียนรู้ ค่อยๆ เรียน ในครอบครัวสำคัญ รู้ ให้เด็กรู้ว่าสิทธิของตัวเองเป็นอย่างไร หน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องเรียนตั้งแต่ในบ้าน

ทุกวันนี้เราโยนหน้าที่อันนี้มาให้โรงเรียน แล้วเราก็ตัดมือตัดเท้าครู ครูว่าอะไรไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้ เด็กความประพฤติไม่ดี ตัดคะแนน ได้แต่ตัดคะแนนความประพฤติ ตัดจนหมด ถึงเวลาก็ต้องสอบ ให้สอบ แล้วสอบแล้วทุกคนต้องสอบได้ เด็กที่ไหนมันจะอยากเรียน จะอยากเป็นฝรั่ง สุดท้ายก็ ถ้าไปเห็นเมืองฝรั่ง ที่เขาเรียกว่าเจริญระดับเจ้าโลก ไปดูเถอะ ได้แต่ส่ายหน้า พลเมืองคุณภาพแบบนี้แล้วหรือ

เราต้องค่อยๆ ฝึก เด็กในบ้านเราต้องให้ความใกล้ชิดหน่อย ให้การเรียนรู้อะไรถูกอะไรไม่ถูก ต้องสอน ไปโยนภาระให้ครู แล้วก็ไปตัดมือตัดเท้าของครู ใครจะไปสอนได้ เด็กวัยรุ่นเขาต้องการแสวงหาความเป็นตัวตน ต้องการประกาศความมีตัวตน ประกาศในทางดีทางเด่นไปก็ดี เล่นกีฬาเก่ง เล่นดนตรีเก่ง เรียนเก่ง มันก็ทางดีไป บางคนมันไม่รู้จะเก่งทางไหน ก็เก่งทางก้าวร้าวรุนแรง เป็นหัวโจกอะไรอย่างนี้ โดยสภาพวัยรุ่นก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นมีลูกมีหลานต้องฝึก ต้องฝึก ต้องสอน ต้องใกล้ชิด แล้วตัวเราเองก็ต้องภาวนา

หลวงพ่อได้รับการฝึกตั้งแต่เล็กๆ เลย ผู้ใหญ่พาเข้าวัดไปฟังเทศน์ไปอะไร เด็กๆ ก็ฟังไม่รู้เรื่องหรอก ก็ฟังไปอย่างนั้นล่ะ ตอนไหนมีนิทานชาดกก็ไปฟัง ตอนไหนเรื่องน่าเบื่อก็ไปวิ่งไปเล่น ใจมันคุ้นเคยอยู่ในวัด เรียนประถมปลายก็โรงเรียนวัด คุ้นเคยกับวัด แต่ว่าภาวนาแล้ว ตอนนั้นเริ่มภาวนา 7 ขวบก็เริ่มภาวนาแล้ว ตอนอยู่โรงเรียนประถมปลาย กลางวันไปนั่งสมาธิในโบสถ์ ไปดูพระประธาน เป็นพระปูนเปื่อยๆ ผุๆ พังๆ มองออกมานอกโบสถ์ เห็นพระเดินไปเดินมา ใจมันรู้สึก ไม่ใช่พระ นี่คือชาวบ้านแต่งตัวเป็นพระ ใจมันรู้สึกอย่างนั้นเอง

เรารู้สึกว่าศาสนามันคงสูญไปแล้ว ก็ต้องหาทางเอาด้วยตัวเอง ไม่ยอมแพ้ ใจลึกๆ มันรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาเจอครูบาอาจารย์ ท่านบอกวิธีให้ ขยัน ไม่ขี้เกียจหรอก ไม่ต้องอ้อนวอนว่าไปทำนะ ไปทำเถอะ จนแทบจะบอกว่า ก็ได้โปรดไปปฏิบัติเถอะ ชักจะมากเกินไปแล้ว ทีแรกก็ไม่รู้ ปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร รู้แต่ว่าควรปฏิบัติ ใจมันรู้สึกอย่างนี้ มันมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ใจมันรู้สึกอย่างนั้น ก็อยากปฏิบัติ ไม่รู้ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติเพื่ออะไร ตอนแรกไม่รู้หรอกแต่ว่าทำ ทุกวันนั่งสมาธิไปเรื่อย สิ่งที่ได้ก็คือจิตที่ตั้งมั่น

ทีแรกไม่ได้ตั้งมั่น จิตสงบเฉยๆ แล้วก็สว่าง แล้วก็ออกนอก ไปรู้ไปเห็นอะไรข้างนอก ต่อมาพบว่ามันไม่มีสาระแก่นสารอะไร ก็เลยไม่ให้จิตออกนอก ภาวนาไปจิตสงบอยู่ ก็ไม่ไหลตามแสงสว่างออกข้างนอกไป ฉะนั้นจิตจะตั้งมั่น สงบ ตัวรู้ก็โดดเด่นขึ้นมา ได้จิตผู้รู้ตั้งแต่เด็กๆ 10 ขวบ มีแล้วจิตผู้รู้ จิตผู้รู้โผล่ขึ้นมา ชัดเจนครั้งแรกตอนอายุ 10 ขวบ ประมาณนั้น ยังเด็กอยู่ บ้านเป็นตึกแถว เล่นลูกหินอยู่หน้าบ้าน กับเพื่อนบ้านเด็กด้วยกัน สนุกดี แล้วเห็นไฟไหม้ตึกแถวถัดไป 4 – 5 ห้อง ก็ตกใจก็วิ่งจะไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้

ก้าวที่หนึ่งยังตกใจ ก้าวที่ 2 ตกใจ ก้าวที่ 3 สติระลึกลงไปเห็นความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นเลย จิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ไม่มีความตกใจ ไม่มีความตื่นกลัวอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้จัก รู้แต่มันเป็นสภาวะที่แปลกๆ รู้สึกเหมือนเราแยกตัว ออกมาจากโลกข้างนอกได้ ก็เดินไปบอกผู้ใหญ่ แล้วก็เห็นคนอื่นเขาตกใจ เราไม่ตกใจแล้ว นี่มันค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ สะสม แล้วก็ไม่รู้ว่าตรงนี้มีประโยชน์มาก ก็ไม่ได้สนใจ ก็ยังทำสมาธิไปเรื่อยๆ พอจิตสงบ มันก็เข้ามาตรงนี้ แต่มันไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แล้วจะใช้ประโยชน์อะไร นั่นคือตัวจิตผู้รู้

 

อ่านจิตเหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง

จนวันหนึ่งมาเจอหลวงปู่ดูลย์ อายุตั้ง 29 ปีแล้วถึงเจอหลวงปู่ดูลย์ ก่อนนั้นก็พยายามหาวิธีปฏิบัติด้วยตัวเอง อ่านพระไตรปิฎกอ่านอะไรพวกนี้ ก็ไม่รู้จะเริ่มลงมืออย่างไร ก็ได้แต่ทำสมาธิ วันหนึ่งก็อธิษฐาน ขอให้ได้เจอครูบาอาจารย์ที่ใจเราลงด้วย ที่สอนเราได้ ก็นิมิตเห็นหลวงปู่ อันนั้นมันเป็นนิมิต เรื่องนิมิตเชื่อไม่ค่อยได้ รู้แล้วก็แขวนๆ ไว้ จนมาเจอท่าน องค์นี้เองที่เคยเห็นในนิมิต ท่านสอนบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ไม่รู้เลยว่าจิตตนเอง จิตมันเป็นอย่างไร ไม่รู้ ท่านสอนอย่างนี้ ไม่บอกรายละเอียด ให้ไปทำเอา

หลวงพ่อก็เริ่มพิจารณา จิตมันต้องอยู่ในร่างกายนี้ล่ะ จิตมันไม่ได้ไปอยู่ข้างนอกหรอก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้การภาวนา จะไม่ให้เกินกายออกไป ไม่ออกรู้ออกเห็นอะไรข้างนอก ทิ้งหมดเลย จะรู้อยู่ในกายของตัวเองนี้ แล้วค่อยๆ ดูลงไปอีก จิตอยู่ในกายแล้ว อยู่ตรงไหนของกาย ดูในผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่มีจิต จิตอยู่ในกาย แต่ไม่ได้อยู่ส่วนไหนของกาย

เราภาวนาไปจนกระทั่งนั่งบริกรรม สวดมนต์ในใจ พอสวดมนต์แล้วก็เห็นกระแสความคิด มันไหลออกมาจากกลางอก มันผุดขึ้นมา สติเห็น มันขาดสะบั้นลงไป จิตก็เป็นผู้รู้ขึ้นมา บอก เฮ้ย นี่มันตัวเดิม ที่เราเคยเจอตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว อ๋อ เราต้องดูตัวนี้ล่ะ คิดอย่างนี้ แล้วก็พยายามดูตัวผู้รู้นี้ ดูอยู่ 3 เดือน แล้วก็ไปส่งการบ้าน หลวงปู่บอก “ทำผิดแล้ว จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันจะได้อะไรขึ้นมา ดูผิดแล้ว ไปดูใหม่”

ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนสอนนี่ไม่มีรายละเอียดทั้งสิ้นเลย มีแต่บอกให้ไปทำเอา ไปทำเอา ก็มาพิจารณา เอ๊ะ ดูแล้วไปให้มันนิ่งๆ อยู่ ไม่ถูก นึกถึงคำสอนของท่านบอกว่า “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เราจะอ่านจิตเหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เราไม่ใช่นักประพันธ์ ไม่ใช่นักวิจารณ์ เราเป็นแค่คนอ่าน เพราะฉะนั้นจิตมันมีอะไรขึ้นมา เราจะรู้จะเห็นอย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น จิตสุขขึ้นมาก็รู้ จิตทุกข์ขึ้นมาก็รู้ จิตดีขึ้นมาก็รู้ จิตชั่วก็รู้ เห็นมันทำงานไปเรื่อยๆ

เวลาตากระทบรูป ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต เกิดเป็นความสุขความทุกข์ เกิดเป็นกุศลอกุศลขึ้นมาเวลาหูได้ยินเสียง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จิต เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด ก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลขึ้นมา เรามีหน้าที่รู้ กระทบอารมณ์แล้วมีความสุข ก็รู้ว่ามีความสุข เราก็จะเห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พอกระทบอารมณ์แล้วมีความทุกข์ เราก็เห็น ความทุกข์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

พอกระทบอารมณ์แล้วจิตเป็นกุศลขึ้นมา อย่างเราเห็นพระบิณฑบาต ใจเราปลื้มใจ ใจอยากใส่บาตร จิตเป็นกุศลขึ้นมา รู้ว่าจิตเป็นกุศล แล้วเดี๋ยวพอหันไปทางอื่น เห็นผู้หญิงสวย อ้าว ลืมพระเสียแล้ว ก็จิตเกิดราคะขึ้นมาก็รู้ รู้ไปทีละช็อตทีละช็อต ฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ไม่เป็นไร แต่กระทบแล้วเกิดสุขให้รู้ เกิดทุกข์ให้รู้ เกิดกุศลให้รู้ เกิดโลภ โกรธ หลง ให้รู้ แล้วเราจะเห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิด ดับทั้งสิ้น

 

ธรรมะสอนเราเรื่องไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา

เราจะเห็นลึกซึ้งลงไป ร่างกายนี้มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงหรอก มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า เราบังคับอะไรมันไม่ได้ มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย เราห้ามมันไม่ได้เลย ความรู้สึกสุขทุกข์ทั้งหลาย เราก็สั่งไม่ได้ สั่งว่าจงมีแต่ความสุข สั่งไม่ได้ อย่าทุกข์ สั่งไม่ได้ เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เพราะว่าเราสั่งอะไรมันไม่ได้ มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย สั่งไม่ได้ เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของถูกรู้ถูกดู สั่งไม่ได้ เลือกไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ สั่งว่าจงมีความสุข ก็สั่งไม่ได้ ดูลงไป เออ ร่างกายก็ไม่ใช่เรา เวทนามันก็ไม่ใช่เรา

สัญญาความจำได้หมายรู้ ตัวนี้บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ ไม่ใช่เรา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้เหมือนกัน สังขารคือความปรุงของจิต เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลบ้าง แล้วสังขารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา แล้วเราก็บังคับมันไม่ได้ อย่างจิตจะโกรธ ตั้งใจจะไม่โกรธ นึกอยู่เดี๋ยวต้องเจอหน้าคนนี้ อย่าโกรธนะ พอเจอปุ๊บโกรธปั๊บเลย ห้ามไม่ได้

ธรรมะสอนเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องไตรลักษณ์นี้ แต่เราไม่ได้เรียน เราไม่ได้ใส่ใจ เรามัวสนใจสิ่งอื่น อย่างเราตั้งใจว่า ถ้าเห็นหน้าคนนี้แล้วอย่าไปโกรธ พอเห็นปุ๊บโกรธปั๊บเลย นี่ล่ะธรรมะ เห็นไหม โทสะก็เป็นอนัตตา มันจะเกิด หรือมันจะไม่เกิด ก็สั่งไม่ได้ เกิดแล้วจะสั่งให้ดับก็ดับไม่ได้อีก โลภะ ราคะ ก็เหมือนกัน อย่างบางคนไปเที่ยวศูนย์การค้า ตั้งใจจะไปเอาแอร์เย็นๆ เฉยๆ จะไม่ซื้ออะไร แต่เผลอแป๊บเดียว หิ้วกระโตงกระเตงออกมา กลับบ้าน ตั้งใจว่าจะไม่โลภ พอไปเห็นกระเป๋าสวย ซื้อแล้ว เห็นไอ้นั่นชอบ ซื้อแล้ว ซื้อง่าย รูดบัตรไปเรื่อยๆ ไม่มีสติยับยั้ง รูดเอาๆ แถมยังบอกว่า คนที่เป็นหนี้ได้ มีเครดิต น่าภูมิใจ

พระพุทธเจ้าสอน “ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก” เราชอบสอนอะไรที่มันสวนกับธรรมะ ถามว่าเป็นหนี้เยอะๆ มีความสุขหรือ ไม่มีความสุขหรอก ตั้งใจจะไม่โลภ เห็นไหมความโลภมันมา สั่งมันไม่ได้ ไล่มันก็ไม่ไป อยากได้วนเวียนอยู่อย่างนั้น ตั้งใจจะไม่หลง จะรู้สึกตัว หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก หายใจ 2 – 3 ทีก็ลืมแล้ว ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว เออ โมหะนั้นก็ห้ามมันไม่ได้ เราคอยมีสติรู้ไป กุศลเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ อกุศลเกิดแล้วมันก็ดับ อัพยากตา คือธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เกิดแล้วก็ดับ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้

อย่างเราหัดภาวนาใหม่ๆ อาจจะยังไม่เห็นตรงนี้ อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าความโกรธไม่ใช่จิต ความโกรธเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เราหรอก ความโลภก็ของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา ทีแรกเห็นอย่างนี้ ง่ายๆ ดูง่ายๆ ต่อไปก็รู้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา สุขทุกข์ไม่ใช่เรา ความจำไม่ใช่เรา ความปรุงดีปรุงชั่วปรุงไม่ดีไม่ชั่วไม่ใช่เรา ไม่มีอะไรที่สั่งได้สักอย่างเลย แล้วล้วนแต่เป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งนั้น ความโกรธมันก็ถูกรู้ ความโลภมันก็ถูกรู้ สติ สมาธิ ปัญญาก็ของถูกรู้ทั้งหมด

ค่อยๆ ดูไป เราหัดดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะรู้ วิญญาณคือจิตทั้งหลาย ที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็บังคับไม่ได้ อย่างตาเราจะเห็นรูป หรือไม่เห็นรูป เราสั่งไม่ได้ หูจะได้ยินเสียง หรือไม่ได้ยินเสียง เราก็สั่งไม่ได้ จมูกจะได้กลิ่น หรือไม่ได้กลิ่น เราก็สั่งไม่ได้ การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตัวความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นล่ะเรียกว่าวิญญาณ ก็จะเห็นวิญญาณทางตา สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ มันจะเกิดก็ห้ามมันก็ไม่ได้

อย่างเราลืมตาขึ้นมา ไม่ได้เจตนาจะเห็น มันเห็น ก็ไม่ได้เจตนาเลย ทำไมมันเห็นได้ เพราะเราสั่งมันไม่ได้ จิตมันจะเกิดที่ตา บางทีได้ยิน เห็นคนเขาซุบซิบกัน อยากฟัง อยากฟังแล้ว เสียงมันไม่ชัด อยากฟัง อยากฟังให้ชัด ก็ไม่ชัด สั่งให้ฟังให้ชัดๆ ก็ฟังไม่ได้ ค่อยดูเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็เห็น วิญญาณเองก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอด เดี๋ยวเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมุนเวียนไปเรื่อยๆ สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ เราสั่งได้ไหมว่า จงเห็นแต่รูปที่สวยๆ รูปไม่สวย มองไม่เห็น

เราจะเห็นรูปที่ดี หรือรูปไม่ดี เป็นวิบาก บางคนมีวิบากที่ดี ดู เจอแต่ของสวยงาม คนมีวิบากไม่ดี เห็นแต่ของไม่สวยไม่งาม อย่างเราเดินไปกับเพื่อนเรา เพื่อนเราบอก โอ๊ย ตรงนี้ดอกไม้สวยเชียว หันกลับไปดู เฮ้ย ไม่ทันเห็นดอกไม้ เห็นขี้หมาที่อยู่ใต้ต้นไม้อะไรอย่างนี้ เราเลือกได้ไหมว่าจะเห็นแต่ของดี เราเลือกไม่ได้ เลือกได้ไหมว่าจะได้ยินแต่สิ่งที่พอใจ ได้ยินแต่คำยกย่องสรรเสริญ ได้ยินแต่เสียงคนที่เรารัก ก็เลือกไม่ได้ เห็นไหม วิญญาณทางตา เราก็เลือกไม่ได้ ว่าจะเห็นรูปที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ

วิญญาณหรือจิตที่เกิดที่หู เราก็เลือกไม่ได้ ว่าจะได้ยินเสียงที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจ เลือกไม่ได้ วิญญาณทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกัน เราเลือกไม่ได้ ว่าจะกระทบอารมณ์ที่พอใจหรือไม่พอใจ วิญญาณทางใจ เราสั่งให้คิดแต่เรื่องดีๆ อ้าว มันก็คิดแต่เรื่องร้ายๆ เพราะเราสั่งไม่ได้ เราเลือกไม่ได้ว่ามันจะรู้อารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ที่ไม่ดี สุดท้ายปัญญามันก็จะเกิด วิญญาณก็ไม่ใช่ตัวเรา มัน Out of control ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ

 

สุดท้ายจะลงมาถึงจิต

ค่อยๆ เรียน เรียนลงในร่างกาย ในความรู้สึกสุขทุกข์ ในความจำได้หมายรู้ ในความปรุงดีปรุงชั่ว เรียนรู้ลงในจิตวิญญาณ

คำว่า “จิต” คำว่า “วิญญาณ” คำว่า “ใจ” เป็นสภาพธรรมอันเดียวกัน เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่เรียกหลายชื่อ แล้วแต่ว่าจะใช้ตอนไหน ใช้ตอนนี้เรียกว่า “จิต” ใช้ตอนนี้เรียก “วิญญาณ” ใช้ตอนนี้เรียกว่า “ใจ” มันก็อันเดียวกัน ธรรมชาติอันเดียวกัน หลวงปู่เทสก์ท่านเคยเปรียบเทียบ อย่าง มันก็มีดเล่มเดียวกัน แต่เราถือ เราเรียกว่า “มีด” ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินถือเรียก “พระแสง” ก็แล้วแต่บริบท มีชื่อหลายชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นของอันเดียวกัน ก็จิตอันเดียวกันนั่นล่ะ แต่บางทีก็เรียกว่า “จิต” บางทีเรียก “มโน” คือใจ บางทีก็เรียก “วิญญาณ”

จิตเป็นตัวทำงานได้ตั้ง 14 แบบ วิญญาณเป็นตัวที่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจคือเครื่องมือในการรับรู้ธรรมารมณ์ คือเรื่องราวที่รู้ด้วยใจ ถ้าเรียนมากอย่างนี้ เวียนหัวตายเลย ภาวนาไม่ได้หรอก เอาง่ายๆ เถอะ เราก็ดูไป จิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่สุขไม่ทุกข์ เดี๋ยวก็หลงไปดูรูป เดี๋ยวก็หลงไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ

ดูไปเรื่อยๆ รู้สึกร่างกายก็ไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่เรา บังคับก็ไม่ได้ เวทนาคือความสุขทุกข์ ก็เป็นของถูกรู้ถูกดู บังคับไม่ได้ สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็ถูกรู้ถูกดู บังคับไม่ได้ สั่งให้จำมันก็ไม่จำ สั่งให้ลืมมันก็ไม่ลืม ห้ามมันไม่ได้หรอก สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ แล้วมันถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่ตัวเรา จิตเองก็ถูกรู้ถูกดู จิตที่ไปเกิดที่ตา พอดับไปแล้วเกิดจิตที่ใจ จิตที่ใจไปรู้ว่า โอ้ เมื่อกี้จิตไปเกิดที่ตา อันนี้ยากนิดหนึ่งแล้ว ข้ามไปก่อน เอาเรียนของที่ดูง่าย

เราดูแค่ว่า จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ดูไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็น เราสั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ สั่งห้ามไม่ให้จิตทุกข์ก็ไม่ได้ สั่งให้จิตดีก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ เพราะจิตไม่ใช่เราหรอก ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ ถ้าภาวนาละเอียดขึ้นไป มันจะเห็นเลย จิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่มีอะไรที่บังคับได้สักอย่างเดียว อันนั้นภาวนา พอสติเราละเอียด สมาธิเราแข็งแรงพอแล้วจะเห็น เบื้องต้นก็เห็นแค่จิตสุขไม่เที่ยง จิตทุกข์ไม่เที่ยง จิตดีไม่เที่ยง จิตชั่วไม่เที่ยง ดูไป

การที่เราดูซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายมันจะลงมาถึงจิต ร่างกาย ความรู้สึกสุขทุกข์ ความจำได้หมายรู้ ความปรุงดีปรุงชั่ว อันนี้ดูง่ายว่าไม่ใช่เรา จิตดูยากหน่อย ค่อยๆ ดูไป จิตสุขไม่เที่ยง จิตทุกข์ไม่เที่ยง จิตดีจิตชั่วไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เดี๋ยววันหนึ่งมันก็รู้ความจริง จิตเองก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน ไม่มีตัวเราที่แท้จริง

 

ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดว่าตัวเราไม่มี

ตรงที่ปัญญามันรู้แจ้งแทงตลอดว่าตัวเราไม่มี นี่เราละความเห็นผิดได้แล้วว่ามีตัวตน พอตัวเราไม่มี แต่ความรักใคร่หวงแหน ความยึดถือในตัวตน มันก็ยังมีอยู่ มันแค่ละความเห็นผิด ยังไม่ละความยึดถือ

ความเห็นผิดนั้นก็แค่ทิฏฐิ ความยึดถือมันขั้นอุปาทาน เพราะฉะนั้นอย่างพระโสดาบัน อย่าไปเชื่อนักหนาว่าวิเศษนักหนา ก็แค่ละความเห็นผิดเท่านั้นเองว่าไม่มีตัวตน ถามยังมีกิเลสไหม มีกิเลสบริบูรณ์เลย กิเลสตายไปบางส่วนเท่านั้น เรื่องความเห็นผิดทั้งหลาย ละความเห็นผิดว่ามีตัวตน ละความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย เรียกว่าวิจิกิจฉา บางทีเราแปลมักง่าย วิจิกิจฉาแปลว่าความลังเลสงสัย อย่างถนนหน้าวัดนี้มันไปถึงไหน ไม่รู้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา สงสัยว่าถนนนี้จะไปถึงจุดหมายปลายทางของเราหรือเปล่า นี่ Google map พามา พามานานแล้ว เอ๊ะ ยังไม่ถึงเสียที สงสัย สงสัยแบบนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉา

สิ่งที่เรียก “วิจิกิจฉา” คือลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระพุทธเจ้าสอนธรรมะถูกต้องหรือเปล่า แล้วพระธรรมที่ท่านสอน เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นจริงหรือเปล่า แล้วก็ปุถุชนอย่างเรานี้ ปฏิบัติแล้วเข้าใจธรรมะ จิตใจเราเป็นพระจริงไหม ถ้าเรายังไม่ได้โสดาบัน ความลังเลสงสัยนี้ไม่หมดหรอก บางทีเราก็มั่วไปเลย เราลังเลสงสัย ธรรมะปฏิบัติแล้วมันพ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่าหนอ ชักสงสัย มีแต่ปฏิบัติแล้วยิ่งเห็นทุกข์มากขึ้นๆ ไม่เห็นมันจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย ปุถุชนจะเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า หรือเขาแต่งเป็นนิทานขึ้นมา เพื่อจะมาสอนจริยธรรมเรา สงสัย พระอริยสาวกมีจริงหรือเปล่า ก็เห็นแต่พระเหลวไหลเยอะแยะเลย อย่างนี้ถึงจะเป็นวิจิกิจฉา ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย แล้วก็ตัวหนึ่ง “สีลัพพตปรามาส” ตัวนี้จะละได้ การถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องห่วง มันละเอง ทั้งวิจิกิจฉา ทั้งสีลัพพตปรามาส มันละได้เอง ถ้าละสักกายทิฏฐิได้ อีก 2 ตัวนี้พลอยถูกละไปด้วย เหมือนเราละกามราคะได้ ปฏิฆะก็ถูกละไปด้วย เหมือนเหรียญด้านหัวด้านก้อย โยนเหรียญด้านหัวทิ้ง ด้านก้อยมันก็หลุดไปด้วย เหมือนกัน

เราค่อยๆ ภาวนาจนกระทั่ง จุดแรกก็คือละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ ถัดจากนั้นก็ฝึกปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดความยึดถือในตัวในตน ทีแรกละความเห็นผิด ต่อไปก็ละความยึดถือได้ มันคนละชั้นกัน ละความเห็นผิดได้ก็เป็นพระโสดาบัน ละความยึดถือในกายได้ก็เป็นพระอนาคามี ละความยึดถือในจิตได้ก็เป็นพระอรหันต์ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิต เพราะเห็นแจ้งแล้ว กายคือตัวทุกข์ จิตคือตัวทุกข์

ก่อนจะถึงจุดนั้น มันจะเห็นว่ากายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ จิตเป็นที่ตั้งของความทุกข์ อย่างพระโสดาบัน พระสกทาคามี จะเห็นกายเป็นที่ตั้งของความทุกข์ จิตเป็นที่ตั้งของความทุกข์ พระอนาคามีเห็นกายคือตัวทุกข์ แต่จิตยังเป็นที่ตั้งของความทุกข์อยู่ ภาวนาถึงสุดขีดถึงจะรู้ว่าจิตเองก็คือตัวทุกข์ ความรู้ของธรรมะมันก็ลึกล้ำไปเป็นลำดับๆ ไม่ต้องตกใจ ค่อยๆ เรียนไปตามลำดับนี้ล่ะ เหมือนอย่างเรารู้สึก วิชาการอะไรต่ออะไร ระดับที่ดอกเตอร์เขาเรียน ทำไมมันยากเหลือเกิน ก็เรายังไม่จบประถม มันก็ยาก ถ้าเราเรียนไปตามลำดับ มันก็ไม่ยากหรอก

 

 

ธรรมะก็เหมือนกัน เรียนไปตามลำดับ แล้วไม่ยากหรอกที่หลวงพ่อพูดนี้ หลวงพ่อพูดเพื่อทิ้งร่อยรอยไว้ ให้พวกเราที่เดินมาทีหลังเท่านั้นเอง แล้ววันหนึ่งพวกเราก็เดินมา แล้วก็จะเจอสิ่งที่หลวงพ่อบอกนี้ล่ะ เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์ ท่านเคยทิ้งร่องรอยไว้ให้หลวงพ่อเดิน เพราะหลวงปู่ตอนนั้นท่านอายุ 95 กว่าแล้ว ไปกราบท่านครั้งสุดท้าย หลวงปู่ท่านจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติพิเศษ ท่านรู้อนาคตแม่นยำ

วันนั้นเข้าไปเรียนกับท่าน 24 กันยายน 2526 เข้าไปหาท่าน ท่านก็สอนๆๆ สอนตั้งแต่บ่ายๆ จนค่ำ ท่านก็เหนื่อยหอบ หลวงพ่อก็บอกท่านว่า “หลวงปู่เหนื่อยแล้ว เดี๋ยวผมจะกราบลาแล้ว” ท่านบอก “จะกลับแล้วหรือ ยังกลับไม่ได้ ต้องจำธรรมะอันนี้ไว้ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เข้าใจไหม” ท่านพูดเสียงดุๆ หลวงปู่ไม่พูดอ่อนโยน นุ่มนิ่ม ไม่มี นิสัยท่านเด็ดขาด ถาม “เข้าใจไหม” หลวงพ่อก็เด็ดขาดเหมือนกัน “ไม่เข้าใจครับ แต่จะจำไว้” ท่านก็ยิ้ม “เออ จำไว้นะ ไปได้แล้ว” พอจำได้แล้วก็ไปได้แล้ว

ท่านทิ้งแผนที่สำคัญไว้ให้ เพราะว่าส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติไปไม่รอด มาติด มาตาย อยู่ตรงที่เข้าไปถึงจิตผู้รู้แล้ว ก็รักษามันเอาไว้นั่นล่ะ วางไม่ได้ ปล่อยวางจิตไม่ได้ ที่หลวงพ่อมาเล่าให้พวกเราฟัง ก็วันหนึ่งพวกเราคงได้ใช้หรอก วันข้างหน้า ก็ลงมือปฏิบัติของเราไป ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือถ้าไม่ได้ทำมาหากิน ที่ต้องใช้ความคิด มีสติในชีวิตประจำวันไว้ แล้วสิ่งที่ไม่เคยรู้จะได้รู้ ไม่เคยเห็นจะได้เห็น ไม่เคยเข้าใจก็จะได้เข้าใจ ไม่เคยวางก็จะวางได้ ค่อยๆ ฝึกไป

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 ตุลาคม 2566